เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ
ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "
หน้าเว็บ
เกี่ยวกับฉัน
- Nitinandho
- อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย
ผู้ติดตาม
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
มรรคสามัคคี
มรรคสามัคคี
วันนี้อยากจะถามถึงการปฏิบัติของญาติโยมเราทั้งหลายว่า ที่ได้ทำมานี้แน่ใจแล้วหรือยัง แน่ใจในการทำกรรมฐานของตนแล้วหรือยัง ที่ถามอย่างนี้เพราะว่าอาจารย์ที่สอนกรรมฐานทุกวันนี้มีมาก มีทั้งพระสงฆ์ทั้งฆราวาสจึงกลัวว่าญาติโยมจะลังเลสงสัยการกระทำนี้ จึงได้ถามอย่างนั้น ถ้าเราเข้าใจให้ถูกต้องชัดเจนเราก็จะสามารถทำจิตใจของเราให้สงบได้มั่นคง
แล้วให้เข้าใจด้วยว่ามรรค ๘ ประการนั้น มันรวมอยู่ที่ศีลสมาธิปัญญา ไม่ได้รวมอยู่ที่อื่น เมื่อเรารวมเข้ามาแล้วมันมีศีล มีสมาธิ มีปัญญาเช่นเราทำอยู่ปัจจุบันนี้ก็คือ เราทำมรรคให้เกิดขึ้นมานั่นเองไม่ใช่อื่นไกล วิธีการนั่งท่านให้นั่งหลับตาไม่ให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ก็เพราะว่า ท่านจะให้ดูจิตของเรา เมื่อหากเราหลับตาเข้าไปแล้วมันจะกลับเข้ามาข้างใน
เมื่อเรานั่งหลับตาให้ยกความรู้ขึ้นเฉพาะลมหายใจ เอาลมหายใจเป็นประธานน้อมความรู้สึกตามลมหายใจ เราจึงจะรู้ว่าสติมันจะรวมอยู่ตรงนี้ ความรู้จะมารวมอยู่ตรงนี้ ความรู้สึกจะมารวมอยู่ตรงนี้ เมื่อมรรคนี้มันสามัคคีกันเมื่อใด เราจะได้มองเห็นว่าลมเราเป็นอย่างนี้ ความรู้สึกเราเป็นอย่างนี้ จิตเราเป็นอย่างนี้ อารมณ์เราเป็นอย่างนี้เราจึงจะรู้จักที่รวมแห่งสมาธิที่รวมแห่งมรรคสามัคคีในที่เดียวกัน เมื่อเราทำสมาธิกำหนดจิตลงกับลมนึกในใจว่า ที่นี่เรานั่งอยู่คนเดียวรอบๆ ข้างเรานี้ไม่มีใคร ไม่มีอะไรทั้งนั้นแหละ ทำความรู้สึกอย่างนี้ เรานั่งอยู่คนเดียวให้กำหนดอย่างนี้จนกว่าจิตของเรามันจะวางข้างนอกหมด ดูลมเข้าออกอย่างเดียวเท่านั้น มันจะวางข้างนอกจะมีใครหรือไม่ หรือว่าคนนี้นั่งตรงโน้นคนนั้นนั่งตรงนี้อะไรวุ่นวายมันจะไม่เข้ามา เราเหวี่ยงมันออกไปเสียว่าไม่มีใครอยู่ที่นี้มีแต่เราคนเดียว นั่งอยู่ตรงนี้จนกว่าจะทำสัญญาอย่างนี้ให้มันหมดไป จนกว่าจะไม่มีความสงสัยในรอบๆ ข้างเรานี้
เราก็กำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว เราปล่อยลมให้เป็นธรรมชาติอย่าไปบังคับลมให้มันยาว อย่าไปบังคับลมให้มันสั้น อย่าไปบังคับลมให้มันแรง อย่าไปบังคับลมให้มันอ่อน ปล่อยสภาพให้มันพอดีแล้วนั่งดูลมหายใจเข้าออก เมื่อมันปล่อยอารมณ์เสียงรถยนต์ก็ไม่รำคาญ เสียงอะไรก็ไม่รำคาญไม่รำคาญสักอย่าง ข้างนอกจะเป็นรูปเป็นเสียงไม่รำคาญทั้งนั้น เพราะว่ามันไม่รับเอามันมารวมอยู่ที่ลมหายใจเรานี้
ถ้าจิตของเราวุ่นวายกับสิ่งต่างๆ ไม่ยอมรวมเข้ามาก็ต้องสูดลมเข้าให้มากที่สุดจนกว่าจะไม่มีที่เก็บ แล้วก็ปล่อยลมออกให้มากที่สุดจนกว่าจะหมดในท้องเราสัก ๓ ครั้ง แล้วตั้งความรู้ใหม่แล้วสูดลมต่อไปอีกแล้วตั้งขึ้นใหม่ พักหนึ่งมันก็สงบไปเป็นธรรมดาของมัน สงบไปอีกสักพักหนึ่งมันก็ไม่สงบอีกอย่างนี้ก็มีวุ่นวายขึ้นมาอีก
เมื่อมันเป็นเช่นนี้แล้ว เราก็กำหนดจิตของเราให้ตั้งมั่นสูดลมหายใจเข้ามาหายใจ เอาลมในท้องเราออกให้หมดแล้วก็สูดเอาลมเข้ามาให้มากพักหนึ่ง แล้วก็ตั้งใหม่อีกกำหนดลมนั้นต่อไปอีกทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ เมื่อมันเกิดอย่างนี้ก็ทำอย่างนี้เรื่อยไป แล้วก็กลับมาตั้งสติกับลมหายใจเข้าออก ทำความรู้สึกต่อไปอีกอย่างนี้ ในเมื่อเป็นเช่นนี้หลายครั้งได้ความชำนาญ มันจะวางข้างนอกมันจะไม่มีอะไรอารมณ์ข้างนอกก็ส่งเข้ามาไม่ถึง
สติตั้งมั่นดูลมเข้าออกต่อไปอีก ถ้าจิตสงบลมนี้จะน้อยเข้าน้อยเข้าทุกที มันน้อยเข้าไปอารมณ์มันละเอียด ร่างกายเราก็จะเบาขึ้น มันก็วางอารมณ์ข้างนอกดูข้างในต่อไป ต่อนั้นไปเราก็รู้ข้างนอกมันจะรวมเข้าข้างใน เมื่อรวมเข้าข้างในแล้วความรู้สึกอยู่ในที่ๆ มันรวมกันอยู่ในลมหายใจนั้นมันจะเห็นลมชัด เห็นลมออกลมเข้าชัดแล้วมันจะมีสติชัดเห็นอารมณ์ชัดขึ้น ทุกอย่างจะเห็นศีลเห็นสมาธิเห็นปัญญาโดยอาการมันรวมกันอยู่นี้เรียกว่า "มรรคสามัคคี" เมื่อความสามัคคีเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่มีอาการวุ่นวายเกิดขึ้นในจิตของเรา มันจะรวมลงเป็นหนึ่งนี้เรียกว่า "สมาธิ"
นานไปสูดลมหายใจเข้าไปอีกจนกว่าลมจะละเอียดเข้าไปอีก แล้วความรู้สึกนั้นมันจะหมดไปหมดไปจากลมหายใจก็ได้ มันจะมีความรู้สึกอันหนึ่งมา ลมหายใจมันจะหายไป คือมันละเอียดอย่างยิ่งจนบางทีเรานั่งอยู่เฉยๆ ก็เหมือนลมไม่มีแต่ว่ามันมีอยู่ หากรู้สึกเหมือนว่ามันไม่มีเพราะอะไร? เพราะว่าจิตตัวนี้มันละเอียดมากที่สุด มันมีความรู้เฉพาะของมันนี้ เหลือแต่ความรู้อันเดียว ถึงลมมันจะหายไปแล้ว ความรู้สึกที่ว่าลมหายใจก็ตั้งอยู่ทีนี้ จะเอาอะไรเป็นอารมณ์ต่อไปเล่า ก็เอาความรู้นี่แหละเป็นอารมณ์ต่อไปอีก ความรู้ที่ว่าลมไม่มีลมไม่มีอยู่อย่างนี้เสมอนี่แหละเป็นความรู้อันหนึ่ง
ในจุดนี้บางคนชอบจะมีความสงสัยขึ้นมาก็ได้ สิ่งที่เราคาดไม่ถึงมันจะเกิดขึ้นมาได้ตรงนี้
แต่บางคนก็มีบางคนก็ไม่มี จงตั้งใจให้ดีตั้งสติให้มาก บางคนเห็นว่าลมหายใจไม่มีแล้วก็ตกใจเพราะธรรมดาลมมันมีอยู่ เมื่อเราคิดว่าลมไม่มีแล้วก็ตกใจว่าลมไม่มีกลัวว่าเราจะตายก็ได้ ตรงนี้ให้เรารู้ทันมันว่าอันนี้มันเป็นของมันอย่างนี้แล้ว เราจะดูอะไรก็ดูลมไม่มีต่อไปเป็นความรู้ นี่จัดว่าเป็นสมาธิอันแน่วแน่ที่สุดของสมาธิ มีอารมณ์เดียวแน่นอนไม่หวั่นไหว เมื่อสมาธิถึงจุดนี้จะมีความรู้สึกสารพัดอย่างที่มันรู้อยู่ในจิตของเรา เช่นบางทีร่างกายมันก็เบาที่สุดจนบางทีก็เหมือนกับไม่มีร่างกาย คล้ายๆ นั่งอยู่ในอากาศรู้สึกเบาไปทั้งหมด ถึงแม้ที่เรานั่งอยู่ก็ดูเปล่าว่าง อันนี้มันเป็นของแปลกก็ให้เข้าใจว่าไม่เป็นอะไร ทำความรู้สึกอย่างนั้นไว้ให้มั่นคง
เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นหนึ่งเพราะไม่มีอารมณ์ใดมาเสียดแทง อยู่ไปเท่าใดก็ได้ไม่มีความรู้สึกถึงเวทนาเจ็บปวดอะไร อยู่อย่างนี้เมื่อการทำสมาธิมาถึงตอนนี้ เราจะออกจากสมาธิก็ได้ไม่ออกก็ได้ ออกจากสมาธิก็ออกอย่างสบาย หรือจะไม่ออกเพราะว่าขี้เกียจ ไม่ออกเพราะว่าเหน็ดเหนื่อย หรือจะออกเพราะว่าสมควรแล้วก็ออกมาถอยออกมาถอยออกมา อย่างนี้อยู่สบายออกมาสบายไม่มีอะไรนี่เรียกว่าสมาธิที่สมควรสบาย
ถ้าเรามีสมาธิอย่างนี้ อย่างนั่งวันนี้เข้าสมาธิสัก ๓๐ นาทีหรือชั่วโมงหนึ่งจิตใจของเราจะมีความเยือกเย็นไปตั้งหลายวัน เมื่อจิตมีความเยือกเย็นหลายวันนั้น จิตจะสะอาดเห็นอะไรแล้วจะรับพิจารณาทั้งนั้น อันนี้เป็นเบื้องแรกของมันนี้เรียกว่าผลเกิดจากสมาธิ
สมาธินี้มีหน้าที่ทำให้สงบ
สมาธินี้ก็มีหน้าที่อย่างหนึ่ง ศีลนี้ก็มีหน้าที่อย่างหนึ่ง ปัญญานี้ก็มีหน้าที่อย่างหนึ่ง อาการที่เรากำหนดในที่นั้นมันจะเป็นวงกลมอย่างนี้ตามที่ปรากฏอยู่ในใจเรา มันจะมีศีลอยู่ตรงนี้มีสมาธิอยู่ตรงนี้มีปัญญาอยู่ตรงนี้ เมื่อจิตเราสงบแล้วมันจะมีการสังวรสำรวมเข้าด้วยปัญญาด้วยกำลังสมาธิ เมื่อสำรวมเข้าละเอียดเข้ามันจะเป็นกำลังช่วย ศีลบริสุทธิ์ขึ้นมามากก็จะช่วยให้สมาธิเกิดขึ้นมามากให้ดีขึ้นมาก เมื่อสมาธิเต็มที่แล้วมันจะช่วยปัญญาจะช่วยกัน ดังนี้เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกันต่อไปโดยรอบอย่างนี้ จนกว่ามรรคคือศีลสมาธิปัญญารวมกันเป็นก้อนเดียวกัน แล้วทำงานสม่ำเสมอกัน เราจะต้องรักษากำลังอย่างนี้อันนี้เป็นกำลังที่จะทำให้เกิดวิปัสนาคือปัญญา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น