เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553

๒๒. ประวัติ พระโสณกุฏิกัณณเถระ


๒๒. ประวัติ พระโสณกุฏิกัณณเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

๑. สถานะเดิม

พระโสณกุฏิกัณณเถระ นามเดิม โสณะ แต่เพราะเขาประดับเครื่องประดับหูมีราคาถึงหนึ่งโกฏิ จึงมีคำต่อท้ายว่า กุฏิกัณณะ
บิดาไม่ปรากฏนาม
มารดาเป็นอุบาสิกาชื่อ กาฬี เป็นพระโสดาบัน ผู้ถวายความอุปถัมภ์บำรุงพระมหากัจจายนเถระ
เกิดในตระกูลคหบดีในเมืองกุรุรฆระ แคว้นอวันตี เป็นคนวรรณะแพศย์

๒. ชีวิตก่อนบวช

เนื่องจากตระกูลของท่านประกอบอาชีพค้าขาย ท่านจึงประกอบอาชีพค้าขาย ซึ่งเป็นอาชีพเดิมของตระกูล นำสินค้าบรรทุกเกวียนไปขายในเมืองอุชเชนีเป็นประจำ เป็นคนโสดไม่มีครอบครัว

๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา

เพราะมารดาของท่านเป็นผู้อุปัฏฐากพระมหากัจจายนะ เวลาที่พระเถระมาจำพรรษาที่ภูเขาปวัตตะ จึงได้นำเด็กชายโสณะไปวัดด้วย จึงทำให้มีความรู้จักและคุ้นเคยกับพระเถระมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ต่อมาครั้นเจริญวัยมีศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะบวชในพระพุทธศาสนา จึงขอบรรพชาอุปสมบทกับพระเถระ ๆ อธิบายให้ฟังว่า การบวชนั้นมีความทุกข์ยากลำบากอย่างไรบ้าง แต่เขาก็ยืนยันจะบวชให้ได้ พระเถระจึงบวชให้ได้แต่แค่เป็นสามเณร เพราะในอวันตีชนบทหาพระครบองค์สงฆ์ ๑๐ องค์ไม่ได้ ท่านบวชเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี จึงได้พระครบ ๑๐ องค์ แล้วได้อุปสมบทเป็นภิกษุ

๔. การบรรลุธรรม

พระโสณกุฏิกัณณเถระครั้นบวชแล้ว ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนในสำนักพระอุปัชฌาย์พากเพียรบำเพ็ญภาวนาในไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์

๕. งานประกาศพระศาสนา

พระโสณกุฏิกัณณเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เพราะท่านไม่เห็นพระศาสดาปรารถนาจะไปเฝ้า จึงได้ลาพระอุปัชฌาย์ อันพระอุปัชฌาย์อนุญาตและฝากไปขอทูลผ่อนผันเรื่องพระวินัย ๕ ประการ สำหรับปัจจันตชนบท เช่นการอุปสมบทด้วยคณะปัญจกะ คือมีภิกษุประชุมกัน ๕ รูปก็บวชกุลบุตรได้ เป็นต้น ท่านได้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้อย่างดียิ่ง พระศาสดาทรงอนุญาตทุกประการ

เมื่อท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น ได้รับการต้อนรับอย่างดี โดยทรงอนุญาตให้พักในพระคันธกุฏีเดียวกับพระพุทธองค์ และทรงโปรดให้ท่านแสดงธรรมทำนองสรภัญญะ เมื่อจบการแสดงธรรมพระศาสดาทรงอนุโมทนาและชมเชยท่าน ท่านได้พักอยู่กับพระศาสดาพอสมควรแก่เวลา จึงทูลลากลับไป

ครั้นกลับไปถึงอวันตี โยมมารดาทราบว่าท่านแสดงธรรมให้พระพุทธเจ้าสดับได้ ปลื้มปีติใจ จึงนิมนต์ให้แสดงให้ฟังบ้าง ท่านก็ได้แสดงให้ฟังตามอาราธนา โยมมารดาเลื่อมใสตั้งใจฟังอย่างดี แต่ในขณะฟังธรรมอยู่นั้น พวกโจรเข้าไปปล้นทรัพย์ในบ้าน คนใช้มารายงาน ท่านก็ไม่เสียดายอะไร บอกว่าโจรต้องการอะไร ก็ขนเอาไปตามปรารถนาเถิด ส่วนเราจะฟังธรรมของพระลูกชาย พวกท่านอย่าทำอันตรายต่อการฟังธรรมเลย

พวกโจรทราบความนั้นจากคนใช้ รู้สึกสลดใจ ว่าเราได้ทำร้ายผู้มีคุณธรรมสูงส่งถึงเพียงนี้ เป็นความไม่ดีเลย จึงพากันไปยังวัด เมื่อการฟังธรรมสิ้นสุดลง ได้เข้าไปหาโยมมารดาของท่านขอขมาโทษแล้วขอบวชในสำนักของพระเถระ ๆ ก็บวชให้พวกเขาตามประสงค์

๖. เอตทัคคะ

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า พระโสณกุฏิกัณณเถระนี้มีความสามารถในการแสดงแบบสรภัญญะ ด้วยเสียงอันไพเราะต่อพระพักตร์ของพระศาสดา ดังนั้น ท่านจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ

๗. บุญญาธิการ

แม้พระโสณกุฏิกัณณเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานานแสนนาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดาได้เห็นพระพุทธองค์ทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในเอตทัคคะว่าเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ จึงปรารถนาฐานันดรเช่นนั้นบ้าง แล้วได้ก่อสร้างความดีที่สามารถสนับสนุนค้ำจุนความปรารถนานั้น อันพระปทุมุตตรศาสดาทรงพยากรณ์ว่าจะสำเร็จสมดังใจในสมัยแห่งพระพุทธโคดม จึงสร้างสมบารมีอีกหลายพุทธันดร จนถึงชาติสุดท้ายมาได้สมปรารถนาในสมัยพระศาสดาของเราทั้งหลาย สมดังพุทธพยากรณ์ทุกประการ

๘. ธรรมวาทะ

ข้าแต่พระมหากัจจายนะผู้เจริญ กระผมทราบดีถึงธรรมที่พระมหากัจจายนะผู้เป็นเจ้าแสดงแล้วว่า พรหมจรรย์นี้ อันบุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติให้บริบูรณ์บริสุทธิ์อย่างแท้จริง เหมือนกับสังข์ที่เขาขัดไว้อย่างดี ทำได้ไม่ง่ายเลย

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษในกามคุณทั้งหลายข้าพระองค์เห็นมานานแล้ว แต่ว่าฆราวาสมีกิจมาก มีสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำมาก บีบรัดตัวเหลือเกิน (จึงทำให้บวชช้าไป)

๙. นิพพาน

พระโสณกุฏิกัณณเถระนี้ก็เหมือนกับพระอสีติมหาสาวกทั้งหลาย เมื่ออยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ในที่สุดก็นิพพานดับเบญจขันธ์หยุดการหมุนเวียนแห่งกิเลสกรรมและวิบากอย่างสิ้นเชิง


หนังสืออ้างอิง.-

-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น