เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

งานสร้างใจ


งานสร้างใจ
โดยธีร์ ธีรปญฺโญณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2010 เวลา 8:55 น.

วัดเซนแห่งแรกในอเมริกาสร้างขึ้นที่เมืองซานฟรานซิสโกเมื่อราว ๔๐ ปีก่อน ตอนที่สร้างวัดนั้นเจ้าอาวาสคือชุนเรียว ซูซูกิต้องลงมือขนหินเอง ลูกศิษย์ซึ่งเป็นคนอเมริกันเห็นอาจารย์อายุมากแล้ว คือ ๖๐ กว่าแล้วแถมยังตัวเล็กอีกด้วย จึงระดมกันมาช่วย แต่มาช่วยขนหินได้ครึ่งวันก็เหนื่อย ส่วนอาจารย์กลับขนหินได้ทั้งวัน ลูกศิษย์แปลกใจมากจึงถามอาจารย์ว่าทำงานทั้งวันได้อย่างไร อาจารย์ตอบว่า

"ก็ผมพักตลอดเวลานี่"

ลูกศิษย์ฟังแล้วก็งง เพราะเห็นกับตาว่าอาจารย์ขนหินทั้งวัน แต่สำหรับอาจารย์ชุนเรียวนั้นตลอดเวลาที่ขนหินก็ได้พักไปด้วย ไม่ได้พักกาย แต่พักใจ มีแต่กายเท่านั้นที่ขนหิน แต่ใจไม่ได้ขนด้วย จึงไม่เหนื่อยเท่าไร คนส่วนใหญ่เวลาขนหิน ไม่ได้ขนด้วยกายเท่านั้น ใจก็ขนด้วย ขนหินไปก็บ่นในใจว่าเมื่อไรจะเสร็จสักที ขนแบบนี้ย่อมเหนื่อยเร็ว

เมื่อเราทำงานเราไม่ได้เหนื่อยแต่กายอย่างเดียว แต่ใจของเราก็มักเหนื่อยด้วย เพราะใจไปยึดติดกับงานมากเกินไป เรียกว่าจิตไม่ว่าง การทำงานด้วยจิตว่างก็คือ การทำงานโดยที่ใจไม่ไปยึดติดกับผลงาน ไม่สำคัญมั่นหมายว่าจะงานจะต้องเป็นไปตามใจปรารถนา แต่คนส่วนใหญ่นั้นมักเอาความรู้สึก "ตัวกู ของกู" ไปผูกติดกับงาน คือสำคัญมั่นหมายว่านี้เป็นงานของฉัน งานนี้คือตัวฉัน ถ้างานล้มเหลว ก็รู้สึกว่าฉันล้มเหลวไปด้วย ถ้าใครมาตำหนิงาน ก็ถือว่าตำหนิตัวฉันด้วย เพราะฉะนั้นใครจะมาตำหนิฉันไม่ได้ การทำงานแบบติดยึดอย่างนี้ทำให้ใจเหนื่อยไปกับงานด้วย

คนส่วนใหญ่จะรับผิดชอบงานก็ต่อเมื่อรู้สึกว่าเป็นงานของฉัน ความคิดแบบนี้แม้ทำให้ตั้งใจทำก็จริง แต่ก็อาจทำให้ทุกข์ไปด้วย เวลาทำก็เกร็งเพราะกลัวว่าถ้างานไม่ดีตนจะถูกต่อว่า เสียหน้า หรือไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง จริงอยู่ปุถุชนย่อมต้องการแรงจูงใจหรือผลตอบแทน จะได้มีกำลังใจทำงาน แต่ย่อมเป็นทุกข์ได้ง่าย เพราะว่ามีตัวตนเข้าไปรับผลกระทบจากสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมา ถ้าสิ่งที่มากระทบนั้นเป็นเรื่องน่าพอใจก็รอดตัวไป แต่ถ้าไม่น่าพอใจก็จะรู้สึกทุกข์ขึ้นมา เพราะมีตัวตนเป็นผู้ทุกข์

เราควรทำงานอย่างวางใจชนิดที่ไปถึงขั้นว่า ไม่มีความยึดติดว่าเป็นของฉัน หรือไปสำคัญมั่นหมายว่ามีตัวฉันเป็นผู้กระทำ ถ้าสำคัญมั่นหมายว่างานเป็นของฉันก็ทำให้ทุกข์ ถ้าไปสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นผู้ทำก็ทุกข์เช่นกัน คือทุกข์ทุกครั้งที่มีของฉันหรือตัวฉันเกิดขึ้น เมื่อสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นผู้ทำ ก็จะต้องมีฉันเป็นผู้เหนื่อย แทนที่จะเห็นความเหนื่อยเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา กลับไปยึดว่าความเหนื่อยเป็นของฉัน ฉันเป็นผู้เหนื่อย

การปล่อยให้ความสำคัญมั่นหมายในตัวตนเกิดขึ้นมา ทำให้เราเป็นทุกข์ได้ง่าย ไม่ใช่แต่ในเวลาทำงานเท่านั้น เวลาไหนๆ ก็เหมือนกัน โดยเฉพาะเวลาประสบกับสิ่งไม่พึงปรารถนา เช่น เวลาไม่สบาย ถ้าเรายึดว่าร่างกายเป็นของเรา แทนที่จะเห็นความเจ็บปวดเกิดขึ้นกับร่างกายเฉยๆ ก็ไปสำคัญมั่นหมายว่าฉันเจ็บ ฉันปวด ฉันทุกข์

ท่านอาจารย์พุทธทาสได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า เวลามีดบาดนิ้ว ถ้าเราทำความรู้สึกในใจว่ามีดบาดนิ้ว จะไม่ค่อยเจ็บเท่าไหร่ แต่พอไปคิดว่ามีดบาด "ฉัน" ขึ้นมา จะรู้สึกเจ็บมาก "มีดบาดนิ้ว" กับ "มีดบาดฉัน"จะให้ความรู้สึกต่างกัน การที่มีตัวฉันมาออกรับอารมณ์ต่างๆ ทำให้เราเป็นทุกข์ได้ง่าย เวลาเดินทางไกล แทนที่จะรู้สึกว่ากายเหนื่อย กลับรู้สึกขึ้นมาว่าฉันเหนื่อย คือไม่ใช่เหนื่อยแต่กาย แต่ใจหรือตัวฉันก็เหนื่อยด้วย

ถ้าเรามีสติรู้ทันความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า ที่เหนื่อยนั้นคือเหนื่อยกาย แต่ใจไม่จำเป็นต้องเหนื่อยด้วย เมื่อไม่ได้เอาตัวตนออกไปรับหรือเป็นเจ้าของความเหนื่อยด้วย ก็สามารถที่จะเดินไปได้โดยไม่รู้สึกเหนื่อยมากนัก ความเหนื่อยเกิดขึ้นก็จริง แต่ไม่มีความรู้สึกว่าฉันเหนื่อย เพราะไม่ได้ปรุงแต่งตัวตนให้ไปออกรับความเหนื่อย จะทำเช่นนี้ได้ต้องอาศัยสติเข้าไปกำกับใจเวลาเกิดอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ขึ้นมา เพราะสติทำให้เราเห็นอารมณ์ต่างๆ แต่ไม่เข้าไปเป็นเจ้าของอารมณ์นั้น หรือเอาอารมณ์นั้นมาเป็นตัวเป็นตน

เราจำเป็นต้องใช้สติเข้าไปกำกับเวลาทำงาน สตินั้นตรงข้ามกับตัณหา คนที่ทำด้วยตัณหา หรือความอยาก จะไม่เข้าใจหรือรู้สึกถึงความโปร่งเบาในเวลาทำงานได้ เพราะจิตคอยแบกความอยากไว้ตลอดเวลา แต่ถ้าเรามีสติอยู่กับงานที่ทำ อยู่กับปัจจุบัน จะมีแต่การทำงาน แต่ไม่มีผู้ทำงาน เช่นเดียวกับเวลาเดิน ถ้าเราเดินอย่างมีสติ จะมีแต่การเดิน แต่ไม่มีผู้เดิน

งานการต่างๆ สามารถที่จะเป็นเวทีหรือโอกาสให้เรารู้จักการปล่อยวางตัวตน ไม่ยึดติดว่าเป็นเราหรือของเรา คือทำงานด้วยจิตว่างนั่นเอง พุทธศาสนานั้นมองว่า งานนอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนรวมแล้ว ยังสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนตนได้ด้วย คือเกิดประโยชน์ในแง่การพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือจิตใจไปพร้อมกัน งานสามารถบ่มเพาะหรือเสริมสร้างคุณภาพภายในได้ด้วย ไม่ใช่แค่สร้างสรรค์สิ่งภายนอกเท่านั้น ถ้าทำงานด้วยการวางจิตวางใจอย่างถูกต้อง งานก็จะสำเร็จ ส่วนคนทำก็จะมีความสุขด้วย เป็นความสุขที่เกิดขึ้นกับตัวเองพร้อมกับความสำเร็จที่เกิดกับส่วนรวม

งานที่สร้างสรรค์นั้นช่วยสร้างโลกให้น่าอยู่ แม้จะทำงานเล็กๆ แต่ก็ควรระลึกว่าเราได้มีส่วนสร้างสังคมและสร้างโลกด้วย พร้อมกันนั้นก็พึงตระหนักว่างานที่เราทำแต่ละขณะๆ นั้นมีส่วนในการสร้างความเจริญงอกงามให้เกิดขึ้นกับชีวิตด้านในไปด้วย ทัศนคติเช่นนี้คือสิ่งที่ขาดหายไปในการทำงานส่วนใหญ่ เพราะผู้คนมักเห็นแค่ว่างานการทำให้เกิดความสำเร็จทางโลก แต่ไม่ค่อยคิดว่างานสามารถทำให้เกิดความสำเร็จทางธรรมหรือทางจิตวิญญาณได้ ด้วย งานสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ตนควบคู่กับประโยชน์ท่าน งานสามารถที่จะสร้างโลกให้สวยสดงดงามพร้อมๆ กับการบ่มเพาะชีวิตด้านในให้พรั่งพร้อมบริบูรณ์ด้วยความสุข

โดยพระไพศาล วิสาโล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น