เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

สุขเหนือสุข (๒)


วารสารสุขศาลา ฉบับที่ ๑๒

สุขเหนือสุข (๒)
พระไพศาล วิสาโล

คนเราเสียเวลาไปกับสิ่งเสพสิ่งบริโภคเยอะมาก นอกจากเสียเวลากับการหาหรือครอบครองแล้ว ยังเสียเวลากับการบริโภค มีโทรทัศน์ มี CD มี DVD มีหนังสือ ก็ต้องเสียเวลาดูเสียเวลาอ่าน ถ้าไม่อ่านก็เสียดายเงิน ที่จริง แค่จัดของให้เป็นระเบียบนี่ก็เหนื่อยแล้ว บางทีไม่มีที่จะใส่ ไม่มีที่จะวางเพราะของมันเยอะไปหมด กลายเป็นความทุกข์อย่างหนึ่งของคนในยุคบริโภคนิยม ดังนั้นพอหันมามีชีวิตเรียบง่าย มีสิ่งเสพสิ่งบริโภคน้อยลง ก็จะรู้สึกปลอดโปร่ง เบาสบาย

พอห่างไกลจากกามสุข ชีวิตก็วุ่นน้อยลง นิ่งมากขึ้น รู้สึกโปร่งเบา จะรู้สึกเลยว่าเป็นความสุขที่เย็นสบายกว่าชีวิตที่หมกมุ่นกับกามสุข ซึ่งให้ความสุขแบบรุ่มร้อน ที่จริงมันให้ความสบายมากกว่า สบายแต่วุ่นวาย แต่พอห่างไกลจากกามสุข หรือเกี่ยวข้องกับกามสุขน้อยลง พอมามีชีวิตที่เรียบง่ายก็เริ่มสัมผัสกับความสุขที่เยือกเย็น อันนี้คือเนกขัมมสุข

ถ้าเราคุ้นเคยกับชีวิตแบบนี้มากขึ้น จนกระทั่งพอใจกับความสุขที่เรียบง่าย จิตใจไม่โหยหากาม ไม่ถวิลหาความสะดวกสบายหรือกามสุข ก็จะได้สุขอีกแบบหนึ่งเรียกว่า ปวิเวกสุข คือสุขอันเนื่องมาจากความสงัดจากกาม มันคล้ายๆ กับเนกขัมมสุข แต่เนกขัมมสุขหมายถึงความสุขอันเนื่องจากการที่ชีวิตไม่วุ่นวาย ไปกับการแสวงหาและบริโภคสิ่งเสพ แต่ว่าใจยังอาจถวิลหาอยู่บ้าง เช่น ถือศีลแปด แต่ใจก็ยังนึกถึงข้าวเย็น นึกถึงความบันเทิงอยู่บ้าง แม้กระนั้นก็ยังรู้สึกเป็นสุขกว่าตอนที่หมกมุ่นกับสิ่งเสพ อย่างไรก็ตามพอคุ้นเคยกับเนกขัมมสุข ใจก็เริ่มไม่ถวิลหาแล้ว พอใจกับความสุขที่เรียบง่าย อันนี้เรียกว่า ปวิเวกสุข คือ สุขจากความสงัดจากกาม

ความสุขแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ ทีแรกก็ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมที่สงบสงัดก่อน เรียกว่ากายวิเวก สิ่งแวดล้อมแบบนี้ไม่มีสิ่งกระตุ้นเร้ามาก เราไม่ต้องไปรับรู้ว่ามีที่ไหนขายอะไร ไกลจากเสียงโฆษณา ไกลจากสิ่งยั่วยวน ต่อไปก็จะเกิดความสงบในจิตใจ เรียกว่าจิตวิเวก ก็คืออันเดียวกับปวิเวกสุขนั่นแหละ พอจิตไม่ถวิลหากาม รู้สึกพอใจในชีวิตที่เรียบง่าย จิตก็จะสงบเย็น นี้คือปวิเวกสุข

แต่มีปวิเวกสุขแล้วก็ยังเพิ่งวางใจ เพราะว่าความสงบเย็นในจิตใจเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เพราะว่าบางครั้งชีวิตของเราต้องเกี่ยวข้องกับผู้คน ต้องมีงานมีการที่ต้องรับผิดชอบ ต้องออกไปเกี่ยวข้องกับผู้คน หรือไม่ผู้คนก็เข้ามาหา อย่างเช่นอยู่ที่นี่แม้จะอยู่ไกลความเจริญ ก็ยังมีผู้คนมาเยี่ยมมาเยียน หรือว่ามีเหตุให้ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ไปรับรู้ ก็อาจจะเกิดความฟุ้งซ่านวุ่นวายในจิตใจได้ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันจะหาที่ที่วิเวกจริงๆ เป็นเรื่องยากมาก ดังนั้นเราจึงต้องรู้จักรักษาใจให้สงบ แม้ว่าสิ่งแวดล้อมจะไม่เอื้ออำนวย มีสิ่งกระตุ้น มีสิ่งยั่วยุ หรือยั่วยวน จิตใจก็ยังสงบได้ ไม่ถูกรบกวนด้วยโลภะหรือราคะ ไม่ถูกรบกวนด้วยโทสะหรือปฏิคะ ตรงนี้ต้องอาศัยสติ สมาธิ และปัญญา เพื่อให้สิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กายไม่สามารถกระเทือนไปถึงใจได้ มันกระทบแค่อายตนะห้า แต่ไม่กระเทือนไปถึงใจ เหมือนกับฝนตกลงมา แต่เราอยู่ในบ้านมีหลังคาแน่นหนา ฝนก็ไม่สามารถทำให้เราเปียกปอนได้

เวลามีอะไรมากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น และกายก็ตาม หากเรามีสติและปัญญา มันก็ไม่ทำให้ใจกระเพื่อม ฟูหรือแฟบได้ หรือปรุงเป็นกิเลสตัณหา ไม่เกิดความขัดเคืองใจเกิดขึ้น หรือถึงมีก็รู้ทัน ไม่ปล่อยให้มันลุกลาม ทำให้เกิดความสงบเย็นได้ท่ามกลางความวุ่นวาย สุขแบบนี้เรียกว่าอุปสมสุข คือสุขเพราะสงัดจากกิเลส สงัดจากกิเลสไม่ได้หมายความว่ากิเลสไม่มี กิเลสมีแต่ว่ามันไม่มารบกวน ไม่รบกวนก็เพราะว่ารู้เท่าทันกิเลส ไม่ปล่อยให้มันลุกลาม มันเกิดขึ้นก็รู้จักปล่อย รู้จักวาง มันเกิดขึ้นก็เห็นมัน ไม่เข้าไปเป็น มีแต่การเห็น ไม่เข้าไปเป็นอย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านเน้นอยู่เสมอ “เห็นแต่ไม่เข้าไปเป็น” ไม่มีผู้เป็น มีแต่การเห็นเฉยๆ ไม่มีผู้เห็น กิเลสเกิดขึ้นก็เห็นมัน จิตกระเพื่อมก็เห็นมัน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทำให้สงัดจากกิเลส กิเลสรบกวนไม่ได้ เป็นความสุขและสงบเย็น ไม่ใช่เพราะว่าเก็บตัวอยู่แต่ในที่สงบ ถึงแม้จะไปเกี่ยวข้องกับผู้คนหรือวัตถุสิ่งเสพ ใจก็ไม่เพลิดเพลินหลงใหล ไม่ไปย้อมติด เพราะมีปัญญาที่รู้ทันความไม่เที่ยงหรือความแปรปรวนของสิ่งต่าง ๆ เรียกว่ามีปัญญารู้เท่าทันโลกธรรม มีปัญญาเห็นโทษของกาม ถึงตอนนี้จะเข้าไปเกี่ยวข้องก็ไม่ย้อมติด เมื่อไม่ย้อมติด ความชอบความชัง หรือความเพลินใจเวลาได้ หรือทุกข์ใจเวลาเสีย ก็ไม่เกิดขึ้น เหมือนกับที่บางคนพูดสรุปว่า “ยามรุ่งก็สงบ ยามจบก็พร้อมจาก” ไม่ว่ามีหรือเสีย ไม่ว่าพบหรือพราก ไม่ว่าเจอหรือจาก จิตใจก็สงบนิ่งเป็นปกติ เพราะมีสติและปัญญา

อันนี้เรียกว่า อุปสมสุข สุขเพราะสงัดจากกิเลส แต่ว่ายังมีกิเลสอยู่ จนกว่าจะเกิดปัญญาเห็นแจ้ง อย่างแท้จริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น นอกจากจะไม่เที่ยงแล้วยังเป็นทุกข์ แม้ดูเหมือนจะเป็นสุขแต่แฝงไปด้วยทุกข์ ที่จริงมันไม่ใช่เจือไปด้วยทุกข์เท่านั้น แต่มันคือทุกข์ล้วนๆ เจือไปด้วยทุกข์ หมายว่ายังมีสุข อาจจะสุข 40% ทุกข์ 60% แต่ว่าพอมีปัญญาจนกระทั่งเห็นว่ามันทุกข์ล้วนๆ มันเป็นตัวทุกข์ หมายถึงว่ามันอยู่ภายใต้การบีบคั้นตัวตลอดเวลา ถูกสิ่งอื่นบีบคั้น อีกทั้งยังมีการบีบคั้นภายในตัวมันเอง จึงอยู่ในสภาวะที่ ไม่สามารถจะคงตัวหรือทรงตัวได้เลย ก็จะปล่อยวางอย่างสิ้นเชิง เพราะเห็นชัดว่าแม้แต่จิตก็ไม่น่ายึดถือ และไม่สามารถยึดถือได้

แต่ก่อนอาจจะคิดว่า อยากจะให้จิตมีความสุข แต่พอรู้ว่ามันเป็นทุกข์ล้วนๆ ความคาดหวังจะให้มันสุขก็หมดไป อย่างนี้เรียกว่า เกิดการปล่อยวางอย่างแท้จริง พอปล่อยวางไว้อย่างแท้จริง ก็หมายความว่า ความผันผวนปรวนแปรต่างๆ ไม่ว่าเกิดขึ้นกับโลกภายนอกหรือภายใน ก็ทำอะไรเราไม่ได้แล้ว อันนี้ก็เรียกว่า เป็นสุขได้เหมือนกัน เป็นสุขที่เกิดจากการเข้าใจสัจธรรมอย่างแท้จริง เห็นว่ามันเป็นทุกข์ล้วนๆ ที่ไม่น่ายึดถือได้เลยสักอย่าง สุขอย่างนี้ท่านเรียกว่าสัมโพธิสุข สุขจากการรู้แจ้ง ถึงตอนนี้กิเลสก็หมดไป ไม่มีเหลือ ตัณหาหมดไปเพราะไม่มีความอยากที่จะให้สิ่งต่างๆ เป็นสุข หรือแม้แต่จะให้จิตเป็นสุข เพราะว่ามันไม่มีทางจะเป็นไปได้ ยอมจำนนต่อความจริง ก็เกิดปัญญา เป็นสัมโพธิสุข สุขจากการรู้แจ้ง เป็นสุขเหนือสุข คือเหนือความสุขทั้งหลายที่เข้าใจกัน เป็นสุขในความหมายที่ว่าความทุกข์ทั้งหลายไม่สามารถจะเข้ามาทำอะไรได้

สุขอย่างนี้เป็นสุขจากการปล่อยวางแม้กระทั่งความคิดว่ามีตัวตน เป็นภาวะที่เหนือสุขเหนือทุกข์เพราะถ้ายังมีสุขอย่างที่เราเข้าใจ ก็ยังมีทุกข์อยู่ เนื่องจากสุขกับทุกข์เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันแยกจากกันไม่ได้ เหมือนกับหน้ามือกับหลังมือ ถ้าต้องการอย่างหนึ่งแต่ปฏิเสธอีกอย่างหนึ่ง ย่อมเป็นไปไม่ได้ ใครที่บอกว่าฉันจะเอาสุขอย่างเดียว ฉันไม่เอาทุกข์เลย ก็เหมือนกับพูดว่าฉันจะเอาฝ่ามืออย่างเดียว ไม่เอาหลังมือเลย มันเป็นไปไม่ได้ เว้นเสียแต่ว่าไม่มีมือเลย พอไม่มีมือเลย ก็ไม่มีหลังมือ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าหมดทุกข์อย่างแท้จริง ไม่มีมือคืออะไร คือไม่มีตัวตนที่จะให้ยึดถือ แม้แต่จิตก็ไม่ใช่ตัวตนที่จะยึดถือได้ มันว่างเปล่าอย่างสิ้นเชิง เรียกว่าเป็น สุญญตา คือไม่มีตัวตนให้ยึดถือหรือให้คาดหวังว่ามันจะเป็นสุขอีกต่อไป เมื่อไม่มีตัวตน ก็ไม่มีอะไรที่ความทุกข์จะเข้ามากระทบได้ คือมีแต่ความทุกข์ แต่ไม่มีผู้ทุกข์ อันนี้ก็เหมือนกับที่ท่านเว่ยหล่าง สังฆปริณายกนิกายเซ็นในจีน ท่านเปรียบว่า ถ้าไม่มีกระจกแล้วฝุ่นหรือธุลีจะมาเกาะได้อย่างไร ก่อนหน้านั้นคนก็ยังเชื่อว่าจิตเหมือนกับกระจกที่ต้องขัดอยู่เสมอเพราะว่ามีฝุ่นมาเกาะ หยุดขัดเมื่อไรฝุ่นก็จะจับจนหนา จึงต้องทำความสะอาดอยู่เรื่อยๆ นอกจากนั้นถ้าคิดว่าจิตเป็นกระจกมันก็มีความเสี่ยงนะ เพราะนอกจากฝุ่นแล้ว ยังต้องระวังไม่ให้อะไรอย่างอื่นมากระทบด้วย เช่น หินหรือก้อนกรวด ถ้ามันตกลงมาถูกกระจกก็แตกร้าวได้ แต่ถ้าจิตไม่มีตัวตนเลย เหมือนกับไม่มีกระจก ฝุ่นก็ไม่รู้จะไปเกาะที่ไหน ก้อนหินตกลงมาก็ไม่ทำให้อะไรแตกได้ เพราะไม่มีกระจกมารองรับก้อนหินนั้น

จิตว่างเปล่าจากตัวตน ก็เปรียบเหมือนไม่มีกระจก จึงไม่จำเป็นต้องคอยเช็ดฝุ่นหรือคอยระแวดระวังไม่ให้หินมากระแทบ เมื่อไม่มีอะไรแตก ก็หมายถึงไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น อันนี้แหละก็คือสภาวะที่เรียกว่าไร้ทุกข์ เมื่อไม่มีทุกข์ ก็เป็นสุขโดยปริยาย เป็นสุขเหนือสุข เป็นสัมโพธิสุข นี้คืออุดมคติที่ชาวพุทธควรไปให้ถึง ที่จริงพูดว่าไปให้ถึงก็ไม่ถูก เพราะทำให้เข้าใจว่ามันอยู่นอกตัวหรืออยู่ข้างหน้า แต่ที่จริง ท่านผู้รู้บอกว่ามันอยู่ต่อหน้าเราอยู่แล้ว มันอยู่ในใจเราด้วยซ้ำ แต่ว่าเรามองไม่เห็นเองต่างหาก เราไม่รู้ว่ามีด้วยซ้ำเพราะถูกความหลงครอบงำ มันเหมือนกับสิ่งบังตาเรา อันนี้แหละคือ ความสุขที่พุทธศาสนาไม่ปฏิเสธ

พุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาแห่งความทุกข์ แต่เป็นศาสนาที่เชิญชวนให้คนเข้าถึงความสุขที่ประณีตยิ่งๆ ขึ้นไป จากกามสุขสู่เนกขัมมสุข จากเนกขัมมสุขไปสู่ปวิเวกสุข จากปวิเวกสุขก็ไปสู่สัมโพธิสุข สามประการหลังนี้เราจะเรียกว่า นิรามิสุขก็ได้ กามสุขคือสุขที่เจือด้วยอามิส เป็นอามิสสุข แต่ว่ายังมีสุขที่เหนือกว่านั้น พุทธองค์ไม่ได้ปฏิเสธกามสุข แต่ทรงห็นว่ามีสุขที่ประณีตกว่า อย่างไรก็ตามถึงที่สุดแล้วสุขเหล่านี้มิใช่สิ่งที่เราควรมุ่งหวังหรือยึดติดได้แม้แต่อย่างเดียว แต่จะเกิดขึ้นได้ก็จากการปล่อยวาง เมื่อปล่อยวาง เมื่อไม่โหยหาความสุข ความสุขก็บังเกิดขึ้น แต่ถ้าโหยหาเมื่อไรก็ยังแสดงว่ามีกิเลสอยู่ กิเลสนี้เองที่เป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความสุขได้

การปฏิบัติตลอดจนวิถีชีวิตที่พระองค์ได้ทรงวางเอาไว้ กล่าวคือ การดำเนินชีวิตตามหลักไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เพื่อพาเราเข้าถึงความสุขที่ประเสริฐท่ามกลางโลกที่วุ่นวาย เหมือนกับว่าเราล่องเรือไปตามกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ความจริงในโลกนี้ก็เหมือนกับกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว เราก็เหมือนกับคนที่ล่องแพ เราล่องไปตามกระแสน้ำก็จริงแต่ก็ต้องระวังว่าอย่าไปชนกับเกาะแก่ง เพราะฉะนั้นจะปล่อยชีวิตไปตามกระแสหรือตามยถากรรมไม่ได้ ต้องมีความใส่ใจไม่ประมาท ต้องพยายามคัดท้ายแพเพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทาง โดยไม่เกยตื้นหรือชนกับเกาะแก่งเสียก่อน ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็ไปถึงทะเล ท่านเปรียบทะเลเหมือนกับนิพพาน แม่น้ำทุกสายล้วนไหลสู่ทะเลฉันใด ชีวิตที่ประเสริฐก็มุ่งไปสู่นิพพานฉันนั้น แต่ถึงแม้เราจะไม่ปรารถนานิพพาน ก็ยังจำเป็นอยู่เองที่จะต้องนำพาชีวิตให้แคล้วคลาดจากเกาะแก่งทั้งหลาย เพื่อเข้าถึงความสุขที่ประเสริฐ เพราะนี้คือรางวัลอันล้ำค่าของการเกิดมาเป็นมนุษย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น