เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

รับมือกับอารมณ์ที่มาเยือน


นิตยสารสารคดี : ฉบับที่ ๓๐๙ :: พฤศจิกายน ๕๓ ปีที่ ๒๖

คอลัมน์รับอรุณ : รับมือกับอารมณ์ที่มาเยือน
พระไพศาล วิสาโล

คงไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการความสงบใจ ในยามปกติสุข หลายคนย่อมปรารถนาความรื่นเริงบันเทิงใจยิ่งกว่าอะไรอื่น แต่เมื่อใดที่ประสบความผิดหวัง หรือถูกกระทบกระแทก จนจิตใจว้าวุ่นรุ่มร้อน ถึงตอนนั้นจึงใฝ่หาความสงบใจ แต่ยิ่งพยายามทำใจให้สงบ จิตใจก็กลับว้าวุ่นรุ่มร้อนกว่าเดิม เพราะสิ่งที่ผู้คนมักกระทำคือ กดข่มอารมณ์และความคิด ยิ่งนึกถึงเรื่องร้ายหรือเหตุการณ์ที่เจ็บปวดมากเท่าไร ก็ยิ่งอยากผลักไสมันออกไปจากใจมากเท่านั้น แต่การทำเช่นนั้นกลับทำให้มันรังควานเรายิ่งกว่าเดิม

ความรู้สึกนึกคิดนั้นชอบเล่นตลกกับเรา ยิ่งผลักไสกดข่ม มันยิ่งผุดโผล่ เหมือนเด็กดื้อ ยิ่งห้าม ก็เหมือนกับยิ่งยุ เดวิด เวกเนอร์ (David Wegner) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยทดลองด้วยการขอให้อาสาสมัครกลุ่มหนึ่งนั่งอยู่ในห้องเงียบ ๆ คนเดียว โดยมีเงื่อนไขว่าทุกคนจะคิดอะไรก็ได้ แต่ห้ามนึกถึงหมีขาว หากนึกถึงหมีขาวเมื่อใดขอให้กดกริ่งทันที ปรากฏว่า ไม่นานหลังจากที่เริ่มการทดลอง เสียงกริ่งก็ดังระงม

การทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่ายิ่งพยายามไม่คิดถึงสิ่งใด ใจก็ยิ่งหมกมุ่นกับสิ่งนั้น การทดลองดังกล่าวอาจดูเหมือนเป็นเรื่องทำสนุก แต่บ่อยครั้งปฏิกิริยาดังกล่าวของจิตสามารถส่งผลลบได้ในชีวิตจริง เจนนิเฟอร์ บอร์ตัน (Jennifer Borton) และอลิซาเบธ เคซีย์ ( Elizabeth Casey)แห่งมหาวิทยาลัยแฮมิลตัน ได้ขอให้คนกลุ่มหนึ่งนึกถึงเหตุการณ์หรือสิ่งที่แย่ที่สุดเกี่ยวกับตัวเอง จากนั้นก็ให้ครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้พยายามผลักไสความคิดดังกล่าวออกไปจากใจตลอด ๑๑ วันข้างหน้า ส่วนอีกครึ่งหนึ่งให้ดำเนินชีวิตตามปกติ ทุกคืนให้แต่ละคนทบทวนว่าตนนึกถึงความคิดดังกล่าวมากน้อยเพียงใด รวมทั้งให้คะแนนภาวะอารมณ์ ความกังวล และความรู้สึกเกี่ยวกับตนเอง

สิ่งที่นักวิจัยทั้งสองคนพบก็คือ เมื่อเทียบกับคนที่ใช้ชีวิตตามปกติ คนที่พยายามผลักไสความคิดที่เป็นลบเกี่ยวกับตัวเอง จะคิดถึงเรื่องนั้นมากกว่า นอกจากนั้นคนกลุ่มนี้ยังมีความกังวลมากกว่า ซึมเศร้ามากกว่า และรู้สึกเป็นลบเกี่ยวกับตัวเองมากกว่าด้วย

จริงอยู่มีความรู้สึกนึกคิดบางอย่างที่เราสามารถกดข่มผลักไสจนมันดูเหมือนจะหายไป แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้หายไปไหน หากแต่คอยรังควานรบกวนเราอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ (ที่เรียกว่าจิตไร้สำนึก) โดยแสดงอาการในรูปลักษณ์อื่นที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน ชายผู้หนึ่งพบว่าตนเองมีปฏิกิริยาอย่างรุนแรงต่อศาลพระภูมิ พบเห็นทีไรก็อยากเข้าไปทำลาย โดยไม่รู้สาเหตุ จนเมื่อไปปรึกษาจิตแพทย์ สิ่งสำคัญที่จิตแพทย์พบก็คือ ชายผู้นี้โกรธเกลียดพ่อมาก เนื่องจากพ่อใช้อำนาจและความรุนแรงกับเขาอยู่เป็นประจำ แต่เขาไม่สามารถยอมรับความรู้สึกนี้ได้ เพราะความใฝ่ดีในใจเขาคอยย้ำเตือนว่าคนดีจะโกรธเกลียดพ่อไม่ได้ ดังนั้นเขาจึงพยายามกดข่มความรู้สึกนี้ แต่มันไม่ได้หายไปไปไหน หากแอบซ่อนอยู่ในจิตไร้สำนึกและหาโอกาสปรากฏตัวในรูปอื่นที่แฝงเร้นแต่เป็นที่ยอมรับได้ง่ายกว่า นั่นคือระบายความโกรธเกลียดใส่ศาลพระภูมิ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่มีสถานะสูงส่งเป็นที่เคารพยำเกรง คล้ายกับพ่อของเขา

ในเมื่อยิ่งผลักไสกดข่มความรู้สึกนึกคิด มันยิ่งรบกวนจิตใจ จะดีไหมหากเราใช้วิธีตรงข้าม นั่นคือ ปล่อยมันออกมาให้เต็มที่ ถ้าโกรธ ก็ระบายความโกรธออกมาเลย ถ้าเกลียดก็แสดงความเกลียดออกมาสุด ๆ ฟังดูน่าจะดีหากว่าระบายออกมาแล้วมันหายเกลี้ยงไปจากใจ แต่ความจริงหาใช่เช่นนั้นไม่ ดูเผิน ๆ เหมือนมันหาย แต่ที่จริงมันกลับทำให้เราโกรธเกลียดได้ง่ายขึ้น และระบายอารมณ์ออกมาได้รุนแรงกว่าเดิม

การทดลองของแบรด บุชแมน (Brad Bushman) แห่งมหาวิทยาลัยรัฐไอโอวา ยืนยันข้อสรุปดังกล่าว เขาได้ขอให้นักศึกษา ๖๐๐ คนเขียนเขียนความเรียงเพื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับการทำแท้ง จากนั้นก็มีการนำความเรียงเหล่านั้นไปให้นักศึกษาอีกคนหนึ่งวิจารณ์ แต่ในความเป็นจริงผู้วิจารณ์ก็คือคณะผู้ทดลองนั่นเอง ความเรียงแต่ละชิ้นจะถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง เช่น วิจารณ์ว่า “เป็นความเรียงที่แย่ที่สุดที่เคยอ่านมา” ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเมื่อคืนความเรียงไปให้เจ้าของ เขาจะรู้สึกโกรธแค้นเพียงใด

จากนั้นก็มีการเปิดโอกาสให้นักศึกษาเหล่านี้จำนวนหนึ่งระบายความโกรธออกมา ด้วยการชกกระสอบทรายซึ่งติดภาพใบหน้าของคนที่(ถูกอ้างว่า)เป็นผู้วิจารณ์ความเรียงของเขา นักศึกษาแต่ละคนถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพังและระบายความโกรธได้เต็มที่ โดยหารู้ไม่ว่ามีการแอบฟังเสียงชกกระสอบทรายเพื่อนับว่ามีการชกกี่ครั้ง ขณะเดียวกันนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่ง แทนที่จะชกกระสอบทราย ก็ถูกขอให้นั่งเงียบ ๆ ในห้องคนละ ๒ นาที

ขั้นตอนต่อมา ทุกคนกรอกแบบสอบถามเพื่อประเมินว่าแต่ละคนมีความโกรธ หงุดหงิด หรือขุ่นเคืองใจมากน้อยเพียงใด สุดท้ายก็มีการจับคู่เล่นเกม ผู้ชนะสามารถตะโกนใส่หน้าผู้แพ้ได้เต็มที่ จะดังเท่าใด หรือนานเท่าใดก็ได้

ผลจากการทดลองก็คือ คนที่ชกกระสอบทรายอย่างเต็มที่นั้น หาได้รู้สึกโกรธน้อยลงหลัง
จากนั้นไม่ ตรงกันข้ามกลับมีความก้าวร้าวขุ่นเคืองมากกว่าคนที่นั่งนิ่ง ๆ ในห้อง อีกทั้งยังตะโกนใส่หน้าเพื่อนด้วยเสียงที่ดังกว่าและนานกว่าด้วย เห็นได้ชัดว่า ไม่ว่าในแง่อารมณ์และพฤติกรรมที่แสดงออกมา มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างคน ๒ กลุ่ม

การทดลองดังกล่าวชี้ว่า การระบายความโกรธออกมานั้นไม่ได้ช่วยให้ความโกรธลดลงแต่อย่างใด ตรงกันข้าม มันเหมือนกับการเทน้ำมันลงในกองไฟด้วยซ้ำ

มองในแง่ของพุทธศาสนา เมื่อเกิดอารมณ์ขึ้นไม่ว่า ความโกรธ ความหงุดหงิดขัดเคือง ความโลภ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ “อนุสัย” ซึ่งพร้อมจะสะสมนอนเนื่องในจิตใจ หากระบายอารมณ์ดังกล่าวออกมา เช่นระบายความโกรธด้วยการแสดงความรุนแรงไม่ว่าด้วยคำพูดหรือการกระทำ ก็ยิ่งทำให้อนุสัยสะสมมากขึ้น ส่งผลให้ความโกรธก่อตัวง่ายกว่าเดิม รวมทั้งแสดงออกได้ง่ายขึ้นด้วย พูดอีกอย่างคือ เกิดการสะสมเป็นนิสัยสันดาน คนที่ระบายความโกรธออกมาบ่อย ๆ จึงเป็นคนมักโกรธ คนที่ทำตามความอยากอยู่เสมอ จึงเป็นคนมักได้ หากปล่อยไว้นานวันก็จะต้านทานอารมณ์เหล่านั้นได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ

ในเมื่อกดข่มผลักไส มันก็ไม่หายไปไหน ระบายออกไป มันก็กลับสะสมพอกพูน แล้วจะจัดการกับความรู้สึกนึกคิดที่รบกวนจิตใจอย่างไร คำตอบคือ ดูมันเฉย ๆ หรือรับรู้มันด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่ต้องผลักไสหรือปล่อยใจ(และกาย)ไปตามอำนาจของมัน นั่นคือมี “สติ” สตินั้นช่วยให้เราไม่เผลอเข้าไปในอารมณ์จนตกอยู่ในอำนาจของมัน ปกติอารมณ์ใดก็ตามมักจะมีแรงดึงดูดให้ใจเราถลำจมหรือหมกมุ่นอยู่กับมัน แต่สติช่วยดึงจิตให้ถอนออกมาจากอารมณ์นั้น และดูมันเฉย ๆ อย่างมีระยะห่าง เหมือนดูกองไฟที่ลุกโชนโดยไม่รู้สึกร้อนรุ่ม แต่ถ้าขาดสติเมื่อใด ใจก็จะโถมเข้าหาอารมณ์นั้นและเกิดทุกข์ตามมา เหมือนกับโดดเข้าไปในกองไฟแล้วถูกมันเผาลน

การวางระยะห่างจากอารมณ์ ทำให้อารมณ์นั้นค่อย ๆ มอดดับลงเพราะขาดเชื้อ ในทางตรงข้ามการถลำเข้าไปในอารมณ์ หรือครุ่นคิดถึงมันอยู่เสมอ กลับทำให้อารมณ์นั้นลุกโพลงขึ้น เหมือน
กองไฟที่ได้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น

สติยังช่วยยั้งใจไม่ให้ผลักไสกดข่มอารมณ์ เพราะการทำเช่นนั้นกลับทำให้ติดยึดในอารมณ์มากขึ้น การอยากผลักไสนั้นจะว่าไปแล้วก็เป็นความติดยึดอย่างหนึ่ง และเมื่อพยายามผลักไสก็ยิ่งยึดติดหรือพลัดจมอยู่ในอารมณ์นั้นยิ่งกว่าเดิม ทำนองเดียวกับที่เราพยายามผลักรถที่จอดขวางทาง ยิ่งออกแรงผลักเท่าไร ตัวเราก็ยิ่งแนบชิดกับตัวถังรถมากขึ้น เมื่อมือเราสัมผัสกับสิ่งที่เหม็นสกปรก แม้เราจะพยายามล้างมือและขัดถูเพื่อให้ปลอดกลิ่นเพียงใด แต่เราก็อดไม่ได้ที่จะดึงมือขึ้นมาดมหากลิ่นนั้น ยิ่งเหม็นก็ยิ่งดม ยิ่งอยากขจัดใครบางคนออกไปจากใจ ก็ยิ่งนึกถึงคนนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต่อเมื่อมีสติรู้ทันอารมณ์และอาการดังกล่าว เราจึงจะปล่อยวางมันได้ และดูมันด้วยใจนิ่งสงบจนมันเลือนหายไปเอง

ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย หากเราไม่ไปยุ่งกับมัน ไม่ว่าหลงตามหรือผลักไส มันย่อมดับไปเองตามธรรมชาติของมัน แต่หากมันรบกวนเรา สิ่งที่ควรทำคือรู้หรือดูมันเฉย ๆ เหมือนกับดูสิ่งหนึ่งที่ไม่ใช่เรา

วันหนึ่งลูกสาววัย ๙ ขวบมารบเร้าแม่ว่าอยากได้ของเล่นอย่างหนึ่งในร้านค้า ลูกสาววิงวอนขอความเห็นใจแม่ว่า อยากได้จริง ๆ เมื่อแม่สอบถามก็ได้ความว่า ลูกอยากได้ไมโครโฟนเล็ก ๆ พอเสียบปลั๊กแล้วก็ร้องเพลงได้ แต่พอลูกตอบว่า ของเล่นชิ้นนี้ราคา ๔๐๐ บาท แม่ก็ตกใจเพราะแพงเกินไปสำหรับเด็กวัยนี้

ลูกสาววิงวอนแล้ววิงวอนอีก เพราะอยากได้จริง ๆ ในสถานการณ์อย่างนี้ ผู้เป็นแม่โดยทั่วไปมักเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ หากไม่ตามใจลูก ก็ปฏิเสธความต้องการของลูก แต่แม่ผู้นี้รู้ว่ามีวิธีที่ดีกว่านั้น เธอจึงเจรจากับลูกว่า ถ้าลูกอยากได้ลูกต้องซื้อด้วยเงินของตัวเอง โดยมีเงื่อนไข ๒ ข้อ คือ ข้อที่หนึ่ง แม่จะหักค่าขนมของลูกครึ่งหนึ่งนับแต่วันพรุ่งนี้ โดยจะหยอดกระปุกจนครบ ๔๐๐ บาท ข้อที่สอง นับแต่นี้ไปทุกเย็นให้ลูกไปที่ร้านนั้นแล้วดูไมโครโฟนอันนั้น แล้วให้สังเกตดูใจของตัวไปด้วยว่า รู้สึกอย่างไร ชอบมันมากเหมือนเดิมทุกวันไหม

ลูกดีใจ จึงทำตามที่แม่บอก แต่เมื่อผ่านไปได้ ๔ วัน ลูกก็มาบอกแม่ว่า ไม่อยากได้แล้ว แม่ถามว่าทำไม คำตอบของลูกคือ “เบื่อ” ทำไมถึงเบื่อ ลูกตอบว่า ดูนาน ๆ ก็เบื่อเอง เก็บเงิน ๔๐๐ ไว้ทำอย่างอื่นดีกว่า

สิ่งที่แม่ผู้นี้ทำไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า การสอนให้ลูกมีสติดูความอยากที่เกิดขึ้นในใจ เมื่อดูมันทุกวัน ความอยากก็จางคลายไปเอง เพราะเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้วที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป ไม่จีรังยั่งยืน เมื่อดูมันไปเรื่อย ๆ ไม่นานมันก็หมดพิษสง และไม่รบกวนจิตใจอีกต่อไป แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามักไม่เห็นความจริงข้อนี้เพราะมักจะทำตามความอยาก หรือไม่ก็ครุ่นคิดถึงมัน จึงทำให้มันมีกำลังมากขึ้นจนยากที่เราจะต้านทานได้

ความโกรธก็เช่นเดียวกัน เมื่อมันเกิดขึ้น ลองตั้งสติดูมัน เสมือนเป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในใจ แต่ไม่ใช่ “เรา” จะลองสังเกตดูกายด้วยก็ได้ว่า ขณะที่โกรธนั้น ลมหายใจเป็นอย่างไร หัวใจเต้นแรงมากน้อยเพียงใด หน้านิ่วคิ้วขมวด กัดฟัน หรือเกร็งมือหรือไม่ การหันมาดูกายและใจ จะช่วยดึงความรู้สึกตัวกลับมา และทำให้ความโกรธจางคลายไป ความโกรธก็เช่นเดียวกับอารมณ์อื่น ๆ ไม่สามารถอยู่ร่วมกับความรู้สึกตัวได้ เมื่อความรู้สึกตัวเกิดขึ้น อารมณ์ก็เลือนหายไป เหมือนกับความมืดที่หายวับเมื่อเจอแสงสว่าง

แต่หากสติยังไม่เข้มแข็งฉับไว ความรู้สึกตัวอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แล้วหายวับไป ทำให้ความโกรธผุดขึ้นมาใหม่ ลองน้อมใจมาที่ลมหายใจ แล้วหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาว ๆ สัก ๑๐ ครั้ง จะพบว่าความโกรธทุเลาลง เพราะเมื่อใจละวางจากอารมณ์ มันก็เหมือนกองไฟที่ไม่มีใครเติมเชื้อให้ จึงอ่อนแรงลง จากนั้นลองหันมาดูความโกรธอีกครั้งด้วยใจที่เป็นกลาง ๆ คือดูเฉย ๆ โดยไม่คิดผลักไสกดข่มมัน

อารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนานั้น ยากที่จะป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้ มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดังนั้นแทนที่จะคิดผลักไสมัน ลองเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน โดยไม่หลงไปตามอำนาจของมัน ต้อนรับอารมณ์เหล่านี้เสมือนอาคันตุกะผู้มาเยือน ซึ่งเมื่อถึงเวลาก็จากไปเอง โดยไม่ต้องเร่งรัดผลักไส เพียงแค่ยอมรับอารมณ์เหล่านี้ได้ ไม่รู้สึกเป็นลบหรือมองเป็นศัตรู ใจก็สงบไปได้มาก ข้อสำคัญก็คืออย่าหลงเชื่อคำชักชวนของมันจนปล่อยตัวปล่อยใจไปตามมันก็แล้วกัน
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org korobiznet เอื้อเฟื้อพื้นที่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น