เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กิจต้องทำในเบื้องต้น


กิจต้องทำในเบื้องต้น

โดย เขมานันทะ

สาระสำคัญของการภาวนาแบบเคลื่อนไหวสร้างจังหวะ ก็คือ การปลุกเร้าความรู้สึกตัวที่ซ้อนเร้นอยู่ในเราทุกคน ความตื่นตัวนี้ บางที กลายเป็นโทสะบ้าง โลภะบ้าง ราคะบ้าง เราตื่นตัวมากๆ แต่ว่า เป็นการตื่นอยู่กับกิเลส วันนี้ เราต้องการปลุกความรู้สึกตัวให้ตื่นเฉยๆ โดยไม่เกี่ยวกับกิเลส ในตัวมนุษย์เรา มีสิ่งหนึ่งคือ ธรรมชาติตื่น เรียกว่าโพธิหรือพุทธะ ซ้อนอยู่ ถ้าเราเร้าถูกวิธี มันก็จะตื่นขึ้น ถ้าเราตื่นผิดวิธี ก็อาจเสียสติ หรือวิปลาสคลาดเคลื่อนไปเลย ทั้งนี้ เพราะขาดสติภาวนาอย่างมีรากฐานมาโดยลำดับ

กรรมวิธีที่หลวงพ่อเทียนค้นพบและสังสอน ได้ปลุกผู้คนเป็นจำนวนมาก ผมติดตามท่านมานานสิบห้าปีเศษ พบความเปลี่ยนแปลงทั้งในตัวเองและเพื่อนฝูงที่ปฏิบัติ วิธีการนี้ ทำให้เราพึ่งตัวเองได้ ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง ภายในช่วงสั้นสามวันนี้ จะปรากฎผลไม่มากก็น้อย แต่กระนั้น ผมไม่อยากให้คาดหวังทุ่มเทถึงขนาดเครียด การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องทำง่ายๆ และเป็นไปตามลำดับ ผู้ที่มาใหม่ขอให้สร้างจังหวะพักหนึ่งก่อน ให้แม่นยำ นั่งตามสบาย นั่งตามธรรมชาติของเรา เพราะเป้าหมายของเรานั้น ไม่ต้องการให้มันสงบ เราต้องการเร้ามันให้ตื่น เหมือนอย่างเราง่วง พอรถชนกัน เราตื่น สว่างไสว ความตื่นตัวนี้เอง เป็นรากฐานการศึกษาทั้งหมด เด็กที่เรียนหนังสือไม่ดี เพราะเวลาฟังครูสอน มักง่วงซึม ส่วนเด็กที่เรียนดี ก็ไม่ใช่ว่าจะเก่งกาจอะไร คือมันตื่นนั่นเอง ฟังอะไรชัดเจนดี

เอาละ ผมจะแนะนำอะไรสั้นๆ แล้วค่อยอธิบายรายละเอียดอีกทีหนึ่ง เอามือตั้งบนหัวเข่า พลิกมือขวา ตั้งบนสันมือ แล้วเอาความใส่ใจเข้าไปรู้มัน แต่อย่าเพ่ง ถ้าเพ่งแล้วจะแน่นหน้าอก ถ้าเพ่งจ้องแล้วจะตาลายแน่นอน ตามองข้างหน้าตามธรรมดา ไม่จำเป็นต้องหลับตา ถ้าหลับก็มีโอกาสที่จะง่วงมาก ลืมตาไว้ พลิกมือขวา ตั้งสันขึ้น รู้สึกในขณะที่พลิก ยกมือขวาขึ้น หยุด เคลื่อนมือมาปิดที่สะดือ หยุด พลิกมือซ้ายตั้งสัน พลิกแล้วก็หยุดให้เป็นจังหวะ พลิกแล้วหยุด เคลื่อนแล้วหยุด เคลื่อนแล้วหยุด เคลื่อนมือขวาขึ้น หยุด เคลื่อนมือซ้ายตาม ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนแล้วก็หยุด และมีการสังเกตการเคลื่อนและการหยุดครบวงจร แล้วเริ่มใหม่ ใหม่ๆ ให้ทำช้าๆ เป็นจังหวะ เคลื่อน-หยุด เคลื่อน-หยุด ตราบใดที่เราอยู่อย่างนี้ จิตของเรา ซึ่งมันสังเกตสิ่งนี้อยู่ แม้จะคิดออกไปเท่าไร อาการเคลื่อนนี้ จะดักมันติด คือ เมื่อจิตคิดไป ไม่ช้าไม่นาน ก็จะเคลียวกลับมาที่ตัวมันเอง

ธรรมดาจิตของมนุษย์ย่อมจะคิดนึก คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เนื่องจากคลื่นสมองของเรา ถูกกำหนดเงื่อนไขให้คิดตลอดเวลา เราคิดมาตั้งแต่เด็ก ปัญหาและปัญญาของมนุษย์เราอยู่ที่ความคิด เวลาทุกข์ขึ้นมาก็เพราะคิดนั่นแหละ คิดขึ้นมาเดี๋ยวทุกข์เดี๋ยวสุข เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ทีนี้ พอเราเคลื่อนอย่างนี้ เพราะเราเคลื่อนเอง ไม่ใช่คนอื่นมาเคลื่อนให้เรา ไม่ช้า มันจะตกกลับมาเป็นอันเดียวกันกับกาย ใหม่ๆ ทำช้าๆ ก่อน ช้าๆ ให้เป็นจังหวะ แต่อย่าให้มันพูดอยู่ข้างใน เคลื่อนให้เป็นจังหวะ พักเดียว จิตซึ่งเป็นตัวสังเกตการกระทำนี้ ก็จะค่อยๆ เข้ามาพัวพัน แล้วจะตกเข้าไปในตัวของมันเอง สภาพตื่นรู้ตัว ก็จะเข้มข้นขึ้นทีละน้อยๆ

ด้วยวิธีการอันนี้ หลายคน ได้ตื่นตัวขึ้นและก้าวหน้าไปด้วยดี ปัญหาหมักหมมซึ่งแก้ไม่ตก เช่น ความฟุ้งซ่าน ความรุนแรงในอารมณ์ ถูกลดทอนและกำจัดไปได้ด้วยวิธีนี้ นี่เป็นขั้นตอนหนึ่งของผู้มาใหม่ เคลื่อนอย่างนี้ทำให้มาก เคลื่อนไปแล้วจะรู้สึกเบาตัว แต่ก็ให้มันเป็นขึ้นมาเอง อย่าไปจ้องว่า เมื่อไรจะเบาตัวขึ้น เราทำไปโดยธรรมชาติเราจะรู้สึกตัวขึ้นมาทั้งตัว ถ้าตื่นขึ้นเต็มที่จริงๆ ความรู้สึกตัวก็จะกำจัดมายาภาพต่างๆ ที่เราคิดเรานึก เหมือนกับการล้างชาม มันจะขจัดออกเกลี้ยงหมด จะรู้สึกตัวเบาขึ้นๆ ต่อให้คนมีน้ำหนักตัวมาก ก็จะรู้สึกเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ส่วนใหญ่ เราไม่เป็นตัวของตัวเอง เราเป็นของความคิด ถูกความคิดบงการ เรามักพัวพันอยู่กับความคิดเช่นนั้น

การปฏิบัติธรรมด้วยวิธีอย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องเดี่ยวโดด กระนั้น เราก็อย่าพูดกันให้มาก คำว่า “เดี่ยวโดด” ไม่ได้หมายถึงว่า เราโกรธคนโน้นมา เรากลายเป็นคนปลีกเปลี่ยว ไม่ใช่อย่างนั้น คือ เราเดี่ยวโดดเข้าไปในตัวเองให้มาก ทำให้เหมือนเต่านาหรือเต่าทะเล ที่หดทุกส่วนเข้าไปในกระดอง กระดองเต่านั้นวิเศษที่สุด ผมได้ยินคนแก่พูดว่า “ยากเหมือนเสือกินเต่า” คือ ถ้ามันหดเข้าไปในกระดองแล้ว เสือก็ทำอะไรไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ปฏิบัติเช่นนี้ คือ กลับเข้าไปในตัวเอง ที่นี่ไม่มีความวิตก ไม่มีความกังวล ตอนที่เรากังวลคือ ตอนที่เราเข้าไปในความคิด คิดวุ่นไปหมด เหมือนนกติดข่าย ดังนั้นให้เราหดกลับเข้าไปในตัวเราเอง เมื่อปฏิบัติอย่างนี้มากเข้า มันจะกลับเข้าไปในตัวเอง ผู้หญิงก็กลับเข้าไปในตัวเอง ผู้ชายก็กลับเข้าไปในตัวเอง แล้วค่อยๆ ค้นพบความโล่งโถงภายในหัวใจของเราเอง

เมื่อเรารู้สึกตัวได้ดีขึ้น เราจะพบว่า เราเป็นชีวิตเดียวกัน มีความรู้สึกดีกับคนอื่น มีความปราณีและเอ็นดูคนอื่นเสมอ ตลอดเวลา เราเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว แต่เราไม่เข้าใจ เราพยายามวิ่งหนีตัวเอง พยายามยึดถือไขว่คว้าหาสิ่งที่ต้องการ ของเหล่านั้น เป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้ เป็นของนอกกาย ดังนั้น เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะกลับไปรู้สึกตัว นั่นคือ ความรู้สึกสดๆ ซึ่งเราไม่ได้คิดขึ้น ลองแกว่งมือดู ความรู้สึกสดๆ ปรากฏใช่ไหม เวลาเดินจงกรม หรือยกมือ ให้จับความรู้สึกนี้ ลองทำดู พอเคลื่อนมือ มันจะเสียวๆ ให้รู้สึกกับตัวนี้ ทีแรกมันจะเสียวๆ เฉพาะส่วนที่เราเคลื่อน แต่พอมาถึงจุดหนึ่งแล้ว มันจะส่งคลื่นรู้สึกไปทั่วตัว

เมื่อผมปฏิบัติอยู่ ผมไม่เข้าใจเรื่องนี้เลย หลวงพ่อบอก ผมคิดเอา ดังนั้น จึงไม่รู้ ผมปฏิบัติอยู่หลายปีมาก เพราะว่าเป็นคนติดคิด ชอบเข้าไปในความคิด ตอนที่ตื่นขึ้นมานี่แปลก คล้ายๆ มีคนมาลูบหลัง แต่พอหันไปดู ไม่เห็นใคร คือรู้สึกตื่นวูบๆ ขึ้นมา ทางนี้บ้างทางนั้นบ้าง พอผ่านอีกช่วงหนึ่ง ตั้งแต่ปลายเท้าจรดเส้นผม เรารู้สึกได้หมด เมื่อรู้สึกได้หมดเช่นนี้แล้ว ชีวิตของผู้ภาวนามาถึงจุดนั้น มันก็เหมือนกับเรด้าซึ่งมีประสิทธิภาพแล้ว ดังนั้น พอความคิดไหวตัวภายใน คิดวูบไป ก็จะรู้สึกทันที มันจะทันความคิดและยุติความไม่รู้ตัวโดยอัตโนมัติ

เป้าหมายของการเจริญวิปัสสนาคือ การทันความคิด ตามปกติเราไม่ทัน ตอนที่เราโกรธ เราโลภ เราอะไรนั้น มันต้องคิดก่อนจึงโกรธ คิดแล้วก็โกรธ ถ้ายังไม่คิดก็ไม่โกรธ แต่พอคิดวูบไปแล้ว เราไม่ทันมัน และเราก็เข้าไปในห่วงโซ่ของความคิด การเข้าไปในความคิดนี้ คล้ายกับปลาเข้าไซ เข้าง่ายออกยาก พอติดเข้าไปในความคิดแล้ว ออกยาก บางเรื่องเราไม่อยากคิด แต่ก็คิด คิดจนกระทั่งปวดหัว บางทีต้องไปฆ่าตัวตายเพื่อให้พ้นมัน พลังสร้างสรรค์และอันตรายจึงอยู่ที่ความคิด มนุษย์เป็นจอมพลังอันนี้ ความคิดทำให้มนุษย์ก้าวหน้า สร้างสรรค์ศิลปะวิทยาการต่างๆ และพร้อมกันนั้น ก็อาจย้อนมาทำลายมนุษย์ได้ด้วย เหมือนมีดสองคม คือ ใช้เป็นก็เป็นประโยชน์ ใช้ไม่เป็นกลับทำร้ายตัวเอง อุบายสำคัญในการเคลื่อนมือเป็นจังหวะนี้ เมื่อผมเรียนใหม่ๆ ผมรู้สึกดูแคลน พอเห็นหลวงพ่อแนะนำให้ผมทำ ผมไม่ยอมทำ ผมนึกไปล่วงหน้าว่า ทำอะไรโง่ๆ อย่างนี้ มันจะได้อะไรขึ้นมา สู้มานั่งคิดเรื่องหลักธรรมโน้นนี้ไม่ได้

มีข้อเท็จจริงอันหนึ่งคือ คนติดคิดแล้ว ให้หยุดคิดนี่ หยุดไม่ได้ เพราะเหตุว่า วิธีนี้เป็นวิธีสกัดกั้นทวนกระแสความคิด จึงรังเกียจที่จะทำ แต่ในที่สุดวันหนึ่ง เมื่อลองปฏิบัติสักพักหนึ่ง จิตใจก็เปลี่ยน ทำพักเดียวรู้สึก วันนี้มันมาอยู่เฉพาะหน้า ก่อนหน้านั้น สติได้ลอยเข้าไปในความคิด สติเลื่อนลอยไปตามอำนาจของความคิด คิดถึงไหนก็เลยไปถึงนั่น

เมื่อเคลื่อนมืออย่างนี้มากๆ (มากเพียงใดนี่ต้องทำจึงรู้) ถ้าทำสองสามทียังไม่รู้สึกและเข้าใจไม่ได้ ต้องทำมากๆ ทำให้มาก ทำบ่อยๆ จนกระทั่งสติเริ่มติดตั้งขึ้นในตัวเอง คล้ายๆ เราสะสมน้ำทีละหยดๆ ทีนี้ พอเกิดน้ำเป็นกลุ่มเป็นก้อน มันก็มีพลัง ทั้งหมดนี้ จะรู้ได้โดยการปฏิบัติ ถ้าโดยคำพูดนี้ รู้ได้น้อยมาก เช่น เมื่อผมพูดว่า “ความรู้สึกตัว” เราก็ฟังออก แต่จริงๆ เรายังไม่รู้ แต่ถ้ารู้สึกตัวได้แล้วก็จะพบว่า คำพูดไม่มีความหมาย คำพูดเป็นเพียงสื่อ เหมือนกับแหหรืออวน พอเราจับปลาได้ ไม่มีใครเขาแกงแหแกงอวน เข้าต้องแกงปลา อวน ก็ให้คนอื่นหรือแขวนข้างฝา ดังนั้น อย่าสนใจคำพูดที่ผมพูด แต่ให้สนใจสิ่งที่ผมบ่งถึง เช่น ผมแนะนำให้เคลื่อนอย่างนี้ อย่าไปสนใจว่าผมพูดภาษาถูกต้องตามศัพท์บาลี-สันสกฤตไหม พูดเหมือนสำนักอื่นไหม อย่าไปสนใจ เรื่องนั้นถ้าไปสนใจเข้า ก็จะไปอีกทางหนึ่ง หรือว่านี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าไหม หรือไม่ใช่ อย่าคิดอย่างนั้น หรือคิดว่าอันนี้เป็นของศาสนาหนึ่ง เรานับถือศาสนาหนึ่ง ผมไม่อยากให้คิดอย่างนั้น

ผมอยากให้ทดลองความจริงที่ซ้อนเร้นอยู่ในตัว อยู่ในเรานี่เอง และโอกาสที่มันแสดงออก มันมักแสดงออกไปในรูปของกิเลส เช่น เมื่อเราโกรธสุดขีดนี่ เราจะง่วงนอนไม่ได้เลย นอนไม่หลับ ตื่นทั้งคืน แต่มันตื่นด้วยความโกรธ ผู้หญิงผู้ชายที่เขาชอบพอกัน นั่งคุยกันยันสว่าง แต่มันตื่นด้วยอำนาจของราคะ หรือเขาเอาเงินเอาทองมาให้ บางทีอาจนอนไม่หลับเลย แต่ตื่นด้วยอำนาจของโลภะ ที่จริงตัวตื่นนี้ซ้อนแฝงอยู่ สมมติว่า มันตื่นขึ้นโดยไม่มีกิเลส ไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ จุดนี้ จะพาเราออกจากทุกข์

ตอนผมภาวนาอยู่ ผมไม่เข้าใจเรื่องนี้ถ่องแท้ ผมนอนไม่หลับตั้งสี่ห้าคืนติดๆ กัน แต่ก็แจ่มใสดี ผมได้ยินข่าวจากหมอคนหนึ่ง เขียนจดหมายมาบอกว่า ภาวนาอยู่ไม่ต้องนอน แต่ว่าไม่ง่วง พอตัวนี้ตื่นแล้ว มันจะมีสมดุลใหม่ของมัน ดังนั้น อย่ากลัวการนอนน้อย หมอบอกว่าตั้งแปดชั่วโมง อันนี้ไม่จริงเลย พระพุทธเจ้านอนคืนละสามชั่วโมง ถ้าเรานอนหลับจริงๆ สามสี่ชั่วโมงก็พอ แต่จริงตรงที่ว่า เพราะเครียดจากการงาน เราจึงเป็นอย่างนี้ ดังนั้น เราจึงต้องนอนถึงแปดชั่วโมงก็เพราะวิถีชีวิตร่วมสมัยนั่นเอง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น