เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

ขันธ์ 5



ขันธ์ 5

ขันธ์ แปลว่า กอง, พวก, หมวด, หมู่, ลำตัว ในที่นี้ เราจะเรียกขันธ์ว่ากอง ดังนั้นขันธ์ 5 จึงน่าจะแปลได้ว่า ของ 5 กองนั่นเอง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เบญจขันธ์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กอง คือ

1. รูปขันธ์ (กองรูป)
2. เวทนาขันธ์ (กองเวทนา)
3. สัญญาขันธ์ (กองสัญญา)
4. สังขารขันธ์ (อ่านว่า สัง-ขา-ระ-ขัน) (กองสังขาร)
5. วิญญาณขันธ์ (กองวิญญาณ)

นอกจากนี้แล้วขันธ์ 5 ยังจำแนกออกได้เป็น 2 อย่างคือ

1. รูปธรรม ได้แก่ รูปขันธ์
2. นามธรรม ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และ วิญญาณขันธ์

เพราะว่า รูป คือ สิ่งที่ไม่สามารถรับรู้อะไรได้ หรือคือ สภาพธรรมที่มีลักษณะไม่รู้ ประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ ได้แก่ เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยกาย) เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เป็นต้น

ส่วน นาม คือ สิ่งที่สามารถรับรู้สภาพธรรมได้ หรือคือ สภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ ได้แก่ สภาพรู้ อาการรู้ ธาตุรู้ จิตใจ ปัญญา ความสุข ความทุกข์ ความพอใจ ความดีใจ ความเสียใจ ความหดหู่ เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น การเห็น เป็น นามธรรม เป็นวิญญาณขันธ์ ตาเป็นรูปธรรม เป็นธาตุดิน ภาพหรือรูปหรือสีที่เห็นเป็นรูปธรรม เป็นต้น



รูปขันธ์ (กองรูป)

หมายถึง สิ่งที่จะต้องสลายไป เพราะเหตุปัจจัยต่าง ๆ รูปประกอบจากธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และ ธาตุลม อันได้แก่ ร่างกาย โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น ลองมาจำแนกดูแต่ละตัวอย่าง ร่างกายเราประกอบไปด้วยธาตุ 4 คือ

1. ธาตุดิน ได้แก่ กระดูก เนื้อ หนัง เส้นผม เป็นต้น
2. ธาตุน้ำ ได้แก่ น้ำเลือด น้ำหนอง น้ำเหลือง น้ำย่อย น้ำดี หรือ ของเสียที่เป็นของเหลวในร่างกาย เป็นต้น
3. ธาตุลม ได้แก่ ลมหายใจเข้าและออก เป็นต้น
4. ธาตุไฟ ก็คือ อุณหภูมิความร้อนในร่างกาย เป็นต้น

แต่ความจริงแล้วการรับรู้ธาตุทั้ง 4 นั้น ต้องอาศัยจิต หรือตัวรู้ หรือสภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ รู้สภาพของธาตุนั้น ๆ ซึ่งธาตุนั้นถือว่าเป็นสภาพธรรมเหมือนกัน แต่เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่รู้ อ่าน ๆ ไป ก็อาจมีคนสงสัยได้ว่า จิตคืออะไร และสภาพธรรมคืออะไรล่ะ ก็จะขออธิบายย่อ ๆ เพียงว่า จิตคือตัวรู้ หรืออย่างที่กล่าวไปว่า สภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ หรือคือการที่เรารู้ตัว นั่นเอง ส่วนสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่รู้ ก็คือสิ่งที่มีอยู่จริงในโลกนี้ ยิ่งอธิบายอาจจะยิ่งงงกันไปใหญ่ ลองมาดูตัวอย่างให้เข้าใจยิ่งขึ้น ที่ว่าตัวรู้

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น รู้ตัวว่าเห็นตัวหนังสือ รู้ตัวว่ากำลังอ่าน รู้ตัวว่ากำลังหายใจเข้า รู้ตัวว่ากำลังหายใจออก รู้ตัวว่าเบื่อ รู้ตัวว่าอ่านแล้วไม่ชอบ หรือ รู้ตัวว่าอยากจะเลิกอ่าน เป็นต้น

ทีนี้มาดูถึงสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่รู้ ตัวอย่างของสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่รู้ เช่น สภาวะที่แข็ง สภาวะที่อ่อน (นิ่ม) สภาวะที่ร้อน สภาวะที่เย็น สภาวะตึง (เช่น การตึงกล้ามเนื้อ เป็นต้น) หรือ สภาวะที่ไหวหรือหย่อน เป็นต้น

ก่อนที่จะไปไกลกว่านี้ เรากลับมายังเรื่องของรูป รูป คือสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่รู้ เพราะรูปไม่สามารถรับรู้สภาพนั้น ๆ ได้ เช่น ธาตุดิน จะมีลักษณะแข็ง แต่ธาตุดินจะไม่สามารถรับรู้ตัวเอง ได้ว่ามีลักษณะแข็ง เป็นต้น หรือ ธาตุน้ำ ก็จะมีลักษณะอ่อนหรือนิ่ม ธาตุลมจะมีลักษณะตึงหรือหย่อน ส่วนธาตุไฟก็จะมีลักษณะร้อนหรือเย็น นี่จะเห็นได้ว่า รูปนั้น เป็นไปตามสภาพต่าง ๆ แต่ไม่สามารถรู้ลักษณะต่าง ๆ ได้

ในตอนท้ายของบทความนี้ เราจะมาสรุปในเรื่องรูปกันอีกที สำหรับรูปนั้นจะเห็นได้ว่า รูปก็คือตัวเรานั่นเอง


เวทนาขันธ์ (กองเวทนา)

หมายถึง ความเสวยอารมณ์ ความรู้สึกสุขหรือทุกข์ ได้แก่ ความเจ็บป่วย ความดีใจ ความเสียใจ เป็นต้น ซึ่งความรู้สึกสุขทุกข์นี้สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น 3 อย่างคือ

1. สุขเวทนา หรือ ความรู้สึกสุขสบาย เช่น ความสบายกาย ความสบายใจ
2. ทุกขเวทนา หรือ ความรู้สึกไม่สบาย เช่น ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ
3. อทุกขมสุขเวทนา (อ่านว่า อะ-ทุก-ขะ-มะ-สุก) หรือ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ คือรู้สึกเฉย ๆ นั่นเอง สามารถเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าอุเบกขาเวทนา

บางหมวดสามารถจัดแบ่งเวทนาขันธ์นี้ออกได้เป็น 5 อย่างคือ

1. สุข หรือ ความสบายกาย
2. ทุกข์ หรือ ความไม่สบายกาย
3. โสมนัส หรือ ความสบายใจ
4. โทมนัส หรือ ความไม่สบายใจ
5. อุเบกขา หรือ ความรู้สึกเฉย ๆ เวทนาเกี่ยวข้องกับตัวเราตรงที่เราสามารถรู้มันได้ด้วยใจ

ดังนั้นเวทนาจึงเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ นั่นเอง


สัญญาขันธ์ (กองสัญญา)

หมายถึง การกำหนดหมาย ความจำได้หมายรู้ ได้แก่ เรื่องราวในอดีต หรือหมายรู้ไว้ซึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัส หรือ สิ่งที่ต้องกาย) และอารมณ์ที่เกิดกับใจ เช่นว่า เขียว ขาว ดำ แดง ดัง เบา เสียงคน เสียงแมว เสียงระฆัง กลิ่นทุเรียน รสมะปราง เป็นต้น และจำได้ คือ รู้จักอารมณ์นั้นว่าเป็นอย่างนั้น ๆ ในเมื่อไปพบเข้าอีก

สัญญาสามารถจำแนกออกได้เป็น 6 อย่าง ตามอารมณ์ที่หมายรู้นั้น ได้แก่

1. รูปสัญญา หมายรู้รูป
2. สัททสัญญา หมายรู้เสียง
3. คันธสัญญา หมายรู้กลิ่น
4. รสสัญญา หมายรู้รส
5. โผฏฐัพพสัญญา หมายรู้สิ่งต้องกาย
6. ธัมมสัญญา หมายรู้อารมณ์ที่เกิดกับใจ หรือ สิ่งที่ใจรู้

ตัวอย่างของสัญญาเช่น รู้ว่าผงสีขาว รสเค็ม นั้นเรียกว่า เกลือในภาษาไทย เป็นต้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สัญญาเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ และมีอยู่ในตัวเรา


สังขารขันธ์ (กองสังขาร)

หมายถึง สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันได้แก่ ความคิด ที่ส่งผลให้พูดดีหรือพูดชั่ว เป็นต้น

สังขาร อาจแปลได้ว่า สภาพที่ปรุงแต่งใจ ซึ่งสามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น 3 อย่างคือ

1. สภาพที่ปรุงแต่งใจให้ดี หรือเป็นตัวสร้างกุศล เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า กุศลเจตสิก
2. สภาพที่ปรุงแต่งใจให้ชั่ว หรือเป็นตัวสร้างอกุศล เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า อกุศลเจตสิก
3. สภาพที่เป็นกลาง เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า อัพยากฤต

สังขาร อาจใช้ได้ในความหมายของเจตนาที่แต่งกรรมหรือปรุงแต่งการกระทำนั้น ๆ จำแนกออกได้เป็น 3 อย่าง คือ

1. กายสังขาร คือ สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางกาย หรือ กายสัญเจตนา
2. วจีสังขาร คือ สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางวาจา หรือ วจีสัญเจตนา
3. จิตตสังขาร หรือ มโนสังขาร คือ สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ หรือ มโนสัญเจตนา

ไม่ว่าจะจำแนกสังขารตามแบบใด สังขารก็เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ และมีอยู่ในตัวเรา

นอกจากนี้แล้ว สังขารยังอาจหมายความถึง สังขตธรรม หรือ ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น มักใช้กับความหมายที่ว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ซึ่งสังขารในกรณีหลังนี้หมายรวมถึงทั้งขันธ์ 5 นั่นเอง

ดังนั้น สังขารขันธ์ จึงเป็นสมาชิกย่อย ของคำว่าสังขารในกรณีนี้


วิญญาณขันธ์ (กองวิญญาณ)

หมายถึง ความรู้แจ้งอารมณ์ จิต ความรู้ที่เกิดขึ้น เมื่ออายตนะภายใน (อินทรีย์ทั้ง ๖ อันได้แก่ จักขุ-ตา, โสต-หู, ฆาน-จมูก, ชิวหา-ลิ้น, กาย และ มโน-ใจ) และอายตนะภายนอก (อารมณ์ ๖ ได้แก่ รูป, สัททะ-เสียง, คันธะ-กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ-สิ่งต้องกาย และ ธัมมะ-ธรรมารมณ์ หรือ อารมณ์ที่เกิดกับใจ) กระทบกัน บางตำรากล่าวว่า คือ ธาตุรู้ หรือ ธาตุสภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์ ได้แก่ การรับรู้การเห็น การได้ยิน เป็นต้นในปัจจุบันนี้ คำว่าวิญญาณ น่าจะหมายถึงประสาทรับสัมผัส นั่นเอง

วิญญาณสามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น ๖ อย่าง คือ

1. จักขุวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางตา (เห็น)
2. โสตวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางหู (ได้ยิน)
3. ฆานวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางจมูก (ได้กลิ่น)
4. ชิวหาวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น (รู้รส)
5. กายวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางกาย (รู้สิ่งต้องกาย)
6. มโนวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)

นั่นคือ จะเห็นได้ว่า วิญญาณจัดเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ และมีอยู่ในตัวเราด้วยเช่นเดียวกับ รูป เวทนา สัญญา และ สังขาร


เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงพอจะเข้าใจคำว่าขันธ์ 5 ไม่มากก็น้อย และคงพอจะมองเห็นได้ว่า ร่างกายหรือขันธ์ 5 ของเรานี้เอง ที่ทำให้เราต้องรับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะโทษจากกรรม อาการป่วย หิว กระหาย หรือชราก็ตาม ถ้าเพียงแต่เรารับรู้อาการนั้น ๆ และยอมรับตามสภาพความเป็นจริงได้ จิตใจของเราก็จะไม่เศร้าหมองไปตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เป็นสาเหตุให้เราเศร้าหมอง ก็เนื่องมาจากโทษของการไปยึดมั่นถือมั่นในร่างกายของเรา ในร่างกายของเขา นั่นเอง

กล่าวโดยสรุปก็คือ ขันธ์ 5 ที่ประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จัดว่าเป็นมาร เพราะเป็นสภาพอันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เป็นที่ตั้งแห่งกองทุกข์ทั้งหลาย ถูกปัจจัยต่าง ๆ บีบคั้นเบียดเบียน จึงเป็นเหตุขัดขวาง หรือรอนโอกาส มิให้สามารถทำความดีงามได้เต็มที่ หรืออาจตัดโอกาสนั้นโดยสิ้นเชิง สาเหตุที่สำคัญก็ได้กล่าวไปแล้ว แต่จะข้อเน้นอีกที สาเหตุนั้นก็คือ การยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 ว่ามีตัวตนนั่นเอง

ถ้าเราปล่อยวางเสียได้ ก็จะทุกข์น้อยลง เพราะขันธ์ 5 ย่อมเป็นไปตามหลักไตรลักษณ์คือ อนิจจังหรือไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น การเจ็บป่วย การหลงลืม เป็นต้น ทุกขังหรือเป็นทุกข์ เพราะเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้ว และเราไม่สามารถรับได้กับสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ก็ก่อให้เกิดทุกข์ และเป็นอนัตตาหรือความไม่มีตัวตน ได้แก่ ไม่มีความเป็นเจ้าของ ไม่มีสภาพบุคคล สัตว์ สิ่งของ เรา เขา เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีใครที่จะสามารถควบคุมหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้ เมื่อรู้โทษของการยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้แล้ว เราก็ควรที่จะคลายความยึดมัี่นถือมั่นนั้น และยอมรับมันให้ได้

อ้างอิงจาก:
http://www.middleway.th.gs/web-m/iddleway/kun5.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น