เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ดุจเข็มสละด้าย


ดุจเข็มสละด้าย

เขมานันทะ : (อาจารย์โกวิท เอนกชัย)


ความหลุดพ้นก็ดี นิรวาณหรือนิพพานก็ดี อิสระหรืออิศวรก็ดี ล้วนเป็นถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ที่ศาสนิกถือเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด มันเป็นเครื่องบ่งบอกว่ามนุษย์ครั้งอดีตนั้น ได้ดั้นด้นค้นหาทางรอด ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการรวมกับองค์พระผู้เป็นเจ้า หรือความดับสนิทแห่งทุกข์ตามทางของพระพุทธศาสนา

ศัพท์ที่เรียกว่าอิศวรเป็นสันสกฤต ตรงกับคำว่าอิสระในภาษาบาลี แปลว่าผู้ที่เป็นใหญ่เหนือโลก เหนืออาสวะกิเลสทั้งหลาย วัฒนธรรมกรีกโบราณนั้นก็มีศัพท์คำหนึ่งที่ควรแก่การสนใจจำ คือ ยูนิโอมิสติกา (Unio Mystica) การรวมกับสิ่งเร้นลับ ดูเหมือนว่าถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ยังคงเป็นสิ่งลึกลับชวนฉงน เป็นรหัสสนัยแห่งศาสนาเทวนิยมต่างๆ ส่วนพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาฝ่านอเทวนิยมนั้น ไม่อ้างถึงอิศวรหรือพระผู้เป็นเจ้า แต่ก็บ่งถึงความสิ้นสุดของความทุกข์ทรมานทางจิตใจของมนุษย์ เรียกว่าพระนิพพาน ซึ่งก็ยังคงความหมายลึกลับอยู่เช่นกัน

ยังมีถ้อยคำของรหัสกรีกโบราณคือ แอ๊คโนสเตีย (Agnostia) แปลว่าไม่รู้อะไรเลย ศัพท์นี้สำคัญมากมันไม่ได้หมายถึงความโง่เขลาเบาปัญญา หากเป็นอาการรู้ซึ่งไม่รู้อะไรเลย ถ้าผูกเป็นประโยคภาษาอังกฤษ เราก็จะได้ประโยคที่ว่า Unknowing knowing รู้โดยไม่รู้อะไรเลย ตามความเข้าใจของผม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเจริญสติภาวนา

เมื่อใดก็ตามที่เราจับความรู้สึกตัวล้วนๆ โดยไม่รู้อะไรเลย อันนี้คือ Agnostia รู้แต่ไม่รู้อะไรเลย เป็นเพียงความรู้สึกที่ผ่องแผ้วไม่เกี่ยวกับความหมาย เรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องถูกเรื่องผิด ไม่เนื่องกับกาลเวลาและระยะทาง ไม่เกี่ยวกับอดีตซึ่งเป็นเพียงภาพสะท้อนในความรู้สึกของเรา ไม่เกี่ยวกับอนาคต เรามีความรู้สึกว่าพรุ่งนี้ต้องมี แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วอนาคตยังไม่เกิด อนาคตเป็นเพียงความทรงจำของอดีต ที่คิดว่าน่าจะเกิด เรามีชีวิตอยู่เราคิดว่าน่าจะมี พรุ่งนี้น่าจะมีสำหรับเรา แต่ถ้าคืนนี้เราตายลง พรุ่งนี้ก็จะไม่มีสำหรับเรา กาลเวลาทางจิตวิสัยยังอยู่ ก็เพราะตัวเรายังดำรงชีวิตอยู่ เมื่อใดชีวิตได้สิ้นสุดลง กาลเวลาก็ไม่ปรากฏในความรับรู้อีก ไม่มีอดีต อนาคต ไม่มีแม้แต่ปัจจุบัน พรุ่งนี้เป็นเพียงความหมายรู้เท่านั้น

สิ่งที่ปรากฏอยู่เป็นปัจจุบันอยู่ทุกขณะ แต่เนื่องจากเรามีความจำ เราสามารถคิดคาดคะเนไป ระยะทางและกาลเวลาก็กลายเป็นสิ่งที่มากำหนดวิถีชีวิตของเรา

ทางหมื่นลี้เดินทีละหนึ่งก้าวข้าว ร้อยคำกินทีละหนึ่งคำชีวิตร้อยปีหายใจเข้าออกทีละขณะช่วงชีวิตคือ การดำรงอยู่เป็นไปทีละขณะ สืบต่อกันอยู่ เมื่อขณะหนึ่งผ่านไปแล้ว ก็ผ่านไปเลยไม่อยากกลับมาได้ เรือชีวิตฟันฝ่าคลื่นชีวิตปัจจุบันไปข้างหน้า ดังนั้นเมื่อเราปฏิบัติธรรมะนั้น เราต้องอยู่กับปัจจุบัน แต่เราต้องไม่เพ่งเล็งตึดยึดในปัจจุบัน

เราเคลื่อนมือแล้วผ่านเลย พอเคลื่อนก็รู้ พอเคลื่อนก็รู้ แล้วก็ทิ้งสิ่งที่รู้ให้หมดสิ้น เพื่อจะรู้อันใหม่ และเพื่อจะรู้อันใหม่เรื่อยๆ ทีละหนึ่งและทีละหนึ่ง ดังนั้นจึงเกิดความรู้สึกว่ารับรู้ที่ว่ารู้แต่ไม่รู้อะไรเลย นี่คือความหมายของศัพท์ว่า “Agnostia” ความหมายเดียวกับคำว่า Unknowing knowing ไม่ใช่ไม่รู้แต่ก็ไม่ใช่รู้อะไรจำเพาะอย่าง รู้แล้วก็ทิ้งทุกอย่างที่รู้ สิ่งนี้ยาก เพราะว่าเราเคยชินต่อความรู้ต้องจำไว้

ความรู้มีสองลักษณะที่ให้ผลต่างกัน อันแรกคือ "ความรู้ที่เราต้องใช้ความจำเป็นหลัก" ถ้าจำได้มากเราก็คิดได้มาก เรียกว่าเรารู้มาก ถ้าจำได้น้อยก็คิดได้น้อย ในกระบวนการของการศึกษาโดยทั่วไปนั้นอยู่ในระดับความจำ ความจำยิ่งแม่นยำเท่าไหร่ ก็จะคิดแม่นคิดใกล้เคียงกับความจริงเท่านั้น นี่เรียกว่า "ความรู้ขึ้นอยู่กับความจำ(Knowledge)" แต่เมื่อความจำเหล่านั้นเสื่อมไป ความรู้เหล่านั้นก็จะเหือดหายไป หลายเรื่องที่เราจำได้เรามีความรู้ตอนเล็กๆ เมื่อนานวันเข้าเราแก่เฒ่าเข้า ความรู้ก็หายไป เพราะความรู้เป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราวที่ความจำยังมีอยู่เท่านั้น

ความรู้อีกอันหนึ่งคือ "ความตระหนักรู้ (Knowingness)" ซึ่งไม่ได้รู้อะไรเลย และไม่เกี่ยวเนื่องกับความจำ ถ้าเรารู้สึกตัวอย่างนี้ (เป็นความจำตัวมันเอง) คือเป็นความตระหนักรู้ เป็นสภาพรู้เป็นสภาพตื่นซึ่งไม่เกี่ยวกับอดีตไม่เกี่ยวกับอนาคต แต่เกี่ยวกับปัจจุบันซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ ตาของเรามันไม่ได้กระพริบครั้งเดียว หรือ ๒ หรือ ๓ ครั้ง มันกระพริบทีละ ๑ ทีละ ๑ ตลอดไป เราไม่เคยกระพริบตา ๒ ครั้ง เพราะว่าครั้งที่สองก็คือครั้งที่หนึ่งอีกหนึ่งครั้ง เมื่อเราก้าวไปสิบก้าว นั่นเป็นผลรวมของระยะทางว่าเราเดินมากี่ก้าว แต่ว่าเมื่อเราเดินมาหนึ่งก้าว ก้าวแรกเราก็ทิ้งมันไป ในที่สุดระยะทางเหลือเพียงหนึ่งก้าว

ระหว่างความรู้อันเนื่องกับความจำและความนึกคิด กับความรู้แจ้งความตื่นตระหนัก ซึ่งเป็นอาการนั้นต่างกันมาก ทั้งลักษณะและพัฒนาการอาการรู้ที่ตัวเราที่เรารู้ตัว เป็นความรู้ที่ไม่ต้องจำ ขณะนั้นๆ ไม่เกี่ยวข้องกับความคิด ระยะทาง กาลเวลา เราปฏิบัตินานๆ เราจับที่อาการรู้นี้ ไม่ใช่ที่ความรู้ แต่ให้มารู้ชัดต่ออาการเคลื่อนไหว พอมันลาดไปสู่ความรู้ ที่เกี่ยวกับความจำและความคิด เราก็กลับมาเริ่มต้นใหม่

เช่น เมื่อเดินจงกรมอยู่ ก็เกิดคิดว่าเมื่อกี้ผมพูดอะไรนะ อย่างนี้เป็นความรู้จำแล้ว เราก็กลับมาที่อาการรู้ คือความรู้สึกล้วนๆ คือการบริหารมัน เคลื่อนที่ละหนึ่ง ไม่ช้าไม่นานเพียงชั่วสามวันสามคืนเท่านั้น สิ่งต่างๆทั้งหมดนี้จะลุกตื่นขึ้น มันเหมือนกับกองทัพยามเที่ยงคืนทหารทั้งหมดหลับสนิท แม่ทัพผู้ชาญฉลาดรู้ว่าข้าศึกจะจู่โจมก็ลั่นสัญญาณ กองทัพที่กำลังสงบนิ่งอยู่ในความหลับก็ตื่นขึ้น กองทัพที่เคยหลับนั้นมีพลังพร้อมที่จะสู้ เมื่อเราปลุกความรู้สึกตัวที่แฝงเร้นอยู่ ราวกับเม็ดทรายในทุกอณูของชีวิต เมื่อมันตื่นขึ้น มันก็จะทำหน้าที่แทนเรา ทำหน้าที่กำจัดกิเลสตัณหา อุปาทาน ความยึดติดทั้งหมด ในที่สุดผู้นั้นพบว่าเดี๋ยวนี้เราเป็นคนใหม่ ตอนที่ผมปฏิบัติภาวนานั้น ผมภาวนาติดต่อกันอยู่หลายคืน ผมนอนไม่หลับ ๔-๕ คืนติดๆ กัน ทีแรกผมคิดว่าตัวเองเป็นโรคประสาท แต่มันมีความแจ่มใสอยู่ในตัวของมัน มันตื่นอยู่อย่างนั้น ผมจับได้ว่านี่มันเป็นอาการตื่นอยู่ภายใน

ตามธรรมดาชีวิตเราเป็นไปภายใต้ระบบที่เป็นกลไกยิ่ง สังคมยิ่งพัฒนาไปเท่าไหร่ วิถีชีวิตของเราก็เป็นกลไกมากขึ้น และเราจะไม่รู้ตัวยิ่งขึ้น เราจะสูญเสียโอกาสภายในตัวเองยิ่งขึ้น แต่เมื่อมันตื่นขึ้น เราจะพบว่านิสัยเดิมเปลี่ยนไป ในการที่นั่ง เดิน ยืนนอน มีอาการรู้ตัว มีความคลี่คลายอยู่ในตัวของมัน ความสุขอยู่ที่นี่ ความสุขอยู่ที่ไม่เป็นไปตามอำนาจและนิสัยเก่า

หลักสำคัญที่สุดในการภาวนานั้น คือ การเร้าความรู้สึกตัวให้ตื่น นี่คืออุบายที่สำคัญมากในเบื้องต้น เคลื่อนมือ ตรงๆ ง่ายๆ เบาๆ การกระทำสิ่งเดียวกันเราจะทำให้หนักก็ได้ ให้เบาก็ได้ สังเกตดูว่าเมื่อเราไปยกของ เราเห็นของสิ่งหนึ่งซึ่งเบา แต่เราคิดว่ามันหนักมาก เราจะรวบรวมพละกำลังอย่างมากมายเพื่อที่จะยก เสร็จแล้วเราคาดผิด แต่ถ้าเรารู้ล่วงหน้าเราจะใช้แรงงานเบาๆ เราจะไม่ทุ่มมาก เราก็หยิบยกเบา ในการยกมือก็เหมือนกัน ถ้าเราเข้าใจผิดเราจะยกอย่างรุนแรง แต่ถ้าเราเข้าใจอย่างถูกต้อง เราจะรู้ว่าการเคลื่อนไหวนี้ไร้เจตนา มือที่เคลื่อนราวกับว่ามันลอยขึ้นมาเอง แทบจะไม่มีผู้ยก มันเคลื่อนไหวไปเอง ไม่ช้าไม่นาน สภาพเป็นนั่นเองจะปรากฏขึ้นแทนที่ ไม่ใช่บุคลิกภาพอันเก่า บุคลิกภาพอันเก่าของเราคืออะไร เราชอบพูดโพล่งๆ เราชอบขี้ยัวะ เวลาเราคุยกับเพื่อนใครคัดค้านเราขี้โมโห เราทำอะไรตามนิสัยกลไกที่เราเป็นอยู่

การเคลื่อนที่ที่เป็นจังหละจะโคนที่แม่นยำอันนี้ จะส่งผลทันที หมายถึง พออันนี้เคลื่อนและหยุด พออันนี้หยุดอันนี้จะปรากฏขึ้นแทน ไม่ใช่เคลื่อนมั่วอย่างนี้ เมื่อเราเคลื่อนใหม่ๆ เพราะเรากลัวผิดเพราะเราเคลื่อนช้าๆ เราจะต้องสำรวจใหม่ทุกๆครั้งที่เคลื่อน เบาๆ ทำเล่นๆ เบาๆ ไม่ช้าไม่นานจะรู้สึกสดๆ ชัดๆ และว่องไว มากขึ้น

วันหนึ่งผมนั่งกินข้าวอยู่รู้สึกเหมือนทีคนมาลูบหลังทั้งๆที่ไม่ได้มีคนเลย อาการรู้สึกสดๆ กระจายมาตามแผ่นหลัง เมื่อมันตื่นมันตื่นเป็นแถบ นี้อาจจะเป็นประสบการณ์เฉพาะรายก็ได้ คนอื่นอาจตื่นพร้อมกันก็ได้ แต่เมื่อมันถูกปลุกตื่น แล้วมันจะตื่นทุกขุมขน ไม่เพียงแต่ที่ผิวหนังเท่านั้น แม้ในช่องท้อง ในสมอง ในกะโหลกศีรษะ เราจะรู้สึกได้ทั่วทั้งตัว เมื่อมันตื่นแล้ว มันก็จะเป็นสมาธิเองโดยที่มันไม่ต้องทำ เราจะพบว่าเมื่อเราภาวนาแบบนั่งสะกดจิตตัวเองนั้น ผลของการกระทำเช่นนั้นเป็นความสงบ ไม่มีความตื่น

ดังนั้น ความสงบจึงมีสองแบบ

สงบเพราะจิตปิดกั้นตัวมันเอง จากอารมณ์ที่ไม่ต้องการ เหมือนเราไม่อยากเห็นอะไร เราเอาปี๊ปคลุมหัวไม่รู้ไม่เห็นอะไรทั้งนั้น

แต่สงบเพราะตื่นตัว รู้แต่ไม่รู้อะไรเลย ความสงบแบบนี้มันรู้ตัว เห็นความสงบโดยไม่ได้ติดยึดในความไม่สงบ

โดยทั่วไปเรายิ่งมุ่งมั่นในความสงบมากเท่าไรจะยึดติดมากเท่านั้น แล้วก็จะรังเกียจและรำคาญผู้คนมากขึ้น ผมเคยทำมาแล้วและเคยติดๆมาเกือบสิบปีกว่าจะรู้จักแยกความสงบสองอย่างนี้ได้ ใครก็ตามที่นั่งเห็นภาพพระพุทธเจ้า ผมไม่ค้านและไม่สนับสนุน เพราะสิ่งเหล่านั้นปรากฏขึ้นจริงแต่ไม่มีสภาวะรองรับ ช่วงที่ผมนั่งเห็นภาพพระพุทธเจ้า ผมเกลียดคนมาก คิดว่าคนทั่วไปนั้นสกปรกโง่เง่าทั้งนั้น ในขณะที่มันไปยึดติดนิมิต หรือความรู้สึกซึ่งเป็นฝักฝ่ายเวทนา มันจะไม่รู้จักตัวเองเลย บางคนหลงใหลในความสงบ ความประณีตของชีวิต ช่างเป็นการหลอกลวงในช่วงที่นิมิตเหล่านั้นปรากฏ เช่นนี้นั้นมันไม่ใช่ทางของพระพุทธศาสนา

ในสมัยพระพุทธเจ้าท่านออกบวช ท่านก็เป็นคนหนุ่มไปเรียนกับครูสององค์คือ อุททกะ อาฬาระ ครูทั้งสองสอนเรื่องความสงบ คือการเข้าฌานเสวยเวทนา อันประณีตละเอียดอ่อนเป็นชั้นๆ เมื่อพระพุทธเจ้าทำได้เทียมเท่ากับครูของท่านแล้ว เนื่องจากท่านเป็นผู้มีปฏิภาณดี ท่านจับได้ว่านี้เป็นเรื่องชั่วคราว เป็นการสะกดดวงจิตให้ดื่มด่ำกับเพทนาเท่านั้น ไม่ใช่ความหลุดพ้น ดังนั้นท่านก็เลยบอกเลิก แต่เนื่องจากท่านเป็นคนสุภาพอ่อนโยน ท่านไม่ค้านอาจารย์ของท่าน แต่ท่านก็เฉลียวใจว่านี่ไม่ใช่ทางออก จึงอำลาครูทั้งสองไป

ต่อมาภายหลังที่ใต้ต้นโพธิ์นั้น ท่านเจริญสติ เมื่อท่านถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว ท่านก็นึกถึงครูของท่านว่า ครูทั้งสองนั้น เข้าใจพลาดอยู่ และเป็นจุดพลาดที่สำคัญมาก

ปัจจุบันนี้ในประเทศนี้ วิถีทางของอุททกะ และอาฬาระ ครอบงำแพร่หลายไปทั่วทั้งประเทศ พอเราจะเริ่มนั่งสมาธิก็เริ่มหลับตา แล้วสะกดดวงจิตปิดกั้นไม่ให้รับรู้อารมณ์ที่ไม่ต้องการ แท้ที่จริงเป็นเพียงอุบายวิธีระงับจิตเท่านั้น แต่มักจะถูกเห็นเป็นทางแห่งวิปัสสนา

ในอริยมรรคมีองค์แปดนั้น สัมมาสติมาก่อนสัมมาสมาธิ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ แล้วก็ สัมมาวิมุตติ ถ้าใครก็ตามเริ่มต้นด้วยการสะกดจิตทำสมาธิ จะมีบทภาวนาสัมมมาอรหัง พุทโธ อะไรก็สุดแท้ จิตก็สงบเท่ากัน ถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นอาจช่วยให้จิตสงบ เพราะอำนาจของการสะกดบังคับจิตปิดกั้นจิตไว้ ท่านว่าเหมือนเอาศิลาทับหญ้า เอาหินทับหญ้าๆ ก็งอกไม่ได้ แต่พอเอาหินออก หญ้ามันได้โอกาสขึ้นใหญ่เลย

ดังนั้น ผู้มุ่งสงบอย่างนี้ พอนานวันเข้ากลายเป็นคนมีกิเลสหนาโดยไม่รู้สึกตัว เช่นขี้ยัวะมากขึ้น ได้ยินเสียงรบกวนนิดก็โกรธแทนที่จะทุเลาเบาบางลง ทำให้เกลียดผู้อื่น แบ่งแยก โหดร้ายและรุนแรง เป็นมาเฟียทางศาสนาโดยไม่รู้สึกตัว ส่วนการเจริญสติเนื่องจากรู้ตัวดี ตื่นตาตื่นใจ เป็นอุเบกขาแห่งจิตไม่ใช่อุเบกขาแห่งเวทนา

การนั่งสะกดตัวเองนั้น ไม่รู้แต่มันสงบ ความสงบเกินก็ไม่มี มันก็ได้แค่ความสงบ เพราะไม่รู้อะไร ไม่เกิดปัญญาใดๆ ไม่เห็น รูป เห็น นาม อนิจจัง ทุกขัง ก็ไม่รู้จัก

เมื่อเราเจริญสติภาวนา เรามีความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวมันซ่อนแฝงอยู่ในตัวเรา เช่น เรากำมือ พอเคลื่อนที่มันรู้สึกวูบ เวลาเดินจงกรมนั้นคือเราแกว่งตัว ซึ่งมีผลสูงกว่าการนั่ง การนั่งนิ่งหลับตาสะกดจิตตนเป็นการฝืนธรรมชาติ ในขณะที่จักรวาล โลกทั้งหมดกำลังเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังเคลื่อนไหวอยู่ เอกภพทั้งหมดกำลังเคลื่อนตัวอยู่ในห้วงอวกาศอันหาประมาณมิได้ หัวใจของมนุษย์เต้นอยู่ตลอดเวลา ลมก็พัด นกก็ร้อง การนั่งนิ่งดิ่งด่ำเข้าไปในความนั่งสงบลึกเข้าไป ที่สุดของมันก็ไม่ใช่ที่สุดแห่งทุกข์ แต่เป็นความสุขที่สุด ท่านจึงเรียกว่า พรหมโลก

หากแต่ยังติดยึดอยู่ในภาวะ ผู้ที่ติดอยู่ในความสงบนี้จะเต็มไปด้วยความสุข แต่ไร้ปัญญาไม่รู้เห็น อริยสัจจ์ตามเป็นจริง พวกเราแสวงหาความสงบอีกแบบหนึ่ง เพราะรู้ตัวดีก็สงบอยู่ รู้ตัวอยู่ก็เลยสงบ อย่างนี้เรียกว่าสงบที่พรั่งพร้อมไปด้วยปัญญา พร้อมเสมอที่จะเกื้อกูลเคลื่อนไหว ทำกิจการงาน

อย่าคิดว่าช่วงภาวนาคืนนี้เป็นช่วงที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่เช่นนั้น ช่วงที่ซักผ้านั่นก็สำคัญเท่าๆ กับการฟังธรรมหรือผู้ปฏิบัติ ในขณะที่เราซักผ้านั่นเองเป็นขณะเดียวกันกับที่เราฝึกสติให้รู้สึกตัว มีความรู้สึกสดๆ บนพื้นฐานของความเคลื่อนไหว ดังนั้นให้เราซักผ้าด้วยความรู้สึกตัว ไม่ใช่นั่งยองๆ แล้วรีบขยี้ผ้าเพื่อที่จะไปเข้ากรรมฐานภาวนา

ถ้าเราทำอย่างนั้นเราพลาดแล้วครับ เพราะว่าชีวิตนั่นเองที่แสดงตัวออกในทุกขณะ ๆ ในส้วม ในห้องน้ำ ในขณะที่ซักผ้า ในขณะที่ผ่าฟืน ในขณะที่พูด คิด หรือนั่ง สติภาวนาเป็นสิ่งที่ต้องใช้ตลอดเวลาตราบใดที่เรายังมีชีวิตเพราะฉะนั้น กิจกรรมทุกกิจกรรมไม่ว่ากิจกรรมทางธรรม ทางโลก

เราตั้งฐานแห่งความรู้สึกตัวสดๆ ถ้านั่งนิ่งๆ เราก็รู้สึกตัวเหมือนกันแต่มันจมเหมือนเราจุดธูปนานเข้าเราไม่แกว่ง ขี้เถ้ามันก็กลบไฟนั้น พอเราแกว่งขี้เถ้ามันก็หลุดออก มันก็ลุกวาบๆขึ้น เรานั่งนิ่งๆ อย่างเราก็รู้สึกตัวได้ แต่ครู่เดียวมันจะเข้าไปในความคิดแล้วก็ซึมเซานิวรณ์ก็ครอบ ความรู้สึกตัวอันนี้เหมือนเปลวไฟ เราเคลื่อนไหวเร้ามัน มันจะตื่นตาตื่นใจอยู่อย่างนั้น ยิ่งเดินจงกรมทั้งตัวด้วยแล้ว นี่มันยิ่งตื่นเต้นใหญ่

จับประเด็นนี้ให้ได้ว่าเราเจริญสติภาวนานี่ใช้ความเคลื่อนไหว จับความรู้สึกสดๆ บนฐานของความเคลื่อนไหว อย่านั่งนิ่ง อย่ายืนนิ่ง นั่งนิ่งพักเดียวมันจะงอลง งอลง ง่วงแล้วก็หันไปทางนิสัยเดิม เราจะเดินทางไปสู่ทิศทางใหม่ เร้าความรู้สึกตัวเฉพาะที่ตัวเรา ความเป็นตัวของตัวเองจะปรากฏขึ้นอย่างสมบรูณ์

แล้วเราก็ไม่ทุกข์ทรมาน เราจะไม่น้อยเนื้อต่ำใจอะไรอีก ถ้าเราหันไปทางเดิมทางนิสัยเก่าเราก็ทุกข์ทรมาน เราไม่รู้สึกตัว เขาด่าเรา เราก็โกรธ เราก็เข้าไปในความคิด แล้วเราก็น้อยใจคนโน้น น้อยใจคนนี้ เจ็บปวดทุกข์ทรมานตลอด

เวลาที่เราอยู่ที่นี่ เราอยู่เพื่อเร้าความรู้สึกตัว พยายามที่จะต่อสู้นะครับ ในช่วงสามวันเรารู้สึกตัวให้มากๆเข้าไว้ก่อน เพราะสามวันหลังผมก็จะได้บรรยายเข้าสู่การปฏิบัติที่ละเอียดอ่อน คือการเฝ้าดูความคิดล้วนๆ เราจะไม่สนใจมืออีกต่อไปแล้ว มือมันเคลื่อนอย่างนี้ไม่สนใจแม้แต่ความรู้สึกก็ไม่ต้องใส่ใจมาก เราจะดูความคิด แต่ความรู้สึกก็อยู่ที่นั่น เพราะว่าเราได้สร้างฐานไว้ เหมือนกับเราสร้างเจดีย์ เราลงรากฐานดีแล้ว ต่อจากนั้นเราก็ต่อยอด

การปฏิบัตินั้นมีอยู่สองขั้นตอน

+ขั้นตอนที่หนึ่งนั้นเร้าความรู้สึกนี้ให้ชัด
+ขั้นตอนที่สองเป็นการมองเข้า ไปสู้ตัวเองเห็นกระแสความคิด

เพราะเมื่อเห็นความคิดที่ปรากฏขึ้นมาในตัวเองนั่นเอง ที่จะทำให้ได้ปัญญารู้แจ้งอริยสัจจ์ รู้เหตุแห่งความผิดพลาดและทุกข์ทรมาน มนุษย์เราถูกระทำย่ำยีจากมโนกรรมของตัวเองโดยไม่รู้สึกตัว หากเราไม่รู้ไม่เห็นสิ่งที่ปรากฏขึ้น นานวันเข้าเราก็กลับเป็นคนที่มืดทึบอยู่ข้างใน หนักและหนาไม่ปลอดโปร่ง แต่เราก็ยังแสดงบทละครของเราว่าเป็นคนฉลาดเฉลียวในสังคมต่อไป วิพากษ์วิจารณ์อะไรได้อย่างทระนงองอาจ แต่ว่าไม่รู้จักตัวเอง ภาวะเช่นนี้น่ากลัว ดังพระพุทธเจ้าตรัสว่า

บุคคลที่รู้ตัวว่าโง่ย่อมมีโอกาสเป็นบัณฑิตได้ แต่ผู้ใดโง่แล้วสำคัญตนว่าฉลาดนั่นเป็นคนพาลโดยแท้ การไม่รู้จักตัวเองเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด ในทางกลับกันการรู้จักตนเองก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุด

วันหนึ่งมีเด็กหนุ่มสามสิบคนพาผู้หญิงไปเที่ยวในอุทยาน เกี้ยวพาราสีวิ่งไล่กันอยู่ แล้วผู้หญิงก็ขโมยเครื่องประดับหายไป หัวหน้าของเด็กหนุ่มกลุ่มนั้นก็ออกตามหา พบพระพุทธเจ้าทรงประทับพักผ่อนอยู่ใต้ร่มไม้ เขาก็ถามว่าท่านเห็นผู้หญิงผ่านมาทางนี้บ้างหรือเปล่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบว่า

“เธอจะหาผู้หญิงหรือหาตัวเองดี”

เด็กหนุ่มคนนั้นเป็นคนมีปฏิภาณ เอะใจว่าตัวเองนั้นต้องหาด้วยหรือ ต่อจากนั้นก็เริ่มสนทนากับพระพุทธเจ้าถึงการค้นหาตัวเองที่หายไป มนุษย์เรามักหลงไปจากตัวเอง เที่ยวหาเงินหาทองหาหญิงหาชายโดยทั่ว ตัวเองนี่ไม่รู้จักตัวเองมันหายไปก็ไม่รู้ว่ามันหายไป เป็นคำพูดที่แม่นฉมังของพระพุทธเจ้าผู้รู้แจ้ง ทำให้เด็กหนุ่มคนนั้นหันเหชีวิตออกบวชแสวงหาชีวิต พาเพื่อนทั้งสามสิบคนมาสมทบแล้วก็กลายเป็นสาวกรุ่นแรกๆ ของพระพุทธเจ้า

การเจริญภาวนาเป็นการประจันหน้ากับตัวเอง เรียนรู้อารมณ์ภายในตัวเองด้วยเครื่องมือที่สำคัญคือความรู้สึกตัวเพื่อ ทำความรู้จักตัวเอง

ต่างว่าเราไปหาผู้ใหญ่สักคนหนึ่ง ตามธรรมดาเราเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ก็ย่อมยาก จะไปชวนคุยกับท่านก็ลำบาก เราต้องไปบ่อยๆ ตอนแรก เราอาจจะไปให้ท่านเห็นหน้าก่อน บ่อยเข้ามีของติดไม่ติดมือไปกำนัลท่าน ท่านก็รู้จักหน้าค่าตาของเรา วันหลังท่านจะทักทายเรา ถามชื่อแซ่ แล้วเราก็ขยันไปบ่อยๆ ในที่สุดเรากับท่านก็เป็นคนมักคุ้นกัน เราค้างคืนกับท่านเพื่อนวดเฟ้น ในที่สุดท่านก็รักเราเหมือนลูกเหมือนหลาน ในที่สุดเราก็เหมือนเป็นสมาชิกของครอบครัวของท่าน ง่ายดายใช่ไหมครับ ฉันใดก็ฉันนั้น

เราต้องเข้าหาตัวเองบ่อยๆ ในที่สุดมันจะคุ้นกับตัวเองมากขึ้น ในที่สุดตัวเองกับตัวเองก็กลายเป็นเป็นตัวเองอันเดียวกัน เราเข้าถึงแล้ว ก็จะหายเหงา หายทุกข์หายโศก ก็เพราะเราเป็นตัวเองอยู่แล้วตั้งแต่เกิดจนตาย ตายเพราะว่าเราไม่เข้าใจตัวเอง ไม่รู้จัก เหตุที่ไม่รู้จักเพราะเรามีความทึบหนาอยู่ ดังนั้นท่านจึงเรียกว่าปุถุชน

คนทั่วไปคือคนที่ทุกข์หนักไปด้วยทุกข์ และหนาไปด้วยความไม่รู้สึกตัว เรามาทำลายม่านทึบที่หนาและทึบนี้ เรามาทำให้รู้จักเสีย มารู้สึกตัวเข้า เคลื่อนมืออย่างนี้ๆ ไม่ช้าไม่นานตัวเองก็จะทะลุเบาบาง กลายเป็นสิ่งที่โปร่งใส เหมือนกับว่าเราเอาแท่งกระจกซึ่งใสส่องในอากาศ กระจกที่ใสนั้นไม่มีอะไรเลย เราเห็นความไม่มีอะไรเลย แต่เราเห็นจริงๆ เพราะความที่มันใสมากๆ นั่นเอง แต่มันก็มีอยู่ มันมีความใสของมันนั่นเอง

ในการมีความใสมันไม่มีอะไรเลยที่ปรากฏ เมื่อเห็นตัวเองนั้นมันจะไม่เห็นอะไรเลย อุปมานี้จะช่วยให้แจ่มชัด ในฤดูร้อน ในท้องถนน หรือในท้องทะเลทรายมันจะมีภาพลวงตาที่เรียกว่า Mirage เนื่องจากไอร้อนทำให้ชั้นของบรรยากาศ ทำให้เกิดการสะท้อนกลับหมด เกิดภาพเป็นน้ำนองอยู่ ซึ่งหลอกตาคนหลงทางเป็นทะเลทรายว่าเป็นแอ่ง เห็นเป็นจริงเห็นเป็นจัง แต่พอเราเข้าไปที่จุดของการเกิดขึ้น ของปรากฏการณ์อันนั้น มันก็ไม่มีให้เห็น ฉันใดก็ฉันนั้น

ขันธ์ ๕ หรือชีวิตที่ปรากฏมันเหมือน Mirage ราวกับเป็นตัวเป็นตน เป็นฉัน เป็นข้าพเจ้าเป็นผม เรารู้สึกเป็นเรื่องจริงเป็นเรื่องจัง ทั้งนี้เพราะไม่ได้เข้าไปสู่ศูนย์กลางของปรากฏการณ์นั้นๆ เมื่อใดที่เราเข้าไปสู่ใจกลางของความรู้สึกอันนี้ เราจะพบว่า ฉัน คุณ ผม เป็นสิ่งสมมติเท่านั้น มันไม่ได้เป็นจริงเลย

ดังนั้นเมื่อเราเข้าใกล้ปรากฏการณ์ของขันธ์ ๕ นี้ โดยรู้สึกตัวมากๆ เราก็เดินทางเข้าสู่ที่ปรากฏเรื่องราว

ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้มีอยู่เป็นอยู่ เพราะเรามีอยู่เป็นอยู่ โลกกับเรามีอยู่เป็นอยู่ด้วยกัน เราตายลงโลกก็หายวับ ถ้าเราไม่อยู่โลกก็ไม่อยู่ เพราะว่าชีวิตปรากฏอยู่จึงได้ยินเสียงที่ผมพูด แต่ว่าคนตายแล้ว เราเอาไมโครโฟนกรอกเข้าไปในรูหู ก็ไม่ได้ยินเสียงอะไรเพราะตายแล้ว

ดังนั้นชีวิตกับโลกเป็นอันเดียวกัน ปรากฏการณ์ทั้งหมดมันขึ้นกับปรากฏการณ์ภายใน ถ้าภายในมันหลอกลวง เราก็ไปเห็นสิ่งลวงๆภายนอก คล้ายๆในวันที่เราเป็นลมเราตาลาย เราก็เห็นต้นไม้เคลื่อนไปเคลื่อนมา จริงไหมครับ แต่ถ้าเราปกติดีเมื่อข้างในแจ่มใสข้างนอกก็ชัดเจน ถ้าข้างในสับสน ข้างนอกก็จะดูสับสนราวกับสิ่งภายนอกกลั่นแกล้ง

สังเกตดูวันที่เราเสียสติหรือขาดสติ เดินไปชนโน้นชนนี้ ราวกับว่าตู้หรือหน้าต่างมันแกล้งเราอย่างนั้น แต่จริงๆ เราสับสนอยู่ภายใน จิตใจเราสับสนข้างนอกก็สับสน ดังนั้นในวันที่จิตใจเราไม่สับสนเราก็เห็นโลกนี้ไม่สับสน แม้จะมีอะไรที่ยุ่งๆ เช่น การจราจรอันคับคั่งไม่ค่อยเป็นระเบียบ เป็นความสับสนแต่มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น

การภาวนาคือการเดินทาง แต่ไม่ใช่การเดินทางไปสู่เป้าหมายนอกตัว เป็นการเดินทางย้อนรอยกลับเข้าสู่แหล่งที่มันกำเนิดเกิดมา รู้สึกตัวที่นี่แล้วรู้สึกอยู่อย่างนี้ แต่อย่ายึดตึดเพ่งเล็งต่อความรู้สึก รู้สึกตัวแบบเบาๆ มีนักปฏิบัติที่เข้าใจผิดอยู่มาก เช่น พยายามที่จะสะกดจิตตัวเอง เพ่งเข้าไปข้างในซึ่งมันให้ความสงบแต่ไม่ให้ความหลุดพ้น เป็นการติดยึดอยู่ในความสุขที่ประณีต เราติดอารมณ์สุขอันนั้น มันทำให้เฉื่อยชาทางปัญญา ไม่รู้เห็นการเปลี่ยนแปลง สมยอมกับอารมณ์สุขอันนั้น แล้วในที่สุดก็ไม่อยากรู้ความจริงอื่นใด

สำหรับเรื่องการยึดติดอุปมาอันนี้...คงจะช่วยให้ความกระจ่าง

สมมติว่าเรามีผ้าสองผืนซึ่งเราจะเย็บให้ติดกันเป็นเสื้อ หรือเป็นถุงเท้าเราก็ใช้เข็ม เมื่อเข็มของเราปักเข้าไปในเนื้อผ้า ตราบใดที่ยังไม่ทะลุออกอีกด้านหนึ่ง เราเรียกว่าการเย็บนั้นยังไม่สำเร็จ เราปักเข็มเข้าไปเท่านั้น แต่ตอนที่เราเย็บสำเร็จนั้นเข็มทะลุด้านหนึ่ง เราร้อยด้าย เมื่อใดที่เข็มสละด้ายช่วงนั้นก็เสร็จการเย็บ....ใช่ไหมครับ ? แต่ถ้าเข็มยังปักอยู่ในเนื้อผ้านี่ไม่ใช่การเย็บ พอเราดึงผ้ามันก็หลุดออกมา เมื่อเราเพ่งเล็งรวมศูนย์ที่หนึ่งที่ใด เหมือนกับการที่เราเอาเข็มปักเข้าไปที่เนื้อผ้า

ส่วนการเจริญวิปัสสนานั้น ให้รู้แต่อย่าติดรู้ ...รู้แต่ไม่รู้อะไรเลย เหมือนกับด้านที่ทะลุเข้าไปในเนื้อผ้าแล้วเข็มสละด้าย รู้แล้ววิ่งเลย

เมื่อเราเห็นป่าเราจะไม่เห็นต้นไม้ เมื่อเราดูต้นไม้เราก็จะไม่เห็นป่า เมื่อเห็นต้นไม่ต้นหนึ่ง โค่นเราจะถอนมาดูไม่ทัน แต่ถ้าเราเห็นป่าทั้งป่า เราไม่เห็นต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่งโดยเฉพาะ

เมื่อผมดูนักศึกษาผมไม่ดูใครโดยเฉพาะผมก็เห็นทั้งหมด เข้าใจไหมครับ? แต่ถ้าผมจ้องหน้าดูคนหนึ่ง ผมไม่เห็นคนอื่น ดังนั้นพอเราเคลื่อนมืออย่าไปสนใจเข้า เคลื่อนมืออย่างนี้ ถ้าเราไปเพ่งเล็งเข้า มันจะไปติด จิตสำนึกของคนธรรมดาสามัญรู้อะไรก็จะติดอันนั้น

ถ้าเราไปอ่านหนังสือธรรมะมากๆ เราก็จะติดถ้อยคำของหนังสือธรรมเหล่านั้น แล้วสะท้อนออกโดยการพูดไม่รู้เบื่อ เรียกว่าบ้าธรรมะ เคยเห็นไหมครับ? บ้าธรรมะนี่พูดแต่เรื่องธรรมะทั้งสิ้นไม่รู้สึกตัวแล้ว

ธรรมะนี่เหมือนสองคม คนปฏิบัติแล้วจะพูดน้อยลง แต่ถ้าพูดนี่พูดแต่ถ้อยคำของชีวิต เป็นการเข้าถึงแล้วสะท้อนออกด้วยถ้อยคำที่สดและใหม่ ไม่ใช่ถ้อยคำในพระคัมภีร์ สมมติว่าเราไปฟังพระพูดท่านขึ้นต้นด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ไล่ลูกฆ้องกันไป แต่ที่จริงกำลังละเมอไปตามถ้อยคำเท่านั้น

ธรรมะไม่ใช่อย่างนั้น นั่นเป็นธรรมะแบบถ้อยคำ คำพูดเช่นนี้ประโยชน์มีน้อย แต่ธรรมะจริงผมได้กล่าวไว้ในช่วงต้นว่า

เมื่อเข้าถึงธรรมะ...มันไปสุดสายของถ้อยคำ เมื่อคลองของคำพูดถูกตัดขาด...นั่นคือธรรมะ

ถ้ายังพูดอยู่ข้างในนั่นยังไม่ใช่ นั่นเป็นการคิดเป็นอาการของจิต ดังนั้นเมื่อเราเดินจงกรมหรือยกมืออย่าให้มันพูด ผมพูดว่าอย่าให้มันพูด มันคือใครครับ มันคือนิสัยเก่าๆ ที่คิดอยู่ข้างใน พูดอยู่ คิดอยู่อย่างไม่รู้ตัว ความคิดอันเดียวกัน เมื่อคิดอยู่ข้างในนี่มันพูดๆ อยู่ข้างในเรียกว่า "คิด" พอปั้นเป็นถ้อยคำเป็นเสียงก็เรียกว่า "พูด" ดังนั้นเมื่อเคลื่อนมืออย่าให้มันพูด

จิตสำนึกของคนทั่วไปนี่มันซุกซนมาก มันวิพากษ์วิจารณ์ทุกสิ่งไม่รู้หยุด อย่างนักศึกษานั่งฟังผมนี่เห็นผมโพกผ้า อาจจะคิดว่าหน้าผมเหมือนแขก มันพูดอยู่ข้างใน หรือเห็นคนเดินมา เอ๊ะไอ้นี่จะมาขโมยอะไรของเรารึเปล่า มันติดถ้อยคำ มันลงไปในคลองของความนึก ความคิดจนเป็นนิสัย จึงไม่เคยสัมผัสความเงียบ ความเพิกถอนภาษาและคำพูด เมื่อใดภาษาและคำพูดที่เป็นภายในถูกเพิกถอน ดวงจิตจะเข้าสู่ฌานทีละน้อยๆ และเป็นฌานที่ตื่นตาตื่นใจ สำหรับผู้ที่เข้าถึงความรู้สึกตัวแล้ว เพียงแต่เห็นเมฆเท่านั้นก็เป็นสมาธิ

โดยธรรมดาเมื่อเราเห็นเมฆก็พูดวิจารณ์ต่างๆ นานา คิดเปรียบเปรยให้คล้ายช้างคล้ายม้า จิตมันพูดอยู่ตลอดเวลา วันนี้เรามาเจริญสติ เพื่อที่จะเดินทางกลับไปสู่ตัวเราเอง หลังจากที่ท่องเที่ยวอยู่ในความคิดนึก

การเคลื่อนไหวเป็นจังหวะอย่างนี้ จะทำให้ความรู้สึกตัวสดๆ ปรากฏควบคู่กับความเคลื่อนไหว เราจะตัดคลองของความคิดไป ความคิดยิ่งสั้นเข้าเท่าไหร่ ความรู้สึกตัวจะปรากฏมากขึ้นเท่านั้น พอมาถึงขั้นตอนหนึ่งก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นมูลฐานขึ้นมา ที่เรียกว่า "การบรรลุธรรม"

การบรรลุธรรมไม่ใช่การคิดเอา ไม่ใช่อ่านหนังสือพระไตรปิฎกมากๆ แล้วก็ว่าคนนี้บรรลุธรรมแล้ว นั่นอาจเป็นเพียงการคลั่งคำพูด ซึ่งบ้านเรานี่มีสอนกันมาก เพราะว่าอ่านมากเรียนมาก เทศนากันเป็นวรรคเป็นเวร สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาสำหรับการภาวนา

ดังนั้น...ขอให้รู้สึกโดดเดี่ยวมากๆ รู้สึกตัวมากๆ เคลื่อนไหวมากๆ แล้วก็ทิ้งความคิดให้หมด แต่ไม่ใช่มุ่งหยุดความคิด ทิ้งทฤษฎีที่เรียนมาให้หมด สิ่งที่เรียนมาแล้วเป็นของไม่แท้ทั้งหมด เป็นของสมมติ เราอาจจะรู้สึกเป็นสุข นี่เป็นการปลอบใจตัวเองเท่านั้น

เรารู้ตัวเองดีว่าเรายังไม่สามารถละความโกรธความริษยาได้ นักบวชก็ยังมีความโกรธ ความริษยาอย่างแรงกล้า เจ้าอาวาสวัดโน้นได้เป็นเจ้าคุณ เจ้าอาวาสวัดนี้ก็นอนไม่หลับทั้งที่สอนธรรมะอยู่ เพราะว่ายังไม่รู้สึกตัวนั่นเอง

การปฏิบัติที่ผมแนะนำนี้ไม่เกี่ยวกับเครื่องแบบ ไม่เกี่ยวกับสีสันของกางเกงและเสื้อ เป็นผู้หญิง ผู้ชาย นักบวช สาวแก่แม่ม่าย ไม่เกี่ยวทั้งสิ้น จะมีเงินในกระเป๋าหรือไม่มีก็ไม่มีปัญหาอะไร มันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับความรู้สึกตัว เคลื่อนมือมากๆ ขยันมากๆ ผมมั่นใจว่าภายใน ๗ วันที่เราภาวนานี้ สิ่งดีๆจะปรากฏขึ้นมา สิ่งดีนั้นเราต้องค้นพบด้วยตนเอง

ภาวะของความเป็นพระนั้นอยู่ในตัวเรา โดยทั่วไปเราเห็นพระเราก็เลื่อมใส ที่จริงคนที่โกนหัวห่มเหลืองห่มขาวนั้นอาจะไม่ใช่พระก็ได้ และพระอาจะไม่ใช่นักบวชก็ได้

พระคืออะไร ความรู้สึกที่บริสุทธิ์ล้วนๆ นั่นคือ "พระ" ถ้าเราไม่เห็นเข้าไปในภายในของเรา เราก็ไม่รู้จักระทั่งชีวิตนี้ ถ้าเราเห็นภายในแล้วเราเจอนักบวช เรารู้ว่านักบวชองค์นั้นเป็นพระ ดังนั้นเราจะรู้จักพระได้โดยการสัมผัสความรู้สึกที่บริสุทธิ์ล้วนๆ ความรู้สึกที่ไม่บริสุทธิ์เจือไปด้วยโมหะ มีความเกลียด มีความกลัว ลังเล เรียกว่ามีความไม่รู้ ผู้ไม่รู้จะเป็นพระไม่ได้ เป็นได้เพียงนักบวช แต่ว่าผู้รู้ก็ไม่ใช่สิ่งภายนอกตัวเรา เราจะรู้จักพระแท้ๆ ได้ก็ต้องสัมผัสพระในตัวเรา ภาวะที่รู้สึกล้วนๆ ถ้วนๆ ความรู้สึกบริสุทธิ์นั่นคือ "พระ" เมื่อใดที่เราเคลื่อนมือถ้วนๆ อย่างนี้ เรากำลังเดินทางไปสัมผัสกับองค์พระในภายใน

ดังนั้น...ขยันให้มากเพื่อให้เข้าถึงความเป็นพระ แท้ที่จริงทุกคนคือพระ...แต่เรามิใช่นักบวช

การเจริญสติภาวนาเช่นนี้ ไม่สามารถจะคำนวณเป็นราคาค่างวด เป็นบาทเป็นสตางค์ขึ้นมาได้ มันเหมือนกับเม็ดทรายซึ่งไร้ค่า แผ่นดินไม่มีราคา แต่มนุษย์มาจับจองมีโฉนด มีแล้วขายกัน

ตัวชีวิตก็เหมือนกัน ที่จริงมันไม่มีราคาอะไรเลย เราจะจ่ายเป็นบาทเป็นสตางค์ก็ไม่ได้ เรียกว่ามันหาค่าบ่มิได้ คือมันเกินการตีค่าเกินราคา จนกระทั่งไม่อาจเปรียบเทียบกับทองคำ หรือเงินบาทหรือสตางค์หรือดอลล่าร์ได้ ดังนั้นเวลาเราภาวนาอย่างนี้ มันหาค่าไม่ได้เลย

ช่วงที่เหลือหาที่สงบที่เหมาะสม ร่มไม่ร้อนนักแล้วเดินไปมา เดินจงกรม เมื่อมันเผลอ เข้าไปในความคิดจงรู้สึกตัว กลับไปที่ความรู้สึกตัว เคลื่อนไหวอยู่เดินไปเดินมา เมื่อยหรือเหนื่อยก็นั่งลง เคลื่อนมือ ขยันทำให้มาก

ขอให้ทุกคนตั้งหน้าตั้งตาทำในสิ่งที่ต้องทำนี้.


(ที่มา : “ดุจเข็มสละด้าย” ใน ช่วงชีวิต-ช่วงภาวนา โดย เขมานันทะ, หน้า ๔๑-๕๗)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น