เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ
ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "
หน้าเว็บ
เกี่ยวกับฉัน
- Nitinandho
- อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย
ผู้ติดตาม
วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554
มงคล คือ เหตุแห่งความเจริญ หรือเครื่องหมายแห่งความเจริญ
มงคล คืออะไร ใน 3 วัยที่สำคัญ
มงคล คือ เหตุแห่งความเจริญ หรือเครื่องหมายแห่งความเจริญ
มงคลในศาสนาพุทธ
มงคลในศาสนาพุทธ คือ การนิมนต์ขอให้พระภิกษุสวดมงคลสูตร เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญ หรือเพื่อให้เกิดความสิริมงคล ในงานพิธีที่เป็นมงคลต่าง ๆ พระสงฆ์จะต้องสวดมนต์บทนี้เสมอ เรียกกันว่า เป็นบทบังคับก็ว่าได้ เมื่อพระสงฆ์เริ่มต้นสวดมงคลสูตร (อะเสวะนา...) จะเป็นช่วงที่เจ้าภาพจะต้องเดินไปจุดเทียนที่ บาตรน้ำมนต์ จากนั้นประเคนบาตรน้ำมนต์แก่ประธานในพิธีสงฆ์ เมื่อสวดมงคลสูตรจบแล้ว พระภิกษุก็จะ รดน้ำมนต์ ให้แก่ผู้มาร่วมพิธีกรรม เพื่อมอบความเป็นมงคลให้ หรือมอบความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ผู้มาร่วมงานมงคล
ความจริง มงคลสูตร 38 ประการนั้น มีประโยชน์มากถ้านำไปปฏิบัติ (มิใช่การรับแต่น้ำมนต์ที่ประพรม การรับน้ำมนต์โดยไม่ปฏิบัติจะไม่เกิดประโยชน์) จะเป็นมงคลแก่ผู้ปฏิบัติตามอย่างแท้จริง พระพุทธองค์ทรงเทศนาเรียงลำดับข้อไว้อย่างมีระเบียบดียิ่ง เพื่อให้เป็นหลักปฏิบัติตามลำดับอายุของมนุษย์ เริ่มแต่ ปฐมวัย, มัชฌิมวัย และ ปัจฉิมวัย โดยขอยกตัวอย่างให้ท่านผู้อ่านเห็นดังต่อไปนี้
ปฐมวัย
ในที่นี้ขอกำหนดว่ามนุษย์ที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี เรียกว่าปฐมวัย ปกติเป็นวัยที่ยังไม่สมควรจะออกครองเรือนตามลำพังตน ควรเป็นวัยแห่งการศึกษาเล่าเรียน เป็นระยะเวลาของการเตรียมตัวที่จะออกไปครองเรือนในอนาคต มักจะอยู่ในความปกครองของบิดามารดา พวกปฐมวัยควรปฏิบัติตามมงคลสูตรตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 10 อย่างเคร่งครัด คือ
1. ไม่ให้คบคนพาล (เพื่อจะได้ไม่ตกต่ำในทางที่ชั่ว)
2. ให้คบบัณฑิต (เพื่อให้พบแต่ความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต)
3. ให้บูชาบุคคลที่ควรบูชา (เพื่อให้เกิดแบบอย่างที่ดี)
4. ให้อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม (เพื่อสะดวกในการศึกษาเล่าเรียน)
5. ให้สะสมบุญเรื่อยไป (เพื่อเป็นทุนไปสู่ความสุขสำเร็จ)
6. ให้ตั้งตนไว้ชอบ (เพื่อให้มีเส้นทางชีวิตที่ถูกต้อง)
7. ให้เป็นผู้ฟังมาก (เพื่อจะได้มีความรอบรู้)
8. ให้ศึกษา ศิลปวิทยา (เพื่อให้มีพื้นฐานการประกอบอาชีพการงานที่ดี)
9. ให้มีระเบียบวินัยดี (เพื่อให้มีหลักการที่ดีในการดำรงชีวิต)
10. ให้มี วาจาสุภาษิต (เพื่อให้เกิดความมีเสน่ห์ในตัวเอง)
ถ้าผู้ที่มีอายุภายใน 25 ปีแรกของชีวิต ได้ลงมือปฏิบัติตามมงคลสูตรเพียง 10 ข้อ ดังกล่าวนี้ บุคคลเหล่านี้จะเป็นคนดี เข้าไหนเข้าได้ เพราะสังคมต้อนรับ ปราศจากผู้รังเกียจ พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนเพื่อประโยชน์แก่ปวงชน ถ้าเราเคารพพระพุทธองค์อย่างแท้จริงแล้ว เราก็สมควรนำมงคลสูตรของพระพุทธองค์มาเป็นข้อปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตของตน ซึ่งนับว่าเป็นมงคลแก่ตนเองเป็นอย่างยิ่ง
มัชฌิมวัย
ในที่นี้ ขอกำหนดว่ามนุษย์ที่มีอายุตั้งแต่ 26 ปี ถึงอายุ 50 ปี เรียกว่าอยู่ในช่วง “มัชฌิมวัย” เป็นวัยที่ต้องดำเนินชีวิตไปตามลำพัง ไม่ควรจะต้องพึ่งบิดามารดาอีกต่อไป ต้องออกไปเผชิญกับเหตุการณ์ของสังคมโลก เป็นวัยที่จะต้องตั้งตัวตั้งหลักฐาน รับผิดชอบในการดำรงชีวิต ในมัชฌิมวัยควรปฏิบัติตามมงคลสูตรเพิ่มขึ้นอีก 20 ข้อ ตั้งแต่ข้อ 11 ถึงข้อ 30 คือ
11. ให้ บำรุงบิดามารดา (เป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณคน)
12. ให้ สงเคราะห์บุตรธิดา (เป็นแบบอย่างที่ดี)
13. ให้ สงเคราะห์ภรรยา (เป็นการแสดงความรับผิดชอบ)
14. ไม่ให้การงานอากูล (กิจการงานใดไม่คั่งค้าง)
15. ให้ บำเพ็ญทาน (จิตใจจะมีเมตตาสูง)
16. ให้ ประพฤติธรรม (เพื่อความสงบของชีวิต)
17. ให้ สงเคราะห์ญาติ (เกิดเคราะห์ร้ายก็มีญาติช่วย)
18. ให้ ประกอบการงานดี ไม่มีโทษ (อาชีพสุจริตชีวิตปลอดภัย)
19. ให้ เว้นจากการทำบาป (เพื่อไม่ต้องชดใช้หนี้กรรม)
20. ให้ เว้นจากการเสพของเมา (ให้เป็นคนมีสติอยู่เสมอ)
21. ไม่ให้ประมาทในธรรมทั้งหลาย (ให้มีความคิดรอบคอบ)
22. ให้ เคารพบุคคลที่ควรเคารพ (เราจะได้รับความเคารพตอบ)
23. ไม่ให้เย่อหยิ่ง (จะมีคนให้ความนับถือ)
24. ให้ มีสันโดษ (จิตใจจะไม่วุ่นวาย)
25. ให้ มีความกตัญญู (เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดี)
26. ให้ ฟังธรรมตามกาล (เพื่อให้มีดวงตาเห็นธรรม)
27. ให้ มีขันติ (จิตใจจะมีความสุขสงบ)
28. ให้ เป็นผู้ว่าง่าย (ทำให้ได้รับความรักจากผู้อื่น)
29. ให้ เข้าหาสมณะผู้สงบ (ทำให้เข้าใจธรรมะที่แท้จริง)
30. ให้ สนทนาธรรมตามกาล (ทำให้มีปัญญาเพิ่มพูล)
ถ้ามนุษย์อายุระหว่าง 26 ปี ถึง 50 ปี ได้ลงมือปฏิบัติตามมงคลสูตรของพระพุทธองค์เพิ่มขึ้นอีก 20 ข้อ ตั้งแต่ข้อ 11 ถึงข้อ 30 ดังกล่าวนี้ บุคคลเหล่านั้นจะประสบแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรืองในการดำรงชีวิต จะไม่ประสบความทุกข์ แม้ในขณะที่ถึงอายุขัยที่จะตาย วิญญาณก็จะไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ถ้าจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะได้เกิดเป็นมนุษย์ที่มีฐานะสูง ถ้าเราเคารพพระพุทธองค์อย่างแท้จริงแล้ว เราก็สมควรนำมงคลสูตรของพระพุทธองค์มาเป็นข้อปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตของตน ความเป็นมงคลก็จะเกิดแก่ตนเองและครอบครัว
ปัจฉิมวัย
ในที่นี้ ขอกำหนดว่ามนุษย์มีอายุตั้งแต่ 51 ปี ถึงสิ้นอายุขัย เป็นระยะชีวิตที่จะต้องช่วยตัวเองแสวงหา อริยทรัพย์ อริยสมบัติ เพราะเป็นช่วงเลยกึ่งกลางของชีวิต เดินทางเข้าสู่บั้นปลายของชีวิตเหมือนต้นไม้ใกล้ฝั่ง จะล้มลงเมื่อใดก็ได้ ควรจะช่วยตนเองในการสร้างอริยสมบัติก่อนตาย ซึ่งไม่มีใครจะช่วยเราได้ โดยช่วยให้วิญญาณของเรามีคุณสมบัติสูงกว่าเดิม วิธีช่วยตัวเองนับว่าดีที่สุดนั้น คือการหาโอกาสฝึกอบรมพัฒนาจิตใจ ด้วยการวิปัสสนากรรมฐาน อาจจะศึกษาเรื่องความตายเพื่อจะได้ตายนอกสมมติ คือการหลุดพ้นจาก สังสารวัฏ ไม่ควรให้ตายในสมมติคือการหมุนเวียนอยู่ในวัฏสงสารเท่านั้น การตายในสมมตินั้น จะต้องกลับมาเกิดเพื่อรับความทุกข์ต่อ ๆ ไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด วิธีปฏิบัติเพื่อให้ตายนอกสมมตินั้น คือการปฏิบัติตามมงคลสูตรของพระพุทธองค์ โดยปฏิบัติเพิ่มขึ้นอีก 8 ข้อ ตั้งแต่ข้อ 31 ถึงข้อ 38 คือ
31. ให้บำเพ็ญเพียรเผากิเลสให้หมดไป (ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน)
32. ให้ ประพฤติพรหมจรรย์ (ออกบวช หรือ บวชใจด้วยเนกขัมมบารมี)
33. ให้เห็นแจ้งในอริยสัจ (ให้ตระหนักรู้ในทุกข์ และเหตุที่เกิดทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีดับทุกข์)
34. ให้ทำนิพพานให้แจ้ง (วิปัสสนาภาวนาจนได้นิโรธสมาบัติ)
35. ไม่ให้จิตหวั่นไหวในโลกธรรม (ทำจิตไม่ให้ติดยึดในลาภ/ยศ/สรรเสริญ/สุข)
36. ไม่ให้จิตเศร้าหมอง (ทำจิตให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน)
37. ไม่ให้จิตมีมลทิน (ทำจิตให้เป็นอุเบกขาตลอดเวลา)
38. ให้มีจิตเกษม (ไม่ให้มีเครื่องดึงรั้งไว้ในภพคือถึงซึ่งพระนิพพาน)
มงคลสูตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตั้งแต่ข้อ 31 ถึงข้อ 38 นี้ มีพุทธประสงค์จะให้ช่วยตัวเองไปทาง โลกุตตรธรม ช่วยให้ตายนอกสมมติ คือการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เป็นการหลบหนีการเกิด เพราะว่า พระตถาคต สั่งสอนให้ตระหนักว่า “การเกิดเป็นทุกข์” ชาวพุทธที่มีอายุตั้งแต่ 51 ปีขึ้นไป เมื่อบุตรธิดามีอาชีพการงาน หรือสามารถดำรงชีวิตได้ตามลำพังแล้ว หรือ ทรงตัวได้ดีบนขาของเขาได้แล้ว ชาวพุทธผู้มีอายุสูงก็สมควรช่วยตนเองไปในทาง โลกุตตรวิสัย ควรฝึกอบรมพัฒนาจิตใจ ด้วยการวิปัสสนากรรมฐานให้มาก และให้บ่อย หากปฏิบัติตามมงคลสูตรของพระพุทธองค์เช่นนี้ ความเป็นมงคลก็จะเกิดแก่วิญญาณของตน เมื่อกายแตกละจากโลกนี้ไป วิญญาณของตนก็จะไปสู่ สุคติภูมิ หรือพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
ถ้าเราสมมติว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นแม่ครัว พระพุทธองค์ทรงปรุงอาหารไว้ เพื่อคน 3 วัย วัยแรกเพื่อให้มนุษย์ในปฐมวัยได้บริโภค วัยที่ 2 เพื่อให้มนุษย์ในมัชฌิมวัยได้บริโภค และวัยที่ 3 ปรุงไว้ให้มนุษย์ในปัจฉิมวัยได้บริโภค แต่มนุษย์จะบริโภค หรือไม่บริโภคนั้น เป็นเรื่องของมนุษย์ที่สามารถเลือกเส้นทางของตนเองได้ พระตถาคต ได้แต่ทรงปรุงอาหารไว้ให้เท่านั้น และทรงชี้ทางให้โดยมีพระกรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่เท่านั้น
จึงขออนุญาตเชิญชวนเพื่อนพนักงานทุกระดับ และทุกท่าน หันมาบริโภคอริยทรัพย์ด้วยการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ คิดดี พูดดี และทำดี ให้ตลอดอายุขัยของเรา นับแต่บัดนี้เป็นต้นไปเถิด
****
วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554
ขันธ์ 5
ขันธ์ 5
1. รูปขันธ์ (กองรูป)
2. เวทนาขันธ์ (กองเวทนา)
3. สัญญาขันธ์ (กองสัญญา)
4. สังขารขันธ์ (อ่านว่า สัง-ขา-ระ-ขัน) (กองสังขาร)
5. วิญญาณขันธ์ (กองวิญญาณ)
นอกจากนี้แล้วขันธ์ 5 ยังจำแนกออกได้เป็น 2 อย่างคือ
1. รูปธรรม ได้แก่ รูปขันธ์
2. นามธรรม ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และ วิญญาณขันธ์
เพราะว่า รูป คือ สิ่งที่ไม่สามารถรับรู้อะไรได้ หรือคือ สภาพธรรมที่มีลักษณะไม่รู้ ประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ ได้แก่ เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยกาย) เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เป็นต้น
ส่วน นาม คือ สิ่งที่สามารถรับรู้สภาพธรรมได้ หรือคือ สภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ ได้แก่ สภาพรู้ อาการรู้ ธาตุรู้ จิตใจ ปัญญา ความสุข ความทุกข์ ความพอใจ ความดีใจ ความเสียใจ ความหดหู่ เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น การเห็น เป็น นามธรรม เป็นวิญญาณขันธ์ ตาเป็นรูปธรรม เป็นธาตุดิน ภาพหรือรูปหรือสีที่เห็นเป็นรูปธรรม เป็นต้น
รูปขันธ์ (กองรูป)
หมายถึง สิ่งที่จะต้องสลายไป เพราะเหตุปัจจัยต่าง ๆ รูปประกอบจากธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และ ธาตุลม อันได้แก่ ร่างกาย โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น ลองมาจำแนกดูแต่ละตัวอย่าง ร่างกายเราประกอบไปด้วยธาตุ 4 คือ
1. ธาตุดิน ได้แก่ กระดูก เนื้อ หนัง เส้นผม เป็นต้น
2. ธาตุน้ำ ได้แก่ น้ำเลือด น้ำหนอง น้ำเหลือง น้ำย่อย น้ำดี หรือ ของเสียที่เป็นของเหลวในร่างกาย เป็นต้น
3. ธาตุลม ได้แก่ ลมหายใจเข้าและออก เป็นต้น
4. ธาตุไฟ ก็คือ อุณหภูมิความร้อนในร่างกาย เป็นต้น
แต่ความจริงแล้วการรับรู้ธาตุทั้ง 4 นั้น ต้องอาศัยจิต หรือตัวรู้ หรือสภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ รู้สภาพของธาตุนั้น ๆ ซึ่งธาตุนั้นถือว่าเป็นสภาพธรรมเหมือนกัน แต่เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่รู้ อ่าน ๆ ไป ก็อาจมีคนสงสัยได้ว่า จิตคืออะไร และสภาพธรรมคืออะไรล่ะ ก็จะขออธิบายย่อ ๆ เพียงว่า จิตคือตัวรู้ หรืออย่างที่กล่าวไปว่า สภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ หรือคือการที่เรารู้ตัว นั่นเอง ส่วนสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่รู้ ก็คือสิ่งที่มีอยู่จริงในโลกนี้ ยิ่งอธิบายอาจจะยิ่งงงกันไปใหญ่ ลองมาดูตัวอย่างให้เข้าใจยิ่งขึ้น ที่ว่าตัวรู้
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น รู้ตัวว่าเห็นตัวหนังสือ รู้ตัวว่ากำลังอ่าน รู้ตัวว่ากำลังหายใจเข้า รู้ตัวว่ากำลังหายใจออก รู้ตัวว่าเบื่อ รู้ตัวว่าอ่านแล้วไม่ชอบ หรือ รู้ตัวว่าอยากจะเลิกอ่าน เป็นต้น
ทีนี้มาดูถึงสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่รู้ ตัวอย่างของสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่รู้ เช่น สภาวะที่แข็ง สภาวะที่อ่อน (นิ่ม) สภาวะที่ร้อน สภาวะที่เย็น สภาวะตึง (เช่น การตึงกล้ามเนื้อ เป็นต้น) หรือ สภาวะที่ไหวหรือหย่อน เป็นต้น
ก่อนที่จะไปไกลกว่านี้ เรากลับมายังเรื่องของรูป รูป คือสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่รู้ เพราะรูปไม่สามารถรับรู้สภาพนั้น ๆ ได้ เช่น ธาตุดิน จะมีลักษณะแข็ง แต่ธาตุดินจะไม่สามารถรับรู้ตัวเอง ได้ว่ามีลักษณะแข็ง เป็นต้น หรือ ธาตุน้ำ ก็จะมีลักษณะอ่อนหรือนิ่ม ธาตุลมจะมีลักษณะตึงหรือหย่อน ส่วนธาตุไฟก็จะมีลักษณะร้อนหรือเย็น นี่จะเห็นได้ว่า รูปนั้น เป็นไปตามสภาพต่าง ๆ แต่ไม่สามารถรู้ลักษณะต่าง ๆ ได้
ในตอนท้ายของบทความนี้ เราจะมาสรุปในเรื่องรูปกันอีกที สำหรับรูปนั้นจะเห็นได้ว่า รูปก็คือตัวเรานั่นเอง
เวทนาขันธ์ (กองเวทนา)
หมายถึง ความเสวยอารมณ์ ความรู้สึกสุขหรือทุกข์ ได้แก่ ความเจ็บป่วย ความดีใจ ความเสียใจ เป็นต้น ซึ่งความรู้สึกสุขทุกข์นี้สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น 3 อย่างคือ
1. สุขเวทนา หรือ ความรู้สึกสุขสบาย เช่น ความสบายกาย ความสบายใจ
2. ทุกขเวทนา หรือ ความรู้สึกไม่สบาย เช่น ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ
3. อทุกขมสุขเวทนา (อ่านว่า อะ-ทุก-ขะ-มะ-สุก) หรือ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ คือรู้สึกเฉย ๆ นั่นเอง สามารถเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าอุเบกขาเวทนา
บางหมวดสามารถจัดแบ่งเวทนาขันธ์นี้ออกได้เป็น 5 อย่างคือ
1. สุข หรือ ความสบายกาย
2. ทุกข์ หรือ ความไม่สบายกาย
3. โสมนัส หรือ ความสบายใจ
4. โทมนัส หรือ ความไม่สบายใจ
5. อุเบกขา หรือ ความรู้สึกเฉย ๆ เวทนาเกี่ยวข้องกับตัวเราตรงที่เราสามารถรู้มันได้ด้วยใจ
ดังนั้นเวทนาจึงเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ นั่นเอง
สัญญาขันธ์ (กองสัญญา)
หมายถึง การกำหนดหมาย ความจำได้หมายรู้ ได้แก่ เรื่องราวในอดีต หรือหมายรู้ไว้ซึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัส หรือ สิ่งที่ต้องกาย) และอารมณ์ที่เกิดกับใจ เช่นว่า เขียว ขาว ดำ แดง ดัง เบา เสียงคน เสียงแมว เสียงระฆัง กลิ่นทุเรียน รสมะปราง เป็นต้น และจำได้ คือ รู้จักอารมณ์นั้นว่าเป็นอย่างนั้น ๆ ในเมื่อไปพบเข้าอีก
สัญญาสามารถจำแนกออกได้เป็น 6 อย่าง ตามอารมณ์ที่หมายรู้นั้น ได้แก่
1. รูปสัญญา หมายรู้รูป
2. สัททสัญญา หมายรู้เสียง
3. คันธสัญญา หมายรู้กลิ่น
4. รสสัญญา หมายรู้รส
5. โผฏฐัพพสัญญา หมายรู้สิ่งต้องกาย
6. ธัมมสัญญา หมายรู้อารมณ์ที่เกิดกับใจ หรือ สิ่งที่ใจรู้
ตัวอย่างของสัญญาเช่น รู้ว่าผงสีขาว รสเค็ม นั้นเรียกว่า เกลือในภาษาไทย เป็นต้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สัญญาเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ และมีอยู่ในตัวเรา
สังขารขันธ์ (กองสังขาร)
หมายถึง สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันได้แก่ ความคิด ที่ส่งผลให้พูดดีหรือพูดชั่ว เป็นต้น
สังขาร อาจแปลได้ว่า สภาพที่ปรุงแต่งใจ ซึ่งสามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น 3 อย่างคือ
1. สภาพที่ปรุงแต่งใจให้ดี หรือเป็นตัวสร้างกุศล เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า กุศลเจตสิก
2. สภาพที่ปรุงแต่งใจให้ชั่ว หรือเป็นตัวสร้างอกุศล เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า อกุศลเจตสิก
3. สภาพที่เป็นกลาง เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า อัพยากฤต
สังขาร อาจใช้ได้ในความหมายของเจตนาที่แต่งกรรมหรือปรุงแต่งการกระทำนั้น ๆ จำแนกออกได้เป็น 3 อย่าง คือ
1. กายสังขาร คือ สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางกาย หรือ กายสัญเจตนา
2. วจีสังขาร คือ สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางวาจา หรือ วจีสัญเจตนา
3. จิตตสังขาร หรือ มโนสังขาร คือ สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ หรือ มโนสัญเจตนา
ไม่ว่าจะจำแนกสังขารตามแบบใด สังขารก็เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ และมีอยู่ในตัวเรา
นอกจากนี้แล้ว สังขารยังอาจหมายความถึง สังขตธรรม หรือ ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น มักใช้กับความหมายที่ว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ซึ่งสังขารในกรณีหลังนี้หมายรวมถึงทั้งขันธ์ 5 นั่นเอง
ดังนั้น สังขารขันธ์ จึงเป็นสมาชิกย่อย ของคำว่าสังขารในกรณีนี้
วิญญาณขันธ์ (กองวิญญาณ)
หมายถึง ความรู้แจ้งอารมณ์ จิต ความรู้ที่เกิดขึ้น เมื่ออายตนะภายใน (อินทรีย์ทั้ง ๖ อันได้แก่ จักขุ-ตา, โสต-หู, ฆาน-จมูก, ชิวหา-ลิ้น, กาย และ มโน-ใจ) และอายตนะภายนอก (อารมณ์ ๖ ได้แก่ รูป, สัททะ-เสียง, คันธะ-กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ-สิ่งต้องกาย และ ธัมมะ-ธรรมารมณ์ หรือ อารมณ์ที่เกิดกับใจ) กระทบกัน บางตำรากล่าวว่า คือ ธาตุรู้ หรือ ธาตุสภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์ ได้แก่ การรับรู้การเห็น การได้ยิน เป็นต้นในปัจจุบันนี้ คำว่าวิญญาณ น่าจะหมายถึงประสาทรับสัมผัส นั่นเอง
วิญญาณสามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น ๖ อย่าง คือ
1. จักขุวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางตา (เห็น)
2. โสตวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางหู (ได้ยิน)
3. ฆานวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางจมูก (ได้กลิ่น)
4. ชิวหาวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น (รู้รส)
5. กายวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางกาย (รู้สิ่งต้องกาย)
6. มโนวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)
นั่นคือ จะเห็นได้ว่า วิญญาณจัดเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ และมีอยู่ในตัวเราด้วยเช่นเดียวกับ รูป เวทนา สัญญา และ สังขาร
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงพอจะเข้าใจคำว่าขันธ์ 5 ไม่มากก็น้อย และคงพอจะมองเห็นได้ว่า ร่างกายหรือขันธ์ 5 ของเรานี้เอง ที่ทำให้เราต้องรับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะโทษจากกรรม อาการป่วย หิว กระหาย หรือชราก็ตาม ถ้าเพียงแต่เรารับรู้อาการนั้น ๆ และยอมรับตามสภาพความเป็นจริงได้ จิตใจของเราก็จะไม่เศร้าหมองไปตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เป็นสาเหตุให้เราเศร้าหมอง ก็เนื่องมาจากโทษของการไปยึดมั่นถือมั่นในร่างกายของเรา ในร่างกายของเขา นั่นเอง
กล่าวโดยสรุปก็คือ ขันธ์ 5 ที่ประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จัดว่าเป็นมาร เพราะเป็นสภาพอันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เป็นที่ตั้งแห่งกองทุกข์ทั้งหลาย ถูกปัจจัยต่าง ๆ บีบคั้นเบียดเบียน จึงเป็นเหตุขัดขวาง หรือรอนโอกาส มิให้สามารถทำความดีงามได้เต็มที่ หรืออาจตัดโอกาสนั้นโดยสิ้นเชิง สาเหตุที่สำคัญก็ได้กล่าวไปแล้ว แต่จะข้อเน้นอีกที สาเหตุนั้นก็คือ การยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 ว่ามีตัวตนนั่นเอง
ถ้าเราปล่อยวางเสียได้ ก็จะทุกข์น้อยลง เพราะขันธ์ 5 ย่อมเป็นไปตามหลักไตรลักษณ์คือ อนิจจังหรือไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น การเจ็บป่วย การหลงลืม เป็นต้น ทุกขังหรือเป็นทุกข์ เพราะเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้ว และเราไม่สามารถรับได้กับสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ก็ก่อให้เกิดทุกข์ และเป็นอนัตตาหรือความไม่มีตัวตน ได้แก่ ไม่มีความเป็นเจ้าของ ไม่มีสภาพบุคคล สัตว์ สิ่งของ เรา เขา เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีใครที่จะสามารถควบคุมหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้ เมื่อรู้โทษของการยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้แล้ว เราก็ควรที่จะคลายความยึดมัี่นถือมั่นนั้น และยอมรับมันให้ได้
อ้างอิงจาก:
http://www.middleway.th.gs/web-m/iddleway/kun5.html
วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554
พระคุณเจ้าโปรดบอกทางไปด้วย....อย่าให้หลงทางอยู่นาน น้ำมันจะหมดซะก่อน
ทางสายกลางของท่านพุทธทาส
โดยผู้รับใช้ใกล้ชิด
คำบรรยายนี้แสดงแก่ผู้เข้าร่วมอบรมสมาธิภาวนาที่สวนโมกข์นานาชาติ
บอกเล่าชีวิตและกิจวัตรประจำวันของท่านพุทธทาสภิกขุ
ทำให้เห็นปฏิปทาอันสะอาดบริสุทธิ์ เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม และความดีงามของท่าน
โดยผู้ใกล้ชิดที่เคยรับใช้เป็นเลขานุการส่วนตัวของท่านเป็นเวลานานปี
ท่านสาธุชนผู้สนใจในการฝึกสมาธิทั้งหลายวันนี้อยากจะพูดเรื่องราวเกี่ยวกับท่านเจ้าคุณอาจารย์ (พุทธทาส อินทปญโญ) เท่าที่ได้พบได้เห็น ให้ท่านทั้งหลายได้ทราบการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน
สิ่งที่สำคัญที่สุดในพุทธศาสนาก็คือการปฏิบัติและการปฏิบัตินั้นก็เน้นไปที่มัชฌิมา คือทางสายกลาง หรือเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา การปฏิบัติเป็นทางสายกลางซึ่งเป็นเรื่องยากมาก การปฏิบัติเป็นทางสายกลางนั้น คือการดำรงอยู่ในความถูกต้องระหว่างวัตถุและจิต เรามีจิตอย่างเดียวไม่ได้ มีวัตถุอย่างเดียวไม่ได้ ชีวิตของเราต้องเกี่ยวข้องระหว่างวัตถุกับจิต ฉะนั้นพุทธศาสนานั้นได้ให้สิ่งสูงสุดสำหรับชีวิตของเรา นั่นคือระบบปฏิบัติที่เรียกว่าทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา เรียกชื่ออื่นก็ได้ เรียกอริยมรรคก็ได้ เรียกพรหมจรรย์ก็ได้ เรียกไตรสิกขาก็ได้ เขาเรียกว่าเป็นไวพจน์กัน เป็นคำที่ใช้แทนกันได้ บางครั้งเราไปอ่านหนังสือแล้วไม่ได้พูดถึงทางสายกลาง แต่ใช้คำอื่นเช่น ไตรสิกขาบ้าง พรหมจรรย์บ้าง นั่นแหละทางสายกลาง
ทางสายกลางนั้นเพื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์ ปฏิบัติไปเพื่อให้มันไม่มีทุกข์ ก็เพราะว่าเราทำถูกต้อง ทุกขั้นตอนของชีวิตโดยลำดับ
ทางสายกลางนั้นตัวปฏิบัติของมันก็คือมรรคมีองค์ ๘ มรรคมีองค์ ๘ นั้นก็ขึ้นต้นด้วยสัมมาจนครบ ๘ ข้อ สัมมานั้นแปลว่า ความถูกต้อง ซึ่งเป็นคำที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์เคยบอกว่า ไม่ทราบว่าจะแปลเป็นภาษาอังกฤษว่าอย่างไร เพราะว่าการใช้คำแปลนั้น มักจะไม่ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ ท่านจึงอยากจะให้ใช้คำว่าถูกต้องในภาษาไทยนี้ดีมาก หรือใช้คำเดิมคือคำว่าสัมมา แต่ถ้าจะใช้ให้เต็มรูปของความถูกต้อง ก็ต้องเป็นสัมมา ทั้ง ๑๐ ข้อ เรียกว่า สัมมัตตะ ๑๐ ซึ่งรายละเอียดโดยหัวข้อนั้น ท่านทั้งหลายสามารถจะไปดูในหนังสือได้
อยากจะให้ท่านทั้งหลายทราบโดยหลักว่า การปฏิบัติทางสายกลางนั้น ถ้าเราปฏิบัติอยู่ในระบบของมัน มันต้องเป็นไปเพื่อวิเวก คือความสงบ วิราคะคือจางคลาย นิโรธะคือความดับ โวสสัคคะปริณามิง คือน้อมไปเพื่อสละทิ้งเลิก ฉะนั้น ถ้าปฏิบัติอะไรแล้วมันยิ่งมาก ยิ่งหนัก ไม่สงบ ก็แสดงว่าไม่ใช่ ถึงแม้เราไม่รู้เรื่องของทางสายกลางเลย แต่เมื่อเราทำอะไรลงไปเกี่ยวข้องกับผู้ใด ดำเนินกิจการใดเสร็จแล้วมันสงบมันคลายปัญหา มันหมดเรื่อง เรื่องความยุ่งยากความเดือดร้อน นั่นแหละเรียกว่าเป็นทางสายกลาง
มันจะกลางมากขึ้น ๆ ก็ต้องเข้ามาอยู่ในระบบมรรคมีองค์ ๘ ปัญหามันก็มีว่า เราทั้งหลายทุกคนก็มักจะมองว่าใครปฏิบัติเดินสายกลางได้แล้ว เราก็มักจะไปเดินตามเขา ข้อนี้นับว่าเป็นความผิดพลาด เพราะว่าทางสายกลางนั้นมันเป็นเฉพาะบุคคล เราไปทำตามเขาไม่ได้
ท่
านทั้งหลายเคยศึกษานิทานอีสปมาบ้าง คงจะนึกถึงเรื่องจิ้งหรีดกับลา ลามันอยากจะมีเสียงไพเราะก็ไปถามจิ้งหรีด จิ้งหรีดมันก็บอกว่ากินน้ำค้างซิแล้วเสียงเพราะ ลามันก็ไม่ได้ดูตัวมันเอง มันก็จะเดินสายกลางบ้าง เพราะว่าจิ้งหรีดมันกินน้ำค้างแล้วเสียงเพราะ คือความถูกต้องของจิ้งหรีด เมื่อลาไปกินน้ำค้างบ้าง ผลสุดท้ายก็ไม่มีแรงแม้กระทั่งแต่จะเปล่งเสียง ต้องตายไป นิทานอีสปมันก็ดีตรงนี้ ตรงที่เราสามารถจะนำมาเปรียบเทียบให้มองเห็นได้ง่ายเข้า
ฉะนั้นการปฏิบัติในพุทธศาสนานั้น เรามักจะมองว่าคนนั้นคนนี้เดินอย่างไร แล้วพยายามจะเดินไปตามแบบที่เขาปฏิบัติ เสร็จแล้วมันก็ไม่ได้ผล เพราะว่าเรื่องการปฏิบัติทางสายกลางนั้น มันต้องปฏิบัติให้ครบทั้ง ๘ องค์ ตั้งแต่อันแรกก็คือ ความเห็นถูกต้อง ความหวังถูกต้อง การพูดจาถูกต้อง การทำการงานถูก การดำรงชีพถูกต้อง ความพากเพียรถูกต้อง ความระลึกได้ถูกต้อง ความมีสมาธิตั้งมั่นถูกต้อง ครบ ๘ องค์ก็จะเกิดผลเป็นสัมมาญาณะ คือเป็นความรู้ที่ถูกต้อง แล้วได้ผลเป็นสัมมาวิมุตติ คือหลุดพ้นจากปัญหาทั้งปวง อันนี้มันเป็นของที่ต้องรวมกันเป็นสายเดียว มรรคมีองค์ ๘ ต้องรวมเป็นสายเดียว และเป็นเฉพาะบุคคล ซึ่งไม่สามารถจะนำของคนหนึ่งมาใช้กับอีกคนหนึ่งได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราจะเอาแบบของใครมาสวมให้กับเราไม่ได้
นี่ก็นับว่าเป็นสิ่งซึ่งต้องพึงระวังไว้ เป็นของเฉพาะบุคคล แล้วก็มุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางเดียว นั่นก็คือนิพพาน ความสิ้นทุกข์ ท่านเจ้าคุณอาจารย์ท่านบอกว่าทุกคนต้องเดิน จะเดินเมื่อไรก็ตามแต่ แต่ต้องเดิน ถ้าไม่เดินอยู่ในระบบที่ถูกต้อง หรือเรียกว่าทางสายกลางแล้ว ก็หาความสุขไม่ได้ ความสุขในที่นี้คือความสุขที่แท้จริง คือความสุขที่สงบ อย่างที่ท่านทั้งหลายกำลังเดินอยู่หลายวันมาแล้ว เดินโดยไม่ต้องใช้ขา บางคนหาความสงบไม่ได้ พยายามจนดึกดื่น เพื่อนนอนแล้วก็ออกมาเดิน เดินรอบอาคารก็แล้ว เดินกี่รอบมันก็ไม่สงบ เพราะว่าเราเคยแต่ใช้ขาเดิน แต่ว่าการใช้จิตเดิน มันเป็นเรื่องยาก สำคัญมาก
ท่านเจ้าคุณอาจารย์นั้นท่านต้องประสบความสำเร็จแน่นอน แต่เราไม่อาจที่จะไปเดาหรือว่าคาดคิดเอาว่าท่านสำเร็จในระดับไหน แต่พฤติกรรมของท่านที่แสดงออกมาในชีวิตประจำวัน ที่อาตมาได้มีโอกาสเห็นอย่างน้อยก็หลายปี เพราะว่าอยู่กับท่านมาก็ ๑๐ กว่าปี ยิ่งมองก็ยิ่งเห็น แล้วก็ยิ่งงง คือไม่เข้าใจว่านี่หรือคือทางสายกลาง
ข้อแรกก็คือว่า เราเคารพท่านเจ้าคุณอาจารย์ และเชื่อว่าท่านต้องปฏิบัติตามทางสายกลาง มรรคมีองค์ ๘ แล้วสิ่งที่เราเห็นนั่นก็คือผลผลิตที่ออกมาจากจิตใจของท่าน ซึ่งกระทำต่อคนนั้นคนนี้หลาย ๆ คน รวมทั้งกับสังคมด้วย ก็อยากจะลองเล่าให้ท่านทั้งหลายฟังดูว่า คนมีธรรมะที่เราเคารพ ท่านใช้ชีวิตอย่างไรในวันหนึ่ง ๆ และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในกรณีหนึ่ง ๆ นั้นท่านได้ตัดสินลงไปด้วยวิธีการอย่างไร ซึ่งเราก็เคยคุยกันในระหว่างเพื่อนสพรหมจารีด้วยกัน ก็คิดว่าไม่เข้าใจเหมือนกัน จึงคิดว่าทางสายกลางนั้นมันเป็นเฉพาะบุคคล ที่จะใช้ความสามารถอันนั้นเพื่อตัดสินปัญหา
ท่านทั้งหลายลองนึกคิดแบบรวม ๆ ดูก็ได้ บุคลิกหน้าตา ถ้าคนหนึ่งมีความรู้ คนสองคนมีความรู้เท่ากัน ซึ่งมันก็เป็นไปไม่ได้ แต่เอาใกล้ ๆ ว่าเท่ากัน สามารถเท่ากัน แต่เมื่อไปสมัครงาน เขาให้อ่านข่าวออกทีวี คนที่มีความสามารถก็ออกไม่ได้ เพราะว่าบุคลิกหน้าตาไม่ดี คนที่บุคลิกหน้าตาดีก็มีสิทธิ์ได้ออก แล้วนี่และทางสายกลางอยู่ตรงไหน ความถูกต้องอยู่ตรงไหน ซึ่งมันเป็นปัญหาเหมือนกับว่าเป็นปัญหาโลกแตก ซึ่งเราทุกคนกำลังประสบกันอย่างยิ่ง แล้วก็มีสิ่งที่ตัดสินไม่ได้ตลอด
จะลองบอกเล่าชีวิตของท่านอาจารย์ให้ฟัง สิ่งที่เราเห็นก็เห็นเพียงแต่ภายนอก จิตใจของท่านเราก็ไม่เห็น สติปัญญาของท่านเราก็ไม่เห็น เห็นแต่ว่าที่ท่านทำออกมาแล้ว แสดงออกมาแล้ว ท่านทำอย่างไร ชีวิตของท่านก่อนที่จะอาพาธในเดือนตุลา ๒๕๓๔ คือก่อนหน้านั้นราว พ.ศ. ๒๕๒๘-๒๕๒๙ ท่านยังแข็งแรง เริ่มตั้งแต่ ๒๕๒๙ ท่านมีอายุ ๘๐ ปีบริบูรณ์ ท่านก็ยังแข็งแรง ยังมีอะไรที่ทำได้เต็มที่อยู่ ท่านอาจารย์ตื่นนอนแต่เช้าทุกวัน ตื่นก่อนระฆังตีสี่อีก ทำอยู่เป็นประจำ บางครั้งก็นอนดึก สี่ทุ่มแล้วที่เขานอนกัน ท่านดับไฟก่อนเดี๋ยวเผลอ ๆ ก็มาเปิดไฟอีกตอนห้าทุ่ม เที่ยงคืนทำงานต่อ แต่ท่านไม่เคยพูดว่าท่านทำงาน ถึงเราจะถามท่านก็บอกเปิดไฟมันอย่างนั้นเอง มาดูอะไรนิดหน่อย ไม่เคยบอก โอย วันนี้ทำงานมากเหลือเกิน กลางวันขอนอนหน่อย ไม่เคยพูด ไม่เคยเอาเป็นข้ออ้าง ท่านทำงานสม่ำเสมอตลอดมา
ตื่
นตีสี่ก็มักจะเห็นท่านนั่งอ่านหนังสือบ้าง พิมพ์อะไรบ้าง ตุ๊ก ๆ ติ๊ก ๆ พิมพ์สองนิ้วสัมผัสระบบจิ้ม แต่ถ้าพิมพ์ภาษาอังกฤษท่านจะใช้สัมผัสแบบ ๑๐ นิ้วได้ แต่ถ้าพิมพ์ภาษาไทยท่านจะใช้ ๒ นิ้วจิ้ม ก็เคยมองเห็นได้จากหน้าต่างที่ท่านไม่ได้ปิด คนละห้อง แต่ก็มองเห็น ท่านก้มหน้าก้มตาจิ้มไปเรื่อย เสียงก็ดังดีเหมือนกัน พอบางครั้งท่านก็พักผ่อน แต่ว่าไม่นอนแล้ว ใช้ขัดสมาธิเท้าคาง คิดว่าท่านทั้งหลายบางคนอาจจะเคยเห็น ท่านลองนั่งขัดสมาธิดูซิ คนไหนที่นั่งขัดสมาธิอยู่แล้วก็นำมือมาวางที่คาง แล้วก็เอาศอกสองข้างมายันอยู่ที่หัวเข่า จะเป็นท่าที่สบายที่สุดสำหรับอิริยาบถที่อยากจะพักผ่อนไม่อยากจะนอน ไม่อยากจะตื่น ท่านก็เคยทำอย่างนี้ให้ผู้ที่ฝึกสมาธิในรุ่นก่อน ๆ ดู แต่ไม่ทราบว่ามีใครได้ถ่ายรูปไว้บ้างหรือเปล่า เป็นรูปที่ท่านแนะนำว่า เมื่อเมื่อยจากการฝึกสมาธิ ก็ใช้วิธีเท้าคางอย่างที่บอกเมื่อตะกี้นี้ เป็นท่าพักที่ดีที่สุด แต่หลายคนก็บอกอีกว่ามั่นแหละ มันปัจจัตตัง คือท่านเท้าพอดี แต่เรามันเท้าไม่ได้ ของเรามันหลังยาวกว่าท่าน บางคนหลังยาว มันงอ บางคนก็เข่ายาวไป อย่างนี้เป็นต้น นั่นแหละทางสายกลาง อย่างนี้ก็เป็นเฉพาะท่านเหมือนกัน ถ้าใครบังเอิญว่าขนาดรูปร่างพอ ๆ กับเจ้าคุณอาจารย์ก็คงจะใช้วิธีนี้สำเร็จประโยชน์
ป
ระมาณตีห้าท่านก็จะออกมาสรงน้ำ เท่าที่อยู่ด้วยกันมา ไม่เคยเห็นท่านสรงน้ำตอนที่พระอาทิตย์ขึ้น สรงน้ำเมื่อตอนที่พระอาทิตย์ตก ตีสี่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นก็สรงน้ำแล้ว กลางคืนหนึ่งทุ่มพระอาทิตย์ตกแล้วก็สรงน้ำ ใช้ความมืดเป็นฝากั้นห้อง ท่านทั้งหลายไม่ทราบก็ไปฝั่งโน้น แล้วก็ไปสังเกตดู จะมีตุ่มอยู่ใบหนึ่ง เมื่อไปที่ท่านพักก็มีต้นกระท้อนต้นใหญ่อยู่ แล้วก็มองเข้าไปก็จะเห็นกุฏิเล็ก ๆ อยู่หลังหนึ่ง แล้วหลังกุฏินั้นก็มีตุ่มน้ำอยู่ตุ่มหนึ่ง กลางคืนท่านก็สรงที่นั่น ใช้ความมืดเป็นม่านกั้นอยู่ ได้ยินแต่เสียงน้ำน้อย ๆ ไม่มีโครมคราม แต่ไม่ได้ถ่ายรูปไว้เพราะว่า มันเป็นภาพที่ไม่เหมาะสม ก็เลยไม่ได้ถ่าย ท่านก็สรงน้ำยืนอยู่ข้างตุ่มน้ำ แล้วก็ใช้ขันทีมีด้ามเป็นกระบวย ตักแล้วก็รดกระบวยนี้ไม่ใช่ทำด้วยกะลา ทำด้วยวัสดุสมัยใหม่ ตักแล้วก็ใช้สบู่ สบู่ท่านก็ใช้ซันไรส์มาตลอด นี่ไม่ได้โฆษณา แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ท่านแนะนำว่า ถ้าเป็นพระควรจะใช้แบบนี้ เพราะว่าฟอกตัวแล้ว ก็ฟอกสบงไปด้วย ซักผ้าอาบไปด้วย นี่อาบน้ำซักผ้าใช้น้ำทีเดียว ไม่ต้องไปแช่แฟ้บไปซักให้เปลืองน้ำ ท่านทำเป็นตัวอย่างตลอด แล้วท่านก็สรงน้ำทุกวัน อย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง
ต่อมาเมื่อท่านป่วยตั้งแต่ ๒๕๓๔ แล้วนั่นแหละตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เคยสรงน้ำอีกเลย ใช้วิธีเช็ดตัวเอา แต่ก่อนถึงปี ๒๕๓๔ ท่านก็เริ่มไม่ค่อยสบาย ตอนเช้าก็ไม่ได้สรงน้ำเหมือนกัน แต่ก็ยังใช้ตอนกลางคืนสรงน้ำอยู่ ท่านไม่ได้ซักจีวร สบง อังสะบ่อยนัก ฉะนั้นคนที่มาบ่อย ๆ จะเคยเห็นอังสะท่านจะเลอะ ๆ อะไรต่าง ๆ หลาย ๆ อย่าง แล้วท่านก็ไม่ค่อยยอมให้ซัก ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด พระที่ทำหน้าที่ซักก็มีท่านสิงห์ทอง ทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ แต่ว่าท่านไม่ค่อยให้ซัก ต้องไปแอบซักตอนท่านสรงน้ำ แล้วก็แอบไปดึงมา แล้วก็เอาผ้าใหม่ไปเปลี่ยน แล้วท่านก็จะถามว่าอันเก่าของเราไปไหน บอกเอาไปแช่น้ำแล้วครับ ท่านก็อ้าวอันใหม่ก็ได้ คือท่านพยายามจะไม่เบียดเบียนผู้ใด เมื่อท่านทำไม่ได้ท่านก็ไม่อยากจะใช้คนอื่นทำ นอกจากคนนั้นแสดงท่าทีด้วยความเคารพ ด้วยความที่อยากจะทำให้
ท่านทั้งหลายคอยระวังเรื่องนี้ให้ดี เราเป็นผู้ใหญ่ก็จริง แต่ว่าเด็กมันไม่เคารพ เราไปใช้มาก ๆ ระวังอย่างที่ลงข่าวหนังสือพิมพ์ เป็นคุณนายถือว่าเป็นนายจ้าง ไปด่าลูกจ้างบ่อย ๆ มันก็ได้เอาสากตีหัวเข้า อย่าใช้อำนาจ เพราะว่ากิเลสนี่มันเล่นกันลำบาก ท่านอาจารย์ท่านไม่ใช้ใคร เว้นแต่คนนั้นแสดงกิริยาอาการที่ต้องการจะทำจริง ๆ ท่านก็จะให้ทำ แต่ว่าก็ไม่ถึงกับจะให้คนนั้นลำบากด้วย แม้แต่จะไปซักผ้าให้ท่าน ก็ยังต้องไปขอท่าน ไม่ใช่ว่าท่านจะมาใช้
เ
มื่อสรงน้ำเสร็จ ต่อมาท่านก็มานอนพักอยู่หน้าห้อง พอให้มีแสงอรุณขึ้น ประมาณ ๖ โมงเช้าก็ออกเดิน แต่ต้องวัดความดันก่อน ตามที่หมอแนะนำไว้ จดเป็นสถิติไว้ แล้วก็ออกไปเดิน แต่เชื่อไหมว่า ตอนเช้าปกติท่านไม่เดิน แต่ก่อนโน้นนานมาแล้ว ประมาณ ๒๕๑๔ เคยเจอท่าน แต่ว่าท่านก็เดินเล่น ๆ ตอนตีห้า เดินมืด ๆ ไปอย่างนั้นแหละ ใครไปเจอเข้าก็ไม่รู้ว่าพระหลวงตาที่ไหน แต่ท่านมาเดินจริงจังเอาเมื่อประมาณอายุ ๘๐ แล้ว คือช่วงนั้นท่านมีอาการตึงขาตึงสะโพก แล้วหมอก็แนะนำว่าวิธีจะแก้สิ่งเหล่านี้ ก็โดยวิธีบริหารหรือการเดิน เพราะท่านอาจารย์ท่านจะนั่งขัดสมาธิทั้งวัน คนที่จำได้จะนึกออก ที่นั่งอยู่ม้าหิน ไม่ได้นั่งห้อยเท้า ขัดสมาธิอยู่อย่างนั้น เช้าจนถึงเย็น วันหนึ่งนั่งอย่างน้อยประมาณ ๑๒ ชั่วโมง ทำให้เส้นมันตึงหมด ตกลงหมอก็ช่วยกันขอร้อง คุณหมอเสริมทรัพย์นี่ก็เป็นกำลังสำคัญคนหนึ่ง รวมทั้งอาจารย์รัญจวน รวมทั้งใคร ๆ เยอะแยะไปหมด หมอหลายคนก็ขอท่าน ท่านก็บอกว่าจะเดิน แต่แล้วท่านก็ไม่เดิน ก็เลยทุกเช้าก่อน ๖ โมงฝ่ายอุบาสิกาจะมานั่งคอยที่ม้าหิน ประมาณ ๕-๖ คนมาคอยนั่งคอยทุกวัน พออาจารย์ออกมาเจอเข้า ท่านบอกอ้าวเดี๋ยวขอนั่งก่อน เดี๋ยวค่อยเดิน ก็นั่งสนทนาธรรมะกันไป ไม่ได้เดินอีก ตกลงวันรุ่งขึ้นมาอีก ก่อน ๖ โมงเข้ามาอีกมานั่งคอยอีก ท่านก็ไม่เดิน ท่านก็ชวนคุยธรรมะไปหลายวัน ๆ เข้า ผลสุดท้ายก็ยอมแพ้ความตั้งใจจริงของคณะอุบาสิกาผู้ปฏิบัติธรรม เท่าที่สังเกตดูท่านอาจารย์จะยอมทำอะไรทั้งที่ทำก็เพื่อตัวท่านอาจารย์เองแหละ เพราะถ้าท่านไม่เดินท่านก็จะแย่ แต่ท่านก็จะทำตามคำขอร้องนั้น แต่ต้องเป็นคำขอร้องของผู้ปฏิบัติ ของผู้ที่ท่านมองเห็นแล้วว่า คนเหล่านี้ไม่ได้ขอร้องในลักษณะที่เป็นคำสั่งอยู่ข้างใน
ท่านเคยสังเกตไหมว่า ขอร้องใครแต่มันเป็นคำสั่งอยู่ข้างใน เช่นว่าขอร้องนะออกไปหน่อย นั่นคือคำสั่งถ้าคุณไม่ออกไปผมก็จะใช้ความรุนแรง หลายอย่างเหมือนกับหลาย ๆ คนไปป้อนข้าวพ่อแม่ พ่อแม่แก่แล้ว หรือไม่สบาย อ้าวแม่กินหน่อย พ่อกินหน่อย แต่ในใจก็นึกว่าไม่กินก็ดีเหมือนกัน ไม่อยากให้ คือในส่วนลึกจริงมันมิได้ต้องการปรนนิบัติหรือว่าจะรับใช้ มันมีอะไรเป็นตัวตนอยู่มาก
ฉะนั้นกว่าท่านจะเดินได้ก็หลายวันทีเดียว ผลสุดท้ายท่านก็ยอมเดิน รับปากว่า เอาล่ะ แต่นี้ไปเราจะเดิน แต่คณะอุบาสิกาก็ไม่ท้อถอย มาเดินอยู่กับท่านนานหลายวัน เดินอยู่จนกระทั่งแน่ใจว่า ท่านอาจารย์ท่านรับปากคำไหนต้องคำนั้น ท่านก็เดินมาตลอด อาตมาก็พลอยได้เดินกับท่านไปด้วย เช้า ๆ ก็เดินไปทุกวัน ๆ เส้นทางที่ท่านเดินเป็นเวลาหลายปีก็เดินออกจากม้าหิน ออกไปแล้วก็เลี้ยวซ้าย อ้อมศาลาธรรมโฆษณ์แล้วก็ผ่านไปที่สนาม ข้างหลังอวโลกิเตศวรจะมีถนนเล็ก ๆ อยู่ แล้วก็ไปเลี้ยวก่อนที่จะถึงโรงธรรม เลี้ยวซ้ายไปที่โรงฉัน แล้วก็เดินผ่านถนนหน้าสนามอวโลกิเตศวรไปจนถึงถนนที่จะขึ้น เลี้ยวซ้ายก็ขึ้นผ่านซุ้มสายหยุด เดินขึ้นไปข้างบนไปถึงที่ม้าหิน แล้วก็ไปนั่ง เดินประจำทุกวัน บางวันออกเดินก็เลี้ยวซ้าย บางวันก็ชวนท่านอาจารย์ครับวันนี้เลี้ยวขวาบ้าง อ้าว ๆ เลี้ยวขวาบ้าง คือเดี๋ยววันนี้ก็เลี้ยวซ้าย วันนี้ก็เลี้ยวขวาแต่ก็รอบเดิมนั่นแหละ แต่ว่าเดินกลับไปกลับมาอย่างนั้นแหละ ถนนที่เดินก็ไม่ค่อยเรียบร้อยเท่าไร ก็มีหินมีอะไร ท่านก็ไม่เคยบ่นเคยว่าให้คนอื่นที่ต้องทำถนนให้ท่าน ท่านบอกดีอย่างนี้ดี ท่านทั้งหลายเคยเดินถนนจากโรงฉันขึ้นไปโรงธรรม จะเห็นมีก้อนหินมากตลอดทาง เราอายุน้อยอยู่ เราไม่รู้หรอกว่าก้อนหินนั้นมันทรมานสังขาร ถามท่านผู้มีอายุลองเดินดูก็จะรู้ว่า มันมีความลำบาก ท่านก็บอกว่าดี อย่างนี้เราได้ออกกำลัง เดินให้ก้อนหินมันกลิ้งไปกลิ้งมา ท่านพยายามทดสอบกำลังตัวเองตลอด แม้แต่การเปิดกระป๋อง เราจะเปิดให้ท่านบอกไม่ต้อง เปิดเอง จะได้รู้ว่ากำลังยังมีไหมอยู่ไหม กระป๋องที่เขาใส่ขนมปังที่ต้องใช้ออกแรงพอสมควร ท่านก็เปิดเอง แล้วกุญแจห้อง ซึ่งเขาแนะนำว่าผู้สูงอายุควรจะใช้กุญแจห้องซึ่งมีด้ามกุญแจใหญ่เพื่อจะได้จับเต็มมือแล้วก็บิด ท่านไม่เอา ท่านก็ยังใช้สองนิ้วเหมือนเดิม เพื่อทดสอบกำลัง ท่านอาจารย์ท่านจะใช้ทุกส่วนของร่างกายด้วยสติสัมปชัญญะ เพื่อที่จะรู้ว่า ขณะใดร่างกายมันถอยไปเท่าไรแล้ว แล้วท่านก็รู้ประมาณตัวของท่านเองตลอด ท่านถึงบอกว่าท่านไม่ค่อยสบาย ก็เพราะว่าท่านสังเกตอย่างนี้ตลอดเวลา
ขณะที่ท่านเดินนั่นแหละ ก็เป็นโอกาสดีสำหรับมือกล้องทั้งหลาย ก็คอยดักหน้าดักหลังถ่ายไปตลอด แต่ก็ถ่ายไปอย่างไรท่านก็ไม่ว่า ขอให้อย่าไปขวางการเดินของท่านก็แล้วกัน ตากล้องบางคนก็ไม่ได้เรื่อง ไปยืนอยู่ตรงหน้าจนท่านเดินไปถึงก็ยังหาโฟกัสไม่เจออยู่อีกนี่ก็ลำบาก ก็ไปดักถ่ายกันตลอด ขนาดมือกล้องอาชีพยังสยบต่อการมองมุมถ่ายของท่าน เพราะท่านเดินทุกวัน ท่านไม่ได้เดินแบบเรื่อยเปื่อย ท่านสังเกตไปเรื่อยว่าตรงไหน มุมไหนดี ท่านจะคอยสังเกต ถ้ามีกล้องและท่านพอจะรู้จัก ท่านก็จะแนะว่าถ่ายตรงนี้ต้องยืนตรงนี้ ถ่ายมาแล้วก็จะสวย มุมกล้องที่ท่านได้แนะช่างภาพถ่ายไปก็คือ ให้ถ่ายผ่านง่ามต้นมะม่วงที่อยู่ที่สนามอวโลกิเตศวร แล้วท่านก็จะไปยืนอยู่ตรงขอบบ่ออวโลกิเตศวร แล้วช่างกล้องจะถ่ายผ่านง่ามต้นมะม่วงไป แล้วก็จะมีท่านอยู่ตรงระหว่างง่ามพอดี แล้วก็เหนือศีรษะขึ้นไปก็จะมีรูปอวโลกิเตศวร รูปนี้ก็ยังมีแพร่หลายอยู่ ช่างกล้องมืออาชีพเองก็ยังยอมรับว่ามุมนี้ผมมองไม่ออกครับ ท่านบอกคุณไปถ่ายเถอะแล้วมันจะออกมาสวยมาก ถ่ายออกมาแล้วเหมือนกับอยู่ในหุบผาอะไรอย่างนี้สวยมาก แล้วท่านก็มีฝีมือมาก
ใ
นอาคารนี้มีรูปที่ท่านนั่งอยู่ที่บ่อบัว ตอนนี้บ่อบัวนี้เป็นบ่อแช่ปูนไปแล้ว ก็เลยไม่ได้ดู แต่ก่อนนี้ยังเป็นบ่อบัวอยู่ แล้วบ่อบัวก็เป็นศิลปะของท่านเอง ไม่ค่อยเหมือนคนอื่น ท่านบอกว่าบัวมันต้องอยู่เสมอกับพื้นดินไม่ใช่ยกขึ้นมาสูง ๆ ท่านจะฝังบ่อซีเมนต์อยู่กับดิน แล้วขอบบ่อซีเมนต์อยู่เสมอระดับดินพอดี แล้วก็ปลูกบัว เวลาบัวงาม ๆ ขึ้นมาก็ไปนั่งพิจารณาบัว เหมือนกับว่าบัวบานออกมา ก็เหมือนกับการตรัสรู้ เป็นการรู้ธรรม แล้วท่านก็ไปนั่งดูบัว หลายคนคงจะชอบดอกบัวแต่ไม่มีใครได้ยินดอกบัวพูด ท่านอาจารย์ท่านไปนั่งดูดอกบัวแล้วท่านได้ยินดอกบัวพูด ท่านเขียนไว้ในรูปนั้น เดี๋ยวท่านไปอ่านดู ท่านเขียนไว้ว่า
ทำกับฉัน เหมือนกับฉัน นั้นยังอยู่
อยู่เป็นคู่ กันชั่วฟ้า ดินสลาย
ทำกับฉัน อย่างกับฉัน นั้นไม่ตาย
ท่านทั้งหลาย ก็อยู่กัน นิรันดร
แล้วก็เซ็นชื่อพุทธทาสไว้ นั่นดูซิพื้นที่สวนโมกข์ทุกตารางนิ้ว ไปนั่งตรงไหนมันได้ยินธรรมะไปหมด นี่แหละท่านถึงพยายามจัดสถานที่ต่าง ๆ ไว้ ถ้าใครไม่ไปลบของท่านเสีย ก็จะได้ประโยชน์ตามที่ท่านได้ประโยชน์มาแล้ว มีดอกบ้างอะไรบ้าง ท่านใช้เป็นการศึกษาปฏิบัติธรรมตลอด
ชีวิตท่านก็อยู่อย่างนี้ เรียบ ๆ ง่าย ๆ แต่ว่ามีอะไรออกมาลึกมาก ตรงนั้นก็มีต้นมะขามอยู่ต้นหนึ่ง ตอนนี้ก็งามขึ้นมาแล้ว ท่านบอกว่าต้นนี้อย่าให้มันสูงเดี๋ยวมันจะบังอวโลกิเตศวร ตอนนี้มันเริ่มสูงแล้ว เดี๋ยวจะต้องไปทำให้มันเตี้ยลงหน่อย เขาจะทำให้มันเตี้ยลงมา ถ้ามันออกฝักออกอะไรก็ไม่ต้องลำบากเก็บ แต่ให้มันเตี้ยไว้ ให้มันเป็นลักษณะไม้พุ่ม แล้วก็ต้นพิกุลท่านเคยสังเกตไหม ต้นพิกุลที่อยู่หน้าศาลาธรรมโฆษณ์ซ้ายมือ เดี๋ยวนี้ใหญ่โตแล้ว พอดีท่านเจ้าคุณอาจารย์ไม่ได้ไปดูเลยต้นโตใหญ่ แต่ก่อนนั้นเดินผ่านทุกวันไม่ได้โตหรอก ผ่านมา อ้าวนี่ เดี๋ยวไปทำให้มันเตี้ย ๆ หน่อย เพราะว่าถ้ามันใหญ่โตมันอาจจะล้มลงมาฟาดกุฏิก็ได้ ทำให้เป็นไม้พุ่ม ท่านมีความละเอียดอ่อน ท่านมีความสังเกตอะไรอยู่ตลอดเวลา ที่เดินไปเรื่อย ๆ
ใ
ดินไปเรื่อย ๆ แล้วก็กลับมานั่งที่มาหิน ช่วงนั้นเป็นเวลารับแขก ท่านมีแขกประจำมาทุกวัน พาครอบครัวมา แม่ไก่มาแล้ว พอท่านมานั่งปุ๊บก็มาแล้ว ครอบครัวไก่ กุ๊ก ๆ มา ลูกไก่ ๕-๖ ตัว มาประจำ เป็นขาประจำ ท่านก็เลี้ยง ๆ ๆ ตรงนี้แหละที่เราจะได้เห็นการปฏิบัติของท่าน ท่านไม่ใช่เป็นคนที่ปล่อยให้มันเป็นไปตามบุญตามกรรม สิ่งใดที่เข้าไปจัดได้ก็เข้าไปจัด ขณะที่เลี้ยงลูกไก่อยู่ มันมีไก่บางตัวที่เข้ามากินด้วย ท่านก็มีไม้เท้าที่คอยจะกันมัน อย่างไก่บางตัวมันเกเร มันจิกลูกเจี๊ยบบ้าง จิกอะไรบ้าง ท่านก็จะเอาไม้เท้านั้นเป็นไม้อาญาสิทธิ์ไล่มันไป บางครั้งไก่มันก็ดื้อเหลือเกิน ท่านก็ต้องใช้อย่างสมัยใหม่เรียกเพลงไม้เท้าบิน สำหรับไก่บางตัวที่ดื้อ ๆ มันจะกุ๊ก ๆ ไปไล่อยู่เรื่อย อาตมาเคยสงสัย เอ๊ะไม้เท้าท่านอาจารย์ทำไมมันชอบไปอยู่ ไกล ๆ อยู่ไกลออกไปเลย ห่างออกจากตัวท่านไป ๓-๔ วา วันหลังก็เลยมานั่งดูข้างหลัง อ้อ ! คือท่านช่วยลูกไก่ ไก่บางตัวมันดื้อ ไล่แล้วมันไปยังหันมามองหน้าอีก ก็เลยปล่อยไม้เท้าบิน ก็ไม่มีอะไร เพียงแต่ทำให้มันกลัว ต้องจัดการกับมันในสิ่งที่เราทำได้
ตรงต้นกระท้อนนั้นจะมีไก่มานอนมาก แต่ก่อนยังไม่ได้ทำที่สำหรับวางม้าหิน ต่อมาจึงมีม้าหิน ถ้าไก่มานอนก็จะขี้ลงมาทุกวัน ตอนเช้าก็เต็มไปหมด คนมาหาอาจารย์ก็ไม่ทันได้ดูหรอก อารามดีใจที่เห็นท่านอาจารย์ นั่งลงไปก็ไม่รู้จะพูดว่าอย่างไร นั่งลงไปแล้วก็ตามเลยไปเช็ดเอาทีหลัง ท่านอาจารย์ก็เลยต้องจัดการไก่ทั้งฝูงที่พักอยู่บนต้นกระท้อน เพื่อไม่ให้คนที่มาได้รับความลำบาก ก็ไล่มันไป ไล่กันอยู่นานเป็นอาทิตย์ พอตกเย็นปุ๊บมันก็จะขึ้นต้นกระท้อน ก็ต้องมาช่วยกัน พระหลาย ๆ องค์เอาไม้เอาอะไรบ้าง ช่วยกันตีไล่ให้ไปนอนข้างหลัง ไปนอนต้นจำปาอะไรนั่น ไล่กันทุกวันผลสุดท้ายก็สำเร็จ แต่เดี๋ยวนี้ก็ยังมี หลังสุดก่อนท่านอาพาธก็ยังมีไก่บางตัวรอดมาอีก อ้าวมาไล่มันไปที ใช้อะไรต่าง ๆ พอจะไล่มันได้
สุนัขทุกตัวที่อยู่ในบริเวณนั้น ท่านจะรู้ว่าตัวไหนมันเป็นตัวเก่า ตัวไหนมาใหม่ ตัวมาใหม่จะมากัดตัวเก่าไม่ได้ เพราะตัวเก่าหลายปีเข้ามันแก่ ตัวใหม่หลายปีเข้ามันหนุ่ม กำลังมันดี เขี้ยวมันคม มันจะมาขย้ำคอไอ้ตัวเก่า ท่านจะไม่ยอม ท่านถือว่ารังแกคนแก่ หรือทำนองว่า หนุ่มใหม่มาไล่คนเก่าไม่ได้ ท่านจะเข้าไปจัดการด้วยตัวเอง ซึ่งเราเป็นห่วงมากตอนนั้น เช้าวันหนึ่งบันทึกไว้วันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นเช้าเผด็จศึก เจ้าสุนัขตัวหนึ่งซึ่งมันเป็นลูกสุนัข แล้วมันโตขึ้นมาแล้ว แล้วมันก็ไปกัดไอ้ตัวที่เคยอยู่ก่อนต่อหน้าท่าน ท่านก็จัดการด้วยไม้เท้าเก่าแก่มาก ไม้เท้านั้นท่านใช้มาเป็น ๒๐ ปีแล้วมั๊ง ก็สลัดตีไม้เท้าลงไปหัก ๓ ท่อนเลย เรานี้ใจวูบคิดว่าท่านอาจารย์ล้มลงไปแล้ว คิดว่าท่านล้มลงไป นี่เพราะว่าเราไม่ไล่ ก็เลยทำให้ท่านต้องลงไม้ลงมือ มันก็นับว่าเป็นบาปเหมือนกันที่เราไม่ได้ช่วยท่าน ท่านทำเอง ท่านไม่ง้อหรอก ถ้าท่านทำได้ คนเห็นอาจจะตกใจ ทำไมทำอย่างนี้หลวงพ่อ ดีแล้วหลวงพ่อไม่ได้เอาไม้เท้าตีหัวเราเข้า บอกแล้วว่าการปฏิบัติทางสายกลาง บางครั้งเราเห็นแล้วเราไม่เข้าใจ ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเราเชื่อว่าท่านเป็นผู้ปฏิบัติธรรม สิ่งที่ท่านทำนั้นทำด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นความถูกต้องก็ยอมรับได้ แล้วไม้เท้านั้นก็ยังเก็บอยู่เป็นที่ระลึก
ท่
านนั่งรับแขกอยู่ตรงนั้นมันดี เพราะว่าแขกจะนั่งไม่นาน พอมีฝนตกมาก็เลิกกัน ไม่ต้องไล่แขก แล้วบางทีท่านก็ไม่ลุกนะ บางทีท่านพูดไปเฉย ๆ แขกไม่ลุกก็ช่างเพราะท่านมีร่ม ก็คุยไปเรื่อยทำไม่รู้เรื่อง ก็มีคนทนเหมือนกันแหละ ทนจนไม่ไหว บอกไม่ไหวแล้วหลวงพ่อ เพราะว่าฝนตก ทำแบบนั้น ท่านเอื้อเฟื้อในระดับที่เกิดความสมดุล
ถ้าสมมุติว่าสร้างเป็นหลังใหญ่แบบนี้ โอ ท่านแย่ ฝนตกมันก็ไม่ไปใช่ไหม ตกลงไม่รู้จะทำอย่างไรถึงจะให้แขกไปได้ แต่ว่ารับแขกกลางแจ้ง ฝนตกก็เลิกกัน เหมือนบรรยายวันเสาร์ ฝนตกก็เลิก อย่างที่เห็นอยู่แล้วว่าฝนจะตก แต่ว่าบรรยายก่อน พอตกก็เลิก แต่พอไปตั้งไว้ที่เรือแล้ว ฝนตกก็ต้องบรรยายจนเลิก จนกว่าจะจบข้อความ จะเห็นว่าชีวิตของท่านใกล้ชิดธรรมชาติแล้วก็มีอะไร ๆ ที่มันเป็นไปโดยลำดับ ไม่ต้องทำความยุ่งยากลำบากต่อใคร ท่านอาจารย์ท่านอยู่ตรงนั้น
บางคนตอนเช้าท่านเดินอยู่ ก็มาหาท่าน แล้วก็มันจะถูกท่านไล่ ท่านเคยบอกไว้บอกว่า คนถ้ามันไม่รู้กาลเทศะ ปฏิบัติธรรมะไม่ได้หรอก เวลานี้เราเดินอยู่มันยังมากราบขวางหน้าเรา แล้วแถมยังมาบอกหลวงพ่อขอถามปัญหาหน่อย มันไม่รู้ว่าเวลานี้เขาจะทำอะไร แสดงคนเหล่านี้ไม่มีทางที่จะรู้ธรรมะได้ เพราะว่าไม่รู้มารยาทพื้นฐาน แล้วก็ถูกไล่ไป ถ้าดีหน่อยก็บอกไปนั่งคอยที่นั่น
เวลาแขกเข้ามา แม้กระทั่งพระภิกษุสามเณรก็เหมือนกัน ไม่ถอดรองเท้าในที่ไกล มาถอดรองเท้าข้างหน้า แล้วก็เอารองเท้ารองหัวเข่าแล้วก็กราบ พวกนี้ก็ยังไม่ไหวแล้ว เขาเรียกว่า สำอางกินไป หรือมักง่ายเกินไป ซึ่งเราทำกันประจำ บางคนกลัวเปื้อน เปื้อนกายนี้กลัวนัก แต่เปื้อนใจไม่ทันดู ท่านสังเกตคนเหล่านี้อยู่ คนที่มีท่าทางที่ไม่ค่อยจะถูกต้อง ท่านก็ไม่อยากจะคุยด้วย เพราะมันบ่งลักษณะบ้า ๆ อยู่เหมือนกัน มาถึงก็นั่งดูท่านอาจารย์ทั้งวัน นั่งดูอย่างนี้ บางทีท่านก็บอกว่าไปถามดูซิ เขามีธุระอะไร ไปถามว่าโยมมีธุระอะไร คนนั้นก็ไม่ทราบว่าอารมณ์ค้างหรืออารมณ์เสียอยู่ ถามว่า "ทำไมนั่งไม่ได้หรือไง" ความจริงก็เป็นห่วงคนไปนั่ง ตอนหลังก็เลยปล่อยเลย คนมาหลังก็เลยลำบากอีก โอ๊ยดิฉันมานั่งตั้งแต่เช้าแล้วน่ะค่ะ ยังไม่ได้ที่พักเลย อ้าว ! ใครจะรู้ล่ะ โยมมานั่งมีธุระอะไรหรือเปล่า เพราะว่าเราเคยไปถามก็โดนโยมดุเอาเสียอีก หาว่าไปรบกวนเขา เขาอยากจะนั่งชมท่านอาจารย์ บางคนมาแล้วอย่าไปนั่งเฉย ๆ ไปที่เคาน์เตอร์ที่มีพระเจ้าหน้าที่อยู่ ก็ไปถาม ถ้านั่งเฉย ๆ พระก็ปล่อยตามเรื่อง ไม่อยากไปรบกวนโยมที่นั่งอยู่หรอก เพราะว่าบางคนเขาก็นั่งอยู่โดยมีวัตถุประสงค์ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่านั่งโดยมีวัตถุประสงค์หรือเปล่า หรือว่านั่งคอยใคร
ท่
านอาจารย์นั่งรับแขกอยู่ตรงนั้น สังเกตแขกที่มา ได้เวลา ๘ โมงท่านก็ฉัน ความจริงท่านจะฉันเมื่อไรก็ได้ เดินหกโมงเช้าแล้วมานั่งตั้งชั่วโมง คอยแขก ไม่เห็นมีใครมาเลย คุณคิดดูนั่งมาตั้งกี่ปีแล้ว คอยแขกมาตลอดเลย ท่านทั้งหลาย ท่านเจ้าคุณอาจารย์นั่งคอยท่านทั้งหลายมากี่ปีแล้ว ท่านไม่มา ตอนนี้ท่านไม่นั่งคอยแล้ว ท่านไปนอนคอยแล้ว ไม่ไปนั่งคอย เวลาแขกมาตอนท่านฉัน เวลาอาหาร ๘ โมงเช้า เขาจะมีสัญญาณตีกลอง ท่านจะได้ยินด้วย กลองที่เขาตีเป็นสัญญาณพระก็จะไปตักอาหารที่โรงฉัน ถ้าได้ยินเสียงกลองท่านก็จะลุกขึ้นมาฉัน แต่บางครั้งก็มีแขกติดพัน แขกก็คุยไม่รู้เวล่ำเวลาเลย เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน บางครั้งเราไปบอก ท่านอาจารย์ครับ ๘ โมงแล้วครับ แต่เราไม่บอกว่าฉันนะ ไม่ได้บอกว่า อาจารย์ครับนิมนต์ฉันเช้า บอกอย่างนั้นไม่ได้ ต้องบอกอาจารย์ครับ ๘ โมงแล้ว ๘ โมงแล้วหรือ เดี๋ยวไป ถ้าแขกคุ้น ๆ กันหน่อยแต่ว่าคุยเพลิน แขกคุ้น ๆ นะคุยเพลินเลย ๘ โมงแล้วไม่รู้เรื่อง เราก็ไปบอกแขก "เดี๋ยวค่อยคุยกัน นี่ ๘ โมงแล้ว ให้ท่านอาจารย์ฉันอาหารก่อน" เขาก็จะลุกไป แต่บางครั้งก็เป็นแขกที่มีเกียรติก็ลำบากเหมือนกัน คุยเพลินไม่ยอมเลิก คุยเพลินจน ๘ โมงครึ่ง อาจารย์ท่านก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่มีปัญหาตรงคนที่อยู่ข้างหลังท่านอาจารย์ พวกเราพลอยหิ้วท้องไปด้วย แทนที่จะได้ฉันก็ไม่ได้ฉัน บางทีก็ยาวไปเลยก็แล้วแต่ ฉะนั้นขณะกำลังฉันอยู่ ๘ โมงนี่ ถ้ามีแขกที่ไม่รู้เรื่องเข้าไปนั่งคุย ท่านอาจจะบอกกับแขกตรง ๆ ว่า เวลาฉันห้ามคุย ผิดวินัย บางคนก็ไม่ได้ยิน ทำเป็นไม่ได้ยิน นั่งเฝ้า ถามท่านทั้งหลายว่า กำลังนั่งทานอาหารกัน ต่อหน้าคนที่ไม่รู้จัก ท่านรับประทานฝืดคอไหม? ถึงแม้เราเชิญแขกมาที่บ้าน แขกที่มาคุ้น ๆ ก็ฉันไม่อิ่มเหมือนกัน รับประทานอาหารไม่อิ่ม แต่ท่านอาจารย์คงไม่มีปัญหาเรื่องนั้น แต่ถ้าเป็นแขกที่คุ้นเคยท่านก็คุยด้วย ท่านก็ไม่ได้บอกว่าผิดวินัยหรอก คุยไปด้วย เราต้องไปบอกแขกว่า ท่านอาจารย์เคยพูดว่ามันผิดวินัย เขาก็ไม่สนใจ ชวนคุย ทำให้ท่านอาจารย์ลำบากเหมือนกัน ฉันไปต้องคุยไป
แล้วที่คิดว่าไม่เหมือนผู้ใด ขณะที่ท่านอาจารย์ฉัน จะมีทั้งสุนัข แมวและไก่มาร่วมวงด้วยอยู่เป็นประจำ เรานี่ก็เหลือจะทนแล้ว เพราะว่าแมวก็มานั่งคอยเลยคอยใกล้ ๆ สำรับอาหาร สุนัขก็มานั่ง ไก่ก็มา แล้วท่านจะไม่ฉันอาหารก่อน ท่านจะต้องให้ไก่ โปรยข้าวให้มัน พอไก่มันได้เศษข้าวมันก็แย่งกันกิน มันก็ไม่กินเปล่า ตีกันบาง โอ้โฮ นั่นมันพื้นดิน มีฝุ่นนี้ขึ้นมาเต็มเลย ฟุ้งขึ้นมาลงไปที่ไหนบ้างไม่รู้ แล้วท่านก็อยู่อย่างนั้น ฉันไปอย่างนั้น ฉันแบบนั้นแหละ ฉันคลุกฝุ่นเป็นประจำ
แล้วท่านก็ใช้ส้อมจิ้มอาหารให้สุนัขกิน สุนัขก็กินไปจากส้อมของท่าน เราก็วิตกกังวลว่า ถ้าสุนัขมันเป็นโรค ยุ่งเหมือนกันนา ก็ไม่ทราบว่าจะติดมาถึงท่านหรือเปล่า ฉะนั้นก็ต้องเดือดร้อนหมอ คุณหมอประยูรหรือว่าคุณหมออื่นที่มีความรู้ในเรื่องการฉีดยากันพิษสุนัขบ้าก็ต้องฉีดกันเป็นประจำ ถ้าไม่ฉีดก็ไม่รู้ เดี๋ยวเกิดเรื่องแน่ เพราะท่านอาจารย์ท่านทำแบบนั้นได้อย่างไรก็ไม่ทราบ ท่านทั้งหลายจะทำได้ไหม?
ช้อนส้อมอะไรท่านก็ไม่เคยล้าง นี่แหละทางสายกลางของท่าน ไม่เคยล้าง บางคนล้างเสียจนกระทั่งล้างแล้วล้างอีก แต่ท่านไม่ล้าง คอยสังเกตดูพระฉันอาหารส้อมเขาไม่ล้าง แต่เช็ดเฉย ๆ ก็พอแล้ว ก็เอาไว้ตรงนั้นแล้วมดก็มากินต่อ แสดงว่าปลอดภัย มดยังกินได้แสดงว่าปลอดภัย ก็ทำอย่างนั้นตลอดเวลาตามแบบของท่าน
แมว ท่านก็ให้อาหารแมว แมวกินแล้วก็ลากไปโน่นลากไปนี่ โอ้ย ! เต็มไปหมด มดเต็มไปหมด ท่านใช้ชีวิตแบบนี้ ไม่รู้สึกว่ามากวนเรา บางคนกำลังกินอาหารอยู่พอแมวร้องเหมียว ก็รู้สึกรำคาญเหลือเกินทนไม่ไหว แต่ตลอดเวลาท่านอยู่กับธรรมชาติ ทั้งไก่ก็กวน หมาก็กวน แมวก็กวน ท่านก็อยู่เฉย ๆ เป็นการฝึกความอดทนมาตลอดเวลา ไม่มีปัญหากับสิ่งเหล่านี้ ชีวิตของท่านที่เรามองเห็น
พอฉันเสร็จท่านก็ออกไปนั่งรับแขกอีก ไม่ต้องทำอะไร แล้วความคิดก็จะไหลออกมาจากการมอง เคยถามท่านว่า "ความคิดต่าง ๆ ที่เอามาเทศน์ เอามาจากไหน คิดหรือเปล่า" "ไม่ต้องคิดหรอก ไปนั่งเฉย ๆ เดี๋ยวมันไหลออกมา นั่งเฉย ๆ มันก็ค่อย ๆ ไหล พอมันไหลออกมาก็จด ๆ ๆ แล้วได้เวลาก็เอาไปเทศน์"
ค
นมักจะมาถ่ายรูปกับท่าน ท่านก็มักจะไม่ปฏิเสธอะไร แต่ว่าขอเพียงว่า ถ้าเป็นสตรีขอให้มากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป คนบอกว่าไม่เป็นไรหรอก ตอนนี้อยู่ตั้งหลายคน ท่านบอกว่าไม่ได้ เวลาถ่ายแล้วในรูปจะมีแค่สอง ตอนกำลังถ่ายคนมันเยอะ แต่ตอนถ่ายแล้วมีสองคนในรูป มันเป็นอาบัติในรูป เพราะว่าภิกษุห้ามอยู่กับสตรีสองต่อสอง ในรูปมันมีแค่ ๒ คน ไม่ได้ ท่านไม่ยอม ถ้าจะถ่ายรูปก็ต้องมีคนอื่นเพิ่มเข้าไปด้วย แล้วก็ให้นั่งไกล ๆ นั่งพ้นรัศมีมือ แล้วก็พ้นรัศมีไม้เท้าท่านด้วย ท่านก็แกว่งไปแกว่งมา บอกว่าอยู่ไกล ๆ หน่อยสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย แต่ว่าคนที่คุ้นเคยอาจจะเข้ามาใกล้อีกนิดหนึ่ง แต่ว่าพ้นระดับมือ ประมาณห่าง ๑ เมตรขึ้นไป ท่านเตือนทุก ๆ คน เสมอ ๆ ในเรื่องนี้แล้วก็แนะนำ กระทั่งถ่ายรูปก็แนะนำ แล้วท่านก็บอกเสมอว่า ผู้ใดถ่ายรูปกับเรา ผู้นั้นคือผู้ที่ทำสัญญากับเราแล้วว่า จะปฏิบัติตามที่เราสอน ใครที่มีรูปกับท่านเอาไปเทียบไว้ได้ ข้าพเจ้าขอสัญญาว่า จะปฏิบัติตามที่ท่านสอนไว้ ไม่ทำตามที่สอน อย่ามาอ้อนเรียกอาจารย์ แต่ใครถ่ายรูปกับท่านก็ได้
ยั
งมีสิ่งที่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจท่าน อาตมาก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน คือท่านไม่ให้คนยืมของ เคยมีครั้งหนึ่ง พระที่เขามาทำหนังสือเรื่อง "เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา" เป็นประวัติชีวิตของท่านแล้วก็มาสัมภาษณ์ แต่แล้วเมื่อทำเสร็จแล้วเขาก็อยากจะพิมพ์ดีด เขาก็มาขออาตมา พระประชาก็มาขออาตมา อาตมาก็บอกฮึ ! ไม่รู้ได้หรือเปล่า ต้องไปถามท่านอาจารย์ก่อน อาจารย์บอก "ไม่ได้ห้ามยืม" คิดดูว่าขนาดจะมาทำงานให้ท่าน ก่อนที่จะมาขอสัมภาษณ์
หนังสือเล่มนี้ทำยากที่สุดเลย แล้วหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีประโยชน์มาก "เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา" เป็นการสัมภาษณ์สด ๆ จากท่าน จะมาขอสัมภาษณ์ ท่านไม่ยอม ใคร ๆ มาขอก็ไม่ได้ แต่ว่าคนนี้ขอได้ พระประชาเขาเคยแสดงฝีมืออะไรไว้ให้ท่านเห็นว่าเป็นคนจริง แล้วก็มีวิธีพูดจนท่านยอม บอกว่าการสัมภาษณ์นี้มิใช่เป็นการเปิดเผยตัวเอง ว่าตัวเองเก่งอย่างไร แต่ต้องการดูวิธีการดำเนินชีวิตเพื่อเป็นแบบอย่างของคนรุ่นต่อไป มีเหตุผล เพราะว่าท่านถือว่า ธรรมเนียมคนไทยแล้ว จะไม่เขียนประวัติของตัวเอง ไม่เล่าประวัติของตัวเอง ไม่เหมือนกับฝรั่งที่จะเขียนประวัติของตัวเองยาว ๆ ให้คนอื่นอ่าน ท่านก็ไม่ทำ แต่ก็มีประวัติพอสมควรให้ได้อ่าน
ข้อสำคัญคือว่า ท่านไม่ให้ยืม ไม่ให้ยืมมันดีอย่างหนึ่ง เคยได้ยินสุภาษิตว่า รักเพื่อนอย่าให้เพื่อนยืมเงิน ถ้าเขามาขอให้เขาไปเลย บอกไม่ต้องยืม เอาไปเลย เพื่อป้องกันการที่จะต้องบาดหมางใจกันทีหลังเพราะยืมไปแล้วก็คืนไม่ได้ ไม่มีให้คืน
ท่
านอาจารย์ท่านจะใช้คนตามหน้าที่ เราอยู่ที่นั่นเรารู้กันดี ก็มีท่านสิงห์ทอง มีท่านมณเฑียรหรือว่าท่านจ้อย ตอนหลังนี่ก็มีท่านทวี แล้วก็มีอาตมา ก็มีหน้าที่ต่างกัน ท่านสิงห์ทองท่านเป็นคนจัดโต๊ะอาหาร หรือว่าทำงานเกี่ยวกับซักผ้าบ้าง ทางคุณจ้อยก็ทำหน้าที่รับรอง ตรวจสอบหนังสือ มีหนังสืออะไรบ้าง ท่านทวีมีหน้าที่อัดเทป อาตมาทำหน้าที่พิมพ์จดหมายให้ท่าน พอถึงเวลา ๘ โมงปุ๊บ ท่านก็จะถามสิงห์ทองอยู่ไหม? ถ้ายังไม่อยู่ก็ยังไม่ฉัน ต้องไปเรียกมาก่อน ต้องไปตามมาให้ได้ ถ้าไม่ได้ บางทีอาจจะท้องเสียหรืออะไรอยู่ไหน ก็ต้องไปเอามาจนได้ก่อน ท่านถึงจะฉัน ท่านไม่ทำสับหน้าที่กัน นอกจากเขาฝากกันไว้ ไม่อยู่แล้วฝากหน้าที่กันไว้ได้ ท่านไม่สับหน้าที่ อย่างเช่นคนมาทำบุญ ท่านก็ต้องคอย คอยคุณจ้อยว่าอยู่ไหม? ถ้าอยู่อ้าวช่วยไปจัดที ถ้าอัดเทปก็ให้คุณทวีตั้งเครื่อง ถ้าคนตั้งเครื่องยังไม่มาก็นั่งคอยไปก่อน โยมมาจะถวายผ้าป่าก็ให้คอยคนตั้งเครื่องก่อน ทั้งที่คนอื่นก็อยู่ท่านก็ไม่ใช้ บอกไม่ต้อง คอยไปก่อน ต้องไปคอยจนเขาเสร็จแล้วก็มาตั้งเครื่อง
มาระยะหลังนี้ ท่านอาจารย์ขอบคุณ แต่ก่อนท่านไม่ค่อยขอบคุณหรอกนะ สมัยก่อน พระเก่า ๆ เขาเล่าให้ฟังว่า ท่านทำอะไรแล้วก็ทำเฉย ๆ ไม่มีการขอบคุณ ยุคนั้นก็เป็นยุคที่ยังไม่มีถนน สวนโมกข์ปิดเฉย สมัยนั้น ไม่มีคำว่าขอบคุณ ใครทำก็ทำเองก็ได้เอง ใช่ไหม? บุญใครทำใครได้ ไม่ใช่ว่าคนนี้ทำบุญแล้วคนนั้นได้ ฉะนั้นก็ใครทำใครได้ ไม่มีการขอบคุณ จนถนนเปิดมีถนนแล้วคนมาเยอะ ท่านก็เปลี่ยนเหมือนกัน รู้สึกว่าคนที่ถือแบบท่าน แต่ว่าทำไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่ถือแต่คำพูด ทำเสร็จ ฮื้อ เขายกของมาให้ก็เฉย ๆ ไม่ขอบคุณ คุณทำเองคุณได้แล้ว ฉันกินก็หมดเรื่องไป ไม่มีขอบคุณ ตอนหลังนี้ท่านขอบคุณ มายุคที่อาตมาทำหนังสือกับท่าน ได้รับคำขอบคุณจากท่านมากจนเรานี่รู้สึกแย่แล้ว ให้ท่านอาจารย์มาขอบคุณ แต่ท่านก็พูดอยู่เรื่อย ขอบคุณ ขอบคุณ
เวลาจะใช้งานก็ไม่เคยที่จะเรียก ไม่เคยที่จะสั่งท่านไม่สั่ง แต่จะถามว่าว่างไหม? ถ้าว่างเดี๋ยวพิมพ์หนังสือให้หน่อย แม้กระทั่งจะใช้งานใครก็ดูเถอะ ท่านไม่ใช้คำสั่ง ถ้าใครเจ็บป่วย ท่านก็ดูแลรักษา เรียกว่าท่านเป็นห่วงทุก ๆ คน ไม่ใช่ห่วงแต่คน ลูกไก่ก็ห่วง พอตกเย็นเข้าลูกเจี๊ยบ ๆ ๆ มันร้องเอาแล้ว อยู่กันไม่เป็นสุขแล้ว ท่านอาจารย์บอกว่าไปดู ไปดูมันอยู่ไหนทำไมมันร้องอยู่ ต้องไปดู ไปดู ทำไมมันร้อง บอกว่ามันหาแม่ครับ แม่ไปนอนข้างบนต้นไม้ ลูกมันขึ้นไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นไปไล่แม่มันลงมา เอาลูกขึ้นไปด้วย ไอ้แม่ไก่ก็ใจร้ายเหมือนกันนะ มันจะนอนข้างบนแล้ว ลูกมันขึ้นไม่ได้ แล้วมันก็ไม่ยอมดู มันขึ้นไปนอนของมันเฉย ๆ อย่างนั้นแหละ ลูกมันขึ้นไม่ได้ก็ร้องใหญ่ ก็เดือดร้อนถึงท่านอาจารย์ ร้องอยู่ข้างหลังตึก ท่านอาจารย์อยู่หน้าตึก แต่หูท่านได้ยิน ท่านต้องสั่งแล้ว ไปดูช่วยมัน
ขนาดมีมูสัง (ภาษาปักษ์ใต้ = อีเห็น) กลางคืน มูสังจะมากินไก่ ไก่ก็ร้องโต๊ก ต๊าก โต๊ก ต๊าก ท่านอาจารย์ออกจากห้องเลย ดึก ๆ ออกมาเลย เคาะประตูตื่น ๆ ไปช่วยไก่หน่อย นี่ไปช่วยไก่ คิดดู ดึกดื่นเที่ยงคืนแล้ว ท่านยังลุกมาปลูกพระให้ไปช่วยไก่ เราก็ช่วยกันใหญ่ ไล่หมาไล่มูสังกันใหญ่ มันมากลางคืน ต้องไล่กันจริง ๆ ไม่ใช่ทำเหยาะแหยะ ไม่ได้ ต้องทำให้มันเข็ด ให้มันรู้ว่าพื้นที่นี้เป็นเขตปลอดภัย ใครจะมาบุกรุกไม่ได้ ถ้าเรายังอยู่ต้องช่วยมัน นี่เป็นแบบนั้น
ท่านดูแลไปถึงไก่ด้วย แล้วไก่ก็ปลอดภัย ก็มีแต่งูเท่านั้นแหละ ที่ว่าแย่กับมันหน่อย มันแอบมากินไก่กินไข่บ่อย ๆ ที่นั่นมีงูอยู่ประจำ เดี๋ยวนี้ก็ยังมี เป็นงูเห่า ต่างคนต่างอยู่ ตรงโคนต้นกระท้อนมีงูสามเหลี่ยมอยู่ประจำตัวหนึ่ง เราเดินมาถามว่า ท่านอาจารย์ครับมีงูทำอย่างไรดี เอ้อ ! ต่างคนต่างอยู่ มันก็อยู่รู เราก็อยู่ตรงนี้อย่าไปเหยียบมันก็แล้วกัน แหมก็คิดดู อยู่ตรงนั้นทำให้ต้องเพิ่มสติขึ้น เราจะเดินเรื่อยเปื่อยอย่างนี้ไม่ได้ มันอยู่ของมัน ถึงเวลามันก็ออกมา ข้างหลังก็มีโพรงตรงที่ท่านสรงน้ำเป็นประจำ ตรงตุ่มน้ำก็มีโพรงงูเข้าไป งูที่ยาวขนาดวาหนึ่งก็มีเป็นงูเห่า งูเห่ามันมีหลายประเภท ก็อยู่กันอย่างนั้น มันคอยแอบกินไก่บ้างอะไรบ้าง ก็ปล่อยไป ขี้เกียจไปทะเลาะกับงู แต่ท่านคอยระวัง ท่านบอกระวังนะ อย่าเปิดประตูห้องทิ้งไว้ เพราะว่าเดี๋ยวงูมันเข้าไปไล่ไม่ออก ต้องคอยระวัง ท่านอยู่มาตลอด ๒๐ ปี ไม่เคยถูกงูกัดเลย ทั้งที่อยู่กับงูนั่นแหละ เดี๋ยวนี้รูสงสัยจะปิดไว้แล้ว แต่ก่อนก็อยู่ตรงนั้นตลอดท่านก็อยู่มาได้
ก
ารพักผ่อนของท่าน ก่อนท่านจะอาพาธปี ๒๕๓๔ ท่านพักผ่อนเฉพาะช่วงเย็นหรือช่วงบ่ายนิดหน่อย ตอนเที่ยงท่านไม่พัก เพราะคนมันเยอะ คนมันมา จะพอได้พักก็ตอนบ่าย ๒ โมง ตอนนี้คนไม่มีแล้วก็พักนอนเก้าอี้เอนอยู่หน้าห้องพักประมาณชั่วโมง ๒ ชั่งโมง แต่ก็ไม่ค่อยได้พักเท่าไร แขกมาก็จะเข้าไปกวน เข้าไปจู่โจมตอนท่านนอน บางทีก็กั้นเชือกไว้แล้วว่า อย่าผ่านทางนี้ ก็อุตส่าห์มุดเชือกไป บางคนไม่ได้มุดเชือก ใช้วิธีอ้อมเสา บอกเออ ! เขากั้นไว้แค่นี้นี่นา ตรงนี้ไม่ได้กั้น บางคนไปอ้อมข้างหลังไปโดดลงมา ตรงนี้แหละ ที่ทำให้เห็นว่าท่านมีสมาธิ คือท่านนอนจริง แต่ลองไปนอนดู ถ้าเรานอนปุ๊บแล้วเราลืมตามาเจอคนที่เราไม่รู้จักจะเป็นอย่างไร ลองดู ท่านลองหลับสมาธิ หลับตาเลยแล้วเดี๋ยวเพื่อนก็ไปนั่ง พอลืมตาเห็นหน้าเพื่อน ก็ตกใจหงายตึงเลย นี่แสดงว่าที่เรานั่งอยู่ไม่มีสมาธิเลย เข้าใจไหม? ถ้ามีสมาธิก็จะไม่เป็น
ท่านนอนหลับ เราเชื่อว่าท่านนอนหลับก็หลับด้วยสมาธิ แล้วพอมีแขกเข้าไปถึงที่ไปกราบตัก ท่านไม่มีอาการของคนง่วงนอน หรือมีอาการของคนหงุดหงิดเลย ไม่มี ท่านก็ลืมตาเฉย ๆ แล้วก็มองไป ถามว่ามีธุระอะไร ไปโรงหนังนะ ไปศึกษาธรรมะนะ เชิญ แต่เราซึ่งเป็นคนเฝ้ายามก็หงุดหงิด ไม่พอใจว่าคนนี้บุกรุก ส่วนใหญ่เรารู้สึกว่าถูกบุกรุก จะไม่พอใจ แต่เมื่อท่านอาจารย์เฉย ๆ ได้ เราก็พลอยเฉยไปบ้าง แต่เราก็ถูกตำหนิว่าปล่อยให้คนเข้ามาได้อย่างไร แต่ว่าจะไปไล่เขาก็โดนดุอีก ไปไล่เขาได้อย่างไร ไล่เขาก็ไม่ได้ ปล่อยเข้ามาก็ไม่ได้ ทีนี้ทำอย่างไร ก็ต้องรู้จักพูด พูดให้เขาไม่ต้องเข้าไปพบโดยเขาไม่โกรธ เขาบอกอยากจะกราบเหลือเกิน ๑๐ ปีไม่ได้มา พูดอย่างไรให้เขาพอใจ โดยไม่ต้องเข้าไปกราบ ก็พยายามทำกัน แต่ตอนนี้คงไม่มีปัญหาแล้ว หมดกรณีนี้ไป ท่านไม่ตกใจ แขกเข้ามาถึงที่ก็ไม่เป็นไร
ส
มาธิที่ยิ่งกว่านั้นที่เราเห็นของท่าน ถามจริง ๆ ท่านเคยเห็นไหม? ใครที่บอกให้เราเขียน อาตมาเจอบ่อยท่านจะบอกให้เราพิมพ์ เราจะเอาพิมพ์ดีดมาแล้วก็เอากระดาษใส่ แล้วก็จะเขียนจดหมายตามที่ท่านต้องการ ท่านบอกอ้าวบรรทัดแรก กลางหน้า วันที่ เดือน ปี เราก็พิมพ์ พอเสร็จ สองแก๊ก ธรรมะ พรและเมตตา แด่คุณ สองแก๊ก ห้าเคาะ ก๊อก ๆ ๆ ๆ อ้าว ! ก็พิมพ์ข้อความท่านต่อไป เช่นว่า หนังสือที่ส่งมานั้นได้รับแล้ว แก๊ก ๆ ท่านบอกอย่างนี้ด้วย ขอบคุณแล้วก็แก๊ก ๆ ท่านบอกหมดเลย บอกทุกอย่างเลย หนึ่งแก๊ก สองแก๊ก อ้าวตบแคร่ แก๊กหนึ่งแล้วไปอีกแก๊กหนึ่ง อ้าวตรงนี้มหภาค ตรงนี้จุลภาค ตรงนี้สมภาคท่านบอกหมดพิมพ์เสร็จเลย แล้วไม่ได้บอกทวนนะ ท่านบอกปุ๊บเราก็อ่านดัง ๆ แล้วเราพิมพ์ไปด้วย เสร็จทั้งฉบับ ไม่ต้องแก้ไข แล้วก็อ่านให้ท่านฟังอีกรอบหนึ่ง อ้าวใช้ได้ ใส่ซอง ไม่ใช่ทำ ครั้งเดียว หลายครั้ง จนถึงว่าไม่น่าเชื่อเลย เท่าที่สังเกตดู คนที่เขาเป็นเลขา เขาก็ไม่ให้เจ้านายมาบอก มีแต่ทำให้เจ้านายดูแล้วเจ้านายตรวจดู ถ้าท่านยังอยู่ ท่านจะเป็นผู้บอก เราเป็นมือให้ท่าน แต่สมองออกมาจากท่าน ทำอย่างนี้ตลอด ส่วนมากเราจะพิมพ์ผิด พอเราพิมพ์ผิดปุ๊บ หรือว่าเราทวนคำสั่ง เอาเลยเสียขบวนเลย ให้อ่านใหม่ ต้องอ่านตั้งแต่บรรทัดแรก คราวหลังเลยไม่เอาเลย ขี้เกียจพิมพ์ พิมพ์ไปตามคำบอกก่อน แล้วค่อยไปถามท่านทีหลัง หรือว่าพิมพ์ไปห้าบรรทัดแล้ว ท่านก็บอกประโยคนี้มา เราก็ถามเอ๊ะอาจารย์ครับ ปริศนามันใช่ "ษ" หรือเปล่า สมมุติเราถามอย่างนี้นะ ท่านจะลืมหมดเลย อ้าว ! คุณไปอ่านมาใหม่ตั้งแต่บรรทัดแรก แล้วก็พิมพ์ต่อ เนื่องจากสมาธิมันไหลเรื่อยตลอด ก็มองเห็นว่าท่านมีสมาธิดีมาก
อีกอันหนึ่งที่มองเห็นการมีสมาธิในการหลับคือท่านจะนั่งอยู่ที่ม้าหิน บางทีไม่มีแขกท่านก็นั่งแล้วก็หลับ เอียงซ้าย เอียงขวา พระหลายองค์ก็ไปมองดู เอ๊ะอาจารย์เราจะกลิ้งหรือเปล่า ปรากฏว่าไม่เคย ท่านก็เอียง ๆ ไป แล้วก็อุ๊บขึ้นมา แล้วก็นั่งต่อ แล้วก็เอียง แล้วก็อุ๊บขึ้นมาอีก นี่ดูซิเห็นไหม? ไม่เคยกลิ้ง แสดงว่าท่านมีสมาธิอยู่ ท่านทั้งหลายลองนั่งดู บางคนสัปหงกลงไปเลย
ที่
สำคัญก็คือท่านใช้อานาปานสติในการรักษาตัวเสมอมาเลย มีครั้งหนึ่ง ท่านเจ้าคุณอาจารย์บรรยายกับชาวต่างประเทศในโรงมหรสพทางวิญญาณ แล้วอาตมาก็อยู่ข้างนอกที่หินโค้ง ก็พูดกับเด็ก ๆ อยู่ เด็กโรงเรียนต่าง ๆ เขามาก็นั่งคุยกันอยู่ เผอิญท่านอาจารย์เดินออกมาองค์เดียว สมัยนั้นไม่ต้องมีคนตาม ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ ระยะหลังไปไหนต้องมีคนตามเรื่อย
พอท่านเดินมาถึงตรงหินโค้งที่เราพอมองเห็นได้ เห็นท่านอาจารย์ยืนหยุดเฉย ๆ เราคิดว่า เอท่านอาจารย์ทำอะไร คิดว่าท่านฟังเรา เราก็บรรยายต่อ ยังไม่ทันจบท่านอาจารย์ก็เดินต่อ พอเราพูดกับเด็กจบก็ไปถาม ไปหาท่านอาจารย์ ไปถามท่านว่า ตอนท่านอาจารย์เดินมาที่หินโค้ง ท่านอาจารย์หยุดทำไมครับ ท่านบอกว่า "ผมเป็นลม" อ้อ ! เป็นลมแล้วยืนเฉยอย่างนั้นหรือ ? "พอผมเป็นลม ผมก็ยืนเฉย ๆ กลัวมันจะล้ม" ตั้งแต่นั้นมาพอบอกทุกคนก็เริ่มเป็นห่วงท่านอาจารย์ แล้วตกลงว่าถ้าท่านอาจารย์ออกเดิน ควรจะมีใครเดินตามไปด้วย เพราะเดี๋ยวท่านเป็นลม ท่านเป็นลมยังไม่ยอมล้มเลยคิดดูซิ เพราะอะไร เพราะอานาปานสติ ท่านก็เคยบอกเลยว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้น กำหนดลมหายใจก่อน กำหนดรู้ลมหายใจว่าเป็นอย่างไร ติดตามลม สติมันจะได้ไม่วูบวาบหนีไปที่ไหน ช่วยได้ตลอดเวลา
การเจ็บไข้ทุกครั้ง จะเป็นใหญ่โตแค่ไหนก็แล้วแต่ ถ้าท่านยังมีสติสัมปชัญญะสามารถรู้สึกตัวได้ แล้วโรคนั้น ๆ ก็จะหายภายใน ๓-๑๐ วัน ท่านเคยป่วยหนักเป็นเบาหวาน น้ำตาลขึ้นสูงถึง ๔๕๐ ถ้าใครเคยรู้ก็จะรู้ว่ามันช็อก ต้องตาย หมอตกใจมาก มาพร้อมกับอินซูลินเตรียมฉีด มาถึงท่านบอกอยู่เฉย ๆ หมอไม่กล้าฉีด หมอเล็กอยู่ชุมพรยังไม่กล้าฉีด มาพูดกับอาตมาเอง นี่ถ้าเป็นคนอื่นผมฉีดแล้ว แต่ท่านอาจารย์นี่ผมไม่กล้าครับ ท่านบอกให้หยุดต้องหยุด หมอหยุดไม่กล้าฉีด ท่านบอกว่าอยู่เฉย ๆ เดี๋ยวมันหายเอง ภายใน ๗ วัน หายลงมาเกลี้ยงเลย ท่านบอกว่าท่านกินผักบุ้ง ใครเป็นอย่างนี้ก็ลองกินผักบุ้งดู กินผักบุ้งแล้วหาย หลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วยของท่าน โรคอื่นท่านก็ใช้แต่ว่ามาโรคครั้งสุดท้ายนี้ ที่ใช้ไม่ได้ หรือว่าใช้ไปแล้ว แล้วก็ไม่มีโอกาสได้ใช้อีก
เอาล่ะ ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ มันเกินชั่วโมง ก็คิดว่าท่านทั้งหลายคงจะพอมองท่านอาจารย์บ้างว่า ท่านได้ใช้ชีวิตอย่างไร เท่าที่อาตมาเล่าให้ฟัง แล้วก็คิดว่ามันเป็นเรื่องยาก เรื่องความถูกต้อง ๆ นี้มันเป็นเรื่องเฉพาะตน เมื่อมีความถูกต้องแล้วก็ทำออกไป แต่ว่าคนจะมองเห็นว่าเป็นความถูกต้องหรือเปล่า นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีมากมายอีกหลายเรื่อง เห็นว่าพอสมควรแก่เวลาแล้ว
ขอท่านทั้งหลายจงได้ปฏิบัติอานาปานสติ แล้วก็พยายามมองความถูกต้อง ถูกต้องเฉพาะตน ถ้ามันถูกต้องจริงแล้วมันก็ไม่มีปัญหา ขอท่านทั้งหลายจงประสบความสำเร็จในการฝึกอานาปานสติ และนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน แก้ปัญหาทุกเรื่องทุกราวได้จงทุก ๆ คนเทอญ
วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554
พระไตรลักษณ์อันมี ๓ ลักษณะ
พระไตรลักษณ์อันมี ๓ ลักษณะ
คือ อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะ อันมีรายละเอียด ดังนี้
๑. อนิจจัง
สังขารหรือสิ่งที่เกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมหรือประกอบกันชั่วขณะเพียงระยะหนึ่ง จึงไม่ใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริง เพราะความที่ไม่ใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริงนี่แหละจึงมีความไม่สมบูรณ์เป็นหนึ่ง แอบเร้นอยู่ในตัวเอง มีแรงบีบคั้นโดยธรรมหรือธรรมชาติ จึงเป็นปัจจัยทำให้ไม่สามารถรวมตัวกันอย่างเสถียร คงที่ คงทนได้ตลอดไป จึงเกิดอนิจจังคืออาการแปรปรวน หรืออาการไม่เที่ยง มีอันต้องแปรปรวนไปเป็นธรรมดาตามสภาพเหตุปัจจัยของมัน จึงไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนาได้ตลอดไปในที่สุด จึงเกิดสภาวะที่มีการเกิดขึ้นแล้วต้องมีการแปรปรวนไปเป็นธรรมดาหรือตถตา
เมื่อไม่เที่ยง มีอาการแปรปรวนกลับกลายไปเป็นธรรมดา เมื่อไปอยากด้วยตัณหา จึงเกิดการไปยึดว่าเป็นของตัวของตนด้วยอุปาทานในสังขารใดๆเข้า ดังนั้นเมื่อเกิดการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงหรือดับไป จึงยังให้เกิดทุกข์ชนิดอุปาทานทุกข์อันแสนเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวาย
พระไตรลักษณ์ หรือลักษณะของธรรมชาติทั้ง ๓ นี้ มีธรรมหรือสิ่งที่มาปกปิดหรือซ่อนเร้นไว้ไม่ให้ปุถุชนแลเห็นหรือเข้าใจได้อยู่เช่นกัน จึงปกปิดบดบังร่องรอยไม่ให้เห็นและเข้าใจ จึงก่อให้เกิดทุกข์โทษภัยไปทั่วทุกโลกธาตุ จนบังเกิดมีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้พระปรีชาญาณ ตรัสรู้เห็นชอบได้ด้วยพระองค์เอง ทรงนำมาเปิดเผยดุจดัง หงายของที่คว่ำอยู่ขึ้นแสดง เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ตามประทีปในที่มืด ด้วยเห็นว่าผู้มีจักษุคือปัญญาคงเห็นได้ เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งนั่นเอง
อนิจจัง ถูกปิดบังซ่อนเร้นร่องรอย ทําให้ไม่รู้ไม่เห็นตามความเป็นจริงของสภาวธรรมหรือธรรมชาติได้ ก็เพราะเหล่า สันตติ - ความสืบต่อหรือความเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ได้ปกปิดบดบังไว้ ดังเช่น คนที่อยู่ใกล้ชิดกันเห็นกันบ่อยๆหรือทุกๆวัน หรือตัวของเราเอง จะสังเกตุได้ว่ามองไม่ค่อยเห็น ความแปรปรวนไป ความไม่เที่ยงในกายว่ามีความแก่ ความเสื่อมอยู่ตลอดเวลาทุกขณะ แต่คนคุ้ยเคย ที่จากกันไม่พบกันเป็นเวลานาน กล่าวคือ ขาดความสืบต่อหรือขาดความต่อเนื่องไประยะหนึ่ง เมื่อเกิดมาประสบพบกันอีกจะสังเกตุเห็นได้อย่างง่ายๆว่า โตขึ้น แก่ขึ้น เปลี่ยนแปลงไปมากทั้งกายและความคิดหรือจิต, ตัวตนของเราหรือท่านทั้งหลายตามความเป็นจริงแล้วมีความเสื่อมไม่เที่ยงเกิดอยู่ทุกๆขณะ ทุกๆโมเลกุลในเซลมีการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนเคลื่อนไหว ไม่เที่ยง เสื่อม หลุดลอก อยู่ตลอดเวลาจริงๆ,แม้แต่อะตอม อันจัดว่าเป็นสิ่งทางวัตถุธาตุที่เล็กที่สุดในวิทยาการปัจจุบัน ก็เป็นเพียงสังขารที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาจากเหล่ามวลของอิเลคตรอน โปรตอน นิวตรอน ที่มีเหล่าอิเลคตรอนวิ่งวนเวียนรอบกลุ่มของเหล่าโปรตอนและนิวตรอนอยู่โดยมิรู้จักหยุดหย่อน อันแสดงให้เห็นสภาวะแห่งความแปรปรวน อันก่อให้เกิดความไม่เที่ยงอยู่ทุกขณะ ที่ยืนยันพระพุทธพจน์ได้เป็นอย่างดีโดยความรู้ทางโลก แม้อะตอมในที่สุดก็ต้องดับไปตามวงจรอายุขัยของสิ่งๆนั้น การที่อิเลคตรอน,โปรตอนและนิวตรอนก็หมุนรอบตัวเองก็ยังเกิดแต่เหตุปัจจัยของพลังงานชนิดต่างๆอีกเช่นกัน, โมเลกุลอันเป็นมวลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกนั้น ก็่เป็นสังขารที่เกิดขึ้นแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งของเหล่าอะตอม กล่าวคือ ย่อมประกอบกันด้วยมวลของอะตอมในรูปแบบต่างๆกัน, โลกที่เราอาศัยอยู่นี้ ก็เป็นสังขารที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาจากวัตถุธาตุต่างๆนาๆอย่างหนึ่ง จึงแสดงอาการแปรปรวนไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลาทุกๆขณะ มีการหมุนรอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฝนตก แดดออก หิมะตก ฯลฯ., จักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลก็ยังเป็นสังขารที่ล้วนเกิดแต่การมีเหตุต่างๆแม้มหาศาลมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นเช่นกัน จึงย่อมแสดงความไม่เที่ยงแปรปรวนเป็นธรรมดา มีการโคจรของดวงดาวต่างๆตามเหตุแรงดึงดูด การชนกัน การเกิด การดับของดวงดาวอยู่ทุกๆขณะจิต ฯลฯ., กายของเราท่านทั้งหลายก็เป็นสังขารที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ หรือมวลหมู่ของเซลมาประกอบกันเป็นร่างกายตัวตน จึงย่อมมีความไม่เที่ยงมีความเสื่อมสลายและสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลาเช่นผิว,ผม,เล็บ,เยื่อบุ,นํ้าเลือด,นํ้าหนอง ฯลฯ.มีความเสื่อมหรือหลุดลอกอยู่ทุกๆขณะทุกๆเศษเสี้ยวของวินาที และสร้างเสริมใหม่ตลอดเวลาเช่นกัน การหายใจก็เป็นสังขารจึงมีการแปรปรวนอยู่ทุกขณะจิต ส่วนจิตก็ยิ่งมีความแปรปรวนยิ่งกว่าสิ่งใด เพียงแต่เราไม่เคยสังเกตุหรือพิจารณาให้เห็น เพราะโดยทั่วไปนั้นถูกปกปิดบังไว้ด้วย ความต่อเนื่อง จนปิดบังมองไม่เห็นการเกิด การดับ และความเสื่อมไป จึงมองด้วยตาธรรมดาไม่เห็น ต้องใช้ตาปัญญาที่มาจากการเจริญวิปัสสนา หรือธรรมวิจยะ แล้วต้องตริตรอง คิดค้น พิจารณาโดยละเอียดแยบคาย(โยนิโสมนสิการ) ตัวอย่างอีกอันหนึ่ง เช่น ธูปเวลาเราจุดไฟแล้วแกว่งโดยเร็วจะสังเกตุแต่ไฟที่ปลายธูปเป็นเส้นไฟสายเดียวต่อเนื่องกันไปเพราะความเป็นไปอย่างต่อเนี่องจนเห็นแต่มายา,มองไม่เห็นความจริงว่าเป็นแค่จุดเปลวไฟเล็กๆจากปลายธูป และสังเกตุไม่เห็นความเสื่อมมอดไหม้ไปทุกขณะของธูป เห็นแต่ความรุ่งโรจน์เรืองรองเป็นสายของเส้นไฟจากปลายธูป ไม่ได้สนใจหรือสังเกตุเห็น(เทียบเท่าสติ)ความไม่เที่ยงของธูปที่แปรปรวนมอดไหม้หมดลงไป..ลงไป จนต้องดับไปเป็นที่สุด
ดูเอาเถอะ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระศาสดา พระมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ท่านก็ยังคงต้องอยู่ภายใต้อนิจจังของพระไตรลักษณ์เป็นธรรมดา
ชีวิตของเราก็เช่นกัน มองหา สนใจแต่ความสมปรารถนา(สุข)เพราะความเป็นธรรมหรือธรรมชาติของชีวิตอย่างหนึ่งของสรรพสัตว์ที่ย่อมชอบต้องรักความสุขสบาย หน่ายในทุกข์ จนลืมสังเกตุ มองไม่เห็นความไม่เที่ยงของกายและจิต(รูป-นาม)ตลอดจนสิ่งแวดล้อมต่างๆก็เพราะ สันตติความสืบเนื่องนี้ที่เป็นปัจจัย, เมื่อสังเกตุไม่เห็น จึงเกิดการลืมตัวเป็นส่วนใหญ่ จึงเกิดการประมาทโดยไม่รู้ตัวเป็นปกติธรรมดา
อนิจจลักษณะ - ลักษณะที่เป็นอนิจจัง<
ลักษณะที่แสดงว่าเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ ได้แก่
๑. เป็นไปโดยการเกิดขึ้นและสลายไป คือ เกิดดับๆ..... มีแล้ว ก็ไม่มี
๒. เป็นของแปรปรวน คือ เปลี่ยนแปลงแปรสภาพไปเรื่อยๆ ควบคุมบังคับให้คงที่คงทนไม่ได้อย่างแท้จริง
๓. เป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะๆ ระยะหนึ่งๆ
๔. แย้งต่อความเที่ยง คือ โดยสภาวะของมันเอง ก็ปฏิเสธหรือตรงข้ามกับความเที่ยงอยู่ในตัว
ลักษณะหรืออาการเหล่านี้จึงก่อให้เกิดทุกข์ เมื่อสิ่งทั้งหลาย(สังขาร)ที่ไปอยากหรือไม่อยากอันล้วนคือตัณหา หรือไปยึดมั่นด้วยกิเลสตน(อุปาทาน)ทั้งด้วยความไม่รู้(อวิชชา)และไม่รู้เท่าทัน(ไม่มีสติ)เหล่านั้น มีอาการไม่เที่ยง,ต้องแปรปรวน,มีอาการเปลี่ยนแปลงไป ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา
๒. ทุกขัง
สิ่งที่เกิดแต่เหตุปัจจัยคงทนอยู่ไม่ได้, ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยความไม่เที่ยง แปรปวน, ภาวะที่ไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่องซ่อนเร้นอยู่ในตัวของตัว, ภาวะของแรงดูดและผลัก ฯ. ตัวเหตุปัจจัยหลายๆอย่างอันประกอบกันขึ้น แต่ละตัวก็ล้วนแปรปรวน ซึ่งเมื่อเหตุปัจจัยต่างๆมีการแปรปรวน ผลก็ย่อมแปรปรวนไปๆมาๆอยู่เยี่ยงนั้น อันเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตา เมื่อเกิดการแปรปรวนเยี่ยงนี้อยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ในที่สุดภาวะของการสิ้นสุดหรือดับไปก็ต้องบังเกิดขึ้นเป็นที่สุด จึงทำให้ผู้ที่ไปยึดไปอยากในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดภาวะที่ทําให้ไม่มีความสมใจ,ไม่สมอยาก,และไม่พอใจ อันก่อให้เกิดทุกข์ แก่ผู้ที่ไปอยากด้วยตัณหา จึงเกิดการไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของตัวหรือของตนอย่างแท้จริงด้วยอุปาทาน ในที่สุด
คําว่า"ในที่สุด" นี้ต้องการชี้ให้เห็นชัดๆว่า เพราะบางครั้งนั้นความสมใจสมอยากบ่อยๆคือได้ตามปรารถนาจนลืมตัวว่าในที่สุดก็ต้องเป็นทุกข์อย่างแน่นอน เพราะความกล้าแข็งขึ้นของตัณหาและอุปาทานตามที่ได้รับการตอบสนอง จนเกินกําลังที่จะสนองได้ในที่สุด, ตลอดจนเพราะความไม่เที่ยงและทุกขังคงทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไปนั่นเอง
ทุกขัง สภาวะที่คงทนอยู่ไม่ได้ จึงเกิดอาการดับหรือสูญสลายไปในที่สุด ดังนั้นเมื่อไปอยากด้วยตัณหาอันยังให้เกิดความยึดมั่นด้วยอุปาทานในสังขารที่ดับไป จึงย่อมเป็นทุกข์ที่เร่าร้อนเผาลนกระวนกระวาย
ทุกขัง หรือความทนอยู่ไม่ได้ จึงต้องดับไป มักถูกปิดบังด้วยอิริยาบถ(ความเคลื่อนไหวร่างกาย และแม้แต่ทางจิต) จึงก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนหรือบดบังหรือเกิดการแยกพราก,การยักย้ายจากกัน จนทำให้ไม่ทันสังเกตุเห็นทุกขังความทนอยู่ไม่ได้หรือทุกข์ที่เกิดขึ้น ดังเช่นผู้ฝึกสมาธิ เมื่อปฏิบัติจะเห็นความคิด(ทุกข์ที่เกิดทางใจ)แทรกเข้ามาอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนสังเกตุเห็นทุกข์ทางกายจากความปวดเมื่อยต่างๆรุมประเดประดังเข้ามาจนสังเกตุได้ชัด(เคยสังเกตุ?) เหตุเพราะเราอยู่ในความสงบนิ่ง, ไม่มีอิริยาบถเคลื่อนไหว ทุกข์ต่างๆจึงปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นในความรู้สึก บางคนอาจจะอ้างว่า เป็นเพราะท่านั้นไม่สบายไม่เหมาะกับสรีระร่างกาย ลองท่าทางต่างๆหรือท่านอนอันแสนสบายที่สุดดูก็ได้ เพราะจะเป็นเพียงการรอให้แรงบีบคั้น,ความกดดันจนถึงระดับปรากฏแก่สายตาหรือความรู้สึกของเราเท่านั้น มันแค่จะกินเวลาเพิ่มขึ้นอีกระยะหนึ่งเท่านั้น การนอนหรือกริยาที่สบายที่สุดอะไรก็ตามแค่ต้องการใช้เวลามากขึ้นเท่านั้นเอง, หรือการที่รูป(ณ.ที่นี้หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้)ถูกแยกพรากออกจากนาม(ผู้รู้)ก่อนสังเกตุเห็นภาวะบีบคั้นกดดันขัดแย้งนั้น เช่น สิ่งที่เราเห็นนั้นถูกแยกหรือหายไปจากสายตาของเรา ดังเช่นคนที่เราเกลียดเดินแยกพรากไปจากสายตาเราเสียก่อนที่จะรู้ว่ามันไม่สามารถคงทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไป, หรือการที่นาม(ผู้รู้หรือผู้สังเกตุ)ถูกแยกพรากจากรูป(สิ่งที่ถูกรู้หรือถูกสังเกตุ) ดังเช่น เราเองเดินแยกพรากไปจากสิ่งที่เห็นและไม่ชอบใจนั้นเสียก่อนที่จะเห็นความคงทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไปเอง, เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุอันสําคัญที่ทำให้ไม่สามารถสังเกตุเห็นความคงทนอยู่ไม่ได้ จึงดับไปในที่สุด ก็เนื่องมาจากอิริยาบถหรือการแยกพรากนี้นั่นเอง มาบดบังไม่ให้เห็นสัจจธรรมข้อทุกขังนี้ ถ้าเราเห็นอย่างชัดแจ้งประจักษ์ในจิตอยู่เสมอๆ ก็จะไม่ถูกครอบงำด้วยอิริยาบถหรือการแยกพราก ในการปฏิบัติควรใช้ประโยชน์จากโทษนี้ เช่นเมื่อนั่งสมาธิถ้าใจเราสงบเป็นสมาธิก็ปล่อยให้เป็นสมาธิ เพื่อจิตจักได้ไม่ซัดส่าย อันก่อเกิดเป็นกําลังของจิตในการพิจารณาธรรมต่อไป และชิมรสอร่อยของความสงบ ปิติ สุข อุเบกขา (อย่าไปอยากหรือยึดจนติดเป็นวิปัสสนูปกิเลส จมติดอยู่กับ "สุข หรือความสงบ", เผลอตัวเมื่อไรเสพทันที จะทําให้ไม่พัฒนาให้เกิดขั้นปัญญาในการดับทุกข์ตลอดจนเกิดโทษในภายหลัง) แต่เมื่อใดที่เป็นทุกข์ ใจไม่สามารถสงบได้เพราะไม่มีอิริยาบถความเคลื่อนไหวมาปิดบังทุกข์ จนทุกข์นั้นปรากฎเด่นชัดขึ้นมาในจิต ทําให้ฟุ้งซ่านไปในเรื่องต่างๆแม้แต่ในเรื่องการปฏิบัติธรรมก็เถอะ ก็ให้เห็นความคิด หรือเวทนาต่างๆทั้งทางกายและจิตที่ผุดขึ้นนั้นด้วยใจที่สงบอุเบกขา วางทีเฉย ไม่แทรกแซงเข้าไปปรุงแต่ง สังเกตุให้เห็นความคิด,นึก, คิดปรุงแต่ง โทสะ โมหะ ฯ. ตลอดจนเวทนาต่างๆที่ผุดขึ้น,ที่เกิดขึ้น(อย่าไปไหลเลื่อนปรุงแต่งตามความคิดหรือเวทนานั้นๆแค่สังเกตุหรือเห็นและเข้าใจ แล้วละเสีย) เหล่านี้แหละคืออาสวะกิเลส ที่ยังให้เกิดสังขารตามที่เคยสั่งสม,อบรม,ประพฤติ,ปฏิบัติมาไว้แล้วแต่ในอดีต ตามวงจรปฏิจจสมุปบาทอันเกิดแต่อวิชชาและอาสวะกิเลส อันนี้เป็นจักประโยชน์อย่างสูงสุด เป็นตาแห่งปัญญาที่จะนําพาให้พ้นทุกข์(วิปัสสนาญาณ)จักได้เริ่มบังเกิดขึ้นแก่เราแล้ว เริ่มเห็นความคิดหรือจิตตามที่ได้สั่งสมไว้ว่าเป็นอย่างไร ก่อทุกข์ ขึ้นมาใช่ไหม เริ่มเข้าใจและเห็นสังขารความคิดปรุงแต่งอันก่อทุกข์ได้ด้วยตนเองอย่างแจ่มแจ้ง
อิริยาบถหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย บดบังหรือเบี่ยงเบนทุกข์ได้ จึงสามารถนําภูมิรู้นี้ไปใช้ประโยชน์ได้ในการดับทุกข์ชั่วขณะ ในขณะที่ถูกทุกข์รุมเร้ามากๆ หรือการที่ถูกครอบงำด้วยอุปาทานอันแรงกล้าแล้วนั่นเอง จนไม่สามารถสลัดหลุดออกได้ด้วยกำลังจิตของตนเอง เช่น เปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ, เปลี่ยนงานหรือกิจที่ทําเช่นเปลี่ยนกริยาต่างๆ, ตลอดจนการแยกพรากออกจากสิ่งที่ก่อให้เกิดทุกข์นั้น (แต่ต้องพึงสังวรณ์ว่าแค่ชั่วระยะหนึ่ง จะออกได้อย่างถาวรหรือเบาบางได้นั้นต้องเกิดแต่ญาณและการปฏิบัติ(วิปัสสนา)ตามความรู้ความเข้าใจในเรื่องทุกข์และการดับทุกข์อย่างถูกต้องเท่านั้น) แต่ต้องระวังในการกระทำอิริยาบทหรือการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างจำเจอย่างต่อเนื่อง ที่มีรูปแบบค่อนข้างเฉพาะตัว เพราะจะทำให้เป็นสมาธิขึ้นได้ เนื่องจากไปยึดเอาอิริยาบถเป็นอารมณ์หรือเครื่องกำหนดของจิตโดยไม่รู้ด้วยอวิชชา แล้วเมื่อไม่ดำเนินต่อไปในการวิปัสสนาอย่างจริงจัง ทำอยู่แต่ในอิริยาบถเป็นสำคัญ ก็จะกลายเป็นสมาธิอย่างขาดสติหรือมิจฉาสมาธิ อันเมื่อกระทำบ่อยๆเนื่องเพราะเกิดความสงบ ความสุข ความสบายใจที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องล่อจนกลายเป็นสังขารความเคยชินหรือสั่งสมในปฏิจจสมุปบาทแล้ว จักก่อทุกข์โทษภัยในภายหลังและแก้ไขได้ยาก
ทุกขลักษณะ - เครื่องกำหนดว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่จัดวว่าเป็นทุกข์
ลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นทุกข์คือ
๑. ถูกการเกิดขึ้นและการดับสลาย บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมบังคับได้อย่างแท้จริง
๒. ทนได้ยาก หรือคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ตลอดไป
๓. จึงเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข ์เมื่อเกิดความดับสลายไปในที่สุด
๔. แย้งต่อสุข หรือเป็นสภาวะที่ปฏิเสธความสุข
ลักษณะหรืออาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้จึงก่อให้เกิดทุกข์ เมื่อสิ่งทั้งหลาย(สังขาร)ที่ไปอยากหรือไม่อยากอันคือตัณหา หรือไปยึดมั่นด้วยความพึงพอใจว่าเป็นของตัวตนด้วยกิเลส(อุปาทาน)ไว้ ด้วยทั้งความไม่รู้(อวิชชา)และไม่รู้ตัว(ไม่มีสติ) มีอาการทนอยู่ไม่ได้ด้วยอาการดับไปสูญไป ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา
๓. อนัตตา
ธรรม(สิ่ง)ทั้งหลายไม่ใช่ตัวใช่ตน อย่างเป็นแก่นแกนถาวรอย่างแท้จริง หรือในความหมายเดียวกัน หมายถึง มีตัวตนแต่ไม่เป็นแก่นแกนหรือแก่นสารอย่างถาวรแท้จริง, จึงไร้คุณค่าให้ไปยึดติดยึดมั่น เพราะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะอย่างแปรปรวน แล้วต้องดับไปในที่สุด ตัวตนเป็นเพียงฆนะของการประชุมกันหรือรวมตัวกันของเหตุปัจจัยต่างๆในรูปของกระแสที่ไหลเลื่อนไปตามสภาวธรรม(ธรรมชาติ) อันมีเหตุปัจจัยเกิดๆดับๆและแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อเหล่าเหตุปัจจัยเหล่านั้นตัวใดตัวหนึ่งมีอาการแปรปรวนหรือดับไปด้วยเหตุอันใดก็ดี ก็ย่อมส่งผลให้ความเป็นตัวตน ที่เป็นกลุ่มก้อนมายาตามสภาวะของสิ่งๆนั้น ก็ต้องแปรปรวนหรือดับไปตามเหตุปัจจัยที่แปรปรวนไม่เที่ยงนั้นด้วย อันเป็นการดำเนินไปตามหลักธรรมอิทัปปัจจยตา และเป็นจริงเช่นนี้ไปตลอดกาลนาน เพราะเป็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ)อันยิ่งใหญ่ อันต้องเป็นเช่นนี้เองเป็นธรรมดา
ตัวตนหรือสังขารทั้งหลายจึงไม่ใช่เรา จึงไม่ใช่ของเรา เพราะล้วนขึ้นหรืออิงอยู่กับเหตุที่มาเป็นปัจจัยนั่นเอง หรือกล่าวได้ว่าตัวตนทั้งมวลล้วนขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย แม้แต่ขันธ์ทั้ง ๕ ที่ว่าเป็นของเรา จึงไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริง ดังจักแสดงในลำดับต่อไปในภายหน้า
เมื่อไม่มีตัวตนเป็นแก่นแกนอย่างแท้จริง จึงไปควบคุมบังคับบัญญชาอย่างแท้จริงให้เป็นไปตามปรารถนาตลอดไปไม่ได้ จึงเป็นทุกข์เมื่อไม่เป็นไปตามปรารถนาหรือความอยากขึ้นในที่สุด
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ความไม่ใช่ของตัวของตนอย่างแท้จริง จึงควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ ดังเช่น กายหรือตัวตนของเรา จะไปควบคุมบังคับบัญญชาว่า เจ้าจงสวย เจ้าจงอย่าแก่ เจ้าจงอย่าเจ็บ เจ้าจงอย่าป่วย เจ้าจงอย่าตาย ฯ ก็ย่อมไม่เป็นไปดังปรารถนา
อนัตตาถูกปิดบังด้วย ฆนะ-ความเป็นกลุ่มก้อน เป็นชิ้น เป็นมวล เป็นหน่วยรวม เป็นตัว เป็นตน ช่วยกันปิดบัง ซ่อนเร้นไว้ อนันตลักษณะหรือลักษณะของความไม่มีตัวไม่มีตน อย่างเป็นแก่นสาระแท้จริง จึงไม่ปรากฏให้เห็น(อนันตลักษณะ-ความไม่มีตัวตนที่เป็นแก่นสารเป็นเพียงการรวมตัวของเหตุปัจจัยที่มาประชุมกัน เมื่อเหตุปัจจัยนั้นดับ ตัวตนนั้นก็จักดับไปด้วย) ฆนะ กลุ่มก้อนตัวตนจึงเป็นมายาของเหตุปัจจัยที่ประชุมปรุงแต่งกัน ดังเช่น ก้อนหิน เมื่อแตกสลายเป็นฝุ่นหรือชิ้นเล็กๆ ความรู้สึกของเราจะไม่เห็นเป็นก้อนหินอีกแล้ว ใจอันถูกยึดไว้แล้วตามความเชื่อความรู้เข้าใจในก้อนหินนั้น ไม่ยอมรับว่าเป็นก้อนหินทั้งๆที่มาจากก้อนหินก้อนนั้นแท้ๆ แต่จะรู้สึกหรือเรียกว่า ฝุ่นบ้าง ทรายบ้าง ดินบ้าง ผงบ้าง เป็นต้น, ดังในพุทธธรรม ท่านได้แสดงตัวอย่างไว้ในเรื่องเสื้อในลักษณะดังนี้ว่า เมื่อเราเห็นเสื้อ เราก็รู้สึกว่าเป็นเสื้อ มองไม่เห็นลึกลงไปเห็นตามความเป็นจริงว่าผ้านั้นเกิดจากการมาปรุงแต่ง(สังขารอันเกิดแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา) ต้องนำมาปรุงแต่ง ทั้งถัก ทั้งทอ ทั้งตัด ทั้งเย็บด้วยคน ให้เป็นเสื้อผ้าต่างๆขึ้นมา ถ้านำพิจารณาลงไปอีกก็จะเห็นว่า แม้แต่ผ้านั้นก็เกิดแต่เหตุปัจจัยอันเกิดแต่ฝ้าย มาปรุงแต่งเป็นเส้นด้าย มาประชุมปรุงแต่งรวมกันให้เป็นระเบียบด้วยมนุษย์(กรรม-การกระทำ) ดังนั้นเมื่อแยกด้ายออกจากกัน(ดับที่เหตุ) ความเป็นผ้า(ผล)นั้นก็ไม่มี ก็เพราะฆนะความเป็นกลุ่มก้อนมายาได้ถูกทําลายลงไป, หรือดั่งเราเห็นโต๊ะ เราแลเห็นแต่โต๊ะ เราไม่แลเห็นความเกิดขึ้นแต่เหตุปัจจัยต่างๆของโต๊ะ เช่น ไม้ก็เกิดแต่เหตุปัจจัยของธาตุต่างๆ ตะปูก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งให้เกิดโต๊ะ กาวก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งของโต๊ะ แม้แต่กรรมการกระทำโดยเจตนาของมนุษย์นั่นเองก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งของโต๊ะ เมื่อเหตุปัจจัยเหล่านี้ประชุมเป็นปัจจัยแก่กันและกันจึงเกิดสิ่งที่เราเรียกโดยกันทางโลกสมมุติหรือสมมุติสัจจะนั้นว่าโต๊ะ แต่ถ้าเราแยกเหตุปัจจัยต่างๆเหล่านั้นออกมา สภาพมายาความเป็นตัวตนของโต๊ะนั้นก็ไม่มีแสดงให้เห็นอีกต่อไป เหลือเพียงเศษไม้ เศษตะปูบ้างเท่านั้น เหล่านี้ก็เพราะฆนะ ความเป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นชิ้น เป็นอัน เป็นมายา ที่บดบังความเป็นอนัตตาอันเป็นธรรมขั้นสูงในพุทธศาสนา ทําให้ไม่เห็นได้อย่างถ่องแท้ในอนัตตลักษณะความไม่ใช่ของตัวไม่ใช่ของตนอย่างแท้จริง เกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆมาประชุมรวมกันแค่ชั่วขณะระยะหนึ่ง เพราะสิ่งเหล่านี้ก็ต้องดับไปเป็นที่สุด จึงเป็นมายาไม่มีแก่นแกนอย่างถาวรอย่างแท้จริง
พระอนัตตาเป็นสิ่งที่ยากแก่การเข้าใจ เป็นธรรมที่ถกเถียงหรือเป็นที่วิจิกิจฉากันมาโดยตลอด แก่นของธรรมอยู่ที่ "ไม่เป็นแก่นแกนถาวรอย่างแท้จริง" มิใช่อยู่ที่ความ มีตัวตน หรือ ไม่มีตัวตน
ลองพิจารณาในธรรมทั้ง ๒ ดังต่อไปนี้ อันจักแสดงอนัตตา ทั้งในสภาวะไม่มีตัวตน และสภาวะมีตัวตน ที่เกิดจากกลุ่มก้อนของเหตุปัจจัย
เงา ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมกันชั่วขณะหรือระยะหนึ่ง ของเหตุดังเช่น วัตถุทึบแสง,แสง,พื้นรับแสง กล่าวคือ วัตถุทึบแสงอันเป็นเหตุอย่างหนึ่ง มากั้นกางแสงไว้ จึงเกิดเป็นเงาตกลงบนพื้นรับแสง, เงานั้นก็ไม่มีในวัตถุทึบแสง เงานั้นก็ไม่มีอยู่ในแสง เงานั้นก็ไม่มีอยู่ในพื้นรับแสง แต่เมื่อมาเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกันจึงเกิดเงานั้นๆขึ้น เงาอันเป็นทั้งธรรมซึ่งครอบคลุมทุกสรรพสิ่ง และย่อมเป็นธรรมชนิดสังขาร(สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น)อย่างหนึ่งเช่นกัน อันเกิดแต่เหตุดังที่กล่าว มาเป็นปัจจัยกัน อันยังให้เกิดสิ่งอื่นขึ้น จึงเป็นอนัตตา พิจารณาดูความไม่มีตัวไม่มีตนที่เป็นแก่นแกนแท้จริงให้จับให้ต้องได้ ล้วนเกิดแต่เหตุมาเป็นปัจจัยดังกล่าวข้างต้นมาประชุมกันล้วนสิ้นเท่านั้น แต่จะบอกว่าไม่มีเงา ก็เห็นสิ่งๆนั้นอยู่ตำตาตำใจ แต่พอเหตุปัจจัยข้างต้นอันใดอันหนึ่ง เกิดการแปรปรวนหรือดับไปขึ้น ตัวเงาหรือผลที่เกิดปรากฏให้เห็นนั้น ก็ต้องแปรปรวน หรือดับไปตามเหตุปัจจัยเหล่านั้นเช่นกัน นั่นแหละสภาวะอนัตตาอย่างหนึ่ง ดังนั้น รูป สิ่งที่ถูกรู้โดยอายตนะเช่นความคิดหรือธรรมารมณ์, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ, ธรรมะ, ตลอดจนจิต ก็เป็นไปในลักษณาการนี้ ไม่มีตัวตนเป็นแก่นแกนแท้จริง กล่าวคือ เมื่อเหตุปัจจัยครบองค์ ก็เกิดขึ้น เมื่อเหตุปัจจัยใดเกิดอาการแปรปรวนหรือดับไปเป็นธรรมดา ก็ย่อมต้องดับไปตามเหตุ ที่มาเป็นปัจจัยเช่นกัน จึงทำให้เกิดสภาวะเกิดดับๆๆ..อันเกิดแต่เหตุปัจจัย เฉกเช่นเดียวดังเงา
แต่ถ้ากล่าวถึงเงาในแง่ที่เป็นธรรมหรือสภาวธรรมที่เป็นอสังขตธรรม อย่าสับสนที่แม้เงาดังที่กล่าวข้างต้น ที่เกิดขึ้นขณะนั้นๆเป็นสังขารก็จริงอยู่ แต่เงานั้นก็เป็นธรรมชนิดอสังขตธรรมคือสภาวธรรมหรือธรรมชาติด้วย กล่าวคือ สภาวะหรือสภาพที่เมื่อไรก็ตามที่มีเหตุ อันคือ มีวัตถุทึบแสง มากั้นกางแสงไว้ ก็ต้องเกิดเงาตกลงบนพื้นรับแสง เป็นจริงอย่างเที่ยงแท้และคงทนต่อทุกกาลอยู่เยี่ยงนี้เองเป็นธรรมดา แต่ก็ล้วนเป็นอนัตตาเพราะเป็นเพียงสภาวะหรือสภาวธรรมหรือสภาวธรรมชาติล้วนๆที่ยังไม่ได้เกิดการปรุงเป็นสังขารเป็นเงาขึ้น จึงย่อมไม่มีตัวมีตน เมื่อไม่มีตัวมีตนแล้วจะไปควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างไร? ด้วยเหตุดังนี้นี่เอง อนัตตาจึงเป็นธรรมหรือสภาวธรรมหรือธรรมชาติชนิดอสังขตธรรมที่ครอบคลุมในทุกสรรพสิ่ง จึงต่างจากอนิจจังและทุกขังที่ครอบคลุมเฉพาะสังขตธรรมที่หมายถึงสังขารสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นทั้งหลายทั้งปวง
คราวนี้ลองพิจารณาตัวตนของตนดู ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยของธาตุต่างๆเช่นกัน คือ ธาตุ ๔ จะอ้างว่าไม่มีตัวไม่มีตนก็เห็นๆกันอยู่ คนอื่นก็เห็น ตีลงไปก็เจ็บ ใครด่าว่าก็รู้สึก นั่งอ่านธรรมะอยู่ขณะนี้ นี่ละตัวตนใคร? ดังนั้นจะบอกว่าไม่มีตัวไม่มีตนก็ไม่ได้ มีตัวมีตนนั้นมีอยู่ เพียงแต่ตัวตนนั้นไม่เป็นแก่นแกนถาวรแท้จริง หรือไม่ใช่ของตัวของตนอย่างแท้จริง เป็นกลุ่มหรือก้อนหรือฆนะของธาตุทั้ง ๔ ไม่ใช่สิ่งสิ่งเดียวกันอย่างแท้จริง เกิดแต่การประกอบกันดังกล่าว จึงไม่ใช่เราหรือของเราอย่างแท้จริงเพราะขึ้นหรืออิงอยู่กับธาตุ ๔ จึงควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้อย่างเต็มที่หรือเต็ม๑๐๐ จึงไม่คงที่คงทนเช่นนั้นได้ตลอดไป จึงต้องมีการแปรปรวน และการดับไป และเมื่อควบคุมไม่ได้ตามปรารถนาอย่างคงที่หรือตลอดไป จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ(แปรปรวน,เจ็บป่วย) ในที่สุดต้องแตกดับไปไม่เหลือแก่นเหลือแกนหรือตัวตนให้เห็นอีกต่อไปอย่างแท้จริง จึงกล่าวว่าไม่มีตัวตนที่เป็นแก่นแกนถาวรอย่างแท้จริงเช่นกันเหมือนดังสภาวะอนัตตาข้างต้น นี่ก็เป็นสภาวะอนัตตาอีกอย่างหนึ่ง, ดังอริยะเจ้าที่เข้าถึงพระนิพพาน(บุคคลผู้เข้าถึง + สภาวะธรรมของนิพพาน) หรือสภาพการเกิดปรากฎขึ้นของธรรมชาติ(ไม่ได้หมายถึงสภาวธรรมชาติ แต่หมายถึงการเกิดปรากฎขึ้นจริงๆคือเป็นสังขารสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นแล้ว - ตรงนี้ผู้เขียนขอสารภาพสื่อเป็นภาษาพูดได้ลำบากจริงๆ พยายามอ่านจับใจความให้ดี) ก็จัดอยู่ในสภาวะอนัตตานี้เช่นกัน ดังเช่นฝน สภาวธรรมชาติของฝนนั้นมีเป็นจริงเช่นนี้อย่างจริงแท้แน่นอนเช่นสภาวธรรมของเงา แต่เป็นสภาวธรรมจึงไม่มีตัวไม่มีตน ยังไม่ปรากฎเป็นตัวเป็นตนเป็นเม็ดฝนตกลงมา แต่เวลาเกิดฝนแล้วตกลงมาจริงๆ(สังขาร)ตามที่เราเห็นๆกันอยู่นั้นหรือการเกิดตัวตนขึ้นตามสภาวธรรมนั่นเอง ก็ล้วนต้องเกิดแต่เหตุปัจจัย สังขารที่ตกแล้วนั้น ก็ยังต้องหยุดดับไป อย่างไม่เป็นแก่นแกนแท้จริง อันหมายถึง ถ้าพูดถึงสภาวธรรมของฝนก็จะเป็นอย่างสภาวธรรมชาติที่ไม่มีตัวไม่มีตนดังข้างต้น แต่ถ้าหมายถึงฝนที่ตกลงมาให้เห็น(สังขาร)ให้สัมผัสให้ใช้ให้ดื่ม ก็จะเป็นไปในลักษณะมีตัวมีตน แต่ก็ไม่เป็นแก่นแกนแท้จริง ในที่สุดก็ต้องหยุดตก(ดับ)ไปตามเหตุปัจจัย ต้องโยนิโสมนสิการ เพราะเป็นสภาวะที่สื่อเป็นคำพูดได้ยากยิ่ง ต้องให้บังเกิดขึ้นที่ใจหรือปัจจัตตังอันเมื่อเข้าใจแล้วควรเกิดนิพพิทาญาณ ดังนั้นการจักกล่าวว่ามีตัวตน หรือไม่มีตัวตน จึงเป็นเรื่องอยู่ที่ว่ามองในมุมมองเยี่ยงไรเท่านั้นเอง แต่ก็เรียกกันโดยรวมๆได้ว่าไม่มีตัวตน แต่ก็ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ไปยึดความไม่มีตัวไม่มีตน จนไม่เห็นธรรม เอะอะอะไรก็อ้างไม่มีตัวไม่มีตนตนโดยไม่เห็นไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ แก่นของพระอนัตตาจึงอยู่ที่ความไม่เป็นแก่นแกนอย่างแท้จริง ตัวอย่างในสภาวะนี้ ก็เช่น รูปที่หมายถึงกาย ตัวตนของท่านที่กำลังอ่านอยู่นี้ มีตัวตนอยู่ณ.ขณะนี้ แต่ไม่เป็นแก่นแกนถาวรอย่างแท้จริง เพราะไม่คงที่ ไม่คงทน ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้อย่างแท้จริง แล้วต้องดับเป็นที่สุด ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมกันขณะระยะหนึ่ง อันเมื่อเหตุปัจจัยใดมีอาการแปรไป ตัวตนของตนก็แปรปรวน และดับสูญหรือตายไปเป็นที่สุด
อนัตตา ไม่ใช่ตัวใช่ตน ไม่ใช่ของตัวของตน เพราะตัวตนที่เห็นหรือผัสสะได้ด้วยอายตนะใดๆก็ตามที เป็นเพียงกลุ่มหรือก้อนหรือฆนะของเหตุที่มาประชุมเป็นปัจจัยกันเท่านั้น แท้จริงแล้วจึงขึ้นหรืออิงอยู่กับเหตุที่มาเป็นปัจจัย จึงไม่ใช่ตนหรือของตนที่มีความหมายว่า ไม่ใช่เราหรือของเรา อย่างแท้จริง, แม้แต่ขันธ์ทั้ง ๕ ที่ปุถุชนถูกมายาพากันนึกไปเองว่าเป็นเราหรือของเรา ความจริงจึงล้วนไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา กล่าวคือ นั่นก็ไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่นั่น นั่นก็ไม่ใช่ตัวใช่ตนของเรา อย่างแท้จริง เพราะล้วนเป็นเพียงกลุ่มหรือก้อนของเหตุ ดังกล่าวเช่นกัน
อนัตตา ไม่มีตัวมีตน อย่างแท้จริง เพราะสังขารทั้งหลายหรือตัวตนที่เห็น หรือแม้แต่ผัสสะได้ด้วยอายตนะใดๆก็ตามทีนั้น เป็นเพียงมายาของกลุ่มหรือก้อนของเหตุปัจจัยนั่นเอง แท้จริงตัวตนที่เห็นคือการประกอบกันอยู่ของเหตุ ไม่ใช่ตัวตนสิ่งๆเดียวอย่างแท้จริง จึงไม่มีตัวตนอย่างแท้จริง ฝ่ายอสังขตธรรมนั้นย่อมไม่มีตัวตนอยู่แล้ว เพราะเป็นเพียงสภาวธรรม ที่ยังไม่ได้เกิดปรากฏการณ์ของการปรุงแต่ง จนเป็นสังขารหรือตัวตนนั้นๆขึ้น
อนัตตลักษณะ - ลักษณะที่แสดงความเป็นอนัตตา<
ลักษณะที่ชี้แสดงว่าให้เห็นว่าเป็นของมิใช่ตัวตน โดยอรรถต่างๆ
๑. เป็นของสูญ ในความหมายของสังขาร(สังขตธรรม) ก็เพราะว่า เป็นเพียงการประชุมเข้าขององค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อยๆทั้งหลาย เพราะเกิดขึ้นมาจากการที่มีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยประชุมรวมกันขึ้น จึงเพียงแต่แลดูประหนึ่งว่าเป็น สิ่งๆเดียวกัน เป็นมวลเดียวกัน, เป็นชิ้นเดียวกันจริงๆ, แต่ความจริงอย่างปรมัตถ์แล้วก็ยังเป็นเพียงการประชุมเข้ากันของส่วนย่อยๆดังกล่าว
เป็นของสูญ ในแง่ของอสังขตธรรม ก็เพราะว่า เป็นเพียงสภาวธรรมหรือธรรมชาติเท่านั้น กล่าวคือ เป็นเพียงธรรมที่ยังไม่เกิดปรากฏการณ์ของการที่เหตุต่างๆได้มาเป็นปัจจัยกันขึ้น
๒. เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใครจริง แต่มักไปหลงผิด ไปหลงยึดหรือมัวเมากันด้วยกิเลสว่า เป็นตัวตน เป็นของตัวของตน หรือของใครอย่างจริงแท้
๓. ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครๆอย่างแท้จริง เพราะสภาวะของสังขารเองก็มีแรงแต่ภายในหรือแม้แต่ภายนอก มาบีบคั้นให้คืนสู่สภาพเดิมๆเป็นที่สุดโดยไม่ยอมขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครอย่างแท้จริง แต่เพราะมีการควบคุมบังคับบ้างบางส่วนได้อย่างเป็นครั้งคราว จึงมักพากันไปหลงผิดหลงยึดหรือมัวเมากันว่า สามารถควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างแท้จริงตามความปรารถนา
๔. เป็นสภาวธรรมที่ดำรงอยู่ หรือเป็นตามธรรมดาของมันเช่นนั้นเองในธรรมที่เป็นสังขตธรรมคือสังขาร ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงขึ้นต่อเหตุปัจจัย จึงไม่มีอยู่โดยลำพังตัว จึงเป็นไปโดยสัมพันธ์ อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งอื่นๆ
๕. โดยสภาวะของมันเอง ก็แย้งหรือค้านต่อความเป็นอัตตา มีแต่ภาวะที่ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา
ลักษณะหรืออาการเหล่านี้จึงจึงก่อให้เกิดทุกข์ เมื่อธรรมหรือสิ่งทั้งหลายที่ไปอยากหรือไม่อยากด้วยตัณหาหรือไปยึดมั่นด้วยกิเลส(อุปาทาน)ว่าเป็นของตัวตน ด้วยทั้งความไม่รู้(อวิชชา)และไม่รู้เท่าทัน(สติ)เหล่านั้น ไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนา
พระอนัตตา จักเข้าใจในสภาวะธรรมได้กระจ่าง สว่างขึ้นเป็นลำดับ
เมื่อพิจารณาโดยการโยนิโสมนสิการ ร่วมกับ ความเป็นเหตุปัจจัย, อนิจจัง, ทุกขัง
สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงทนอยู่ไม่ได้จึงดับไป สังขารทั้งปวงล้วนอนัตตาไม่มีตัวตน อย่างแท้จริง
อสังขตธรรมทั้งปวงล้วนเที่ยง อสังขตธรรมทั้งปวงล้วนอกาลิโกจึงทนต่อทุกกาลเวลา อสังขตธรรมทั้งปวงล้วนอนัตตาไม่มีตัวตน แท้จริงเช่นสังขาร
(ถ้ายังสงสัยในคำกล่าวนี้ ขอให้โยนิโสมนสิการโดยแยบคายเพิ่มเติม ในบท อนัตตา)
จำแนกแตกธรรม อนัตตา โดยละเอียด อย่างถึงที่สุด
แสดงพระไตรลักษณ์ของสังขารร่าง
พระไตรลักษณ์ โดยย่นย่อ และปรมัตถ์ที่สุด
พระไตรลักษณ์ โดยย่นย่อ และปรมัตถ์ที่สุด
เมื่อไม่เที่ยงแล้วจึงมีอาการแปรปรวนไปมา จนถึงที่สุดของอาการแปรปรวนคือทุกขัง สภาวะที่ทนอยู่ไม่ได้อีกต่อไป จึงดับไปเป็นที่สุด
สังขารทั้งปวงจึงล้วนอนัตตา ตัวตนที่เห็นหรือผัสสะได้ด้วยอายตนะใดๆก็ตามทีล้วนเป็นเพียงมายาของกลุ่มก้อนที่ปรุงแต่งกันขึ้นดังกล่าวข้างต้น จึงล้วนไม่ใช่ของใครๆทั้งสิ้นล้วนเป็นไปตามธรรมคือเป็นไปตามเหตุที่มาเป็นปัจจัยกันนั่นเอง ดังนั้นสังขารทั้งปวง แม้แต่ตัวตนของเรา จึงล้วนไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริง
ส่วนอสังขตธรรมนั้นก็เป็นเพียงธรรมชนิดนามธรรม ที่ยังไม่เกิดเป็นปรากฏการณ์ของการที่เหตุต่างๆ มาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นให้เป็นตัวเป็นตนคือเป็นผลขึ้นแต่อย่างใด จึงเป็นอนัตตาอยู่ในที หรือโดยธรรม คือย่อมยังไม่มีตัวไม่มีตนนั่นเอง ด้วยเหตุดังนี้ ธรรมทั้งปวงจึงล้วนอนัตตา ไม่มีตัวตนแท้จริง เมื่อไม่มีตัวมีตนอย่างแท้จริง จึงย่อมไม่สามารถเป็นอะไรของใครๆได้เช่นกัน จึงล้วนไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราล้วนสิ้นเช่นเดียวกันกับสังขารทั้งปวง
หรือ พิจารณาจากธรรมดังนี้ ก็ย่อมเห็นความจริงได้เช่นกันว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา
(ธัมมจักกัปวัตตนสูตร)
ดังนั้นสังขาร เมื่อถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้ว ในที่สุดย่อมคืนสู่สภาพเดิมหรือธรรมชาติเดิมก่อนการปรุงแต่งโดยธรรมหรือธรรมชาติ กล่าวคือย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา จึงบังเกิดอาการของอนิจจังความไม่เที่ยงขึ้น ที่มีอาการของความแปรปรวนเพื่อคืนสู่ธรรมชาติเดิมเป็นธรรมดา จนทุกขังทนอยู่ไม่ได้ในที่สุด จึงย่อมต้องดับไปเป็นธรรมดา จึงล้วนเป็นอนัตตาเพราะไม่มีตัวตน(จึงไม่ใช่ของตัวของตนอีกด้วย) เพราะตัวตนที่มาประชุมกันอยู่ได้เพียงชั่วขณะระยะหนึ่งนั้น ก็ต้องดับไปเป็นที่สุดนั่นเอง
(อ่านพระไตรลักษณ์จบแล้ว กลับมาอ่านพิจารณาอีกหลายๆครั้ง)
พระไตรลักษณ์
สังขารทั้งหลายทั้งปวง(สังขาร - สิ่งปรุงแต่งหรือถูกปรุงแต่งขึ้น จึงมิไดด้หมายถึงแต่สังขารร่างกายเท่านั้น) ล้วนเป็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ) อันเป็นเช่นนี้เอง กล่าวคือ ล้วนเกิดแต่มีเหตุหรือสิ่งต่างๆ มาเป็นปัจจัยแก่กันและกัน หรือปฏิจจสมุปบันธรรม กล่าวคือ มีเหตุต่างๆ มาประชุมหรือปรุงแต่งกันขึ้น ชั่วขณะหรือระยะหนึ่งๆ เพราะเกิดแต่เหตุที่มาเป็นปัจจัยแก่กันและกัน จึงต้องอาศัยเหตุต่างๆหลายเหตุ มาเป็นปัจจัยหรือมาประชุมรวมกันแบบเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน จึงล้วนเพียงแลดูประหนึ่งว่าเป็น สิ่งๆเดียว, แต่ในความเป็นจริงระดับปรมัตถ์นั้น มิใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริง เพียงแต่เกิดจากการประชุมเป็นปัจจัยกันของเหตุต่างๆ ชั่วขณะระยะเวลาหนึ่งๆเท่านั้น จากความแตกต่างกันโดยธรรมหรือธรรมชาตินี้นี่เอง ดังนั้นสังขารทั้งหลายทั้งปวงจึงมีความไม่สมบูรณ์ในตัวเองซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่ มีแรงบีบคั้น แรงยึด แรงผลัก ฯ. จากความแตกต่างกันโดยธรรมชาติ กล่าวคือ จึงมีแรงกริยาและแรงปฏิกริยาต่างๆนาๆ แอบแฝงอยู่ในสังขารนั้นๆ อันก่อให้เกิดสภาวธรรมหรือสภาวะของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ จึงเป็นไปดั่งนั้น จนเรียกกันว่าสามัญลักษณะ หรือลักษณะโดยทั่วไปของสังขารทั้งปวง อันเป็นไปดังนี้
จึงล้วนเป็น "อนิจจัง" มีความไม่เที่ยง มีอันต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอาการธรรมดา, ไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนาได้ตลอดไป, เพียงบางครั้งแลดูประหนึ่งว่า สามารถควบคุมบังคับได้ในบางเหตุปัจจัย จึงก่อให้เกิดมายาจิต เกิดความหลงผิด ไปหลงคิดหลงยึดว่าอยู่ภายใต้อํานาจของตัวของตน สามารถควบคุมบังคับได้ แต่แท้จริงแล้วไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างจริงแท้แน่นอน ต้องมีอันต้องแปรปรวนไปตามสภาวธรรมหรือธรรมชาติเป็นที่สุด อย่างจริงแท้แน่นอน จึงเป็นทุกข์
จึงล้วนเป็น "ทุกขัง" มีความคงทนอยู่ไม่ได้ จึงเป็นทุกข์เมื่อไปอยากด้วยตัณหา หรือไปยึดมั่นด้วยอุปาทาน ก็เนื่องเพราะเมื่อมีการแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดย่อมแปรปรวนจนถึงภาวะสุดท้ายของการแปรปรวน คือ การดับไปเป็นที่สุด ดังนั้นสังขารทั้งหลายทั้งปวงจึงมีอาการเสื่อมไปเป็นอาการธรรมดา และถึงภาวะต้องดับไปเป็นที่สุด จึงเป็นทุกข์เพราะย่อมไม่สมดังหวังเป็นที่สุดอีกนั่นเอง
เพราะล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย จึงล้วนเป็น "อนัตตา" ไม่มีตัวไม่มีตน ที่เป็นแก่น เป็นแกน เป็นสาระอย่างแท้จริงได้ตลอดไป กล่าวคือ ตัวตนทั้งหลายนั้น แม้แต่ตัวตนของตน ก็ไม่ใช่ของตัวของตนอย่างแท้จริง เป็นเพียงสมมติสัจจะ เพราะล้วนแต่เกิดมาจากเหตุปัจจัยต่างๆหลากหลาย มาประชุมปรุงแต่งเป็นปัจจัยแก่กันและกัน และเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันชั่วขณะหรือในระยะเวลาหนึ่งๆ ดุจดั่งเงา(ขยายความ), ดังนั้นเมื่อเหตุปัจจัยต่างๆเหล่าใดเหล่านั้น ที่มาประชุมกันตัวใดตัวหนึ่งมีอันต้องแปรปรวน,เสื่อม หรือดับไป ผลหรือผลลัพธ์ที่เกิดแต่เหตุปัจจัยเหล่านั้น อันคือ สังขารทั้งปวงแม้
ตัวตน,ของตนทั้งหลายทั้งปวงที่ไปหลงยึดติด ยึดมั่น ถือมั่นพึงพอใจทั้งในสุขและในทุกข์ ก็ต้องแปรปรวน เสื่อม และดับไปตามเหตุปัจจัยเหล่านั้นเป็นที่สุด จึงมีสภาพที่ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้อย่างแท้จริง จึงต่างล้วนแต่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ล้วนแต่เป็นไปตามธรรมคือเหตุปัจจัยล้วนสิ้น
ด้วยเหตุเพราะอนิจจังความไม่เที่ยง, ทุกขังความคงทนอยู่ไม่ได้ ต้องเสื่อมและดับไป, และอนัตตาไม่ใช่ตัวใช่ตน หรือไม่มีตัวตนเป็นแก่นแกนอย่างแท้จริง, เหตุเพราะย่อมควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ตามปรารถนาอย่างแท้จริงแน่นอน จึงจักเป็นทุกข์ถ้าไปอยากหรือไม่อยากด้วยตัณหา หรือไปยึดมั่นตามความพึงพอใจของตนด้วยกิเลส(อุปาทาน) เพราะย่อมไม่สมปรารถนาหรือผิดหวังเป็นที่สุดเมื่อเกิดอาการแปรปรวนหรือดับไปนั่นเอง แม้ในสุข ทั้งในทุกข์ก็ตามที กล่าวคือ ต้องเป็นทุกข์ในที่สุดอีกนั่นเอง
(ควบคุมบังคับไม่ได้ หมายถึง การควบคุมบังคับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไม่เที่ยงแท้ไม่แน่นอน)
สังขารทั้งหลายทั้งปวง จึงล้วนมีสภาวะดังนี้
ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย ตั้งอยู่อย่างไม่เที่ยง แปรปรวนไปมา จนดับไปเป็นที่สุด ล้วนเป็นอนัตตา จึงล้วนไม่ใช่เราหรือของเรา อย่างแท้จริง
พระไตรลักษณ์
พระไตรลักษณ์เดิมทีนั้น แม้แต่ในพระไตรปิฎกก็เรียกกันโดยทั่วไปว่าธรรมนิยาม(ธมฺมนิยามตา) ที่แปลว่า นิยามของธรรม(หรือธรรมชาติ) ที่มีความหมายว่า ข้อกำหนดหรือความกำหนดที่แน่นอนแห่งธรรม หรือก็คือธรรมชาตินั่นเอง, ส่วนคำว่าพระไตรลักษณ์ และคำว่าสามัญลักษณะหรือสามัญญลักษณะ ที่มีความหมายเดียวกันกับธรรมนิยามนั้น เป็นคำที่เกิดขึ้นในภายหลังในยุคอรรถกถา, พระไตรลักษณ์หรือธรรมนิยามเป็นข้อธรรมที่แสดงถึงลักษณะ หรือกฏ หรือข้อกำหนดของธรรม หรือก็คือธรรมชาติอันยิ่งใหญ่และลี้ลับ แต่ด้วยพระปรีชาญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมของพระองค์ท่านได้หงายของที่ควํ่าอยู่ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืด ด้วยพระประสงค์ว่าผู้มีจักษุคือปัญญาจะได้แลเห็น กล่าวคือทรงแสดงสภาวธรรม(ธรรมชาติ)อันลี้ลับที่ไม่มีผู้ใดล่วงรู้อย่างถูกต้องแจ่มแจ้งแท้จริงมาก่อน นับเนื่องมาแต่โบราณกาล โดยเฉพาะพระองค์ท่าน ทรงสอนแต่ในเรื่องธรรมชาติของความทุกข์ ที่หมายถึงเน้นสอนในเรื่องสภาวธรรมหรือธรรมชาติของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์เป็นสำคัญ ซึ่งก็เพื่อยังประโยชน์อันยิ่งใหญ่โดยการนำเอาความรู้ความเข้าใจอันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับความทุกข์นั้น ไปใช้ในการเพื่อการดับทุกข์อันเป็นสุขยิ่ง เป็นที่สุดนั่นเอง อันเกิดขึ้นและเป็นไปดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า
"ในกาลก่อนนี้ก็ตาม ในบัดนี้ก็ตาม เราตถาคต บัญญัติขึ้นสอนแต่เรื่องทุกข์ และการดับสนิทไม่เหลือของทุกข์เท่านั้น"
(พระไตรปิฏก ฉบับที่๑๒ ข้อที่๒๘๖)
พระองค์ท่านทรงเปิดหงายของที่คว่ำอยู่ อันยากยิ่งต่อการหยั่งรู้ได้อย่างแจ่มแจ้งแท้จริง ทรงแสดงแจกแจงแก่เวไนยสัตว์ด้วยพระกรุณาคุณ ทรงแสดงพระไตรลักษณ์หรือธรรมนิยาม อันเป็นสภาวะแห่งธรรมหรือธรรมชาติของเหล่าสังขารและธรรมทั้งปวงว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงล้วนสิ้น ล้วนเกิดมาแต่การที่มีเหตุมาเป็นปัจจัยกันทั้งสิ้นทั้งปวง จึงทำให้ต่างก็ล้วนต้องอยู่ภายใต้อํานาจของ อนิจจัง, ทุกขัง และธรรมทั้งปวงล้วนเป็นอนัตตา, เป็นธรรมคำสอนเพื่อให้เกิดนิพพิทาญาณ คือเกิดความหน่ายจากการไปรู้ความจริง เมื่อหน่าย จึงเกิดการคลายกำหนัดคือตัณหาความอยาก จึงวางความยึดมั่นหรืออุปาทาน (ซึ่งเป็นไปตามปฏิจจสมุปบาทธรรมนั่นเอง) การวิปัสสนาในพระไตรลักษณให้แจ่มแจ้ง จึงเป็นการนําออกและละเสียซึ่งเหล่าตัณหาอุปาทานในขั้นปัญญาหรือวิปัสสนา ดังมีพุทธพจน์ตรัสสอนเกี่ยวกับธรรมนิยามหรือพระไตรลักษณ์ ใน อุปาทสูตร ไว้ดังนี้
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา
สังขารทั้งปวง
ไม่เที่ยง
(อนิจจัง - อนิจจตา)
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา
สังขารทั้งปวง
คงทนอยู่ไม่ได้
(ทุกขัง- ทุกขตา)
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา
ธรรมทั้งปวง
ไม่เป็นตัวตน
(อนัตตา- อนัตตตา)
โปรดสังเกตุคำว่าสังขารและธรรมในพระดำรัสข้างต้นนี้ ดังนั้นก่อนอื่น จึงควรทําความเข้าใจในคําว่า สังขาร และ ธรรม ให้ถูกต้องดีงามเสียก่อน จึงจะเจริญวิปัสสนาในพระไตรลักษณ์ได้อย่างแจ่มแจ้ง
สังขาร ในทางพุทธศาสนาหรือทางธรรมแปลว่า สิ่งปรุงแต่ง, สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ซึ่งก็คือสิ่งที่ถูกเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้น กล่าวคือ สิ่งหรือผลที่เกิดขึ้นมาจากการที่มีเหตุต่างๆ มาเป็นปัจจัย(คือเครื่องสนับสนุนปรุงแต่งแก่กันและกัน)ให้เกิดขึ้นมา จึงมิได้หมายถึงสังขารที่แปลกันโดยทั่วไปในภาษาไทยว่าร่างกายแต่อย่างเดียว แต่เป็นภาษาธรรมหรือบาลีที่มีความหมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้น จากการมีเหตุมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้น จึงครอบคลุมทั้งฝ่ายรูปธรรมที่สามารถสัมผัสได้ด้วยอายตนะ๕ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ดังเช่น สังขารร่างกาย โต๊ เสื้อ รถ บ้าน อาหาร หรือกล่าวได้ว่าวัตถุทั้งปวงทั้งสิ้นนั่นเอง ฯลฯ. และครอบคลุมทั้งฝ่ายนามธรรม ที่แม้ไม่มีตัวตนเป็นกลุ่มก้อนให้สัมผัสหรือผัสสะได้ด้วยอายตนะภายใน ๕ เหมือนดังฝ่ายรูปธรรม แต่สามารถสัมผัสรู้มวลของเหตุได้ด้วยอาตนตนะที่ ๖ คือใจ ดังเช่น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ฯลฯ. ที่แม้เป็นนามธรรม แต่ต่างก็ล้วนต้องเกิดแต่เหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยกันจึงเกิดขึ้นเช่นเดียวกันทั้งสิ้น(ถ้าไม่เข้าใจต้องอ่านในขันธ์ ๕) ที่จักได้กล่าวแสดงรายละเอียดเป็นลำดับๆไป ดังนั้นสังขารทั้งฝ่ายรูปธรรมและนามธรรมจึงล้วนแต่เป็นสิ่งที่ต้องประกอบขึ้นด้วยสิ่งต่างๆ(คือสิ่งหลายๆสิ่ง)มาเป็นปัจจัยหรือประชุมหรือรวมตัวกัน เพื่อยังให้เกิดอีกสิ่งหนึ่งๆขึ้น, อันเมื่อรวมตัวหรือประชุมกันอยู่นั้น หรือก็คือปรุงแต่งกันอยู่นั้น โดยความจริงแท้แล้วจึงเป็นมายาที่เพียงแต่แลดูเสมือนว่า หรือประหนึ่งว่า ดุจดั่งว่าเป็น สิ่งๆเดียวหรือชิ้นเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแท้ขั้นสูงสุด(ปรมัตถ์)แล้ว "ยังคงมีสภาพเกิดจากการประกอบกัน หรือการประชุมปรุงกันอยู่" กล่าวคือ แม้แลดูราวกับว่าเป็นสิ่งๆเดียว แต่ไม่สามารถเชื่อมหรือรวมกันจนเป็นสภาวะสิ่งๆเดียว หรือเนื้อเดียวกันได้อย่างแท้จริงนั่นเอง มันเองก็เกิดจากสภาวะที่ถูกบีบคั้นปรุงแต่งกันให้เกิดขึ้น เมื่อแรงบีบเค้นเปลี่ยนแปลงจึงมีความไม่เสถียรหรือแปรปรวนโดยธรรมหรือธรรมชาติ ก็เพราะความที่ไม่ใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริงดังกล่าวแล้วนั่นแล มันจึงเกิดสภาวะที่ไม่สามารถรวมตัวกันอยู่ได้อย่างเที่ยงแท้และถาวรโดยธรรมหรือธรรมชาติ อุปมาอย่างหยาบๆพอให้เห็นได้ก็คือ ไม้ชิ้นเดียวที่มีการปรุงแต่งน้อยกว่า ย่อมมีความแข็งแรงกว่าไม้ที่นำมาประกอบกันหรือปรุงแต่งประกอบกันด้วยตะปูหรือน๊อตหรือกาวหลายๆสิ่ง แม้ต่างก็เป็นสังขารที่ต้องแปรปรวนแตกหักดับไปในที่สุดเหมือนกันก็ตามที กล่าวโดยย่อก็คือ ธรรมชาติมีสภาวธรรมคือแรงบีบคั้น ที่พยายามผลักดันให้สังขารคืนสภาพ สู่สภาพเดิมๆ หรือธรรมชาติเดิมๆ โดยวิธีการต่างๆให้เป็นไป จึงเกิดอาการความไม่เที่ยงหรืออนิจจังขึ้น นั่นเอง
สังขารในไตรลักษณ์จึงหมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นมาแต่การที่มีเหตุปัจจัยมาประชุมปรุงแต่งกัน จึงหมายถึง ทุกๆสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นมาแต่เหตุปัจจัยทั้งสิ้น จึงครอบคลุมทั้งฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม(คือทั้งฝ่ายวัตถุ และทั้งฝ่ายจิต), โลกียธรรม โลกุตรธรรม กาย จิต ขันธ์๕ ทุกๆสรรพสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น...ฯลฯ. จึงพึงยกเว้นแต่เพียงสิ่งๆเดียวคืออสังขตธรรมเท่านั้น ที่หมายถึง ธรรมหรือสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการที่มีเหตุปัจจัยมาปรุงแต่ง อันได้แก่เหล่า สภาวธรรมหรือธรรมชาติ ทั้งหลายทั้งปวงล้วนสิ้นนั่นเอง ดังเช่น พระนิพพาน สภาวธรรมของฝน สภาวธรรมการตายของชีวิต ฯลฯ.
[ควรทำเข้าใจความหมายของสังขาร ที่เจาะจงเฉพาะทางของสังขารนั้นๆ ดังเช่น สังขารในปฏิจจสมุปบาท, สังขารในขันธ์ ๕ และสังขารในไตรลักษณ์ให้ชัดเจน ที่แม้ล้วนเป็นสังขารสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นก็ตามที มิฉนั้นเมื่อเวลาพิจารณาเจริญวิปัสสนาหรือโยนิโสมนสิการจะเกิดความสับสนและงุนงง จนเกิดวิจิกิจฉาในธรรมขึ้นได้, คลิกดูคําอธิบายเฉพาะเจาะจงภายหลังได้ ที่นี่ ]
"สังขาร"ที่กล่าวว่า สิ่งปรุงแต่งหรือสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ด้วยเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยกัน ดังเช่น สังขารร่างกาย ก็เป็นสังขารที่เกิดแต่เหตุปัจจัยของธาตุ ๔, ชีวิต ก็เป็นสังขารที่เกิดแต่เหตุปัจจัยของขันธ์ทั้ง ๕, แม้แต่เวทนาหรือเวทนาขันธ์ คือความรู้สึกที่ย่อมเกิดขึ้นจากการผัสสะด้วยอายตนะต่างๆ อันเป็นนามธรรม ที่แม้ไม่มีตัวตนแต่ก็เป็นสังขารอย่างหนึ่งเช่นกัน เพราะเกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่ง คือการที่มีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยกันจึง"เกิด"ขึ้น ดังต่อไปนี้
อายตนะภายนอก อายตนะภายใน วิญญาณ๖ ผัสสะ สัญญา เวทนา คือ ความรู้สึกเป็นสุข, ทุกข์, ไม่สุขไม่ทุกข์ อย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเป็นธรรมดาหรือตถตา
กล่าวคือ จะพิจารณาเห็นได้ว่าเวทนานั้นเกิดขึ้นหรือมีชาติขึ้นมาแต่การที่มีเหตุปัจจัยมาปรุงแต่งกันดังข้างต้น คือ เกิดแต่เหตุอันมีอายตนะภายนอกต่างๆ กับอายตนะภายในต่างๆ ตลอดจน วิญญาณ๖ จึงยังให้เกิดการผัสสะกันขึ้น และเกิดสัญญาขึ้น กล่าวคือ ต้องมีเหตุต่างๆเช่นดังนี้ มาเป็นปัจจัยกัน จึงยังให้เกิดเวทนาขึ้นมาได้ ฯ. กล่าวแสดงดังนี้แล้ว คงจะเห็นได้แจ่มแจ้งว่า แม้เวทนาที่เป็นนามธรรมไม่มีตัวไม่มีตนแท้จริง เป็นนามธรรม ที่เป็นความรู้สึกรับรู้ที่ย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาของผู้ที่มีชีวิตเมื่อเกิดการผัสสะขึ้นโดยธรรมคือธรรมชาติ จึงเป็นสังขารอย่างหนึ่งช่นกัน, ส่วนขันธ์อื่นๆของชีวิตทุกขันธ์ก็เป็นสังขารที่ถูกปรุงแต่งดังนี้เช่นกัน, จิต ก็เป็นสังขารอย่างหนึ่ง เกิดแต่เหตุปัจจัยของ เวทนา สัญญา วิญญาณ และยังต้องอาศัยสังขารกายหรือรูปเป็นเหตุปัจจัยร่วมอีกด้วย, โต๊ะ ก็เป็นสังขาร เกิดแต่เหตุปัจจัยของไม้ ตะปู กาว ตลอดจนกรรม(การกระทำ)ในการประกอบกันขึ้น ฯ., การพูด การคิด การกระทำทางกายต่างๆ ก็ล้วนเป็นสังขาร เป็นผลที่เกิดขึ้นแต่เหตุปัจจัยของขันธ์ทั้ง ๕ ที่ทำงานประสานเนื่องสัมพันธ์กัน จึงเกิดสังขารที่เรียกกันเจาะจงเฉพาะตัวลงไปอีกว่าสังขารขันธ์, เมฆที่เห็นบนท้องฟ้า ก็เกิดแต่เหตุปัจจัยของ การระเหยของนํ้า ไอนํ้า ฝุ่น ความร้อนเย็น ฯ. จึงเป็นสังขาร, พระอาทิตย์ก็เป็นสังขาร เกิดแต่เหตุปัจจัยของมวลหมู่ก๊าซต่างๆ ตลอดจนการลุกไหม้ ฯ., รถยนต์ก็เป็นสังขาร เกิดแต่เหตุปัจจัยของวัตถุธาตุต่างๆมาประกอบกัน พร้อมทั้งการกระทำ(กรรม)เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น, อะตอมเพียงอะตอมเดียวก็เป็นสังขาร เกิดแต่เหตุปัจจัยของโปรตอน อิเลคตรอน นิวตรอน มาประชุมปรุงแต่งกันฯ. ลองพิจารณาในสิ่งต่างๆที่ท่านได้เห็น ท่านได้ยิน ท่านได้สัมผัสด้วยอายตนะใด ฯ. ต่างล้วนเป็นสังขาร กล่าวคือ เกิดแต่เหตุต่างๆมาประชุมเป็นปัจจัยกันนั่นเอง ดังเช่น อายตนะภายนอก อายตนะภายใน การผัสสะ วิญญาณ ฯ., และที่สำคัญที่สุดที่ควรรู้ยิ่ง แม้แต่ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นสังขารเช่นกัน จึงต้องมีเหตุมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกัน อันเป็นไปดังวงจรปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง จึงเกิดขึ้นเป็นความทุกข์อันเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายขึ้นได้ ดังนั้นสังขารจึงครอบคลุมแทบทุกสรรพสิ่งจริงๆ อันพึงยกเว้นแต่เพียงอสังขตธรรมคือธรรมหรือสิ่งที่ไม่ได้เกิดแต่เหตุปัจจจัยปรุงแต่งเท่านั้น ดังที่จักกล่าวต่อไปโดยละเอียด
ธรรม ในไตรลักษณ์ หมายถึง ครอบคลุมทุกๆสรรพสิ่งล้วนสิ้น ทั้งสากลจักรวาล กล่าวคือตั้งแต่เล็กที่สุด จนใหญ่ที่สุด, ทั้งรูปธรรม นามธรรม โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆทั้งสิ้น, ธรรมจึงแบ่งออกเป็น ๒ พวกใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ
สังขตธรรม ธรรมหรือสิ่งที่เกิดแต่การมีเหตุมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้น หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า "สังขาร" ดังกล่าวแสดงข้างต้นแล้ว และ
อสังขตธรรม ธรรมหรือสิ่งที่ไม่ได้เกิดแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่ง ดังเช่น พระนิพพาน เพราะหมายถึงสภาวธรรมหรือธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง กล่าวคือ ยังไม่เกิดปรากฏการณ์ของการปรุงแต่งกันขึ้น แต่ก็เป็นจริงอย่างนี้ เป็นเพียงสภาวะหรือสภาวธรรมหรือนามธรรม ที่ยังไม่เกิดการปรุงแต่งกันขึ้น จึงครอบคลุมสภาวธรรมทั้งหลาย เช่น นิพพาน, สภาวธรรมการตายหรือแตกดับของชีวิต, สภาวธรรมของการเกิดขึ้นของฝน ฯลฯ. สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงธรรม ที่ยังไม่ได้เกิดการปรุงแต่งกัน จนเกิดขึ้นจริงๆ เป็นตัวเป็นตนหรือเป็นสังขาร แต่เมื่อใดที่มีเหตุหรือสิ่งต่างๆที่เป็นปัจจัยกันมาปรุงแต่งหรือประชุมกันครบ ก็จะเกิดสังขารหรือสังขตธรรมขึ้น, ธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอยู่อย่างนั้น เรียกได้ว่าอกาลิโก ไม่ขึ้นต่อกาล จึงมีความแตกต่างไม่เหมือนดังเช่นพวกสังขาร ที่ไม่เที่ยงและทนอยู่ได้ยากจึงต้องดับไปเป็นที่สุดทั้งสิ้น
ทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรมทั้งสอง แม้แลดูว่าเข้าใจง่ายๆ แต่พยายามแยกแยะให้กระจ่างชัด เพราะมีความเนื่องสัมพันธ์ให้เข้าใจในพระอนัตตาในภายหน้าได้อย่างแจ่มแจ้ง
สรุปความพระไตรลักษณ์ ได้ดังนี้ "สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง มีอันต้องแปรปรวนไปเป็นอาการธรรมดา, จึงทนอยู่ไม่ได้จึงต้องเสื่อมไปเป็นอาการธรรมดาและดับไปในที่สุด จึงจักเป็นทุกข์ถ้าไปอยากไปยึดด้วยเหล่าตัณหาอุปาทาน, เป็นอนัตตาไม่มีตัวตน หรือไม่ใช่ของตัวของตน (ตัวตน-หมายถึงตัวตนของสิ่งต่างๆทั้งหลายทุกชนิด รวมทั้งตัวตนของตนด้วย)ที่เป็นแก่นเป็นแกนอย่างแท้จริง ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยต่างๆมาประชุมปรุงแต่งกันชั่วขณะ หรือประกอบกันในระยะเวลาหนึ่ง เป็นกลุ่มก้อนมายาหรือฆนะ ดังนั้นเมื่อเหตุปัจจัยเหล่านั้นมีอันต้องแปรปรวน เสื่อม และดับไปตามสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ด้วยเหตุอันหนึ่งอันใดก็ดี, ฆนะหรือกลุ่มก้อนของตัวตนหรือของตนเหล่านั้นอันเป็นผล จึงต้องแปรปรวน เสื่อม และดับไปตามเหล่าเหตุต่างๆที่มาเป็นปัจจัยกันนั้น ในที่สุด เป็นไปตามหลักธรรมอิทัปปัจจยตา, จึงไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนา ได้อย่างจริงแท้แน่นอน"
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)