
ควันหลงจากงานพระราชทานเพลิงศพหลวงตา
ปริศนาธรรมในงานศพ ให้ข้อคิดสะกิดใจ
โดย พระมหาพรชัย กุสฺลจิตโต
ทอดผ้าบังสุกุล
เสียงทอดผ้า พิจารณา บังสุกุล
ใจวายวุ่น มิได้สน คำคาถา
มองให้เห็น ว่านั่นแหละ "ธรรมดา"
เพราะเกิดมา เจ้าจึง ต้องวายปราณ
สุขจริงแท้ นั่นคือ ความสงบ
คิดให้จบ เนือง ๆ สุขจริงหนา
คิดให้ถ้วน ก่อนต้อง วายชีวา
ไม่ต้องมา ให้พระสวด ตอนสิ้นใจ
แต่ความจริง เพียงคิด ใครจะกล้า
ใครจะมา นั่งคิด พิสมัย
คิดไว้ก่อน เป็นลาง "เดี๋ยวตายไว"
คิดคิดไป ไม่ดีกว่า พระคิดแทน ฯ

ส่วนเนื้อหาของอภิธรรม ๗ คัมภีร์ แปลหรือไม่แปล ก็คงคือกัน เพราะย่อไว้เฉพาะหัวข้อธรรม ถ้าจะเอาอรรถเอาธรรมกัน ก็ต้องศึกษาต่อไปอีกมาก แค่ชั่วโมง สองชั่วโมงนี่ ไม่พอเป็นแน่ (พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพระมารดาถึง ๓ เดือนเต็ม แม้เวลาบนสวรรค์กับโลกมนุษย์ไม่เท่ากัน แต่บนโน้น ก็คงกินเวลาหลายชั่วโมงทีเดียว) ก็มีเพียงเกร็ดความรู้ที่ควรทราบ คือคำแปลของบทบังสุกุลเป็น บังสุกุลตาย ดังนี้

บังสุกุลตาย
อนิจจา วะตะสังขารา อุปาทายะวะธัมมิโน อุปปัชชิตวา นิรุชชันติ เตสัง วูปปะสะโมสุโข ฯ
เป็นพุทธพจน์ตรัสไว้ในสติปัฏฐานสูตร ซึ่งแปลเป็นใจความได้ว่า
สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ เมื่อเกิดแล้วก็มีความเสื่อมไป สลายไป การเข้าไปสงบในกายนั่นแล คือความสุขแท้

บังสุกุลเป็น
อะจีรัง วะตะยัง กาโย ปะฐะวิง อะธิเสสะติ ฉุฑโฑ อะเปตะวิญญาโณ นิรัชถัง วะตะริง คะรัง ฯ
ซึ่งแปลเป็นใจความได้ว่า กายนี้ไม่เที่ยงหนอ เมื่อตายแล้วก็ถูกทิ้งไว้ ราวกับเป็นท่อนไม้ในป่า (หาค่าไม่ได้)

ทราบมาว่า คำว่าบังสุกุลตาย คือการแสดงธรรมสังเวช สำหรับคนที่ตายแล้ว สมัยก่อนพระจะใช้สวดเวลาพิจารณาผ้าบังสุกุล หรือ ผ้าเปื้อนฝุ่น ผ้าห่อศพ หรือ ผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามป่าช้า กองขยะ เพื่อนำมาเย็บเป็นจีวร สมัยปัจจุบัน เนื่องจากผ้าจีวร หาได้ง่าย ไม่เหมือนสมัยก่อน จึงนำมาใช้เวลาพิจารณาผ้า ที่ทายกนำมาถวาย เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้คนตาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น