เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

เหนือความยากคือความง่าย


นิตยสารสารคดี : ฉบับที่ ๓๑๓ :: มีนาคม ๕๔ ปีที่ ๒๗

คอลัมน์รับอรุณ : เหนือความยากคือความง่าย
พระไพศาล วิสาโล

แบ่งปันบน facebook Share

อตุล กูวานเด (Atul Guwande) ศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน เล่าถึงคนไข้ผู้หนึ่งซึ่งมีเลือดออกมากระหว่างผ่าตัดเพื่อรักษาริดสีดวงทวารและนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แม้จะห้ามเลือดได้แต่ตับได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ไม่กี่วันต่อมาเขามีอาการทรุดหนักจนต้องย้ายเข้าห้องไอซียู ร่างกายของเขาสั่นเทา ไข้ขึ้นสูง หัวใจเต้นเร็วมาก และมีออกซิเจนในเลือดต่ำ

ผลจากห้องแล็บพบว่าเขามีอาการตับวาย และติดเชื้อ นอกจากนั้นถุงปัสสาวะที่ว่างเปล่ายังบ่งชี้ด้วยว่าไตของเขาก็วาย ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาความดันเลือดได้ตกลง การหายใจแย่ลง และเขาเริ่มไม่รู้สึกตัว เห็นได้ชัดว่าร่างกายของเขาทุกระบบ รวมทั้งหัวใจ กำลังจะหยุดทำงาน

ถึงตอนนี้แพทย์และพยาบาลระดมกำลังช่วยเขาอย่างสุดความสามารถ ท่อไม่น้อยกว่า ๓ท่อถูกแทงเข้ากับร่างกายของเขา ทั้งที่คอ ข้อมือ และหน้าอก อุปกรณ์นานาชนิดรวมทั้งเครื่องช่วยหายใจและเครื่องฟอกไตถูกนำมาใช้อย่างเร่งด่วนเพื่อเพิ่มออกซิเจนในเลือดและรักษาความดันเลือดให้คงที่ รวมทั้งปรับสารต่าง ๆ ในร่างกายเช่น เกลือแร่ โดยเฉพาะโปตัสเซียมให้เป็นปกติด้วย

ผ่านมาได้ ๑๐ วัน เขามีอาการดีขึ้น ความดันเลือดกลับมาเป็นปกติ ไข้ลดลง ความต้องการออกซิเจนก็ลดลง แต่พอถึงวันที่ ๑๑ ขณะที่แพทย์เตรียมปลดเครื่องช่วยหายใจ จู่ ๆ เขาก็มีไข้สูงขึ้นอย่างฉับพลัน ความดันเลือดตก ออกซิเจนในเลือดก็ลดลง ร่างกายสั่นหนาว

แม้แต่แพทย์เองก็ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เขาติดเชื้อแน่นอน แต่ไม่มีใครรู้ว่ามีสาเหตุจากอะไร เครื่องเอ็กซเรย์และเครื่องซีทีสแกนก็ตอบไม่ได้ แม้แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะไป ๔ ชนิด ไข้ยังขึ้นสูง มีช่วงหนึ่งหัวใจของเขาเต้นระรัว จนแพทย์ต้องช็อคหัวใจด้วยไฟฟ้าจนกลับมาเต้นเป็นจังหวะปกติ

คณะพยาบาลใช้เวลาถึง ๒ วันกว่าจะรู้ว่าความผิดปกติมาจากไหน มีการสันนิษฐานว่าท่อที่ใส่ไปในร่างกายของเขา คงมีท่อใดท่อหนึ่งติดเชื้อ จึงมีการใส่ท่อใหม่ แล้วเอาท่อเก่าไปเพาะเชื้อในห้องแล็บ ๔๘ ชั่วโมงต่อมาผลก็ออกมา ทุกท่อล้วนติดเชื้อ การติดเชื้ออาจเริ่มต้นที่ท่อใดท่อหนึ่งก่อน อาจเกิดขึ้นตอนใส่ท่อเข้าไป จากนั้นเชื้อก็เข้าสู่กระแสเลือด และลามไปยังท่อที่เหลือ

จากประสบการณ์ของอตุล การติดเชื้อในท่อเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยมากจนถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ในสหรัฐอเมริกามีการศึกษาพบว่า หากอยู่ในห้องไอซียูเกิน ๑๐ วัน ร้อยละ ๔ ของท่อที่ต่อเข้ากับผู้ป่วยจะมีการติดเชื้อ แม้ตัวเลขจะไม่สูง แต่ก็สามารถทำให้ถึงตายได้ถึงร้อยละ ๒๘ นอกจากนั้นยังพบอีกว่า คนที่อาศัยเครื่องช่วยหายใจเกิน ๑๐ วัน ร้อยละ ๖ จะติดเชื้อที่ปอด ซึ่งสามารถทำให้ถึงตายได้ถึงร้อยละ ๔๐-๕๕ แต่คนไข้แต่ละคนไม่ได้อาศัยแต่เครื่องช่วยหายใจเท่านั้น หากยังต้องพึ่งพาอุปกรณ์อีกหลายอย่าง ซึ่งล้วนมีความเสี่ยงทั้งนั้น ดังนั้นเมื่อมองในภาพรวมแล้ว ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยในห้องไอซียูลงเอยด้วยการป่วยด้วยโรคแทรกซ้อน และหากเกิดขึ้นแล้ว โอกาสรอดมีน้อยมาก

การติดเชื้อจนถึงตายนั้น เป็นแค่หนึ่งในบรรดาปัญหานับร้อยนับพันที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยในห้องไอซียู โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าวันหนึ่ง ๆ มีการดูแลรักษาหรือทำหัตถการกับคนไข้นับร้อยครั้ง (มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อ ๑๐ ปีก่อนระบุว่า คนไข้ในห้องไอซียูแต่ละคนต้องการการทำหัตถการโดยเฉลี่ย ๑๗๘ ครั้งต่อวัน มีตั้งแต่การให้ยา ไปจนถึงการดูดเสมหะ) แต่ละครั้งก็มีความเสี่ยงทั้งนั้นหากมีอะไรผิดพลาด

ด้วยเหตุนี้การรักษาชีวิตของผู้ป่วยในห้องไอซียูจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย ยิ่งมีโรคใหม่ ๆเกิดขึ้นขณะที่เทคโนโลยีก็มีความซับซ้อนมากขึ้น ย่อมทำให้การเยียวยารักษาคนไข้ในห้องไอซียูซับซ้อนตามมาด้วย (อย่าลืมว่า ๑๗๘ ครั้งเป็นตัวเลขเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว ปัจจุบันอาจเพิ่มกว่า ๒๐๐ แล้วก็ได้) เราจะทำอย่างไรเมื่อเผชิญกับความซับซ้อนอย่างนี้ สำหรับการแพทย์สมัยใหม่ วิธีการที่นิยมก็คือการเน้นความชำนาญเฉพาะทาง ด้วยเหตุนี้แพทย์เฉพาะทางจึงกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการรักษาผู้ป่วยในภาวะวิกฤตในห้องไอซียู

อย่างไรก็ตามอตุลได้ชี้ว่า ทุกวันนี้ความซับซ้อนในการรักษาได้เพิ่มขึ้นมากจนถึงจุดที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดประจำวันได้ แม้จะดูแลโดยแพทย์ซึ่งเป็นอภิผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (super-specialist) ก็ตาม เพราะยิ่งมีขั้นตอนที่ซับซ้อนมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดปัญหาก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วยจนเกินความสามารถของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะรับมือได้

กรณีผู้ป่วยที่เล่ามาข้างต้นเป็นตัวอย่างของปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลากับคนไข้ทุกคนที่อยู่ในห้องไอซียูนานหลายวัน จะว่าไปแล้วการที่ท่อติดเชื้อนั้นไม่ใช่ปัญหาที่ซับซ้อนพิสดารเลยเมื่อเทียบกับปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถเกิดได้กับผู้ป่วยหนัก แต่กว่าจะรู้ว่ามันคือสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกือบตาย ก็ใช้เวลานาน ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เมื่อรู้แล้วจะป้องกันมิให้ปัญหานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

มีความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้มานานแล้ว รวมทั้งการใช้วิทยาการที่ล้ำยุคเพื่อจัดการกับเชื้อโรคที่แปดเปื้อนและพร้อมจู่โจมร่างกาย แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้อย่างได้ผล จวบจนเมื่อแพทย์เฉพาะทางผู้หนึ่งได้เสนอวิธีที่ง่ายมาก โดยใช้กระดาษ ๑ แผ่นและปากกา ๑ ด้ามเท่านั้น ปีเตอร์ โปรโนวอสท์ ( Peter Pronovost) เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้ป่วยวิกฤตในโรงพยาบาลจอห์นฮอปกินส์ (Johns Hopkins Hospital) เขาได้ทำเช็คลิสต์หรือรายการขั้นตอนที่แพทย์จะต้องทำทั้งก่อนและหลังจากใส่ท่อผู้ป่วย มีทั้งหมด ๕ ขั้นตอน คือ ๑. ล้างมือด้วยสบู่ฆ่าเชื้อ ๒. ทำความสะอาดผิวหนังผู้ป่วยด้วยยาฆ่าเชื้อคลอเฮกซิดิน (chlorhexidine) ๓. เอาผ้าปลอดเชื้อคลุมร่างผู้ป่วยบริเวณที่จะทำหัตถการ ๔. สวมหน้ากาก หมวก เสื้อกาวน์ และถุงมือปลอดเชื้อ ๕. เมื่อใส่ท่อแล้วให้ทำแผลที่ใส่ท่อนั้นด้วยเทคนิคปราศจากเชื้อ สิ่งที่แพทย์ต้องทำคือตรวจสอบกับเช็คลิสต์นี้เพื่อให้แน่ใจว่าได้ทำทุกขั้นตอนจนครบ

วิธีนี้ง่ายมาก ไม่ต้องใช้สมองเลยก็ทำได้ อีกทั้งเป็นวิธีการที่รู้และสอนกันมานานหลายปีแล้ว ดังนั้นการนำเสนอวิธีนี้ให้แพทย์ทำจึงถูกมองว่าเป็นเรื่องปัญญาอ่อน แต่โปรโนวอสต์ยืนยันที่จะให้ทดลองใช้วิธีนี้ เขาได้ขอให้พยาบาลในห้องไอซียูของเขาสังเกตแพทย์ว่าได้ทำตามขั้นตอนดังกล่าวหรือไม่ หลังจากสังเกตอยู่หนึ่งเดือนก็พบว่ามีผู้ป่วยถึง ๑ ใน ๓ ที่แพทย์ได้ข้ามขั้นตอนอย่างน้อย ๑ ขั้นตอน

เดือนต่อมาเขาได้ขอให้ผู้บริหารโรงพยาบาลออกคำสั่งอนุญาตให้พยาบาลหยุดแพทย์ได้หากพบว่าแพทย์ได้ข้ามขั้นตอนในเช็คลิสต์นั้น อีกทั้งพยาบาลยังมีหน้าที่ถามแพทย์ด้วยว่ามีท่อใดที่ควรถอด เพื่อไม่ให้ท่อถูกคาไว้นานเกินไป นี้เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะพยาบาลมักไม่กล้าเตือนแพทย์ตรง ๆ อย่างไรก็ตามเขาบอกพยาบาลไปว่า หากแพทย์ไม่ฟังพยาบาล พยาบาลสามารถขอให้ฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซงได้

โปรโนวอสท์และคณะได้ตามผลเป็นเวลา ๑ ปีเต็ม สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเหนือความคาดหมาย จนแม้แต่เขาก็ไม่เชื่อว่ามันเป็นความจริง นั่นคือ อัตราการติดเชื้อจากท่อลดลงจากร้อยละ ๑๑ จนเหลือศูนย์ ดังนั้นจึงทดลองทำอีก ๑๕ เดือน ปรากฏว่ามีการติดเชื้อจากท่อแค่ ๒ รายเท่านั้น จากการคำนวณของเขา การทำเช็คลิสต์ช่วยป้องกันมิให้ติดเชื้อ ๔๓ ราย ป้องกันมิให้มีคนตาย ๘ คน และประหยัดเงินได้ถึง ๒ ล้านดอลลาร์

ความสำเร็จดังกล่าวทำให้เขาทำเช็คลิสต์อย่างอื่นอีก เช่น ทำเช็คลิสต์เพื่อให้แน่ใจว่าพยาบาลไปตรวจคนไข้ที่มีปัญหาความเจ็บปวดทุก ๔ ชั่วโมงและให้ยาระงับปวดตรงเวลา วิธีนี้ช่วยให้คนไข้ที่ไม่ได้รับการบรรเทาความปวดลดลงจากร้อยละ ๔๑ เหลือร้อยละ ๓ นอกจากนั้นเขายังทำเช็คลิสต์สำหรับผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้แน่ใจว่าเตียงคนไข้เอียงขึ้นอย่างน้อย ๓๐ องศา เป็นการป้องกันมิให้เสลด น้ำลายหรือเศษอาหารเข้าไปในหลอดลม เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ปอด รวมทั้งให้ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร เพื่อป้องกันโรคแผลในกระเพาะ ปรากฏว่าคนไข้ที่ไม่ได้การรักษาอย่างถูกต้องลดลงจากร้อยละ ๗๐ เหลือร้อยละ ๔ การป่วยด้วยโรคปอดติดเชื้อลดลงถึง ๑ ใน ๔ คนตายลดลง ๒๑ คนเมื่อเทียบกับปีก่อน

การวิจัยพบว่า เพียงแค่แพทย์และพยาบาลในห้องไอซียูทำเช็คลิสต์ของตัวว่า ควรทำอะไรบ้างในแต่ละวัน การดูแลคนไข้จะมีคุณภาพดีขึ้นมาก ถึงขั้นว่า เพียงชั่วไม่กี่อาทิตย์ ระยะเวลาที่คนไข้อยู่ในห้องไอซียูลดลงถึงครึ่งหนึ่ง

ต่อมาเขาได้รับเชิญให้นำวิธีการนี้ไปใช้กับห้องไอซียูในรัฐมิชิแกน เพียงแค่ ๓ เดือนแรก การติดเชื้อในห้องไอซียูของทั้งรัฐลดลงร้อยละ ๖๖ ห้องไอซียูหลายแห่งซึ่งเคยมีการติดเชื้อถึง ๑ ใน ๔ ลดลงเหลือศูนย์ เมื่อทดลองครบ ๑๘ เดือน พบว่านอกจากจะป้องกันมิให้มีคนเสียชีวิตถึง ๑,๕๐๐ คนแล้ว ยังประหยัดเงินถึง ๑๗๕ ล้านดอลลาร์ ทั้งหมดนี้เพียงเพราะเช็คลิสต์ธรรมดา ๆ เท่านั้น

ไม่มีใครคาดคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลต่าง ๆ มาเป็นเวลานาน อย่างการติดเชื้อบริเวณท่อที่ใส่เข้าไปในร่างกายนั้น จะแก้ได้ด้วยวิธีง่าย ๆ แบบนี้ และเมื่อเอาวิธีเช็คลิสต์ไปใช้กับการแก้ปัญหาอย่างอื่นที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานาน ก็สามารถลดความสูญเสียทั้งชีวิตและเงินทองไปได้มากมายเช่นกัน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ วิธีการดังกล่าวมักถูกต่อต้านจากแพทย์และพยาบาล เหตุผลประการหนึ่งก็คือ มันง่ายเกินไป บางคนถึงกับบอกว่ามันเป็นวิธีการที่ “งี่เง่า” เพราะสิ่งที่ระบุให้ทำในเช็คลิสต์นั้นเป็นเรื่องที่รู้ดีกันอยู่แล้ว แต่เมื่อติดตามสังเกตกันจริง ๆ กลับพบว่า วิธีที่ว่าง่ายเหล่านี้กลับถูกละเลยหรือมองข้ามไป (เมื่อโปรโนวอสท์นำวิธีการนี้ไปใช้กับโรงพยาบาลของรัฐมิชิแกน ปัญหาหนึ่งที่พบก็คือ มีห้องไอซียูไม่ถึง ๑ ใน ๓ ที่มีสบู่ฆ่าเชื้อคลอเฮกซิดิน)

สิ่งง่าย ๆ มักถูกมองข้าม ทั้ง ๆ ที่ก่อผลดีมากมาย ก็เพราะผู้คนมองว่าเป็นเรื่องหญ้าปากคอกหาไม่ก็ดูแคลนว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เรื่องเล็กน้อยนี้แหละที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ย้อนหลังไปเมื่อ ๑๗๐ ปีก่อนก็เคยมีเรื่องราวทำนองนี้เกิดขึ้น

ช่วงคริสต์ทศวรรษ ๑๘๔๐ โรงพยาบาลชั้นนำในยุโรปได้ประสบปัญหาอย่างหนึ่งที่แก้ไม่ตก นั่นคือแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรจำนวนไม่น้อยตายด้วยโรคชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่าไข้หลังคลอด (puerperal fever) หญิงที่มาคลอดที่โรงพยาบาลนั้น ทุกคนไม่มีความเจ็บป่วยมาก่อน แต่หลังจากคลอดได้ไม่นานก็เสียชีวิต ในโรงพยาบาลบางแห่งการอุบัติของโรคนี้สูงมาก กล่าวคือ ๑ ใน ๖ ของหญิงที่มาคลอดในโรงพยาบาลตายด้วยโรคนี้

ไม่มีใครรู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร มีการสันนิษฐานต่าง ๆ นานา เช่น อากาศไม่ดี อาหารไม่ถูกสุขลักษณะ เครื่องแต่งกายของผู้หญิงรัดแน่นเกินไป แต่มีแพทย์หนุ่มผู้หนึ่งเห็นต่างออกไป อิกนาซ เซมเมลไวส์ (Ignas Semmelweis) สังเกตว่า แม่ซึ่งคลอดที่บ้านนั้น มีโอกาสที่จะตายด้วยโรคนี้น้อยกว่าที่โรงพยาบาลของเขาในกรุงเวียนนาถึง ๖๐ เท่า ใช่แต่เท่านั้นแม่ซึ่งคลอดด้วยหมอตำแยในโรงพยาบาลก็ตายด้วยโรคนี้แค่ ๑ ใน ๓ ของแม่ที่ทำคลอดด้วยแพทย์

วันหนึ่งเขาได้ข่าวว่าแพทย์ผู้หนึ่งถึงแก่กรรมอย่างกะทันหัน เขาเสียชีวิตไม่กี่วันหลังจากที่พานักศึกษาแพทย์ผ่าศพ ระหว่างที่ผ่าศพ มีดได้บาดมือเขา หลังจากนั้นเขาก็ป่วย อาการคล้ายกับแม่ที่ตายหลังคลอด คือเป็นไข้สูง และเมื่อชันสูตรศพก็พบว่ามีการอักเสบที่เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มสมอง เยื่อหุ้มหัวใจ และเยื่อบุช่องท้อง

กรณีดังกล่าวทำให้เขาพบคำตอบว่าแท้จริงแล้วไข้หลังคลอดนี้มาจากแพทย์นั่นเอง กล่าวคือสมัยนั้นเมื่อแพทย์ผ่าศพเสร็จ มักจะตรงเข้าห้องผู้ป่วยเลย รวมทั้งทำคลอด โดยไม่ได้ล้างมือให้สะอาด (อย่าลืมว่าตอนนั้นเป็นช่วงก่อนที่หลุยส์ปาสเตอร์จะพบว่าโรคติดต่อเกิดจากแบคทีเรีย) ดังนั้นเชื้อโรคจากศพ โดยเฉพาะศพที่ตายด้วยไข้หลังคลอด จึงติดมือแพทย์แล้วต่อไปยังหญิงที่มาทำคลอด นี้คือเหตุผลว่าทำไมหญิงที่คลอดด้วยหมอตำแยไม่ว่าที่บ้านหรือที่โรงพยาบาลจึงตายด้วยโรคนี้น้อยมาก

การค้นพบดังกล่าวจึงทำให้เซมเมลไวส์เสนอให้แพทย์ทุกคนล้างมือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลังจากผ่าศพและก่อนทำคลอด ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นานอัตราการตายของผู้หญิงหลังคลอดในโรงพยาบาลของเขาลดเหลือไม่ถึงร้อยละ ๑ ในเวลา ๑๒ เดือนเขาสามารถช่วยชีวิตแม่ได้ถึง ๓๐๐ คนและทารก ๒๕๐ คน

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเซมเมลไวส์ถูกต่อต้านมากเพียงใดจากแพทย์ เพราะการค้นพบของเขาชี้ชัดว่าสาเหตุการตายของแม่และเด็กนั้นเกิดจากแพทย์ มิใช่จากอะไรอื่น อีกทั้งยังเสนอให้ปรับพฤติกรรมของแพทย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแพทย์ก็เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่น ๆ ที่มักเรียกร้องให้ผู้อื่นเป็นฝ่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากกว่า

ไม่มีใครนึกว่าปัญหาร้ายแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังนั้นสามารถแก้ได้อย่างชะงัดด้วยวิธีง่าย ๆ เช่นนี้ นั่นก็เพราะผู้คนมักคิดซับซ้อน ยิ่งปัญหาร้ายแรงใหญ่โตมากเท่าใด ก็ต้องใช้วิธีการที่ซับซ้อน ทุ่มทุนด้วยทรัพยากรที่มากมาย ซึ่งมักหนีไม่พ้นการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำยุคพิสดารและราคาแพง แต่บ่อยครั้งเพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็สามารถแก้ปัญหาสำคัญได้มากมาย อตุล ได้ชี้ว่า มาถึงวันนี้วิธีการของโปรโนวอสท์ซึ่งกระตุ้นให้แพทย์หันมาใส่ใจกับการทำสิ่งง่าย ๆ ขั้นพื้นฐานอย่างครบถ้วนได้ช่วยชีวิตผู้คนมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ในห้องทดลองคนใดจะทำได้ แต่ถึงกระนั้นความสำเร็จของเขาก็ได้รับความสนใจจากวงการแพทย์หรือสื่อมวลชนน้อยกว่าความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาเทคโนโลยีแปลกใหม่

นี้ก็ทำนองเดียวกับการช่วยชีวิตคนจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เพียงแค่การออกกฎหมายและรณรงค์ให้ผู้ขับขี่ใช้หมวกกันน็อคเท่านั้นสามารถลดจำนวนคนตายไปได้มากมาย น.พ.วิทยา ชาติบัญชาชัย หัวหน้าศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤตบำบัด โรงพยาบาลขอนแก่น เคยกล่าวว่า “ผมผ่าตัดไปตลอดชีวิต ยังช่วยชีวิตคนไม่ได้เท่ากับที่รณรงค์(ให้สวมหมวกกันน็อค) ๖ เดือนเลย” แต่วิธีง่าย ๆ เหล่านี้ย่อมไม่มีวันได้รับความสนใจมากเท่ากับความสำเร็จในการผ่าสมองของผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุอย่างหนักจนรอดตายได้

ว่ากันอย่างถึงที่สุดแล้ว สาเหตุที่สิ่งง่าย ๆ กลับเกิดขึ้นได้ยาก ก็เพราะเราถูกฝึกมาให้คิดและทำอย่างซับซ้อน จนสิ่งง่าย ๆ กลายเป็นเรื่องยากขึ้นมา ระหว่างการทำ กับ การไม่ทำ ใคร ๆ ก็รู้ว่าการไม่ทำนั้นง่ายกว่า แต่ในชีวิตจริงผู้คนส่วนใหญ่กลับไม่สามารถอยู่นิ่ง ๆ หรืออยู่เฉย ๆ ได้ (แม้ไม่ต้องทำมาหากินเลยก็ตาม) กลับดิ้นรนทำอะไรต่ออะไรมากมาย ทั้ง ๆ ที่ทำแล้วก็ใช่ว่าจะมีความสุข กลับกลายเป็นการหาเรื่องใส่ตัวด้วยซ้ำ เพราะเหตุนี้ผู้คนจึงกลัวการนั่งสมาธิเป็นอย่างยิ่ง ทั้ง ๆ ที่ไม่ต้องทำอะไรนอกจากนั่งนิ่ง ๆ และดูลมหายใจเฉย ๆ เท่านั้น แม้แต่คนที่สามารถพาตนมานั่งสมาธิได้แล้วก็ตาม ก็ยังมีปัญหาอีกเพราะพยายามเข้าไปจัดการกับความคิดปรุงแต่งไม่หยุดหย่อน แทนที่จะดูมันเฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่การดูเฉย ๆ โดยไม่ต้องทำอะไรกับมันนั้น เป็นเรื่องง่ายแสนง่าย แต่คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้และไม่ยอมทำ เพราะถูกฝึกมาให้ทำอะไรต่ออะไรมากมาย จนอยู่เฉย ๆ หรือทำใจเฉย ๆ ไม่ได้ จะยอมอยู่เฉยได้ก็ต่อเมื่อมองว่านั่นเป็น “การกระทำ” อย่างหนึ่ง

เมื่อขึ้นสูงแล้วจะกลับคืนสู่สามัญ ย่อมทำได้ยาก แต่สามัญธรรมดานี้แหละที่สำคัญอย่างยิ่ง ปัญหาของชีวิตและโลกมักเกิดขึ้นเพราะเรารังเกียจสิ่งสามัญ ง่าย ๆ พื้น ๆ และเมื่อเห็นปัญหาแล้ว มักแสวงหาทางออกด้วยวิธีการที่ซับซ้อน ทั้ง ๆ ที่วิธีการง่าย ๆ ก็มีอยู่

มีนิทานเรื่องหนึ่งซึ่งค่อนข้างแพร่หลาย เป็นเรื่องของนักธุรกิจที่เห็นชายชรานั่งเล่นอยู่บนสะพานปลายามสาย ชายชราเพิ่งเสร็จจากการหาปลา นักธุรกิจแปลกใจที่ชายชราไม่ออกไปหาปลาอีก ชายชราถามว่าเพื่ออะไร “เพื่อจะได้มีเงินมากขึ้นไงล่ะ” ชายชราถามว่า มีเงินมาก ๆ เพื่ออะไร “เพื่อจะได้ซื้อเรือลำใหญ่ขึ้น” ชายชราถามต่อว่ามีเรือลำใหญ่เพื่ออะไร “ลุงจะได้หาปลาได้มากขึ้น จะได้มีเงินซื้อเรือหลาย ๆ ลำ” ชายชราถามอีกว่า ทำเช่นนั้นเพื่ออะไร “เพื่อจะได้มีเงินมากขึ้น ต่อไปลุงจะได้ไม่ต้องทำงาน มีเวลาพักผ่อน” ชายชราจึงตอบว่า “ก็ฉันกำลังทำอยู่ตอนนี้แล้วไงพ่อหนุ่ม”

เส้นทางที่ลัดตรงนั้นมีอยู่ แต่เป็นเพราะเราชอบหนทางที่ซับซ้อน กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางก็เหนื่อย หาไม่ก็หลงทางไปเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น