เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

กบเฒ่านั่งเฝ้ากอบัว

href="https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEgUBLkcFBVzSNVSbVz3q1XQj1Z06eRJTNCRkwQfU5_5aAc055v1muhkFNR_Rm1H2CaaZ66jBElnuJ3wKJi48Thtx4eCNI8CV6_RLhW3yktFxezDHrFL9M0V7okL3sgZmf54nmv1t-8j-yI/s1600/frog-03.jpg">
กบเฒ่านั่งเฝ้ากอบัว

พวกเราเป็นผู้มีบุญวาสนามาก เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า การที่พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ในโลกนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก

เราจะได้พบท่านก็ยาก เมื่อพบท่านแล้วจะได้ฟังธรรมท่านก็ยาก ได้ฟังธรรมแล้วจะได้บวชปฏิบัติอยู่ใกล้ท่านก็ยาก หรือแม้แต่บวชแล้วจะมีศรัทธาก็ยาก ก็ลำบากท่านว่าอย่างนั้น ผู้บวชแล้วเข้าไม่ถึงพระพุทธเจ้าก็มีนะอย่านึกว่าถ้าบวชแล้วจะได้เข้าใกล้พระพุทธเจ้า ถ้าไม่ได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของท่าน ก็ไม่ได้ชื่อว่าเข้าใกล้พระพุทธเจ้า ให้พากันเข้าใจ ดังนั้น ผู้รู้จะเกิดขึ้นภายในจิตใจของมนุษย์ ให้รู้แจ้งแทงตลอดนี้จึงหาได้ยาก บุคคลที่มีเจตนา มีศรัทธามาสอนพวกเรา ให้เกิดความรู้ความเห็นในความดีความชั่ว ในบุญในบาป นี้ก็ยาก และจะได้ฟังธรรมของท่านนั้นก็ยาก

อย่างเราฟังธรรมกันโดยทั่วไปทุกวันนี้ ก็ฟังแต่นิทานพื้นบ้าน เรื่องการะเกดบ้าง สินชัยบ้าง แตงอ่อนแตงแก่บ้าง ฟังกันเล่นๆ อันนั้นไม่ใช่ธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นนิยายฟังกันสนุกเฉยๆ ถ้าฟังธรรมพระพุทธเจ้ามันได้บุญนะ ได้ในปัจจุบันนี้นี่แหละ ธรรมที่จะสอนสัตว์ทั้งหลายนั้นไม่ใช่ง่าย ถ้าคำสอนใดไม่เป็นไปเพื่อหายพยศ ลดมานะ ละความชั่วแล้ว ก็ไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมของพวกเดียรถีย์ ของพวกชาวนิครนถ์ มันไม่ได้เห็นความจริง ไม่ได้ระบายความทุกข์ออกจากใจ ไม่หายสงสัย ยังไม่ถูกธรรมะ

ผู้ไม่ได้ปฏิบัติธรรมะ ฟังธรรมะแล้วจะปฏิบัติธรรมนั้นยาก มันยากจะได้เห็น ยากจะได้ฟัง ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น ควรรู้ได้ไตร่ตรอง และเห็นตามความเป็นจริงได้ ท่านไม่ได้สอนต่ำสอนสูงอะไรท่านสอนพอดี สอนธรรมตามบุคคล เหมือนอย่างเด็กตัวเล็กๆ มีกำลังน้อย ท่านก็ไม่ให้แบกหนัก ให้แบกพอดี มันก็แบกไปได้ ผู้ใหญ่มีกำลังมาก ท่านก็ให้แบกสมกับกำลังของผู้ใหญ่ นี้ก็ได้ประโยชน์เรื่องมันเป็นอย่างนี้

อันนี้ฉันใด พวกเราจะมีวัดวาอารามปฏิบัติอย่างนี้ก็หายากไม่มีทุกกาลนะโยม มีเป็นบางครั้งบางคราว นานๆเราจึงจะได้พบครั้งหนึ่ง บางคนบุญไม่มี วาสนาไม่ถึง ก็ไม่เห็นอย่างนี้ก็มี

อาตมาเห็นโยมคนหนึ่งอยู่บ้านอาตมา (บ้านก่อ) บ้านอยู่ริมวัดแกไปไหนมาไหนก็เดินผ่านวัดทุกวัน แต่ไม่รู้จักอะไร แกเคยฟังเทศน์ก็ฟังแต่แหล่มัทรี แหล่ใส่หูจนหูจะหนวก ก็ไม่รู้จักธรรมะ ต่อมาย้ายบ้านไปอยู่อำเภอวานรนิวาส โชคดีที่ได้ไปฟังธรรม เห็นบุญ เห็นบาป เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กลับมาคราวนี้เลยบวชเป็นพระ แกบอกว่า "มันชั่วจริงๆครับท่านอาจารย์" นี่แหละอยู่ใกล้วัดน่าจะได้บุญ ได้กุศล แต่ไม่รู้เรื่อง สมกับที่ท่านว่า

กบเฒ่านั่งเฝ้ากอบัว อยู่บนหัวกลิ่นบัวบ่ต้อง

แมงภู่ง่องบินผ่ายแอ่วมา เอาเกษาดอกบัวไปจ๊อย

กบอยู่กอบัว แต่ไม่รู้จักบัว ดอกบัวจะบานจะตูม จะร่วงจะโรยก็ไม่รู้เรื่อง วันดีคืนดีอาจโดนด้ามเสียมเขาหรอก นี้ฉันใด ตาแก่ คนนั้นก็เหมือนกัน อาตมาเคยเทศน์ให้ฟังว่า กบเฒ่านั่งเฝ้ากอบัว นี่บรรพบุรุษเราท่านว่าไว้ถูก อยู่ใกล้วัดใกล้วาน่าจะรู้จักธรรมะ แต่ไม่รู้เรื่องเลย หนีจากบ้านไปอยู่ที่อำเภอวานรฯ จึงได้ไปฟังเทศน์พระกรรมฐานที่โน่น นี้ท่านว่า ธัมโม จะ ทุลละโภ โลเก การที่ได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้าเป็นการยาก การทำบุญจะถูกบุญนี้ก็ยาก นี้ก็ลำบากบุญกุศลจะเกิดขึ้นกับจิตใจก็ยากลำบาก เพราะอะไร เพราะกระจกเรามันไม่สว่าง ยังไม่มีปัญญา พวกเราจงเข้าใจ

พระพุทธเจ้าของเราทรงเคยเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่เป็นสัตว์สาวาสิ่ง ขนาดนกกระจาบ โตถึงช้าง หรือในระหว่างที่เป็นมนุษย์ ท่านก็เป็นหมดทุกอย่าง เป็นคนร่ำคนรวย เป็นคนยากคนจน ท่านก็ผ่านมาได้ เราก็เหมือนกัน จะอยู่ป่า อยู่เขา ไม่รู้จักศีลรู้จักธรรม ก็ไม่ต้องน้อยอกน้อยใจ เพราะบุญของเรามีอยู่เท่านั้น แต่เราสามารถทำดีได้ถ้าจะทำ มือเราก็มี ร่างกายเราก็มี ตาหูเราก็มี ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง มีผู้แนะนำพร่ำสอนอยู่ นี้เรียกว่าสะสมทุนของเรา คือเราจะลงมือทำมาค้าขายวันไหนก็ได้ เพราะสมบัติเรามีแล้ว มีสมบัติแล้ว มีเครื่องรับแล้ว เมื่อได้ของไม่ดี เราทำให้มันดีได้ มันผิดทำให้ถูกก็ได้มันแก้ได้

พระพุทธเจ้าหรือสาวกทั้งหลายก็ดี ท่านไม่ได้เป็นพระอรหันต์มาก่อน ท่านเคยเป็นชาวไร่ชาวนา ขี้เหล้าเมายา เป็นคนลักเล็กขโมยน้อยมาเหมือนกัน คือยังไม่รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ คนไม่รู้จักก็ทำอะไรได้ทุกอย่าง แต่เมื่อรู้แล้วท่านก็เลิก ท่านก็ละ ถอนออกมาได้ ฟังธรรมแล้วเข้าใจ รู้นั่นรู้นี่ ตรัสรู้ธรรมะได้

เรื่องตรัสรู้ธรรมะ เราได้ยินว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมะ ก็นึกว่าเป็นเรื่องของท่านทุกอย่าง ไม่ใช่นะ เป็นเรื่องของเราทุกคนก็ได้ อันไหนรู้แล้ว ละ นั่นแหละเป็นเครื่องหมายของเรา เหมือนเราเคี้ยวกินอะไรบางอย่าง รู้สึกคัน รู้แล้วก็คายทิ้ง ความรู้ชนิดนี้แหละ ปุถุชนเราควรรู้ เหมือนหัวกลอย เมื่อรู้ว่ามันคัน กินไม่ได้ เรายังจะกินอยู่หรือก็มีแต่จะทิ้งเท่านั้น มันรู้อย่างนี้แหละ


ทีนี้รู้ซึ้งเข้าไปกว่านั้นอีก รู้ว่าอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี มันผิด ไม่เป็นประโยชน์ เดือดร้อนทั้งแก่ตนและผู้อื่น พิจารณาแล้วรู้ได้ นี้เรียกว่าความรู้อันหนึ่ง ถ้ามันรู้ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีอะไรสามารถคลี่คลายจิตใจของเราได้ อย่างเราจะทำดี ใครว่าไม่ดีอย่างไรเราก็ไม่ทิ้ง เราทำถูกอยู่ ใครว่าผิด เราก็ไม่ทิ้ง เราไม่บ้า เขาว่าบ้า เราก็ไม่ทิ้งไป เป็นบ้าอย่างเขาว่า แต่คนเราชอบทิ้งเจ้าของ เราไม่บ้า เขาว่าบ้าก็โกรธ เลยเป็นบ้าอย่างเขาว่า เราทำดีเขาว่าไม่ดี ไปโกรธเขา เลยไปเอาของไม่ดีกับเขา มันทิ้งเจ้าของอย่างนี้แหละ ไม่รู้ตามความเป็นจริงของเจ้าของ

ภาษาธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนั้น ก็สอนให้แก่พวกเราทั้งหลายนี้แหละ พวกเราที่เป็นปุถุชนให้เป็นอริยชน เหมือนเราจะสร้างบ้านเรือน เราก็ต้องหาสิ่งที่ยังไม่สำเร็จ จะเป็นเสา เป็นขื่อ เป็นแป ฯลฯ มันไม่ได้สำเร็จมาเลยทีเดียวหรอก เราต้องไปแปลงสภาพมันขึ้นมา เสาเรือนก็ดี เดิมเกิดจากไม้ที่มันยาวมันคดอยู่ ซึ่งรวมอยู่กับต้นไม้นั่นแหละ เราต้องไปเลื่อย ไปแปรรูปออกมา คนฉลาดก็สามารถนำเอามาสร้างบ้านเรือนได้

เราก็เหมือนกัน ยังเป็นปุถุชนอยู่ มีลูก มีเมีย มีอะไรต่างๆ เป็นธรรมดาของโลก แต่ถ้าเรารู้จักการภาวนา รู้จักธรรมะแล้ว ก็สามารถระบายสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ผิดออกได้ ไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้ ไม่น้อยก็มากเหมือนกับเราแบกของหนัก เมื่อเอาทิ้งไปทีละน้อยๆ ทิ้งบ่อยๆ มันก็เบาได้ เมื่อทิ้งไปๆ ผลที่สุดก็วางหมด เหมือนกับเราแบกไม้ฟืนนั่นแหละ เมื่อถึงกระท่อมก็ทิ้งโครมเลย มันก็เบาเห็นไหมล่ะ นี่ความเบาเป็นอย่างนี้

ความชั่วทั้งหลายที่เราทำมามันหนักใจของเรา เราค่อยฝึกหัดปฏิบัติไปๆ ใจมันก็ค่อยสว่างไสว ของยากก็เลยกลายเป็นของง่ายของมืดมันก็สว่าง ของสกปรกมันก็สะอาด รู้จักหลักประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น รู้เรื่องอย่างนั้นคือธรรมะ ถ้าไม่รู้เรื่อง ท่านบอกว่า อนิจจังทุกขัง อนัตตา อย่างนี้เราก็ไม่รู้อะไร

คนเราถ้าไม่ได้อบรมธรรมะ ก็เหมือนกับนักมวยที่ไม่ได้ซ้อมหรือเหมือนหมอลำที่ไม่ได้เรียน ถึงเวลาก็ขึ้นเวทีเลย จะเป็นอย่างไรจะน่าฟังไหม จะน่าฟังได้อย่างไร เพราะไม่ได้ท่องกลอนลำเลย มวยไม่ได้ซ้อมก็เช่นกัน พอขึ้นเวที คู่ชกเขาก็จะเลือกชกเอาตามใจชอบนั่นแหละ

ฉันใด เราอยู่กับลูกหลาน กับสิ่งของ สกลร่างกาย ล้วนแต่เป็นของไม่จีรังยั่งยืน เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง วันนี้เสียไป พรุ่งนี้ได้มาวันนี้ดีใจ พรุ่งนี้เสียใจ มันเป็นอย่างนี้ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพราะอนิจจัง มันไม่เที่ยง ไม่แน่นอน ทั้งภายนอก ภายในสกลร่างกาย ไม่แน่นอนทั้งนั้น วันนี้ดี พรุ่งนี้อาจเจ็บโน่นปวดนี่ก็ได้ มันเป็นอยู่อย่างนั้น ถ้าคนไม่เข้าใจก็น้อยอกน้อยใจในสิ่งเหล่านี้ ว่าทำไมจึงเป็นอย่างนี้ อัชฌัตตา ธัมมา ธรรมภายใน ของภายใน คือสกลร่างกายของเรานี้ บางทีเจ็บโน่นปวดนี่ เจ็บขา ปวดท้อง มันไม่แน่นอน พะ-หิทธา ธัมมา ธรรมภายนอก คือของผู้อื่น หรือสิ่งของต่างๆ เช่นต้นไม้ ภูเขา เป็นต้น

พวกเรามีทั้งโยมผู้หญิง โยมผู้ชายก็เหมือนกัน ถ้าพูดไม่ถูกใจก็โกรธ ถ้าพูดถูกใจก็หัวเราะ เอามะขามเปรี้ยวมาให้ทาน ก็หลับตาหยีไปทุกคนเหมือนกันนั่นแหละ ถ้าหวานก็หวานเหมือนกัน มันเหมือนกันโดยสัณฐาน ลักษณะจิตใจนี้ก็เหมือนกัน สิ่งทั้งหลายเหล่านี้แหละที่เราอาศัยอยู่เคยรู้เรื่อง แต่คนเราไม่เป็นอย่างนั้น อันนี้ของเรา อันนั้นของเขา อันนี้ของฉัน อันนั้นของคุณ เกิดเรื่องเกิดราวจนยิงกันฆ่ากันความจริงมันไม่มีอะไรสักอย่าง เมื่อยังอยู่ก็ทำมาหากินไป ผลที่สุดแล้วก็ไม่ได้เอาอะไรไปหรอก ตอนมาก็ไม่ได้เอาอะไรมา เวลาไปก็ไม่ได้เอาอะไรไป ทำมาไว้ตรงนี้ก็ทิ้งตรงนี้ ถ้าคนรู้จักธรรมะแล้วก็ผ่อนผันได้ อภัยกันได้ บางสิ่งบางอย่างผู้ไม่รู้อะไรก็เอาแล้ว ไม่ยอมกัน

อาตมาเคยเห็นหมาตัวหนึ่ง เอาข้าวให้มันกิน มันกินแล้วกินไม่หมด มันก็นอนเฝ้าอยู่ตรงนั้น อิ่มจนกินไม่ได้แล้ว ก็ยังนอนเฝ้าอยู่ตรงนั้นแหละ นอนซึม ประเดี๋ยวก็ชำเลืองตาดูอาหารที่เหลือ ถ้าหมาตัวอื่นจะมากิน ไม่ว่าตัวเล็กตัวใหญ่ก็ขู่... โอ้...ไก่จะมากินก็ โฮ่งๆๆท้องจะแตกอยู่แล้ว จะให้เขากินก็ไม่ได้ หวงไว้

มาดูคนก็เหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักธัมมะธัมโม ก็ไม่รู้จักผู้น้อยผู้ใหญ่ ถูกกิเลสคือ โลภะ โทสะ โมหะ เข้าครอบงำจิตใจ แม้จะมีสมบัติมากมายก็หวงไว้ ไม่รู้จักเฉลี่ยเจือจาน แม้แต่จะให้ทานแก่เด็กยากจน หรือคนชราที่ไม่มีจะกินก็ยาก อาตมามาคิดดูว่ามันเหมือนสัตว์จริงหนอ คนพวกนี้ไม่มีคุณสมบัติของมนุษย์เลย พระพุทธองค์ตรัสว่ามนุษย์ดิรัจฉาโน มนุษย์เหมือนสัตว์ดิรัจฉาน เป็นอย่างนั้นเพราะขาดความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา



ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงว่าให้พากันมีศีล ความมีศีลดีอย่างไรบางคนว่ามีศีลแล้วจะไปสวรรค์ ไปนิพพาน เรื่องสวรรค์ เรื่องนิพพานก็คือเรื่องความสุขหรือความดีทั้งหลาย ถ้ามีศีลธรรมแล้วอยู่กันสบายไม่ก่อกวน ไม่สร้างความเดือดร้อนใส่หมู่ใส่คณะ ใส่บ้านใส่เมือง ใส่พี่ป้าน้าอา ใส่เจ้าใส่นาย บ่าวไพร่ราษฎร ไม่มี ถ้าเรามีศีลธรรมก็อยู่เย็นเป็นสุข สมกับที่พระท่านว่า

สีเลนะ สุคะติง ยันติสีเลนะ โภคะสัมปะทา

สีเลนะ นิพพุติง ยันติตัสมา สีลัง วิโสธะเย

เวลาให้ศีลสุดท้ายท่านสรุปอย่างนี้ พวกเราว่า ม้วนศีล (สรุปหรือบอกอานิสงส์) ทำไมจึงว่าม้วนศีล ก็เหมือนเราสานตระกร้านั่นแหละ สานแล้วเราก็ม้วน (ขมวด) ปากมัน แล้วทำหูใส่ ทำสายใส่

สีเลนะ สุคะติง ยันติ จะมีความสุขเพราะศีล มีความสุขเพราะทำถูก นายจ้างกับลูกจ้างมีความซื่อสัตย์ต่อกัน หรือบ่าวไพร่ราษฎรพี่น้องก็ซื่อสัตย์ต่อกัน มันก็สบายเท่านั้น สีเลนะ โภคะสัมปะทาสมบัติทั้งหลายก็มีขึ้นมา ถึงมีน้อยก็สบาย มีหลายก็ไม่ลำบาก ไม่แก่งแย่งกัน นี่คือความสบาย

ถ้าพูดถึงศีล เอากระเป๋าวางไว้ริมทางก็ไม่หาย ของอยู่บ้านก็ไม่หาย สบาย ถ้าคนไม่มีศีลล่ะ อยู่ในกระเป๋ากางเกงมันยังแย่งเอาเลย คนแก่ขึ้นรถไฟเอาสตางค์ใส่กระเป่า เสร็จพวกนั้น คนแก่ตกรถเลย นี่ถ้าไม่มีศีลมันเดือดร้อนอย่างนี้ มันเป็นทุกขะติง ยันติ ไม่ใช่สุคะติง ยันติ ทุกข์เพราะเบียดเบียนกัน กูเอาของมึง มึงเอาของกูท่านว่าสีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา เพราะฉะนั้นผู้มีน้อยก็สบายตามน้อย ผู้มีมากก็สบายตามมาก เหมือนสัตว์หรือแมลงบางจำพวก มี ๒ ขาเท่ามนุษย์นี้ก็สบาย มีสี่ขาก็สบาย มีหลายขาเหมือนกิ้งกือ มันก็สบาย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีศีล ใครมีมากก็สบายใครมีน้อยก็สบาย จะไปหาที่ไหนกันล่ะ ไม่ใช่ชาติหน้า ไม่ใช่ชาติไหนชาติปัจจุบันนี้แหละ ถ้าพากันสร้างบุญสร้างกุศล คือสร้างจิตใจของตน คนทุกวันนี้สร้างบุญ ไม่รู้จักว่าบุญอยู่ตรงไหน ไม่รู้เรื่อง พากันไปทำบุญ ก็ไปรื่นเริงสนุกสนาน กินเหล้าเมายา ก็เสร็จกันแค่นั้นสนุกเท่านั้น

บุญกุศลคือความดี ไม่ก่อกวน ไม่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายดังนั้นจึงว่าเราไม่เคยได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้าเลย เวลาของหาย ลูกตาย เมียตาย จึงพากันร้องไห้ตาเปียกตาแฉะ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นเพราะไม่ได้ฝึกไว้ ไม่ได้ซ้อมไว้ ไม่รู้ว่าของมันเกิดได้ตายได้ มันหายเป็น มันเป็นเรื่องธรรมดาจริงๆนะ ดูซิ บ้านไหนเมืองไหนมันก็เป็นอย่างนี้

พระพุทธเจ้าท่านให้มาภาวนา ภาวนาคืออะไร คือมาทำจิตใจให้สงบเสียก่อน ปกติใจมันมีอะไรหุ้มห่ออยู่ เป็นใจที่ยังเชื่อไม่ได้ ถ้ามาทำให้สงบแล้ว มันจะเกิดความรู้สึกขึ้นมา ใจมันสบาย สงบ มันจะแสดงอะไรออกมา เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นสัญญา เห็นสังขาร เห็นวิญญาณ มันจะค่อยพิจารณาไป เกิดความรู้ว่า อันนี้มันพาดีพาไม่ดีพาผิดพาถูก ท่านให้พิจารณาอันนี้ก่อน เรียกว่า สมถภาวนา เมื่อใจเราสบาย มันสว่าง มันขาว มันสงบ ความนึกคิดที่จิตใจก็สบายขึ้นมันต่างจากความนึกคิดของคนที่ไม่สบายใจ มีความโลภ ความโกรธความหลงอยู่ในใจ คือคนนึกคิดไม่ดี ใจไม่สบาย คิดไปทั่ว คิดจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน คิดไปสารพัด คิดแต่เรื่องไม่สบายนั่นแหละ ถ้าใจสบายล่ะ คิดไปไหนก็มีแต่เรื่องสบาย เรื่องสงบ เรื่องระงับ มีแต่เรื่องเป็นประโยชน์ทั้งนั้น ถ้าจิตใจมันเป็นแล้ว ก็เป็นอย่างนั้น ดังนั้นท่านจึงให้พิจารณาเรียกว่า ภาวนา



อย่างพวกเราทั้งหลายที่พากันทำวันนี้ บางคนอาจไม่เคยทำเลยเคยแต่ไปเรียนเอาคาถากับคนนั้นคนนี้ ได้คาถาแล้วก็ไปภาวนาให้พ่อให้แม่ ให้คนโน้นคนนี้ สัตว์โน้นสัตว์นี้ ให้ตนเองไม่มี ตนไม่มีความดีแต่จะให้ความดีแก่คนอื่น จะเอาความดีที่ไหนไปให้เขา อย่างเราจะภาวนาให้พ่อแม่หรือใครก็ตาม ทั้งที่มีชีวิตอยู่ หรือล่วงลับไปแล้วเบื้องแรกเราต้องภาวนาให้ตัวเองก่อน เพื่อชำระความชั่วออกจากจิตใจให้ความดีปรากฏขึ้นในตัวเรา ต่อจากนั้นจึงแผ่ความดีที่ตนมีตนได้ให้แก่คนอื่น อย่างนี้จึงจะสำเร็จประโยชน์ได้ ไม่ใช่ว่าให้ทั้งๆที่ตนเองไม่มี นี่คือความเข้าใจผิด ภาวนาแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร


การภาวนา คือทำให้เกิดขึ้น มีขึ้น ที่ไม่รู้ทำให้มันรู้ ที่ไม่ดีทำให้มันดี ใจเป็นบาปเป็นกรรม ทำให้เป็นบุญเป็นกุศล การสร้างบุญไม่ใช่ทำโดยการให้ทานอย่างเดียว การรักษาศีล การเจริญเมตตาภาวนาการฟังธรรม เหล่านี้เป็นบุญทั้งหมด เป็นเหตุที่จะให้บุญเกิด บางคนจะทำบุญแต่ละที ก็คอยแต่จะให้มีเงินมากๆเสียก่อน เลยไม่ได้ทำสักที เห็นคนอื่นทำก็ออนซอน* กับท่าน คิดว่าเพิ่นบุญหลายหนอคนไม่รู้จักบุญ บุญไม่ใช่อย่างนั้น การละความชั่ว ละความผิดมันก็เป็นบุญแล้ว การรักษาศีล การเจริญภาวนา การฟังพระธรรมเทศนาทำให้เกิดความเฉลียวฉลาดขึ้นมา เหล่านี้ก็ทำให้เกิดบุญขึ้นได้ แล้วคนเราสมัยนี้เข้าใจว่า การทำบุญ ก็คือการให้ทานเท่านั้น เพราะส่วนมากได้ยินพระท่านเทศน์เรื่อง ทานบารมี ทานอุปบารมี ทานปรมัตถ-บารมี แต่ไม่ได้อธิบายให้เกิดความเข้าใจ

คนส่วนมากจึงมักเข้าใจกันว่า การทำบุญคือ การนำเอาสิ่งของไปถวายพระมากๆ คนยากจนก็เลยทำไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจภาษาบาลีดังที่กล่าว

ความจริงเรื่องการให้ทาน ท่านแบ่งไว้ ๓ ระดับ คือ การเสียสละสิ่งของภายนอก จัดเป็นทานบารมี การสละอวัยวะ จัดเป็นทานอุปบารมี การสละชีวิต จัดเป็นทานปรมัตถบารมี หรืออีกอย่างหนึ่งว่า ยอมเสียทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ยอมเสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตยอมเสียชีวิตเพื่อรักษาธรรม

เหล่านี้ถ้าเราเข้าใจก็ไม่มีปัญหา ไม่ว่าคนรวยคนจนก็สามารถทำบุญให้ทานได้ โดยเฉพาะทานที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองทรัพย์สินเงินทองคือ อภัยทาน ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ และทานชนิดนี้พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญด้วย ดังนั้นการสร้างคุณงามความดีมีอยู่หลายอย่าง ให้พากันเข้าใจ บางคนคิดว่าการทำบุญให้ทานได้ผลอานิสงส์มาก ก็ทุ่มเทใส่จนหมดเนื้อหมดตัว ไม่รู้เรื่อง

ส่วนคนรู้เรื่อง มีขนาดไหนก็ใช้ไปขนาดนั้น มันอยู่ที่การกระทำถ้าทำถูกมันเป็นบุญเป็นกุศลทุกอย่างนั้นแหละ ตัวอย่างเช่น การช่วยเขาขุดบ่อน้ำริมถนน เราผ่านไปก็ได้เห็น เขาทำอะไรก็ช่วยทำ ถามว่าได้บุญไหม ตอบว่าได้ ได้อย่างไร การช่วยเขาขุดบ่อน้ำต่อไปภายหน้าเราก็ไม่ต้องซื้อน้ำ ใครผ่านมาก็ไม่ต้องซื้อกิน เพราะเป็นน้ำสาธารณะให้ความสุขแก่มนุษย์ทั่วๆไป อย่างนี้เป็นต้น


อย่างเราอยู่ศาลา ก็ช่วยเขาปัดกวาด เขาถอนหญ้า เราก็ช่วยเขาทำอะไรก็ช่วย ไปอาศัยบ้านเขาอยู่ก็เหมือนกัน จะเป็น ๒ วัน๓ วัน ก็ต้องช่วยเขาทำในสิ่งที่เราทำได้ นี้เรียกว่าบุญ บุญมันอยู่ที่ใจของเรา บ้านไหนมีบุญเรารู้ได้ คนในบ้านรู้จักเคารพพ่อแม่ เคารพผู้เฒ่าผู้แก่ ทำอะไรก็มีความสุข มีความหมาย คนไม่รู้จักบุญก็วุ่นวายอยู่นั่น จะทำบุญแต่ละครั้งต้องฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ฆ่าวัว ไม่รู้จักเสียเลยจริงๆ บุญไม่ลำบากอย่างนั้นนะ ง่ายๆทำไปแล้วสบาย คิดขึ้นมาตอนไหนก็สบายใจ จะอยู่บ้านไหนเมืองไหนก็สบาย ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ถ้าเข้าถึงธรรมะแล้วเป็นอย่างนั้น

โยมผู้ชายก็รู้เรื่องโยมผู้หญิง โยมผู้หญิงก็รู้เรื่องโยมผู้ชาย คนหนึ่งโมโห อีกคนหนึ่งก็เฉยเสีย ปล่อยเสีย มันก็สบาย ถ้าไม่รู้จักศีลรู้จักธรรม ก็ทะเลาะกันทั้งเช้าทั้งเย็น กูหนึ่ง มึงสอง ไม่รู้จักหยุด ผลที่สุดก็พัง มันก็เดือดร้อน ถ้ารู้จักศีล รู้จักธรรม ไม่ต้องเถียงกันหรอก พูดกันคำสองคำก็รู้เรื่อง หยุด มีความเคารพกันอย่างนั้น ผู้ไม่มีศีลมีธรรมก็ดันกันอยู่นั้นแหละ กูสอง มึงสาม กูสี่ มึงห้า เอาตลอดคืนเลย อย่างนี้เรียกว่า หาความไม่ดีมาใส่ตัวเอง คือยังไม่เข้าใจธรรมะ ถ้ารู้จักธรรมะแล้ว โยมผู้หญิงผู้ชายอยู่ด้วยกันสบาย ซื่อสัตย์ต่อกัน จะพูดอะไรก็พูดแต่คำจริงคำสัตย์ ไม่นอกใจกัน อันไหนผิดไปแล้วก็ให้มันแล้วกันไป อย่าเก็บเอามาพูด มันก็จบ อันนี้ไม่อย่างนั้นของเก่าตั้งแต่สมัยไหนก็ขุดค้นมาว่ากัน จนเกิดทะเลาะกันวุ่นวาย

อยู่ในวัดวาอาราม พระเจ้าพระสงฆ์มีความสามัคคีกัน องค์หนึ่งพูดแล้วก็จบ ไม่มีปัญหา อยู่ในบ้านในเรือนก็เหมือนกัน พ่อแม่พูดแล้วก็แล้วกัน นี้เรียกว่าอำนาจของศีลของธรรม ถ้ามีศีล มีธรรม มันง่ายอย่างนี้ สีเลนะ สุคะติง ยันติ... เราจะมีปัญญาพ้นจากทุกข์ได้ก็เพราะศีลนี่แหละ ให้เราพิจารณาอย่างนี้

เมื่อก่อน มีโยมคนหนึ่งเป็นชาวส่วย มาหาอาตมา ถามว่า "ครูบาจารย์ ให้ข้าน้อยรักษาศีล จะให้กินอะไร" อาตมาตอบว่า "ก็กินศีลนั่นแหละ" กินอย่างไร แกสงสัย เลยบอกว่า รักษาไปเถอะ เดี๋ยวก็ได้กินหรอก แกคิดไม่ออก แย่จริงๆ วันหนึ่งแกมารักษาอุโบสถ แกบอกว่าไม่รู้คิดอย่างไรหนอ จึงไม่ให้กินข้าวเย็น ลองกินดูก็ไม่เห็นเป็นอะไร เห็นแต่มันอร่อยเท่านั้น แกว่า แล้วทำไมจึงไม่ให้กิน แกคิดไปเลยลองกินดูว่ามันจะผิดเหมือนผีเข้าจ้าวศูนย์หรือเปล่า กินดูแล้วก็ไม่เห็นเป็นอะไร ดีเสียอีก แกว่า ชั่วขนาดนั้นก็มีนะคนเรา แกมารักษาศีล อาตมาเลยบอกว่า เอ้า ให้รักษากันจริงๆ ลองดู ทุกวันนี้รู้จักแล้ว อาตมากลับไปเยี่ยมที่ภูดินแดง (สาขาที่ ๓) แกมากราบทุกปี มาสารภาพกับอาตมาว่า "โอ๊ย ครูบาจารย์ แต่ก่อนผมไม่รู้เรื่องจริงๆ ครูบาจารย์ว่าให้กินศีล ผมไม่รู้เรื่อง" เดี๋ยวนี้คิดได้แล้ว ก็กินศีลอย่างครูบาจารย์ว่า ทุกวันนี้เลยสบาย

คนเราให้รักษาศีล รักษาธรรม ก็กลัวแต่ทุกข์ยากลำบาก มันไม่ใช่อย่างนั้นนะ ศีลธรรมให้ความเบาความสบายแก่เรา ไม่มีโทษไม่มีภัย คิดไปข้างหน้า คิดไปข้างหลังก็สบาย ถ้ามีศีลธรรม คิดไปข้างหลัง ความผิดเราก็รู้จัก เมื่อรู้จักเราก็ละพวกนั้น ต่อไปก็บำเพ็ญคุณงามความดี มองไปข้างหน้าก็สบาย มองไปข้างหลังก็สบาย ดังนั้นความทุกข์ทั้งหลายมันอยู่ที่ความเห็นผิด ถ้าเห็นผิดมีทุกข์ทันที ถ้าเห็นถูกแล้วก็สบาย พระศาสดาท่านจึงให้สร้างความเห็น การฟังเทศน์ฟังธรรม ก็เพื่อสร้างความเห็นของเรา คือเรายังเห็นไม่ถูกต้อง

ความจริงสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันพอดี มันสม่ำเสมออยู่ทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนต้นไม้ในป่านั่นแหละ ต้นยาวก็มี ต้นสั้นก็มี ตรงก็มีคดก็มี ต้นที่มีโพรงก็มี มีทุกอย่าง มันพอดีของมัน คนต้องการต้นคดก็ไปเอา ต้องการต้นตรงก็ไปเอา อยากได้ต้นสั้นต้นยาวก็ไปเอามันเลยพอดีของมัน ในโลกนี้ก็เหมือนกัน มีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เราไม่รู้จักเอามาใช้ ถ้าเอามีดมาใช้ก็เอาสันมันมาใช้ มีดเล่มเดียวกันนั่นแหละ ใช้ไม่เป็นก็ไม่เกิดประโยชน์

ธรรมทั้งหลายก็เหมือนกัน ถ้าเราพิจารณาไม่ถูกเรื่องก็ไม่ได้บุญไม่ได้ประโยชน์ เหมือนคนฟังธรรมไม่เข้าใจ ไม่ได้ธรรมะ ปัญญาก็ไม่เกิด เมื่อปัญญาไม่เกิด ความเห็นถูกมันก็ไม่มี ถ้าความเห็นไม่ถูกต้อง การปฏิบัติก็ไม่เป็นผล ผลสุดท้ายฟังเทศน์ฟังธรรมก็เลยเบื่อเพราะฟังแล้วไม่ได้อะไรอย่างนี้ก็มี อันนี้เพราะความไม่เข้าใจในธรรมะถ้าเข้าใจในธรรมะแล้วไม่มีปัญหา สบาย

นั่นแหละท่านจึงบอกว่า ธัมโม จะ ทุลละโภ โลเก การที่จะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้านี้ก็ยาก คนพูดคนเทศน์มีเยอะ ที่ไหนๆก็มีไม่รู้ว่าพูดขนาดไหน คนปฏิบัติก็เยอะ ไม่รู้ปฏิบัติขนาดไหน ไม่รู้ถูกหรือผิด มันยาก

ปัพพะชิโต จะ ทุลละโภ ฟังธรรมแล้วจะได้บวช ในพระศาสนานี้ก็ยาก เหมือนกับญาติโยมจะบวชลูกบวชหลานแต่ละที มันหาโอกาสยาก ครั้นบวชแล้วจะมีศรัทธาประพฤติปฏิบัติตามธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นก็ยาก ดังนั้นทุกวันนี้มันจึงน้อยลงไปๆ

พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนให้เป็นคนมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาไม่รู้เรื่องจริงๆเหมือนกับสมัยก่อน มีประเพณีการทำต้นดอกผึ้ง การทำบุญต้นดอกผึ้งเป็นความเชื่อว่า ถ้าบิดามารดา หรือญาติสายโลหิตสิ้นชีวิตไปแล้ว เกรงว่าจะไม่มีที่อยู่ แล้วจะได้รับความลำบาก หากลูกหลานสร้างปราสาทดอกผึ้งอุทิศไปให้แล้ว ก็จะได้มีวิมานหรือปราสาทอยู่อย่างสบาย ไม่น้อยหน้าใครในเทวโลก ก็ทำกันไปตามประเพณีบางทีทำหมดขี้ผึ้งเท่ากำปั้นนี้ แต่เอาควายมาฆ่า เหล้าหมดไม่รู้กี่ลังทำกันอย่างนี้จะได้บุญเมื่อไร

ถ้าสมมติว่าเราตาย ลูกหลานทำต้นดอกผึ้งไปให้ เราจะต้องการไหม นึกอย่างนี้ก็น่าจะเข้าใจนะพวกเรา ต้นดอกผึ้งมันจะพาไปสวรรค์ไปนิพพานได้เมื่อไร มันเรื่องเกจิอาจารย์เขียนกันขึ้นมาว่าทำอย่างนี้ได้บุญหลาย ใครทำแล้วจะได้ไปเกิดเป็นนั่นเป็นนี่ เราลองมาพิจารณาดูซิว่า มันมีเหตุมีผลแค่ไหน นี่แหละคือการทำตามประเพณี ใครๆก็ทำกันมาอย่างนั้น แล้วก็มักอ้างว่าทำกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย อาตมาว่าจะทำมาตั้งแต่สมัยไหนก็ตามทีเถอะ ถ้ามันไม่ถูกก็ต้องทิ้งมันทั้งหมดนั้นแหละ

พระพุทธเจ้าท่านให้มีปัญญา คือให้รู้ตามความเป็นจริง ความจริงไม่ใช่อยู่ที่การกระทำสืบๆกันมา ความจริงอยู่ที่ความจริง เหมือนจิตใจมันโลภ มันโกรธ มันหลง มันไม่มีตัวรู้ มันก็ทำไปตามจิตที่มันหลงนั่นแหละ ก็เลยกลายเป็นประเพณีถือกันมาอย่างนั้น อันนั้นมันประเพณีของคน ไม่ใช่อริยประเพณี ไม่ใช่ประเพณีของพระพุทธเจ้าทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์ นี่แหละท่านว่าฟังธรรม แต่ไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ฟังธรรมจากเกจิอาจารย์ เลยทำกันไปอย่างนั้น

อย่างถึงเดือนห้าเดือนหกก็เหมือนกัน ก็ทำพิธีสะเดาะเคราะห์โดยทำกระทงหน้าวัว ขุดเล็บมือเล็บเท้าใส่ไป ส่วนมากจะทำกันตามที่ที่มีความเชื่อว่า จะมีผีหรือวิญญาณสิงสถิตอยู่ เช่น ตามทางแยกหรือต้นไม้ใหญ่ ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ตรงที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยๆ วิธีทำคือนำเอาต้นกล้วยมาทำเป็นกระทง สามเหลี่ยมบ้าง สี่เหลี่ยมบ้าง ตามความนิยม แล้วปักธงเล็กๆไว้โดยรอบ ภายในมีเครื่องสังเวย เช่น ข้าวดำ ข้าวแดง ต่อจากนั้นก็เชิญหมอผี หรือคนทรงมาทำพิธีสวดเซ่นผีหรือวิญญาณ มันไม่ถูกหรอก เหล่านี้มีแต่เรื่องนอกรีตนอกรอยคนอื่นทำก็ทำกันเลยไม่รู้เรื่อง

นี่แหละเพราะไม่ได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า ไปฟังแต่อย่างอื่นล้วนแต่ทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ไม่มีความหมายอะไร สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเนื่องจากการฟัง ท่านจึงให้ฟัง เหตุปัจจะโย อารัมมะณะปัจจะโย พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าสิ่งต่างๆ มีเหตุมีปัจจัย ถ้าเหตุดี ผลก็ดี ถ้าเหตุไม่ดี ผลก็ไม่ดี เหตุถูก ผลก็ถูกเหตุไม่ถูก ผลก็ไม่ถูก ให้ดูเหตุของมัน ผู้มีปัญญาก็ตรัสรู้ธรรมะ เราต้องพิจารณาว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ เหมือนที่กล่าวมานั้นแหละ การทำต้นดอกผึ้งนั้นจะกันนรกอเวจีได้ไหม อาตมาว่า ถ้าไม่หยุดทำความชั่วแล้ว มันหยุดความผิดไม่ได้ ให้เราพิจารณาอย่างนี้ ถ้าเรามีหลักพิจารณาอย่างนี้จะสบาย บุญก็จะค่อยเกิดขึ้น จะค่อยรู้ค่อยเห็นเรื่อยๆไป

ทุกวันนี้ บริษัทบริวารของพวกเราทั้งหลาย คือ ภิกษุ ภิกษุณีสามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา พระ เณร อุบาสก อุบาสิกาบริษัท ๔ ยังมีอยู่ แต่ก็น้อยไป หมดไป เราสังเกตได้ง่ายๆว่า ทุกวันนี้นักบวชนักพรตที่เป็นเนื้อนาบุญของพวกเรา ที่เป็น สุปฏิปันโนปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติตรง ญายปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ หาดูซิ มีไหม

ทุกวันนี้เราอ่านธรรมะกันทั้งนั้นแหละ แต่เป็นธรรมที่แต่งขึ้นภายหลัง เราฟังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไปอย่างอื่น อย่างบางตำรากล่าวว่าพระยาธรรมจะมาตรัส และจะนำตะแกรงทองคำมาร่อน เราก็เข้าใจว่าเป็นตะแกรงทองคำจริงๆ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง แม้แต่เรื่องพระยาธรรมก็เช่นกัน พากันเข้าใจว่าจะต้องคอยจนกว่าพระศรี-อารยเมตไตรยมาตรัส อันนี้มันไกลไป ไม่ใช่พระยาธรรมองค์นั้น ในที่นี้ท่านหมายถึง จะมีครูบาอาจารย์ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบมาประกาศธรรมะ มาช่วยบอกว่า อันนั้นผิดอันนั้นถูก เรียกว่าร่อน คนไหนปัญญาน้อย นึกไม่ถึง ไม่เชื่อก็หลุดไปๆ พระยาธรรมก็คือเรื่องธรรมะนั่นเอง คือธรรมะอันแท้จริงจะค่อยพ้นขึ้นมา

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเมื่อเจริญขึ้นมันก็เสื่อม เหมือนมะม่วง ขนุนเมื่อสุกเต็มที่มันก็หล่น พอเมล็ดถูกดินก็เป็นต้นงอกขึ้นมาใหม่อีกฉันใด ธรรมะถ้าเสื่อมเต็มที่แล้ว ก็จะเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา สาวกของพระพุทธเจ้ายังมีอยู่ พระศาสนาของพระองค์ยังไม่จบสิ้น เป็นเหตุให้ก่อธรรมที่แท้จริงขึ้นมาประกาศได้ เรียกว่านำตะแกรงทองคำมาร่อนคือนำธรรมะมาอธิบาย แนะนำพร่ำสอนประชาชนพุทธบริษัทให้เกิดความเข้าใจ ผู้ที่มืดหนา ปัญญาหยาบก็ไม่ค้าง เพราะไม่เชื่อ ไม่มีศรัทธา ไม่ได้พิจารณา ถ้าผู้มีบุญวาสนาพิจารณาดู มันจริง นี้คือผู้ที่ค้างตะแกรงทองคำ ไม่ใช่ตะแกรงที่ทำจากไม้ไผ่ตามธรรมชาติบ้านเราไม่ใช่อย่างนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าจะมาชักจูงพวกเราทั้งหลายหมายความว่าธรรมะจะเจริญขึ้นๆ ที่จมก็จมไป ที่ฟูก็ฟูขึ้น

เดี๋ยวนี้เราจะหาที่พึ่งไม่ได้แล้ว อย่างนักบวช นักพรต ลูกหลานของเรามาบวชกันทุกวันนี้ ส่วนมากก็บวชเจ็ดวันสิบห้าวันเท่านั้นแหละ แล้วก็สึกไปๆ เลยไม่มีใครอยู่วัด วัดเลยไม่เป็นวัด เพราะไม่มีใครอบรมสั่งสอนกัน ไม่มีที่เกาะที่ยึดที่มั่นหมาย เพราะขาดกรรมฐานขาดการภาวนา ขาดการอบรมบ่มนิสัย มันขาดอย่างนี้ เลยมีแต่เรื่องเดือดร้อนกระวนกระวาย การบวชส่วนมากก็บวชกันตามประเพณีชั่วคราว ทุกวันนี้วัดก็เลยเป็นเหมือนคุก เหมือนตะราง เข้าไปก็ร้อนทันที อยู่ไม่ได้ ที่ที่มันเย็นเลยกลับเป็นที่ร้อนทุกวันนี้ ที่ถูกก็เลยกลายเป็นผิด เพราะคนไม่ได้อบรมธรรมะ ดังนั้น พวกเราทั้งหลายจึงขอให้เอาไปพินิจพิจารณาให้มันดีๆ



ทุกวันนี้นับวันจะยาก เพราะโลกกับธรรมะมันแข่งกัน ฝ่ายโลกเขามีอะไรบ้าง ของกินมีหลายสิ่งหลายอย่าง ของที่จะฟังก็เยอะ สิ่งที่จะดูก็เยอะแยะ ไม่เหมือนสมัยก่อน ทีนี้หันมาดูทางธรรมะมีอะไรบ้างมีแต่เรื่องปัญญาบารมี ปัญญาอุปบารมี ปัญญาปรมัตถบารมี ฟังกันไม่รู้เรื่อง มันจึงไม่เข้าถึงสันหลังของมนุษย์ทุกวันนี้ เลยไม่รู้เรื่องรู้ราว

ความจริงเรื่องปัญญาบารมีก็รวมอยู่ในบารมี ๑๐ มี ทาน ศีลเนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขาบารมีเหล่านี้ท่านแจกออกเป็น ๓ หมวด คือ บารมี อุปบารมีปรมัตถบารมี รวมเป็นบารมี ๓๐ ทัศ ที่พระโพธิสัตว์ก่อนที่จะตรัสรู้ต้องบำเพ็ญให้ได้ครบบริบูรณ์ทุกๆพระองค์ ปัญญาบารมีก็แยกเป็น๓ ระดับ เหมือนกับทานบารมี คือปัญญาระดับปกติธรรมดา ระดับกลาง และระดับสูงสุด ตัวอย่างเช่น ปัญญาระดับศีล ขจัดกิเลสส่วนหยาบ ปัญญาระดับสมาธิ ขจัดกิเลสส่วนกลาง ปัญญาระดับสูง ขจัดกิเลสส่วนละเอียด แต่โดยมากฟังกันไม่รู้เรื่อง จึงมักจะมีปัญหา

เวลาทำบุญก็เหมือนกัน นิมนต์พระไปสวดมนต์ สวดมงคลสวดยังกะอึ่งร้อง ผู้ฟังไม่รู้เรื่อง เพราะไม่ได้อธิบายให้คนฟังเข้าใจเลยเร่งให้พระสวดจะได้จบเร็วๆ แล้วรีบกลับวัด เขาก็จะได้ฟังหมอลำกันสนุกสนาน เฮฮากันทั้งคืน มันจะเหลืออะไรพวกเรา เพราะโลกมันทับถมหมดแล้ว ลูกหลานของเราทุกวันนี้ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง สอนกันไม่ฟัง เพราะขาดธรรมะ ฉะนั้นผู้ที่จะได้มาอบรมบ่มนิสัยทุกวันนี้จึงหายาก

อาตมาถึงว่าญาติโยมเป็นผู้มีบุญมาก ที่มีวัดปฏิบัติอยู่ใกล้เหมือนกับเรามีทนายความไว้ประจำบ้าน หรือมีแพทย์ มีหมอประจำเรือน เมื่อตัวเราก็ดี ลูกเมีย พี่น้องเราไม่สบาย ก็จะได้ไปหาแพทย์หาหมออุ่นใจ อันนี้ฉันใด ความทุกข์ ความไม่สบาย ความเดือดร้อนต่างๆเราจะได้หาโอกาสไปฟังเทศน์ฟังธรรมตามกาลเวลา อย่างน้อย๗ วันครั้งหนึ่งก็ยังดี ได้มาอบรมบ่มนิสัย มาได้ยินได้ฟัง จะได้ทำลายความคิดผิด ความเห็นผิดของเรา ตลอดลูกหลานของเราก็จะได้สร้างนิสัยปัจจัยไปในทางคุณงามความดี แม้ความผิดจะมีอยู่ ก็จะมีปัญญาพิจารณาเลิกละไปในวันข้างหน้าได้

อย่างบ้านหาดเรานี้ อาตมาเคยมาสมัยก่อน ได้ฝึกหัดเอาไว้ปัจจุบันนี้เด็กๆดีขึ้นเยอะ พอเห็นพระประนมมือกันเป็นแถว แม้แต่เด็กยังไม่นุ่งผ้าก็ยังรู้จักประนมมือ นี่ต้องหัดเอา ฝึกเอา มันได้ยินได้ฟัง ได้รับคำแนะนำพร่ำสอน มันจึงเกิด มันจึงเป็นขึ้น ค่อยฝึกค่อยหัด จากคนหนึ่งเป็นสองคน นานเข้าเลยเรียบร้อยสวยงามขึ้นมาทั้งนี้เพราะอาศัยการฝึกหัด อย่างนี้ท่านเรียกว่า อานิสงส์ของการอยู่ใกล้วัด

ใจเราก็เหมือนกัน เราฟังเทศน์ฟังธรรมจึงเกิดความรู้ความเห็นขึ้นมา เวลากระทบสิ่งโน้นสิ่งนี้ก็มีความรู้ มีปัญญาพิจารณา การประพฤติปฏิบัติก็คือสิ่งเหล่านี้ สิ่งไม่ดีที่เราทำมานาน ก็ค่อยละค่อยถอนมันไป เรียกว่าการประพฤติปฏิบัติ การปฏิบัติไม่ใช่ปฏิบัติเฉพาะนักบวชเท่านั้น ในครั้งพุทธกาลอยู่บ้านอยู่เรือน ก็เป็นผู้ถึงพระ-รัตนตรัย ถึงไตรสรณคมน์ เป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มีเยอะแยะ

บางคนคิดว่าจะไปทำบุญให้ทานก็ไม่มีเวลา มันยุ่งยาก คนไม่รู้จักบุญ บุญเป็นเรื่องสร้างคุณงามความดีให้เจ้าของ การสร้างความดีไม่เห็นยากอะไร อย่างเดินไปเห็นของเขา นึกอยากจะได้ แต่ไม่เอาเพราะกลัวความผิด กลัวบาป กลัวคุก กลัวตะราง นี้ก็เป็นการสร้างความดีแล้ว เป็นการสร้างความดีให้แก่ตนเอง ถ้าไม่ได้ยินไม่ได้ฟัง ก็ไปลักไปฉ้อโกงเขา ก็เท่ากับสร้างความชั่วให้แก่ตัวเอง มันบาปอยู่ตรงนั้น บุญอยู่ตรงนั้น และการปฏิบัติก็อยู่ตรงนั้น เห็นความผิดก็ไม่ทำ ไปที่ไหนใจก็เป็นบุญที่นั้น มีความฉลาดอยู่ในจิตของตนเองอันนี้แหละท่านเรียกว่า ธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว


ไม่ใช่ธรรมที่เราไปเรียนเอาวิชาอาคม ได้มาแล้วก็บ่นก็เสกใส่ก้อนหินก้อนกรวด แล้วก็หว่านไปให้มารักษาเรา ไม่ใช่อย่างนั้น ที่ว่าพระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว พระธรรมคือใจที่รู้ว่าอันนี้ผิดอันนี้ถูก อย่างนี้เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เบียดเบียนคนอื่นรู้อย่างนี้ความผิดความชั่วก็ไม่กล้าทำ ทำไม เพราะใจมันรู้ รู้จักผิดรู้จักถูก นั่นคือธรรมะ ถ้าเราไม่ทำผิดทำชั่ว ธรรมะก็คุ้มครองเรา ใจเรานั่นแหละเป็นผู้รู้จักธรรมะ นี้เรียกว่าพระธรรมย่อมตามรักษา เราปฏิบัติธรรม พระธรรมก็ตามรักษาเรา ใครไม่รู้จักธรรมะ ธรรมะก็ไม่รักษา นี้เรียกว่าของรักษา ของรักษาอยู่ที่ไหน อยู่ในธรรมนั้นแหละ

แต่คนเรามักเชื่อของรักษาในทำนองไสยศาสตร์ โดยเฉพาะเมื่อเจอพระธุดงค์ มักจะมีโยมไปขอของรักษา คือคาถาอาคมกันภูตผีปีศาจ เพื่อให้ตนแคล้วคลาดจากภยันตราย ในทำนองเดียวกันก็มีการเอาอกเอาใจผีบ้านผีเรือนโดยการทำหิ้งบูชา ซึ่งแฝงด้วยปริศนาว่าขันธ์ห้า ขันธ์แปด (น่าจะมีความหมายว่า ศีลห้า ศีลแปด) เพราะคนรักษาศีล ศีลก็จะรักษาเขาเอง แต่ก็เพี้ยนไปเป็นเรื่องผีสางเทวดา จึงต้องบูชาด้วยวัตถุ โดยการเอาดอกไม้สีดำสีแดงไปกอง เอาข้าวแห้งไปบูชาอยู่ทุกวัน มีแต่หนูเท่านั้นแหละจะไปยันลงมาให่หัวเวลากลางคืนนะ อันนั้นมันจะรู้อย่างไรว่าเราดีเราชั่ว ของอย่างนั้นมันจะรักษาคนได้อย่างไร รีบรื้อทิ้งทำให้มันสะอาด แล้วเอาพระพุทธรูปสวยๆไปใส่ไว้แทนจะดีกว่า

ของรักษาเราก็คือใจของเรา รู้จักว่าอันนี้มันผิดตามที่ครูบา-อาจารย์ท่านแนะนำ ถึงท่านไม่บอก มันก็ผิดอยู่ พยายามละ อย่าทำอย่าพูด นี้เรียกว่าพระธรรม ใจเราที่รู้จักผิดรู้จักถูกนี่แหละ ธรรมะความดีของเรานี้แหละตามรักษา คือใจเรามันสูงเอง มันละเองประพฤติปฏิบัติเอง อันไหนชั่ว อันไหนผิดก็ไม่ทำ นี่แหละเรียกว่าพระธรรมตามรักษา ไม่ใช่พระธรรมอยู่บนขันกระหย่องนะ อันนี้มันขันข้าวแห้ง จะตามรักษาใครได้ มีแต่หนูเท่านั้นแหละจะไปกิน เรื่องมันเป็นอย่างนี้


อามิสบูชากับปฏิบัติบูชา อามิสบูชา คือบูชาด้วยสิ่งของ จะบูชาอะไรก็ได้ที่เห็นว่าเป็นคุณ อย่างถ้าเราเป็นไข้ไม่สบาย มีคนเอาหยูกยามาให้ ก็สบาย เราจน มีคนเอาเสื้อผ้าอาภรณ์มาให้ก็สบาย หรือเวลาหิว มีคนเอาข้าวมาให้กิน ก็เป็นบุญ นี่คืออามิสบูชา ให้คนไม่มี ให้คนยากจน ถวายของแก่สมณะชีพราหมณ์ ตลอดถึงสามเณรตามมีตามได้ เป็นอามิสบูชา

การปฏิบัติบูชา คือ การละความชั่วออกจากจิตใจ อาการประพฤติปฏิบัติเรียกว่าปฏิบัติบูชา ให้พากันเข้าใจอย่างนั้น ที่นี้ของรักษาก็คือใจของเรา ไม่มีใครมารักษาเราได้ นอกจากเรารักษาเราเองพระอินทร์ พระพรหม พญายม พญานาคทั้งหลายไม่มี ถ้าเราไม่ดีแล้วไม่มีใครมารักษาเราหรอก พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้นจริงๆนะไม่ใช่ว่าเราทำผิดขนาดไหน ก็ยังเรียกหาคุณครูบาอาจารย์ คุณมารดาบิดาให้มาช่วย ไปขโมยควายเขาก็ยังประนมมือให้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาช่วย "สาธุ ขอให้เอาไปได้ตลอดรอดฝั่งเถอะ" ผีบ้าใครจะตามรักษาคนชั่วขนาดนั้น ท่านบอกว่าอย่าทำก็ไม่ฟัง นี่คือความเข้าใจผิดของคน มันเป็นอย่างนี้ มันหลงถึงขนาดนี้ จะว่าอย่างไรพระพุทธเจ้าสอนว่าให้ดูเจ้าของ เรานี่แหละเป็นผู้รักษาเจ้าของ

อัตตา หิ อัตตะโน นาโถ โก หิ นาโถ ปะโร สิยา เราเป็นที่พึ่งของเราเอง คนอื่นเป็นที่พึ่งของเราไม่ได้ เราต้องทำเอง สร้างเองกินเอง ทำผิดแล้วทำถูกเอง ทำชั่วแล้วละเอาเอง เป็นเรื่องของเจ้าของท่านจึงบอกว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มันถูกที่สุดแล้ว เรามัวแต่ไปหาของดีกับคนอื่น พระพุทธเจ้าสอนแล้วสอนอีก สอนให้ทำเอง ปฏิบัติเอง พระพุทธเจ้าท่านแนะนำชักจูงอย่างนี้

อย่างทุกวันนี้ พอญาติพี่น้องตาย ท่านว่าให้ชักจูง เราก็เอาพระไปจูง เอาฝ้ายต่อไหม เอาไหมต่อฝ้าย ดึงกันมะนุงมะนัง เข้าป่าช้าโน้น ไม่ใช่จูงอย่างนั้น อาตมาว่ารีบหามไปเร็วๆนั่นแหละดี มันจะได้ไม่หนัก บางทีก็ยุ่งอยู่กับจั่วน้อย (เณรน้อย) พะรุงพะรังอยู่กับจีวรเด็กตัวเล็กๆกำลังเลี้ยงควายอยู่ก็เรียกมาบวช บวชจูงพ่อจูงแม่ จูงก็จะไม่ไหวแล้ว เดี๋ยวหิวข้าว หิวน้ำ ร้องไห้ นั่นไปจูงกันอย่างนั้นนี่แหละคือความเห็นผิด




เรื่องการชักจูง ก็เหมือนกับอาตมากำลังจูงอยู่เดี๋ยวนี้แหละ คือการแนะนำพร่ำสอน บอกทางไปสวรรค์ บอกทางไปนรกให้ แนะนำให้เลิกสิ่งนั้น ให้ประพฤติสิ่งนี้ อย่างนี้เรียกว่าชักจูงแนะนำพร่ำสอน จูงต้องจูงในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี่แหละ ให้ไปคิดพิจารณา เอาไปภาวนาดูว่ามันถูกไหม ถ้าสงสัยก็มาฟังอีก จะบอกให้ชี้ให้ แนะนำพร่ำสอนให้นี้เรียกว่าชักจูงคน ไม่ใช่เอาไหมต่อฝ้าย เอาฝ้ายต่อไหม จูงกันวุ่นวายไม่ได้ความอะไร มันน่าหัวเราะ จูงอย่างนั้นมันจูงไม่ได้

บางทีก็เอาข้าวตอกมาหว่าน ในขณะจูงศพไปป่าช้า โดยมีความเชื่อว่า พวกผีหรือเปรตที่คอยรับส่วนบุญมีอยู่ เพื่อจะไม่ให้พวกนั้นรบกวนผู้ตาย จึงมีการหว่านข้าวตอกไปด้วย

ความจริงบรรพบุรุษท่านสอนว่า คนเราเหมือนข้าวตอก เวลาหว่านไปมันก็กระจัดกระจายไปเหมือนสังขารร่างกายนี้ มีลูกมีเมีย มีลูกเต้าเหล่าหลาน มีเนื้อ มีหนัง มีแขน ขา หู ตา เป็นต้น ผลสุดท้ายก็กระจัดกระจายกันไปอย่างนี้ แตกกระสานซ่านเซ็นไปตามสภาวะเกิดในโลกนี้ มันก็มีแค่นี้ เหมือนข้าวตอกดอกไม้นี้แหละ ที่เรี่ยราดไปตามดินตามหญ้า สังขารร่างกายนี้มันก็แค่นี้ ท่านให้พิจารณาอย่างนี้ แต่เราก็มาหว่านให้ผีกิน ไปคนละเรื่องอีกแล้ว เรื่องเหล่านี้พิจารณาให้มากๆหน่อย พิจารณาให้ดี ถ้าเราเข้าใจตัวเราแล้วสบาย นี่ล่ะการประพฤติปฏิบัติมันถึงต่างกัน ถ้าเรานำไปพิจารณาแล้วจะเห็น เห็นได้จริงๆ เห็นในใจของเรานี้แหละ แล้วมันจะค่อยสว่างขึ้นค่อยขาวขึ้น ค่อยรู้ขึ้นมา

เหมือนกับเราเรียนหนังสือ แต่ก่อนกว่าจะรู้อะไร ครูจับไปเขียน ก ข ไม่รู้เขียนอะไร ไม่รู้เรื่อง แต่ก็เขียนไปตามครู พอเขียนพยัญชนะได้ ก็เขียนสระอะ สระอา สระอิ สระอี แต่ก็ยังไม่รู้เรื่องหรอก ขี้เกียจก็ขี้เกียจ พอเขียนเป็นแล้ว ก็เอาพยัญชนะกับสระมาผสมกัน เอาสระอาใส่ตัว ก อ่านว่า กา ใส่ตัว ข อ่านว่า ขา ว่าไปตามครู เรียนไปศึกษาไป ต่อมาก็เลยรู้เรื่อง เลยกลายเป็นคนอ่านออกเขียนได้

อันนี้เราลองพิจารณาดู การที่จะรู้จักบุญรู้จักบาป ตอนแรกก็อาศัยคนอื่นนี้แหละ ต่อไปมันจะรู้เอง ท่านจึงว่า ความดีความชั่วอยู่ที่ตัวเจ้าของ แม้แต่พระพุทธเจ้าก็เอาให้ใครไม่ได้ ให้ได้ก็คือบอกให้ทำอย่างนั้นๆ แล้วเราก็ประพฤติปฏิบัติไปตามศรัทธา จะเป็นประโยชน์แก่เรามาก อย่าพากันหลงงมงาย ให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ผู้ถึงพระรัตนตรัย ไม่ต้องถือภูตผีปีศาจ

อย่างอาตมาไปภาวนาอยู่ที่ไหนก็สบาย ด้วยความซื่อสัตย์ ด้วยความเชื่อพระพุทธเจ้าของเรานั่นเอง เชื่ออย่างไร เชื่อว่าไม่มีตรงไหนที่พระองค์สอนให้คนชั่ว สอนให้คนทำผิด ไม่มี ในสูตรในตำราไหนก็ไม่มี อาตมาอ่านแล้ว ถึงว่าพระพุทธเจ้านี้เป็นผู้เลิศประเสริฐจริงๆอาตมาเชื่อท่าน ท่านว่าให้สอนตนเองให้พึ่งตนเอง ก็พึ่งตนเองจริงๆทำตามท่าน ไปทำอยู่ที่ไหนก็สบาย อยู่ในถ้ำในป่าในเขา จะอยู่ที่ไหนก็ไม่มีอะไร สบาย เพราะความซื่อสัตย์สุจริตนี่แหละ เลยเชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้าสอนให้พึ่งตนเองนี้ถูกแล้ว เราก็เหมือนกัน แม้จะเป็นฆราวาสอยู่บ้านครองเรือน ก็อย่าพากันสงสัยอะไร เพราะความดีความชั่วอยู่ที่ตัวเรา

อัตตะนา โจทะยัตตานัง จงเตือนตน ด้วยตนเอง ค่อยทำไป ดูแต่หินก้อนใหญ่ๆ ทุบไปเรื่อยๆ มันก็แตก พวกเรายังไม่รู้ ค่อยสอน ค่อยปฏิบัติก็จะรู้ขึ้นมาได้

ชีวิตของเรามันไม่นานนะ กาลเวลาไม่อยู่ที่เดิม วันนี้มันก็กินไปแล้ว หมดไปแล้ว กินไปตลอดวันตลอดคืน กินไปเรื่อยๆ มันไม่หมดไปเฉพาะเดือน เฉพาะปีเท่านั้น สังขารเราก็ร่วงโรยไปด้วย เช่น ผมเดี๋ยวนี้ผมยังไม่หงอก ต่อไปมันจะหงอก มันจะแก่ หูแก่ ตาแก่เนื้อหนังมังสาไปด้วย แก่ไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง นี่แหละท่านถึงว่าความเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันแก่ไป ตายไป ฉะนั้น ขอให้พากันเชื่อมั่นในตนเอง ยึดเอาคุณพระศรีรัตนตรัย ผู้เข้าถึงพระรัตนตรัยไม่มีอะไรจะมาทำร้ายได้ นี่แหละการให้ทำความเพียรวันนี้ ไปถึงบ้านก็ให้ทำ บางทียุ่งกับลูกหลานมากๆ นอนตื่นแล้วก็มานั่งภาวนา พุทโธๆๆ อันนี้ถ้าจิตสงบแล้วก็เรียกว่าใกล้พระนิพพาน นี่แหละเรื่องภาวนา ไม่ใช่ภาวนาอยู่แต่ในวัด อยู่บ้านเราก็ทำได้ ว่างๆเราก็ทำ แม้จะทำมาค้าขาย ทำนาทำไร่ก็ทำได้ หรือแม้แต่ขุดดินถอนหญ้า เวลาเมื่อยเข้าไปพักใต้ร่มไม้ก็ทำได้ นั่งภาวนาพุทโธๆๆ เดี๋ยวก็จะได้ดีจนได้ หมั่นระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์ แล้วตั้งจิตพิจารณา พุทโธๆๆ สบาย นี้เรื่องที่พระพุทธเจ้าสอน ให้พากันจดจำเอาไว้ สอนไปมากก็มาก เดี๋ยวบุญจะหมด ให้ดูที่เรานะ อย่าไปดูที่อื่น มันจะดีจะชั่วให้ดูที่ตัวเรา นี่แหละคำแนะนำพร่ำสอน วันนี้ให้เอาไปคิดพิจารณาดู ค่อยทำไป ดูวันละนิด เดี๋ยวมันก็สะอาดหรอก

วันนี้เชื่อว่าพวกเราทั้งหลายได้บำเพ็ญทาน รักษาศีล ได้เจริญภาวนา ได้ฟังธรรมเทศนาหลายอย่าง เท่านี้ก็เป็นบุญแล้วล่ะ ได้สร้างบุญแล้ว ได้ความเข้าอกเข้าใจแล้ว ต่อไปเราจะไปทำภารกิจการงานที่บ้านไหน เมืองไหน ภาวะที่อาตมาได้พูดได้กล่าวไปนี้มันจะถูกอยู่หรอก มันจะค่อยๆรู้จักไป

เอ้า วันนี้สมควรแก่เวลา

1 ความคิดเห็น:

  1. สาธุ อนุโมทนาเจ้าค่ะ

    ผู้อยู่ใกล้ธรรม มีโอกาสได้ศึกษาธรรม แต่ไม่ปฏิบัติธรรม ก็ไม่ต่างกับตู้พระไตรปิฎกที่ว่างเปล่า สาธุ

    ตอบลบ