เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ
ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "
หน้าเว็บ
เกี่ยวกับฉัน
- Nitinandho
- อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย
ผู้ติดตาม
วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554
เหตุปัจจัย
เหตุปัจจัย
สังขารหรือสิ่งปรุงแต่งทั้งปวงไม่เที่ยง เพราะความที่ล้วนย่อมเกิดมาแต่เหตุปัจจัย เหตุปัจจัยจึงเป็นสิ่งเราควรทำความเข้าใจกันโดยละเอียดดูเป็นเบื้องต้นทีเดียว เพราะกล่าวได้ว่าเป็นเหตุเบื้องต้น หรือพื้นฐานคือบาทฐานของธรรมทั้งปวง และแม้กระทั่งการเกิดขึ้นของสังขารทั้งปวงทีเดียว จึงจัดว่าเป็นญาณหนึ่งในญาณ ๑๖ หรือโสฬสญาณทีเดียว คือ ปัจจัยปริคคหญาณ กล่าวได้ว่าเป็นพื้นฐานความรู้อันยิ่งในการเจริญวิปัสสนาคือทำความเข้าใจในธรรมต่างๆอย่างโลกุตระ ดังเช่น
ปฏิจจสมุปบาท ที่อาศัยเหตุต่างๆเป็นปัจจัยกันจึงเกิดผลคือความทุกข์ชนิดที่ประกอบด้วยอุปาทานอันเร่าร้อนขึ้น ดังเช่น เวทนาเป็นเหตุ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา แล้วตัณหานั้นจึงเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน....ฯ.
ขันธ์ ๕ ที่อาศัยความเป็นเหตุของขันธ์ต่างๆ เป็นปัจจัยกัน จนเกิดผลคือเกิดสังขารขันธ์คือการกระทำหรือกระบวนธรรมต่างๆในการดำเนินชีวิต
พระไตรลักษณ์ ที่เพราะความเป็นเหตุปัจจัยกันจึงเกิดสังขารทั้งปวงขึ้น และยังผลให้เกิด อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ในสังขารทั้งปวงตามมา
นามรูปปัจจัยปริคคหญาณ หรือสัมมาทัสสนะคือ ญาณหรือปัญญากำหนดรู้คือเข้าใจแจ่มแจ้งในทั้งในนามและรูปว่าล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย ดังนั้นแม้ชีวิตที่เกิดแต่นามและรูป จึงย่อมเกิดแต่เหตุปัจจัยด้วยกันทั้งสิ้น
อริยสัจ ๔ ที่เพราะตัณหาเป็นเหตุคือสมุทัย จึงเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์คือทุกข์อุปาทาน หรือเพราะมรรคเป็นเหตุ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดนิโรธขึ้น
อิทัปปัจจยตา ที่เพราะมีเหตุมาเป็นปัจจัยกัน จึงเกิดผลขึ้น หรือเพราะเหตุนั้นดับ จึงเป็นปัจจัยให้ผลนั้นดับ
สมาธิ,ฌาน ที่เป็นเหตุปัจจัยให้สงบระงับชั่วคราว(วิกขัมภนวิมุตติ)ของกิเลส(สิ่งขุ่นมัว)ที่ทำให้เกิดทุกข์ คือกิเลสในนิวรณ์ทั้ง ๕
สัมมาสมาธิ เป็นเหตุปัจจัยเครื่องหนุนการเจริญวิปัสสนา
การเจริญวิปัสสนา เป็นเหตุปัจจัยเครื่องหนุนปัญญา(สัมมาญาณ)
ปัญญา(สัมมาญาณ) เป็นเหตุปัจจัยเครื่องหนุนให้เกิดสัมมาวิมุตติ คือความสุขจากการหลุดพ้นจากกองทุกข์
กล่าวโดยย่อ สังขารทั้งปวงล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยทั้งสิ้น
เหตุ หมายถึง สิ่ง, สิ่งต่างๆ, สิ่งที่ก่อเรื่อง
ปัจจัย หมายถึง เครื่องสนับสนุน หรือเครื่องปรุงแต่งกัน ให้เกิดสิ่งอื่นหรือผลอื่นขึ้น
เหตุปัจจัย จึงมีความหมายที่ว่า การที่มีเหตุคือสิ่งต่างๆ มาเป็นเครื่องสนับสนุนหรือเครื่องปรุงแต่งกันหรือประชุมกัน จนเกิดอีกสิ่งหนึ่งขึ้น
ดังเช่น น้ำ (H2O) อันย่อมเป็นสังขารเพราะความที่เกิดแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นอย่างหนึ่ง ชนิดรูปธรรม ที่ย่อมประกอบด้วย เหตุ อันมี ไฮโดรเจน(H) ๒ อะตอม กับออกซิเจน(O) ๑ อะตอม และถ้ากล่าวกันโดยละเอียดก็ต้องกล่าวด้วยว่า มีแรงที่มากระทำหรือปรุงแต่งอีกด้วย, ทั้ง ๓ นี้มาเป็นปัจจัยกันหรือปรุงแต่งกันขึ้น เป็น H2O หรือสิ่งที่เราเรียกกันโดยสมมติทางโลกในภาษาไทยว่า น้ำ ถ้าเราพิจารณาโดยแยบคายจะพบว่าทั้ง H และ O ที่ก่อนมาประชุมหรือก่อนมาปรุงแต่งกันนั้นต่างก็เป็นของในสภาวะเป็น ก๊าซ ไม่มีตัวตนรูปร่างให้แลเห็นหรือสัมผัสได้ชัด ส่วนแรงนั้นก็ย่อมแลไม่เห็นเป็นปกติธรรมดา แต่เมื่อมีเหตุทั้ง ๓ เป็นปัจจัยกันดังกล่าว ย่อมเกิดอีกสิ่งหนึ่งขึ้นคือน้ำ มีสภาพแปรปรวนเปลี่ยนไปเป็น ของเหลว ที่มองเห็น และสัมผัสได้, เมื่อรวมตัวปรุงแต่งกัน เป็นเหตุปัจจัยกันแล้วย่อมเกิดน้ำขึ้น ที่เป็นฆนะคือมีความเป็นกลุ่ม เป็นมวลรวมของกันและกันนั่นเอง คือเมื่อเป็นกลุ่มก้อนเป็นมวลแล้วก็ให้แลเห็นว่าเป็นน้ำ แลดูไม่เห็นได้เลยว่ามาจาก H และ O ทั้งๆที่ความจริงอย่างยิ่งหรือปรมัตถ์แล้ว ก็ยังประกอบอยู่ด้วยเหตุเหล่านั้นอยู่ คือ ทั้ง H และ O และย่อมประกอบด้วยแรงปรุงแต่งอีกด้วย จึงเป็น H2O ขึ้นนั่นเอง
ดังนั้นเมื่อเราเห็นน้ำ ถ้าเรามีสติระลึกรู้เท่าทัน เราก็รู้ กล่าวคือเป็นการหยั่งรู้ได้ด้วยปัญญาว่า เกิดแต่เหตุปัจจัยของ H และ O ที่เมื่อรวมเป็นฆนะกลุ่มก้อนแล้ว เกิดมายาให้เห็นว่าเป็นน้ำ นั่นเอง
เพราะความเป็นเหตุปัจจัยดังนี้นี่เอง จึงเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารต่างๆทั้งปวงขึ้นไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรูปธรรมหรือนามธรรม และเพราะสังขารเป็นไปดังนี้นี่เอง ที่มิใช่เป็นสิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริง จึงเกิดอาการ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นผลตามมา, เหตุปัจจัย จึงกล่าวได้ว่า เป็นต้นกำเนิดแห่งธรรมนิยามหรือพระไตรลักษณ์ กล่าวคือฆนะหรือกลุ่มก้อนที่ปรุงแต่งขึ้นมานั้น ยังมีความไม่สมบูรณ์ในตัวเอง ก็เพราะความที่มันไม่ใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริง ดังแสดงข้างต้นเรื่องน้ำว่า ความจริงแล้วยังประกอบอยู่ด้วยทั้ง H และ O ตลอดจนแรงที่มากระทำ จริงๆแล้วจึงมีสภาพที่เหตุต่างๆถูกปรุงแต่งจากแรงกระทำบางอย่างที่บีบคั้นอย่างแอบแฝงอยู่ ซึ่งไม่อาจเห็นได้ตามปกติธรรมดาๆ การถูกปรุงแต่งขึ้นเป็นสภาพที่ถูกกระทำหรือบีบคั้นด้วยแรงต่างๆให้เกิดขึ้น และแรงกระทำหรือแรงปรุงแต่งที่บีบคั้นอยู่เหล่านั้นก็ย่อมไม่เที่ยงด้วยเป็นสังขารอย่างหนึ่งเช่นกัน ดังนั้นเมื่ออ่่อนแรงหรือหมดแรงกระทำคือหมดแรงของการปรุงแต่งแล้ว สังขารทั้งปวงที่ถูกร้อยรัดอยู่ด้วยแรงปรุงแต่งย่อมคลาย,ย่อมคืนสู่สภาพเดิมๆ โดยธรรมหรือธรรมชาติ จึงเกิดการแปรปรวนต่างๆขึ้นเพื่อคืนสู่สภาพเดิมๆก่อนการปรุงแต่ง จึงเกิดอาการอนิจจังไม่เที่ยง เกิดการแปรปรวนขึ้นในสังขารต่างๆทั้งปวงล้วนสิ้นนั่นเอง และแม้แต่ตัวเหตุของน้ำเองคือทั้ง H และ O เหล่านี้ ก็ยังประกอบมาแต่เหตุปัจจัยอีกเช่นกันของบรรดา proton, electron, neutron ฯ.
เมื่อเกิดการอนิจจัง ไม่เที่ยง แปรปรวนขึ้นแล้ว หมายถึงย่อมมีการแปรปรวนการเปลี่ยนแปลงในสังขารนั้นๆ เพื่อให้หลุดออกจากการแรงบีบคั้นที่ปรุงแต่งขึ้นนั้นๆ จนเมื่อเปลี่ยนแปลงจนถึงที่สุด กล่าวคือจนหมดแรงกระทำหรือหมดแรงปรุงแต่งโดยสิ้นเชิงแล้ว หมายความว่า สังขารนั้นๆย่อมคืนสู่สภาพเดิมๆก่อนการปรุงแต่ง แม้ในขั้นแรกอาจจะไม่ใช่สภาพเดิมสุดก็ตามที สังขารทั้งปวงจึงย่อมหมดสภาพของความเป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นมวลรวมหรือฆนะ ของการปรุงแต่ง คือการแตกสลายหรือดับไปในที่สุดนั่นเอง ดังเช่น น้ำ H2O ก็กลับคืนสู่ H และ O, รูปหรือรูปขันธ์ก็คืนสู่ธาตุ ๔ ฯ กล่าวคือสังขารทั้งปวงล้วนเป็นดั่งนี้ล้วนสิ้น
ดังนั้นสังขารทั้งปวง จึงล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยทั้งสิ้น ทั้งรูปธรรมและนามธรรม กล่าวคือ ไม่มีเหตุ-มาเป็นปัจจัยกัน-ก็ไม่เกิด เมื่อมีเหตุ-มาเป็นปัจจัยกัน-ย่อมเกิดขึ้น เป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติหรือที่เรียกว่าอสังขตธรรมจึงมีความเที่ยงและอกาลิโก คือเป็นจริงอยู่อย่างนี้ตลอดมาและตลอดไป
รูปขันธ์หรือรูป อันเป็นรูปธรรม ก็เกิดแต่เหตุปัจจัยของธาตุ ๔ หรือมหาภูตรูป
เวทนาขันธ์หรือเวทนา แม้เป็นนามธรรม ก็เกิดแต่เหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยกันจนเกิดการผัสสะ จึงเกิดเวทนาขึ้น
สัญญาขันธ์หรือสัญญา อันเป็นนามธรรม ก็เกิดแต่เหตุปัจจัยของหทัยวัตถุคือสมอง ร่วมด้วยอดีตคือการเคยเกิดเคยเป็นจากขันธ์ ๕ ในอดีต
สังขารขันธ์หรือสังขาร อันเป็นนามธรรม ก็เกิดแต่เหตุปัจจัยของขันธ์อื่นๆทั้ง ๔
วิญญาณขันธ์หรือวิญญาณ อันเป็นนามธรรม ก็เกิดแต่เหตุปัจจัยของการกระทบกันของอายตนะภายนอกและภายใน ที่ย่อมเกิดขึ้นในผู้มีชีวิต
ชีวิตหรือมนุษย์ที่เห็น อันเป็นรูปธรรม ก็เกิดแต่เหตุปัจจัยของขันธ์ทั้ง ๕
ความทุกข์ อันเป็นนามธรรม ก็ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยตามวงจรปฏิจจสมุปบาท
เงา อันเป็นรูปธรรม ก็ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยของ แสง วัตถุทึบแสง และพื้นที่รับแสง ฯ. (รายละเอียดอยู่ในเรื่อง จิต คืออะไร?)
ฝน อันเป็นรูปธรรม ก็ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยต่างๆปรุงแต่งกันขึ้น ดังเช่น น้ำ การระเหย ความร้อน ความแตกต่างของอุณภูมิ การควบกลั่น ฝุ่นละออง แรงดึงดูดของโลก ฯลฯ.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น