เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

หลวงปู่ฝากไว้3



หลวงปู่ฝากไว้

ฉบับที่ 3


หวังผลไกล

เมื่อมีแขกหรืออุบาสกอุบาสิกาไปกราบนมัสการหลวงปู่ แต่หลวงปู่มีปรกติไม่เคยถามถึงเรื่องอื่นไกล มักถามว่า ญาติโยมเคยภาวนาบ้างไหม? บางคนก็ตอบว่าเคย บางคนก็ตอบว่าไม่เคย ในจำนวนนั้นมีคนหนึ่งฉะฉานกว่าใคร เขากล่าวว่า ดิฉันเห็นว่าพวกเราไม่จำเป็นต้องมาวิปัสสนาอะไรให้มันลำบากลำบนนัก เพราะปีหนึ่งๆ ดิฉันก็ฟังเทศน์มหาชาติจบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ตั้งหลายวัด ท่านว่าอานิสงส์การฟังเทศน์มหาชาตินี้จะได้ถึงศาสนาพระศรีอาริย์ ก็จะพบแต่ความสุขความสบายอยู่แล้ว(สีลัพพตปรามาส-Webmaster) ต้องมาทรมานให้ลำบากทำไม ฯ

"สิ่งประเสริฐอันมีอยู่เฉพาะหน้าแล้วไม่สนใจ กลับไปหวังไกลถึงสิ่งที่เป็นเพียงการกล่าวถึง เป็นลักษณะของคนที่ไม่เอาไหนเลย ก็ในเมื่อมรรคผลนิพพานในศาสนาสมณโคดมในปัจจุบันนี้ยังมีอยู่อย่างสมบูรณ์ กลับเหลวไหลไม่สนใจ เมื่อถึงศาสนาพระศรีอาริย์ ก็ยิ่งเหลวไหลมากกว่านี้อีก."

[หมายเหตุ Webmaster - แสดงให้เห็นสีลัพพตปรามาสในการปฏิบัติหรือยึดถือ]


โลกนี้ มันก็มีเท่าที่เราเคยรู้มาแล้วนั่นเอง

บางครั้งที่หลวงพ่อสังเกตเห็นว่า ผู้มาปฏิบัติยังลังเลใจ เสียดายในความสนุกเพลิดเพลินแบบโลกล้วน จนไม่อยากจะมาปฏิบัติธรรมฯ

ท่านแนะนำชวนคิดให้เห็นชัดว่า

"ขอให้ท่านทั้งหลาย จงสำรวจดูความสุขว่า ตรงไหนที่ตนเห็นว่ามันสุขที่สุดในชีวิต ครั้นสำรวจดูแล้ว มันก็แค่นั้นแหละ แค่ที่เราเคยพบมาแล้วนั่นเอง ทำไมจึงไม่มากกว่านั้น มากกว่านั้นไม่มีในโลกนี้ มีอยู่แค่นั้นเอง แล้วก็ซํ้าๆซากๆอยู่แค่นั้น เกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่รํ่าไป มันจึงน่าจะมีความสุขชนิดพิเศษกว่า ประเสริฐกว่านั้น ปลอดภัยกว่านั้น พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านจึงสละสุขส่วนน้อยนั้นเสีย เพื่อแสวงหาสุขอันเกิดจากความสงบกาย สงบจิต สงบกิเลส เป็นความสุขที่ปลอดภัยหาสิ่งใดเปรียบมิได้เลย."


ไม่ยาก สำหรับผู้ที่ไม่ติดอารมณ์

วัดบูรพารามที่หลวงปู่จำพรรษาตลอด ๕๐ ปี ไม่มีได้ไปจำพรรษาที่ไหนเลย เป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง หน้าศาลากลางติดกับศาลจังหวัดสุรินทร์ ด้วยเหตุนี้จึงมีเสียงรบกวนความสงบอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อถึงฤดูงานช้างแฟร์หรือฤดูเทศกาลแต่ละอย่าง แสงเสียงอึกทึกครึกครื้นตลอดเจ็ดวันบ้าง สิบห้าวันบ้าง ภิกษุสามเณรผู้มีจิตใจยังอ่อนไหวอยู่ ย่อมได้รับความกระทบกระเทือนเป็นอย่างยิ่ง ฯ

เมื่อนำเรื่องนี้กราบเรียนหลวงปู่ทีไร ก็ได้คำตอบทำนองเดียวกันทุกครั้งว่า

"มัวสนใจอะไรกับสิ่งเหล่านี้ ธรรมดาแสงย่อมสว่าง ธรรมดาเสียงย่อมดัง หน้าที่ของมันเป็นเช่นนั้นเอง เราไม่ใส่ใจฟังเสียงก็หมดเรื่อง จงทำตัวเราไม่ให้เป็นปฎิปักษ์กับสิ่งแวดล้อม เพราะมันมีอยู่อย่างนี้ เป็นอยู่อย่างนี้เอง เพียงแต่ทำความเข้าใจกับมันให้ถ่องแท้ด้วยปัญญาอันลึกซึ้งเท่านั้นเอง."


กล่าวเตือน

บางครั้งหลวงปู่แทบจะรำคาญกับพวกที่ปฏิบัติเพียงไม่กี่มากน้อย ก็มาถามแบบเร่งผลให้ทันตาเห็น ฯ

ท่านกล่าวเตือนว่า

"การปฏิบัติ ให้มุ่งปฏิบัติเพื่อสำรวม เพื่อความละ เพื่อคลายความกำหนัดยินดี เพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่อสวรรค์วิมาน หรือแม้แต่นิพพานก็ไม่ต้องตั้งเป้าหมายเพื่อจะเห็นทั้งนั้น ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ไม่ต้องอยากเห็นอะไร เพราะนิพานมันเป็นของว่างไม่มีตัวไม่มีตน หาที่ตั้งไม่ได้ หาที่เปรียบไม่ได้ ปฏิบัติไปจึงจะรู้เอง."


ละอย่างหนึ่ง ติดอีกอย่างหนึ่ง

ลูกศิษย์ฝ่ายคฤหัสถ์ผู้ปฏิบัติธรรมคนหนึ่ง เข้านมัสการหลวงปู่ รายงานผลการปฏิบัติให้หลวงปู่ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า ปลื้มใจอย่างยิ่งที่ได้พบหลวงปู่วันนี้ ด้วยกระผมปฏิบัติตามที่หลวงปู่แนะนำก็ได้ผลไปตามลำดับ คือ เมื่อลงมือนั่งภาวนาก็เริ่มละสัญญาอารมณ์ภายนอกหมด จิตก็หมดความวุ่น จิตรวม จิตสงบ จิตดิ่งลงสู่สมาธิ หมดอารมณ์อื่น เหลือแต่ความสุข สุขอย่างยิ่ง เย็นสบาย แม้จะให้อยู่ตรงนี้นานเท่าไรก็ได้ ฯ

หลวงปู่ยิ้มแล้วพูดว่า

"เออ ก็ดีแล้วที่ได้ผล พูดถึงสุขในสมาธิมันก็สุขจริงๆ จะเอาอะไรมาเปรียบเทียบไม่ได้ แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้น มันก็ได้แค่นั้นแหละยังไม่เกิดปัญญาอริยมรรค ที่จะตัดภพ ชาติ ตัณหา อุปาทานได้ ให้ละสุขนั้นเสียก่อน แล้วพิจารณาขันธ์ ๕ ให้แจ่มแจ้งต่อไป."

[หมายเหตุ Webmaster - ภพ ชาติ ตัณหา อุปาทาน ที่หลวงปู่กล่าวถึงนั้น หมายถึงองค์ธรรมต่างๆในปฏิจจสมุปบาท]


ตัวอย่างเปรียบเทียบ

มรรคผลนิพพาน เป็นสิ่งปัจจัตตัง คือ รู้เห็นได้จำเพาะตนโดยแท้ ผู้ใดปฏิบัติเข้าถึง ผู้นั้นเห็นเอง แจ่มแจ้งเอง หมดสงสัยในพระศาสนาได้โดยสิ้นเชิง มิฉนั้นแล้วจะต้องเดาเอาอยู่รํ่าไป แม้จะมีผู้อธิบายให้ลึกซึ้งอย่างไร ก็รู้ได้แบบเดา สิ่งใดยังเดาอยู่สิ่งนั้นก็ยังไม่แน่นอน ฯ

ยกตัวอย่างเช่น เต่ากับปลา เต่าอยู่ได้สองโลกคือ โลกบนบกกับโลกในนํ้า ส่วนปลาอยู่ได้โลกเดียวคือในนํ้า ขืนมาบนบกก็ตายหมด ฯ

วันหนึ่ง เต่าลงไปในนํ้าแล้ว ก็พรรณนาความสุขสบายบนบกให้ปลาฟังว่า มันมีแต่ความสุขสบาย แสงสีสวยงาม ไม่ต้องลำบากเหมือนอยู่ในนํ้า ฯ

ปลาพากันฟังด้วยความสนใจ และอยากเห็นบก จึงถามเต่าว่า บนบกลึกมากไหม เต่าว่า มันจะลึกอะไร ก็มันบก ฯ

เอ บนบกนั้นมีคลื่นมากไหม มันจะคลื่นอะไรก็มันบก ฯ

เอ บนบกมีเปือกตมมากไหม มันจะมีอะไรก็มันบก ฯ

ให้สังเกตดูคำที่ปลาถาม เอาแต่ความรู้ที่มีอยู่ในนํ้าถามเต่า เต่าก็ได้แต่ปฏิเสธ

"จิตปุถุชนที่เดามรรคผลนิพพาน ก็ไม่ต่างอะไรกับปลา."


ไม่เคยเห็นหวั่นไหวในเหตุการณ์อะไร

เวลา ๔ ทุ่มผ่านไปแล้ว เห็นหลวงปู่ยังนั่งพักผ่อนอยู่ตามสบายจึงเข้าไปกราบเรียนว่า หลวงปู่ครับ หลวงปู่ขาวมรณภาพเสียแล้ว หลวงปู่ก็แทนที่จะถามว่า ด้วยเหตุใด เมื่อไร ก็ไม่ถาม กลับพูดต่อไปเลยว่า

"เออ ท่านอาจารย์ขาว ก็หมดภาระการแบกหามสังขารเสียที พบกันเมื่อ ๔ ปีที่ผ่านมาเห็นลำบากสังขาร ต้องให้คนอื่นช่วยเหลืออยู่เสมอ เราไม่มีวิบากของสังขาร เรื่องวิบากของสังขารนี้ แม้จะเป็นพระอริยเจ้าชั้นไหนก็ต้องต่อสู้จนกว่าจะขาดจากกัน ไม่เกี่ยวข้องกันอีก แต่ตามปรกติสภาวะของจิตนั้นมันก็ยังอยู่กับสิ่งเหล่านี้เอง เพียงแต่จิตที่ฝึกดีแล้วเมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นย่อมละและระงับได้เร็วไม่กังวล ไม่ยึดถือ หมดภาระเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น มันก็แค่นั้นเอง."


ผู้ที่เข้าใจธรรมะได้ถูกต้อง หายาก

เมื่อไฟไหม้จังหวัดสุรินทร์ครั้งใหญ่ได้ผ่านไปแล้ว ผลคือความทุกข์ยากสูญสิ้นเนื้อประดาตัว และเสียใจอาลัยอาวรณ์ในทรัพย์สิน ถึงขั้นเสียสติไปก็มีหลายราย วนเวียนมาลำเลิกให้หลวงปู่ฟังว่า อุตส่าห์ทำบุญเข้าวัด ปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ทำไมบุญกุศลจึงไม่ช่วย ทำไมธรรมะจึงไม่ช่วยคุ้มครอง ไฟไหม้บ้านวอดวายหมด แล้วเขาเหล่านั้นก็เลิกเข้าวัดทำบุญไปหลายราย เพราะธรรมะไม่ช่วยเขาให้พ้นจากไฟไหม้บ้าน ฯ

หลวงปู่ว่า

"ไฟมันทำตามหน้าที่ของมัน ธรรมะไม่ได้ช่วยใครในลักษณะนั้น หมายความว่า ความอันตรธาน ความวิบัติ ความเสื่อมสลาย ความพลัดพรากจากกัน มันมีประจำโลกอยู่แลัวสิ่งเหล่านี้(สภาวะธรรมชาติ-ผู้เขียน) ทีนี้ผู้มีธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมะ เมื่อประสบกับภาวะเช่นนั้นแล้ว จะวางใจอย่างไรจึงไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้ต่างหาก ไม่ใช่ธรรมะไม่ให้แก่ ไม่ให้ตาย ไม่ให้หิว ไม่ให้ไฟไหม้ ไม่ใช่อย่างนั้น."

[หมายเหตุ Webmaster - ผู้เขียนเมื่อปฏิบัติใหม่ๆอันเป็นไปตามความเชื่อความยึดเดิมๆที่แอบซ่อนอยู่ในจิตตามที่ได้สืบทอดกันต่อๆมา การปฏิบัติจึงเป็นเพื่อหวังบุญ หวังกุศล ก็ด้วยหวังว่าบุญกุศลนั้นจะยังประโยชน์โดยตรง ในอันที่จะไม่ให้เกิดทุกข์ โศก โรคภัย ฯ กล่าวคือ เพื่อไม่ให้เกิด ไม่ให้มี ไม่ให้เป็น, อยากให้เป็นดังนี้ ดังนั้น เป็นต้น. อันล้วนเป็นความเข้าใจผิดที่เรียกว่า ทิฏฐุปาทาน หรือสีลัพพตปรามาส หรือ อันเป็นธรรมหรือสิ่งที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์(สังโยชน์) อันทำให้ไม่สามารถเจริญในธรรมได้เพราะความไม่เข้าใจสภาวธรรมอันถูกต้องแท้จริงดังที่หลวงปู่กล่าวไว้ เมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้องจึงจะยังให้เกิดประโยชน์โดยตรงและยิ่งใหญ่ได้]


ต้องปฏิบัติจึงหมดสงสัย

เมื่อมีผู้ถามถึง การตาย การเกิดใหม่ หรือถามถึงชาติหน้า ชาติหลัง หลวงปู่ไม่เคยสนใจที่จะตอบ หรือมีผู้กล่าวค้านว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ นรกสวรรค์มีจริงหรือไม่มีประการใด หลวงปู่ไม่เคยคว้าหาเหตุผลเพิ่อจะเอาค้านใคร หรือไม่เคยหาหลักฐานเพื่อยืนยัน เพื่อให้ใครยอมจำนนแต่ประการใด ท่านกลับแนะนำว่า

"ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้น ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้าชาติหลังหรือนรกสวรรค์อะไรก็ได้ ให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรง ศีล สมาธิ ปัญญาอย่างแน่วแน่ก็พอ ถ้าสวรรค์มีจริงถึง ๑๖ ชั้นตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ก็ได้เลื่อนฐานะตนเองโดยลำดับ หรือถ้าสวรรค์นรกไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีแล้วขณะนี้ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุขเป็นมนุษย์ชั้นเลิศ "การฟังจากคนอื่น การค้นคว้าจากตำรานั้น ไม่อาจแก้ข้อสงสัยได้ ต้องเพียรปฏิบัติ ทำวิปัสสนาญาณ ให้แจ้งความสงสัยก็หมดไปเองโดยสิ้นเชิง."

[หมายเหตุ Webmaster - เรื่องชาติหน้า ชาติหลัง แม้องค์พระบรมศาสดาก็ไม่ทรงพยากรณ์ ดังความแสดงใน จูฬมาลุงโกยวาทสูตร ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ เพราะความที่ไม่เป็นไปเพื่อการดับชาติ ชรา-มรณะ หรือก็คือเพื่อการดับทุกข์ในปัจจุบัน ผู้ที่เกิดวิปัสสนาญาณแล้วก็ย่อมรู้ได้ด้วยอาการปัจจัตตังในที่สุด แต่ไม่ว่าคำตอบจะเป็นเยี่ยงไร ผู้ฟังก็ย่อมไม่สามารถเข้าใจหรือพิสูจน์ได้ตามคำสอนนั้นๆ นอกจากน้อมเชื่อด้วยศรัทธาหรือน้อมเชื่อแบบอธิโมกข์อันงมงาย และไม่เป็นเรื่องของการปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ในปัจจุบัน จึงรังแต่จะเป็นโทษแก่ผู้ฟังเป็นที่สุด และจะเป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ หาเหตุหาผลมาถกหักล้างกันไม่รู้จักสิ้น แม้ตราบเท่าทุกวันนี้ เพราะทั้งผู้พูดและผู้ฟังย่อมไม่สามารถพิสูจน์ให้อีกฝ่ายหนึ่งเห็นอะไรๆได้ตามตนเอง]


เขาต้องการอย่างนั้นเอง

แม้จะมีคนเป็นกลุ่ม อยากฟังความคิดเห็นของหลวงปู่เรื่องเวียนว่ายตายเกิด ยกบุคคลมาอ้างว่า ท่านผู้นั้นผู้นี้สามารถระลึกชาติย้อนหลังได้หลายชาติว่าตนเคยเกิดเป็นอะไรบ้าง และใครเคยเป็นแม่เป็นญาติกันบ้าง

หลวงปู่ว่า

"เราไม่เคยสนใจเรื่องอย่างนี้ แค่อุปจารสมาธิก็เป็นได้แล้วทุกอย่าง มันออกไปจากจิตทั้งหมด อยากรู้อยากเห็นอะไร จิตมันบันดาลให้รู้ให้เห็นได้ทั้งนั้น และรู้ได้เร็วเสียด้วย หากพอใจเพียงแค่นี้ ผลดีที่ได้ก็คือ ทำให้กลัวการเวียนว่ายตายเกิดในภพที่ตํ่า แล้วตั้งใจทำดี บริจาคทาน รักษาศีล แล้วก็ไม่เบียดเยียนกัน พากันกระหยิ่มยิ้มย่องในผลบุญของตน ส่วนการที่จะกำจัดกิเลสเพื่อทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง อีกอย่างหนึ่งต่างหาก."


ไม่มีนิทานสาธก

อยู่ใกล้ชิดหลวงปู่ตลอดระยะเวลายาวนาน คำสอนของท่านไม่เคยมีนิทานสาธก หรือนิทานสนุกอะไรที่หลวงปู่ยกมาบรรยายให้ฟังสนุกๆเลย ไม่ว่าชาดกหรือเรื่องประกอบปัจจุบันฯ

คำสอนของท่านล้วนแต่เป็นสัจจธรรมขั้นปรมัตถ์ หรือไม่ก็เป็นคำจำกัดความอย่างกะทัดรัด ชนิดระมัดระวัง หรือคล้ายประหยัดคำพูดอย่างยิ่ง แม้แต่การสอนพิธีกรรม หรือศาสนพิธีและการทำบุญบริจาคทานอะไร ในระดับศีลธรรมหลวงปู่ทำในระดับปล่อยวางหมด ส่วนมากหลวงปู่กล่าวว่า

"เรื่องพิธีกรรม หรือบุญกริยาวัตถุต่างๆทั้งหลาย ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยังใ ห้เกิดกุศลได้อยู่ หากแต่ว่าสำหรับนักปฏิบัติแล้ว อาจถือได้ว่าเป็นไปเพื่อกุศลเพียงนิดหน่อยเท่านั้นเอง."


ปฏิปุจฉา

ด้วยความคุ้นเคยและอยู่ใกล้ชิดหลวงปู่มาเป็นเวลานาน เมื่ออาตมาถามปัญหาอะไรท่าน หลวงปู่ท่านมักจะตอบด้วยการย้อนกลับคืน ทำนองให้คิดหาคำตอบเอาเอง ฯ

เช่นถามว่า พระอรหันต์ท่านมีใจสะอาด สว่างแล้ว ท่านอาจรู้เลขหวยได้อย่างแม่นยำหรือครับ ฯ

ท่านตอบว่า "พระอรหันต์ ท่านใส่ใจเพื่อจะรู้สิ่งเหล่านี้หรือ"

ถามว่า พระอรหันต์ท่านเคยนอนหลับฝันเหมือนคนธรรมดาด้วยหรือเปล่าครับ ฯ

ท่านตอบว่า "การหลับแล้วเกิดฝัน เป็นเรื่องของสังขารขันธ์ไม่ใช่หรือ."

ถามว่าพระปุถุชนธรรมดายังหนาด้วยกิเลส แต่มีความสามารถสอนคนอื่นให้เขาบรรลุถึงอรหันต์ เคยมีบ้างไหมครับหลวงปู่ ฯ

ท่านตอบว่า "หมอบางคน ทั้งที่ตัวเองยังมีโรคอยู่ แต่ก็เคยรักษาคนอื่นให้หายจากโรคได้ มีอยู่ทั่วไปไม่ใช่หรือ."

[หมายเหตุ Webmaster - การหลับแล้วฝันเป็นเรื่องของสังขารขันธ์ จึงหมายถึงย่อมเกิดขึ้นแก่ทุกคนที่ยังดำรงขันธ์อยู่ จึงยังคงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา]


ปรกตินิสัยประจำตัวของหลวงปู่

ทางกาย มีร่างกายแข็งแรง กระฉับกระเฉงว่องไว สมสัดส่วนสะอาดปราศจากกลิ่นตัว มีอาพาธน้อย ท่านจะสรงนํ้าอุ่นวันละครั้งเท่านั้น

ทางวาจา เสียงใหญ่ แต่พูดเบา พูดน้อย พูดสั้น พูกจริง พูดตรง ปราศจากมายาทางคำพุด คือ ไม่พูดเลียบเคียง ไม่พูดโอ๋ ไม่พูดปลอบโยน ไม่พูดประชด ไม่พูดนินทา ไม่พูดขอร้อง ขออภัย ไม่พูดขอโทษ ไม่พูดถึงความฝัน ไม่พูดเล่านิทานชาดกหรือนิทานปรัมปรา เป็นต้น ฯ

ทางใจ มีสัจจะ ตั้งใจทำสิ่งใดแล้วทำโดยสำเร็จ มีเมตตากรุณาเป็นประจำ สงบเสงี่ยมเยือกเย็น อดทน ไม่เคยมีอาการกระวนกระวายวู่วาม ไม่แสดงอาการอึดอัดหงุดหงิด หรือรำคาญ ไม่แสวงหาของหรือสั่งสมหรืออาลัยอาวรณ์กับของที่สูญหาย ไม่ประมาท รุ่งเรืองด้วยสติสัมปชัญญะและเบิกบานอยู่เสมอ เป็นอยู่โดยปราศจากทุกข์ ไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์ ไม่ถูกภาวะอื่นครอบงำ

ท่านสอนอยู่เสมอว่า

"ให้ทำความเข้าใจกับสภาวธรรมอย่างชัดแจ้งว่า เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง สลายไป อย่าทุกข์โศกเพราะสภาวะนั้นเป็นเหตุ."


มีเวทนาหนัก แต่ไม่หนักด้วยเวทนา

หลวงปู่อาพาธหนักอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ. เป็นวันที่ ๑๗ ของการอยู่โรงพยาบาล คืนนั้น หลวงปู่มีอาการอ่อนเพลียอย่างมากถึงกับต้องให้ออกซิเจนช่วยหายใจโดยตลอด เวลาดึกมากแล้วคือหกทุ่มกว่า ท่านอาจารย์ยันตระ พร้อมบริวารหลายท่าน เข้าไปขอกราบเยี่ยมหลวงปู่ เห็นเป็นกรณีพิเศษจึงให้ท่านเข้าไปกราบเยี่ยมได้ หลวงปู่นอนตะแคงขวา หลับตาตลอด เมื่อคณะของอาจารย์ยันตระกราบนมัสการแล้ว ท่านอาจารย์ยันตระขยับก้มไปชิดหูหลวงปู่แล้วถามว่า "หลวงปู่ยังมีเวทนาอยู่หรือ"

หลวงปู่ตอบว่า

"เวทนากับร่างกายนั้นมีอยู่ตามธรรมชาติของมัน แต่ไม่ได้เสวยเวทนานั้นเลย"

[หมายเหตุ Webmaster - เวทนาหรือทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นนั้น เป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติของชีวิต ที่ย่อมต้องเกิดขึ้นจากการผัสสะของอายตนะต่างๆเป็นธรรมดา ในทุกรูปนามหรือทุกบุคคลเขาเรา ท่านจึงคงมีทุกขเวทนาทางกายเป็นธรรมดาโดยธรรมชาติ แต่องค์ท่านไม่เสพเสวยกล่าวคืิอไม่ไปพัวพัน ไม่ไปปรุงแต่ง หรือไปยึดมั่นจนทุกขเวทนาอันเป็นทุกข์เป็นธรรมดาโดยธรรมชาติหรือเป็นทุกข์ธรรมชาติของชีวิตนั้น เกิดการแปรปรวนไปเป็นอุปาทานเวทนาคือเวทนูปาทานขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานอันแสนเร่าร้อนเผาลนทุรายกว่าทุกข์ธรรมชาติยิ่งนัก กล่าวคือไม่เสพเสวยอุปาทานขันธ์ ๕ อันเป็นทุกข์ที่แสนเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายอันเกิดจากการฟุ้งซ่านหรือส่งจิตออกนอกไปปรุงแต่ง ดังที่เกิดขึ้นในองค์ธรรมชราในปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง]


เดินทางลัด ที่ปลอดภัย

เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๖ ก่อนที่หลวงปู่จะกลับจากโรงพยาบาลจุฬาฯ ได้ชักชวนกันทำบุญถวายสังฆทาน เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่บรรพชนที่สร้างโรงพยาบาลฯ ที่ล่วงลับแล้วฯ

เมื่อพิธีถวายสังฆทานผ่านไปแล้ว มีนายแพทย์และนางพยาบาลจำนวนหนึ่งเข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่ แสดงความดีใจที่หลวงปู่หายจากอาพาธครั้งนี้ พร้อมทั้งกล่าวปิยวาจาว่า หลวงปู่มีสุขภาพอนามัยแข็งแรงดี หน้าตาสดใสเหมือนไม่ได้ผ่านการอาพาธมา คงจะเป็นผลจากการที่หลวงปู่มีภาวนาสมาธิจิตดี พวกกระผมมีเวลาน้อยหาโอกาสเพียรภาวนาสมาธิได้ยาก มีวิธีใดบ้างที่จะปฏิบัติได้ง่ายๆ หรือโดยย่อที่สุด ฯ

หลวงปู่ตอบว่า

"มีเวลาเมื่อไร ให้ปฏิบัติเมื่อนั้น, การฝึกจิต การพิจารณาจิตเป็นวิธีลัดสั้นที่สุด."


ทั้งหมดอยู่ที่ความประพฤติ

ตลอดชีวิตของหลวงปู่ ท่านไม่ยอมรับกับการถือฤกษ์งามยามดีอะไรเลย แม้จะถุกถามถูกขอให้บอกเพียงว่า จะบวชวันไหน จะสึกวันไหน หรือวันเดือนปีไหนดีเสียอย่างไร หลวงปู่ก็ไม่เคยเผลอเอออวยด้วย มักจะพูดว่าวันไหนเดือนไหนก็ดีทั้งนั้นแหละ คือ ถ้ามีผู้ขอเช่นนี้ ท่ายมักให้เขาหาเอาเอง หรือมักบอกว่าวันไหนก็ได้ ถ้าสะดวกดีแล้วเป็นฤกษ์ดีทั้งหมด ฯ

หลวงปู่สรุปลงว่า

"ทุกอย่างรวมอยู่ที่ความประพฤติ คือ ฤกษ์ดี ฤกษ์ร้าย โชคดี โชคร้าย เรื่องเคระห์ กรรม บาป บุญ อะไรทั้งหมดนี้ ล้วนออกไปจากความประพฤติของมนุษย์ทั้งนั้น"

[หมายเหตุ Webmaster - หลวงปู่สอนไว้ อันเป็นจริงยิ่ง และถูกต้องตามหลัก"อิทัปปัจจยตา" อันมีสาระสำคัญว่า"เพราะเหตุนี้มี ผลนี้จึงเกิดขึ้น" หรือธรรมใดเกิดแต่เหตุ อันคือกรรมที่หมายถึงการกระทำ-ความประพฤตินั่นเอง ล้วนมิได้เกิดแต่ฤกษ์ผานาทีเป็นสำคัญ ความสำคัญจึงขึ้นอยู่ที่กรรมคือการประพฤติหรือการกระทำเป็นสำคัญ อันเป็นดั่งพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า "บุคคลประพฤติชอบเวลาใด เวลานั้นได้ชื่อว่า เป็นฤกษ์ดี เป็นมงคลดี เป็นเช้าดี อรุณดี เป็นขณะดี ยามดี และ(นับด้วยว่า)เป็นอันได้ทําบูชาดีแล้วในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย แม้กายกรรมของเขาก็เป็นสิทธิโชค วจีกรรมก็เป็นสิทธิโชค มโนกรรมก็เป็นสิทธิโชค ประณิธานของเขาก็(ย่อมต้อง)เป็นสิทธิโชค ครั้นกระทํากรรม(การกระทําใดๆ)ทั้งหลายที่เป็นสิทธิโชคแล้ว เขาย่อมได้ประสบแต่ผลที่มุ่งหมายอันเป็นสิทธิโชค" (สุปุพพัณหสูตร)]


ไม่เคยกระทำแบบแสดง

หลวงปู่ไม่มีมารยาในทางอยากโชว์ เพื่อให้เด่น ให้สง่าแก่ตนเอง เช่นการถ่ายรูปของท่าน ถ้าใครอยากถ่ายรูปท่าน ก็ต้องหาจังหวะให้ดี ระหว่างที่ท่านห่มผ้าสังฆาฏิเรียบร้อย เพื่อลงปาฎิโมกข์หรือบวชนาคหรือเข้าพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วขอถ่ายรูปท่านในจังหวะนี้ย่อมได้ถ่าย เมื่อท่านอยู่ตามธรรมดา แล้วขอร้องท่านให้ลุกไปนุ่งห่มมาตั้งท่าให้ถ่าย แบบนี้หวังได้ยากอย่างยิ่ง เช่น มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งจากกรุงเทพฯ นำผ้าห่มชั้นดีมาถวายหลวงปู่เมื่อหน้าหนาว พอถึงเดือนห้าหน้าร้อน เผอิญเขาได้ไปกราบหลวงปู่อีก จึงขอให้ท่านเอาผ้ามาห่มให้เขาถ่ายรูปด้วย เพราะตอนถวายไม่ได้ถ่ายไว้ หลวงปู่ปฏิเสธว่า ไม่ต้องหรอก แม้เขาจะขอเป็นครั้งที่สองที่สาม ท่านก็ว่าไม่จำเป็นอยู่นั่นเองฯ

เมื่อสุภาพสตรีนั้นลากลับไปแล้ว อาตมาไม่ค่อยสบายใจจึงถามท่านว่า โยมเขาไม่พอใจ หลวงปู่ทราบไหม ฯ

หลวงปู่ยิ้มแล้วตอบว่า

"รู้อยู่ ที่เขามีความไม่พอใจ ก็เพราะใจเขามีความไม่พอ"


สิ้นชาติขาดภพ

พระมหาเถระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน สนทนาธรรมะขั้นปรมัตถ์กับหลวงปู่หลายข้อ แล้วลงท้ายด้วยคำถามว่า พระเถระนักปฏิบัติบางท่าน มีปฏิปทาดี น่าเชื่อถือ แม้พระด้วยกันก็ยอมรับว่าท่านเป็นผู้มั่นคงในพระศาสนา แต่ในที่สุดก็ไปไม่รอด ถึงขั้นต้องสึกหาลาเพศไปก็มี หรือไม่ก็ทำไขว้เขวประพฤติตนมัวหมองอยู่ในพระธรรมวินัยก็มี จึงไม่ทราบว่าจะปฏิบัติถึงขั้นไหนอีก จึงจะตัดวัฏสงสารให้สิ้นภพสิ้นชาติได้ ฯ
หลวงปู่กล่าวว่า
"การสำรวมสำเหนียกในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด และสมาทานถือธุดงค์นั้น เป็นปฏิปทาที่ดีงามอย่างยิ่ง น่าเลื่อมใส แต่ถ้าเจริญจิตไม่ถึงอธิจิิต อธิปัญญาแล้ว ย่อมเสื่อมลงได้เสมอ เพราะยังไม่ถึงโลกุตตรภูมิ ที่จริงพระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่ได้รู้อะไรมากมายเลย เพียงแต่เจริญจิตให้รู้ในขันธ์ ๕ แทงตลอดในปฏิจจสมุปบาท หยุดการปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกริยาจิต มันก็จบแค่นี้ เหลือแต่ บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง มหาสุญตา ว่างมหาศาล


อยู่อย่างไรปลอดภัยที่สุด

จำได้ว่าเมื่อปี ๒๕๑๙ มีพระเถระ ๒ รูป เป็นพระฝ่ายวิปัสสนากัมัฏฐานจากอีสานเหนือแวะไปกราบมนัสการหลวงปู่ แล้วสนทนาธรรมเรื่องการปฏิบัติ เป็นที่เกิดศรัทธาปสาทะ และดื่มด่ำในรสพระธรรมอย่างยิ่ง ท่านเหล่านั้นกล่าวย้อนถึงคุณงามความดีตลอดถึงภูมิธรรมของครูบาอาจารย์ที่ตนเคยไปพำนักศึกษาปฏิบัติมาด้วยเป็นเวลานานว่า หลวงปู่องค์โน้นมีวิหารธรรมคืออยู่กับสมาธิตลอดเวลา อาจารย์นี้อยู่กับพรหมวิหารเป็นปรกติ คนจึงนับถือท่านมาก หลวงปู่องค์นั้นอยู่กับอัปปมัญญาพรหมวิหาร ลูกศิษย์ของท่านจึงมากมายทั่วสารทิศไม่มีประมาณ ดังนี้เป็นต้น ท่านจึงมีแต่ความปลอดภัยอันตรายตลอดมา ฯ
หลวงปู่กล่าว่า
เออ ท่านองค์ไหนมีภูมิธรรมแค่ไหน ก็อยู่กับภูมิธรรมนั้นเถอะ เราอยู่กับ " รู้ "


สนทนาต่อมา

ครั้นเมื่อพระเถระทั้ง ๒ รูปได้ฟังคำพูดของหลวงปู่ว่า หลวงปู่ท่านอยู่กับ " รู้ " ต่างองค์ก็นิ่งสงบชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็เรียนถามหลวงปู่ต่อไปว่า อาการที่ว่าอยู่กับรู้ มีลักษณะเป็นอย่างไร ฯ
หลวงปู่ตอบอธิบายว่า
" รู้ " (อัญญา) เป็นปรกติจิตที่ "ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดการปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่ยึดถืออะไรสักอย่าง."

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น