เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ
ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "
หน้าเว็บ
เกี่ยวกับฉัน
- Nitinandho
- อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย
ผู้ติดตาม
วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
วิธีลดอัตตา (ต่อ) ลำดับแห่งปฏิจจสมุปบาท (๑)
วิธีลดอัตตา (ต่อ)
ลำดับแห่งปฏิจจสมุปบาท (๑)
ดังนั้น การปฏิบัติที่มีหลักแต่เพียงว่าไม่ให้ "ตัวตน-ของตน" เกิดขึ้นเท่านั้น ก็เป็นการปฏิบัติในปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับตลอดสาย และเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างครบถ้วนรวมอยู่ในนั้นเสร็จ เพราะอำนาจของสัมมาทิฏฐิที่ทำให้ความรู้สึกว่าเป็น "ตัวตน-ของตน" เกิดขึ้นไม่ได้นั่นเอง ในขณะนั้นสัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ จึงเป็นไปเองอย่างสมบูรณ์และอย่างอัตโนมัติ และการปฏิบัติเพียงเท่าที่จะไม่เกิดความรู้สึกว่า "ตัวตน-ของตน" ขึ้นมาได้นี้แหละ คือการปฏิบัติทั้งสิ้นในพระพุทธศาสนา ซึ่งจะถือเป็น ศีลสมาธิปัญญา เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นปฏิจจสมุปบาทหรือเป็นอะไรๆ ก็ตาม ได้อย่างครบถ้วน และยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือในความดับไปแห่ง "ตัวตน-ของตน" นั้นเอง ย่อมมีความเป็นพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ หรือมรรคผลนิพพาน ซึ่งเป็นผลของการปฏิบัติรวมอยู่ในนั้นแล้วอย่างครบถ้วน
การปฏิบัติเพื่อความดับไปแห่ง "อัตตา" ในขณะที่เผชิญกับอารมณ์ มีรูปกระทบตาเป็นต้นนั้น โดยใจความสำคัญก็อาศัยหลักพุทธภาษิตที่ตรัสแก่พระพาหิยะว่า "ดูก่อนพาหิยะ! เมื่อใดเธอเห็นรูปแล้ว ก็ขอให้เป็นเพียงสักแต่ว่าได้เห็น ลิ้มรสแล้ว ก็สักแต่ว่าได้ลิ้ม ได้รับสัมผัสทางผิวกายแล้ว ก็สักแต่ว่าสัมผัสดังนี้แล้ว เมื่อนั้น เมื่อใด "เธอ" ไม่มี เมื่อนั้น "เธอ" ก็ไม่ปรากฏอยู่ในโลกนี้ ไม่ปรากฏอยู่ในโลกอื่น และไม่ปรากฏในระหว่างแห่งโลกทั้งสอง นั่นแหละคือที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ละ" ดังนี้ (อุ.ขุ. ๒๕/๘๓/๔๙)
จากพระพุทธภาษิตนี้ เราจะเห็นได้ว่าในขณะที่มีการกระทบกันกับอารมณ์นั้น มีวิธีปฏิบัติที่จะทำไม่ให้เกิดความรู้สึกว่ามี "ตัวตน" ที่นั่นก็เป็นที่สุดแห่งทุกข์ (คือนิพพาน) ใจความสำคัญของการปฏิบัตินั้นมีอยู่ตรงข้อที่ไม่ทำให้อารมณ์นั้นๆ มีอิทธิพลขึ้นมาในการที่จะครอบงำจิตใจของตน ให้การเห็นเป็นแต่สักว่าเห็น เป็นต้น ไม่ให้การเห็นนั้นปรุงจิตจนเกิดความรู้สึกรักหรือชัง เป็นสุขเวทนา หรือทุกขเวทนาขึ้นมานั่นเอง เรียกสั้นๆ ว่าไม่ให้ปรุงเป็นเวทนาขึ้นมา ให้เป็นสักแต่ว่าการเห็นเฉยๆ แล้วก็หยุดไป กลายเป็นรูปเป็นสติปัญญาเกิดขึ้นมาแทน คือว่าจะจัดการกับสิ่งนี้อย่างไร ก็จัดการไปด้วยสติปัญญา ไม่มีความรู้สึกที่เป็นกิเลสตัณหาหรืออุปาทานว่ามี "ตัวตน" หรือถ้าไม่ควรจัดการแต่ประการใดเลยก็เลิกกัน
การปฏิบัติอย่างที่เรียกว่า "เห็นสักแต่ว่าเห็น" นั้นคือเมื่อได้เห็นสิ่งใดและรู้ว่ามันเป็นอะไรแล้ว ก็ให้มีความรู้สึกหรือความเข้าใจที่ถูกต้องว่า มันเป็นสักแต่ว่ารูปหรือภพ เช่น เห็นดอกกุหลาบสวยงาม หรือเห็นมนุษย์เพศตรงข้ามที่น่ารักหรือของน่าเกลียดเช่นอุจจาระปัสสาวะ ให้นึกว่ามันเป็นเพียงสักว่ารูปหรือภาพที่ได้เห็น ไม่ปล่อยให้จิตไปถือเอา "ความหมาย" ของมันว่าดีเลวอย่างนั้นอย่างนี้ ชนิดที่ก่อให้เกิดความอยากหรือความเกลียดหรือความยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้ อย่างนั้นขึ้นมา (คำอธิบายละเอียดมีอยู่ในหนังสือวิธีระงับดับทุกข์) แล้วก็เลิกกัน จะกระทำอย่างนี้ได้ด้วยการฝึกให้เห็นว่า สุขเวทนาทุกขเวทนานั้นเป็นมายาหลอกลวงอยู่เป็นประจำ (แต่สำหรับทุกขเวทนานั้น เป็นผลอีกอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้น เนื่องจากความยึดมั่นถือมั่นในสุขเวทนาที่ไม่ได้อย่างใจนึก ถ้าความยึดมั่นถือมั่นในสุขเวทนาไม่มีแล้ว ทางที่จะเกิดทุกขเวทนาก็ย่อมไม่มี)
เมื่อสุขเวทนาหมด ความหมายไปแล้ว ก็ไม่ยั่วให้เกิดความยึดถืออารมณ์ ในเมื่อได้สัมผัสสิ่งที่ชอบใจ อันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสตัณหา นั่นแหละคือการเห็นที่สักแต่ว่าเห็น ส่วนการได้ยินที่สักแต่ว่าได้ยิน การได้กลิ่นที่สักแต่ว่าได้ดม ฯลฯ ก็มีหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน ซึ่งมีใจความสำคัญอยู่ตรงที่เขาไม่ตกเป็นทาสของสุขเวทนา นี้เรียกว่าไม่มี "ตัวตน" อยู่ในโลกนี้หรือในโลกไหนกลายเป็นความว่างจาก "ตัวตน" เป็นนิพพาน เพราะไม่ก่อเป็น ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิด ขึ้นมาได้นั่นเอง
เมื่อสัมผัส (การกระทบ) เป็นเพียงสักแต่การกระทบเฉยๆ แล้ว อายตนะ (คือตาและรูปที่เป็นที่ตั้งแห่งกระทบนั้น) มันจะไม่มีค่าหรือไม่มีความหมายอะไร นั่นแหละคือความดับไปของอายตนะ เมื่ออายตนะมีลักษณะเป็นหมันไปเช่นนี้แล้ว นามรูปอันเป็นที่ตั้งของอายตนะนั้นก็เป็นหมันไปด้วย เมื่อนามรูปเป็นหมัน วิญญาณธาตุที่ปรุงแต่งนามรูปในกรณีนั้นก็เป็นหมัน เมื่อวิญญาณธาตุเป็นหมัน สังขารที่ปรุงแต่งให้เกิดวิญญาณธาตุนั้นก็พลอยเป็นหมัน เมื่อสังขารเป็นหมัน อวิชชาซึ่งปรุงแต่งสังขารในกรณีนั้นก็เป็นหมัน คือมีค่าเท่ากับไม่มีหรือดับอยู่ ทั้งหมดนี้ก็เพราะอาศัยเหตุนิดเดียวที่มีอยู่ตรงกลางของปฏิจจสมุปบาท กล่าวคือ ผัสสะที่จะต้องทำให้เป็นหมันไปเสีย เมื่อผัสสะเป็นหมัน จึงไม่เกิดเวทนา ปฏิจจสมุปบาททั้งสายก็เป็นหมัน นี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับทุกข์
ฉะนั้น ขอให้มองเห็นจุดสำคัญเร้นลับที่สุดตรงข้อที่ว่า ในขณะแห่งการสัมผัสนั้น มันจะมีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ ถ้าผัสสะใดมีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ผัสสะนั้นก็จะเป็นที่ตั้งแห่งปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์จนตลอดสายทีเดียว ในทางตรงกันข้ามถ้าผัสสะใดถูกควบคุมไว้ดีจนอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้ ผัสสะนั้น ก็เป็นที่ตั้งแห่งปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับทุกข์ จนตลอดสายอย่างเดียวกัน ฉะนั้น ผัสสะของคนพาลคนโง่คนหลง ก็คือผัสสะที่มีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ผัสสะของพระอริยเจ้าหรือของคนมีปัญญา ก็เป็นผัสสะที่ไม่มีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มันจึงเป็นเพียงสักว่าผัสสะ (คือการกระทบ) ไม่มี "ตัวตน" หรือ "ของตน" เกิดขึ้นมาได้ จึงเป็นการดับแห่งทุกข์อยู่ตลอดไป ถ้าผิดไปจากนี้แล้ว ก็เป็นปฏิจจสมุปบาทที่พูดเพ้อไปตามตัวหนังสือ หรือตามคารมปากที่แย่งกันอธิบาย ซึ่งใช้ประโยชน์แก่การปฏิบัติเพื่อดับทุกข์สักนิดก็ไม่ได้
การปฏิบัติธรรม ทุกอย่าง ก็เพื่อดับตัณหาด้วยกันทั้งนั้น แต่การดับตัณหานั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ ดับจริง กับดับไม่จริง สำหรับการดับที่ไม่จริงนั้น เช่นที่มันดับไปเองตามธรรมดา คือว่า เมื่อตัณหาได้เสพย์เหยื่อนั้นๆ ไปแล้วมันก็ดับไปเอง เพื่อไปหาเหยื่ออันใหม่ หรืออารมณ์อันใหม่ ที่สูงขึ้นมาหน่อยก็คือดับเพราะความประจวบเหมาะบังเอิญ เช่นได้อารมณ์แห่งความสลดสังเวช เช่นเห็นซากศพหรือสิ่งปฏิกูล มันจึงดับไปเพราะความประจวบเหมาะเช่นนั้น ที่สูงขึ้นมาอีกก็คือ การพิจารณาไปตามความรู้สึกผิดชอบชั่วดีหรือตามอำนาจของเหตุผล ก็ทำให้ตัณหาดับไปได้เหมือนกัน แต่หาได้เป็นการดับที่แท้จริงไม่ เป็นเพียงการดับชั่วคราวและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปทีก่อนเท่านั้นเอง นี่แหละคือเหตุที่ว่า ทำไมเมื่อศึกษาเรื่องอริยสัจกันมาตั้งนมนาน หรือทำวิปัสสนากันมานาน จนถึงเป็นชั้นอาจารย์แล้วก็ยังไม่ดับตัณหาลงได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าเป็นการดับอย่างชั่วคราว การดับตัณหาที่แท้จริงนั้น เรียกโดยบาลีว่า "อเสสวิราคนิโรธ" แปลว่า ดับไม่มีส่วนเหลือด้วยอำนาจของวิราคะ (คือการจางคลายของตัณหา) ซึ่งเกิดสืบต่อมาจากนิพพิทา (ความเบื่อหน่าย) เพราะเห็นแจ้งตามที่เป็นจริงว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็น "ตัวตน" หรือ "ของตน" การดับตัณหาด้วยอุบายและด้วยอาการอย่างหลังนี้เท่านั้น จึงเป็นการดับที่แท้จริง นอกไปจากนั้น ก็เป็นการดับเพียงชั่วคราว หรือเป็นการเล่นตลก เช่นที่คนบางคนบริกรรม หรือภาวนาว่าดับตัณหาๆ หรือบางคนก็ตั้งใจเอาเองว่าจะดับตัณหา โดยแกล้งทำเป็นเฉยต่อสิ่งทั้งปวงด้วยการบังคับข่มขี่ แต่แล้วก็ไปไม่รอด เพราะมีกำลังไม่พอที่จะดับตัณหา อันมีกำลังมากมายนั้นได้ ที่ยิ่งไปกว่านั้นอีก ก็คือพวกคดโกงหลอกลวงผู้อื่นด้วยมายาต่างๆ ว่าตนเป็นผู้ดับตัณหาแล้ว หลอกลวงตนเองโดยตรงก็มี คือการคิดเอาดื้อๆ ว่าเราไม่ยินดียินร้าย ไม่มีผู้หญิงผู้ชาย ดังนี้เป็นต้น แต่แล้วก็ยังมีการกระทำชนิดที่เป็นไปตามอำนาจของตัณหาเต็มไปหมด เป็นการหลอกลวงตัวเองพร้อมกับหลอกลวงคนอื่นไปในตัว ซึ่งล้วนแต่เป็นการดับตัณหาที่คดโกง ที่โง่เขลา ที่ไม่แท้ถาวรทั้งนั้น ดังนั้นจึงเหลืออยู่แต่เพียงประการเดียวเท่านั้น คือการดับชนิดที่เรียกว่า "อเสสวิราคนิโรธ" อันมีมูลมาจากความเห็นแจ้ง ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นอย่างแท้จริงเท่านั้น
สำหรับความรู้หรือความ เห็นแจ้งว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนี้ก็เหมือนกัน ต้องพึงเข้าใจว่ามันมีอยู่ ๓ ระดับ คือรู้ตามที่ได้ยินได้ฟัง (นี้เรียกว่าความรู้) รู้เพราะไปคิดค้นตามอำนาจของเหตุผล (นี้เรียกว่าความเข้าใจ) ส่วนความรู้ที่เกิดมา หลังจากได้ผ่านสิ่งเหล่านั้นๆ ไปแล้วด้วยการปฏิบัติอย่างครบถ้วน จนมีความรู้ซึบซาบในทุกสิ่งทุกอย่างทุกขั้นทุกตอน กระทั่งถึงผลที่เกิดขึ้นมาจากการปฏิบัตินั้นๆ (นี้เรียกว่าความรู้แจ้งแทงตลอด) จึงจะทำให้เกิดนิพพิทา (ความเบื่อหน่าย) และส่งเสริมให้เกิดวิราคะ (การจางคลายของกิเลส) ที่สามารถเปลี่ยนความรู้สึกภายในจิตใจได้เอง
ทีนี้ ก็มาถึงประโยคที่ว่า "สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น" (สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย) คำกล่าวประโยคนี้ ควรจะถือว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา เพราะมีเรื่องราวกล่าวอยู่ในบาลีว่า เมื่อมีผู้มาทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงประมวลคำสอนทั้งสิ้น ให้เหลือเพียงประโยคสั้นๆ เพียงประโยคเดียว พระองค์ก็ตรัสประโยคนี้ และทรงยืนยันว่า นี่แหละคือใจความของคำสอนทั้งหมด ถ้าได้ปฏิบัติในข้อนี้ ก็คือได้ปฏิบัติทั้งหมดของพระองค์ ทรงยืนยันว่า ถ้าได้ฟังคำนี้ ก็คือได้ฟังทั้งหมด ถ้าได้รับผลจากการปฏิบัติข้อนี้ ก็คือได้รับผลจากการปฏิบัติทั้งหมด ฉะนั้น เราจะมองเห็นได้ทันทีว่า การศึกษาธรรมะทั้งหมด ก็คือเรียนเพื่อไม่ให้ยึดมั่นในสิ่งใดๆ นอกนั้นก็เป็นการเรียนที่เฟ้อ
เมื่อมาถึงการ ปฏิบัติธรรม ก็ต้องปฏิบัติเพื่อละความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง นอกนั้นเป็นการปฏิบัติเฟ้อ เพราะการงมงายหรือความคดโกงอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ เช่นจะรักษาศีลก็จะต้องให้มีผลเป็นไปเพื่อบรรเทาความยึดมั่นถือมั่น "ที่กำลังมีอยู่อย่างมากมายนั้นเสีย (การฆ่าเขา การลักขโมยของเขา การประพฤติผิดในกาม ฯลฯ นี้ล้วนมีมูลมาจากยึดมั่นถือมั่นทั้งสิ้น) ถ้าเจริญสมาธิ ก็ต้องเป็นไปเพื่อหยุดความยึดมั่นถือมั่น ถ้าผิดไปจากนี้ก็ไม่เป็นสมาธิ ที่ตรงตามจุดหมายของพุทธศาสนา ถ้าเป็นการเจริญปัญญา หรือวิปัสสนา ก็ต้องเป็นการขุดรากเง่าของความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาทำลายเสีย ไม่ให้กลับงอกงามขึ้นมาอีกต่อไป จึงจะเป็นปัญญาที่ถูกต้องตามหลักของพุทธศาสนา ผิดไปจากนี้ก็เป็นปัญญาหลอกลวงหรือปัญญางมงาย
ส่วนผลของการปฏิบัติธรรมที่เรียกว่า มรรคผลนิพพาน นั่นก็คือตัวสภาพที่อยู่เหนือความยึดมั่นถือมั่น หรือเป็นผลที่มาจากการทำลายความยึดมั่นได้โดยสิ้นเชิงแล้ว (หรือว่าเหลืออยู่เพียงบางส่วนในกรณีของพระอริยบุคคลชั้นต้นๆ) ดังนั้นถ้าถูกถามว่า จะดับตัณหาหรืออุปาทานด้วยอะไร ก็ตอบอย่างไม่ผิดว่า จะดับมันด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น เมื่อเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ปานนี้แล้ว เราก็ควรจะได้ศึกษากันโดยละเอียดว่า เราจะนำมันมาใช้ดับตัณหาได้อย่างไร และเมื่อไร
๑. ในขณะที่ไม่มีอารมณ์ใดๆ รบกวนใจ เราก็ศึกษาพินิจพิจารณาให้รู้ว่า สิ่งทั้งปวงนั้นคืออะไร และทำไมสิ่งทั้งปวงจึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ให้เห็นชัดแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นไปตามลำดับ จนถึงขั้นที่เกิดความรู้สึกสลดสังเวช ต่อความที่สิ่งทั้งปวงเป็นมายา ไม่น่ายึดมั่นถือมั่นจริงๆ และเกิดความสังเวชในความโง่หลงของตัวเอง ที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น ให้ทำอย่างนี้อยู่เป็นประจำจนมีทั้งความรู้ ความเข้าใจ และความรู้แจ้งแทงตลอด ในความจริงข้อนี้อยู่เสมอ มีความจางคลายของโลภะ โทสะ โมหะ เพราะอำนาจความสลดสังเวชนั้นๆ กระทำอย่างนี้เรื่อยๆ ไป จนเคยชินเป็นนิสัย ถึงขนาดที่ว่า มีความวางเฉย ต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงได้เอง
วิธีที่ ๒ ได้แก่วิธีที่จะต้องปฏิบัติเมื่อได้รับอารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ โดยการดึงเอาความรู้ที่ได้จากวิธีปฏิบัติที่ ๑ นั้นมาใช้ในขณะที่กระทบอารมณ์ให้ทันท่วงที ด้วยอำนาจของสติสัมปชัญญะ จนเกิดความเห็นแจ้งว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นจริงๆ แล้วก็จะเกิดความสลดสังเวชขึ้นมาต่อการที่ตนจะยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์นั้นๆ และเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่าย และความจางคลายของกิเลสตามสมควรแก่กรณี
สำหรับผู้มีปัญญาโดยกำเนิด แต่ปัญญานั้นยังไม่ถึงขนาด ถ้าจะรอให้ถึงขนาดก็ยังจะต้องใช้เวลาอีกนาน ดังนั้นควรผนวกวิธีทำกรรมฐาน คือการฝึกจิตให้เหมาะสมแก่ปัญญา โดยมีการฝึกเพื่อให้จิตตั้งมั่นมีอารมณ์เดียวที่บริสุทธิ์ และพร้อมที่จะใช้พลังทางจิตนั้นได้อย่างว่องไวถึงที่สุด
ส่วนการเจริญปัญญานั้น หมายถึงการทำให้รู้อย่างแจ่มแจ้งแทงตลอด ในความจริงของสังขารทั้งปวง ถึงขนาดที่ทำไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าเป็น "ตัวเรา-ของเรา" ขึ้นมาได้โดยเด็ดขาด จนเกิดความสลดสังเวช เกิดความเบื่อหน่ายต่อการยึดมั่นถือมั่นสิ่งทั้งหลายว่าเป็น "ตัวตน-ของตน" มีความจางคลายออกของกิเลสด้วยอำนาจแห่งความรู้และความเบื่อหน่ายนั้นๆ ถึงขั้นที่ไม่อาจจะหลงกลับมายึดมั่นถือมั่นได้อีกต่อไป จนหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง เพราะอำนาจของความรู้ที่เพิ่มมากขึ้นทุกที แก่กล้าและเฉียบขาดยิ่งขึ้นทุกที การทำให้รู้นั้นเรียกว่าการเจริญปัญญา ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ตัวการที่ปฏิบัติที่เป็นประธานหรือเป็นหลักนั้น มีอยู่ ๓ อย่าง คือ ศีลสมาธิปัญญา ส่วนข้อปฏิบัติที่มีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นอีกมากมายนั้น ก็รวมลงได้ในข้อปฏิบัติ ๓ ชื่อนี้ทั้งนั้น
ส่วนการฝึกจิตให้เป็นสมาธินั้น ไม่มีอะไรดีไปกว่าลมหายใจเข้าออก เพราะถ้าเราต้องการที่จะให้มีความรู้ความเข้าใจและความเห็นแจ่มแจ้งแทงตลอด ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวตนหรือของตน ให้มาประทับใจอยู่ตลอดเวลาอย่างแน่นแฟ้นเฉียบขาด พอที่จะดับ หรือจะทำลายกิเลสตัณหาอุปาทาน หรือแม้อย่างน้อยที่สุด ก็ป้องกันมันไม่ให้เกิดขึ้นมาได้แล้ว เราจะต้องหัดกำหนดสิ่งที่เราจะต้องการกำหนดให้ได้อยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออก แต่ต้องเลือกเอาสิ่งที่ง่ายๆ มาทำให้สำเร็จก่อน สิ่งที่เหมาะสมในระยะแรกที่สุดนี้ก็คือ ตัวลมหายใจของเราเอง เพราะมันเนื่องอยู่ในกายของเราและมันก็หายใจเป็นจังหวะอยู่แล้ว ในระยะแรกนี้ เพียงมุ่งอย่างเดียวว่า จะกำหนดมันให้ได้ทุกครั้งที่มันหายใจเข้าหายใจออก ไม่ให้สติผละหนีออกไปจากลมหายใจนั้นได้นานตามที่เราต้องการ นี้เรียกว่า เราประสบความสำเร็จ ในขั้นที่จะฝึกจิตของเรา ให้กำหนดอยู่ที่อะไรตามที่เราต้องการให้กำหนด (รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ พึงศึกษาจากบทที่ ๑๐ เรื่องการฝึกจิต ในหนังสือ "วิธีระงับดับทุกข์")
การฝึกจิตใน ลักษณะเช่นนั้น เมื่อทำได้ถูกวิธีแล้ว จิตใจก็จะสงบลงเป็นความสงบที่เป็นสุข ที่ไม่เคยรู้รสมาแต่ก่อนชนิดที่ใครไปลิ้มรสเข้า ก็จะพอใจหลงใหลด้วยกันทั้งนั้น จนกล่าวได้ว่า ไม่มีสุขเวทนาชนิดไหนจะเสมอเหมือน แม้ที่สุดแต่สุขเวทนาที่เกิดมาจากกามารมณ์ ดังนั้น ก็เกิดมีหลักขึ้นมาว่าถ้าสามารถเอาชนะสุขเวทนาชนิดที่สูงสุดได้จริงๆ สุขเวทนาที่ต่ำๆ เตี้ยๆ รองๆ ลงมา ก็จะหมดปัญหาไปเอง แต่ถึงกระนั้นก็ต้องพิจารณาสุขเวทนาชั้นยอดเยี่ยมนี้ให้เห็นเป็นอนิจจังทุก ขัง อนัตตา เห็นเป็นสักว่ามายา ไม่ควรแก่การยึดถือโดยประการทั้งปวง
ครั้นเสร็จการปฏิบัติในขั้นควบคุมจิตแล้ว ก็เลื่อนขึ้นไปฝึกกำหนดสัจจธรรมหรือความจริงที่ควรรู้อยู่ทุกครั้งที่หายใจ เข้า-ออก เช่นการเพ่งให้เห็นความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวงอยู่มีขึ้นได้เพราะธรรมะอะไร หรือดูที่ธรรมะอันเป็นเครื่องมือทำความจางคลายแก่กิเลส ตามที่ปรากฏชัดแก่ตนมาแล้วอย่างไร แล้วพิจารณาดูความดับไปแห่งกิเลส และความทุกข์ (ซึ่งเราเรียกกันว่า ความดับไปแห่ง "ตัวตน-ของตน") ว่าเป็นสิ่งที่มีได้ด้วยธรรมะอะไร และโดยวิธีใด ในสภาวะหรือปรากฏการณ์เช่นไร และในที่สุดก็พิจารณาถึงอาการที่จิตปล่อยวางสิ่งทั้งปวงว่ามีภาวะเช่นไร เป็นไปได้เพราะอำนาจแห่งธรรมอะไร ทั้งหมดนี้ ล้วนแต่พิจารณาให้เห็นชัดอยู่ตลอดเวลาที่หายใจเข้า-ออก
นี้เราจะมองเห็นได้ว่า การฝึกให้มีสติสัมปชัญญะหรือความรู้แจ้งนั้น ย่อมเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาไปในตัวตลอดถึงเป็นสัทธา เป็นพละ เป็นความเพียร ฯลฯ รวมอยู่ในการฝึกสติเพียงสั้นๆ เท่านั้นเอง
ทีนี้ ก็มาถึงสิ่งที่เป็นอารมณ์สำหรับใช้ในการฝึก มีอยู่ ๔ อย่างคือ ลมหายใจ (กาย) เวทนา จิต และ ธรรม (ลมหายใจนั้นเรียกโดยบาลึว่า "กาย" เพราะว่าเป็นส่วนสำคัญของกายเนื่องอยู่กับกาย (คนส่วนมากมักแปลผิดว่าเป็นร่างกาย) ดังนั้นจึงเรียกการฝึกกำหนดลมหายใจว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดเวทนา กระทั่งถึงการฝึกควบคุมไม่ให้เวทนานั้นปรุงแต่งจิตทั้งหมดนั้นเรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดจิตและการฝึกจิตโดยวิธีดังกล่าวแล้ว เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดสัจธรรมหรือกฏเกณฑ์ต่างๆ เหล่านั้น เรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดหรือพิจารณาทุกขั้นทุกตอน ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นการกำหนดในขณะที่มีการหายใจเข้า-ออก อยู่ตลอดเวลาติดต่อกัน ไม่มีระยะว่างเว้น และเพราะเหตุที่เป็นการกำหนดอยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออกนั่นเอง การปฏิบัติทั้ง ๔ ประการนี้จึงได้นามว่า อานาปานสติ
สำหรับชาวบ้านที่ ไม่มีเวลาว่างพอจะมาทำกรรมฐานแล้ว จะทำอย่างไร ? ข้อนี้ถ้ากล่าวอย่างสั้นๆ และตรงๆ ก็คือว่าต้องอาศัยวิธีปฏิบัติลัดดังบรรยายมาแล้วทั้งหมด อันจะนำไปสู่ผลอย่างเดียวกัน คือการควบคุม "ตัวเรา-ของเรา" เรื่อยไปจนกว่าจะดับมันได้โดยเด็ดขาดในที่สุด โดยการถือหลักว่าจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น หรือว่าไม่มีอะไรที่น่าเข้าไปเอา หรือเข้าไปเป็นด้วยความยึดมั่นถือมั่น ข้อนี้หมายความว่า แม้เราจะมีอะไร หรือเป็นอะไรอยู่ ก็ให้มีหรือเป็นแต่สักว่าตามโลกสมมติหรือตามกฏหมาย อย่าไปมีหรือไปเอาหรือไปเป็นเข้าด้วยชีวิตจิตใจ หรือด้วยความยึดมั่นถือมั่น คอยควบคุมตัวเองให้มีความระลึกหรือมีสติสัมปชัญญะเช่นนี้อยู่เสมอ นี้เรียกว่า การเป็นอยู่ที่ถูกต้องอยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออก
การเป็นอยู่อย่างถูกต้องอยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออกชนิดนี้ มันเป็นการตัดอาหารของกิเลส ทำให้กิเลสไม่ได้รับอาหารเลยทั้งที่เราก็ไม่มีความยุ่งยากลำบากแต่ประการใด ดุจ "เลี้ยงแมวเท่านั้น หนูก็หมดไปเอง" โดยที่เราไม่ต้องยุ่งยากอะไรกับหนู จึงถือว่าเป็นวิธีลัดและแน่นอนที่สุด ในการที่จะกำจัดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา แล้วคนแก่ที่ไม่รู้หนังสือก็ปฏิบัติได้ เพราะเป็นตัวการปฏิบัติที่แท้จริง มีผลประเสริฐกว่าการปฏิบัติของพวกมหาบาเรียญ ที่ความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด ซึ่งมีอยู่ทั่วๆ ไปมากมาย
โปรดอ่านต่อในตอนต่อไป..........
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น