เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

ไม่มีความยากจน สำหรับคนขยัน : เศรษฐกิจถดถอย ก็ไม่อดตาย



ภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ผมเคลือบเองตอนตกงานและหาอาีชีพเสริมคือการเคลือบรูปวิทยาศาสตร์ที่มอบ ให้ลุงสุวรรณ กันภัย เมื่อ ๓ ปีที่แล้ว ยังคงเก็บไว้อย่างดี

ภาพจาก point-asia แสดงไร่นาสวนผสมของลุงสุวรรณ
สังเกตดูบริเวณรอบข้างที่ถูกปล่อยให้รกร้าง


การจัดการผืนดินของเกษตรกรความรู้แค่ ป.๔
แต่ระดับสติปัญญาเหนือกว่า ดร.ปริญญาเอก หลายคนนัก




สภาพผืนนาส่วนใหญ่ในปัจจุบัน



ความอุดมสมบูรณ์ท่ามกลางความแห้งแล้งของผืนนารอบๆ
เศรษฐกิจโลกแย่แล้ว ?? จริงหรือ เผอิญไม่เก่งเศรษฐศาสตร์ ไม่ชำนาญด้านเศรษฐกิจ แต่เท่าที่เห็นและเป็นอยู่ ใครๆ ก็ว่าแบบนี้กันทั้งนั้น


ข่าวปลดพนักงานและปิดบริษัท มีออกมาเป็นระยะ

๒-๓ วันก่อน ผมมีโอกาสแวะไปที่อำเภอสนม จังหวัดสุิรินทร์ เมื่อไปแล้ว ยังไงต้องแวะไปเคารพและเยี่ยมครอบครัวลุงสุวรรณ กันภัย ที่เปรียบเสมือนญาติสนิทของผมไปแล้ว

ผมไม่ได้ไปเยี่ยมเยียนลุงและครอบครัวเกือบ ๒ ปี ทั้งลุงและป้ายังแข็งแรง ลูกสาวและลูกเขยยังขยันขันแข็งเหมือนเดิม

ป้าคำตัน ภรรยาของลุงสุวรรณ ออกมาทักทาย ท่านยังแข็งแรง ส่วนลุงสุวรรณ สุขภาพหัวเข่าไม่ค่อยดี และำกำลังพักผ่อนอย่างสบายอุราที่กระท่อมน้อยหลังสวน ผมจึงไม่รบกวน





เรือกสวน ไร่นา ยังเขียวชะอุ่ม น้ำยังคงเต็มสระอยู่เ่ช่นเคย สระด้านบนนี้ ขุดเองกับมือและจอบ

ท่าม กลาง ความแห้งแล้ง และอากาศร้อนระอุในช่วงนี้ ผืนดินส่วนใหญ่ยังคงถูกทิ้งร้าง ว่างเปล่า รอคอยน้ำจากฟ้า และโชคชะตาที่จะมาเยือน เป็นความหวังของเกษตรกรส่วนใหญ่

สุวรรณ กันภัย ในวัยเกษียณตัวเองจากการทำเกษตรกร โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของลูกเขยและลูกสาว ยังคงเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ตัวเองสร้างไว้ทั้งชีวิต โดยไม่มีวันหมดจากแผ่นดิน

ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน เศรษฐกิจโลกถดถอย แต่ถ้าคนขยัน ปัญหาเรื่องปากท้องก็จะหมดไปจากโลกใบนี้

สุวรรณ กันภัย ได้พิสูจน์ให้เห็นกับตาแล้ว


.....

พ.ศ. ๒๕๔๖


ป้าำคำตัน กับลุงสุวรรณ กันภัย

"ถ้าวันพรุ่งนี้ หรือวันต่อๆ ไป หากโลกนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้ เราจะนึกถึงอะไร...หรือนึกถึงใคร"

จั่ว หัวไว้แบบนี้ ไม่ใช่ว่าผมอยากจะกลับไปใช้ชีวิตแบบย้อนยุคนะครับ เพียงแต่เป็นหนึ่งในหลายๆ ความประทับใจต่อบุคคลที่ผมพานพบและคิดว่าน่าจะเป็นสาระและมุมมองในอีกแง่ หนึ่งบนกับโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีในวันนี้ ก็เท่านั้นเองครับ ...

บ่ายของ วันหนึ่ง หากดูตามปฏิทินก็คงจะย่างเข้าสู่วสันตฤดูแล้ว แต่อุณหภูมิของโลกยังดูเหมือนจะไม่ไยดีกับวันเวลาของปฏิทินที่ถูกกำหนดขึ้น โดยมนุษย์ เพื่ออาศัยกลไกของธรรมชาติในการดำรงอยู่ของชีวิตที่ไม่จีรัง

ผม บึ่งรถไปตามถนนลาดยางจากอำเภอศีขรภูมิมุ่งหน้าสู่อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ จุดหมายปลายทางที่ห่างกันเพียง ๓๐ ก.ม.ทิวทัศน์สองข้างทางที่เป็นท้องทุ่งเริ่มมีสีเขียวของหญ้าที่ระบัดใบ หลังจากท้องฟ้าประพรมความชุ่มฉ่ำพอให้คลายร้อน

ชาวนาบางส่วนที่ขยันทำมาหากิน จับจอบเสียมที่วางไว้หลายเดือนมาปรับแต่งคันนาเตรียมกักเก็บน้ำเพื่อรอฝนใหญ่ที่จะมาถึงในวันข้างหน้า

สอง ข้างทางที่ดูโปร่งตา เริ่มหนาทึบไปด้วยไม้ใหญ่ เมื่อเข้าสู่เขตอำเภอสนม ผมแวะซื้อยาเส้นจำนวนหนึ่งเพื่อนำไปฝากผู้ที่ผมกำลังจะไปพบ

ผ่าน ถนนคอนกรีตในตัวเมืองที่บ่งบอกถึงการทำงานของผู้มีส่วนรับผิดชอบได้เป็น อย่างดี ไม่ว่าจะไปที่ไหนในชนบท

สังคมไทยเป็นอย่างนี้มานมนาน ... และอาจจะเป็นแบบนี้อีกนาน

จากถนนคอนกรีตกลายเป็นถนนดิน ผ่านป่าทึบที่เปรียบเสมือนแหล่งอาหารของชุมชน รถจักรยานที่สวนมามีผักปังเต็มตะกร้า

ในรัศมีไม่กี่มากน้อยเท่านั้นที่เห็น และแหล่งอาหารนั้นกำลังหดหายไปตามวัฏฏะของโลก

ห่าง จากหมู่บ้านไม่ไกลนัก ท่ามกลางท้องนาที่ว่างเปล่า หากใครมาพบเห็นจะต้องสะดุดตากับความเขียวขจี บนพื้นที่ประมาณ ๙ ไร่ ของลุงสุวรรณ กันภัย เกษตรกรผู้ทรหด ที่ถือเป็นตำนานที่ยังคงมีชีวิตอยู่

แม้อากาศโดยทั่วไปในยามนี้จะร้อนปานใด หากแต่ย่างเข้าไปในบริเวณ "ไร่นา-สวนผสม" ของลุงสุวรรณแล้วเราจะรู้สึกถึงความแตกต่างแม้จะไม่มากนัก แต่ก็สัมผัสได้

...เย็นกาย เย็นตา และเย็นใจ...

ทาง เดินขนาดสองคนเดินเคียงกันได้ จากปากทางเข้าสู่บ้านของลุง ดูสะอาดตา ตลอดสองข้างทางดาษดาไปด้วยพรรณไม้หลากชนิด ทั้งไม้ผลและผักสวนครัว

ใน ส่วนที่จัดแบ่งไว้ทำนา ข้าวในนาสูงราวศอก ขณะที่ผ่านมานั้น เกือบ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ยังไม่ทำอะไรกับผืนนา คงเป็นเวลาเดียวกันกับข้าวในนาของลุงสุวรรณและครอบครัวตั้งท้อง โดยที่ชาวนาส่วนใหญ่กำลังลงกล้ากัน

ลาน ข้างๆ กระท่อมหลังน้อยของลุงสุวรรณกลายเป็นห้องรับแขกกลางทุ่งไปโดยปริยาย ป้าคำตันคู่ชีวิตของลุงกำลังนั่งห่อใบตองเพื่อทำขนมตาลกับหลานสาว

"จำผมได่บ่ป้า" ผมยกมือไหว้ทักทายพร้อมกับส่งของฝากที่มีชื่อเสียงของอำเภอศีขรภูมิ ..กาละแม
"นี่ยาเส้นของลุง ลุงไปไสละ"

ป้าทักทายอย่างเป็นกันเอง แม้ครั้งสุดท้ายที่มาเยือนจะผ่านไปเกือบปีแล้วก็ตาม
"ผมว่าจะแวะมาขอมะกรูดป้าไปสระผมนะครับ" ครั้งที่แล้ว ป้าเก็บมะกรูดถุงใหญ่ให้ผม เพื่อให้ผมเอาไป "สระผม" เพราะเห็น "ผม" ของผม ดูอาวุโสเกินวัย

และ นับแต่นั้นมาเกือบปีแล้วที่ผม "สระผม" ด้วยมะกรูด อย่างต่อเนื่องมากระทั่งทุกวันนี้ แรกๆ ก็ไม่ค่อยชินเท่าไหร่ แต่ผมก็ลองใช้กระทั่งแน่ใจว่า มะกรูด ทำให้ "ผม" ของผมดีขึ้นจริงๆ ที่แน่ๆ ผมไม่เคยมีรังแคและไม่เคยคันศีรษะเลยตั้งแต่ใช้มะกรูดสระผม

ใช้แบบสดๆ บีบน้ำใส่ "ผม" และเอาเปลือกถูให้ทั่วศีรษะ หรือจะต้มทั้งลูกแล้วปั่นเก็บไว้ก็ได้

ไม่ ใช่ว่าผมจะกลับไปสู่ยุคอดีตนะครับ แต่ผมลองใช้แล้วไม่เสียหลาย อีกทั้งบ้านผมเองก็มีต้นมะกรูดที่ออกผลทั้งปีหากที่เก็บมาหมดแล้ว ผมก็จะไปเก็บ "ยาสระผม" มาใช้

ใช้ แรกๆ ผมไม่ทราบว่ามันจะเป็นอย่างไรหรอกครับ มีอยู่หนหนึ่งผมไปเยี่ยมเพื่อนพ้องน้องพี่ที่มูลนิธิพัฒนาอีสานพวกเขาถามผม ว่า "ไปย้อมผมมาเหรอ" ทำไมไม่หงอกแล้ว

ผมก็อธิบายให้ฟังและอีกหลายคนที่ไม่เจอะหน้าค่าตาก็ทักแบบเดียวกัน จนผมต้องกลับไปสำรวจดู "ศีรษะ" ตัวเองใหม่ (ปัจจุบันไม่ได้ใช้ก็เลยกลับไปเหมือนเดิม...ฮา)

เรื่องนี้ผมเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง หลายคนสนใจ แม้กระทั่งเพื่อนที่เป็นนายแพทย์อยู่ที่สุรินทร์นี่ยังขอไปทดลองใช้เลย

ลุง สุวรรณกับป้าคำตันนี่แหละที่แนะนำผม และหากใครได้เห็น "ผม" ของทั้งสองท่านนี้ จะดำสนิทเลยครับ ป้าเล่าให้ฟังว่าก็เก็บดอกอัญชันหน้ากระท่อมนั่นแหละมาใช้ด้วย

ทักทาย กันตามสมควร ผมกับป้าเดินไปหาลุงสุวรรณที่มาผักผ่อนท้ายสวนกับหลานชาย ป้าตะโกนเรียกจนลุงตื่น พลอยให้หลานชายที่หลับอุตุตื่นขึ้นมาด้วย

ผมยกมือไหว้ขอโทษขอโพยลุง เลยไปถึงหลานชายด้วย ที่มารบกวนเวลาพักผ่อน

"น่าอิจฉานะลุง" ผมกล่าวด้วยใจจริง ลุงเชื้อเชิญให้ผมขึ้นมานั่งบนเถียงนาน้อยด้วยกัน

ลุงเล่าให้ฟังว่า เพิ่งมีนักเรียนจากโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง มาเยี่ยมเยียนดูงานเร็วๆ นี้เอง ตั้งหลายรุ่นแล้ว

...

ลุงสุวรรณมี ความรู้ทางการศึกษาในระบบแค่ป.๔ และเคยผ่านงานกุลีในเหมืองแร่ที่ปักษ์ใต้กว่า ๖ ปี ก่อนจะมาทำงานในโรงงานย่านสมุทรปราการและในเมืองหลวงอีกหลายปี ในวัยหนุ่ม

กระทั่ง ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่กับป้าคำตันเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว และนำคู่ชีวิตไปทำงานที่กรุงเทพฯ ด้วยความมุงานและเป็นคนจริงของลุงสุวรรณทำให้เป็นที่ชื่นชอบของนายจ้าง ทำให้ลุงทำงานหนักขึ้นไปอีก เพื่อส่งเงินมายังบ้าน

สุด ท้ายก็รู้ตัวว่าสุขภาพย่ำแย่ จึงตัดสินใจลาออกเพื่อมุ่งหน้าสู่อาชีพของบรรพบุรุษ กับทุนรอนไม่กี่พันบาทผนวกกับที่นาที่พ่อตายกให้ส่วนหนึ่ง

แรกๆ ลุงก็ทำนาเหมือนกับชาวนาทั่วๆ ไป ทำไปทำมาก็มีแต่หนี้สิน เลยเปลี่ยนวิถีใหม่หันมาทำแบบผสมผสานแต่ไม่มีทฤษฎี เรียกว่า "ทำหา" ว่างั้นเถอะ

เป็นใครก็ต้องอ้าปากค้างหรือหาว่าลุงเสียสติ เมื่อรู้ว่าสระน้ำ บ่อน้ำ ที่ในผืนนาทั้งหมดนั้น ลุงขุดด้วยมือของลุงเองทั้งสิ้นด้วยหวังจะใช้นำในบ่อเพื่อรดพืช ผักที่ปลูกไว้

ใน ไร่นา-สวนผสมของลุงสุวรรณ แบ่งเป็นเนื้อที่ปลูกข้าว ๒ ไร่ มีสระน้ำขนาดใหญ่ ๓-๔ บ่อ มีต้นมะนาวที่ให้ผลผลิตทั้งปีกว่า ๑๐๐ ต้น ชมพู่กว่า ๑๐๐ ต้น พืช ผักสวนครัว อาทิ หอม ยี่หร่า สาระแหน่ กะเพรา โหระพา ฯลฯ สารพัดชนิดรวมถึงปลาในสระ ทั้งหมดนี้กินได้ไม่รู้จบ

บ่อปลา ในแบบ "เศรษฐกิจพอเพียง"

ผมประทับประโยคหนึ่งที่ลุงตอบคำถามว่า
"ลุงใช้อะไรเลี้ยงปลาในสระ" ลุงตอบว่า
"ลุงไม่ได้เลี้ยงปลา ปลาเลี้ยงลุง"


จาก นาเชิงเดี่ยวในปี ๒๕๑๖ อีก และกว่า ๕ ปีที่มุ "ทำหา" (ทำไปเรื่อยเปื่อย) กระทั่งทุกวันนี้ สิ่งที่ลุงสุวรรณกับป้าคำตัน "ทำหา" นั้นกลับกลายเป็นทรัพย์สินที่เก็บกินไม่รู้หมด ลูกหญิง-ชาย ที่ไปทำงานในเมืองหลวงก่อนก็ถูกเรียกกลับมาช่วย "ทำหา" ลุงสุวรรณสร้างบ้านหลังงามให้ลูกบนผืนนานั้นเอง

ทุก ว้นนี้ นอกจากจะทำในสิ่งที่ลุงรักแล้วและอาศัยอยู่ในกระท่อมหลังน้อยที่ปราศจาก เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ซึ่งในครัวป้าคำตันยังคงใช้ฟืนที่เก็บจากไร่นานั่นเองในการหุงหาอาหาร

แม้ จะมีความรู้แค่ ป.๔ ลุงสุวรรณ แต่ลุงยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรในด้านการทำเกษตรแบบพอเพียง ให้กับหน่วยงานราชการ, เกษตรกรทั้งไทยและต่างประเทศรวมถึงผู้ที่สนใจในอาชีพนี้อีกด้วย

ด้วย การศึกษาเพียง ป.๔ ลุงสุวรรณยืนหยัดต่อสู้กับอุปสรรคทั้งหลายกระทั่งประสบผลสำเร็จในชีวิตทำให้ ผมทึ่งและน้อมรับ ยอมรับในความสามารถ หากเทียบกับคนที่มีการศึกษาสูงแล้ว (ถ้าหากเอาปริญญาเป็นตัวตั้ง--รวมทั้งผมด้วย) ลุงสุวรรณสมควรที่จะได้รับการยกย่องให้เป็นครูของแผ่นดิน

แน่ นอนที่สุด ใบประกาศเกียรติคุณและเกียรติยศที่คนจบป.๔ อย่างลุงสุวรรณได้รับทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศย่อมแสดงให้เห็น ว่าคุณค่าของคนนั้น ไม่ได้อยู่ที่การศึกษาเสมอไป

ลุง สุวรรณ ป้าคำตัน สระน้ำและต้นไม้ในสวนของลุงสอนผมหลายๆ อย่าง รวมทั้งหลักธรรมในการดำเนินชีวิต การพึ่งพาอาศัยกันของสิ่งมีชีวิต ที่อยู่กันอย่างสมดุลและเอื้อต่อกัน

เกียรติ ชื่อเสียง ลาภ ยศ สรรเสริญ ทั้งหลายเป็นเพียงสิ่งสมมุติเท่านั้น

ยกมือไว้ร่ำราพร้อมกับมะกรูดถุงใหญ่

ขากลับผมแวะซื้อลูกปลานิล เอาไปปล่อยในสระที่บ้านสวนศีขรภูมิ

...

ห้องครัว

ผมตั้งคำถามเล่นๆ ให้กับตัวเอง

"นับแต่พรุ่งนี้ ถ้าโลกไม่มีไฟฟ้า -- ใครจะอยู่ได้โดยไม่เดือนร้อนเลย"

หมายเหตุ ผมเขียนเรื่องนี้เมื่อปี ๒๕๔๖ และมีการเผยแพร่ในสื่ออื่นๆ บ้างแล้ว ปัจจุบันลุงสุวรรณยังดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง แต่ลดภาระงานลง เนื่องจากวัยและสุขภาพ

...

ภาพถ่ายล่าสุดเมื่อปีที่แล้วกับปีนี้ ถ่ายในช่วงฤดูแล้งนี่ละครับ


อุดมสมบูรณ์ รูด้านล่างคือรูแย้ครับ ดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินได้เป็นอย่างดี

แปลงผักปลอดสาร ทั้งขายทั้งกิน อยู่ได้ทั้งปีครับ สำหรับคนขยัน

ลูกเขยคนขยัน ทีสานต่องานลุงสุวรรณ สถานที่แห่งนี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้
ทั้งของไทยและของโลกไปแล้วครับ

รูปล่างซ้ายคือเครื่องจักรผลิตปุ๋ยอินทรีย์อย่างดีครับ ผมว่าจะหามาเลี้ยงที่บ้านสักตัวเหมือนกัน



ภาพเป็นข่าวก็แล้วกันครับ

ภาพเมื่อ ๔ ปีที่แล้วพอดีครับ ลุงสุวรรณ กันภัย กับครอบครัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น