เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ
ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "
หน้าเว็บ
เกี่ยวกับฉัน
- Nitinandho
- อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย
ผู้ติดตาม
วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556
***การออกปฏิบัติธรรมในสมัยแรกๆ ของหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ พระอริยะแห่งดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่***
ส่วนหนึ่งของการรวบรวมเรียบเรียงโดย
พระนาค อตฺถวโร
วัดสัมพันธวงศ์ กทม.
การออกปฏิบัติธรรมในสมัยแรกๆ หลวงปู่แหวนท่านยังไม่รู้จักวิธีภาวนา เวลาอยู่ในป่าในเวลากลางคืนมักจะเกิดความระแวงไปในเรื่องที่ไร้สาระต่างๆ ตามแต่จิตมันจะปรุงขึ้นมา ส่วนมากมักจะเป็นเรื่องหลอกตัวเองทั้งสิ้น ตามความเคยชินของจิตที่เคยเป็นอิสระมาตลอด โดยไม่มีขอบเขต ไม่มีเครื่องกั้น ไม่มีสิ่งควบคุม ครั้นมาปฏิบัติเข้าในระยะแรกก็รู้สึกดื่มด่ำดี แต่พอเอาเข้าจริงๆ จิตกลับฟุ้งปรุงไปเป็นอดีตกับอนาคต ไม่ได้คิดพิจารณาในเรื่องปัจจุบันนัก
แต่เพราะอาศัยได้รับคำแนะนำแก้ไข พร้อมทั้งอุบายในการแก้จิตในเวลาฟุ้งซ่าน อุบายการข่มจิตในเวลาเกิดความทะนงตน ประกอบการได้รับคำสั่งจากพระอาจารย์มั่นให้ไปอยู่ในที่ต่างๆ ได้อาศัยอาจารย์เสือบ้าง อาจารย์ช้างบ้างเป็นผู้ข่มขู่จิต ประกอบกับพยามยามประกอบความเพียรให้เป็นไปติดต่อไม่ขาดวรรคขาดตอน ทั้งกลางวันกลางคืน จิตก็ค่อยรวมตัวอยู่ในความควบคุมของสติรวมเข้าสู่สมาธิ ความเยือกเย็นในด้านจิตใจ เริ่มปรากฏผลให้ประจักษ์ ทำให้เกิดความมั่นใจในข้อปฏิบัติของตนที่ได้ดำเนินมาว่าไม่ผิดทาง
เมื่อความสงบของจิตเริ่มปรากฏเป็นผลของการปฏิบัติความเพียร ซึ่งแต่ก่อนมาเคยฝึกทำมาตลอดนั้น พอจิตสงบลงความเพียรก็เร่งขึ้นตามส่วน เป็นเครื่องบำรุงส่งเสริมสมาธิปัญญาไปในขณะเดียวกัน เมื่อศรัทธามีกำลัง สมาธิมีกำลัง ปัญญาก็มีกำลังต่างก็ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ตั้งแต่สมาธิขั้นต่ำไปถึงปัญญาขั้นสูง ความสุขทางด้านจิตใจเริ่มปรากฏเป็นผลให้ชื่นชม ไม่เสียแรงที่ได้พยามยามตั้งใจปฏิบัติมา
การปฏิบัติทางจิตนั้นเป็นของละเอียดอ่อนมาก สติสัมปชัญญะต้องตื่นอยู่เสมอไม่เช่นนั้นจะตามไม่ทัน จิตซึ่งเป็นธรรมชาติ ชอบคิด ชอบปรุง ชอบแส่ส่ายไปหาอารมณ์ที่ใกล้ที่ไกล ไม่มีขอบเขต ถ้าอยู่ในที่ชุมชนอารมณ์ที่เข้ามานั้นส่วนมากจะเข้ามาทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง เมื่ออารมณ์เข้ามาทางไหน จิตก็รับรู้ต้อนรับทันที การต้อนรับอารมณ์ของจิตมักจะนำมาแบกมาหามมาทับถมตัวเอง การที่จะสลัดตัดวางนั้นไม่ค่อยปรากฏ เพราะเหตุนั้นจึงทำให้เราเป็นทุกข์ไปกับอารมณ์นั้นๆ เป็นสุขไปกับอารมณ์นั้นๆ เป็นความเพลิดเพลินไปกับอารมณ์นั้นๆ ทั้งนี้ก็เพราะขาดการพิจารณาของจิตนั่นเอง
จิตที่ไม่มีสติไม่มีพี่เลี้ยงคอยควบคุม คอยแนะนำมักจะไปแบกไปหาม ไปหามเอาทุกสิ่งทุกสิ่งทุกอย่างมาทับมาถมตนเองให้เกิดทุกข์ ถึงกับบางคนตีอกชกตนเห็นทุกสิ่งทุกอย่างไม่น่ารื่นรมย์ กลายเป็นพิษเป็นภัยไปก็มาก ส่วนอารมณ์ของนักปฏิบัติผู้อยู่ในป่านั้น มักเกิดขึ้นกับจิตที่ชอบปรุงแต่งเป็นอดีตอนาคต ซึ่งอารมณ์ประเภทนี้ทำลายนักปฏิบัติมามากต่อมากแล้ว เหตุเพราะไม่รู้เท่าทันกลมายาของจิต เหตุเพราะขาดสติปัญญาพิจารณานั่นเอง
ดังนั้น การปฏิบัติจิตภาวนาจำต้องเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ อารมณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้าออกตามทวารต่างๆ นั้น ต้องได้รับการใคร่ครวญพิจารณาจากสติสัมปชัญญะเสียก่อนทุกครั้ง นอกจากความเป็นผู้มีสติประจำอิริยาบถแล้ว การบริโภคปัจจัย ๔ ก็ต้องพิจารณาโดยอุบายทุกครั้ง การพิจารณาปัจจัย ๔ ก่อนการบริโภคการใช้สอยนั้น เป็นอุบายข่มความทะเยอทะยานอยากของจิตได้ดี บางครั้งก็เกิดความแยบคาย เป็นอุบายของปัญญาได้ ดังนั้น การภาวนาก็คือการมีสติสัมปชัญญะคอยตักเตือนตนเองอยู่เสมอ ไม่ให้เกิดความประมาท ความมัวเมา มีอินทรีย์สังวรละเว้นบาปอกุศลแม้เพียงน้อย จำต้องอาศัยความหมั่นเพียร ความพยายามทางกาย ทางวาจา ทางใจของตน จึงจะรักษาตนให้รอดปลอดภัย ต้องกระทำให้มาก ให้เป็นไปติดต่อไม่ขาดวรรคขาดตอน
***เหตุการณ์หลวงปู่แหวน กับ หลวงปู่ตื้อ....น่าขนพองสยองเกล้า***
เอาเรื่องราวแนวธรรมะมาฝาก....
มีเหตุการณ์น่าขนพองสยองเกล้าครั้งหนึ่ง เขียนในนิตยสารโลกทิพย์ ดังนี้
ในเช้าวันหนึ่ง หลวงปู่แหวนกับหลวงปู่ตื้อ ได้อาศัยบิณฑบาตที่หมู่บ้านชาวป่า มี 4-5 หลังคาเรือน ชาวบ้านพากันมาใส่บาตรด้วยความดีใจ เพราะนานๆ จึงจะมีพระธุดงค์มาโปรดสักที
ชาวบ้านถามว่า พระคุณเจ้าทั้งสองจะไปไหน หลวงปู่บอกว่าจะมุ่งไปทางเทือกเขาที่มองเห็น แล้วจะลงไปทางสุวรรณเขต (อยู่ตรงข้ามกับมุกดาหาร) ชาวบ้านแสดงอาการตกใจ พร้อมทั้งทัดทานว่าอย่าไปทางโน้นเลย เพราะมียักษ์ปีศาจดุร้ายสิงอยู่ คอยทำร้ายคนและสัตว์ที่ผ่านไปทางนั้น
หลวง ปู่ทั้งสอง กล่าวขอบใจในความหวังดี และบอกว่าท่านทั้งสองได้มอบกายถวายชีวิตให้พระศาสนาแล้ว ขออย่าได้ห่วงตัวท่านเลย แล้วท่านก็ออกเดินทางไปในทิศทางดังกล่าว
หลวง ปู่ออกเดินทางโดยข้ามลำน้ำสองแห่ง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ป่าแถบนั้นเงียบกริบ ไม่ได้ยินเสียงสัตว์ต่างๆ เลย แม้แต่นกก็ไม่มี ดูผิดประหลาดมาก
พอใกล้ค่ำหลวงปู่ทั้งสอง ก็มาถึงยอดเขาสูงที่มีลักษณะประหลาดมาก คือยอดเป็นสีดำคล้ายถูกไฟเผา รูปลักษณะดูตะปุ่มตะป่ำคล้ายหัวคนบ้าง หัวตะโหนกช้างบ้าง แปลกไปจากเขาลูกอื่นๆ
หลวงปู่ทั้งสอง เลือกปักกลดค้างคืนข้างลำธารที่มีน้ำใสไหลผ่านอยู่ที่เชิงเขาลูกนั้น ปักกลดห่างกันประมาณ 10 เมตร เมื่อสรงน้ำพอสดชื่นแล้วต่างองค์ก็นั่งสงบภายในกลดของตน ทั้งสององค์ตระหนักในความประหลาดของสถานที่นั้น ไม่ได้พูดอะไรกันเพียงแค่นั่งสงบอยู่ภายในกลด
ประมาณ 5 ทุ่ม หลวงปู่แหวน ก็ออกจากกลดเตรียมจะเดินจงกรม หลวงปู่ตื้อ ออกมาตามและพูดว่า "ผมรู้สึกว่าที่นี่วิเวกผิดสังเกตนะ"
หลวงปู่แหวน ตอบ "ผมก็รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน"
พูดกันแค่นี้แล้วต่างองค์ต่างก็เดินจงกรมในทางของตน
ต่อจากนั้นไม่นานก็มีเสียงกรีดแหลมเยือกเย็นดังลงมาจากยอดเขารูปประหลาดนั้น เสียงนั้นแหลมลึกบีบเค้นประสาทจนรู้สึกเสียวลงไปถึงรากฟันทีเดียว
หลวงปู่ตื้อ ถามพอได้ยินว่า "ท่านแหวนได้ยินแล้วใช่ไหม"
หลวงปู่แหวน ตอบด้วยเสียงเรียบ ๆ ว่า "ผมกำลังฟังอยู่"
เสียงกรีดร้องนั้นใกล้เข้ามาทุกที ฟังแล้วน่าขนพองสยองเกล้า ทั้งสององค์คงเดินจงกรมอยู่เงียบๆ ตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ป่านั้นเงียบสงัดจริงๆ เสียงนกเสียงแมลงก็ไม่มี ครั้นแล้วเกิดพายุปั่นป่วนมาอย่างกระทันหัน ชนิดไม่มีเค้ามาก่อนเลย ต้นไม้โยกไหวรุนแรงราวกับจะถอนรากออกมา อากาศพลันหนาวเย็นวิปริตขึ้นมาทันที พลันปรากฏร่างประหลาดขึ้นร่างหนึ่ง ตัวดำมะเมื่อม สูงราว 7 ศอก มีขนยาวรุงรังคล้ายลิงยักษ์ แต่หน้าคล้ายวัวควาย ตาโปน มือสองข้างยาวลากดิน มันก้าวเข้ามาอยู่ห่างจากหลวงปู่ทั้งสองประมาณ 10 เมตรเห็นจะได้
สัตว์ประหลาดนั้นส่งเสียงร้องโหยหวนขึ้น พลันพายุนั้นก็สงบลง แสดงว่ามันมีอำนาจเหนือธรรมชาติ สัตว์นั้นส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงร้ายกาจเหมือนกลิ่นศพที ่กำลังขึ้นอืด มันกระทืบเท้าสนั่นจนแผ่นดินสะเทือน
หลวงปู่แหวนเล่าในภายหลังว่า ท่านไม่รู้สึกกลัว แต่ขนลุกซู่ซ่าไปหมด เพราะไม่เคยเห็นสัตว์ประหลาดอย่างนั้นมาก่อน ยังไม่รู้ว่าเป็นปีศาจหรือสัตว์อะไรแน่ ท่านได้กำหนดสติไม่ให้ใจคอวอกแวก ทอดสายตาไปยังสัตว์ประหลาดนั้น กำหนดจิตแผ่เมตตาไปยังร่างนั้น สัตว์ร่างยักษ์นั้นหยุดร้อง หยุดส่งกลิ่นเหม็น แสดงว่ารับกระแสเมตตาได้ มันค่อยๆ ทรุดร่างลงนั่งยองๆ เอามือยันพื้นไว้ ทำท่าแสดงความนอบน้อมต่อท่าน
หลวงปู่ตื้อ พูดพอได้ยินว่า "ท่านแหวนทำดีมาก" พร้อมทั้งเดินมาสมทบ แล้วพูดว่า "เขาแบกหามบาปหาบทุกข์อันมหันต์ เขามาหาเรา เพื่อให้ช่วยปลดทุกข์ให้เขานะ เขาสร้างกรรมไว้มาก เมื่อตายจากมนุษย์แล้วต้องมาเป็นปีศาจอสุรกาย ทนทุกข์ทรมานอยู่ที่นี่"
หลวง ปู่แหวน ได้กำหนดจิตถามดูก็ได้ความว่า สมัยเป็นมนุษย์เขามีการกระทำที่มากล้นด้วยตัณหา และความโลภ คือละเมิดศีลข้อ 2 และข้อ 3 อยู่เสมอ จึงต้องมาเป็นปีศาจอสุรกาย รับทุกข์อยู่ที่นั่นมากว่าร้อยปีแล้ว
ปีศาจอสุรกายนั้นดูท่าทางอ่อนลงมาก มันร้องไห้คร่ำครวญน่าสงสาร ขอความเมตตาจากพระคุณเจ้าทั้งสองให้เขาได้พ้นทุกข์ทรมานนั้นด้วยเถิด
หลวงปู่แหวน ได้พิจารณาเห็นว่า เขาสร้างกรรมซับซ้อนเหลือเกินใครจะช่วยเขาได้ พลันหลวงปู่ตื้อตอบมาในสมาธิว่า "กรรมเป็นเรื่องสลับซับซ้อนลึกซึ้งอยู่ก็จริง บางทีพระผู้มีศีลบริสุทธิ์และมีบารมีเช่นท่านแหวน ก็อาจจะช่วยให้เขาพ้นทุกข์ได้ ลองอ่านพระคาถา หรือเทศนาธรรมให้เขาฟังดูสิ"
หลวงปู่แหวนได้กำหนดจิตว่าพระคาถา แล้วเทศนาให้เขาสำนึกบาปบุญคุณโทษ เขาค่อยๆ คลายความกังวลลง ก้มลงกราบด้วยความซาบซึ้ง
"พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าได้กำหนดจิตพิจารณาตามกระแสธรรมของท่านแล้ว เกิดแสงสว่างกับข้าพเจ้าอย่างมหัศจรรย์ และข้าพเจ้าได้เห็นสภาวธรรม คือ ชาติ ชรา มรณะ อันเป็นทุกข์เป็นธรรมดาของสรรพสัตว์ทั้งหลายแล้วพระคุณเจ้า"
สีหน้าเขาดูสดชื่นขึ้น ก้มลงกราบหลวงปู่ทั้งสององค์ แล้วร่างนั้นก็หายไป
จากหนังสือ "หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ" วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ (โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม3)
***ของดีหลวงปู่แหวน สุจิณโณ***
ร่างของหลวงปู่ผู้ชรา จะถูกเผาไหม้ไปในวันมะรืนนี้ แต่ชื่อของหลวงปู่จะอยู่ในหัวใจของพุทธศาส- นิกชนไปอีกนานเท่านาน
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เป็นพระที่มีเมตตาสูงแผ่เมตตาบารมี ให้คนมั่งมี ร่ำรวยไม่รู้กี่ร้อยกี่พันราย
แม้หลวงปู่จะตายไปแล้ว ร่างกายกำลังจะถูกเผาไหม้ไปในวันนี้ พรุ่งนี้ แต่บารมีหลวงปู่ ก็ยังทำให้คน ร่ำรวยอีกมหาศาล
คนที่พิมพ์หนังสือที่ระลึกถึงหลวงปู่ คนที่ตัดสบงจีวรออกขายโดยบอกว่า เป็นของที่หลวงปู่เคยใช้ เมื่อหลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ คนเป็นหมื่นเป็นแสนที่หลั่งไหลไปในงานศพของหลวงปู่ ไปโดยรถไฟ เครื่องบิน รถทัวร์ รถสองแถวเล็ก ฯลฯ สารพัดชนิด พวกนี้ร่ำรวยกันไปหมด
หลวงปู่ช่วยให้อีกหลายร้อย หลายพันคนร่ำรวย แม้หลวงปู่จะตายไปสองปีแล้ว
หลวงปู่แผ่เมตตาให้กับทุกคนในสมัยที่หลวงปู่มีชีวิตอยู่ แต่ไม่ค่อยมีใครแผ่เมตตาให้กับหลวงปู่แหวน สุจิณโณ กันเลย
ทุกคนรักหลวงปู่ ไปขอของที่หลวงปู่ใช้แล้วมาเก็บไว้เพื่อเป็นสิริมงคล อย่างเส้นผมของหลวงปู่นั้น แย่งกันนัก
บางครั้งหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ถึงกับออกปากว่า "เฮาโกนหัวแล้ว เปิ้นยังจะฮื้อโกน แถมจะเอาผม เอาไปสร้างพระอะหยัง เฮาเจ็บหัว"
แม้แต่น้ำที่ท่านอาบ ก็มีผู้ประสงค์เอาไปเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเขา หลวงปู่ก็ได้แต่พูดว่า "เฮาหนาวจะต๋าย เปิ้นก็จะฮื้อเฮาอาบน้ำอีก"
ถ้าใครไปขอของดีจากหลวงปู่แหวน หลวงปู่จะบอกว่า "ของดีอะไร อะไรคือของดี ของดีมีอยู่ด้วย กันทุกคนแล้ว การที่มีร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ไข้ได้พยาธินั้น ก็มีของดีแล้ว การมีร่างกายแข็งแรง มีอวัยวะครบถ้วน ไม่บกพร่องพิกลพิการ อันนี้ก็มีของดีแล้ว จะต้องไปหาของดีที่ไหนกันอีก"
แต่โอวาทของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ นั้นเป็น "ความยิ่งใหญ่" ที่หาเปรียบปานได้ยาก
"คนเรามันรักสุข เกลียดทุกข์นี่ หนักก็หนักอยู่ตรงนี้แหละ ไม่รับความจริง"
"คนเราเกิดมา นินทาก็ดี สรรเสริญก็ดี อย่าไปรับเอามาหมักไว้ในใจ ปล่อยผ่านไปเสีย"
"ตัดอดีด อนาคต ลงให้หมด จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน รู้ในปัจจุบัน ละในปัจจุบัน ทำในปัจจุบัน แจ้งอยู่ ในปัจจุบัน"
"ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่มีความเพียร ไม่มีความสำเร็จ"
"มองดูท้องฟ้า เห็นดวงดาวเต็มไปหมด การเกิด การตาย ไม่รู้ว่าอีกเท่าไหร่ เกิดแล้วตาย เกิดแล้ว ตาย....."
ร่างของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ จะถูกเผาไหม้ไปในวันมะรืนนี้แล้ว แต่ธรรมะของหลวงปู่จะอยู่ตลอด ไป
ตั้งจิตอธิษฐานกันในวันเผาหลวงปู่ แม้จะไม่ได้ไปร่วมในพิธี สำรวมจิตให้มั่นคง ขอให้หลวงปู่แหวนพระแท้ๆ ของชาวไทยได้บรรลุถึงพระนิพพาน.
( คัดจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คอลัมน์ "สวัสดีเวลาเช้า" เขียนโดย มังกรห้าเล็บ (ไม่ได้บันทึกฉบับที่ไว้) )
***ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่มีความเพียร ไม่มีวันสำเร็จ***
คติธรรม คำสอน ของ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่
พระคุณเจ้าหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระอริยสงฆ์ที่เป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงยิ่ง จากพุทธศาสนิกชนทุกเทศทุกวัย ทั้งในและ ต่างประเทศ
แม้ หลวงปู่จะได้ลาขันธ์ไป ตั้งแต่คืนวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๒๘ แต่ความทรงจำในกระแส เมตตา ปฎิปทาสัมมาปฎิบัติ จริยาวัตรที่งดงาม พร้อมกับธัมโมวาทอันล้ำค่า ของหลวงปู่ ก็ยังส่อง สว่างอยุ่กลางใจของพวกเราชาวพุทธทุกผู้ทุกนาม
เมื่อ น้อมระลึกถึงหลวงปู่ที่ไร ความสุข สงบ ความโสมนัส ชื่นบาน ความสมหวัง โชคดี ความเป็นสิริมงคล จะดื่มด่ำอยู่ในจิตใจ อย่างไม่รู้อิ่มรู้คลาย
ผู้ ที่โชคด มีโอกาสกราบไหว้ องค์หลวงปู่ ได้เคยฟังการปรารภธรรม แสดงธรรม จากหลวงปู่ ต่างก็ประจัษ์ความไพเราะ นุ่มนวลละมุนละไม ประดุจเสียงทิพย์ที่ไพบูลย์ด้วยธรรมะ อันเป็นสากลสัจจะ ยังความอิ่มเอิบ เบิกบาน และเป็นมงคลยิ่งแก่ชีวิต
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เป็นผู้สืบเนื้อนาบุญอันไพศาล นับเป็นพระอริยสาวก ที่ควรแก่กราบ ไหว้บูชาอย่างแท้จริง
ท่าน เจ้าคุณ พระวิบูลธรรมาภรณ์ แห่งวัดสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพๆ ศิษย์ใกล้ชิดท่านหนึ่ง ได้รจนาถึงปฎิทาของหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ดังนี้ :-
" หลวงปู่แหวนท่านมีศีลที่สมบูรณ์ คือเป็นพระสงฆ์ที่มีความปกติครบถ้วนไม่เกินหรือขาด สภาพของท่านเปรียบเสมือนป่าใหญ่ที่มีต้นไม้ใหญ่เล็กนานาชนิด ทังยืนต้น และล้มลุก มี ดอก ใบ ผล สมบูรณ์ ตามสภาพของพันธ์นั้นๆ จะมีต่างอยู่ก็คือกลิ่นของดอกไม้ ในป่า หอมตามลม แต่กลิ่นศีลของหลวงปู่หวลตามลมและทวนลม และ ไม่นิยมกาลเวลา หอมอยู่เสมอ
หลวง ปู่มีจริยาวัตร คือความประพฤติที่เรียบร้อย งดงาม เต็มพร้อมด้วยสิกขา วินัย กฎระเบียบ การปฎิบัติของท่านเรียบง่าย ถูกต้องทั้งในสมาคมสาธารณะ และในที่รโหฐาน จะเป็นที่ชุมชนใหญ่ เล็ก ท่านทำตนเป็นกลางเสมอเหมือน ความประพฤติของท่าน เสมือนต้นไม้ใหญ่ ที่มีร่มเงามาก มีกิ่งก้านสาขาแผ่กว้างให้คนเดินทางได้อาศัยร่มเงาพัก นกกาอาศัยเกาะกิ่ง มีกาฝากก็ขึ้นแซม บ้างบางครั้งบางคราว
หลวงปู่ท่านมีปฎิทา คือทางดำเนินสายกลางพอเหมาะพองาม ไม่ชอบระคนด้วยกลุ่มชนมาก ชอบหลีกเร้นอยู่ในที่สงบ ชอบชีวิตธรรมชาติ ป่าเขาลำเนาไพร ชีวิตของท่านอยู่กับป่ามาโดยตลอด แม้ในวัยชรา หลวงปู่จะปรารภเสมอว่า ขณะนี้ป่าธรรมชาติจะหายไป แต่มีป่ามนุษย์เข้ามาเทนที่ โดยท่านให้คติว่า ต้นไม้ในป่าต่างต้นต่างเจริญเติบโต แสวงหาอาหารเลี้ยงต้น ใบ ดอก ผลของมัน เอง ไม่แก่งแย่งเบียดเบียนกัน แต่มนุษย์ก็มีทางดำเนินเลี้ยงชีวิตตรงกันข้ามกับต้นไม้ในป่า
หลวง ปู่ท่านมีเมตตาธรรมเป็นเลิศ มีสมาธิดี มีพลังจิตสูงเปี่ยมด้วยเมตตา ถ้าได้สนทนาธรรม กับท่าน สิ่งที่เป็นคำสอนอันสำคัญสำหรับชาวเราทั่วไป ก็คือ ท่านจะสอนให้หัดแผ่เมตตา ความปราถนาดี แก่คน สัตว์ ศัตรูหมู่มาร จะสอนให้แผ่ให้ทั่วจักรวาล ยิ่งแผ่มากจะทำให้จิตใจ สบาย รักชีวิต ทรัพทย์สินของคนอื่นเหมือนกับของตนเอง หลวงปู่ท่านสอนให้แผ่ความปราถนาดี ความสุขแก่ชนทุกชั้นทุกระดับ ใครจะได้รับมากน้อยสุดแต่วาสนาบารมีของผู้นั้น
สรุป ได้ว่า หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ท่านสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วย ศีล จริยวัตร ปฎิปทา คุณธรรม แผ่ขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ ทั้งตามลมและทวนลม เกียรติคุณ บริสุทธิคุณ ปรากฎในชุมชน ทั่วไป
คุณแห่งศีล และเมตตาของท่าน เป็นเสมือนมนต์ขลัง ก่อให้เกิดศรัทธาปสาทะ มีคนจำนวน มากเดินทางไปกราบขอศีลขอพร ขอบารมีธรรม และบางรายขอทุกอย่างที่ตนมีทุกข์ เพื่อจะให้ พ้นทุกข์
ทำให้เกิดศรัทธาสองทาง คือ คุณธรรม และวัตถุธรรม ผู้ใดต้องการธรรมะ ก็สดับตรับฟัง ศึกษาเอา ผู้ใดต้องการของขลัง รูปเหรียญวัตถุมงคลที่ระลึก ก็แสวงหาเอา ใครผู้ใีดปราถนาหรือ ศรัทธาอย่างใดก็ปฎิบัติอย่างนั้น ซึ่งก็คงสำเร็จประโยชน์ไม่มากก็น้อย "
ในสมัย ที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ ประชาชนจากใกล้ไกล ต่างแห่แหนไปกราบ หลวงปู่ ซึ่งหลวงปู่ ได้ปรารภถามว่า " พากันลำบากลำบนมากันทำไม"
คำตอบจากประชาชนเหล่านั้นก็คือ " ต้องการมากราบบารมีของหลวงปู่ "
หลวง ปู่ได้แนะนำว่า " บารมีต้องสร้างเอา เหมือนอยากให้มะม่วงของตนมีผลดก ก็ต้องหมั่น บำรุงรักษาเอา ไม่ใช่แห่ไปชื่นชมต้นมะม่วงของคนอื่น ต้องไปปลูก ไปบำรุงต้นมะม่วงของตนเอง การสร้างบารมีก็เช่นกัน ต้องสร้างต้อง ทำเอาเอง "
(จาก หนังสือเรื่อง หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๓ เรียบเรียงโดย รศ.ดร.ปฐม -รศ.ภัทรา นิคมานนท์
มีนาคม ๒๕๔๘
***ให้ตั้งสัจจะ...หลวงปู่แหวน สุจิณโณ***
การ ปฏิบัติเราจะเดินก็ให้ตั้งสัจจะไว้ว่า จะเดินเท่านี้เท่านั้น หรือเราจะนั่งวันหนึ่งคืนหนึ่ง หรือถ้าเราสู้ไม่ไหวเราก็เอาแต่พอสมควร ให้ตั้งใจจริงๆ
กำหนด ตั้งสัจจะไว้ในจิตในใจ ละความมัวเมาออกให้หมด คอยกำหนดจิตเข้ามาสู่ภายในให้ใจเบิกบาน ตั้งความสัจจะว่าจะภาวนาเป็นเวลาเท่านั้นเท่านี้ หรือถ้าจะเดินก็ให้กำหนด ระวังรักษาจิตใจของเรา ให้แช่มชื่นเบิกบานไม่ปล่อยจิตปล่อยใจให้เป็นธรรมเมา รักษาจิตใจให้ตั้งอยู่เฉพาะธรรมโม
อย่า ละความเพียรความพยายาม ให้เพียรไปติดต่อกัน จะเป็นวันหนึ่งหรือคืนหนึ่งก็ได้ เช่น ตั้งสัจจะว่าจะนั่งตลอดคืนจะไม่นอน อย่างนี้ตั้งสัจจะไว้อย่างนี้เป็นการดี ตั้งสัจจะต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วตั้งใจให้ดี คอยระวังรักษาจิตใจของเรานั้นแหละ ให้ผ่องใสตลอดไป
ให้ พยายามรักษาความดีความหมั่นความขยันของเราไว้ ให้สละความเกียจคร้านออกไปเสีย ปกติจิตของเรานี้มักจะไหลไปสู่ความเกียจคร้านความลุ่มหลง
เรา ต้องพยายามหาอุบายมาเตือนตนอยู่เสมอ ด้วยความเพียรความหมั่น ให้รักษา กาย วาจา ใจ ของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ในสิกขาวินัย นำความผิดความชั่ว ออกจากกาย จากวาจา จากใจ
อาศัย ความเพียรเป็นไปติดต่อ จึงจะชนะความเกียจคร้านได้ ความมัวเมา ความประมาทอันใดมีก็ให้ละเสีย ให้วางเสีย ทำจิตใจของเราให้ตั้งอยู่ในธรรมโม พิจารณากลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ ต้องอาศัยความเพียรความหมั่นความขยัน ไม่เช่นนั้นจิตมันจะตกไปสู่ความเกียจคร้าน
เรา ต้องตักเตือนข่มขู่ ชักจูงแนะนำจิตของเราด้วยอุบายแยบคาย ถ้าจิตใจมันเกียจคร้าน เราต้องหาอุบายมาตักเตือน ชักจูงแนะนำ ให้มีความอาจหาญ ร่าเริง ให้เกิดความอุตสาหะขยันหมั่นเพียร ไม่ปล่อยให้จิตนิ่งเฉยเกียจคร้าน
เรา ต้องละความเกียจคร้าน ความไม่ดีของจิตด้วยการอบรมภาวนาอย่างนี้ ถ้าเราตักเตือนชี้นำด้วยอุบายอันชอบ ในที่สุดจิตก็จะฟังเหตุผล เกิดความมุมานะพยายามในความเพียร เราต้องข่มขู่ตักเตือนบ่อยๆ ในสมัยที่จิตนิ่งเฉยต่อความเพียร
ถ้า เราคอยประคับประคองจิต ด้วยอุบายข่มขู่ตักเตือน ด้วยอุบายแยบคาย จิตย่อมจำนนต่อเหตุผล ระวังรักษาสติไว้อย่าให้หลงลืม ฝึกหัดให้เกิดความรู้ความฉลาดเกิดขึ้นในจิตในใจของตน
จิต ของเรา ถ้ามันเกียจคร้านขึ้นมา มันจะให้เรานอนท่าเดียว ถ้ามันเกิดอย่างนี้ขึ้นมา เราต้องหาอุบายมาข่มขู่ตักเตือน อุบายใดที่ยกขึ้นมาชี้แจงแล้วจิตยอมเชื่อฟังนั่นแหละคืออุบายที่ควรแก่จิตใน ลักษณะนั้น และในขณะนั้นๆ ถ้าเราไม่ข่มขู่ชี้โทษโดยอุบายที่ชอบ ใครเขาจะมาตักเตือนเรา บางครั้งจิตถ้ามันเกียจคร้านขึ้นมา มันจะวางเฉยในอารมณ์ทั้งหมด ในลักษณะเช่นนี้แหละ เราต้องหาอุบายมาทำให้จิตตื่นให้ได้ เช่นไหว้พระสวดมนต์ หรือยกธรรมบทใดบทหนึ่งขึ้นมาพิจารณา
ให้ ตั้งอยู่ในความหมั่นความเพียร ในคุณงามความดีของตน พยายามเพ่งดูในจิตในใจของเรานี้แหละ ถ้าไม่อาศัยความขยันหมั่นเพียร ไม่ได้ จิตเรานี้มันมักจะไหลไปสู่อารมณ์ต่างๆ เป็นอดีตอนาคตไป เราต้องหาอุบายมาชี้แจงให้ตั้งอยู่ในปัจจุบันธรรม
ถ้า เราไม่หมั่นหาอุบายมาอบรมจิตแล้ว ส่วนมากจิตมักจะเกิดความเฉื่อยชา วางเฉย ดังนั้น อุบายจึงเป็นของสำคัญ ยกขึ้นสู่การพิจารณาชี้แจง ให้จิตอาจหาญ ร่าเริง เห็นแจ้งในจิตในใจของเรา ถ้าจิตยิ่งเกิดเกียจคร้านเท่าไรเราก็ต้องเพิ่มความพยายามตักเตือน โดยอุบายให้มากขึ้นให้เท่าเทียมกัน จนเกิดความขยันขันแข็ง เบิกบานผ่องใส
ให้ตั้งอกตั้งใจตั้งสัจจะ ตรงต่อคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เกิดความอุตสาหะวิรยะ ความพากความเพียร ในภาวนาในคุณความดี
ให้ตั้งอยู่ในสิกขาวินัย ในความหมั่นความเพียร
ให้ ตั้งความสัจจ์ความเพียรไว้ อย่าเป็นคนเกียจคร้าน พระพุทธเจ้าสั่งสอนเราให้ตั้งอยู่ในมรรคในผล ให้พยายามรักษาจิตรักษาใจของเรา อาศัยความองอาจกล้าหาญ ในความพากความเพียรของเรา อย่าอ่อนแอท้อแท้ เราต้องสู้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าองอาจกล้าหาญจึงจะผ่านอุปสรรคไปได้
ให้รักษาตา รักษาหู รักษาจมูก รักษากาย รักษาใจ ของตน ในทุกอิริยาบท ยืน เดิน นั่ง นอน
จา โค ปฏินิสฺสคฺโค ให้ละเสีย ความถือตนถือตัว อันตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เขาก็เป็นปรกติอยู่ใจก็เป็นปรกติอยู่ รูป เสียง กลิ่น รส กามคุณทั้ง ๕ เขาก็เกิดมีอยู่อย่างนั้นละ เราเกิดมา นินทา สรรเสริญ โคตร ผีบ้า ผีบอ เขาก็ว่ากันอยู่อย่างนั้นละ ที่รับเข้ามามันหนักแน่นอยู่ในหัวใจ ปล่อยให้เขาป่นไปป่นมา ใจปรกติอยู่แล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นปรกติอยู่แล้ว จะไปเดือดร้อนทําไมเล่า ไปหอบเอาของเขามาสิมันเดือดร้อน ของเราก็มีเต็มขี้ปุ๋ม (พุง) อยู่แล้ว บาปเราก็มี บุญเราก็มี นินทา สรรเสริญ โคตรพ่อโคตรแม่ ของเรามีเยอะ แต่เราไม่พูด โยนทิ้งหมด ก็สบายดีละก้า ไปหอบเอาของเขา ขี้โลภมากมันถึงเดือดร้อน ลูกก็ตาม หลานก็ตาม ลูกมันพ้นระหว่างขาของเราแล้วโล้ ไปหอบมันสังมันเป็นทุกข์ มันรู้ได้เสียก็พอละ รีบตั้งอกตั้งใจ ทําอาชีพอันใด ๆ ก็ดี ให้ตั้งใจ อย่าไปขี้เกียจขี้คร้านก็พอละ ว่ากล่าวด้วยวาจาของตน ช่วยสงเคราะห์อุปการะสังคโห ช่วยสงเคราะห์ก็พอแล้ว อันเขาใหญ่ขึ้นมาแล้ว รู้ผิด รู้ถูก รู้ได้ รู้ดี รู้มั่ง รู้มี ไปหวัน...มันก็เป็นทุกข์ละก้า ทําอันใดไม่พออกพอใจ แล้วก็ไปเดือดเขา บ่รู้พอหลงก็หลงมาพอแล้ว โลภก็โลภมาพอแล้ว รักก็รักมาพอแล้ว ชังก็ชังมาพอแล้ว เอ้า!! หยุด...พอแล้ว
ตัว สัญญา ตัวกิเลส มันตั้งขึ้นเสียก่อน ตัวกิเลสนั้นนะ ไปทักมันสัก ๓ ครั้ง มันก็ไม่หยุด อย่างพวกนอนในใบบัวกา ไต่หลังน้ำ...กา หมู่นี้มันเป็นเครื่องเล่นนับเข้าบารมี ๑๐ นี่ละ ขันติตัวอดมันได้ปีติ ได้กสิณฌาน กํามือจนเล็บมือผด (ทะลุ) หลังมือไม่รู้ตัว อันนั้นก็ยังไม่มีใครแก้ได้นา ไม่ยอมใครทีเดียว แต่ไม่ใช่ถึง เป็นแค่ฌานโลกีย์ทั้ง ๕ ปีติอันนี้ แต่อาจเป็นอยู่ในกามโลกอันนี้ บางคนก็ขี้หินป่งหู้ม (งอกปิด) รอบ ๆ ตัว บางคนก็ไปนั่งริมเก๊าไม้ (ต้นไม้) ป่งหุ้ม ได้สองหมื่นปีก็มี สามหมื่นปีก็มี เวลาจะอกก็กสิณนั้นละ เพิ่งกสิณให้แตกกระจาย พวกนี้ครั้งตายจากกามโลก ก็ไปพรหมโลก ไปดูเขาแล้วพวกนี้ เขาเป็นนักผนึกบารมีหนา ทานบารมี ทานภายนอก ทานภายใจ เขาก็ละได้ภายใจตัวอกุศล ตัวอกุศลาธัมมา นี้ละ เมาหลง เมาโกรธ เมาราคะ กิเลสตัณหานี่ละ มันเป็นกก เป็นเค้าเป็นเหง้า เป็นงูน กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ไปจากนี้ละ เขาละได้จริง ๆ หนาเขาอดได้แต่ไปแก้ไม่ไหวหรอก อันที่ปีติตัวนี้ แต่ถอนได้เหมือนกันนั้นละ เวลาตายจากกามโลกนี้ ก็ไปพรหมโลก พวกนี้ไม่ตกต่ำ แต่ได้กลับมาเกิดอยู่ แต่พวกเพ่งพวกนั้น ยังสําคัญว่าตนได้สําเร็จพนะนิพพานหนา... แต่มันไม่เป็นปัญญาวิมุตติ โลกุตรวิมุตติ ต้องแก้ไขอยู่เรื่อง จนกิเลสอาสวักขยญาณไปรู้กิเลสของตน กิเลสของกาย สิ้นไปหมด กิเลสของใจ เรามีกามฉันท์งอกขึ้น ดับไปแล้ว ก๋าลังศรัทธา ก๋าลังความเพียร ก๋าลังสติ ก๋าลังสมาธิ ก๋าลังโลกุตรปัญญา วิมุตติผู้แจ้งชัชวาล ตลอดจนถึงขันธปรินิพพาน ไตรวัฏมีเท่านี้แล้ว
นวํ นตฺถิ เราไมjยินดี จะก่อภพใหม่ต่อไปอีกแล้ว มันก็หมดเรื่องกันเท่านั้นละก้า... มิเข้าไปนอนในท้องแม่นอนกินน้ำกาม เกิดแก่เจ็บตายไม่มีแก่เราต่อไป มันหมดสิ้นละทีนี้ ถ้าไม่หมดมันก็หมุนอยู่นั้นละ ค้นอยู่ในนี้ละ อย่าไปละ ท่านไม่ให้ประมาทก้อนธัมเมา อริยสัจธรรมทั้ง ๔ ก็อันนี้แล้ว ทุกข์มันก็เกิดนี่ละสมมติอันใดทุกข์ก็อันนั้นละ มรรคสัจอันในนิโรธธรรม เป็นธรรมอันดับทุกข์ก็อันนั้นละ... ค้นอยู่ในนี้แหละครั้งไปค้นที่อื่น เดี๋ยวก็ไปติดแผนที่ จําแผนที่ได้อันนั้นเป็นอย่างนั้น ๆ สติปัฏฐาน ๔ ไปรู้แต่แผนที่... ตัวธรรมแท้ๆ ไม่รู้ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานไปรู้แต่แผนที่เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็รู้แต่แผนที่ แล้วก็ไปติดแผนที่นั่นละ มันใช้ไม่ได้ละ... มันต้องวางแผนที่
อุ โปปทานํ อุปโก สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี สมคฺคานํ ตโป สุโข เผาลงที่เดียวนั้น ให้มันแจ้งในที่เดียว แล้วมันจึงเป็นสุข ไปคุม (จับ) แต่แผนที่นั้นแล้วมันก็ไม่ทันการณ์ แผนที่อันหนึ่ง ภูมิประเทศอันหนึ่ง อย่างเจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านว่าแต่ก่อนแปลเต็มที่นา แผนที่นี่ใช้วิภัตติปัจจัยได้ดี... ครั้งไปปฏิบัติได้รู้แจ้งเห็นจริงขึ้นมาแล้ว โอ๊ย!!! มันน่ารักงไกลกันตั้งหลายโยชน์ อันนั้นมันแผนที่ต่างหาก แผนที่ปริยัติธรรม... ให้น้อมเข้ามาที่ก้อนธัมเมานี่ละ ก้อนพระธรรมแต่เมานี่ ตัวนี่ละค้นเข้า ๆ จนแจ้ง ครั้งแจ้งแล้วก็รู้หมดละหมู่นั้น ครั้งมันแล่นอยู่ก็ของเก่า มันเป็นธัมเมาอยู่นั้นละ พุทโธธัมเมา สังโฆธัมเมา อกุศลาธัมเมา เมาหลง เมาโกรธ เมาราคะ กิเลสตัณหา มันต้องละ พวกที้ละก้า... จะไปละที่ไหน ? ค้นอยู่นั้นละ ตัวทุกข์ มันก็เกิดนั้น ถือตัวถือตนมันก็ถืออยู่นั่น ก้อนธัมเมานี่ละ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ สอนถึงแต่หนัง เนื้อหนังหุ้มห่ออยู่เป็นที่สุดรอบ ไม่รู้ดี รู้ชั่ว มันปิดบังหมด เป็นอวิชชาใหญ่โต อวิชามันตัวมืด... เอามันจนรู้แจ้งโล่ อรหํ มันก็หยุดละ... ไม่หยุดก็เป็นธัมเมาอยู่นั้นละ อวิชชาธัมเมา อตีตาธัมเมา อดีตก็เป็นธัมเมามาตั้งแต่ดึกดําบรรพ์
นับ อสงไขยไม่ได้ นับล้านอสงไขยไม่ถ้วน เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด มาตั้งแต่ดึกดําบรรพ์ มาตั้งแต่อดีต อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา มันเรื่องของสังขาร รู้เท่าสังขาร รู้เท่าสมมติ วางสังขารหมด วางสมมติหมด ก็โลกวิทูรู้แจ้งโลก รู้แจ้งโลกแล้ว ก็รู้แจ้งธรรม ฉะนั้น ไม่ให้ประมาท ให้ค้นอยู่ในก้อนธัมเมาอันนี้ละ พระธัมเมาก็ว่ามันเมาอยู่กับรูปนี้ ไม่เมารูปนี้ก็รูปอื่นมีทั่วไป ครั้งค้นนี้ให้แจ้ง แล้วก็หลุดออก แล้วมันก็สบาย วางขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม เอาละอย่าไปเอามาก มันเป็นธัมเม
เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ระวังปัญญา(จากการคิด,อ่าน,ฟัง)ล้ำหน้าภาวนา
เรื่องกังวลกับ ความจงใจหรือเจตนา ในการปฏิบัติหรือการดูจิตนั้น
เกืดขึ้นจากการที่พวกเราได้ฟัง คุณกล่าวถึง เจตนาสูตร บ้าง
ได้ฟังผมกล่าวถึง ความจงใจ ในเรื่องพระอนุรุทธะบ้าง
หรือบางครั้ง ได้ยินผมแนะอุบายแก่พวกเราบางคนให้ลดความจงใจลง
เพื่อแก้อาการเพ่งจ้องอย่างรุนแรงแบบเอาเป็นเอาตายกับกิเลสบ้าง
เมื่อฟังมากเข้า บางคนจึงเกิดความล้ำหน้าทางความคิดขึ้น
คือมีสัญญาว่า ความจงใจไม่ดี แล้วก็เกิด “ความจงใจที่จะละความจงใจ” ขึ้นมา
ผมเองก็เคยปฏิบัติธรรมแบบล้ำหน้าเหมือนกัน
ตอนนั้นผมไปปฏิบัติอยู่กับหลวงพ่อคืนที่วัดหน้าเรือนจำสุรินทร์
ผมดูจิตที่เห็นกิเลสผุดขึ้นบ้าง เห็นฝ้ามัวของโมหะบ้าง
หลวงพ่อคืนก็จะบ่นว่า “ไปนั่งดูสิ่งที่ถูกรู้ทำไม ปล่อยวางมันซะ แล้วมาหยุดอยู่กับ รู้”
ผมก็จัดการเข้ากุฏิ คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า
(ใช้คำนี้เพื่อให้เห็นว่า เอาจริงและเป็นทางการมาก แบบกะฟันกิเลสให้ตายหมดเลย)
แล้วก็เร่ิมต้นด้วยการหายใจ เห็นลมหายใจถูกรู้อยู่ 2 – 3 อึก แล้วก็ปล่อยเสีย
หันมารู้เวทนาในกายที่นั่งตัวตรงอยู่นั้น ตอนนั้นยังไม่สุขไม่ทุกข์อะไร ก็รู้ไป
แล้วก็คิดต่อทันทีว่า อุเบกขาเวทนานี้ก็ถูกรู้ ก็เลิกดูเวทนา
หันมาดูความว่างๆ ในจิต ที่ซ้อนอยู่กับอุเบกขาเวทนา
ก็เห็นอีกว่า ความว่างถูกรู้ จิตเป็นผู้รู้ความว่าง
แล้วก็เลิกดูความว่าง หันมาจ้องมองจิตผู้รู้
ถึงตรงนี้ ผู้รู้ก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ แล้วมีผู้รู้ตั้งขึ้นใหม่ โดยเขยิบไปด้านหลังหน่อยหนึ่ง
ผมก็ทิ้งตัวเก่า ดูตัวใหม่ ซ้อนๆๆๆๆ เข้าไปภายในตลอดเวลา
เล่นเอาสมองหมุนตาลาย ปวดระบมไปทั้งศีรษะ
ตอนนั้นก็คิดสุภาษิตมาสนับสนุนความโง่ได้อีกว่า
“บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร”
ไม่ว่าจะปวดหัวขนาดไหน ก็ยังคงไล่จับผู้รู้อยู่อย่างอุตลุดไปหมดด้วยความเพียร
ใกล้เที่ยงคืนก็หมดแรง หลับไปตื่นหนึ่ง
ตีสามตื่นขึ้นมาเร่งความเพียรใหม่จนสว่าง
แล้วก็นึกถึงความสอนของหลวงปู่ดูลย์ได้ว่า
“การใช้จิตแสวงหาจิตนั้น อีกกัปป์หนึ่งก็ไม่เจอ”
พอเช้า ก็เดินเป๋ๆ ออกมาจากกุฎิ กะจะมาต่อว่าหลวงพ่อคืน
มาเจอหลวงพ่อคืนเข้าพอดี ยังไม่ทันต่อว่าท่าน
ท่านก็อุทานลั่นวัดว่า “เมื่อคืนนี้ปฏิบัติอย่างไร ทำไมจิตใจมันชุลมุนอย่างนั้นทั้งคืน”
ผมก็เถียงท่านเต็มๆ เลย ว่า “ก็ผมทำตามที่หลวงพ่อสอนน่ะสิ”
“สอนยังไง อาตมาสอนยังไง”
“ก็สอนว่า ไปนั่งดูสิ่งที่ถูกรู้ทำไม ปล่อยวางมันซะแล้วมาหยุดอยู่กับ รู้”
คราวนี้หลวงพ่อหัวเราะเอิ้กอ้ากเลย บอกว่า
“การปล่อยวางนั้นต้องปล่อยด้วยปัญญา ไม่ใช่คิดปล่อยๆ เอาแบบนี้”
ผมก็นึกบ่นท่านว่า หลวงพ่อไม่น่าจะสอนผมเลย
ถ้าไม่สอน ผมก็จะรู้ความเกิดดับของอารมณ์ จนมีปัญญาปล่อยวางเอง
เพราะจุดสำคัญของการปฏิบัติ อยู่ที่รู้อารมณ์ด้วยจิตที่เป็นกลาง
ไม่จมลงในสิ่งที่ถูกรู้ หรือเผลอไปที่อื่น เท่านั้นเอง
แต่พอฟังท่านสอน ก็นึกตีความว่า ที่ทำอยู่ผิด จึงแก้ไขแนวปฏิบัติใหม่
ทำให้ปฏิบัติผิด ทั้งเหนื่อย ทั้งเสียเวลา
การปล่อยด้วยปัญญา กับปล่อยด้วยสัญญา มันต่างกันอย่างที่เล่ามานี้เอง
และเมื่อพวกเราได้ยินนักปฏิบัติรุ่นพี่กล่าวถึง เจตนา และความจงใจ
ว่าทำให้วิญญาณตั้งขึ้น ภพตั้งขึ้น
แทนที่จะเพียงเฉลียวใจ รู้ว่าตนมีความจงใจหรือไม่
กลับเกิดความจงใจ ที่จะละความจงใจ
จนลืมหลักปฏิบัติขั้นพื้นฐานที่ว่า “ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ”
บางทีการอ่านและการฟังธรรมะมากเกินไป ก็ทำให้ข้ามขั้นตอนได้เหมือนกัน
อันนี้ฝากไว้ให้นักปฏิบัติทั้งหลายครับ
ผมเองก็ไม่ได้ดีวิเศษไปกว่าพวกเราหรอก
อะไรที่ใครๆ ทำผิดกันนั้น
ผมทำผิดมาก่อนแล้วแทบทั้งนั้นแหละครับ
โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)
เมื่อวันที่ ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2543
หลวงปู่เทสก์เน้นสอนเรื่องใด
หลวงปู่เทสก์เน้นสอนเรื่องใด
หลวงปู่เทสก์ท่านเป็นพระป่าที่สอนเน้นอยู่ 2 – 3 จุดเท่านั้นครับ คือเรื่อง จิตกับใจ เรื่องหนึ่ง และเรื่องมิจฉาสมาธิ กับสัมมาสมาธิ อีกเรื่องหนึ่ง
ท่านสอนว่า จิตเป็นธรรมชาติที่รู้และเสวยอารมณ์ด้วย เมื่อเราปฏิบัติมากเข้า จิตรู้ความจริงแล้วก็วางอารมณ์ รวมเข้ามาเป็นใจ คือเป็นธรรมชาติรู้อารมณ์เฉยๆ
ท่านสอนว่ามิจฉาสมาธิเป็นความสงบเคลิบเคลิ้ม เหมือนความสงบของเด็กไร้เดียงสา ต่างจากสัมมาสมาธิที่เป็นความสงบแบบผู้ใหญ่ ที่ทำงานเสร็จแล้ว มาหยุดพักผ่อน
คือจิตที่เจริญวิปัสสนา รู้ความเกิดดับของรูปนามไปจนถึงจุดหนึ่ง จิตจะตัดกระแสการเจริญวิปัสสนานั้น รวมสงบเข้ามาพักอยู่ภายใน อาจจะพักในอุปจารสมาธิ หรืออัปนาสมาธิก็ได้ พอมีกำลังแล้วก็ออกไปทำงานใหม่ เมื่อเจริญวิปัสสนาพอสมควรแก่ธรรมแล้ว คราวนี้จิตจะรวมเองเข้าถึงอัปปนาสมาธิ มีความสงบ รู้ อยู่ภายใน แล้วเกิดมรรคญาณขึ้น ด้วยจิตที่ประกอบด้วยอัปปนาสมาธิชั้นใดชั้นหนึ่ง
มรรคญาณจะต้องประกอบด้วยอัปปนาสมาธิ แต่ไม่ใช่อัปปนาสมาธิจะต้องประกอบด้วยมรรคญาณครับ
โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)
เมื่อ วัน จันทร์ ที่ 22 มกราคม 2544
ทำลายสักกายทิฏฐิต้องอาศัยจิตเสื่อม
เรามองกันว่า จิตเสื่อมไม่ดี จิตเจริญมันดี
ทั้งๆ ที่การทำลายสักกายทิฏฐินั้น จะทำลายได้ก็ต้องอาศัย “จิตเสื่อม”
ผู้ปฏิบัตินั้น รักและหวงแหนจิตผู้รู้กันมาก
พยายามปัดกวาดสิ่งสกปรก ประคับประคองบำรุงสติสัมปชัญญะยิ่งกว่าเลี้ยงลูกอ่อน
แล้วไม่ว่าจะรักษาศีล บำเพ็ญภาวนาปานใด
ความเสื่อมของจิตผู้รู้ก็ยังกล้ำกลายเข้ามาอีกจนได้
คือมองไม่เห็นจิตผู้รู้ เห็นแต่ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
การที่จิตเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญนั้น
ถึงจุดหนึ่งจิตจะรู้แจ้งแทงตลอดในความเป็นจริงว่า
แม้ตัวจิตเองก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ขณะเดียวที่เห็นว่าจิตไม่ใช่เรานั้น สักกายทิฏฐิก็ขาดแล้ว
แล้วก็จะเข้าใจว่า จริงๆ ยังมีธรรมชาติที่ผ่องใสอันหนึ่ง
มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นแหละ
ที่เจริญและเสื่อมก็คือขันธ์เท่านั้นเอง
จิตที่ฉลาดแล้ว สะอาดแล้ว ไม่เจริญและเสื่อมไปด้วย (แต่ไม่ใช่ไม่เกิดไม่ดับนะครับ)
เหมือนน้ำในท่อน้ำครำ ที่น้ำสะอาดก็ยังคงอยู่
ที่มันสกปรกนั้นไม่ใช่น้ำสกปรก
แต่เป็นเพราะมีสิ่งอื่นเข้ามาแทรกปน
พอแยกสิ่งที่แทรกปนออก น้ำก็สะอาดอย่างเก่า
น้ำที่สะอาดจึงไม่เคยหายไปไหน เพียงแต่บางคราวเรามองไม่เห็นเท่านั้น
พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่า จิตนั้นผ่องใส แต่เศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา
เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ผมฟังครูบาอาจารย์มา
ท่านว่าพระอนาคามีนั้น จิตผู้รู้จะเด่นดวงอย่างยิ่ง
ไม่เศร้าหมอง เพราะกามไม่มีอำนาจดึงดูดแล้ว
บางท่านหาทางพัฒนาต่อไปไม่ได้ เพราะดูอย่างไรก็เห็นแต่จิตที่ไม่เสื่อม
ความยึดถือจิตจึงยังคงอยู่เรื่อยๆ ไป
ต่อเมื่อสังเกตเห็นว่า บางครั้งจิตก็ยังหมองไปนิดๆ เพราะกิเลสชั้นละเอียดคือความไม่รู้
คือมองเห็นความเสื่อมของจิตนั่นเอง
แล้วสามารถแยกเอากิเลสละเอียดออกจากจิตได้อีก
จิตจึงถึงความบริสุทธิ์ที่แท้จริง ไม่ตกอยู่ใต้แรงดึงดูดใดๆ อีก
ที่จริงผมไม่ได้เข้ามาตอบกระทู้นี้ เพราะเห็นว่าตอบกันดีอยู่แล้วน่ะครับ
แล้วเรื่องอย่างนี้ หากอธิบายแจกแจงละเอียดเกินไป
ผู้ปฏิบัติใหม่ๆ ก็จะนิ่งนอนใจกับภาวะจิตเสื่อม
เพราะปัญญาที่เป็นสัญญาจากการอ่านมันล้ำหน้าไปแล้ว
ว่า จิตเสื่อมเป็นเรื่องธรรมชาติ แบบเดียวกับการเป็นสิว
แต่เมื่อ คุณ เปิดประเด็นที่ละเอียดไว้ ก็เลยต้องตกบันไดพลอยโจนครับ
แต่ก็อยากบอกน้องๆ และหลานๆ ว่าอย่างนิ่งนอนใจกับภาวะจิตเสื่อม
เราจะต้องพยายามต่อสู้แก้ไขจนเต็มที่
เพื่อพิสูจน์ความจริงให้จิตเห็นว่า
จิตนั้นเป็นอัตตาหรืออนัตตากันแน่
หากไม่พิสูจน์กันสุดชีวิตจิตใจ จิตมันไม่เชื่อหรอกครับว่า จิตเป็นอนัตตา
ส่วนอุบายวิธีที่จะแก้ปัญหาจิตเสื่อม ขอให้พยายามพิจารณากันเองเองเถอะครับ
กุศลธรรมทั้งหลายนั้น เอามาใช้ได้ทั้งนั้น
เช่นสัจจะ อธิษฐาน ขันติ ทาน สมถะ วิปัสสนา ฯลฯ
แต่อุบายวิธีในการแก้ปัญหานั้น เราต้องพัฒนาขึ้นตลอดเวลา
เพราะกิลเสมันมีพัฒนาการเหมือนกัน
เช่นคราวนี้เราแก้ความฟุ้งซ่านได้ด้วยการทำสมถะ
อีกวันหนึ่งเอาสมถะมาแก้ ก็ไม่สำเร็จเสียแล้ว
คล้ายกับกิเลสเป็นเชื้อโรคที่ดื้อยาชนิดนั้นไปแล้ว
เราก็ต้องผลิตยาตัวใหม่ มาต่อสู้กับมันอีก
อุบายวิธีในการต่อสู้กับกิเลส จึงมีมากมายนับไม่ถ้วน
ดังนั้นที่ถามหาวิธี ก็คงตอบไม่ได้หรอกครับ
ลองนึกถึงภาพพระโพธิสัตว์ของฝ่ายมหายานสิครับ
พระโพธิสัตว์มีจำนวนมาก แต่ละองค์บางทีก็มีตั้งพันกร
เพื่อจะต่อสู้กับกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด
ดังนั้น ไม่มีอุบายสำเร็จรูปหรอกครับ ที่จะสู้กับจิตเสื่อม
แต่ถ้าจะกล่าวอย่างย่นย่อ “โยนิโสมนสิการ” ครับ
ที่จะผลิตอาวุธมาแก้ปัญหาจิตเสื่อมของเราได้เสมอ
ก็ต้องสู้กันจนมารและพระโพธิสัตว์ตายไปพร้อมๆ กันแหละครับ
โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)
ผู้เข้าถึง จิตแท้ ธรรมแท้
ผู้ปฏิบัติที่เข้าถึงจิตแท้ธรรมแท้นั้น มีถึง 3 ลักษณะ
คือ 1. ผู้เดินทางปัญญาวิปัสสนา ไม่ข้องแวะสิ่งอื่น
(แต่จิตที่เดินวิปัสสนาต้องเป็นจิตที่เป็นสัมมาสมาธินะครับ)
2. ผู้ที่ทำฌานก่อน แล้วน้อมไปเจริญวิปัสสนา
และ 3. ผู้ที่ทำฌานด้วย เจริญปัญญาด้วย
แต่ประเภทหลังนี้ชาตินี้มักไม่ค่อยทำฌาน แต่ได้ฌานมาแต่ชาติก่อนๆ
ชาตินี้มาเจริญปัญญา แล้วเกิดทั้งความแตกฉานในธรรมอันละเอียดด้วย
ฌานของเก่าที่เคยทำไว้ก็ยังให้ผลได้ด้วย
(ในภายหลังจากที่หลวงพ่อได้บวชแล้ว ท่านได้สอนเพิ่มเติมว่าแท้จริงยังมีประเภทที่4 ซึ่งอยู่ใน ยุคนัทธสูตร-ผู้เรียบเรียง)
แต่ทุกประเภท อาการที่จิตเข้าถึงธรรม เช่นการเกิดมรรค ผล ปัจจเวกขณะ
จะใกล้เคียงกันมาก ผิดตรงผลที่เกิดหลายขณะสั้นยาวไม่เท่ากันเท่านั้น
ถ้าเกิดผลสั้น ก็มักจะขาดความแตกฉาน เพราะจิตผ่านแว้บไปเท่านั้น
แต่สังโยชน์นั้นขาดเท่าๆ กันครับ
เนื่องจากมันขาดที่มรรค ไม่ใช่ขาดที่ผลซึ่งแตกต่างกัน
สิ่งที่ผมเล่ามานั้น มันเป็นการพิจารณาเดินปัญญาของจิตที่มีกำลังฌานสนับสนุน
คุณไม่ต้องไปคิดว่า จะต้องรู้อย่างเดียวกันนั้นจึงจะผ่านไปได้
เหมือนคนที่จะไปเชียงใหม่นั้น บางคนขึ้นเครื่องบินแว้บเดียวไปถึงแล้ว
ส่วนผมเป็นประเภทเดินเท้าบ้าง ลงเรือบ้าง เดินทางไปเชียงใหม่ด้วยเวลายาวนาน
ก็จะรู้ภูมิประเทศรายทางมากกว่าคนที่ขึ้นเครื่องไปน่ะครับ
แต่เมื่อไปถึงเชียงใหม่ ก็จะเห็นว่าเพื่อนๆ เขาไปเที่ยวเชียงใหม่กันจนเบื่อแล้ว
ส่วนเราเพิ่งงุ่มง่ามไปถึง
ในทางปฏิบัตินั้น สิ่งสำคัญไม่ใช่องค์ความรู้
แต่สิ่งสำคัญคือ รู้ ซึ่งหมายถึงรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง
ด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง ไม่ถูกกิเลสครอบงำ
เวลาจะปฏิบัติขีดวงไว้แค่นี้ก็พอแล้วครับ
ส่วนความรู้ความเห็นที่หยาบละเอียดต่างกันนั้น ไม่สำคัญเท่าความพ้นทุกข์หรอกครับ
โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2542
ปฏิบัติเพื่ออะไร? (๙) ตามรู้เพื่อจะเห็นไตรลักษณ์
ปฏิบัติเพื่ออะไร? (๙) ตามรู้เพื่อจะเห็นไตรลักษณ์
หลวงพ่อปราโมทย์ : รู้ไปแล้วจะได้อะไร เห็นมั้ย คำสอนในศาสนาพุทธละเอียดนะ จะทำอะไร จะทำเพื่ออะไร จะทำอย่างไร ทำอย่างไรบอกแล้วนะ อย่างถ้าจะดูจิตดูใจเนี่ย ตามดูไป ให้สภาวะเกิดแล้วก็ตามรู้ไป หลงไปก่อนแล้วรู้ว่าหลง โกรธไปก่อนแล้วรู้ว่าโกรธ ตามดูไปเรื่อยๆ เราจะทำอะไร จะทำเพื่ออะไร จะทำอย่างไร ทำแล้วได้ผลอะไร ถ้าเราตามดูไปเรื่อย เราจะเห็นเลย เดี๋ยวจิตก็หลงเดี๋ยวจิตก็รู้ เดี๋ยวหลงเดี๋ยวรู้ นานๆจะมีอย่างอื่นแทรก เดี๋ยวโลภขึ้นมาเราก็รู้ หลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ อ้าว เดี๋ยวโกรธขึ้นมา อีกแล้ว นานๆจะมีโลภแทรก นานๆจะมีโกรธแทรกที แต่หลงนี่มันยืนพื้นเลย มันเป็นกิเลสยืนพื้นเลย
ดังนั้นเราคอยรู้ทัน เรื่อยๆ ไม่ใช่รู้เพื่อจะไม่ให้หลง แต่รู้เพื่ออะไร รู้เพื่อจะรู้ว่าเมื่อกี้จิตเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้จิตเป็นอีกอย่างหนึ่ง เมื่อกี้ จิตหลงตอนนี้จิตรู้ เมื่อกี้จิตโลภตอนนี้จิตรู้ เมื่อกี้จิตหลงตอนนี้จิตรู้ ไม่ใช่ฝึกเพื่อจะไม่ให้โลภ ไม่ให้โกรธ ไม่ให้หลง จะฝึกเพื่อให้เห็นว่า เมื่อกี้เป็นอย่างนึง เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนึง นี่คือการเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของสภาวะธรรมนั่นเอง เห็นมั้ยเมื่อกี้จิตหลง ตอนนี้จิตหลงดับไปแล้ว เกิดจิตที่รู้ขึ้นมา เห็นมั้ยเมื่อกี้เป็นจิตโกรธ ตอนนี้เกิดเป็นจิตที่รู้ จิตโกรธดับไปแล้ว จิตที่รู้อยู่ไม่นาน เกิดจิตหลงขึ้นมาแทนอีกแล้ว เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็รู้ ฝึกไปเรื่อยๆ
ไม่ใช่ฝึกเอาดี ไม่ใช่ฝึกปฏิเสธ สิ่งที่ไม่ดีแต่ฝึกจนเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาให้จิตรู้นี้ เป็นของชั่วคราวทั้งสิ้น จิตโลภก็โลภชั่วคราว จิตโกรธก็โกรธชั่วคราว จิตหลงก็หลงชั่วคราว ทำไมหลงชั่วคราวเพราะมีตัวรู้มาคั่น มีจิตรู้มาคั่น เราก็เลยเห็นว่าหลงชั่วคราว ถ้าเราไม่มีจิตรู้เลยมันก็เลยเห็นว่าหลงชั่วคราว ถ้าเราไม่มีจิตรู้เลย มันก็จะมีแต่จิตหลง หลงทั้งวัน หลงทั้งคืน เราจะรู้สึกว่าหลงแล้วเที่ยง จะไม่เห็นหรอกว่ามันเป็นไตรลักษณ์ แต่เรามีรู้ขึ้นมานะ เพื่อจะเห็นหลงมันขาดเป็นท่อนๆ หลงไปหนึ่งนาทีแล้วรู้สึกตัวแว้บ เราเห็นเลยชีวิตที่หลงนะมันจบไปแล้ว มันเกิดชีวิตใหม่ที่รู้สึกตัว เสร็จแล้วหลงไปอีกห้านาที ก็รู้สึกอีกทีนึง หลงไปอีกชั่วโมงรู้สึกอีกที ต่อไปฝึกไปเรื่อยๆนะ หลงสามวินาทีรู้สึก หลงสองวินาทีรู้สึก ยิ่งฝึกเก่งนะยิ่งหลงบ่อย หลงแว้บรู้สึก ฝึกไปเรื่อย ไม่ใช่ฝึกไม่ให้หลง ไม่ได้ฝึกห้ามหลง ไม่ได้ฝึกที่จะให้รู้ตลอดเวลา แต่ฝึกเพื่อให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วล้วนแต่ดับทั้งสิ้น
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
สวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมที่สวนสันติธรรม
เมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ก่อนฉันเช้า
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)