เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ
ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "
หน้าเว็บ
เกี่ยวกับฉัน
- Nitinandho
- อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย
ผู้ติดตาม
วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
เรื่องไม่ต้องทำอะไร
เรื่องไม่ต้องทำอะไร
พุทธทาส ภิกขุ
แสดงที่ สวนอุศมฯ เมื่อ ๑๔ มกราคม ๒๕๐๘
โอวาทครั้งนี้ เริ่มเรื่องด้วย มีผู้เสนอขอให้แนะนำ เพื่อเกิดความเพียรขยันทำข้อปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ :-
พูดเรื่องความว่างนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เรื่องขยันนั้นเป็นเรื่องหาเรื่อง เรื่องดับทุกข์ เรื่องไม่มีทุกข์นี้ มันเป็นเรื่องไม่ทำอะไร แต่ว่าฟังกันไม่ถูก เรื่องนี้ต้องพูดกันให้เข้าใจว่า ไม่ต้องทำอะไร เราเคยได้ยินแต่ว่า ให้รีบปฏิบัติอย่างพากเพียรอย่างขยันขันแข็ง ได้ยินแต่อย่างนั้น
ดังนั้นฟังดูใหม่ อย่างไหนจะดีกว่ากัน ที่ว่า ไม่ต้องทำอะไรกับต้องทำมากๆ อย่างไหนจะดีกว่ากัน นี่เป็นเรื่องที่เป็นหลักพื้นฐาน ที่เราเข้าใจไม่ตรงกัน ดังนั้นจึงพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่องว่า ต้องทำอะไร กับไม่ต้องทำอะไรเลย ต่างกันอยู่อย่างนี้
สำหรับวันนี้ อยากจะพูดเรื่อง ไม่ต้องทำอะไร ซึ่งเป็นวิธีที่มีหลักสำหรับบอกกันอย่างนี้ มันต้องทราบก่อนว่าเดี๋ยวนี้เราเข้าใจไขว้กันอยู่เป็นสองอย่าง เป็นสองพวกคือ พวกที่มากที่สุดตั้ง ๙๙ % ในประเทศไทยนี้ เขาเข้าใจว่ากิเลสเกิดอยู่เรื่อย หมายความว่า ความทุกข์เกิดอยู่เรื่อย หรือจิตนี้วุ่นเป็นไฟอยู่เรื่อย นี่พวกที่กิเลสเกิดอยู่เป็นพื้นฐาน ในเมืองไทยสอนกันอยู่จนเข้าใจอย่างนี้
อีกพวกหนึ่งก็ตรงกันข้ามว่า กิเลสไม่ได้เกิดอยู่เป็นพื้นฐาน ความว่างจากกิเลสนั่นแหละมีอยู่เป็นพื้นฐาน ส่วนเวลาที่กิเลสเกิดนั้น นิดเดียว วันหนึ่งคืนหนึ่ง มีสักครั้ง สองครั้ง หรือไม่กี่ครั้ง เมื่อรวมแล้ว มันน้อยกว่าเวลาที่กิเลสว่างอยู่ ที่กิเลสไม่เกิด เวลากิเลสไม่เกิดมีมากกว่า
เมื่อพูดอย่างนี้ ควรจะคิดดูให้เข้าใจจริงๆ เสียชั้นหนึ่งก่อนว่าคำพูดอันไหนถูก ว่า คนเรานี้ จิตว่างจากกิเลสอยู่เป็นพื้นฐาน กิเลสพึ่งมาเป็นคราวๆ นี้อย่างหนึ่ง กับที่พูดว่าคนเรานี้ มีกิเลสวุ่นอยู่ทั้งหลับทั้งตื่น ไม่มีเวลาหยุดทั้งกลาววันกลางคืน แล้วต้องไปทำ ต้องบีบ ต้องกดเฉพาะครั้ง เฉพาะคราว มันจึงว่างไป หรือหยุดไปบ้าง นี่ก็พูดอีกอย่างหนึ่ง อย่างไหนถูก อย่าเอาที่เล่าเรียนหรือได้ยินได้ฟังมาเป็นเกณฑ์ เอาที่รู้สึกแก่จิตใจ ในจิตใจเป็นเกณฑ์ เหมือนอย่างถามว่า เดี๋ยวนี้จิตว่างจากกิเลสไหม ถ้าว่าจิตมีกิเลสก็ลองว่ามาว่ามันมีกิเลสอะไร หรือถ้าไม่มีกิเลส ก็ให้เข้าใจว่ามันว่างจากกิเลส
กิเลสมี ต่อเมื่อมีความปรุง เวลาที่ไม่มีความปรุงนั้นกิเลสไม่มี ฉะนั้นเราอย่าไปปรุง พยายามมีสติ ที่จะอยู่นิ่งๆ ไม่ปรุง กิเลสเกิดต่อเมื่ออารมณ์กระทบตา กระทบหู หรือกระทบลิ้น กระทบผิวหนัง หรือกระทบจิต เกิดคิดขึ้นมาในจิต มันจึงจะเรียกว่ามีการกระทบ พอเกิดมีการกระทบ มันก็มีทางที่จะแยกเป็นสองทาง ทางหนึ่งคือมีสติสัมปชัญญะ ทางหนึ่งไม่มีสติสัมปชัญญะ ถ้ามีสติสัมปชัญญะ ในความรู้สึกตัวแล้ว มันก็ห้ามกันความปรุงได้ ในเมื่อรูปกระทบตา เสียงกระทบหู ก็ตาม มีสติสัมปชัญญะไว้ มันก็ห้ามกันความปรุงไว้ได้ แม้จะรู้สึกถูกใจ ไม่ถูกใจบ้าง ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าหลังจากนั้น อย่าไปปรุงเป็นตัณหา คือความอยากอย่างใดอย่างหนึ่ง ชอบก็เป็นตัณหาอย่างหนึ่ง ไม่ชอบก็เป็นตัณหาอย่างหนึ่ง ภาษาบาลีเขาหมายความอย่างนั้น เพราะว่าถ้าชอบก็อยากได้ อยากมี อยากเป็น ถ้าไม่ชอบก็อยากตี อยากฆ่า อยากทำลาย อยากหนีไปให้พ้น มันเป็นอีกอย่างหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าอยากอย่างนี้ อยากด้วยความโง่แล้ว ก็เป็นตัณหาหมด ดังนั้นก็มีการปรุงเป็นตัณหา ถ้าไม่เผลอสติก็ไม่มีการปรุงเป็นตัณหา ก็คือว่างอยู่ตามเดิม ไม่ปรุงเป็นตัณหา ก็ไม่เป็นอุปาทาน ไม่เป็นตัวกูของกู ไม่มีตัวกูของกู ก็ไม่มีชาติ ชรา มรณะ ฯลฯ ดังนั้นจึงไม่ทุกข์
ทีนี้ถ้าเผลอสติ มีปรุงเป็นตัณหา อยากอย่างนั้นอยากอย่างนี้นั่นแหละคือตัวกู เป็นตัวปฏิสนธิล่ะ ปฏิสนธิคือ ตัวกูที่มีตัณหา พอมีตัณหาก็มีอุปาทาน เหมือนกับครรภ์แก่แล้ว พอหลังจากอุปาทานก็เป็นภพ เป็นชาติ คลอดตัวกูออกมาเต็มที่ เต้นเร่าๆ ส่งเสียงลั่นอยู่ หรืออะไร หรือกลุ้มเป็นไฟอยู่ อย่างนี้เรียกว่าตัวกูของกูเกิด นี่คือวุ่น วุ่น หมายถึงตอนนี้ กิเลสเกิด หมายถึง ตอนนี้ ถ้ายังไม่เป็นอย่างนี้ เรียกว่ายังว่างอยู่ กิเลสยังไม่ได้เกิด ดังนั้นเราก็ระวังตรงนี้เท่านั้น ระวังอย่าให้ปรุงเป็นอย่างนี้ จะได้ว่างอยู่เรื่อยไป
ที่ว่า ให้ว่าง นี้ก็ หมายความว่า ให้มีสติสัมปชัญญะให้ดีๆ ระวังให้ดีๆ อย่าให้เผลอไปทำอะไรเข้า "ทำ" คำนี้หมายความว่า ทำด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน คือมีตัวกูของกูเป็นผู้ทำ เรียกว่าวุ่นแล้ว ดังนั้นพอมีอะไรกระทบตา หู จมูล ลิ้น อะไรก็ตาม ที่จะทำให้มีเรื่องต้องคงสภาพเดิมไว้ให้ได้ คืออย่าให้มีเรื่อง คืออย่าให้ปรุง นี้มีสติสัมปชัญญะควบคุมเท่านั้นเอง ไม่ต้องทำอะไรใหม่ รักษาของเก่าไว้ ของเก่าคือว่าง ว่างอยู่เป็นพื้นฐานแล้ว รักษาไว้ให้ได้ นี่วิธีนี้เห็นว่าเหมาะที่สุด ลัดสั้นที่สุดแล้ว ฉลาดที่สุด ประหยัดเวลาที่สุด อะไรที่สุด ต้องมีหลักอยู่ว่า "ว่าง" อยู่เป็นพื้นฐาน ระวังอย่าให้วุ่นขึ้นมา ถ้าใครเคยเข้าใจเรื่องอย่างนี้อยู่แล้ว ก็นับว่าถูกตรงแล้ว ในทางที่จะทำได้ง่ายๆ มีประโยชน์ แต่ถ้าใครเข้าใจว่า เราวุ่นอยู่ตลอดเวลา มีกิเลสอยู่ตลอดเวลาแล้ว ก็ลองไปคิดดูใหม่ว่า จริงไหม
ทีนี้ต้องรู้จักสักเกต ที่ว่า "ว่าง" กับ "วุ่น" ความคิดที่ไปตามอวิชชา ตัณหา เรียกว่าวุ่น ถ้ามีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว มันก็วุ่น มีตัวกูของกู เมื่อตาได้เห็นรูปก็ตาม เมื่อหูได้ยินเสียงก็ตาม จมูกได้กลิ่นก็ตาม ทั้งหกอายตนะนี้ ถ้ามีการกระทำแล้ว มีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็เผลอสติ อวิชชาเกิดขึ้นทำหน้าที่ให้อยาก คือ ตัณหา ให้ยึดมั่นถือมั่นคืออุปาทาน แล้วเกิดภพเกิดชาติ แล้วเกิดทุกข์ นี่เรียกว่า วุ่น
ถ้ามีสติสัมปชัญญะเสมอ อวิชชาไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นมา ตัณหาก็ไม่อาจจะเกิด แม้ว่าตาจะเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่นก็ตาม ฯลฯ ทั้งหกนั้น แม้เป็นอย่างนั้น อวิชชาไม่ได้โอกาส ตัณหาก็ไม่เกิด อุปาทานก็ไม่เกิด ตัวกูของกูก็ไม่มี นี่เรียกว่าว่างอยู่เรื่อย แต่ก็คิดนึกอะไรทำอะไรได้อย่างดีเสียอีก ดังนั้น ความคิดหรือความต้องการก็ตาม การทำงานก็ตาม ที่ทำไปโดยไม่มีอุปาทาน ตัวกู ของกูแล้ว เรียกว่าทำไปด้วยจิตว่าง
ที่จิตวุ่น ทำไปด้วยอยากอย่างนั้น อยากอย่างนี้ ยึดมั่นอย่างนั้น ยึดมั่นอย่างนี้ นี่เรียกว่าทำด้วยจิตวุ่น นี้เป็นทุกข์. ถ้าทำด้วยจิตว่าง ก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ส.ค.ส. ปีนี้เขียนกันลงไปว่า :-
ให้ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง นี่เอาไปคิดดูกันให้ดี นี่หมายถึงอย่างนี้ แล้วก็ ยกผลงานให้ความว่างทุกอย่างสิ้น กินอาหารของความว่างอย่างพระกิน ตายเสร็จสิ้นแล้วในตัวแต่หัวที. แต่หัวที คือแต่ทีแรก ตายเสร็จสิ้นแต่ทีแรก แรกเกิดแรกรู้เรื่อง คือตายเสียก่อนตาย
ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง หมายความว่า เมื่อจิตมันว่าง ว่างเหมือนที่นั่งอยู่นี่ พอรู้สึกอะไร ทำอะไร ลุกไปทำอะไรให้ว่างอยู่อย่างนี้ หรือเมื่อเกิดอะไรขึ้น เกิดมีเรื่องกระทบอย่างนั้นอย่างนี้ คนนั้นคนนี้ ก็ให้ ตอบสนองไปด้วยจิตที่ยังว่าง อยู่อย่างนี้ อย่าทำให้จิตโกรธขึ้นมา แล้วจึงไปติดต่อกับเขา หรืออย่าไปรักเข้า แล้วไปติดต่อกับเขา ให้ทำไปด้วยจิตว่างไปตามเดิม ให้มีสติสัมปชัญญะทันท่วงที ที่มีอะไรเข้ามากระทบ
อย่าเพ่อพูด อย่าเพ่อทำ อย่าเพ่อคิดอะไรไปเลยในขณะที่จิตวุ่น ต้องสำรวมจิตให้มีสติสัมปชัญญะเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วจะสู้เด็กๆ ในนิทานเรื่องนับสิบเสียก่อนไม่ได้ นิทานสอนเด็กว่าให้นับสิบเสียก่อนจึงพูด เมื่อรู้สึกขุ่นขึ้นมา ในหนังสือแบบเรียนสมัยก่อนในนิทานสุภาษิต เด็กสองคนพี่น้อง เด็กที่เป็นน้องได้รับคำสั่งสอนอย่างนั้น ดังนั้น เด็กคนที่เป็นพี่เขาทำอะไรไม่ถูกใจ เด็กคนน้องเขานั่งนิ่งอึ้งอยู่ตั้งพัก มัวนับหนึ่งถึงสิบเสียก่อนจึงพูด ทีนี้นับหนึ่งไม่ทันถึงสิบ จิตมันวุ่น หรือโกรธขึ้นมาอีก เอ้า! ต้องนับใหม่ สู้กันอย่างนี้จนจิตปรกติ นับหนึ่งถึงสิบ มันก็หายโกรธแล้ว ก็เลยพูดไปได้โดยไม่มีความโกรธ อย่างนี้เรียกว่าพูดด้วยจิตว่าง ถ้าพูดด้วยจิตที่โลภ ด้วยโกรธ ด้วยหลง เรียกว่า พูดไปหรือทำไปด้วยจิตวุ่น
ทีนี้ ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง หมายความว่าไม่มีตัณหาอุปทานเจืออยู่ในขณะนั้น ทำด้วยจิตว่าง ไม่มีตัวกูของกูเจืออยู่ในขณะนั้น ขอให้สังเกตให้ดีๆ เถิดว่า ที่เรานั่งอยู่อย่างนี้ ให้พบความที่จิตว่าง ให้ว่างอย่างนี้อยู่เรื่อย ลุกไปทำอะไรที่ไหน มีอะไรเกิดขึ้น ให้ทำด้วยจิตว่างอย่างนี้อยู่เรื่อย ปรกติอยู่เรื่อย นี่เรียกว่า ทำด้วยจิตว่าง เขาฟังกันไม่ถูก เขาเขียนเยาะเย้ย ถากถางด่าว่ากันก็มี เพราะเขาทำไม่ถูกเรื่องของการทำงานด้วยจิตว่าง เพราะเขาไปมีหลักผิดกัน ผิดกันตรงกันข้าม เพราะเขาไปมีหลักว่า คนทุกคนมีจิตวุ่นเป็นพื้นฐาน มีจิตที่เต็มไปด้วยกิเลสเป็นพื้นฐาน ดังนั้นเขาจึงไม่สามารถทำงานด้วยจิตว่าง แล้วยากที่จะทำให้มันว่างได้ มันวุ่นด้วยกิเลสเป็นพื้นฐาน ไม่มีช่องว่างเว้น ส่วนเรามันมีหลักกลับกัน เราจิตมันว่างอยู่เป็นพื้นฐาน จิตกลับวุ่นขึ้นมาเป็นคราวๆ
เราถือตามพระพุทธภาษิตว่า "ปภสฺสร มิทฺทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ใสเป็นประภัสสร "อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ" แต่ว่าเศร้าหมอง เพราะกิเลสที่เป็นอาคันตุกะจรมาเป็นคราวๆ ดังนั้นจึงเรียกกิเลสว่าเป็นอาคันตุกะ เพราะเป็นเหมือนแขกที่มาบ้านเราเพียงเล็กน้อย เป็นครั้งคราว ไม่ได้มาอยู่ที่นี่ ไม่ได้มากินมานอนที่นี่ เป็นแขก เพราะฉะนั้นจึงว่า "อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฐํ" แปลว่า เศร้าหมองแล้ว เพราะอุปกิเลสที่จรมา จึงให้ถือว่า จิตนี้ใสเป็นประภัสสร คือว่างจากตัณหาอุปาทานอยู่ จนกว่าเมื่อไรมีเรื่องเข้ามา ทางตา ทางหู ทางจมูก ฯลฯ เหล่านี้ เมื่อเผลอสติ อวิชชาเกิดขึ้น ทำงานปรุงให้เกิด ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชาตินี่แหละเป็นตัวกูของกูแล้วเป็นทุกข์ นี่เรียกว่า เรามีพื้นฐานเป็นคนละอย่างเสียแล้ว เรามีพื้นฐานที่ว่างอยู่เรื่อย แล้วระวังให้ดี ให้ทำงานด้วยจิตว่างเหมือนที่เราอยู่ว่างๆ อย่างนี้ จะพูดจะทำอะไรก็ทำด้วยจิตว่าง
ที่ว่าคนทำงาน ถีบสามล้อ แจวเรือจ้าง มันว่างอย่างไร ก็ให้ว่างอยู่อย่างนั้น ก็แจวเรือไปเรือยๆ ถีบสามล้อก็เหมือนกัน เรียกว่า งานมันเหน็ดเหนื่อย งานของคนจนก็ต้องทำด้วยจิตว่างอย่าเผลอ ทีนี้เขากะฟัดกะเฟียดจิตใจเคร่งเครียด คิดมากไปอย่างนี้อย่างนั้น จนกระทั่งริษยาคนที่มีทรัพย์ มีกำลัง อย่างนี้ ก็เรียกว่า ทำไปด้วยจิตวุ่น เป็นทนทรมาน ถ้าทำด้วยจิตว่างก็อย่าไปคิดอย่างนั้น ให้ว่างอยู่ตามเดิม มีสติสัมปชัญญะอยู่ตามเดิมแล้วก็ทำไป งานมันสนุก ดังนั้น เราจึงเห็นคนแจวเรือจ้าง บางคนก็ร้องเพลงไปพลางก็มี ต้องการอย่างนั้น นี่เรียกว่า ทำงานด้วยจิตว่าง
ยกผลงานให้ความว่างทุกอย่างสิ้น คือได้ทรัพย์มาได้เกียรติยศชื่อเสียงมา อย่าเอาเป็นของกู อย่าไปโง่หลงเข้าใจผิดปรุงขึ้นในใจว่า เป็นของเรา ให้ความว่างเสียตามเดิม หมายความว่า ยกให้จิตที่ว่าง ที่ไม่มีตัวกู ให้จิตใจที่ว่างด้วยความคิดว่าไม่เป็นตัวเรา แล้วร่างกายนี้มันก็รวมกันอยู่ หมายความว่า ยกให้ร่างกายและจิตใจที่ว่างจากตัวกู มิได้ยึดถือว่าเป็นของเรา นี่ยกผลงาน ให้ความว่างหมด กี่อย่าง กี่อย่าง ได้อะไรมา ก็เก็บให้เป็นของความว่าง เช่น เราจะเก็บเงินไว้ในเซฟนี้ ก็ให้คิดว่าเป็นสมบัติของความว่าง ทีนี้ถ้าเราเอาตัวเราว่างได้ จิตว่างได้ มันก็เป็นของความว่าง ถ้าทำไม่ได้ก็คิดไปในทำนองว่า เราไม่ได้ยึดถือก็แล้วกัน เราไม่อาจจะเอาอะไรเป็นของเราได้ ก็เป็นของความว่างฝากความว่างไว้ ถ้าในขณะนั้นเรามีจิตว่างแล้ว มันจะเป็นของใครเล่า คิดดูเถิด จะเอาเงินไปเก็บที่ไหน จะเอาทองไปเก็บที่ไหน จะมีวัวควายไร่นาที่ไหน มันก็เป็นทรัพย์สมบัติของความว่าง นี่ยกผลงานให้ความว่างทุกอย่างสิ้น ไม่มีอะไรเหลือเป็นของเรา
ทีนี้จะต้องกินต้องใช้ ก็ถือว่ากินของความว่าง คือจิตที่ไม่มีตัวตน ที่ว่าง เป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติ แล้วมีอะไรกินก็กินของความว่าง อย่างนี้เรียกว่า กินอาหารของความว่าง ถ้าฟังไม่ถูก เป็นเส้นผมบังภูเขา ฟังไม่เข้าใจจนแล้วจนรอด ถ้าฟังถูกมันก็ง่ายนิดเดียว กินอาหารของความว่างอย่างพระกิน ไม่เคยบวชพระ คงจะฟังยากสักหน่อย ดังนั้นจะเล่าให้ฟัง ว่ากินอาหารของความว่างอย่างพระกินนั้น คนไม่เคยบวช ฟังไม่ถูก จะเล่าให้ฟัง
พระหรือเณรที่ปฏิบัติตามกฎ ตามระเบียบ เขาต้องพิจารณาบท ตามกฎของบทพิจารณาว่า "ยถา ปจฺจยํ ปวตฺตมานํธาตุมตฺตเมเวตํ" นี่เป็นหลักสำคัญ แล้วแถมต่อไปว่า "ยทิทํ จีวรํ ตทุปฺ ปภุญฺชโก จ ปุคฺคโล" นี่เป็นบาลีฟังยาก ถ้าพูดไทยก็ว่าสิ่งนี้ หรือสิ่งนั้น หรือสิ่งนั่นเป็นเพียงแต่สักว่า ธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น กำลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เปลี่ยนแปลงอยู่เนืองนิจ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แล้วก็ "สุญฺโญ" ว่างเปล่า ไม่มีอะไรที่เป็นตัวเราหรือของเรา นิสฺสตฺโต ไม่มีส่วนจะถือว่าเป็นสัตว์ บุคคลของเรา นิชฺชีโว ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่ชีวะของเรา แล้วสิ่งที่ว่านั้น คืออะไร สิ่งที่ว่านั้น คือ อาหารที่กิน ปิณฺฑปาโต ตทุปภุญชโก จ ปุคฺคโล และบุคคลที่กินนั้นด้วยพูดอีกทีว่า อาหารที่กินนั้นด้วย บุคคลที่กินอาหารนั้นด้วย ทั้งสองอย่างนั้น นั่นเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ กำลังเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย เปลี่ยนแปลงอยู่เนืองนิจ ว่างเปล่าจากตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน เราเขา พูดทำนองนั้น นี่เรียกว่าต้องพิจารณาอย่างนี้อยู่เรื่อย ดังนั้นพระเมื่อเดินออกไปบิณฑบาต ยังห่างเวลาฉันมาก เมื่อถือบาตรออกไปบิณฑบาตตอนเช้า ก็ต้องพิจารณาอย่างนี้อยู่ทุกก้าวย่าง ดังนั้นจึงทอดตาในระยะไกลพอสมควร เพื่อไม่ให้เดินผิดทางหรือใครชนเท่านั้นเอง แล้วก็พิจารณาอย่างนี้อยู่ตลอดเวลาที่บิณฑบาตรจนกลับ นี่มันป้องกันเสียแต่เนิ่นแล้ว ยังไม่ทันจะกินเพียงแต่ไปหาอาหารมาเท่านั้น ต้องพิจารณาว่า บิณฑบาตรนี้ก็ดี ผู้บิณฑบาตรนี้ก็ดี ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ว่างเปล่าจากตัวตน ทีนี้เมื่อกลับมาถึงที่อยู่จะฉันบิณฑบาตร ก็ต้องพิจารณาอย่างเดียวกันอีก เมื่อฉันก็ยังพิจารณาอย่างเดียวกัน นี่เรียกว่า พระฉันข้าวนั้น ฉันอย่างนี้ ฉันด้วยตัวเองก็ว่าง อาหารที่ฉันนั้นก็ว่าง ว่างจากสาระที่ควรยึดถือว่า ตัวตน นี่พระฉันข้าว อย่างนี้
ทีนี้ ที่บอกว่า กินอาหารของความว่างอย่างพระกินนั้น หมายถึงกินอย่างนี้ เพราะเราไม่ยึดถืออาหารที่กินนั้นว่าของเรา แต่กินด้วยความว่าง กินเหมือนอย่างพระกิน คือกินด้วยจิตที่ว่างจากตัวตน กินอาหารของความว่างอย่างพระกินนั้น มีความหมายอย่างนี้ แม้ฆราวาสก็ทำได้ ไม่ใช่ใครจะบังคับเราได้ และเมื่อทำอย่างนี้มันสบาย ไม่มีทางจะเกิดทุกข์เกิดเรื่องเพราะการกิน ดังนั้นไม่ใช่เรื่องของพระแล้วฆราวาสปฏิบัติไม่ได้ อย่างนี้ก็เป็นเรื่องทางจิตใจจะทำอย่างไรก็ได้ ดังนั้นเอาเรื่อไม่ทุกข์ไว้ก็แล้วกัน เมื่อทำการงาน ก็ทำด้วยจิตว่าง เมื่อได้ผลงานมา ก็ยกให้เป็นของความว่าง เมื่อกิน เมื่อใช้ ก็กินของความว่าง ใช้ของความว่าง นี่เรียกว่า ว่างอยู่ตลอดเวลา เป็นคนมีจิตว่างจากตัวกูของกู อยู่ตลอดเวลา
บรรทัดสุดท้ายที่ว่า "ตายเสร็จสิ้นแล้วในตัวแต่หัวที" นั้นหมายความว่าเมื่อทำอย่างนี้นั้น มันตายเสร็จสิ้นแล้วแต่ทีแรกเหมือนว่า เราทำงานด้วยจิตว่าง ยกผลงานให้ความว่าง กินอาหารของความว่าง ในขณะนั้นมันไม่มีตัวตนอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงว่าไม่มีตัวมาแล้วแต่ทีแรก นี้ใช้คำให้รุนแรง ให้คำว่า "ตาย" ตายเสร็จสิ้นคือ ไม่มีตัวเราเลยเสร็จสิ้นมาแล้วตั้งแต่ทีแรก จึงพูดว่า ตาย เสร็จสิ้นแล้วในตัวแต่หัวที ทำงานอยู่ก็เหมือนกับตายแล้ว เมื่อได้ผลงานก็เหมือนกับตายแล้ว เมื่อกินอาหารอยู่ก็เหมือนกับตายแล้ว หมายความว่ามันไม่มีตัวกู ของกู ที่เป็นผู้กิน ผู้ทำ ผู้ใช้ นี่ความหมายของคำสี่บรรทัดนั้น ซึ่งเป็นเรื่องของความว่าง ที่รุนแรงที่พูดไว้อย่างรุนแรง และเด็ดขาดที่สุด ถ้าทำอย่างนี้ได้ ก็ไม่มีความทุกข์เลย
ทีนี้มันอยู่ตรงที่เข้าใจกันไม่ถูกเท่านั้นเอง ไปเข้าใจว่าว่างไม่ได้แม้แต่นิดเดียว เพราะเขาไปเข้าใจผิดเสียแต่ทีแรกว่ามีวุ่นอยู่เรื่อย ประกอบด้วยกิเลสอยู่เรือย นั่นเป็นความหลงอันใหม่เป็นอวิชชาขึ้นมา ทำให้ปฏิบัติอะไรอย่างนี้ไม่ได้ ทีนี้กาลายเป็นคนจิตวุ่นอยู่ตลอดเวลา แล้วเลยพูดส่งเดชไปเลยว่า เขาสมัครเป็นผู้มีจิตวุ่น ยอมทนเป็นผู้มีจิตวุ่น ทนทุกข์ สร้างตวามวุ่นให้รุนแรงขึ้น เพื่อจะหาเงินให้มาก ทำอะไรอยู่ในโลกนี้ให้สนุกสนาน อย่างนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างร้าย ถ้าไปเทียบกับหลักพระพุทธศาสนา เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้ามีขึ้น เพื่อช่วยคนในโลกนี้อย่าให้เป็นทุกข์ ไม่ใช่เพื่อให้ทนทุกข์ เอาเข้าไปเพื่อให้ได้อะไรมา แต่ธรรมะนี้มุ่งหมายจะช่วยขจัดความทุกข์ให้แก่ทุกคน ที่ต้องอยู่ต้องทำงาน ต้องกิน ต้องใช้ แปลว่า ให้คนที่อยู่ในโลกนี้ไม่เป็นทุกข์ก็ได้
ถ้าปราศจากธรรมะ อยู่ในโลกนี้ก็จะต้องเป็นทุกข์ ถ้ามีธรรมะอยู่ในโลกนี้ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ดังนั้นธรรมะนี้มีเพื่อช่วยคนที่เป็นฆราวาส ที่มีทุกข์มาก ให้เป็นอยู่โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ โดยอาศายวิธีควบคุมความรู้สึกที่ว่า ตัวกู ของกู ที่เรียกว่า อุปาทาน อย่าให้เกิดขึ้นมาได้ โดยอย่าให้เกิดตัณหา เมื่อไม่เกิดตัณหาก็ไม่เกิดอุปาทานก็ต้องให้จิตว่างอยู่ตามเดิม มีสติสัมปชัญญะระวังตามเดิม เหมือนเดี๋ยวนี้ว่างอยู่อย่างไร ลุกไปทำงาน ทำอะไร ก็ให้ว่างอยู่อย่างนั้นให้ทำไปด้วยจิตว่าง ไม่มีความทุกข์ทุกประการ
ในขณะที่ทำ ในขณะที่ได้ผล ในขณะที่จะบริโภคผล เรียกว่าทำไปด้วยจิตว่าง ทุกระยะ เป็นว่าอยู่ในจิตว่างทั้งกลางวันกลางคืนทั้งหลับทั้งตื่น การงานก็ทำได้ดีเท่าที่ควรทำ นี่ไม่มีความทุกข์เลย นี่เป็นอุบาย เป็นเคล็ด ที่จะไม่เป็นทุกข์โดยที่ไม่มีตัวเรา ไม่มีความรู้สึกว่า ตัวเราเกิดขึ้น นั่นแหละ เมื่อกี้จึงพูดว่านั่นแหละคือไม่ต้องทำอะไร นี่ฟังตรงนี้อีกหน่อยว่า นั่นแหละคือไม่ทำอะไร
ทำไมจึงพูดว่า ไม่ทำอะไร ก็เพราะมันไม่มีตัวผู้ทำ มันจะทำอะไรล่ะ ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู ที่เป็นความรู้สึกเป็นเจ้าของหรือผู้ทำ ร่างกายที่ว่าง จิตที่ว่าง มันทำจึงเหมือนกับไม่ได้ทำ ถ้าเคยได้อ่านมาก เคยได้ยินได้ฟังมาก ก็จะระลึกถึง พระพุทธภาษิต หรือสุภาษิต ของพระเถระเถรีต่างๆ ที่มีว่า "ทำโดยไม่ต้องมีตัวผู้ทำ" หรือว่า "เดินทางโดยไม่ต้องมีผู้เดินทาง" หรือ "ปฏิบัติโดยไม่ต้องมีผู้ปฏิบัติ"
ลองฟังดูให้ดีเถิด ปฏิบัติธรรมโดยไม่ต้องมีตัวผู้ปฏิบัติ นั่นแหละคือวิธีลัดที่สุด ถ้ามีตัวผู้ปฏิบัติจะให้ดี จะเอาดี จะเอาเด่น เอาอย่างนั้น เอาอย่างนี้ จะเป็นพระอรหันต์ อย่างนี้ จะมีผู้ปฏิบัติ ถ้ามีผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล้ว มันไม่มีหวัง มันยังมีแต่วุ่นวาย ถ้าปฏิบัติโดยไม่มีผู้ปฏิบัติ คือว่างนั่นแหละ ถึงแล้วทันทีเดี๋ยวนั้น เพราะ มันว่างอยู่ก่อนแล้ว นี้จึงเรียกว่าไม่ต้องทำอะไร
มีการกระทำ แต่ไม่มีผู้กระทำ การกระทำก็ได้ทำไปแล้วเสร็จ แต่ผู้กระทำหามีไม่ หรือการเดินหมายถึงการปฏิบัติ เดินนั้นมีการเดิน มีการถึง แต่ไม่มีผู้เดิน ไม่มีผู้ถึง นี่ลองจำคำเหล่านี้ไว้บ้าง. ที่จริงก็เคยได้ยินแล้วเป็นส่วนมาก แต่เดี๋ยวก็ลืม เดี๋ยวก็ฟั่นเฝือ เดี๋ยวก็ได้ยินเรื่องนั้น เดี๋ยวก็ได้ยินเรื่องโน้น เอามากลบเกลื่อน เลือนกันไปหมด จนไม่จำอะไรได้ จนไม่เข้าใจอะไรได้ อันไหนที่เป็นหลักสำคัญแล้ว ควรจะจำไว้ให้ได้ และเอามาเป็นหลักพิจารณาอยู่เสมอ ให้เห็นแจ้งอยู่เสมอในข้อนั้น จะง่าย จะลัด จะสั้น จะเร็ว เพราะฉะนั้น จึงพูดอย่างสำนวนที่น่ากลัว หรือเข้าใจไม่ได้ ที่ว่า “ไม่มีอะไร มีแต่ว่าง” ไม่มีอะไร มีแต่ว่าง
อยากจะบอกกับคนบางคนว่า หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ฮวงโป อ่านกันไม่เข้าใจ เพราะเหตุนี้ เพราะเหตุที่ไม่เข้าใจคำว่า “ว่าง” หรือ “ว่าง” อยู่เป็นพื้นฐาน หรือ “ทุกสิ่งว่างอยู่เป็นธรรมชาติ” ดังนี้ เพราะฉะนั้น เราลองนึกถึงพวกที่เขาฉลาดไม่ต้องนึกว่า นิกายเซ็นหรือไม่ใช่นิกายเซ็น ไม่ต้องนึก เพราะมันมีอยู่ตลอดเวลา ที่ว่า ไม่มีการทำอะไร ไม่มีผู้ทำอะไร เมื่อไม่มีผู้ทำ ก็ต้องเท่ากับไม่มีการกระทำ พูดอย่างนี้ลึก หรือเด็ดขาด
ที่พูดแบ่งไว้ครึ่งหนึ่งว่า ไม่มีตัวผู้ทำ แต่มีการกระทำนั้น ยังแบ่งครึ่งอยู่ นี่เป็นเถรวาทอย่างเราๆ ในเมืองไทย พูดตามพุทธภาษิตว่า มีแต่การกระทำ ไม่มีตัวผู้กระทำ ถ้าพูดอย่างเซ็น พูดอย่างฉลาด อย่างมหายาน ไม่มีทั้งหมดเลย พูดตัดหมดเลย ไม่มีทั้งการกระทำ ไม่มีทั้งผู้ทำ คือว่าง ถูกทั้งสองอย่าง แล้วแต่เราจะเพ่งเล็งความหมาย ถ้าเพ่งอย่างรุนแรง อย่างเด็ดขาด ก็หมายความว่า มันว่าง ผู้ทำก็ไม่มี การกระทำนั้นก็ไม่เรียกว่าเป็นการกระทำ เพราะไม่มีตัวผู้กระทำ มันมีแต่การเคลื่อนไหว หรือกิริยาเฉยๆ ไม่เป็นกรรม ไม่เป็นการกระทำ อย่างกิ่งไม้หักลงมา เราจะเรียกว่า เป็นการกระทำอย่างนี้ไม่ได้ เพราะต้นไม้ไม่ได้เป็นผู้กระทำ มันเป็นเพียงกิริยาบริสุทธิ์ เฉยๆ เท่านั้น
ทีนี้ ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะก็ทำได้อย่างนั้น ให้มือนี้ทำอะไรได้ ให้สักแต่ว่าทำ เป็นกิริยา ไม่มีตัวกูของกู เป็นเจ้าของการกระทำ ที่ถูกต้องพูดว่า ไม่ต้องทำอะไร ไม่มีตัวเรา แล้วก็ไม่ต้องทำอะไร ส่วนที่ทำไปนี้เป็นเรื่องของกายบริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์ สติปัญญาบริสุทธิ์ ธรรมชาติบริสุทธิ์ ทำกันไป ในนั้นไม่มีความคิดว่า ตัวเรา ว่าของเรา ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู ดังนั้นมันจึงไม่ทุกข์ และเข้าใจให้ถูกต้องว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า อุปาทานเป็นตัวทุกข์นั้น ทุกข์ต่อเมื่อมีอุปาทานว่า ตัวกู ของกู ถ้าไม่มีอุปาทานว่า ตัวกู ของกูแล้ว ไม่มีอะไรที่เป็นทุกข์ แม้ความเกิดก็ไม่เป็นทุกข์ ความแก่ก็ไม่เป็นทุกข์ ความตายก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้าไม่มีอุปาทาน ว่า ตัวกูของกู ทีนี้เราฟังของท่านไม่ค่อยเข้าใจ พอได้ยินว่าความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ แล้วเข้าใจผิด ว่ามันเป็นทุกข์ไปหมด ในที่นั้นพระพุทธเจ้าท่านหมายถึง ความเกิดที่ถูกยึดถือว่า เป็นความเกิดของเรา ความแก่ที่ถูกยึดถือว่าเป็นความแก่ของเรา ความตายที่ถูกยึดถือว่า ความตายของเรา นั่นเป็นทุกข์ เพราะถ้าไม่ยึดถือมันไม่เป็นเกิด แก่ ตาย ที่ไหนเป็นกิริยาล้วนๆ ไปอีกเหมือนกัน ต่อเมื่อมีความยึดถือ จึงมีความหมายเป็น เกิด แก่ เจ็บ ตาย อะไรทำนองนี้
พระพุทธเจ้าท่านพูดถูกว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ แต่ความหมายของท่านมีอยู่ว่า ในนั้นมันมีความยึดถือ ข้อนี้เรารู้ได้ตรงพระพุทธภาษิตที่ว่า ปจฺจุปานกฺขนธา ทุกขา- เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานเป็นทุกข์ นี้หมายความว่า เบญจขันธ์ที่ไม่ประกอบด้วยอุปาทานนั้นไม่เป็นทุกข์ กายใจล้วนๆ บริสุทธิ์ หรือว่าง อย่างนี้ไม่เป็นทุกข์ พอกายใจนี้มีอุปาทานยึดถือว่า ตัวกู ของกู นี้เป็นทุกข์ขึ้นมาทันที ให้เข้าใจอย่างนี้ไว้ให้ถูก แล้วมันเป็นความถูกความจริงที่พระพุทธองค์ตรัสอย่างนี้ คนไม่เข้าใจ ขึ้นชื่อว่า เบญจขันธ์แล้วเป็นทุกข์ไปหมดนี้มันคือ โง่ หลงผิด เข้าใจผิดในพระพุทธวจนะ แล้วก็เลยเข้าใจต่อไปว่า ถ้ามีการกระทำ เคลื่อนไหวแล้วก็เป็นกิเลสไปหมด มีความอยากแล้วก็เป็นกิเลสไปหมด เป็นความเข้าใจผิดของพุทธบริษัทในประเทศไทย ที่ว่าเจริญด้วยพุทธศาสนา ยังมีความเข้าใจผิดถึงขนาดนี้
เข้าใจกันเสียใหม่ให้ถูกต้องว่า ความประสงค์หรือความต้องการนั้น ถ้าไม่เนื่องด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน แล้วไม่ใช่กิเลส และไม่เป็นทุกข์ นี่ฟังดูให้ดีๆ ใหม่ อีกทีก็ได้ว่าความประสงค์ความต้องการของเรานี้ ต้องการจะทำอะไรก็ตามใจ ถ้าไม่เนื่องด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน แล้ว นี้ไม่เป็นกิเลส ความอยาก ความต้องการ ความประสงค์นี้ไม่เป็นกิเลส ไม่เรียกว่า ตัณหา ไม่เรียกว่า อุปาทานและไม่เป็นทุกข์
ถ้าความต้องการนั้นมันเนื่องด้วยอวิชชา ความต้องการนั้นเป็นกิเลส เป็นตัณหา อุปาทาน นี้เป็นทุกข์ ดังนั้นเราลองต้องการด้วยสติปัญญา ด้วยวิชชา ด้วยจิตว่างดูบ้าง อย่าต้องการด้วยจิตที่กลุ้มไปด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ให้ต้องการด้วยจิตที่ว่างจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน คือสติปัญญาที่ฝึกไว้ดีแล้ว อย่างนี้ไม่เป็น ตัณหา อุปาทาน และไม่เป็นทุกข์ เหมือนพระอรหันต์ท่านทำอะไรได้มากกว่าเรา ทำได้ดีกว่าเรา มีการกระทำแล้วท่านก็ต้องการไปนั่นมานี่ เที่ยวสอนคนนั้น สอนคนนี้ ประสงค์อย่างนั้น ประสงค์อย่างนี้อยู่เหมือนกัน
พระอรหันต์ก็มีการกระทำ มีความต้องการ มีการเดินไปเดินมา ทำนั่นทำนี่ แต่ท่านเหล่านั้นทำด้วยจิตว่างที่ไม่มีตัณหา อุปาทาน ไม่มีอวิชชา ทีนี้เราพยายามทำตามท่านเรื่อยๆ ไป จนกว่าจะเด็ดขาดเหมือนท่าน แต่ได้เปรียบอยู่แล้ว ที่ตรงว่า ธรรมชาติแท้ๆ มีอยู่ ธรรมชาติอำนวยให้ คือความว่างอยู่แล้ว เหมือนเดี๋ยวนี้เราว่างจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน มันยังไม่ปรุงไม่เกิดขึ้นมา เรารักษาสภาพนี้ไว้เรื่อยแล้วทำงาน หรือต้องการอะไรก็ได้ เช่นสมมุติว่า จะออกเงินสร้างโบสถ์ก็มีอยู่ว่า ออกเงินสร้างโบสถ์ด้วยความคิดที่เป็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน หรือว่าออกเงินสร้างโบสถ์ด้วยความคิดที่เป็นสติปัญญา ปราศจาก อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ถ้าว่า บริจาคเงินด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน มันก็เร่าร้อน กรุ่นอยู่นั่นแหละ มันต้องการจะได้ผลอย่างนั้น อย่างนี้ ให้รวย ให้เป็นเครื่องรับประกัน เป็นของเราชาติหน้ามากมายอย่างนี้ มันวุ่นวาย กลัดกลุ้มไปหมด อย่างนี้เรียกว่า บริจาคเงินสร้างโบสถ์ด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน
ถ้าเรามีความเข้าใจถูกต้อง เรารู้ว่าโบสถ์นี้สร้างทำไม โดยเฉพาะก็คือสร้างขึ้นเพื่อให้แสงสว่างแก่เพื่อนมนุษย์ เพื่อให้พ้นจากความโง่ เราช่วยกันสร้างขึ้น มีขึ้นสำหรับเป็นที่สั่งสอน แล้วเราก็ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่า แสงสว่าง บริจาคอย่างนี้ ไม่ใช่บริจาคด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน แต่บริจาคด้วยสติปัญญายังว่างอยู่ คือว่างจากที่จะเอา เป็นตัวกู เป็นของกู นี่ยังว่างอยู่ อย่างนี้ก็เรียกว่า มันต่างกันอย่างตรงกันข้ามแล้ว ทั้งๆ ที่ควักเงินออกทำบุญ บริจาคไปตามที่เขาชักชวนนั้น แต่มันต่างกันแล้ว อันหนึ่งทำด้วยจิตวุ่น อีกอันหนึ่งทำด้วยจิตว่าง ดังนั้นจึงอยากจะให้รู้จักระมัดระวัง ให้ทำอะไรไปด้วยความว่างไปตามเดิม
เรานั่งอยู่ดีๆ นี้มันว่าง มันว่างอยู่ สังเกตดูให้ดีเถอะ พอลุกขึ้นจะไปทำบุญ อ้าว! กลับวุ่นเสียแล้ว เพราะเราทำผิด ทีนี้ลุกขึ้นไปทำบุญนั่นแหละ ให้มันยังคงว่างอยู่ตามเดิม มันก็จะไม่มีโทษอะไรเลย มีแต่ความไม่ทุกข์ มีแต่สิ่งที่เป็นผลที่พึงปรารถนาทั้งนั้น นี่แหละทำอะไรให้ทำด้วยจิตว่าง เพราะมันทำได้โดยง่าย เพราะมันว่างอยู่แล้ว เราอย่าไปเผลอนิดเดียวให้มันวุ่นขึ้น
ทีนี้ถ้าเผลอแล้ว มันมีเรื่องมาก เดี๋ยวเรื่องมาทางตา เดี๋ยวเรื่องมาทางหู เรื่องมาทางจมูก ฯลฯ ทั้งหกอายตนะนี้ มันจึงต้องมีสติมากที่สุด ให้ทันกัน ดังนั้นประโยชน์มันจึงสำเร็จอยู่ตรงที่ เฝ้าระวังด้วยสติ อย่าให้วุ่นขึ้นมา มันก็ว่างอยู่ได้ แล้วให้ถือว่า ความสงบเงียบนี้เป็นพื้นฐานของน้ำ น้ำเมื่อไม่มีอะไรมารบกวนนั้น น้ำมันอยู่นิ่งๆ สงบเงียบสม่ำเสมอ ต่อเมื่อมีอะไรมารบกวน น้ำจึงจะเป็นคลื่นขึ้นมา หรือเดือดขึ้นมา ดังนั้นจึงถือว่า ธรรมชาติแท้ของมันว่างอยู่ เงียบอยู่ สงบอยู่ ประภัสสรอยู่ ต่อเมื่อมีอะไรมากวน คือมีอุปกิเลสเกิดขึ้น เพราะอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เพราะผู้นั้นเผลอสติ มันก็เป็นคลื่นขึ้นมา หรือเดือดพล่านขึ้นมา ดังนั้นมันจึงสูญเสียสภาพเดิม ทีนี้เราระวังให้อยู่ในสภาพเดิม เกือบไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่เฝ้าให้ดีๆ เท่านั้น ไม่ต้องทำพิธีรีตองกันใหญ่โตมากมายอะไร เพียงแต่ไม่ทำอะไร ไม่ต้องทำอะไร นั้นถูกกว่า
คนที่ฉลาดก็สอนไว้อย่างเยาะเย้ย สอนไว้อย่างล้อเลียน เหมือนคำพูดของเว่ยหล่าง ว่า "อยู่นิ่งๆ ซิ, อย่าอุตริ ซิ, อย่าทำอะไรให้เป็นเรื่องอุตริ เพราะธรรมดามันว่างดีอยู่แล้ว จะไปทำให้มันวุ่นทำไม" ถ้าระวังความว่างให้มันมีอยู่เรื่อย จนกว่ามันจะเด็ดขาดลงไป คือมีสติปัญญาไม่ขาดตอน มันก็วุ่นขึ้นมาไม่ได้ แล้วมันก็เลิกกันเท่านั้น นี่แหละที่เขาพูดว่า ไม่ต้องทำอะไร
ถ้าขยันก็ขยันอยู่นิ่งๆ อย่าไปขยันปรุงแต่งเข้า ขยันอยู่นิ่งๆ ขยันรักษาสภาพนิ่ง ขยันรักษาสภาพว่าง นี่คำนี้พูดสมมติว่าไม่ทำอะไร ถ้าไปทำด้วยความอยากกิเลสตัณหา ยึดมั่น ถือมั่น มันก็จะวุ่นกันใหญ่ เดี๋ยวนี้เราไม่รู้หลักพื้นฐานอย่างนี้แล้วไม่รู้ว่าเราต้องการรอะไรด้วย จึงไปหลงผิด ไปต้องการความวุ่น ไปเข้าใจผิด ไปต้องการความวุ่นเสียทีเดียว แล้วมันจะว่างอย่างไรได้
ถ้าเข้าใจถูก ต้องการความว่าง นี้มันก็ถูกอย่างดีอย่างหนึ่งแล้ว ทีนี้ยังมีอยู่ว่า โดยธรรมชาติ มันก็ว่างอยู่เองแล้ว นี่มันได้เปรียบมากมาย เพียงรักษาสภาพเดิมเท่านั้น มันก็ไม่เหน็ดเหนื่อยอะไรมากมาย ไม่ต้องวุ่นวายอะไร นี่เห็นว่าเป็นหลักปฏิบัติ เห็นว่า ที่ดีที่สุด สั้นที่สุด ลัดที่สุด ฉลาดที่สุด เป็นอย่างนี้
ว่างอยู่เป็นธรรมชาติ เป็นพื้นฐานแล้ว ระวังรักษาให้คงอยู่ในสภาพนั้นเรื่อยๆ ไป จนกว่าจะตายตัวเด็ดขาดโดยที่สติหรือความระวังของเรามันเก่งขึ้น ชำนาญขึ้น จนมันไม่ขาดตอนเลย และว่างอยู่ด้วยกันหมด สภาพว่างอย่างนั้นไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงพูดอย่างโวหารรุนแรงว่า ว่างนั่นแหละคือพุทธะ ว่างนั้นแหละคือธรรมะ ว่างนั่นแหละคือสังฆะ หรือจะสมมติกันว่า มีจิตแท้ ว่างนั่นแหละคือจิตแท้ ส่วนจิตที่คิดได้อย่างนั้นอย่างนี้ กี่สิบดวงนั้นไม่ใช่จิตแท้ ดังนั้น ต้องเติมคำว่าจิตแท้เข้ามาด้วย ถ้าจิตแท้ก็ให้เอาที่จิตว่าง ถ้าจิตที่ปรุงแต่ง มันเป็นเพียงคลื่นของจิตเท่านั้น ไม่ใช่จิต นี้จะเห็นได้ว่า เราเกือบจะไม่ต้องทำอะไรวุ่นวายมากมายเหมือนที่เราตั้งใจกัน แต่ระวังรักษาสภาพว่าง ถ้าเราจะศึกษา เล่าเรียนอย่างขยันขันแข็ง ก็จงศึกษาเรื่องนี้อย่างขยันขันแย็ง ให้เข้าใจเรื่องว่าง เรื่องรักษาสภาพว่างไว้ตามเดิม
ให้เข้าใจว่า พระพุทธเจ้า ไม่ได้ตรัสว่า กิเลสเกิดอยู่เป็นพื้นฐาน พระพุทธเจ้าตรัสว่า กิเลสมาเป็นครั้งคราว ธรรมดาจิตว่าง เป็นปภัสสร เหมือนที่บอกทีแรก ถ้าจะเอาหลักที่แน่นอนกว่านี้ก็ให้เอาหลักเรื่องปฏิจจสมุปบาท คือ พระองค์ตรัสว่า :-
มีผัสสะ คือการกระทบ ทางตา ทางหู ฯลฯ นี้จึงมีเวทานา ต่อเมื่อมีผัสสะ จึงจะมีเวทนา ไม่ใช่เวทนาเกิดอยู่เป็นพื้นฐาน ต้องเกิดเมื่อมีผัสสะ วันหนึ่งไม่ใช่ว่า เรามีผัสสะตลอด ๒๔ ชั่งโมง มันมีเวลาว่าง ต่อเมื่อมันมีผัสสะต่างหากมันจึงมีเวทนา ต่อเมื่อมีเวทนาต่างหาก จึงมีตัณหา ฯลฯ
นี่ความหมายว่า ถ้าไม่มีเวทนาแล้ว ไม่มีตัณหา ฉะนั้น ในขณะที่ไม่มีเวทนา ตัณหาไม่มี ทุกข์ไม่มี คือว่าง ถ้าลำพังตัณหาล้วนๆ ขยายเป็นอุปาทานตอนหนึ่ง เป็นภพอีกตอนหนึ่ง จึงจะเป็นตัวทุกข์ เป็นชาติ ชรา มรณะ ทีนี้ตัดตอนเสียแค่ผัสสะอยู่เรื่อย อย่าให้เป็นเวทนา หรือเกิดเวทนาขึ้นก็ให้มีสติ อย่าให้เป็นตัณหา ให้กลายเป็นวิชชาเสีย อย่าให้กลายเป็นอวิชชา เป็นอันว่า ไม่มีทุกข์
ไม่มีทุกข์ ในทีนี้หมายความว่า กิริยาที่เราเรียกว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความไม่ได้ ความได้ ความเสีย เหล่านี้มันไร้ความความหมาย นั่นแหละคือไม่เป็นทุกข์ ถ้าเราไม่โง่ไป พวกความเกิด ความแก่ ความตาย อันเดียวกันนั่นแหละมันเกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา เป็นปัญหาขึ้นมา ให้เราขลาดให้เรากลัว ให้เราเป็นทุกข์ ถ้าเรามีความเข้าใจถูกต้อง คือ จิตว่าง ความเกิด ความแก่ ความตาย ความได้ ความเสียเหล่านี้ เป็นของน่าหัวเราะไปหมด ไม่เป็นความทุกข์ ถ้า อวิชชา เป็นต้นเงื่อนแล้ว มีความทุกข์ ถ้า วิชชา เป็นต้นเงื่อนแล้ว ไม่มีความทุกข์ หัวเราะได้ทุกกรณี ไม่ว่าเรื่องได้ เรื่องเสีย เรื่องอิฏฐารมณ์ เรื่องอนิฏฐารมณ์
นี้แสดงว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัดทีเดียวว่า กิเลสนี้ ตัณหา อุปาทานนี้ ไม่ได้เกิดอยู่เป็นพื้นฐาน มันจะเกิดได้ต่อเมื่อมีเวทนา เวทนาก็เหมือนกัน ไม่ได้เกิดตลอดกาล มันเกิดต่อเมื่อมีผัสสะ ผัสสะนี้จะมีต่อเมื่ออายตนะทำงานตามกฎของ อวิชชา ถ้าอายตนะไม่ได้ทำงานตามกฎของ อวิชชา อายตนะนั้นไม่เป็นอายตนะ ไร้ความหมาย เป็นหมัน อายตนะที่ทำไปตามอำนาจของ อวิชชา นี้ มันมีต่อเมื่อนามรูปนี้อยู่ใต้อำนาจของ อวิชชา
นามรูป คือกายกับใจของเรานี้ บางขณะอยู่ใต้อำนาจของ อวิชชา บางขณะไม่อยู่ใต้อำนาจของอะไรเลย เช่น เดี๋ยวนี้ ทุกคนมีรูปนาม คือกายกับใจ ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของ อวิชชา มันว่างอยู่ ต่อเมื่อไรเผลอไป อวิชชาเข้ามาครอบครองจึงจะเป็นนามรูปที่จะให้เกิดอายตนะ ที่จะให้เกิดผัสสะ มีเวทนาชนิดที่เป็นทุกข์ เห็นได้ว่า มันมีความว่างอยู่ ไม่มีอวิชชาครอบงำ แล้วร่างกายกับจิตใจหรือนามรูปนี้มิได้ให้เกิดอายตนะหรือผัสสะชนิดที่เป็นทุกข์ แม้จะมีอายตนะ มีผัสสะมา ก็เป็นไปในรูปที่ว่าง ไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้นไม่เป็นไร ไม่ต้องรังเกียจ
ถ้าเขยิบไปอีกหน่อยว่า นามรูปมาจากสังขาร คืออำนาจการปรุงแต่ง สิ่งเหล่านี้ จะให้เป็นของที่มีความทุกข์หรือไม่มีความทุกข์ คือจะให้ว่างหรือไม่ว่าง นี้มันสังขารแล้ว ต้องปรุงให้ไม่ว่าง
หรือที่เรียกว่า วิญญาณ นี้ก็เหมือนกัน อย่าได้เข้าใจว่าวิญญาณนี้ มีอยู่ตลอดเวลาทุกวินาที เวทนาเพิ่งเกิด ต่อเมื่อมีกระทบทางอายตนะ ถึงแม้จะเรียกว่า วิญญาณประจำชาติ ประจำภพก็ตามเถิด มันจะทำหน้าที่วิญญาณได้ต่อเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ
ดังนั้นจึงเห็นว่า วิชชา หรือ อวิชชานั้น ถ้ามี อวิชชา ก็เป็นไปในทางไม่ว่าง วุ่นก็เป็นทุกข์ ถ้าเป็นวิชชา ก็เป็นไปในทางว่าง ไม่วุ่น ไม่เป็นทุกข์ นี่ว่างถือว่าเป็นวิชชาอยู่ในตัว เพราะมันไม่เป็นทุกข์ วุ่นคือโง่ คือ อวิชชา เป็นทุกข์
ว่าง คือ ฉลาดอยู่ตามธรรมชาติ ไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้น เราคงสภาพตามธรรมชาตินี้ไว้เรื่อย ไม่มีอะไรมากกว่านั้น คือเป็นธรรมชาติแห่งความว่าง แห่งความสงบ แห่งความสะอาด แห่งความบริสุทธิ์ สุดแท้แต่จะเรียก เอาธรรมชาติเดิมที่ไม่มีการปรุงนี้ไว้เรื่อย ไม่มีสังขารปรุงก็ว่าง สังขารปรุงก็ปรุง เพราะมี อวิชชา เข้ามา ฉะนั้นเอาสิ่งที่ตรงกันข้ามมาไว้แทน คือ สติสัมปชัญญะ เหมือนว่า เรามีความฉลาด มีปัญญาเพิ่มขึ้นทุกวันๆ นี่เรียกว่ามีปัญญา
ปัญญาที่เรารอบรู้ เรียนรู้อะไรนี้ ถ้ามาเร็ว มาทันเหตุการณ์ มาช่วยนี้ เราเรียกว่าสติ ที่เราเรียกว่า ความระลึกได้นั้น คือ ปัญญาที่เคยรู้ดี ระลึกได้ มาทันเวลาทันท่วงที ที่เกิดเรื่องกระทบ เรื่องทางตา ทางหู ฯลฯ ทางอื่นๆ อย่างนี้ก็เรียกว่าสติ ที่แท้ก็คือความรู้ที่เรียกว่าปัญญานั่นเอง ถ้ามันมีอยู่เป็นพื้นฐาน ศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติม คิดนึก พิจารณาอยู่ ดังนี้ เรียกว่าปัญญา เฉพาะในกรณีที่มันต้องวิ่งมาให้ทันเหตุการณ์ ในขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ฯลฯ อย่างนี้เราเรียกว่ามีสติ พอทำหน้าที่สติอย่างนี้เสร็จแล้ว มันก็เป็นปัญญาไปตามเดิม อย่างนี้แหละสำคัญ จะว่างหรือไม่ว่างก็ตอนนี้ ฉะนั้น เรามีสติคุมเชิงอยู่เสมอ ไม่เผลอสติ ทีนี้ก็ว่างอยู่เสมอ เพราะสติเป็นความว่าง เป็นของว่าง
ธรรมะคือความว่าง ถึงไม่ใช่ธรรมะ ที่จริงมันก็ว่าง มันกระดิกวุ่นขึ้นมา เพราะทำหน้าที่อย่างอวิชชา เหมือนกับน้ำเป็นคลื่นขึ้นมาเพราะมีลมมากระทบ ก็น้ำนั่นแหละ แต่มันอยู่ในรูปที่เป็นคลื่น จิตนี้ก็เหมือนกัน มันก็อันเดียวกัน ที่มันวุ่น เราไม่เอาข้างวุ่น มันเป็นทุกข์ เราสมัครเอาข้างว่าง ไม่เป็นทุกข์
ถ้าจะว่างจริงๆ เราอย่ายึดถือว่าเป็นตัวเรา หรือของเรา ที่ว่างไม่ยึดถือเป็นเราเป็นของเรา ที่วุ่นก็ไม่ยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา เรียกว่า ไม่ยึดถือทั้งว่าง ไม่ยึดถือทั้งวุ่น ไม่ยึดมั่นในความว่าง ไม่ยึดมั่นในความวุ่น มันจึงจะว่างอยู่ตามธรรมชาติ โดยไม่มีใครเป็นเจ้าของความว่าง นี่แหละ หลักธรรมะ ที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนามีอยู่ พูดเดี๋ยวเดียวก็จบ
แต่จะเข้าใจ หรือไม่เข้าใจนั้น เอาไปคิด บทว่า "สพฺเพ ธมฺมา นาลำ อภินิเวสาย" มันอยู่ที่นี่อยู่ที่ใจความอย่างนี้แหละ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่มีอะไรเป็นตัวตน มีแต่ว่าง ดังนั้น อย่าไปเสียเวลาพูดเรื่องอื่น คิดเรื่องอื่น จำเรื่องอื่นเลย มันวนเวียนตีกันยุ่ง จงพยายามคิดนึก ศึกษา จำแต่เรื่องว่างนี้ ถ้าไปได้ยินได้ฟังอะไรมา ก็เอามาเข้ากับเรื่องว่างนี้ให้จงได้
ในพระไตรปิฎกทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ถ้าเข้าใจถูกแล้วจะกลายเป็นเรื่องว่าง แล้ววิ่งมาหาเรื่องว่างหมด ถ้าเข้าใจผิดแล้วจะแยกกันไป ทางโน้น ทางนี้ ยึดถือ เป็นนรก สวรรค์ เทวดา พรหมโลก เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องดีกว่าใครอะไรทำนองนี้ มันเป็นเรื่องผิด ถ้าเข้าใจถูกมันจะวิ่งมาสู่เรื่องว่างหมด จึงไม่มีความยึดถือว่าเรา ของเรา นี้เรียกว่า ว่าง จิตชนิดไหนก็ไม่ควรยึดถือว่าเรา ว่าของเรา ความรู้สึกของจิตชนิดไหน ก็ไม่ควรยึดถือว่าเรา ว่าของเรา รูปนามชนิดไหนทั้งหมดก็ไม่ควรยึดถือว่าเราว่าของเรา ฉะนั้นเรื่องว่างนี้ คือธรรมะแท้ หรือคือเรื่องอภิธรรมแท้ อภิธรรมยิ่ง อภิธรรมอย่างสูงสุด ถ้าเรื่องที่ต้องไปเอานั่น เอานี่ เป็นนั่น เป็นนี่ วิเศษ วิโส แจกแจงออกไปอย่างไร ยังไม่ใช่อภิธรรม ยังเป็นเรื่องวิ่งวุ่นไปในวัฏสงสาร
อภิธรรม แปลว่า ธรรมสูงสุด ธรรมะอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าความว่าง เพราะว่าความว่างนั่นแหละคือ นิพฺพานำ ปรมํ สุญฺญํ ว่างอย่างยิ่งนั่นแหละ คือนิพพาน ว่างที่สุดนั่นแหละ คือนิพพาน เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ เรากำลังมีนิพพานอย่างชั่วคราว นิพพานอย่างชิมลองอยู่ เมื่อจิตเราว่าง ขณะใดจิตเราว่าง เรามีนิพพานอย่างชั่วคราว อย่างชิมลอง เพราะฉะนั้น เรารักษา "ว่าง" นี้ไว้ให้ดี แล้วทำไปจนกว่าจะว่างโดยเด็ดขาด นั้นเรียกว่า นิพพาน อย่างสมบูรณ์
ที่ว่า "ว่างอย่างยิ่งนั่นแหละ คือนิพพาน นิพพาน นิพฺพานํ ปรมํ สุญญํ" ให้ถือว่าตามปรกติ เรามี "ว่าง" เป็นพื้นฐาน มีนิพพานเป็นเครื่องชิมลองอยู่เป็นพื้นฐาน อุตส่าห์รักษาเอาไว้ให้ได้ ให้แน่วแน่มากขึ้นๆ แล้วมันก็จะเด็ดขาดลงไปในวันหนึ่งไม่เปลี่ยนแปลง มีแต่เรื่องระวังความว่างอย่าให้หายไปเสีย อย่าให้ความวุ่นเข้ามาแทน เขาเรียกว่า ไม่ต้องทำอะไรนอกจากอยู่นิ่งๆ อย่าให้ปรุงขึ้นมาเป็นตัวกู ของกู.
[จากหนังสือโอวาทท่านพุทธทาส]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น