เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิธีสอนของพระพุทธเจ้า


พระพุทธเจ้าได้รับยกย่องว่า ทรงเป็น “ พระบรมครู” หรือ “ ศาสดาเอก ” ในโลกเพราะพระองค์ทรงมีวิธีสอนที่ดีเยี่ยม ทำให้ผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้ง มีคำกล่าวว่า ถ้าพระพุทธองค์ทรงตัดสินพระทัยจะแสดงธรรมโปรดใคร เขาผู้นั้นย่อมได้บรรลุมรรคผลไม่ระดับใดก็ระดับหนึ่ง ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงวิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ในที่นี้กล่าวถึง หลักการสอน วิธีสอนธรรม และเทคนิควิธีสอนธรรมของพระพุทธองค์โดยสังเขป

1. หลักการสอน หมายถึง หลักการสอนทั่วไป มีอยู่ 4 ประการ ดงนี้

    1.1 แจ่มแจ้ง อธิบายแจ่มแจ้งดุจนำมาวางให้ตรงหน้า

    1.2 จูงใจ พูดจูงใจอยากปฏิบัติตามที่สอน

    1.3 หาญกล้า ทำให้ผู้ฟังเกิดความกล้าหาญ มั่นใจที่จะปฏิบัติตาม

    1.4 ร่าเริง ให้ผู้ฟังเกิดฉันทะในการฟัง สนุกสนานไปกับการสอน ไม่เบื่อ

    2. วิธีสอน วิธีสอนของพระพุทธเจ้ามี 4 แบบ ดังนี้

      2.1 แบบบรรยาย การสอนแบบนี้นี้ทรงใช้เสมอ ส่วนมากจะเป็นบรรยากาศที่มีผู้ฟังจำนวนมาก เช่น

      ที่วัพระเชตวันมหาวิหาร พระองค์จะเสด็จลงแสดงธรรมเทศนาในช่วงบ่ายของทุกวัน เมื่อครั้งแสดงธรรมครั้งแรกคือโปรดปัญจวัคคีย์ทรงใช้วิธีบรรยายตั้งแต่ต้นจนจบ

      2.2 แบบสนทนา แบบนี้ทรงใช้บ่อยมาก อาจเพราะผู้ฟังมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น ทำให้การเรียนการสอน

      สนุก ผู้ฟังมีความรู้สึกว่าตนกำลังสนทนากับผู้สอน ไม่ใช่ “ ถูกสอน ” ในการสนทนาพระพุทธเจ้าทรงทำหน้าที่ซักถาม โยนประเด็นปัญหาให้ขบคิดแล้วทรงสรุปให้เข้าใจ

      2.3 แบบตอบปัญหา แบ่งย่อยออกเป็น 4 อย่าง ดังนี้

      ( 1 ) ตอบตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ไม่มีเงื่อนไข เช่นถ้าถามว่า ทางพ้นทุกข์คืออะไร ตอบทันที่เลยว่าทางพ้นทุกข์คืออริยสัจสี่

      ( 2 ) ย้อนถามก่อนแล้วค่อยตอบ ปัญหาบางอย่างจะตอบทันทีไม่ได้ ต้องย้อนถามเพื่อความแน่ใจก่อนแล้วค่อยตอบ เช่นถามว่า คนเราทำกรรมแล้ว ตายไปเกิดชาติหน้าจะตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ ต้องย้อนถามว่า ที่ทำกรรมนั้น ทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว ถ้าทำกรรมดีย่อมขึ้นสวรรค์ ถ้าทำกรรมชั่วย่อมตกนรก ดังนี้เป็นต้น

      ( 3 ) แยกประเด็นตอบ บางครั้งก็แยกตอบเป็นเรื่องๆ เป็นประเด็นๆไป ยกตัวอย่าง มีผู้ถามพระพุทธองค์ว่า พระองค์ตำหนิตบะ ( ความเข้มงวด )ทุกอย่างหรือไม่ พระพุทธองค์ทรงแยกแยะประเด็นตอบว่า ถ้าเป็นความเข้มงวดแบบทรมานตัวเองให้ลำบากต่างๆนานา พระพุทธองค์ทรงตำหนิ แต่ถ้าเป็นความเข้มงวดแบบธุดงควัตรพระองค์ทรงสรรเสริญ

      ( 4 ) แบบตัดประเด็นหรือไม่ตอบ มีปัญหาบางอย่างที่พระองค์ไม่ทรงตอบเรียกว่า “ อัพยากตปัญหา ” เช่น ถามว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง โลกมีที่สุดหรือไม่ พระอรหันต์ตายไปแล้วยังคงอยู่หรือไม่ เหตุผลที่ไม่ทรงตอบ เพราะว่า แม้จะรู้หรือไม่รู้ ก็ไม่ทำให้ทุกข์ที่มีอยู่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ในบางกรณีที่ผู้ถามต้องการให้ทรงขัดแย้งกับคนอื่น พระองค์ไม่ทรงตอบ เช่น ชาวกาลามะ แห่งหมู่บ้านเกสปุตตนิคม เล่าว่ามีเจ้าลัทธิต่างๆที่ผ่านมาต่างก็ดูถูกลัทธิของคนอื่นว่าผิด ของตนถูกต้อง แล้วทูลถาม

      พระองค์ว่า พวกไหนสอนถูก พวกไหนสอนผิด พระองค์ตรัสว่า ใครจะสอนถูกสอนผิดช่างเถิด เราตถาคตจะแสดงธรรมให้ฟัง

      3. เทคนิควิธีสอน พระพุทธเจ้าทรงใช้เทคนิคการสอนหลากหลาย คือ

        3.1 ทำนามธรรมให้เป็นรูปธรรม หรือ “ ทรงทำของยากให้ง่าย ” ธรรมะเป็นนามธรรมละเอียดอ่อนเข้าใจยาก

        พระองค์ทรงมีเทคนิควิธีทำให้ง่ายขึ้น ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น

        ( 1 ) ใช้อุปมาอุปไมย บางเรื่องที่พึงรู้ได้ด้วยอุปมาอุปไมย พระองค์ทรงใช้ เช่น ตรัสบอกเหล่าสาวกของพระองค์ว่า ธรรมะที่ทรงตรัสรู้นั้นมีมากดุจใบไม้ในป่า แต่ทรงนำมานิดเดียวเฉพาะที่จำเป็นจะต้องรู้ ดุจใบไม้ในกำมือดังนี้ เป็นต้น

        ( 2 ) ยกนิทานประกอบ ทรงยกนิทานชาดก ( เรื่องราวของพระองค์เมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญบารมีในชาติก่อนๆ ) เช่น พระเวสสันดรชาดก หรือทรงนำนิทานพื้นบ้านโบราณมาเล่าให้ฟัง ดังเรื่อง ตาบอดคลำช้างแปดคน

        ต่างคนต่างคลำแต่ละส่วนของช้าง แล้วเข้าใจว่าตนรู้จักช้างดี จึงทะเลาะทุบตีกัน แล้วสรุปว่า “ คนที่รู้เห็นเพียงบางแง่มุมมักจะทะเลาะทุ่มเถียงกันเพราะทิฐิ ( ความเห็น )”

        ( 3 ) ใช้สื่อการสอน พระพุทธองค์ทรงใช้สื่อการสอนเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจชัดเจนขึ้น ดังทรงสอนสามเณรราหุลเรื่องโทษของการพูดเท็จทั้งที่รู้ โดยทรงใช้ขันตักน้ำเทลงทีละนิดจนหมดขันแล้วคว่ำขันลง แล้วทรงยกขันเปล่าขึ้น ตรัสสอนว่า

        คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้ย่อมเทความดีงามออกทีละนิดจนหมดไปในที่สุด อีกครั้งหนึ่งทรงใช้แว่นส่องหน้าเป็นสื่อในการสอนเรื่อง สติสัมปชัญญะ แว่นมีไว้ส่องดูใบหน้าฉันใด สติสัมปชัญญะก็มีไว้กำกับตนเพื่อส่องดูเรื่องที่คิด การที่ทำและคำที่พูดฉันนั้น

        3.2 ทำตนให้เป็นตัวอย่าง ในแง่การสอนอาจแบ่งได้เป็น 2 อย่าง คือ

        ( 1 ) สาธิตให้ดูหรือทำให้ดู ดังเมื่อครั้งพระองค์ทรงสั่งให้พระอานนท์ผสมน้ำอุ่น แล้วทรงใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดร่างกายของพระภิกษุรูปหนึ่งที่ป่วยด้วยโรคพุพอง มีหนองไหลเยิ้ม ไม่มีเพื่อนภิกษุดูแล ทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้วตรัสสอนว่า

        “ พวกเธอมาบวชในศาสนาของตถาคต ไม่มีพ่อไม่มีแม่ เมื่อพวกเธอไม่ดูแลกันเองในยามป่วยไข้ แล้วใครจะดูแล ”

        ( 2 ) ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้ที่ปฏิบัติพระองค์ให้เป็นแบบอย่างที่ดี จึงได้รับการยกย่องว่า เป็นพระบรมครู เป็นศาสดาเอกในโลก

        3.3 ทรงเลือกใช้คำให้เหมาะสม คำศัพท์ที่คนสมัยนั้นใช้อยู่แล้ว เช่น คำว่า พราหมณ์ ภิกษุ เทพ เป็นต้น พระองค์ทรงนำเอามาใช้สอนธรรม แต่ให้ความหมายใหม่ วิธีนี้ทำให้ผู้ฟังให้ความสนใจและเข้าใจได้ง่ายเพราะได้เทียบเคียงกับความหมายเดิม

        ครั้งหนึ่งพราหมณ์คนหนึ่งมาชวนให้พระพุทธเจ้าไปอาบน้ำ อ้างว่าอาบน้ำในท่าศักดิ์สิทธิ์แล้วจะหมดบาปได้ขึ้นสวรรค์ พระองค์ทรงแย้งว่า ถ้าความบริสุทธิ์มีได้ด้วยน้ำมนุษย์ก็บริสุทธิ์สู้กุ้ง หอย ปู ปลาไม่ได้ เพราะสัตว์เหล่านั้นอาบน้ำอยู่ตลอดเวลา ครั้นพราหมณ์ถามว่า พระองค์ไม่สรรเสริญการอาบน้ำหรือ พระองค์ตอบว่า สรรเสริญ แล้วทรงให้ความหมายของการอาบน้ำใหม่ว่า เป็นการอาบกาย วาจา ใจ ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา

        3.4 รู้จังหวะและโอกาส คือ รอให้ผู้ฟังมีความพร้อมเสียก่อนแล้วค่อยสอน ดังกรณีเด็กหนุ่มชื่อ วักกลิมาบวชเพราะติดใจในความงามแห่งพระวรกายของพระพุทธองค์ ไม่สนใจปฏิบัติธรรม ได้แต่คอยเฝ้ามองพระพุทธองค์ด้วยความชื่นชม พระองค์ทรงรอให้เธอมีความพร้อมเสียก่อนแล้วตรัสเตือนสติประทานโอวาท จนสำเร็จพระอรหันตผลในที่สุด

        3.5 ยืดหยุ่นในการใช้เทคนิควิธี ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ พระพุทธเจ้าตรัสกับคนฝึกม้าชื่อเกสี ว่าพระองค์ทรงใช้เทคนิควิธีฝึกสาวกของพระองค์ เช่นเดียวกับที่เกสีฝึกม้า คือ บางครั้งก็ทรงใช้วิธีนุ่มนวล บางครั้งเข้มงวด บางครั้งผสมผสานระหว่างทั้งสองวิธี ถ้าไม่สำเร็จ พระองค์ก็ทรง “ ฆ่าทิ้ง ” ดุจนายเกสีฆ่าม้าที่ฝึกไม่ได้ แต่การฆ่าของพระองค์ หมายถึง ไม่พูดด้วย ไม่ว่ากล่าวตักเตือน หรือ “ คว่ำบาตร ” ให้ผู้นั้นสำนึกตนในภายหลัง

        3.6 เสริมแรง เพื่อสัมฤทธิ์ผลแห่งการสั่งสอน การเสริมแรงเป็นสิ่งจำเป็น การตรัสชมเชยพระสาวกของพระสาวกบางรูปให้สงฆ์ฟัง เป็นการเสริมแรงให้ท่านผู้นั้นมีฉันทะในการปฏิบัติธรรมสูงขึ้นตามลำดับ แม้การทรงตั้งตำแหน่ง “ เอตทัคคะ ”

        ( ความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น ) ให้แก่พระสาวกที่มีความถนัดและความสามารถพิเศษเฉพาะด้านก็นับเป็นการเสริมแรงเช่นเดียวกัน

        การเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามแนวพุทธจริยา

        พุทธจริยา หมายถึง พระจริยาวัตรหรือความประพฤติที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น มี 3 ประการ ดังนี้

        1. โลกัตถจริยา พุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก

        2. ญาตัตถจริยา พุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่พระประยูรญาติทั้งหลาย

        3. พุทธัตถจริยา พุทธจริยาที่ทรงบำเพ็ญในฐานะที่ทรงเป็นพระพุทธเจ้า

          การเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามแนวพุทธจริยาจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาพระ

          พจริยาวัตรทั้ง 3 ประการของ

          พระพุทธองค์เพื่อความเข้าใจแนวพระจริยาวัตรให้ถูกต้อง ดังนี้

          1. โลกัตถจริยา การที่พระองค์ทรงอนุเคราะห์ชาวโลกนั้นแสดงออกในพุทธกิจประจำวันนั่นเอง ซึ่งเห็นได้ชัดว่า

            วันเวลาที่ผ่านไปแต่ละวันเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่คนอื่นทั้งนั้น พระองค์แทบไม่มีเวลาพักผ่อนเลยแม้ประชวรหนักอย่างไร ก็ทรงอุตสาห์ข่มทุกขเวทนาสั่งสอนคนอื่น ดังเช่น ทรงโปรดสุภัททปริพาชกก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเป็นต้น พุทธกิจ 5 ประการ คือ

            ( 1 ) ปุเรภัตตกิจ เวลาเช้าเสด็จออกบิณฑบาต ถือโอกาสแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ด้วย

            ( 2 ) ปัจฉาภัตตกิจ เวลาบ่ายทรงแสดงธรรมโปรดประชาชน

            ( 3 ) ปุริมยามกิจ เวลาค่ำทรงประทานโอวาทแด่ภิกษุสงฆ์

            ( 4 ) มัชฌิมยามกิจ เวลากลางคืนทรงตอบปัญหาเทวดา

            ( 5 ) ปัจฉิมยามกิจ เวลาจวนสว่างทรงตรวจดูบุคคลที่พึงโปรดด้วยพระญาณ

            2. ญาตัตถจริยา พระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์พระญาติเมืองกบิลพัสดุ์และพระญาติเมืองเทวทหะหลายครั้ง เพราะทรงถือว่าแม้พระองค์จะเป็น “ คนของโลก ” แล้ว ก็ไม่ทรงละเลยการอนุเคราะห์เกื้อกูลกันฉันเครือญาติ เช่น

            *** เสด็จนิวัติเมืองกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระพุทธบิดา และพระประยูรญาติทั้งหลายหลังการตรัสรู้แล้ว

            *** เสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยเทศนาพระอภิธรรมโปรดตลอดพรรษา

            *** ทรงชักนำขัตติยกุมารจากศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ออกบวชเพื่อให้พบแนวทางชีวิตที่ดีกว่า ตลอดถึงทรงอนุญาตให้ขัตติยนารีที่เป็นพระญาติของพระองค์บวชเป็นภิกษุณีด้วย เช่น กรณีให้นางมหาปชาบดีโคตมีบวช

            *** ทรงระงับสงครามแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณีระหว่างศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ ทำให้พระญาติทั้งสองฝ่ายไม่ต้องฆ่าฟันกันให้เสียเลือดเนื้อ เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ชาวพุทธได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นอนุสรณ์ปางหนึ่งเรียกว่า “ พระพุทธรูปปางห้ามญาติ ” ( พระพุทธรูปยืนยกหัตถ์ขวาในท่าห้ามปราม )

            *** ทรงเสด็จไปป้องกันพระญาติฝ่ายศากยวงศ์จากการถูกทำลายล้างของพระเจ้าวิฑูฑภะ ผู้ยกทัพมาโจมตีเมืองกบิลพัสดุ์ด้วยความแค้นส่วนตัวถึงสามครั้ง

            3. พุทธัตตถจริยา หน้าที่ที่พระพุทธองค์ทรงกระทำในฐานะที่เป็นพระพุทธเจ้า ความจริงรวมอยู่ในโลกัตตถจริยานั่นเอง แต่ที่แยกพูดอีกต่างหากก็เพื่อเน้นว่า หน้าที่บางอย่างพระพุทธเจ้าเท่านั้นทรงทำได้ พุทธะอื่นๆ ( คือปัจเจกพุทธะและอนุพุทธะ )ไม่สามารถทำได้ พุทธจริยามีมากมายเช่น

            3.1 ) ช่วยสรรพสัตว์ข้ามห้วงทุกข์ พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมายาวนาน เมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ก็ตั้งพระปณิธานจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์ เมื่อได้ตรัสรู้แล้วทรงทำหน้าที่นี้ตลอดพระชนม์ชีพ

            3.2 ) ปูพื้นฐานแห่งกุศลธรรม หรืออุปนิสัยที่ดีในภายหน้า ในกรณีที่ทรงแนะหรือฝึกฝนบางคนไม่ได้ เพราะเขามีความหยาบช้าหนาแน่นไปด้วยโมหะอวิชชาเกินกว่าจะเข้าถึงธรรมได้ พระองค์ไม่ทรงทอดทิ้งพยายามสั่งสอนเพื่อให้เขามีอุปนิสัยปัจจัยที่ดีในภายภาคหน้า ดังกรณีทรงบวชให้พระเทวทัต ทั้งๆที่รู้ด้วยพระญาณว่าเทวทัตบวชแล้วจักทำสังฆเภท ( สร้างความแตกแยกในหมู่สงฆ์ )

            3.3 ) ช่วยปิดทางอบาย คือปิดกั้นมิให้คนบางประเภทถลำลึกลงสู่ทางแห่งความเสื่อมฉิบหาย เช่น เสด็จไปโปรดโจรองคุลิมาล ก่อนที่จะพบมารดาระหว่างทางและก่อนจะกระทำมาตุฆาต ( ฆ่ามารดา ) อันเป็นกรรมหนัก

            3.4 ) ทรงบัญญัติพระวินัยเพื่อความดำรงมั่นแห่งพระศาสนา พระวินัยถือว่าเป็นรากแก้วแห่งพระพุทธศาสนา เมื่อพระสงฆ์บางรูปกระทำสิ่งที่ไม่สมควรแก่สมณะ เป็นที่ตำหนิติเตียนของชาวโลก พระองค์ทรงวางเป็นข้อบังคับห้ามทำเช่นนั้นอีกต่อไป พระวินัยที่ทรงบัญญัติขึ้นเป็นเครื่องควบคุมสงฆ์ให้มีความสงบเรียบร้อย เป็นที่เลื่อมใสของประชาชน และเป็นเครื่องจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวร

            3.5 ) ทรงสถาปนาสถาบันสืบทอดพระพุทธศาสนา ทรงตั้งพุทธบริษัท 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พร้อมทรงวางหน้าที่ให้แต่ละฝ่ายปฏิบัติและหน้าที่พึงปฏิบัติร่วมกัน เพื่อความวัฒนาสถาพรแห่งพระพุทธศาสนาสืบไป

            ไม่มีความคิดเห็น:

            แสดงความคิดเห็น