เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

พระไตรลักษณ์




พระไตรลักษณ์เดิมทีนั้น แม้แต่ในพระไตรปิฎกก็เรียกกันโดยทั่วไปว่าธรรมนิยาม(ธมฺมนิยามตา) ที่แปลว่า นิยามของธรรม(หรือธรรมชาติ) ที่มีความหมายว่า ข้อกำหนดหรือความกำหนดที่แน่นอนแห่งธรรม หรือก็คือธรรมชาตินั่นเอง, ส่วนคำว่าพระไตรลักษณ์ และคำว่าสามัญลักษณะหรือสามัญญลักษณะ ที่มีความหมายเดียวกันกับธรรมนิยามนั้น เป็นคำที่เกิดขึ้นในภายหลังในยุคอรรถกถา, พระไตรลักษณ์หรือธรรมนิยามเป็นข้อธรรมที่แสดงถึงลักษณะ หรือกฏ หรือข้อกำหนดของธรรม หรือก็คือธรรมชาติอันยิ่งใหญ่และลี้ลับ แต่ด้วยพระปรีชาญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมของพระองค์ท่านได้หงายของที่ควํ่าอยู่ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืด ด้วยพระประสงค์ว่าผู้มีจักษุคือปัญญาจะได้แลเห็น กล่าวคือทรงแสดงสภาวธรรม(ธรรมชาติ)อันลี้ลับที่ไม่มีผู้ใดล่วงรู้อย่างถูกต้องแจ่มแจ้งแท้จริงมาก่อน นับเนื่องมาแต่โบราณกาล โดยเฉพาะพระองค์ท่าน ทรงสอนแต่ในเรื่องธรรมชาติของความทุกข์ ที่หมายถึงเน้นสอนในเรื่องสภาวธรรมหรือธรรมชาติของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์เป็นสำคัญ ซึ่งก็เพื่อยังประโยชน์อันยิ่งใหญ่โดยการนำเอาความรู้ความเข้าใจอันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับความทุกข์นั้น ไปใช้ในการเพื่อการดับทุกข์อันเป็นสุขยิ่ง เป็นที่สุดนั่นเอง อันเกิดขึ้นและเป็นไปดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า

"ในกาลก่อนนี้ก็ตาม ในบัดนี้ก็ตาม เราตถาคต บัญญัติขึ้นสอนแต่เรื่องทุกข์ และการดับสนิทไม่เหลือของทุกข์เท่านั้น"

(พระไตรปิฏก ฉบับที่๑๒ ข้อที่๒๘๖)

พระองค์ท่านทรงเปิดหงายของที่คว่ำอยู่ อันยากยิ่งต่อการหยั่งรู้ได้อย่างแจ่มแจ้งแท้จริง ทรงแสดงแจกแจงแก่เวไนยสัตว์ด้วยพระกรุณาคุณ ทรงแสดงพระไตรลักษณ์หรือธรรมนิยาม อันเป็นสภาวะแห่งธรรมหรือธรรมชาติของเหล่าสังขารและธรรมทั้งปวงว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงล้วนสิ้น ล้วนเกิดมาแต่การที่มีเหตุมาเป็นปัจจัยกันทั้งสิ้นทั้งปวง จึงทำให้ต่างก็ล้วนต้องอยู่ภายใต้อํานาจของ อนิจจัง, ทุกขัง และธรรมทั้งปวงล้วนเป็นอนัตตา, เป็นธรรมคำสอนเพื่อให้เกิดนิพพิทาญาณ คือเกิดความหน่ายจากการไปรู้ความจริง เมื่อหน่าย จึงเกิดการคลายกำหนัดคือตัณหาความอยาก จึงวางความยึดมั่นหรืออุปาทาน (ซึ่งเป็นไปตามปฏิจจสมุปบาทธรรมนั่นเอง) การวิปัสสนาในพระไตรลักษณให้แจ่มแจ้ง จึงเป็นการนําออกและละเสียซึ่งเหล่าตัณหาอุปาทานในขั้นปัญญาหรือวิปัสสนา ดังมีพุทธพจน์ตรัสสอนเกี่ยวกับธรรมนิยามหรือพระไตรลักษณ์ ใน อุปาทสูตร ไว้ดังนี้
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา
สังขารทั้งปวง
ไม่เที่ยง
(อนิจจัง - อนิจจตา)

สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา
สังขารทั้งปวง
คงทนอยู่ไม่ได้
(ทุกขัง- ทุกขตา)

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา
ธรรมทั้งปวง
ไม่เป็นตัวตน
(อนัตตา- อนัตตตา)


โปรดสังเกตุคำว่าสังขารและธรรมในพระดำรัสข้างต้นนี้ ดังนั้นก่อนอื่น จึงควรทําความเข้าใจในคําว่า สังขาร และ ธรรม ให้ถูกต้องดีงามเสียก่อน จึงจะเจริญวิปัสสนาในพระไตรลักษณ์ได้อย่างแจ่มแจ้ง

สังขาร ในทางพุทธศาสนาหรือทางธรรมแปลว่า สิ่งปรุงแต่ง, สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ซึ่งก็คือสิ่งที่ถูกเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้น กล่าวคือ สิ่งหรือผลที่เกิดขึ้นมาจากการที่มีเหตุต่างๆ มาเป็นปัจจัย(คือเครื่องสนับสนุนปรุงแต่งแก่กันและกัน)ให้เกิดขึ้นมา จึงมิได้หมายถึงสังขารที่แปลกันโดยทั่วไปในภาษาไทยว่าร่างกายแต่อย่างเดียว แต่เป็นภาษาธรรมหรือบาลีที่มีความหมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้น จากการมีเหตุมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้น จึงครอบคลุมทั้งฝ่ายรูปธรรมที่สามารถสัมผัสได้ด้วยอายตนะ๕ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ดังเช่น สังขารร่างกาย โต๊ เสื้อ รถ บ้าน อาหาร หรือกล่าวได้ว่าวัตถุทั้งปวงทั้งสิ้นนั่นเอง ฯลฯ. และครอบคลุมทั้งฝ่ายนามธรรม ที่แม้ไม่มีตัวตนเป็นกลุ่มก้อนให้สัมผัสหรือผัสสะได้ด้วยอายตนะภายใน ๕ เหมือนดังฝ่ายรูปธรรม แต่สามารถสัมผัสรู้มวลของเหตุได้ด้วยอาตนตนะที่ ๖ คือใจ ดังเช่น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ฯลฯ. ที่แม้เป็นนามธรรม แต่ต่างก็ล้วนต้องเกิดแต่เหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยกันจึงเกิดขึ้นเช่นเดียวกันทั้งสิ้น(ถ้าไม่เข้าใจต้องอ่านในขันธ์ ๕) ที่จักได้กล่าวแสดงรายละเอียดเป็นลำดับๆไป ดังนั้นสังขารทั้งฝ่ายรูปธรรมและนามธรรมจึงล้วนแต่เป็นสิ่งที่ต้องประกอบขึ้นด้วยสิ่งต่างๆ(คือสิ่งหลายๆสิ่ง)มาเป็นปัจจัยหรือประชุมหรือรวมตัวกัน เพื่อยังให้เกิดอีกสิ่งหนึ่งๆขึ้น, อันเมื่อรวมตัวหรือประชุมกันอยู่นั้น หรือก็คือปรุงแต่งกันอยู่นั้น โดยความจริงแท้แล้วจึงเป็นมายาที่เพียงแต่แลดูเสมือนว่า หรือประหนึ่งว่า ดุจดั่งว่าเป็น สิ่งๆเดียวหรือชิ้นเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแท้ขั้นสูงสุด(ปรมัตถ์)แล้ว "ยังคงมีสภาพเกิดจากการประกอบกัน หรือการประชุมปรุงกันอยู่" กล่าวคือ แม้แลดูราวกับว่าเป็นสิ่งๆเดียว แต่ไม่สามารถเชื่อมหรือรวมกันจนเป็นสภาวะสิ่งๆเดียว หรือเนื้อเดียวกันได้อย่างแท้จริงนั่นเอง มันเองก็เกิดจากสภาวะที่ถูกบีบคั้นปรุงแต่งกันให้เกิดขึ้น เมื่อแรงบีบเค้นเปลี่ยนแปลงจึงมีความไม่เสถียรหรือแปรปรวนโดยธรรมหรือธรรมชาติ ก็เพราะความที่ไม่ใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริงดังกล่าวแล้วนั่นแล มันจึงเกิดสภาวะที่ไม่สามารถรวมตัวกันอยู่ได้อย่างเที่ยงแท้และถาวรโดยธรรมหรือธรรมชาติ อุปมาอย่างหยาบๆพอให้เห็นได้ก็คือ ไม้ชิ้นเดียวที่มีการปรุงแต่งน้อยกว่า ย่อมมีความแข็งแรงกว่าไม้ที่นำมาประกอบกันหรือปรุงแต่งประกอบกันด้วยตะปูหรือน๊อตหรือกาวหลายๆสิ่ง แม้ต่างก็เป็นสังขารที่ต้องแปรปรวนแตกหักดับไปในที่สุดเหมือนกันก็ตามที กล่าวโดยย่อก็คือ ธรรมชาติมีสภาวธรรมคือแรงบีบคั้น ที่พยายามผลักดันให้สังขารคืนสภาพ สู่สภาพเดิมๆ หรือธรรมชาติเดิมๆ โดยวิธีการต่างๆให้เป็นไป จึงเกิดอาการความไม่เที่ยงหรืออนิจจังขึ้น นั่นเอง

สังขารในไตรลักษณ์จึงหมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นมาแต่การที่มีเหตุปัจจัยมาประชุมปรุงแต่งกัน จึงหมายถึง ทุกๆสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นมาแต่เหตุปัจจัยทั้งสิ้น จึงครอบคลุมทั้งฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม(คือทั้งฝ่ายวัตถุ และทั้งฝ่ายจิต), โลกียธรรม โลกุตรธรรม กาย จิต ขันธ์๕ ทุกๆสรรพสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น...ฯลฯ. จึงพึงยกเว้นแต่เพียงสิ่งๆเดียวคืออสังขตธรรมเท่านั้น ที่หมายถึง ธรรมหรือสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการที่มีเหตุปัจจัยมาปรุงแต่ง อันได้แก่เหล่า สภาวธรรมหรือธรรมชาติ ทั้งหลายทั้งปวงล้วนสิ้นนั่นเอง ดังเช่น พระนิพพาน สภาวธรรมของฝน สภาวธรรมการตายของชีวิต ฯลฯ.

[ควรทำเข้าใจความหมายของสังขาร ที่เจาะจงเฉพาะทางของสังขารนั้นๆ ดังเช่น สังขารในปฏิจจสมุปบาท, สังขารในขันธ์ ๕ และสังขารในไตรลักษณ์ให้ชัดเจน ที่แม้ล้วนเป็นสังขารสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นก็ตามที มิฉนั้นเมื่อเวลาพิจารณาเจริญวิปัสสนาหรือโยนิโสมนสิการจะเกิดความสับสนและงุนงง จนเกิดวิจิกิจฉาในธรรมขึ้นได้, คลิกดูคําอธิบายเฉพาะเจาะจงภายหลังได้ ที่นี่ ]

"สังขาร"ที่กล่าวว่า สิ่งปรุงแต่งหรือสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ด้วยเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยกัน ดังเช่น สังขารร่างกาย ก็เป็นสังขารที่เกิดแต่เหตุปัจจัยของธาตุ ๔, ชีวิต ก็เป็นสังขารที่เกิดแต่เหตุปัจจัยของขันธ์ทั้ง ๕, แม้แต่เวทนาหรือเวทนาขันธ์ คือความรู้สึกที่ย่อมเกิดขึ้นจากการผัสสะด้วยอายตนะต่างๆ อันเป็นนามธรรม ที่แม้ไม่มีตัวตนแต่ก็เป็นสังขารอย่างหนึ่งเช่นกัน เพราะเกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่ง คือการที่มีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยกันจึง"เกิด"ขึ้น ดังต่อไปนี้

อายตนะภายนอก อายตนะภายใน วิญญาณ๖ ผัสสะ สัญญา เวทนา คือ ความรู้สึกเป็นสุข, ทุกข์, ไม่สุขไม่ทุกข์ อย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเป็นธรรมดาหรือตถตา

กล่าวคือ จะพิจารณาเห็นได้ว่าเวทนานั้นเกิดขึ้นหรือมีชาติขึ้นมาแต่การที่มีเหตุปัจจัยมาปรุงแต่งกันดังข้างต้น คือ เกิดแต่เหตุอันมีอายตนะภายนอกต่างๆ กับอายตนะภายในต่างๆ ตลอดจน วิญญาณ๖ จึงยังให้เกิดการผัสสะกันขึ้น และเกิดสัญญาขึ้น กล่าวคือ ต้องมีเหตุต่างๆเช่นดังนี้ มาเป็นปัจจัยกัน จึงยังให้เกิดเวทนาขึ้นมาได้ ฯ. กล่าวแสดงดังนี้แล้ว คงจะเห็นได้แจ่มแจ้งว่า แม้เวทนาที่เป็นนามธรรมไม่มีตัวไม่มีตนแท้จริง เป็นนามธรรม ที่เป็นความรู้สึกรับรู้ที่ย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาของผู้ที่มีชีวิตเมื่อเกิดการผัสสะขึ้นโดยธรรมคือธรรมชาติ จึงเป็นสังขารอย่างหนึ่งช่นกัน, ส่วนขันธ์อื่นๆของชีวิตทุกขันธ์ก็เป็นสังขารที่ถูกปรุงแต่งดังนี้เช่นกัน, จิต ก็เป็นสังขารอย่างหนึ่ง เกิดแต่เหตุปัจจัยของ เวทนา สัญญา วิญญาณ และยังต้องอาศัยสังขารกายหรือรูปเป็นเหตุปัจจัยร่วมอีกด้วย, โต๊ะ ก็เป็นสังขาร เกิดแต่เหตุปัจจัยของไม้ ตะปู กาว ตลอดจนกรรม(การกระทำ)ในการประกอบกันขึ้น ฯ., การพูด การคิด การกระทำทางกายต่างๆ ก็ล้วนเป็นสังขาร เป็นผลที่เกิดขึ้นแต่เหตุปัจจัยของขันธ์ทั้ง ๕ ที่ทำงานประสานเนื่องสัมพันธ์กัน จึงเกิดสังขารที่เรียกกันเจาะจงเฉพาะตัวลงไปอีกว่าสังขารขันธ์, เมฆที่เห็นบนท้องฟ้า ก็เกิดแต่เหตุปัจจัยของ การระเหยของนํ้า ไอนํ้า ฝุ่น ความร้อนเย็น ฯ. จึงเป็นสังขาร, พระอาทิตย์ก็เป็นสังขาร เกิดแต่เหตุปัจจัยของมวลหมู่ก๊าซต่างๆ ตลอดจนการลุกไหม้ ฯ., รถยนต์ก็เป็นสังขาร เกิดแต่เหตุปัจจัยของวัตถุธาตุต่างๆมาประกอบกัน พร้อมทั้งการกระทำ(กรรม)เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น, อะตอมเพียงอะตอมเดียวก็เป็นสังขาร เกิดแต่เหตุปัจจัยของโปรตอน อิเลคตรอน นิวตรอน มาประชุมปรุงแต่งกันฯ. ลองพิจารณาในสิ่งต่างๆที่ท่านได้เห็น ท่านได้ยิน ท่านได้สัมผัสด้วยอายตนะใด ฯ. ต่างล้วนเป็นสังขาร กล่าวคือ เกิดแต่เหตุต่างๆมาประชุมเป็นปัจจัยกันนั่นเอง ดังเช่น อายตนะภายนอก อายตนะภายใน การผัสสะ วิญญาณ ฯ., และที่สำคัญที่สุดที่ควรรู้ยิ่ง แม้แต่ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นสังขารเช่นกัน จึงต้องมีเหตุมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกัน อันเป็นไปดังวงจรปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง จึงเกิดขึ้นเป็นความทุกข์อันเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายขึ้นได้ ดังนั้นสังขารจึงครอบคลุมแทบทุกสรรพสิ่งจริงๆ อันพึงยกเว้นแต่เพียงอสังขตธรรมคือธรรมหรือสิ่งที่ไม่ได้เกิดแต่เหตุปัจจจัยปรุงแต่งเท่านั้น ดังที่จักกล่าวต่อไปโดยละเอียด

ธรรม ในไตรลักษณ์ หมายถึง ครอบคลุมทุกๆสรรพสิ่งล้วนสิ้น ทั้งสากลจักรวาล กล่าวคือตั้งแต่เล็กที่สุด จนใหญ่ที่สุด, ทั้งรูปธรรม นามธรรม โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆทั้งสิ้น, ธรรมจึงแบ่งออกเป็น ๒ พวกใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ

สังขตธรรม ธรรมหรือสิ่งที่เกิดแต่การมีเหตุมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้น หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า "สังขาร" ดังกล่าวแสดงข้างต้นแล้ว และ

อสังขตธรรม ธรรมหรือสิ่งที่ไม่ได้เกิดแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่ง ดังเช่น พระนิพพาน เพราะหมายถึงสภาวธรรมหรือธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง กล่าวคือ ยังไม่เกิดปรากฏการณ์ของการปรุงแต่งกันขึ้น แต่ก็เป็นจริงอย่างนี้ เป็นเพียงสภาวะหรือสภาวธรรมหรือนามธรรม ที่ยังไม่เกิดการปรุงแต่งกันขึ้น จึงครอบคลุมสภาวธรรมทั้งหลาย เช่น นิพพาน, สภาวธรรมการตายหรือแตกดับของชีวิต, สภาวธรรมของการเกิดขึ้นของฝน ฯลฯ. สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงธรรม ที่ยังไม่ได้เกิดการปรุงแต่งกัน จนเกิดขึ้นจริงๆ เป็นตัวเป็นตนหรือเป็นสังขาร แต่เมื่อใดที่มีเหตุหรือสิ่งต่างๆที่เป็นปัจจัยกันมาปรุงแต่งหรือประชุมกันครบ ก็จะเกิดสังขารหรือสังขตธรรมขึ้น, ธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอยู่อย่างนั้น เรียกได้ว่าอกาลิโก ไม่ขึ้นต่อกาล จึงมีความแตกต่างไม่เหมือนดังเช่นพวกสังขาร ที่ไม่เที่ยงและทนอยู่ได้ยากจึงต้องดับไปเป็นที่สุดทั้งสิ้น

ทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรมทั้งสอง แม้แลดูว่าเข้าใจง่ายๆ แต่พยายามแยกแยะให้กระจ่างชัด เพราะมีความเนื่องสัมพันธ์ให้เข้าใจในพระอนัตตาในภายหน้าได้อย่างแจ่มแจ้ง

สรุปความพระไตรลักษณ์ ได้ดังนี้ "สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง มีอันต้องแปรปรวนไปเป็นอาการธรรมดา, จึงทนอยู่ไม่ได้จึงต้องเสื่อมไปเป็นอาการธรรมดาและดับไปในที่สุด จึงจักเป็นทุกข์ถ้าไปอยากไปยึดด้วยเหล่าตัณหาอุปาทาน, เป็นอนัตตาไม่มีตัวตน หรือไม่ใช่ของตัวของตน (ตัวตน-หมายถึงตัวตนของสิ่งต่างๆทั้งหลายทุกชนิด รวมทั้งตัวตนของตนด้วย)ที่เป็นแก่นเป็นแกนอย่างแท้จริง ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยต่างๆมาประชุมปรุงแต่งกันชั่วขณะ หรือประกอบกันในระยะเวลาหนึ่ง เป็นกลุ่มก้อนมายาหรือฆนะ ดังนั้นเมื่อเหตุปัจจัยเหล่านั้นมีอันต้องแปรปรวน เสื่อม และดับไปตามสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ด้วยเหตุอันหนึ่งอันใดก็ดี, ฆนะหรือกลุ่มก้อนของตัวตนหรือของตนเหล่านั้นอันเป็นผล จึงต้องแปรปรวน เสื่อม และดับไปตามเหล่าเหตุต่างๆที่มาเป็นปัจจัยกันนั้น ในที่สุด เป็นไปตามหลักธรรมอิทัปปัจจยตา, จึงไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนา ได้อย่างจริงแท้แน่นอน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น