เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

พระไตรลักษณ์อันมี ๓ ลักษณะ





พระไตรลักษณ์อันมี ๓ ลักษณะ


คือ อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะ อันมีรายละเอียด ดังนี้

๑. อนิจจัง

สังขารหรือสิ่งที่เกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมหรือประกอบกันชั่วขณะเพียงระยะหนึ่ง จึงไม่ใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริง เพราะความที่ไม่ใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริงนี่แหละจึงมีความไม่สมบูรณ์เป็นหนึ่ง แอบเร้นอยู่ในตัวเอง มีแรงบีบคั้นโดยธรรมหรือธรรมชาติ จึงเป็นปัจจัยทำให้ไม่สามารถรวมตัวกันอย่างเสถียร คงที่ คงทนได้ตลอดไป จึงเกิดอนิจจังคืออาการแปรปรวน หรืออาการไม่เที่ยง มีอันต้องแปรปรวนไปเป็นธรรมดาตามสภาพเหตุปัจจัยของมัน จึงไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนาได้ตลอดไปในที่สุด จึงเกิดสภาวะที่มีการเกิดขึ้นแล้วต้องมีการแปรปรวนไปเป็นธรรมดาหรือตถตา

เมื่อไม่เที่ยง มีอาการแปรปรวนกลับกลายไปเป็นธรรมดา เมื่อไปอยากด้วยตัณหา จึงเกิดการไปยึดว่าเป็นของตัวของตนด้วยอุปาทานในสังขารใดๆเข้า ดังนั้นเมื่อเกิดการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงหรือดับไป จึงยังให้เกิดทุกข์ชนิดอุปาทานทุกข์อันแสนเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวาย

พระไตรลักษณ์ หรือลักษณะของธรรมชาติทั้ง ๓ นี้ มีธรรมหรือสิ่งที่มาปกปิดหรือซ่อนเร้นไว้ไม่ให้ปุถุชนแลเห็นหรือเข้าใจได้อยู่เช่นกัน จึงปกปิดบดบังร่องรอยไม่ให้เห็นและเข้าใจ จึงก่อให้เกิดทุกข์โทษภัยไปทั่วทุกโลกธาตุ จนบังเกิดมีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้พระปรีชาญาณ ตรัสรู้เห็นชอบได้ด้วยพระองค์เอง ทรงนำมาเปิดเผยดุจดัง หงายของที่คว่ำอยู่ขึ้นแสดง เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ตามประทีปในที่มืด ด้วยเห็นว่าผู้มีจักษุคือปัญญาคงเห็นได้ เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งนั่นเอง

อนิจจัง ถูกปิดบังซ่อนเร้นร่องรอย ทําให้ไม่รู้ไม่เห็นตามความเป็นจริงของสภาวธรรมหรือธรรมชาติได้ ก็เพราะเหล่า สันตติ - ความสืบต่อหรือความเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ได้ปกปิดบดบังไว้ ดังเช่น คนที่อยู่ใกล้ชิดกันเห็นกันบ่อยๆหรือทุกๆวัน หรือตัวของเราเอง จะสังเกตุได้ว่ามองไม่ค่อยเห็น ความแปรปรวนไป ความไม่เที่ยงในกายว่ามีความแก่ ความเสื่อมอยู่ตลอดเวลาทุกขณะ แต่คนคุ้ยเคย ที่จากกันไม่พบกันเป็นเวลานาน กล่าวคือ ขาดความสืบต่อหรือขาดความต่อเนื่องไประยะหนึ่ง เมื่อเกิดมาประสบพบกันอีกจะสังเกตุเห็นได้อย่างง่ายๆว่า โตขึ้น แก่ขึ้น เปลี่ยนแปลงไปมากทั้งกายและความคิดหรือจิต, ตัวตนของเราหรือท่านทั้งหลายตามความเป็นจริงแล้วมีความเสื่อมไม่เที่ยงเกิดอยู่ทุกๆขณะ ทุกๆโมเลกุลในเซลมีการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนเคลื่อนไหว ไม่เที่ยง เสื่อม หลุดลอก อยู่ตลอดเวลาจริงๆ,แม้แต่อะตอม อันจัดว่าเป็นสิ่งทางวัตถุธาตุที่เล็กที่สุดในวิทยาการปัจจุบัน ก็เป็นเพียงสังขารที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาจากเหล่ามวลของอิเลคตรอน โปรตอน นิวตรอน ที่มีเหล่าอิเลคตรอนวิ่งวนเวียนรอบกลุ่มของเหล่าโปรตอนและนิวตรอนอยู่โดยมิรู้จักหยุดหย่อน อันแสดงให้เห็นสภาวะแห่งความแปรปรวน อันก่อให้เกิดความไม่เที่ยงอยู่ทุกขณะ ที่ยืนยันพระพุทธพจน์ได้เป็นอย่างดีโดยความรู้ทางโลก แม้อะตอมในที่สุดก็ต้องดับไปตามวงจรอายุขัยของสิ่งๆนั้น การที่อิเลคตรอน,โปรตอนและนิวตรอนก็หมุนรอบตัวเองก็ยังเกิดแต่เหตุปัจจัยของพลังงานชนิดต่างๆอีกเช่นกัน, โมเลกุลอันเป็นมวลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกนั้น ก็่เป็นสังขารที่เกิดขึ้นแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งของเหล่าอะตอม กล่าวคือ ย่อมประกอบกันด้วยมวลของอะตอมในรูปแบบต่างๆกัน, โลกที่เราอาศัยอยู่นี้ ก็เป็นสังขารที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาจากวัตถุธาตุต่างๆนาๆอย่างหนึ่ง จึงแสดงอาการแปรปรวนไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลาทุกๆขณะ มีการหมุนรอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฝนตก แดดออก หิมะตก ฯลฯ., จักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลก็ยังเป็นสังขารที่ล้วนเกิดแต่การมีเหตุต่างๆแม้มหาศาลมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นเช่นกัน จึงย่อมแสดงความไม่เที่ยงแปรปรวนเป็นธรรมดา มีการโคจรของดวงดาวต่างๆตามเหตุแรงดึงดูด การชนกัน การเกิด การดับของดวงดาวอยู่ทุกๆขณะจิต ฯลฯ., กายของเราท่านทั้งหลายก็เป็นสังขารที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ หรือมวลหมู่ของเซลมาประกอบกันเป็นร่างกายตัวตน จึงย่อมมีความไม่เที่ยงมีความเสื่อมสลายและสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลาเช่นผิว,ผม,เล็บ,เยื่อบุ,นํ้าเลือด,นํ้าหนอง ฯลฯ.มีความเสื่อมหรือหลุดลอกอยู่ทุกๆขณะทุกๆเศษเสี้ยวของวินาที และสร้างเสริมใหม่ตลอดเวลาเช่นกัน การหายใจก็เป็นสังขารจึงมีการแปรปรวนอยู่ทุกขณะจิต ส่วนจิตก็ยิ่งมีความแปรปรวนยิ่งกว่าสิ่งใด เพียงแต่เราไม่เคยสังเกตุหรือพิจารณาให้เห็น เพราะโดยทั่วไปนั้นถูกปกปิดบังไว้ด้วย ความต่อเนื่อง จนปิดบังมองไม่เห็นการเกิด การดับ และความเสื่อมไป จึงมองด้วยตาธรรมดาไม่เห็น ต้องใช้ตาปัญญาที่มาจากการเจริญวิปัสสนา หรือธรรมวิจยะ แล้วต้องตริตรอง คิดค้น พิจารณาโดยละเอียดแยบคาย(โยนิโสมนสิการ) ตัวอย่างอีกอันหนึ่ง เช่น ธูปเวลาเราจุดไฟแล้วแกว่งโดยเร็วจะสังเกตุแต่ไฟที่ปลายธูปเป็นเส้นไฟสายเดียวต่อเนื่องกันไปเพราะความเป็นไปอย่างต่อเนี่องจนเห็นแต่มายา,มองไม่เห็นความจริงว่าเป็นแค่จุดเปลวไฟเล็กๆจากปลายธูป และสังเกตุไม่เห็นความเสื่อมมอดไหม้ไปทุกขณะของธูป เห็นแต่ความรุ่งโรจน์เรืองรองเป็นสายของเส้นไฟจากปลายธูป ไม่ได้สนใจหรือสังเกตุเห็น(เทียบเท่าสติ)ความไม่เที่ยงของธูปที่แปรปรวนมอดไหม้หมดลงไป..ลงไป จนต้องดับไปเป็นที่สุด

ดูเอาเถอะ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระศาสดา พระมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ท่านก็ยังคงต้องอยู่ภายใต้อนิจจังของพระไตรลักษณ์เป็นธรรมดา

ชีวิตของเราก็เช่นกัน มองหา สนใจแต่ความสมปรารถนา(สุข)เพราะความเป็นธรรมหรือธรรมชาติของชีวิตอย่างหนึ่งของสรรพสัตว์ที่ย่อมชอบต้องรักความสุขสบาย หน่ายในทุกข์ จนลืมสังเกตุ มองไม่เห็นความไม่เที่ยงของกายและจิต(รูป-นาม)ตลอดจนสิ่งแวดล้อมต่างๆก็เพราะ สันตติความสืบเนื่องนี้ที่เป็นปัจจัย, เมื่อสังเกตุไม่เห็น จึงเกิดการลืมตัวเป็นส่วนใหญ่ จึงเกิดการประมาทโดยไม่รู้ตัวเป็นปกติธรรมดา

อนิจจลักษณะ - ลักษณะที่เป็นอนิจจัง<

ลักษณะที่แสดงว่าเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ ได้แก่
๑. เป็นไปโดยการเกิดขึ้นและสลายไป คือ เกิดดับๆ..... มีแล้ว ก็ไม่มี
๒. เป็นของแปรปรวน คือ เปลี่ยนแปลงแปรสภาพไปเรื่อยๆ ควบคุมบังคับให้คงที่คงทนไม่ได้อย่างแท้จริง
๓. เป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะๆ ระยะหนึ่งๆ
๔. แย้งต่อความเที่ยง คือ โดยสภาวะของมันเอง ก็ปฏิเสธหรือตรงข้ามกับความเที่ยงอยู่ในตัว

ลักษณะหรืออาการเหล่านี้จึงก่อให้เกิดทุกข์ เมื่อสิ่งทั้งหลาย(สังขาร)ที่ไปอยากหรือไม่อยากอันล้วนคือตัณหา หรือไปยึดมั่นด้วยกิเลสตน(อุปาทาน)ทั้งด้วยความไม่รู้(อวิชชา)และไม่รู้เท่าทัน(ไม่มีสติ)เหล่านั้น มีอาการไม่เที่ยง,ต้องแปรปรวน,มีอาการเปลี่ยนแปลงไป ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา



๒. ทุกขัง

สิ่งที่เกิดแต่เหตุปัจจัยคงทนอยู่ไม่ได้, ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยความไม่เที่ยง แปรปวน, ภาวะที่ไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่องซ่อนเร้นอยู่ในตัวของตัว, ภาวะของแรงดูดและผลัก ฯ. ตัวเหตุปัจจัยหลายๆอย่างอันประกอบกันขึ้น แต่ละตัวก็ล้วนแปรปรวน ซึ่งเมื่อเหตุปัจจัยต่างๆมีการแปรปรวน ผลก็ย่อมแปรปรวนไปๆมาๆอยู่เยี่ยงนั้น อันเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตา เมื่อเกิดการแปรปรวนเยี่ยงนี้อยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ในที่สุดภาวะของการสิ้นสุดหรือดับไปก็ต้องบังเกิดขึ้นเป็นที่สุด จึงทำให้ผู้ที่ไปยึดไปอยากในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดภาวะที่ทําให้ไม่มีความสมใจ,ไม่สมอยาก,และไม่พอใจ อันก่อให้เกิดทุกข์ แก่ผู้ที่ไปอยากด้วยตัณหา จึงเกิดการไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของตัวหรือของตนอย่างแท้จริงด้วยอุปาทาน ในที่สุด

คําว่า"ในที่สุด" นี้ต้องการชี้ให้เห็นชัดๆว่า เพราะบางครั้งนั้นความสมใจสมอยากบ่อยๆคือได้ตามปรารถนาจนลืมตัวว่าในที่สุดก็ต้องเป็นทุกข์อย่างแน่นอน เพราะความกล้าแข็งขึ้นของตัณหาและอุปาทานตามที่ได้รับการตอบสนอง จนเกินกําลังที่จะสนองได้ในที่สุด, ตลอดจนเพราะความไม่เที่ยงและทุกขังคงทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไปนั่นเอง

ทุกขัง สภาวะที่คงทนอยู่ไม่ได้ จึงเกิดอาการดับหรือสูญสลายไปในที่สุด ดังนั้นเมื่อไปอยากด้วยตัณหาอันยังให้เกิดความยึดมั่นด้วยอุปาทานในสังขารที่ดับไป จึงย่อมเป็นทุกข์ที่เร่าร้อนเผาลนกระวนกระวาย

ทุกขัง หรือความทนอยู่ไม่ได้ จึงต้องดับไป มักถูกปิดบังด้วยอิริยาบถ(ความเคลื่อนไหวร่างกาย และแม้แต่ทางจิต) จึงก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนหรือบดบังหรือเกิดการแยกพราก,การยักย้ายจากกัน จนทำให้ไม่ทันสังเกตุเห็นทุกขังความทนอยู่ไม่ได้หรือทุกข์ที่เกิดขึ้น ดังเช่นผู้ฝึกสมาธิ เมื่อปฏิบัติจะเห็นความคิด(ทุกข์ที่เกิดทางใจ)แทรกเข้ามาอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนสังเกตุเห็นทุกข์ทางกายจากความปวดเมื่อยต่างๆรุมประเดประดังเข้ามาจนสังเกตุได้ชัด(เคยสังเกตุ?) เหตุเพราะเราอยู่ในความสงบนิ่ง, ไม่มีอิริยาบถเคลื่อนไหว ทุกข์ต่างๆจึงปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นในความรู้สึก บางคนอาจจะอ้างว่า เป็นเพราะท่านั้นไม่สบายไม่เหมาะกับสรีระร่างกาย ลองท่าทางต่างๆหรือท่านอนอันแสนสบายที่สุดดูก็ได้ เพราะจะเป็นเพียงการรอให้แรงบีบคั้น,ความกดดันจนถึงระดับปรากฏแก่สายตาหรือความรู้สึกของเราเท่านั้น มันแค่จะกินเวลาเพิ่มขึ้นอีกระยะหนึ่งเท่านั้น การนอนหรือกริยาที่สบายที่สุดอะไรก็ตามแค่ต้องการใช้เวลามากขึ้นเท่านั้นเอง, หรือการที่รูป(ณ.ที่นี้หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้)ถูกแยกพรากออกจากนาม(ผู้รู้)ก่อนสังเกตุเห็นภาวะบีบคั้นกดดันขัดแย้งนั้น เช่น สิ่งที่เราเห็นนั้นถูกแยกหรือหายไปจากสายตาของเรา ดังเช่นคนที่เราเกลียดเดินแยกพรากไปจากสายตาเราเสียก่อนที่จะรู้ว่ามันไม่สามารถคงทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไป, หรือการที่นาม(ผู้รู้หรือผู้สังเกตุ)ถูกแยกพรากจากรูป(สิ่งที่ถูกรู้หรือถูกสังเกตุ) ดังเช่น เราเองเดินแยกพรากไปจากสิ่งที่เห็นและไม่ชอบใจนั้นเสียก่อนที่จะเห็นความคงทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไปเอง, เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุอันสําคัญที่ทำให้ไม่สามารถสังเกตุเห็นความคงทนอยู่ไม่ได้ จึงดับไปในที่สุด ก็เนื่องมาจากอิริยาบถหรือการแยกพรากนี้นั่นเอง มาบดบังไม่ให้เห็นสัจจธรรมข้อทุกขังนี้ ถ้าเราเห็นอย่างชัดแจ้งประจักษ์ในจิตอยู่เสมอๆ ก็จะไม่ถูกครอบงำด้วยอิริยาบถหรือการแยกพราก ในการปฏิบัติควรใช้ประโยชน์จากโทษนี้ เช่นเมื่อนั่งสมาธิถ้าใจเราสงบเป็นสมาธิก็ปล่อยให้เป็นสมาธิ เพื่อจิตจักได้ไม่ซัดส่าย อันก่อเกิดเป็นกําลังของจิตในการพิจารณาธรรมต่อไป และชิมรสอร่อยของความสงบ ปิติ สุข อุเบกขา (อย่าไปอยากหรือยึดจนติดเป็นวิปัสสนูปกิเลส จมติดอยู่กับ "สุข หรือความสงบ", เผลอตัวเมื่อไรเสพทันที จะทําให้ไม่พัฒนาให้เกิดขั้นปัญญาในการดับทุกข์ตลอดจนเกิดโทษในภายหลัง) แต่เมื่อใดที่เป็นทุกข์ ใจไม่สามารถสงบได้เพราะไม่มีอิริยาบถความเคลื่อนไหวมาปิดบังทุกข์ จนทุกข์นั้นปรากฎเด่นชัดขึ้นมาในจิต ทําให้ฟุ้งซ่านไปในเรื่องต่างๆแม้แต่ในเรื่องการปฏิบัติธรรมก็เถอะ ก็ให้เห็นความคิด หรือเวทนาต่างๆทั้งทางกายและจิตที่ผุดขึ้นนั้นด้วยใจที่สงบอุเบกขา วางทีเฉย ไม่แทรกแซงเข้าไปปรุงแต่ง สังเกตุให้เห็นความคิด,นึก, คิดปรุงแต่ง โทสะ โมหะ ฯ. ตลอดจนเวทนาต่างๆที่ผุดขึ้น,ที่เกิดขึ้น(อย่าไปไหลเลื่อนปรุงแต่งตามความคิดหรือเวทนานั้นๆแค่สังเกตุหรือเห็นและเข้าใจ แล้วละเสีย) เหล่านี้แหละคืออาสวะกิเลส ที่ยังให้เกิดสังขารตามที่เคยสั่งสม,อบรม,ประพฤติ,ปฏิบัติมาไว้แล้วแต่ในอดีต ตามวงจรปฏิจจสมุปบาทอันเกิดแต่อวิชชาและอาสวะกิเลส อันนี้เป็นจักประโยชน์อย่างสูงสุด เป็นตาแห่งปัญญาที่จะนําพาให้พ้นทุกข์(วิปัสสนาญาณ)จักได้เริ่มบังเกิดขึ้นแก่เราแล้ว เริ่มเห็นความคิดหรือจิตตามที่ได้สั่งสมไว้ว่าเป็นอย่างไร ก่อทุกข์ ขึ้นมาใช่ไหม เริ่มเข้าใจและเห็นสังขารความคิดปรุงแต่งอันก่อทุกข์ได้ด้วยตนเองอย่างแจ่มแจ้ง

อิริยาบถหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย บดบังหรือเบี่ยงเบนทุกข์ได้ จึงสามารถนําภูมิรู้นี้ไปใช้ประโยชน์ได้ในการดับทุกข์ชั่วขณะ ในขณะที่ถูกทุกข์รุมเร้ามากๆ หรือการที่ถูกครอบงำด้วยอุปาทานอันแรงกล้าแล้วนั่นเอง จนไม่สามารถสลัดหลุดออกได้ด้วยกำลังจิตของตนเอง เช่น เปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ, เปลี่ยนงานหรือกิจที่ทําเช่นเปลี่ยนกริยาต่างๆ, ตลอดจนการแยกพรากออกจากสิ่งที่ก่อให้เกิดทุกข์นั้น (แต่ต้องพึงสังวรณ์ว่าแค่ชั่วระยะหนึ่ง จะออกได้อย่างถาวรหรือเบาบางได้นั้นต้องเกิดแต่ญาณและการปฏิบัติ(วิปัสสนา)ตามความรู้ความเข้าใจในเรื่องทุกข์และการดับทุกข์อย่างถูกต้องเท่านั้น) แต่ต้องระวังในการกระทำอิริยาบทหรือการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างจำเจอย่างต่อเนื่อง ที่มีรูปแบบค่อนข้างเฉพาะตัว เพราะจะทำให้เป็นสมาธิขึ้นได้ เนื่องจากไปยึดเอาอิริยาบถเป็นอารมณ์หรือเครื่องกำหนดของจิตโดยไม่รู้ด้วยอวิชชา แล้วเมื่อไม่ดำเนินต่อไปในการวิปัสสนาอย่างจริงจัง ทำอยู่แต่ในอิริยาบถเป็นสำคัญ ก็จะกลายเป็นสมาธิอย่างขาดสติหรือมิจฉาสมาธิ อันเมื่อกระทำบ่อยๆเนื่องเพราะเกิดความสงบ ความสุข ความสบายใจที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องล่อจนกลายเป็นสังขารความเคยชินหรือสั่งสมในปฏิจจสมุปบาทแล้ว จักก่อทุกข์โทษภัยในภายหลังและแก้ไขได้ยาก

ทุกขลักษณะ - เครื่องกำหนดว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่จัดวว่าเป็นทุกข์

ลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นทุกข์คือ
๑. ถูกการเกิดขึ้นและการดับสลาย บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมบังคับได้อย่างแท้จริง
๒. ทนได้ยาก หรือคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ตลอดไป
๓. จึงเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข ์เมื่อเกิดความดับสลายไปในที่สุด
๔. แย้งต่อสุข หรือเป็นสภาวะที่ปฏิเสธความสุข

ลักษณะหรืออาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้จึงก่อให้เกิดทุกข์ เมื่อสิ่งทั้งหลาย(สังขาร)ที่ไปอยากหรือไม่อยากอันคือตัณหา หรือไปยึดมั่นด้วยความพึงพอใจว่าเป็นของตัวตนด้วยกิเลส(อุปาทาน)ไว้ ด้วยทั้งความไม่รู้(อวิชชา)และไม่รู้ตัว(ไม่มีสติ) มีอาการทนอยู่ไม่ได้ด้วยอาการดับไปสูญไป ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา



๓. อนัตตา

ธรรม(สิ่ง)ทั้งหลายไม่ใช่ตัวใช่ตน อย่างเป็นแก่นแกนถาวรอย่างแท้จริง หรือในความหมายเดียวกัน หมายถึง มีตัวตนแต่ไม่เป็นแก่นแกนหรือแก่นสารอย่างถาวรแท้จริง, จึงไร้คุณค่าให้ไปยึดติดยึดมั่น เพราะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะอย่างแปรปรวน แล้วต้องดับไปในที่สุด ตัวตนเป็นเพียงฆนะของการประชุมกันหรือรวมตัวกันของเหตุปัจจัยต่างๆในรูปของกระแสที่ไหลเลื่อนไปตามสภาวธรรม(ธรรมชาติ) อันมีเหตุปัจจัยเกิดๆดับๆและแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อเหล่าเหตุปัจจัยเหล่านั้นตัวใดตัวหนึ่งมีอาการแปรปรวนหรือดับไปด้วยเหตุอันใดก็ดี ก็ย่อมส่งผลให้ความเป็นตัวตน ที่เป็นกลุ่มก้อนมายาตามสภาวะของสิ่งๆนั้น ก็ต้องแปรปรวนหรือดับไปตามเหตุปัจจัยที่แปรปรวนไม่เที่ยงนั้นด้วย อันเป็นการดำเนินไปตามหลักธรรมอิทัปปัจจยตา และเป็นจริงเช่นนี้ไปตลอดกาลนาน เพราะเป็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ)อันยิ่งใหญ่ อันต้องเป็นเช่นนี้เองเป็นธรรมดา

ตัวตนหรือสังขารทั้งหลายจึงไม่ใช่เรา จึงไม่ใช่ของเรา เพราะล้วนขึ้นหรืออิงอยู่กับเหตุที่มาเป็นปัจจัยนั่นเอง หรือกล่าวได้ว่าตัวตนทั้งมวลล้วนขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย แม้แต่ขันธ์ทั้ง ๕ ที่ว่าเป็นของเรา จึงไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริง ดังจักแสดงในลำดับต่อไปในภายหน้า

เมื่อไม่มีตัวตนเป็นแก่นแกนอย่างแท้จริง จึงไปควบคุมบังคับบัญญชาอย่างแท้จริงให้เป็นไปตามปรารถนาตลอดไปไม่ได้ จึงเป็นทุกข์เมื่อไม่เป็นไปตามปรารถนาหรือความอยากขึ้นในที่สุด

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ความไม่ใช่ของตัวของตนอย่างแท้จริง จึงควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ ดังเช่น กายหรือตัวตนของเรา จะไปควบคุมบังคับบัญญชาว่า เจ้าจงสวย เจ้าจงอย่าแก่ เจ้าจงอย่าเจ็บ เจ้าจงอย่าป่วย เจ้าจงอย่าตาย ฯ ก็ย่อมไม่เป็นไปดังปรารถนา

อนัตตาถูกปิดบังด้วย ฆนะ-ความเป็นกลุ่มก้อน เป็นชิ้น เป็นมวล เป็นหน่วยรวม เป็นตัว เป็นตน ช่วยกันปิดบัง ซ่อนเร้นไว้ อนันตลักษณะหรือลักษณะของความไม่มีตัวไม่มีตน อย่างเป็นแก่นสาระแท้จริง จึงไม่ปรากฏให้เห็น(อนันตลักษณะ-ความไม่มีตัวตนที่เป็นแก่นสารเป็นเพียงการรวมตัวของเหตุปัจจัยที่มาประชุมกัน เมื่อเหตุปัจจัยนั้นดับ ตัวตนนั้นก็จักดับไปด้วย) ฆนะ กลุ่มก้อนตัวตนจึงเป็นมายาของเหตุปัจจัยที่ประชุมปรุงแต่งกัน ดังเช่น ก้อนหิน เมื่อแตกสลายเป็นฝุ่นหรือชิ้นเล็กๆ ความรู้สึกของเราจะไม่เห็นเป็นก้อนหินอีกแล้ว ใจอันถูกยึดไว้แล้วตามความเชื่อความรู้เข้าใจในก้อนหินนั้น ไม่ยอมรับว่าเป็นก้อนหินทั้งๆที่มาจากก้อนหินก้อนนั้นแท้ๆ แต่จะรู้สึกหรือเรียกว่า ฝุ่นบ้าง ทรายบ้าง ดินบ้าง ผงบ้าง เป็นต้น, ดังในพุทธธรรม ท่านได้แสดงตัวอย่างไว้ในเรื่องเสื้อในลักษณะดังนี้ว่า เมื่อเราเห็นเสื้อ เราก็รู้สึกว่าเป็นเสื้อ มองไม่เห็นลึกลงไปเห็นตามความเป็นจริงว่าผ้านั้นเกิดจากการมาปรุงแต่ง(สังขารอันเกิดแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา) ต้องนำมาปรุงแต่ง ทั้งถัก ทั้งทอ ทั้งตัด ทั้งเย็บด้วยคน ให้เป็นเสื้อผ้าต่างๆขึ้นมา ถ้านำพิจารณาลงไปอีกก็จะเห็นว่า แม้แต่ผ้านั้นก็เกิดแต่เหตุปัจจัยอันเกิดแต่ฝ้าย มาปรุงแต่งเป็นเส้นด้าย มาประชุมปรุงแต่งรวมกันให้เป็นระเบียบด้วยมนุษย์(กรรม-การกระทำ) ดังนั้นเมื่อแยกด้ายออกจากกัน(ดับที่เหตุ) ความเป็นผ้า(ผล)นั้นก็ไม่มี ก็เพราะฆนะความเป็นกลุ่มก้อนมายาได้ถูกทําลายลงไป, หรือดั่งเราเห็นโต๊ะ เราแลเห็นแต่โต๊ะ เราไม่แลเห็นความเกิดขึ้นแต่เหตุปัจจัยต่างๆของโต๊ะ เช่น ไม้ก็เกิดแต่เหตุปัจจัยของธาตุต่างๆ ตะปูก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งให้เกิดโต๊ะ กาวก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งของโต๊ะ แม้แต่กรรมการกระทำโดยเจตนาของมนุษย์นั่นเองก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งของโต๊ะ เมื่อเหตุปัจจัยเหล่านี้ประชุมเป็นปัจจัยแก่กันและกันจึงเกิดสิ่งที่เราเรียกโดยกันทางโลกสมมุติหรือสมมุติสัจจะนั้นว่าโต๊ะ แต่ถ้าเราแยกเหตุปัจจัยต่างๆเหล่านั้นออกมา สภาพมายาความเป็นตัวตนของโต๊ะนั้นก็ไม่มีแสดงให้เห็นอีกต่อไป เหลือเพียงเศษไม้ เศษตะปูบ้างเท่านั้น เหล่านี้ก็เพราะฆนะ ความเป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นชิ้น เป็นอัน เป็นมายา ที่บดบังความเป็นอนัตตาอันเป็นธรรมขั้นสูงในพุทธศาสนา ทําให้ไม่เห็นได้อย่างถ่องแท้ในอนัตตลักษณะความไม่ใช่ของตัวไม่ใช่ของตนอย่างแท้จริง เกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆมาประชุมรวมกันแค่ชั่วขณะระยะหนึ่ง เพราะสิ่งเหล่านี้ก็ต้องดับไปเป็นที่สุด จึงเป็นมายาไม่มีแก่นแกนอย่างถาวรอย่างแท้จริง

พระอนัตตาเป็นสิ่งที่ยากแก่การเข้าใจ เป็นธรรมที่ถกเถียงหรือเป็นที่วิจิกิจฉากันมาโดยตลอด แก่นของธรรมอยู่ที่ "ไม่เป็นแก่นแกนถาวรอย่างแท้จริง" มิใช่อยู่ที่ความ มีตัวตน หรือ ไม่มีตัวตน

ลองพิจารณาในธรรมทั้ง ๒ ดังต่อไปนี้ อันจักแสดงอนัตตา ทั้งในสภาวะไม่มีตัวตน และสภาวะมีตัวตน ที่เกิดจากกลุ่มก้อนของเหตุปัจจัย

เงา ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมกันชั่วขณะหรือระยะหนึ่ง ของเหตุดังเช่น วัตถุทึบแสง,แสง,พื้นรับแสง กล่าวคือ วัตถุทึบแสงอันเป็นเหตุอย่างหนึ่ง มากั้นกางแสงไว้ จึงเกิดเป็นเงาตกลงบนพื้นรับแสง, เงานั้นก็ไม่มีในวัตถุทึบแสง เงานั้นก็ไม่มีอยู่ในแสง เงานั้นก็ไม่มีอยู่ในพื้นรับแสง แต่เมื่อมาเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกันจึงเกิดเงานั้นๆขึ้น เงาอันเป็นทั้งธรรมซึ่งครอบคลุมทุกสรรพสิ่ง และย่อมเป็นธรรมชนิดสังขาร(สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น)อย่างหนึ่งเช่นกัน อันเกิดแต่เหตุดังที่กล่าว มาเป็นปัจจัยกัน อันยังให้เกิดสิ่งอื่นขึ้น จึงเป็นอนัตตา พิจารณาดูความไม่มีตัวไม่มีตนที่เป็นแก่นแกนแท้จริงให้จับให้ต้องได้ ล้วนเกิดแต่เหตุมาเป็นปัจจัยดังกล่าวข้างต้นมาประชุมกันล้วนสิ้นเท่านั้น แต่จะบอกว่าไม่มีเงา ก็เห็นสิ่งๆนั้นอยู่ตำตาตำใจ แต่พอเหตุปัจจัยข้างต้นอันใดอันหนึ่ง เกิดการแปรปรวนหรือดับไปขึ้น ตัวเงาหรือผลที่เกิดปรากฏให้เห็นนั้น ก็ต้องแปรปรวน หรือดับไปตามเหตุปัจจัยเหล่านั้นเช่นกัน นั่นแหละสภาวะอนัตตาอย่างหนึ่ง ดังนั้น รูป สิ่งที่ถูกรู้โดยอายตนะเช่นความคิดหรือธรรมารมณ์, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ, ธรรมะ, ตลอดจนจิต ก็เป็นไปในลักษณาการนี้ ไม่มีตัวตนเป็นแก่นแกนแท้จริง กล่าวคือ เมื่อเหตุปัจจัยครบองค์ ก็เกิดขึ้น เมื่อเหตุปัจจัยใดเกิดอาการแปรปรวนหรือดับไปเป็นธรรมดา ก็ย่อมต้องดับไปตามเหตุ ที่มาเป็นปัจจัยเช่นกัน จึงทำให้เกิดสภาวะเกิดดับๆๆ..อันเกิดแต่เหตุปัจจัย เฉกเช่นเดียวดังเงา

แต่ถ้ากล่าวถึงเงาในแง่ที่เป็นธรรมหรือสภาวธรรมที่เป็นอสังขตธรรม อย่าสับสนที่แม้เงาดังที่กล่าวข้างต้น ที่เกิดขึ้นขณะนั้นๆเป็นสังขารก็จริงอยู่ แต่เงานั้นก็เป็นธรรมชนิดอสังขตธรรมคือสภาวธรรมหรือธรรมชาติด้วย กล่าวคือ สภาวะหรือสภาพที่เมื่อไรก็ตามที่มีเหตุ อันคือ มีวัตถุทึบแสง มากั้นกางแสงไว้ ก็ต้องเกิดเงาตกลงบนพื้นรับแสง เป็นจริงอย่างเที่ยงแท้และคงทนต่อทุกกาลอยู่เยี่ยงนี้เองเป็นธรรมดา แต่ก็ล้วนเป็นอนัตตาเพราะเป็นเพียงสภาวะหรือสภาวธรรมหรือสภาวธรรมชาติล้วนๆที่ยังไม่ได้เกิดการปรุงเป็นสังขารเป็นเงาขึ้น จึงย่อมไม่มีตัวมีตน เมื่อไม่มีตัวมีตนแล้วจะไปควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างไร? ด้วยเหตุดังนี้นี่เอง อนัตตาจึงเป็นธรรมหรือสภาวธรรมหรือธรรมชาติชนิดอสังขตธรรมที่ครอบคลุมในทุกสรรพสิ่ง จึงต่างจากอนิจจังและทุกขังที่ครอบคลุมเฉพาะสังขตธรรมที่หมายถึงสังขารสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นทั้งหลายทั้งปวง

คราวนี้ลองพิจารณาตัวตนของตนดู ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยของธาตุต่างๆเช่นกัน คือ ธาตุ ๔ จะอ้างว่าไม่มีตัวไม่มีตนก็เห็นๆกันอยู่ คนอื่นก็เห็น ตีลงไปก็เจ็บ ใครด่าว่าก็รู้สึก นั่งอ่านธรรมะอยู่ขณะนี้ นี่ละตัวตนใคร? ดังนั้นจะบอกว่าไม่มีตัวไม่มีตนก็ไม่ได้ มีตัวมีตนนั้นมีอยู่ เพียงแต่ตัวตนนั้นไม่เป็นแก่นแกนถาวรแท้จริง หรือไม่ใช่ของตัวของตนอย่างแท้จริง เป็นกลุ่มหรือก้อนหรือฆนะของธาตุทั้ง ๔ ไม่ใช่สิ่งสิ่งเดียวกันอย่างแท้จริง เกิดแต่การประกอบกันดังกล่าว จึงไม่ใช่เราหรือของเราอย่างแท้จริงเพราะขึ้นหรืออิงอยู่กับธาตุ ๔ จึงควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้อย่างเต็มที่หรือเต็ม๑๐๐ จึงไม่คงที่คงทนเช่นนั้นได้ตลอดไป จึงต้องมีการแปรปรวน และการดับไป และเมื่อควบคุมไม่ได้ตามปรารถนาอย่างคงที่หรือตลอดไป จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ(แปรปรวน,เจ็บป่วย) ในที่สุดต้องแตกดับไปไม่เหลือแก่นเหลือแกนหรือตัวตนให้เห็นอีกต่อไปอย่างแท้จริง จึงกล่าวว่าไม่มีตัวตนที่เป็นแก่นแกนถาวรอย่างแท้จริงเช่นกันเหมือนดังสภาวะอนัตตาข้างต้น นี่ก็เป็นสภาวะอนัตตาอีกอย่างหนึ่ง, ดังอริยะเจ้าที่เข้าถึงพระนิพพาน(บุคคลผู้เข้าถึง + สภาวะธรรมของนิพพาน) หรือสภาพการเกิดปรากฎขึ้นของธรรมชาติ(ไม่ได้หมายถึงสภาวธรรมชาติ แต่หมายถึงการเกิดปรากฎขึ้นจริงๆคือเป็นสังขารสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นแล้ว - ตรงนี้ผู้เขียนขอสารภาพสื่อเป็นภาษาพูดได้ลำบากจริงๆ พยายามอ่านจับใจความให้ดี) ก็จัดอยู่ในสภาวะอนัตตานี้เช่นกัน ดังเช่นฝน สภาวธรรมชาติของฝนนั้นมีเป็นจริงเช่นนี้อย่างจริงแท้แน่นอนเช่นสภาวธรรมของเงา แต่เป็นสภาวธรรมจึงไม่มีตัวไม่มีตน ยังไม่ปรากฎเป็นตัวเป็นตนเป็นเม็ดฝนตกลงมา แต่เวลาเกิดฝนแล้วตกลงมาจริงๆ(สังขาร)ตามที่เราเห็นๆกันอยู่นั้นหรือการเกิดตัวตนขึ้นตามสภาวธรรมนั่นเอง ก็ล้วนต้องเกิดแต่เหตุปัจจัย สังขารที่ตกแล้วนั้น ก็ยังต้องหยุดดับไป อย่างไม่เป็นแก่นแกนแท้จริง อันหมายถึง ถ้าพูดถึงสภาวธรรมของฝนก็จะเป็นอย่างสภาวธรรมชาติที่ไม่มีตัวไม่มีตนดังข้างต้น แต่ถ้าหมายถึงฝนที่ตกลงมาให้เห็น(สังขาร)ให้สัมผัสให้ใช้ให้ดื่ม ก็จะเป็นไปในลักษณะมีตัวมีตน แต่ก็ไม่เป็นแก่นแกนแท้จริง ในที่สุดก็ต้องหยุดตก(ดับ)ไปตามเหตุปัจจัย ต้องโยนิโสมนสิการ เพราะเป็นสภาวะที่สื่อเป็นคำพูดได้ยากยิ่ง ต้องให้บังเกิดขึ้นที่ใจหรือปัจจัตตังอันเมื่อเข้าใจแล้วควรเกิดนิพพิทาญาณ ดังนั้นการจักกล่าวว่ามีตัวตน หรือไม่มีตัวตน จึงเป็นเรื่องอยู่ที่ว่ามองในมุมมองเยี่ยงไรเท่านั้นเอง แต่ก็เรียกกันโดยรวมๆได้ว่าไม่มีตัวตน แต่ก็ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ไปยึดความไม่มีตัวไม่มีตน จนไม่เห็นธรรม เอะอะอะไรก็อ้างไม่มีตัวไม่มีตนตนโดยไม่เห็นไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ แก่นของพระอนัตตาจึงอยู่ที่ความไม่เป็นแก่นแกนอย่างแท้จริง ตัวอย่างในสภาวะนี้ ก็เช่น รูปที่หมายถึงกาย ตัวตนของท่านที่กำลังอ่านอยู่นี้ มีตัวตนอยู่ณ.ขณะนี้ แต่ไม่เป็นแก่นแกนถาวรอย่างแท้จริง เพราะไม่คงที่ ไม่คงทน ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้อย่างแท้จริง แล้วต้องดับเป็นที่สุด ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมกันขณะระยะหนึ่ง อันเมื่อเหตุปัจจัยใดมีอาการแปรไป ตัวตนของตนก็แปรปรวน และดับสูญหรือตายไปเป็นที่สุด

อนัตตา ไม่ใช่ตัวใช่ตน ไม่ใช่ของตัวของตน เพราะตัวตนที่เห็นหรือผัสสะได้ด้วยอายตนะใดๆก็ตามที เป็นเพียงกลุ่มหรือก้อนหรือฆนะของเหตุที่มาประชุมเป็นปัจจัยกันเท่านั้น แท้จริงแล้วจึงขึ้นหรืออิงอยู่กับเหตุที่มาเป็นปัจจัย จึงไม่ใช่ตนหรือของตนที่มีความหมายว่า ไม่ใช่เราหรือของเรา อย่างแท้จริง, แม้แต่ขันธ์ทั้ง ๕ ที่ปุถุชนถูกมายาพากันนึกไปเองว่าเป็นเราหรือของเรา ความจริงจึงล้วนไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา กล่าวคือ นั่นก็ไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่นั่น นั่นก็ไม่ใช่ตัวใช่ตนของเรา อย่างแท้จริง เพราะล้วนเป็นเพียงกลุ่มหรือก้อนของเหตุ ดังกล่าวเช่นกัน

อนัตตา ไม่มีตัวมีตน อย่างแท้จริง เพราะสังขารทั้งหลายหรือตัวตนที่เห็น หรือแม้แต่ผัสสะได้ด้วยอายตนะใดๆก็ตามทีนั้น เป็นเพียงมายาของกลุ่มหรือก้อนของเหตุปัจจัยนั่นเอง แท้จริงตัวตนที่เห็นคือการประกอบกันอยู่ของเหตุ ไม่ใช่ตัวตนสิ่งๆเดียวอย่างแท้จริง จึงไม่มีตัวตนอย่างแท้จริง ฝ่ายอสังขตธรรมนั้นย่อมไม่มีตัวตนอยู่แล้ว เพราะเป็นเพียงสภาวธรรม ที่ยังไม่ได้เกิดปรากฏการณ์ของการปรุงแต่ง จนเป็นสังขารหรือตัวตนนั้นๆขึ้น

อนัตตลักษณะ - ลักษณะที่แสดงความเป็นอนัตตา<

ลักษณะที่ชี้แสดงว่าให้เห็นว่าเป็นของมิใช่ตัวตน โดยอรรถต่างๆ
๑. เป็นของสูญ ในความหมายของสังขาร(สังขตธรรม) ก็เพราะว่า เป็นเพียงการประชุมเข้าขององค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อยๆทั้งหลาย เพราะเกิดขึ้นมาจากการที่มีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยประชุมรวมกันขึ้น จึงเพียงแต่แลดูประหนึ่งว่าเป็น สิ่งๆเดียวกัน เป็นมวลเดียวกัน, เป็นชิ้นเดียวกันจริงๆ, แต่ความจริงอย่างปรมัตถ์แล้วก็ยังเป็นเพียงการประชุมเข้ากันของส่วนย่อยๆดังกล่าว

เป็นของสูญ ในแง่ของอสังขตธรรม ก็เพราะว่า เป็นเพียงสภาวธรรมหรือธรรมชาติเท่านั้น กล่าวคือ เป็นเพียงธรรมที่ยังไม่เกิดปรากฏการณ์ของการที่เหตุต่างๆได้มาเป็นปัจจัยกันขึ้น
๒. เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใครจริง แต่มักไปหลงผิด ไปหลงยึดหรือมัวเมากันด้วยกิเลสว่า เป็นตัวตน เป็นของตัวของตน หรือของใครอย่างจริงแท้
๓. ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครๆอย่างแท้จริง เพราะสภาวะของสังขารเองก็มีแรงแต่ภายในหรือแม้แต่ภายนอก มาบีบคั้นให้คืนสู่สภาพเดิมๆเป็นที่สุดโดยไม่ยอมขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครอย่างแท้จริง แต่เพราะมีการควบคุมบังคับบ้างบางส่วนได้อย่างเป็นครั้งคราว จึงมักพากันไปหลงผิดหลงยึดหรือมัวเมากันว่า สามารถควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างแท้จริงตามความปรารถนา
๔. เป็นสภาวธรรมที่ดำรงอยู่ หรือเป็นตามธรรมดาของมันเช่นนั้นเองในธรรมที่เป็นสังขตธรรมคือสังขาร ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงขึ้นต่อเหตุปัจจัย จึงไม่มีอยู่โดยลำพังตัว จึงเป็นไปโดยสัมพันธ์ อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งอื่นๆ
๕. โดยสภาวะของมันเอง ก็แย้งหรือค้านต่อความเป็นอัตตา มีแต่ภาวะที่ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา

ลักษณะหรืออาการเหล่านี้จึงจึงก่อให้เกิดทุกข์ เมื่อธรรมหรือสิ่งทั้งหลายที่ไปอยากหรือไม่อยากด้วยตัณหาหรือไปยึดมั่นด้วยกิเลส(อุปาทาน)ว่าเป็นของตัวตน ด้วยทั้งความไม่รู้(อวิชชา)และไม่รู้เท่าทัน(สติ)เหล่านั้น ไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนา

พระอนัตตา จักเข้าใจในสภาวะธรรมได้กระจ่าง สว่างขึ้นเป็นลำดับ

เมื่อพิจารณาโดยการโยนิโสมนสิการ ร่วมกับ ความเป็นเหตุปัจจัย, อนิจจัง, ทุกขัง



สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงทนอยู่ไม่ได้จึงดับไป สังขารทั้งปวงล้วนอนัตตาไม่มีตัวตน อย่างแท้จริง

อสังขตธรรมทั้งปวงล้วนเที่ยง อสังขตธรรมทั้งปวงล้วนอกาลิโกจึงทนต่อทุกกาลเวลา อสังขตธรรมทั้งปวงล้วนอนัตตาไม่มีตัวตน แท้จริงเช่นสังขาร

(ถ้ายังสงสัยในคำกล่าวนี้ ขอให้โยนิโสมนสิการโดยแยบคายเพิ่มเติม ในบท อนัตตา)



จำแนกแตกธรรม อนัตตา โดยละเอียด อย่างถึงที่สุด



แสดงพระไตรลักษณ์ของสังขารร่าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น