เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553





















ร่วมกันแสดงความรักที่คนไทยมีต่อในหลวง ให้โลกได้รับรู้

http://www.thailoveking.com/


ด้วยกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553

๒๒. ประวัติ พระโสณกุฏิกัณณเถระ


๒๒. ประวัติ พระโสณกุฏิกัณณเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

๑. สถานะเดิม

พระโสณกุฏิกัณณเถระ นามเดิม โสณะ แต่เพราะเขาประดับเครื่องประดับหูมีราคาถึงหนึ่งโกฏิ จึงมีคำต่อท้ายว่า กุฏิกัณณะ
บิดาไม่ปรากฏนาม
มารดาเป็นอุบาสิกาชื่อ กาฬี เป็นพระโสดาบัน ผู้ถวายความอุปถัมภ์บำรุงพระมหากัจจายนเถระ
เกิดในตระกูลคหบดีในเมืองกุรุรฆระ แคว้นอวันตี เป็นคนวรรณะแพศย์

๒. ชีวิตก่อนบวช

เนื่องจากตระกูลของท่านประกอบอาชีพค้าขาย ท่านจึงประกอบอาชีพค้าขาย ซึ่งเป็นอาชีพเดิมของตระกูล นำสินค้าบรรทุกเกวียนไปขายในเมืองอุชเชนีเป็นประจำ เป็นคนโสดไม่มีครอบครัว

๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา

เพราะมารดาของท่านเป็นผู้อุปัฏฐากพระมหากัจจายนะ เวลาที่พระเถระมาจำพรรษาที่ภูเขาปวัตตะ จึงได้นำเด็กชายโสณะไปวัดด้วย จึงทำให้มีความรู้จักและคุ้นเคยกับพระเถระมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ต่อมาครั้นเจริญวัยมีศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะบวชในพระพุทธศาสนา จึงขอบรรพชาอุปสมบทกับพระเถระ ๆ อธิบายให้ฟังว่า การบวชนั้นมีความทุกข์ยากลำบากอย่างไรบ้าง แต่เขาก็ยืนยันจะบวชให้ได้ พระเถระจึงบวชให้ได้แต่แค่เป็นสามเณร เพราะในอวันตีชนบทหาพระครบองค์สงฆ์ ๑๐ องค์ไม่ได้ ท่านบวชเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี จึงได้พระครบ ๑๐ องค์ แล้วได้อุปสมบทเป็นภิกษุ

๔. การบรรลุธรรม

พระโสณกุฏิกัณณเถระครั้นบวชแล้ว ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนในสำนักพระอุปัชฌาย์พากเพียรบำเพ็ญภาวนาในไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์

๕. งานประกาศพระศาสนา

พระโสณกุฏิกัณณเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เพราะท่านไม่เห็นพระศาสดาปรารถนาจะไปเฝ้า จึงได้ลาพระอุปัชฌาย์ อันพระอุปัชฌาย์อนุญาตและฝากไปขอทูลผ่อนผันเรื่องพระวินัย ๕ ประการ สำหรับปัจจันตชนบท เช่นการอุปสมบทด้วยคณะปัญจกะ คือมีภิกษุประชุมกัน ๕ รูปก็บวชกุลบุตรได้ เป็นต้น ท่านได้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้อย่างดียิ่ง พระศาสดาทรงอนุญาตทุกประการ

เมื่อท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น ได้รับการต้อนรับอย่างดี โดยทรงอนุญาตให้พักในพระคันธกุฏีเดียวกับพระพุทธองค์ และทรงโปรดให้ท่านแสดงธรรมทำนองสรภัญญะ เมื่อจบการแสดงธรรมพระศาสดาทรงอนุโมทนาและชมเชยท่าน ท่านได้พักอยู่กับพระศาสดาพอสมควรแก่เวลา จึงทูลลากลับไป

ครั้นกลับไปถึงอวันตี โยมมารดาทราบว่าท่านแสดงธรรมให้พระพุทธเจ้าสดับได้ ปลื้มปีติใจ จึงนิมนต์ให้แสดงให้ฟังบ้าง ท่านก็ได้แสดงให้ฟังตามอาราธนา โยมมารดาเลื่อมใสตั้งใจฟังอย่างดี แต่ในขณะฟังธรรมอยู่นั้น พวกโจรเข้าไปปล้นทรัพย์ในบ้าน คนใช้มารายงาน ท่านก็ไม่เสียดายอะไร บอกว่าโจรต้องการอะไร ก็ขนเอาไปตามปรารถนาเถิด ส่วนเราจะฟังธรรมของพระลูกชาย พวกท่านอย่าทำอันตรายต่อการฟังธรรมเลย

พวกโจรทราบความนั้นจากคนใช้ รู้สึกสลดใจ ว่าเราได้ทำร้ายผู้มีคุณธรรมสูงส่งถึงเพียงนี้ เป็นความไม่ดีเลย จึงพากันไปยังวัด เมื่อการฟังธรรมสิ้นสุดลง ได้เข้าไปหาโยมมารดาของท่านขอขมาโทษแล้วขอบวชในสำนักของพระเถระ ๆ ก็บวชให้พวกเขาตามประสงค์

๖. เอตทัคคะ

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า พระโสณกุฏิกัณณเถระนี้มีความสามารถในการแสดงแบบสรภัญญะ ด้วยเสียงอันไพเราะต่อพระพักตร์ของพระศาสดา ดังนั้น ท่านจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ

๗. บุญญาธิการ

แม้พระโสณกุฏิกัณณเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานานแสนนาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดาได้เห็นพระพุทธองค์ทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในเอตทัคคะว่าเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ จึงปรารถนาฐานันดรเช่นนั้นบ้าง แล้วได้ก่อสร้างความดีที่สามารถสนับสนุนค้ำจุนความปรารถนานั้น อันพระปทุมุตตรศาสดาทรงพยากรณ์ว่าจะสำเร็จสมดังใจในสมัยแห่งพระพุทธโคดม จึงสร้างสมบารมีอีกหลายพุทธันดร จนถึงชาติสุดท้ายมาได้สมปรารถนาในสมัยพระศาสดาของเราทั้งหลาย สมดังพุทธพยากรณ์ทุกประการ

๘. ธรรมวาทะ

ข้าแต่พระมหากัจจายนะผู้เจริญ กระผมทราบดีถึงธรรมที่พระมหากัจจายนะผู้เป็นเจ้าแสดงแล้วว่า พรหมจรรย์นี้ อันบุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติให้บริบูรณ์บริสุทธิ์อย่างแท้จริง เหมือนกับสังข์ที่เขาขัดไว้อย่างดี ทำได้ไม่ง่ายเลย

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษในกามคุณทั้งหลายข้าพระองค์เห็นมานานแล้ว แต่ว่าฆราวาสมีกิจมาก มีสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำมาก บีบรัดตัวเหลือเกิน (จึงทำให้บวชช้าไป)

๙. นิพพาน

พระโสณกุฏิกัณณเถระนี้ก็เหมือนกับพระอสีติมหาสาวกทั้งหลาย เมื่ออยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ในที่สุดก็นิพพานดับเบญจขันธ์หยุดการหมุนเวียนแห่งกิเลสกรรมและวิบากอย่างสิ้นเชิง


หนังสืออ้างอิง.-

-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗

๒๑. ประวัติ พระจูฬปันถกเถระ


๒๑. ประวัติ พระจูฬปันถกเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

๑. สถานเดิม

พระจูฬปันถกเถระ นามเดิมว่า ปันถกะ เพราะเกิดในระหว่างทางขณะที่มารดาเดินทางกลับไปยังบ้านเศรษฐีผู้เป็นบิดา และเพราะเป็นน้องชายของมหาปันถกะ จึงมีชื่อว่า จูฬปันถกะ
บิดาเป็นคนวรรณะศูทร ไม่ปรากฏนาม
มารดาเป็นคนวรรณะแพศย์ หรือไวศยะ
เกิดระหว่างทางขณะที่มารดาเดินทางกลับมายังบ้านของเศรษฐีซึ่งอยู่ในเมืองราชคฤห์

๒. ชีวิตก่อนบวช

เด็กชายจูฬปันถกะ เพราะบิดาและมารดาต่างวรรณะกัน จึงอยู่ในฐานะเด็กจัณฑาลตามคำสอนของพราหมณ์ แม้ช่วงเวลาหนึ่งจะได้รับความลำบาก เพราะบิดาและมารดายากจนมาก แต่ต่อมาอยู่กับเศรษฐีผู้เป็นตาและยาย ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี

๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา

หลังจากที่พระมหาปันถกเถระบวชในพระพุทธศาสนาและได้บรรลุพระอรหัตแล้วพิจารณาเห็นว่า ความสุขอันเกิดจากมรรคผลนิพพานนั้น เป็นความสุขชั้นสูงสุด อยากให้น้องชายได้รับความสุขเช่นนั้นบ้าง จึงไปขออนุญาตธนเศรษฐีผู้เป็นตาพาน้องชายมาบวช ซึ่งเศรษฐีก็ยินดีอนุญาต จูฬปันถกะจึงได้บวชในพระพุทธศาสนา

๔. การบรรลุธรรม

พระจูฬปันถกะนั้นครั้นบวชแล้ว พระมหาปันถกเถระผู้เป็นพี่ชาย ได้พยายามอบรมสั่งสอน แต่ท่านมีปัญญาทึบ พี่ชายให้ท่องคาถา ๔ บท ใช้เวลา ๔ เดือน ยังท่องไม่ได้ จึงถูกขับไล่ออกจากวัด ท่านเสียใจยืนร้องไห้อยู่ที่ซุ้มประตู

พระศาสดาทรงทราบเหตุการณ์นั้น จึงเสด็จมาปลอบเธอ แล้วได้ประทานผ้าขาวผืนหนึ่งให้แล้วตรัสสอนให้บริกรรมว่า รโชหรณํ รโชหรณํ (ผ้าเช็ดธุลี) พร้อมกับให้เอามือลูบผ้านั้นไปมา ท่านได้ปฏิบัติตามนั้น ไม่นานนักผ้าขาวผืนนั้นก็ค่อย ๆ หมองไป สุดท้ายก็ดำสีเหมือนกับผ้าเช็ดหม้อข้าว ท่านเกิดญาณว่า แม้ผ้าขาวบริสุทธิ์อาศัยร่างกายของมนุษย์ยังต้องกลายเป็นสีดำอย่างนี้ ถึงจิตของมนุษย์เดิมทีเป็นของบริสุทธิ์ อาศัยกิเลสจรมาก็ย่อมเกิดความเศร้าหมอง เหมือนกับผ้าผืนนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยงแท้ ท่านบริกรรมผ้านั้นไปจนจิตสงบแล้วได้บรรลุฌานแต่นั้นเจริญวิปัสสนาต่อ ก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาและอภิญญา

๕. งานประกาศพระศาสนา

พระจูฬปันถกเถระ หลังจากที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว แม้ในตำนานจะไม่ได้กล่าวว่า ท่านได้ช่วยพระศาสดาประกาศศาสนา จนได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิก็ตาม แต่ปฏิปทาของท่านก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษา สำหรับคนที่เกิดมาในภายหลัง ท่านมีปัญญาทึบถึงเพียงนั้น แต่อาศัยพระศาสดาผู้ฉลาดในอุบาย และอาศัยท่านเป็นผู้มีความเพียร จิตใจแน่วแน่ ไม่ย่นย้อท้อถอย ก็กลับเป็นคนฉลาดสามารถบรรลุผลที่สูงสุดของชีวิตได้ เพราะฉะนั้นอย่าด่วนสรุปว่าใครโง่ แต่ควรคิดว่าผู้สอนฉลาดจริงหรือเปล่า

๖. เอตทัคคะ

พระจูฬปันถกเถระ เป็นผู้มีฤทธิ์ทางใจ สามารถเนรมิตกายที่สำเร็จด้วยใจได้ และฉลาดในการพลิกแพลงจิต (จากสมาธิให้เป็นวิปัสสนา) ดังเรื่องที่ท่านเนรมิตรภิกษุเป็นพันรูป ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาได้เหมือนกัน เมื่อคนที่หมอชีวกใช้มารับถามว่า พระรูปไหนชื่อจูฬปันถกะ ทั้งพันรูปก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า อาตมาชื่อปันถกะ ในที่สุดพระศาสดาทรงแนะนำวิธีให้ว่า รูปไหนพูดก่อนว่า อาตมาชื่อปันถกะ ให้จับมือรูปนั้นมานั่นแหละคือพระจูฬปันถกะองค์จริง พระศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เนรมิตกายอันสำเร็จด้วยฤทธิ์และ ผู้พลิกแพลงจิต

๗. บุญญาธิการ

แม้พระจูฬปันถกเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาช้านาน จนในการแห่งพระทุมุตตรพุทธเจ้า ได้เห็นพระพุทธองค์ทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เนรมิตกายอันสำเร็จด้วยฤทธิ์และผู้ฉลาดในการพลิกแพลงจิต จึงได้ตั้งความปรารถนาเพื่อจะเป็นเช่นนั้นบ้าง จึงได้ก่อสร้างบุญกุศล สมเด็จพระทศพลทรงพยากรณ์ว่าจะได้ในสมัยแห่งพระพุทธโคดม จึงสร้างสมบุญกุศลอีกหลายพุทธันดร มาสมคำพยากรณ์ในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายจริงทุกประการ

๘. ธรรมวาทะ

เมื่อก่อนญาณคติ (ปัญญา) ของเราเกิดช้าไปจึงถูกใคร ๆ เขาดูหมิ่น พระพี่ชายก็ขับไล่ให้กลับไปอยู่บ้าน เรานั้นเสียใจไปยืนร้องไห้อยู่ที่ซุ้มประตูสังฆาราม เพราะความอาลัยในพระพุทธศาสนา พระศาสดาทรงประทานผ้าให้แก่เราแล้วตรัสว่า เธอจงภาวนาให้ดี เรารับพระดำรัสของพระชินสีห์ ยินดีในพระพุทธศาสนา ภาวนาสมาธิ เพื่อเป็นพื้นฐานการบรรลุประโยชน์อันสูงสุด จึงได้บรรลุวิชชา ๓ ตามลำดับ

๙. นิพพาน

พระจูฬปันถกเถระนี้ก็เหมือนกับอสีติมหาสาวกทั่วไป เมื่อบรรลุพระอรหัตแล้ว ก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาตามความสามารถ สุดท้ายก็ได้ปรินิพพานดับสังขารและการเวียนว่ายอย่างสิ้นเชิง


หนังสืออ้างอิง.-

-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗

วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

๒๐. ประวัติ พระมหาปันถกเถระ


๒๐. ประวัติ พระมหาปันถกเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

๑. สถานเดิม

พระมหาปันถกเถระ นามเดิม ปันถกะ เพราะเกิดในระหว่างทาง ต่อมามีน้องชายจึงเติมคำว่า มหาเข้ามา เป็นมหาปันถกะ
บิดาเป็นคนวรรณะศูทร ไม่ปรากฏนาม
มารดาเป็นคนวรรณะแพศย์ เป็นลูกสาวเศรษฐี ไม่ปรากฏนามเช่นกัน
ตระกูลตาและยายเป็นชาวเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ

๒. ชีวิตก่อนบวช

พระมหาปันถกเถระ เพราะบิดาของท่านเป็นทาส มารดาเป็นธิดาของเศรษฐี จึงอยู่ในฐานะจัณฑาล เพราะการแบ่งชั้นวรรณะของคนอินเดียในสมัยนั้น ครั้นรู้เดียงสาจึงรบเร้ามารดาให้พาไปเยี่ยมตระกูลของคุณตา มารดาจึงส่งไปให้คุณตาและคุณยาย จึงได้รับการเลี้ยงดูจนเจริญเติบโตในบ้านของธนเศรษฐี

๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา

คุณตาของเด็กชายปันถกะนั้นไปยังสำนักของพระพุทธเจ้าเป็นประจำ และได้พาเขาไปด้วย เขาเกิดศรัทธาในพระพุทธเจ้าพร้อมกับการเห็นครั้งแรก ต่อมามีความประสงค์จะบวชในพระพุทธศาสนา จึงเรียนให้คุณตาทราบ คุณตาจึงพาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบพระพุทธองค์จึงสั่งให้ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งบรรพชาให้แก่เด็กคนนั้น

๔. การบรรลุธรรม

สามเณรปันถกะนั้น เรียนพุทธพจน์ได้มาก ครั้นอายุครบจึงได้อุปสมบท ได้ทำการพิจารณาอย่างแยบคายจนได้อรูปฌาน ๔ เป็นพิเศษ ออกจากอรูปฌานนั้นแล้วเจริญวิปัสสนาได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นผู้เลิศแห่งภิกษุทั้งหลาย ผู้ฉลาดในการพลิกปัญญา คือ เปลี่ยนอรูปฌานจิตให้เป็นวิปัสสนา

๕. งานประกาศพระพุทธศาสนา

พระมหาปันถกเถระครั้นบรรลุพระอรหัตผลแล้ว ก็คงช่วยพระศาสดาประกาศ พระพุทธศาสนาเหมือนพระอสีติมหาสาวกทั้งหลาย แต่ตำนานไม่ได้กล่าวว่า ท่านได้ใครมาเป็นศิษย์บ้าง

อนึ่ง หลังจากอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ท่านคิดว่าสมควรจะรับการธุระรับใช้สงฆ์ จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์กราบทูลรับอาสาทำหน้าที่เป็นพระภัตตุทเทศก์จัดพระไปในกิจนิมนต์ พระทศพลทรงอนุมัติตำแหน่งนั้นแก่ท่าน และท่านได้ทำงานสำเร็จเรียบร้อยด้วยดี

๖. เอตทัคคะ

พระมหาปันถกเถระ ก่อนสำเร็จพระอรหันต์ ท่านได้อรูปฌานซึ่งเป็นฌานที่ไม่มีรูปมีแต่นามคือสัญญาที่ละเอียดที่สุด ออกจากอรูปฌานนั้นแล้ว เจริญวิปัสสนามีอรูปฌานเป็นอารมณ์จนได้สำเร็จพระอรหัตผล วิธีนี้เป็นวิธีที่ยาก เพราะฉะนั้นพระศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในการพลิกปัญญา

๗. บุญญาธิการ

แม้พระมหาปันถกเถระนี้ ก็ได้สร้างสมบุญกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานานแสนนาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในการเปลี่ยนสัญญา (จากอรูปฌานให้สำเร็จวิปัสสนาญาณ) จึงปรารถนาตำแหน่งนั้น แล้วได้ทำกุศลอันอุดหนุนเกื้อกูลความปรารถนานั้นมาอีก ๑ แสนกัปป์ ในที่สุดจึงได้บรรลุผลนั้นตามความปรารถนา ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนี้

๘. ธรรมวาทะ

เมื่อข้าพเจ้าเห็นพระศาสดาครั้งแรก เพราะได้เห็นบุคคลผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลกนั้น ข้าพเจ้าเกิดความสังเวชใจ คือเกิดญาณพร้อมทั้งโอตตัปปะว่า ข้าพเจ้าไม่ได้เฝ้าพระศาสดา ไม่ได้ฟังธรรมตลอดเวลานานถึงเพียงนี้ (น่าเสียดายจริง ๆ) ผู้ที่พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว แต่ปล่อยโอกาสนั้นให้ผ่านไป โดยไม่สนใจโอวาทของพระองค์ ผู้นั้นเป็นคนไม่มีบุญ เปรียบเหมือนคนตบตีหรือกระทืบสิริที่เข้ามาหาตนถึงบนที่นอน แล้วขับไล่ไสส่งออกไป

๗. นิพพาน

พระมหาปันถกเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตผลทำประโยชน์ตนให้บริบูรณ์แล้ว ก็ได้ช่วย พระศาสดาประกาศพระศาสนา รับการธุระของสงฆ์ เมื่อถึงอายุขัยก็ได้นิพพานจากโลกไปเป็นที่น่าสลดใจสำหรับบัณฑิตชน


หนังสืออ้างอิง.-

-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗

๑๙. ประวัติ พระปิณโฑลภารทวาชเถระ


๑๙. ประวัติ พระปิณโฑลภารทวาชเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

๑. สถานะเดิม

พระปิณโฑลภารทวาชเถระ นามเดิม ภารทวาชะ
บิดาเป็นปุโรหิตของพระเจ้าอุเทน แต่ไม่ปรากฎนาม
มารดา ไม่ปรากฎนาม
เกิดในแคว้นวังสะ วรรณะพราหมณ์

๒. ชีวิตก่อนบวช

พระปิณโฑลภารวาชเถระ ครั้งก่อนบวช ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากบิดาและมารดา ครั้นเจริญวัย ได้ศึกษาแบบพราหมณ์จบไตรเพท แล้วได้เป็นอาจารย์สอนมนต์แก่มาณพ ๕๐๐ คน ต่อมาถูกศิษย์ทอดทิ้งเพราะกินจุ จึงไปยังเมืองราชคฤห์สอนมนต์อยู่ที่นั่น

๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา

เมื่อปิณโฑลภารทวาช ไปอยู่ในเมืองราชคฤห์นั้นได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระมหาสาวกมีลาภมาก มีความปรารถนาจะได้ลาภเช่นนั้นบ้าง จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ทรงบวชให้เขาด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา

๔. การบรรลุธรรม

พระปิณโฑลภารทวาชเถระ ครั้นบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้เที่ยวบิณฑบาตโดยไม่รู้จักประมาณ เนื่องจากฉันอาหารจุจึงถูกขนานนามเพิ่มว่า ปิณโฑลภารทวาชะ (ปิณโฑละ ผู้แสวงหาก้อนข้าว) พระศาสดาทรงทราบเช่นนั้น จึงทรงใช้อุบายวิธีแนะนำท่านให้เป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ท่านค่อย ๆ ฝึกฝนตนเองไปจึงกลายเป็นผู้รู้ประมาณ ต่อจากนั้นไม่นานได้พยายามบำเพ็ญสมณธรรม ก็ได้บรรลุอรหัตผล พร้อมอภิญญา ๖

๕. งานประกาศพระพุทธศาสนา

พระปิณโฑลภารทวาชเถระ ได้เป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่งของพระศาสดา ได้รับคำท้าประลองฤทธิ์ กับพวกเดียรถีย์ที่บ้านของเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ โดยเหาะขึ้นไปเอาบาตรไม้จันทน์ที่เศรษฐีนั้น แขวนเอาไว้ในที่สูงพอประมาณ เพื่อทดสอบว่ามีพระอรหันต์ในโลกจริงหรือไม่

เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านไปยังแคว้นวังสะ นั่งพักอยู่ที่โคนต้นไม้ในพระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทน พระเจ้าอุเทนเสด็จมาพบ และได้สนทนากันเกี่ยวกับเรื่องพระหนุ่ม ๆ ในพระพุทธศาสนาบวชอยู่ได้อย่างไร ท่านได้ทูลว่าพระเหล่านั้น ปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสดา คือระวังอินทรีย์ไม่ให้ยินดียินร้าย ไม่ยึดถืออะไรที่ผิดจากความจริง พระเจ้าอุเทนทรงเข้าใจ และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประกาศพระวาจานับถือพระรัตนตรัย

๖. เอตทัคคะ

พระปิณโฑลภารทวาชเถระ ครั้นได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมได้อภิญญา ๖ แล้ว มีความมั่นใจตนเองมาก เมื่ออยู่ในหมู่ภิกษุหรือแม้แต่หน้าพระพักตร์ของพระศาสดา ก็จะเปล่งวาจาบันลือสีหนาทว่า ผู้ใดมีความสงสัยในมรรคและผล ผู้นั้นจงถามข้าพเจ้า เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บันลือสีหนาท

๗. บุญญาธิการ

พระปิณโฑลภารทวาชเถระนี้ ในพุทธุปบาทกาลของพระปทุมุตตระ ได้เกิดเป็นราชสีห์อยู่ในถ้ำแห่งภูเขาแห่งหนึ่ง เวลาออกไปหาเหยื่อ พระพุทธเจ้าได้เสด็จเข้าไปประทับนั่งในถ้ำของเขา แล้วทรง เข้านิโรธสมาบัติ ราชสีห์กลังมาเห็นดังนั้น ทั้งร่าเริงและยินดี บูชาด้วยดอกไม้ ทำใจให้เลื่อมใส ล่วง ๗ วันไป พระพุทธเจ้าออกจากนิโรธสมาบัติ เหาะขึ้นสู่อากาศกลับไปยังวิหาร ราชสีห์นั้นหัวใจสลายแตกตายไป เพราะความพลัดพรากจากพระพุทธเจ้า ได้บังเกิดเป็นลูกเศรษฐีในพระนครหังสวดี ครั้นเจริญวัยแล้วได้ทำบุญ คือทาน ศีล ภาวนา ตลอดมา เขาได้ทำบุญอย่างนั้นอีกนับภพและชาติไม่ถ้วน สุดท้ายได้ถึงฝั่งแห่งสาวกบารมีญาณในพุทธุปมาทกาลแห่งพระโคดม ดังได้กล่าวมา

๘. ธรรมวาทะ

การแสวงหาที่ไม่สมควร ทำให้ชีวิตอยู่ไม่ได้

อาหารไม่ใช่สร้างความสงบให้จิตใจเสมอไป

แต่ก่อนข้าพเจ้าเข้าใจว่า ร่างกายอยู่ได้เพราะอาหารจึงได้ แต่แสวงหาอาหาร การไหว้และการบูชาจากผู้คนในตระกูลทั้งหลาย นักปราชญ์ กล่าวว่า เป็นเปือกตม เป็นลูกศร ที่เล็กนิดเดียว แต่ถอนได้ยากที่สุด

คนชั้นต่ำ ยากที่จะละสักการะได้

๙. นิพพาน

แม้พระปิณโฑลภารทวาชเถระนี้ ก็เหมือนกับพระอสีติมหาสาวกทั่วไป เมื่อได้บรรลุพระอรหัตผล แล้วได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา ไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแล้วได้นิพพานดับไป ตามวิสัยของพระอรหันต์ที่ว่า ชาติสิ้นแล้ว ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว


หนังสืออ้างอิง.-

-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗

๑๘. ประวัติ พระรัฐบาลเถระ


๑๘. ประวัติ พระรัฐบาลเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

๑. สถานะเดิม

พระรัฐบาลเถระ นามเดิม รัฐบาล แปลว่า ผู้รักษาแว่นแคว้น เพราะต้นตระกูลของท่านได้ช่วย กอบกู้แคว้นที่อาศัยอยู่ ซึ่งล่มสลายทางเศรษฐกิจเอาไว้ ท่านจึงได้ชื่ออย่างนั้นตามตระกูล
บิดาและมารดา ไม่ปรากฎนาม เป็นวรรณะแพศย์
เกิดที่ถุลลโกฏฐิตนิคม แคว้นกุรุ

๒. ชีวิตก่อนบวช

พระรัฐบาลเถระ ตั้งแต่เป็นเด็กจนเจริญเติบโตได้รับการเอาใจใส่เลี้ยงดูอย่างดีจากบิดาและมารดา เพราะเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว และเป็นครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย ได้แต่งงานตั้งแต่วัยหนุ่ม แต่ไม่มีบุตรธิดา เป็นผู้มีจิตใจกว้างขวาง จึงมีเพื่อนมาก

๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังถุลลโกฏฐิตนิคม แคว้นกุรุ บ้านเกิดของท่าน ชาวกุรุได้พากันมาฟังธรรม รัฐบาลก็มาฟังธรรมด้วย หลังจากฟังธรรมแล้วประชาชนได้กลับไป ฝ่ายรัฐบาลเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลขอบวช พระพุทธเจ้าตรัสบอกเขาให้ไปขออนุญาตบิดาและมารดาก่อน

เขากลับไปบ้านขออนุญาตบิดาและมารดา เพื่อจะบวชแต่ไม่ได้รับอนุญาตจึงอดหาร บิดาและ มารดา กลัวลูกตายสุดท้ายจึงอนุญาตให้บวชตามประสงค์ เขาไปเฝ้าพระพุทธองค์แล้วทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้บวชได้ โดยมอบหมายให้พระเถระรูปหนึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์

๔. การบรรลุธรรม

เมื่อพระรัฐบาลเถระบวชได้ประมาณ ๑๕ วัน พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากถุลลโกฏฐิตนิคม ไปประทับอยู่ที่กรุงสาวัตถี โดยมีพระรัฐบาลตามเสด็จไปด้วย ท่านได้พากเพียรเจริญภาวนา ใช้เวลาถึง ๑๒ ปี จึงบรรลุพระอรหัต

๕. งานประกาศพระพุทธศาสนา

พระรัฐบาลเถระนั้น ครั้นบรรลุพระอรหันต์แล้วได้กลับไปยังแคว้นกุรุบ้านเกิดของท่าน โปรดโยมบิดาและมารดาให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ท่านพักอยู่ที่มิคจิรวันอันเป็นพระราชอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ เจ้าผู้ครองแคว้นกุรุ

ต่อมาวันหนึ่ง พระเจ้าโกรัพยะเสด็จประพาสพระราชอุทยานทอดพระเนตรเห็นท่านทรงจำได้เพราะเคยรู้จักมาก่อน จึงเสด็จเข้าไปหาเพื่อสนทนาธรรม ได้ตรัสถามว่า บุคคลบางพวกประสบความ เสื่อม ๔ อย่าง คือ ๑. ความชรา ๒. ความเจ็บ ๓. ความสิ้นโภคทรัพย์ ๔. ความสิ้นญาติ จึงออกบวช แต่ท่านไม่ได้เป็น อย่างนั้น ท่านรู้เห็นอย่างไรจึงได้ออกบวช

พระเถระได้ทูลตอบว่า ถวายพระพรมหาบพิตร ธรรมุทเทศ (หัวข้อธรรม) ๔ ประการ พระศาสดาจารย์ทรงแสดงไว้แล้ว อาตมภาพรู้เห็นตามธรรมนั้น จึงออกบวช ธรรมุทเทศ ๔ ประการนั้น มีใจความว่า

๑. โลกคือหมู่สัตว์ อันชรานำเข้าไปใกล้ความตายไม่ยั่งยืน
๒. โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่มีใครเป็นใหญ่เฉพาะตน
๓. โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีอะไรเป็นของ ๆ ทุกคน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป
๔. โลกคือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา

พระเจ้าโกรัพยะทรงเลื่อมใสธรรมะของท่าน ตรัสชมเชยท่านอย่างมาก แล้วได้ทรงลากลับไป

๖. เอตทัคคะ

พระรัฐบาลเถระ เป็นผู้มีความศรัทธาเลื่อมใสตั้งใจบวช บวชในพระพุทธศาสนา แต่กว่าจะบวชได้ก็แสนจะลำบาก ต้องเอาชีวิตเข้าแลก ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้บวชด้วยศรัทธา

๗. บุญญาธิการ

แม้พระรัฐบาลเถระนี้ ก็ได้สร้างสมบุญบารมีไว้มากมายหลายพุทธันดร จนมาได้รับพยากรณ์ว่า จะสมประสงค์ในสมัยพระพุทธองค์ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ต่อจากนั้นก็มีศรัทธาสร้างความดี ไม่มีความย่อท้อ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย จึงได้ถึงที่สุดสาวกบารมีญาณ มีประการดังกล่าวมา

๘. ธรรมวาทะ

คนมีทรัพย์ในโลกนี้ เห็นมีอยู่ (๓ ประเภท)

(๑) ได้ทรัพย์แล้วไม่แบ่งปันให้ใคร เพราะความโง่
(๒) ได้ทรัพย์แล้วทำการสะสมเอาไว้
(๓) ได้ทรัพย์แล้วปรารถนากามยิ่งขึ้น

พระราชารบชนะทั่วแผ่นดิน ครอบครองแผ่นดินจนสุดฝั่งสมุทร ฝั่งสมุทรฝั่งนี้ยังไม่พออิ่มจึงปรารถนาฝั่งโน้นอีก
บุตรธิดา ภรรยาสามี ทรัพย์และแว่นแคว้น ติดตามคนตายไปไม่ได้
เงินซื้อชีวิตไม่ได้ ช่วยให้พ้นความแก่ไม่ได้

ทั้งคนจนและคนมี ทั้งคนดีและคนชั่ว ล้วนถูกต้องผัสสะ (เห็น ได้ยิน เป็นต้น) ทั้งนั้น คนชั่วย่อมหวั่นไหว เพราะความเป็นคนพาล แต่คนดีย่อมไม่มีหวั่นไหว

๙. นิพพาน

พระรัฐบาลเถระ ครั้นจบกิจส่วนตัวของท่านแล้ว ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา ดังกล่าวมา สุดท้ายก็ได้นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน ดับสังขารตามโวหารที่ว่า ชาติสิ้นแล้ว ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว


หนังสืออ้างอิง.-

-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗

๑๗. ประวัติ พระอานนทเถระ


๑๗. ประวัติ พระอานนทเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

๑. สถานะเดิม

พระอานนทเถระ นามเดิม อานนท์ มีความหมายว่า เกิดมาทำให้พระประยูรญาติต่างยินดี
พระบิดา พระนามว่า สุกโกทนะ พระกนิฏฐภาดาของพระเจ้าสุทโธทนะ (แต่อรรถกถาส่วนมาก กล่าวว่า เป็นโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ)
พระมารดา พระนามว่า กีสาโคตมี
เกิดที่นครกบิลพัสดุ์ วรรณะกษัตริย์ เป็นสหชาติ กับพระศาสดา

๒. ชีวิตก่อนบวช

พระอานนทเถระนี้ เป็นเจ้าชายเชื้อสายศากยะพระองค์หนึ่ง จึงได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอย่างดีที่ในสมัยนั้นจะพึงทำได้ เป็นสหายสนิทของเจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายภคุ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายเทวทัต

๓. การบวชในพระพุทธศาสนา

พระอานนทเถระนี้ ได้บวชในพระพุทธศาสนาตามพระราชปรารภของพระเจ้าสุทโธทนะ ที่ประสงค์ จะให้ศากยกุมารทั้งหลายบวชตามพระพุทธองค์ จึงพร้อมด้วยพระสหายอีก ๕ พระองค์ และนายอุบาลี ผู้เป็นภูษามาลา มุ่งหน้าไปยังอนุปิยอัมพวัน แคว้นมัลละ เฝ้าพระศาสดา ทูลขอบรรพชาอุปสมบท

๔. การบรรลุธรรม

พระอานนทเถระ บวชได้ไม่นานก็บรรลุโสดาปัตติผล แต่ไม่สามารถจะบรรลุ พระอรหัตได้ เพราะต้องขวนขวายอุปัฏฐากพระพุทธองค์ ท่านได้บรรลุอรหัตผลก่อนทำปฐมสังคายนา ๑ คืน หลังพระศาสดาปรินิพพานแล้ว พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า ท่านบำเพ็ญเพียรอย่างหนักหวังจักสำเร็จ พระอรหันต์ก่อนการสังคายนา แต่ก็หาสำเร็จไม่เพราะจิตใจฟุ้งซ่าน จึงหยุดจงกรม นั่งลงบนเตียง เอียงกายลงด้วยประสงค์จะพักผ่อน พอยกเท้าพ้นจากพื้นที่ ศีรษะยังไม่ถึงหมอน ตอนนี้เอง จิตของท่านก็วิมุติหลุดพ้นจากสรรพกิเลส เป็นสมุจเฉทปหาน นับเป็นการบรรลุพระอรหันต์ แปลกจากท่านเหล่าอื่น เพราะไม่ใช่ เดิน ยืน นั่ง นอน

๕. งานประกาศพระพุทธศาสนา

พระอานนทเถระนี้ เป็นกำลังที่สำคัญยิ่งของพระศาสดาในการประกาศพระศาสนาแม้แต่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาก็ทรงเลื่อมใสท่าน ตามตำนานเล่าว่า ครั้งปฐมโพธิกาลเวลา ๒๐ ปี พระศาสดาไม่มีพระผู้อุปัฏฐากเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่งได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า บัดนี้เราแก่แล้ว ภิกษุบางพวกเมื่อเราบอกว่าจะไปทางนี้ กลับไปเสียทางอื่น บางพวกวางบาตรและจีวร ของเราไว้ที่พื้น ท่านทั้งหลายจงเลือกภิกษุสักรูปหนึ่งเพื่อเป็นอุปัฏฐากประจำตัวเรา

ภิกษุทั้งหลายได้ฟังดังนั้นรู้สึกสลดใจ ตั้งแต่พระสารีบุตรเถระเป็นต้นไป ต่างก็กราบทูลว่า จะรับหน้าที่นั้น แต่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ คงเหลือแต่พระอานนทเถระเท่านั้นที่ยังไม่ได้กราบทูล

ภิกษุทั้งหลายจึงให้พระอานนทเถระรับตำแหน่งนั้น พระเถระลุกขึ้นแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

๑. จะไม่ประทานจีวรอันประณีตที่ทรงได้แก่ข้าพระองค์
๒. จะไม่ประทานบิณฑบาตอันประณีตแก่ข้าพระองค์
๓. จะไม่ประทานให้อยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกัน
๔. จะไม่ทรงพาไปยังที่นิมนต์
๕. จะเสด็จไปยังที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์ได้รับไว้
๖. ข้าพระองค์จะนำบุคคลผู้มาจากที่อื่นเข้าเฝ้าได้ทันที
๗. เมื่อใดข้าพระองค์เกิดความสงสัย ขอให้ได้เข้าเฝ้าถามได้เมื่อนั้น
๘. ถ้าพระองค์จะทรงพยากรณ์ธรรมที่ทรงแสดงในที่ลับหลังแก่ข้าพระองค์

เมื่อเป็นอย่างนี้ข้าพระองค์จักอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า

การปฏิเสธ ๔ ข้อข้างต้นก็เพื่อจะปลดเปลื้องการติเตียนว่า อุปัฏฐากพระศาสดาเพราะเห็นแก่ ประโยชน์ส่วนตัว
การทูลขอ ๔ ข้อหลัง เพื่อจะปลดเปลื้องคำติเตียนว่า แม้เพียงเรื่องเท่านี้ก็ไม่ได้รับการอนุเคราะห์จากพระศาสดา และเพื่อจะทำขุนคลังแห่งธรรมให้บริบูรณ์

พระศาสดาทรงรับท่านเป็นพุทธอุปัฏฐาก ท่านจึงเปรียบเหมือนเงาที่ติดตามพระศาสดาไปทุกหนทุกแห่ง จนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้นำมาซึ่งความเลื่อมใสรอบด้านแก่พุทธบริษัททั้ง ๔ แม้พระศาสดาก็ทรงสรรเสริญท่านว่า เป็นพหุสูตร คือรู้พระธรรมวินัยทุกอย่าง เป็นผู้มีสติ คือมีความรอบคอบ ดังจะเห็นได้จากการทูลขอพร ๘ ประการ มีคติ คือเป็นผู้เป็นไปในอำนาจแห่งเหตุ (มีเหตุผล) ไม่ใช้อารมณ์ มีธิติ คือมีปัญญา และเป็นพุทธอุปัฏฐาก

งานประกาศศาสนาที่สำคัญที่สุดของท่าน คือ ได้รับคัดเลือกจากพระสงฆ์องค์อรหันต์ ๕๐๐ รูป ให้เป็นผู้วิสัชชนาพระธรรม คือ พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก เมื่อคราวทำสังคายนาครั้งแรก ซึ่งเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนามีความมั่นคงมาจนถึงสมัยแห่งเราทั้งหลายทุกวันนี้

๖. เอตทัคคะ

เพราะพระอานนทเถระ เป็นผู้ทรงธรรมวินัยมีความรอบคอบ หนักในเหตุผล มีปัญญาแก้ปัญหาต่างๆ และอุปัฏฐากพระศาสดา โดยไม่หวังประโยชน์ส่วนตน หวังให้เกิดผลแก่พระพุทธศาสนา ในอนาคตกาลภายภาคหน้า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงสรรเสริญท่านโดยอเนกปริยาย และตั้งไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นพหุสูตร มีสติ มีคติ มีธิติ และเป็น พุทธอุปัฏฐาก

๗. บุญญาธิการ

แม้พระอานนทเถระนี้ ก็ได้ก่อสร้างบุญทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งพระนิพพานมานานแสนนาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ได้เห็นพระสุมนเถระผู้เป็นพุทธอุปัฏฐาก ผู้สามารถจัดการให้ตนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ดังประสงค์ จึงเกิดความพอใจอยากได้ตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้บำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ ผ่านมาหลายพุทธันดร จนมาถึงกาลแห่งพระโคดมจึงได้สมความปรารถนา

๘. ธรรมวาทะ

ผู้เป็นบัณฑิต ไม่ควรทำความเป็นสหายกับคนส่อเสียด คนมักโกรธ คนตระหนี่ และคนชอบ เห็นความวิบัติของคนอื่น การคบกับคนชั่วนั้นเป็นความต่ำช้า

ผู้เป็นบัณฑิต ควรทำความเป็นสหายกับคนมีศรัทธา มีศีล มีปัญญา และเป็นคนสนใจใคร่ศึกษา การคบกับคนดีเช่นนั้น เป็นความเจริญแก่ตน

๙. นิพพาน

พระอานนทเถระ เมื่อพิจารณาเห็นว่า ถึงเวลาสมควรจะนิพพาน จึงไปยังแม่น้ำโรหิณี ซึ่งกั้นกลางระหว่างศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ แล้วเหาะขึ้นสู่อากาศนิพพาน อธิษฐานให้ร่างกายแตกออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งตกลงข้างพระญาติฝ่ายศากยวงศ์ อีกส่วนหนึ่งตกลงข้างพระญาติฝ่ายโกลิยวงศ์ เพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาทของพระญาติทั้ง ๒ ฝ่าย


หนังสืออ้างอิง.-

-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗

๑๖. ประวัติ พระอนุรุทธเถระ


๑๖. ประวัติ พระอนุรุทธเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

๑. สถานะเดิม

พระอนุรุทธะเถระ พระนามเดิม เจ้าชายอนุรุทธะ เป็นพระนามที่พระญาติทั้งหลายขนานให้
พระบิดา พระนามว่า อมิโตทนะ เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ
ประสูติที่พระราชวังนครกบิลพัสดุ์ เป็นวรรณะกษัตริย์

๒. ชีวิตก่อนบวช

เจ้าชายอนุรุทธะ มีพี่น้องร่วมพระมารดาเดียวกัน ๒ พระองค์ คือ ๑. พระเชษฐา พระนามว่า เจ้าชายมหานามะ ๒. พระกนิษฐภคินี พระนามว่า โรหิณี

เจ้าชายอนุรุทธะ เป็นผู้มีบุญญาธิการสูง เป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง และเป็นผู้มีปัญญามาก ไม่รู้จักแม้ แต่คำว่า ไม่มี

๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา

พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำการสงเคราะห์ พระญาติ ตามหน้าที่แล้วได้ให้พระราหุลกุมารบรรพชา ไม่นานนักทรงจาริกออกจากนครกบิลพัสดุ์ไปยังมัลลรัฐ แล้วประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน

ทางฝ่ายพระนครกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะได้ตรัสเรียกเจ้าศากยะทั้งหลายมาประชุมกัน ตรัสว่า บัดนี้บุตรของเราเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว มีกษัตริย์เป็นอันมากเป็นบริวาร ท่านทั้งหลายจงให้ เด็กชายจากตระกูลหนึ่ง ๆ บวชบ้าง ขัตติยกุมารชาวศากยะเป็นอันมากได้ออกบวชตามพระศาสดา

สมัยนั้น เจ้าชายมหานามะ เสด็จเข้าไปหาเจ้าชายอนุรุทธะ ตรัสว่า พ่ออนุรุทธะ บัดนี้ ศากยกุมารผู้มีชื่อเสียงพากันบวชตามพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ตระกูลของเรายังไม่มีใครบวชเลย เธอหรือพี่จะต้องบวช ในที่สุดเจ้าชายอนุรุทธะตัดสินพระทัยบวชเอง จึงพร้อมด้วยกษัตริย์อีก ๕ พระองค์คือ ภัททิยะ อานันทะ ภคุ กิมพิละ และเทวทัต พร้อมกับอุบาลีภูษามาลา ได้ไปเฝ้าพระศาสดาที่อนุปิยอัมพวัน ทูลขอบรรพชาอุปสมบท โดยให้อุบาลีบวชก่อน เพื่อกำจัดขัตติยมานะ

๔. การบรรลุธรรม

พระอนุรุทธเถระนี้ ครั้นบวชแล้วได้เรียนกรรมฐานในสำนักพระธรรมเสนาบดี แล้วได้ไปประจำอยู่ที่ปาจีนวังสทายวัน ในเจติยรัฐ บำเพ็ญสมณธรรม ตรึกมหาปุริสวิตกได้ ๗ ข้อ คือ

๑. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ของผู้มีความมักมาก
๒. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สันโดษยินดีด้วยของที่มีอยู่ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ
๓. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่คณะ
๔. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้ปรารถนาความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน
๕. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีสติมั่นคง ไม่ใช่ของคนหลง
๖. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีใจมั่นคง ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่มั่นคง
๗. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของผู้ทรามปัญญา

พระศาสดาทรงทราบว่า ท่านลำบากในมหาปุริสวิตกข้อที่ ๘ จึงเสด็จไปยังที่นั้น ตรัสอริยวังสปฏิปทา ว่าด้วยการอบรมความสันโดษในปัจจัย ๔ และยินดีในการเจริญกุศลธรรม แล้วตรัสมหาปุริสวิตก ข้อที่ ๘ ให้ บริบูรณ์ว่า

๘. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมที่เนิ่นช้า

พอเมื่อพระศาสดาเสด็จไปยังเภสกลาวัน ท่านพระอนุรุทธเถระ ก็ได้เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ เป็นพระอรหันต์ มีวิชา ๓

๕. งานประกาศพระศาสนา

พระอนุรุทธเถระ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา เพราะท่านชำนาญในทิพพจักษุญาณ จึงเป็นพระที่เทวดาและมนุษย์เคารพนับถือ ท่านมีอายุอยู่มานาน หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ได้เป็นอาจารย์ของหมู่คณะ มีสัทธิวิหาริก และอันเตวาสิกมาก แม้ในการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๒ ก็ยังมีศิษย์ที่สืบเชื้อสายจากท่านเข้าร่วมด้วยที่ปรากฎชื่อ คือ พระอาสภคามีและพระสุมนะ

ชีวประวัติของท่านก็น่าศรัทธาเลื่อมใส จากผู้ที่เป็นสุขุมาลชาติที่สุด ไม่รู้จักและไม่เคยได้ยินคำว่า ไม่มี ต้องการอะไรได้ทั้งนั้น แต่เมื่อเข้าบวชในพระพุทธศาสนาแล้วกลับเป็นผู้มักน้อยสันโดษ เก็บผ้าจากกองขยะมาทำไตรจีวรนุ่งห่ม โดยไม่มีความรังเกียจ กลับมีความยินดีว่านั่นเป็นการ ปฏิบัติตามนิสัย คือที่พึ่งพาอาศัยของภิกษุ ๔ ประการ

๖. เอตทัคคะ

ดังได้กล่าวแล้วว่า พระอนุรุทธเถระได้บรรลุพระอรหัตพร้อมวิชา ๓ คือ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพพจักขุญาณ และอาสวักขยญาณ ตามปกตินอกจากเวลาฉันภัตตาหารเท่านั้น นอกนั้นท่านจะพิจารณา ตรวจดูสัตวโลกด้วยทิพพจักขุญาณ (เปรียบกับคนธรรมดาก็เหมือนกับ ผู้มีใจเอื้ออาทรคอยเอาใจใส่ดูแล ทุกข์สุขของผู้อื่นตลอดเวลา) เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงยกย่องท่านว่าเป็นผู้เลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้ได้ทิพพจักขุญาณ

๗. บุญญาธิการ

พระอนุรุทธเถระนี้ ได้สร้างสมบุญกุศลที่จะอำนวยผลให้เกิดทิพยจักษุญาณในพุทธกาลเป็นอันมาก คือได้ทำการบูชาด้วยประทีปอันโอฬารที่พระสถูปเจดีย์ ด้วยผลบุญอันนี้จึงทำให้ได้ บรรลุทิพยจักษุญาณ สมกับปณิธานที่ตั้งไว้

๘. ธรรมวาทะ

ครั้งหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธเถระพร้อมกับพระนันทิยะและพระกิมพิละไปจำพรรษา ณ ป่าโคสิงคสาลวัน พระศาสดาเสด็จไปเยี่ยม ตรัสถามถึงความเป็นอยู่ ท่านกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้ง ๓ อยู่ด้วยกันอย่างผาสุก ต่างก็อยู่ด้วยกันอย่างตั้งเมตตาทางกาย ทางวาจา และทางใจต่อกัน พยายามไม่ทำอะไรตามใจตน แต่รู้จักทำตามใจผู้อื่น ข้าพระองค์ทั้ง ๓ แม้จะมีกายต่างกัน แต่มีจิตใจเสมือนเป็นอันเดียวกัน

๙. นิพพาน

พระอนุรุทธเถระ ครั้นได้เป็นพระขีณาสพ สิ้นชาติสิ้นภพ อยู่จบพรหมจรรย์ เสร็จหน้าที่ส่วน ตัวของท่านแล้วได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา จนถึงพระศาสดาปรินิพพาน ก็ได้ร่วมอยู่ใน เหตุการณ์นั้นด้วย เป็นผู้ที่รู้ว่าพระศาสดานิพพานเมื่อไร อย่างไร สุดท้ายท่านเองก็ได้ละสังขารนิพพาน ไปตามสัจธรรม


หนังสืออ้างอิง.-

-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗

๑๕. ประวัติ พระภัททิยเถระ


๑๕. ประวัติ พระภัททิยเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

๑. สถานะเดิม

พระภัททิยเถระ พระนามเดิม ภัททิยะ
พระบิดา ไม่ปรากฎพระนาม
พระมารดา พระนามว่า กาฬีโคธาราชเทวี เป็นพระนางศากยกัญญาในนครกบิลพัสดุ์
เกิดที่พระนครกบิลพัสดุ์ ในวรรณกษัตริย์

๒. ชีวิตก่อนบวช

พระภัททิยเถระ ก่อนบวชเป็นเจ้าชายเชื้อสายศากยะพระองค์หนึ่ง มีพระสหายสนิท คือ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภคุ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายเทวทัตแห่งเมืองเทวทหะ

๓. การเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา

เมื่อเจ้าชายภัททิยะ เจริญเติบโตแล้ว ได้เสวยราชสมบัติสืบศากยวงศ์ ต่อมาถูกเจ้าชายอนุรุทธะ ซึ่งเป็นพระสหายสนิทชักชวนให้ออกบวช จึงได้ทูลลาพระมารดา สละราชสมบัติเสด็จออกไปเฝ้าพระศาสดา ที่อนุปิยนิคมแคว้นมัลละ พร้อมด้วยพระราชกุมาร ๕ พระองค์ คือ อนุรุทธะ อานันทะ ภคุ กิมพิละ และเทวทัต รวมทั้งนายภูษามาลา นามว่า อุบาลีด้วย จึงเป็น ๗ คน ได้ทูลขอบวชในพระธรรมวินัย โดยให้อุบาลีบวชก่อน เพื่อกษัตริย์ทั้ง ๖ จะได้ทำความเคารพกราบไหว้ เป็นการทำลายมานะ คือความถือตัวเพราะชาติซึ่งมีอยู่มาก สำหรับศากยกษัตริย์ทั้งหลาย

พระภัททิยะ บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน เป็นผู้ไม่ประมาท พากเพียรพยายามบำเพ็ญ สมณธรรม ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลภายในพรรษาที่บวชนั่นเอง

๔. งานประกาศพระศาสนา

พระภัททิยเถระนี้ แม้ในตำนานจะไม่ได้บอกว่าท่านได้ใครมาเป็นศิษย์ก็ตาม แต่ชีวประวัติของท่าน ก็นำพาให้อนุชนสนใจพระพุทธศาสนาได้มากทีเดียว ในสมัยเป็นคฤหัสถ์ท่านเป็นราชา เมื่อมาบวช ท่านสำเร็จพระอรหันต์ ท่านจะอยู่ตามโคนไม้ ป่าช้า และเรือนว่าง จะเปล่งอุทานเสมอว่า สุขหนอ ๆ ภิกษุทั้งหลายได้ ยินเช่นนั้นเข้าใจผิดคิดว่า ท่านเบื่อหน่ายพรหมจรรย์ เรียกหาความสุขในสมัยเป็นราชา จึงกราบทูลพระศาสดา พระศาสดาตรัสเรียกท่านมา แล้วตรัสถามว่า จริงหรือภัททิยะที่เธอเปล่งอุทาน อย่างนั้น ท่านกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า เธอมีความรู้สึกอย่างไรจึงได้เปล่งอุทานเช่นนั้น ท่านได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต้องจัดการรักษาป้องกันทั้งภายใน และภายนอกทั่วอาณาเขต แม้ข้าพระองค์จัดการอารักขาอย่างนี้ก็ยังต้องหวาดสะดุ้งกลัวภัยอยู่เป็นนิตย์ แต่บัดนี้ข้าพระองค์ถึงจะอยู่ป่า โคนต้นไม้ หรือในเรือนว่าง ก็ไม่รู้สึกหวาดกลัว หรือสะดุ้งต่อภัยใด ๆ เลย อาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้เลี้ยงชีพวันละมื้อ จิตใจเป็นอิสระ ไม่มีพันธะใด ๆ ข้าพระองค์มีความรู้สึก อย่างนี้ จึงได้เปล่งอุทานอย่างนั้น พระเจ้าข้า พระศาสดาทรงทราบเช่นนั้น จึงทรงชมเชยท่าน เรื่องนี้ ให้ข้อคิดว่า อาวุธรักษา สู้ธรรมรักษาไม่ได้

๕. เอตทัคคะ

พระภัททิยเถระนี้ ท่านเกิดในวรรณะกษัตริย์ และได้เสวยราชสมบัติเป็นราชาแล้ว ได้สละราช สมบัติออกบวชด้วยเหตุนั้น จึงได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุ ทั้งหลาย ผู้เกิด ในตระกูลสูง

๖. บุญญาธิการ

แม้พระภัททิยเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็น อุปนิสัยปัจจัยแห่งพระนิพพานในพุทธุปบาทกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เกิดในตระกูลอันสมบูรณ์ ด้วยสมบัติ เจริญวัย ได้ภรรยาและบุตรธิดาแล้ว มีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำเสด็จมาสู่เรือนของตน ได้ถวายภัตตาหารแล้วได้ถวายอาสนะที่ ปูลาดด้วยเครื่องปูลาดอันงดงาม ต่อมาได้ทำบุญ มีทาน ศีล และภาวนาเป็นประธาน ตลอดกาลยาวนาน จนได้บรรลุสาวกบารมีญาณ ในชาติสุดท้าย ฆราวาสวิสัยได้เป็นราชา ออกบรรพชาได้สำเร็จพระอรหันต์

๗. ธรรมวาทะ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนโน้น ข้าพระองค์ครองราชสมบัติ ได้จัดการอารักขาไว้อย่างดี ในที่ทุกสถาน ถึงกระนั้นก็ยังอยู่ด้วยความกลัวภัย หลับไม่สนิทมีจิตคิดระแวง แต่บัดนี้ ข้าพระองค์บวชแล้ว อยู่อย่างไม่มีภัย หลับได้สนิท ไม่มีเรื่องให้ต้องคิดระแวง

๘. นิพพาน

พระภัททิยเถระนี้ ท่านได้บรรลุผลสูงสุดในพระพุทธศาสนา สิ้นชาติ สิ้นภพ อยู่จบพรหมจรรย์ กิจส่วนตัวของท่านไม่มี มีแต่หน้าที่ประกาศพระศาสนา นำมาซึ่งประโยชน์และความสุขแก่สังคม สุดท้ายท่านได้ นิพพานตามธรรมดาของสังขารที่เกิดมาแล้วต้องดับไป


หนังสืออ้างอิง.-

-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗

๑๔. ประวัติ พระอุบาลีเถระ


๑๔. ประวัติ พระอุบาลีเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

๑. สถานะเดิมjavascript:void(0)

พระอุบาลีเถระ นามเดิม อุบาลี เป็นนามที่ญาติทั้งหลายตั้งให้ หมายความว่า ประกอบด้วย กายและจิตใกล้ชิดกับกษัตริย์ทั้งหลาย เพราะออกไปบวชพร้อมกัน

บิดา และมารดาไม่ปรากฎนาม
เกิดในเรือนของช่างกัลบก ของศากยกษัตริย์ในนครกบิลพัสดุ์

๒. ชีวิตก่อนบวช

อุบาลีนั้น ครั้นเจริญวัยแล้วได้เป็นสหายรักแห่งกษัตริย์ทั้ง ๖ มีเจ้าอนุรุทธะเป็นต้น จึงได้รับ แต่งตั้งให้เป็นนายภูษามาลาประจำพระองค์

๓. การบวชในพระพุทธศาสนา

เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวันแห่งมัลลกษัตริย์ทั้งหลาย เมื่อพระโอรสของศากยกษัตริย์ทั้งหลายบวชกันเป็นจำนวนมาก เหล่าพระญาติเห็นศากยะ ๖ พระองค์เหล่านี้ คือ ภัททิยราชา อนุรุทธะ อานันทะ ภคุ กิมพิละ และเทวทัต ยังไม่ได้ออกบวช จึงสนทนากันว่า คนอื่นเขาให้ลูก ๆ บวชกัน คนจากตระกูลเรายังไม่ได้ออกบวชเลย เหมือนกับไม่ใช่ญาติของพระศาสดา ในที่สุดกษัตริย์ทั้ง ๖ จึงตัดสินพระทัยออกบวช โดยมีนายอุบาลีภูษามาลาตามเสด็จไปด้วย เมื่อเข้าสู่แว่นแคว้นกษัตริย์อื่น จึงให้นายอุบาลีกลับ นายอุบาลีกลับมาได้หน่อยหนึ่ง ได้ตัดสินใจบวชบ้าง แล้วได้ร่วมเดินทางไปกับ กษัตริย์ทั้ง ๖ นั้น จึงรวมเป็น ๗ คนด้วยกัน เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ที่อนุปิยอัมพวัน กษัตริย์ทั้ง ๖ ได้กราบทูลว่า ของพระองค์โปรดบวชให้อุบาลีก่อน ข้าพระองค์ทั้งหลายจะได้ทำสามีจิกรรม มีการอภิวาทเป็นต้นแก่เขา วิธีนี้จะทำให้มานะของพวกข้าพระองค์ สร่างสิ้นไป พระศาสดาได้ทรงจัดการบวชให้พวกเขาตามประสงค์

๔. การบรรลุธรรม

พระอุบาลีเถระนั้น ครั้นบวชแล้ว เรียนกรรมฐานในสำนักพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทรงอนุญาตให้ข้าพระองค์อยู่ป่า พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เมื่ออยู่ป่า ธุระอย่างเดียวเท่านั้นจักเจริญงอกงาม แต่เมื่ออยู่ในสำนักของเรา ทั้งวิปัสสนาธุระ และคันถธุระจะบริบูรณ์ พระอุบาลีนั้นรับพระดำรัสของพระศาสดาแล้ว กระทำวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต

๕. งานประกาศพระพุทธศาสนา

พระศาสดาทรงสอนพระวินัยปิฎกทั้งสิ้นแก่พระอุบาลีนั้นด้วยพระองค์เอง ท่านจึงเป็นผู้ทรงจำ และชำนาญในพระวินัยปิฎก ครั้นพระศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้มีการทำสังคายนา พระธรรมวินัยครั้งแรกโดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน พระสงฆ์ได้เลือกท่านเป็นผู้วิสัชชนา พระวินัยปิฎก ทำให้พระพุทธศาสนาดำรงมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้

๖. เอตทัคคะ

ดังได้กล่าวแล้วว่า พระอุบาลีเถระ ได้เรียนพระวินัยปิฎกทั้งหมดจากพระโอษฐ์ของพระศาสดา โดยตรง จึงมีความชำนาญในพระวินัย ท่านได้วินิจฉัยเรื่องภารุกัจฉะ เรื่องอัชชุกะ และเรื่องกุมารกัสสปะ ได้ถูกต้องตามธรรมวินัย เป็นเหตุให้พระศาสดาประทานสาธุการ และทรงถือเรื่องนั้นเป็นอัตถุปัตติเหตุ (เป็นต้นเรื่อง) แล้วทรงตั้งท่านไว้ในฐานะที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นวินัยธร (ผู้ทรงพระวินัย)

๗. บุญญาธิการ

พระอุบาลีเถระนั้น ได้กระทำบุญญาธิการอันเป็นปัจจัยเกื้อกูลแก่พระนิพพานมานานแสนนาน จนกระทั่งถึงสมัยแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ อันสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ วันหนึ่งไปฟังธรรมของพระศาสดาได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงพระวินัย ศรัทธา เลื่อมใส ปรารถนาฐานันดรนั้น จึงสร้างสมบุญกุศลตลอดมาหลายพุทธันดร สุดท้ายได้สมปรารถนาในพระศาสนาของพระสมณโคดม ศาสดาแห่งพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้

๘. ธรรมวาทะ

ข้าแต่พระธีรเจ้า ในนครธรรมของพระองค์นั้นมีศีลเป็นดังกำแพง มีพระญาณเป็นดังซุ้มประตู ศรัทธาเป็นดังเสาระเนียด สังวรเป็นดังนายประตู สติปัฏฐานเป็นดังป้อม ปัญญาเป็นดังทางสี่แพร่ง อิทธิบาทเป็นดังทางสามแพร่ง

พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม และพระพุทธพจน์อันมีองค์ ๙ ทั้งสิ้น เป็นดังธรรมสภา ในนครธรรมของพระองค์

ยาสำรอกของบุคคลบางพวก เป็นยาถ่ายของบุคคลบางพวก ยาพิษร้ายของบุคคลบางพวก เป็นยารักษาโรคของบุคคลบางพวก

ใคร ๆ เห็นผ้ากาสาวพัสด์อันเขาทิ้งไว้ที่หนทาง เปื้อนของไม่สะอาด เป็นธงชัยของฤาษี พึงประนม มือไหว้ เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยธงชัยนั้น

๙. นิพพาน

พระอุบาลีเถระ ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาในขณะที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ และ หลังจากที่พระองค์ปรินิพพานแล้ว ก็ได้ร่วมทำสังคายนาครั้งแรก โดยเป็นผู้วิสัชชนาพระวินัย สุดท้ายได้นิพพาน ดังประทีปที่โชติช่วงชัชวาลเต็มที่แล้วค่อย ๆ มอดดับไป


หนังสืออ้างอิง.-

-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗

๑๓. ประวัติ พระราหุลเถระ


๑๓. ประวัติ พระราหุลเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

๑. สถานะเดิม

พระราหุลเถระ นามเดิม ราหุล เป็นพระนามที่ตั้งตามอุทานของพระสิทธัตถะ พระราชบิดา ที่ตรัสว่า ราหุลํ ชาตํ เครื่องผูกเกิดขึ้นแล้ว เมื่อทรงทราบข่าวว่า พระกุมารประสูติ

พระบิดา ทรงพระนามว่า สิทธัตถะ
พระมาร ทรงพระนามว่า ยโสธรา หรือ พิมพา
ประสูติที่พระราชวังในนครกบิลพัสดุ์

๒. ชีวิตก่อนบวช

หลังจากราหุลกุมารประสูติ เจ้าชายสิทธัตถะพระราชบิดาได้เสด็จออกบรรพชา พระกุมารเจริญ ด้วยสมบัติทั้ง ๒ คือ ชาติสมบัติ เกิดในวรรณกษัตริย์ และปฏิบัติสมบัติ มีความประพฤติดีงาม จึงทรงเจริญด้วยขัตติยบริวารเป็นอันมาก และได้รับการเลี้ยงดูอย่างพระราชกุมารทั้งหลาย

๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา

พระศาสดาเสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ในวันที่ ๓ ทรงบวชให้นันทกุมาร ในวันที่ ๗ พระมารดา พระราหุลทรงให้พระกุมารไปทูลขอมรดกกับพระองค์ พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า กุมารนี้อยากได้ทรัพย์ของบิดา แต่ว่าทรัพย์นั้นพันธนาใจให้เกิดทุกข์ ไม่สุขจริง เราจะให้ทรัพย์ประเสริฐยิ่ง ๗ ประการ ที่เราชนะมารได้มา จึงรับสั่งหาท่านพระสารีบุตร มีพุทธดำรัสว่า สารีบุตร เธอจงจัดการให้ราหุลกุมารนี้บรรพชา

๔. วิธีบวช

พระเถระรับพุทธบัญชา แต่ว่าพระกุมารนั้นยังเล็กเกินไป อายุได้ ๗ ปี ไม่ควรที่จะเป็นสงฆ์ จึงทูลถามพระพุทธองค์ถึงวิธีบรรพชา พระศาสดาตรัสให้ใช้ตามวิธีติสรณคมนูปสัมปทา เปล่งวาจาถึง พระรัตนตรัย ให้พระกุมารบวช วิธีนี้ได้ใช้กันสืบมาถึงทุกวันนี้ เรียกว่า บวชเณร

พระราหุลเถระนี้จึงได้เป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา ครั้นเวลาพ้นผ่านอายุกาลครบ ๒๐ ปี จึงอุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรม

ในสมัยเป็นสามเณร ท่านสนใจใคร่ศึกษาพระธรรมวินัย ลุกขึ้นแต่เช้าเอามือทั้งสองกอบทรายได้เต็ม แล้วตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ตนได้รับโอวาทจากพระศาสดาหรือพระอุปัชฌาย์อาจารย์จดจำ และเข้าใจให้ได้จำนวนเท่าเม็ดทรายในกอบนี้

วันหนึ่งท่านอยู่ในสวนมะม่วงแห่งหนึ่ง พระศาสดาเสด็จเข้าไปหา แล้วตรัสจูฬราหุโลวาทสูตร แสดงโทษของการกล่าวมุสา อุปมาเปรียบกับน้ำที่ทรงคว่ำขันเททิ้งไปว่า ผู้ที่กล่าวมุสาทั้งที่รู้อยู่แก่ใจ ความเป็นสมณะ ของเขาก็ไม่ต่างอะไรกับน้ำในขันนี้ แล้วทรงชี้ให้เห็นว่า ไม่มีบาปกรรมอะไร ที่ผู้หมดความละอายใจกล่าวเท็จ ทั้ง ๆ ที่รู้จะทำไม่ได้

ต่อมาได้ฟังมหาราหุโลวาทสูตรใจความว่า ให้พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นธาตุ ๕ ประการ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ ตัดความยึดถือว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเราแล้วตรัสสอน ให้อบรมจิตคิดให้เหมือนกับธาตุแต่ละอย่างว่า แม้จะมีสิ่งที่น่าปรารถนา หรือไม่น่าปรารถนา ถูกต้อง ก็ไม่มีอาการพอใจรักใคร่ หรือ เบื่อหน่ายเกลียดชัง

สุดท้ายทรงสอนให้เจริญเมตตาภาวนา เพื่อละพยาบาท เจริญกรุณาภาวนา เพื่อละวิหิงสา เจริญมุทิตาภาวนา เพื่อละความริษยา เจริญอุเบกขาภาวนา เพื่อละความขัดใจ เจริญอสุภภาวนา เพื่อละราคะ เจริญอนิจจสัญญาภาวนา เพื่อละอัสมิมานะ ท่านได้พยายามฝึกใจไปตามนั้น ในที่สุดได้สำเร็จพระอรหัตผล

๕. งานประกาศพระศาสนา

พระราหุลเถระนี้ ถึงแม้จะไม่มีในตำนานว่า ท่านได้ใครมาเป็นศิษย์บ้าง แต่ปฏิปทาของท่าน ก็นำมาซึ่งความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแก่บุคคลผู้ได้ศึกษาประวัติของท่านในภายหลัง ว่าท่านนั้นพร้อม ด้วยสมบัติ ๒ ประการ คือ ชาติสมบัติ และปฏิปัตติสมบัติ เป็นผู้ไม่ประมาทรักษา ศีล เหมือนนกต้อยตีวิด รักษาฟองไข่ เหมือนจามรีรักษาขนหาง สนใจใคร่ศึกษา เคารพอุปัชฌาย์อาจารย์ มีปัญญารู้ทั่วถึงธรรม มีความยินดีในพระศาสนา

๖. เอตทัคคะ

พระราหุลเถระนี้ เป็นผู้ใคร่ในการศึกษา ดังได้กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้รับยกย่องจาก พระศาสดาว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ใคร่ในการศึกษา

๗. บุญญาธิการ

พระราหุลเถระนี้ ได้บำเพ็ญบุญญาธิการ อันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานนานแสนนานหลาย พุทธกาล ผ่านมาในกาลแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ได้บังเกิดในเรือนผู้มีสกุล ครั้นรู้เดียงสาแล้ว ได้ฟังธรรมของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในฐานะที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ใคร่ต่อการศึกษา จึงปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง แล้วได้สร้างความดีมากมาย มีการทำความสะอาดเสนาสนะ และการทำประทีปให้สว่างไสวเป็นต้น ผ่านพ้นไปอีกหลายพุทธันดร สุดท้ายได้รับพร ที่ปรารถนาไว้ในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าของ เราทั้งหลาย ดังได้กล่าวมา

๘. ธรรมวาทะ

สัตว์ทั้งหลาย เป็นดังคนตาบอด เพราะไม่เห็นโทษในกาม ถูกข่ายคือตัณหาปกคลุมไว้ ถูกหลังคาคือ ตัณหาปกปิดไว้ ถูกมารผูกไว้ด้วยเครื่องผูกคือความประมาท เหมือนปลาที่ติดอยู่ในลอบ

เราถอนกามนั้นขึ้นได้แล้ว ตัดเครื่องผูกของมารได้แล้ว ถอนตัณหาพร้อมทั้งรากขึ้นแล้ว เป้นผู้เยือกเย็น ดับแล้ว

๙. นิพพาน

พระราหุลเถระ ครั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาตลอด อายุไขยของท่าน สุดท้ายได้นิพพานดับสังขาร เหมือนกับไฟที่เผาเชื้อหมดแล้วก็ดับไป ณ แท่นกัมพลศิลาอาสน์ ที่ประทับของท้าวสักเทวราช


หนังสืออ้างอิง.-

-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗

๑๒. ประวัติ พระนันทเถระ


๑๒. ประวัติ พระนันทเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

๑. สถานะเดิม

พระนันทเถระ พระนามเดิมว่า นันทะ เป็นพระนามที่พระประยูรญาติทรงขนานให้ เพราะความดีใจในวันที่พระกุมารประสูติ
พระบิดา ทรงพระนามว่า สุทโธทนะ พระมารดา ทรงพระนามว่า มหาปชาบดีโคตมี
ประสูติในพระราชวังแห่งกบิลพัสดุ์นคร

๒. ชีวิตก่อนบวชในพระพุทธศาสนา

นันทกุมาร เป็นผู้มีผิวพรรณเหมือนทองคำ รูปร่างสง่างามสูงใหญ่คล้ายพระมหาบุรุษ ทรงได้รับการเลี้ยงดู และการศึกษาเยี่ยงโอรสของมหาราชาทั่วไป ครั้นเจริญวัยพระราชบิดาได้จัดพิธีอาวาหมงคลกับนางชนบทกัลยาณีที่พระราชนิเวศน์อย่างยิ่งใหญ่

๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา

เมื่อพระศาสดาเสด็จมายังกบิลพัสดุ์ โดยทรงอนุมัติตามคำอาราธนาของพระกาฬุทายีเถระ วันแรกทรงกระทำฝนโบกขรพรรษ (ฝนเหมือนน้ำตกบนใบบัวไม่เปียกใคร) ให้เป็นอัตถุปบัตติเหตุ คือต้นเรื่องที่จะเทศนาเวสสันดรชาดก วันที่ ๒ ทรงโปรดพระชนกให้เป็นโสดาบันมั่นในพระศาสนา ด้วยพระคาถาว่า

"บรรพชิตไม่พึงประมาทในบิณฑบาตอันตนพึงลุกขึ้นยืนรับ บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต เพราะผู้ประพฤติธรรมอยู่เสมอ ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า แล้วได้เสด็จไปยัง พระราชนิเวศน์เทศนาโปรดพระนางมหาปชาบดีให้เป็นพระโสดาบัน และเลื่อนชั้นพระบิดาขึ้นเป็น สกทาคามี ด้วยพระอนุศาสนีว่า บุคคล พึงประพฤติธรรมให้สุจริต อย่าประพฤติธรรมแบบทุจริต เพราะผู้ประพฤติธรรมอยู่เสมอ ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า"

ในวันที่ ๓ ทรงเสด็จยังพระราชนิเวศน์เพื่อบิณฑบาตในวโรกาสอาวาหมงคลของนันทกุมาร ให้เธอรับบาตร ตรัสมงคลแก่เขาจบแล้ว ไม่รับเอาบาตรกลับมา เสด็จมุ่งหน้าไปยังวิหารให้นันทกุมารถือบาตรตามไปด้วยจิตใจร้อนรนคิดถึงคนที่ตนรัก ถึงสำนักนิโครธาราม ได้ตรัสถามว่าจะบวชหรือนันทะ พระกุมารไม่อาจปฏิเสธเพราะเหตุแห่งความเคารพและเกรงใจในพระศาสดา จึงทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะบวช

๔. วิธีบวช

ในอรรถกถาธรรมบทกล่าวว่า พระศาสดาทรงนำนันทกุมารไปสู่วิหารด้วยการให้ถือบาตรตามไป ครั้นถึงวิหารแล้ว ตรัสว่า นันทะ เธออยากบวชไหม นันทกุมารนั้นด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า จึงไม่ทูลว่า ข้าพระองค์ไม่บวช ทูลว่า จะบวชพระเจ้าข้า พระศาสดารับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงบวชให้นันทะเถิด จึงสันนิษฐานว่า พระนันทเถระบวชด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาอุปสัมปทา เพราะท่านบวชด้วยความจำใจ ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา จึงไม่ปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ ทุกคืนและวัน มีแต่ความเบื่อหน่ายทุรนทุรายเหมือนสัตว์ป่าถูกขังกรง พระพุทธองค์ทรงใช้อุบายอันแยบคาย ทำลายความรู้สึกนั้น ให้หันมาบำเพ็ญวิปัสสนา ในไม่ช้าก็ได้บรรลุอรหัตผล หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง

๕. งานประกาศพระศาสนา

พระนันทเถระ ครั้นสำเร็จพระอรหัตผลแล้วคงช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาเหมือนกับ พระสาวกผู้ใหญ่ทั้งหลาย แม้ตำนานจะไม่ได้กล่าวไว้ว่าท่านมีสัทธิวิหาริก อันเตวาสิกและศิษยานุศิษย์ อยู่ที่ไหนบ้างก็ตาม แต่ปฏิปทาของท่านก็ควรแก่การศึกษา และนำมาเป็นตัวอย่างของคนผู้เกิดมา ในภายหลังว่า คนเรานั้นจะอยู่ในสภาพอย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ประมาท มีความเพียร เอาจริงเอาจัง ก็สามารถชนะทุกสิ่งทุกอย่างได้ แม้กระทั่งกิเลสในใจของตนเอง

อนึ่ง ปฏิปทาของพระนันทเถระ ยังเป็นเหตุให้พระศาสดาทรงเปล่งอุทานว่า เปือกตมคือกามใคร ข้ามได้ หนามคือกามผู้ใดทำลายแล้ว ผู้นั้นสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวทั้งในความสุขและความทุกข์

๖. เอตทัคคะ

พระนันทเถระได้รับความทุกข์ทรมานในด้านจิตใจ เพราะความคิดถึงนางชนบทกัลยาณี และได้รับความอับอายที่ถูกเพื่อนพรหมจารีล้อว่า ประพฤติพรหมจรรย์เพราะอยากได้นางอัปสร จึงคิดว่า ที่เราต้องประสบกับเรื่องแปลกประหลาดเช่นนี้ก็เพราะเราไม่สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ นั่นเอง ดังนี้แล้ว เกิดความอุตสาหะมีหิริและโอตตัปปะเป็นกำลัง ตั้งความสำรวมอินทรีย์อย่างสูงสุด พระศาสดาทรงทราบดังนั้น จึงทรงตั้งท่านในเอตทัคคะว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้สำรวมอินทรีย์

๗. บุญญาธิการ

แม้พระเถระรูปนี้ ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในสำนักของพระพุทธเจ้ามากมายหลายพระองค์ ได้เห็นพระปทุมุตตรศาสดา ทรงสถาปนาพระเถระรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเลิศกว่า ภิกษุทั้งหลายในด้านความสำรวมอินทรีย์ จึงมีกุศลฉันทะปรารถนาตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง ได้ก่อสร้าง บุญกุศล พระทศพลทรงพยากรณ์ว่า จะได้สมใจหวัง จึงได้ตั้งใจทำแต่ความดีที่เป็นอุปนิสัยปัจจัย แห่งตำแหน่งนั้น ลุถึงกาลแห่งพระโคดม จึงได้สมความปรารถนา ใช้เวลาหนึ่งแสนกัปป์

๘. ธรรมวาทะ

เพราะไม่พิจารณาให้ลึกซึ้งถึงความจริงของชีวิต คนเราจึงติดอยู่กับร่างกาย ขวนขวายแต่ การแต่งตัว ลุ่มหลงเมามัวในกามารมณ์

แต่พระโคดม ทรงสอนให้รู้ซึ้งถึงชีวิตเราจึงเปลื้องจิตจากพันธนาการ พ้นสถานแห่งภพสาม (สู่ความสุขอย่างแท้จริง)

๙. นิพพาน

พระนันทเถระ ครั้นสำเร็จพระอรหันต์แล้ว ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาตามความสามารถ เป็นแบบอย่างแห่งผู้สำรวมอินทรีย์ไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย เมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้อง สัมผัส และคิดนึกต่าง ๆ สุดท้ายได้นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน ดับสังขารอย่างหมด เชื้อแห่งกิเลส และความทุกข์ทั้งปวง


หนังสืออ้างอิง.-

-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗

๑๑. ประวัติ พระกาฬุทายีเถระ


๑๑. ประวัติ พระกาฬุทายีเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

๑. สถานะเดิม

พระกาฬุทายีเถระ ชื่อเดิม อุทายี เป็นชื่อที่บิดาและมารดาตั้งให้ เพราะเขาเกิดในวันที่ชาวพระนครทั้งสิ้นมีจิตเบิกบาน แต่เพราะเขามีผิวพรรณค่อนข้างดำ คนทั้งหลายจึงเรียกว่า กาฬุทายี

บิดาและมารดาไม่ปรากฎชื่อในตำนาน แต่บอกว่า บิดาเป็นอำมาตย์รับราชการในกรุงกบิลพัสดุ์

เกิดในตระกูลอำมาตย์ในกรุงกบิลพัสดุ์ เกิดวันเดียวกันกับพระโพธิสัตว์ อันผู้ที่เกิดวันเดียวกันกับพระโพธิสัตว์ที่เรียกว่า สหชาตินั้นมี ๗ คือ ๑. ต้นโพธิพฤกษ์ ๒. มารดาของพระราหุล ๓. ขุมทรัพย์ ๔ แห่ง ๔. พระอานนท์ ๕. ม้ากัณฐกะ ๖. นายฉันนะ ๗. กาฬุทายีอำมาตย์

๒. ชีวิตก่อนบวชในพระพุทธศาสนา

พระกาฬุทายีเถระนั้น เติบโตมาพร้อมกันกับพระสิทธัตถราชกุมาร เป็นสหายรักใคร่ ชอบใจ คุ้นเคยกัน ฉลาดในทางนิติบัญญัติ ต่อมาได้เป็นอำมาตย์ในราชสำนักของกรุงกบิลพัสดุ์

๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา

หลังจากที่พระมหาสัตว์เสด็จมหาเนษกรรมพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา ทรงคอยสดับข่าวตลอดเวลา จนมาทราบว่าได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ กำลังประดิษฐานพระศาสนาอยู่ในแคว้นมคธ ใคร่จะทอดพระเนตรพระโอรส จึงได้โปรดให้อำมาตย์พร้อมบริวาร นำข่าวสารไปกราบทูล พระศาสดา เพื่อเสด็จมายังกบิลพัสดุ์ แต่อำมาตย์เหล่านั้นได้สำเร็จพระอรหันต์ บวชในพระพุทธศาสนา มิได้กลับมาตามรับสั่งถึง ๙ ครั้ง สุดท้ายทรงมุ่งหมายไปที่กาฬุทายี ผู้จงรักภักดีมั่นคงนัก ทั้งยังรักใคร่สนิทสนมกับพระบรมศาสดา คงจะอาราธนาจอมมุนีกลับมาที่กบิลพัสดุ์ได้ จึงส่งไปพร้อมบริวารสู่สถาน กรุงราชคฤห์แคว้นมคธ ด้วยเกียรติยศยิ่งใหญ่ เธอได้ไปเฝ้าพระชินสีห์ที่พระเวฬุวันวิหาร ทรงประทานพระธรรมเทศนาให้เกิดปัญญาบรรลุ พระอรหันต์ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทประหาร แล้วทูลขอการบรรพชา

๔. วิธีบวช

เมื่อกาฬุทายีอำมาตย์ พร้อมกับบริวารทูลขอการบรรพชาอุปสมบท ตามกฏพระวินัยว่า ขอข้า พระองค์ทั้งหลายพึงได้บรรพชาและอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์จึงทรงยื่นพระหัตถ์ตรัสพระวาจาว่า เธอทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอทั้งหลาย จงประพฤติพรหมจรรย์เถิด การบวชวิธีนี้เรียก เอหิภิกขุอุปสัมปทา

๕. งานประกาศพระศาสนา

กาฬุทายีอำมาตย์ เมื่อได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ครั้นถึงเวลาใกล้เข้าพรรษา เห็นว่าเป็นเวลาอันเหมาะสมที่จะทูลเชิญพระบรมศาสดาเสด็จมายังกบิลพัสดุ์ จึงได้ทูลพรรณนาหนทางที่จะเสด็จดำเนินให้เพลิดเพลินด้วยคาถา ๖๐ คาถา เป็นต้นว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ หมู่ไม้กำลังผลัดใบ ใบเก่าล่องไป ใบใหม่เกิดแทน ดูแล้วแสนเจริญตา สีแดงเจิดจ้าอุปมาดังถ่านเพลิง น่ารื่นเริงทั่วพนาวัน

ไม้ดอกก็ออกดอกทั่วกัน บ้างก็บาน บ้างยังตูม เป็นที่ลุ่มหลงแห่งภมร กลิ่นเกษรหอมกระจายไปทั่วทิศ ชวนรื่นรมย์ดวงจิตทั้งมนุษย์และเทวดาที่ได้มาพบเห็น

ไม้ผลก็ออกผล ให้ทั้งคนและสัตว์ป่า พอสืบชีวาอยู่ได้ตามวิสัยของผู้มีเมตตา ไม่เบียดเบียนเข่นฆ่า ชีวิตใคร

อากาศก็สบายไม่หนาวนักไม่ร้อนนัก จะหยุดพักหรือเดินทางก็ไม่สร้างปัญหา โรคไม่เบียดเบียน

ขอเชิญพระพิชิตมารคมนาการสู่กบิลพัสดุ์ เพื่อตรัสเทศนาโปรดพระบิดาและประยูรญาติ ประกาศ ญาตัตถจริยา ตามธรรมดาของสัมมาสัมพุทธะ พระพุทธเจ้าข้า

เมื่อพระบรมศาสดา ทรงรับอาราธนาว่าจะเสด็จกบิลพัสดุ์นคร พระเถระได้ล่วงหน้าไปก่อน เพื่อถวายพระพรให้ทรงทราบ จอมกษัตริย์ทรงต้อนรับด้วยความเคารพเลื่อมใส ได้ถวายอาหารบิณฑบาต มิได้ขาดทุกๆ วัน พร้อมกันนั้นพระประยูรญาติก็ศรัทธาเลื่อมใส เคารพพระรัตนตรัยโดยทั่วกัน สิ้นเวลา ๖๐ วัน พระศาสดาจารย์จึงเสด็จถิงกบิลพัสดุ์ โปรดจอมกษัตริย์และพระประยูรญาติ ประกาศพระพุทธศาสนาในสักกประเทศ แล้วได้เสด็จไปประทับอยู่ที่นิโครธาราม

๖. เอตทัคคะ

พระกาฬุทายีเถระ ได้ไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ก่อนพระศาสดาจะเสด็จไปถึง ได้แสดงธรรมโปรดพระราชาและบริษัท ทำให้ชาวกบิลพัสดุ์เป็นอันมากเกิดศรัทธาเลื่อมใสในคุณของพระรัตนตรัย วันหนึ่ง พระศาสดาประทับนั่ง ณ ท่ามกลางหมู่พระอริยสงฆ์ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งที่เลิศว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกที่ทำตระกูลให้เลื่อมใสของเราแล้ว กาฬุทายีนับว่าเป็นเลิศกว่า ภิกษุทั้งหมด

๗. บุญญาธิการ

พระกาฬุทายีเถระนี้ ได้สั่งสมบุญกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในพุทธกาลเป็นอันมาก ในกาล แห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งที่พระศาสดาทรงสถาปนาเธอไว้ในตำแหน่ง ที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทำสกุลให้เลื่อมใส จึงเร่งกระทำบุญกรรมสะสมไว้เพื่อได้ตำแหน่งนั้นแล้ว ได้ตั้งความปรารถนา พระศาสดาทรงพยากรณ์แล้ว เวลาผ่านไปหนึ่งแสนกัปป์ ความปรารถนาของเขาได้สำเร็จในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ดังได้กล่าวมาแล้ว

๘. ธรรมวาทะ

ชาวนาหว่านพืชบ่อย ๆ ฝนตกลงมาบ่อย ๆ
ชาวนาไถนาบ่อย ๆ แว่นแคว้นสมบูรณ์ด้วยธัญญาหารบ่อย ๆ
พวกยาจกเที่ยวขอทานบ่อย ๆ ผู้เป็นทานาธิบดีให้ทานบ่อย ๆ
ครั้นให้ทานบ่อย ๆ ย่อมเข้าถึงสวรรค์บ่อย ๆ
บุรุษผู้มีความเพียร มีปัญญากว้างขวาง
เกิดในสกุลใด ย่อมทำสกุลนั้นให้บริสุทธิ์สะอาด

ข้าพระองค์เข้าใจว่า พระองค์เป็นเทพเจ้าผู้ประเสริฐกว่าเทพเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงสามารถทำสกุลให้บริสุทธิ์ เพราะพระองค์เกิดแล้วโดยอริยชาติ ได้สัจนามว่า นักปราชญ์

๙. นิพพาน

พระกาฬุทายีเถระ ได้บรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์สูงสุดของตนแล้ว ได้ช่วยพระศาสดา ประกาศพระศาสนาตามความสามารถในที่สุดก็ได้นิพพานละสังขารไปตามกฎของธรรมดา คือ ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป


หนังสืออ้างอิง.-

-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗

แก่อย่างมีคุณค่า


แก่อย่างมีคุณค่า
เราจะเผชิญกับความแก่ได้อย่างไร
เราจะแก่กันแบบไหนจึงจะไม่ไร้ค่า
เราจะชราแบบไหนจึงจะไม่ไร้คุณภาพ

การอยู่ในโลกได้นานวันจัดว่าเป็นผู้มีโชคเพราะจะได้ประโยชน์จากการพิจารณา ให้เห็นความจริงในมายา ของชีวิต แต่สำหรับผู้ที่ไม่พิจารณา ไม่เอสใจใส่ ต่อการเจาะทำลายโมหะอวิชชาก็แก่เปล่า ความนานวันของชีวิต ไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์อะไรเลย จึงจัดว่าเป็นผู้มีโชคไม่ได้กลับกลายเป็นแก่ฟัก แก่แฟง แก่แตงน้ำเต้า เติบโตเพราะกินข้าว แก่เฒ่าเพราะอยู่นาน ชีวิตในตัวของมันนั้นไม่มีค่าอะไรเลย คุณค่าหรือราคาของชีวิตจะมีได้ ก็สุดแท้แต่การรู้จักใช้ชีวิต

ในความแก่นั้นมีประโยชน์หลายอย่าง หากเราจะช่วยกันวิเคราะห์วิจัยวิจารณ์ ความแก่นั้นถ้าเป็นไม้มีแก่น ไม้มีประโยชน์ไม้จริง ต้องมีแก่น ถ้าไม่มีแก่นเป็นไม้ไม่มีค่า และไม่คงทนถาวรต่างกับไม้มีแก่น เช่น ไม้ตะเคียน ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ประดู่ ไม้มะขาม ไม้สัก ไม้ชิงชันฯ มีประโยชน์มากส่วนไม้ไม่มีแก่น เช่นมะละกอ กล้วย ไม้ไผ่เป็น ไม้ไม่คงทน อยู่ได้ชั่วครู่ชั่วยาม ถ้าเป็นข้าว แก่แล้วก็ได้เก็บเกี่ยว ถ้าเป็นผลไม้ก็สุกงอมหอมหวาน

ถ้าเป็นพระก็แก่ความรู้แก่พรรษาแก่ธรรมวินัยเป็นที่เคารพนับถือศรัทธาของประชาชน ถ้าเป็นชาวบ้าน มีอายุมาก ๆ ก็ได้รับยกย่องไว้วางใจให้เกียรติเป็นเถ้าแก่ไปสู่ขอลูกเต้าเหล่าหลานชาวบ้านมาเป็นเขย สะใภ้ได้ แก่...จึงเป็นผู้มากด้วยประสบการณ์ เป็นสัญญาณของผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก

ทางพระพุทธศาสนา เรียกบุคคลเช่นนี้ว่ารัตตัญญู แปลว่า ผู้มากด้วยประสบการณ์ ขอท่านผู้มีโอกาสได้แก่ทั้งหลาย จงแก่อย่างมีแก่น อย่าแก่แล้วกลวง หรือ แก่แล้วกร่อน ...

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ชราปทุกฺขา แปลว่า ความแก่เป็นทุข์ปฐมเหตุของความทุกข์อยู่ที่เกิดและเพราะมีเกิด จึงมีแก่ เพราะมีแก่จึงมีเจ็บ และเพราะมีเจ็บจึงมีตาย ปัญหาที่ติดตามมาจากความแก่ก็คือ ความเหงา ความเศร้า ความว้าเหว่ ความล้า หน้ามืด ตามัว หูหนวก ฟันหัก หนังเหี่ยว ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ ท่านถึงบอกว่า เมื่อถึงวัยชรา ตาก็ 2 ชั้น ฟันก็ 2 หน สุดท้ายกลายเป็นคน 3 ขา เพราะอาศัยไม้เท้า

เมือเราหนีแก่กันไม่ได้แล้วเราจะเผชิญกับความแก่กันอย่างไรเราจะแก่กันแบบไหนจึงจะไม่ไร้ค่า เราจะชราแบบไหนจึงจะไม่ไร้คุณภาพอันนี้ต้องหันไปตรวจสอบบทบาทหน้าที่ลีลาของชีวิต สำหรับท่านผู้เป็นพ่อ แม่ หรือปู่ ย่า ตา ยาย หน้าที่สำคัญของท่านมีอยู่2เรื่อง คือ แนะ กับ นำ -แนะคือบอกให้รู้ นำคือทำให้ดู

พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ท่านใดที่ลูกหลานเขาจะเคารพยำเกรงนับถือบูชา พฤติกรรมกับคำสอนของท่านจะต้อง ตรงกันด้วย พฤติกรรมคือความประพฤติหรือการกระทำ ส่วนคำสอนคือโอวาทที่ชี้แนะ หากพฤติกรรมกับคำชี้แนะ ไม่ตรงกัน คำแนะนำนั้นไร้ความศักดิ์สิทธิ์ เหมือนแม่ปูสอนลูกปู บุพพการีชนต้องสร้างตนให้เป็นตัวอย่างแก่อนุชน เริ่มต้นตั้งแต่ รักษาศีลให้ลูกหลานดูกตัญญูให้ลูกเห็น เป็นร่มโพธ์ร่มไทรให้ลูกเย็นนี่แหละคือบทบาทอันทรงคุณค่า รักษาศีลให้ลูกดู คือรักษาความเป็นปกติของความเป็นมนุษย์ไว้ อย่าเป็นคนโหดร้าย อย่าเป็นคนใจอยาก อย่าเป็นคน มากรัก อย่าเป็นคนปากชั่ว อย่าเป็นคนมัวเมา กตัญญูให้ลูกเห็น

ท่านคงจะเคยได้ยินคำตัดพ้อต่อว่าเชิงน้อยเนือ้ตำใจของพ่อแม่บางท่านว่าลูกหลานมันอกตัญญู ไม่ดูแลได้พ่อแม่ใหม่ลืมพ่อแม่เก่า ซึ่งทั้งเจ็บแค้นและเจ็บใจ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือว่า ถ้าหวังจะให้ลูกหลานกตัญญูดูแลท่าน ท่านจะต้องกตัญญูดูแลพ่อแม่และบุพการีระดับสูงของท่านซึ่งได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย ให้ลูกหลานได้เห็นเป็นแบบอย่าง หากท่านไม่เคยกตัญญูต่อผู้ใหญ่ในตระกูลให้ลูกหลานเห็นแล้ว เด็กมันจะเอาอะไร เป็นตัวอย่าง เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกเย็น พ่อแม่ปู่ย่าตายาเหมือนต้นไม้ใหญ่ ที่แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงา ธรรมดา ไม้ใหญ่ย่อมจะมีผลดกหมู่วิหคนกกาจึงผวาซุกปีกเข้าอาศัยได้ความร่มเย็นเป็นสุขใต้ต้นไม้ฉันใด พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ฉันนั้นต้องเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ความสุขแก่ลูกหลาน อย่าเป็นร่มขนุน ร่มทุเรียน ที่เขาผวาไม่กล้าเข้าใกล้ เกรงจะหล่นใส่ ผู้ใหญ่บางท่านลูกหลานเข้าใกล้ไม่ได้ ทำตนดุจยักษ์มารลูกหลานก็หนีหมด

อยากฝากว่า คนแก่ทั้งหลายเหลือชีวิตอีกเพียงวัยเดียว คือวัยชราหรือปัจฉิมวัย ดังนั้นโปรดอย่าลืมว่า แก่ทั้งทีให้มีคุณค่า ชราทั้งทีให้มีคุณภาพ เมื่อนั้นแม้ถึงคราวสังขารล่วงลับดับไป ก็จะจากไปเพียงรูปกายสังขาร ส่วนเกียรติยศชื่อเสียงคุณความดีที่ได้บำเพ็ญไว้ จักไม่สลายไปด้วย ดังพุทธพจน์ที่ว่า "รูปํ ชีรติ มจฺจานํ นาม โคตฺตํ น ชีรติ" ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ ได้ทรงนิพนธ์ แปลไว้อย่างไพเราะว่า

นรชาติวางวาย
มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี
ประดับไว้ในโลกาฯ



วัดท่าไทร
สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้(สุราษฎร์ธานี)
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์ประสานงานสมาคมป้องกันภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี

วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2553

๑๐. ประวัติ พระปุณณมันตานีบุตรเถระ


๑๐. ประวัติ พระปุณณมันตานีบุตรเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

๑. สถานะเดิม

พระปุณณมันตานีเถระ ชื่อเดิม ปุณณะ เป็นชื่อที่ญาติทั้งหลายตั้งให้ แต่เพราะเป็นบุตรของนางมันตานี คนทั้งหลายจึงเรียกว่า ปุณณมันตานีบุตร
บิดา ไม่ปรากฎชื่อ มารดาชื่อนางมันตานี เป็นน้องสาวพระอัญญาโกณฑัญญะ ทั้งสองเป็นคน วรรณะพราหมณ์
เกิดที่บ้านพราหมณ์ ชื่อโทณวัตถุ อยู่ไม่ไกลจากนครกบิลพัสดุ์

๒. ชีวิตก่อนบวชในพระพุทธศาสนา

ก่อนบวชในพระพุทธศาสนา ปุณณมาณพได้ศึกษาศิลปวิทยาต่าง ๆ และช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพที่เป็นของตระกูล และเป็นที่นิยมของวรรณะนั้น ๆ

๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา

เมื่อพระศาสดาทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักรอันยิ่งใหญ่ เสด็จเข้าไปอาศัยราชคฤห์ราชธานีเป็นที่ประทับ พร้อมกับพระอัญญาโกณฑัญญะ และพระมหาสาวกอีกจำนวนมาก ปุณณมาณพปรารภจะไปเยี่ยมหลวงลุง ได้มุ่งไปยังราชคฤห์มหานคร ด้วยบุญในชาติปางก่อนเตือนใจ จึงได้บรรพชาอุปสมบทตามกฎพระวินัย ได้พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นอุปัชฌาย์ บวชมาไม่นานก็ได้สำเร็จเป็นอรหันต์อันเป็นคุณขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา

๔. งานประกาศพระศาสนา

พระปุณณมันตานีเถระ ครั้นบวชแล้วได้กลับยังกบิลพัสดุ์ราชธานี อาศัยอยู่ที่ชาติภูมิอันร่มเย็น ได้บำเพ็ญเพียรทางจิต จนได้สัมฤทธิ์ผลสูงสุดในพระพุทธศาสนา แล้วได้เป็นอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรให้เป็นพุทธสาวกมิใช่น้อย นับจำนวนได้ห้าร้อยองค์ ล้วนมุ่งตรงกถาวัตถุสิบประการที่อุปัชฌาย์อาจารย์สอนสั่ง เพียรระวังเคร่งครัดปฏิบัติตามโอวาท ก็สามารถตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทประหารพ้นพันธนาการแห่งทุกข์ บรรลุสุขอย่างแท้จริง

พระเถระเหล่านั้นครั้นบรรลุพระอรหันต์แล้ว เข้าไปหาพระอุปัชฌาย์แจ้งความประสงค์ว่า ปรารถนาจะเฝ้าพระทศพล พระเถระจึงนิมนต์ให้ล่วงหน้าไปก่อน แล้วได้บทจรตามไปในภายหลัง

พระบรมศาสดา ทรงทราบว่า พระเหล่านั้นล้วนปฏิบัติมั่นในกถาวัตถุ ๑๐ ประการ ทรงกระทำปฏิสันถารอันไพเราะเหมาะกับวิมุตวิสัย ตรัสถามว่า พวกเธอมาจากที่ไหน ได้ทรงสดับว่ามาจากชาติภูมิประเทศ เขตสักชนบท อันเป็นสถานที่ตถาคตอุบัติ จึงได้ตรัสถามถึงพระเถระผู้เป็นพระปฏิบัติกถาวัตถุสิบประการ ว่าท่านนั้นชื่ออะไร พระทั้งหลายทูลว่า ปุณณมันตานี ท่านรูปนี้มักน้อย สันโดษ โปรดปรานการเจริญศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอุปัชฌาย์ของข้าพระองค์ทั้งหลาย

ท่านพระสารีบุตรเถระได้ฟังคำของภิกษุเหล่านั้น มีความประสงค์จะพบพระเถระ จากนั้น พระศาสดาได้เสด็จจากเมืองราชคฤห์ไปยังเมืองสาวัตถี พระปุณณมันตานีได้ไปเฝ้าพระทศพลจนถึง

พระคันธกุฎี พระชินสีห์ได้ทรงแสดงธรรมนำให้ให้เกิดปราโมทย์ จึงได้กราบลาพระตถาคตไปยังอันธวัน นั่งพักกลางวัน สงบกายใจ ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง พระสารีบุตรเถระได้คมนาการเข้าไปหา แล้วสนทนาไต่ถามข้อความในวิสุทธิเจ็ดประการ พระเถระบรรหารวิสัชชนาอุปมาเหมือนรถเจ็ดผลัด จัดรับส่งมุ่งตรงต่อ พระนิพพาน ต่างก็เบิกบานอนุโมทนาคำภาษิตที่ดื่มด่ำฉ่ำจิตของกันและกัน

๕. เอตทัคคะ

เพราะพระปุณณมันตานีเถระ มีวาทะในการแสดงธรรมลึกล้ำด้วยอุปมา ภายหลัง พระศาสดา ประทับนั่ง ณ ท่ามกลางภิกษุบริษัท จึงได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลาย ตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย ปุณณะนี้เป็นเลิศแห่งภิกษุสาวกทั้งหลายของเราผู้เป็นพระธรรมถึก

๖. บุญญาธิการ

แม้พระปุณณมันตานีเถระนี้ ก็ได้มีบุญญาธิการที่สร้างสมมายาวนานในพุทธกาลมากหลาย ล้วนแต่เป็นอุปนิสัยแห่งวิวัฏฏะ คือพระนิพพาน ได้ทัศนาการเห็นพระปทุมุตตรศาสดา มีพุทธบัญชาตั้งสาวกผู้ฉลาดไตรปิฎก ยกให้เป็นผู้ประเสริฐล้ำเลิศในด้านการเป็นพระธรรมกถึก จึงน้อมนึกจำนงหมายอยากได้ตำแหน่งนั้น พระศาสดาจารย์ทรงรับรองว่าต้องสมประสงค์ จึงมุ่งตรงต่อบุญกรรม ทำแต่ความดี มาชาตินี้จึงได้ฐานันดรสมดังพรที่ขอไว้

๗. ธรรมวาทะ

บุคคลควรสมาคมกับสัตบุรุษผู้ฉลาด ชี้แจงให้ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์

นักปราชญ์ทั้งหลาย ย่อมไม่ประมาท เห็นแจ้งด้วยปัญญา จึงได้บรรลุประโยชน์อันยิ่งใหญ่ ลึกซึ้ง ละเอียด สุขุม เห็นได้ยาก

๘. นิพพาน

พระปุณณมันตานีบุตรเถระ ก็เหมือนกับพระอสีติมหาสาวกทั่วไป ที่บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาจนตลอดชีวิตแล้วได้นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน ไม่มีภพใหม่ อีกต่อไป.


หนังสืออ้างอิง.-

-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗

๙. ประวัติ พระราธเถระ


๙. ประวัติ พระราธเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

๑. สถานะเดิม

พระราธเถระ ชื่อเดิม ราธมาณพ บิดามารดาตั้งให้
บิดาและมารดา เป็นคนวรรณะพราหมณ์ แต่ไม่ปรากฎชื่อในตำนาน
เกิดที่บ้านพราหมณ์ ในเมืองราชคฤห์

๒. ชีวิตก่อนบวชในพระพุทธศาสนา

พระราธเถระ ในสมัยเป็นฆราวาส ยังไม่แก่เฒ่าเป็นผู้มีฐานะดีคนหนึ่ง แต่พอแก่เฒ่าลง บุตรและภรรยาไม่นับถือ ไม่เลี้ยงดู จึงเข้าวัดตั้งใจว่าจะบวชแล้วอยู่รอวันตายไปวัน ๆ หนึ่ง ได้ขอบวชกับพระเถระทั้งหลาย แต่ไม่มีใครบวชให้ เพราะรังเกียจว่า เป็นคนแก่ บวชแล้วจะว่ายากสอนยาก เขาจึงได้แต่อยู่วัด ช่วย พระกวาดวัด ดายหญ้า ตักน้ำเป็นต้น ภิกษุทั้งหลายก็ได้สงเคราะห์เขาด้วยอาหาร ไม่ขาดแคลนแต่อย่างไร

๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา

วันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่งอันเป็นพุทธกิจอย่างหนึ่ง ทรงเห็นพราหมณ์นั้นเข้าไปในข่ายแห่งพระญาณ ได้เสด็จไปโปรดตรัสถามว่า พราหมณ์ ท่านกำลังทำอะไร เขากราบทูลว่า ข้าพระองค์กำลังทำวัตรปฏิบัติภิกษุทั้งหลายอยู่ พระเจ้าข้า ตรัสถามต่อว่า เธอได้รับการสงเคราะห์จากภิกษุเหล่านั้นหรือ เขาทูลว่า ได้พระเจ้าข้า ได้เพียงอาหาร แต่ท่านไม่บวชให้ข้าพระองค์

พระศาสดารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์เกี่ยวกับเรื่องนั้น แล้วตรัสถามว่า ใครระลึกถึงอุปการะของพราหมณ์นี้ได้บ้าง พระสารีบุตรเถระกราบทูลว่า ท่านระลึกได้ ครั้งหนึ่ง เมื่อท่านเที่ยวบิณฑบาต ในพระนครราชคฤห์ พราหมณ์นี้ได้แนะนำให้คนถวายข้าวท่านทัพพีหนึ่ง พระศาสดาทรงประทานสาธุการแก่ท่านแล้ว ตรัสว่า สารีบุตร เธอเป็นสัตบุรุษที่มีความกตัญญูกตเวที และได้ทรงเล่าถึงอดีตชาติที่พระเถระมีความกตัญญูกตเวทีให้ภิกษุทั้งหลายฟังด้วย แล้วทรงมอบหมายให้พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ราธพราหมณ์นั้น

๔. วิธีบวช

การบวชให้ราธพราหมณ์นี้ ตรัสให้ยกเลิกวิธีอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์ที่ทำเฉพาะพระอุปัชฌาย์ กับผู้มุ่งบวชเท่านั้นมาเป็นการบวชโดยสงฆ์รับผิดชอบ ซึ่งต้องมีพระภิกษุอย่างต่ำที่สุด ๕ รูปประชุมกันจึง บวชได้ โดยแบ่งกันทำหน้าที่ ๓ ฝ่าย คือ ๑. เป็นพระอุปัชฌาย์ ๑ รูป ๒. เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์อย่างละ ๑ รูป ๓. นอกนั้นร่วมรับรู้ว่าการบวชนั้นถูกต้องหรือไม่ การบวชวิธีนี้ เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา แปลว่า การบวชด้วยกรรมมีญัตติเป็นที่ ๔ หมายความว่า มีการตั้งญัตติ คือการประกาศให้สงฆ์ทราบ ๑ ครั้ง มีอนุสาวนา คือการบอกให้สงฆ์ตรวจสอบว่าการบวชนั้นถูกต้องหรือไม่ ๓ ครั้ง พระราธเถระ เป็นรูปแรกในพระพุทธศาสนาที่บวชด้วยวิธีนี้

พระราธเถระ ครั้นบวชแล้ว ถึงแม้จะเป็นพระผู้เฒ่า เป็นหลวงตา แต่ก็เป็นผู้ว่าง่ายใคร่ศึกษา ใครแนะนำสั่งสอนอย่างไรไม่เคยโกรธ ยอมรับฟังและปฏิบัติตามด้วยความเคารพ แต่เพราะท่านมีบุญน้อย ทั้งอาหาร ทั้งที่อยู่อาศัย จึงมักไม่พอแต่การดำรงชีวิต จึงตกเป็นภาระของพระอุปัชฌาย์ ต้องช่วยสงเคราะห์ตลอดมา วันหนึ่ง ท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลขอให้แสดงธรรมย่อ ๆ พอให้ท่านเกิดกำลังใจยินดีในวิเวก ไม่ประมาทและมีความเพียร เพื่อความพ้นทุกข์

พระศาสดาตรัสว่า ราธะ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเป็นมาร เธอจงละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจรักใคร่ในขันธ์ ๕ นั้นเสีย ท่านรับพุทธโอวาทแล้วจาริกไปกับพระอุปัชฌาย์พยายามปฏิบัติตามพระโอวาทนั้นไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔

๕. งานประกาศพระศาสนา

พระราธเถระบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อท่านเป็นผู้เฒ่าแก่มากแล้ว คงช่วยงาน พระศาสนาด้วยกำลังกาย กำลังวาจาเหมือนรูปอื่นไม่ได้ แต่ท่านได้ช่วยประกาศพระศาสนาด้วยปฏิปทาที่ดีงามของท่าน ด้วยความเป็นผู้ว่าง่าย ใครแนะนำสั่งสอนอะไรยินดีรับฟังด้วยความเคารพ ไม่เคยโกรธ เป็นเหตุให้พระศาสดานำท่านมาเป็นอุทาหรณ์ สั่งสอนภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุควร เป็นผู้ว่าง่ายเหมือนราธะ แม้อาจารย์ชี้โทษ กล่าวสอนอยู่ก็ไม่ควรโกรธ ควรเห็นบุคคลผู้ให้โอวาท เหมือนบุคคลผู้บอกขุมทรัพย์ให้

๖. เอตทัคคะ

เพราะพระราธเถระ เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายใคร่การศึกษา ทำให้พระศาสดาและ พระอุปัชฌาย์ เป็นต้น มีความเมตตาสั่งสอนท่านเสมอ จึงทำให้ท่านมีปฏิภาณ คือปัญญาแจ่มแจ้งในเทศนา เพราะได้รับฟังบ่อย ๆ พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้มีปฏิภาณคือญาณแจ่มแจ้งในธรรมเทศนา

๗. บุญญาธิการ

ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ พระราธเถระนี้ได้เกิดเป็นพราหมณ์ ได้เห็น พระศาสดาทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งซึ่งมีปฏิภาณแตกฉานไว้ในเอตทัคคะ ได้เกิดกุศลฉันทะในตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้ทำสักการะบูชาพระศาสดาพร้อมกับภิกษุสงฆ์ กราบลงแทบพระบาท ปรารถนาฐานันดรนั้น พระศาสดาทรงพยากรณ์แก่เขาแล้ว ได้ทำบุญกุศลมากมายหลายพุทธันดร จนชาติสุดท้ายเกิดเป็นพราหมณ์ในพระนครราชคฤห์ ถึงฝั่งแห่งสาวกบารมีญาณดังกล่าวแล้ว

๘. ธรรมมวาทะ

ในเวลาเราแก่เฒ่า เราอาศัยวัดอยู่ ใคร ๆ ไม่ยอมบวชให้เราผู้ชราหมดกำลังเรี่ยวแรง เพราะฉะนั้น เราผู้เป็นคนยากเข็ญ จึงเป็นผู้ปราศจากผิวพรรณ เศร้าโศก พระโลกนาถผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณาคุณ ทอดพระเนตรเห็นเข้า จึงตรัสถามเราว่า ไฉนลูกจึงเศร้าโศก จงบอกถึงโรคที่เกิดในใจ เราได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ข้าพระองค์ไม่ได้บวชในศาสนาของพระองค์ ซึ่งพระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงมีความเศร้าโศก

๙. นิพพาน

พระราธเถระ ได้พากเพียรพยายามจนได้บรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์สูงสุดของมนุษย์เรา และได้ปฏิบัติตนให้เป็นทิฏฐานุคติของประชุมชนที่เกิดมาในภายหลังแล้ว สุดท้ายก็ได้นิพพาน พันจากวัฏสงสาร อย่างสิ้นเชิง


หนังสืออ้างอิง.-

-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗

๘. ประวัติ พระโมฆราชเถระ


๘. ประวัติ พระโมฆราชเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

๑. สถานะเดิม

พระโมฆราชเถระ ชื่อเดิม โมฆราช เป็นวรรณะกษัตริย์ เป็นชาวโกศล บิดาและมารดาไม่ปรากฎชื่อ เพราะมีโรคประจำตัวที่รักษาไม่หาย ได้รับความทุกข์ทรมานมาก แม้จะเป็นคนใหญ่โตและมีทรัพย์สมบัติมากมายก็ช่วยไม่ได้ จึงได้ชื่อว่า โมฆราช แปลว่า ราชาผู้หาความสุขไม่ได้

๒. ชีวิตก่อนบวชในพระพุทธศาสนา

เพราะท่านได้เห็นโทษของร่างกาย จึงออกบวชเป็นฤาษีมอบตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี พราหมณ์พาวรีนั้นมีศิษย์เป็นจำนวนมาก ท่านกล่าวว่ามีถึง ๑๖,๐๐๐ คน แต่ที่เป็นศิษย์ผู้ใหญ่มีอยู่ ๑๖ คน คือ อชิตะ ติสสะ เมตเตยยะ ปุณณกะ เมตตคู โธตกะ อุปสีวะ นันทะ เหมกะ โตเทยยะ กัปป์ปะ ชาตุกัณณี ภัทราวุธ อุทยะ โปสาละ โมฆราช ปิงคิยะ

๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา

พราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระสิทธัตถกุมารเสด็จออกบรรพชา ปฏิญาณว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ สนใจใคร่จะสอบสวนหาความจริง จึงเรียกศิษย์ทั้ง ๑๖ คน มีอชิตะเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวด ส่งไปเฝ้าพระศาสดาซึ่งประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ เพื่อทูลถามปัญหา ศิษย์ทั้ง ๑๖ คน ได้ปฏิบัติตามคำของอาจารย์ เมื่อพระศาสดาแก้ปัญหาของพวกเขาจบลง ๑๕ คน ได้บรรลุพระอรหัตผล ส่วนปิงคิยมาณพได้บรรลุเพียงโสดาปัตติผล เพราะจิตใจสับสนไม่แน่วแน่ ห่วงแต่พราหมณ์พาวรี ผู้ที่เป็นทั้งลุงและอาจารย์ ไม่ได้ส่งญาณตามเทศนาโดยตลอด

เฉพาะโมฆราชมาณพได้ทูลถามปัญหาว่า ข้าพระองค์จะพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงจะไม่เห็น พระศาสดาได้ตรัสตอบว่า ดูก่อนโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่าตัวตนเสีย บุคคลพึงข้ามพ้นมัจจุราชไปได้ด้วยอุบายเช่นนี้ ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ มัจจุราชจึงจะไม่เห็น

๔. วิธีอุปสมบท

เมื่อโมฆราชมาณพฟังพระศาสดาแก้ปัญหาจบลง จิตของเขาก็หลุดพ้นจากอาสวะ ทั้งปวง ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอข้าพระองค์ พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค พระศาสดาตรัสแก่เขาว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด

๕. งานประกาศพระศาสนา

พระโมฆราชเถระ เพราะท่านมีร่างกายเป็นแผลที่รักษาไม่หาย จึงถูกกีดกันไม่ให้เข้าอยู่ในเสนาสนะของสงฆ์ ท่านจึงอยู่ตามโคนไม้และที่แจ้ง ไปเก็บผ้าตามกองขยะมาทำไตรจีวรนุ่งห่ม ทำให้เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของบุคคลประเภทลูขัปปมาณิกา คือผู้ศรัทธาเลื่อมใสหนักไปทางใช้ชีวิตปอน ๆ

นับว่าท่านได้เป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่งในการประกาศพระศาสนาด้วยปฏิปทาปอน ๆ ของท่านทั้งในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ และเป็นทิฏฐานุคติแก่คนที่เกิดมาภายหลัง เมื่อท่านนิพพานไปแล้ว

๖. เอตทัคคะ

พระโมฆราชเถระนี้ ตั้งแต่บวชในพระพุทธศาสนา ได้ใช้จีวรที่ปอนมาตลอด ต่อมาพระศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวัน ทรงตั้งพระเถระทั้งหลายไว้ในฐานันดรต่าง ๆ ได้ตั้งท่านไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงจีวรอันเศร้าหมองในศาสนาของพระองค์

๗. บุญญาธิการ

พระโมฆราชเถระ ได้สร้างสมคุณความดีที่เป็นเหตุแห่งนิพพานมาสิ้นกาลนาน ในสมัย พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงจีวรบังสุกุล จึงได้สร้างสมคุณความดีแลัวปรารถนาตำแหน่งนั้น ได้ทำบุญมาตลอดหลายพุทธันดร จนชาติสุดท้ายได้ถือกำเนิดเกิดในเรือนพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี ก่อนที่พระทศพลของเราทั้งหลายจะเสด็จอุบัติ และได้ถึงฝั่งแห่งสาวกบารมีญาณตามปณิธานที่ได้ตั้งเอาไว้ดังกล่าวแล้ว

๘. ธรรมวาทะ

เราได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว ก็เบิกบานใจ ถวายบังคมพระพิชิตมารด้วยเศียรเกล้าทำแต่กรรมที่ดีงามในศาสนาของพระชินเจ้าตราบเท่าสิ้นชีวิต

เพราะกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และเพราะการตั้งเจตน์จำนงเอาไว้ เราละร่างมนุษย์แล้วได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

เพราะกรรมคือการเอาไฟเผาลนพื้นหอฉัน เราจึงถูกทุกขเวทนาเบียดเบียน ไหม้ในนรกพันปี

ด้วยเศษกรรมนั้นที่ยังเหลือ เราเกิดเป็นมนุษย์ ต้องมีรอยตำหนิในร่างกายถึง ๕๐๐ ชาติ

เพราะอำนาจของกรรมนั้น เราเป็นโรคเรื้อนอย่างหนัก เสวยมหันตทุกข์ถึง ๕๐๐ ชาติ

๙. นิพพาน

พระโมฆราชเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประธาน และได้ช่วยพระศาสดาประกาศพุทธศาสนาตามความสามารถแล้ว ก็ได้นิพพานไปตามสัจธรรมของชีวิต


หนังสืออ้างอิง.-

-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗