เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บันเทิงธรรม(หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช) 4


ณ ขณะที่เขียนบทความบันเทิงธรรมนั้น หลวงพ่อปราโมทย์ยังอยู่ในสถานะฆราวาสโดยใช้ชื่อว่า อุบาสกนิรนาม หรือ สันตินันท์ หรือ ปราโมทย์ สันตยากร12. พระอภิญญา
เมื่อกล่าวถึงญาณทัศนะของหลวงปู่สิม พุทธาจาโรแล้ว. ทำให้ผู้เขียนอดระลึกถึงพระอภิญญาองค์อื่นๆ ไม่ได้. การที่ผู้เขียนวนเวียนอยู่ตามสำนักครูบาอาจารย์สายพระป่านั้น. ทำให้ได้พบเห็นและรู้จักพระอภิญญาหลายองค์. จึงตระหนักชัดไม่มีข้อสงสัยแม้แต่น้อย เกี่ยวกับเรื่องอภิญญาในพระไตรปิฎก. ทราบซึ้งแก่ใจว่า การจารึกเรื่องราวเกี่ยวกับอภิญญาในพระไตรปิฎก. ไม่ใช่เป็นอุบายดึงให้คนเคารพศรัทธาในพระศาสนา. แต่เป็นการกล่าวความจริงล้วนๆ. เพราะพระพุทธศาสนานั้น โดยเนื้อแท้แล้วก็น่าเคารพศรัทธาเต็มเปี่ยมในจิตใจอยู่แล้ว. ไม่ต้องนำเรื่องอภิญญาหรือปาฏิหารย์มาเป็นอุบายล่อให้คนศรัทธา. และมีแต่ของจอมปลอมหลอกลวงเท่านั้น จึงต้องอาศัยอุบายล่อลวงให้คนนับถือ. แต่เรื่องราวของพระอภิญญามีมาก. ผู้เขียนจะเล่าเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมเท่านั้น. เพื่อประโยชน์ของผู้อ่านที่น่าจะได้รับฟังสาระประโยชน์บ้าง. ไม่ใช่เพียงฟังเรื่องสนุกๆ เท่านั้น.


มีช่วงหนึ่งประมาณสิบปีกว่ามาแล้ว. ผู้เขียนหัดเข้าสมาบัติอันหนึ่งซึ่งค้นพบโดยไม่ได้ตั้งใจ. คือในคราวแรกผู้เขียนกำหนดสติรู้อยู่ที่ผู้รู้. สักพักหนึ่งก็เห็นว่า น่าจะออกไปพิจารณาสิ่งภายนอกบ้าง. จึงกำหนดสติรู้ออกไปที่ความว่างซึ่งตั้งอยู่ตรงหน้า. เมื่อกระแสของจิตเคลื่อนออกไปสู่ความว่าง แต่ยังไม่เกาะเข้ากับความว่าง. ผู้เขียนก็ถอยกระแสจิตย้อนเข้ามาที่จิตผู้รู้อีก. ขณะที่กระแสจิตจะจับเข้ากับจิตผู้รู้ ผู้เขียนก็ส่งกระแสนั้น ย้อนไปที่ความว่างอีก. ย้อนไปมาเช่นนี้ 2 - 3 ครั้ง จิตก็หยุดอยู่ในระหว่างจิตผู้รู้กับอารมณ์. ไม่ยึดเกาะทั้งจิตและอารมณ์. ไปรู้อยู่บนความไม่มีอะไรเลย. แล้วดำเนินผ่านอรูปฌานละเอียดมาก พลิกเข้าสู่สภาวะอันหนึ่ง ซึ่งเหลือแต่ธรรมชาติล้วนๆ. ไม่มีความคิด ไม่มีสัญญา ไม่มีเวทนา. เป็นสภาพที่ว่างจากตัวตนและเวลา. เมื่อจิตถอนออก ก็ย้อนกลับเข้าด้วยวิธีเดิมอีก. ฝึกซ้อมหาความชำนาญในกีฬาทางจิตอยู่. เพราะโดยภูมิธรรมด้านปัญญาจริงๆ แล้ว ไม่สามารถทรงตัวอยู่ในสมาบัตินี้ได้อย่างเต็มภูมิ.


หลังจากนั้นไม่นาน ผู้เขียนก็ขึ้นไปกราบหลวงปู่เทสก์ ที่วัดหินหมากเป้ง. กราบเรียนท่านถึงสิ่งที่กำลังเล่นอยู่. ท่านไม่ห้าม กลับกล่าวว่า "ฝึกไว้ให้ชำนาญเถอะ. เวลานี้ไม่ค่อยมีใครเข้าสมาบัติอันนี้เท่าไรแล้ว". ผู้เขียนก็กราบเรียนท่านว่า "ผมกลัวจะติดเหมือนกัน". ท่านตอบว่า "ไม่ต้องกลัว ถ้าติด อาตมาจะแก้ให้เอง". ผู้เขียนทราบเจตนารมณ์ของครูบาอาจารย์ที่ต้องการให้สืบทอดเรื่องสมาธิต่างๆ. จึงปฏิบัติเรื่อยมา เพราะทราบว่า อารมณ์ของสมาบัติชนิดนี้เอานิพพานเป็นอารมณ์.


ต่อมาอีกประมาณ 1 เดือน ผู้เขียนไปสัมมนาที่เชียงใหม่. ตกค่ำมีงานเลี้ยง ซึ่งผู้เขียนจะหนีงานเลี้ยงทุกครั้งที่ทำได้เพราะรู้สึกว่าเสียเวลามาก. พอหลบออกจากงานได้ก็ตรงไปวัดสันติธรรม. เพื่อกราบท่านอาจารย์ทองอินทร์ กุสลจิตโต. พอลงจากรถสามล้อเครื่องที่หน้าประตูวัดก็เป็นเวลาประมาณ 2 ทุ่มเศษ. ที่หน้าประตูวัดมืดสนิท ผู้เขียนคุ้นเคยสถานที่ ก็เดินเข้าไปอย่างไม่ลังเล. พอพ้นประตูวัดก็พบพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งมายืนอยู่ในความมืด. จึงไหว้ท่านแล้วเรียนถามว่า ท่านอาจารย์ทองอินทร์อยู่หรือเปล่าครับ. ท่านก็ตอบว่า อยู่ แต่ตอนนี้ท่านอาจารย์บุญจันทร์มาพักเป็นพระอาคันตุกะอยู่ที่นี่. โยมไปหาท่านหน่อยสิ. ผู้เขียนก็เรียนท่านว่า ผู้เขียนไม่รู้จักท่านอาจารย์บุญจันทร์ เกรงจะเป็นการรบกวนเพราะค่ำมากแล้ว. จากนั้นผู้เขียนก็เข้าไปที่กุฏิท่านอาจารย์ทองอินทร์. สนทนาธรรมกับท่านประมาณชั่วโมงเศษ. พอออกจากกุฏิก็ต้องแปลกใจที่พบว่าพระหนุ่มยังรออยู่. ทั้งที่อากาศนอกกุฏินั้น กำลังหนาวเย็นและมืดมาก. ท่านกล่าวอีกว่า ไปพบท่านอาจารย์บุญจันทร์สักหน่อยเถิด. ผู้เขียนลังเล ท่านก็ขยั้นขะยอ. ผู้เขียนจึงเดินตามท่านไปที่กุฏิท่านอาจารย์บุญจันทร์.


ขึ้นบันไดไปชั้นบน ท่ามกลางความมืดก็เห็นเงาตะคุ่มๆ ของท่านอาจารย์บุญจันทร์. ท่านนอนคลุมผ้าอยู่บนตั่งไม้หน้ากุฏิ. ขณะนั้นอากาศหนาวมาก องค์ท่านก็สั่นมีอาการอาพาธ. พระหนุ่มที่ขึ้นบันไดมาก่อนได้หลบเข้าห้องไป. ผู้เขียนก็ก้มกราบท่านอาจารย์ด้วยความเคารพนอบน้อม. ท่านถามเสียงดังว่า ไง ปฏิบัติยังไง. ก็กราบเรียนถึงการฝึกเข้าสมาบัติ. พอกล่าวจบก็ถูกท่านดุเอาทันทีว่า. "นิพพานอะไรมีเข้ามีออก ไง จะปฏิบัติยังไงอีก". ผู้เขียนคิดว่าท่านไม่เข้าใจ ก็กราบเรียนซ้ำอีก. ท่านก็ดุอีกว่า "นิพพานอะไรอย่างนั้น มีเข้ามีออกอยู่อย่างนั้น เข้าใจไหม" ผู้เขียนนั้นจิตสว่างวาบออกมาเลย เพราะหมดความยึดถือสมาบัติ. รู้ว่าถึงฝึกไปก็ไม่ช่วยให้เข้านิพพานได้จริง. และนับแต่นั้น ผู้เขียนก็ไม่อาจเข้าสมาบัตินั้นได้อีก.


พอจิตของผู้เขียนสว่างวาบขึ้น ท่านอาจารย์ก็แกล้งทดสอบผู้เขียนอีก. โดยการหัวเราะออกมาดังๆ. ผู้เขียนกำลังเบิกบานใจก็หัวเราะตามท่าน. จู่ๆ ท่านกลับหยุดหัวเราะฉับพลัน. ผู้เขียนก็หยุดตามท่านทันที จิตเป็นปกติราบเรียบลง. ท่านว่า เออ ใช้ได้ ไปได้แล้ว. ผู้เขียนก็กราบลาท่านลงมาจากกุฏิ. ออกเดินจะไปหน้าวัด พระหนุ่มท่านก็รีบตามลงมา. ระหว่างรอรถสามล้อเครื่องอยู่นั้น ก็คุยกันไปเรื่อยๆ. พระหนุ่มท่านก็บอกว่า ท่านอาจารย์สั่งไว้ให้มารอโยมตั้งแต่ตอนเย็น. ยังไงๆ ก็ให้พาไปหาท่านให้ได้.


พระอภิญญาอีกองค์หนึ่งที่ผู้เขียนได้ประโยชน์จากท่าน และประทับใจมาก. คือหลวงพ่อ หรุ่น สุธีโร. ผู้เขียนพบท่านที่วัดบวรสังฆาราม หน้าเรือนจำจังหวัดสุรินทร์. ตอนนั้นเป็นเวลาสายๆ หลังจากพระฉันอาหาร และฆราวาสรับประทานอาหารเสร็จแล้ว. ต่างก็ออกจากศาลาแยกย้ายกันไปทำกิจของตน. ผู้เขียนแปรงฟันหลังอาหารเสร็จแล้ว ก็เดินไปรอบๆ วัด. พบเก้าอี้หินใต้ร่มไม้ข้างสระน้ำใหญ่ที่เพิ่งขุดใหม่ ก็คิดว่าน่าจะนั่งภาวนาที่นี่. ทันใดก็ได้ยินเสียงหลวงพ่อหรุ่นตะโกนข้ามสระน้ำมาว่า. "โยม..คิดจะนั่งภาวนาก็ผิดแล้ว". หันไปมองเห็นท่านกำลังจะแปรงฟัน. มือหนึ่งถือขันน้ำ มือหนึ่งถือแปรงสีฟัน.


เดิมมานั้นผู้เขียนเห็นแต่อารมณ์ที่เกิดดับ ไม่เคยเห็นตัณหาละเอียดคือความอยากภาวนา. นับแต่เมื่อท่านตะโกนบอกคราวนั้น. ผู้เขียนก็เห็นตัณหาในจิตอย่างชัดเจน. กระทั่งจิตอยากจะนั่งภาวนา ก็ยังเป็นตัณหาที่ต้องรู้และละเสีย. การภาวนาจึงจะสะอาดหมดจด เพราะไม่ได้ปฏิบัติไปตามความอยาก. แต่ปฏิบัติเพราะสมควรจะปฏิบัติเท่านั้น.


อีกคราวหนึ่งในปลายปี 2525 หรือต้นปี 2526 ผู้เขียนไปกราบหลวงปู่ดูลย์. หลังจากรายงานผลการปฏิบัติและฟังธรรมแล้ว หลวงปู่ไปสรงน้ำ. ผู้เขียนก็เดินเล่นไปมาในบริเวณสนามหน้ากุฏิของท่าน. บางทีก็แวะฟังน้องชายคุยกับพระอุปัฏฐากของหลวงปู่. แล้วจู่ๆ ผู้เขียนก็สัมผัสถึงกระแสบางอย่างที่ละเอียดอ่อน เยือกเย็น เป็นสุขอย่างยิ่ง. หันไปมองที่ประตูกุฏิ ก็เห็นว่าหลวงปู่สรงน้ำเสร็จแล้ว. สวมอังสะออกมานั่งที่เก้าอี้โยกหน้ากุฏิ. ท่านกำลังมองดูผู้เขียน. ผู้เขียนก็ทราบว่า ท่านดูจิตใจของผู้เขียนอยู่ จึงเข้าไปกราบท่านอีกคราวหนึ่ง. นับแต่นั้นมา ผู้เขียนก็สามารถรู้สภาวะจิตของผู้อื่นได้เหมือนสภาวะจิตของตนเอง. น้องชายก็เลิกคุยกับพระอุปัฏฐาก ตามมานั่งหน้าหลวงปู่ด้วย. เมื่อกราบท่านแล้วผู้เขียนก็นั่งสงบอยู่หน้าท่าน. ท่านก็กล่าวว่า "ให้ปฏิบัติเสียให้จบในชาตินี้นะ". ผู้เขียนก็ถามท่านว่า "ผมจะทำให้จบในชาตินี้ได้หรือครับ". หลวงปู่ตอบเสียงเฉียบขาดว่า "จบ.. จบแน่นอน".


คำกล่าวของท่านนี้ เป็นกำลังใจในยามเมื่อสิ้นท่านไปแล้ว. และสิ้นครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เป็นที่พึ่งพาใกล้ชิดของผู้เขียน.


อีกคราวหนึ่งผู้เขียนไปกราบหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดหินหมากเป้ง. ท่านเมตตาให้พักที่กุฏิเก่าของท่าน. ซึ่งมองทางหน้าต่างจะเห็นภาพในกุฏิใหม่ของท่านชัดเจน เพราะห่างกันไม่มากนัก. ประมาณ ตี 2 เศษๆ ผู้เขียนเห็นท่านเดินจงกรมท่ามกลางแสงสลัวๆ. ก็เกิดความสงสัยว่า ท่านเดินจงกรมโดยวางมืออย่างใด. ทันทีที่คิด ท่านก็เดินแกว่งแขนให้ดูทันที. ผู้เขียนก็คิดได้ว่า ท่านสอนให้เราเจริญสติสัมปชัญญะในทุกอิริยาบถ. รู้ความเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ ธรรมดานั่นเอง.


ผู้เขียนเคยพบเห็นพระอภิญญาอีกหลายองค์ บางองค์ทำอะไรได้แปลกๆ น่าอัศจรรย์. แต่ที่นึกได้และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติของผู้เขียน. และเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน ก็มีตามที่เล่ามานี้.


13. เรื่องผีและเทวดา
มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากคิดว่าเรื่องผีและเทวดาไม่มีจริง. เพราะพิสูจน์ยังไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์. และพาลคิดว่าเรื่องเหล่านี้ในพระไตรปิฎก เป็นเพียงอุบายสอนให้คนทำดี. แต่ผู้เขียนไม่ได้คิดเช่นนั้น. เพียงแต่ไม่ต้องการถกเถียงกับความเชื่อของผู้ใด. ใครจะเชื่ออย่างใด ก็เป็นสิทธิของผู้นั้น. เหตุที่ผู้เขียนเห็นว่า ผีและเทวดามีจริง ก็เพราะเคยพบเห็นอยู่เป็นประจำ. ดังจะนำมาเล่าสู่กันฟังบางเรื่อง.


ครั้งหนึ่งผู้เขียนและน้องชาย ได้พาหลวงพ่อคืน ปสันโน, อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรสังฆาราม จังหวัดสุรินทร์, ไปนมัสการท่านพระอาจารย์เทสก์ ที่วัดหินหมากเป้ง. ช่วงนั้นเป็นฤดูหนาว อากาศหนาวจัดมาก ขนาดห่มผ้านวมก็ยังสั่นอยู่ใต้ผ้านวม. ตกดึกผู้เขียนนอนเป็นห่วงหลวงพ่อคืน. เพราะท่านอายุมากแล้ว และร่างกายก็ไม่สมประกอบคือแขนขาลีบไปซีกหนึ่ง. นึกได้ว่าตอนหัวค่ำลืมหาผ้าห่มไปถวายท่าน. พอเช้ามืดผู้เขียนก็รีบต้มน้ำร้อน นำไปถวายท่าน. ไปถึงหน้ากุฏิที่ท่านพัก ก็เคาะประตูเรียกอยู่พักใหญ่ ท่านจึงเปิดประตูออกมา. ผู้เขียนชะโงกเข้าไปดูในห้อง ก็พบว่า ท่านมีเสื่อผืนเดียว ไม่มีผ้าห่มจริงๆ. ก็ถามท่านว่า หลวงพ่อหนาวไหมครับ. ท่านตอบว่าเมื่อคืนไม่หนาว แต่ตอนนี้หนาว. ก็ถามท่านว่าทำไมเมื่อคืนจึงไม่หนาว ตอนนี้ใกล้สว่างแล้วกลับหนาวมาก. ท่านตอบว่าเมื่อคืนพอเริ่มหนาวจัด. ท่านก็กำหนดจิตเข้าอัปปนาสมาธิ ดับความรับรู้ทางกายหมด. อำนาจของฌานได้รักษากายไว้ ไม่ให้กระทบกระเทือนเพราะความหนาว. ตอนนี้ออกจากฌานมา จึงหนาว. ผู้เขียนก็ถามท่านอีกว่า แล้วผมมาเรียก หลวงพ่อได้ยินไหม. ท่านตอบว่าไม่ได้ยิน แต่นี่เป็นเวลาที่ท่านตื่นนอนเป็นปกติอยู่แล้ว.


วันนั้น ผู้เขียนพาท่านกับพระอนุจรนับสิบรูป. ไปวัดวังน้ำมอก สาขาของวัดหินหมากเป้ง. ที่นั้นมีถ้ำ มีเขาอยู่หลายแห่ง มีลำห้วยที่มีน้ำไหลอยู่ทั้งปี. พระเจ้าถิ่นท่านก็เมตตา พาชมสถานที่ไปทั่วๆ. บนลานหินแห่งหนึ่ง น้องชายของผู้เขียนไปพบกองอะไรขาวๆ ในขี้เถ้ากองหนึ่ง. จึงเอาเท้าไปเขี่ยๆ ดู แล้วหยิบสิ่งนั้นขึ้นมาดูชิ้นหนึ่ง. พระท่านหันมาเห็นเข้า ก็บอกว่า นั่นเป็นกระดูกศีรษะ. ตรงนี้เป็นป่าช้า ชาวบ้านจะเอาศพมาเผาที่นี่. น้องชายผมก็หัวเราะ แล้วโยนกระดูกศีรษะชิ้นนั้นลงเหวไป.


ตกบ่ายคณะของเราจึงเดินทางกลับหินหมากเป้ง. พอเข้าเขตวัดหินหมากเป้ง หลวงพ่อคืนก็หันมาสั่งผู้เขียนกับน้องชายว่า. คืนนี้ให้นอนกลางแจ้ง อย่าไปนอนใต้ต้นไม้นะ. ทั้งนี้เพราะปกติเวลาไปหินหมากเป้ง ถ้าหลวงปู่ไม่สั่งให้ไปอยู่กุฏิพระ. ผู้เขียนจะขออนุญาตหลวงปู่ไปตั้งเต็นท์นอนในป่า ซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ๆ เต็มไปหมด. วันนั้นเมื่อได้ฟังหลวงพ่อคืนสั่ง จึงขยับเต็นท์ไปนอนกลางแจ้ง ห่างจากต้นไม้ทั้งหลาย.


ตกค่ำประมาณ 3 ทุ่มเศษ ผู้เขียนกับน้องชายก็เข้าไปในเต็นท์. นั่งหันหลังชนกันภาวนาไปตามปกติ. ระหว่างนั้นก็ได้ยินเสียงคนจำนวนมากมาเดินอยู่รอบๆ เต็นท์. ก็นึกว่าเป็นคนงานก่อสร้างศาลาในวัด. ผู้เขียนสงสัยว่ามาทำไมกัน ก็ลองมองออกทางช่องหน้าต่างของเต็นท์. พบว่ารอบเต็นท์มืดมาก ไม่มีใครเลย ได้ยินแต่เสียงไม่เห็นตัว. แล้วจู่ๆ น้องชายก็หัวเราะหึๆ ออกมา บอกว่าผมภาวนามานานแล้ว เพิ่งเคยมีนิมิตวันนี้เอง. ผู้เขียนถามว่านิมิตอย่างไร น้องชายก็ตอบว่า. เห็นหน้าเละๆ โผล่ขึ้นมา คิดว่าเป็นนิมิตเห็นตนเองเป็นอสุภะ. ก็เลยดึงภาพนั้นเข้ามาใกล้ๆ กำหนดจิตฉีกเนื้อแยกกระดูกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย. แต่ตลกดี ภาพนิมิตนั้นดิ้นรนด้วยความเจ็บปวด แล้วสลัดหลุดหนีออกไปดิ้นเร่าๆ อยู่ไกลๆ. ผู้เขียนก็นึกว่า พ่อมหาจำเริญเอ๋ย. เมื่อกลางวันไปเหยียบกระดูกศิรษะเขา. พอตกค่ำก็จับพวกเขาแยกธาตุอีก เขาคงเจ็บใจน่าดู. แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้พูดว่ากระไร.


คราวนี้เสียงคนจ้อกแจ้กจอแจรอบๆ เต็นท์เงียบไปแล้ว. แล้วจู่ๆ ก็มีเสียงสุนัขหอนโหยหวนมาจากทางวัดวังน้ำมอก. หอนมาเป็นทอดๆ จนสุนัขในหินหมากเป้งก็หอนรับ. แล้วมีเสียงลมพายุพัดอื้ออึงมาจากทิศทางวังน้ำมอกเข้ามาที่หินหมากเป้ง. พักเดียวลมแรงก็กระโชกใส่เต็นท์อย่างรุนแรง. เสียงต้นหมากรากไม้หักโค่นโครมครามรอบเต็นท์. ผู้เขียนกำหนดจิตแผ่เมตตาออกไป ก็เห็นเท้าข้างหนึ่งเหยียบโครมลงมาข้างเต็นท์ใกล้ตัวผู้เขียน. เป็นเท้าสีเขียวๆ ที่โตมาก คะเนได้ว่า เจ้าของต้องสูงขนาดยอดยางใหญ่. ถึงตอนนี้จิตของผู้เขียนก็เห็นว่าจวนตัว จึงรวมวูบเข้ามา. พอถอนออกอีกครั้งหนึ่งเป็นเวลาสว่างแล้ว. จึงพากันออกมานอกเต็นท์ ก็เห็นกิ่งไม้ใหญ่ๆ หักตกอยู่รอบเต็นท์. หากหลวงพ่อคืนไม่บอกไว้ก่อน คืนนี้คงถูกกิ่งไม้หักใส่เสียแล้ว. เช้านั้นหลวงพ่อคืนเจอผู้เขียนแล้ว หัวเราะหึๆ. บอกขึ้นลอยๆ ว่าเขาเป็นนักเลง เป็นนักไสยศาสตร์เก่า ก็เลยมีกำลังมาก.


อีกคราวหนึ่งผู้เขียนไปสัมมนาที่สกลนคร. ตกค่ำก็หนีงานเลี้ยงไปวัดป่าแห่งหนึ่ง เพื่อกราบพระธาตุของครูบาอาจารย์ใหญ่. ขณะที่เดินผ่านหน้าพระอุโบสถได้เห็นแม่ชีรูปหนึ่ง. เดินผ่านหน้าหายเข้าไปในต้นไม้ใหญ่ซึ่งขึ้นคู่กันหน้าพระอุโบสถ. ผู้เขียนก็แผ่เมตตา แล้วเดินไปขอร้องท่านรองเจ้าอาวาส. ให้เปิดพิพิธภัณฑ์ให้ผู้เขียนได้เข้าไปกราบพระธาตุ. ท่านซักว่ามาจากไหน พอทราบว่ามาไกลก็อนุโลมมาเปิดพิพิธภัณฑ์ให้. เมื่อไหว้พระธาตุแล้ว ผู้เขียนได้มานั่งคุยกับท่านที่บันไดหน้าพิพิธภัณฑ์. คุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ แล้วผู้เขียนก็วกมาถามท่านตรงๆ ว่า. แม่ชีที่ต้นไม้นั้นมีความเป็นมาอย่างไร. ท่านมองหน้านิ่งอยู่หน่อยหนึ่ง ถามว่าโยมพบเขาแล้วหรือ. เรียนท่านว่าพบแล้ว. ท่านว่าเปรตนั้นเดิมเป็นชีที่อยู่โรงครัวของวัด. แล้วยักยอกอาหารของสงฆ์ และเงินค่าอาหารสงฆ์เพื่อประโยชน์ของตน. ตายแล้วมาเป็นเปรตดักอยู่หน้าโบสถ์. เพื่อขอความช่วยเหลือจากคนที่พอจะช่วยได้.


เมื่อช่วงปี 2527 ผู้เขียนไปซื้อทาวน์เฮ้าส์ชั้นเดียวอยู่แถวประชาชื่น. กลางดึกคืนหนึ่ง จิตของผู้เขียนได้ยินเสียงผู้หญิงคนหนึ่งเดินร้องไห้ผ่านหน้าบ้าน. จิตก็ส่องออกไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น. ก็เห็นผู้หญิงคนหนึ่ง นุ่งผ้าถุง ผมเผ้ายุ่งเหยิง. เดินร้องไห้ผ่านหน้าบ้านไปตามถนนทางออกนอกหมู่บ้าน. เท้าของเธอลอยห่างพื้นถนนประมาณคืบหนึ่ง. ผู้เขียนแผ่เมตตาให้ เธอก็ไม่สนใจจะรับ เพราะจิตถูกความทุกข์ครอบงำอย่างหนัก. ผู้เขียนก็ทำจิตเป็นอุเบกขา แล้วหลับต่อไป. ช่วงสายๆ วันนั้นเองก็ได้ยินเสียงคนเอะอะหน้าบ้าน. ออกไปดูจึงทราบว่า หญิงที่อยู่ทาวน์เฮ้าส์ถัดไป 5 - 6 ห้อง ผูกคอตาย. เพราะสามีหนีไป และบ้านกำลังจะถูกธนาคารยึด. ผู้เขียนรู้สึกสลดสังเวชใจมาก ที่เธอลำบากเมื่อมีชีวิตอยู่. ฆ่าตัวตายโดยหวังว่าจะหนีความทุกข์ แต่ก็หนีไม่พ้น. เดินออกจากบ้านไปแบบไม่หันหลังกลับไปมองอีก เพราะความทุกข์มันท่วมท้นหัวใจ. เป็นชีวิตที่ขาดที่พึ่ง และไปด้วยความมืดมนธ์จริงๆ.


อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องตลกๆ. คือผู้เขียนกับเพื่อนๆ พากันไปงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านพระอาจารย์ชา สุภัทโธ. ที่วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี. เสร็จงานก็รีบเดินทางไปวัดธาตุมหาชัย ที่อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม. ได้เข้าไปนอนพักที่ศาลาใหญ่. หมู่เพื่อนไปนอนรวมกลุ่มกัน ส่วนผู้เขียนแยกไปนอนตามลำพังอีกมุมหนึ่งของศาลาใหญ่นั้น. ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณตีสองครึ่ง ผู้เขียนนั่งภาวนาก่อนนอน ประมาณครึ่งชั่วโมงก็นอน. ขณะที่จิตกำลังจะตกภวังค์นั้น ได้ยินเสียงเด็กกลุ่มหนึ่งวิ่งเกรียวกราวตะโกนโหวกเหวก. เล่นไล่จับขึ้นบันไดศาลาทางด้านที่ผู้เขียนนอนอยู่. ผู้เขียนก็ดุว่า ดึกดื่นแล้ว ผู้ใหญ่จะหลับจะนอน ไปเล่นที่อื่นไป. เด็กก็เชื่อฟังพากันวิ่งไปทางด้านที่เพื่อนของผู้เขียนนอนรวมกันอยู่. แล้วไปดึงแขนดึงขาเพื่อนคนหนึ่งที่ชื่ออ้อย. รายนั้นก็ต่อสู้ด้วยวิธีเฉียบขาดคือคลุมโปงสวดมนต์. พอเช้าก็เล่าให้เพื่อนๆ ฟังปากคอสั่นว่า เมื่อคืนถูกผีเด็กตั้งฝูงมาหลอก. เวลานี้เพื่อนคนนี้ลาออกจากงาน ไปบวชปฏิบัติธรรมอยู่ทางสุรินทร์มาหลายปีแล้ว.


เรื่องผีเรื่องเปรตนั้น ผู้เขียนพบบ่อยๆ. แต่เป็นการรู้เห็นตามลำพัง ไม่มีพยาน จึงไม่ขอนำมาเล่า. ส่วนเรื่องเทวดาก็เช่นกัน จะขอนำมาเล่าเฉพาะเรื่องที่มีพยานรู้เห็น. เป็นเทพธิดาชั้นจาตุมหาราชซึ่งมาอาศัยอยู่ที่บ้านของผู้เขียน. เวลาทำสมาธิแล้วก็แผ่ส่วนบุญให้เธออนุโมทนา เธอก็พอใจเพียงนั้น ไม่รบกวนอะไร. คราวหนึ่งผู้เขียนไม่อยู่บ้านนั้น เพื่อนคนหนึ่งได้มาขอพักนอนคืนหนึ่ง. โดยเข้าไปนอนตรงที่ผู้เขียนนอนอยู่เป็นประจำ. (ผู้เขียนปูเสื่อนอนมาแต่ไหนแต่ไร). พอจะเคลิ้มหลับ ก็เห็นผู้หญิงคนหนึ่งปรากฏกายเพียงครึ่งตัว ลอยอยู่ตรงหน้าต่าง. แล้วทำหน้าตาขึงขัง ทำเสียงเกรี้ยวกราดว่า. "ให้ไปนอนที่อื่น ที่นี้ไม่ใช่ที่ของเธอ". เพื่อนของผู้เขียนกลัวก็กลัว แต่ทำใจแข็งโต้เถียงว่า. ก็เจ้าของเขาอนุญาตแล้ว อย่ามาขับไล่เลย ขอนอนเพียงคืนเดียวเท่านั้น. หญิงนั้นก็ตอบว่า "ถ้าเช่นนั้นให้ไปนอนตรงที่อื่น อย่ามานอนตรงนี้". เพื่อนผู้เขียนก็เลยรีบย้ายที่นอนให้ห่างจากจุดเดิมเล็กน้อย. ก็หลับสบายได้ทั้งคืน.


มีวันหนึ่งผู้เขียนเหนื่อยๆ กลับมาบ้าน. อาบน้ำแล้วก็ลงนอนพักผ่อน ปลายเท้าชี้ไปทางโต๊ะเครื่องแป้ง. แล้วก็ได้ยินเสียงหญิงนั้นกล่าวอย่างแผ่วเบา แต่กังวานใสและชัดกริบว่า. "มีพระพุทธรูปอยู่ที่โต๊ะแป้งเจ้าค่ะ". ผู้เขียนก็รีบลนลานลุกขึ้น ก็เห็นมีพระพุทธชินราชเล็กๆ องค์หนึ่งแบบตั้งหน้ารถ วางอยู่ที่โต๊ะนั้นจริง. เพราะน้องสาวนำมาวางไว้โดยผู้เขียนไม่ทราบ. จึงอาราธนาไปไว้ที่โต๊ะบูชาพระทางหัวนอนแทน.


เมื่อผู้เขียนย้ายบ้าน ก็ได้ชวนเธอผู้นี้มาอยู่ที่บ้านใหม่. โดยให้เธออยู่ในฐานพระเจดีย์ไม้จันทน์ที่บรรจุพระสารีริกธาตุ. เวลาผู้เขียนไม่อยู่บ้าน เธอจึงจะออกมาเดินเล่นไปมา.


14. การดูจิตที่ผิดพลาดในขั้นละเอียด
เมื่อแรกที่ผู้เขียนภาวนา ผู้เขียนจะรู้ความเกิดดับของอารมณ์. โดยระวังไม่ให้จิตเคลื่อนเข้าไปเกาะอารมณ์. เป็นการพยายามแยกผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ออกจากกันเสมอๆ. เมื่อสิ้นหลวงปู่ดูลย์ไปแล้ว ผู้เขียนก็ยังวนเวียนไปศึกษากับหลวงพ่อคืนเป็นประจำ. วันหนึ่งหลวงพ่อคืนสอนผู้เขียนว่า. ทำไมไม่ย้อนจิตมาหยุดอยู่กับ "รู้" มัวแต่ดู "สิ่งที่ถูกรู้" เมื่อใดจะจบได้. ผู้เขียนก็กำหนดสติย้อนเข้ามาดูผู้รู้-ผู้ดู. แล้วก็เห็นว่า ผู้รู้กลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ยังมีผู้รู้ซ้อนเข้าไปอีกเป็นชั้นๆ. ไม่ว่าจะทวนเข้าไปเท่าใด ผู้รู้ก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ทุกที. จนผู้เขียนเกิดอาการหัวหมุนติ้วๆ เพราะใช้กระแสจิตดันกลับหลังเข้ามาที่ผู้รู้อยู่ตลอดเวลา. ถึงจุดหนึ่งผู้เขียนก็ทราบว่า วิธีนี้ใช้ไม่ได้. เพราะเป็นการจงใจละทิ้งอารมณ์ แล้วย้อนเข้ามาที่จิตผู้รู้ อันเป็นการกระทำด้วยตัณหา. ไม่ใช่ด้วยปัญญาที่เห็นอารมณ์เป็นไตรลักษณ์. แล้วปล่อยวางอารมณ์และย้อนมารู้จิตผู้รู้เองตามธรรมชาติ. ผู้เขียนได้ทราบว่า การเพ่งจ้องอารมณ์เป็นสมถะ. แม้การเพ่งจ้องจิตผู้รู้ ก็เป็นสมถะอีกเช่นกัน.


ผลการปฏิบัติผิดคราวนั้น ส่งผลเสียหายร้ายแรงมาอีกนาน. เพราะจิตมีความชำนาญในการจับเข้ามาที่ผู้รู้. จึงชอบมาหยุดอยู่ที่ผู้รู้ ในลักษณะเหมือนวิ่งเข้ามาในป้อมปราการ. ยิ่งกว่าจะออกไปเรียนรู้ เพื่อปล่อยวางอารมณ์ที่จิตยึดมั่นถือมั่น.


แท้จริงการดูจิตไม่มีอะไรมาก. เพียงแต่รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลางจริงๆ ก็พอแล้ว. รู้อยู่ตรงที่รู้นั่นแหละ. ถ้าจิตเป็นกลางจริง จะสังเกตเห็นจิตผู้รู้แทรกอยู่ตรงนั้นเอง. เมื่อเห็นบ่อยๆ แล้ว ต่อไปก็ชำนาญ สามารถเห็นจิตผู้รู้ได้เสมอๆ. ตัวอย่างเช่น ขณะนี้กำลังเกิดความสงสัยในหลักการปฏิบัติ. เพราะไม่ทราบว่า ควรจะทำอย่างไรดี. วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ การรู้เข้าไปที่อารมณ์สงสัยที่กำลังปรากฏ. ก็จะเห็นว่า ความสงสัยกำลังถูกรู้ แล้วก็จะรู้จักจิตผู้รู้ได้. หรือถ้าดูอารมณ์ภายในจิตไม่ออก ก็ลองมาดูอารมณ์ทางกาย. เช่นระลึกรู้ลมหายใจเข้าออกด้วยจิตใจที่สบายๆ. แล้วเห็นว่า ลมหายใจกำลังถูกรู้ ถูกดูอยู่. ก็จะรู้จักจิตผู้รู้ ผู้ดูขึ้นมาได้โดยง่าย.


ธรรมชาติของกิเลสนั้น มันมักจะมาล่อหลอกให้เราทิ้งจิตผู้รู้. อันเป็นแก่นสารสาระของการปฏิบัติเสีย. แล้วหลงคิดไปตามความปรุงแต่งด้วยอำนาจของกิเลส. ถ้าเรารู้ทันลูกเล่นของกิเลสอย่างนี้แล้ว. เราก็อย่าหลงเชื่อกิเลส ทิ้งจิตผู้รู้ออกไปคิดค้นคว้าสิ่งต่างๆ ตามใจกิเลส. ตัวอย่างเช่นเมื่อมีความสงสัยในวิธีการปฏิบัติเกิดขึ้นมา. แทนที่เราจะรู้ว่าความสงสัยเกิดขึ้น แล้วดูมันจนมันดับไปเอง. เรากลับพยายามคิดค้นคว้าหาคำตอบ เพื่อจะแก้ความสงสัยนั้น. การหลงคิดค้นไปนั้นเอง คือการหลงกลกิเลส. เพราะเราลืม "รู้" ไปเสียแล้ว มีแต่ คิด คิด คิด เรื่อยไป.


การคิดเรื่อยไปนั้น ให้เราได้แค่ความรู้ความเข้าใจในระดับ "สัญญา". แต่การรู้ความเกิดดับของอารมณ์ต่างๆ แม้กระทั่งตัวความสงสัยเอง. กลับเป็นหนทางให้ได้มาซึ่ง "ปัญญาในทางพระพุทธศาสนา". เพราะปัญญาทางพระพุทธศาสนาไม่มีอะไรมาก. เพียงรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏขึ้นมา ล้วนแต่ต้องดับไปทั้งสิ้น. ปัญญาแค่นี้ก็พอจะพาให้ผู้ปฏิบัติพ้นทุกข์แล้ว. เนื่องจากพอเห็นว่าอารมณ์นั้นเป็นไตรลักษณ์. จิตก็ปล่อยวางอารมณ์ที่กำลังปรากฏ. เมื่อจิตปล่อยวาง ไม่ดีดดิ้นวิ่งโลดไปตามอารมณ์ ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย.


ผู้ปฏิบัติบางคนคิดว่า ให้รู้เฉยๆ นั้น มันน้อยไป กลัวจะโง่หรือไม่พ้นทุกข์. จึงพยายามคิดเพื่อสนองความอยากรู้. โดยไม่ทราบว่า จริงๆ แล้ว "รู้" กับ "คิด" เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน. หลวงปู่ดูลย์ ท่านจึงสอนว่า "คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดถึงจะรู้".


การเพ่งจ้องใส่อารมณ์ หรือจิตผู้รู้นั้น ผิดตรงที่ผู้ปฏิบัติหลง "เพ่ง" อยู่. ส่วนการคิดไปตามแรงขับของกิเลส ก็ผิดตรงที่ "เผลอ" ไปตามแรงชักจูงของกิเลส. ผู้ดูจิต มักผิดพลาดตรงนี้แหละ. คือถ้าไม่เพ่ง ก็เผลอ. ไม่ใช่การรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันตามความเป็นจริง. ด้วยจิตที่เป็นกลางที่แท้จริง. แต่ยังบังคับจิตบ้าง ปล่อยจิตให้เลื่อนไหลตามกิเลสไปบ้าง.


พระพุทธเจ้าท่านสอนทางสายกลาง คือไม่หย่อนด้วยกาม และไม่ทรมานตนเอง. การเผลอไปตามอารมณ์ก็เสมือนหลงในกาม. การเพ่งบังคับจิตก็เหมือนการทรมานตนเอง. หากดำเนินจิตด้วยทางสายกลาง และเป็นกลางจริงๆ. จึงต้องทั้งไม่เผลอ และไม่เพ่ง.


15. การพิจารณารูป
ผู้เขียนมีปกติชอบดูจิต. อันเป็นการเจริญ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน(ในส่วนที่เป็นเวทนาทางใจ). จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน. แต่ไม่ถนัดในการพิจารณารูปกาย. อันเป็นส่วนของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน. และเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน(ในส่วนที่เป็นเวทนาทางกาย). เพราะผู้เขียนเห็นว่า รูปเป็นของหยาบ รู้เห็นง่าย. ไม่เหมือนกับการดูจิตที่เป็นของละเอียด มีอะไรแปลกๆ ให้ศึกษามากมาย. ดังนั้นผู้เขียนจึงไม่ได้ฝึกฝนความชำนาญในด้านการพิจารณากายเท่าที่ควร.


คราวหนึ่งขึ้นไปนมัสการหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ที่ถ้ำผาปล่อง. หลวงปู่ได้กรุณาตักเตือนว่า จิตเป็นของละเอียด ส่วนกิเลสเป็นของหยาบ อยู่นอกๆ นี่. ถ้าดูจิตอย่างเดียว เวลาพบกิเลสหยาบจะสู้ไม่ไหว. ผู้เขียนก็น้อมรับคำสอนของท่านกลับมาปฏิบัติที่บ้าน. โดยกำหนดจิตพิจารณาเส้นผม. พอจิตกระทบเส้นผมเส้นผมก็หายไปทันทีเหลือเพียงหนังศีรษะ. พอดูเข้าไปที่หนังศีรษะก็ทะลุถึงกระโหลก. พอดูเข้าที่กระโหลก คราวนี้เห็นกระดูกทั้งร่างนั่งขัดสมาธิอยู่. ยังไม่ทันจะพิจารณาอย่างใด กระดูกก็แตกเปรี๊ยะๆ กลายเป็นเม็ดเล็กๆ ใสๆ เหมือนก้อนกรวดแล้วสลายหายไปหมด. เหลือแต่จิตผู้รู้ทรงตัวอยู่อย่างเดียวเท่านั้น. รวมความแล้ว ผู้เขียนไม่สามารถพิจารณากายได้ดังที่ตั้งใจไว้. เพราะจิตทิ้งกายเข้ามาพิจารณาจิตอย่างรวดเร็วมาก.


ผู้เขียนได้กราบเรียนเรื่องนี้กับหลวงปู่ดูลย์. ท่านก็กรุณาอธิบายว่า จริตของคนเราไม่เหมือนกัน การปฏิบัติจึงแตกต่างกัน. การจะพิจารณากาย หรือพิจารณาสิ่งใดๆ ก็ตาม. ก็เพื่อให้สามารถย้อนเข้ามารู้อยู่ที่จิต. เมื่อเข้ามาถึงจิตแล้ว จะย้อนออกไปหาสิ่งภายนอกอีกทำไม. ตั้งแต่นั้นมา ผู้เขียนก็ไม่กังวลถึงการพิจารณากายอีก เพราะไม่ถูกจริตของผู้เขียน. แต่ผู้เขียนจะมีสติรู้กายอยู่ตามปกติ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม และพูดจา.


16. การพิจารณานาม

ผู้เขียนมีปกติชอบพิจารณาหรือระลึกรู้ นาม. อันประกอบด้วยเวทนาทางใจได้แก่ความรู้สึกเป็นทุกข์ เป็นสุข และเป็นกลาง. สัญญาคือความจำได้หมายรู้. สังขารคือความคิดนึกปรุงแต่งของจิต ที่ดีบ้าง ชั่วบ้าง เป็นกลางบ้าง. และวิญญาณคือความหยั่งรู้อารมณ์ทาง ตา หู … ใจ. และจิตที่เป็นผู้รู้อารมณ์ทั้งปวง.


ครั้งหนึ่งผู้เขียนไปนมัสการหลวงพ่อเทียน ที่วัดสนามใน. ขณะนั้นท่านกำลังสอนญาติโยมจำนวนมากให้เคลื่อนไหวมือ. ผู้เขียนกำหนดจิตดูก็พบว่า นอกจากหลวงพ่อเทียนแล้ว ผู้อื่นไม่มีใครมีความรู้ตัวจริงเลย. มีแต่ส่งจิตไปอยู่ที่มือ คิดแต่เรื่องการเคลื่อนไหวมือเท่านั้น.


ผู้เขียนจึงเลี่ยงออกไปนอกศาลา ไปนั่งบนเก้าอี้ใต้ต้นไม้ แล้วดูจิตไปตามที่เคยทำมา. เพียงครู่เดียวจิตก็รวมลงถึงภวังคจิต. ต่อมาจิตเกิดความรับรู้ขึ้นมาในท่ามกลางความว่างเปล่า. จิตก็เอาความว่างเปล่าเป็นอารมณ์ เข้าคู่อยู่กับความว่างเปล่า. จิตไม่รู้จักย้อนเข้ามาดูจิต มีแต่ดูออกไปภายนอก. แล้วความคิดปรุงแต่งก็ผุดขึ้นจากความว่าง เหมือนงูที่เลี้อยออกจากรู. แต่ขณะนั้นไม่ทราบว่าคิดเรื่องอะไร เพราะปราศจากสัญญา. เมื่อใจสัมผัสเข้ากับความคิด ก็เกิดวิญญาณทางใจขยายตัววูบออกปิดบังความว่างไว้. วิญญาณแผ่ออกกระทบรูป รูปก็ปรากฏ แผ่ออกกระทบนาม นามก็ปรากฏ. แล้วความมีอยู่ของขันธ์ 5 และอายตนะ 6 ก็ปรากฏ.


เมื่อรูปนามของผู้เขียนปรากฏแล้ว ผู้เขียนก็พิจารณาปฏิจจสมุปบาทต่อไปจนตลอดสาย. จนรู้ชัดว่า เมื่อจิตเกิดความรู้สึกเป็นตัวตนเมื่อใด. จิตก็เป็นทุกข์เพราะความเป็นตัวตน เมื่อนั้น. แล้วเป็นทุกข์ยิ่งขึ้นเพราะความไม่สมอยากในอารมณ์ที่จิตไปรู้เข้า. โดยมีการทำงานไปตามลำดับดังนี้


ในเวลาที่ตากระทบรูป ก็จะเห็นวิญญาณหยั่งลงทางตา แล้วจิตจึงรู้อารมณ์ทางตา. คล้ายกับเมื่อมีแมลงมากระทบใยแมงมุม. ความสั่นสะเทือนของใย ทำให้แมงมุม(จิต) รู้ถึงสิ่งที่มากระทบ. โดยก่อนการกระทบนั้น แมงมุมนอนหลับเงียบอยู่. เหมือนจิตที่ตกภวังค์เงียบอยู่. พอมีสิ่งเร้าแล้ว จิตก็ไหวตัวขึ้นจากภวังค์ แล้วส่งออกไปรับรู้สิ่งที่มากระทบนั้น. เหมือนแมงมุมวิ่งออกไปจับแมลงที่มากระทบใยกินเป็นอาหาร. คือจิตวิ่งเข้าไปเสวยอารมณ์นั้น. รู้สึกเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆ บ้าง. เมื่อมีความรู้สึกหรือเวทนาแล้ว จิตก็เกิดความทะยานอยากไปตามอำนาจของเวทนานั้น. แล้วเคลื่อนเข้าไปยึดอารมณ์. เกิดความเป็นตัวตนของจิตขึ้นมาแล้วเป็นทุกข์ต่อไป.


ในช่วงนั้น ผู้เขียนเห็นว่า จิตเป็นธรรมชาติอันหนึ่งแยกออกจากขันธ์ กระทั่งนามขันธ์. เพราะมองเห็นจิตอยู่โทนโท่. (แต่ไม่ได้เห็นเป็นรูป มันเป็นความรู้สึกของตัวสิ่งที่รู้อารมณ์ และเสวยอารมณ์ได้เท่านั้น). และพบว่าจิตไม่ใช่เวทนา สัญญา สังขาร หรือกระทั่งวิญญาณ. โดยเฉพาะวิญญาณนั้นมีความคล้ายกันในหน้าที่รู้อารมณ์. แต่ทำงานต่างจากจิต คือมันเป็นความรับรู้ทางอายตนะเท่านั้น. แต่จิตเป็นทั้งผู้คิด ผู้นึก ผู้ตัดสินและเสวยอารมณ์. (ความรู้ความเข้าใจนี้ จะเปลี่ยนแปลงไปบ้างในภายหลัง)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น