เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เครือข่ายประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่


คำบรรยายความทุกข์และความเดือดร้อน ผู้ร่วมฟ้องศาลปกครอง กรณีการขยายผิวจราจรถนนหมายเลข 2090 ขึ้นเขาใหญ่
บทความ - เครือข่ายประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่
เขียนโดย sptthai
คำบรรยายความทุกข์และความเดือดร้อน

ของ นายศุภผล เอี่ยมเมธาวี ผู้ร่วมฟ้องศาลปกครอง กรณีการขยายผิวจราจรถนนหมายเลข 2090 ขึ้นเขาใหญ่ ที่อยู่ บ้านเลขที่ 565-567 ถนนจอมสุรางค์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา 30000


1. ความทุกข์ความเดือดร้อนใจในฐานะของประชาชนไทยและนักท่องเที่ยว เนื่องมาจากโครงการขยายผิวจราจรของถนน 2090 ส่งผลกระทบต่อมรดกโลก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่


อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีความหมายไม่ใช่เพียงแค่ส่วนเขาใหญ่เท่านั้น หากยังนับรวมเทือกเขาผืนป่าต่อเนื่องเป็น เทือกเขาดงพญาเย็นอีกด้วย ดังคำกล่าวที่ว่า “ มรดกโลก ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นมรดกโลกแหล่งที่ 5 ของไทย และเป็นอันดับที่ 2 ของมรดกทางธรรมชาติไทย ได้รับการลงทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 10-17 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ณ กรุงเดอแบน ประเทศแอฟริกาใต้ ประกอบไปด้วย อุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีก 1 แห่ง กินพื้นที่อยู่ใน 6 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นราว 3,874,863 ไร่ หรือ 6,155 ตารางกิโลเมตร ถูกเรียกว่าเป็น ผืนป่าตะวันออก ซึ่งเปรียบเทียบกับผืนป่าตะวันตก ในเขตจังหวัดตาก และรอบๆ “

ในฐานะประชาชนไทยและคนโคราชฐานที่ตั้งของมรดกโลกแห่งนี้ ได้มองเห็นความสำคัญอย่างยิ่ง จนต้องย้อนมองไปที่สาระของมรดกโลกแห่งนี้ว่า “ แหล่งมรดกโลกผืนนี้ ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งแต่ก่อนเป็นป่าดงดิบที่ทึบหนา มีสัตว์มากมาย ทั้ง เสือ กระทิง และช้าง ชุกชุมไปด้วยไข้มาลาเรีย ไม่มีถนนหนทางตัดผ่านผืนป่า ดั่งเช่นในปัจจุบัน การเดินทางจากกรุงเทพ ไปภาคอีสานนั้น จึงยากลำบากอย่างยิ่ง หลายคนต้องเสียชีวิตด้วยไข้ป่า หรือสัตว์ป่า จนไม่ค่อยจะมีใครกล้าเข้ามาในดินแดนแถบนี้ ผู้คนจึงตั้งชื่อให้ผืนป่าแห่งนี้ว่า ป่าดงพญาไฟ"


จากคำว่าดงพญาไฟ กลายมาเป็น ป่าดงพญาเย็น เล่ากันว่า คำว่า ป่าดงพญาเย็นนั้น ได้ถูกกล่าวขึ้นเป็นครั้งแรก ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จากหลักฐานจากบทพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง เที่ยวตามทางรถไฟ ได้ทรงเล่าถึงป่าดงพญาไฟไว้ว่า " ดงพญาไฟนี้ เป็นช่องสำหรับข้ามไปมา ระหว่างเมืองสระบุรีกับมณฑลนครราชสีมาแต่โบราณ ไปได้แต่โดยเดินเท้า จะใช้ล้อเกวียนหาได้ไม่ ด้วยทางต้องเดินตามสันเขาบ้าง ตามไหล่เขาบ้าง คนเดินตามปกตินั้นตั้งแต่ตำบลแก่งคอย ต้องค้างคืนในป่านี้ถึง 2 คืน ถึงจะพ้น” และ "สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคยพระราชดำริไว้ว่า ไม่ควรเรียกดงพญาไฟเพราะให้คนครั่นคร้าม จึงทรงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้เปลี่ยนชื่อจาก ดงพญาไฟ เป็นดงพญาเย็น แต่คนหลายๆคนก็ยังคงเรียกว่า ป่าดงพญาไฟอยู่ดั่งเดิม”


หลังจากมีการสร้างทางรถไฟ และถนนมิตรภาพ จากภาคกลางไปสู่ภาคอีสาน ดงพญาไฟก็ถูกผ่าออกทันที ผู้คนเริ่มที่อพยพเข้าไป แล้วถากถางป่าทำไร่ทำนา โดยเฉพาะบริเวณ ฟาร์มโชคชัย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา นับตั้งแต่นั้นมา ป่าที่เคยดุร้ายดงพญาไฟ ก็ได้กลายมาเป็นป่าที่ต้องอยู่เงียบๆ ป่าดงพญาเย็นอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่นั้นมา


จะเห็นได้ว่า การหักร้างถางพงมาอย่างต่อเนื่อง ได้ทำลายผืนป่าอันยิ่งใหญ่แห่งนี้จนราบคาบเหลือเพียงผืนป่าอันน้อยนิดในปัจจุบันนี้ อย่างไรก็ดีแม้จะเหลือเพียงเท่านี้ อุทยานแห่งชาติแห่งนี้ก็ยังคง เป็นแหล่งมรดกโลกเขาใหญ่-ดงพญาเย็น ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยมีสภาพป่าแบบต่างๆ ตั้งแต่ ป่าดงดิบ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และทุ่งหญ้า
ครั้งหนึ่งพื้นที่ตรงผืนป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นั้น เคยได้รับการเสนอชื่อขึ้นไปเพื่อจดทะเบียนมรดกโลกแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2533 แล้ว ซึ่งในขณะนั้นได้เสนอแหล่งธรรมชาติอีก 3 แหล่งสู่ที่ประชุมองค์การยูเนสโกเพื่อพิจารณา คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ , เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และผลปรากฏว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้รับลงทะเบียนเป็นมรดกโลกเพียงแห่งเดียว ด้วยเหตุที่ว่าอุทยานแห่งชาติที่เหลือทั้ง 2 แห่งนั้น เล็กเกินไป และยังมีนโยบายที่ไม่แน่นอนและไม่เพียงพอ แต่ต่อมาจากความพยายามของหลายๆภาคส่วน ส่งผลให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้รับการลงทะเบียนเป็นมรดกโลกในที่สุด เมื่อวันที่ 10-17 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ณ กรุงเดอแบน ประเทศแอฟริกาใต้ ดังกล่าวมาแล้ว


ในฐานะของประชาชนไทย ที่พึงมีพันธะผูกพันในการปกปักรักษาผืนป่ามรดกโลกผืนนี้ เห็นว่า หากยังปล่อยให้มีการรุกล้ำคุกคาม อย่างไร้สำนึกและปราศจากความตระหนักรู้ในการพิทักษ์ผืนป่า พันธุ์สัตว์พืชจำนวนมากดังบรรยายมาข้างต้น อันควรจะเป็นความตระหนักรู้ที่สอดคล้องกันว่า ถนนในอุทยานตามที่สากลประเทศได้กระทำกันควรเป็นอย่างไร ซึ่งต้องไม่ใช่ถนนที่กระทำการตัดต้นไม้อย่างรุนแรงและทำลายระบบนิเวศน์ดังที่กระทำกันอยู่ในเวลานี้ เพราะหากกระทำเช่นที่กรมทางหลวงกำลังดำเนินการกับถนนหมายเลข 2090 นี้ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จักถูกทำลายอย่างแน่นอนในอนาคตเบื้องหน้า ดังที่เกิดกับผืนป่าหลายแห่งในประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลถึงสถานะการเป็นมรดกโลกของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไปโดยปริยาย


ถือเป็นความทุกข์และความเดือดร้อนอย่างสาหัส ที่กำลังมองเห็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของนายทุน ข้าราชการและนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง ลงมือสร้างช่องทางที่เป็นถนน เข้าไปทำลายผืนป่ามรดกโลกที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดของประเทศไทย และส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน 5 จังหวัด รวมทั้งการทำลายดังกล่าวนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้โลกร้อนขึ้นอีกด้วย


2. ความทุกข์ความเดือดร้อนใจในฐานะของประชาชนชาวโคราช เนื่องมาจากโครงการขยายผิวจราจรของถนน 2090 ส่งผลกระทบต่อมรดกโลกอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่


อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของชาวโคราช เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำ 5 สายคือ แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำนครนายก แม่น้ำลำตะคอง แม่น้ำลำพระเพลิง และมวกเหล็ก ที่หล่อเลี้ยงชีวิตประชาชน 5 จังหวัดคือ ปราจีนบุรี นครนายก สระบุรี ฉะเชิงเทรา และ นครราชสีมา ต่อเนื่องมาแต่ครั้งอดีตอันยาวนาน


สำหรับชาวโคราช 3 ล้านชีวิต แม่น้ำลำตะคลอง และ ลำพระเพลิง หรือ แหล่งต้นน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคเกือบจะร้อยละร้อย แหล่งน้ำนี้ได้ปรากฎผลความแห้งแล้งมากขึ้นตามลำดับจนน่าตกใจ ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม น้ำในเขื่อนลำตะคลองซึ่งได้น้ำมาจากอุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่ ปรากฏเหลือน้ำในเขื่อนเพียง ร้อยละ 28 ของปริมาณน้ำทั้งเขื่อน ทำให้เจ้าหน้าที่จำต้องงดปล่อยน้ำเพื่อการเกษตร และเหลือน้ำเพื่อการบริโภคให้แก่ชาวโคราช เพียงวันละไม่เกิน 150,000 ลบ.เมตร หนึ่งในสาเหตุของความแห้งแล้งดังกล่าวนี้คือ ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลและอากาศร้อนมากขึ้น และต้นเหตุดังกล่าวนี้คือ ภาวะโลกร้อน


ต้นเหตุของภาวะโลกร้อนและกำลังกระทบต่อผืนป่าต้นน้ำของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก็คือ การทำลายระบบนิเวศน์ของเหล่านายทุน นักการเมือง และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง โครงการหลายโครงการ รวมทั้งการลอบตัดไม้ทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง นั้น ได้ก่อผลร้ายอย่างรุนแรงและไม่รู้ตัวแก่ผืนป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ และในปัจจุบัน หนึ่งในโครงการที่ยังดำเนินการอยู่จนเกิดผลกระทบดังกล่าวก็คือ โครงการขยายผิวจราจร ถนน 2090 หรือถนนธนะรัชต์ขึ้นเขาใหญ่ ซึ่งได้ตัดต้นไม้ใหญ่ที่นับต้นได้ กว่า 128 ต้น ยังไม่รวมต้นขนาดกลางและขนาดเล็กอีก นับพันต้น


ตัวอย่างของอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง ในประเทศไทย ที่ถูกการขยายถนนเช่นนี้เข้าไปจนทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติมากมาย เช่น อุทยานแห่งชาติในจังหวัดพัทลุง เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าอนาคตเบื้องหน้าของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จะถูกทำลายเช่นเดียวกัน และจะนำมาซึ่งผลกรทะบต่อชีวิตชุมชนรอบเขาใหญ่และชีวิตของประชาชนชาวโคราชทั้งมวลอย่างแน่นอน
พวกเราประชาชนชาวโคราช จึงกังวลและรู้สึกเป็นทุกข์เดือดร้อน เป็นอย่างยิ่ง ต่อการขยายผิวจราจรตามโครงการนี้


3. ในฐานะผู้สัญจรไปมา บนถนนหมายเลข 2090


กระผมและเพื่อนได้เดินทางเข้าไปบนเส้นทางสายนี้ตั้งแต่มีการก่อสร้าง ขยายผิวจราจร เห็นว่า การดำเนินการก่อสร้างได้ขยายผิวจราจรออกไปสองข้างทาง ทำลายต้นไม้ ระบบนิเวศน์และสันเขาสองข้างทางอย่างน่าตกใจ


ที่สำคัญคือ เกิดถนนต่างระดับ ที่ปราศจากความปลอดภัยของสัญญาณจราจรอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในยามมืดค่ำ จนเกิดอุบัติเหตุหลายครั้งนับแต่มีการก่อสร้างเป็นต้นมา ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันนี้ นอกเหนือจาก รถจักรยานยนต์ รถบรรทุกเล็ก รถเก๋ง แล้ว ยังมีอุบัติเหตุประชาชนได้รับบาดเจ็บ ที่หาผู้เกี่ยวข้องมารับผิดชอบไม่ได้ หากปล่อยไว้เช่นนี้ โดยไม่มีการปรับระดับถนน ให้เท่ากันเสียก่อนที่จะมี การดำเนินการอย่างยั่งยืนต่อไป ประชาชนทั้งหลายคงไม่พ้นจะต้องได้รับอุบัติเหตุกันอีกอย่างแน่นอน


ด้วยอรรถาธิบายข้างต้น กระผมจึงยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อคุ้มครองฉุกเฉิน ต่อโครงการเพิ่มประสิทธิภาพของถนนหมายเลข 2090 ( ถนนธนะรัชต์ )


ลงชื่อ ( นายศุภผล เอี่ยมเมธาวี )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น