เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ
ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "
หน้าเว็บ
เกี่ยวกับฉัน
- Nitinandho
- อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย
ผู้ติดตาม
วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553
๒๐. ประวัติ พระมหาปันถกเถระ
๒๐. ประวัติ พระมหาปันถกเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)
๑. สถานเดิม
พระมหาปันถกเถระ นามเดิม ปันถกะ เพราะเกิดในระหว่างทาง ต่อมามีน้องชายจึงเติมคำว่า มหาเข้ามา เป็นมหาปันถกะ
บิดาเป็นคนวรรณะศูทร ไม่ปรากฏนาม
มารดาเป็นคนวรรณะแพศย์ เป็นลูกสาวเศรษฐี ไม่ปรากฏนามเช่นกัน
ตระกูลตาและยายเป็นชาวเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ
๒. ชีวิตก่อนบวช
พระมหาปันถกเถระ เพราะบิดาของท่านเป็นทาส มารดาเป็นธิดาของเศรษฐี จึงอยู่ในฐานะจัณฑาล เพราะการแบ่งชั้นวรรณะของคนอินเดียในสมัยนั้น ครั้นรู้เดียงสาจึงรบเร้ามารดาให้พาไปเยี่ยมตระกูลของคุณตา มารดาจึงส่งไปให้คุณตาและคุณยาย จึงได้รับการเลี้ยงดูจนเจริญเติบโตในบ้านของธนเศรษฐี
๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
คุณตาของเด็กชายปันถกะนั้นไปยังสำนักของพระพุทธเจ้าเป็นประจำ และได้พาเขาไปด้วย เขาเกิดศรัทธาในพระพุทธเจ้าพร้อมกับการเห็นครั้งแรก ต่อมามีความประสงค์จะบวชในพระพุทธศาสนา จึงเรียนให้คุณตาทราบ คุณตาจึงพาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบพระพุทธองค์จึงสั่งให้ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งบรรพชาให้แก่เด็กคนนั้น
๔. การบรรลุธรรม
สามเณรปันถกะนั้น เรียนพุทธพจน์ได้มาก ครั้นอายุครบจึงได้อุปสมบท ได้ทำการพิจารณาอย่างแยบคายจนได้อรูปฌาน ๔ เป็นพิเศษ ออกจากอรูปฌานนั้นแล้วเจริญวิปัสสนาได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นผู้เลิศแห่งภิกษุทั้งหลาย ผู้ฉลาดในการพลิกปัญญา คือ เปลี่ยนอรูปฌานจิตให้เป็นวิปัสสนา
๕. งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระมหาปันถกเถระครั้นบรรลุพระอรหัตผลแล้ว ก็คงช่วยพระศาสดาประกาศ พระพุทธศาสนาเหมือนพระอสีติมหาสาวกทั้งหลาย แต่ตำนานไม่ได้กล่าวว่า ท่านได้ใครมาเป็นศิษย์บ้าง
อนึ่ง หลังจากอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ท่านคิดว่าสมควรจะรับการธุระรับใช้สงฆ์ จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์กราบทูลรับอาสาทำหน้าที่เป็นพระภัตตุทเทศก์จัดพระไปในกิจนิมนต์ พระทศพลทรงอนุมัติตำแหน่งนั้นแก่ท่าน และท่านได้ทำงานสำเร็จเรียบร้อยด้วยดี
๖. เอตทัคคะ
พระมหาปันถกเถระ ก่อนสำเร็จพระอรหันต์ ท่านได้อรูปฌานซึ่งเป็นฌานที่ไม่มีรูปมีแต่นามคือสัญญาที่ละเอียดที่สุด ออกจากอรูปฌานนั้นแล้ว เจริญวิปัสสนามีอรูปฌานเป็นอารมณ์จนได้สำเร็จพระอรหัตผล วิธีนี้เป็นวิธีที่ยาก เพราะฉะนั้นพระศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในการพลิกปัญญา
๗. บุญญาธิการ
แม้พระมหาปันถกเถระนี้ ก็ได้สร้างสมบุญกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานานแสนนาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในการเปลี่ยนสัญญา (จากอรูปฌานให้สำเร็จวิปัสสนาญาณ) จึงปรารถนาตำแหน่งนั้น แล้วได้ทำกุศลอันอุดหนุนเกื้อกูลความปรารถนานั้นมาอีก ๑ แสนกัปป์ ในที่สุดจึงได้บรรลุผลนั้นตามความปรารถนา ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนี้
๘. ธรรมวาทะ
เมื่อข้าพเจ้าเห็นพระศาสดาครั้งแรก เพราะได้เห็นบุคคลผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลกนั้น ข้าพเจ้าเกิดความสังเวชใจ คือเกิดญาณพร้อมทั้งโอตตัปปะว่า ข้าพเจ้าไม่ได้เฝ้าพระศาสดา ไม่ได้ฟังธรรมตลอดเวลานานถึงเพียงนี้ (น่าเสียดายจริง ๆ) ผู้ที่พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว แต่ปล่อยโอกาสนั้นให้ผ่านไป โดยไม่สนใจโอวาทของพระองค์ ผู้นั้นเป็นคนไม่มีบุญ เปรียบเหมือนคนตบตีหรือกระทืบสิริที่เข้ามาหาตนถึงบนที่นอน แล้วขับไล่ไสส่งออกไป
๗. นิพพาน
พระมหาปันถกเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตผลทำประโยชน์ตนให้บริบูรณ์แล้ว ก็ได้ช่วย พระศาสดาประกาศพระศาสนา รับการธุระของสงฆ์ เมื่อถึงอายุขัยก็ได้นิพพานจากโลกไปเป็นที่น่าสลดใจสำหรับบัณฑิตชน
หนังสืออ้างอิง.-
-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น