เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

ชีวิตคืออะไร ?




ชีวิตคืออะไร ?



















ก. ขันธ์ ๕ ส่วนประกอบห้าอย่างของชีวิต


ตัวสภาวะ
พุทธธรรมมองเห็นสิ่งทั้งหลายในรูปของส่วนประกอบต่างๆ ที่มาประชุมกันเข้า ตัวตนแท้ๆ ของสิ่งทั้งหลายไม่มี เมื่อแยกส่วนต่างๆ ที่มาประกอบกันเข้านั้นออกไปให้หมด ก็จะไม่พบตัวตนของสิ่งนั้นเหลืออยู่ ตัว
อย่างง่ายๆ ที่ยกขึ้นอ้างกันบ่อยๆ คือ “รถ” เมื่อนำส่วนประกอบต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกันตามแบบที่กำหนด ก็บัญญัติเรียกกันว่า “รถ” แต่ถ้าแยกส่วนประกอบทั้งหมดออกจากกัน ก็จะหาตัวตนของรถไม่ได้ มีแต่ส่วนประกอบทั้งหลาย ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กันจำเพาะแต่ละอย่างอยู่แล้ว คือ ตัวตนของรถมิได้มีอยู่ต่างหากจากส่วนประกอบเหล่านั้นมีแต่เพียงคำบัญญัติว่า “รถ” สำหรับสภาพที่มารวมตัวกันเข้าของส่วนประกอบเหล่านั้น


แม้ส่วนประกอบแต่ละอย่างๆ นั้นเอง ก็ปรากฏขึ้นโดยการรวมกันเข้าของส่วนประกอบย่อยๆ ต่อๆ ไปอีก และหาตัวตนที่แท้ไม่พบเช่นเดียวกัน เมื่อจะพูดว่าสิ่งทั้งหลายมีอยู่ ก็ต้องเข้าใจในความหมายว่า มีอยู่ในภาวะของส่วนประกอบต่างๆ ที่มาประชุมเข้าด้วยกัน


เมื่อมองเห็นสภาพของสิ่งทั้งหลายในรูปของการประชุมส่วนประกอบเช่นนี้ พุทธธรรมจึงต้องแสดงต่อไปว่า ส่วนประกอบต่างๆ เหล่านั้นเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง อย่างน้อยก็พอเป็นตัวอย่าง และโดยที่พุทธธรรมมีความเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับเรื่องชีวิต โดยเฉพาะในด้านจิตใจ การแสดงส่วนประกอบต่างๆ จึงต้องครอบคลุมทั้งวัตถุและจิตใจ หรือทั้งรูปธรรมและนามธรรม และแยกแยะเป็นพิเศษในด้านจิตใจ


การแสดงส่วนประกอบต่างๆ นั้น ย่อมทำได้หลายแบบ สุดแต่วัตถุประสงค์จำเพาะของการแสดงแบบนั้นๆ แต่ในที่นี้ จะแสดงแบบขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นแบบที่นิยมในพระสูตร


โดยวิธีแบ่งแบบ ขันธ์ ๕ (the Five Aggregates) พุทธธรรมแยกแยะชีวิตพร้อมทั้งองคาพยพทั้งหมด ที่บัญญัติเรียกว่า “สัตว์” “บุคคล” ฯลฯ ออกเป็นส่วนประกอบต่างๆ ๕ ประเภท หรือ ๕ หมวด เรียกทางธรรมว่า เบญจขันธ์ คือ
๑. รูป (Corporeality) ได้แก่ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด ร่างกายและพฤติกรรมทั้งหมดของร่างกาย หรือ สสารและพลังงานฝ่ายวัตถุ พร้อมทั้งคุณสมบัติ และพฤติการณ์ต่างๆ ของสสารพลังงานเหล่านั้น
๒. เวทนา (Feeling หรือ Sensation) ได้แก่ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ซึ่งเกิดจากผัสสะทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ
๓. สัญญา (Perception) ได้แก่ความกำหนดได้ หรือหมายรู้ คือ กำหนดรู้อาการเครื่องหมายลักษณะต่างๆ อันเป็นเหตุให้จำอารมณ์ (object) นั้นๆ ได้
๔. สังขาร (Mental Formations หรือ Volitional Activities) ได้แก่องค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิต ที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่ว หรือเป็นกลางๆ โดยมีเจตนาเป็นตัวนำ พูดง่ายๆ ว่า ความนึกคิดดีชั่วต่างๆ เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ปัญญา โมหะ โทสะ โลภะ มานะ ทิฏฐิ อิสสา มัจฉริยะ เป็นต้น
๕. วิญญาณ (Consciousness) ได้แก่ความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ คือ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ

ขันธ์ ๕ กับอุปาทานขันธ์ ๕ หรือชีวิตกับชีวิตซึ่งเป็นปัญหา
ในพุทธพจน์แสดงความหมายของอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ประมวลใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา มีข้อความที่น่าสังเกตเป็นพิเศษเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ปรากฏอยู่ในอริยสัจข้อที่ ๑ คือ ข้อว่าด้วยทุกข์


ในอริยสัจข้อที่ ๑ นั้น ตอนต้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงความหมายหรือคำจำกัดความของทุกข์ ด้วยวิธียกตัวอย่างเหตุการณ์ต่างๆ ที่มองเห็นได้ง่ายและมีอยู่เป็นสามัญในชีวิตของบุคคล ขึ้นแสดงว่าเป็นความทุกข์แต่ละอย่างๆ แต่ในตอนท้าย พระองค์ตรัสสรุปลงเป็นข้อเดียวว่า อุปาทาน-ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ดังพุทธพจน์ว่า


ภิกษุทั้งหลาย นี้คือ ทุกขอริยสัจ: ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์


พุทธพจน์นี้ นอกจากแสดงถึงฐานะของขันธ์ ๕ ในพุทธธรรมแล้ว ยังมีข้อสังเกตสามัญ คือ ความหมายของ “ทุกข์” นั้น จำง่ายๆ ด้วยคำสรุปที่สั้นที่สุดว่า คือ อุปาทานขันธ์ ๕ หรือเบญจอุปาทานขันธ์เท่านั้น และคำว่าขันธ์ในที่นี้มี “อุปาทาน” นำหน้าด้วย


สิ่งที่ควรศึกษาในที่นี้ ก็คือคำว่า “ขันธ์” กับ “อุปาทานขันธ์” ซึ่งขอให้พิจารณาตามพุทธพจน์ต่อไปนี้
ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์ ๕ เธอทั้งหลายจงฟัง
ขันธ์ ๕ เป็นไฉน? รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม ไกลหรือใกล้ก็ตาม...เหล่านี้ เรียกว่า ขันธ์ ๕


อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? รูป...เวทนา…สัญญา...สังขาร...วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม ทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม ไกลหรือใกล้ก็ตาม ที่ประกอบด้วยอาสวะ เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน...เหล่านี้ เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕


รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ คือธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ฉันทราคะ (ความกระสันอยาก) ในรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นั้นคือ อุปาทานใน (สิ่ง) นั้นๆ
หลักดังกล่าวนี้ เป็นพื้นฐานความเข้าใจที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในการศึกษาพุทธธรรมต่อไป


คุณค่าทางจริยธรรม

ตามปกติ มนุษย์มีความโน้มเอียงที่จะยึดถืออยู่เสมอว่า ตัวตนที่แท้ของตนมีอยู่ในรูปใดรูปหนึ่ง บ้างก็ยึดเอาจิตเป็นตัวตน บ้างก็ยึดว่า มีสิ่งที่เป็นตัวตนอยู่ต่างหากแฝงซ้อนอยู่ในจิตนั้น ซึ่งเป็นเจ้าของ และเป็นตัวการที่คอยควบคุมบังคับบัญชากายและใจนั้นอีกชั้นหนึ่ง


การแสดงขันธ์ ๕ นี้ มุ่งให้เห็นว่าสิ่งที่เรียกว่า “สัตว์” “บุคคล” “ตัวตน” เป็นต้นนั้น เมื่อแยกออกไปแล้วก็จะพบแต่ส่วนประกอบ ๕ ส่วนเหล่านี้เท่านั้น ไม่มีสิ่งอื่นเหลืออยู่ที่จะมาเป็นตัวตนต่างหากได้ และแม้ขันธ์ ๕ เหล่านั้นแต่ละอย่าง ก็มีอยู่เพียงในรูปที่สัมพันธ์อิงอาศัยกัน ไม่เป็นอิสระ ไม่มีโดยตัวของมันเอง ดังนั้นขันธ์ ๕ แต่ละอย่างๆ นั้นก็ไม่ใช่ตัวตนอีกเช่นกัน


รวมความว่า หลักขันธ์ ๕ แสดงถึงความเป็น อนัตตา ให้เห็นว่าชีวิตเป็นการประชุมเข้าของส่วนประกอบต่างๆ หน่วยรวมของส่วนประกอบเหล่านี้ ก็ไม่ใช่ตัวตน ส่วนประกอบแต่ละอย่างๆ นั้นเอง ก็ไม่ใช่ตัวตน และสิ่งที่เป็นตัวตนอยู่ต่างหากจากส่วนประกอบเหล่านี้ก็ไม่มี เมื่อมองเห็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะถอนความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องตัวตนได้ ความเป็นอนัตตานี้จะเห็นได้ชัดต่อเมื่อเข้าใจกระบวนการของขันธ์ ๕ ในวงจรแห่งปฏิจจสมุปบาทที่จะกล่าวต่อไป


อนึ่ง เมื่อมองเห็นว่า ขันธ์ ๕ มีอยู่อย่างสัมพันธ์และอาศัยซึ่งกันและกัน ก็จะไม่เกิดความเห็นผิดว่าขาดสูญ ที่เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ และความเห็นผิดว่าเที่ยง ที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ นอกจากนั้นเมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตนและมีอยู่อย่างสัมพันธ์อาศัยกันและกันเช่นนี้แล้ว ก็จะเข้าใจหลักกรรมโดยถูกต้องว่าเป็นไปได้อย่างไร กระบวนการแห่งความสัมพันธ์และอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายนี้มีคำอธิบายอยู่ในหลักปฏิจจสมุปบาทเช่นเดียวกัน


อีกประการหนึ่ง การมองสิ่งทั้งหลายโดยวิธีแยกส่วนประกอบออกไปอย่างวิธีขันธ์ ๕ นี้ เป็นการฝึกความคิด หรือสร้างนิสัยที่จะใช้ความคิดแบบวิเคราะห์ความจริง คือ เมื่อประสบหรือเข้าเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ความคิดก็ไม่หยุดตันตื้อ ยึดถือเฉพาะรูปลักษณะภายนอกเท่านั้น เป็นการสร้างนิสัยชอบสอบสวนสืบค้นหาความจริง และที่สำคัญยิ่งคือ ทำให้รู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามภาวะล้วนๆ ของมัน หรือตามแบบสภาววิสัย (objective) คือมองเห็นสิ่งทั้งหลาย “ตามที่มันเป็น” ไม่นำเอาตัณหาอุปาทานเข้าไปจับ อันเป็นเหตุให้มองเห็นตามที่อยากหรือไม่อยากให้มันเป็น อย่างที่เรียกว่า สกวิสัย (subjective)


คุณค่าอย่างหลังนี้ นับว่าเป็นการเข้าถึงจุดหมายที่ต้องการของพุทธธรรมและของหลักขันธ์ ๕ นี้ คือการไม่ยึดมั่นถือมั่น การไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายด้วยการใช้ตัณหาอุปาทาน แต่เข้าไปเกี่ยวข้องจัดการด้วย
ปัญญา


อย่างไรก็ดี ในการแสดงพุทธธรรมนั้น ตามปกติท่านไม่แสดงเรื่องขันธ์ ๕ โดยลำพังโดดๆ เพราะขันธ์ ๕ เป็นแต่สภาวะที่ยกขึ้นเป็นตัวตั้งสำหรับพิจารณา และการพิจารณานั้นย่อมเป็นไปตามแนวแห่งหลักธรรมอย่างอื่น ที่เป็นประเภทกฎสำหรับนำมาจับหรือกำหนดว่าขันธ์ ๕ มีสภาวะเป็นอย่างไร มีความเป็นไปอย่างไร เป็นต้น คือ ต้องแสดงโดยสัมพันธ์กับหลักธรรมชาติอย่างอื่น เช่น หลักอนัตตา เป็นต้น จึงจะปรากฏคุณค่าในทางปฏิบัติโดยสมบูรณ์ ดังนั้น จึงขอยุติเรื่องขันธ์ ๕ ไว้เพียงในฐานะสิ่งที่ยกขึ้นเป็นตัวตั้งสำหรับนำไปพิจารณากันในหลักต่อๆ ไป



ข. อายตนะ ๖ แดนรับรู้และเสพเสวยโลก

ช่องทางที่ชีวิตติดต่อกับโลก


แม้ว่าชีวิตจะประกอบด้วยขันธ์ ๕ ซึ่งแบ่งซอยออกไปเป็นหน่วยย่อยต่างๆ มากมาย แต่ในทางปฏิบัติ คือ ในการดำเนินชีวิตทั่วไป มนุษย์ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับส่วนประกอบเหล่านั้นโดยทั่วถึงแต่อย่างใด


ส่วนประกอบหลายอย่างมีอยู่และทำหน้าที่ของมันไปโดยมนุษย์ไม่รู้จัก หรือแม้รู้จัก ก็แทบไม่ได้นึกถึงเลย เช่น ในด้านรูปธรรม อวัยวะภายในร่างกายหลายอย่าง ทำหน้าที่ของมันอยู่ โดยมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของไม่รู้ และไม่ได้ใส่ใจที่จะรู้ จนบางคราวมันเกิดความวิปริตหรือทำหน้าที่บกพร่องขึ้น มนุษย์จึงจะหันมาสนใจ แม้องค์ประกอบต่างๆ ในกระบวนการฝ่ายจิตก็เป็นเช่นเดียวกัน


การศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ และกระบวนการทำงานทางร่างกาย เราปล่อยให้เป็นภาระของนักศึกษาทางแพทยศาสตร์และชีววิทยา ส่วนการศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบและกระบวนการทำงานด้านจิตใจ เราปล่อยให้เป็นภาระของนักอภิธรรมและนักจิตวิทยา


แต่สำหรับคนทั่วไป ความหมายของชีวิตอยู่ที่ชีวิตในทางปฏิบัติ หรือชีวิตที่ดำเนินอยู่เป็นประจำในแต่ละวัน ซึ่งได้แก่การติดต่อเกี่ยวข้องกับโลก สิ่งที่ให้ความหมายแก่ชีวิต ก็คือการติดต่อเกี่ยวข้องกับโลก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ชีวิตตามความหมายของมนุษย์ คือชีวิตโดยความสัมพันธ์กับโลก


ชีวิตในทางปฏิบัติหรือชีวิตโดยความสัมพันธ์กับโลกนี้ แบ่งออกได้เป็น ๒ ภาค แต่ละภาคมีระบบการทำงาน ซึ่งอาศัยช่องทางที่ชีวิตจะติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกได้ ซึ่งเรียกว่า “ทวาร” (ประตู, ช่องทาง) ดังนี้


๑. ภาครับรู้และเสพเสวยโลก อาศัย ทวาร ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับรับรู้และเสพเสวยโลก ซึ่งปรากฏแก่มนุษย์โดยลักษณะและอาการต่างๆ ที่เรียกว่า อารมณ์ ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
๒. ภาคแสดงออกหรือกระทำต่อโลก อาศัย ทวาร ๓ คือ กาย วาจา ใจ (กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร) สำหรับกระทำตอบต่อโลก โดยแสดงออกเป็นการทำ การพูด และการคิด (กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม)


ใน ภาคที่ ๑ มีข้อที่พึงย้ำเป็นพิเศษ เพื่อสะดวกแก่การศึกษาต่อไปว่า คำว่า “ทวาร” (ใน ทวาร ๖) นั้น เมื่อนำไปกล่าวในระบบการทำงานของกระบวนธรรมแห่งชีวิต ท่านนิยมเปลี่ยนไปใช้คำว่า “อายตนะ” ซึ่งแปลว่า แดนเชื่อมต่อให้เกิดความรู้ หรือทางรับรู้ ดังนั้นในการศึกษาเรื่องนี้ต่อไป จะใช้คำว่า “อายตนะ” แทนคำว่า “ทวาร”


ใน ภาคที่ ๒ มีข้อพึงย้ำคือ กระบวนธรรมของชีวิตในภาคนี้ รวมอยู่ในขันธ์ที่ ๔ คือ สังขารขันธ์ ที่กล่าวมาแล้วในบทก่อน


สังขารต่างๆ ในสังขารขันธ์ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากมาย แบ่งเป็น ฝ่ายดีบ้าง ฝ่ายชั่วบ้าง ฝ่ายกลางๆ บ้าง จะปรากฏตัวออกมาปฏิบัติการ โดยถูกเจตนาที่เป็นหัวหน้าหรือเป็นตัวแทนเลือกชักจูงมา หรือจัดแจงมอบหมายหน้าที่ ให้ช่วยกันทำการปรุงแต่งการแสดงออก หรือการกระทำทาง ทวาร ๓ คือ กาย วาจา ใจ เกิดเป็นกรรม คือการทำ การพูด การคิด


ในกรณีนี้ สังขารจะถูกจัดประเภทเสียใหม่ให้สอดคล้องกับบทบาทของมัน โดย
- แบ่งตามทางหรือทวารที่แสดงออก เป็นกายสังขาร วจีสังขาร และมโนสังขาร
- เรียกตามชื่อหัวหน้าหรือตัวแทนว่า กายสัญเจตนา วจีสัญเจตนา และมโนสัญเจตนา หรือ
- เรียกตามงานที่ทำออกมาว่า กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม แสดงให้เห็นง่ายขึ้น ดังนี้


๑. กายสังขาร = กายสัญเจตนา ------------- กายทวาร -- กายกรรม
[สภาพปรุงแต่งการกระทำทางกาย] = [ความจงใจ(แสดงออก)ทางกาย] [ทางกาย] [การกระทำทางกาย]
๒. วจีสังขาร = วจีสัญเจตนา --------------- วจีทวาร -- วจีกรรม
[สภาพปรุงแต่งการกระทำทางวาจา] = [ความจงใจ(แสดงออก)ทางวาจา] [ทางวาจา][การกระทำทางวาจา]
๓. มโนสังขาร = มโนสัญเจตนา -------- มโนทวาร -- มโนกรรม
[สภาพปรุงแต่งการกระทำทางใจ] = [ความจงใจ(แสดง)ทางใจ] [ทางใจ] [การกระทำทางใจ]
สังขาร ในฐานะเครื่องแต่งคุณภาพหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิต ได้กล่าวแล้วในเรื่องขันธ์ ๕
ส่วน สังขาร ในฐานะกระบวนการปรุงแต่งแสดงออกและกระทำการต่างๆ ต่อโลก เป็นเรื่องกิจกรรมของชีวิต ซึ่งจะแสดงเป็นพิเศษส่วนหนึ่งต่างหาก ในตอนว่าด้วย “ชีวิตเป็นไปอย่างไร”
ในที่นี้ มุ่งแสดงแต่สภาวะอันเนื่องอยู่ที่ตัวชีวิตเอง หรือองค์ประกอบของชีวิต พร้อมทั้งหน้าที่ของมันตามสมควร จึงจะกล่าวเฉพาะภาคที่ ๑ คือเรื่อง ทวาร ๖ ที่เรียกว่า อายตนะ ๖ อย่างเดียว


ตัวสภาวะ


“อายตนะ” แปลว่า ที่ต่อ หรือแดน หมายถึงที่ต่อกันให้เกิดความรู้ แดนเชื่อมต่อให้เกิดความรู้ หรือแหล่งที่มาของความรู้ แปลอย่างง่ายๆ ว่า ทางรับรู้ มี ๖ อย่าง ดังที่เรียกในภาษาไทยว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ


ที่ว่าต่อ หรือเชื่อมต่อ ให้เกิดความรู้นั้น ต่อ หรือ เชื่อมต่อกับอะไร ? ตอบว่า เชื่อมต่อกับโลก คือ สิ่งแวดล้อมภายนอก
แต่โลกนั้นปรากฏลักษณะอาการแก่มนุษย์เป็นส่วนๆ ด้านๆ ไป เท่าที่มนุษย์จะมีแดนหรือเครื่องมือสำหรับรับรู้ คือ เท่าจำนวนอายตนะ ๖ ที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น


ดังนั้น อายตนะ ทั้ง ๖ จึงมีคู่ของมันอยู่ในโลก เป็นสิ่งที่ถูกรับรู้สำหรับแต่ละอย่างๆ โดยเฉพาะ
สิ่งที่ถูกรับรู้ หรือลักษณะอาการต่างๆ ของโลก เหล่านี้ เรียกชื่อว่า “อายตนะ” เหมือนกัน เพราะเป็นสิ่งที่เชื่อมต่อให้เกิดความรู้ หรือเป็นแหล่งความรู้ เช่นเดียวกัน แต่เป็นฝ่ายภายนอก


เพื่อแยกประเภทจากกันไม่ให้สับสน ท่านเรียกอายตนะพวกแรกว่า “อายตนะภายใน” (แดนต่อความรู้ฝ่ายภายใน) และเรียกอายตนะพวกหลังนี้ว่า “อายตนะภายนอก” (แดนต่อความรู้ฝ่ายภายนอก)


อายตนะภายนอก ๖ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งต้องกาย และสิ่งที่ใจนึก โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า “อารมณ์” แปลว่า สิ่งอันเป็นที่สำหรับจิตมาหน่วงอยู่ หรือ สิ่งสำหรับยึดหน่วงของจิต แปลง่ายๆ ว่าสิ่งที่ถูกรับรู้ หรือสิ่งที่ถูกรู้นั่นเอง


เมื่ออายตนะ (ภายใน) ซึ่งเป็นแดนรับรู้ กระทบกับอารมณ์ (อายตนะภายนอก) ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ก็จะเกิดความรู้จำเพาะด้านของอายตนะแต่ละอย่างๆ ขึ้น เช่น ตากระทบรูป เกิดความรู้เรียกว่า “เห็น” หูกระทบเสียง เกิดความรู้เรียกว่า “ได้ยิน” เป็นต้น


ความรู้จำเพาะแต่ละด้านนี้ เรียกว่า “วิญญาณ” แปลว่า ความรู้แจ้ง คือรู้อารมณ์


ดังนั้น จึงมี วิญญาณ ๖ อย่าง เท่ากับอายตนะและอารมณ์ ๖ คู่ คือ วิญญาณทางตา ได้แก่ เห็น วิญญาณทางหู ได้แก่ ได้ยิน วิญญาณทางจมูก ได้แก่ ได้กลิ่น วิญญาณทางลิ้น ได้แก่ รู้รส วิญญาณทางกาย ได้แก่ รู้สิ่งต้องกาย วิญญาณทางใจ ได้แก่ รู้อารมณ์ทางใจ หรือรู้เรื่องในใจ


สรุปได้ว่า อายตนะ ๖ อารมณ์ ๖ และ วิญญาณ ๖ มีชื่อในภาษาธรรม และมีความสัมพันธ์กัน ดังนี้
๑. จักขุ - ตา เป็นแดนรับรู้ รูป - รูป เกิดความรู้คือ จักขุวิญญาณ - เห็น
๒. โสตะ - หู ,, สัททะ - เสียง ,, โสตวิญญาณ - ได้ยิน
๓. ฆานะ – จมูก ,, คันธะ - กลิ่น ,, ฆานวิญญาณ - ได้กลิ่น
๔. ชิวหา – ลิ้น ,, รส - รส ,, ชิวหาวิญญาณ- รู้รส
๕. กาย – กาย ,, โผฏฐัพพะ - สิ่งต้องกาย ,, กายวิญญาณ - รู้สิ่งต้องกาย
๖. มโน – ใจ ,, ธรรม - เรื่องในใจ ,, มโนวิญญาณ - รู้เรื่องในใจ


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิญญาณจะต้องอาศัยอายตนะและอารมณ์กระทบกันจึงจะเกิดขึ้นได้ ก็จริง แต่การที่อารมณ์เข้ามาปรากฏแก่อายตนะ ก็มิใช่ว่าจะทำให้วิญญาณเกิดขึ้นได้เสมอไป จำต้องมี ความใส่ใจ ความกำหนดใจ หรือความใฝ่ใจประกอบอยู่ด้วย วิญญาณนั้นๆ จึงจะเกิดขึ้น


ดังตัวอย่าง ในบางคราว เช่น เวลาหลับสนิท เวลาฟุ้งซ่าน หรือใจลอยไปเสีย เวลาใจจดจ่อแน่วแน่อยู่กับกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ตลอดจนขณะอยู่ในสมาธิ รูปและเสียงเป็นต้น หลายๆ อย่างที่ผ่านเข้ามา อยู่ในวิสัยที่จะเห็น จะได้ยิน แต่หาได้เห็น หาได้ยินไม่


อีกตัวอย่างง่ายๆ ขณะเขียนหนังสือ ใจจดจ่ออยู่ จะไม่รู้สึกส่วนของร่างกายที่แตะอยู่กับโต๊ะและเก้าอี้ ตลอดจนมือที่แตะกระดาษ และนิ้วที่แตะปากกาหรือดินสอ


ในเมื่อมีอายตนะและอารมณ์เข้ามาถึงกันแล้ว แต่วิญญาณไม่เกิดขึ้นเช่นนี้ ก็ยังไม่เรียกว่าการรับรู้ได้เกิดขึ้น


การรับรู้ จะเกิดขึ้น ต่อเมื่อมีองค์ประกอบเกิดขึ้นครบทั้ง ๓ อย่าง คือ อายตนะ อารมณ์ และวิญญาณ ภาวะนี้ในภาษาธรรมมีคำเรียกโดยเฉพาะว่า “ผัสสะ” หรือ “สัมผัส” แปลตามรูปศัพท์ว่า การกระทบ แต่มีความหมายทางธรรมว่า การประจวบหรือบรรจบพร้อมกันแห่งอายตนะ อารมณ์ และวิญญาณ พูดอย่างเข้าใจกันง่ายๆ ผัสสะ ก็คือ การรับรู้ นั่นเอง


ผัสสะ หรือ สัมผัส หรือการรับรู้นี้ มีชื่อเรียกแยกเป็นอย่างๆ ไป ตามทางรับรู้ คืออายตนะนั้นๆ ครบจำนวน ๖ คือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส


ผัสสะ เป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการรับรู้ เมื่อผัสสะเกิดขึ้นแล้ว กระบวนธรรมก็ดำเนินต่อไป เริ่มแต่ความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้เข้ามานั้น ปฏิกิริยาอย่างอื่นของจิตใจ การจำหมาย การนำอารมณ์นั้นไปคิดปรุงแต่ง ตลอดจนการแสดงออกต่างๆ ที่สืบเนื่องไปตามลำดับ


ในกระบวนธรรมนี้ สิ่งที่ควรสนใจเป็นพิเศษในการศึกษาขั้นนี้ ก็คือ ความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้เข้ามา ซึ่งเกิดขึ้นในลำดับถัดจากผัสสะนั้นเอง ความรู้สึกนี้ในภาษาธรรม เรียกว่า “เวทนา” แปลว่า การเสวยอารมณ์ หรือ การเสพรสอารมณ์ คือความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้เข้ามานั้น โดยเป็น สุขสบาย ไม่สบาย หรือเฉยๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง


เวทนานี้ ถ้าแบ่งตามทางรับรู้ ก็มี ๖ เท่าจำนวนอายตนะ คือ เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางตา เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางหู เป็นต้น

แต่ถ้าแบ่งตามคุณภาพ จะมีจำนวน ๓ คือ
๑. สุข ได้แก่ สบาย ชื่นใจ ถูกใจ
๒. ทุกข์ ได้แก่ ไม่สบาย เจ็บปวด
๓. อทุกขมสุข ไม่ทุกข์ ไม่สุข คือเรื่อยๆ เฉยๆ ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า อุเบกขา อีกอย่างหนึ่ง แบ่งละเอียดลงไปอีกเป็น เวทนา ๕ อย่าง คือ
๑. สุข ได้แก่ สบายกาย
๒. ทุกข์ ได้แก่ ไม่สบายกาย เจ็บปวด
๓. โสมนัส ได้แก่ สบายใจ ชื่นใจ
๔. โทมนัส ได้แก่ ไม่สบายใจ เสียใจ และ
๕. อุเบกขา ได้แก่ เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์

กระบวนการรับรู้เท่าที่กล่าวมานี้ เขียนให้เห็นง่ายๆ ได้ดังนี้
อายตนะ + อารมณ์ + วิญญาณ = ผัสสะ -- เวทนา
ทางรับรู้ สิ่งที่ถูกรู้ ความรู้ การรับรู้ ความรู้สึกต่ออารมณ์

ดังได้กล่าวแล้วว่า อารมณ์ ก็คือโลกที่ปรากฏลักษณะอาการแก่มนุษย์ทางอายตนะต่างๆ การรับรู้อารมณ์เหล่านี้ เป็นสิ่งจำเป็นซึ่งช่วยให้มนุษย์มีความสามารถในการเกี่ยวข้องกับโลก ทำให้ชีวิตอยู่รอดและดำเนินไปด้วยดี


ในกระบวนการรับรู้นี้ เวทนา ก็เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง โดยทำหน้าที่เป็นเครื่องชี้บอกให้ทราบว่า อะไรเป็นอันตรายแก่ชีวิต ควรหลีกเว้น อะไรเกื้อกูลแก่ชีวิต ควรถือเอาประโยชน์ได้ เวทนาจึงช่วยให้กระบวนการรับรู้ที่ดำเนินต่อไป สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจที่ครบถ้วนบริบูรณ์ เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น


แต่สำหรับมนุษย์ปุถุชน เวทนามิได้มีความหมายเพียงเท่านั้น คือมิใช่เพียงแค่ว่ากระบวนการรับรู้ได้มีส่วนประกอบเพิ่มเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง ที่ช่วยเสริมความรู้ให้สมบูรณ์ อันจะทำให้มนุษย์มีความสามารถมากขึ้น ในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม แต่เวทนา ยังหมายถึงการที่โลกมีอะไรอย่างหนึ่งเป็นผลตอบแทนหรือรางวัลแก่มนุษย์ ในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกด้วย ผลตอบแทนที่ว่านี้ คือความเอร็ดอร่อย ความชื่นใจที่เกิดจากอารมณ์ ซึ่งเรียกว่า สุขเวทนา


ในกรณีที่กระบวนการรับรู้ดำเนินมาตามลำดับ จนถึงเวทนา ถ้ามนุษย์หันเข้าจับเวทนาไว้ตามความหมายในแง่นี้ มนุษย์ก็จะหันเหออกไปจากกระบวนการรับรู้ ทำให้กระบวนธรรมอีกอย่างหนึ่งได้โอกาสเข้ามารับช่วงแล่นต่อไปแทนที่ โดยเวทนาจะกลายเป็นปัจจัยตัวเอกที่จะก่อให้เกิดผลสืบเนื่องต่อไป พร้อมกันนั้น กระบวนการรับรู้ ซึ่งกลายไปเป็นส่วนประกอบและเดินควบไปด้วย ก็จะถูกกำลังจากกระบวนธรรมใหม่นี้บีบคั้น ให้บิดเบือนและเอนเอียงไปจากความเป็นจริง


กระบวนธรรมรับช่วงที่ว่านี้ มักดำเนินไปในแบบง่ายๆ พื้นๆ คือ เมื่อรับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เกิดความรู้สึกสุขสบายชื่นใจ (????เวทนา) ก็อยากได้ (ตัณหา) เมื่ออยากได้ ก็ติดใจพัวพันจนถึงขั้นยึดติดถือมั่น (อุปาทาน) ค้างใจอยู่ไม่อาจวางลงได้ ทั้งที่ตามความเป็นจริงไม่อาจถือเอาไว้ได้ เพราะสิ่งนั้นๆ ล่วงเลยผ่านพ้นหมดไปแล้ว

จากนั้น ก็เกิดความครุ่นคิดสร้างภาพต่างๆ ที่จะให้ตนอยู่ในภาวะครอบครองอารมณ์อันให้เกิดสุขเวทนานั้น พร้อมทั้งคิดปรุงแต่งสร้างวิธีการที่จะให้ได้อารมณ์และสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์นั้น แล้วลงมือกระทำการต่างๆ ทางกายบ้าง วาจาบ้าง เพื่อให้ได้มาซึ่งผลที่ต้องการ เพื่อจะได้เวทนาที่ชอบใจนั้นยิ่งๆ ขึ้นไปอีก


ในทางตรงข้าม ถ้ารับรู้อารมณ์ใดแล้ว เกิดความรู้สึกทุกข์ เจ็บปวด ไม่สบาย (ทุกข-เวทนา) ก็ไม่ชอบใจ ขัดเคือง อยากจะพ้นไป หรือให้มันสูญสิ้นไป อยากทำลาย (ตัณหา) ผูกใจ ปักใจ ค้างใจกับสิ่งนั้น (อุปาทาน) ในทางร้าย ที่จะชิงชัง เกลียดกลัว หลีกหนี อย่าให้พบเห็นอีก เป็นต้น พร้อมกับเกิดเป็นปฏิกิริยา ให้ยิ่งยึดมั่นฝันหาผูกใจมั่นหมาย ที่จะให้พบให้ได้สุขเวทนาและสิ่งที่หวังว่าจะให้สุขเวทนาแก่ตนยิ่งขึ้นไปอีก


ในกระบวนการนี้ ก็จึงบังเกิดเป็นสุขทุกข์แบบซับซ้อนรุนแรงเข้มข้น ที่เป็นผลเสกสรรค์ของมนุษย์เอง ซึ่งหมุนเวียนเข้าวงจรที่เริ่มจากเวทนาใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า กลายเป็นสังสารวัฏ วนอยู่อย่างนั้น ไม่สามารถก้าวต่อไปสู่ผลเลิศอย่างอื่น ที่ชีวิตนี้ยังสามารถเข้าถึงได้ยิ่งกว่านั้นขึ้นไป


โดยนัยนี้ จะเห็นว่า ช่วงต่อที่กระบวนธรรมจะสืบทอดจากการรับรู้ (ผัสสะ) ต่อไปนั้น เป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทีเดียว และในภาวะเช่นนี้ เวทนาเป็นองค์ธรรมที่มีบทบาทสำคัญมาก กระบวนธรรมที่ดำเนินต่อไปจะเป็นอย่างไร (สำหรับปุถุชน) ต้องขึ้นต่อสภาพของเวทนา ว่าจะเป็นแบบไหนอย่างใด ทั้งนี้ พอจะตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า


ก. กระบวนธรรมที่สืบทอดจากผัสสะ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างกระบวนการรับรู้ที่บริสุทธิ์ กับกระบวนการสังสารวัฏ
ในกระบวนการรับรู้บริสุทธิ์ เวทนามีบทบาทเป็นเพียงองค์ประกอบย่อยๆ อย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้เกิดความรู้ที่ถูกต้องสมบูรณ์
ส่วนในกระบวนการสังสารวัฏ เวทนาเป็นปัจจัยตัวเอก ที่มีอิทธิพลครอบงำความเป็นไปของกระบวนธรรมทั้งหมด กล่าวได้ว่า มนุษย์จะคิดปรุงแต่งอย่างไร และทำการอะไร ก็เพราะเวทนา และเพื่อเวทนา หรือชีวิตจะเป็นอย่างไร ก็เพราะเวทนาและเพื่อเวทนา


นอกจากนั้น ในกระบวนการสังสารวัฏนี้ มนุษย์มิได้หยุดอยู่เพียงแค่เป็นผู้รับรู้อารมณ์ และเรียนรู้โลกเพื่อเกี่ยวข้องจัดการกับสิ่งแวดล้อมอย่างได้ผลดีเท่านั้น แต่ได้ก้าวต่อไปสู่ความเป็นผู้เสพเสวยโลกด้วย


สำหรับกระบวนการรับรู้บริสุทธิ์นั้น ถ้าจะพูดให้ละเอียดชัดเจนตามหลัก ก็ต้องตัดตอนที่ช่วงต่อจากผัสสะนี้ด้วยเหมือนกัน โดยถือว่า การรับรู้เกิดขึ้นเสร็จสิ้นแล้วที่ผัสสะ ดังนั้น กระบวนธรรมต่อจากนี้ไปจึงแยกได้เป็นอีกตอนหนึ่ง และขอเรียกชื่อว่า กระบวนการญาณทัศนะ หรือ กระบวนธรรมแบบวิวัฏฏ์ เป็นคู่ปฏิปักษ์กับกระบวนการสังสารวัฏ


แต่กระบวนธรรมแบบวิวัฏฏ์ เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาชีวิต จึงจะยกไปพูดในตอนที่ว่าด้วย “ชีวิตควรให้เป็นอย่างไร ?” และ “ชีวิตควรเป็นอยู่อย่างไร ?” ไม่กล่าวไว้ในที่นี้


ข. กระบวนธรรมที่สืบทอดจากผัสสะ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางจริยธรรม ระหว่างความดีกับความชั่ว ระหว่างกุศลกับอกุศล ระหว่างความหลุดพ้นเป็นอิสระ กับการหมกติดหมุนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ


เมื่อกล่าวถึงส่วนอื่นๆ ของกระบวนธรรมแล้ว ก็ต้องย้อนกลับไปพูดถึงอายตนะอีก เพราะกระบวนธรรมต่างๆ ที่กล่าวมานั้น ต้องอาศัยอายตนะ เริ่มต้นที่อายตนะ เมื่อว่าองค์ธรรมอื่นๆ สำคัญ ก็ต้องว่าอายตนะสำคัญ


เหมือนกัน เช่น เมื่อว่าเวทนาเป็นองค์ธรรมสำคัญยิ่งในกระบวนธรรมแบบเสพเสวยโลก อายตนะก็ย่อมมีความสำคัญมากด้วย เพราะอายตนะเป็นแหล่งหรือเป็นช่องทางที่อำนวยให้เวทนาเกิดขึ้น


เวทนา เป็นสิ่งที่มนุษย์มุ่งประสงค์ อายตนะ เป็นแหล่งอำนวยสิ่งที่มุ่งประสงค์นั้น
เท่าที่กล่าวมา สรุปได้ว่า อายตนะ ๖ ทำหน้าที่รับใช้มนุษย์ ๒ อย่าง คือ
๑. เป็นทางรับรู้โลก หรือเป็นแหล่งนำโลกมาเสนอต่อมนุษย์ เป็นเครื่องมือสื่อสาร ทำให้มนุษย์ได้รับข้อมูลแห่งความรู้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถเกี่ยวข้องกับโลกได้ถูกต้อง ทำให้ชีวิตอยู่รอด และ
ดำเนินไปด้วยดี
๒. เป็นช่องทางเสพโลก หรือเป็นประตูที่มนุษย์จะเปิดออกไปรับอารมณ์ที่เป็นรสอร่อยของโลก มาเสพเสวย ด้วยการดู การฟัง การดม การลิ้มชิมรส การแตะต้องเสียดสี ความสนุกสนานบันเทิง ตลอดจนจินตนาการ
สิ่งที่หวานชื่นระรื่นใจ


ความจริง หน้าที่ทั้งสองอย่างนี้ ก็ติดเนื่องอยู่ด้วยกัน
หน้าที่อย่างแรก เรียกได้ว่าเป็นหน้าที่หลัก หรือหน้าที่พื้นฐานที่จำเป็น
ส่วน หน้าที่ที่สอง เป็นหน้าที่รอง จะว่าเป็นของแถมหรือส่วนเกินก็คงได้
ในกรณีทั้งสองนั้น การทำงานของอายตนะก็อย่างเดียวกัน ความแตกต่างอยู่ที่เจตจำนงของมนุษย์ ซึ่งมุ่งไปที่ความรู้ หรือมุ่งไปที่เวทนา


สำหรับมนุษย์ปุถุชน ความสำคัญของอายตนะมักจะก้าวข้ามมาอยู่กับหน้าที่อย่างที่สอง คือการเสพโลก จนถึงขั้นที่กลายเป็นว่า หน้าที่อย่างที่หนึ่งมีไว้เพียงเพื่อเป็นส่วนประกอบสนองการทำหน้าที่อย่างที่สอง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า กระบวนการรับรู้มีไว้เพื่อรับใช้กระบวนการเสพเสวยโลก หรือรับใช้กระบวนการสังสารวัฏเท่านั้นเอง


ทั้งนี้เพราะว่า ปุถุชนมักใช้อายตนะ เพื่อมุ่งรับรู้เฉพาะความรู้ส่วนที่จะทำให้ตนได้เสพเสวยอารมณ์อร่อยของโลกเท่านั้น หาสนใจสิ่งอันพึงรู้นอกจากนั้นไม่


ยิ่งกว่านั้น แม้ความสัมพันธ์กับโลกในภาคแสดงออก ด้วยการทำ การพูด การคิด ก็จะกลายเป็นการกระทำเพื่อรับใช้กระบวนการสังสารวัฏเช่นเดียวกัน คือ มุ่งทำ พูด คิด เพื่อแสวงหา และให้ได้มาซึ่งอารมณ์สำหรับเสพเสวย


ยิ่งเป็นปุถุชนที่หนามากเท่าใด ความติดข้องพัวพันอยู่กับหน้าที่อย่างที่สองของอายตนะ ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น จนถึงขั้นที่ว่า ชีวิตและโลกของมนุษย์ วนเวียนอยู่แค่อายตนะ ๖ เท่านั้นเอง


เท่าที่กล่าวมานี้ จึงเห็นได้ว่า แม้อายตนะ ๖ จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของขันธ์ ๕ และไม่ครอบคลุมทุกส่วนแห่งชีวิตของมนุษย์โดยสิ้นเชิง เหมือนอย่างขันธ์ ๕ ก็จริง แต่มันก็มีบทบาทสำคัญยิ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ มีอำนาจกำกับวิถีชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก จนกล่าวได้ว่า ชีวิตเท่าที่มนุษย์รู้จักและดำเนินอยู่ ก็คือการติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกทางอายตนะเหล่านี้ และชีวิตมีความหมายต่อมนุษย์ก็ด้วยอาศัยอายตนะเหล่านี้


ถ้าอายตนะไม่ทำหน้าที่แล้ว โลกก็ดับ ชีวิตก็ไร้ความหมายสำหรับมนุษย์


มีข้อความแห่งหนึ่งในบาลี แสดงกระบวนธรรมเท่าที่กล่าวมานี้ได้อย่างกระทัดรัด และช่วยเชื่อมความที่กล่าวมาในตอนว่าด้วยขันธ์ ๕ เข้ากับเรื่องที่อธิบายในตอนนี้ ให้ต่อเนื่องกัน มองเห็นกระบวนธรรมได้ครบถ้วนตลอดสายยิ่งขึ้น จึงขอยกมาอ้างไว้ ดังนี้
อาศัยตาและรูป เกิดจักขุวิญญาณ, ความประจวบแห่งธรรมทั้งสามนั้น เป็นผัสสะ, เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี, บุคคลเสวยอารมณ์ใด ย่อมหมายรู้อารมณ์นั้น (สัญญา), หมายรู้อารมณ์ใด ย่อมตริตรึกอารมณ์นั้น (วิตักกะ), ตริตรึกอารมณ์ใด ย่อมผันพิสดารซึ่งอารมณ์นั้น (ปปัญจะ), บุคคลผันพิสดารซึ่งอารมณ์ใด เพราะการผันพิสดารนั้นเป็นเหตุ ปปัญจสัญญาแง่ต่างๆ (สัญญาที่ซับซ้อนหลากหลาย) ย่อมผุดพลุ่งสุมรุมเขา ในเรื่องรูปทั้งหลาย ที่พึงรู้ได้ด้วยตา ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน
(ต่อไปว่าด้วยอายตนะและอารมณ์อื่นๆ จนครบ ๖ คู่ ใจความอย่างเดียวกัน)

กระบวนธรรมนี้ เขียนให้เห็นง่ายขึ้นดังนี้

กระบวนการรับรู้บริสุทธิ์ กระบวนธรรมแบบเสพเสวยโลก
(กระแสปกติตามธรรมชาติ) (เกิดมีผู้เสวย-สิ่งถูกเสวย ผู้คิด-สิ่งถูกคิด)

อายตนะ
+
อารมณ์ = ผัสสะ - เวทนา - สัญญา- (วิตักกะ - ปปัญจะ) - ปปัญจสัญญาแง่ต่างๆ
+ (สังขาร)
วิญญาณ

เมื่อเกิดปปัญจสัญญาแล้ว ก็ยิ่งมีความตริตรึกนึกคิด (วิตักกะ) ได้มากมายและกว้างขวางพิสดารยิ่งขึ้น ทำให้เกิดกิเลสต่างๆ เช่น ชอบใจ ไม่ชอบใจ หวงแหน ริษยา เป็นต้น ปนเป คลุกเคล้า ไปกับความคิดนั้น
หมายเหตุ:
๑. คำที่ควรเข้าใจ คือ ‘ปปัญจะ’ หมายถึง อาการที่คลอเคลียพัวพันอยู่กับอารมณ์นั้น และคิดปรุงแต่งไปต่างๆ ด้วยแรงตัณหา มานะ และทิฏฐิผลักดัน หรือเพื่อสนองตัณหา มานะ และทิฏฐิ คือ ปรุงแต่งในแง่ที่จะเป็นของฉัน ให้ตัวฉันเป็นนั่นเป็นนี่ หรือเป็นไปตามความเห็นของฉัน ออกรูปออกร่างต่างๆ มากมายพิสดาร จึงทำให้เกิดปปัญจสัญญาแง่ต่างๆ คือสัญญาทั้งหลายที่เนื่องด้วยปปัญจะนั่นเอง
๒. จะเห็นว่ามีสัญญา ๒ ตอน สัญญาช่วงแรก คือสัญญาขั้นต้น ที่กำหนดหมายอารมณ์ซึ่งปรากฏตามปกติธรรมดาของมัน สัญญาช่วงหลัง เรียกว่า ‘ปปัญจสัญญา’ เป็นสัญญาเนื่องจากสังขาร ที่ปรุงแต่งภาพอารมณ์ ให้ออกรูปออกร่างแง่มุมต่างๆ มากมายพิสดารดังกล่าวแล้ว
๓. จะเห็นว่า กระบวนธรรมทั้งหมดนั้น แยกได้เป็น ๒ ตอน
ก) ตอนแรก ตั้งแต่อายตนะภายในถึงเวทนา เป็นกระบวนการรับรู้บริสุทธิ์
พึงสังเกตว่า ช่วงตอนนี้กระบวนธรรมเป็นกระแสบริสุทธิ์ตามธรรม
ชาติ มีแต่องค์ธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย (พึงอ่านความที่ยกมาอ้าง
ข้างบน) ยังไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เกี่ยวข้อง
ข) ตอนปลาย ตัดตอนแต่เวทนาไปแล้ว เกิดเป็นกระบวนธรรมแบบเสพ
เสวยโลก หรือกระบวนการสังสารวัฏ มารับช่วงไป
ความจริง ตั้งแต่เวทนานี้ไปเป็นทางแยก อาจต่อด้วยกระบวนธรรม
แบบวิวัฏฏ์ก็ได้ แต่ในที่นี้มุ่งแสดงเฉพาะแบบสังสารวัฏก่อน
ข้อพึงสังเกตในตอนนี้ ก็คือ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของช่วงหลังนี้ จะไม่มี
เพียงองค์ธรรมต่างๆ ที่เป็นเหตุปัจจัยแก่กันตามธรรมชาติเท่านั้น แต่
จะเกิดมีสัตว์บุคคลขึ้นมา กลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสพเสวย
กับสิ่งที่ถูกเสพเสวย ผู้คิดและสิ่งที่ถูกคิด เป็นต้น
๔. กระบวนธรรมเสพเสวยโลกในช่วงปลาย ที่แสดงข้างบนนี้ เป็นเพียงวิธีแสดงแบบหนึ่งเท่านั้น เลือกเอามาเพราะเห็นว่าสั้น และเข้ากับเรื่องที่กำลังอธิบาย คือขันธ์และอายตนะได้ดี อาจแสดงแบบอื่นอีกก็ได้ เช่นที่แสดงอย่างพิสดารในหลักปฏิจจสมุปบาทแบบทั่วไป ซึ่งเป็นกระบวนธรรมแบบสังสารวัฏโดยสมบูรณ์
๕ ว่าตามหลักอย่างเคร่งครัด วิญญาณ ผัสสะ เวทนา สัญญา ในกระบวนธรรมนี้ เป็นสหชาตธรรม ท่านถือว่าเกิดร่วมกัน พึงเข้าใจว่า ที่เขียนแสดงลำดับไว้อย่างนี้ มุ่งเพื่อศึกษาได้ง่าย
เนื่องด้วยกระบวนธรรมนี้ แยกได้เป็น ๒ ช่วงตอน และช่วงตอนหลังอาจแยกไปเป็นกระบวนธรรมแบบสังสารวัฏ หรือแบบวิวัฏฏ์ก็ได้ ดังนั้น เพื่อมองเห็นภาพได้กว้างขวางขึ้น อาจเขียนแสดงได้ดังนี้

อายตนะ
+ -กระบวนธรรมแบบสังสารวัฏฏ์
อารมณ์ = ผัสสะ - เวทนา-
+ -กระบวนธรรมแบบวิวัฏฏ์
วิญญาณ


ในเรื่องอายตนะนี้ มีข้อควรทราบเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ในการ
ศึกษาต่อไป ดังนี้

- อายตนะภายใน หรือทวาร ๖ นั้น มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อินทรีย์ ๖” คำว่า อินทรีย์ แปลว่า ภาวะที่เป็นใหญ่ หมายถึงสิ่งที่ทำหน้าที่เป็นใหญ่ เป็นเจ้าหน้าที่ หรือเป็นเจ้าการในเรื่องนั้นๆ เช่น ตา เป็นเจ้าการในการรับรู้รูป หู เป็นเจ้าการในการรับรู้เสียง เป็นต้น อินทรีย์ ๖ คือ จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ และมนินทรีย์


คำว่า อินทรีย์ นิยมใช้กับอายตนะในขณะทำหน้าที่ของมัน ในชีวิตจริง และเกี่ยวกับจริยธรรม เช่น การสำรวมจักขุนทรีย์ เป็นต้น ส่วน อายตนะ นิยมใช้ในเวลาพูดถึงตัวสภาวะที่อยู่ในกระบวนธรรม เช่นว่า อาศัยจักขุ อาศัยรูป เกิดจักขุวิญญาณ เป็นต้น และเมื่อพูดถึงสภาว-ลักษณะ เช่นว่า จักขุไม่เที่ยง เป็นต้น อีกคำหนึ่งที่ใช้พูดกันบ่อย ในเวลากล่าวถึงสภาวะในกระบวนธรรม คือคำว่า “ผัสสายตนะ” แปลว่า ที่เกิดหรือบ่อเกิดแห่งผัสสะ คือที่มาของการรับรู้นั่นเอง


-อายตนะภายนอก หรืออารมณ์ ก็มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก คือ “โคจร” (ที่เที่ยว, ที่หากิน) และ “วิสัย” (สิ่งผูกพัน, แดนดำเนิน) และชื่อที่ควรกำหนดเป็นพิเศษ ใช้เฉพาะกับอารมณ์ ๕ อย่างแรก ซึ่งมีอิทธิพลมาก ในกระบวนธรรมแบบเสพเสวยโลก หรือแบบสังสารวัฏ คือคำว่า “กามคุณ” (ส่วนที่น่าใคร่น่าปรารถนา, ส่วนที่ดีหรือส่วนอร่อยของกาม)
กามคุณ ๕ หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ เฉพาะที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ

คำสำคัญ: Dhamma
สร้างเมื่อ: 2010-06-03 01:03:10 แก้ไขเมื่อ: 2010-06-03 16:56:08

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น