เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ม้านอกสายตา


นิตยสารสารคดี : ฉบับที่ ๓๑๐ :: ธันวาคม ๕๓ ปีที่ ๒๖

คอลัมน์ริมธาร : ม้านอกสายตา
รินใจ

เมื่อ ๕๐ ปีก่อน พม่าและฟิลิปปินส์เคยถูกจับตามองว่าจะเป็นเสือเศรษฐกิจตัวต่อไปของเอเชียตะวันออกตามหลังญี่ปุ่น แต่ทุกวันนี้ความฝันนั้นก็ยังเลือนราง สิบปีต่อมาบราซิลได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่สุดในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา แต่แล้วก็กลับอับแสงลงไป จวบจนเมื่อ ๓๕ ปีมานี้เอง ซีไอเอยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตอาจล้ำหน้าสหรัฐในทศวรรษต่อไปด้วยซ้ำ แต่หลังจากนั้นไม่ถึง ๒ ทศวรรษ สหภาพโซเวียตก็หายไปจากแผนที่โลก

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญผู้มากด้วยข้อมูลและประสบการณ์ แต่ก็เช่นเดียวกับปุถุชนทั้งหลาย นักปราชญ์ย่อมพลาดพลั้งได้เสมอ ในขณะที่โลกจับตามองพม่า ฟิลิปปินส์ และบราซิลนั้น ไม่มีใครคาดคิดว่า สิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน จะกลายเป็นประเทศที่เจริญรุดหน้าทางเศรษฐกิจอย่างทุกวันนี้ แม้แต่ ลี กวน ยิว เองเมื่อแรกเป็นนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ก็ยังยอมรับว่า เพียงแค่การนำพาประเทศให้ไปรอดได้ก็เป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง เพราะทั้งเกาะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่จะส่งออกเลย แถมคนว่างงานก็มีสูงถึง ๑๔ เปอร์เซ็นต์ ส่วนเกาหลีใต้ก็เต็มไปด้วยคนยากจน คนหิวโหยมีมากมายเพราะบ้านเมืองเพิ่งฟื้นจากสงคราม ขณะที่การเมืองเต็มไปด้วยความวุ่นวายระส่ำระสาย

การคาดการณ์อนาคตนั้น แม้จะออกมาจากมันสมองของผู้เชี่ยวชาญ มีโอกาสผิดได้เสมอ เพราะนอกจากมนุษย์จะมีขีดจำกัดในการรับรู้และวิเคราะห์แล้ว อนาคตยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน มีเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่พร้อมจะผันแปรได้ตลอดเวลา ดังนั้นการคาดการณ์ที่เป็นบวก อาจสวนทางกับความจริงที่เป็นลบ ในทำนองเดียวกัน การคาดการณ์ที่เป็นลบ อาจสวนทางกับความจริงที่เป็นบวกได้

เมื่อ ๒๐ ปีก่อนน้อยคนที่คาดคิดว่า อินเดียจะกลายเป็นเสือเศรษฐกิจที่มาแรงอย่างยิ่ง จะเป็นรองก็แต่จีนเท่านั้น จนถึงวันนี้อินเดียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่องเกือบ ๒ ทศวรรษแล้ว บางคนถึงกับคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของอินเดียจะสูงกว่าจีนในอีก ๓ ปีข้างหน้า ธุรกิจของอินเดียที่ติดอันดับโลกมีมากมาย รวมทั้ง บริษัทเหล็กกล้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก แม้แต่รถยี่ห้อดังเช่น จากัวร์ หรือแลนด์โรเวอร์ก็กลายเป็นของบริษัทอินเดียที่ชื่อตาตาไปแล้ว

ย้อนถอยหลังไปเมื่อปี ๒๕๓๔ อินเดียไม่มีวี่แววว่าจะเป็นเสือเศรษฐกิจที่น่าเกรงขามอย่างทุกวันนี้เลย ตรงกันข้ามผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายทั้งในและนอกประเทศต่างเห็นพ้องต้องกันว่า เศรษฐกิจของอินเดียกำลังย่ำแย่ถึงขั้นวิกฤต ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเหลือน้อยมาก พอจ่ายหนี้และสินค้านำเข้าได้เพียง ๒ สัปดาห์เท่านั้น เพื่อป้องกันมิให้เศรษฐกิจของอินเดียพังครืน รัฐบาลต้องสาละวนกับการกู้ยืมเงินเพื่อจ่ายหนี้วันต่อวัน แม้หันไปพึ่งเงินกู้ของไอเอ็มเอฟ แต่ก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมากนัก ดูเหมือนวันที่อินเดียประกาศพักชำระหนี้กำลังจะมาถึง

นี้คือสถานการณ์ที่มัมโมฮัน ซิงห์ ต้องเผชิญตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัฐบาลชุดใหม่ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ เขารู้ดีว่ากำลังจะเกิดขึ้นอะไรกับประเทศ ไม่กี่วันหลังได้รับตำแหน่ง เขารายงานสถานการณ์ต่อนายกรัฐมนตรีว่า “เรากำลังใกล้ล้มละลาย”

ไม่มีเพื่อนคนใดเห็นด้วยที่ซิงห์รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังเพราะเป็นการเปลืองตัวเปล่า ๆ พวกเขาเห็นว่าเศรษฐกิจของอินเดียเลวร้ายเกินกว่าที่เขาจะเยียวยาได้ หลายคนทำนายว่าภายในหกเดือนเขาจะถูกปลดจากตำแหน่งและกลายเป็นแพะที่ต้องรับบาปจากความล้มเหลวของรัฐบาล
ชื่อเสียงเขาจะต้องด่างพร้อยจากงานนี้อย่างแน่นอน

มิใช่แต่เพื่อนของเขาเท่านั้น ผู้รู้และนักสังเกตการณ์ทั้งหลายก็ไม่มีความหวังในตัวเขา ต่างลงความเห็นว่า เขาไม่เหมาะกับตำแหน่งนี้ บ้างก็ว่าเขาเป็น “เทคโนแครตที่ไร้ประสิทธิภาพ” หรือ “ข้าราชการที่ไร้หน้าค่าตา” แม้ทุกคนจะยอมรับในความเป็นคนดีของเขา แต่ไม่มีใครเห็นว่าเขาจะนำพาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้

ซิงห์เองยอมรับว่าเขาไม่ใช่คนฉลาดหลักแหลม เขารู้ดีว่าโอกาสที่เขาจะล้มเหลวนั้นมีสูง แต่เขาพร้อมที่จะเปลืองตัว เขาให้เหตุผลที่มารับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังว่า “หากผมล้มเหลว ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่ใครเล่าจะล้มเหลวหากอินเดียได้รับชัยชนะ”

ซิงห์เห็นว่าแม้สถานการณ์จะเลวร้ายเพียงใด ก็ใช่จะไร้ความหวัง โอกาสที่จะแก้ไขยังมีอยู่แต่นั่นหมายความว่าจะต้องใช้ “ยาแรง” ในขณะที่ใคร ๆ พากันหมดหวัง เขามองว่าวิกฤตขณะนั้นเป็น “โอกาสที่จะสร้างอินเดียใหม่ โอกาสที่จะทำสิ่งที่หลายคนก่อนหน้านี้เคยคิดและพูดว่าควรทำ แต่กลับไม่ได้ทำ”

ไม่กี่วันหลังจากได้รับตำแหน่ง ซิงห์เรียกประชุมข้าราชการระดับสูงจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ เพื่อชี้แจงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและตอกย้ำถึงความจำเป็นต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจของอินเดียอย่างเร่งด่วนเพื่อกู้วิกฤต โดยเฉพาะการลดบทบาทของรัฐและการเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจที่เคยสืบเนื่องมาหลายทศวรรษ ซึ่งอาจต้องเผชิญหน้ากับการขัดขวางต่อต้านจากกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ดังนั้นหากข้าราชการคนใดไม่เห็นด้วยกับแผนปฏิรูปของเขา ก็ขอให้บอกเขาทันที จะได้ย้ายให้ไปทำงานใหม่ที่เหมาะสม เขาจบการประชุมด้วยการขอร้องว่า “ผมต้องการความช่วยเหลือจากคุณ”

มาตรการเร่งด่วนอย่างแรกที่ซิงห์นำมาใช้คือลดค่าเงินรูปีถึงร้อยละ ๒๐ ซึ่งช่วยให้สินค้าออกมีราคาถูกลง สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น จากนั้นก็ตามมาด้วยการยกเลิกการให้เงินอุดหนุนสินค้าส่งออก ซึ่งช่วยลดรายจ่ายของรัฐไปได้มาก แต่ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากก็คือ การผ่อนคลายการควบคุมของรัฐ มาตรการหลังนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะรัฐได้ควบคุมเศรษฐกิจของประเทศมาเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ กิจการแทบทุกอย่างและทุกขั้นตอนของเอกชนต้องได้รับอนุญาตจากรัฐ ไม่เว้นแม้แต่การผลิตสินค้าตัวใหม่ การนำเข้าอุปกรณ์ หรือการปลดคนงาน ในอดีตความพยายามใด ๆ ที่จะลดอำนาจการควบคุมของรัฐ จะถูกต่อต้านจากนักการเมืองและข้าราชการ แต่เมื่อบ้านเมืองใกล้ถึงจุดวิกฤต ซิงห์รู้ดีว่านี้คือโอกาสที่จะผู้คนพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างหากจะช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตนั้นได้

ซิงห์ทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ ต้องเจอแรงต่อต้านมากมายโดยเฉพาะจากนักการเมืองอย่างที่คาดไว้ แต่เขาก็สามารถผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ แม้บุคลิกของเขาจะนุ่มนวลแต่คำเตือนของเขานั้นรุนแรงหนักแน่น หากไม่มีการปฏิรูป อินเดียจะประสบหายนะ เขาเรียกร้องการเสียสละจากทุกฝ่าย ความซื่อสัตย์และความสุภาพของเขาเป็นแรงดึงดูดผู้คนหลายฝ่ายให้มาร่วมมือกันขับเคลื่อนการปฏิรูป

ภายในเวลาไม่ถึง ๒ ปี เศรษฐกิจของอินเดียก็ฟื้นตัว อุตสาหกรรมที่รัฐเคยผูกขาด ได้เปิดกว้างให้เอกชนมาลงทุน ทำให้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันต่างชาติก็มาลงทุนมากขึ้น ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียพุ่งพรวด ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพิ่มเป็น ๑๒ เท่าตัวในเวลาไม่ถึง ๓ ปี

ห้าปีในฐานะรัฐมนตรีคลัง ซิงห์ได้นำความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจขนานใหญ่มาสู่อินเดีย การปฏิรูปของเขาได้ปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์และผลิตภาพของอินเดียออกมาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เปิดโอกาสให้ธุรกิจของอินเดียก้าวสู่เวทีระดับโลกและมีบทบาทอย่างสูงในยุคโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ที่ทำให้อินเดียกลายเป็นศูนย์กลางด้านการให้บริการทางธุรกิจแก่บริษัทชั้นนำทั่วโลก

ย้อนหลังไปเมื่อ ๑๙ ปีที่แล้ว ไม่มีใครคาดคิดว่านักเศรษฐศาสตร์และอดีตข้าราชการที่จับพลัดจับผลูมาเป็นรัฐมนตรีคลังอย่าง มัมโมฮัน ซิงห์ จะสามารถนำอินเดียผ่านพ้นวิกฤตมาได้ อีกทั้งยังผลักดันให้เกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ที่เป็นรากฐานให้อินเดียเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องร่วมสองทศวรรษ จนผู้รู้บางคนเรียกว่าเป็น “ปาฏิหาริย์” ทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญของโลก แต่แม้จะประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง ซิงห์ก็เป็นคนเดิมที่ถ่อมตัว “ผมเป็นคนตัวเล็กที่ถูกดึงให้มานั่งเก้าอี้ตัวใหญ่” เขาเคยให้สัมภาษณ์เมื่อไม่กี่ปีมานี้ “ผมคิดว่า ไม่ว่าผมได้ทำอะไรไป ผมหวังว่าผมจะได้มีชื่ออยู่ในเชิงอรรถของประวัติศาสตร์อันยาวนานและทุรกันดารของอินเดีย” อย่างไรก็ตามความสำเร็จไม่ยอมปล่อยเขาไปง่าย ๆ ในที่สุดเขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอินเดียถึง ๒ ครั้ง ๒ ครา และได้รับการยกย่องว่า เป็น “รัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของเอเชีย” ขณะที่นิตยสารนิวสวีคคัดเลือกเขาเป็น ๑ ใน ๑๐ ผู้นำโลกที่ได้รับความเคารพ อีกทั้งเป็น “ผู้นำที่ผู้นำคนอื่นรัก”

การปฏิรูปบ่อยครั้งเกิดขึ้นโดยบุคคลที่ไม่มีใครคาดคิด การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญบ่อยครั้งเกิดขึ้นในยามที่ผู้คนสิ้นหวัง แม้แต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในสายตาของผู้รู้ ก็สามารถเป็นจริงได้ในที่สุด สิ่งที่เลวร้ายที่สุดอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความรุ่งโรจน์ก็ได้ ดังนั้นแม้ใครต่อใครจะท้อแท้หมดหวัง นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะสิ้นศรัทธาในอนาคต แม้ใครต่อใครจะไม่มั่นใจในตัวเรา นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะหมดศรัทธาในตนเอง ขอเพียงแต่ใช้ปัญญาและวิริยะอย่างถึงที่สุดด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยมุ่งประโยชน์สุขของส่วนรวมยิ่งกว่าตนเอง สักวันหนึ่งผลแห่งธรรมดังกล่าวย่อมปรากฏอย่างไม่ต้องสงสัย
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org korobiznet เอื้อเฟื้อพื้นที่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น