เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ
ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "
หน้าเว็บ
เกี่ยวกับฉัน
- Nitinandho
- อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย
ผู้ติดตาม
วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553
๑๒. ประวัติ พระนันทเถระ
๑๒. ประวัติ พระนันทเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)
๑. สถานะเดิม
พระนันทเถระ พระนามเดิมว่า นันทะ เป็นพระนามที่พระประยูรญาติทรงขนานให้ เพราะความดีใจในวันที่พระกุมารประสูติ
พระบิดา ทรงพระนามว่า สุทโธทนะ พระมารดา ทรงพระนามว่า มหาปชาบดีโคตมี
ประสูติในพระราชวังแห่งกบิลพัสดุ์นคร
๒. ชีวิตก่อนบวชในพระพุทธศาสนา
นันทกุมาร เป็นผู้มีผิวพรรณเหมือนทองคำ รูปร่างสง่างามสูงใหญ่คล้ายพระมหาบุรุษ ทรงได้รับการเลี้ยงดู และการศึกษาเยี่ยงโอรสของมหาราชาทั่วไป ครั้นเจริญวัยพระราชบิดาได้จัดพิธีอาวาหมงคลกับนางชนบทกัลยาณีที่พระราชนิเวศน์อย่างยิ่งใหญ่
๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระศาสดาเสด็จมายังกบิลพัสดุ์ โดยทรงอนุมัติตามคำอาราธนาของพระกาฬุทายีเถระ วันแรกทรงกระทำฝนโบกขรพรรษ (ฝนเหมือนน้ำตกบนใบบัวไม่เปียกใคร) ให้เป็นอัตถุปบัตติเหตุ คือต้นเรื่องที่จะเทศนาเวสสันดรชาดก วันที่ ๒ ทรงโปรดพระชนกให้เป็นโสดาบันมั่นในพระศาสนา ด้วยพระคาถาว่า
"บรรพชิตไม่พึงประมาทในบิณฑบาตอันตนพึงลุกขึ้นยืนรับ บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต เพราะผู้ประพฤติธรรมอยู่เสมอ ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า แล้วได้เสด็จไปยัง พระราชนิเวศน์เทศนาโปรดพระนางมหาปชาบดีให้เป็นพระโสดาบัน และเลื่อนชั้นพระบิดาขึ้นเป็น สกทาคามี ด้วยพระอนุศาสนีว่า บุคคล พึงประพฤติธรรมให้สุจริต อย่าประพฤติธรรมแบบทุจริต เพราะผู้ประพฤติธรรมอยู่เสมอ ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า"
ในวันที่ ๓ ทรงเสด็จยังพระราชนิเวศน์เพื่อบิณฑบาตในวโรกาสอาวาหมงคลของนันทกุมาร ให้เธอรับบาตร ตรัสมงคลแก่เขาจบแล้ว ไม่รับเอาบาตรกลับมา เสด็จมุ่งหน้าไปยังวิหารให้นันทกุมารถือบาตรตามไปด้วยจิตใจร้อนรนคิดถึงคนที่ตนรัก ถึงสำนักนิโครธาราม ได้ตรัสถามว่าจะบวชหรือนันทะ พระกุมารไม่อาจปฏิเสธเพราะเหตุแห่งความเคารพและเกรงใจในพระศาสดา จึงทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะบวช
๔. วิธีบวช
ในอรรถกถาธรรมบทกล่าวว่า พระศาสดาทรงนำนันทกุมารไปสู่วิหารด้วยการให้ถือบาตรตามไป ครั้นถึงวิหารแล้ว ตรัสว่า นันทะ เธออยากบวชไหม นันทกุมารนั้นด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า จึงไม่ทูลว่า ข้าพระองค์ไม่บวช ทูลว่า จะบวชพระเจ้าข้า พระศาสดารับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงบวชให้นันทะเถิด จึงสันนิษฐานว่า พระนันทเถระบวชด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาอุปสัมปทา เพราะท่านบวชด้วยความจำใจ ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา จึงไม่ปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ ทุกคืนและวัน มีแต่ความเบื่อหน่ายทุรนทุรายเหมือนสัตว์ป่าถูกขังกรง พระพุทธองค์ทรงใช้อุบายอันแยบคาย ทำลายความรู้สึกนั้น ให้หันมาบำเพ็ญวิปัสสนา ในไม่ช้าก็ได้บรรลุอรหัตผล หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง
๕. งานประกาศพระศาสนา
พระนันทเถระ ครั้นสำเร็จพระอรหัตผลแล้วคงช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาเหมือนกับ พระสาวกผู้ใหญ่ทั้งหลาย แม้ตำนานจะไม่ได้กล่าวไว้ว่าท่านมีสัทธิวิหาริก อันเตวาสิกและศิษยานุศิษย์ อยู่ที่ไหนบ้างก็ตาม แต่ปฏิปทาของท่านก็ควรแก่การศึกษา และนำมาเป็นตัวอย่างของคนผู้เกิดมา ในภายหลังว่า คนเรานั้นจะอยู่ในสภาพอย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ประมาท มีความเพียร เอาจริงเอาจัง ก็สามารถชนะทุกสิ่งทุกอย่างได้ แม้กระทั่งกิเลสในใจของตนเอง
อนึ่ง ปฏิปทาของพระนันทเถระ ยังเป็นเหตุให้พระศาสดาทรงเปล่งอุทานว่า เปือกตมคือกามใคร ข้ามได้ หนามคือกามผู้ใดทำลายแล้ว ผู้นั้นสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวทั้งในความสุขและความทุกข์
๖. เอตทัคคะ
พระนันทเถระได้รับความทุกข์ทรมานในด้านจิตใจ เพราะความคิดถึงนางชนบทกัลยาณี และได้รับความอับอายที่ถูกเพื่อนพรหมจารีล้อว่า ประพฤติพรหมจรรย์เพราะอยากได้นางอัปสร จึงคิดว่า ที่เราต้องประสบกับเรื่องแปลกประหลาดเช่นนี้ก็เพราะเราไม่สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ นั่นเอง ดังนี้แล้ว เกิดความอุตสาหะมีหิริและโอตตัปปะเป็นกำลัง ตั้งความสำรวมอินทรีย์อย่างสูงสุด พระศาสดาทรงทราบดังนั้น จึงทรงตั้งท่านในเอตทัคคะว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้สำรวมอินทรีย์
๗. บุญญาธิการ
แม้พระเถระรูปนี้ ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในสำนักของพระพุทธเจ้ามากมายหลายพระองค์ ได้เห็นพระปทุมุตตรศาสดา ทรงสถาปนาพระเถระรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเลิศกว่า ภิกษุทั้งหลายในด้านความสำรวมอินทรีย์ จึงมีกุศลฉันทะปรารถนาตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง ได้ก่อสร้าง บุญกุศล พระทศพลทรงพยากรณ์ว่า จะได้สมใจหวัง จึงได้ตั้งใจทำแต่ความดีที่เป็นอุปนิสัยปัจจัย แห่งตำแหน่งนั้น ลุถึงกาลแห่งพระโคดม จึงได้สมความปรารถนา ใช้เวลาหนึ่งแสนกัปป์
๘. ธรรมวาทะ
เพราะไม่พิจารณาให้ลึกซึ้งถึงความจริงของชีวิต คนเราจึงติดอยู่กับร่างกาย ขวนขวายแต่ การแต่งตัว ลุ่มหลงเมามัวในกามารมณ์
แต่พระโคดม ทรงสอนให้รู้ซึ้งถึงชีวิตเราจึงเปลื้องจิตจากพันธนาการ พ้นสถานแห่งภพสาม (สู่ความสุขอย่างแท้จริง)
๙. นิพพาน
พระนันทเถระ ครั้นสำเร็จพระอรหันต์แล้ว ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาตามความสามารถ เป็นแบบอย่างแห่งผู้สำรวมอินทรีย์ไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย เมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้อง สัมผัส และคิดนึกต่าง ๆ สุดท้ายได้นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน ดับสังขารอย่างหมด เชื้อแห่งกิเลส และความทุกข์ทั้งปวง
หนังสืออ้างอิง.-
-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น