เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

สรุปหลักของการเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้อง


สรุปหลักของการเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้อง
mp 3 (for download) : สรุปหลักของการเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้อง



หลวงพ่อปราโมทย์: หลักของการเจริญสติปัฏฐาน การทำวิปัสสนากรรมฐานที่ถูกต้อง ถ้าสรุปง่ายๆ ภาษาไทยนะ มีสติรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏในปัจจุบันด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ยาวไปไหม ถ้ายาวไปนะ ก็ไปหาหนังสือ วิถีแห่งความรู้แจ้ง ๒ อ่านเอานะ เอาเวอร์ชั่น ๒ นะ เวอร์ชั่น ๑ ตอนเขียนความรู้ยังไม่แจ่มแจ้ง ไปอ่านตอนเวอร์ชั่น ๒ ให้มีสติรู้กายรู้ใจนะ รู้ตามความเป็นจริง รู้กายรู้ใจที่กำลังมีอยู่จริงๆ แล้วรู้มันตามที่มันเป็นจริงๆ รู้ด้วยใจที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

ถ้าฝึกอย่างนี้ได้แล้วก็ไม่นาน ไม่นานนะจะรู้แจ้งในความเป็นจริงของกายของใจ ความจริงของกายของใจคือมันเป็นไตรลักษณ์ มันไม่เที่ยง มันเป็นของเป็นทุกข์ คือมันถูกบีบคั้น ถูกเสียดแทงตลอดเวลา อย่างร่างกายนี่ถูกเวทนาบีบคั้นตลอดเวลา นั่งอยู่ก็เมื่อย เดินก็เมื่อย นอนก็เมื่อย ใช่ไหม ทำอะไรก็ถูกบีบคั้น หายใจออกก็ทุกข์ หายใจเข้าก็ทุกข์ กินเข้าไปก็ทุกข์ ไม่กินก็ทุกข์นะ ขับถ่ายมากไปก็ทุกข์ ไม่ขับถ่ายก็ทุกข์อีก นี่มันถูกบีบคั้น ร่างกาย จิตใจก็ถูกกิเลสตัณหาบีบคั้นตลอดเวลา มันมีแต่ความทุกข์ทั้งนั้นเลย ในกายในใจ นี่ความจริงของเขา

ความจริงของเขาอีกอย่างหนึ่งคือ เขาไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายเป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ ไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง ตอนนี้คนที่เรียนกับหลวงพ่อแล้วเห็นร่างกายไม่ใช่ตัวเราอย่างแท้จริงมีเยอะแยะเลย มีเยอะแยะนับไม่ถูกแล้วนะ ถ้าแจกปริญญาคงแจกไม่ทันแล้ว ที่นี้ยังเห็นว่าจิตเป็นเราอยู่ ถ้าวันใดเห็นว่าจิตไม่ใช่เราอย่างแท้จริง จะเป็นพระโสดาบันวันนั้นล่ะ

ทีนี้ วิธีการนะ บอกแล้ว ให้มีสติรู้กายรู้ใจที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง มีสติรู้กาย รู้ใจ ไม่ใช่มีสติไปรู้อย่างอื่น สติ พูดมาทุกวันที่เจอหน้ากันว่า สติ คือความระลึกได้ สติไม่ได้แปลว่ากำหนด สติเป็นความระลึกได้ หลวงพ่อจะไม่ลงรายละเอียดเรื่องสติมากนัก สติเป็นความระลึกได้ สติเกิดจากถิรสัญญา คือจิตจำสภาวะได้แม่น จิตจำสภาวะได้แม่นถ้าเราหัดดูบ่อยๆ หัดรู้สึกบ่อยๆ ใจโกรธไปก็คอยรู้สึก ใจโลภก็คอยรู้สึก ใจฟุ้งซ่าน ใจหดหู่ คอยรู้สึกไปเรื่อยนะ รู้สึกไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งสติจะเกิด ตรงที่สติเกิดนี่ เวลาใจลอยไปนะ สติก็ระลึกได้เองว่า ใจลอยไปแล้ว เวลาโกรธขึ้นมา สติก็ระลึกได้ว่า โกรธไปแล้ว มันเป็นเอง หรือสติมันระลึกรู้ กำลังอาบน้ำถูสบู่อยู่นะ ระลึกปั๊บลงไป ระลึกถึงตัวรูป แต่เห็นเป็นท่อนๆ นะ เห็นเป็นท่อนๆ เป็นแท่งๆ เป็นแข็งๆ อ่อนๆ เป็นเย็นเป็นร้อน ไม่มีตัวมีตนอะไร

สติต้องเกิดเองจากการที่จิตจำสภาวะได้แม่น สติที่เจริญวิปัสสนาต้องเป็นสติที่รู้กายรู้ใจตัวเอง ถ้าไปรู้ของอื่นทำวิปัสสนาไม่ได้จริง เพราะวิปัสสนาทำไปเพื่อถอดถอนความเห็นผิดว่า กายนี้ใจนี้คือตัวเรา วิปัสสนาทำไปเพื่อให้เห็นความจริงว่าตัวเราไม่มีหรอก มีแต่รูปธรรม มีแต่นามธรรม ที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง เกิดดับอยู่ตลอดเวลา ตัวตนที่แท้จริง ตัวตนที่ถาวรนั้นไม่มี วิปัสสนามุ่งมาตรงนี้ เพราะฉะนั้นวิปัสสนาต้องคอยรู้กายรู้ใจ อย่างบางคนไปเดินจงกรม เท้ากระทบพื้นนะ พื้นเย็นพื้นร้อน พื้นอ่อนพื้นแข็ง รู้หมดเลย รู้เรื่องพื้น ไม่มีใครเห็นพื้นเป็นตัวเราอยู่แล้ว มีใครเห็นพื้นเป็นตัวเรา ที่กำลังนั่งทับนี่ เรากำลังโดนนั่งทับ มีใครรู้สึกไหม มีแต่เราไปนั่งทับมันใช่ไหม

เรารู้สึกกายนี้ใจนี้คือตัวเรา เพราะฉะนั้นดูลงมาในกายในใจนี้ ตัวเราอยู่ที่ไหน ดูลงไปที่นั่น ความรู้สึกว่าตัวเราอยู่ที่ไหน รู้ลงไป ตัวเราอยู่ที่กาย รู้ลงที่กาย ตัวเราอยู่ในใจ นี่ รู้ลงไปที่ใจ ดูลงไปซิ จริงๆ มีตัวเราไหม กายกับใจที่เราจะใช้รู้ ก็ต้องกายกับใจในปัจจุบันด้วย ไม่ใช่กายกับใจในอดีต เพราะกายกับใจในอดีตไม่ได้มีจริง เป็นแค่ความจำ และก็ไม่ใช่กายกับใจในอนาคต กายในอนาคต ใจในอนาคตยังไม่มี เป็นแค่ความคิด ในอดีตก็เป็นแค่ความจำ อนาคตก็เป็นแค่ความคิด ไม่ใช่ความจริง ความจริงอยู่กับปัจจุบันต่อหน้าต่อตานี่

เพราะฉะนั้น พยายามอยู่กับปัจจุบันนะ รู้สึกกาย รู้สึกใจที่กำลังปรากฏในปัจจุบัน รู้ต้องรู้ตามความเป็นจริงของเขา ไม่ใช่รู้แล้วเข้าไปแทรกแซง พวกเราเวลารู้กายก็แทรกแซง รู้ใจก็แทรกแซง เช่น เวลาจะเดินตงกรม เราเคยเดินสบายๆ เดินทั้งวัน เดินทุกวันอยู่แล้ว เดินมาตั้งแต่เดินได้ จะว่าเดินแต่เกิดไม่ได้ใช่ไหม เพราะคนเกิดมามันยังไม่เดิน ไม่ใช่ลูกวัวลูกควาย ลูกวัวควายนะ ชั่วโมงสองชั่วโมงมันเดินได้แล้ว ลูกคนนี่นอน เอาตั้งแต่เดินได้นี่ เราก็เดินอยู่ทุกวันๆ แต่เราเดินไม่เป็น เดินแล้วไม่มีสติ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีสติ รู้ลงปัจจุบันไป ยืน เดิน นั่ง นอน รู้ลงปัจจุบัน เห็นกายเห็นใจที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน รู้ไปเรื่อยๆ ของจริงมันอยู่ตรงนี้ก็ดูจากของจริง ไม่ได้ดูจากความคิดความฝันในอนาคต หรือความจำในอดีต เอาของจริงมาดู ดูซิ เป็นตัวเราจริงไหมนี่ ถ้าไปคิดถึงตัวตนในอดีต นั่งนึกถึงหน้าตาของเราตอน ๓ ขวบ เห็นไหมคนนั้นไม่มีแล้ว นี่ ไม่เที่ยง อย่างนี้ไม่ใช่วิปัสสนา วิปัสสนาต้องเห็นตัวนี้อยู่ทนโท่ อยู่นี่เลยนี่ เห็นตัวนี้ล่ะ มันไม่ใช่ตัวเรา ถึงจะเป็นวิปัสสนา เพราะฉะนั้นต้องดูลงปัจจุบัน

ดูตามความเป็นจริงด้วย มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันถูกบีบคั้นตลอดเวลา มันบังคับไม่ได้ หรือมันเป็นวัตถุ มันเป็นก้อนธาตุ ดูลงเป็นไตรลักษณ์ เรื่องนี้ก็พูดทุกครั้งที่เจอกัน ไปดูเอาเอง ไปฟังเอาเอง ถ้าเรารู้กายรู้ใจที่กำลังปรากฏในปัจจุบันนี่ ตามความเป็นจริงคือเป็นไตรลักษณ์ ไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่ใช่จะเดินจงกรมก็บังคับจิตให้นิ่ง จะนั่งสมาธิก็บังคับจิตให้นิ่ง หรือเดินจงกรมก็ต้องวางมาดใช่ไหม ต้องเดินท่านี้ จะนั่งก็ต้องวางมาด ต้องนั่งในสง่างาม ถึงจะเป็นนักปฏิบัติ นั่งท่านี้ปฏิบัติไม่ได้ ไม่ใช่เลยนะ อย่าเข้าใจผิด มันไม่ได้สำคัญอยู่ที่อิริยาบถอะไร กิริยาท่าทางอะไร มันสำคัญอยู่ที่คุณภาพของจิต ในการที่ไปรู้กายรู้ใจต่างหาก ถ้าเรารู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงนะ ตีลังกาอยู่ก็ได้

ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งคือ หลวงพ่อพุธ เมื่อก่อนท่านเคยมาสอนที่นี่ หลวงพ่อพุธนี่แหละท่านสั่งไว้นะ ว่าอย่าทิ้งศาลาลุงชินนะ เราเลยต้องอดทนมาที่นี่นะ เพราะครูบาอาจารย์ท่านสั่งไว้ แต่ท่านไม่ได้บอกนะว่า ให้ไม่ทิ้งนานแค่ไหน (โยมหัวเราะ) นี่ดูไปนะ ดูลงความจริง ความจริงคือไตรลักษณ์ ดูกายดูใจ ดูเป็นไตรลักษณ์ ไม่ไปแทรกแซง ไม่ใช่เวลาจะเดินจงกรมก็ต้องวางมาด ค่อยๆ เดิน อะไรอย่างนี้ หรือจะนั่งสมาธิต้องวางฟอร์ม วางฟอร์มทางกายไม่พอ ต้องวางฟอร์มทางใจด้วย รู้สึกไหม ต้องทำใจให้ซึมก่อนถึงจะดี นึกออกไหม มันแกล้งทำทั้งหมดเลยนะ มันไม่ใช่การรู้ตามความเป็นจริง แต่มันเป็นการแกล้งทำ เพราะฉะนั้น อย่าไปดัดแปลงกาย อย่าไปดัดแปลงใจ เราต้องการรู้กายที่เป็นจริง รู้จิตใจที่เป็นจริง เราอย่าไปดัดแปลงเขา อย่าไปบังคับเขา อย่าไปแทรกแซง รู้กายรู้ใจอย่างที่มันกำลังเป็นอยู่จริงๆ นะ รู้ไป

ที่นี้การรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง รู้ลงปัจจุบันนี่ แค่นี้ยังไม่พอ จิตที่เป็นคนไปรู้ ต้องมีความตั่งมั่น และต้องมีความเป็นกลาง มี ๒ เงื่อนไข ต้องมีความตั้งมั่น ตั้งมันคือมีสัมมาสมาธิ จิตที่ตั้งมั่นไม่ใช่จิตที่ไหลไปหาอารมณ์ พวกเราที่ภาวนาล้มลุกคลุกคลานไม่เกิดมรรคผลนิพพานสักที เพราะอะไร เพราะว่าจิตไม่ตั้งมั่น ถึงมารู้กาย มีสติรู้กาย มีสติรู้ใจ ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น มันจะเป็นการเพ่งกายเพ่งใจ จิตมันจะไหลไปเพ่งนิ่งๆ อยู่ที่กาย ไหลไปเพ่งอยู่ที่ใจ อย่างคนที่หัดอานาปานสติรู้ลมหายใจ สังเกตให้ดีเถอะ เกือบร้อยละร้อยนะ ถ้าไม่ได้ฟังธรรมที่แท้จริง เกือบร้อยละร้อยเลย จะไปเพ่งลมหายใจ จิตจะไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ คนที่ดูท้องพองยุบนะ เกือบร้อยละร้อย นี่พูดแบบเกรงใจที่สุดแล้วนะ เกือบร้อยละร้อย จิตจะไหลไปอยู่ที่ท้อง เวลาไปเดินจงกรมยกเท้า ย่างเท้า จิตก็ไหลไปอยู่ที่เท้า ไปรู้อิริยาบถ ๔ นะ ไปเพ่งมันทั้งตัวเลย ขยับมือ จิตก็ไปเพ่งอยู่ในมือ มันมีแต่เข้าไปเพ่ง จิตที่ไหลเข้าไปเพ่งตัวอารมณ์นี่ เป็นจิตที่ใช้ทำสมถกรรมฐาน ไม่ใช่วิปัสสนากรรมฐาน จิตที่เพ่งอารมณ์นี่ มีภาษาแขก ชื่อว่า อารัมณูปนิชฌาน การเพ่งตัวอารมณ์ เป็นสมถกรรมฐาน เพราะฉะนั้นที่พวกเราส่วนใหญ่ทำอยู่เป็นแค่สมถกรรมฐาน ใจไม่ตื่นจริงๆ หรอก

มีแม่ชีคนหนึ่ง โทรศัพท์มาหากรรมการวัดคนหนึ่ง คือ ชมพู เขามีเบอร์ของชมพูอยู่ เบอร์วัด เขามาเล่าให้ฟังบอกว่า แกเป็นอาจารย์สอนกรรมฐานอยู่ที่สำนักแห่งหนึ่ง แต่สำนักนี้ไม่ยอมให้ไปไหนมาไหนง่ายๆ ก็เลยต้องใช้วิธีแอบโทรมา แกเล่าว่า แต่เดิมแกก็สอนกรรมฐาน แกก็ภาวนาของแกไปด้วย แกเครียดมากเลย หลังแกแข็งเป็นก้อนหินอย่างนั้นเลย ทรมานมาก ต่อมาคนซึ่งไปเข้าคอร์สกับแกเอาหนังสือหลวงพ่อไป แกก็ไปขอดูนะ แล้วก็สนใจเขียนจดหมายมาขอหนังสือไป เอาไปอ่าน คงต้องแอบอ่าน ซีดีฟังไม่ได้ เดี๋ยวคนอื่นได้ยิน เป็นอาจารย์นะ อ่านๆ ไป รู้สึก โอ้ เราทำผิด เราไปเพ่งอารมณ์ เราไม่ได้รู้ลักษณะความเป็นไตรลักษณ์ของอารมณ์ แกบอกพอแกรู้ตรงนี้ แกเห็นว่าจิตไปเพ่ง จิตก็คลายออก แกบอกว่าตอนนี้นะ แกมีความสุขขึ้นเยอะเลย การภาวนาของแกง่าย หลังแกก็ไม่แข็งเป็นก้อนแล้วนะ หน้าตาแกนี่คนมาบอกเลย แกหน้าใส หน้าตาแกผ่องใสผิดจากเดิม แต่เดิมเครียด ที่สำคัญนะ นี่เขียนเล่ามาอย่างละเอียดอีก แต่เดิมนะ ปีหนึ่ง ประจำเดือนมา ๒ ครั้งเอง เพราะเครียด ตั้งแต่มาภาวนาแนวหลวงพ่อปราโมทย์นะ ประจำเดือนมาตามกำหนด (โยมหัวเราะ) เออแน่ะ เราก็เพิ่งรู้นะ ว่าภาวนาแล้วประจำเดือนมาตามกำหนด เพราะอะไร เพราะไม่เครียด

พวกเราล่ะ ภาวนาจนกระทั่งเครียดนะ พิกลพิการไปเยอะแยะเลยนะ เพราะทำผิด ถ้าเข้าใจที่พระพุทธเจ้าสอนแล้วจะไม่เครียดหรอก เราจะรู้กาย เห็นกายมันเป็นทุกข์ แต่ร่าเริงนะ เห็นจิตดีบ้าง ร้ายบ้าง เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวสงสัย เดี๋ยวฟุ้งซ่าน เดี๋ยวหดหู่ แต่เราร่าเริงที่ได้เห็นความแปรปรวนของมัน นี่ความประหลาดอยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นเราจะมีความสุขนะ มีความสงบแต่ร่าเริง ไม่ใช่สงบแบบเซื่องๆ ซึมๆ ซังกะตาย หรือเครียดๆ แข็งๆ อันนั้นเป็นเพราะการเพ่งตัวอารมณ์ทั้งสิ้น ไม่ใช่การรู้ลักษณะของอารมณ์

เพราะฉะนั้นเราต้องรู้นะ เราต้องรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่น จิตที่ตั้งมั่นมันเป็นแค่คนดู เราจะเห็นร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง เห็นเวทนาอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง เห็นกุศล อกุศล โลภ โกรธ หลง ทั้งหลาย อยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง เห็นจิตเกิดดับไปทางตา เกิดที่ตา ดับที่ตา เกิดที่หู ดับที่หู เกิดที่ใจ ดับที่ใจ นี่เห็นอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ อย่างนี้เรียกว่าเราเห็นด้วยจิตที่ตั้งมั่นนะ มันจะเห็นความจริงอย่างนี้

การที่มันเห็นว่ากายก็อยู่ส่วนหนึ่ง เวทนาอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง มันได้แสดงปัญญาให้เราเห็นแล้วว่า มันไม่ใช่ตัวเรา กายนี้ไม่ใช่เรา เวทนาไม่ใช่เรา สังขารทั้งหลายที่เป็นกุศล อกุศลทั้งหลายไม่ใช่เรา จิตก็เกิดดับไปทางทวารต่างๆ จิตก็ไม่ใช่ตัวเรา เห็นไหม มันจะมีปัญญาขึ้นมา ถ้าใจเราตั้งมั่นได้ เพราะฉะนั้นเงื่อนไขสำคัญว่าจะเกิดปัญญาหรือไม่นี่ อยู่ที่ว่าจิตตั้งมั่นหรือจิตเข้าไปตั้งแช่ในอารมณ์ ถ้าจิตเข้าไปตั้งแช่ในอารมณ์จะเป็นสมถะ อย่างบางคนเดินจงกรมแล้วเพ่งอยู่ที่เท้า ยกเท้า ย่างเท้า รู้หมดเลย แล้วก็ตัวลอย ตัวเบา ตัวโคลง ตัวเล็ก ตัวใหญ่ บางคนตัวลอย บางคนรู้สึกวูบวาบเหมือนฟ้าแลบ บางคนรู้สึกขนลุกขนพอง บางคนรู้สึกเหมือนแมลงมาไต่ร่างกาย นี่เป็นอาการของปิติทั้งสิ้นเลย เป็นเรื่องของสมถะ

ทำไมคิดว่าทำวิปัสสนาแล้วกลายเป็นสมถะ ก็เพราะจิตไม่ตั้งมั่น ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นจะเจริญปัญญาไม่ได้ เพราะว่าสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น จิตจะไหลไปอยู่ในอารมณ์แล้วไปแช่ ไปเพ่งตัวอารมณ์ เป็นสมถกรรมฐานทั้งหมด ไม่ว่าจะเพ่งอะไรก็เป็นสมถะทั้งหมด ถ้าจิตตั้งมั่นก็จะเดินวิปัสสนาได้ เห็นความเป็นจริง ทีนี้พอเห็นความจริงแล้วมาถึงตัวสุดท้ายใช่ไหม ทีแรกหลวงพ่อบอก “ให้มีสติรู้กายรู้ใจ ที่เป็นปัจจุบันตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่น” ประโยคสุดท้าย “และเป็นกลาง”

เวลาที่เราไปเห็นสภาวะแล้วบางทีจิตก็ยินดีขึ้นมา บางทีจิตก็ยินร้ายขึ้นมา เช่น เราเห็นจิตใจของเรามีความสุข เราก็พอใจ หลายคนภาวนานะ ดูจิตดูใจ ดูไปเรื่อยๆ ความปรุงแต่งหยาบๆ ดับไป เกิดความปรุงแต่งละเอียด ที่เรียกว่า ความว่าง ขึ้นมา ความว่างๆ ที่เราภาวนาแล้วไปเห็นเข้านี่ เป็นแค่ความปรุงแต่งละเอียด ไม่ใช่นิพพานนะ นิพพานไม่ได้ว่างอนาถาแบบนั้น นิพพานไม่ได้ว่างแบบมีขอบ มีเขต มีจุด มีดวง มีวงแคบๆ อยู่ และว่างอยู่นิดๆ หน่อยๆ อย่างนั้น อันนั้นเรียกว่าช่องว่าง

เพราะฉะนั้นบางคนภาวนาจนใจว่างขึ้นมา พอใจว่างแล้ว ราคะเกิด พอใจในความว่าง พอใจในความนิ่ง ไม่ยอมเจริญปัญญาต่อ มีเยอะนะ ตอนนี้เริ่มมีเยอะขึ้น ภาวนาแล้วก็ใจสบาย มีความสุข พอมีความสุขแล้วพอใจแค่นี้แล้ว ไม่มารู้กาย ไม่มารู้ใจ จิตไม่สามารถทวนกระแสเข้ามารู้กายรู้ใจได้ ตัวนี้ที่หลวงพ่อพูดบ่อยๆ ว่า จิตไม่ถึงฐาน น่ะ จิตมันไหลตามอารมณ์ไปเพลินๆ ว่างๆ อยู่ข้างนอก นี่ รู้อย่างไม่เป็นกลาง รู้แล้วหลงยินดี บางทีเห็นกิเลสเกิดขึ้นก็เกลียดมันนะ หาทางต่อสู้ใหญ่เลย ทำอย่างไรจะเอาชนะกิเลส หรือเรานั่งสมาธิอยู่มันปวดมันเมื่อย ทำอย่างไรจะชนะความปวดความเมื่อย นี่คิดภาวนาเอาชนะนะ คิดภาวนาเอาชนะหรือคิดภาวนาแล้วท้อแท้ตามกิเลสไป นี่ก็คือความไม่เป็นกลางทั้งสิ้น ถ้าหากเรารู้ทันความไม่เป็นกลาง ให้รู้ทันนะ เช่น เราไปเห็นคนนี้ ใจเราชอบขึ้นมา เรารู้ทันว่าใจชอบ นี่ใจไม่เป็นกลางแล้ว ชอบขึ้นมา ต่อมาเรามีสติ รู้ทันว่าใจไปชอบเขา เราเกิดความไม่ชอบความชอบนี่ขึ้นมาอีกแล้ว นี่ไม่เป็นกลางอีกแล้ว เรารู้ทันว่าใจไม่ชอบ นี่รู้ความไม่เป็นกลาง แล้วมันจะเป็นกลางของมันเอง

ความเป็นกลางมีหลายระดับ อันนี้ก็เทศน์เรื่อยๆ นะ ความเป็นกลางด้วยสมถะก็มี ไปเพ่งเอาไว้แล้วมันก็เป็นกลาง เป็นกลางด้วยสติก็มี เป็นกลางด้วยปัญญาก็มี เป็นกลางด้วยสติคือพอไปรู้ทันความไม่เป็นกลาง ความไม่เป็นกลางดับไป อันนี้ก็ยังใช้ได้นะ แต่ว่าเป็นกลางที่แท้จริงจะเป็นกลางด้วยปัญญา คือเห็นความจริงซ้ำแล้วซ้ำอีก ว่าทุกอย่างมันไม่เที่ยง ทุกอย่างเป็นทุกข์ ทุกอย่างเป็นอนัตตา เห็นซ้ำไปซ้ำมานะ สุขก็ชั่วคราว ทุกข์ก็ชั่วคราว โลภ โกรธ หลง ก็ชั่วคราว กุศลทั้งหลายก็ชั่วคราว พอเห็นอย่างนี้ใจจะเป็นกลางเอง อันนี้เป็นกลางด้วยปัญญา ความเป็นกลางด้วยปัญญานี่แหละ คือประตูของการบรรลุมรรคผลนิพพาน

เมื่อจิตเป็นกลางด้วยปัญญาแล้ว จิตจะหมดความดิ้นรน ถ้าจิตเป็นกลางด้วยวิธีอื่น จิตยังดิ้นรนเพื่อเข้าไปสู่วิธีนี้ จิตยังต้องดิ้นรนอีก เช่น เป็นกลางเพราะสมถะ วันไหนไม่เป็นกลาง ก็ต้องกลับไปทำสมถะเพื่อให้มันมาเป็นกลางอีก ถ้าเป็นกลางเพราะปัญญามันจะเลิกดิ้น มันจะรู้เลยว่าทุกอย่างในโลกนี้ของชั่วคราว ทุกอย่างเป็นภาพลวงตา ใจมันเห็นอย่างนี้นะ ใจมันไม่ดิ้นแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในกายในใจ ร่างกายจะแก่ จะเจ็บ จะตาย ใจก็ไม่ดิ้นรน จิตจะสุขหรือจิตจะทุกข์ จิตใจก็ไม่ดิ้นรน กระทั่งอกุศลเกิดขึ้น เช่น บางทีภาวนาแล้วมันมืดๆ มัวๆ ภาวนาแล้วมัว ดูไม่รู้เรื่องแล้ว นี่ ส่วนมากจะมาตายตอนนี้ก็มี พอดูไม่รู้เรื่องแล้วทุรนทุรายแล้วเห็นไหม อยากดูให้ชัด อยากรู้ให้ชัด นี่ใจไม่เป็นกลาง ถ้าดูไปแล้ววันนี้มันมัวๆ จิตมีแต่โมหะ มัวๆ รู้ว่ามีโมหะนะ อย่าไปเกลียดมัน รู้ด้วยความเป็นกลางซิ มันจะขาดสะบั้นต่อหน้าต่อตาเลย

เพราะฉะนั้นจำไว้นะ คีย์เวิร์ด (keyword) ทั้งหลาย ให้รู้กายรู้ใจ มีสติ สติที่แท้จริง รู้กายรู้ใจ ที่เป็นปัจจุบันด้วย ไม่ใช่อดีต ไม่ใช่อนาคต รู้ตามความเป็นจริง คืออย่าไปแทรกแซง อย่าไปบังคับเขา รู้ตามความเป็นจริง คือเป็นไตรลักษณ์ ด้วยจิตที่ตั้งมั่น จิตเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู ตั้งมั่นและก็เป็นกลาง ถ้าจิตไม่เป็นกลางให้รู้ทันว่าไม่เป็นกลาง นี่เป็นทางเดินที่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านเดินกันมา เป็นหลักในสติปัฏฐาน ในวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง หลวงพ่อเอามาพูดใหม่ ด้วยภาษาใหม่ๆ ให้คนรุ่นใหม่ๆ ฟัง

CD ศาลาลุงชิน ครั้งที่ 25

File: 511116.mp3

Time: 13m38 – 32m06

หมายเหตุ คลิปธรรมะที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ Dhammada.net (ธรรมดา ด็อต เน็ต) คือเสียงการแสดงธรรมเพียงบางช่วง บางตอน ของ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช สวนสันติธรรม ศรีราชา ชลบุรี ซึ่งทางกลุ่มธรรมดาเป็นผู้จัดทำเพื่อให้เป็นหมวดหมู่ และยังมีเรื่องของการตอบคำถามเฉพาะเรื่องเฉพาะบุคคลด้วย ดังนั้นจึงยังไม่ใช่ข้อสรุปของการสอนธรรมะของท่านแต่อย่างใด รวมทั้งคำพูดหรือศัพท์บัญญัติที่ใช้ อาจเป็นที่เข้าใจเฉพาะกับผู้ถามเท่านั้น มิใช่การพูดเป็นการทั่วไป จึงขอความกรุณาอย่าได้นำไปใช้อ้างอิงในที่ใดโดยเด็ดขาด ขอเป็นเพียงการฟังเพื่อเข้าใจแนวทาง และเพื่อเป็นกำลังใจในการภาวนาเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น