เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ
ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "
หน้าเว็บ
เกี่ยวกับฉัน
- Nitinandho
- อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย
ผู้ติดตาม
วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
บทที่ ๖ วิธีลดอัตตา
บทที่ ๖
วิธีลดอัตตา
เพื่อความเข้าใจถึงวิธีลด "อัตตา" ได้อย่างง่ายๆ โดยอาศัยหลักเกณฑ์ที่รัดกุม จึงจะได้พิจารณากันถึงสิ่งที่เรียกว่า "สังโยชน์" ๑๐ ประการ แล้วผู้ปฏิบัติธรรมก็จะทราบได้เองว่า พุทธศาสนามีความมุ่งหมายที่จะลด "ตัวตน" อย่างมีประสิทธิภาพเพียงไร
สังโยชน์ประการที่ ๑ มีชื่อโดยภาษาบาลีว่า "สักกายทิฏฐิ" หมายถึง ความยึดถือว่า กายกับใจนี้เป็นของตน เมื่อมีความรู้สึกคิดเช่นนั้นแล้ว เขาก็หวงแหน อยากให้มันดีให้มันเที่ยงแท้ถาวร เพื่อประโยชน์แก่ "ตัวเขา" โดยธรรมชาติที่แท้นั้น มันไม่มีอะไรที่จะเป็นของเขาได้เลย แต่ความหลงผิด ทำให้เขาเข้าใจว่ามันมีอะไรๆ เป็นของเขาจนได้ โดยเหตุนี้ สิ่งที่เป็นเพียงธาตุดินน้ำลมไฟ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ที่รวมกลุ่มกันอยู่ ก็ถูกยึดถือเป็นกายและใจ "ของเขา" มันจึงมีลักษณะเป็น ความเห็นแก่ตัว แล้วก็ทำอะไรๆ ไปในลักษณะที่เป็นความทุกข์ยากลำบากแก่ตัวเองและแก่ผู้อื่น ปัญญาอย่างโลกๆ ก็ส่งเสริม "ตัวตน-ของตน" ให้หนักยิ่งขึ้น ต่อเมื่อได้รับการศึกษาอบรมที่ถูกทาง หรือปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักแห่งพุทธศาสนา เขาจึงจะไม่อาจมี "ตัวตน-ของตน" ชนิดที่จะไปฆ่าไปลัก หรือเบียดเบียนผู้อื่น และจะเริ่มนึกถึงการที่กายทุกกาย หรือธาตุทุกกลุ่ม เป็นเพื่อเกิดแก่เจ็บตายอย่างเดียวกัน จึงลดความหมายมั่นปั้นมือที่จะเอาประโยชน์ จากผู้อื่นมาเป็นของตนเองล้วนๆ ดังแต่ก่อน
ความลดไปแห่งสักกายทิฏฐินี้ ทำให้เกิดความสงบเย็น ความสงบเย็นทำให้เกิดสติสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะก็ทำความปลอดภัยให้แก่ตนเองและผู้อื่น ถ้าเพียงแต่คนเราสามารถ ละสังโยชน์ข้อที่ ๑ นี้ได้เท่านั้น โลกนี้ก็จะเปลี่ยนแปลงไป อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างน้อยที่สุด การเบียดเบียนกันจะหายไปจากโลก มีแต่การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันอย่างแท้จริง เข้ามาแทน
ต่อไปก็คือ ความลดไปแห่ง "ตัวตน" ในรูปของสังโยชน์ประการที่ ๒ ที่เรียกว่า "วิจิกิจฉา" ซึ่งหมายถึง ความลังเล เนื่องจากความสงสัยหรือความกลัว ถ้าไม่พิจารณาให้ดี ก็จะไม่เห็นว่ามันเกี่ยวกับเรื่อง "ตัวตน" หรือ "ของตน" ยิ่งกว่านั้น ยังมองข้ามไปเสียว่า ความลังเลนี้ ไม่มีความสำคัญอะไรในเรื่องความทุกข์และความดับทุกข์ แต่แท้ที่จริงนั้น วิจิกิจฉา ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกันอีก ถ้าเป็นการปฏิบัติในขั้นสมาธิ วิจิกิจฉานี้ก็เป็นนิวรณ์ปิดกั้น หรือรบกวนจิตไม่ให้เป็นสมาธิ ถ้าเป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา วิจิกิจฉาก็เป็นเครื่องรบกวน ความเชื่อและปัญญาไม่ให้อยู่ในร่องในรอยได้ คนเราจึงไม่สามารถเอาชนะความทุกข์ได้ และตัวความลังเลนั้นเอง ก็เป็นเครื่องรบกวนความสุข หรือเป็นความทกข์ชนิดหนึ่งอยู่ในตัวมันเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางศาสนาหรือเรื่องตามธรรมดาของชาวโลก
การต่อสู้กันระหว่างความรู้สึกฝ่ายต่ำกับฝ่ายสูงนั่นเอง เรียกว่า วิจิกิจฉา ซึ่งอาจขยายความออกไปเป็นความไม่แน่ใจ ความไม่กล้าหาญ ความไม่ไว้ใจ หรือไม่เชื่อถือตัวเอง ฯลฯ วิจิกิจฉาชนิดที่เป็นอย่างชาวโลกๆ ที่สุด ก็เช่นไม่แน่ใจว่าจะประกอบอาชีพอะไร จะทำอะไร จะแสวงหาชื่อเสียงอะไรดี ฯลฯ และที่สูงขึ้นมาก็คือ ความไม่แน่ใจในการที่จะยึดเอาความดี หรือความยุติธรรม ว่าเป็นหลักที่แท้จริงได้หรือไม่ ความกลัวจะเสียประโยชน์ส่วนตัว กลัวจะเสียเปรียบเขา จะพ่ายแพ้เขา เป็นเหตุให้ไม่แน่ใจในการที่จะถือเอาความดีความจริงเป็นหลัก เป็นความกระอักกระอ่วนใจ ในทางหน้าที่หรือทางศีลธรรม
เราพอจะมองเห็นว่า ความระส่ำระสายทุกข์ยากลำบาก หรือวิกฤติการณ์ต่างๆ ในโลก ย่อมเกิดมาจากความไม่แน่ใจของชาวโลกนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ของชนชั้นผู้นำกลุ่มต่างๆ ที่ไม่แน่ใจในการที่จะยึดมั่นในความดี หรือความจริง จนกระทั่ง ยอมเสียสัจจ์ เช่น พอเกิดสงคราม หวาดกลัวขึ้นมาก็หันไปหาพระเป็นเจ้าหรือศาสนา แต่พอเหตุการณ์นั้นผ่านไปก็หันหน้ากลับไปหาประโยชน์ให้แก่ "ตัวตน-ของตน" ไม่มีฝ่ายไหนแน่ใจในการที่จะยึดถือความดีความจริงเป็นหลัก ทั้งที่ตัวเองก็รู้อยู่ว่าอะไรเป็นอะไร โลกจึงตกอยู่ในห้วงแห่งความเท็จความโลเล หลอกลวงตัวเอง เพราะไม่สามารถบังคับความเชื่อ หรือสติปัญญาของตนให้แน่วแน่อยู่ในร่องในรอยได้ โลกจึงมีอาการเหมือนกับวิจิกิจฉา เคว้งคว้างไปตามความลังเลของคนในโลก ทั้งในกรณีที่เป็นไปทางโลกๆ และทางศาสนา
สำหรับวิจิกิจฉาในทางฝ่ายพุทธศาสนานั้น เมื่อกล่าวไปตามหลักที่ถือๆ กันอยู่ ก็ได้แก่ความลังเลใน พระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ ลังเลในการตรัสรู้จริงของพระพุทธเจ้า ความสงสัยในพระพุทธเจ้าก็คือ ลังเลในการที่จะเชื่อ หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของท่าน เพราะมันขัดต่อความรู้สึกของตนที่มีอยู่ก่อน ขัดต่อประโยชน์ที่ตนหวังจะได้รับ การลังเลในพระธรรมก็เป็นอย่างเดียวกัน เลยทำให้คนถือศาสนากันเพียงแต่ปาก หรือเล่นตลกกับพระเป็นเจ้าของตน จนอาการเช่นนี้มีอยู่ทั่วไป สำหรับความลังเลในพระอริยสงฆ์นั้น หมายถึงว่า เห็นท่านเป็นผู้พ้นทุกข์ได้อย่างนั้นๆ แล้ว ตนก็ยังลังเลที่จะเดินตาม โดยที่ไม่เชื่อว่าท่านเหล่านั้นพ้นทุกข์ได้จริงบ้าง หรือการพ้นทุกข์ของท่านเหล่านั้นจะนำมาใช้ได้แก่ตนบ้าง เมื่อยังลังเลในตัวผู้สอน ในสิ่งที่นำมาสอน และในหมู่คนที่เคยปฏิบัติตามคำสอนจนประสบความสำเร็จมาแล้ว คนโง่เหล่านี้ แม้จะศึกษาไปสักเท่าไรๆ ก็มีแต่จะยิ่งกลายเป็นคนลังเลมากขึ้น จนกลายเป็นโรคประสาทหรือโรคจิตขึ้นมาก็ได้
เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ย่อมจะเห็นได้ว่า การที่คนเราเกิดความคิดลังเลแม้ในพระศาสดาของตน ในหลักธรรมะหรือหลักปรัชญา ก็กล่าวได้ว่า "อัตตา" อีกนั่นเองที่เป็นมูลเหตุอันแท้จริงแห่งความลังเล ถ้าเราดับความลังเลหรือควบคุมมันได้ ก็ย่อมหมายความว่าเราดับ หรือควบคุม "อัตตา" ได้ เพราะอาการแห่งความลังเลก็คือลักษณะอย่างหนึ่งของ "อัตตา" หรือความเห็นแก่ตัวนั่นแหละ เป็นเหตุให้เกิดความลังเล ไม่ว่าทั้งในทางโลกและทางธรรม
สีลัพพตปรามาส สังโยชน์ข้อที่ ๓ เป็นชื่อของความงมงายเข้าใจผิดต่อศีลและพรต ซึ่งเป็นเครื่องปฏิบัติสำหรับลดความทุกข์ กล่าวคือ ความเข้าใจผิด ใช้ผิด กระทำผิด ต่อสิ่งซึ่งถือกันว่าเป็นเครื่องปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ อันได้แก่ ศาสนาหรือธรรมะนั่นเอง แบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือเข้าใจผิด หรือปฏิบัติผิดในสิ่งที่ผิดมาแต่เดิม กับ เข้าใจผิดต่อสิ่งที่ถูกต้องดีอยู่แล้ว แต่ปฏิบัติไปอย่างงมงายหรือผิดๆ นี่ก็มีมูลมาจากการมี "ตัวตน-ของตน" ที่มีความประมาทสะเพร่า หรือทะนง แทนที่จะมีสติปัญญาอย่างสุขุมรอบคอบ กลับจับฉวยเอาข้อปฏิบัติเหล่านั้นผิดไปจากความหมายที่แท้จริง เป็นความโง่ ความดื้อของ "ตัวตน-ของตน" นั่นเอง มีอยู่เป็นปกติแก่ปุถุชนคนเขลาทั่วไปในการที่จะจับฉวยเอา อย่างปุบปับในสิ่งที่แปลกประหลาด หรือ อัศจรรย์ ซึ่งตัวคิดนึกได้เอง หรือมีผู้นำมาสอนให้ ตลอดจนมีความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในสิ่งที่ตนคิดขึ้น หรือกำลังกระทำอยู่ แล้วก็มีความเชื่อมั่นในสิ่งนั้นจนกลายเป็นความงมงาย คิดว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นที่พึ่งแก่ตนได้ แต่แล้วก็หาเป็นไปได้ไม่ คงเป็นสักว่าพิธีรีตอง เป็นสักว่าเครื่องปลอบใจตัวเอง หรือหลอกตัวเองให้หายกลัว เพราะมันไม่มีเหตุผล หรือไม่ตรงตามหลักวิชา แต่ตัวก็ไม่รู้ว่าตัวโง่
สำหรับสีลัพพตปรามาสชนิดที่ผิดมาแต่เดิม แล้วเอามายึดมั่นถือมั่นเพื่อปฏิบัตินั้น ส่วนมากเป็นเรื่องของการกระทำปรัมปราสืบๆ กันมาแต่โบราณ กระทั่งยุคหินที่มีคนบางพวกยังยึดมั่นถือมั่นอยู่ เพราะมันเข้ารูปกันได้กับภูมิปัญญาของเขา แม้ตกมาในสมัยนี้ ก็ยังประพฤติกันอยู่อย่างเคร่งครัด ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา และความไม่รู้ ส่วนอีกแขนงหนึ่งนั้น คือ การประพฤติบ้าบิ่น นอกคอก นอกรีตต่างๆ ซึ่งพวกมิจฉาทิฏฐิ หรือมิจฉาชีพที่ฉลาดบัญญัติขึ้นเป็นเครื่องตบตาหาเงินจากคนอื่น หรือด้วยความหลงสำคัญผิดคิดว่าเป็นของดีจริงก็มี ซึ่งล้วนแต่อุตริวิตถารด้วยกันทั้งนั้น นี้เรียกว่าเป็นสิ่งที่ผิดมาแต่เดิม แล้วถูกนำมายึดมั่นถือมั่น เป็นหลักปฏิบัติตามๆ กันไปด้วยความหลงงมงายเข้าใจผิด
ส่วนสีลัพพตปรามาสในเรื่องสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว แต่คนจับฉวยเอาผิดเองนั้น ได้แก่หลักธรรมะ ตลอดถึงระเบียบวิธีปฏิบัติต่างๆ ซึ่งได้บัญญัติไว้อย่างถูกต้องในศาสนาต่างๆ เป็นหลักวิชาตามเหตุผล ซึ่งเมื่อปฏิบัติตามนั้นแล้ว ก็สามารถดับทุกข์ได้จริง แต่ก็ยังมีการจับฉวยเอาผิด เรียกว่าเป็นการลูบคลำทำให้สิ่งซึ่งบริสุทธิ์สะอาดนั้น กลายเป็นของสกปรกไปด้วยอำนาจของความงมงาย สีลัพพตปรามาสชนิดนี้มีได้แม้ในหมู่นักศึกษาที่เรียกว่า มีการศึกษาอย่างดีที่สุด ตามที่นิยมกันในหมู่มนุษย์ แต่ไม่ได้มีการศึกษาข้อธรรมะหรือศาสนานั้นๆ อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ เพราะมันเป็นคนละเรื่องกัน ดังตัวอย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ทั่วไป ในหมู่ผู้ได้รับปริญญาตรี โท เอก ในฝ่ายวิชาการทางโลก ที่ยังเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าอาจจะบันดาลอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่ตัวต้องการได้ ในเมื่อมีการบูชาอ้อนวอน หรือประกอบพิธีทางศาสนาที่งมงายมาก ถึงกับบนบานขอให้เกิดบุตรแก่ผู้ไม่มีบุตรก็ยังมี บางคนคิดว่า การรดน้ำมนต์ล้างซวย หรือ ให้ร่ำรวย หรืออะไรในทำนองนั้นก็เป็นพุทธศาสนาด้วย เสร็จการศึกษากลับมาจากเมืองนอก ก็รีบไปหาพระรดน้ำมนต์ทันที นี่เป็นการพิสูจน์ว่า การศึกษาที่ไปเรียนมาอย่างมากมายนั้น ก็ยังไม่ทำให้เขาหายงมงาย แล้วก็มาเกณฑ์ให้ศาสนามีหน้าที่ทำอะไรๆ ตามที่ตัวต้องการ โดยได้ยินแต่เพียงว่า ธรรมะหรือศาสนานี้ เป็นเครื่องช่วยดับทุกข์ และมีความศักดิ์สิทธิ์ ทุกประการ
ถึงแม้ในศาสนาอื่นก็เป็นอย่างเดียวกัน เช่น จัดพระผู้เป็นเจ้าไว้ในฐานะเป็นผู้มีหน้าที่ปลอบใจเมื่อจนแต้ม ที่ไปโบสถ์หรือปฏิบัติตามระเบียบพิธีต่างๆ ก็เพียงแต่ทำเผื่อๆ ไว้ เพราะจะได้เป็นที่ถูกใจพระเป็นเจ้าไว้ หรือเป็นการสะสมบุญกุศลไว้ มีอาการที่กระทำเหมือนกับคนละเมอๆ โดยที่ไม่เข้าใจอย่างถูกต้องว่า พระเจ้าที่แท้จริงนั้นคืออะไร หรือบุญกุศลที่แท้จริงนั้นคืออะไร และไม่รู้เลยสักนิดเดียวว่า พระเป็นเจ้าหรือบุญกุศลที่แท้จริงนั้น คือการชำระจิตใจให้สะอาดด้วยการกระทำที่ถูกต้องกันที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ด้วยการบั่นทอนหรือทำลาย "ตัวตน-ของตน" นั่นเอง ไปมัวหวังแต่พระเป็นเจ้าที่อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ให้คอยช่วยคุ้มครองตนอย่างคุ้มครองเด็กๆ และเมื่อทุกข์ร้อนจนแต้มขึ้นมา ก็โวยวายให้สิ่งที่ไม่รู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหนนั่นแหละมาช่วยตน ไม่สามารถใช้สัมมาทิฏฐิของตน ปลดปล่อยหรือขจัดปัดเป่าความทุกข์ร้อนในใจของตน ให้ออกไปจากตนได้ ทั้งๆ ที่ข้อปฏิบัติทางธรรมะหรือทางศาสนาทุกข้อทุกอย่าง ก็ล้วนแต่เป็นไปเพื่อชำระกายวาจาใจให้สะอาด ให้เกิดมีภาวะใหม่ขึ้นมาเป็นความไม่มีทุกข์หรือมีทกข์น้อยลงไปกว่าเดิม
สำหรับในฝ่ายพุทธศาสนาโดยเฉพาะนั้น สีลัพพตปรามาสได้งอกงามมากขึ้นในหมู่พุทธบริษัท ทั้งในทางปริยัติและในทางปฏิบัติ ในทางปริยัตินั้นได้มีการจับพลัดจับผลูไปเอาสิ่งซึ่งไม่ใช่พุทธศาสนา เข้ามาตู่เป็นพุทธศาสนาอยู่เรื่อยๆ ทำสิ่งที่ไม่ใช่พุทธพจน์ให้เป็นเหมือนพุทธพจน์ นิยมศึกษาทฤษฎีที่ลึกซึ้งกว้างขวางไม่รู้จบเพื่อความเป็นนักปราชญ์ ยิ่งกว่าที่จะศึกษาเฉพาะเรื่องของการดับทุกข์ แทนที่จะพูดจะสอนจะอภิปรายกันถึงเรื่องดับทุกข์โดยตรง เช่นเรื่องอริยสัจจ์ เป็นต้น ก็กลายเป็นไปนำเอาเรื่อง "อัพยากตวัตถุ" ที่พระพุทธองค์ทรงห้ามไม่ให้นำเอามาพูดกันให้เสียเวลา และพระองค์เองก็ไม่ทรงสอนเรื่องเหล่านี้ เช่นเรื่องคนตายแล้วเกิดหรือไม่ ศึกษาวิพากษ์วิจารณ์ค้นคว้ากันอย่างเป็นวรรคเป็นเวร โดยนำเอาลัทธิสัสสตทิฏฐิของพวกพราหมณ์มาอธิบาย โดยที่เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นตัวแท้ของพุทธศาสนา แม้แต่คำอธิบายเรื่องกรรม เรื่องอนัตตา และเรื่องนิพพาน ก็ดำเนินไปอย่างผิดๆ เพราะจับฉวยผิด ถึงขนาดที่ไปคว้าเอาเรื่องกรรม เรื่องอนัตตา เรื่องนิพพานของศาสนาอื่น มาถือว่าเป็นกรรมเป็นอนัตตาและนิพพานในพุทธศาสนา จนกระทั่งเกิดการทะเลาะวิวาทกันเพราะเหตุนี้
แม้ในส่วนที่เกี่ยวกับพระไตรปิฎกเอง ก็มีความยึดมั่นถือมั่นอย่างผิดๆ อยู่หลายประการ เช่นยึดมั่นถือมั่นว่าทุกตัวอักษรที่เรียกว่าพระไตรปิฎก ได้ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น จะไปแตะต้องด้วยการวิพากษ์วิจารณืไม่ได้ บางพวกก็บูชาพระไตรปิฎกอย่างวัตถุศักดิ์สิทธิ์ บางพวกก็คิดว่าเพียงแต่ซื้อหรือสร้างพระไตรปิฎกขึ้นเท่านั้น ก็พ้นทุกข์ได้แล้ว บางคนเป็นไปมากถึงกับเอาพระไตรปิฎกบางเล่มมาใช้เป็นเครื่องมือเสี่ยงทาย เสียบไม้เข้าไปในระหว่างใบลานหรือหน้าหนังสือนั้นแล้ว เปิดดูว่ามันจะถูกเรื่องดีหรือร้าย โดยถือเอาข้อความในหน้ากระดาษที่ตนเอาไม้เสียบเข้าไปนั่นเองเป็นหลัก และมีความเชื่อมั่นอย่างแท้จริงว่าเป็นการทำนายที่ถูกต้อง นับว่าเป็นสีลัพพตปรามาส หรือความงมงายที่ยังไม่เคยมีมาก่อน และได้เกิดมีขึ้นเกี่ยวกับพระคัมภีร์ เขาไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังที่ตรัสไว้ในกาลามสูตร หรือตรัสไว้ในเรื่องมหาปเทศ สำหรับวินิจฉัยข้อความแท้จริงว่าสิ่งที่เรียกว่า พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร นี้เป็นตัวอย่างแห่งสีลัพพตปรามาสในส่วนปริยัติ ซึ่งมีอยู่อย่างมากมายจนเหลือที่จะนำมากล่าวให้หมดสิ้นได้
สำหรับสีลัพพตปรามาสในส่วนการปฏิบัตินั้น ยิ่งมีทางเกิดขึ้นได้มากมาย เพราะคนส่วนมากเชื่อง่าย และเต็มไปด้วยความกลัว ไม่มีสติปัญญา หรือความรู้เพียงพอที่จะควบคุม ความเชื่อ และความกลัว จึงทำอะไรอย่างงมงาย หรือผลีผลามไปตามอำนาจของความเชื่อ และความกลัวเหล่านั้น ในลักษณะง่ายๆ และสะดวกๆ หรือถึงกับใช้คนอื่นทำแทนให้ก็ยังมี เช่น บาปของตัวเองก็ให้คนอื่นช่วยล้างให้ หรือเชื่อว่าความตายเป็นสิ่งที่ผัดเพี้ยนกันไว้ก่อนได้ อายุเป็นสิ่งที่ต่อกันได้ด้วยการทำพิธี และถือว่าอะไรๆ ที่ตัวกลัวหรือเป็นทุกข์อยู่นั้น ย่อมแก้ได้หมดด้วยพิธีต่างๆ ในทางศาสนา นี้เป็นตัวอย่างความงมงายชั้นต่ำที่สุด ซึ่งมีอยู่มากมายเหลือที่จะนำมากล่าว
ส่วนที่สูงขึ้นมาจากนั้น ก็หมายถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของการทำบุญ ให้ทาน การบวช การบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา ตลอดถึงปฏิบัติธรรมปลีกย่อยอื่นๆ มีความเข้าใจผิดถึงกับทำให้เกิดผลตรงกันข้ามไปเสียทุกอย่างทุกประการ ข้อวัตร์ปฏิบัติต่างๆ ทั้งหมดนั้น โดยที่แท้แล้วย่อมเป็นไปเพื่อขูดเกลากิเลส เช่น โลภโกรธหลงงมงาย ขจัดความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็น "ตัวตน-ของตน" ฯลฯ แต่ก็กลับประพฤติปฏิบัติไปในทางที่ส่งเสริมความรู้สึกเป็น "ตัวตน-ของตน" ให้เหนียวแน่นประณีตลึกซึ้งยิ่งขึ้น จนกลายเป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ความขลัง ที่จะดลบันดาลให้ตนได้รับสิ่งที่ตนต้องการ ซึ่งที่แท้ก็คือกิเลสที่เป็น "ตัวตน-ของตน" นั่นแหละ เป็นผู้ต้องการ หาใช่สติปัญญาบริสุทธิ์เป็นผู้ต้องการไม่ ฉะนั้น จึงเกิดมีการสอนให้ทำบุญให้ทาน ด้วยวิธีการแปลกๆ มุ่งหมายแปลกๆ และเป็นภัยแก่เศรษฐกิจสังคม หรือศาสนาเองในที่สุด
สำหรับการรักษาศีล ก็มีการรักษาศีลด้วยการคิดว่าจะทำตนให้เกิดความขลังความศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นการรับประกันอะไรบางอย่างในกาลอนาคต แทนที่จะเป็นการกำจัดกิเลสที่เป็นเหตุให้ตามใจตัวเอง ครั้นไปถึงขั้นการทำสมาธิและวิปัสสนาก็ยิ่งเขวออกนอกทางมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องอำนาจทางจิต และมีช่องทางที่จะทำให้ประหลาดมหัศจรรย์ โน้มเอียงไปตามความต้องการอันไม่เป็นธรรมะ ดังนั้น จึงเกิดมีการกระทำที่เรียกว่า วิปัสสนาการค้า วิปัสสนาอยากดังในลักษณะแปลกๆ อย่างมากมาย ซึ่งล้วนแต่ไม่เป็นไปเพื่อการกำจัดกิเลส แต่เป็นไปเพื่ออิทธิปาฏิหาริย์ หรือเป็นเครื่องมือหาลาภสักการะสรรเสริญไปเสีย โดยอำนาจแห่ง "ตัวตน-ของตน" เข้ามาครอบงำและลากจูงไปนั่นเอง เมื่อสิ่งเหล่านั้นดำเนินไปผิด ความมุ่งหมายของสิ่งที่เรียกว่ามรรคผลและนิพพานของผู้นั้นก็เลยผิดตามไปด้วย จนกระทั่งกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างสมบูรณ์ในที่สุด นี้เรียกว่า สีลัพพตปรามาสที่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม กลายเป็นเนื้อร้ายเนื้องอก ที่เพิ่งงอกออกมาใหม่ๆ บนตัวพุทธศาสนาสำหรับทำลายพุทธศาสนาเอง ทั้งนี้ก็มีมูลมาจากความยึดมั่นถือมั่นใน "ตัวตน-ของตน" ด้วยกันทั้งนั้น
อาการที่เข้าใจสิ่งใดผิด แล้วนำไปใช้อย่างผิดความมุ่งหมายที่แท้จริง ย่อมเรียกได้ว่าเป็นสีลัพพตปรามาสทั้งนั้น เช่นวิชาความรู้ทางธรรม อันควรจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องอำนวยสันติสุขแก่สังคม แต่กลับถูกนำไปใช้เป็นเครื่องทำมาหากิน จนทำความเดือดร้อน หรือความทุกข์ให้เกิดแก่สังคม อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็น สีลัพพตปรามาสได้ เพราะอำนาจแห่งความรู้สึกที่เป็น "ตัวตน-ของตน" ครอบงำจิตใจบุคคลเหล่านั้นจนมีความเห็นแก่ตัวจัด สิ่งที่สะอาด หรือเป็นคุณประโยชน์ก็กลับกลายเป็นของสกปรก หรือกลายเป็นทุกข์เป็นโทษแก่สังคม มนุษย์ทั่วไปจึงต้องรับบาปอันนี้ ฉะนั้น การลด "อัตตา" ลงไปได้เท่าใด ก็ย่อมทำให้สีลัพพตปรามาสของมนุษย์ไม่ว่าแขนงไหนหมด ลดน้อยลงไปเพียงนั้น แล้วมนุษย์ก็จะเลื่อนจากภูมิของปุถุชนขึ้นสู่ภูมิของอารยชน คือเป็นพระอริยเจ้าซึ่งลด "ตัวตน-ของตน" ได้ในอันดับที่น่าพอใจอันดับหนึ่ง คือท่านกำหนดไว้ว่าผู้ที่ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส เสียได้นั้น เป็นผู้ที่ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน ซึ่งเรียกว่า พระโสดาบัน นั่นเอง
ถ้า "อัตตา" ดับไปโดยสิ้นเชิง บุคคลนั้นย่อมถึงความเป็นพระอรหันต์ ดังนั้นในกรณีแห่งพระโสดาบันนี้ ย่อมหมายความว่าความดับไปแห่ง "อัตตา" เป็นเพียงบางส่วน "โสตาปนฺน" แยกศัพท์เป็น "โสต" กับ "อาปนฺน" โสต แปลว่า กระแส อาปนฺน แปลว่า ทั่วถึง สิ่งที่เรียกว่ากระแสในที่นี้หมายถึงทางที่ไปสู่นิพพาน ถ้าเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ อริยมรรคมีองค์แปด ซึ่งมีองค์สำคัญอยู่ที่ความรู้อันถูกต้องหรือสัมมาทิฏฐิ ที่ทำให้รู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ว่าไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็น "ตัวตน" หรือ "ของตน" นั่นเอง
พระโสดาบันนั้นเป็นผู้ครองเรือนก็มี เป็นนักบวชก็มี แล้วอะไรเล่าที่ทำให้คน ๒ พวกนี้เข้าถึงกระแสนิพพานโดยเสมอกัน คำตอบก็คือการละเสียได้ซึ่งสังโยชน์ ๓ ประการดังกล่าววแล้วนั่นเอง การละสังโยชน์ทั้ง ๓ ประการนั้น เป็นสิ่งซึ่งมีได้ก่อนที่จะละกามโดยสิ้นเชิง คือฆราวาส ทั้งๆ ที่ยังเกี่ยวข้องกับกามอยู่ก็ยังสามารถละสังโยชน์ทั้ง ๓ นั้นได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เป็นผู้หมกมุ่นหรือมัวเมาในกามอย่างมาก
มันเป็นที่แน่นอนว่า พระโสดาบันจะต้องมีโลภะโทสะโมหะ หรือราคะโกธะโมหะเบาบางกว่าคนสามัญเป็นธรรมดา แต่มิได้หมายความว่า เป็นผู้หมดราคะโทสะโมหะโดยสิ้นเชิง ฉะนั้น เป็นอันถือได้ว่า การละราคะโทสะโมหะเพียงบางส่วนนั้นเป็นสิ่งที่ฆราวาสมีได้ เป็นได้ เพราะสังโยชน์ทั้ง ๓ หมดสิ้นไป (สังโยชน์ ทั้ง ๓ ประการนี้ก็คือ ราคะโทสะโมหะในรูปลักษณะหนึ่งๆ) และสังโยชน์ชนิดไหนก็ตาม ย่อมเป็นความรู้สึกที่เป็น "ตัวตน-ของตน" อยู่ด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่เราไปกล่าวกันไว้ในชื่ออีกอย่างหนึ่ง ความรู้สึกที่เป็น "อัตตา" ที่รวบรัดเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้ามาหาตัว เพราะความอยากได้นั้น คือ ราคะหรือโลภะ ความรู้สึกที่เป็น "อัตตา" ที่ผลักดันสิ่งใดออกไป เพราะความเกลียดนั้น ก็คือ โทสะ ส่วนความรู้สึกเป็น "อัตตา" ที่วนเวียนพัวพันอยู่รอบๆ สิ่งที่ตัวสงสัยไม่เข้าใจนั้น ก็คือโมหะ อาการของราคะโทสะโมหะ จึงเป็นอาการของ "อัตตา" อยู่ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อพระโสดาบันไม่อยู่ในฐานะที่จะละกิเลสได้โดยสิ้นเชิง ซึ่งหมายถึงการลุถึงนิพพานโดยสมบูรณ์ พระโสดาบันจึงละได้แต่เพียง ในลักษณะของผู้ที่กำลังเดินอยู่ในหนทางอันถูกต้อง และจะลุถึงนิพพานโดยแน่นอน และในระยะกาลอันใกล้เท่านั้นเอง
สังโยชน์ทั้ง ๓ ประการนี้มีอยู่อย่างหนาแน่นในปุถุชน (ซึ่งแปลว่า "คนหนา") คนชนิดนี้จึงไม่อาจจะเข้าใจพระอริยเจ้า พระอริยเจ้าก็ไม่พอใจความเป็นอยู่ของคนชนิดนี้ เพราะท่านมีความหนาลดน้อยลงจนมองเห็นสิ่งต่างๆ ถูกต้องตามที่เป็นจริง แล้วก็ไปดำรงตนอยู่ในสภาพที่กล่าวได้ว่าพ้นอันตราย พ้นจากการเสียหาย เช่นไม่ตกอบายโดยแน่นอน เส้นขีดแบ่งปันกันระหว่างคน ๒ พวกนี้ก็คือ การละสังโยชน์ ๓ ประการ และเมื่อละสังโยชน์ ๓ ประการนั้นได้แล้ว จึงเรียกว่า เดินอยู่ในทางหรือถึงแล้วซึ่งกระแสของนิพพาน และได้นามใหม่ว่า อริยชน ซึ่งตามตัวพยัญชนะแปลว่า ผู้ไปแล้วจากข้าศึกคือกิเลส (อริ=ข้าศึก + ยะ n= ไป) พระโสดาบันยังได้นามว่า "จักขุมา" คือผู้มีดวงตาเป็นธรรม เมื่อพระโสดาบันได้นามว่าเป็นผู้มีตาเป็นพวกแรกดังนี้แล้ว พระอริยเจ้าในอันดับที่สูงขึ้นไปก็ต้องเป็นผู้มีตาเห็นธรรมมากขึ้นโดยแน่นอน และสิ่งที่ทำให้ตาบอดหรือมีอาการเหมือนกับไม่มีตานั้น ก็คือสิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา-ของเรา"
คัดจาก หนังสือ ตัวกู-ของกู พุทธทาสภิกขุ ฉบับย่อ (๘๐บาท), ย่อโดย คุณปุ่น จงประเสริฐ
(เรียบเรียงจาก คำบรรยายเรื่อง ตัวกู-ของกู (ฉบับสมบูรณ์) ของท่านพุทธทาส)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น