เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

พุทธศาสนามุ่งหมายอะไร


บทที่ ๒
พุทธศาสนามุ่งหมายอะไร

ความมุ่งหมายของพุทธศาสนานั้น มักจะถูกคนส่วนมากเข้าใจไปเสียว่า มุ่งหมายจะนำคนไปเมืองสวรรค์ จึงได้มีการสอนกันเป็นอย่างมาก ว่า สวรรค์เป็นแดนที่คนควรไปให้ถึง สวรรค์เป็นแดนแห่งความสุขที่สุด เลยมีการชักชวนกัน ให้ปรารถนาสวรรค์ ปรารถนากามารมณ์ อันวิเศษในชาติหน้า

คนทั้งหลายที่ไม่รู้ความจริง ก็หลงใหลสวรรค์ มุ่งกันแต่จะเอาสวรรค์ ซึ่งเป็นแดนที่ตนจะได้เสพย์กามารมณ์ ตามปรารถนา เป็นเมืองที่ตนจะหาความสำราญ ได้อย่างสุดเหวี่ยง แบบสวรรค์นิรันดร ของศาสนาอื่นๆ ที่เขาใช้สวรรค์ เป็นเครื่องล่อ ให้คนทำความดี คนจึงไม่สนใจ ที่จะดับทุกข์ กันที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ตามความมุ่งหมาย อันแท้จริง ของพุทธศาสนา นี่คือ อุปสรรค อันสำคัญ และเป็นข้อแรกที่สุด ที่ทำให้ คนเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพุทธศาสนาไม่ได้ เพราะไปมุ่งเอา ตัณหาอุปาทาน กันเสียหมด

ฉะนั้น เราควรจะต้องสั่งสอนกันเสียใหม่ และพุทธบริษัท ควรจะเข้าใจเสียให้ถูกต้องว่า สวรรค์ดังที่กล่าวว่า เป็นเมืองที่จะต้องไปให้ถึงนั้น เป็นการกล่าวอย่างบุคคลาธิษฐาน คือ การกล่าว สิ่งที่เป็นนามธรรม ให้เป็น รูปธรรม หรือเป็นวัตถุขึ้นมา การกล่าวเช่นนั้น เป็นการกล่าวในลักษณะโฆษณาชวนเชื่อในเบื้องต้น ที่เหมาะสำหรับ บุคคลไม่ฉลาดทั่วไป ที่ยังไม่มีสติปัญญามากพอ ที่จะเข้าใจถึงความหมาย อันแท้จริงของพุทธศาสนาได้ แม้คำว่า "นิพพาน" ซึ่งหมายถึง การดับความทุกข์ ก็ยังกลายเป็นเมืองแก้ว หรือ นครแห่งความไม่ตาย มีลักษณะอย่างเดียวกันกับ เทียนไท้ หรือ สุขาวดี ของพวกอาซิ้มตามโรงเจทั่วไป สุขาวดี นั้น ตามความหมายอันแท้จริง ก็มิได้หมายความดังที่พวกอาซิ้มเข้าใจ เช่นเดียวกัน แต่มีความหมายถึง นิพพาน คือ ความว่างจากกิเลส สว่างจากทุกข์ มิได้หมายถึง บ้านเมืองอันสวยงาม ทางทิศตะวันตก ซึ่งมีพระพุทธเจ้า ชื่อ อมิตาภะ ประทับอยู่เป็นประธาน ที่ใครๆ ไปอยู่ที่นั่น แล้วก็ได้รับความพอใจทุกอย่าง ตามที่ตนหวัง เพราะว่าแวดล้อมไปด้วยสิ่งสวยงาม และรื่นรมย์ที่สุด ที่มนุษย์ หรือ เทวดา จะมีได้ นี่เป็นการกล่าวอย่างบุคคลาธิษฐาน ทั้งสิ้น

ส่วนพวกนิกายเซ็น ไม่ยอมเชื่อว่า อมิตาภะ เป็นเช่นนั้น แต่ได้เอาคำว่า อมิตาภะ นั้นมาเป็นชื่อของจิตเดิมแท้ อย่างที่ท่านเว่ยหล่างเรียก หรือ เอามาเป็นชื่อของ ความว่าง อย่างที่ท่านฮวงโปเรียก เมื่อเป็นดังนี้ อมิตาภะ หรือ สุขาวดี ของพวกอาซิ้มตามโรงเจ ก็กลายเป็นของเด็กเล่น หรือของน่าหัวเราะเยาะ สำหรับคนฉลาดไป

ฉะนั้น เมื่อถามว่า พุทธศาสนา มีความมุ่งหมายอย่างไร ก็ควรจะตอบว่า มุ่งหมายจะแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวัน ของคนทุกคนในโลกนี้ เพื่อให้มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ โดยไม่มีความทุกข์เลย พูดอย่างตรงๆ สั้นๆ ก็ว่า ให้อยู่ในกองทุกข์ โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ หรือพูดโดยอุปมาก็ว่า อยู่ในโลกโดยไม่ถูกก้างของโลก หรือ อยู่ในโลก ท่ามกลางเตาหลอมเหล็กอันใหญ่ ที่กำลังลุกโชนอยู่ แต่กลับมีความรู้สึกเยือกเย็นที่สุดดังนี้ ขอสรุปว่า พุทธศาสนา มุ่งหมายที่จะขจัดความทุกข์ ให้หมดไปจากคน ที่นี่ และ เดี๋ยวนี้ หาใช่มุ่งหมาย จะพาคนไปสวรรค์ อันไม่รู้กันว่า อยู่ที่ไหน มีจริงหรือไม่ และจะถึงได้ หลังจากตายแล้ว หรือ ในชาติต่อๆไป จริงหรือไม่ เพราะไม่มีใครพิสูจน์ได้ นอกจากการกล่าวกันมาอย่างปรำปรา แล้วก็ยอมเชื่อกันไป โดยไม่ใช้เหตุผล จนเป็นความงมงาย ไปอีกอย่างหนึ่ง

บางคนอาจจะแย้งว่า คำสอนของพุทธศาสนา มีอยู่เป็นชั้นๆ ความมุ่งหมายก็ควรจะมีเป็นชั้นๆ เช่นให้มีความเจริญในโลกนี้ แล้วมีความเจริญในโลกหน้า แล้วจึงถึงความเจริญอย่างเหนือโลก ดังที่ชอบพูดกันว่า มนุษยสมบัติ สวรรค์สมบัติ และ นิพพานสมบัติ ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่า เขาเหล่านั้น ไม่ทราบว่า สมบัติทั้ง ๓ นั้น เป็นเพียงระดับต่างๆ ที่ต้องลุถึงให้ได้ในโลกนี้ และเดี๋ยวนี้ หรือในชาตินี้นั่นเอง ไม่ใช่เอาสวรรค์ ต่อเมื่อตายแล้ว และเอานิพพาน หลังจากนั้น ไปอีกไม่รู้กี่สิบชาติ

ตามความหมายที่ถูกต้องนั้น มนุษยสมบัติ หมายถึง การได้ประโยชน์ อย่างมนุษย์ธรรมดาสามัญ จะลุถึงได้ ด้วยการเอาเหงื่อไคลเข้าแลก จนเป็นอยู่อย่างผาสุก ชนิดที่คนธรรมดาสามัญ จะพึงเป็นอยู่กันทั่วไป สวรรค์สมบัติ นั้นหมายถึง ประโยชน์ที่คนมีสติปัญญา มีบุญ มีอำนาจวาสนา เป็นพิเศษ จะพึงถือเอาได้ โดยไม่ต้องเอาเหงื่อไคลเข้าแลก ก็ยังมีชีวิตรุ่งเรืองอยู่ได้ ท่ามกลางทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง และ ความเต็มเปี่ยมทางกามคุณ ส่วน นิพพานสมบัติ นั้นหมายถึง การได้ความสงบเย็น เพราะไม่ถูก ราคะ โทสะ โมหะ เบียดเบียน จัดเป็นประโยชน์ ชนิดที่คนสองพวกข้างต้น ไม่อาจจะได้รับ เพราะเขาเหล่านั้น ยังจะต้องเร่าร้อน อยู่ด้วยพิษร้าย ของราคะโทสะ โมหะ ไม่อย่างใด ก็อย่างหนึ่ง เป็นธรรมดา แต่ถึงกระนั้น ก็ควรพิจารณาให้เห็นว่า สมบัติทั้ง ๓ นี้ เป็นเพียงประโยชน์ที่อยู่ในระดับ หรือ ชั้นต่างๆ กัน ที่คนเรา ควรจะพยายามเข้าถึง ให้ได้ทั้งหมด ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ คือในเวลาปัจจุบัน ทันตาเห็น นี้จึงจะได้ชื่อว่า ได้รับสิ่งซึ่งพุทธศาสนาได้มีไว้สำหรับมอบให้แก่ คนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือ คนที่ไม่ไร้ปัญญาเสียเลย

ทีนี้ ก็มาถึงปัญหา ที่จะต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบที่สุดว่า ในบรรดาประโยชน์ ทั้ง ๓ คือ มนุษยสมบัติ, สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ นั้น ประโยชน์อันไหนเป็นประโยชน์ ที่มุ่งหมายอย่างแท้จริง ของพุทธศาสนา ประโยชน์อันไหน เป็นเหมือน ปลาที่มีก้าง ประโยชน์อันไหนเป็นเหมือนปลาไม่มีก้าง และอะไรเป็นเครื่องที่จะช่วยให้สามารถกินปลามีก้างได้ โดยไม่ต้องถูกก้างเลยอีกด้วย ในข้อนี้ แม้คนที่มีสติปัญญาอยู่บ้างแล้ว ก็ย่อมจะมองเห็นได้ด้วยตนเองว่า มนุษยสมบัติ และสวรรค์สมบัตินั้น เป็นเหมือนปลาที่มีก้าง อย่างมองเห็นบ้าง หรือ อย่างซ่อนเร้น อย่างหยาบ หรือ อย่างละเอียด โดยสมควรแก่ ชั้นเชิงของมันทั้งนั้น คนต้องหัวเราะ และร้องไห้ สลับกันไป อย่างไม่รู้จักสิ้นสุด ก็เพราะ มนุษยสมบัติ และสวรรค์สมบัติ ต้องทนทุกข์ อย่างซ้ำซาก ก็เพราะ สมบัติทั้งสองนี้ ต้องเป็นทุกข์โดยตรง หรือ โดยประจักษ์ชัด ในเมื่อแสวงหามันมา และต้องเป็นทุกข์ โดยอ้อม หรือโดยเร้นลับ ในเมื่อได้สมตามประสงค์ หรือ เมื่อกำลังบริโภคมันอยู่ หรือเมื่อเก็บรักษามันไว้ก็ตาม ตลอดเวลาที่เขายังไม่ได้รับสมบัติอันที่ ๓ อยู่เพียงใด เขาจะต้องทนทุกข์ อยู่อย่างซ้ำๆ ซากๆ อยู่ในท่ามกลาง ของสิ่งที่เขาหลงสำคัญผิดว่า เป็นความสุข ต่อเมื่อได้สมบัติอันที่ ๓ เข้ามา เมื่อนั้นแหละ เขาจะสามารถปลดเปลื้อง พิษสง หรือ ความบีบคั้น ของสมบัติทั้ง ๒ ประเภทข้างต้นออกไปได้ มีชีวิตอยู่อย่างอิสระ เหนือการบีบคั้นของสมบัติทั้ง ๒ นั้นอีกต่อไป นี่แหละ จงพิจารณาดูด้วยตนเองเถิดว่า การได้มาซึ่งสมบัติชนิดไหน จึงจะนับว่า เป็นการได้ที่ดี การได้สมบัติชนิดไหน จะทำให้เราพบความมุ่งหมาย อันแท้จริงของพุทธศาสนา

ความเข้าใจผิด ที่เป็นอุปสรรคแก่การจะเข้าใจพุทธศาสนา มีอยู่อีกอย่างหนึ่งคือ คนมักเข้าใจกันว่า หลักพระพุทธศาสนา อันว่าด้วย สุญญตา หรือ อนัตตา นั้น ไม่มีความมุ่งหมาย หรือ ไม่อาจนำมาใช้กับคนธรรมดาสามัญทั่วไป ใช้ได้แต่ผู้ปฏิบัติธรรม ในชั้นสูงที่อยู่ตามถ้ำ ตามป่า หรือเป็นนักบวชที่มุ่งหมาย จะบรรลุมรรคผลนิพพาน โดยเร็วเท่านั้น แล้วก็เกิดบัญญัติกันเองขึ้นใหม่ว่า จะต้องมีหลักพุทธศาสนาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเหมาะสำหรับคนทั่วไป ที่เป็นฆราวาสอยู่ตามบ้านเรือน และคนพวกนี้เองที่ยึดมั่นในคำว่า มนุษยสมบัติ สวรรค์สมบัติ แล้วจัดตัวเองหรือสอนคนอื่นๆ ให้มุ่งหมายเพียงมนุษยสมบัติ และสวรรค์สมบัติเท่านั้น ส่วนนิพพานสมบัติ เขาจัดไว้เป็นสิ่งสุดวิสัยของคนทั่วไป เขาจึงไม่เกี่ยวข้อง แม้ด้วยการกล่าวถึง คนพวกนี้แหละ จึงห่างไกลต่อการได้ยินได้ฟัง หลักพระพุทธศาสนาอันแท้จริง กล่าวคือ เรื่องสุญญตา และ อนัตตา คงสาละวนกันอยู่แต่เรื่องทำบุญ ให้ทาน ชนิดที่จะทำให้ตนเป็นผู้มีโชคดีในชาตินี้ แล้วไปเกิดสวยเกิดรวยในชาติหน้า และได้ครอบครองสวรรค์ หรือวิมานในที่สุด วนเวียนพูดกันในเรื่องนี้ ไม่ว่าในหมู่คนปัญญาอ่อน หรือ นักปราชญ์ เรื่องนิพพานสมบัติ จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวไป เพราะรู้สึกคล้ายกับว่า การบรรลุนิพพานนั้น เหมือนกับ การถูกจับโยนลงไปในเหว อันเวิ้งว้าง ไม่มีที่สิ้นสุด แต่จะปัดทิ้งเสียทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะเขาว่าเป็นสิ่งสูงสุด ในพระพุทธศาสนา จึงได้แต่เพียงห้ามปรามกัน ไม่ให้พูดถึง แม้ในหมู่บุคคลชั้นเถระ หรือ สมภารเจ้าวัด พวกชาวบ้านทั่วไป จึงห่างไกลจากการได้ยินได้ฟัง เรื่องซึ่งเป็นตัวแท้ของพุทธศาสนา หรือ หลักพุทธศาสนาอันแท้จริง ที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายเอาไว้ หรือมีไว้ เพื่อประโยชน์แก่คนทุกคน และทุกชั้น สถานการณ์ด้านศาสนาของประเทศไทย กำลังเป็นอยู่อย่างนี้ แล้วจะเรียกว่า เป็นการบวชเพื่อสืบพระศาสนาได้อย่างไรกันเล่า

เรื่องสุญญตานี้ เป็นเรื่องของฆราวาส จะต้องสนใจ ทราบได้จากบาลีตอนหนึ่งแห่ง สังยุตตนิกายและที่อื่นๆ ที่ตรงกัน ข้อความในบาลีนั้น มีใจความที่พอจะสรุปสั้นๆ ได้ว่า พวกชาวบ้าน ที่มีอันจะกินกลุ่มหนึ่ง ได้เข้าไปเผ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลให้ทรงทราบ ตามสภาพที่เป็นจริงว่า พวกเขาเป็นผู้ครองบ้านเรือน อัดแอด้วยบุตรภรรยา ลูบไล้กระแจะจันทน์หอม ประกอบการงานอยู่อย่างสามัญชนทั่วไป ขอให้พระองค์ทรงแสดงข้อธรรมะที่ทรงเห็นว่า เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เขา ผู้อยู่ในสภาพเช่นนั้น พระพุทธองค์ จึงสอนเรื่องสุญญตา ซึ่งเป็นตัวแท้ของพุทธศาสนา แก่คนเหล่านั้น โดยทรงเห็นว่า เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเหล่านั้น โดยตรง และทรงยืนยันให้เขาถือเป็นหลักไว้ประจำใจว่า เรื่องสุญญตานั้น เป็นเรื่องซึ่งพระพุทธเจ้าสอน ส่วนเรื่องอันสวยสดงดงามต่างๆ นอกไปจากนั้น เป็นเรื่องของคนชั้นหลังสอน พวกชาวบ้านเหล่านั้นได้ทูลแย้งขึ้นว่า เรื่องสุญญตายังสูงเกินไป ขอให้ทรงแสดงเรื่องที่ต่ำลงมา พระองค์จึงได้แสดงเรื่องการเตรียมตัว เพื่อความเป็นผู้บรรลุถึงกระแสแห่งนิพพาน ซึ่งได้แก่ ข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงความเป็นพระโสดาบัน มีใจความโดยสรุปคือ มีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างไม่ง่อนแง่น คลอนแคลน กับมีศีลชนิดที่พระอริยเจ้าชอบใจ คือ เป็นศีลชนิดที่ผู้นั้นเอง ก็ติเตียนตนเองไม่ได้ และการไม่มีความเชื่อหรือปฏิบัติอย่างงมงาย ในเรื่องต่างๆ พวกชาวบ้านเหล่านั้น ก็แสดงความพอใจ และกราบทูลว่า ตนได้ยึดมั่นอยู่ในหลักปฏิบัติเหล่านั้นอยู่แล้ว

เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันอย่างละเอียด เพื่อความเข้าใจถึงความมุ่งหมาย อันแท้จริงของหลักพระพุทธศาสนา พระองค์ ทรงแสดงเรื่องสุญญตา แก่บุคคลผู้ครองเรือน เพราะเป็นประโยชน์ เกื้อกูลแก่เขาตามที่เขาขอร้องตรงๆ พระพุทธองค์ประสงค์จะให้พวกฆราวาส รับเอาเรื่องสุญญตา ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะมันไม่มีเรื่องอื่น ที่ดีกว่านี้จริงๆ ส่วนเรื่องที่ลดหลั่นลงไป จากเรื่องสุญญตานั้น ก็ได้แก่ ข้อปฏิบัติที่ทำให้เป็นพระโสดาบันนั่นเอง เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องเตรียมตัวสำหรับการบรรลุนิพพานโดยตรง จึงนับว่า เป็นเรื่องเข้าถึงสุญญตาโดยทางอ้อมนั่นเอง หาใช่เป็นเรื่องทำบุญให้ทาน ด้วยการมัวเมาในมนุษยสมบัติ และสวรรค์สมบัติ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ก็ไม่วายที่พวกนักอธิบายธรรมะในชั้นหลังๆ จะดึงเอาเรื่องเหล่านี้ มาเกี่ยวข้องกับสวรรค์สมบัติจนได้ และทำไปในลักษณะที่เป็นการหลอก โฆษณาชวนเชื่อยิ่งขึ้นทุกที จึงทำให้เรื่องที่เป็นบันไดขั้นต้นของนิพพาน หรือของสุญญตา ต้องสลัว หรือ ลับเลือนไปอีก จนพวกเราสมัยนี้ ไม่มีโอกาสที่จะฟังเรื่องสุญญตา หรือนำเอาเรื่องสุญญตา อันเป็นตัวแท้ของพระพุทธศาสนา มาใช้ในการบำบัดทุกข์ประจำวัน อันเป็นความประสงค์ที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า พวกเราจึงต้องเหินห่างจากหัวใจของพุทธศาสนา ออกไปมากขึ้นทุกวันๆ เพราะนักสอนนักอธิบายสมัยนี้เอง

การที่พระพุทธองค์ ทรงแสดงเรื่องสุญญตา แก่ฆราวาส ก็ต้องมีความหมายว่า ปัญหายุ่งยากต่างๆ ของฆราวาส ต้องแก้ด้วยหลักสุญญตา ความเป็นไปในชีวิตประจำวันของฆราวาส จะต้องถูกควบคุมอยู่ด้วยความเข้าใจถูกต้อง ในเรื่องอันเกี่ยวกับจิตว่าง เขาจะทำอะไรไม่ผิด ไม่เป็นทุกข์ขึ้นมา ก็เพราะมีความรู้ ในเรื่องสุญญตา มาคอยกำกับจิตใจ ถ้าผิดไปจากนี้แล้ว ฆราวาสก็คือ พวกที่จะต้องหัวเราะ และร้องไห้ สลับกันไป ไม่มีที่สิ้นสุด และ เพื่อที่จะให้ฆราวาส ไม่ต้องเป็นเช่นนั้น พระองค์จึงได้สอนเรื่องสุญญตา แก่ฆราวาสในฐานที่ "เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ เกื้อกูลแก่ฆราวาส" ดังที่กล่าวแล้ว หลักพุทธศาสนาอันสูงสุดนั้น มีเรื่องเดียว คือ เรื่องสุญญตา หรือ จิตว่าง ใช้ได้แม้แต่พวกฆราวาสทั่วไป และมุ่งหมายที่จะดับทุกข์ของฆราวาสโดยตรง เพื่อฆราวาสผู้อยู่ท่ามกลางความทุกข์นี้ จะได้กลายเป็น บุคคลที่ความทุกข์แปดเปื้อนไม่ได้ ถ้าเป็นนิพพาน ก็เป็นที่ความทุกข์แปดเปื้อนไม่ได้นั่นเอง ถ้าแปดเปื้อนไม่ได้เลย จนเป็นการเด็ดขาด และถาวร ก็เรียกว่า เป็นผู้บรรลุพระนิพพาน เป็นพระอรหันต์, เป็นแต่เพียงการแปดเปื้อนที่น้อยลงมา ก็เป็นการบรรลุพระนิพพาน ในขั้นที่เป็นพระอริยบุคคล รองๆ ลงมา

"โสตาปัตติยังคะ" ก็คือ ศรัทธาแน่นแฟ้นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และความมีอริยกันตศีล รวมทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นการเตรียมตัวเพื่อลุสุญญตาหรือ นิพพาน ศรัทธา (ความเชื่อ) จะยังไม่แน่นแฟ้นแท้จริง จนกว่าจะได้มองเห็นว่า พระพุทธเจ้า เป็นผู้ตรัสรู้เรื่องสุญญตา คือ เรื่องสูงสุดที่ดับทุกข์ได้จริง และพระธรรมนั้น ก็เป็นเรื่องอะไรอื่น นอกไปจากเรื่องทั้งหมดของสุญญตา ที่ดับทุกข์ได้จริง กล่าวคือ คำสอนและการปฏิบัติ รวมทั้ง ผลที่มีมาจากความไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง ส่วนพระสงฆ์นั้น ก็คือ ผู้ที่ปฏิบัติ และได้รับผลการปฏิบัติเช่นนั้น เมื่อมองเห็นอยู่อย่างนี้ ศรัทธาจึงจะแน่นแฟ้นมั่นคง ไม่ง่อนแง่น คลอนแคลน กล่าวคือ จะไม่เลื่อมใสในศาสดาอื่นๆ ในข้อสั่งสอนใดๆ และพวกนักบวชใดๆ ที่ไม่กล่าวสอนหรือปฏิบัติเรื่องสุญญตา หรือ นิพพาน

ส่วน "อริยกันตศีล" นั้นก็เหมือนกัน ศีลที่จะบริสุทธิ์หมดจด ถึงกับถูกจัดเป็น "อริยกันตะ" คือ เป็นที่พอใจของพระอริยเจ้าได้ ก็ต่อเมื่อศีลนั้น มีมูลมาจากการเห็น สุญญตา เท่านั้น แม้ไม่โดยสิ้นเชิง ก็ต้องโดยบางส่วน คือ อย่างน้อย จะต้องมีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น หรือ ยึดมั่นไม่ได้จริงๆ เท่านั้น เขาจึงจะเป็นผู้ไม่มีเจตนา ที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป ที่เป็นการผิดศีล ไม่ว่าจะเป็นศีลเท่าใดข้อไหนก็ตาม อนึ่ง สุขเวทนา และสิ่งอันเป็นที่ตั้งของสุขเวทนา นานาชนิดในโลกนั่นเอง ที่เป็นที่ตั้งของความยึดมั่นถือมั่น และทำให้คนเราล่วงศีล ทั้งๆที่รู้อยู่ หรือ ทั้งๆที่พยายามจะไม่ให้ล่วง มันก็ล่วงจนได้ ยิ่งไปบีบบังคับหนักเข้า มันก็ยิ่งมีปฏิกิริยามากขึ้น แต่ถ้าหากมีทางระบายความกดดันอันนี้ออก เสียได้ ด้วยความรู้ เรื่องสุญญตาอยู่เสมอๆ แล้ว การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ก็จะมีได้โดยง่ายขึ้น ไม่มีการฝืน หรือ ต่อสู้อะไรมากมาย ศีลก็จะบริสุทธิ์ ถึงขนาดเป็นที่พอใจ ของพระอริยเจ้าได้

ทั้งหมดนี้ เราจะเห็นได้ว่า โสตาปัตติยังคะ ทั้ง ๔ องค์นี้ แม้จะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้า ตรัสเพื่อเลี่ยงคำแย้งของพวกฆราวาสเหล่านั้น ในเรื่องความยากเกี่ยวกับสุญญตา ก็ยังไม่พ้นวงของเรื่องสุญญตา อยู่นั่นเอง ถ้าจะกล่าวอย่างโวหารธรรมดา ก็กล่าวได้ว่า เป็นการซ้อนกล บังคับให้รับเอาเรื่องสุญญตา อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น หรือในลักษณะที่ความรู้เรื่องสุญญตานั้น จักต้องงอกงามเบิกบานออกไปได้ในอนาคต ในตัวมันเองโดยแน่นอน ถ้าเขาจะมีศรัทธาจริง มีศีลจริง ดังที่กล่าวมานี้ มันก็ต้องเป็นศรัทธา หรือศีล ที่มีมูลมาจากสุญญตา ไม่ใช่จากความกระหายต่อสวรรค์ เช่น อยากเป็นเทวดา มีวิมานทอง มีนางฟ้า ๕๐๐ เป็นบริวาร หรืออะไรๆ ที่เขาล่อๆ ให้คนหลงกันอยู่ทั่วไป แม้จะเป็นศรัทธา หรือศีล อย่างรุนแรงเพียงใด ก็หาเป็นสิ่งที่แน่นแฟ้นมั่นคง หรือ เป็นที่พอใจของพระอริยเจ้าไม่ เพราะฉะนั้น เมื่อจะมีศรัทธาและมีศีล อย่างมั่นคงได้ มันก็ต้องเป็นศรัทธา และศีล ที่มีมูลมาจากสิ่งอื่นนั้น จะต้องล้มลุกคลุกคลาน อยู่เสมอไป ครั้งถูกหลอกถูกล่อ หนักเข้า เจ้าตัวก็จะเบื่อหน่าย ต่อศรัทธา และศีล เช่นนั้นขึ้นมาเอง จักเริ่มใช้ปัญญาของตน จนมาพบศรัทธาและศีลที่มีราก คือ สุญญตาเข้าวันหนึ่งจนได้ ฉะนั้น ถ้าจะกล่าวอย่างสำนวนชาวบ้าน เราก็อาจจะกล่าวได้ว่า พระพุทธองค์ได้ทรงวางกับดักล่วงหน้าไว้ดีแล้ว จนกระทั่งว่า ทำอย่างไรเสีย พวกชาวบ้านเหล่านั้น ก็ไม่หลุดรอดไปจากวงของเรื่องสุญญตาได้ ทั้งๆที่เขากำลังปฏิเสธ ไม่ยอมรับเรื่องสุญญตาอยู่อย่างแข็งขันก็ตาม

สรุปความว่า ในหมู่คนที่มีปัญญาแล้ว โดยธรรมชาติที่แท้จริงนั้น เขาย่อมต้องการธรรมะ หรือ หลักแห่งพุทธศาสนาอันเดียวกัน คือ การระงับดับทุกข์ เพื่อให้เกิดความสุขด้วยกันทุกคน เพียงแต่ลดหลั่นกัน ตามสติปัญญาเท่านั้นเอง กล่าวคือ เรื่องสุญญตา ในระดับหนึ่ง ที่เหมาะสมแก่บุคคลเหล่าหนึ่งๆ แต่ข้อเสียดายอย่างยิ่งก็คือ คนเหล่านั้นไม่เคยถูกสอน ให้ต้องการสิ่งที่จะมาดับทุกข์ตามฐานะของตนๆ ให้เหมาะสมกันกับความทุกข์ของตนๆ แต่เขาได้ถูกสอนใ ห้แล่นเตลิดออกไป นอกลู่นอกทาง คือไปต้องการความสุข ชนิดใดชนิดหนึ่ง ตามที่เขาจะชอบนึกฝันเอาเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องไปติดบ่วง ของการเมาสวรรค์ เมาบุญที่นักสอนศาสนาบางคน เขาโฆษณากันอยู่ ทุกค่ำเช้า ฉะนั้น สิ่งที่ชาวบ้านต้องการ จึงไม่ใช่ความดับทุกข์ หรือ ธรรมะที่อาจจะดับทุกข์ ตามที่พุทธศาสนาจะมีให้ แต่มันได้กลายเป็นว่า เขาต้องการความสุข ตามที่เขาคาดฝันเอาเอง สร้างวิมานในอากาศ ฝันหวานๆ ตามความพอใจของเขาเอง ไปเสียแล้ว

ข้อนี้เอง เป็นข้อที่ทำให้ทายกทายิกา หรือพุทธบริษัททั้งหลาย เกิดมีความมุ่งหมายที่จะได้อะไรๆ เกินไปจากที่พุทธศาสนาจะให้ได้ ผิดไปจากความมุ่งหมายเดิมแท้ของพระพุทธศาสนา เพราะจับหลักกันไม่ได้ ว่า พระพุทธศาสนา มุ่งหมายจะอำนวยประโยชน์อันแท้จริงอะไรให้แก่มนุษย์ และหลักธรรมที่จะเป็นเครื่องมือเช่นว่านั้นคืออะไร ฉะนั้น ขอเน้นอย่างสรุปสั้นๆ ว่า พระพุทธศาสนา มุ่งหมายจะให้คนทั้งหลาย อยู่ได้ท่ามกลางของทุกข์ โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะอาศัยความรู้ และการปฏิบัติ ในเรื่องสุญญตา หรือ ความว่างจากตัวตน นั่นเอง หาใช่เพื่อ ความมัวเมาในสวรรค์วิมาน อย่างที่มีการโฆษณา ชวนเชื่ออยู่ตามวัดวาอารามต่างๆ ทั่วไปไม่ และขอให้พวกเราเข้ามารู้จักกันเสียใหม่ นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อมิให้เสียเวลา (โปรดอ่านหนังสือ "วิธีระงับดับทุกข์" ของท่านพุทธทาส)

ปัญหาต่อไปก็คือว่า ทำไมพวกเราในสมัยนี้ จึงได้รับประโยชน์จากพุทธศาสนา น้อยเกินไป ในเมื่อเทียบกับประโยชน์ทั้งหมดที่พุทธศาสนาได้มีให้ ไม่มีสันติภาพอันพอควรในหมู่มนุษย์ ซึ่งถือกันว่า เป็นสัตว์สูง เหนือสัตว์ทั้งปวง จนถึงกับกล่าวได้ว่า สันติภาพมีในหมู่สัตว์เดียรฉานทั่วไป มากกว่า ที่มีอยู่ใน หมู่มนุษย์ เพื่อจะตอบปัญหานี้ เราควรจะทำความเข้าใจเสียก่อนว่า คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับศาสนานั้น มีอยู่สองประเภทใหญ่ๆ คือ เข้ามาเกี่ยวข้องเพียงสักว่า ทำตามบรรพบุรุษ หรือตามประเพณี อย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่งนั้น เป็นเพราะมีความต้องการในใจ อย่างใดอย่างหนึ่งจากศาสนา

สำหรับอย่างแรก คือ การถือศาสนา สักว่าทำตามบรรพบุรุษ หรือตามประเพณีนั้น ไม่มีผลเป็นชิ้นเป็นอันสำหรับตัวบุคคลนั้นเอง ส่วนการถือศาสนาเพราะมีความมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ก็ยังแบ่งออกเป็นอีก ๒ ประเภท คือ ประเภทที่มีเจตนาอันบริสุทธิ์ คือเข้ามาเกี่ยวข้องกับศาสนา เพื่ออยากพ้นกิเลส พ้นความทุกข์ใจทั้งปวง คนพวกนี้ เป็นพวกที่น่าจะได้รับการสนับสนุน ช่วยเหลือ เท่าที่จะช่วยเขาได้ ส่วนอีกประเภทหนึ่งนั้น ไม่มีเจตนาอย่างนั้นเข้ามา ก็เพราะหวังจะเอาอะไรโง่ๆ จากพระศาสนา เช่น เอาเครื่องลางของขลัง ของศักดิ์สิทธิ์ อยากให้มีโชค อยากร่ำรวย ให้ได้ชัยชนะ หรือคลาดแคล้ว จากศัตรู จากภูตผีปีศาจ และโรคภัยไข้เจ็บ แล้วก็เที่ยวหาวัตถุศักดิ์สิทธิ์มาแขวนไว้ที่คอ จนคอแทบจะทนไม่ไหว โดยไม่มีความรู้เลยว่า นั่นคืออะไร มีมูลมาจากอะไร และเพื่ออะไร สิ่งที่ตนคิดว่าเป็นของขลัง และศักดิ์สิทธิ์ นั้นกลับกลายเป็น ข้าศึกแก่ตนเอง ปิดบังปัญญาของตัว

บางพวกก็เข้ามาบวชเพื่อหาความรู้ในทางศาสนา เพื่อจะได้วิชาความรู้นั้น เป็นเครื่องมือยังชีพ หาประโยชน์ทางวัตถุเพื่อตัวเอง เป็นการเพิ่มกิเลสขึ้นอีกอย่างเดียวกัน ในที่สุด ก็ไม่อาจเข้าถึงแก่นของศาสนาได้ เพราะไม่มีเจตน์จำนงค์จะเข้าให้ถึง ไม่มีใจรัก ที่จะเข้าให้ถึง หรือเห็นว่า สัจธรรมไม่ก่อประโยชน์เป็นเงินเป็นทองทันตาเห็น ฉะนั้น การที่ชาวบ้านลงทุนเพื่อบำรุงกิจการพระศาสนา อันไม่น้อยกว่า ร้อยล้าน พันล้านบาท จึงไม่ได้รับผล ตามความมุ่งหมายของศาสนา ไม่คุ้มค่าเงิน ที่ใช้ลงทุนไป เพราะเขาไม่ต้องการคำสอนที่แท้ ของพระพุทธเจ้า มีความต้องการ แต่สิ่งที่ไม่ตรงจุดหมายของพระองค์

จริงอยู่ ความกลัว ย่อมเป็นมูลเหตุอันแท้จริง ของการเกิดขึ้นมา และการตั้งอยู่ได้ ของศาสนาทั้งปวง พวกที่กลัวอำนาจอันลี้ลับ ของผีสางเทวดา รวมทั้งพระเป็นเจ้า ก็ต้องการศาสนาไว้ เพียงเพื่อจะได้เป็นที่โปรดปราน ของผีสางเทวดา และพระผู้เป็นเจ้า ทั้งๆ ที่สิ่งทั้งหมดเหล่านี้ ก็เป็นเพียงอวิชชาความโง่ อย่างหนึ่งเท่านั้น พวกที่กลัวยากจน กลัวโชคร้าย ก็หันเข้ามาหาศาสนา เพื่อเป็นเครื่องมือ ช่วยขจัดความกลัวเหล่านั้น ส่วนความกลัวของพุทธบริษัท ที่แท้จริงนั้น คือ กลัวความทุกข์ หรือ กลัวกิเลส ของตัวเอง โดยเห็นว่าเป็นภัยที่ใหญ่หลวง ยิ่งกว่าภัยใดๆ หมด พอเกิดมา ก็ได้ประสบภัยอันนี้แล้ว และประสบอยู่ต่อไป จนตลอดชีวิต จึงต้องการเครื่องมือ กำจัดมันเสีย เพราะเหตุนี้เอง พุทธบริษัทที่แท้ ที่หวังจะได้รับผลจากพระพุทธศาสนาโดยตรง จึงต้องรีบสะสางปัญหาข้อนี้ โดยมีความต้องการให้ถูกตรง ตามจุดมุ่งหมายของพุทธศาสนา แล้วจะประสบสิ่งที่เราต้องการ กล่าวคือ สันติภาพอันถาวร ของเอกชน และสังคม โดยไม่ต้องสงสัยเลย และนับว่าได้รับสิ่งสูงสุด ที่พุทธศาสนาเจตนาจะให้ กล้าท้าให้พิสูจน์ได้ว่า ไม่มีอะไรที่สูงยิ่งไปกว่านี้ ในการที่จะสร้างสันติภาพ ให้แก่ตนเอง และทุกๆ คนในโลก





คัดจาก หนังสือ ตัวกู-ของกู พุทธทาสภิกขุ ฉบับย่อ (๘๐บาท), ย่อโดย คุณปุ่น จงประเสริฐ
(เรียบเรียงจาก คำบรรยายเรื่อง ตัวกู-ของกู (ฉบับสมบูรณ์) ของท่านพุทธทาส)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น