เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ
ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "
หน้าเว็บ
เกี่ยวกับฉัน
- Nitinandho
- อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย
ผู้ติดตาม
วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2554
วิปัสสนา วิทยาศาสตร์ของพุทธศาสนา
วิปัสสนา วิทยาศาสตร์ของพุทธศาสนา
เรื่องโดย อาจารย์ศุภวรรณ์ พิพัฒพรรณวงศ์ กรีน
วันหนึ่งดิฉันไปตรวจสายตากับจักษุแพทย์หญิงท่านหนึ่งที่เบอร์มิงแฮม คุณหมอถามว่ามีปัญหาอะไรบ้างหรือไม่ ดิฉันจึงพูดถึงอาการเจ็บที่หางตาด้านขวา ความเจ็บนั้นเหมือนจู่ๆ ก็มีคนเอาเข็มมาแทง เจ็บแป๊บเดียวแล้วก็หายไป แต่พออาการเกิดจะสะดุ้งทุกครั้ง และต้องเอามือปิดตาทันที ดิฉันอยากรู้ว่ามันเกิดจากสาเหตุอะไร
คุณหมอจึงเล่าเรื่องหนึ่งให้ดิฉันฟังว่า เมื่อครั้งที่เธอไปหาความรู้เพิ่มเติมกับศาสตราจารย์ท่านหนึ่ง ท่านก็ได้พูดถึงอาการเจ็บตาเหมือนที่ดิฉันเพิ่งอธิบายไปและถามนักศึกษาว่ามีใครเคยเป็นบ้างหรือไม่ นักศึกษาหลายคนยกมือขึ้นอย่างกระตือรือร้นด้วยความคาดหวังว่าโปรเฟสเซอร์จะเฉลยข้อสงสัยและอธิบายถึงสาเหตุของการเจ็บตาประเภทนี้ แต่ทุกคนก็ผิดหวังเพราะโปรเฟสเตอร์กลับถามนักศึกษาอย่างหน้าตาเฉยว่า “อืม แล้วมีใครรู้หรือไม่ว่ามันมีสาเหตุมาจากอะไร”
คุณหมอตาจึงอธิบายให้ดิฉันฟังว่า เป็นเพราะความเจ็บนั้นอยู่ในลักษณะมาแล้วก็ไป ไม่ได้อยู่อย่างคงทนถาวร นักวิจัยจึงไม่สามารถศึกษาอาการเจ็บนั้นได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ คือเฝ้าสำรวจและสังเกตการณ์ไม่ได้ เพราะอาการเจ็บไม่ได้อยู่นานเพียงพอที่จะให้สำรวจอย่างถ้วนถี่ เช่น ในขณะที่มันเจ็บนั้น มันกำลังเชื่อมต่อกับกล้ามเนื้ออะไรในตาบ้าง และเชื่อมโยงกับปัจจัยภายนอกอะไรบ้าง เป็นต้น เพราะเป็นความเจ็บแปลบที่เกิดอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ไม่สามารถเตรียมพร้อมล่วงหน้าเพื่อคอยเฝ้าสังเกตการณ์ได้ ในที่สุดจึงยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางจักษุคนไหนทราบสาเหตุของอาการปวดที่หางตา เหมือนใครเอาเข็มมาแทงนี้เลย
หลังจากที่ดิฉันฟังแล้วก็เข้าใจเรื่องการเรียนรู้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น นั่นคือการจะศึกษาอะไรอย่างเป็นวิทยาศาสตร์หรือศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมให้มากที่สุดนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีผู้มอง ( observer ) ทำหน้าที่เฝ้าสังเกตการณ์ต่อปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจริงในขณะนั้นๆ เพื่อเรียนรู้ลักษณะการทำงานของปรากฏการณ์และการประสานกับปัจจัยอื่นๆ แต่หากปรากฏการณ์ใดที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปอย่างรวดเร็วมาก เช่น ความเจ็บแปลบของตาเหมือนถูกเข็มแทง แม้เป็นปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับส่วนกาย (รูป) ซึ่งน่าจะเฝ้าสังเกตการณ์ได้ง่ายมากกว่าสังเกตปรากฏการณ์ที่เป็นพลังงาน (นาม) แต่หากปรากฏการณ์นั้นเกิดไม่นานพอ การศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมก็เกิดไม่ได้เช่นกัน จึงไม่สามารถสรุปผลที่เป็นความรู้เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหา ว่าทำไม่จึงเกิด
ดิฉันเอาเรื่องนี้มาคิดเทียบเคียงกับเรื่องการดูความคิด (เจอร์รี่) หรือดูจิตในทางพุทธศาสนา นี่ขนาดเรื่องการสำรวจดูกล้ามเนื้อตาอันเป็นเรื่องของรูปและมีเครื่องมือพร้อมสรรพยังเจอปัญหามากเช่นนี้ การดูความคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นฝ่ายนามย่อมเป็นเรื่องยากมากขึ้นอีกหลายร้อยเท่าตัว
แต่อาจมีคนสงสัยว่าทำไมต้องมาดูหรือศึกษาความคิด ก็เพราะความคิดดี-ชั่วของมนุษย์ เป็นต้นเหตุของการกระทำทุกอย่างบนโลกนี้ ความคิดโลภ โกรธ เกลียด อิจฉา เป็นสาเหตุของเหตุการณ์อันชั่วร้ายมากมาย จนก่อให้เกิดสงครามทุกหย่อมหญ้า
การเรียนรู้เรื่องความคิดหรือจิตใจของมนุษย์ เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมที่แตกต่างทั้งดี ชั่ว จึงเป็นสิ่งที่นักปรัชญา นักมานุษย์วิทยานักสมองวิทยา และนักจิตวิทยาทำกันมาอย่างต่อเนื่องนับพันปีแล้วตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ แต่มาถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนไหนสามารถสรุปเป็นความรู้ที่ชัดเจนและหาทางออกให้มนุษย์อยู่อย่างเป็นสุขได้
ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มเอาพฤติกรรม ของมนุษย์ไปพ่วงกับยีน จนก่อให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ( genocide ) เพื่อทำลายยีนที่ไม่ต้องการของมนุษย์ บ้างก็นำมาประสานกับเรื่องสารเคมีในร่องสมอง จนก่อให้เกิดวัฒนธรรมการกินยากล่อมประสาท เป็นต้น
แต่ที่จริงแล้วพระพุทธเจ้าเป็นบุคคลเดียวของโลก ที่สามารถศึกษาเรื่องความคิดหรือจิตใจของมนุษย์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่สุด ความยากของการเรียนรู้การทำงานของความคิดหรือจิตใจมนุษย์มาจากสาเหตุเหล่านี้
• ปรากฏการณ์ที่ต้องการเฝ้าสังเกตนั้น เป็นนามหรือพลังงานและอยู่ภายในร่างกายของมนุษย์
• ขาดเครื่องมือ ที่จะนำมาใช้ดูปรากฏการณ์ของความคิด
• ปรากฏการณ์ที่ต้องการเฝ้าสังเกตการณ์ (ความคิด) มีลักษณะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอย่างรวดเร็วมากที่สุด ไม่มีปรากฏการณ์ธรรมชาติใดๆ ในจักรวาลที่เกิดดับได้เร็วมากกว่าความคิดอีกแล้ว
แต่ด้วยความเป็นพระศาสดาเอกและพระบรมครูของโลก พระพุทธเจ้าจึงสามารถหาทางออกได้อย่างยอดเยี่ยมต่ออุปสรรคอันมหึมาเหล่านั้น ทางออกของพระองค์คือ
• พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า จำเป็นต้องใช้ร่างกายที่ยาววา หนาคืบ และกว้างศอกนี้ เป็นหลอดทดลอง เพราะปรากฏการณ์ของตัวปัญหาอยู่ในร่างกายของมนุษย์ จะไปศึกษาที่อื่นย่อมไม่ได้
• พระพุทธเจ้าทรงหยิบยื่นเครื่องมือพื้นฐานที่มนุษย์และแต่ละคนสามารถใช้เฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ของความคิด (เจอร์รี่) โดยทรงบอก ให้ใช้อายตนะที่ ๖ หรือตาใจของตัวใจ (วิญญาณขันธ์) ซึ่งจะทำหน้าที่เหมือนตาเนื้อของตัวกายเป็นผู้เฝ้าดูปรากฏการณ์ต่างๆ ในโลกและจักรวาลที่ต้องการศึกษา
• เมื่อได้เครื่องมือ (ตาใจ) ที่เหมาะสมกับงานแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงหยิบย่นวิธีการเพื่อเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ของความคิดที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ และดับไปอย่างรวดเร็วนี้ นั่นคือสติปัฏฐาน ๔ หรือวิปัสสนา
คำว่าวิปัสสนา แปลว่า การทัศนา หรือเฝ้ามองโดยรอบ มองอะไรก็มองทัศนียภาพในโลกของใจ ซึ่งมีความคิด ความรู้สึก (เจอร์รี่) โดยมองมันอย่างละเอียด รอบคอบ (โยนิโสมนสิการ) แต่ท่านตระหนักถึงความยากที่จะมองทัศนียภาพของความคิดที่เกิด-ดับที่เร็วมาก ท่านจึงสอนให้เอาเครื่องมือ (ตาใจหรือสติ) มาลับให้คมชัดเสียก่อน คงเปรียบเทียบได้กับการสร้างกล้องจุลทรรศน์หรือกล้องส่องทางไกลเพื่อดูของเล็กมากกับไกลมาก เพราะตาเนื้อไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่เกินความสามารถได้ กล้องเหล่านี้จึงยังคงเป็นส่วนหนึ่งของตาเนื้อของมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้นเอง
การลับให้ตาใจคมชัดเพื่อทำงานได้เต็มที่นั้น พระพุทธเจ้าสอนให้เอาสติมาตรึงไว้ที่ฐานกายและเวทนาก่อน การฝึกสติของสองฐานแรกนั้น ผู้ฝึกต้องหัดใช้ตาใจ (สติ) มองสิ่งที่หยาบๆ ก่อน เช่น ลมหายใจการเคลื่อนไหว และความรู้สึกส่วนกาย เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ซึ่งล้วนเป็นเรื่องหยาบ เพื่อให้มีสายตาใจที่คมชัดมากขึ้น พอสายตาใจคมชัดแล้ว ผู้ฝึกก็จะค่อยๆ เห็นการเกิด-ดับของความคิด(เจอร์รี่)ได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นเนื้อหาของการดูทัศนียภาพหรือปรากฏการณ์ของความคิด ซึ่งคือการก้าวสู่การฝึกจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ดูจิตหรือดูเจอร์รี่) นี่คือขั้นตอนการเฝ้าสังเกตการณ์ความคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด เพราะมีผู้สังเกตการณ์ ตาใจ/สติ ที่กำลังทำหน้าที่สังเกตปรากฏการณ์ (ความคิด/เจอร์รี่) ที่ต้องการเรียนรู้อยู่
หากเปรียบรถไฟเป็นความคิด ตัวใจ/สติจะต้องนั่งเฉยๆอยู่ที่ชานชาลา และใช้ตาใจ / สติ เฝ้าดูรถไฟของความคิดที่เข้าๆออกๆ (เกิดดับ) อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ เช่น ๕ ปี บ้าง ๑๐,๒๐,๓๐, หรือ ๕๐ ปีบ้าง เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์การทำงานของความคิดความรู้สึกทางใจของมนุษย์ หรือดูพฤติกรรมของเจอร์รี่นั่นเอง คนที่มีสายตาใจคมชัดมากนั้น จะเห็นรายละเอียดมากขึ้น คือเห็นต้นตอของการเกิดความคิด ไปจนถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความสุข-ทุกข์ขึ้นมา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเรียก ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งท่านเปรียบเหมือนห่วงโซ่ ๑๒ ห่วงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องอย่างรวดเร็วมาก คนที่สายตาใจไม่คมกริบแล้ว จะมองไม่เห็นรายละเอียดในส่วนนี้
เมื่อผู้ปฏิบัติสติปัฏฐานสามารถเห็นรายละเอียดถี่ยิบได้เช่นนี้แล้ว ก็จะมาถึงขั้นตอนการสรุปความรู้ที่ได้จากการเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ความคิดเป็นเวลานาน คือรู้ว่าความคิดของมนุษย์ตกอยู่ในลักษณะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เหมือนปรากฏการณ์ทุกอย่างของจักรวาล ยกเว้นพระนิพพานเท่านั้น และในขณะที่ความคิดอยู่ในหัวเรานั้น มันสามารถสร้างโลกมายาครอบตัวใจของเรา ทำให้เข้าใจผิด (อุปาทาน) ว่าสิ่งต่างๆที่เราสัมผัสได้ด้วยอายตนะทั้ง ๕ เป็นของจริงหมด แต่ที่จริงแล้ว มันเป็นสิ่งที่หลอกลวงไม่ใช่ของจริง เพราะทุกอย่างล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่นานบ้าง ไม่นานบ้าง แต่ในที่สุดแล้วมันล้วนดับหายไปหมด ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ถาวรสักอย่างเดียว ยกเว้นพระนิพพาน
ฉะนั้นกฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) จงเป็นทฤษฎีหรือความรู้รวบยอดที่พระพุทธเจ้าสรุปออกมา หลังจากที่ท่านเห็นสัจธรรมของโลกและชีวิตแล้ว แต่ถึงแม้ท่านสรุปให้แล้ว มนุษย์ทุกคนจะต้องผ่านขั้นตอนการปฏิบัติวิปัสสนา เพื่อจะได้เห็นกับตาใจของตนเอง จึงจะเข้าใจกฎไตรลักษณ์ได้อย่างแท้จริง
เนื่องจากทางสายตาใจ (สติ) คมชัดมากนั่นเอง ตาใจที่คมกริบนี้ จึงสามารถมองทะลุทะลวงเข้าไปเห็นอีกสภาวะหนึ่งที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง เปรียบเหมือนหากมีกล้องส่องทางไกลที่ดีมากๆ ก็จะยิ่งเห็นดาวที่ไม่เคยเห็นมาก่อน สภาวะที่ละเอียดอ่อนมากนี้ ไมได้ตกอยู่ใต้กฎไตรลักษณ์เหมือนทุกสิ่งในโลกและจักรวาล นั่นคือท่านเห็นนิพพานธาตุ (อสังขตธาตุ) อันเป็นธาตุในธรรมชาติที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะมาประสูติหรือไม่ก็ตาม อสังขตธาตุนี้ก็จะคงอยู่ของมันเช่นนั้นเสมอไป ตั้งแต่อนันตกาลไปสู่อนันตกาล ธาตุนี้จึงเป็นสัจธรรมอันสูงสุดของจักรวาลและของชีวิต ซึ่งเป็นสภาวะเดียวกับที่นี่ เดี๋ยวนี้ ( here and now ) หรือ ผัสสะบริสุทธิ์ จะเรียกชื่อไหนก็ได้ไม่สำคัญ เพราะชื่อเหล่านี้ล้วนชี้ไปสู่สภาวะหรือธาตุที่ “ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน” เดียวกันหมด
สติปัฏฐาน ๔ หรือวิปัสสนา จึงเป็นเรื่องเดียวของพุทธศาสนาที่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง
http://www.supawangreen.in.th
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น