พุทธธรรม
หรือ
กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต
_______________________________________________________________
ความนำ สิ่งที่ควรเข้าใจก่อน
พระพุทธศาสนานั้น เมื่อมองในทัศนะของคนสมัยใหม่ มักเกิดปัญหาขึ้น
บ่อยๆ ว่าเป็นศาสนา (religion) หรือเป็นปรัชญา (philosophy) หรือว่าเป็น
เพียงวิธีครองชีวิตแบบหนึ่ง (a way of life) เมื่อปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ก็
เป็นเหตุให้ต้องถกเถียงหรือแสดงเหตุผล ทำให้เรื่องยืดยาวออกไป อีกทั้งมติ
ในเรื่องนี้ก็แตกต่างไม่ลงเป็นแบบเดียวกัน ทำให้เป็นเรื่องฟั่นเฝือ ไม่มีที่สิ้นสุด
ในที่นี้ แม้จะเขียนเรื่องพุทธธรรมไว้ในหมวดปรัชญาก็จะไม่พิจารณา
ปัญหานี้เลย มุ่งแสดงแต่ในขอบเขตว่า พุทธธรรมสอนว่าอย่างไร มีเนื้อหา
อย่างไรเท่านั้น ส่วนที่ว่าพุทธธรรมจะเป็นปรัชญาหรือไม่ ให้เป็นเรื่องของ
ปรัชญาเองที่จะมีขอบเขตครอบคลุมหรือสามารถตีความให้ครอบคลุมถึง
พุทธธรรมได้หรือไม่ โดยที่ว่าพุทธธรรม ก็คือพุทธธรรม และยังคงเป็นพุทธ
ธรรมอยู่นั่นเอง มีข้อจำกัดเพียงอย่างเดียวว่า หลักการหรือคำสอนใดก็ตาม
ที่เป็นเพียงการคิดค้นหาเหตุผลในเรื่องความจริงเพื่อสนองความต้องการ
ทางปัญญา โดยมิได้มุ่งและแสดงแนวทางสำหรับประพฤติปฏิบัติในชีวิตจริง
อันนั้น ให้ถือว่า ไม่ใช่พระพุทธศาสนา เฉพาะอย่างที่ถือว่าเป็นคำสอนเดิม
แท้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งในที่นี้เรียกว่าพุทธธรรม
การประมวลคำสอนในพระพุทธศาสนามาวางเป็นข้อสรุปลงว่า พุทธ
ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนและทรงมุ่งหมายแท้จริง เป็นอย่างไรนั้น เป็น
เรื่องยาก แม้จะยกข้อความในคัมภีร์ซึ่งถือกันว่าเป็นพุทธพจน์มาอ้าง เพราะ
คำสอนในคัมภีร์มีปริมาณมากมาย มีแง่ด้านระดับความลึกซึ้งต่างๆ กัน และ
ขึ้นต่อการตีความของบุคคล โดยใช้สติปัญญาและความสุจริตใจหรือไม่เพียง
ไรด้วย ในบางกรณี ผู้ถือความเห็นต่างกันสองฝ่าย อาจยกข้อความในคัมภีร์มา
สนับสนุนความคิดเห็นของตนได้ด้วยกันทั้งคู่ การวินิจฉัยความจริงจึงขึ้นต่อ
ความแม่นยำในการจับสาระสำคัญ และความกลมกลืนสอดคล้องแห่งหลัก
การและหลักฐานที่แสดงทั้งหมดโดยหน่วยรวมเป็นข้อสำคัญ แม้กระนั้น เรื่อง
ที่แสดงและหลักฐานต่างๆ ก็มักไม่กว้างขวางครอบคลุมพอ จึงหนีไม่พ้นจาก
อิทธิพลความเห็นและความเข้าใจพื้นฐานต่อพุทธธรรมของบุคคลผู้แสดงนั้น
ในเรื่องนี้ เห็นว่ายังมีองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งที่ควรนำมาเป็นเครื่อง
วินิจฉัยด้วย คือ ความเป็นไปในพระชนมชีพ และพระปฏิปทาขององค์
สมเด็จพระบรมศาสดา ผู้เป็นแหล่งหรือที่มาของคำสอนเอง บุคลิกและสิ่งที่
ผู้สอนได้กระทำ อาจช่วยแสดงความประสงค์ที่แท้จริงของผู้สอนได้ดีกว่าคำ
สอนเฉพาะแห่งๆ ในคัมภีร์ หรืออย่างน้อยก็เป็นเครื่องประกอบความเข้าใจ
ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถึงหากจะมีผู้ติงว่า องค์ประกอบข้อนี้ก็ได้จากคัมภีร์ต่างๆ
เช่นเดียวกับคำสอน และขึ้นต่อการตีความได้เหมือนกัน แม้กระนั้น ก็ยังต้อง
ยอมรับอยู่นั่นเองว่า เป็นเครื่องประกอบการพิจารณาที่มีประโยชน์มาก
จากหลักฐานต่างๆ ทางฝ่ายคัมภีร์และประวัติศาสตร์ พอจะวาดภาพ
เหตุการณ์และสภาพสังคมครั้งพุทธกาลได้คร่าวๆ ดังนี้
พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในชมพูทวีป เมื่อประมาณ ๒,๖๐๐ ปีล่วงมา
แล้ว ทรงประสูติในวรรณะกษัตริย์ พระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ เป็น
โอรสของพระเจ้าสุทโธทนะผู้ครองแคว้นศากยะ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออก
เฉียงเหนือของชมพูทวีป ติดเชิงเขาหิมาลัย ในฐานะโอรสกษัตริย์และเป็น
ความหวังของราชตระกูล พระองค์จึงได้รับการปรนเปรอด้วยโลกียสุขต่างๆ
อย่างเพียบพร้อม และได้ทรงเสวยความสุขอยู่เช่นนี้เป็นเวลานานถึง ๒๙ ปี
ทรงมีทั้งพระชายาและพระโอรส
ครั้งนั้น ในทางการเมือง รัฐบางรัฐที่ปกครองแบบราชาธิปไตยกำลัง
เรืองอำนาจขึ้น และกำลังพยายามทำสงครามแผ่ขยายอำนาจและอาณาเขต
ออกไป รัฐหลายรัฐ โดยเฉพาะที่ปกครองแบบสามัคคีธรรม (หรือแบบสาธารณรัฐ)
กำลังเสื่อมอำนาจลงไปเรื่อยๆ บางรัฐก็ถูกปราบรวมเข้าในรัฐอื่นแล้ว บาง
รัฐที่ยังเข้มแข็งก็อยู่ในสภาพตึงเครียด สงครามอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ แม้รัฐ
ใหญ่ที่เรืองอำนาจ ก็มีการขัดแย้งรบพุ่งกันบ่อยๆ
ในทางเศรษฐกิจ การค้าขายกำลังขยายตัวกว้างขวางขึ้น เกิดคน
ประเภทหนึ่งมีอิทธิพลมากขึ้นในสังคม คือ พวกเศรษฐี ซึ่งมีสิทธิ มีเกียรติยศ
และอิทธิพลมากขึ้นแม้ในราชสำนัก
ในทางสังคม คนแบ่งออกเป็น ๔ วรรณะตามหลักคำสอนของศาสนา
พราหมณ์ มีสิทธิ เกียรติ ฐานะทางสังคม และอาชีพการงาน แตกต่างกัน
ไปตามวรรณะของตนๆ แม้นักประวัติศาสตร์ฝ่ายฮินดูจะว่าการถือวรรณะใน
ยุคนั้นยังไม่เคร่งครัดนัก แต่อย่างน้อยคนวรรณะศูทร ก็ไม่มีสิทธิที่จะฟัง
หรือกล่าวความในพระเวทอันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ได้ ทั้งมี
กำหนดโทษไว้ (เท่าที่ทราบจากมานวธรรมศาสตร์ต่อมา ถึงกับให้ผ่าร่างกาย
เป็น ๒ ซีก) และคนจัณฑาลหรือพวกนอกวรรณะก็ไม่มีสิทธิได้รับการศึกษา
เลย การกำหนดวรรณะก็ใช้ชาติกำเนิดเป็นเครื่องแบ่งแยก โดยเฉพาะพวก
พราหมณ์พยายามยกตนขึ้น ถือตัวว่าเป็นวรรณะสูงสุด
ส่วนในทางศาสนา พวกพราหมณ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นผู้รักษาศาสนา
พราหมณ์สืบต่อกันมา ก็ได้พัฒนาคำสอนในด้านลัทธิพิธีกรรมต่างๆ ให้ลึกลับ
ซับซ้อนใหญ่โตโอ่อ่าขึ้น พร้อมกับที่ไร้เหตุผลลงโดยลำดับ การที่ทำดังนี้ มิใช่
เพียงเพื่อวัตถุประสงค์ทางศาสนาเท่านั้น แต่มุ่งสนองความต้องการของผู้มี
อำนาจ ที่จะแสดงถึงเกียรติยศความยิ่งใหญ่ของตนประการหนึ่ง และด้วย
มุ่งหวังผลประโยชน์ตอบแทนที่จะพึงได้จากผู้มีอำนาจเหล่านั้นอย่างหนึ่ง พิธี
กรรมเหล่านี้ล้วนชักจูงให้คนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากขึ้น เพราะหวังผล
ตอบแทนเป็นทรัพย์สมบัติและกามสุขต่างๆ พร้อมกันนี้ ก็ก่อความเดือดร้อน
แก่คนชั้นต่ำ พวกทาสกรรมกรที่ต้องทำงานหนัก และการทารุณต่อสัตว์ด้วย
การฆ่าบูชายัญครั้งละเป็นจำนวนมากๆ
ในเวลาเดียวกันนี้ พราหมณ์จำนวนหนึ่งได้คิดว่าพิธีกรรมต่างๆ ไม่
สามารถทำให้ตนประสบชีวิตนิรันดรได้ จึงได้เริ่มคิดเอาจริงเอาจังกับปัญหา
เรื่องชีวิตนิรันดร และหนทางที่จะนำไปสู่สภาวะเช่นนั้น ถึงกับยอมปลีกตัว
ออกจากสังคมไปคิดค้นแสวงคำตอบอาศัยความวิเวกอยู่ในป่า และคำสอน
ของศาสนาพราหมณ์ในยุคนี้ ซึ่งเรียกว่า ยุคอุปนิษัท ก็มีความขัดแย้งกัน
เองมาก บางส่วนอธิบายเพิ่มเติมเรื่องพิธีกรรมต่างๆ บางส่วนกลับประณาม
พิธีกรรมเหล่านั้น และในเรื่องชีวิตนิรันดรก็มีความเห็นต่างๆ กัน มีคำสอน
เรื่องอาตมันแบบต่างๆ ที่ขัดกัน จนถึงขั้นสุดท้ายที่ว่า อาตมัน คือพรหมัน
เป็นที่มาและแทรกซึมอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง มีภาวะที่อธิบายไม่ได้อย่างที่เรียก
ว่า “เนติ เนติ” (ไม่ใช่นั่น ไม่ใช่นั่น) เป็นจุดหมายสูงสุดของการบำเพ็ญเพียร
ทางศาสนา และพยายามแสดงความหมายโต้ตอบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสภาพ
ของภาวะเช่นนี้ พร้อมกับที่หวงแหนความรู้เหล่านี้ไว้ในหมู่พวกตน
พร้อมกันนั้น นักบวชอีกพวกหนึ่ง ซึ่งเบื่อหน่ายต่อความไร้สาระแห่ง
ชีวิตในโลกนี้ ก็ได้ไปบำเพ็ญเพียรแบบต่างๆ ตามวิธีการของพวกตนๆ ด้วย
หวังว่าจะได้พบชีวิตอมตะหรือผลสำเร็จอันวิเศษอัศจรรย์ต่างๆ ที่ตนหวัง
บ้างก็บำเพ็ญตบะ ทรมานตนด้วยประการต่างๆ ตั้งต้นแต่อดอาหารไปจนถึง
การทรมานร่างกายแบบแปลกๆ ที่คนธรรมดาคิดไม่ถึงว่าจะเป็นไปได้ บ้างก็
บำเพ็ญสมาธิจนถึงกล่าวว่าทำปาฏิหาริย์ได้ต่างๆ บ้างก็สามารถบำเพ็ญฌาน
จนได้ถึงรูปสมาบัติ อรูปสมาบัติ
อีกด้านหนึ่ง นักบวชประเภทที่เรียกว่าสมณะอีกหลายหมู่หลายพวก ซึ่ง
ได้สละเหย้าเรือนออกบวชแสวงหาจุดหมายชีวิตเช่นเดียวกัน ก็ได้เร่ร่อนท่อง
เที่ยวไปในบ้านเมืองต่างๆ ถกเถียงถามปัญหากันบ้าง ตั้งตนเป็นศาสดาแสดง
ทัศนะของตนต่างๆ กันหลายแบบหลายอย่าง จนปรากฏว่า เกิดมีลัทธิต่างๆ
ขึ้นเป็นอันมาก เฉพาะที่เด่นๆ ซึ่งปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนา ถึง ๖ ลัทธิ
สภาพเช่นนี้ จะสรุปสั้นๆ คงได้ความว่า ยุคนั้น คนพวกหนึ่งกำลังรุ่ง
เรืองขึ้นด้วยอำนาจ ร่ำรวยด้วยทรัพย์สมบัติ และเพลิดเพลินมัวเมาอยู่กับ
การแสวงหาความสุขทางวัตถุ พร้อมกับที่คนหลายพวกก็มีฐานะและความ
เป็นอยู่ด้อยลงๆ ไป ไม่ค่อยได้รับความเหลียวแล ส่วนคนอีกพวกหนึ่ง ก็ปลีก
ตัวออกไปเสียจากสังคมทีเดียว ไปมุ่งมั่นค้นหาความจริงในทางปรัชญา โดย
มิได้ใส่ใจสภาพสังคมเช่นเดียวกัน
เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงได้รับการบำรุงบำเรอด้วยโลกียสุขอยู่เป็นเวลา
นานถึง ๒๙ ปี และมิใช่เพียงปรนปรือเอาใจเท่านั้น ยังได้ทรงถูกปิดกั้นไม่ให้
พบเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่ระคนด้วยความทุกข์ของสามัญชนทั้งหลายด้วย
แต่สภาพเช่นนี้ไม่สามารถถูกปิดบังจากพระองค์ได้เรื่อยไป ปัญหาเรื่องความ
ทุกข์ความเดือดร้อนต่างๆ ของมนุษย์ อันรวมเด่นอยู่ที่ความแก่ เจ็บ และ
ตาย เป็นสิ่งที่ทำให้พระองค์ต้องครุ่นคิดแก้ไข
ปัญหานี้ คิดสะท้อนออกไปในวงกว้างให้เห็นสภาพสังคม ที่คนพวก
หนึ่งได้เปรียบกว่า ก็แสวงหาแต่โอกาสที่จะหาความสมบูรณ์พูนสุขใส่ตน
แข่งขันแย่งชิงเบียดเบียนกัน หมกมุ่นมัวเมาอยู่ในความสุขเหล่านั้น ไม่ต้อง
คิดถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของใครๆ ดำรงชีวิตอยู่อย่างทาสของวัตถุ
ยามสุขก็ละเมอมัวเมาอยู่ในความคับแคบของจิตใจ ถึงคราวถูกความทุกข์
เข้าครอบงำก็ลุ่มหลงไร้สติเหี่ยวแห้งคับแค้นเกินสมควร แล้วก็แก่เจ็บตายไป
อย่างไร้สาระ ฝ่ายคนที่เสียเปรียบ ไม่มีโอกาส ถูกบีบคั้นกดขี่อยู่อย่างคับ
แค้น แล้วก็แก่เจ็บตายไปโดยไร้ความหมาย
เจ้าชายสิทธัตถะทรงมองเห็นสภาพเช่นนี้แล้ว ทรงเบื่อหน่ายใน
สภาพความเป็นอยู่ของพระองค์ มองเห็นความสุขความปรนเปรอเหล่านั้น
เป็นของไร้สาระ ทรงคิดหาทางแก้ไขจะให้มีความสุขที่มั่นคง เป็นแก่นสาร
ทรงคิดแก้ปัญหานี้ไม่ตก และสภาพความเป็นอยู่ของพระองค์ท่ามกลาง
ความเย้ายวนสับสนวุ่นวายเช่นนั้น ไม่อำนวยแก่การใช้ความคิดที่ได้ผล
ในที่สุด ทรงมองเห็นภาพพวกสมณะ ซึ่งเป็นผู้ได้ปลีกตัวจากสังคม
ไปค้นคว้าหาความจริงต่างๆ โดยมีความเป็นอยู่ง่ายๆ ปราศจากกังวล และ
สะดวกในการแสวงหาความรู้และคิดหาเหตุผล สภาพความเป็นอยู่แบบนี้น่า
จะช่วยพระองค์ให้แก้ปัญหานี้ได้ และบางทีสมณะพวกนั้น ที่ไปคิดค้นหา
ความจริงกันต่างๆ บางคนอาจมีอะไรบางอย่างที่พระองค์จะเรียนรู้ได้บ้าง
เมื่อถึงขั้นนี้ เจ้าชายสิทธัตถะจึงเสด็จออกบรรพชาอย่างพวกสมณะที่
มีอยู่แล้วในสมัยนั้น พระองค์ได้เสด็จจาริกไปศึกษาหาความรู้เท่าที่พวกนัก
บวชสมัยนั้นจะรู้และปฏิบัติกัน ทรงศึกษาทั้งวิธีการแบบโยคะ ทรงบำเพ็ญ
สมาธิจนได้ฌานสมาบัติ ถึงอรูปสมาบัติชั้นสูงสุด ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้
อย่างเชี่ยวชาญยิ่ง และทรงบำเพ็ญตบะทรมานพระองค์จนแทบสิ้นพระชนม์
ในที่สุดก็ทรงตัดสินได้ว่า วิธีการของพวกนักบวชเหล่านี้ทั้งหมด ไม่
สามารถแก้ปัญหาดังที่พระองค์ทรงประสงค์ได้ เมื่อเทียบกับชีวิตของพระ
องค์ก่อนเสด็จออกบรรพชาแล้ว ก็นับว่าเป็นการดำรงชีวิตอย่างเอียงสุดทั้ง
สองฝ่าย จึงทรงหันมาดำเนินการคิดค้นของพระองค์เองต่อมา จนในที่สุดได้
ตรัสรู้ ธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบนี้ ต่อมาเมื่อทรงนำไปแสดงให้ผู้อื่นฟัง
ทรงเรียกว่า “มัชเฌนธรรมเทศนา” หรือ หลักธรรมสายกลาง และทรง
เรียกข้อปฏิบัติอันเป็นระบบที่พระองค์ทรงจัดวางขึ้นว่า “มัชฌิมาปฏิปทา”
หรือ ทางสายกลาง
จากความท่อนนี้ จะมองเห็นทัศนะตามแนวพุทธธรรมว่า การดำรง
ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างลุ่มหลงหมกมุ่นปล่อยตัวไปเป็นทาสตามกระแสกิเลส
ก็ดี การหลีกหนีออกไปโดยสิ้นเชิง ไม่เกี่ยวข้องรับผิดชอบอย่างใดต่อสังคม
อยู่อย่างทรมานตนก็ดี นับว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ผิดเอียงสุดด้วยกันทั้งสองอย่าง
ไม่สามารถให้มนุษย์ดำรงชีวิตอย่างมีความหมายแท้จริงได้
เมื่อตรัสรู้แล้วเช่นนี้ พระองค์จึงเสด็จกลับคืนมาทรงเริ่มต้นงานสั่ง
สอนพุทธธรรมเพื่อประโยชน์แก่สังคมของชาวโลกอย่างหนักแน่นจริงจัง
และทรงดำเนินงานนี้จนตลอด ๔๕ ปี แห่งพระชนมชีพระยะหลัง
แม้ไม่พิจารณาเหตุผลด้านอื่น มองเฉพาะในแง่สังคมอย่างเดียว ก็จะ
เห็นว่า พุทธกิจที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์สุขแก่สังคมสมัยนั้น
จะสำเร็จผลดีที่สุดก็ด้วยการทำงานในบรรพชิตเพศเท่านั้น พระองค์จึงได้
ทรงชักจูงคนชั้นสูงจำนวนมากให้ละความมั่งมีศรีสุข ออกบวช ศึกษา และ
เข้าถึงธรรมที่ทรงสอนแล้ว ร่วมทำงานอย่างเสียสละอุทิศตนเพื่อประโยชน์
สุขของประชาชน ด้วยการจาริกไปเข้าถึงคนทุกชั้นวรรณะ และทุกถิ่นที่จะ
ไปถึงได้ ทำให้บำเพ็ญประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง
อีกประการหนึ่ง คณะสงฆ์เองก็เป็นแหล่งแก้ปัญหาสังคมได้อย่าง
สำคัญ เช่นในข้อว่า ทุกคน ไม่ว่าจะเกิดในวรรณะใด เมื่อบวชแล้วก็มีสิทธิ
เสมอกันทั้งสิ้น ส่วนเศรษฐี คฤหบดี ผู้ยังไม่พร้อมที่จะเสียสละได้เต็มที่ ก็ให้
คงครองเรือนอยู่เป็นอุบาสก คอยช่วยให้กำลังแก่คณะสงฆ์ในการบำเพ็ญ
กรณียกิจของท่าน และนำทรัพย์สมบัติของตนออกบำเพ็ญประโยชน์
สงเคราะห์ประชาชนไปด้วยพร้อมกัน
การบำเพ็ญกรณียกิจ ทั้งของพระพุทธเจ้าและของพระสาวก มีวัตถุ
ประสงค์และขอบเขตกว้างขวางเพียงใด จะเห็นได้จากพุทธพจน์ แต่ครั้งแรก
ที่ทรงส่งสาวกออกประกาศพระศาสนาว่า
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุข ของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและ ความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย
พุทธธรรมนั้นมีขอบเขตในทางสังคมที่จะให้ใช้ได้และเป็นประโยชน์แก่
บุคคลประเภทใดบ้าง พึงเห็นได้จากพุทธพจน์ในปาสาทิกสูตร ซึ่งสรุปความ
ได้ว่า
พรหมจรรย์ (คือพระศาสนา) จะชื่อว่าสำเร็จผลแพร่หลายกว้างขวาง
เป็นประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เป็นปึกแผ่น ถึงขั้นที่ว่า เทวดาและมนุษย์
ประกาศไว้ดีแล้ว ต่อเมื่อมีองค์ประกอบต่อไปนี้ครบถ้วน คือ
๑. องค์พระศาสดา เป็นเถระ รัตตัญญู ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ
๒. มีภิกษุสาวก ที่เป็นเถระ มีความรู้เชี่ยวชาญ ได้รับการฝึกฝนอบรม อย่างดี แกล้วกล้าอาจหาญ บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ
สามารถแสดงธรรมให้เห็นผลจริงจัง กำราบปรัปวาท (ลัทธิที่ขัดแย้ง วาทะฝ่ายอื่น หรือคำสอนนอกรีตผิดเพี้ยน) ที่เกิดขึ้น ให้สำเร็จเรียบร้อยโดยถูกต้องตามหลักธรรม และมีภิกษุสาวกชั้นปูนกลาง และชั้นนวกะ ที่มีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น
๓. มีภิกษุณีสาวิกา ชั้นเถรี ชั้นปูนกลาง และชั้นนวกะ ที่มีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น
๔. มีอุบาสก ทั้งประเภทพรหมจารี และประเภทครองเรือนเสวยกามสุข ซึ่งมีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น
๕. มีอุบาสิกา ทั้งประเภทพรหมจารินี และประเภทครองเรือนเสวยกามสุข ซึ่งมีความสามารถเช่นเดียวกันนั้นเพียงแต่ขาดอุบาสิกาประเภทครองเรือนเสียอย่างเดียว พรหมจรรย์ ก็ยังไม่ชื่อว่าเจริญบริบูรณ์เป็นปึกแผ่นดี
ความตอนนี้แสดงว่า พุทธธรรมเป็นคำสอนที่มุ่งสำหรับคนทุกประเภท ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ คือ ครอบคลุมสังคมทั้งหมด
และลักษณะทั่วไปของพุทธธรรมนั้น สรุปได้ ๒ อย่าง คือ
๑. แสดงหลักความจริงสายกลาง ที่เรียกว่า “มัชเฌนธรรม” หรือเรียกเต็มว่า “มัชเฌนธรรมเทศนา” ว่าด้วยความจริงตามแนว
ของเหตุผลบริสุทธิ์ตามกระบวนการของธรรมชาติ นำมาแสดง เพื่อประโยชน์ทางปฏิบัติในชีวิตจริงเท่านั้น ไม่ส่งเสริมความพยายาม ที่จะเข้าถึงสัจธรรมด้วยวิธีถกเถียงสร้างทฤษฎีต่างๆ ขึ้นแล้วยึดมั่น ปกป้องทฤษฎีนั้นๆ ด้วยการเก็งความจริงทางปรัชญา
๒. แสดงข้อปฏิบัติสายกลาง ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” อันเป็นหลักการครองชีวิตของผู้ฝึกอบรมตน ผู้รู้เท่าทันชีวิต ไม่หลงงม
งาย มุ่งผลสำเร็จคือความสุข สะอาด สว่าง สงบ เป็นอิสระ ที่สามารถมองเห็นได้ตั้งแต่ในชีวิตนี้ ในทางปฏิบัติ ความเป็นสายกลางนี้ เป็นไปโดยสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น สภาพชีวิตของบรรพชิต หรือ คฤหัสถ์ เป็นต้น
การสั่งสอนธรรมของพระพุทธเจ้า ทรงมุ่งผลในทางปฏิบัติ ให้ทุกคนจัดการกับชีวิตที่เป็นอยู่จริงๆ ในโลกนี้ และเริ่มแต่บัดนี้ ความรู้ในหลักที่เรียกว่า มัชเฌนธรรมเทศนา ก็ดี การประพฤติตามมรรคาที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ก็ดี เป็นสิ่งที่ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพและระดับชีวิตอย่างใด สามารถเข้าใจและนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ตามสมควรแก่สภาพและระดับชีวิตนั้นๆ ถ้าความห่วงใยในเรื่องชีวิตหลังจากโลกนี้มีอยู่ ก็จงทำชีวิตแบบที่ต้องการนั้นให้เกิดมีเป็นจริงเป็นจังแน่นอนขึ้นมาเสียในชีวิตนี้ทีเดียว จนมั่นใจในตนเองโดยไม่ต้องกังวลห่วงใยในโลกหน้านั้นเลย
ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันโดยธรรมชาติ ที่จะเข้าถึงผลสำเร็จเหล่านี้ แม้ว่าความสามารถจะต่างกัน ทุกคนจึงควรได้รับโอกาสเท่าเทียมกันที่จะสร้างผลสำเร็จนั้นตามความสามารถของตน และความสามารถนั้น ก็เป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มพูนได้ จึงควรให้ทุกคนมีโอกาสที่จะพัฒนาความสามารถของตนอย่างดีที่สุด และแม้ว่าผลสำเร็จที่แท้จริง ทุกคนจะต้องทำด้วยตัวเอง โดยตระหนักในความรับผิดชอบของตน ที่จะต้องขวนขวายพากเพียรอย่างเต็มที่ แต่ทุกคนก็เป็นอุปกรณ์ในการช่วยตนเองของคนอื่นได้ ดังนั้น
หลักอัปปมาทธรรม และหลักความมีกัลยาณมิตร จึงเป็นหลักธรรมที่เด่น และเป็นข้อที่เน้นหนักทั้งสองอย่าง ในฐานะความรับผิดชอบต่อตนเองฝ่ายหนึ่ง กับปัจจัยภายนอกที่จะช่วยเสริมอีกฝ่ายหนึ่ง
หากยกเอาผลงานและพระจริยาของพระพุทธเจ้าขึ้นมาเป็นหลักพิจารณา จะมองเห็นแนวทางการบำเพ็ญพุทธกิจที่สำคัญหลายอย่าง เช่น ทรงพยายามล้มล้างความเชื่อถืองมงายในเรื่องพิธีกรรมอันเหลวไหลต่างๆ โดยเฉพาะการบูชายัญ ด้วยการสอนย้ำถึงผลเสียหายและความไร้ผลของพิธีกรรมเหล่านั้น ทั้งนี้เพราะยัญพิธีเหล่านั้น ทำให้คนมัวแต่คิดหวังพึ่งเหตุปัจจัยภายนอก อย่างหนึ่ง ทำให้คนกระหายทะยานและคิดหมกหมุ่นในผลประโยชน์ทางวัตถุเพิ่มพูนความเห็นแก่ตน ไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์และสัตว์ อย่างหนึ่ง ทำให้คนคิดหวังแต่เรื่องอนาคต จนไม่คิดปรับปรุงปัจจุบัน อย่างหนึ่ง แล้วทรงสอนย้ำหลักแห่ง “ทาน” คือการให้เสียสละแบ่งปันและสงเคราะห์กันในสังคม
สิ่งต่อไปที่ทรงพยายามสอนหักล้าง คือระบบความเชื่อถือเรื่องวรรณะ ที่นำเอาชาติกำเนิดมาเป็นขีดขั้นจำกัดสิทธิและโอกาสทั้งในทางสังคมและทางจิตใจของมนุษย์ ทรงตั้ง “สังฆะ” คือชุมชนแห่งสงฆ์ ที่เปิดรับคนจากทุกวรรณะให้เข้าสู่ความเสมอภาคกัน เหมือนทะเลที่รับน้ำจากแม่น้ำทุกสายกลมกลืนเข้าเป็นอันเดียวกัน ทำให้เกิดสถาบันวัด ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลางเผยแพร่วัฒนธรรมและการศึกษาที่สำคัญยิ่ง จนศาสนาฮินดูต้องนำไปจัดตั้งขึ้นบ้างในศาสนาของตน เมื่อหลังพุทธกาลแล้วราว ๑,๔๐๐ หรือ ๑,๗๐๐ ปี
ทรงให้สิทธิแก่สตรีที่จะได้รับประโยชน์จากพุทธธรรม เข้าถึงจุดหมายสูงสุดที่พุทธธรรมจะให้เข้าถึงได้ เช่นเดียวกับบุรุษ แม้ว่าการให้สิทธินี้ จะต้องทรงกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง ที่จะเตรียมการวางรูปให้สภาพการได้สิทธิของสตรีนี้ดำรงอยู่ด้วยดีในสภาพสังคมสมัยนั้น เพราะสิทธิของสตรีในการศึกษาอบรมทางจิตใจ ได้ถูกศาสนาพระเวทค่อยๆ จำกัดแคบลงมาจนปิดตายแล้วในสมัยนั้น
ประการต่อไป ทรงสั่งสอนพุทธธรรมด้วยภาษาสามัญที่ประชาชนใช้ เพื่อให้คนทุกชั้น ทุกระดับการศึกษา ได้รับประโยชน์จากธรรมนี้ทั่วถึง ตรงข้ามกับศาสนาพราหมณ์ที่ยึดความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท และจำกัดความรู้ชั้นสูงไว้ในวงแคบของพวกตนด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะด้วยการใช้ภาษาเดิมของสันสกฤต ซึ่งรู้จำกัดในหมู่พวกตน เป็นสื่อถ่ายทอดและรักษาคัมภีร์ แม้ต่อมาจะมีผู้ขออนุญาตพระพุทธเจ้าให้ยกพุทธพจน์ขึ้นสู่ภาษาพระเวท พระองค์ก็ไม่ทรงอนุญาต ทรงยืนยันให้ใช้ภาษาของประชาชนตามเดิม
ประการต่อไป ทรงปฏิเสธโดยสิ้นเชิงที่จะทำเวลาให้สูญเสียไปกับการถกเถียงปัญหาที่เกี่ยวกับการเก็งความจริงทางปรัชญา ซึ่งไม่อาจนำมาพิสูจน์ให้เห็นได้ด้วยวิธีแสดงเหตุผลทางคำพูด ถ้าใครถามปัญหาเช่นนี้ พระองค์จะทรงยับยั้งเสีย แล้วดึงผู้นั้นกลับมาสู่ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่เขาจะต้องเกี่ยวข้องและปฏิบัติได้ในชีวิตจริงโดยทันที สิ่งที่จะพึงรู้ได้ด้วยคำพูด ทรงแนะนำด้วยคำพูด สิ่งที่จะพึงรู้ด้วยการเห็น ทรงให้เขาดู มิใช่ให้ดูสิ่งที่จะต้องเห็นด้วยคำพูด
ทั้งนี้ ทรงสอนพุทธธรรมโดยปริยายต่างๆ เป็นอันมาก มีคำสอนหลายระดับ ทั้งสำหรับผู้ครองเรือน ผู้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคม และผู้สละเรือนแล้ว ทั้งคำสอนเพื่อประโยชน์ทางวัตถุ และเพื่อประโยชน์ลึกซึ้งทางจิตใจ เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากพุทธธรรมทั่วถึงกัน พุทธกิจที่กล่าวมานี้ เป็นเครื่องยืนยันข้อสรุปความเข้าใจเกี่ยวกับพุทธธรรมที่พูดมาแล้วข้างต้น
การที่ได้ประสูติและทรงเติบโตมาท่ามกลางวัฒนธรรมแบบพราหมณ์ และความเชื่อถือตามลัทธิต่างๆ ของพวกสมณะสมัยนั้น ทำให้พระองค์ต้องทรงเกี่ยวข้องและคุ้นกับถ้อยคำตามที่มีใช้กันในลัทธิความเชื่อถือเหล่านั้น จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องทรงใช้ถ้อยคำเหล่านั้นในการสื่อสารทั่วไป แต่เมื่อทรงมีคำสอนใหม่ให้แก่สังคม ปัญหาก็เกิดขึ้นว่าจะทรงปฏิบัติต่อถ้อยคำเหล่านั้นอย่างไร
ปรากฏว่า พระองค์ทรงมีวิธีปฏิบัติต่อถ้อยคำทางศาสนาเหล่านี้ เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ ไม่ทรงนิยมหักล้างความเชื่อถือเดิมในรูปถ้อยคำที่ใช้ ถ้าถ้อยคำนั้นๆ มีความหมายของศัพท์ในทางที่ดีงาม ทรงหักล้างเฉพาะตัวความเชื่อถือผิดที่แฝงอยู่กับความหมายของถ้อยคำเหล่านั้น กล่าวคือ ไม่ทรงขัดแย้งด้วยวิธีรุนแรง แต่ทรงนำคนเข้าสู่ปัญญาด้วยเมตตากรุณา ให้เขาเกิดความรู้เข้าใจอย่างใหม่ มองเห็นความจริง จากถ้อยคำที่เขาเคยเข้าใจอย่างอื่น
โดยนัยนี้ พระองค์จึงทรงนำคำบัญญัติที่ใช้กันอยู่ในศาสนาเดิมมาใช้ในความหมายใหม่ตามแนวของพุทธธรรมโดยเฉพาะบ้าง ทรงสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่ถ้อยคำที่ใช้อยู่เดิมบ้าง เช่น ใช้ “พรหม” เป็นชื่อของสัตวโลกที่เกิดตายประเภทหนึ่งบ้าง หมายถึงบิดามารดาบ้าง ทรงเปลี่ยนความเชื่อถือเรื่องกราบไหว้ทิศ ๖ ในธรรมชาติ มาเป็นการปฏิบัติหน้าที่และรักษาความสัมพันธ์รูปต่างๆ ในสังคม เปลี่ยนความหมายของการบูชาไฟศักดิ์สิทธิ์สำหรับยัญพิธี ๓ อย่างของพราหมณ์มาเป็นความรับผิดชอบทางสังคมต่อบุคคล ๓ ประเภท เปลี่ยนการตัดสินความเป็นพราหมณ์และอารยะโดยชาติกำเนิด มาเป็นตัดสินด้วยการประพฤติปฏิบัติ
บางครั้งทรงสอนให้ดึงความหมายบางส่วนในคำสอนของศาสนาเดิมมาใช้แต่ในทางที่ดีงามและเป็นประโยชน์ คำสอนใดในศาสนาเดิมถูกต้องดีงาม ก็ทรงรับรอง โดยถือความถูกต้องดีงามเป็นของสากลโดยธรรมชาติ ในกรณีที่หลักความประพฤติปฏิบัติในศาสนาเดิมมีความหมายหลายอย่าง ทรงชี้แจงว่าแง่ใดถูก แง่ใดผิด ทรงยอมรับและให้ประพฤติปฏิบัติแต่ในแง่ที่ดีงามถูกต้อง
บางครั้งทรงสอนว่า ความประพฤติปฏิบัติที่ผิดพลาดเสียหายบางอย่างของศาสนาเดิมสมัยนั้น เป็นความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นในศาสนานั้นเอง ซึ่งในครั้งดั้งเดิมทีเดียว คำสอนของศาสนานั้นก็ดีงามถูกต้อง และทรงสอนให้รู้ว่า คำสอนเดิมที่ดีของศาสนานั้นเป็นอย่างไร ตัวอย่างในข้อนี้ มีเรื่อง ตบะ การบูชายัญ หลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครอง และเรื่อง พราหมณธรรม เป็นต้น
ข้อความที่กล่าวมานี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นความใจกว้างของพุทธธรรม และการที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระทัยสอนแต่ความจริงและความดีงามถูกต้องที่เป็นกลางๆ แล้ว ยังเป็นเรื่องสำหรับเตือนให้รู้จักแยกความหมายของคำบัญญัติทางศาสนาที่ใช้ในพุทธธรรม กับที่ใช้ในศาสนาอื่นๆ ด้วย
อนึ่ง เมื่อสิ้นยุคขององค์พระศาสดาแล้ว เวลาล่วงไป และคำสอนแผ่ไปในถิ่นต่างๆ ความเข้าใจในพุทธธรรมก็แปรไปจากเดิมและแตกต่างกันไปหลายอย่าง เพราะผู้ถ่ายทอดสืบต่อมีพื้นความรู้การศึกษาอบรมสติปัญญาแตกต่างกัน ตีความหมายพุทธธรรมแผกกันไปบ้าง นำเอาความรู้ความเชื่อถือเดิมจากลัทธิศาสนาอื่นเข้ามาผสมแทรกแซงบ้าง อิทธิพลศาสนาและวัฒนธรรมในท้องถิ่นเข้าผสมผสานบ้าง คำสอนบางแง่เด่นขึ้น บางแง่เลือนลางลง เพราะการย้ำและเลี่ยงความสนใจตามความโน้มเอียงและความถนัดของผู้รักษาคำสอนบ้าง ทำให้เกิดการแตกแยกออกเป็นนิกายต่างๆ เช่น ที่แยกเป็นเถรวาท กับมหายาน ตลอดจนนิกายย่อยๆ ในสองนิกายใหญ่นั้น
พระพุทธศาสนาเถรวาทนั้น เป็นที่ยอมรับของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาทั่วโลก ว่าเป็นนิกายที่รักษาแบบแผนและคำสอนดั้งเดิมไว้ได้แม่นยำ แม้แต่ปราชญ์ฝ่ายมหายานยุคปัจจุบันก็เห็นความสำคัญนี้ ดังที่ในประเทศญี่ปุ่นได้ถือลงกันทั่วไปว่า การที่จะศึกษาพระพุทธศาสนามหายานให้ทั่วตลอด ต้องศึกษาพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม (คือเถรวาท) ด้วย เพราะมีพระสูตรบาลี ที่เป็นรากฐานของพระพุทธศาสนา พระสูตรของมหายานเพียงแต่อธิบายสาระที่บรรยายไว้โดยย่อในพระสูตรบาลี ให้ละเอียดกว้างขวางออกไป
แม้กระนั้นก็ตาม ในพระพุทธศาสนาเถรวาทเอง เนื้อความบางแห่งในพระคัมภีร์ ที่เป็นส่วนเพิ่มเข้าในสมัยต่อมา ได้ระบุกาลเวลาไว้ชัดเจน ก็มี ไม่ได้ระบุไว้ ก็มี ถึงจะรู้กันว่าอยู่ในระยะแรกๆ ก่อนยุคอรรถกถา ก็ยังเป็นปัญหาที่คนรุ่นปัจจุบันนำมาถกเถียงคิดค้นหาความชัดเจนแน่นอน
เนื่องจากพระพุทธศาสนาเน้นการใช้ปัญญา การปฏิบัติให้ถูกต้องจึงขึ้นต่อการศึกษา และคัมภีร์พระพุทธศาสนา แม้นับเพียงพระไตรปิฎกบาลี ที่เป็นแหล่งแห่งพุทธพจน์ ก็ใหญ่โตมีเนื้อหามากมาย ยากที่จะศึกษาให้ทั่วถึง
ยิ่งในบางยุคบางสมัย พุทธศาสนิกชนยังเหินห่างจากการศึกษาหลักธรรมอีกด้วย ความรู้ความเข้าใจที่ประชาชนส่วนมากเชื่อถือและปฏิบัติ จึงอาศัยเพียงการฟังบอกเล่าและทำตามๆ กันมา เมื่อกาลเวลาล่วงผ่านไปนานๆ ความคลาดเคลื่อนก็มีมากขึ้นและชัดเจนยิ่งขึ้น จนกระทั่งบางกรณีถึงกับเสมือนเป็นตรงข้ามกับคำสอนเดิม หรือเกือบจะกลายไปเป็นลัทธิอื่นที่คำ
สอนเดิมคัดค้านไปแล้วก็มี
ยกตัวอย่างในประเทศไทยนี้ เมื่อพูดถึงคำว่า “กรรม” ความเข้าใจของคนทั่วไปก็จะเพ่งไปยังกาละส่วนอดีต เจาะจงเอาการกระทำในชาติที่ล่วงแล้วหรือชาติก่อนๆ บ้าง เพ่งไปยังปรากฏการณ์ส่วนผล คือนึกถึงผลที่ปรากฏในปัจจุบันของการกระทำในอดีตบ้าง เพ่งไปยังแง่ที่เสียหายเลวร้ายคือการกระทำชั่วฝ่ายเดียวบ้าง เพ่งไปยังอำนาจแสดงผลร้ายของการกระทำความชั่วในชาติก่อนบ้าง และโดยมากเป็นความเข้าใจตามแง่ต่างๆ เหล่านี้รวมๆ กันไปทั้งหมด ซึ่งเมื่อพิจารณาตัดสินตามหลักกรรมที่แท้จริงในพุทธธรรมแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าเป็นความเข้าใจที่ห่างไกลจากความหมายที่แท้จริงเป็นอันมาก
แม้ข้อธรรมอื่นๆ ตลอดจนคำบัญญัติทางธรรมแต่ละคำๆ เช่น อารมณ์ วิญญาณ บารมี สันโดษ อุเบกขา อธิษฐาน บริกรรม ภาวนา วิปัสสนา กาม โลกิยะ โลกุตตระ บุญ อิจฉา ฯลฯ ก็ล้วนมีความหมายพิเศษในความเข้าใจของประชาชน ซึ่งผิดแปลกไปจากความหมายดั้งเดิมในพุทธธรรม โดยตัวความหมายเองบ้าง โดยขอบเขตความหมายบ้าง มากน้อยต่างกันไปในแต่ละคำนั้นๆ
ในการศึกษาพุทธธรรม จำเป็นต้องแยกความหมายในความเข้าใจของประชาชนส่วนที่คลาดเคลื่อนนี้ออกไปต่างหาก จึงจะสามารถเข้าใจความหมายที่แท้จริงได้
ในการแสดงพุทธธรรมต่อไปนี้ ผู้แสดงถือว่าได้พยายามที่จะแสดงตัวพุทธธรรมแท้ อย่างที่องค์พระบรมศาสดาทรงสอนและทรงมุ่งหมาย
ในการนี้ ได้ตัดความหมายอย่างที่ประชาชนเข้าใจออกโดยสิ้นเชิง ไม่นำมาพิจารณาเลย เพราะถือว่าเป็นเรื่องข้างปลาย ไม่จำเป็นต่อการเข้าใจตัวพุทธธรรมที่แท้แต่ประการใด
แหล่งสำคัญอันเป็นที่มาของเนื้อหาและความหมายของพุทธธรรมที่จะแสดงต่อไปนี้ ได้แก่คัมภีร์พุทธศาสนา ซึ่งในที่นี้ ถ้าไม่มีกรณีเกี่ยวข้องเป็นพิเศษ จะหมายถึงพระไตรปิฎกบาลีอย่างเดียว เพราะเป็นคัมภีร์ที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า เป็นแหล่งรวบรวมรักษาพุทธธรรมที่แม่นยำและสมบูรณ์ที่สุด แม้กระนั้น ก็ได้เลือกสรรเอาเฉพาะส่วนที่เห็นว่าเป็นหลักการดั้งเดิมเป็นความหมายแท้จริงมาแสดง โดยยึดเอาหลักความกลมกลืนสอดคล้องกันในหน่วยรวมเป็นหลัก และเพื่อให้มั่นใจยิ่งขึ้น จึงได้นำพุทธจริยาและพุทธกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญมาประกอบการพิจารณาตัดสินแนวทางและขอบเขตของพุทธธรรมด้วย
เมื่อได้หลักการพิจารณาเหล่านี้มาเป็นเครื่องกำกับการแสดงแล้ว ก็มั่นใจว่าจะสามารถแสดงสาระแห่งพุทธธรรมได้ใกล้เคียงตัวแท้เป็นอย่างยิ่งอย่างไรก็ตาม ในขั้นพื้นฐาน การแสดงนี้ก็ยังต้องขึ้นกับกำลังสติปัญญาของผู้แสดง และความโน้มเอียงบางอย่างที่ผู้แสดงเองอาจไม่รู้ตัวอยู่นั่นเอง ฉะนั้น จึงขอให้ถือว่าเป็นความพยายามครั้งหนึ่ง ที่จะแสดงพุทธธรรมให้ถูกต้องที่สุดตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนและมุ่งหมาย โดยอาศัยวิธีการและหลักการแสดง พร้อมทั้งหลักฐานต่างๆ ที่เชื่อว่าให้ความมั่นใจมากที่สุด
ถ้าแยกพุทธธรรมออกเป็น ๒ ส่วน คือ สัจธรรม ส่วนหนึ่ง กับ จริย-ธรรม ส่วนหนึ่ง แล้วกำหนดความหมายขึ้นใช้ในที่นี้โดยเฉพาะ โดยกำหนดให้สัจธรรมเป็นส่วนแสดงสภาวะหรือรูปลักษณะตัวความจริง และให้จริย-ธรรมเป็นฝ่ายข้อประพฤติปฏิบัติทั้งหมด ก็จะเห็นว่า
สัจธรรม ในพุทธศาสนา หมายถึงคำสอนเกี่ยวกับสภาวะของสิ่งทั้งหลาย หรือธรรมชาติและความเป็นไปโดยธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย หรือกฎธรรมชาตินั่นเอง ส่วน จริยธรรม ก็หมายถึงการถือเอาประโยชน์จากความรู้ความเข้าใจในสภาพและความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย หรือการรู้กฎธรรมชาติแล้วนำมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์
อีกนัยหนึ่ง สัจธรรม คือธรรมชาติและกฎธรรมดา จริยธรรม คือความรู้ในการประยุกต์สัจธรรม
หลักการทั้งหมดนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับตัวการนอกเหนือธรรมชาติ เช่น พระผู้สร้าง เป็นต้น แต่ประการใดเลย
ด้วยเหตุนี้ ในการแสดงพุทธธรรมเพื่อความรู้ความเข้าใจที่มุ่งในแนวทฤษฎี คือ มุ่งให้รู้ว่าเป็นอะไร จึงควรแสดงควบคู่กันไปทั้งสัจธรรมและจริยธรรม คือแสดงหลักคำสอนในแง่สภาวะ แล้วชี้ถึงคุณค่าที่จะนำมาใช้ในทางปฏิบัติไว้ด้วย ให้เสร็จไปแต่ละอย่างๆ
วิธีแสดงอย่างนี้เหมือนจะตรงข้ามกับเทศนาแบบอริยสัจ ๔ ซึ่งมุ่งผลในทางปฏิบัติคือการดับทุกข์หรือแก้ปัญหา จึงเริ่มด้วยปัญหาที่ปรากฏก่อน แล้วดำเนินไปสู่วิธีปฏิบัติในการแก้ไขให้ถึงจุดหมายโดยลำดับ ส่วนในที่นี้ เริ่มด้วยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิต ในแง่ของสภาวะตามธรรมชาติ ให้เห็นหลักความจริงทีละแง่ทีละอย่างก่อน แล้วกล่าวถึงความหมายหรือคุณค่าทางปฏิบัติของหลักความจริงแต่ละอย่างนั้น ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตหรือแก้ปัญหาต่อไป แม้เมื่อมองหนังสือพุทธธรรมหมดทีเดียวตลอดทั้งเล่ม ก็จะเห็นภาพรวมอย่างเดียวกันนี้ คือ หนังสือทั้งเล่มมี ๒ ภาค เริ่มด้วยภาค ๑ แสดงธรรมฝ่ายสภาวะที่เป็นหลักความจริงกลางๆ ตามธรรมชาติ คือ มัชเฌน-ธรรมเทศนา แล้วจากนั้น ภาค ๒ แสดงธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ โดยสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาตินั้น ตามมรรคาที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา
อย่างไรก็ตาม ในที่สุด เมื่อมองกว้างครอบคลุมทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง ก็จะเห็นว่า พุทธธรรม ที่บรรยาย ณ ที่นี้ มีโครงสร้างใหญ่ซ้อนอยู่ในหลักอริยสัจ ๔ นั่นเอง ดังจะเห็นได้ต่อแต่นี้ไป
อนึ่ง ในข้อเขียนนี้ ได้ตกลงใจแสดงความหมายภาษาอังกฤษของศัพท์ธรรมที่สำคัญๆ ไว้ด้วย โดยเหตุผลอย่างน้อย ๓ อย่าง คือ
ประการแรก ในภาษาไทยปัจจุบัน ได้มีผู้นำศัพท์ธรรมบางคำมาใช้เป็นศัพท์บัญญัติ สำหรับคำในภาษาอังกฤษที่มีความหมายไม่ตรงกันกับศัพท์ธรรมนั้น อันอาจทำให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ จึงนำความหมายในภาษาอังกฤษมาแสดงควบไว้ด้วย เพื่อไม่ให้ผู้อ่านถือไปตามความหมายที่มีผู้บัญญัติใช้ใหม่ในภาษาไทย
ประการที่สอง จำต้องยอมรับความจริงว่า นักศึกษาวิชาการสมัยใหม่จำนวนไม่น้อย เข้าใจความหมายในภาษาไทยได้ชัดเจนขึ้นในเมื่อเห็นคำภาษาอังกฤษควบอยู่ด้วย
ประการที่สาม ตำราภาษาต่างประเทศที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาใน
ปัจจุบันนี้ มีจำนวนมาก การรู้ความหมายศัพท์ธรรมที่นิยมใช้ในภาษาอังกฤษ
ย่อมเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาที่ต้องการค้นคว้าอย่างกว้างขวางต่อไป
สร้างเมื่อ: 2010-06-03 00:36:34 แก้ไขเมื่อ: 2010-06-03 00:37:32
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น