เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ
ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "
หน้าเว็บ
เกี่ยวกับฉัน
- Nitinandho
- อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย
ผู้ติดตาม
วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
บันเทิงธรรม(หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช) 3
ณ ขณะที่เขียนบทความบันเทิงธรรมนั้น หลวงพ่อปราโมทย์ยังอยู่ในสถานะฆราวาสโดยใช้ชื่อว่า อุบาสกนิรนาม หรือ สันตินันท์ หรือ ปราโมทย์ สันตยากร7. ตู้พระธรรมเคลื่อนที่
เพราะการไปศึกษาครั้งแรกไม่ถามหลวงปู่มาให้ดี. จึงเสียเวลาและลำบากไป 3 เดือน เพราะไปหลงอาการของจิตว่าเป็นจิต. กลับจากสุรินทร์คราวนี้จะไม่ยอมพลาดอีกแล้ว. จึงเริ่มทำจิตให้สงบในเวลาที่มันฟุ้งซ่าน. ด้วยการกำหนดลมหายใจบ้าง การหายใจประกอบคำบริกรรมพุทโธบ้าง. พอจิตสงบดีแล้วก็เห็นความว่าง โปร่ง เบา. มีความรู้ตัวแจ่มใส เห็นอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นระยะๆ. โดยไม่เข้าไปแทรกแซงเพื่อทำลายอารมณ์ดังที่หลงทางมาแล้ว. วันหนึ่งขณะที่เห็นอารมณ์เกิดดับอยู่นั้น. จิตเกิดความอ่อนแอน้อมเข้าหาความสงบ. แล้วรวมลงนิ่งสนิทอยู่ช่วงหนึ่ง. พอจิตถอนขึ้นมาก็รู้สึกสว่างไสวไปหมด. มองสิ่งต่างๆ รู้สึกว่าชัดเจนไปหมด. กระทั่งมองอากาศว่างๆ ตรงหน้า. ก็ยังเห็นถึงอณูของอากาศ และฝุ่นละอองอันละเอียดที่แฝงในอากาศ. ก็เกิดระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าว่า ท่านช่างสอนธรรมอันน่าอัศจรรย์นัก. จากนั้นจิตก็ระลึกถึงธรรมหมวดต่างๆ ได้เป็นอันมาก ไล่ตั้งแต่หมวด 1 หมวด 2 ไปจนหมวดเกิน 10. นึกถึงธรรมข้อใดก็เข้าใจแจ่มแจ้งไปทุกหัวข้อ. และพบว่าธรรมทั้งหลายเชื่อมโยงเป็นอันเดียว รวมลงในอริยสัจจ์ 4 ทั้งสิ้น. ผู้เขียนพิจารณาธรรมด้วยความเพลิดเพลิน. ยิ่งพิจารณายิ่งแตกฉาน ยิ่งแตกฉานก็ยิ่งตื่นตาตื่นใจ พิจารณากว้างขวางออกไปอีก. เมื่อรู้ธรรมอันใดแล้ว ก็พยายามทรงจำไว้. ไม่นานเลย ผู้เขียนรู้สึกเหมือนตนเองกำลังแบกตู้พระไตรปิฎกไปไหนมาไหนด้วย. มันเป็นภาระอันหนักเหลือเกิน.
แล้วผู้เขียนก็ระลึกถึงหลักตัดสินพระธรรมวินัย ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างไรบ้าง. ก็รู้ว่า ท่านสอนธรรมเพื่อความละ ความคลาย ความสิ้นไปแห่งตัณหา. ผู้เข้าถึงธรรมจะต้องวางความยึดถือทั้งปวง. ก็เกิดความเฉลียวใจว่า อาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นคืออะไร. เพราะตรงกันข้ามกับหลักตัดสินที่ท่านสอนไว้. ก็เข้าใจขึ้นว่า นี้เป็นวิปัสสนูปกิเลส 2 ประเภทซ้อนกันอยู่. คือโอภาสอย่างหนึ่ง กับความแตกฉานในธรรมอีกอย่างหนึ่ง. พอรู้ทันแล้ว อาการนี้ก็หายไป เหมือนโยนภาระหนักทิ้งเสียได้.
8. เดินวิปัสสนา
ผู้เขียนเพียรปฏิบัติด้วยการมีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ. คือมีสติรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ. มีสัมปชัญญะรู้ตัว ไม่หลงไม่เผลอตามอารมณ์นั้น. จิตมั่นคงเป็นกลาง ปราศจากความยินดียินร้ายต่อสิ่งที่จิตไปรู้เข้า. บางคราวที่จิตฟุ้งซ่านไม่สามารถจะดูอารมณ์ได้ชัดเจน. หรือจิตหลงเข้าไปเกาะอารมณ์อย่างเหนียวแน่น. ผู้เขียนก็จะทำความสงบด้วยการกำหนดลมหายใจบ้าง. บริกรรมพุทโธบ้าง. กำหนดลมหายใจประกอบการบริกรรมพุทโธบ้าง. เพ่งความว่างในจิตบ้าง. เมื่อมีกำลังแล้ว คือสามารถแยกผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ได้ชัดเจน. ก็มาตามรู้ความเกิดดับของอารมณ์ต่อไป. โดยไม่ได้คิดคำนึงว่า ดูแล้วจะได้อะไรขึ้นมา. เพราะทุกวันที่ดูนั้น มันเหมือนมีงานที่น่าสนใจติดตามให้ทำอยู่ตลอดเวลา.
ผู้เขียนดำเนินวิปัสสนาในช่วงนี้อยู่ 4 เดือนนับแต่ไปกราบหลวงปู่เป็นครั้งที่ 2. จึงเข้าใจถึงสภาพที่จิตพ้นจากความปรุงแต่ง. รู้ชัดว่าความเป็นตัวตนของจิตจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เมื่อปราศจากความปรุงแต่ง. ความดับ อยู่ตรงที่พ้นจากความปรุงแต่งนี้เอง.
ไปกราบหลวงปู่คราวที่ 3 นี้ ไม่ได้หวังว่าจะได้รับคำยืนยันผลการปฏิบัติจากหลวงปู่. เพียงต้องการไปกราบท่านเพื่อให้ท่านเห็นว่า. การดำรงขันธ์อยู่ของท่าน เป็นประโยชน์เพียงใด. แต่หลวงปู่ก็กรุณาแจกแจงสภาวธรรมต่างๆ ให้ฟังอย่างละเอียด. ตอนที่กำลังก้มลงกราบลาท่านกลับออกจากวัด. ท่านก็กล่าวด้วยเสียงที่อ่อนโยนและเยือกเย็นว่า. "ถึงพระรัตนตรัยแล้ว พึ่งตนเองได้แล้ว ต่อจากนี้ไป ไม่จำเป็นต้องมาหาอาตมาอีก"
ผู้เขียนเดินออกจากวัดบูรพาราม ที่หน้าวัดกำลังมีงานช้างสุรินทร์. ท่ามกลางเสียงที่อึกทึกและผู้คนที่แน่นขนัดนั้น. ผู้เขียนมีความรู้สึกเหมือนเดินผ่านไปในกองธาตุ. ตาเห็นรูปก็สักว่าเห็น หูได้ยินเสียงก็สักว่าได้ยิน. ร่างกายของผู้เขียนก็เป็นอันเดียวกับสิ่งแวดล้อม. แต่สิ่งแวดล้อม ไม่เข้ามากระทบถึงจิตเลย. จิตเหมือนลมที่พัดผ่านสิ่งต่างๆด้วยความเท่าเทียมกัน. ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นช่อดอกไม้หรือซากศพ. ผู้เขียนระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ. และเคารพนอบน้อมแด่พระสาวกที่สืบทอดพระธรรมวินัยมาจนถึงยุคปัจจุบัน.
9. เจริญปัญญา ละเลยสมาธิ
การปฏิบัติหลังจากทำลายความเห็นผิดว่าจิตเป็นเราลงแล้ว. ก็ยังคงใช้วิธีการเดิม คือการรู้ความเกิดดับของอารมณ์ด้วยจิตที่เป็นกลาง. แต่สิ่งที่สะดวกมากขึ้นก็คือ จิตมีความเป็นกลางสม่ำเสมอมากขึ้น. การเกาะเกี่ยวอารมณ์ที่หยาบลดน้อยถอยลง. ความฟุ้งซ่านรำคาญใจน้อยลง. การเจริญปัญญามีความคล่องแคล่วชำนิชำนาญ. ยิ่งรู้ความเกิดดับ ก็ยิ่งเพลิดเพลิน. เวลากิเลสใดๆ เกิดขึ้น. พอกระทบความรับรู้ของสติ กิเลสก็ดับวับไปทันที. เหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ. ความเพลิดเพลินในการเจริญสติสัมปชัญญะ. ทำให้ละเลยการทำความสงบไปทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว.
ปฏิบัติเช่นนั้นอยู่ช่วงหนึ่ง. คราวนี้ไปพบเห็นอารมณ์ละเอียดอันหนึ่ง เป็นเพียงความไหวตัวยิบๆ เล็กๆ. เหมือนระลอกน้ำที่ไหวตัวเมื่อลมโชยแผ่ว.ความไหวยิบยับนี้เกิดขึ้นทั้งวันทั้งคืน. ก็ตามรู้ตามเห็นไปเป็นเดือนๆ จิตเกิดความอ่อนล้าและเร่าร้อนขึ้นมา. จึงเดินทางไปกราบหลงพ่อพุธ ฐานิโย ที่วัดป่าสาลวัน. หลวงพ่อก็เมตตาแสดงธรรมอบรมอยู่นาน แต่จิตไม่รู้สึกอิ่ม ไม่รู้สึกพอ. ท่านก็อุตส่าห์แจกแจงให้รู้ว่า. การปฏิบัติในขั้นละเอียดนั้น มันเหนือคำพูด เหนือบัญญัติ. เห็นเพียงสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นยุบยิบๆ เท่านั้น. แต่ถึงกระนั้นจิตของผู้เขียนก็ไม่คลายจากความเร่าร้อนกระวนกระวาย. แม้จะมีความเข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นสังขารละเอียดก็ตาม.
เมื่อเหนื่อยล้ามากเข้า ก็คิดว่า วันนี้ของดดูจิตสักวันเถอะ. ก็ไม่สามารถงดได้ เพราะมันรู้เห็นจนเป็นอัตโนมัติไปแล้ว. อยู่มาวันหนึ่งก็หันมาทำความสงบ. พอจิตสงบลงได้พักถึงฐานเต็มที่ ความกระวนกระวายก็ดับไป. จึงรู้ว่า จิตนั้นต้องการพัก จะเอาแต่เจริญปัญญารุดหน้าไปฝ่ายเดียวไม่ได้.
ปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก. และผู้เขียนก็โง่พอที่จะทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก. เช่นคราวหนึ่งเกิดความเครียดกับผู้อำนวยการกองซึ่งย้ำคิดย้ำทำ. งานเรื่องเดียวจะต้องแก้ไปเรื่อยๆ หลายสิบครั้งจนถึง dead line จึงยอมให้ผ่าน. รวมทั้งกร้าวร้าวรุกรานตลอดเวลา จนผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนเครียดและประสาทเสียไปตามๆ กัน. ผู้เขียนก็พยายามแก้ไขความเครียดนั้นด้วยปัญญา. พลิกแพลงพิจารณาสารพัด. เช่นพิจารณาว่า ทั้งเขาและเรา ต่างก็จะต้องตายจากกันในไม่ช้า เขาอยากทำอะไรก็ช่างเขา. หรือพิจารณาแยกธาตุทั้งตนเองและผู้บังคับบัญชา. หรือดูว่าความเครียดเป็นเพียงอารมณ์ที่เกิดๆ ดับๆ ไม่ใช่จิต. แต่ไม่ว่าจะพิจารณาอย่างไร จิตก็ไม่ปล่อยวางเรื่องนี้ เพราะมีผัสสะกระทบกระทั่งอยู่ตลอดเวลา.
ครั้งหนึ่งไปกราบหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดหินหมากเป้ง. พระอุปัฏฐากท่านจะเมตตาผู้เขียนเป็นพิเศษ. เพราะทุกครั้งที่ไปจะมีธรรมะไปกราบเรียนถามหลวงปู่เสมอ. ท่านจะจัดให้นั่งที่มุมใกล้ๆ หลวงปู่. แต่ยังไม่ให้ถามอะไร จนกว่าญาติโยมที่มากราบหลวงปู่เป็นร้อยๆ คน จะกลับไปเสียก่อน. พอญาติโยมถวายข้าวของต่างๆ แล้ว หลวงปู่ก็จะยถาสัพพี อนุโมทนาทาน. ช่วงนั้นทุกคนก็จะประนมมือรับพร ผู้เขียนก็รับด้วย. และเนื่องจากเครียดเรื่องผู้บังคับบัญชาไม่หาย. ก็เลยอธิษฐานขอพรจากหลวงปู่ ขอให้พ้นจากหัวหน้าคนนี้เสียที. พอท่านให้พรเสร็จ ท่านก็หันมาพูดเบาๆ คำเดียวว่า "กรรม" จิตในขณะนั้นก็โล่งไปหมด เพราะรู้ว่า นี่เรากำลังใช้กรรมอยู่.
เครียดมาประมาณเดือนเศษๆ เช้าวันหนึ่งรู้สึกอ่อนล้าเหลือเกิน. ก็คิดว่าวันนี้จะขอทำสมถะสักหน่อย. พอกำหนดลมหายใจไปประมาณ 28 ครั้ง. จิตก็รวมพรึ่บลง ว่าง สงบ สว่างผ่องใส. พอถอยออกจากสมาธิ จิตก็ย้อนเข้ารู้ความเครียดโดยอัตโนมัติ. ความเครียดก็ขาดสะบั้นไปเองเหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ.
พบเหตุการณทำนองนี้หลายครั้งเข้า. จิตที่เคยชินกับการเดินปัญญาก็ยังไม่หลาบจำ. จนเมื่อประมาณปลายปี 2538 ได้ไปกราบเรียนถามท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน. เกี่ยวกับแนวทางที่กำลังดำเนินอยู่. โดยกราบเรียนท่านว่า ผมเจริญสติสัมปชัญญะอยู่เป็นปกติ. ท่านพระอาจารย์เทสก์ฯ ก็บอกว่ามันสุดทางที่จะดำเนินไปแล้ว. แต่นี่ผ่านมาหลายปี ผมยังไม่สามารถผ่านจุดนี้ไปได้. ท่านอาจารย์มองหน้าอยู่อึดใจหนึ่งก็ตอบว่า. "ตรงนี้สำคัญนะ ต้องเชื่อเรานะ เราผ่านมาแล้วด้วยตนเอง. ที่ว่ามีสติสัมปชัญญะรู้อยู่ที่จิตนั้น มันรู้อยู่ไม่ได้นานหรอก. ไม่มีอะไรดีกว่าการบริกรรม. ให้บริกรรมกำกับเข้าไปที่ตรงรู้นั้นอีกทีหนึ่ง จึงจะผ่านจุดนี้ได้”. รวมความแล้วก็คือ ผู้เขียนติดการเจริญปัญญาและไม่เห็นความสำคัญของกำลังสมาธิมาแต่ไหนแต่ไร. กลายเป็นจุดอ่อนที่ต้องนำมาเตือนตนเองป็นประจำ.
10. กิเลสหลบใน
นับตั้งแต่จิตของผู้เขียนหลุดพ้นชั่วคราวครั้งแรก. ผู้เขียนก็จำขั้นตอนการบรรลุมรรคผลได้อย่างชัดเจน. หลังจากนั้นผู้เขียนก็ดูจิตเรื่อยมา. วันหนึ่งจิตรวมลงไป ดับความคิดนึกปรุงแต่งทั้งหมด. แล้วสิ่งห่อหุ้มจิตก็แหวกออก เห็นความสว่างค่อยๆผุดขึ้น. เหมือนดวงอาทิตย์โผล่พ้นเมฆขึ้นมา. หลังจากนั้น จิตก็อุทานขึ้นเบาๆ ว่า จิตไม่ใช่เรา. จากนั้นจิตก็ถอนออกจากภาวะนั้น. ผู้เขียนรู้ชัดว่า นี่จิตมันพยายามเลียนแบบอาการของจิตที่เคยเห็นมา. สิ่งนี้เป็นมายาหลอกลวงของกิเลส
แต่มีความแปลกประหลาดอันหนึ่งคือ. จิตของผู้เขียนไม่ถูกกามราคะมาแผ้วพานอีก. แต่ผู้เขียนไม่เชื่อว่า ด้วยภูมิธรรมของผู้เขียนจะสามารถละกามได้. ประกอบกับยังสังเกตเห็นความยินดีในรสอาหารอยู่. แสดงว่ากิเลสกามมันหลบซ่อนตัวอยู่เท่านั้น. จึงคิดจะล่อให้มันออกมาจากที่ซ่อน. โดยการไปหาหนังสือโป๊มาอ่าน. ประมาณ 7 วัน กามก็โผล่ตัวขึ้นมาให้เห็นอีก
เมื่อนำเรื่องนี้ไปเล่าถวายหลวงปู่ดูลย์. ท่านก็บอกว่า มันเป็นนิมิตเท่านั้น ดีแล้วที่ไม่เชื่อมัน. และเมื่อนำเรื่องนี้ไปกราบเรียนหลวงปู่เทสก์. ท่านยิ้มแล้วชมว่า ดีแล้วที่ไม่หลงเชื่อมัน.
การที่ผู้เขียนไม่ถูกกิเลสหลอกลวง. ก็เพราะเคยรู้ปริยัติธรรมมาว่า ต้องระดับพระอนาคามีจึงจะละกามราคะได้. แล้วก็ใช้ความสังเกตจิตใจตนเองพบว่า. กามราคะยังเหลืออยู่ในรูปของความพอใจในรส. จากนั้นก็หาอุบายล่อลวงกิเลสให้ปรากฏตัวขึ้นมา.
11. ตกภวังค์ครั้งใหญ่
ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ผู้เขียนจะนิยมการเจริญสติรู้ความเกิดดับของอารมณ์. เรื่องที่จิตจะน้อมไปหาความสงบนั้น ยากที่จะเกิดขึ้น. แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งในราว 1 เดือนก่อนจะเข้าพรรษาปี 2526. ผู้เขียนมีอาการตกภวังค์ตอนเวลา. ดูจิตเมื่อใดก็ตกภวังค์เมื่อนั้น และตกแบบหัวซุกหัวซุน. แม้จะยืนกำหนดหรือนั่งขัดสมาธิเพชรก็ยังตกภวังค์. พยายามกำหนดลมหายใจแรงๆ ก็ยังตกภวังค์. รวมความแล้วรู้สึกอับจนปัญญาที่จะแก้ไขอาการเช่นนี้. พอถึงวันอาสาฬหบูชา ผู้เขียนกับน้องชายในทางธรรม. ได้เดินทางไปกราบหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ที่ถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่. ได้กราบขออุบายแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะจนปัญญาจะช่วยตนเองแล้ว. หลวงปู่ผู้เปี่ยมด้วยความเมตตามองหน้าผู้เขียนแล้วยิ้มๆ. กล่าวว่า "เป็นผู้รู้อย่างนี้แล้ว จะต้องถามใคร จะต้องสงสัยอะไร. อย่าสงสัยเลย ให้เร่งปฏิบัติไปเถิด แล้วจะได้ของดีในพรรษานี้แหละ". รวมความแล้วผู้เขียนก็ไม่ได้ความรู้ความเข้าใจอะไรเกี่ยวกับอาการของจิตคราวนั้นเลย. แต่เมื่อเป็นคำของครูบาอาจารย์ ก็ต้องน้อมรับไว้ตามนั้น.
เช้าวันรุ่งขึ้นอันเป็นวันเข้าพรรษา ผู้เขียนก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ ด้วยรถทัวร์. ระหว่างทางก็ดูจิตบ้าง สนทนาธรรมกับน้องชายบ้าง. อาการที่จิตตกภวังค์ก็เริ่มหายไปทีละน้อย. พอรถทัวร์มาถึงสี่แยกหลักสี่ น้องชายพูดว่า จิตของผมรวมอีกแล้ว. ฟังเท่านั้นจิตของผู้เขียนก็รวมลง. เพราะมีปัญญาเห็นว่าจิตเป็นอนัตตา. แล้วสิ่งห่อหุ้มจิตก็แหวกออก. จิตเข้าถึงความดับเพียงวับเดียว แล้วแสงสว่างก็ปรากฏขึ้น ความเบิกบานปรากฏขึ้น เป็นครั้งที่ 2 นับแต่ปฏิบัติธรรมมา.
ผู้เขียนได้ความเข้าใจว่า ลักษณะนี้เองที่มีผู้รู้ธรรมขณะที่พระศาสดาทรงแสดงธรรม. แต่จนป่านนี้ ผู้เขียนก็ยังไม่เข้าใจว่า. เหตุใดก่อนหน้านี้ผู้เขียนจึงตกภวังค์ขนานใหญ่. และหลังจากวันนั้น ก็ไม่ตกภวังค์อย่างนั้นอีกเลย. และผู้เขียนตระหนักชัดถึงญาณทัศนะอันแจ่มใสของหลวงปู่สิม มาตั้งแต่คราวนั้น.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น