เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บันเทิงธรรม(หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช)2

ณ ขณะที่เขียนบทความบันเทิงธรรมนั้น หลวงพ่อปราโมทย์ยังอยู่ในสถานะฆราวาสโดยใช้ชื่อว่า อุบาสกนิรนาม หรือ สันตินันท์ หรือ ปราโมทย์ สันตยากร
3. ดูจิตได้เมื่อภัยมา


บ้านเกิดของผู้เขียนเป็นตึกแถว. ด้านหน้าคือถนนบริพัตร ด้านหลังคือคลองโอ่งอ่าง. หมู่บ้านที่อยู่มีชื่อเป็นทางการว่า “บ้านบาตร” เพราะมีอาชีพทำบาตร. แต่ส่วนที่อยู่จริงเป็นหมู่บ้านโบราณอีกหย่อมหนึ่งเรียกว่า “บ้านดอกไม้” เพราะมีอาชีพทำดอกไม้ไฟ. ตอนเด็กๆ เกิดไฟไหม้บ้านดอกไม้ มีการระเบิดและมีคนตายจำนวนมาก. ผู้เขียนจึงกลัวไฟไหม้จับจิตจับใจ. วันหนึ่งเมื่ออายุประมาณ 10 ขวบ ขณะเล่นลูกหินอยู่ข้างถนนหน้าบ้าน. ได้เห็นไฟกำลังไหม้ตึกแถวเดียวกัน แต่ถัดไป 5 - 6 ห้องซึ่งเป็นร้านซ่อมรถยนต์.


ผู้เขียนเกิดความกลัวอย่างรุนแรง. ลุกพรวดขึ้นได้ก็วิ่งอ้าวเข้าบ้านเพื่อไปบอกผู้ใหญ่. พอวิ่งไปได้ 3 ก้าว จิตก็เกิดย้อนดูจิตโดยอัตโนมัติ. มองเห็นความกลัวดับวับไปต่อหน้าต่อตา. เหลือเพียงความรู้ตัว สงบ ตั้งมั่น. ตอนนั้นไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะอะไร. ได้แต่เดินไปบอกผู้ใหญ่ว่า ไฟไหม้. แล้วยืนดูคนอื่นตกใจกันวุ่นวาย.


หลายปีถัดมา ผู้เขียนจึงเข้าใจว่า. ผลของการปฏิบัติสมาธิภาวนาที่เราทำไว้ในชาติก่อนๆ ไม่ได้หายไปไหน. แต่ยังฝังลึกอยู่ในจิตใจของเรานั่นเอง. เมื่อถึงเวลา มันก็จะแสดงตัวออกมา. จุดอ่อนของผู้เขียนในขณะนั้นก็คือ. ผู้เขียนไม่มีครูบาอาจารย์ที่จะสรุปให้ฟังว่า เกิดอะไร เพราะอะไร. ผู้เขียนจึงลืมการดูจิตไปอีกครั้งหนึ่ง.


สิ่งหนึ่งที่อยากกล่าวกับผู้อ่านก็คือ. คุณงามความดีทั้งหลายนั้น ขอให้สร้างไว้เถิด. ผลของมันไม่สูญหายไปไหน. เมื่อถึงเวลาย่อมให้ผลอย่างแน่นอน.


4. กลัวผีจนเจอดี


ดังที่เล่ามาแล้วว่า ผู้เขียนกลัวผียิ่งกว่าอะไรทั้งหมด. ทั้งที่ไม่เคยพบผีเลยแม้แต่ครั้งเดียว. จนกระทั่งปี 2521 จึงได้ไปบรรพชาอุปสมบทที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์. แล้วท่านเจ้าคุณอุปัชฌาย์คือพระธรรมโกศาจารย์(ปัญญานันทภิกขุ) ก็เกิดจะเมตตาผู้เขียนเป็นพิเศษ. แทนที่จะให้ไปอยู่ในหมู่กุฏิหลังวัด. ซึ่งพระเณรอยู่กันเป็นจำนวนมาก. กลับให้ผู้เขียนอยู่กุฏิโดดเดี่ยวตามลำพังข้างเมรุและใกล้ช่องเก็บศพ. ถ้าจะว่าไปแล้วเป็นกุฏิที่น่าอยู่มาก. เพราะปลูกอยู่ริมสระน้ำเล็กๆ มีต้นไม้ร่มรื่น. แต่ข้อเสียคือพอตอนฉันเพล. ได้พบโยมบางคนเขาบอกว่ากุฏินั้นผีดุ. เคยมีเณรไปอยู่แล้วตกกลางคืนร้องลั่นวิ่งหนีจากกุฏิเพราะมีผีมาเล่นกระโดดน้ำในสระ. ผู้เขียนแม้เป็นพระ ก็รู้สึกหวาดเสียวเป็นอย่างยิ่ง. พอตกกลางคืนหลังจากไปฝึกกรรมฐานที่ท้ายวัด ก็กลับเข้ากุฏิปิดไฟนอน. เวรกรรมแท้ๆ ผนังกุฏิช่วงล่างสัก 1 ฟุตเป็นกระจกโดยรอบ. จึงมองออกมาเห็นภาพภายนอกตะคุ่มๆ. พอหลับแล้วกลางดึกก็ต้องตกใจตื่น เมื่อได้ยินเสียงอะไรบ้างอย่างกระโดดน้ำดังตูม. บทสวดมนต์ต่างๆ มันเลื่อนไหลขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ. นอนกลัวจนถึงเช้าจึงออกไปดูที่สระน้ำ. ก็เห็นผี คือลูกมะพร้าวลอยตุ๊บป่องๆ อยู่ในสระ.


ผีในลักษณะนี้ผู้เขียนได้พบเห็นอยู่เสมอเมื่อออกไปปฏิบัติธรรมตามวัดป่า. เช่นผีกระรอกขว้างหลังคากุฏิตอนดึกๆ. ผีตุ๊กแกจับแมลงโตๆ ฟาดฝากุฏิ. ผีนกร้องเสียงเหมือนยายแม่มด. ผีเปรตนกร้องกรี๊ดๆ บนยอดไม้สูงๆ เป็นต้น. ยิ่งเขาลือว่าตรงนั้นมีผี ตรงนี้มีผี ยิ่งชอบพิสูจน์ทั้งๆ ที่กลัว.


หลังจากเจอผีมะพร้าวแล้วผู้เขียนก็ชักจะกระหยิ่มใจ. พอตกกลางคืนแม้จะเลิกปฏิบัติรวมกลุ่มจากศาลาท้ายวัดแล้ว. ก็ยังกลับมานั่งภาวนาต่อในกุฏิอีก. คืนหนึ่งจิตสงบลงและรู้สึกหน่อยๆ ว่าเมื่อยขา และเป็นเหน็บ. จึงนั่งเหยียดเท้าแล้วภาวนาต่อไป. แล้วจู่ๆ ก็รู้สึกได้ว่ามีใครคนหนึ่งมานวดขาให้. เพียงกดคราวเดียว เลือดลมก็เดินสะดวก หายปวดหายเมื่อย. จิตก็ส่งออกไปดู เห็นชายวัยเกษียณอายุคนหนึ่งแต่งชุดทหารอากาศกำลังนวดให้อย่างตั้งใจ. จิตในขณะนั้นไม่มีความกลัวเลย. หลังจากนั้น ผู้เขียนก็เห็นเขาคนนี้อยู่เสมอๆ.


เรื่องที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นอุปาทานหรืออะไรก็แล้วแต่เถิด. ผู้เขียนได้ประสบมา ก็นำมาเล่าสู่กันฟัง. เพื่อคลายความหนักในเนื้อหาของธรรมที่จะเล่าต่อไปข้างหน้า.

5. ดูจิต : จิตคืออะไร อยู่ที่ไหน แล้วจะเอาอะไรไปดู


ผู้เขียนปฏิบัติตามยถากรรมมาโดยตลอด. เพิ่งจะมีครูบาอาจารย์จริงจังเอาเมื่ออายุ 29 ปี. เหตุที่จะพบอาจารย์นั้น ก็เพราะชอบเล่นเหรียญพระเครื่อง. จึงไปซื้อหนังสือทำเนียบเหรียญหลวงปู่แหวนมาเล่มหนึ่ง. ชื่อหนังสือ "ชีวิตและศาสนากิจ หลวงปู่แหวน". เข้าใจว่าเป็นหนังสือที่ทางวัดสัมพันธวงศ์ จัดพิมพ์. ดูไปทีละหน้า พอถึงตอนท้ายๆ เล่ม. ผู้จัดพิมพ์หนังสือคงเห็นว่ามีที่ว่างเหลืออยู่. จึงนำธรรมะเรื่องอริยสัจจ์แห่งจิตของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล มาลงไว้เป็นข้อความสั้นๆ ว่า. "จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย. ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์. จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค. ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ. อนึ่ง ตามสภาพที่แท้จริงของจิต. ย่อมส่งออกนอกเพื่อรับอารมณ์นั้นๆ โดยธรรมชาติของมันเอง. ก็แต่ว่า ถ้าจิตส่งออกนอกได้รับอารมณ์แล้ว. จิตเกิดหวั่นไหวหรือเกิดกระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้น เป็นสมุทัย. ผลอันเกิดจากจิตหวั่นไหวหรือกระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้นๆ เป็นทุกข์. ถ้าจิตที่ส่งออกนอกได้รับอารมณ์แล้ว. แต่ไม่หวั่นไหว หรือไม่กระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้นๆ มีสติอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นมรรค. ผลอันเกิดจากจิตไม่หวั่นไหว หรือไม่กระเพื่อม เพราะมีสติอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นนิโรธ. พระอริยเจ้าทั้งหลายมีจิตไม่ส่งออกนอก. จิตไม่หวั่นไหว จิตไม่กระเพื่อม เป็นวิหารธรรม. จบอริยสัจจ์ 4.

(ข้อความจากหนังสือเล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนสนใจคำสอนของหลวงปู่ดูลย์. นอกจากผู้เขียนแล้ว ยังมีนักปฏิบัติรุ่นไล่ๆ กับผู้เขียนอีก 2 ท่าน. เข้าไปเป็นศิษย์ของหลวงปู่ด้วยแรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มนี้. และท่านหนึ่งได้ครองสมณเพศมั่นคงในธรรมปฏิบัติ. มีศีลาจารวัตรงดงามบริบูรณ์ยิ่ง. ผู้เขียนและพระอาจารย์รูปนั้น. ยังปรารภด้วยความเคารพในหนังสือเล่มนั้นมาจนทุกวันนี้).
อ่านแล้วผู้เขียนเกิดความสะกิดใจว่า. จริงนะ ถ้าจิตไม่ทุกข์ แล้วใครจะเป็นผู้ทุกข์. ดังนั้นเมื่อมีโอกาสในช่วงวันมาฆบูชาปี 2525. ผู้เขียนพร้อมด้วยน้องในทางธรรม. ก็สุ่มเดินทางไปสุรินทร์ แล้วเที่ยวถามหาวัดบูรพาราม. ในตอนสายวันนั้น ก็ได้ไปนั่งอยู่แทบเท้าของหลวงปู่ผู้สูงวัยกว่า 90 ปี.


ผู้เขียนกราบเรียนท่านว่า ผู้เขียนอยากปฏิบัติ. ท่านนั่งหลับตาเงียบๆ ไปครึ่งชั่วโมง แล้วสอนว่า. “การปฏิบัติไม่ยาก มันยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ. อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อแต่นี้ให้อ่านจิตของตนเองให้แจ่มแจ้ง”. แล้วท่านก็สอนอริยสัจจ์แห่งจิต เหมือนที่เคยอ่านมานั้น. แล้วถามว่า “เข้าใจไหม”. ผู้เขียนในขณะนั้นรู้สึกเข้าใจแจ่มแจ้งเสียเต็มประดา. จึงกราบเรียนท่านว่า เข้าใจครับ. แล้วลาท่านกลับไปขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพ. พอรถไฟเริ่มเคลื่อนจากสถานีจังหวัดสุรินทร์. ผู้เขียนก็เพิ่งนึกได้ถึงความโง่เขลาอันร้ายแรงของตนเอง.


คือนึกขึ้นได้ว่า หลวงปู่สั่งให้ ดูจิต. ก็แล้ว จิตคืออะไร จิตอยู่ที่ไหน แล้วจะเอาอะไรไปดู. นึกเสียใจที่ไม่ได้ถามปัญหาเหล่านี้จากหลวงปู่. แล้วคราวนี้จะปฏิบัติได้อย่างไร. นี่แหละความผิดพลาดที่ฟังธรรมด้วยความไม่รอบคอบ. เอาแต่ปลาบปลื้มใจและตื่นเต้นที่ได้พบครูบาอาจารย์. จนพลาดในสาระสำคัญเสียแล้ว. จะกลับไปถามหลวงปู่ก็ไม่สามารถกระทำได้แล้วในตอนนั้น.


ผู้เขียนแก้ปัญหานี้ ด้วยการทำใจให้สบายหายตระหนกตกใจ. แล้วพิจารณาว่า จิตเป็นผู้รู้อารมณ์. จิตจะต้องอยู่ในกายหรือในขันธ์ 5 นี้ ไม่ใช่อยู่ที่อื่นแน่. หากค้นคว้าลงในขันธ์ 5 ถึงอย่างไรก็ต้องพบจิต. แต่จะพบในสภาพใด หรือจะเอาอะไรไปรู้ว่าอันนี้เป็นจิต. ยังเป็นปัญหาที่พิจารณาไม่ตก ก็จับปัญหาแขวนไว้ก่อน.


ผู้เขียนพยายามทำใจให้สบาย สลัดความฟุ้งซ่านทิ้ง. ตั้งสติระลึกรู้อยู่ในกายนี้ ตั้งแต่ปลายผมลงมาถึงพื้นเท้า. ก็เห็นว่ากายนี้ไม่ใช่จิต กายเป็นวัตถุธาตุเท่านั้น. แม้จะตรวจอยู่ในกายจนทั่วก็ยังไม่พบจิต. พบแต่ว่ากายเป็นสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น ไม่ใช่จิตที่เป็นผู้รู้. ผู้เขียนจึงพิจารณาเข้าไปที่เวทนา. ตั้งสติจับรู้ที่ความทุกข์ ความสุข และความเฉยๆ ที่ปรากฏ. ก็พบอีกว่า เวทนาก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ยังไม่ใช่จิต. ผู้เขียนก็วางเวทนา หันมีระลึกรู้สัญญาที่ปรากฏ. ก็เห็นว่าสัญญาคือความจำได้/หมายรู้ ก็ยังเป็นสิ่งที่ถูกรู้อีก. ผู้เขียนก็หันมาดูสังขารคือความคิดนึกปรุงแต่งที่เกิดขึ้น. ก็เห็นความคิดนึกปรุงแต่งผุดขึ้นเป็นระยะๆ. เป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ ยังไม่ใช่จิตอีก.


ก่อนที่รถไฟจะถึงกรุงเทพฯ. ผู้เขียนสามารถแยกรูป เวทนา สัญญา และสังขาร ออกแล้ว. ทันใดผู้เขียนก็พบจิตผู้รู้ เป็นสภาพที่เป็นกลาง ว่าง และรู้อารมณ์. ผู้เขียนก็ตอบปัญหาได้แล้วว่า. จิตเป็นอย่างนี้. จิตอยู่ที่รู้นี้เอง ไม่ได้อยู่ที่กาย เวทนา สัญญา และสังขาร. ผู้เขียนรู้จิตผู้รู้ได้ด้วยเครื่องมือ คือ สติ. ซึ่งผู้เขียนได้ใช้สติเป็นเครื่องระลึกรู้. และใช้ปัญญาพิจารณาแยกขันธ์ จนเข้ามาระลึกรู้ จิตผู้รู้ได้.


ถ้ามีความรอบคอบ ถามครูบาอาจารย์มาให้ดี. ก็คงไม่ต้องช่วยตนเองขนาดนี้. แต่การที่คลำทางมาได้อย่างนี้. ก็สอนให้ผู้เขียนเคารพแต่ไม่ติดยึดอาจารย์. และซึ้งถึงคำว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ได้เป็นอย่างดี. และทำให้ผู้เขียนเคารพในศักยภาพของมนุษย์. เห็นว่าถ้าตั้งใจจริง ก็สามารถพัฒนาตนเองได้. เพราะขนาดผู้เขียนไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไร ก็ยังทำมาจนได้.


6. รู้จักจิต แล้วจะทำอย่างไรต่อไปดี


ทันทีที่แก้ปัญหาแรกตก คือตอบได้ว่า. จิตคืออะไร อยู่ที่ไหน และเอาอะไรไปดู. ปัญหาใหม่ก็ตามมาทันทีว่า. เมื่อรู้แล้วจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป. เพราะหลวงปู่สอนมาสั้นๆ ว่าให้ดูจิต. เมื่อผู้เขียนได้จิตผู้รู้มาด้วยการแยกขันธ์ ออกจากจิต. ผู้เขียนก็ต้องระวังรักษาจิตเพื่อเอาไว้ดู. โดยการป้องกันไม่ให้จิตไหลเข้าไปปนกับขันธ์. เพราะถ้าจิตไหลเข้าไปปนกับขันธ์ ก็จะไม่มีจิตผู้รู้เอาไว้ให้ดู.


ในช่วงวันแรกๆ ที่แยกจิตกับขันธ์ออกจากกันได้นั้น. ผู้เขียนใช้ความพยายามอย่างมากรักษาจิตไม่ให้ไหลเข้าไปรวมกับขันธ์อีก. แต่ก็รักษาได้เพียงชั่วขณะสั้นๆ. แล้วกว่าจะพิจารณาแยกออกได้อีกก็ใช้เวลาเป็นวันๆ. ผู้เขียนผู้ไม่มีความรู้ใดๆ อาศัยความอดทนและความเพียรพยายาม. รวมทั้งอุบายทุกชนิดที่จะรักษาจิตผู้รู้เอาไว้ให้ได้. เช่นใช้กำลังจิตพยายามผลักสังขารขันธ์ไม่ให้เข้ามาครอบงำจิต. เมื่อจิตไปติดก้อนสังขารที่ปรากฏด้วยความรู้สึกเป็นก้อนแน่นๆ ที่หน้าอก. ก็พยายามเจาะ พยายามทุบทำลายก้อนนั้นด้วยพลังจิต. บางคราวทุบตีไม่แตก ก็พิจารณาแยกเป็นส่วนๆ. บางคราวแยกแล้วก็ไม่สำเร็จอีก. ก็กำหนดจิตให้แหลมเหมือนเข็ม แทงเข้าไปเหมือนแทงลูกโป่ง. วันใดทำลายก้อนอึดอัดได้ ก็รู้สึกว่าวันนี้ปฏิบัติดี. บางวันทำลายไม่ได้ ก็รู้สึกว่า วันนี้ปฏิบัติไม่ดี.


ต่อมาเป็นเดือนๆ ก้อนอึดอัดนี้ก็เล็กลงเรื่อยๆ. แล้วสลายไปกลายเป็นความรู้สึกที่เคลื่อนไหวได้. เช่นเห็นการเคลื่อนไหวไปมาบ้าง. เป็นความไหวตัวยิบยับบ้าง. แล้วก็พบว่าอารมณ์แต่ละตัวที่เกิดขึ้น จะมีสภาวะที่รู้ได้ไม่เหมือนกัน. เช่นความโกรธเป็นพลังงานและมีความร้อนที่พุ่งขึ้น. โมหะเป็นความมืดมัวที่เคลื่อนเข้ามาครอบงำจิต. ถ้าเป็นกุศลจิต ก็จะเห็นความโปร่งว่างเบาสบาย. ในเวลาที่จิตกระทบอารมณ์ เช่นตกใจเพราะเสียงฟ้าผ่า. ก็จะเห็นการหดตัววูบ. ในช่วงนั้น ผู้เขียนเอาแต่ชุลมุนวุ่นวายอยู่กับการเรียนรู้สภาวะต่างๆ. และคอยแก้อาการต่างๆ ที่จิตเข้าไปติดข้อง. ด้วยความสำคัญผิดว่า นี่แหละคือการดูจิต. บัดนี้เราเห็นจิตชัดเจนแล้ว ว่ามีอาการต่างๆ นานา. สมควรแก่เวลาที่จะไปรายงานผลการปฏิบัติให้หลวงปู่ทราบ. ซึ่งท่านคงจะอนุโมทนาด้วยดี. เพราะศิษย์ได้ปฏิบัติตามคำสอนของท่านไม่หยุดหย่อนติดต่อกันมาแล้วถึง 3 เดือน.


ผู้เขียนไปนั่งอยู่แทบเท้าของหลวงปู่ผู้ชราภาพ. แล้วรายงานผลการปฏิบัติต่อท่านว่า. ผมเห็นจิตแล้ว. หลวงปู่ถามว่า จิตเป็นอย่างไร. ก็กราบเรียนท่านว่า จิตมีความหลากหลายมาก มันวิจิตรพิสดารเป็นไปได้ต่างๆ นานา ดังที่ได้พบเห็นมา. พอกราบเรียนจบก็ได้รับคำสอนที่แทบสะอึกว่า. "นั่นมันอาการของจิตทั้งนั้น ยังไม่ใช่จิต จิตคือผู้รู้ ผู้คิด ผู้นึก ให้กลับไปดูใหม่"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น