เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ
ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "
หน้าเว็บ
เกี่ยวกับฉัน
- Nitinandho
- อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย
ผู้ติดตาม
วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553
วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553
นี่เรียกว่า ปฏิบัติธรรม
พระอาจารย์อำนาจ โอภาโส
บรรยายธรรมเรื่อง“ความจริงไม่มีใครทุกข์”ณ
ศูนย์ปฏิบัติการ การบินไทย สุวรรณภูมิ
เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๒
3 นี่เรียกว่า ปฏิบัติธรรม
ใจ ธรรมชาติ
คือใจเดิม พุทธเจ้าท่านค้นพบสิ่งเหล่านี้นะ
ที่ท่านตรัสรู้ท่านบอกว่าสิ่งนี้มีอยู่แล้ว
(ท่านไม่ได้สร้างมันขึ้นมา)
กฎกติกามีอยู่แล้ว
ท่านก็ร่างมันขึ้นมา
มีอยู่แล้วท่านก็ไปเห็นแล้ว
ชี้ว่า เธอจงดูสิ มันทำงานอย่างนี้
ในธรรมชาติ ถ้าดูแล้วใช้มันเข้าใจอย่างถูกวิธี
เห็นไหมโยม เพราะว่าสิ่งที่บิ๊ว(Build)ขึ้นมาทั้งหลายแหล่ นะ
มันต้องเสื่อมสลายมันต้องพังแน่นอน
เพราะว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อน
อาศัยปัจจัยอื่นเกิดขึ้น
มันจะคงที่ถาวรไปได้ยังไงโยม
ธรรมชาติเดิมต่างหาก ที่ไม่ได้ถูกบิ๊วขึ้นมา
ซึ่งมันต้องเป็นอย่างนั้น เห็นไหม
นิพพานถึงมีอมตะมีความเป็นอมตะ
มีความเป็นอมตะรสมีรสชาติทีเป็นอมตะ
หรือมีรสชาติที่เป็นสันติสุข มีสันติลักษณะ
เพราะมันเป็นกลางอยู่ก่อน
ความไม่เป็นกลางมาทีหลัง
จะพบว่า ความสุขมันไม่ได้ไกลเกินเอื้อมนะ
มีอยู่ตลอดเวลาถ้าเข้าใจ เห็นไหม
เพราะฉะนั้น
การเก็บข้อมูลอย่างถูกวิธี
คือการเจริญสติกับชีวิตประจำวันเนี่ยแหละโยม
ตามดู กายในกาย ว่ามันทำงานอย่างไร เป็นการตามเก็บข้อมูล
แล้วก็ทำงานวิจัยเลย มีชื่อว่า“สติสัม โพชฌงค์”
“ธรรม วิจยะสัม โพชฌงค์” เป็นการทำงานวิจัย
จะวิจัยไม่ได้เด็ดขาด ถ้ายังไม่มีข้อมูล
แล้วข้อมูลนี้คนอื่นส่งมาให้ อย่าเชื่อนะ อย่าเชื่อ
เพราะเชื่อไม่ได้ จนกว่าจะเก็บข้อมูลด้วยตนเอง
พุทธเจ้าจึงตรัสว่าเมื่อไหร่ที่เราสังเกตกระบวนการแบบนี้ว่า
เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้ถึงมี เห็นในใจแบบนี้นะ
คิดแบบนี้อารมณ์ถึงเป็นอย่างนี้นะ
เช่นคิดไม่ดี อารมณ์ถึงไม่ดี
คิดดี อารมณ์ถึงดี มีความสุข
อย่างนี้ ความคิดก็ไม่ได้มีตัวตน
เพราะว่ามีความจำแบบนี้ จึงมีความคิดแบบนี้
ความจำก็ไม่ได้มี ตัวตน
เพราะไปรับรู้สิ่งแวดล้อมแบบนี้มาหรือข้อมูลแบบนี้มาถึงได้เกิดความจำ
การรับรู้ ก็ไม่ได้มีตัวตน
ถ้าไม่มีหูไม่มีเสียง จะเกิดการรับเสียงได้อย่างไร
ถ้าไม่มีลิ้น พ่อครัวทั้งหลายก็คงไม่มีงาน
เพราะไม่มีลิ้นในการรับรส โยมเห็นไหม
มันทำงานคู่กันอย่างนี้
ไม่มีอะไรสักอย่างที่มีตัวตน
แบบนี้จะเป็นการเข้าใจอย่างถูกวิธีก่อนนะ
นี่เริ่มเก็บข้อมูลแล้วก็ทำงานวิจัย
พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า
ถ้าเก็บข้อมูลสังเกตแล้ว
ทำงานวิจัยแบบนี้ไม่เกิน ๗ ปี
จะต้องมีปัญญาประจักษ์
หรือเข้าถึงสภาวะ
หรือเข้าใจธรรมะระดับสูง
ขั้นใดขั้นหนึ่งแน่นอน
โยมลองคิดสิว่า
ถ้าตามเก็บข้อมูลอย่างนี้ ๗ ปี จะได้อะไรขึ้นมา
ข้อมูลคงเยอะนะ
งานวิจัยคงจะแม่นยำ
คงจะไม่ต้องเข้าไปถามใครอย่างที่ท่านบอกเหมือนกัน
ว่าถ้าเข้าใจอย่างนี้
เหตุนี้มี ผลนี้ถึงมี จะไม่ต้องไปเชื่อใครอีกต่อไป
โยม ก็มันประจักษ์ด้วยตัวเอง
ไงนี่ เรียกว่าปฏิบัติธรรมนะ
การเห็นอันวิเศษคือการเห็นความจริง มันสามารถช่วยชีวิตหรือว่าช่วยจิตใจให้มีความสุข
พระอาจารย์อำนาจ โอภาโส
บรรยายธรรมเรื่อง“ความจริงไม่มีใครทุกข์”ณ
ศูนย์ปฏิบัติการ การบินไทย สุวรรณภูมิ
เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๒
2การเห็นอันวิเศษคือการเห็นความ
จริง
มันสามารถช่วยชีวิตหรือว่าช่วยจิตใจให้มีความสุข
เมื่อไหร่เผลอมีจิตใจเศร้าหมอง
รู้เลยว่าอันนี้ขาดสติ
แล้วความทุกข์มันเล่นงานตอนขาดสติ
เผลอไปปรุงแต่งแล้ว
เอาความปรุงแต่งมาบังใจ
แล้วก็เข้าไปยึดกับเนื้อเรื่องที่ปรุงแต่ง
โยมเห็นไหมปรุงแต่งว่า
เขาผิดเราไม่ชอบก็เกิดความเศร้าหมองใจสิ
มีอยู่ที่ไหนล่ะ
เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย
เสื่อมไปตามเหตุปัจจัยแต่ละขณะ
ในการมีปัญญาที่เรียกว่า วิปัสสนา
“วิ” แปล ว่า “วิเศษ”
“ ปัสส นา” คือ “การ เห็น”
การเห็นอันวิเศษคือ การเห็นความจริง
มันสามารถช่วยชีวิตหรือว่าช่วยจิตใจให้มีความสุข
หรือออกมาจากทุกข์ได้
คือการเห็นอันวิเศษนะโยม
ไม่ได้ไปเห็นอะไรที่ไหนสลับซับซ้อนเลย
แต่ว่าทัศนคติที่วางไว้มันผิดพลาด
จากสัญญาที่วิปลาสเห็นไหม
จิตวิปลาสทิฏฐิวิปลาสเห็นผิดคิดผิด
มันคลาดเคลื่อนไปหมดเห็นไหม
หลวงพ่อสุ่มตัวอย่างจากการตอบของโอ๋
เราจะเห็นภาพเลยว่า
ส่วนใหญ่เราเป็นชาวพุทธที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
ในหลายๆเรื่องเลย
คำว่าจิตใจ เราก็ไม่รู้ว่า คืออะไร มาจากไหนแล้ว
คิดว่าของเราหรือคำว่า เสียใจ
เห็นไหมเรายังไม่รู้ว่าเสียอะไรไปเลย
คือเสียความเป็นกลางไปไง
เสียความปกติเสียสันติสุขแต่ดั้งเดิมไป เนี่ย
ความเป็นกลางหรือสันติสุขที่มีอยู่ก่อน
พระอาจารย์อำนาจ โอภาโส
บรรยายธรรมเรื่อง“ความจริงไม่มีใครทุกข์”ณ
ศูนย์ปฏิบัติการ การบินไทย สุวรรณภูมิ
เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๒
1ความเป็นกลางหรือสันติสุขที่มีอยู่ก่อน
โยมเห็นไหม
ถ้าโยมแสวงหาความสุขจะไม่เจอนะ จะไม่เจอความสุข
ถ้ารอคอยความสุขก็ไม่เจอนะ
โยมความสุขนี้ไม่ต้องรอคอย
ความสุขนี้ไม่ต้องแสวงหา
ความสุขนี้มีอยู่แล้ว
แต่ว่ามันถูกบังมันถูกบดบังไปด้วยความปรุงแต่ง
ซึ่งนำเอาความทุกข์เข้ามา
โยมปรุงแต่งร้าย ใจก็เศร้าหมอง
ใจเศร้าหมองอยู่ก่อนหรือ
เห็นไหมใจไม่ได้เศร้าหมองอยู่ก่อน
ใจเศร้าหมองเพราะว่าปรุงแต่งต่างหาก
ถ้าหากว่าเราเจริญสติเข้าใจตรงนี้
โยมจะพบว่าความสุขนั้นไม่ต้องรอคอย
ไม่ได้อยู่ไกลเกินเอื้อม
และไม่ได้อยู่ที่จุดหมายด้วย
แต่อยู่ตรงปัจจุบันต่างหาก
ปัจจุบันของใจที่ปกติอยู่ก่อน
วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
งานสร้างใจ
งานสร้างใจ
โดยธีร์ ธีรปญฺโญณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2010 เวลา 8:55 น.
วัดเซนแห่งแรกในอเมริกาสร้างขึ้นที่เมืองซานฟรานซิสโกเมื่อราว ๔๐ ปีก่อน ตอนที่สร้างวัดนั้นเจ้าอาวาสคือชุนเรียว ซูซูกิต้องลงมือขนหินเอง ลูกศิษย์ซึ่งเป็นคนอเมริกันเห็นอาจารย์อายุมากแล้ว คือ ๖๐ กว่าแล้วแถมยังตัวเล็กอีกด้วย จึงระดมกันมาช่วย แต่มาช่วยขนหินได้ครึ่งวันก็เหนื่อย ส่วนอาจารย์กลับขนหินได้ทั้งวัน ลูกศิษย์แปลกใจมากจึงถามอาจารย์ว่าทำงานทั้งวันได้อย่างไร อาจารย์ตอบว่า
"ก็ผมพักตลอดเวลานี่"
ลูกศิษย์ฟังแล้วก็งง เพราะเห็นกับตาว่าอาจารย์ขนหินทั้งวัน แต่สำหรับอาจารย์ชุนเรียวนั้นตลอดเวลาที่ขนหินก็ได้พักไปด้วย ไม่ได้พักกาย แต่พักใจ มีแต่กายเท่านั้นที่ขนหิน แต่ใจไม่ได้ขนด้วย จึงไม่เหนื่อยเท่าไร คนส่วนใหญ่เวลาขนหิน ไม่ได้ขนด้วยกายเท่านั้น ใจก็ขนด้วย ขนหินไปก็บ่นในใจว่าเมื่อไรจะเสร็จสักที ขนแบบนี้ย่อมเหนื่อยเร็ว
เมื่อเราทำงานเราไม่ได้เหนื่อยแต่กายอย่างเดียว แต่ใจของเราก็มักเหนื่อยด้วย เพราะใจไปยึดติดกับงานมากเกินไป เรียกว่าจิตไม่ว่าง การทำงานด้วยจิตว่างก็คือ การทำงานโดยที่ใจไม่ไปยึดติดกับผลงาน ไม่สำคัญมั่นหมายว่าจะงานจะต้องเป็นไปตามใจปรารถนา แต่คนส่วนใหญ่นั้นมักเอาความรู้สึก "ตัวกู ของกู" ไปผูกติดกับงาน คือสำคัญมั่นหมายว่านี้เป็นงานของฉัน งานนี้คือตัวฉัน ถ้างานล้มเหลว ก็รู้สึกว่าฉันล้มเหลวไปด้วย ถ้าใครมาตำหนิงาน ก็ถือว่าตำหนิตัวฉันด้วย เพราะฉะนั้นใครจะมาตำหนิฉันไม่ได้ การทำงานแบบติดยึดอย่างนี้ทำให้ใจเหนื่อยไปกับงานด้วย
คนส่วนใหญ่จะรับผิดชอบงานก็ต่อเมื่อรู้สึกว่าเป็นงานของฉัน ความคิดแบบนี้แม้ทำให้ตั้งใจทำก็จริง แต่ก็อาจทำให้ทุกข์ไปด้วย เวลาทำก็เกร็งเพราะกลัวว่าถ้างานไม่ดีตนจะถูกต่อว่า เสียหน้า หรือไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง จริงอยู่ปุถุชนย่อมต้องการแรงจูงใจหรือผลตอบแทน จะได้มีกำลังใจทำงาน แต่ย่อมเป็นทุกข์ได้ง่าย เพราะว่ามีตัวตนเข้าไปรับผลกระทบจากสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมา ถ้าสิ่งที่มากระทบนั้นเป็นเรื่องน่าพอใจก็รอดตัวไป แต่ถ้าไม่น่าพอใจก็จะรู้สึกทุกข์ขึ้นมา เพราะมีตัวตนเป็นผู้ทุกข์
เราควรทำงานอย่างวางใจชนิดที่ไปถึงขั้นว่า ไม่มีความยึดติดว่าเป็นของฉัน หรือไปสำคัญมั่นหมายว่ามีตัวฉันเป็นผู้กระทำ ถ้าสำคัญมั่นหมายว่างานเป็นของฉันก็ทำให้ทุกข์ ถ้าไปสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นผู้ทำก็ทุกข์เช่นกัน คือทุกข์ทุกครั้งที่มีของฉันหรือตัวฉันเกิดขึ้น เมื่อสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นผู้ทำ ก็จะต้องมีฉันเป็นผู้เหนื่อย แทนที่จะเห็นความเหนื่อยเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา กลับไปยึดว่าความเหนื่อยเป็นของฉัน ฉันเป็นผู้เหนื่อย
การปล่อยให้ความสำคัญมั่นหมายในตัวตนเกิดขึ้นมา ทำให้เราเป็นทุกข์ได้ง่าย ไม่ใช่แต่ในเวลาทำงานเท่านั้น เวลาไหนๆ ก็เหมือนกัน โดยเฉพาะเวลาประสบกับสิ่งไม่พึงปรารถนา เช่น เวลาไม่สบาย ถ้าเรายึดว่าร่างกายเป็นของเรา แทนที่จะเห็นความเจ็บปวดเกิดขึ้นกับร่างกายเฉยๆ ก็ไปสำคัญมั่นหมายว่าฉันเจ็บ ฉันปวด ฉันทุกข์
ท่านอาจารย์พุทธทาสได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า เวลามีดบาดนิ้ว ถ้าเราทำความรู้สึกในใจว่ามีดบาดนิ้ว จะไม่ค่อยเจ็บเท่าไหร่ แต่พอไปคิดว่ามีดบาด "ฉัน" ขึ้นมา จะรู้สึกเจ็บมาก "มีดบาดนิ้ว" กับ "มีดบาดฉัน"จะให้ความรู้สึกต่างกัน การที่มีตัวฉันมาออกรับอารมณ์ต่างๆ ทำให้เราเป็นทุกข์ได้ง่าย เวลาเดินทางไกล แทนที่จะรู้สึกว่ากายเหนื่อย กลับรู้สึกขึ้นมาว่าฉันเหนื่อย คือไม่ใช่เหนื่อยแต่กาย แต่ใจหรือตัวฉันก็เหนื่อยด้วย
ถ้าเรามีสติรู้ทันความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า ที่เหนื่อยนั้นคือเหนื่อยกาย แต่ใจไม่จำเป็นต้องเหนื่อยด้วย เมื่อไม่ได้เอาตัวตนออกไปรับหรือเป็นเจ้าของความเหนื่อยด้วย ก็สามารถที่จะเดินไปได้โดยไม่รู้สึกเหนื่อยมากนัก ความเหนื่อยเกิดขึ้นก็จริง แต่ไม่มีความรู้สึกว่าฉันเหนื่อย เพราะไม่ได้ปรุงแต่งตัวตนให้ไปออกรับความเหนื่อย จะทำเช่นนี้ได้ต้องอาศัยสติเข้าไปกำกับใจเวลาเกิดอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ขึ้นมา เพราะสติทำให้เราเห็นอารมณ์ต่างๆ แต่ไม่เข้าไปเป็นเจ้าของอารมณ์นั้น หรือเอาอารมณ์นั้นมาเป็นตัวเป็นตน
เราจำเป็นต้องใช้สติเข้าไปกำกับเวลาทำงาน สตินั้นตรงข้ามกับตัณหา คนที่ทำด้วยตัณหา หรือความอยาก จะไม่เข้าใจหรือรู้สึกถึงความโปร่งเบาในเวลาทำงานได้ เพราะจิตคอยแบกความอยากไว้ตลอดเวลา แต่ถ้าเรามีสติอยู่กับงานที่ทำ อยู่กับปัจจุบัน จะมีแต่การทำงาน แต่ไม่มีผู้ทำงาน เช่นเดียวกับเวลาเดิน ถ้าเราเดินอย่างมีสติ จะมีแต่การเดิน แต่ไม่มีผู้เดิน
งานการต่างๆ สามารถที่จะเป็นเวทีหรือโอกาสให้เรารู้จักการปล่อยวางตัวตน ไม่ยึดติดว่าเป็นเราหรือของเรา คือทำงานด้วยจิตว่างนั่นเอง พุทธศาสนานั้นมองว่า งานนอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนรวมแล้ว ยังสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนตนได้ด้วย คือเกิดประโยชน์ในแง่การพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือจิตใจไปพร้อมกัน งานสามารถบ่มเพาะหรือเสริมสร้างคุณภาพภายในได้ด้วย ไม่ใช่แค่สร้างสรรค์สิ่งภายนอกเท่านั้น ถ้าทำงานด้วยการวางจิตวางใจอย่างถูกต้อง งานก็จะสำเร็จ ส่วนคนทำก็จะมีความสุขด้วย เป็นความสุขที่เกิดขึ้นกับตัวเองพร้อมกับความสำเร็จที่เกิดกับส่วนรวม
งานที่สร้างสรรค์นั้นช่วยสร้างโลกให้น่าอยู่ แม้จะทำงานเล็กๆ แต่ก็ควรระลึกว่าเราได้มีส่วนสร้างสังคมและสร้างโลกด้วย พร้อมกันนั้นก็พึงตระหนักว่างานที่เราทำแต่ละขณะๆ นั้นมีส่วนในการสร้างความเจริญงอกงามให้เกิดขึ้นกับชีวิตด้านในไปด้วย ทัศนคติเช่นนี้คือสิ่งที่ขาดหายไปในการทำงานส่วนใหญ่ เพราะผู้คนมักเห็นแค่ว่างานการทำให้เกิดความสำเร็จทางโลก แต่ไม่ค่อยคิดว่างานสามารถทำให้เกิดความสำเร็จทางธรรมหรือทางจิตวิญญาณได้ ด้วย งานสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ตนควบคู่กับประโยชน์ท่าน งานสามารถที่จะสร้างโลกให้สวยสดงดงามพร้อมๆ กับการบ่มเพาะชีวิตด้านในให้พรั่งพร้อมบริบูรณ์ด้วยความสุข
โดยพระไพศาล วิสาโล
เรื่อง : จากเสียงขลุ่ยแห่งขุนเขา สู่ช่องว่างหว่างเม็ด เซลล์
โดย Nitipat Nitinandho ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2010 เวลา 18:24 น.
เรื่อง : จากเสียงขลุ่ยแห่งขุนเขา สู่ช่องว่างหว่างเม็ด เซลล์
หลวงพ่อ อำนาจ :
หุบเหวคือ เสียงขลุ่ยแห่งขุนเขา
มี ลมเข้าไหลออกตามหลืบผา
เปลี่ยน รูปทรงช่องว่างหว่างศิลา
บีบเข้ามาวิ่งหวีดร้องก้องกังวาน
แต่ ช่องว่างหว่างเม็ดเซลล์ยิ่งกว่านั้น
กว่าเสียงขลุ่ยหลายพันหลายล้านผสมผสาน
เปลี่ยนรูปทรงเปลี่ยนช่องว่างพิสดาร
เป็นสังขารตระการตามายากล
ในช่องว่างหว่างเขาผาหลืบถ้ำ
ช่องเงื่อมง้ำถ้ำร้อนเย็นเป็น ฉงน
ผ่านหินร้อนช่องก็ร้อนในบัดดล
ผ่านสายชลช่องก็เย็นเป็นธรรมดา
เพียงแต่ว่าในช่องว่างหว่างเม็ดเซลล์
มีร้อนเย็นอ่อนแข็งเล่นซ่อนหา
ระเหยผ่านช่องว่างสร้างปฏิกิริยา
สะท้อนกลับรับรู้ ไปมา มายาการ
เหมือนเสียงสะท้อนก้องหุบเขาราวเสียง ขลุ่ย
ปลิวไล่หลุ่ยดุจความจำกึ่งสังขาร
เสียงสะท้อนในช่องเซลล์ก้องกว่านาน
ปรุงสังขารจากความจำล้ำบรรยาย
เสียงดังก้องปฏิกิริยาดุจฟ้าร้อง
ร้อนเย็นต้องกระทบกันผ่าเป็นสาย
เป็นพลังงานที่เคลื่อนไหวไม่มีใคร
แล้วสายฟ้าใน ร่างกายเเป็น ใครกัน
ความไม่รู้ ไปยึดปฏิกิริยาในนาม รูป
ลองทำรูปมือถูกกันไม่เห็นฉัน
เพราะกระทบบรรจบรู้ในฉับพลัน
ยกมือพลางรับรู้คลายสบายไป
ตั้งมั่นอยู่กับรู้ดูสังเกต
รูปนามเหตุอัศจรรย์ พลัน มากหลาย
รูปภายนอก ภายใน ไม่มีใคร
ช่องเล็ก ใหญ่ ภายใน นอกล้วนหลอกลวง
นาม เดิมไม่มีอะไรอยู่ใน นั้นแต่เก่าก่อน
เหมือนละครตอนขันธ์ ๕ พาหลุดร่วง
ช่องว่างเดิมก่อนเติมรู้ดูกลวง
กลวงผ่านธาตุลวงล่วงรู้สู่นามเดิม
เขียนเมื่อกี้นี้
หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยเขียน ไว้
ในจักรวาลนี้มีแค่รูปนามเท่านั้นเอง
นามเดิมก็คือความว่าง
เมื่อรูปมันเคลื่อนไหวผ่านช่องว่าง
ก็เกิดการรับรู้นั่นเอง
เหมือนหลวงพ่อเลยบอกว่า
หุบเหวนี้มันเหมือนเสียงขลุ่ยแห่งขุนเขา
พอขุนเขาห่อตัวจะก่อตัวมีช่องว่าง
เมื่อช่องว่างนั้นถูกลมพัดผ่าน
ก็เกิดเป็นช่วงทำนอง
เมื่อเสียงเข้าไปอยู่ในช่องว่างแล้ว
มันก็จะสะท้อนกลับไปกลับมา
กลายเป็นสัญญาหรือความจำ
พระอาจารย์อำนาจ โอภาโส
การทำงานของขันธ์ ๕
การทำงานของขันธ์ ๕
โดย Nitipat Nitinandho ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2010 เวลา 21:00 น.
การทำงานของขันธ์ ๕
มันหยาบ....................
ช่องว่างในหินผาช่องว่างในหุบเหวมันหยาบแล้วก็ ใหญ่
แต่ลองคิดสิว่าช่องว่างในเม็ดเซลล์เรา
ในยีนส์ในดีเอ็นเอ ละเอียดมาก ๑ ในล้านมิล
แล้วลองคิดถึงถ้ำ
ช่องว่างในถ้ำเวลา
เราเอาหินเย็นๆเข้าไปอยู่ช่องมันก็ เย็น
หินร้อนเข้าไปอยู่ช่องมันก็ร้อน
ปฏิกิริยาในช่องว่างลองคิดสิ
ช่องว่างในเม็ดเซลล์ในยีนหรือดีเอ็นเอเรานี้ยิ่งกว่านั้นอีก
ธาตุ ๔ที่สร้างปฏิกิริยากันปฏิกิริยาเคมี
แล้วไหลมากระทบผ่านช่องว่าง
ละเอียดอ่อนกว่าไม่รู้กี่เท่า
เพราะมันตั้ง ๑ ในล้านมิล
ในช่องว่างนี้ก็เกิดการรับรู้ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเข้ามา
เหมือนฟ้าร้อง ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า
มันเกิดจากไอร้อนบนผืนแผ่นดิน
ไอเย็นบนท้องฟ้ามากระทบกัน
ยังกลายเป็นพลังงานได้ เลย
แล้วข้างในนี้ละเอียดกว่าฟ้าผ่าไม่รู้กี่ล้านเท่า
มันก็เกิดเป็นการรับรู้ในช่องว่างระหว่างรูป กับ นามนี้
ที่เรียกว่าการรับรู้
ที่หลวงปู่ดูลย์เขียนในหนังสือ “จิต คือ พุทธะ” นี่
หลวงพ่อไม่ได้ว่าเปรียบเทียบความรู้
แต่ว่าเปรียบเทียบว่าที่ท่านพูดว่า
ที่สุดของความหลอกลวง ของรูป นาม
ก็คือวิญญาณ
คือใน รูปมันมีช่องอยู่
และในช่องว่างเกิดไอมากระทบกัน
เกิดการรับรู้และตัวรับรู้นี้มันก๊อปปี้สิ่งที่รู้เอาไว้
เรานึกถึงภาพที่ จุด จุด จุด เป็นรูปร่าง
สีแล้วจุดระหว่างรูปร่างมีไอปฏิกิริยามากระทบกันอย่างนี้
แล้วมันเริ่มทำงานด้วยตัวเองได้
พอรูปร่างนั้นถูกลบหายไป
ปฏิกิริยาระหว่างช่องว่างมันถอดก๊อปปี้มาอีกทีหนึ่ง
นี้คือที่สุดของความหลอกลวงของรูปและนาม
กลายเป็นความรู้สึกรับรู้ขึ้นมาเรียกว่า “วิญญาณ”
วิญญาณ เข้าไปรับรู้แล้วมันยึดไง
มีอุปาทานเข้าไปยึดมั่นในการรับรู้อย่างที่บอกว่า
แม้เสียงสะท้อนในหุบเขาก้องกลับไปกลับมา
แต่เสียงสะท้อนระหว่างช่องยิ่งละเอียดกว่านั้นอีก
เกิดเป็นสัญญาขึ้นรับรู้
รู้สึกมี สัญญาประเภทของการรับรู้
จะเท่ากับประเภทของสัญญาประเภทของวิญญาณ
จะเท่ากับประเภทของสัญญาทุกครั้ง
เหมือนพวกเรานั่งอยู่ในขณะนี้
มีเท้ากระทบพื้นรับรู้ และรู้สึกด้วยนะ
อันที่หนึ่งรับรู้อันที่สองรู้สึก เช่น
รู้สึก แข็งๆ เจ็บๆและก็จำได้จำความเจ็บได้
จำความแข็งได้เรียกว่าสัญญาแล้ว
เราเอาสองสิ่งนี้มาปรุงต่อเอามาคิดต่อคือ
มันจำไว้ ไงจำว่า แข็งๆเจ็บๆเป็นอย่างนี้
แล้วก็มา ปรุงว่าเราไม่ชอบ แข็งๆ
เราไม่ชอบเจ็บเจ็บๆ
ไอ้ดีไม่ดีมาทีหลัง เห็น ไหม
แล้วมันก็ป่วนเปลี่ยน
มันไม่ใช่จำว่าแข็งๆเจ็บๆอย่างเดียวนิ
มันรับรู้ผ่านอุปกรณ์ตั้งหลากหลายตั้ง ๖ตัว
อายตนะ ๖ มีกระบวนการรูปทรงของเมล็ดเซลล์
ช่องว่างตั้งหลากหลายเกิดกระบวนการอย่างนี้
ลูกตาเราก็มีเลนส์เรด้าหูเราก็มีอีกแบบหนึ่ง
มีจอรับภาพมีเลนส์ เรด้า อะไรต่างๆเหล่านี้เต็มไปหมดเลย
แล้วการรับรู้ต่างๆ ก็เต็มไปหมดเลย
ที่นี้รับรู้แล้วก็จำ จำแล้วก็นำมาคิดต่อ
ข้อมูลที่รับเข้ามาเพราะความไม่รู้
มันก็ไปคว้าว่า ตอนที่รับรู้ว่า เรารับรู้ เรารู้สึก เราได้ยิน
มันคิดคำว่าเรามา ตลอดมีเราที่ไหนกันเนี่ย
ความไม่รู้เราก็เห็นแต่เนื้อเรื่องที่มันคิดมันจำอยู่ตลอดเวลา
ไม่เคยเห็นสภาพเดิมว่าก่อนนั้นไม่เคยมีสิ่งนี้มาก่อนเลย
รับรู้มาว่า เราชอบ เราไม่ชอบ
อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี ดีไม่ดีมัน
มีอยู่ก่อนหรือเปล่าเห็นไหม
เราปฏิบัติเพื่อเห็นความจริงในศาสนาพุทธ............
ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ : 66 วันเดิน 1,000 กิโลเมตร
แสงสว่างบนทางเท้าของอ.ประมวล
ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ : 66 วันเดิน 1,000 กิโลเมตร
. . .
1 ปีก่อนผู้ชายธรรมดา ๆ คนหนึ่งได้ตัดสินใจยุติบทบาทอาจารย์มหาวิทยาลัยในวันคล้ายวันเกิดปีที่ 51 เพื่อออกเดินเท้าจากเชียงใหม่กลับสู่บ้านเกิดที่เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ด้วยเงื่อนไข ไม่พกเงินติดตัว-ไม่เดินไปหาคนรู้จักหากคนรู้จักอยู่ที่ไหนก็จะหลีกเลี่ยง-ไม่ร้องขออาหาร เว้นแต่จะมีผู้หยิบยื่นให้เองโดยไม่เดือดร้อน-ไม่เบียดเบียนใครหรือสิ่งใด-ไม่กำหนดเวลา-ไม่วางแผนการเดินทาง หรือกำหนดเส้นทางที่แน่ชัด
..
66วันผ่านไป อดีตอาจารย์ภาควิชาปรัชญาฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนเดิมเดินกลับมาเหมือนปาฏิหาริย์ นำมาซึ่งการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านระยะทางกว่า 1,000 ก.ม.ในหนังสือ "เดินสู่อิสรภาพ"แทนจดหมายขอบคุณผู้ให้ชีวิตใหม่แก่เขาตลอดเส้นทางกว่า 166 คน และบอกเล่าความหมายและคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ตลอดการก้าวย่างทั้งภายนอกและการเดินทางภายใน..
...
ฉากชีวิตของ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ เริ่มต้นบนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี ผ่านชีวิตเด็กรับจ้างกรีดยางที่เรียนจบเพียงชั้นป.4 ไฟไหม้สวนยางทั้งแปลงของตนเมื่ออายุ 15 ปี การตัดสินใจบวชเณรเพื่อก้าวให้พ้นจากความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2514 จนเรียนจบเปรียญ 5 เข้าเรียนมหาจุฬาฯ ย้ายไปเรียนมหามกุฏฯ และตัดสินใจเปลี่ยนวิถีชีวิตอีกครั้งเพราะสะเทือนใจกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 เดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดีย จนจบปริญญาตรี-โท-เอก สาขาปรัชญา ซึมซับอารยธรรมอินเดียเป็นเวลานานถึง 10 ปีเศษ ก่อนกลับมาช่วยสอนที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และสอบบรรจุเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นานกว่า 16 ปี
..
อาจารย์ประมวลเคยเล่าในวงเสวนาครั้งหนึ่งว่ามักมีคนถามว่าทำไมถึงเดินซึ่งเขาจะอธิบายไปว่าการเดินเป็นวิถีที่ศักดิ์สิทธิ์ในความคิดของตน สามารถพาไปสู่สิ่งที่ตนคาดหวังได้ ซึ่งอาจจะตอบคำถามได้ไม่หมดแม้จะเคยศึกษาเรียนรู้ทางด้านวิชาการมามากแล้วก็ตาม
..
"ผมคิดว่าเวลาที่จะมีชีวิตอยู่มันเหลือไม่มากนักและผมได้รับอิทธิพลจากวัฒธรรมอินเดียที่เคยอยู่มา เมื่อถึงวัยหนึ่งที่สำนึกรู้ว่าตนมีเวลาเหลืออยู่ในโลกไม่มากแล้ว ก็ต้องเตรียมตัวที่จะละโลกนี้ไป ที่อินเดียเรียกว่าเข้าสู่ยุค "วานปรัสถ์" ไปอยู่ในป่า หรือไม่ยึดติดในสภาวะที่มีอยู่ ผมเลยใช้การเดินเพื่อออกจากสภาวะที่มีอยู่"
โดยกำหนดสิ่งที่เป็นเป้าหมายในการเดินว่า ขอเดินเพื่อข้ามให้พ้นไปจากสภาวะที่มีอยู่ในใจตนเองคือความรู้สึกเสียดาย หวงแหนที่มีอยู่ในสิ่งต่าง ๆ ที่เราครอบครองอยู่ ไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือทรัพย์สินภายนอกเดินไปจากความรู้สึกกลัว เกลียดรังเกียจ เคียดแค้นชิงชังอะไรบางสิ่งบางอย่าง และความปรารถนาสูงสุดคือ การเดินออกจากความกลัวที่อยู่ในใจตัวเอง
..
"ผมมีเจตนาที่จะเดินข้ามพ้นความเสียดาย ความเกลียด ความกลัว โดยหวังว่าจะข้ามพ้นไปพบกับความเสียสละ จาคะ ความรู้สึกซึ่งเป็นมิตรไมตรี ความมีเมตตา ความรู้สึกซึ่งเป็นความรู้ ที่ทำให้เราไม่หวาดกลัวคือปัญญา ซึ่งผมจะไปถึงเมื่อไรก็ไม่ทราบ แต่ผมขอเพียรพยายามอย่างยิ่งที่จะไป"
"วันหนึ่งเมื่อผมต้องการยุติการเป็นครูผมบอกว่าชีวิตผมน่าจะเป็นที่เรียนรู้ต่อไปมากกว่าการมานั่งฟังผมพูดผมพยายามจะบอกนักศึกษาว่าความเป็นครูของผมไม่ได้อยู่ที่สอนด้วยการพูดต่อไปแล้วแต่อยู่ที่ว่าต่อไปนี้ผมจะทำสิ่งที่พวกคุณคิดว่ามันดีก็ทำตามได้ผมยืนยันที่จะทำในสิ่งที่เรียกว่าการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขโดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาลาภยศสรรเสริญ หรือวัตถุสิ่งของภายนอกผมอยากยืนยันว่าความสุขที่แท้จริงของการมีชีวิตอยู่ มันคืออะไร"
..
จากความตั้งใจนี้อาจารย์ประมวลจึงตัดสินใจลาออกจากราชการในวันที่ 23 ตุลาคม 2548 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของตนเองโดยเขามอบอำนาจการตัดสินใจให้ภรรยา(อาจารย์สมปอง เพ็งจันทร์)เลือกวันเริ่มต้นชีวิตใหม่ให้กับตนเองและเริ่มต้นฝึกเดินจากบ้านของตนที่ต.แม่เหียะจ.เชียงใหม่สู่วัดพระธาตุดอยสุเทพตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2548 การฝึกเดินครั้งแรกค่อนข้างทุลักทุเล เพราะเมื่อเดินลงจากดอยสุเทพแล้วกลับบ้านไม่ได้เนื่องจากรถเยอะมากจนไม่สามารถข้ามถนนได้ต้องโบกรถโดยสารให้ไปส่งที่บ้านโดยภรรยาถึงกับต้องอุ้มเข้าบ้านและนวดให้ทั้งคืน รุ่งเช้าจึงเป็นไข้และเว้นไป 1 วันจึงตั้งต้นฝึกเดินต่อจนกระทั่งเดินได้พอสมควรและเชื่อว่าจะเดินได้ภรรยาจึงอนุญาตให้เดินออกจากบ้านในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548
..
สัมภาระมีเพียงเป้หนึ่งใบที่บรรจุยาขวดน้ำหมวกเสื้อผ้าหนึ่งชุดสมุดบันทึกปากกา และไปรษณียบัตรที่เขียนถึงภรรยาทุก ๆ วันเพื่อสื่อสารว่ายังมีชีวิตอยู่
..
"บทเรียนที่ได้จากการก้าวเดินจึงเป็นบทเรียนที่ผมค่อนข้างภูมิใจแต่ไม่ได้บอกว่าสิ่งนี้ดีประสบการณ์ที่ได้จากการก้าวเดินแบบนี้เริ่มต้นจากการเผชิญสิ่งง่ายๆ ที่เราไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นปัญหากับชีวิตมากขนาดนี้เช่นเรื่องอาหารเพราะผมตั้งใจจะไม่ขออาหารจากผู้ใดผู้หนึ่งด้วยการไปบอกว่าผมหิวกระหายดังนั้นกว่าเขาจะรู้ว่าเราหิวโหยจนแทบขาดใจตายอยู่แล้ว ก็ต้องสังเกตเอาเองและเมื่อมีคนให้อาหารผมทานเพียงแค่มื้อแรกที่ได้รับผมก็รู้เลยว่าการกินอาหารที่ผ่านมาตลอดชีวิต มันได้แต่กินอาหารอย่างเดียว ได้แต่เสพรสอาหารแต่ไม่ได้เสพรสชาติชีวิตมนุษย์อย่างแท้จริง"
..
ความหมายของอาหารมื้อแรก
วันแรกของการออกเดินอ.ประมวลพบบทเรียนแรกจากการอดเมื่อถึงเขตอำเภอสันป่าตอง เกิดอาการอ่อนล้าขณะที่น้ำในกระบอกก็หมดตนรู้สึกหน้ามืดเหมือนจะเป็นลมคอแห้ง น้ำลายขม และหูอื้อไม่ได้ยินเสียงอะไรขณะนั้นเขาพบเพิงขายก๋วยเตี๋ยวซึ่งมีม้าหินขัดตั้งอยู่จึงขออนุญาตเจ้าของเพิงขายก๋วยเตี๋ยวนั่งพักตรงนั้นและได้รับไมตรีจิตจากเจ้าของเพิงทำก๋วยเตี๋ยวให้ทานเมื่อทราบว่าเขาเดินเพื่ออะไร
"ผมรู้ว่าก๋วยเตี๋ยวชามนั้นเขาเต็มใจทำจริง ๆเพราะมันเต็มชามเลย ทั้งเส้นก๋วยเตี๋ยว ทั้งลูกชิ้นทั้งอะไรที่มีอยู่เขาใส่มาจนเต็มแล้วผมก็ได้รู้ว่าการได้ทานก๋วยเตี๋ยวชามนั้นมันมหัศจรรย์และวิเศษที่สุดเพราะก่อนหน้านั้นผมรู้สึกว่าเพียงแค่วันแรกชีวิตของผมก็กำลังจะมอดดับสลายเสียแล้วแต่พอได้ทานก๋วยเตี๋ยวเท่านั้นเองสิ่งที่มันเฉาไป มันก็ค่อย ๆ พื้นคืนมา"
"ผมขอบคุณคนให้ก๋วยเตี๋ยวที่ช่วยต่อชีวิตให้ผมยังได้มีต่อไปการทานอาหารเพียงแค่มื้อแรกก็สุดแสนมหัศจรรย์กับการที่มีชีวิตอยู่เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้เราตระหนักรู้ว่าอาหารที่ทานเข้าไปนั้นมันมีความหมายมากกว่าที่เราเคยทานมาไม่รู้สักเท่าไรและอาหารแต่ละมื้อที่ทานไปมีมิติแห่งความหมายทั้งนั้นจนผมรู้สึกเสียดายว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมากินอาหารไม่รู้กี่ร้อยกี่พันมื้อแล้วทำไมจึงไม่ได้ความรู้สึกไม่ได้อารมณ์ประเภทนี้เลย"
เฉียดตายเพิ่มความหมายชีวิต
ครั้งแรกของประสบการณ์เฉียดตายระหว่างการก้าวเดินของอ.ประมวลคือขาขึ้นดอยอินทนนท์ ซึ่งเขาเล่าว่าเหมือนชีวิตกำลังจะขาดรอนๆเขาใช้คำว่าเกือบปลงชีวิตเสียแล้ว เพราะทั้งใจสั่น หน้ามืดจะเป็นลมต้องล้มตัวลงนอนที่ข้างถนนปรากฎว่าไม่ตายเพราะมีรถปิคอัพทะเบียนชลบุรีคันหนึ่งจอดรับเขาเพื่อไปส่งถึงยอดดอยในระยะทางอีกเพียง 2 ก.ม.เท่านั้น ซึ่งนั่นทำให้เขาได้เรียนรู้ความสุขจากขาลงดอยที่เปรียบได้กับขาลงของชีวิตเพราะไม่ต้องแบกน้ำหนักจากสิ่งใดๆ เท่ากับขาขึ้น
..
ครั้งที่สองคือเมื่อเดินถึงจังหวัดราชบุรีเนื่องจากวันนั้นอดข้าวมาทั้งวัน และยังต้องเดินบนถนนใหญ่ที่อากาศร้อนจัดและเต็มไปด้วยควันพิษทำให้รู้สึกวิงเวียนหูอื้อตาลาย ไม่สามารถทรงตัวได้ เขาคิดว่าตัวเองจะตายอีกครั้ง แต่ก็ยังมีคนมาพบและนำตัวขึ้นรถกระบะโดยที่อ.ประมวลพยายามพูดได้แค่เพียงคำว่าเพชรบุรีอยู่หลายครั้งก่อนหมดสติไป..
..
บทเรียนจากเงิน
บทเรียนที่ดีมากอีกครั้งหนึ่งคือเหตุการณ์ที่จ.กำแพงเพชรเมื่อชายหนุ่มคนหนึ่งจอดรถรับเขาขึ้นรถและเมื่อรู้เจตนาที่แท้จริงในการเดินก่อนจากกันจึงรีบซุกเงิน200 บาทให้ในซอกเป้ แล้วขับรถหนีไป
"ผมพบว่าสตางค์ 200 บาทนี้เข้ามาเป็นตัวแทรกในชีวิตผมที่มหัศจรรย์มาก เพราะเมื่อเดินมาจนถึงสี่แยกสลกบาตร จ.กำแพงเพชร ผมเกือบยอมจำนนต่อความหิวกระหายและนำเงิน 200 บาทที่ได้มานั้นไปซื้อน้ำดื่มแต่เผอิญโชคดีที่ไฟเขียวตรงสี่แยกนั้นขึ้นมาก่อน ผมเลยรีบวิ่งออกไปจากตรงนั้นคนขับมอเตอร์ไซค์คงนึกว่าผมรีบวิ่งข้ามถนนแต่ความจริงผมรีบวิ่งหนีอารมณ์ตัวเองที่อ่อนแอมากเพียงแค่มีเงิน200 บาทอยู่ในกระเป๋าทำให้ผมเกือบพ่ายต่อปฏิญญาที่ตัวเองวางไว้"
..
ร่องรอยของความดีงามระหว่างรอยเท้า
ก้าวต่อก้าวนับพันกิโลเมตรสิ่งที่ประจักษ์ใจผู้ก้าวเดินคือไมตรีจิตของผู้คนในสังคมที่ยังมีอยู่จริง เช่น สองสามีภรรยาคนเก็บขยะที่เมตตาเลี้ยงอาหารที่ อ.บางสะพาน เด็กวัดไร้บ้านที่ขออนุญาตรูปยักษ์ให้ตนได้นอนในศาลาวิหารและหาอาหารมาให้กิน คนขับมอเตอร์ไซค์ตามเพื่อนำสตางค์มาให้แต่ไม่ได้รับ เพื่อนต่างศาสนาที่เอื้อเฟื้ออาหารและยาเมื่อรู้ว่าใช้วิธีการเดินเพื่อฝึกตนเช่นเดียวกัน หรือแม้แต่หมาหนังกลับที่นอนแอบอิงอาศัยไออุ่นซึ่งกันและกันกับอ.ประมวล จนทำให้เขาสัมผัสคุณค่าของการมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น..
..
คืนดินสู่ผืนดินเกิด
วินาทีที่ถึงจุดหมายปลายทางเกาะสมุย อ.ประมวลเคยเล่าว่าไปถึงเรือข้ามฟากบ้านดอน-เกาะสมุยในวันที่ 24 ม.ค.2549 ขณะนั้นมีความรู้สึกดีใจเป็นล้นพ้น เมื่อเดินจากสะพานไปเหยียบแผ่นดินเกาะสมุย ตนก้มลงสัมผัสแผ่นดินที่เกาะสมุยด้วยความรู้สึกดีที่สุด วันนั้นเป็นวันที่ฝนตก ก้มศีรษะลงไปไม่ถนัด ต้องใช้มือจับแผ่นดินแล้วเอามาวางที่กระหม่อมตัวเอง มือเปียกน้ำที่เอามาสัมผัสกับศีรษะสะดุ้งด้วยความรู้สึกที่มหัศจรรย์ จากนั้นจึงเดินกลับบ้าน คุกเข่าลงในที่ที่เป็นบันไดบ้านเดิม และนำดินที่เก็บมาจากไต้ถุนบ้านเมื่อตอนออกจากบ้านอายุ18ปีมาคืนยังที่เดิม ตนรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูกและร้องไห้ เป็นอารมณ์ที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต เสียงป้าที่เรียกให้ไปอาบน้ำแล้วมากินข้าวก็ทำให้ตนรู้สึกถึงการกลับบ้านจริง ๆ อีกครั้ง
..
ค้นพบแสงสว่างบนทางเท้า
รับมือกับความท้อแท้
เมื่อถามถึงความท้อแท้ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง เขาตอบว่าความท้อเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะตนมีหลักเกณฑ์ในการกำจัดความท้อแท้อยู่แล้ว เนื่องจากก่อนออกเดินทางตนทราบว่าอะไรคืออุปสรรคที่จะมารบกวน ซึ่งได้แก่ ความรู้สึกท้อแท้ หวาดกลัวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นเขาจึงเตรียมจิตให้ไม่ว่อกแว่กกับเรื่องในอดีตซึ่งจะทำให้เกิดความห่วงใยผูกพันและไม่ปรุงแต่งเรื่องในอนาคตที่ทำให้รู้สึกคาดหวัง และกดดันท้อแท้ พร้อมตั้งจิตเป็นเชิงอธิษฐานว่าจะก้าวทีละก้าวด้วยจิตใจที่เบิกบาน กับอารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน
..
มื้อที่อดสอนมื้อที่อิ่ม
"เคยอดข้าวนานที่สุดเกือบ 2 วันเต็ม ผมพยายามเรียนรู้อารมณ์ที่เกิดจากการอดว่าเริ่มจากการกระหายหิวซึ่งเป็นเรื่องปรกติเมื่อเราไม่ได้กินอาหาร ทำให้ได้ไคร่ครวญว่าการมีอาหารกินเป็นสิ่งมีค่าประเสริฐมาก เพราะฉะนั้นต่อไปถ้าได้มีอาหารกินจะต้องรู้ค่าของการกินอาหาร และรู้ค่าของอาหาร นอกจากนั้นความรู้สึกกลัวอันตรายในภาวะที่ไม่ได้กินอาหารยังทำให้ตระหนักรู้ว่าถ้าร่างกายของเราจะจบลงเพราะไม่มีอาหารกิน ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ากลัวอะไร เพราะเป็นไปตามความปรารถนาของตนที่ต้องการเดินจนกว่าชีวิตจะหาไม่แล้ว
..
อย่างไรก็ตาม วินาทีที่ฝืนเดินจนเหนื่อยแทบขาดใจตายก็ได้สอนให้เขาเรียนรู้อีกครั้งว่าการเดินให้ตายไม่ใช่สิ่งประเสริฐอะไรเลยเพราะครั้งหนึ่งเคยเดินด้วยความรู้สึกที่อยากก้าวย่างจนถึงวาระจิตสุดท้าย แต่ปรากฎว่ายังไม่ยอมตาย จึงพบว่าความจริงแล้วตนไม่ควรหยาบคายต่อร่างกายของตัวเอง แต่ควรดูแลและทนุถนอมร่างกาย เพื่อเดินด้วยจิตใจที่เบิกบานจะดีกว่า
..
"ถ้าร่างกายนี้มีความจำเป็นต้องหยุดพักเราก็ต้องพัก เพราะร่างกายเป็นอุปกรณ์ที่ให้เราใช้เหมือนเราขับรถ ถ้ารถร้อนจัดเราก็ต้องหยุดให้รถคลายความร้อน แต่ถ้ายังฝืนขับไป รถอาจจะร้อนจนน็อกไปซึ่งวิธีทำเช่นนั้นไม่ใช่เป็นวิสัยของคนขับรถที่ฉลาดเลย"
..
ถูกครหาว่าสุดโต่ง
"ผมไม่ได้คิดถึงเรื่องสุดโต่งเพราะผมไม่ได้ปฏิเสธสิ่งที่มันอยู่ขั้วตรงกันข้าม ผมไม่ได้ปฏิเสธการมีชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบาย แต่คิดว่าในขณะหนึ่งเราควรเรียนรู้ว่าชีวิตที่มันอยู่คนละขั้วนี่มีความหมายอย่างไร เช่น เราตระหนักถึงความหิวเพื่อรู้ค่าของความอิ่ม เราเรียนรู้การเหน็ดเหนื่อยเพื่อรู้ค่าของการได้หยุดพัก เพราะฉะนั้นเวลาเดินไปเราจะรู้เลยว่าการได้หยุดพักก็เป็นคุณค่าอันประเสริฐสำหรับการเดินทางเราจะไม่สามารถเดินทางได้ถึงเป้าหมายเลย ถ้าไม่มีโอกาสหยุดพัก เพราะฉะนั้นการหยุดพักก็เท่ากับการเดิน การเดินเท่ากับการได้หยุดพัก และถ้าเดินถึงเป้าหมายก็ต้องขอบคุณทุก ๆ ก้าว ทั้งที่ขณะก้าวย่างและขณะที่ก้าวหยุดเมื่อผมเดินถึงบ้าน จึงต้องขอบคุณชีวิตของผมที่มีทั้งสุข ทุกข์ สำเร็จ ล้มเหลว"
..
"ถ้าพูดในแง่การประเมินค่าก็มีทั้งดีและชั่ว ถ้าเรามีสิ่งหนึ่งที่เป็นความชั่ว ก็ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าความชั่วมีผลเช่นไร และส่งผลให้เราตระหนักถึงคุณค่าของความดี เพื่อให้มีพละกำลังที่จะทำความดี หรือเวลาเราประสบความล้มเหลว เราก็เห็นคุณค่าของความสำเร็จ เวลาประสบความสำเร็จเราก็เห็นบทเรียนจากความล้มเหลว คำว่า 2 ขั้วจึงเป็นการประสานให้เป็นเนื้อเดียวกัน การหยุดกับการเดินจึงเป็นสิ่งเดียวกัน และมีคุณค่าต่อเป้าหมายเหมือนกัน"
..
ปรารถนารับใช้เพื่อนมนุษย์
"เป้าหมายต่อจากนี้ผมมีความปรารถนาจะรับใช้เพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้หากมีกิจกรรมใด ๆ ที่ผู้อื่นไม่ปรารถนาจะทำ แต่มันมีความจำเป็นต้องทำ ผมจะอาสาทำสิ่งนั้น ซึ่งคำตอบขึ้นอยู่กับสังคมว่าผมเหมาะสมจะทำอะไรได้บ้าง ผมไม่สามารถทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้มากนัก แต่สามารถทำสิ่งเล็ก ๆ ที่บางครั้งคนอื่นอาจจะมองผ่านเลยไป เช่นเมื่อครู่นี้คนที่มานั่งฟังผม ซึ่งอายุมากแล้วเข้ามาบอกผมว่าเขาเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากอาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานผมก็ตั้งใจที่จะเดินไปคุยและอยู่เป็นเพื่อนเขา สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งยิ่งใหญ่เลย แต่ผมเข้าใจว่ายามที่เรารู้สึกว่าโดดเดี่ยวว้าเหว่น่ากลัว ถ้ามีเพื่อนมนุษย์สักคนเข้ามาก็เหมือนกับเราอยู่ในท่ามกลางความมืด แล้วรู้ว่ามีเพื่อนอีกคนอยู่ด้วย ซึ่งจะทำให้เราอบอุ่นขึ้นมา ทั้งที่ความมืดยังเหมือนเดิม แต่เท่ากับว่าเราจะคลายความกลัวลง ผมอยากเป็นเพื่อนในท่ามกลางความมืด"
...
จิตงดงามคือความสุข
"สิ่งที่ได้รับจากการก้าวเดินเพียงต้องการบอกทุกคนว่าความจริงแล้วความสุขเป็นสิ่งที่ง่ายมาก เพียงแค่เรามีจิตที่งดงาม เพียงแค่เรามีจิตที่ปรารถนาดีต่อผู้อื่นการกระทำของเราก็จะเป็นไปเพื่อความเกื้อกูลซึ่งการเกื้อกูลเป็นสิ่งที่งดงามมาก แม้กระทั่งบางครั้งที่ผมเดินผ่านกลุ่มเด็กวัยรุ่นแก๊งค์มอเตอร์ไซค์ซิ่ง คิดว่าผมเป็นคนบ้าและอยากจะแกล้งคนบ้าเพื่อความสนุกสนาน ผมก็คิดว่าถ้าผมเป็นคนบ้าแล้วเขาสนุก ผมก็ควรจะเป็นคนบ้า แกล้งทำเป็นบ้าตกใจกลัว เขาก็หัวเราะเอิ๊กอ๊ากแล้วขี่มอร์เตอร์ไซค์ซิ่งไป แน่นอนตรงนี้อาจจะมีคนตำหนิว่าวัยรุ่นเหล่านั้นไม่รู้จักการให้เกียรติผู้อื่น แต่ผมเข้าใจว่าเขามีอารมณ์อย่างนั้นเพราะอยากสนุก แล้วทำไมล่ะ เราไม่สามารถจะเป็นคนบ้าเพื่อความสนุกของเขาได้หรืออย่างไรมันยากอะไรนักหนาที่เราจะเป็นคนบ้า แล้วผมก็มีความสุขที่เห็นเขามีความสุขที่ได้แหย่คนบ้าเล่น หรือบางครั้งเราจะเป็นคนโง่ก็ได้ ถ้าการโง่ของเราทำให้ผู้อื่นเขารู้สึกเขามีค่าขึ้นน่ะครับ"
credit เรื่อง : นิตยสาร Smart Job
และ http://www.dhammajak.net/index.php?option=com_content&id=1006&task=view&Itemid=61&mosmsg=%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%99%21
วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
“ความจริงไม่มีใครทุกข์”
“ความ จริง ไม่ มี ใคร ทุกข์”
พระอาจารย์อำนาจ โอภาโส
“ความทุกข์มาจากไหน..?”
คนส่วน ใหญ่ ไม่รู้ที่มา ของความ ทุกข์ จึง คิด ว่าทุกข์มาจากผู้อื่น กระทำบางคนก็คิดว่า
ทุกข์มาจากเราทำเอง
“ทุกข์มาจากความไม่รู้ ตามความเป็นจริง”
“ชีวิตคืออะไร..?”
หากเรารู้ว่าชีวิต คืออะไร..? เราจะปฏิบัติต่อชีวิตอย่างถูกวิธีความจริงในธรรมชาติของ
จักรวาลมีแค่ รูปและนาม เพราะรูปคือมวลสารต่างๆ ที่หมุนรอบตัวเองในที่ว่างจึงเกิดสนาม
พลังของนามธรรมอยู่รอบรูปธรรมนั้น สมมุติเรียกว่า“จิต” คือธรรมชาติ แห่งการรับรู้
เพราะธาตุต่างๆที่รวมตัวอยู่ด้วยกัน ไม่คงที่ ความรับรู้ที่เกิดขึ้นในช่องว่างรู้สึก
ถึงการจะแตกสลายจึงเกิดความต้องการที่จะเติมเต็ม (โลภะ) เกิดความรู้สึกขัดขวาง (โทสะ)
เกิดความไม่รู้ที่แฝงตัวมา (โมหะ)
เมื่อมันมาก่อตัวกันเข้าเป็นโครงสร้างของรหัสดีเอ็นเอที่จะสมานตัวให้ทรงตัวอยู่ได้จึง
พยายามที่จะรักษาสถานภาพนั้นด้วยการแสวงหาสิ่งที่จะมาเติมเต็มแก้ปัญหาความพร่องของ
ธาตุสี่เกิดสภาวะการดิ้นรนของนามธรรมซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลกนี้
พระอาจารย์ อำนาจ โอภา โส : บรรยายธรรม ณ ศูนย์ปฏิบัติการ การบินไทย สุวรรณภูมิ วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๒
สิ่งทั้งหลายไม่มีอยู่ด้วยตัวของมันเอง ไม่มีความคงที่อยู่อย่างเดิมแม้แต่ขณะเดียว จึงเป็นสภาวะที่พร้อมจะก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้ไม่รู้เท่าทัน
(ปฏิจจสมุปบาท)
สิ่งต่างไม่มีตัวตนด้วยตนเอง อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น (อวิชชา)
เพราะความไม่รู้ตามความเป็นจริง จึงเกิดความคิดปรุงแต่ง (สังขาร)
เพราะเกิดความคิดปรุงแต่ง จึงรับรู้ถึงความรู้สึก (วิญญาณ)
เพราะการรับรู้ถึงความคิดนั้น จึงส่งผลถึงอารมณ์และบุคลิกภาพ (นามรูป)
บุคลิกภาพนั้น ส่งต่อให้เครื่องมือการรับรู้ทำงาน (สฬายตนะ)
เพราะการรับรู้ทำงาน จึงเกิดการกระทบระหว่างภายในภายนอก (ผัสสะ)
เพราะการกระทบ จึงทำให้เกิดอารมณ์สุข-ทุกข์ และเฉยๆ (เวทนา)
อารมณ์ที่สุขก็อยากได้ อารมณ์ที่ทุกข์ก็อยากผลักไส (ตัณหา)
เพราะความอยาก จึงเข้าไปยึดกับสิ่งที่ต้องการ (อุปาทาน)
เพราะยึดกับสิ่งที่ต้องการ จึงลงมือก่อพฤติกรรม (ภพ)
เมื่อก่อพฤติกรรมดีหรือเลว จึงเกิดคำว่า “เราดีหรือเลว” ขึ้นในใจ (ชาติ)
แต่สิ่งเหล่านั้นก็เสื่อมสลายไปตามเหตุปัจจัย (ชรา มรณะ)
แต่เพราะความไม่รู้ก็หลงปรุงแต่ง แสวงหาสิ่งเหล่านั้น วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า (อวิชชา
สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ)
๑๒ อาการแห่ง ทุกข์ ที่คนส่วนใหญ่ยังยึดติดยังหาทางออกไม่พบและประสบกับ
ปัญหาเพิ่มขึ้นความไม่เข้าใจเหตุปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบในสายใยของธรรมชาติ
หากเข้าใจปฏิจจสมุปบาทจะไม่สงสัยต่ออดีตปัจจุบันอนาคตว่าเรามีหรือไม่อย่างไร
เพราะ สิ่งต่างๆอาศัยสิ่งอื่นๆเกิดขึ้นจึงคงที่อยู่ไม่ได้เรียกว่า “ทุกขลักษณะ” แต่ไม่มี
ผู้ทุกข์ (ความสุขมีอยู่ก่อนแล้ว)
พระอาจารย์ อำนาจ โอภา โส
การเคลื่อนไหวในกระแสของธรรมชาตินั้นมี ความสัมพันธ์ ส่งผลกระทบต่อกันอย่าง
ละเอียดซับซ้อนด้วยปัจจัยอันหลากหลายกระทบกระทั่งเชื่อมต่อกันเป็นแพรัศมีสู่ผลอัน
หลากหลาย
“ผลอันหลากหลาย เกิดจากเหตุปัจจัยอันหลากหลาย” พุทธพจน์
เมื่อมีสติตามสังเกตการทำงานของกายและใจ จะสามารถใช้เหตุปัจจัยอย่างถูกวิธี
(วิสุทธิ ๗)
เพราะไม่มีใครหนีผัสสะทางอายตนะต่างๆ ได้ เมื่อเกิดการกระทบรู้เท่าทัน ใจก็ปกติเรียกว่า “สีลวิสุทธิ”
จิตจึงตั้งมั่นไม่ถูกครอบงำด้วยอกุศลเรียกว่า “จิตตวิสุทธิ”
จึงเกิดความเห็นถูกของรูปนามตามความเป็นจริง เรียกว่า “ทิฏฐิวิสุทธิ”
และเห็นปัจจัยของรูปและนาม จนหายสงสัย เรียกว่า “กังขาวิตรณวิสุทธิ”
สามารถเลือกมุมมองอย่างถูกวิธี ของสิ่งที่เกิดขึ้นกับรูปและนาม เรียกว่า“มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ”
เห็นลักษณะความเกิดดับในขันธ์ ๕ ยอมรับความเป็นจริงด้วยใจเป็นกลาง เรียกว่า“ปฏิปทาญาณทัสสวิสุทธิ”
จิตจึงไม่ปนเปื้อนด้วยตัณหา และการหลงคิดปรุงแต่ง ทวนเข้าสู่กระแสธรรมชาติเดิมที่
บริสุทธิ์ ซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว คือความสุขหรือพระนิพพาน เรียกว่า “ญาณทัสสนวิสุทธิ”
เพราะสิ่งต่างๆอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นหากผู้ขาดปัญญาไม่รู้ก็หลงผิดสร้างเหตุปัจจัย
แห่ง ความ ทุกข์
(ได้ในสิ่งที่ไม่ควรได้ คือ ทุกข์ใจ - เสียในสิ่งที่ไม่ควรเสีย คือ สันติสุข)
หากผู้มีสติปัญญารู้ จึงเลือกสร้างเหตุปัจจัยแห่งความสุข)
........................................................................................
วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
กิจต้องทำในเบื้องต้น
กิจต้องทำในเบื้องต้น
โดย เขมานันทะ
สาระสำคัญของการภาวนาแบบเคลื่อนไหวสร้างจังหวะ ก็คือ การปลุกเร้าความรู้สึกตัวที่ซ้อนเร้นอยู่ในเราทุกคน ความตื่นตัวนี้ บางที กลายเป็นโทสะบ้าง โลภะบ้าง ราคะบ้าง เราตื่นตัวมากๆ แต่ว่า เป็นการตื่นอยู่กับกิเลส วันนี้ เราต้องการปลุกความรู้สึกตัวให้ตื่นเฉยๆ โดยไม่เกี่ยวกับกิเลส ในตัวมนุษย์เรา มีสิ่งหนึ่งคือ ธรรมชาติตื่น เรียกว่าโพธิหรือพุทธะ ซ้อนอยู่ ถ้าเราเร้าถูกวิธี มันก็จะตื่นขึ้น ถ้าเราตื่นผิดวิธี ก็อาจเสียสติ หรือวิปลาสคลาดเคลื่อนไปเลย ทั้งนี้ เพราะขาดสติภาวนาอย่างมีรากฐานมาโดยลำดับ
กรรมวิธีที่หลวงพ่อเทียนค้นพบและสังสอน ได้ปลุกผู้คนเป็นจำนวนมาก ผมติดตามท่านมานานสิบห้าปีเศษ พบความเปลี่ยนแปลงทั้งในตัวเองและเพื่อนฝูงที่ปฏิบัติ วิธีการนี้ ทำให้เราพึ่งตัวเองได้ ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง ภายในช่วงสั้นสามวันนี้ จะปรากฎผลไม่มากก็น้อย แต่กระนั้น ผมไม่อยากให้คาดหวังทุ่มเทถึงขนาดเครียด การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องทำง่ายๆ และเป็นไปตามลำดับ ผู้ที่มาใหม่ขอให้สร้างจังหวะพักหนึ่งก่อน ให้แม่นยำ นั่งตามสบาย นั่งตามธรรมชาติของเรา เพราะเป้าหมายของเรานั้น ไม่ต้องการให้มันสงบ เราต้องการเร้ามันให้ตื่น เหมือนอย่างเราง่วง พอรถชนกัน เราตื่น สว่างไสว ความตื่นตัวนี้เอง เป็นรากฐานการศึกษาทั้งหมด เด็กที่เรียนหนังสือไม่ดี เพราะเวลาฟังครูสอน มักง่วงซึม ส่วนเด็กที่เรียนดี ก็ไม่ใช่ว่าจะเก่งกาจอะไร คือมันตื่นนั่นเอง ฟังอะไรชัดเจนดี
เอาละ ผมจะแนะนำอะไรสั้นๆ แล้วค่อยอธิบายรายละเอียดอีกทีหนึ่ง เอามือตั้งบนหัวเข่า พลิกมือขวา ตั้งบนสันมือ แล้วเอาความใส่ใจเข้าไปรู้มัน แต่อย่าเพ่ง ถ้าเพ่งแล้วจะแน่นหน้าอก ถ้าเพ่งจ้องแล้วจะตาลายแน่นอน ตามองข้างหน้าตามธรรมดา ไม่จำเป็นต้องหลับตา ถ้าหลับก็มีโอกาสที่จะง่วงมาก ลืมตาไว้ พลิกมือขวา ตั้งสันขึ้น รู้สึกในขณะที่พลิก ยกมือขวาขึ้น หยุด เคลื่อนมือมาปิดที่สะดือ หยุด พลิกมือซ้ายตั้งสัน พลิกแล้วก็หยุดให้เป็นจังหวะ พลิกแล้วหยุด เคลื่อนแล้วหยุด เคลื่อนแล้วหยุด เคลื่อนมือขวาขึ้น หยุด เคลื่อนมือซ้ายตาม ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนแล้วก็หยุด และมีการสังเกตการเคลื่อนและการหยุดครบวงจร แล้วเริ่มใหม่ ใหม่ๆ ให้ทำช้าๆ เป็นจังหวะ เคลื่อน-หยุด เคลื่อน-หยุด ตราบใดที่เราอยู่อย่างนี้ จิตของเรา ซึ่งมันสังเกตสิ่งนี้อยู่ แม้จะคิดออกไปเท่าไร อาการเคลื่อนนี้ จะดักมันติด คือ เมื่อจิตคิดไป ไม่ช้าไม่นาน ก็จะเคลียวกลับมาที่ตัวมันเอง
ธรรมดาจิตของมนุษย์ย่อมจะคิดนึก คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เนื่องจากคลื่นสมองของเรา ถูกกำหนดเงื่อนไขให้คิดตลอดเวลา เราคิดมาตั้งแต่เด็ก ปัญหาและปัญญาของมนุษย์เราอยู่ที่ความคิด เวลาทุกข์ขึ้นมาก็เพราะคิดนั่นแหละ คิดขึ้นมาเดี๋ยวทุกข์เดี๋ยวสุข เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ทีนี้ พอเราเคลื่อนอย่างนี้ เพราะเราเคลื่อนเอง ไม่ใช่คนอื่นมาเคลื่อนให้เรา ไม่ช้า มันจะตกกลับมาเป็นอันเดียวกันกับกาย ใหม่ๆ ทำช้าๆ ก่อน ช้าๆ ให้เป็นจังหวะ แต่อย่าให้มันพูดอยู่ข้างใน เคลื่อนให้เป็นจังหวะ พักเดียว จิตซึ่งเป็นตัวสังเกตการกระทำนี้ ก็จะค่อยๆ เข้ามาพัวพัน แล้วจะตกเข้าไปในตัวของมันเอง สภาพตื่นรู้ตัว ก็จะเข้มข้นขึ้นทีละน้อยๆ
ด้วยวิธีการอันนี้ หลายคน ได้ตื่นตัวขึ้นและก้าวหน้าไปด้วยดี ปัญหาหมักหมมซึ่งแก้ไม่ตก เช่น ความฟุ้งซ่าน ความรุนแรงในอารมณ์ ถูกลดทอนและกำจัดไปได้ด้วยวิธีนี้ นี่เป็นขั้นตอนหนึ่งของผู้มาใหม่ เคลื่อนอย่างนี้ทำให้มาก เคลื่อนไปแล้วจะรู้สึกเบาตัว แต่ก็ให้มันเป็นขึ้นมาเอง อย่าไปจ้องว่า เมื่อไรจะเบาตัวขึ้น เราทำไปโดยธรรมชาติเราจะรู้สึกตัวขึ้นมาทั้งตัว ถ้าตื่นขึ้นเต็มที่จริงๆ ความรู้สึกตัวก็จะกำจัดมายาภาพต่างๆ ที่เราคิดเรานึก เหมือนกับการล้างชาม มันจะขจัดออกเกลี้ยงหมด จะรู้สึกตัวเบาขึ้นๆ ต่อให้คนมีน้ำหนักตัวมาก ก็จะรู้สึกเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ส่วนใหญ่ เราไม่เป็นตัวของตัวเอง เราเป็นของความคิด ถูกความคิดบงการ เรามักพัวพันอยู่กับความคิดเช่นนั้น
การปฏิบัติธรรมด้วยวิธีอย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องเดี่ยวโดด กระนั้น เราก็อย่าพูดกันให้มาก คำว่า “เดี่ยวโดด” ไม่ได้หมายถึงว่า เราโกรธคนโน้นมา เรากลายเป็นคนปลีกเปลี่ยว ไม่ใช่อย่างนั้น คือ เราเดี่ยวโดดเข้าไปในตัวเองให้มาก ทำให้เหมือนเต่านาหรือเต่าทะเล ที่หดทุกส่วนเข้าไปในกระดอง กระดองเต่านั้นวิเศษที่สุด ผมได้ยินคนแก่พูดว่า “ยากเหมือนเสือกินเต่า” คือ ถ้ามันหดเข้าไปในกระดองแล้ว เสือก็ทำอะไรไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ปฏิบัติเช่นนี้ คือ กลับเข้าไปในตัวเอง ที่นี่ไม่มีความวิตก ไม่มีความกังวล ตอนที่เรากังวลคือ ตอนที่เราเข้าไปในความคิด คิดวุ่นไปหมด เหมือนนกติดข่าย ดังนั้นให้เราหดกลับเข้าไปในตัวเราเอง เมื่อปฏิบัติอย่างนี้มากเข้า มันจะกลับเข้าไปในตัวเอง ผู้หญิงก็กลับเข้าไปในตัวเอง ผู้ชายก็กลับเข้าไปในตัวเอง แล้วค่อยๆ ค้นพบความโล่งโถงภายในหัวใจของเราเอง
เมื่อเรารู้สึกตัวได้ดีขึ้น เราจะพบว่า เราเป็นชีวิตเดียวกัน มีความรู้สึกดีกับคนอื่น มีความปราณีและเอ็นดูคนอื่นเสมอ ตลอดเวลา เราเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว แต่เราไม่เข้าใจ เราพยายามวิ่งหนีตัวเอง พยายามยึดถือไขว่คว้าหาสิ่งที่ต้องการ ของเหล่านั้น เป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้ เป็นของนอกกาย ดังนั้น เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะกลับไปรู้สึกตัว นั่นคือ ความรู้สึกสดๆ ซึ่งเราไม่ได้คิดขึ้น ลองแกว่งมือดู ความรู้สึกสดๆ ปรากฏใช่ไหม เวลาเดินจงกรม หรือยกมือ ให้จับความรู้สึกนี้ ลองทำดู พอเคลื่อนมือ มันจะเสียวๆ ให้รู้สึกกับตัวนี้ ทีแรกมันจะเสียวๆ เฉพาะส่วนที่เราเคลื่อน แต่พอมาถึงจุดหนึ่งแล้ว มันจะส่งคลื่นรู้สึกไปทั่วตัว
เมื่อผมปฏิบัติอยู่ ผมไม่เข้าใจเรื่องนี้เลย หลวงพ่อบอก ผมคิดเอา ดังนั้น จึงไม่รู้ ผมปฏิบัติอยู่หลายปีมาก เพราะว่าเป็นคนติดคิด ชอบเข้าไปในความคิด ตอนที่ตื่นขึ้นมานี่แปลก คล้ายๆ มีคนมาลูบหลัง แต่พอหันไปดู ไม่เห็นใคร คือรู้สึกตื่นวูบๆ ขึ้นมา ทางนี้บ้างทางนั้นบ้าง พอผ่านอีกช่วงหนึ่ง ตั้งแต่ปลายเท้าจรดเส้นผม เรารู้สึกได้หมด เมื่อรู้สึกได้หมดเช่นนี้แล้ว ชีวิตของผู้ภาวนามาถึงจุดนั้น มันก็เหมือนกับเรด้าซึ่งมีประสิทธิภาพแล้ว ดังนั้น พอความคิดไหวตัวภายใน คิดวูบไป ก็จะรู้สึกทันที มันจะทันความคิดและยุติความไม่รู้ตัวโดยอัตโนมัติ
เป้าหมายของการเจริญวิปัสสนาคือ การทันความคิด ตามปกติเราไม่ทัน ตอนที่เราโกรธ เราโลภ เราอะไรนั้น มันต้องคิดก่อนจึงโกรธ คิดแล้วก็โกรธ ถ้ายังไม่คิดก็ไม่โกรธ แต่พอคิดวูบไปแล้ว เราไม่ทันมัน และเราก็เข้าไปในห่วงโซ่ของความคิด การเข้าไปในความคิดนี้ คล้ายกับปลาเข้าไซ เข้าง่ายออกยาก พอติดเข้าไปในความคิดแล้ว ออกยาก บางเรื่องเราไม่อยากคิด แต่ก็คิด คิดจนกระทั่งปวดหัว บางทีต้องไปฆ่าตัวตายเพื่อให้พ้นมัน พลังสร้างสรรค์และอันตรายจึงอยู่ที่ความคิด มนุษย์เป็นจอมพลังอันนี้ ความคิดทำให้มนุษย์ก้าวหน้า สร้างสรรค์ศิลปะวิทยาการต่างๆ และพร้อมกันนั้น ก็อาจย้อนมาทำลายมนุษย์ได้ด้วย เหมือนมีดสองคม คือ ใช้เป็นก็เป็นประโยชน์ ใช้ไม่เป็นกลับทำร้ายตัวเอง อุบายสำคัญในการเคลื่อนมือเป็นจังหวะนี้ เมื่อผมเรียนใหม่ๆ ผมรู้สึกดูแคลน พอเห็นหลวงพ่อแนะนำให้ผมทำ ผมไม่ยอมทำ ผมนึกไปล่วงหน้าว่า ทำอะไรโง่ๆ อย่างนี้ มันจะได้อะไรขึ้นมา สู้มานั่งคิดเรื่องหลักธรรมโน้นนี้ไม่ได้
มีข้อเท็จจริงอันหนึ่งคือ คนติดคิดแล้ว ให้หยุดคิดนี่ หยุดไม่ได้ เพราะเหตุว่า วิธีนี้เป็นวิธีสกัดกั้นทวนกระแสความคิด จึงรังเกียจที่จะทำ แต่ในที่สุดวันหนึ่ง เมื่อลองปฏิบัติสักพักหนึ่ง จิตใจก็เปลี่ยน ทำพักเดียวรู้สึก วันนี้มันมาอยู่เฉพาะหน้า ก่อนหน้านั้น สติได้ลอยเข้าไปในความคิด สติเลื่อนลอยไปตามอำนาจของความคิด คิดถึงไหนก็เลยไปถึงนั่น
เมื่อเคลื่อนมืออย่างนี้มากๆ (มากเพียงใดนี่ต้องทำจึงรู้) ถ้าทำสองสามทียังไม่รู้สึกและเข้าใจไม่ได้ ต้องทำมากๆ ทำให้มาก ทำบ่อยๆ จนกระทั่งสติเริ่มติดตั้งขึ้นในตัวเอง คล้ายๆ เราสะสมน้ำทีละหยดๆ ทีนี้ พอเกิดน้ำเป็นกลุ่มเป็นก้อน มันก็มีพลัง ทั้งหมดนี้ จะรู้ได้โดยการปฏิบัติ ถ้าโดยคำพูดนี้ รู้ได้น้อยมาก เช่น เมื่อผมพูดว่า “ความรู้สึกตัว” เราก็ฟังออก แต่จริงๆ เรายังไม่รู้ แต่ถ้ารู้สึกตัวได้แล้วก็จะพบว่า คำพูดไม่มีความหมาย คำพูดเป็นเพียงสื่อ เหมือนกับแหหรืออวน พอเราจับปลาได้ ไม่มีใครเขาแกงแหแกงอวน เข้าต้องแกงปลา อวน ก็ให้คนอื่นหรือแขวนข้างฝา ดังนั้น อย่าสนใจคำพูดที่ผมพูด แต่ให้สนใจสิ่งที่ผมบ่งถึง เช่น ผมแนะนำให้เคลื่อนอย่างนี้ อย่าไปสนใจว่าผมพูดภาษาถูกต้องตามศัพท์บาลี-สันสกฤตไหม พูดเหมือนสำนักอื่นไหม อย่าไปสนใจ เรื่องนั้นถ้าไปสนใจเข้า ก็จะไปอีกทางหนึ่ง หรือว่านี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าไหม หรือไม่ใช่ อย่าคิดอย่างนั้น หรือคิดว่าอันนี้เป็นของศาสนาหนึ่ง เรานับถือศาสนาหนึ่ง ผมไม่อยากให้คิดอย่างนั้น
ผมอยากให้ทดลองความจริงที่ซ้อนเร้นอยู่ในตัว อยู่ในเรานี่เอง และโอกาสที่มันแสดงออก มันมักแสดงออกไปในรูปของกิเลส เช่น เมื่อเราโกรธสุดขีดนี่ เราจะง่วงนอนไม่ได้เลย นอนไม่หลับ ตื่นทั้งคืน แต่มันตื่นด้วยความโกรธ ผู้หญิงผู้ชายที่เขาชอบพอกัน นั่งคุยกันยันสว่าง แต่มันตื่นด้วยอำนาจของราคะ หรือเขาเอาเงินเอาทองมาให้ บางทีอาจนอนไม่หลับเลย แต่ตื่นด้วยอำนาจของโลภะ ที่จริงตัวตื่นนี้ซ้อนแฝงอยู่ สมมติว่า มันตื่นขึ้นโดยไม่มีกิเลส ไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ จุดนี้ จะพาเราออกจากทุกข์
ตอนผมภาวนาอยู่ ผมไม่เข้าใจเรื่องนี้ถ่องแท้ ผมนอนไม่หลับตั้งสี่ห้าคืนติดๆ กัน แต่ก็แจ่มใสดี ผมได้ยินข่าวจากหมอคนหนึ่ง เขียนจดหมายมาบอกว่า ภาวนาอยู่ไม่ต้องนอน แต่ว่าไม่ง่วง พอตัวนี้ตื่นแล้ว มันจะมีสมดุลใหม่ของมัน ดังนั้น อย่ากลัวการนอนน้อย หมอบอกว่าตั้งแปดชั่วโมง อันนี้ไม่จริงเลย พระพุทธเจ้านอนคืนละสามชั่วโมง ถ้าเรานอนหลับจริงๆ สามสี่ชั่วโมงก็พอ แต่จริงตรงที่ว่า เพราะเครียดจากการงาน เราจึงเป็นอย่างนี้ ดังนั้น เราจึงต้องนอนถึงแปดชั่วโมงก็เพราะวิถีชีวิตร่วมสมัยนั่นเอง.
วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
พระพุทธรูปยืนแห่งบามียัน
พระพุทธรูปยืนแห่งบามียัน : ย้อนอดีต และ อดีตของอดีต
พระพุทธรูปยืนแห่งบามียัน
ย้อนอดีต และ อดีตของอดีต
พระพุทธรูปยืนสูงตระหง่าน 50 เมตร แห่งบามียัน(Bamiyan) ที่บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธ ในอดีต ณ ดินแดนแห่งพุทธศาสนา แต่กาลก่อน
บามียัน(bamiyan) : ดินแดนแห่งความขัดแย้งในปัจจุบัน
อาฟกานิสถาน ตั้งอยู่บริเวณเส้นทางสายไหม(Silk Road) ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าจากยุโรปมายังเอเชีย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมไปยังดินแดนต่างๆ หลายคนอาจแปลกใจว่าทำไมจึงมีพระพุทธรูปอยู่ในประเทศอาฟกานิสถาน ที่เป็นมุสลิม ที่ปัจจุบัน ผู้คนในอาฟกานิสถานนับถือศาสนาอิสลาม
เมืองบามียัน ประเทศอัฟกานิสถาน อยู่ห่างจากเมืองคาบูล ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศอัฟกานิสถาน ไปทางตะวันตกประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร เฉียงขึ้นไปทางเหนือเล็กน้อย ในประวัติศาสตร์สมัยพุทธกาล บริเวณแถวนี้อยู่ชายขอบแคว้นคันทาระ (หรือคัณธารราฐ) ซึ่งเป็นแคว้นใหญ่ ในปัจจุบันจะครอบคลุมประเทศปากีสถานภาคตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วกินเข้าไปทางอัฟกานิสถานตะวันออกบางส่วน
พระพุทธรูปยืนแห่งบามียัน มี 2 องค์ เป็นองค์ใหญ่ และองค์เล็ก ประดิษฐานอยู่ข้างๆกัน พระพุทธรูป ๒ องค์นี้สร้างระหว่าง พ.ศ.๘๐๐-๑,๐๐๐ องค์เล็กสูง ๓๗ เมตรเศษ บางแห่งก็เลยนับเป็น ๓๘ เมตร องค์เล็กสร้างก่อน คือประมาณ พ.ศ.๘๐๐ องค์ใหญ่สูง ๕๓ เมตร โดยการสลักเข้าไปในหน้าผา เมื่อสร้างเสร็จหลังจากนั้นมาอาจจะสักศตวรรษหนึ่ง คงใช้เวลาในการสร้างนาน เพราะว่าต้องเสียเวลาเจาะแล้วสลักเข้าไปในภูเขา เป็นศิลปะสำคัญ ที่เรียกว่าเป็นศิลปะแบบคันทาระ ซึ่งเป็นศิลปะที่สืบเนื่องจากกรีก ตั้งแต่ครั้งที่กรีกเข้ามาอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย
เมื่อมานับถือพระพุทธศาสนา ก็ได้เริ่มสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อพุทธศักราชประมาณ ๕๐๐ ถือว่าพระพุทธรูปเกิดขึ้นครั้งแรกเป็นศิลปะแบบ กรีกหรือคันทาระนี่เอง และทำให้มีการนิยมสร้างพระพุทธรูปกันต่อมา เพราะว่าก่อนนั้นในอินเดียไม่กล้าสร้างพระพุทธรูป เพราะถือว่าเคารพมาก คนอินเดียแต่เดิมนี้เคารพพระพุทธเจ้ามาก ไม่กล้าทำเป็นรูป ได้แต่สร้างเครื่องหมายบอกให้รู้ เช่นว่า จะแสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าประทับตรัสรู้อยู่ ก็ทำเป็นรูปต้นโพธิ์ แล้วก็มีพระแท่นอยู่ข้างล่าง อย่างนี้เป็นต้น
หรืออย่างที่ปรินิพพาน ก็มีต้นสาละ มีพระแท่นที่ประทับ อย่างนี้เป็นต้น เรื่องพระพุทธรูปที่เจริญรุ่งเรืองมาถึง พ.ศ.๘๐๐ --๑๐๐๐ เป็นระยะที่ศิลปะคันทาระนี้เจริญรุ่งเรืองมาก ความจริงพระพุทธรูป ๒ องค์ ที่เมืองบามียันนี้ เคยถูกทำลายไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่ว่าทำลายได้ไม่มาก เพราะสมัยก่อนไม่มีเครื่องมือมากมาย พระพุทธรูปมีขนาดใหญ่มาก และเป็นศิลาทั้งหมด การทำลายก็ทำได้ยาก กองทัพของมุสลิมเข้ามาทางดินแดนแถบนี้ประมาณ พ.ศ.๑๒๕๐ ตอนนั้นก็มีการทำลาย แต่ทำลายได้อย่างมากก็ได้แต่ทุบบางส่วน ซึ่งโดยมากจะทุบพระนาสิกคือจมูกเป็นหลัก เพราะฉะนั้นพระพุทธรูปในอินเดียนี้จะพบว่ามีชำรุดที่พระนาสิกมากมากเหลือเกิน เพราะทำลายไม่ไหว และมีการทำลายพระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์กันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพ.ศ.๒๒๐๐ เศษ ตอนนั้น กองทัพของอิหร่านบุกเข้ามา กองทัพนี้ได้ทำลายพระพักตร์ทั้งหมด ดังนั้นจะเห็นว่าก่อนที่ทาลีบันจะทำลายคราวนี้นั้น พระพักตร์ของพระพุทธรูปก็ไม่มี เพราะว่า กองทัพของมุสลิมได้ทำลายไปเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๐ เศษนั้นแล้ว
มาคราวนี้เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ คือ 12 ปีมาแล้ว พวกทาลีบันตอนนั้นก็กำลังรบ เขาเรียกว่าเป็นกบฏเพื่อชิงอำนาจรัฐบาล พวกทาลีบันตอนนั้นก็เข้าไปอยู่ในเขตแถบนี้ ก็ได้ขู่ว่าจะทำลายพระพุทธรูปนี้ ชาวพุทธในศรีลังกาเป็นต้น ก็ได้ออกมาเรียกร้องขอให้ระงับการทำลาย เรื่องเลยเงียบไป นั่น ก็เมื่อ ๔ ปีที่แล้ว จนกระทั่งมาคราวนี้แหละ ที่เป็นครั้งสุดท้ายที่ว่าได้ ก็ทำลายกันไป
เมื่อเขาทำลายอย่างนี้ ก็เป็นธรรมดาที่จะก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ชาวพุทธ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่ชาวพุทธหรอก ชาวโลกทั้งหมด คือผู้ที่มีอารยธรรมก็ไม่พอใจทั้งนั้น ดังที่จะเห็นว่านานาประเทศได้แสดงออก เรียกร้องบ้าง ประณามบ้าง ในการกระทำของทาลีบันครั้งนี้ สำหรับชาวพุทธเรานี้ก็มีสิทธิที่จะไม่พอใจ แต่ในฐานะเป็นชาวพุทธ เรามีหลักพระพุทธศาสนาอยู่
ในพุทธศาสนานั้นก็สอนว่าให้มีเมตตาประจำใจ ก็คือมีความรักความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหมด เราก็ถือหลักว่าไม่รุนแรง ไม่แก้แค้นอะไรทำนองนี้ ก็ถือหลักกันมา มีขันติ มีความอดทน เพราะฉะนั้นชาวพุทธจึงไม่มีสงครามศาสนากับผู้ใด ก็อยู่มาอย่างนี้ แต่ว่าการที่จะมีเมตตานั้น ก็ไม่ใช่ว่ามีเมตตาไปเฉยๆ มิฉะนั้นเดี๋ยวกลายเป็นเมตตาแบบเรื่อยเฉื่อย ไม่ใช้ปัญญา ก็กลายเป็นโมหะไป ทางพระพุทธศาสนาท่านสอนให้มีเมตตาประจำใจ แต่พร้อมกันนั้น ก็ให้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาและความไม่ประมาท ตรงนี้ที่ว่าให้อยู่ด้วยปัญญาและมีความไม่ประมาทนี้เป็นเรื่องสำคัญ คือเราต้องรู้ต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ไม่ใช่ว่าใครเขามาทำร้ายเรา แล้วเราก็อดทน ไม่แก้แค้น ไม่ทำร้ายตอบแล้วก็จบไป หรือว่ายอมไปเรื่อย ๆ อย่างนั้น
แต่มันเป็นเรื่องของส่วนรวม เป็นเรื่องของการมองไกลไปข้างหน้าว่า สังคมมนุษย์หรือโลกนี้จะอยู่กันด้วยสันติสุขได้อย่างไร คือในกรณีที่มีการกระทำแบบนี้ ถ้าทำกันต่อไปข้างหน้า มันจะเป็นอย่างไร มนุษย์ทำอย่างไรจะอยู่กันได้ด้วยสันติสุข
ฉะนั้นก็ให้คำนึงในข้อนี้เป็นสำคัญ เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนธรรมะไว้นี้ ก็เห็นได้ชัดเจนว่าทรงมีจุดหมายเพื่อให้ชาวโลกนี้อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข คือจุดหมายนี้เพื่อประโยชน์สุขของชาวโลกทุกคน โดยเฉพาะชาวพุทธต้องมาคิดกันว่า เราจะทำอย่างไรให้โลกหรือสังคมมนุษย์นี้อยู่ด้วยดีมีสันติสุข โดยใช้วิธีการที่เป็นธรรมคือวิธีการที่เป็นสันติ สงบ ไม่รุนแรง ถ้าหากว่ามนุษย์ใช้วิธีเอาแต่ใจตัว ไม่คำนึงถึงผู้อื่นแล้ว โลกนี้จะอยู่สงบสุขได้หรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่ต้องคิดระยะยาว ว่าเราจะเอาวิธีการทางธรรมะนี้มาใช้แก้ปัญหาของโลกให้สำเร็จได้หรือไม่
มองกันในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องท้าทายทีเดียว ท้าทายความสามารถ สติปัญญาของมนุษย์ ที่จะต้องคิดพิจารณาเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่ว่าปล่อยไปเรื่อย มีเหตุการณ์อะไรขึ้นมาทีก็ตื่นเต้นกันที
เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มาเตือนใจชาวพุทธ การตื่นตัวนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ว่าตื่นตัวแล้วก็ไม่ใช่ว่ามีความโกรธรุนแรงไปแล้วก็จบ ไม่ใช่อย่างนั้น ก็คือการที่ต้องคิดเอาจริงเอาจัง ที่จะนำเอาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ หรือมาใช้ประยุกต์กับสถานการณ์โลกปัจจุบันว่า จะให้โลกนี้อยู่เป็นสุขในระยะยาวได้อย่างไร
ถ้าเราไปมองในแง่ว่าการทำลายครั้งนี้ ทำไมนานาอารยประเทศ จนกระทั่งยูเอ็นเขาจึงได้ออกมาประณาม มีการเรียกร้อง มีการส่งทูตไปเจรจาเอาจริงเอาจังกันมากมาย ก็เพราะว่าเขาเห็นเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความหมายต่ออารยธรรมของมนุษย์ อย่างพวกทาลีบันเขาบอกว่า พระพุทธรูปนี้เป็น Insult to lslam เป็นการดูถูกต่อศาสนา อิสลาม เขาจะพูดดังนั้นได้อย่างไร
เพราะว่าไม่ใช่เขาเป็นดินแดนอิสลามแล้วก็มีใครไปสร้างพระพุทธรูปขึ้นมา แต่ว่าพระพุทธรูปนี้ท่านมีอยู่ก่อนแล้วในดินแดนนี้ ซึ่งแต่ก่อนนี้เป็นดินแดนพระพุทธศาสนา เป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองมากเกิดขึ้นก่อนศาสนาอิสลามเกิด
ศาสนาอิสลามนั้นเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๑๖๕ ก็หมายความว่าพระพุทธรูปนี้เกิดมีขึ้นก่อนศาสนาอิสลามเกิดตั้ง ๒๐๐-๓๐๐ ปี หลังจากศาสนาอิสลาม กองทัพมุสลิมบุกเข้ามา ก็มาทำลาย กลายเป็นว่ากองทัพเหล่านั้นแหละที่มาดูถูกทำลายท่าน ไม่ใช่ว่าพระพุทธรูปไปดูถูกอะไรชาวอิสลามหรอก เป็นเรื่องที่เขาไม่มีสิทธิที่จะพูด
เมื่อเป็นอย่างนี้ เขาอาจจะอ้างในแง่ศาสนาบัญญัติ คือตัวหลักการที่บอกว่าไม่ให้นับถือ idol รูปเคารพ รูปบูชา หรือเทวรูป ความจริงข้ออ้างนี้ก็ไม่ถูก เพราะว่าเมื่อตนนับถือศาสนาอิสลาม ก็ตัวเองก็ไม่นับถือรูปเคารพบูชาของศาสนาอื่น ก็ไม่เป็นโทษแก่ตนเอง ก็ไม่เป็นบาป เพราะตัวเองก็ปฏิบัติตามหลักศาสนาของตัวเอง ก็คือว่าตัวเองเป็นมุสลิม ตัวเองก็ไม่นับถือ แต่ว่าคนอื่นเขานับถือก็เป็นเรื่องของเขา เราก็ไม่ไปยุ่งด้วยก็เป็นการให้เกียรติแก่กัน และก็เป็นหลักของการอยู่ร่วมกันด้วยดี
โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันนี้จะต้องเน้นเรื่องนี้มาก เพราะว่าโลกนี้มันแคบเข้า แล้วมนุษย์จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ในเมื่อมนุษย์มีความแตกต่างกัน เช่น ความเชื่อถือทางศาสนา เขาก็ใช้หลักการนี้ ก็คือว่าตัวเองก็ปฏิบัติไปตามหลักของตัวเอง ไม่ไปรุกรานไปทำร้ายผู้อื่น อันนั้นก็เป็นการให้เกียรติแก่กัน หรือแม้แต่ถ้าจะบังคับคนไหนเป็นมุสลิมก็ไปบังคับได้ เธอเป็นมุสลิมแล้วเธอต้องปฏิบัติตามศาสนาบัญญัติ เธอต้องไม่นับถือรูปเคารพบูชาของศาสนาอื่น อย่างนั้นได้ ก็มีสิทธิบังคับ ถ้าจะบังคับก็มีสิทธิบังคับได้แค่คนมุสลิมด้วยกัน แต่จะไปบังคับคนศาสนาอื่นไม่ได้
ดังนั้น เมื่อตัวเองไม่นับถือแล้ว ตัวเองก็ไม่มีโทษ เพราะว่าไม่ได้ปฏิบัติผิดศาสนาบัญญัติ หรือแม้แต่ว่า ถ้าเห็นว่าการนับถือรูปเคารพนี้เป็นสิ่งไม่ดี ตัวเองมีสิทธิที่จะไปแนะนำชักจูงอธิบายด้วยเหตุด้วยผล เพื่อให้เขาเห็นด้วย ก็ใช้วิธีพูดจาด้วยสติปัญญา จะไปทำร้ายบังคับเขา ก็ไม่ถูกต้อง
ถ้าว่ากันไปตามหลักพระพุทธศาสนา พระพุทธรูปก็ไม่ใช่ไอดอล อย่างที่เขาบัญญัติไว้ไม่ให้นับถือ เพราะว่าพระพุทธรูปของเรานี้ไม่ใช่เทวรูป ไม่ใช่รูปศักดิ์สิทธิ์แบบที่ศาสนาต่างๆ เขานับถือกัน แต่ว่าเป็นอุทเทสิกเจดีย์ เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธเจ้า สำหรับเตือนใจให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ ระลึกถึงธรรมะ ระลึกถึงความดี เราจะได้มาประพฤติหรือปฏิบัติธรรมหรือนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาดำเนินชีวิต
ฉะนั้น การที่ทางทาลีบันทำการครั้งนี้ นานาอารยชาติก็เลยประณามกัน ถือว่าเป็นการทำลายมรดกอารยธรรมมนุษย์ ที่มนุษย์มีความเจริญ มีความคิดสร้างสรรค์ในทางศิลปะ เป็นต้น และก็สร้างสรรค์ขึ้นมา บางรัฐบาลเขาประณามพวกทาลีบันแรง เขาประณามว่าการกระทำของทาลีบันนี้เป็นการลบหลู่มนุษยชาติ มนุษยชาติเขามีความเจริญงอกงาม มีวิถีของความเป็นอยู่ที่ดี อยู่ด้วยกันด้วยสันติสุข แบบนี้แกไม่เอาด้วย การกระทำของทาลีบันก็เป็นการลบหลู่ อย่างน้อยก็เป็นการที่แสดงว่า ไม่คำนึงถึงจิตใจของเพื่อนมนุษย์ที่เขานับถือศาสนาอื่นหรือเป็นพวกอื่น จะเอาแต่ใจตัวอย่างเดียว ในกรณีนี้ก็เป็นการที่มีจิตใจคับแคบและโหดร้าย ทำให้เพื่อนมนุษย์มีสิทธิที่จะหวาดระแวง
เพราะฉะนั้นข้อสำคัญก็คือ จะแก้ปัญหากันอย่างไรในระยะยาว ถ้าจะว่าถึงในเฉพาะหน้าก็คือว่า ประเทศต่างๆ มีสิทธิที่จะประณาม ซึ่งก็ได้ประณามกันไปแล้ว ก็เป็นการประณามอย่างชอบธรรม เพื่ออย่างน้อยให้รู้ว่าการกระทำอย่างนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ ให้รู้กันไปก่อนว่าประเทศทั้งหลายไม่ยอมรับการกระทำอย่างนี้ นี่เรียกว่าเป็นการประณาม เมื่อประณามไปแล้วก็ไม่ควรจะหยุดอยู่แค่นั้น ก็ต้องคิดทำอย่างไร เราจึงจะรักษาอารยธรรมของมนุษยชาติไว้ได้ ไม่ใช่ให้มีการทำลายกันอยู่อย่างนี้ แล้วก็คิดกันให้จริงจังอย่างที่บอกเมื่อกี้ ก็คือมาคิดในแง่อนาคตยาวไกลว่า โลกหรือสังคมมนุษย์นี้ จะอยู่กันด้วยดีมีสันติสุขได้อย่างไร และชาวพุทธก็จะต้องตื่นตัวไม่ประมาท มีภัยอันตรายต่างๆ เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ เกิดขึ้นครั้งหนึ่งก็ตื่นขึ้นมาทีหนึ่งกลายเป็นตื่นเต้นแล้วก็เงียบกันไป
การตื่นตัวที่จริงก็ คือต้องมาเรียนรู้หลักพระศาสนา แล้วก็มองถึงประโยชน์ส่วนรวม ว่าเราจะปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนธรรมะไว้ เพื่อให้ชีวิต สังคม ดีงาม ต้องการให้เกิดประโยชน์สุข แก่ชาวโลก ให้โลกนี้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุขนี้ เขาจะทำอย่างไร เอาธรรมะมาใช้แก้ปัญหาของโลกให้ได้ เป็นการป้องกันภัยในอนาคต แล้วก็ทำประโยชน์แก่สังคมมนุษย์ทั้งหมด
ในส่วนหนึ่งที่น่าชม ก็คือชาวมุสลิม ในหลายประเทศที่มาแสดงออก ได้มาประณามพวกทาลีบันด้วย ก็เป็นการแสดงท่าทีของชาวมุสลิม ที่แสดงให้เห็นว่ามีชาวมุสลิมที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพวกทาลีบันนี้ และก็ยินดีที่จะอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์โดยสันติสุข
ซึ่งอันนี้ถ้าชาวมุสลิมได้แสดงออกมากก็ยิ่งดี โดยเฉพาะระยะยาว ก็เพื่อจะรักษาสันติสุขของมนุษย์ ว่าเราอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ก็อาจจะออกมาอธิบายหลักการของศาสนาอิสลามให้เห็นว่า ศาสนาอิสลามนั้นต้องการให้อยู่กันสันติอย่างนี้ แนวทางปฏิบัติที่แท้จริงเป็นอย่างนี้ ถ้าอย่างนี้แล้วมันก็จะเป็นทางที่จะมาร่วมกันสร้างสรรค์ สังคมมนุษย์ให้โลกนี้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขได้
สำหรับชาวพุทธก็ขอย้ำว่า ต้องตื่นตัวขึ้นมาศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา รู้เท่าทันสถานการณ์อะไรเกิดขึ้นในเรื่องของกิจการพระศาสนา ทำอย่างไรจะให้พระศาสนาดำรงอยู่ได้มั่นคงยั่งยืน และนำหลักพระศาสนานี้มาใช้ประโยชน์ เพื่อจะให้ชีวิตและสังคมอยู่ร่มเย็นเป็นสุข และก็เอาธรรมวิธี คือที่เป็นธรรมชอบธรรมนี้ มาแก้ปัญหาของโลก
โดยเฉพาะปัญหาปัจจุบันที่มันมีความเลวร้ายเกิดขึ้นมากเหลือเกิน มีความรุนแรง มีสงคราม มีการเบียดเบียนกันทั่วไปหมด เราทำอย่างไรจะแก้ไขได้อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าเป็นการท้าทายชาวพุทธก็ว่าได้ ว่าจะสามารถนำหลักการของพระศาสนามาสร้างสันติสุขให้แก่โลกมนุษย์ได้หรือไม่
หวังว่าทุกคนจะช่วยกัน ขอให้การตื่นตัวที่เกิดขึ้นนี้ กลายเป็นการตื่นตัวที่นำไปสู่การสร้างสรรค์ความดีงาม และการเอาจริงเอาจังในทางที่จะเกิดประโยชน์สุข ความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนา ประเทศชาติ สังคม และแก่ชาวโลกทั้งหมด
จาก
มองไกล กรณี “ทาลีบัน” ทำลาย “พระพุทธรูป” ล้ำค่า
พระธรรมปิฎก : นสพ.มติชนรายวัน ๒๗ มี.ค. ๒๕๔๔
ธรรมานุรักษ์ ฉบับที่ ๒๑ , เมษายน ๒๕๔๔
ลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา
ลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ถือได้ว่าเป็นปราชญ์คนสำคัญยิ่งคนหนึ่งในวงการของพระพุทธศาสนาในยุครัตนโกสินทร์เท่าที่ชาวพุทธได้รู้จักมา และถือได้ว่าอาจารย์สุชีพเป็นแบบอย่างชาวพุทธที่ดีเยี่ยม เป็นผู้ที่ทำอุปการะคุณอันยิ่งใหญ่ต่อวงการของพระพุทธศาสนามากมายเหลือสุดจะคณานับ ชีวิตของท่านเป็นอยู่เพื่อพระพุทธศาสนาโดยแท้ นับได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลทางพระพุทธศาสนา อาจารย์สุชีพได้สรุปลักษณะเด่นๆ ของพระพุทธศาสนาไว้มี ๔๕ ข้อ เท่ากับจำนวนพรรษาที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญจะขอนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ คือ
๑. แม้จะตัดความเชื่อในเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ออก ก็ไม่ทำให้พระพุทธศาสนากระทบกระเทือนอะไรแม้แต่น้อย เพราะพระพุทธศาสนามิได้มีรากฐานอยู่บนฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ หากแต่อยู่ที่เหตุผลและคุณงามความดีที่พิจารณาเห็นได้จริงๆ
๒. พระพุทธศาสนาเป็นตัวอย่างลัทธิประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดของโลก มีหลักการและวิธีการอันทันสมัยอยู่จนทุกวันนี้
๓. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยสอนให้เลิกระบบทาส ไม่เอามนุษย์มาเป็นสินค้าสำหรับซื้อขาย ห้ามมิให้ภิกษุมีทาสไว้รับใช้ กับทั้งสอนให้เลิกทาสภายใน คือไม่เป็นทาสของความโลภ ความโกรธ ความหลง
๔. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกที่สอนให้มนุษย์เลิกดูหมิ่นเหยียดหยามกัน เพราะเรื่องถือชั้นวรรณะ เพราะเหตุแห่งชาติและวงศ์สกุล โดยตั้งจุดนัดพบกันไว้ที่ศีลธรรม ใครจะเกิดในสกุลสูงต่ำยากดีมีจนอย่างไรไม่เป็นประมาณ ถ้าตั้งอยู่ในศีลธรรมแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นคนดีที่ควรยกย่องสรรเสริญ ถ้าตรงกันข้ามคือล่วงละเมิดศีลธรรมแล้ว แม้จะเกิดในสกุลสูงก็นับได้ว่าเป็นคนพาลอันควรตำหนิ
๕. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกที่สอนปฏิวัติเรื่องการทำบุญ โดยงดเว้นวิธีฆ่าสัตว์หรือฆ่ามนุษย์บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หากสอนให้ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์แทนการเบียดเบียน และสอนให้หาทางชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดว่าเป็นบุญ
๖. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนลัดตัดตรงเข้าหาความจริง ให้กล้าสู้หน้ากับความจริง เช่นในเรื่องความเกิดแก่เจ็บตาย ให้หาประโยชน์จากความจริงนั้นให้ได้ รวมทั้งสอนอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องฤกษ์ยาม น้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น และการสอนให้เป็นเทวดาได้ในชีวิตนี้ โดยไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อน ด้วยการแสดงธรรมที่ประพฤติปฏิบัติตามแล้วจะเป็นเทวดาในปัจจุบันชาติ
๗. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้แก้ความเสื่อมทางศีลธรรม โดยไม่มองข้ามปัญหาด้านเศรษฐกิจ สอนให้แก้ความชั่วด้วยความดี และสอนให้แก้ที่ตัวเราเองก่อนโดยไม่คอยเกี่ยงให้คนทั้งโลกดีหมดแล้ว เราจึงจะดีเป็นคนสุดท้าย แม้ในการสอนให้มีเมตตาจิตก็หัดให้แผ่เมตตาในตนเองก่อนเพื่อจะได้เป็นพยานว่าเรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นก็มีความรักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น
๘. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้ถือธรรม คือความถูกต้องตามเหตุผลเป็นประมาณ ที่เรียกว่าธรรมาธิปไตย ไม่สอนให้ถือตนเองเป็นใหญ่ หรือสอนให้ถือคนอื่นเป็นใหญ่ หลักคำสอนเรื่องผู้เห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า ผู้ปฏิบัติธรรมชื่อว่าอยู่ใกล้พระพุทธเจ้า คำสอนเรื่องอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา และการตั้งพระธรรมวินัยไว้เป็นพระศาสดาแทนพระองค์ของพระพุทธเจ้าก็เป็นการสอนแบบธรรมาธิปไตยนี้
๙. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนเน้นหนักในเรื่องของสติปัญญาในการดำเนินชีวิต ให้รู้จักกำจัดความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยการพิจารณาให้เห็นต้นเหตุของความทุกข์ แล้วแก้ไขให้ถูกทาง ไม่ให้เชื่อถืออย่างงมงายไร้เหตุผล
๑๐. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้พึ่งตนเอง ในการประกอบคุณงามความดี โดยการยกระดับแห่งชีวิตของตนให้สูงขึ้น ไม่สอนให้คิดแต่จะเอาดีด้วยการอ้อนวอนบวงสรวง คำสอนข้อนี้เป็นเหตุให้เกิดหลัก เรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ที่เรียกว่ากฎแห่งกรรม อันทำให้ชาวต่างประเทศหันมานิยมนับถือมากขึ้น
๑๑. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวในโลกที่กล้าปฏิเสธหลักตรรกศาสตร์ ซึ่งชาวโลกถือว่าเป็นศาสตร์แห่งศาสตร์ทั้งหลาย โดยได้เสนอหลักการอย่างอื่นที่สูงกว่า แน่นอนกว่า พร้อมทั้งให้เหตุผลอย่างชัดแจ้ง
๑๒. พระพุทธศาสนามีหลักเกณฑ์และวิธีการในการสั่งสอน ตลอดจนตัวคำสอนอันเป็นวิทยาศาสตร์มาก่อนที่วิชาวิทยาศาสตร์ของโลกจะเกิดเป็นเนื้อเป็นตัวขึ้น
๑๓. พระพุทธศาสนาสอนให้พยายามพึ่งตนเอง ไม่ให้มัวคิดแต่พึ่งผู้อื่น
๑๔. พระพุทธศาสนาสอนให้ทำความดีเพราะเห็นแก่ความดี ไม่ใช่ทำความดีด้วยความโลภหรืออยากได้สิ่งตอบแทน หรือทำด้วยความหลงคือไม่รู้ความจริง บางครั้งนึกว่าดีแต่กลายเป็นชั่ว
๑๕. พระพุทธศาสนาสอนให้มีความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้านยิ่งสำหรับคฤหัสถ์ การตั้งเนื้อตั้งตัวได้ดี ต้องมีความพอใจและความขยันหมั่นเพียรเป็นหลัก
๑๖. พระพุทธศาสนาสอนให้มีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
๑๗. พระพุทธศาสนาสอนว่า การอยู่ในอำนาจผู้อื่นเป็นทุกข์ จึงสอนให้มีอิสรภาพทั้งภายนอกและภายใน อิสรภาพภายในคือไม่เป็นทาสของกิเลส ถ้ายังละกิเลสไม่ได้ ก็อย่าถึงกับปล่อยให้กิเลสบังคับมากเกินไป
๑๘. พระพุทธศาสนาสอนให้เอาชนะความชั่วด้วยความดี ให้ระงับเวรด้วยการไม่จองเวร และในขณะเดียวกันให้พยายามทำตนอย่าให้มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น ให้รู้จักผูกไมตรี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน
๑๙. พระพุทธศาสนาสอนให้ประกอบเหตุ คือลงมือทำเพื่อให้เกิดผลที่มุ่งหมาย ไม่ให้คิดได้ดีอย่างลอยๆ โดยคอยพึ่งโชคชะตาหรืออำนาจลึกลับใดๆ
๒๐. พระพุทธศาสนาสอนให้ลงมือปฏิบัติ เพื่อจะให้รู้แจ้งผลดีด้วยตนเอง ไม่ต้องเดาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตราบใดยังเดาอยู่ ตราบนั้นยังไม่ชื่อว่ารู้ความจริง
๒๑. พระพุทธศาสนาสอนให้มีความอดทน ต่อสู้กับความยากลำบากและอุปสรรคทั้งหลาย ไม่เป็นคนอ่อนแอพอพบอุปสรรคก็วางมือทิ้ง ถือว่าความอดทนจะนำประโยชน์และความสุขมาให้
๒๒. พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้เชื่ออะไรอย่างงมงายไร้เหตุผล ให้ใช้ปัญญากำกับอยู่เสมอ นอกจากนั้น ยังสอนให้รู้จักพิสูจน์ความจริงด้วยการทดลอง การปฏิบัติและการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
๒๓. พระพุทธศาสนาสอนกว้างกว่าเทศบาลและรัฐบาล คือเทศบาลปกครองท้องถิ่นรัฐบาลปกครองประเทศโดยสอนให้มีโลกบาลคือธรรมอันปกครองโลก ได้แก่ หิริ ความละอายแก่ใจ และโอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาปทุจริต
๒๔. พระพุทธศาสนาสอนให้มีสติปัญญาคู่กัน คือให้มีเฉลียวคู่กับฉลาด ไม่ใช่เฉลียวหรือฉลาดเพียงอย่างเดียว จึงสอนให้มีสติสัมปชัญญะคู่กัน และถือว่าเป็นธรรมมีอุปการะมาก
๒๕. พระพุทธศาสนาสอนให้บุคคลมีความเจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ เช่น สอนให้เคารพในการศึกษา ให้มีการสดับตรับฟังมาก ให้คบหาผู้รู้หรือคนดี และสนใจฟังคำแนะนำของท่าน โดยเฉพาะได้สอนว่าไม่ควรสรรเสริญการยึดอยู่ในคุณความดี สรรเสริญแต่ความเจริญก้าวหน้า
๒๖. พระพุทธศาสนาสอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ เพื่อจะได้อยู่เป็นผาสุกในสังคม
๒๗. พระพุทธศาสนาสอนมิให้ปลูกศัตรูหรือมองเห็นใครต่อใครเป็นศัตรู โดยเฉพาะไม่สอนให้เกลียดชังคนนับถือศาสนาอื่น จึงนับว่าเป็นศาสนาที่มีใจกว้างขวาง
๒๘. พระพุทธศาสนาสอนมิให้วิธีอ้อนวอนบวงสรวงเพื่อให้สำเร็จผล แต่สอนให้ลงมือทำ เพื่อให้เกิดผลที่มุ่งหมายนั้นโดยถูกทาง
๒๙. พระพุทธศาสนาสอนให้มองโลก โดยรู้เท่าทันความจริงที่ว่า มีความไม่เที่ยงแท้ถาวร ทนอยู่ไม่ได้และไม่ใช่ตัวตนที่พึงยึดถือจะได้มีความปลอดโปร่งใจ ไม่ยึดมั่นจนเกินไปซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ได้โดยง่าย
๓๐. พระพุทธศาสนาสอนให้ถือธรรมคือความถูกต้องเป็นใหญ่ ไม่ให้ถือตนเป็นใหญ่หรือถือโลกเป็นใหญ่ พูดง่ายๆ คือไม่ถือบุคคลเป็นสำคัญ แต่ถือธรรมคือความถูกต้องเป็นสำคัญ
๓๑. พระพุทธศาสนาสอนปรมัตถ์ คือประโยชน์อย่างยิ่ง คือให้รู้จักความจริงที่เป็นแก่น ไม่หลงติดอยู่ในความสมมติต่างๆ เช่น ลาภ ยศ เป็นต้น แต่ในการเกี่ยวข้องทางสังคมก็สอนให้รู้จักรับรองสมมติทางกายและทางวาจาตามควร เช่น เมื่อเข้าประชุมชนก็ให้ทำตนให้เข้ากับประชุมชนนั้นๆ ให้ใช้ถ้อยคำให้ถูกต้องตามสมมติบัญญัติ ไม่ใช่ถือว่าเมื่อไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาแล้ว ก็เลยเข้ากันไม่ได้ การที่พระพุทธศาสนายั่งยืนมาได้ ก็เพราะถึงคราวรับรองสมมติบัญญัติก็รับรองตามสมควร ถึงคราวสอนใจให้รู้เท่าสมมติบัญญัติ ก็สอนใจมิให้ติดให้หลงจนเป็นเหตุมัวเมางมงาย
๓๒. พระพุทธศาสนาสอนธรรมตั้งแต่ชั้นต่ำจนถึงชั้นสูง แต่ละประเภทเหมาะแก่จริต อัธยาศัยและความสามารถของแต่ละคน เหมือนให้อาหารแก่เด็กอ่อนแก่เด็กโต ตามความเหมาะสมฉะนั้น
๓๓. พระพุทธศาสนาสอนว่า ปัญญาเป็นเครื่องส่องทางแห่งชีวิตที่นับเป็นแสงสว่างในโลก และได้สอนต่อไปว่า ปัญญานั้นทำให้เกิดได้ ไม่ใช่ปัญญาเกิดตามบุญตามกรรม การทำให้เกิดปัญญาคือการคิด การศึกษาสดับตรับฟัง และลงมือปฏิบัติอบรมให้เกิดปัญญา
๓๔. พระพุทธศาสนาสอนเน้นหนักไปในเรื่องความกตัญญูรู้คุณผู้อื่น และกตเวทีตอบแทนคุณท่าน และสรรเสริญว่า ใครมีคุณข้อนี้ชื่อว่าเป็นคนดี และประพฤติสิ่งเป็นสวัสดิมงคล
๓๕. พระพุทธศาสนาสอนให้ดับทุกข์ โดยให้รู้จักว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นต้นเหตุและการดับความทุกข์ ได้แก่ ดับเหตุของทุกข์ รวมทั้งให้รู้จักข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงความดับของทุกข์ด้วย จึงชื่อว่าสอนเรื่องดับทุกข์ได้อย่างมีเหตุผล ซึ่งควรจะได้ศึกษาและปฏิบัติตาม
๓๖. พระพุทธศาสนามิได้สอนย่ำยีหรือซ้ำเติมคนที่ทำอะไรผิดไปแล้ว ควรจะช่วยกันให้กำลังใจในการกลับตัวของเขา ไม่ควรดูหมิ่นเหยียดหยาม พระพุทธเจ้าเองก็เคยเล่าถึงเรื่องความผิดของพระองค์เองในสมัยเมื่อยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ อันแสดงว่าตราบใดยังมีกิเลส ตราบนั้นก็อาจทำชั่วทำผิดได้ แต่ข้อสำคัญถ้ารู้ว่าอะไรผิด อะไรชอบแล้ว ต้องพยายามกลับตัวให้ดีขึ้นอยู่เสมอ
๓๗. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้เห็นอกเห็นใจคนอื่น ผู้ที่ดูหมิ่นเหยียดหยามคนอื่น จะเพราะชาติตระกูล เพราะทรัพย์หรือเพราะเหตุอื่นใดก็ตาม ไม่เชื่อว่าปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา
๓๘. พระพุทธศาสนาสอนว่า การคบเพื่อนที่ดีย่อมจะชวนกันไปในทางที่ดี พระอานนท์เสนอว่าเป็นกึ่งพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นตัวพรหมจรรย์เลยทีเดียว แสดงว่ายกย่องกัลยาณมิตรมาก
๓๙. พระพุทธศาสนาสอนให้รักษา กาย วาจา ให้เรียบร้อยด้วยศีล ให้รักษาจิตให้สงบไม่ฟุ้งซ่านด้วยสมาธิ และให้รักษาทิฏฐิคือความเห็นมิให้ผิด ให้ไปตรงทางด้วยปัญญา ฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา จึงเป็นข้อปฏิบัติเด่นที่สุดทางพระพุทธศาสนา
๔๐. พระพุทธศาสนาสอนว่า ถ้าไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไรดี เพราะข้อปฏิบัติมีมากเหลือเกิน ก็สอนให้ปฏิบัติเพียงอย่างเดียว คือให้รักษาคุ้มครองจิตให้เป็นไปถูกทาง เสร็จแล้วจะเป็นอันคุ้มครองกาย วาจา และอื่นๆ ในตัวด้วย
๔๑. พระพุทธศาสนาสอนทางสายกลาง ระหว่างการทรมานตัวเองให้เดือดร้อนกับการปล่อยตัวให้เหลิงเกินไป และสอนสายกลางระหว่างที่เห็นว่าเที่ยงกับระหว่างที่เห็นว่าขาดสูญ การสอนทางสายกลางนี้ ย่อมเป็นประโยชน์ในที่ทุกสถาน
๔๒. พระพุทธศาสนาสอนให้รับฟังความคิดเห็นของคนอื่นบ้าง ไม่เป็นคนดื้อว่ายากสอนยาก คนที่ฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่น ย่อมมีโอกาสแก้ไขความผิดพลาดบกพร่องของตนเองอยู่เสมอ
๔๓. พระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักเสียสละเป็นชั้นๆ ให้สละสุขอันเล็กน้อยเพื่อสุขอันสมบูรณ์ ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ให้สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม
๔๔. พระพุทธศาสนาสอนว่า เมื่อมีศีลย่อมเป็นอุปการะให้เกิดสมาธิได้เร็ว เมื่อมีสมาธิก็ช่วยให้เกิดปัญญาได้สะดวกขึ้น
๔๕. พระพุทธศาสนาสอนรวบยอดให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท คือสอนไม่ให้ลืมตน ทะนงตนหรือขาดความระมัดระวัง ท่านถือความประมาทเป็นทางแห่งความตาย จึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาททั่วกัน เป็นต้น(๑)
.................................................................................
(๑) คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา, สุชีพ บุญญานุภาพ, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย พระนคร
วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
บทที่ ๖ วิธีลดอัตตา
บทที่ ๖
วิธีลดอัตตา
เพื่อความเข้าใจถึงวิธีลด "อัตตา" ได้อย่างง่ายๆ โดยอาศัยหลักเกณฑ์ที่รัดกุม จึงจะได้พิจารณากันถึงสิ่งที่เรียกว่า "สังโยชน์" ๑๐ ประการ แล้วผู้ปฏิบัติธรรมก็จะทราบได้เองว่า พุทธศาสนามีความมุ่งหมายที่จะลด "ตัวตน" อย่างมีประสิทธิภาพเพียงไร
สังโยชน์ประการที่ ๑ มีชื่อโดยภาษาบาลีว่า "สักกายทิฏฐิ" หมายถึง ความยึดถือว่า กายกับใจนี้เป็นของตน เมื่อมีความรู้สึกคิดเช่นนั้นแล้ว เขาก็หวงแหน อยากให้มันดีให้มันเที่ยงแท้ถาวร เพื่อประโยชน์แก่ "ตัวเขา" โดยธรรมชาติที่แท้นั้น มันไม่มีอะไรที่จะเป็นของเขาได้เลย แต่ความหลงผิด ทำให้เขาเข้าใจว่ามันมีอะไรๆ เป็นของเขาจนได้ โดยเหตุนี้ สิ่งที่เป็นเพียงธาตุดินน้ำลมไฟ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ที่รวมกลุ่มกันอยู่ ก็ถูกยึดถือเป็นกายและใจ "ของเขา" มันจึงมีลักษณะเป็น ความเห็นแก่ตัว แล้วก็ทำอะไรๆ ไปในลักษณะที่เป็นความทุกข์ยากลำบากแก่ตัวเองและแก่ผู้อื่น ปัญญาอย่างโลกๆ ก็ส่งเสริม "ตัวตน-ของตน" ให้หนักยิ่งขึ้น ต่อเมื่อได้รับการศึกษาอบรมที่ถูกทาง หรือปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักแห่งพุทธศาสนา เขาจึงจะไม่อาจมี "ตัวตน-ของตน" ชนิดที่จะไปฆ่าไปลัก หรือเบียดเบียนผู้อื่น และจะเริ่มนึกถึงการที่กายทุกกาย หรือธาตุทุกกลุ่ม เป็นเพื่อเกิดแก่เจ็บตายอย่างเดียวกัน จึงลดความหมายมั่นปั้นมือที่จะเอาประโยชน์ จากผู้อื่นมาเป็นของตนเองล้วนๆ ดังแต่ก่อน
ความลดไปแห่งสักกายทิฏฐินี้ ทำให้เกิดความสงบเย็น ความสงบเย็นทำให้เกิดสติสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะก็ทำความปลอดภัยให้แก่ตนเองและผู้อื่น ถ้าเพียงแต่คนเราสามารถ ละสังโยชน์ข้อที่ ๑ นี้ได้เท่านั้น โลกนี้ก็จะเปลี่ยนแปลงไป อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างน้อยที่สุด การเบียดเบียนกันจะหายไปจากโลก มีแต่การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันอย่างแท้จริง เข้ามาแทน
ต่อไปก็คือ ความลดไปแห่ง "ตัวตน" ในรูปของสังโยชน์ประการที่ ๒ ที่เรียกว่า "วิจิกิจฉา" ซึ่งหมายถึง ความลังเล เนื่องจากความสงสัยหรือความกลัว ถ้าไม่พิจารณาให้ดี ก็จะไม่เห็นว่ามันเกี่ยวกับเรื่อง "ตัวตน" หรือ "ของตน" ยิ่งกว่านั้น ยังมองข้ามไปเสียว่า ความลังเลนี้ ไม่มีความสำคัญอะไรในเรื่องความทุกข์และความดับทุกข์ แต่แท้ที่จริงนั้น วิจิกิจฉา ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกันอีก ถ้าเป็นการปฏิบัติในขั้นสมาธิ วิจิกิจฉานี้ก็เป็นนิวรณ์ปิดกั้น หรือรบกวนจิตไม่ให้เป็นสมาธิ ถ้าเป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา วิจิกิจฉาก็เป็นเครื่องรบกวน ความเชื่อและปัญญาไม่ให้อยู่ในร่องในรอยได้ คนเราจึงไม่สามารถเอาชนะความทุกข์ได้ และตัวความลังเลนั้นเอง ก็เป็นเครื่องรบกวนความสุข หรือเป็นความทกข์ชนิดหนึ่งอยู่ในตัวมันเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางศาสนาหรือเรื่องตามธรรมดาของชาวโลก
การต่อสู้กันระหว่างความรู้สึกฝ่ายต่ำกับฝ่ายสูงนั่นเอง เรียกว่า วิจิกิจฉา ซึ่งอาจขยายความออกไปเป็นความไม่แน่ใจ ความไม่กล้าหาญ ความไม่ไว้ใจ หรือไม่เชื่อถือตัวเอง ฯลฯ วิจิกิจฉาชนิดที่เป็นอย่างชาวโลกๆ ที่สุด ก็เช่นไม่แน่ใจว่าจะประกอบอาชีพอะไร จะทำอะไร จะแสวงหาชื่อเสียงอะไรดี ฯลฯ และที่สูงขึ้นมาก็คือ ความไม่แน่ใจในการที่จะยึดเอาความดี หรือความยุติธรรม ว่าเป็นหลักที่แท้จริงได้หรือไม่ ความกลัวจะเสียประโยชน์ส่วนตัว กลัวจะเสียเปรียบเขา จะพ่ายแพ้เขา เป็นเหตุให้ไม่แน่ใจในการที่จะถือเอาความดีความจริงเป็นหลัก เป็นความกระอักกระอ่วนใจ ในทางหน้าที่หรือทางศีลธรรม
เราพอจะมองเห็นว่า ความระส่ำระสายทุกข์ยากลำบาก หรือวิกฤติการณ์ต่างๆ ในโลก ย่อมเกิดมาจากความไม่แน่ใจของชาวโลกนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ของชนชั้นผู้นำกลุ่มต่างๆ ที่ไม่แน่ใจในการที่จะยึดมั่นในความดี หรือความจริง จนกระทั่ง ยอมเสียสัจจ์ เช่น พอเกิดสงคราม หวาดกลัวขึ้นมาก็หันไปหาพระเป็นเจ้าหรือศาสนา แต่พอเหตุการณ์นั้นผ่านไปก็หันหน้ากลับไปหาประโยชน์ให้แก่ "ตัวตน-ของตน" ไม่มีฝ่ายไหนแน่ใจในการที่จะยึดถือความดีความจริงเป็นหลัก ทั้งที่ตัวเองก็รู้อยู่ว่าอะไรเป็นอะไร โลกจึงตกอยู่ในห้วงแห่งความเท็จความโลเล หลอกลวงตัวเอง เพราะไม่สามารถบังคับความเชื่อ หรือสติปัญญาของตนให้แน่วแน่อยู่ในร่องในรอยได้ โลกจึงมีอาการเหมือนกับวิจิกิจฉา เคว้งคว้างไปตามความลังเลของคนในโลก ทั้งในกรณีที่เป็นไปทางโลกๆ และทางศาสนา
สำหรับวิจิกิจฉาในทางฝ่ายพุทธศาสนานั้น เมื่อกล่าวไปตามหลักที่ถือๆ กันอยู่ ก็ได้แก่ความลังเลใน พระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ ลังเลในการตรัสรู้จริงของพระพุทธเจ้า ความสงสัยในพระพุทธเจ้าก็คือ ลังเลในการที่จะเชื่อ หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของท่าน เพราะมันขัดต่อความรู้สึกของตนที่มีอยู่ก่อน ขัดต่อประโยชน์ที่ตนหวังจะได้รับ การลังเลในพระธรรมก็เป็นอย่างเดียวกัน เลยทำให้คนถือศาสนากันเพียงแต่ปาก หรือเล่นตลกกับพระเป็นเจ้าของตน จนอาการเช่นนี้มีอยู่ทั่วไป สำหรับความลังเลในพระอริยสงฆ์นั้น หมายถึงว่า เห็นท่านเป็นผู้พ้นทุกข์ได้อย่างนั้นๆ แล้ว ตนก็ยังลังเลที่จะเดินตาม โดยที่ไม่เชื่อว่าท่านเหล่านั้นพ้นทุกข์ได้จริงบ้าง หรือการพ้นทุกข์ของท่านเหล่านั้นจะนำมาใช้ได้แก่ตนบ้าง เมื่อยังลังเลในตัวผู้สอน ในสิ่งที่นำมาสอน และในหมู่คนที่เคยปฏิบัติตามคำสอนจนประสบความสำเร็จมาแล้ว คนโง่เหล่านี้ แม้จะศึกษาไปสักเท่าไรๆ ก็มีแต่จะยิ่งกลายเป็นคนลังเลมากขึ้น จนกลายเป็นโรคประสาทหรือโรคจิตขึ้นมาก็ได้
เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ย่อมจะเห็นได้ว่า การที่คนเราเกิดความคิดลังเลแม้ในพระศาสดาของตน ในหลักธรรมะหรือหลักปรัชญา ก็กล่าวได้ว่า "อัตตา" อีกนั่นเองที่เป็นมูลเหตุอันแท้จริงแห่งความลังเล ถ้าเราดับความลังเลหรือควบคุมมันได้ ก็ย่อมหมายความว่าเราดับ หรือควบคุม "อัตตา" ได้ เพราะอาการแห่งความลังเลก็คือลักษณะอย่างหนึ่งของ "อัตตา" หรือความเห็นแก่ตัวนั่นแหละ เป็นเหตุให้เกิดความลังเล ไม่ว่าทั้งในทางโลกและทางธรรม
สีลัพพตปรามาส สังโยชน์ข้อที่ ๓ เป็นชื่อของความงมงายเข้าใจผิดต่อศีลและพรต ซึ่งเป็นเครื่องปฏิบัติสำหรับลดความทุกข์ กล่าวคือ ความเข้าใจผิด ใช้ผิด กระทำผิด ต่อสิ่งซึ่งถือกันว่าเป็นเครื่องปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ อันได้แก่ ศาสนาหรือธรรมะนั่นเอง แบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือเข้าใจผิด หรือปฏิบัติผิดในสิ่งที่ผิดมาแต่เดิม กับ เข้าใจผิดต่อสิ่งที่ถูกต้องดีอยู่แล้ว แต่ปฏิบัติไปอย่างงมงายหรือผิดๆ นี่ก็มีมูลมาจากการมี "ตัวตน-ของตน" ที่มีความประมาทสะเพร่า หรือทะนง แทนที่จะมีสติปัญญาอย่างสุขุมรอบคอบ กลับจับฉวยเอาข้อปฏิบัติเหล่านั้นผิดไปจากความหมายที่แท้จริง เป็นความโง่ ความดื้อของ "ตัวตน-ของตน" นั่นเอง มีอยู่เป็นปกติแก่ปุถุชนคนเขลาทั่วไปในการที่จะจับฉวยเอา อย่างปุบปับในสิ่งที่แปลกประหลาด หรือ อัศจรรย์ ซึ่งตัวคิดนึกได้เอง หรือมีผู้นำมาสอนให้ ตลอดจนมีความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในสิ่งที่ตนคิดขึ้น หรือกำลังกระทำอยู่ แล้วก็มีความเชื่อมั่นในสิ่งนั้นจนกลายเป็นความงมงาย คิดว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นที่พึ่งแก่ตนได้ แต่แล้วก็หาเป็นไปได้ไม่ คงเป็นสักว่าพิธีรีตอง เป็นสักว่าเครื่องปลอบใจตัวเอง หรือหลอกตัวเองให้หายกลัว เพราะมันไม่มีเหตุผล หรือไม่ตรงตามหลักวิชา แต่ตัวก็ไม่รู้ว่าตัวโง่
สำหรับสีลัพพตปรามาสชนิดที่ผิดมาแต่เดิม แล้วเอามายึดมั่นถือมั่นเพื่อปฏิบัตินั้น ส่วนมากเป็นเรื่องของการกระทำปรัมปราสืบๆ กันมาแต่โบราณ กระทั่งยุคหินที่มีคนบางพวกยังยึดมั่นถือมั่นอยู่ เพราะมันเข้ารูปกันได้กับภูมิปัญญาของเขา แม้ตกมาในสมัยนี้ ก็ยังประพฤติกันอยู่อย่างเคร่งครัด ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา และความไม่รู้ ส่วนอีกแขนงหนึ่งนั้น คือ การประพฤติบ้าบิ่น นอกคอก นอกรีตต่างๆ ซึ่งพวกมิจฉาทิฏฐิ หรือมิจฉาชีพที่ฉลาดบัญญัติขึ้นเป็นเครื่องตบตาหาเงินจากคนอื่น หรือด้วยความหลงสำคัญผิดคิดว่าเป็นของดีจริงก็มี ซึ่งล้วนแต่อุตริวิตถารด้วยกันทั้งนั้น นี้เรียกว่าเป็นสิ่งที่ผิดมาแต่เดิม แล้วถูกนำมายึดมั่นถือมั่น เป็นหลักปฏิบัติตามๆ กันไปด้วยความหลงงมงายเข้าใจผิด
ส่วนสีลัพพตปรามาสในเรื่องสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว แต่คนจับฉวยเอาผิดเองนั้น ได้แก่หลักธรรมะ ตลอดถึงระเบียบวิธีปฏิบัติต่างๆ ซึ่งได้บัญญัติไว้อย่างถูกต้องในศาสนาต่างๆ เป็นหลักวิชาตามเหตุผล ซึ่งเมื่อปฏิบัติตามนั้นแล้ว ก็สามารถดับทุกข์ได้จริง แต่ก็ยังมีการจับฉวยเอาผิด เรียกว่าเป็นการลูบคลำทำให้สิ่งซึ่งบริสุทธิ์สะอาดนั้น กลายเป็นของสกปรกไปด้วยอำนาจของความงมงาย สีลัพพตปรามาสชนิดนี้มีได้แม้ในหมู่นักศึกษาที่เรียกว่า มีการศึกษาอย่างดีที่สุด ตามที่นิยมกันในหมู่มนุษย์ แต่ไม่ได้มีการศึกษาข้อธรรมะหรือศาสนานั้นๆ อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ เพราะมันเป็นคนละเรื่องกัน ดังตัวอย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ทั่วไป ในหมู่ผู้ได้รับปริญญาตรี โท เอก ในฝ่ายวิชาการทางโลก ที่ยังเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าอาจจะบันดาลอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่ตัวต้องการได้ ในเมื่อมีการบูชาอ้อนวอน หรือประกอบพิธีทางศาสนาที่งมงายมาก ถึงกับบนบานขอให้เกิดบุตรแก่ผู้ไม่มีบุตรก็ยังมี บางคนคิดว่า การรดน้ำมนต์ล้างซวย หรือ ให้ร่ำรวย หรืออะไรในทำนองนั้นก็เป็นพุทธศาสนาด้วย เสร็จการศึกษากลับมาจากเมืองนอก ก็รีบไปหาพระรดน้ำมนต์ทันที นี่เป็นการพิสูจน์ว่า การศึกษาที่ไปเรียนมาอย่างมากมายนั้น ก็ยังไม่ทำให้เขาหายงมงาย แล้วก็มาเกณฑ์ให้ศาสนามีหน้าที่ทำอะไรๆ ตามที่ตัวต้องการ โดยได้ยินแต่เพียงว่า ธรรมะหรือศาสนานี้ เป็นเครื่องช่วยดับทุกข์ และมีความศักดิ์สิทธิ์ ทุกประการ
ถึงแม้ในศาสนาอื่นก็เป็นอย่างเดียวกัน เช่น จัดพระผู้เป็นเจ้าไว้ในฐานะเป็นผู้มีหน้าที่ปลอบใจเมื่อจนแต้ม ที่ไปโบสถ์หรือปฏิบัติตามระเบียบพิธีต่างๆ ก็เพียงแต่ทำเผื่อๆ ไว้ เพราะจะได้เป็นที่ถูกใจพระเป็นเจ้าไว้ หรือเป็นการสะสมบุญกุศลไว้ มีอาการที่กระทำเหมือนกับคนละเมอๆ โดยที่ไม่เข้าใจอย่างถูกต้องว่า พระเจ้าที่แท้จริงนั้นคืออะไร หรือบุญกุศลที่แท้จริงนั้นคืออะไร และไม่รู้เลยสักนิดเดียวว่า พระเป็นเจ้าหรือบุญกุศลที่แท้จริงนั้น คือการชำระจิตใจให้สะอาดด้วยการกระทำที่ถูกต้องกันที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ด้วยการบั่นทอนหรือทำลาย "ตัวตน-ของตน" นั่นเอง ไปมัวหวังแต่พระเป็นเจ้าที่อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ให้คอยช่วยคุ้มครองตนอย่างคุ้มครองเด็กๆ และเมื่อทุกข์ร้อนจนแต้มขึ้นมา ก็โวยวายให้สิ่งที่ไม่รู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหนนั่นแหละมาช่วยตน ไม่สามารถใช้สัมมาทิฏฐิของตน ปลดปล่อยหรือขจัดปัดเป่าความทุกข์ร้อนในใจของตน ให้ออกไปจากตนได้ ทั้งๆ ที่ข้อปฏิบัติทางธรรมะหรือทางศาสนาทุกข้อทุกอย่าง ก็ล้วนแต่เป็นไปเพื่อชำระกายวาจาใจให้สะอาด ให้เกิดมีภาวะใหม่ขึ้นมาเป็นความไม่มีทุกข์หรือมีทกข์น้อยลงไปกว่าเดิม
สำหรับในฝ่ายพุทธศาสนาโดยเฉพาะนั้น สีลัพพตปรามาสได้งอกงามมากขึ้นในหมู่พุทธบริษัท ทั้งในทางปริยัติและในทางปฏิบัติ ในทางปริยัตินั้นได้มีการจับพลัดจับผลูไปเอาสิ่งซึ่งไม่ใช่พุทธศาสนา เข้ามาตู่เป็นพุทธศาสนาอยู่เรื่อยๆ ทำสิ่งที่ไม่ใช่พุทธพจน์ให้เป็นเหมือนพุทธพจน์ นิยมศึกษาทฤษฎีที่ลึกซึ้งกว้างขวางไม่รู้จบเพื่อความเป็นนักปราชญ์ ยิ่งกว่าที่จะศึกษาเฉพาะเรื่องของการดับทุกข์ แทนที่จะพูดจะสอนจะอภิปรายกันถึงเรื่องดับทุกข์โดยตรง เช่นเรื่องอริยสัจจ์ เป็นต้น ก็กลายเป็นไปนำเอาเรื่อง "อัพยากตวัตถุ" ที่พระพุทธองค์ทรงห้ามไม่ให้นำเอามาพูดกันให้เสียเวลา และพระองค์เองก็ไม่ทรงสอนเรื่องเหล่านี้ เช่นเรื่องคนตายแล้วเกิดหรือไม่ ศึกษาวิพากษ์วิจารณ์ค้นคว้ากันอย่างเป็นวรรคเป็นเวร โดยนำเอาลัทธิสัสสตทิฏฐิของพวกพราหมณ์มาอธิบาย โดยที่เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นตัวแท้ของพุทธศาสนา แม้แต่คำอธิบายเรื่องกรรม เรื่องอนัตตา และเรื่องนิพพาน ก็ดำเนินไปอย่างผิดๆ เพราะจับฉวยผิด ถึงขนาดที่ไปคว้าเอาเรื่องกรรม เรื่องอนัตตา เรื่องนิพพานของศาสนาอื่น มาถือว่าเป็นกรรมเป็นอนัตตาและนิพพานในพุทธศาสนา จนกระทั่งเกิดการทะเลาะวิวาทกันเพราะเหตุนี้
แม้ในส่วนที่เกี่ยวกับพระไตรปิฎกเอง ก็มีความยึดมั่นถือมั่นอย่างผิดๆ อยู่หลายประการ เช่นยึดมั่นถือมั่นว่าทุกตัวอักษรที่เรียกว่าพระไตรปิฎก ได้ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น จะไปแตะต้องด้วยการวิพากษ์วิจารณืไม่ได้ บางพวกก็บูชาพระไตรปิฎกอย่างวัตถุศักดิ์สิทธิ์ บางพวกก็คิดว่าเพียงแต่ซื้อหรือสร้างพระไตรปิฎกขึ้นเท่านั้น ก็พ้นทุกข์ได้แล้ว บางคนเป็นไปมากถึงกับเอาพระไตรปิฎกบางเล่มมาใช้เป็นเครื่องมือเสี่ยงทาย เสียบไม้เข้าไปในระหว่างใบลานหรือหน้าหนังสือนั้นแล้ว เปิดดูว่ามันจะถูกเรื่องดีหรือร้าย โดยถือเอาข้อความในหน้ากระดาษที่ตนเอาไม้เสียบเข้าไปนั่นเองเป็นหลัก และมีความเชื่อมั่นอย่างแท้จริงว่าเป็นการทำนายที่ถูกต้อง นับว่าเป็นสีลัพพตปรามาส หรือความงมงายที่ยังไม่เคยมีมาก่อน และได้เกิดมีขึ้นเกี่ยวกับพระคัมภีร์ เขาไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังที่ตรัสไว้ในกาลามสูตร หรือตรัสไว้ในเรื่องมหาปเทศ สำหรับวินิจฉัยข้อความแท้จริงว่าสิ่งที่เรียกว่า พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร นี้เป็นตัวอย่างแห่งสีลัพพตปรามาสในส่วนปริยัติ ซึ่งมีอยู่อย่างมากมายจนเหลือที่จะนำมากล่าวให้หมดสิ้นได้
สำหรับสีลัพพตปรามาสในส่วนการปฏิบัตินั้น ยิ่งมีทางเกิดขึ้นได้มากมาย เพราะคนส่วนมากเชื่อง่าย และเต็มไปด้วยความกลัว ไม่มีสติปัญญา หรือความรู้เพียงพอที่จะควบคุม ความเชื่อ และความกลัว จึงทำอะไรอย่างงมงาย หรือผลีผลามไปตามอำนาจของความเชื่อ และความกลัวเหล่านั้น ในลักษณะง่ายๆ และสะดวกๆ หรือถึงกับใช้คนอื่นทำแทนให้ก็ยังมี เช่น บาปของตัวเองก็ให้คนอื่นช่วยล้างให้ หรือเชื่อว่าความตายเป็นสิ่งที่ผัดเพี้ยนกันไว้ก่อนได้ อายุเป็นสิ่งที่ต่อกันได้ด้วยการทำพิธี และถือว่าอะไรๆ ที่ตัวกลัวหรือเป็นทุกข์อยู่นั้น ย่อมแก้ได้หมดด้วยพิธีต่างๆ ในทางศาสนา นี้เป็นตัวอย่างความงมงายชั้นต่ำที่สุด ซึ่งมีอยู่มากมายเหลือที่จะนำมากล่าว
ส่วนที่สูงขึ้นมาจากนั้น ก็หมายถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของการทำบุญ ให้ทาน การบวช การบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา ตลอดถึงปฏิบัติธรรมปลีกย่อยอื่นๆ มีความเข้าใจผิดถึงกับทำให้เกิดผลตรงกันข้ามไปเสียทุกอย่างทุกประการ ข้อวัตร์ปฏิบัติต่างๆ ทั้งหมดนั้น โดยที่แท้แล้วย่อมเป็นไปเพื่อขูดเกลากิเลส เช่น โลภโกรธหลงงมงาย ขจัดความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็น "ตัวตน-ของตน" ฯลฯ แต่ก็กลับประพฤติปฏิบัติไปในทางที่ส่งเสริมความรู้สึกเป็น "ตัวตน-ของตน" ให้เหนียวแน่นประณีตลึกซึ้งยิ่งขึ้น จนกลายเป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ความขลัง ที่จะดลบันดาลให้ตนได้รับสิ่งที่ตนต้องการ ซึ่งที่แท้ก็คือกิเลสที่เป็น "ตัวตน-ของตน" นั่นแหละ เป็นผู้ต้องการ หาใช่สติปัญญาบริสุทธิ์เป็นผู้ต้องการไม่ ฉะนั้น จึงเกิดมีการสอนให้ทำบุญให้ทาน ด้วยวิธีการแปลกๆ มุ่งหมายแปลกๆ และเป็นภัยแก่เศรษฐกิจสังคม หรือศาสนาเองในที่สุด
สำหรับการรักษาศีล ก็มีการรักษาศีลด้วยการคิดว่าจะทำตนให้เกิดความขลังความศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นการรับประกันอะไรบางอย่างในกาลอนาคต แทนที่จะเป็นการกำจัดกิเลสที่เป็นเหตุให้ตามใจตัวเอง ครั้นไปถึงขั้นการทำสมาธิและวิปัสสนาก็ยิ่งเขวออกนอกทางมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องอำนาจทางจิต และมีช่องทางที่จะทำให้ประหลาดมหัศจรรย์ โน้มเอียงไปตามความต้องการอันไม่เป็นธรรมะ ดังนั้น จึงเกิดมีการกระทำที่เรียกว่า วิปัสสนาการค้า วิปัสสนาอยากดังในลักษณะแปลกๆ อย่างมากมาย ซึ่งล้วนแต่ไม่เป็นไปเพื่อการกำจัดกิเลส แต่เป็นไปเพื่ออิทธิปาฏิหาริย์ หรือเป็นเครื่องมือหาลาภสักการะสรรเสริญไปเสีย โดยอำนาจแห่ง "ตัวตน-ของตน" เข้ามาครอบงำและลากจูงไปนั่นเอง เมื่อสิ่งเหล่านั้นดำเนินไปผิด ความมุ่งหมายของสิ่งที่เรียกว่ามรรคผลและนิพพานของผู้นั้นก็เลยผิดตามไปด้วย จนกระทั่งกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างสมบูรณ์ในที่สุด นี้เรียกว่า สีลัพพตปรามาสที่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม กลายเป็นเนื้อร้ายเนื้องอก ที่เพิ่งงอกออกมาใหม่ๆ บนตัวพุทธศาสนาสำหรับทำลายพุทธศาสนาเอง ทั้งนี้ก็มีมูลมาจากความยึดมั่นถือมั่นใน "ตัวตน-ของตน" ด้วยกันทั้งนั้น
อาการที่เข้าใจสิ่งใดผิด แล้วนำไปใช้อย่างผิดความมุ่งหมายที่แท้จริง ย่อมเรียกได้ว่าเป็นสีลัพพตปรามาสทั้งนั้น เช่นวิชาความรู้ทางธรรม อันควรจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องอำนวยสันติสุขแก่สังคม แต่กลับถูกนำไปใช้เป็นเครื่องทำมาหากิน จนทำความเดือดร้อน หรือความทุกข์ให้เกิดแก่สังคม อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็น สีลัพพตปรามาสได้ เพราะอำนาจแห่งความรู้สึกที่เป็น "ตัวตน-ของตน" ครอบงำจิตใจบุคคลเหล่านั้นจนมีความเห็นแก่ตัวจัด สิ่งที่สะอาด หรือเป็นคุณประโยชน์ก็กลับกลายเป็นของสกปรก หรือกลายเป็นทุกข์เป็นโทษแก่สังคม มนุษย์ทั่วไปจึงต้องรับบาปอันนี้ ฉะนั้น การลด "อัตตา" ลงไปได้เท่าใด ก็ย่อมทำให้สีลัพพตปรามาสของมนุษย์ไม่ว่าแขนงไหนหมด ลดน้อยลงไปเพียงนั้น แล้วมนุษย์ก็จะเลื่อนจากภูมิของปุถุชนขึ้นสู่ภูมิของอารยชน คือเป็นพระอริยเจ้าซึ่งลด "ตัวตน-ของตน" ได้ในอันดับที่น่าพอใจอันดับหนึ่ง คือท่านกำหนดไว้ว่าผู้ที่ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส เสียได้นั้น เป็นผู้ที่ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน ซึ่งเรียกว่า พระโสดาบัน นั่นเอง
ถ้า "อัตตา" ดับไปโดยสิ้นเชิง บุคคลนั้นย่อมถึงความเป็นพระอรหันต์ ดังนั้นในกรณีแห่งพระโสดาบันนี้ ย่อมหมายความว่าความดับไปแห่ง "อัตตา" เป็นเพียงบางส่วน "โสตาปนฺน" แยกศัพท์เป็น "โสต" กับ "อาปนฺน" โสต แปลว่า กระแส อาปนฺน แปลว่า ทั่วถึง สิ่งที่เรียกว่ากระแสในที่นี้หมายถึงทางที่ไปสู่นิพพาน ถ้าเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ อริยมรรคมีองค์แปด ซึ่งมีองค์สำคัญอยู่ที่ความรู้อันถูกต้องหรือสัมมาทิฏฐิ ที่ทำให้รู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ว่าไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็น "ตัวตน" หรือ "ของตน" นั่นเอง
พระโสดาบันนั้นเป็นผู้ครองเรือนก็มี เป็นนักบวชก็มี แล้วอะไรเล่าที่ทำให้คน ๒ พวกนี้เข้าถึงกระแสนิพพานโดยเสมอกัน คำตอบก็คือการละเสียได้ซึ่งสังโยชน์ ๓ ประการดังกล่าววแล้วนั่นเอง การละสังโยชน์ทั้ง ๓ ประการนั้น เป็นสิ่งซึ่งมีได้ก่อนที่จะละกามโดยสิ้นเชิง คือฆราวาส ทั้งๆ ที่ยังเกี่ยวข้องกับกามอยู่ก็ยังสามารถละสังโยชน์ทั้ง ๓ นั้นได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เป็นผู้หมกมุ่นหรือมัวเมาในกามอย่างมาก
มันเป็นที่แน่นอนว่า พระโสดาบันจะต้องมีโลภะโทสะโมหะ หรือราคะโกธะโมหะเบาบางกว่าคนสามัญเป็นธรรมดา แต่มิได้หมายความว่า เป็นผู้หมดราคะโทสะโมหะโดยสิ้นเชิง ฉะนั้น เป็นอันถือได้ว่า การละราคะโทสะโมหะเพียงบางส่วนนั้นเป็นสิ่งที่ฆราวาสมีได้ เป็นได้ เพราะสังโยชน์ทั้ง ๓ หมดสิ้นไป (สังโยชน์ ทั้ง ๓ ประการนี้ก็คือ ราคะโทสะโมหะในรูปลักษณะหนึ่งๆ) และสังโยชน์ชนิดไหนก็ตาม ย่อมเป็นความรู้สึกที่เป็น "ตัวตน-ของตน" อยู่ด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่เราไปกล่าวกันไว้ในชื่ออีกอย่างหนึ่ง ความรู้สึกที่เป็น "อัตตา" ที่รวบรัดเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้ามาหาตัว เพราะความอยากได้นั้น คือ ราคะหรือโลภะ ความรู้สึกที่เป็น "อัตตา" ที่ผลักดันสิ่งใดออกไป เพราะความเกลียดนั้น ก็คือ โทสะ ส่วนความรู้สึกเป็น "อัตตา" ที่วนเวียนพัวพันอยู่รอบๆ สิ่งที่ตัวสงสัยไม่เข้าใจนั้น ก็คือโมหะ อาการของราคะโทสะโมหะ จึงเป็นอาการของ "อัตตา" อยู่ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อพระโสดาบันไม่อยู่ในฐานะที่จะละกิเลสได้โดยสิ้นเชิง ซึ่งหมายถึงการลุถึงนิพพานโดยสมบูรณ์ พระโสดาบันจึงละได้แต่เพียง ในลักษณะของผู้ที่กำลังเดินอยู่ในหนทางอันถูกต้อง และจะลุถึงนิพพานโดยแน่นอน และในระยะกาลอันใกล้เท่านั้นเอง
สังโยชน์ทั้ง ๓ ประการนี้มีอยู่อย่างหนาแน่นในปุถุชน (ซึ่งแปลว่า "คนหนา") คนชนิดนี้จึงไม่อาจจะเข้าใจพระอริยเจ้า พระอริยเจ้าก็ไม่พอใจความเป็นอยู่ของคนชนิดนี้ เพราะท่านมีความหนาลดน้อยลงจนมองเห็นสิ่งต่างๆ ถูกต้องตามที่เป็นจริง แล้วก็ไปดำรงตนอยู่ในสภาพที่กล่าวได้ว่าพ้นอันตราย พ้นจากการเสียหาย เช่นไม่ตกอบายโดยแน่นอน เส้นขีดแบ่งปันกันระหว่างคน ๒ พวกนี้ก็คือ การละสังโยชน์ ๓ ประการ และเมื่อละสังโยชน์ ๓ ประการนั้นได้แล้ว จึงเรียกว่า เดินอยู่ในทางหรือถึงแล้วซึ่งกระแสของนิพพาน และได้นามใหม่ว่า อริยชน ซึ่งตามตัวพยัญชนะแปลว่า ผู้ไปแล้วจากข้าศึกคือกิเลส (อริ=ข้าศึก + ยะ n= ไป) พระโสดาบันยังได้นามว่า "จักขุมา" คือผู้มีดวงตาเป็นธรรม เมื่อพระโสดาบันได้นามว่าเป็นผู้มีตาเป็นพวกแรกดังนี้แล้ว พระอริยเจ้าในอันดับที่สูงขึ้นไปก็ต้องเป็นผู้มีตาเห็นธรรมมากขึ้นโดยแน่นอน และสิ่งที่ทำให้ตาบอดหรือมีอาการเหมือนกับไม่มีตานั้น ก็คือสิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา-ของเรา"
คัดจาก หนังสือ ตัวกู-ของกู พุทธทาสภิกขุ ฉบับย่อ (๘๐บาท), ย่อโดย คุณปุ่น จงประเสริฐ
(เรียบเรียงจาก คำบรรยายเรื่อง ตัวกู-ของกู (ฉบับสมบูรณ์) ของท่านพุทธทาส)
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)