เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า



คำสอนเริ่มต้นแต่ทรงประกาศพระศาสนา และจะทรงประกาศต่อไปนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักวิชาสำหรับศึกษาให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และทรงวางระเบียบปฏิบัติให้รู้ว่า อะไรควรละ อะไรควรบำเพ็ญ อะไรเหนือสิ่งควรละควรบำเพ็ญ หลักวิชานั้นคือ ไตรลักษณญาณ ซึ่งเราทุกคนควรรู้ เมื่อรู้แล้วเรียกว่าพระศาสนา

ไตรลักษณญาณ

หลักวิชาสำหรับศึกษาให้รู้ว่า สิ่งทั้งปวงที่มีปัจจัยปรุงแต่งเป็นอนิจจัง สิ่งทั้งมวลที่มีปัจจัยปรุงแต่งเป็นทุกขัง และสิ่งทั้งปวงทั้งที่ปัจจัยปรุงแต่งและทั้งที่ปัจจัยไม่ได้ปรุงแต่งเป็นอนัตตา เรียกว่าไตรลักษณญาณ

ข้อว่าเป็น อนิจจัง ก็คือสิ่งทั้งปวงเปลี่ยนแปลงเรื่อยไป ไม่มีอะไรเป็นตัวมันเอง ซึ่งต้องหยุดอยู่ชั่วขณะหนึ่ง

ข้อว่าเป็น ทุกขัง คือสิ่งทังปวงมีลักษณะทนอยู่ไม่ได้ มีอันย่อยยับแตกดับไปในตัวมันเอง ซึ่งดูแล้วน่าเกลียด น่าเบื่อหน่าย น่าระอา อยู่ในตัวมันเองทั้งนั้น

ข้อว่าเป็น อนัตตา ก็คือสิ่งทั้งปวงไม่มีอะไรที่จิตใจควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน หรือเป็นของตน ถ้าไปยึดเข้าก็ต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งทั้งปวงนั้นยิ่งกว่าไฟ อันไฟธรรมดานั้นเมื่อมันลุกโพลงอยู่เราเห็นได้ด้วยตา เราเห็นได้ว่าเป็นไฟก็ไม่อาจเข้าใกล้ แต่สิ่งทั้งปวงนั้นเป็นไฟที่มองไม่เห็นได้ว่าเป็นไฟ และชวนให้เราสมัครใจเข้าไปกอดกองไฟด้วยกัน จึงพากันเป็นทุกข์อยู่ตลอดกาล

หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ๓ หลัก

เมื่อเราศึกษาในหลักวิชาที่ทรงวางไว้ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว แต่เราจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะตรงต่อกฎธรรมดาของสิ่งทั้งปวงที่เป็นอยู่จริงๆ พระพุทธองค์จึงทรงวางระเบียบปฏิบัติประมวลลงในหลัก ๓ คือ ทรงสอนให้ละความชั่วทั้งปวง ทรงสอนให้บำเพ็ญความดีทุกอย่าง และทรงสอนให้ชำระใจของตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง

ระเบียบปฏิบัติที่ทรงประมวลลงใน ๓ หลักนี้ สำหรับให้เราปฏิบัติเพื่อให้รู้ว่าความชั่วที่เรียกว่าบาปทั้งปวงเป็นสิ่งที่ควรละ เพราะให้ผลเป็นทุกข์แก่ผู้กระทำ แล้วละคือเว้นไม่กระทำความชั่วทั้งปวงนั้นเสีย ความดีที่เรียกว่ากุศลหรือบุญทุกอย่างเป็นสิ่งที่ควรบำเพ็ญ เพราะให้ผลเป็นสุขแก่ผู้กระทำ แล้วบำเพ็ญให้เกิดขึ้นในตนโดยครบถ้วน และจิตใจที่ชำระให้บริสุทธิ์สะอาดแล้วจะต้องหลุดจากความชั่วและความดีพ้นภพชาติเด่นอยู่ในโลก

แนวการสอน ๕ ประการ

เมื่อพระพุทธองค์ทรงประมวลคำสอนลงใน ๓ หลักนั้นแล้ว ได้ทรงวางแนวการสอนทำให้เข้าถึง ๓ หลักนั้นไว้ ๕ ประการ เรียกว่า อนุปุพพิกถา สำหรับสอนให้ผู้ทำตามเปลี่ยนชีวิตจิตใจของตนให้เลื่อนขั้นดีขึ้นโดยลำดับ คือ

๑. ทานกถา พรรณาทานการให้ว่าเป็นคุณให้คนมีอัธยาศัยใจคอกว้างขวาง รู้จักสละทรัพย์สมบัติของตนเพื่อเฉลี่ยความสุขแก่คนอื่น ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว เป็นการแสดงจิตเมตตากรุณาแก่คนอื่นตามฐานะ

๒. สีลกถา พรรณาถึงการรักษาศีล ให้รู้จักปรับปรุงตนของตนเป็นคนมีกิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อย ปราศจากโทษใหญ่น้อยเป็นลำดับแห่งทาน

๓. สัคคกถา พรรณาถึงสวรรค์ คือ กามคุณที่น่าใคร่ อันจะพึงได้พึงถึงด้วยกรรมดี คือ ทาน ศีล ให้รู้จักบำเพ็ญกรรมดีนั้นจนจิตอิ่มตัวเป็นลำดับแห่งศีล

๔. กามาทีนวกถา พรรณาถึงโทษของกามว่าเป็นของไม่ยั่งยืนและประกอบด้วยความคับแค้น เพื่อให้รู้โทษของกามว่า นามรูปแม้จะได้มาเพราะผลของกรรมดี ให้เกิดความสุขสักเท่าไร แต่เมื่อยังเกาะเกี่ยวอยู่ในกามภพนี้ก็จะได้รับทุกข์อยู่ร่ำไป อันผู้ยังมีภพมีชาติอยู่นั้น ท่านเปรียบเหมือนบุคคลถูกเขานำหอกมาแทงวันละ ๑๐๐ เล่ม ให้ได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ถึง ๑๐๐ ปีแล้วตายไป พ้นจากทุกข์ในโลกนี้ ยังดีกว่าผู้มีภพชาติซึ่งต้องตายๆ เกิดๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุดลงได้

๕. เนกขัมมานิสัมสกถา พรรณาถึงอานิสงส์แห่งการออกไปจากกาม เพื่อให้รู้จักฟอกจิตให้ออกห่างจากความยินดีในกาม และสละกามอันเป็นพืชพันธุ์ก่อให้เกิดภพชาติไม่มีที่สุด จึงควรจะได้รับฟังคำสอนให้เกิดดวงตาเห็นธรรม เหมือนผ้าที่ขาวสะอาดควรจะรับน้ำย้อม ฉะนั้น

บรรดาคนที่เกิดมาในกามภพ สำหรับผู้โง่เขลาย่อมยินดีในกามภูมิเพลิดเพลินอยู่ในกามกิเลส ปรารถนาแล้วปรารถนาอีกในกามตัณหา ชอบใจติดอยู่ในกามคุณจนถอนตนไม่ขึ้น เหมือนกบและเต่าที่ยอมจมอยู่ในตมและโคลนตลอดกาล ส่วนผู้มีปัญญาพิจารณาตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว กลับเห็นตรงกันข้าม เลิกถอนสละคืนได้ทั้งหมด ไม่ยอมจมอยู่ในโคลนตมเหมือนดอกบัว แม้รากเหง้าจะจมอยู่สู่ในตมก็ไม่เปื้อนด้วยตมและโคลน และชูดอกแย้มกลีบโปรยกลิ่นหอมระรื่นอยู่บนตมและโคลน ดังนั้น จึงขอเชิญท่านผู้มีวิจารณญาณพิจารณาให้เห็นโดยความเป็นธรรมเถิด

สรุปหลักคำสอนที่ประมวลลงใน ๓ หลักนั้น คือ ทรงสอนให้ละความชั่วทั้งปวง ทรงสอนให้บำเพ็ญความดีทุกอย่าง และทรงสอนให้ชำระใจของตนให้บริสุทธิ์สะอาด ส่วนแนวการสอนสำหรับให้ผู้ปฏิบัติดำเนินตามนั้นมี ๕ ที่เรียกว่า อนุปุพพิกถา คือ ทานกถา พรรณาถึงการให้ทาน สีลกถา พรรณาถึงการรักษาศีล สัคคกถา พรรณาถึงสวรรค์ กามาทีนวกถา พรรณาถึงโทษของกาม และเนกขัมมานิสังสกถา พรรณาถึงอานิสงส์แห่งการออกไปจากกาม

จริงอยู่ หลักคำสอนมี ๓ แนว การสอนที่จะให้ถึงหลักคำสอนมี ๕ ไม่เท่ากัน แต่โดยเนื้อความก็กลมกลืนเข้ากันได้ไม่ขาดไม่เกิด คือ แนวการสอน ๓ ข้อเบื้องต้นสอนให้ละความชั่ว ท่ามกลางให้ตั้งอยู่ในความดี เบื้องปลายสอนให้ชำระใจที่เศร้าหมองให้เป็นใจบริสุทธิ์ผุดผ่อง

กามเป็นอุปสรรคตัวต้นของสมาธิ

คนเราเกิดมาในกามภพ ร่างกายจิตใจตกอยู่ในกามภูมิ มีกามารมณ์เป็นอาหารหล่อเลี้ยง แม้ร่างกายนี้ก็ได้วัตถุกามมาเป็นเครื่องปรนเปรอ ถ้าไม่มีปัญญารู้เท่าเข้าใจตามเป็นจริงแล้ว ก็ไม่สามารถจะหลุดพ้นจากเครื่องผูกของกามได้ ชาวโลกิยชนนี้ พระพุทธองค์ทรงอุปมาเหมือนนกติดข่ายของนายพราน ซึ่งน้อยตัวนักที่จะหลุดพ้นไปได้ โลกิยชนเราก็เช่นกัน น้อยคนนักจะหลุดพ้นจากเครื่องผูกของกามไปได้

ประการหนึ่ง เหมือนอย่างว่าเต่ากับปลาสองสหาย เต่าเป็นทั้งสัตว์น้ำและสัตว์บก ได้พูดเรื่องภูมิประเทศเหตุการณ์บนบกให้ปลาฟังว่าเป็นที่สวยสดงดงามและอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารนานาชนิด แม้เต่าจะชี้แจงให้ฟังสักเท่าไร แต่ปลาเป็นสัตว์น้ำไม่เคยเห็นบนบกก็ไม่ยอมเชื่อ ด้วยเข้าใจว่าในพิภพนี้มีแต่น้ำเท่านั้น หามีบนบกอยู่ด้วยไม่ ข้อนี้ฉันใด กามเป็นเครื่องเศร้าหมองของใจ ผู้ตกอยู่ในอำนาจของกามก็ฉันนั้น ย่อมไม่รู้เห็นสัจธรรมได้ ถึงจะมีผู้ชี้โทษให้เห็นว่า กามเป็นของมีโทษมากมีคุณน้อย ก็ไม่ยอมรับรู้ทั้งนั้น เพราะเห็นกามเป็นคุณ ซึ่งเรียกว่ากามคุณ เมื่อกามให้โทษทั้งที่เผ็ดร้อนแสนสาหัส น่าจะเห็นว่ากามลงโทษ แต่กลับเห็นไปว่าสิ่งอื่นให้โทษก่อน

กามคุณ มีอยู่ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ผู้ตกอยู่ในอำนาจของกามแล้ว ย่อมลุ่มหลงมัวเมาติดอยู่ในกามคุณ ๕ นี้ว่า เมื่อกามคุณ ๕ นี้ยังมีอยู่ สามารถอำนวยประโยชน์สุขแก่ตนได้ หรือกามคุณ ๕ นี้ดับหายไปก็ยังหวังว่าจะได้มาอีก ดังนั้น สัตว์ตายแล้วจึงต้องเกิดอีก เพราะความหวังติดใจในกามคุณ ๕ ยังมีเชื้อเหลืออยู่ เป็นอันว่าผู้ตกโคลนเอาโคลนมาล้างจะสะอาดได้ไฉน เมื่อจิตขุ่นมัวด้วยกิเลสแล้ว ย่อมเข้าถึงสมาธิไม่ได้ อันจิตที่เป็นสมาธินั้น ต้องเป็นจิตสะอาดปราศจากกิเลสมีกามฉันทะ เป็นต้น

ข้อนี้พึงเห็นได้ในองค์ฌาน ๕ เป็นตัวอย่าง คือ ผู้จะเข้าถึงฌานได้ต้องละนิวรณ์ ๕ ด้วยองค์ฌาน ๕ คือ ละกามฉันทะ ความพอใจในกาม ด้วยเอกัคคตา ละพยาบาทด้วยปีติ ละถีนมิทธิด้วยวิตก ละอุทธัจจกุกกุจจะด้วยสุข และละวิจิกิจฉาด้วยวิจาร เมื่อพิจารณาดูตามนี้จะเห็นได้ว่ากามเป็นอุปสรรคตัวต้นที่เข้าขัดขวางไม่ให้จิตเป็นสมาธิได้ ที่จริงกามได้แสดงอาการให้จิตฟุ้งซ่านอยู่แล้ว ขณะที่จิตพอใจในวัตถุอันน่าใคร่ ซึ่งเรียกว่าวัตถุกาม ก็ถูกกิเลสเป็นเหตุใคร่ซึ่งเรียกว่ากิเลสกามเข้าครอบงำ สิ่งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจย่อมมีอยู่ครบถ้วน เมื่อประสบสิ่งอันไม่น่าพอใจ จิตก็เกิดปฏิฆะ โทสะ พยาบาท ขณะที่จิตมีปฏิฆะ โทสะ พยาบาทอยู่นั่นเอง ความฟุ้งซ่านและรำคาญต้องตามมา ความง่วงงุนซบเซาหาวนอนก็ประดังมา เป็นเหตุให้เกิดความลังเลตัดสินใจอะไรลงไปไม่ได้ แม้จะตัดสินลงไปแล้วก็ไม่เป็นอันตัดสิน ผลก็คือความกลุ้มใจ นำให้ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ ท่านจึงสอนให้อบรมจิตให้เป็นสมาธิเพื่อละกิเลสเหล่านี้เสีย แล้วก็จะได้รับความสุขที่แท้จริง

จริงอยู่ คนเราที่เกิดมาในกามภพ ติดอยู่ในกามภูมิ มีกามารมณ์เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง เมื่อคิดดูแล้วน่าหนักใจในอันจะละกามให้ออกห่างไกลจนจิตไม่ติดชุ่มแช่อยู่ในกามารมณ์ และเห็นโทษเบื่อหน่ายถอนตัวออกได้เด็ดขาด เป็นอนาลโย สิ้นอาลัยห่วงใยนั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย แต่ผู้ปฏิบัติที่ตั้งใจมุ่งมั่นดำเนินตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าจนเข้าถึงสัจธรรม ความหนักใจจะกลายเป็นความเบาใจไป และความสงสัยว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ก็จะหมดสิ้นไป เพราะสัจธรรมเป็นนิยยานิกธรรม นำให้ผู้ปฏิบัติถูกต้องลุถึงผลที่ประสงค์ได้

พึงทราบว่า รูปกายของคนเราเป็นวิบากขันธ์ จะสมประกอบหรือไม่สมประกอบก็จะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ส่วนใจที่เข้าอาศัยรูปกายเป็นเรือนอยู่ เมื่อยังไม่รู้ความจริงของรูปกาย ก็จะอนุวัตไปตามและเข้ายึดครองด้วยอำนาจกิเลส แต่เมื่อได้รับอบรมให้รู้ให้ฉลาดขึ้นพอตัวแล้ว ก็จะเห็นเป็นแต่สักว่าเครื่องอาศัย ไม่เข้ายึดครองด้วยอำนาจกิเลส พึงเห็นพระอริยเจ้าเป็นตัวอย่าง คือ ท่านอาศัยรูปกายนี้เองบำเพ็ญบารมีจนได้บรรลุโลกุตรธรรม และยังต้องอาศัยรูปกายนี้เป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่อีก

กาม อุปมาเหมือนกับน้ำท่วมทับกายและใจของสัตว์อยู่ตลอดเวลา คนผู้ลุ่มหลงมัวเมาเหมือนกับปลา ผู้มีสติสัมปชัญญะเหมือนกับเต่า ซึ่งเป็นทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ จะไม่ลงไปอยู่ในน้ำเสียเลย ก็ยังพอมีความสุขดำรงชีวิตอยู่ได้ไม่ตาย เหมือนฆราวาสผู้หมกมุ่นในกาม ถ้าไม่เห็นว่ากามเป็นอุปสรรคของสมาธิ ก็ไม่อาจพรากจิตออกจากกามและอบรมจิตให้เป็นสมาธิได้ แต่เมื่อเห็นว่ากามเป็นอุปสรรคของสมาธิและรู้ว่าจิตเพียงอาศัยรูปกายอันเป็นวิบากขันธ์ จิตมิใช่รูปกาย รูปกายไม่ใช่จิต แล้วพยายามหาโอกาสออกจากกาม เช่น รักษาอุโบสถเป็นต้น ปลีกตนออกจากกาม อบรมสมาธิฝึกฝนจิตให้สงบสงัดจากกามและกิเลสทั้งหลายเป็นครั้งคราว เมื่อปฏิบัติบ่อยๆ ก็สามารถพรากจิตออกจากกามได้แน่นอน ควรถือภาษิตว่า "น้ำมากมาปลากินมด น้ำลดหมดมดได้กินปลา" แต่ขณะเราอยู่ในฐานะเป็นปลาก็อย่าคอยท่ากินแต่มดเมื่อน้ำหลากมา หรือถึงคราวเป็นมด ก็ต้องอย่าคอยท่ากินแต่ปลาเมื่อน้ำแห้งแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น