เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

“ กรรมฐาน ” หรือ การพัฒนาจิต : ภาวนา


“ กรรมฐาน ” หรือ การพัฒนาจิต : ภาวนา
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีความเจ็บป่วยอยู่ 2 ประการ ความเจ็บป่วย 2 อย่างนี้ คืออะไรบ้าง ? คือความเจ็บป่วยทางกายและความเจ็บป่วยทางใจ ดูเหมือนว่าผู้คนทั้งหลายสามารถพ้นจากความเจ็บป่วยทางกายได้ เป็นเวลาหนึ่งปีบ้าง สองปีบ้าง...เป็นร้อย ๆ ปี หรือมากกว่านั้นบ้าง แต่ว่าภิกษุทั้งหลาย ในโลกนี้บุคคลที่พ้นจากความเจ็บป่วยทางใจแม้เพียงชั่วครู่ยามมีน้อยนัก นอกจากบุคคลที่พ้นจากกิเลสทั้งหลาย ” (เช่นพระอรหันต์)

คำสอนของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องวิธีปฏิบัติ “ กรรมฐาน ” มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดสุขภาพจิตสมบูรณ์ เกิดดุลยภาพและความสงบสุขนั้นเอง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ไม่มีคำสอนอื่นใดของพระพุทธเจ้าที่ผู้คนทั้งพุทธศาสนิกและศาสนิกอื่น ๆ จะเข้าใจผิดเท่ากับเรื่อง “ กรรมฐาน" ” ทันทีที่พูดถึงคำว่า “ กรรมฐาน ” คนก็คิดถึงการปลีกตัวออกจากภารกิจประจำวันไปนั่งอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งโดยเฉพาะ เหมือนกับรูปปั้นในถ้ำ หรือในที่แคบ ๆ ในวัด ในที่เปล่าเปลี่ยวตัดขาดจากสังคม จากการสนุกสนานเฮฮาหรือนั่งเงียบเคลิบเคลิ้มด้วยความนึกคิดลึกลับมหัศจรรย์ หรือเข้าฌาณ “ กรรมฐาน ” ทางพุทธศาสนาที่แท้จริง มิใช่การหลบหลีกปลีกตัวแต่อย่างใด คำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องนี้มีผู้เข้าใจผิดหรือเข้าไปกันน้อยมาก จนทำให้ต่อมาการปฏิบัติ “ กรรมฐาน" ” เสื่อมถอยลดน้อยลง กลายมาเป็นประเพณีหรือพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งมีกรรมวิธีที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำ
การเจริญกรรมฐาน

ผู้คนจำนวนมากสนใจในการเจริญกรรมฐาน หรือโยคะเพื่อที่จะให้ได้พลังจิต หรืออำนาจมหัศจรรย์ เช่น “ ดวงตาที่สาม ” ซึ่งคนอื่นไม่มีนานมาแล้ว เคยมีแม่ชีชาวพุทธผู้หนึ่งในอินเดียได้พยายามสร้างพลังอำนาจให้สามารถเห็นอะไรได้โดยทางหู ในขณะเดียวกันแม่ชีผู้นี้ก็ได้อำนาจตาทิพย์อีกด้วย ความคิดชนิดนี้ไม่มีอะไรอื่นนอกจากความวิปริตทางด้านจิตใจ เป็นเรื่องของความทะยานอยาก คือตัณหาในอำนาจมหัศจรรย์

คำว่า “ กรรมฐาน ” นี้ ใช้แทนคำดั้งเดิมว่า “ ภาวนา ” ซึ่งหมายถึง “ การเจริญ ” หรือ “ การพัฒนา ” ได้แก่ การเจริญหรือการพัฒนาทางจิตใจ เมื่อกล่าวให้ถูกต้องตรงตามความหมายจริง ๆ ของศัพท์แล้ว “ การภาวนา ” ทางพระพุทธศาสนาคือการเจริญจิต การภาวนามีจุดมุ่งหมายเพื่อชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง และสิ่งรบกวนทั้งหลาย เช่น ราคะ โทสะ พยาบาท ความอาฆาต ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ (อุทธัจจะกุกกุจจะ) ความลังเลสงสัย (วิจิกิจฉา) และเพื่อปลูกฝังคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น สมาธิ สติ ปัญญา ความมุ่งมั่น พลังและความสามารถในการวิเคราะห์ ความเชื่อมั่น ปีติ ความสุขสงบ ซึ่งจะนำไปสู่การได้ปัญญายอดเยี่ยม อันจะสามารถเห็นสภาวะของสรรพสิ่งตามความเป็นจริงและรู้แจ้งแทงตลอดปรมัตถสัจจ์ คือพระนิพพานในที่สุด
ประเภทของกรรมฐาน

กรรมฐานมี 2 ประเภท คือ การพัฒนาความแน่วแน่ของจิต (สมถะหรือสมาธิ) เป็นการพัฒนาจิตให้แน่วแน่เป็นหนึ่งเดียว (บาลีว่า จิต.เตกค.คตา สันสกฤตว่า จิต.ไตกาคร.ตา ) โดยการใช้วิธีการต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในพระคัมภีร์ อันจะนำไปสู่สภาวะลึกลับสูงสุด เช่น อากิญจัญญยตนะ (ภพอันกำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรเป็นอารมณ์) หรือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ภพอันเข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่) ในทางพระพุทธศาสนา สภาวะลึกลับทั้งหลายเหล่านี้ เกิดขึ้นมาจากจิต มีจิตเป็นผู้สร้าง มีเหตุและปัจจัยปรุงแต่ง (สังขาร) หาได้เกี่ยวข้องอะไรกับความจริงแท้ สัจธรรม คือ พระนิพพานไม่ กรรมฐานแบบนี้มาก่อนพระพุทธเจ้า จึงมิใช่เป็นของพระพุทธศาสนาแท้ ๆ แต่ก็มิได้อยู่นอกขอบข่ายกรรมฐานแบบพุทธศาสนา อย่างไรก็ดี กรรมฐานแบบนี้ไม่จำเป็นเพื่อการรู้แจ้งเห็นจริงในพระนิพพาน ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะได้ตรัสรู้นั้น พระองค์เองได้ทรงศึกษาแนวปฏิบัติโยคะเหล่านี้กับอาจารย์ต่าง ๆ จนบรรลุสภาวะทางจิตที่สูงสุด แต่พระองค์ก็ยังไม่พึงพอพระทัยเพราะแนวปฏิบัติโยคะเหล่านั้นไม่ได้ให้ความหลุดพ้นโดยสิ้นเชิง ไม่ได้ให้ปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในปรมัตถสัจจ์ พระองค์ทรงพิจารณาว่า สภาวะลึกลับทางจิตเหล่านี้เป็น “ ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในโลกนี้ (ทิฏ.ฐธม.มสุขวิหาร) ” หรือเป็น “ ธรรมเครื่องอยู่สงบ ” (สน.ติวิหาร) ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่านี้

ดังนั้น พระพุทธองค์จึงได้ค้นพบ “ กรรมฐาน ” อีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า วิปัสสนา (สันสกฤตว่า วิปัศยนา หรือ วทร.ศนา ) คือ “ การเห็นแจ้ง ” ในธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายซึ่งจะนำไปสู่การหลุดพ้นทางจิตโดยสิ้นเชิง นำไปสู่การรู้แจ้งแทงตลอดปรมัตถสัจจ์ คือพระนิพพาน นี่แหละคือ “ กรรมฐาน ” ของพระพุทธศาสนาอันเป็นการเจริญทางจิตแบบพุทธชัญญะคือการระมัดระวังและการเฝ้าสังเกต

มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่จะแสดงคุณค่าทีแท้จริงของเรื่องที่มีขอบข่ายกว้างขวาง เช่น “ กรรมฐาน ” นี้ในเนื้อที่ไม่กี่หน้านี้ อย่างไรก็ตาม ในที่นี้จะพยายามอธิบายแนวความคิดในเชิงปฏิบัติของ “ กรรมฐาน ” คือการเจิรญจิต หรือการพัฒนาจิตในทางพุทธศาสนาที่แท้ ๆ แต่เพียงย่นย่อและหยาบ ๆ เท่านั้น
สติปัฏฐานสูตร

พระสูตรที่สำคัญที่สุดที่พระองค์ทรงสอนเรื่องการพัฒนาจิต (กรรมฐาน) คือ สติปัฏฐานสูตร “ การตั้งจิต ” (สูตรที่ 22 ในทีฆนิกายหรือ สูตรที่ 10 ในมัชฌิมนิกาย) พระสูตรนี้ คนโบราณนับถือกันมากจนกระทั่งนำมาใช้สวดกัน ไม่เพียงแต่ในวัดทางพระพุทธศาสนาเท่านั้นแต่ยังนำมาใช้สวดกันในบ้านเรือนของชาวพุทธ โดยให้สมาชิกในครอบครัวมานั่งล้อมวงฟังกันด้วยศรัทธาอันดื่มด่ำ บ่อยครั้งที่พระภิกษุนำพระสูตรนี้ไปสวดที่ใกล้เตียงของคนกำลังจะตาย ฟังเพื่อชำระจิตครั้งสุดท้ายของผู้นั้นให้บริสุทธิ์

วิธีปฏิบัติ “ กรรมฐาน ” ดังที่อธิบายไว้ในพระสูตรนี้ ไม่ได้ตัดขาดจากชีวิตหรือจการการเป็นอยู่ ตรงกันข้าม เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตและภารกิจประจำวันของเรา เกี่ยวกับความทุกข์ ความสุข การพูด การคิด ตลอดจนการประกอบอาชีพที่มีศีลธรรมและใช้สติปัญญาของเรา

สติปัฏฐานสูตรนี้แบ่งออกเป็น 4 หมวดใหญ่ คือ
หมวดที่เกี่ยวกับกายของเรา (กายานุปัสสนา)
หมวดที่เกี่ยวกับความรู้สึกหรือเวทนาของเรา (เวทนานุปัสสนา)
หมวดที่เกี่ยวกับจิต (จิตตานุปัสสนา)
หมวดที่เกี่ยวกับศีลธรรมและพุทธิปัญญาต่าง ๆ (ธัมมานุปัสสนา)

พึงจำใส่ใจไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็น “ กรรมฐาน ” แบบใด มีสาระสำคัญอยู่ที่การระลึกได้หรือมีสติ การใส่ใจหรือ การเฝ้าสังเกต (อนุปัสสนา)

ตัวอย่าง “ กรรมฐาน ” ที่เกี่ยวกับกายซึ่งรู้จักกันดีและเป็นที่นิยมปฏิบัติกันมากที่สุด คือ “ การตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ” (อานาปานัสสติ) อานาปานัสสตินี้เท่านั้นที่ในพระคัมภีร์กำหนดท่านั่งอย่างหนึ่งไว้โดยเฉพาะสำหรับ “ กรรมฐาน ” แบบอื่น ๆ ดังที่อธิบายไว้ในพระคัมภีร์ ท่านอาจนั่ง ยืน เดิน หรือนอนตามแต่สะดวกแต่สำหรับการฝึกสติกำหนดลมหายใจเข้าออกนั้น ในคัมภีร์บอกว่าผู้ปฏิบัติจะต้อง “ นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง และดำรงสติให้มั่น ” แต่การนั่งขัดสมาธินี้เป็นเรื่องไม่ง่ายในแง่ปฏิบัติสำหรับคนในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนตะวันตก ดังนั้น ผู้ที่เห็นว่าการนั่งขัดสมาธิลำบากก็อาจนั่งบนเก้าอี้ “ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น ” ก็ได้ ในการปฏิบัติอานาปานัสสตินี้ สิ่งที่จำเป็นยิ่งก็คือ ผู้ปฏิบัติจะต้องนั่งตัวตรงแต่ไม่ฝืนเกร็งตัว มือวางบนตักแบบสบาย ๆ เมื่อนั่งแบบนี้แล้ว อาจจะใช้วิธีหลับตาหรือเพ่งที่ปลายจมูกก็ได้ตามแต่จะสะดวก

คนเราหายใจเข้าออกตลอดวันตลอดคืน แต่ไม่เคยมีสติกำหนดลมหายใจ ไม่เคยเพ่งจิตที่ลมหายใจนั้น ตอนนี้ (สมมติว่า) ทำกำลังปฏิบัติอานาปานัสสตินี้อยู่ ก็ให้หายใจเข้าออกเป็นปกติ อย่าพยายามไปบังคับมันนำจิตของท่านไปกำหนดจดจ่อที่ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้จิตมองและสังเกตลมหายใจเข้าหายใจออกนั้น ให้จิตคอยระลึกและเฝ้าดูลมหายใจออกลมหายใจเข้า เมื่อคนเราหายใจบางครั้งหายใจลึก บางครั้งหายใจไม่ลึก ซึ่งข้อนี้ไม่มีความสำคัญอะไร ให้หายใจเป็นปกติธรรมชาติ แต่มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ เมื่อหายใจลึก ก็ให้รู้ว่าหายใจลึก เป็นต้น กล่าวอีกนัยหนึ่งจะต้องนำจิตไปกำหนดจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจเข้าออกอย่างเต็มที่ จนรู้การเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงของมัน ให้ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งรอบ ๆ ตัว หรือสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่เหลือบตามองสิ่งใด ๆ ให้ทำเช่นนี้เป็นเวลา 5 นาทีบ้าง 10 นาทีบ้าง

ในระยะแรก ๆ ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกลำบากในการนำจิตกำหนดจดจ่อที่ลมหายเข้าอก จะรู้สึกแปลกใจว่าจิตกระเจิดกระเจิงไม่นิ่งอยู่กับที่ทำให้เริ่มคิดถึงสิ่งต่าง ๆ เมื่อได้ยินเสียงภายนอก จิตก็หวั่นไหวและวอกแวก ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความท้อแท้และหมดหวัง แต่ถ้าพยายามปฏิบัติเช่นนี้ ต่อไปเรื่อย ๆ วันละ 2 ครั้ง คือเช้าเย็น ครั้งละประมาณ 5 นาที หรือ 10 นาที จิตก็จะค่อย ๆ เริ่มไปจดจ่อที่ลมหายใจเข้าออก หลังจากผ่านไปสักระยะหนึ่ง ผู้ปฏิบัติก็จะพบกับเสี้ยววินาทีที่จิตจดจ่ออย่างเต็มที่ที่ลมหายใจ จะเป็นช่วงที่ผู้ปฏิบัติไม่ได้ยินเสียงต่าง ๆ ที่อยู่รอบข้าง เป็นช่วงที่ผู้ปฏิบัติถูกตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง ในชั่ววูบนี้เอง ผู้ปฏิบัติจะประสบกับปีติสุข และความสงบอย่างเหลือล้นจนอยากที่จะปฏิบัติอยู่ต่อไป แต่ก็จะไม่สามารถปฏิบัติต่อไปอีกได้อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ปฏิบัติปฏิบัติอย่างนี้อย่างสม่ำเสมอ ก็จะได้พบกับความสงบสุขเช่นนั้นอยู่เรื่อย ๆ และยาวนานยิ่งขึ้น ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผู้ปฏิบัติลืมตัวเองนำสติไปจดจ่อแน่วแน่อยู่ที่ลมหายใจ ตราบใดที่คนเรายังนึกถึงตัวเองอยู่ ก็จะยังไม่สามารถทำจิตให้แน่วแน่ในสิ่งใดได้

การปฏิบัติอานาปานัสสตินี้ เป็นการปฏิบัติที่ธรรมดา ๆ และง่ายดาย มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาสมาธิ ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุพลังลึกลับที่สูงยิ่งขึ้นไป (ฌาน) นอกจากนั้น พลังแห่งสมาธินี้เป็นปัจจัยให้เกิดความเข้าใจลึกซึ้ง และรู้แจ้งแทงตลอดในธรมชาติของสรรพสิ่งตลอดจนทำพระนิพพานให้แจ้งได้

นอกจากนี้แล้ว การปฏิบัติอานาปานัสสติ ยังให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทันตาเห็น คือ เป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกาย ช่วยผ่อนคลายความเครียดหลับได้สบาย และมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจประจำวัน ทำให้ผู้ปฏิบัติมีความสงบและเยือกเย็น แม้เมื่อตอนที่เกิดการตื่นเต้นตกใจ ถ้าปฏิบัติอานาปานัสสติกรรมฐานสักสองสามนาที ก็จะพบว่าตนเองมีความสงบสันติในทันที จะเกิดความรู้สึกเหมือนกับตื่นจากการนอนหลับพักผ่อน

การปฏิบัติ “ กรรมฐาน ” (การพัฒนาจิต) ที่มีความสำคัญและมีประโยชน์มากอีกอย่างหนึ่ง คือ การมีสติอยู่กับสิ่งที่ตนกำลังทำทั้งทางกายและทางวาจา ในช่วงที่ปฏิบัติภารกิจประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นงานส่วนตัว งานราชการหรืองานในอาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเดิน ยืน นั่ง นอนหลับ หรือแม้แต่ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ก็จะต้องมีสติกำกับในสิ่งที่กระทำนั้นอยู่ทุกขณะ กล่าวคือ ให้อยู่กับขณะปัจจุบัน อยู่กับอิริยาบถในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ไม่ให้คิดถึงอดีตและอนาคตเสียทีเดียวตรงกันข้ามให้คิดถึงอดีตและอนาคตได้ในแง่ที่สัมพันธ์กับขณะปัจจุบันกับอิริยาบถปัจจุบัน เมื่อใดที่มันสอดคล้องต้องกัน

โดยทั่วไป คนเราไม่ค่อยควบคุมตนเองให้อยู่กับการงานที่เป็นปัจจุบันขณะ แต่กลับปล่อยความคิดให้ไปอยู่กับอดีตหรืออนาคต แม้จะดูเหมือนว่ากำลังทำอะไรบางอย่างอยู่ในปัจจุบันที่นี่ แต่กลับมีความนึกคิดไปอยู่ยังที่อีกแห่งหนึ่ง ไปมัวจินตนาการถึงปัญหาต่าง ๆ บ้าง ความวิตกกังวลต่าง ๆ บ้าง ซึ่งมักจะเป็นเรื่องความทรงจำในอดีต หรือเป็นความปรารถนาและการคาดการณ์ถึงสิ่งในอนาคต ดังนั้น คนเราจึงไม่ทำตัวให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่เพลิดเพลินอยู่กับสิ่งที่ตนเองทำในขณะนั้น ๆ จึงไม่มีความสุข ไม่พึงพอใจกับปัจจุบันขณะกับการงานที่ตนกำลังกระทำอยู่ ทั้งไม่ได้ทุ่มตนเองให้กับสิ่งที่กระทำอยู่นั้นอย่างเต็มที่

บางครั้ง ท่านคงจะเคยเห็นคนนั่งอยู่ในภัตตาคาร อ่านหนังสือไปด้วยรับประทานอาหารไปด้วย เป็นภาพที่ดูเป็นธรรมดาสามัญเหลือเกิน บุคคลผู้นั้นสร้างความประทับใจให้ท่านว่า เขาเป็นคนมีงานยุ่งเสียเหลือเกินจนกระทั่งไม่มีเวลารับประทานอาหาร ท่านอาจจะสงสัยว่า บุคคลผู้นั้นรับประทานอาหาร หรืออ่านหนังสือกันแน่ บางคนอาจจะบอกว่าเขาทำทั้งสองอย่าง ซึ่งความจริงแล้วเขาไม่ได้ทำทั้งสองอย่างนั้น ทั้งไม่ได้เพลิดเพลินอยู่กับการกระทำทั้งสองอย่างนั้น แต่เป็นผู้มีจิตใจสับสนวุ่นวายไม่ได้เพลิดเพลินอยู่กับสิ่งที่ตนเองทำอยู่ในขณะนั้น ไม่ได้มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันเลย แต่กำลังพยายามหนีจากชีวิตในปัจจุบันอย่างขาดสติแบบโง่ ๆ (แต่ข้อนี้ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ให้คนเราพูดคุยกับเพื่อน ๆ ในระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน หรืออาหารเย็นหรอกนะ)

ท่านไม่สามารถหนีจากชีวิตของตนเองได้ ไม่ว่าท่านจะพยายามหนีมันขนาดไหน ตราบใดที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรืออยู่ในถ้ำท่านก็จะต้องเผชิญกับชีวิตและอยู่กับชีวิตอยู่ตราบนั้น ชีวิตที่จริงแท้ คือ ปัจจุบันขณะ ไม่ใช่ความทรงจำในอดีตซึ่งได้ตายไปแล้ว และไม่ใช่ความฝันถึงอนาคตซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ผู้ที่อยู่กับชีวิตในปัจจุบันขณะ คือ ผู้ที่อยู่กับชีวิตที่จริงแท้และจะเป็นผู้ที่มีความสุขมากที่สุด

เมื่อมีผู้ทูลถามว่า เพราะเหตุใดพระสาวกของพระองค์ ซึ่งถึงแม้จะดำรงชีวิตอย่างสงบเรียบง่ายด้วยอาหารเพียงมื้อเดียว แต่ก็ยังเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล ? พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบว่า “ สาวกเหล่านั้นไม่หวนนึกถึงอดีต ไม่รำพึงถึงอดีต แต่อยู่ในปัจจุบันดังนั้นจึงเป็นผู้มีความเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล เมื่อรำพึงถึงอนาคต และหวนนึกถึงอดีต คนโง่ทั้งหลายก็จะแห้งเหี่ยว เหมือนหญ้าเขียวขจีถูกตัดทิ้งไว้กลางแดดฉะนั้น ”
ตัวกู ของกู (อหังการ มมังการ)
การมีสติ หรือสัมปชัญญะ ไม่ได้หมายความว่าให้ท่านคิดหรือรู้ตัวว่า “ เรากำลังทำสิ่งนี้อยู่ ” หรือ “ เรากำลังทำสิ่งนั้นอยู่ ” มันไม่ใช่อย่างนั้น แต่มันตรงกันข้าม ขณะที่ท่านคิดว่า “ เรากำลังทำสิ่งนี้อยู่ ” นั้นท่านก็จะนึกถึงตัวตน จึงไม่ได้อยู่กับการกระทำนั้น ๆ แต่กลับไปมีชีวิตอยู่กับความคิดว่า “ เป็นตัวเรา ” และผลที่ตามมาคือ การงานของท่านพลอยได้รับความเสียหายไปด้วย ท่านจะต้องลืมนึกถึงตัวเองอย่างสิ้นเชิงและทุ่มเทตัวเองกับสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นทันทีที่นักพูดนึกถึงตัวเอง และคิดว่า “ เรากำลังปราศรัยกับผู้ฟัง ” จะทำให้คำปราศรัยของเขาเกิดความสับสนและแนวความคิดของเขาก็เกิดขาดตอนไม่ปะติดปะต่อ แต่เมื่อนักพูดผู้นั้นลืมนึกถึงตัวเองในขณะปราศรัยในเรื่องนั้น ๆ เขาก็จะเป็นนักพูดที่ดีที่สุด คือ จะพูดได้ดีและอธิบายเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างกระจ่าง งานที่สำคัญ ๆ ทุกอย่าง เช่น จิตรกรรม วรรณกรรม งานเสริมสร้างทางปัญญา งานเสริมสร้างทางจิตใจ ล้วนถูกประดิษฐ์ขึ้นมาในขณะที่ผู้สร้างสรรค์งานชิ้นนั้น ๆ ทุ่มเทชีวิตจิตใจทั้งหมดให้แก่งานนั้น ๆ ของตน ลืมนึกถึงตัวเองและมีอิสระจากการระลึกถึงตัวตน

การมีสติและสัมปชัญญะอยู่กับกิจการงานต่าง ๆ ของเราตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้นี้ คือการมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะอยู่กับกิจการงานในปัจจุบัน (มรรควิธีแบบเซ็น ก็มีพื้นฐานมาจากคำสอนนี้เหมือนกัน) ดังนั้น ในการปฏิบัติกรรมฐานในรูปแบบนี้ท่านยังไม่ได้กระทำสิ่งใด ๆ อันจะช่วยพัฒนาสติ เป็นแต่เพียงการระลึกถึงสิ่งที่ท่านกำลังทำ ท่านไม่ได้เสียเวลาอันมีค่าแม้แต่วินาทีเดียงกับการปฏิบัติ “ กรรมฐาน ” ประเภทนี้ เพียงแต่ให้ท่านปลูกฝังสติและสัมปชัญญะให้อยู่กับกิจการงานประจำวันของท่านอยู่เสมอทุกวันทุกคืน “ กรรมฐาน ” ทั้งสองอย่างดังที่ได้อธิบายมานี้ เป็นกรรมฐานที่เกี่ยวกับกายของเรา

แต่ยังมีแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิต (กรรมฐาน) อีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความรู้สึกหรือเวทนาทั้งหลายทั้งปวงของเรา คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออุเบกขาเวทนา ดังจะยกตัวอย่างมาประกอบสักหนึ่งตัวอย่าง เมื่อท่านเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ หรือเศร้าโศกเสียใจในสภาวะเช่นนี้ จิตใจของท่านมืดมน หม่นหมอง ไม่กระจ่าง เกิดเป็นความคับข้องในใจ ในบางกรณี ท่านไม่เห็นอย่างกระจ่างชัดด้วยซ้ำไปว่า ทำไมท่านถึงมีความรู้สึกไม่สบายใจไปเช่นนั้น ก่อนอื่นท่านจะต้องหัดให้ไม่มีความทุกข์ไปกับความรู้สึกที่เป็นทุกข์นั้น ๆ ไม่ต้องไปกังวลกับสิ่งที่ท่านกังวลอยู่นั้น ๆ แต่ให้พยายามมองให้แจ่มแจ้งว่า ทำไมจึงมีเวทนา หรือความรู้สึกทุกข์ กังวลหรือ เศร้าโศก เช่นนั้น พยายามตรวจสอบดูเวทนานั้น ๆ ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรมีอะไรเป็นเหตุ มันดับไปได้อย่างไร พยายามตรวจสอบมันเสมือนท่านสังเกตจากภายนอก อย่าให้มีปฏิกิริยาเชิงอัตตวิสัยเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้ทำเหมือนนักวิทยาศาสตร์สังเกตสิ่งที่ตนกำลังทำการทดลองอยู่นั้น นอกจากนั้น ท่านจะต้องไม่มองความรู้สึกนั้นในเชิงอัตตวิสัยว่า “ ความรู้สึกของเรา ” หรือ “ เวทนาของเรา ” แต่ให้มองในเชิง ปรวิสัยว่า “ ความรู้สึกอย่างหนึ่ง ” หรือ “ เวทนาอย่างหนึ่ง ” และท่านจะต้องลืมความคิดผิด ๆ ว่า “ ตัวเรา ” เสียอีกด้วย เมื่อท่านเห็นธรรมชาติของมัน เห็นว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันดับไปได้อย่างไร จิตของท่านก็จะไม่มีอคติต่อเวทนานั้น ๆ สามารถปล่อยวางและเป็นอิสระจากเวทนานั้นได้ มันจะมีลัษณะเช่นเดียวกันนี้กับเวทนาหรือความรู้สึกทั้งหลายทั้งปวง

ต่อไปจะได้กล่าวถึง “ กรรมฐาน ” ในแบบที่เกี่ยวข้องกับจิตของเรา ท่านจะต้องมีสติรู้เท่าทันอยู่ทุกขณะว่า จิตรักหรือโกรธ จิตถูกโทสะพยาบาท ความริษยาครอบงำ หรือว่าจิตมีความเมตตา กรุณา จิตมีโมหะ หรือมีความเข้าใจแจ่มแจ้งและถูกต้อง ดังนี้เป็นต้น เราต้องยอมรับว่า บ่อยครั้งที่เรากลัวหรือละอายที่จะตรวจสอบจิตของตนเอง จึงชอบหลบเลี่ยงอยู่เรื่อยไป คนเราจะต้องกล้าหาญและจริงใจ คอยมองตรวจสอบจิตของตนเอง เช่นเดียวกับที่คนเรามองดูใบหน้าของตนเองในกระจกเงา
วิธีดับความโกรธ

ในการตรวจสอบจิตนั้น จะต้องไม่มีท่าทีไปในทางวิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินพิพากษา ไม่ต้องแยกแยะว่าถูกหรือผิด ดีหรือเลวให้ทำแต่คอยสังเกต คอยมอง คอยตรวจสอบเท่านั้น อย่าได้ทำตัวเป็นผู้พิพากษา แต่ให้ทำตัวเป็นนักวิทยาศาสตร์ เมื่อทำการสังเกตจิตและสามารถมองเห็นธรรมชาติที่แท้จริงของจิตอย่างแจ่มแจ้งแล้วท่านก็คลายความติดยึดอยู่กับอารมณ์ ความรู้สึก และสภาวะทั้งหลายโดยวิธีนี้ ท่านก็จะหมุดอุปาทานเป็นอิสระ และมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง

อีกตัวอย่างหนึ่ง (เช่น) เมื่อท่านโกรธขึ้นมานั้น ท่านจะถูกความขัดเคือง ความพยาบาท ความเกลียดชังเข้าครอบงำ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า คนที่กำลังโกรธนั่นจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังโกรธ เมื่อใดที่เขามีสติกำหนดรู้สภาวะจิตของตนได้ เมื่อนั้นเขาก็จะเห็นความโกรธของตนเองเกิดเป็นความละอายแก่ใจ และเริ่มที่จะข่มความโกรธนั้น ท่านจะต้องตรวจสอบธรรมชาติของความโกรธว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันดับไปได้อย่างไร และอีกอย่างหนึ่งที่จะลืมไม่ได้ คือ จะต้องไม่คิดว่า “ เราโกรธ ” หรือ “ ความโกรธของเรา ” เป็นเพียงใช้สติไปกำหนดรู้สภาวะของจิตที่กำลังโกรธนั้น ทำการสังเกตและตรวจสอบจิตที่กำลังโกรธนั้นตามที่มีที่เป็นวิธีการเช่นนี้สามารถนำไปใช้กับความรู้สึกอารมณ์ และสภาวะทางจิตต่าง ๆ ได้ทั้งหมด

ต่อไปเป็น “ กรรมฐาน ” ที่เกี่ยวกับเรื่องทางจริยศาสตร์ จิตใจและพุทธิปัญญา การศึกษาเล่าเรียน การอ่านหนังสือ การอภิปราย การสนทนา การปรึกษาหารือ ในเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ล้วนแต่รวมอยู่ใน "กรรมฐาน" ชนิดนี้ทั้งนั้น เช่น เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วไปครุ่นคิดถึงเพื่อหาสาระที่ได้มีการอภิปรายกันเป็น “ กรรมฐาน ” อย่างหนึ่งอย่างที่ได้เห็นมาแล้วข้างต้นนั้นว่า การสนทนาระหว่าง พระเขมกะ กับพระภิกษุหมู่หนึ่ง เป็นกรรมฐานแบบหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริงในพระนิพพานได้
เครื่องสกัดกั้นทางใจ

ดังนั้น ในการปฏิบัติ “ กรรมฐาน ” แบบนี้ ท่านอาจจะศึกษาครุ่นคิด ปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับอุปสรรค 5 อย่าง (นิวรณ์) กล่าวคือ
ความใคร่พอใจในกาม (กามฉันทะ)
ความอาฆาต ความเคืองแค้น หรือความโกรธ (พยาบาท)
ความหดหู่และเซื่องซึม (ถีนมิทธะ)
ความฟุ้งซ่านและความกลุ้มกังวล (อุทธัจจกุกกุจจะ)
ความลังเลสงสัย (วิจิกิจฉา)

นิวรณ์ทั้ง 5 เหล่านี้ ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อความเข้าใจกระจ่างชัดซึ่งความจริงแล้วมันเป็นอุปสรรคต่อการเจริญก้าวหน้าทุกอย่าง เมื่อคนเราถูกนิวรณ์เหล่านี้ครอบงำ และเมื่อไรรู้วิธีที่จะกำจัดมันออกไป ก็จะทำให้ผู้นั้นไม่สามารถเข้าใจว่า อะไรผิด อะไรถูก อะไรดี อะไรชั่ว
องค์ปัญญาเครื่องตรัสรู้

บุคคลอาจปฏิบัติ “ กรรมฐาน ” ตามแนวธรรมที่เป็น “ องค์แห่งการตรัสรู้ 7 ประการ ” (โพชฌงค์ 7) คือ
ความระลึกได้ (สติ) ได้แก่ การระลึกรู้อยู่กับภารกิจและการเคลื่อนไหวทั้งทางร่างกายและทางจิตทั้งปวง ดังที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้น
ความสืบค้น และวิจัยในปัญหาของหลักวิชาการต่าง ๆ (ธัมมวิจยะ) ที่รวมอยู่ในข้อนี้ คือ การศึกษาด้านศาสนา จริยศาสตร์ และปรัชญา การอ่าน การวิจัย การอภิปราย การสนทนา ตลอดจนเข้าฟังคำบรรยายที่เกี่ยวกับหลักวิชาการต่าง ๆ เหล่านั้น
ความเพียร (วิริยะ) คือ ทำด้วยความบากบั่นจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย
ความอิ่มใจ (ปีติ) เป็นคุณสมบัติที่ตรงข้ามกับแนวโน้มของจิต ที่ชอบมองโลกในแง่ร้าย หดหู่ และเศร้าสร้อย
ความผ่อนคลาย (ปัสสัทธิ) ทั้งทางร่างกายและทางจิตผู้ปฏิบัติไม่ควรมีกายและจิตกระด้าง
ความมีใจตั้งมั่น (สมาธิ) ดังที่ได้อธิบายแล้วข้างต้น
ความมีใจเป็นกลาง (อุเบกขา) หมายถึง สามารถเผชิญชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้น ๆ ลง ๆ ด้วยจิตสงบ เยือกเย็น ไม่หวั่นไหว

ในการที่จะปลูกฝังคุณสมบัติต่าง ๆ เหล่านี้ได้นั้น ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีความปรารถนา มีความมุ่งมั่น และมีความสมัครใจอย่างแท้จริง เงื่อนไขทางวัตถุและจิตใจอื่น ๆ อีกหลายอย่างที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาในคุณสมบัติในแต่ละอย่าง มีคำอธิบายอยู่ในคัมภีร์

นอกจากนี้แล้ว บุคคลอาจจะปฏิบัติกรรมฐานด้วยการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ เช่น ขันธ์ 5 โดยการสืบค้นปัญหาที่ว่า “ อะไรคือสัตว์บุคคล ?” หรือ “ อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าเรา ?” หรือพิจารณาอริยสัจจ์ 4 ตามที่อธิบายข้างต้น การศึกษาและการสืบค้นเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ประกอบกันเป็นกรรมฐานแบบที่ 4 (ธัมมานุปัสสนา) ซึ่งจะนำไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริงในปรมัตถสัจจ์

นอกจากสิ่งต่าง ๆ ที่ได้อภิปรายมาแล้วเหล่านี้ ก็ยังมีอารมณ์ของกรรมฐานอื่น ๆ อีกมากมาย เมื่อรวมกันแล้วมีทั้งหมด 40 อย่าง ใน 40 อย่างเหล่านี้ จะขอยกมากล่าวแต่เฉพาะ พรหมวิหาร 4 ประการ คือ
การแผ่ความรักและความปรารถนาดี (เมตตา) อย่างไม่มีขอบเขต แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า โดยปราศจากความลำเอียงใด ๆ ไม่เหมือน “ กับที่มารดาให้ความรักแต่เฉพาะลูกของตนเท่านั้น ”
ความสงสาร (กรุณา) ต่อมนุษย์สัตว์ทั้งปวง ผู้มีความทุกข์ ลำบาก เดือดร้อน
ความยินดี (มุทิตา) ในความสำเร็จ ความมั่งคั่ง และมีสุขของผู้อื่น
ความวางใจเป็นกลาง (อุเบกขา) ในความเปลี่ยนแปลงขึ้น ๆ ลง ๆ

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณผู้เขียนบทความนี้ค่ะ... ทำให้เข้าใจ.. และมีกำลังใจในการปฏิบัติมากขึ้นค่ะ

    ตอบลบ