เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

ลิ้มรสสิ่งที่อยู่ในใจ : เรื่องเล่าจาก พระอาจารย์ปสันโนภิกขุ


ลิ้มรสสิ่งที่อยู่ในใจ : เรื่องเล่าจาก พระอาจารย์ปสันโนภิกขุ

"มรณานุสติ" ของนักโทษประหารคนไทยในสหรัฐฯ

ลิ้มรสสิ่งที่อยู่ในใจ เป็นหนังสือสนทนาธรรมของ ท่านปสันโนภิกขุ

เล่าเรื่องที่ ท่านปสันโน ได้ไปสนธนาธรรมกับนักโทษที่รอการประหาร ซึ่งได้ถูกเลื่อนการประหารมาแล้วครั้งหนึ่ง ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

นักโทษเป็นคนไทยแต่ท่านปสันโนเป็นฝรั่งที่บวชในศาสนาพุทธ จากการที่เลื่อนหมายกำหนดการประหารทำให้ผู้คุมและทนายความเห็นใจ

นักโทษที่ชื่อ เจ เพราะก่อนหมายกำหนดการประหาร มีผู้สอนศาสนาคริสเตียนเข้ามาสนทนาธรรม แต่ทางเจ ซึ่งเคยบวชเรียนในเมืองไทยก็ทำใจไม่ได้ และอยากจะได้ผู้นำทางศาสนาพุทธ มานำทางก่อนจะถูกประหาร

และการสนทนาธรรมของทั้งคู่ก็สามารถให้เราเรียนรู้ศาสนาพุทธในเรื่องการ "ตายก่อนตาย" ด้วยเรื่องเล่าที่ลึกซึ้ง ได้ลิ้มรสธรรมะด้วยภาษาง่ายๆ

คำอนุโมทนา

ในการเกิดมาและมีชีวิต เป็นเรื่องธรรมดาที่พวกเราหมู่มนุษย์ จะมีความหวั่นไหว หวาดกลัวต่อความตาย หาได้ยากนักที่ใครสักคนจะเดินเข้าไปสู่ความตายด้วยจิตใจที่ตั้งมั่น เหตุการณ์ในชีวิตของบุรุษผู้หนึ่ง ได้เปลี่ยนหายนะให้เป็นโอกาสเข้าสู่ทางที่มั่นคง จนเห็นว่าน่าจะเป็นตัวอย่างแก่คนอื่นๆได้ หนังสือเล่มนี้เกิดจากความสนใจของหลายๆคน ที่ได้ยินอาตมาเล่าถึงประสบการณ์เกี่ยวกับคนไทยชื่อ จาตุรันต์ ศิริพงษ์ (เจ) ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในเรือนจำ ซาน เควนติน เมื่อ พ.ศ. 2542 ถึงแม้ว่าเขาต้องใช้เวลา 16 ปีสุดท้ายของชีวิตอยู่ในเรือนจำก็จริง แต่เขาก็สามารถพลิกตัวเองให้เป็นคนที่มีที่พึ่งที่แท้จริงได้ ขออนุโมทนากับทุกๆคน ที่มีส่วนร่วมในการจัดพิมพ์เล่มนี้ ขอให้ธรรมะจงนำพาแสงสว่าง ให้เกิดมีขึ้นในดวงตาแห่งปัญญาของทุกท่านทุกคน

ปสนฺโน ภิกขุ

----------------------

(บทเกริ่นนำ) ลิ้มรสสิ่งที่อยู่ในใจ

จาตุรันต์ (เจ) ศิริพงษ์ ถูกจับที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2526 ด้วยข้อหาปล้นร้านการ์เด็น โกรฟ มาร์เก็ต (Garden Grove Market) และฆ่าเจ้าของร้าน และผู้ช่วย เจย์รับสารภาพว่าร่วมในการปล้น แต่ไม่ได้ฆ่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาไม่ยอมซัดทอดผู้อื่น ศาลจึงพิพากษาและตัดสินประหารชีวิตเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ได้มีการอุทธรณ์ แต่ในที่สุดก็กำหนดประหารในวันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542


ก่อนถึงวันประหาร 6 วน เคนดัล โก๊ะ (Kendall Goh) เพื่อนซึ่งเป็นทนายความของเจย์ ได้ติดต่อขอความอนุเคราะห์ไปยังวัดป่าอภัยคีรี เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อให้เจย์มีโอกาสได้พบชาวพุทธที่สามารถจะเป็นที่พึ่งทางใจแก่เขาได้ สองวันต่อมา ท่านอาจารย์ปสนฺโน เจ้าอาวาสร่วมของวัดป่าอภัยคีรี ก็ได้เข้าเยี่ยมและอบรมกรรมฐานแก่เจย์ในเรือนจำซาน เควนติน (San Quentin Prison) นับว่าเป็นสามวันสุดท้ายที่พิเศษสุดในชีวิตของเจย์ ก่อนที่จะถูกประหารด้วยการฉีดยาพิษในวันที่ 9กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542

เมื่อครั้งยังอยู่ในบ้านเกิดเมืองนอน ช่วงหนึ่งที่ได้บวชเรียนตามประเพณีไทย เจได้ฝึกสมาธิภาวนาด้วย เมื่อถูกคุมขังรอการประหารในอเมริกา เขาได้รื้อฟื้นประสบการณ์นั้นขึ้นมา ปฏิบัติอีกอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ หลายคนเล่าว่า เจเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการพัฒนาจิตระหว่างปฏิบัติอยู่ในเรือนจำ ผู้คุมและเพื่อนนักโทษได้เห็ฯว่า เจใช้ชีวิตในเรือนจำซาน เควนติน อย่างสงบ หลายคนสนับสนุนการขอลดหย่อนผ่อนโทษประหารให้เจย์ และบางคนก็แสดงออกอย่างเปิดเผย รวมทั้งแดเนียล บี.วาสเควช (Daniel B. Vasquez) อดีตผู้คุมของซาน เควนติน ด้วย

เรื่องราวเกี่ยวกับเจย์ต่อไปนี้ เป็นการถอดความและเรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ที่แคธรีน กูตา ( Kathryn Guta) และเดนนิส ครีน (Dennis Crean) ได้สัมภาษณ์ท่านอาจารย์ปสนฺโน เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2542 และจากการบรรยายธรรมในหัวข้อ "เล่าเรื่องเจ" ที่แสดง ณ วัดป่านานาชาติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542

--------------------

ท่านอาจารย์ได้รับนิมนต์เข้าไปเป็นที่พึ่งทางใจให้เจได้อย่างไรครับ

ครั้งแรกที่เจจะถูกประหาร เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑ นั้น ผู้ที่ทำหน้าที่นี้ เป็นผู้นำทางศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นสุภาพสตรีที่ได้เคยช่วยเหลือนักโทษประหารอื่นๆ ในเรือนจำ ซาน เควนติน มาแล้วหลายคน เจก็รู้จักกับท่านมาหลายปี และสนิทสนมกับท่าน แต่เมื่อถึงคราวของตัวเอง เจพบว่า แทนที่จะช่วยให้เจสงบ กลับทำให้เขารู้สึกวิตกกังวลยิ่งขึ้น เจเองรู้อยู่ว่าควรจะเตรียมตายอย่างไรในเดือนพฤศจิกายนนั้น แต่ก็ไม่เป็นไปตามแผน ในนาทีสุดท้าย ศาลได้ตัดสินเลื่อนการประหารออกไปอีกสามเดือน ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีของเจอย่างยิ่ง เขาอยากตายอย่างสงบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เจเองรู้ตัวว่าจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไร พอมาถึงครั้งที่สอง เจจึงตัดสินใจที่จะเผชิญกับความตายตามลำพัง เพื่อให้เวลาตัวเองได้ทำจิตสงบในช่วงสุดท้าย คุณเคนดัล โก๊ะ เป็นห่วงว่าเจจะขาดที่พึ่งทางใจ จึงรับอาสาจะหาที่ปรึกษาใหม่ที่เป็นชาวพุทธให้ แต่การขอเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ไม่ใช่ง่าย มีอุปสรรคมากมายหลายด้าน ทั้งในและนอกเรือนจำ เจจึงต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะสิ่งที่เขาต้องการที่สุดในเวลานั้น คือการอยู่อย่างสงบ อย่างไรก็ตามเมื่อเจได้ติดต่อกับอาตมาทางโทรศัพท์ อาตมาก็ถามว่า “จิตใจเป็นยังไง พร้อมหรือเปล่า”เขาก็ตอบว่า “พร้อมครับ ผมเตรียมตัวมาตั้งนานแล้ว ยอมรับว่าจะถูกประหาร ไม่รู้สึกกลัว ไม่หวั่นไหว แต่ยังมีข้อสงสัยบางอย่างที่อยากจะขอศึกษาจากท่านอาจารย์”เจบอกว่าไม่เสียดายหากจะถูกประหาร เพราะการอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น บีบบังคับให้เขาแสวงหาสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ที่สุดต่อชีวิต เขาไม่แน่ใจว่าถ้าหากอยู่ธรรมดาๆ จะมีความเข้าใจขนาดนี้หรือไม่


เจเล่าให้ฟังว่า หลังจากถูกตัดสินประหารแล้ว ๖-๗ ปี เขาอยู่ในเรือนจำ ก็เกิดความรู้สึกว่า เขาจะต้องรีบตัดสินใจว่า จะอยู่อย่างคนที่ผูกโกรธ มีความอาฆาตเศร้าหมอง มีอกุศลธรรมทั้งหลายครอบงำจิตใจ หรือเขาจะพัฒนาจิต ให้เป็นจิตใจที่ดี จิตใจที่มีธรรมะ จิตใจที่สงบ ตอนนั้นเขาไม่รู้ว่าจะอยู่ได้อีกนานเท่าไร ไม่รู้ว่าจะถูกเรียกไปประหารเมื่อไร เขาเลยเกิดความตั้งใจว่า อย่างไรเสียจะต้องพยายามละสิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง และพยายามพัฒนาส่วนที่ดีในจิตใจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สำหรับเวลาที่ยังเหลืออยู่ แล้วเขาก็ได้พยายาม ได้หาหนังสือทั้งภาษาไทย ละภาษาอังกฤษมาศึกษาพุทธศาสนา เลยเป็นโอกาสให้ได้ฝึกภาษาอังกฤษด้วย เพราะในคุกไม่มีคนพูดภาษาไทย ตัวเขาเองตอนติดคุกภาษาอังกฤษก็ยังไม่ดี เนื่องจากไปอมริกาได้ไม่กี่เดือนก็เกิดคดี และตอนนั้นญาติพี่น้องในอเมริกาก็ไม่มีสักคน เขาเลยฝึกภาษาอังกฤษจนกระทั่งเขียนอธิบายปรัชญาในศาสนาพุทธได้อย่างละเอียด เขียนกลอนก็ได้ เป็นคนมีศิลปะในชีวิต แล้วก็ฝึกวาดรูปในเรือนจำจนเก่ง มีความสามารถในงานศิลปะ และเป็นคนที่ตั้งใจนำสันติสุขให้เกิดขึ้น ในที่ซึ่งเป็นที่รวมของผีของเปรตอย่างในคุก เพราะนักโทษส่วนใหญ่ก็แย่มากๆ เจ้าหน้าที่ก็พอๆ กัน เลยต้องทำให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับ วันแรกที่อาตมาไปเรือนจำ ทนายความก็ไปรับ อาตมาถาว่าเจเป็นยังไง ทนายก็บอกว่า เจน่ะเขาสบายแต่พวกเราซีแย่

ท่านอาจารย์รู้สึกอย่างไรที่ได้ช่วยเป็นที่พึ่งทางใจ แก่นักโทษประหาร

ตอนแรกอาตมาก็รู้สึกยินดี แต่พอมาคิดได้ว่า เอ... นี่เรากำลังจะเข้าไปแดนนรกนะ อาตมาก็ชักรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจขึ้นมานิดหน่อย ระบบรักษาความปลอดภัยของเรือนจำก็เข้มงวดกวดขันมาก กว่าจะผ่านเข้าไปถึงต้องผ่านประตูเหล็กหลายต่อหลายชั้น ผ่านเครื่องตรวจหาอาวุธสองครั้ง แล้วก็ยังมีผู้คุมมาตรวจอีกหลายคณะ ตรวจแล้วก็ประทับตราที่มือของอาตมา แล้วก็ต้องไปผ่านประตูเหล็ก และผู้คุมอีก หลายชั้นหลายขั้นตอนทีเดียว แต่มีสัญญาณบางอย่างที่แสดงให้เห็นความแตกต่าง อาตมาได้ยินผู้คุมทักทายเด็กบางคนอย่างสนิทสนมเหมือนรู้จักกันดี เขาให้เวลาเยี่ยมตอนเช้าถึงบ่ายสองโมง หลังจากนั้นแล้วแขกต้องกลับหมด เมื่ออาตมาเห็นเจ เขาไม่เหมือนคนใกล้ตายคนอื่นๆ ที่อาตมาเคยพบ เจยังหนุ่ม แข็งแรง และดูมีสุขภาพจิตดี เขาเป็นคนฉลาดหลักแหลม ประณีต ไม่น่าสงสัยเลยว่า เขาได้ใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายอย่างมีคุณค่า แม้จะถูกล่ามโซ่ที่เอว เจก็ยังดูภาคภูมิเป็นตัวของตัวเอง มารยาทงาม และต้อนรับผู้มาเยือนอย่างอบอุ่น ทุกอย่างดูเป็นปกติ ไม่มีอะไรส่อเค้าเลยว่า เที่ยงคืนของวันมะรืนผู้ชายคนนี้จะถูกประหาร เขาจะต้องตาย

ท่านอาจารย์ได้พูดกับเจเกี่ยวกับทางเลือกที่ผิดของเขาบ้างหรือเปล่าครับ เกี่ยวกับอาชญากรรมของเขา

เปล่า อาตมาไม่ได้เอ่ยถึงอดีตของเจเลย เราไม่มีเวลาพอด้วย อาตมามุ่งไปที่การช่วยให้เขามีสุขภาพจิตที่ดี พอที่จะเผชิญกับความตายได้อย่างสงบมากกว่า เพราะอาตมาไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเจในฐานะที่เขาฆ่าคนตาย แต่ในฐานะคนที่กำลังเผชิญกับความตาย

บรรยากาศในวันนั้นเครียดไหมครับ

ไม่นะ ไม่เครียด ไม่ซึมเศร้า ค่อนข้างผ่อนคลายทีเดียว บางครั้งเราก็ถกกันเรื่องที่สุขุมลุ่มลึกเกี่ยวกับธรรมชาติของจิต แต่บางทีเราก็มีเรื่องเบาๆ ให้ได้หัวเราะกันบ้าง เจทำหน้าที่เจ้าของบ้านได้อย่างวิเศษ โดยเฉพาะในวันแรก แม้ในสภาพอย่างนั้น เขาก็ยังได้จัดการต้อนรับพระด้วยความเคารพ และกำชับเพื่อน ๆ ให้ปฏิบัติต่อพระอย่างถูกต้องตามธรรมเนียม เจเตรียมอาหารไว้ถวายด้วย และบอกว่ารู้สึกเป็นสุขที่ได้มีโอกาสถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุ เป็นครั้งแรกในรอบยี่สิบปี นอกจากนี้ยังคอยสนับสนุนให้เพื่อนๆ ได้ซักถามข้อสงสัย ซึ่งอาตมาก็เทศน์ให้ฟังเกี่ยวกับความเชื่อในศาสนาพุทธ การเข้าถึงธรรมะโดยการเปรียบเทียบกับบัวสี่เหล่า นอกจากนี้ก็ได้อธิบายความหมายของคำว่า “ไตรสรณาคมน์” คือการถือเอาพระพุทธเป็นที่พึ่งในฐานะผู้รู้แจ้ง พระธรรมในฐานะที่เป็นสัจธรรม และพระสงฆ์ในฐานะพระสุปฏิปันโน ดูเจรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นผู้ให้โอกาสแก่เพื่อนๆ ได้ศึกษาพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม อาตมาได้กำชับเจให้พยายามประคับประคองจิตของตัวเอง ไม่ให้หวั่นไหวไปกับความว้าวุ่นของคนรอบข้าง เพราะวันประหารใกล้เข้ามาแล้ว เจเองก็คอยหลีกความฟุ้งซ่าน ที่เกิดจากความพยายามช่วยเหลือของคนรอบข้าง เขาตระหนักดีว่า จะต้องรับผิดชอบต่อความตั้งมั่นของตนเอง เจจึงให้เวลากับเพื่อน ๆ อย่างเต็มที่ตลอดชั่วโมงเยี่ยม แต่นอกนั้นแล้ว เขาทำสมาธิวันละหลายชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนประมาณสองหรือสามนาฬิกา นอกจากไตรยาพี่สาวของเจแล้ว ยังมีหมู่เพื่อนที่ประทบใจในตัวเจมาเยี่ยมมากมาย โดยเฉพาะเมื่อใกล้วันประหาร หลายคนเป็นทนายความ หลายคนเป็นชาวคริสต์ บางคนก็เลื่อมใสในปฏิปทาของเจ และยึดถือเป็นแบบอย่างในการพัฒนาจิต ต่างคนต่างมีจุดมุ่งหมาย และเจซึ่งมีนิสัยโอบอ้อมอารีอยู่แล้ว ก็พยายามสนองตอบทุกคนอย่างเช่นทนายความที่ติดต่อกับอาตมา ก็เพิ่งจะเริ่มศึกษาธรรมะและหัดนั่งสมาธิ กำลังอยู่ในระหว่างแสวงหาครูบาอาจารย์ ก็ได้อาศัยเจเป็นผู้แนะนำเช่นเดียวกัน

ส่วนหนึ่งที่แสดงว่าเจได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจก็คือ ปกติเมื่อรับแขกในห้องอย่างนั้นจะต้องมีเจ้าหน้าที่สี่คน ยืนเฝ้าอยู่ทุกมุมตลอดเวลา ตัวนักโทษเองนั่งเก้าอี้พิเศษ มีโซ่ล่ามที่เอว และมีโซ่จากเอวมาที่แขนทำให้ยกแขนได้ไม่มาก แล้วก็ต้องมีโซ่ล่ามติดเก้าอี้ด้วย แต่วันนั้นเป็นกรณีพิเศษ ไม่มีโซ่ล่ามเก้าอี้ เจ้าหน้าที่ก็มีคนเดียวยืนฟังเทศน์ด้วย บรรยากาศร่าเริงพอสมควรไม่เครียด

ช่วงสุดท้ายที่ท่านอาจารย์ได้อยู่กับเจ บรรยากาศเป็นอย่างไรบ้างครับ

ในวันแรก หลังจากบ่ายสองโมงแล้ว อาตมามีโอกาสได้พบโยมผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นชาวคริสต์ซึ่งเคยเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ประหารมาแล้ว ๖-๗ ครั้ง ในฐานะผู้นำทางศาสนา ได้คุยกันอยู่นาน เขาเล่าให้ฟังว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง หลังจากหกโมงไปแล้วจนถึงเวลาประหาร เมื่อเรารู้ตัวล่วงหน้าจะได้ไม่ตกใจ ไม่เสียสมาธิเขาบอกว่า จะมีพวกเจ้าหน้าที่หกคนควบคุมเราตลอดเวลา พวกนี้เป็นทีมเพชฌฆาต ซึ่งสมัครใจมาทำหน้าที่นี้ด้วยตัวเอง คงตื่นเต้น และมีความสุขในการประหาร เขาบอกว่า พวกนี้อาจจะรังแกเราด้วยวิธีการต่างๆ อาจเบียดเบียนทั้งกายและวาจา พูดจาหยาบคาย เขาจะมาพาเราไปตั้งแต่หกโมง และเวลาประหารเป็นหกทุ่ม ซึ่งเหลือเวลาน้อยเต็มที เราควรจะได้อยู่กับนักโทษให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เขาก็จะทำให้เราเสียเวลาในระหว่างพาไป โดยทำทุกอย่างให้เป็นเรื่องยืดยาว ระหว่างอยู่ในห้องรอประหาร เขาก็จะคุยกันเสียงดัง บางทีก็เปิดโทรทัศน์รบกวน ไม่เป็นมิตรกับนักโทษเลย ในวันที่กำหนดจะประหารเจครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนนั้น เจได้รับอนุญาตให้ถือลูกประคำเข้าในห้องประหารได้ แต่ก่อนที่จะส่งถึงมือเจ ผู้คุมก็โยนลงบนพื้น แล้วก็เหยียบเสียทีหนึ่งเมื่ออาตมาได้ข้อมูลมาอย่างนี้ ก็มาคิดวางแผนว่าจะทำอย่างไรดี หากเจอเหตุการณ์อย่างที่เขาเล่า


วันสุดท้ายคืนวันจันทร์ เยี่ยมได้เฉพาะทนายความ ญาติ และผู้นำทางศาสนาซึ่งทำหน้าที่เป็นที่พึ่งทางใจให้แก่นักโทษ วันนั้นอาตมาอยู่ตลอดวัน ก่อนเวลาประหารหกชั่วโมง นักโทษจะต้องลาครอบครัวและเพื่อนๆ ไปสู่ห้องขังพิเศษ ซึ่งอยู่ติดกับห้องประหาร เฉพาะผู้นำทางศาสนาเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ติดตามไป เมื่อเขามาคุมตัวเราจากห้องรับแขกไปยังห้องรอประหาร อาตมาก็เริ่มต้นทักทายหัวหน้าผู้คุม ถามทุกข์สุข ถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ คุยไปเรื่อย เขาก็ตรวจร่างกาย ตรวจเสื้อผ้า ต้องเอาผ้าออกหมดทุกชิ้น ไม่ให้มีอะไรซ่อนไว้ได้เลย แต่เขาก็อำนวยความสะดวก ไม่ให้เสียเวลามาก ส่วนเจก็มีผู้คุมมาพาไปอีกทางหนึ่ง แล้วเขาก็พาไปขังไว้คนละห้อง ห้องที่ขังเจยาวไปอีกทางหนึ่ง ส่วนห้องที่ขังอาตมาก็ยาวไปอีกทางหนึ่ง แต่ก็มีมุมหนึ่งที่เราคุยกันได้พอเราเข้าไปในห้องขังแล้ว หัวหน้าผู้คุมก็มาอบรมเรา ว่าจะต้องอยู่ในระเบียบอย่างไร โยมผู้หญิงที่เป็นผู้นำทางศาสนาคนนั้น ได้เตือนไว้แล้วว่า ถ้าเจอหัวหน้าผู้คุมตัวสูง มีเครา ลักษณะอย่างนี้ๆ ให้ระวัง เพราะนั่นน่ะตัวร้าย ดุ อย่าทำให้เขารังเกียจ อาตมาก็เจอจริง ๆ เพราะฉะนั้น เวลาเขาพูดอะไร เราก็...ครับ ครับ เขาอบรมอะไร ก็...ครับ ครับ อาตมาได้ตกลงกับเจไว้แล้วว่า พอถึงเวลาที่สมควร ก็ให้เจขอพระไตรสรณาคมน์ ขอรับศีลเป็นภาษาบาลี เป็นเบื้องต้น ก็เป็นช่องที่จะได้อบรมเขาว่า สรณะที่พึ่งคืออะไร พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คืออะไร ศีลคืออะไร แล้วก็เทศน์สั้นๆ กัณฑ์หนึ่ง อบรมให้ความรู้เจ ไม่ใช่เพื่อเจคนเดียว แต่เพื่อผู้คุมด้วย เมื่อเจขอไตรสรณาคมน์ ขอศีลเสร็จแล้ว ก็ให้อาราธนาพระปริตร แต่เจหลง เขาขึ้น ..พรหม จะ โลกา คืออาราธนาเทศน์ เราเลได้โอกาสแสดงธรรมต่อ เพื่อเป็นการดึงจิตใจเจ้าหน้าที่ไปในตัว แล้วเจก็อาราธนาพระปริต สวดมงคลชยคาถา บางบทที่มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ เราก็สวดเป็นภาษาอังกฤษด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าใจว่าเราสวดอะไร พอสวดเสร็จ หัวหน้าผู้คุมที่ว่าดุนั่น ก็เข้ามามาพูดอย่างเอ็นดูว่า “ช่วงที่ท่านสวดมนต์อยู่ ทนายของเจโทรศัพท์มาสองครั้ง ผมไม่ได้บอก เพราะอยากให้ท่านสวดให้เสร็จ ตอนนี้จะผมโทร.กลับให้ไหมครับ” อาตมาก็เลยให้เบอร์โทรศัพท์เขาไป เพราะทนายก็อยู่อีกอาคารหนึ่งในเรือนจำ สักประเดี๋ยวก็มาถามอีก“ท่านสวดมนต์นาน คงจะคอแห้ง ต้องการน้ำไหมครับ หรือจะเอาน้ำส้ม”อาตมาบอกว่า “ไม่เอาดีกว่า เพราะมีคนอธิบายให้ฟังว่า ถ้าจะเข้าห้องน้ำต้องมีคนพาไป แล้วห้องน้ำก็อยู่ไกลด้วย ขากลับก็ต้องถูกเจ้าหน้าที่ตรวจ เปลือยกายอีก ยุ่งยาก ไม่เอาดีกว่า” เขาก็บอกว่า“ที่จริงห้องน้ำใกล้ ๆ ก็มี จะให้ใช้ก็ได้” อาตมาก็เลยเอาน้ำส้ม


ตลอดคืนเขาก็อยู่ แต่ไม่ได้รังแก หรือรบกวนอะไรเลย ถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งทำเสียงดัง ก็มีเจ้าหน้าที่ตักเตือนกันเอง เวลาสั่งงาน เขาก็เขียนใส่กระดาษ ส่งกันต่อ ๆ เพื่อจะได้ไม่มี่เสียงรบกวนเรา คืนนั้นอาตมากับเจ ก็เลยมีโอกาสได้อยู่ด้วยกันเต็มที่ เราก็นั่งสมาธิ สนทนาธรรม และสวดมนต์โดยเฉพาะการแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศล

ตลอดเวลานับตั้งแต่อาตมาได้พบเจ จนกระทั่งถึงวันประหารเป็นเวลาสามวันนี้ อาตมาก็ได้ตอบข้อสงสัย ข้อข้องใจของเจ โดนเฉพาะเรื่องอนัตตา เรื่องขันธ์ ๕ และการปล่อยวาง ว่าจะทำอย่างไร การสังเกตในตัวเองว่า ละได้จริง ๆ อย่างไร เรื่องทำสมาธิเขาเก่ง สมาธิดี เพราะเขาฝึกอยู่ในเรือนจำนาน เวลากลางคืนที่คนอื่นนอน เขาก็นั่งสมาธิ กลางวันตื่นสาย เพราะตอนกลางวันในเรือนจำมีเสียงรบกวนมากสำหรับในคืนสุดท้าย อาตมาก็ได้ไขข้อข้องใจต่าง ๆ บางอย่าง และฝึกเขาในการทำจิตให้มั่นคง พร้อมที่จะรับความตายโดยไม่หวั่นไหว ฝึกให้เขาเปลี่ยนกรรมฐาน คือปกติเขาทำสมาธิโดยวิธีอาณาปานสติ กำหนดลมหายใจ แต่เมื่อยาที่ใช้ในการประหารออกฤทธิ์ ทำให้หัวใจหยุด ลมหายใจก็หยุด ถ้าเอาลมหายใจเป็นอารมณ์ และลมหายใจหยุดชะงักขณะเขากำลังกำหนดอยู่ การตั้งสติก็จะไม่มั่นคงเท่าที่ควร แล้วเจเคยฝึกสมาธิมา ตอนก่อนบวชที่เมืองไทย เมื่อมานั่งสมาธิที่วัด เขาได้เห็นนิมิตแสงสว่างครั้งหนึ่ง แต่เมื่อเขาพยายามนั่งจะให้เห็นอีกก็ไม่สำเร็จ แต่เมื่อเจบอกว่า สามสัปดาห์ก่อนเขาได้เห็นแสงสว่างอีก ก็ทำให้อาตมาใจชื้นขึ้นเป็นอันมาก และเนื่องจากเจเป็นจิตรกร อาตมาก็เลยได้ความคิดว่า เขาน่าจะกำหนดภาพแสงสว่างเป็นอารมณ์กรรมฐาน อาตมาเลยให้เขาใช้นิมิตแสงสว่างแทน ซึ่งเขาก็ทำได้ ตอนแรกอาตมาก็แนะนำท่านั่ง คืนนั้นก็แนะนำน้อยลง ให้เขาทำเองมากขึ้น ช่วงสุดท้ายเขาบอกว่า จิตเป็นสมาธิได้เร็ว อาตมาพยายามอธิบายการตั้งจิต เมื่อลมหายใจหมด จิตกำลังจะดับ ทั้งหมดนี้ก็เป็นส่วนที่เจ้าหน้าที่ต้องนั่งฟังอยู่ด้วย เพราะหนีไปไหนไม่ได้ เขาเลยพลอยได้ความรู้มากเหมือนกัน

ตลอดคืนเราก็ได้ยินเสียงเตรียมการในห้องประหารซึ่งอยู่ติดๆ กัน ผู้ว่าการเรือนจำ และจิตแพทย์ก็ต้องเข้ามาตรวจ เพราะถ้าเจบ้า เสียสติ เขาก็ประหารไม่ได้ และเขาก็ต้องตรวจอาตมา ถ้ามียาพิษให้เจกินตายไปก่อน เขาจะเสียดาย

ในคืนนั้นท่านอาจารย์เทศน์เรื่องอะไรครับ

อาตมาเล่าประวัติพระพุทธเจ้า หลังจากตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ๆ ไม่ทรงปรารถนาจะโปรดสัตว์ เพราะทรงเห็นว่า ธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นของลึกซึ้ง ยากที่คนจะเข้าใจปฏิบัติตามได้ จากนั้นก็พูดถึงโมหะกิเลส ซึ่งเป็นธรรมดาของสัตว์โลก และธรรมะเพื่อการหลุดพ้น แล้วก็พูดถึงอริยสัจ ๔ และอธิบายความหมายของการปล่อยวาง ซึ่งไม่ใช่การปล่อยทิ้ง คือเจจะต้องตั้งสติจดจ่ออยู่กับการกำหนดรู้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าอารมณ์อะไรจะเกิดขึ้น ก็เพียงแต่กำหนดรู้ แล้วก็ปล่อยวาง อย่าปล่อยจิตให้เลื่อนไหลไปกับอารมณ์ เพราะนั่นหมายถึงการเกิด แล้วก็ทุกข์เราได้พูดถึงการปล่อยวาง ในความหมายที่เชื่อมโยงถึงการ “การให้อภัย” และ “อนัตตา”ถ้าเราไม่ให้อภัย คือเรายังยึดทุกข์ไว้ เราก็จะสร้างตัวตนขึ้นบนความทุกข์เรื่อยไป ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อเกิดมีตัวตนขึ้นเมื่อไร ทุกข์ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น มันเกี่ยวพันกันอยู่อย่างนี้ แล้วอาตมาได้ถามเจว่า “ยังมีใครอีกบ้างไหมที่เจยังไม่ได้ให้อภัย”เจนิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง ในที่สุดก็ตอบค่อยๆ ว่า “ผมยังไม่สามารถให้อภัยตัวเองได้หมดใจครับ” คำตอบของเจกินใจอาตมาจนทำให้เกิดความรู้สึกตื้นตัน เจยังฝังใจจำที่ตัวเองได้พลาดพลั้งไปในอดีต อาตมาจึงได้ชี้แจงให้เห็นธรรมชาติของการเกิดดับ เจจะต้องทำความเข้าใจ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต มันได้ดับไปแล้ว ที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นคนละคนกับคนในอดีต เจจะต้องปล่อยวางเหตุการณ์ในอดีต รวมทั้งคนที่เคยประกอบกรรมในอดีตนั้นเสียด้วย น่าสังเกตว่า บรรดาผู้คุมก็สนใจฟังเทศน์ของอาตมาเหมือนกัน และตลอดคืนนั้นพวกเขาก็ดูให้ความเคารพ และเกรงใจเราทั้งคู่มากขึ้น

เจมีอาการอย่างไรบ้างครับ เมื่อวันใกล้การประหาร

ตอนหนึ่งเขาถามอาตมาว่า “ถ้าผมไม่ใช่รูป ไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่จิต แล้วอะไรล่ะครับที่จะหลุดพ้น” อาตมาตอบว่า “นี่ก็ไม่ใช่อะไรอื่น เป็นเพียงคำถามที่เกิดจากความสงสัยเท่านั้นเอง เมื่อได้ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปเรียกว่าอะไร”และอีกครั้งหนึ่ง เจบอกอาตมาว่า“ตอนนี้ผมมีคนสองคนอยู่ในใจผม คือท่านอาจารย์กับตัวผมเอง”อาตมาตอบว่า “เจต้องปล่อยวางอาตมาเสีย เพราะอาตมาจะไม่เข้าไปข้างในกับเจ และก็ต้องปล่อยวางตัวเองด้วย” แล้วเราก็หัวเราะกันจริงๆ แล้ว อาตมาได้พยายามช่วยเจในการเตรียมตัวเผชิญกับสิ่งต่างๆ ซึ่งอาจรบกวนความสงบของเขามากกว่า “พวกเขาจะมัดเจติดกับเตียง” อาตมาเตือน “และคงทำอะไรวุ่นวายหลายอย่างรอบตัวเจ เพราะฉะนั้นเจต้องกำหนดจิตจดจ่ออยู่ภายในเท่านั้น อย่าส่งจิตออกข้างนอก”

ตลอดคืนนั้นเราก็นั่งสมาธิบ้าง สวดมนต์บ้าง และสนทนาธรรมบ้าง เพราะฉะนั้น เจจึงสงบมาก และสามารถกำหนดจิตแน่วแน่กับอารมณ์กรรมฐาน ท้ายที่สุดเราได้จัดเวลาประกอบพิธีสวดมนต์ อุทิศส่วนกุศล และแผ่เมตตาแก่ทุกๆ คน รวมทั้งผู้คุม หลังจากรู้แน่ชัดว่าการอุทธรณ์ครั้งสุดท้ายคงไม่ได้ผล เจก็ขอร้องอาตมาให้แผ่เมตตาแก่คณะทนายความที่ร่วมในการทำคดีของเขาด้วย แม้ในวาระสุดท้ายของชีวิต เจก็ยังอุตส่าห์มีน้ำใจเผื่อแผ่ถึงผู้อื่น

เกือบหกทุ่ม เขาก็มาบอกว่า จะพาเจไปแล้ว พอเขาเรียก เจก็ลุกเดินออกไป ...เฉย ไม่หวั่นไหว ไม่ตกใจกลัว ตอนเดินผ่านห้องของอาตมา ก็ยกมือไหว้บอกว่า “ผมลาครับ”แล้วก็เข้าไปในห้องประหาร ตอนนั้นอาตมาก็ยังถูกขังอยู่ ก็ได้ยินเสียงการเตรียม รัดเจไว้กับเก้าอี้ ซึ่งอาตมาก็ได้เคยอธิบายให้เจฟัง และได้กำชับแล้ว ว่าอย่าได้ใส่ใจกับสิ่งอื่น ให้สนใจในการทำจิตให้สงบที่สุด หนักแน่นที่สุด สบายที่สุด พิจารณาการปล่อยวาง


หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็มาพาอาตมาออกไปนอกเรือนจำ ซึ่งต้องออกทางด้านหลัง เพราะด้านหน้ามีการประท้วง คนมาร่วมด้วย ๓๐๐ – ๔๐๐ คน ฝนตกหนักที่สุด ลมก็แรง เหมือนกับเทวดาไม่พอใจเลย หลายคนก็ไม่พอใจการประหาร เพราะได้ข่าวว่านักโทษเจสามารถปรับตัวได้ เป็นคนสงบ มีหลักการในการดำเนินชีวิตน่านับถือ คนเลยออกมาประท้วง ซึ่งที่จริง ทุกครั้งที่จะมีการประหาร ก็มีคนออกมาต่อต้าน ไม่เห็นด้วย เพราะรู้สึกว่าป่าเถื่อน ไม่สมควรกับประเทศที่เจริญ แต่ครั้งนี้มีคนออกมาประท้วงมากกว่าครั้งก่อนๆ และอากาศก็แย่กว่าทุกครั้ง ตอนเช้าดูหนังสือพิมพ์ เขารายงานข่าวว่า เจนอนนิ่งหลับตา รอรับการประารอย่างสงบ อาตมาก็รู้สึกภูมิใจ เพราะเชื่อว่าเจกำลังกำหนดจิต

มีพิธีศพไหมคะ

มีพิธีเผาศพอย่างเงียบๆ ในวันรุ่งขึ้น อาตมาได้ไปพบไตรยา พี่สาวของเจ ที่นั่นด้วย เขาเอาศพใส่ในกล่องกระดาษ ก่อนหน้านั้นไตรยาขอดูศพ แต่ไม่ได้รับอนุญาต อาตมาไม่ทราบเรื่องนี้ เลยไปขอให้ผู้อำนวยการเผาศพ เปิดฝากล่อง เธอลังเลอยู่นิดหน่อย แต่แล้วก็ยอมทำตาม ปรากฏว่าศพอยู่ในถุงพลาสติก “น่าจะมีซิปเปิดนะ” อาตมาบอก เธอมองหา และบอกว่าซิปอยู่ทางปลายเท้า แต่ก็ลังเลก่อนที่จะบอกว่า เจอาจไม่ได้ใส่เสื้อผ้า อาตมาบอกว่าน่าจะใช้กรรไกรตัดได้ เพราะเป็นเพียงถุงพลาสติก เธอก็เลยเปิดถุงตรงช่วงไหล่และศีรษะ ........

ศพของเจ เปรียบได้กับครูกรรมฐาน ซึ่งให้พลังบันดาลใจอย่างมาก ใบหน้าของเขาดูสงบผ่องใส และคล้ายมีรอยยิ้มจางๆ น่าเชื่อว่าเจได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบ หลังจากประมวลเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นดูแล้ว อาตมามั่นใจว่า เจไปดี

ท่านอาจารย์รู้สึกอย่างไรบ้างครับ หลังการประหาร อาตมารู้สึกเป็นบุญที่ได้อยู่กับเจ มันเป็นประสบการณ์ที่ช่วยลดอัตตาของเราลงได้มากทีเดียว อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเป็นพวกเรา เจอสภาพอย่างเดียวกันนี้บ้าง เราจะเป็นอย่างไร กับการที่จะได้สัมผัสความตายที่เป็นรูปธรรมจริงๆ โดยที่รู้เวลาแน่นอนด้วย ไม่ใช่แค่ว่าจะตายในวันใดวันหนึ่งในอนาคต แต่รู่แน่ว่า ๒๔.๐๑ นาฬิกาของวันนั้น เราจะต้องตาย ( ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒) ก่อนหน้านี้เจไม่ได้กังวล หรือหวังผลจากขบวนการยุติธรรม เขาไม่ได้ตั้งความหวังว่า การอุทธรณ์จะได้ผล และเมื่อผลปรากฏออกมาว่าไม่สำเร็จจริงๆ เขาก็ไม่ได้ถือเป็นเรื่องสลักสำคัญอะไร เจบอกอาตมาว่า “ผมยอมรับความจริงว่าผมจะต้องถูกประหาร”



หลังจากวันประหาร อาตมาก็ต้องพบทนายอีกสองคน และโยมผู้หญิงซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาคนนั้น เขาอยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ เพราะกฎหมายระบุว่า เฉพาะผู้นำทางศาสนาเท่านั้นที่จะเข้าไปกับนักโทษได้ แต่ตลอดเวลา ๖ – ๗ ปี ที่ผ่านมา เรื่องมันยังอยู่ระหว่างการต่อรองทางกฎหมายที่จะให้นักโทษเลือกที่พึ่งทางใจได้เอง แต่ถึงตอนนั้นก็ยังไม่เป็นสิทธ์ตามกฎหมายที่แท้จริง เมื่ออาตมาเล่าเหตุการณ์ทุกอย่างให้เขาฟัง เขาก็แปลกใจ ว่าราบรื่นจริง ๆ นึกไม่ถึงว่าจะดีอย่างนั้น เขาก็อนุโมทนา หลังจากการประหารผ่านมามาสองสามเดือน อาตมาก็ได้ข่าวจากคนที่มาวัด ซึ่งมีเพื่อนเป็นนักจิตวิทยาผู้ทำหน้าที่ช่วยเจ้าหน้าที่อยู่ในเรือนจำ ว่าหลังจากประหารเจแล้ว เจ้าหน้าที่หลายคนรู้สึกสะเทือนใจ ลำบาก และอึดอัดใจในการกลับไปปฏิบัติหน้าที่อีก ก็ดีที่ทำให้เขาสำนึกได้

ตอนอาตมาเข้าไปก็ไม่ได้ถามเจเกี่ยวกับคดี ว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะมุ่งแต่ให้เขาทำหน้าที่ของเขา คือทำจิตใจให้มั่นคง หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว อาตมากลับมาศึกษาคดี ศึกษากรณีต่างๆ แล้ว ก็รู้สึกว่า เจไม่ได้เป็นคนผิด แต่ตลอดเวลาที่อยู่ในคุก เขาไม่บอกว่าที่จริงคนฆ่าคือใคร นอกจากยอมรับเคราะห์แทน เมื่อเจขึ้นศาลตอนแรกนั้น เงินทุนที่จะต่อสู้คดีก็ไม่มี ภาษาอังกฤษก็ยังไม่ดี ทนายที่ศาลแต่งตั้งให้เจ ก็กำลังหาเสียงเลือกตั้ง เลยไม่สนใจคดี ไม่หาพยานให้เจด้วย ศาลก็ตัดสินอย่างรวดเร็ว ในฐานะที่เป็นคนไทย เมื่อถูกจับเข้าคุก ตามกฎหมายระหว่างประเทศ สถานทูตไทยควรมีส่วนช่วยเหลือ แต่เขาก็ไม่ได้แจ้งเรื่องให้สถานทูตทราบเลย จนกระทั่งหลังตัดสินประหารไปแล้ว ถึงแม้มีการอุทธรณ์ แต่ตามกฎหมาย ศาลก็จะพิจารณาเฉพาะข้อมูลที่มีในตอนตัดสินครั้งแรกเท่านั้น จะเอาข้อมูลใหม่เข้าไปไม่ได้ เจก็เลยเสร็จ ไม่มีประตูสู้ ฟังแล้วบางทีก็หดหู่นะ สลดใจ แต่เจเองเขาก็พูดอยู่เสมอว่า ไม่สมควรหดหู่ ไม่สมควรเศร้าใจ เราต้องเชื่อในหลักกรรม ถ้าไม่เป็นกรรมในชาตินี้ ก็ต้องเป็นกรรมในชาติก่อนตามมา ทางที่ดีคือยอมรับด้วยจิตใจผ่องใส ถ้าเราไปมีทุกข์ ทำใจไม่ดี เราก็ต้องเกิดมาพัวพันกับกรรมเก่านี้อีก ตอนนี้มีโอกาสที่จะทำให้มันหมดสิ้นไป เขาพูดได้อย่างนี้นะ ...

เจเป็นศิลปินมีฝีมืออย่างที่เขาว่าหรือเปล่าคะ

จริง อาตมาได้เห็นผลงานศิลปะที่เจรวบรวมไว้ เขาเป็นคนมีพรสวรรค์จริงๆ และเชี่ยวชาญในศิลปะหลายแขนง ผลงานส่วนใหญ่ ๖๐๐ ชิ้น เจได้แจกจ่ายแก่เพื่อนๆ และคนคุ้นเคยไปแล้ว เจอาศัยศิลปะเป็นสื่อในการแสดงออก เขามักใช้ภาพผีเสื้อเป็นสัญลักษณ์แทนพัฒนาการของตนเอง เจเล่าว่า มีอยู่ขณะหนึ่งเขาปลงตก คิดว่า อย่างไรเสีย ตัวเองก็คงจะต้องตายในคุกเป็นแน่แท้ เวลาก็เหลือน้อยเต็มทีแล้ว จะผูกโกรธอาฆาตตัวเอง และผู้อื่นอยู่อีกทำไม แปดปีสุดท้ายของชีวิต เป็นช่วงที่การปฏิบัติของเจ เริ่มปรากฏผลเป็นความเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพของเขาอย่างชัดเจน เจได้รู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ และได้เรียนรู้ว่า หากรู้จักปฏิบัติอย่างถูกวิธี การติดคุกก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสียทีเดียว เจยอมรับว่า ถ้าไม่ได้เผชิญความยากลำบากและความทุกข์แสนสาหัสอย่างที่ได้รับ ระหว่างต้องโทษในเรือนจำ เขาคงไม่อาจพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ถึงระดับนี้ เจรู้จักใช้ปัญญาในการใคร่ครวญพิจารณา ว่าอะไรเป็นเหตุแห่งความสว่างสงบของจิต ยิ่งใกล้วันประหาร เขาก็ยิ่งตระหนักชัด และให้ความเอาใจใส่ ระมัดระวังสิ่งที่จะขัดขวางความสงบ และความก้าวหน้าของจิต ระยะหลังเขาจึงมุ่งไปเอาจริงอาจังกับการฝึกจิต โดยใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญความเป็นจริงยิ่งขึ้น ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ

วัดป่าอภัยคีรี
มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

๏ นามเดิม
รีด แพรี่ (Reed perry)

๏ เกิด
เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ประเทศแคนาดา

๏ การศึกษา
ปริญญาตรี สาขาประวัติศาสตร์

๏ การอุปสมบท
พระอาจารย์มีความสนใจในพระพุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งเป็นนักศึกษา เมื่อจบการศึกษาแล้ว ท่านได้เดินทางไปหาประสบการณ์ชีวิตในหลายประเทศ จนกระทั่งปี ๒๕๑๖ ท่านได้เดินทางมายังประเทศไทย และเกิดความสนใจในการทำส

วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

เรื่องน่ารู้คู่ วันตรุษจีน


เรื่องน่ารู้คู่ วันตรุษจีน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


สำหรับตรุษจีนปีมังกรนี้ เราลองมาดูกันสิว่าอะไรที่เราควรทำและไม่ควรทำกันบ้าง เพื่อต้อนรับช่วงเทศกาลตรุษจีน

ดอกไม้ไฟ โคมลอย และคำโคลงประโยคคู่สีแดง เกี่ยวอะไรกับวันตรุษจีน

ในคืนก่อนวันตรุษจีน ชาวจีนจะนั่งดูทีวี กินอาหาร พูดคุยหยอกล้อกันภายในครอบครัว โดยมีตำนานเก่าแก่เล่ากันว่า สมัยก่อนมีปิศาจตนหนึ่งชื่อว่า "เหนียน" (หรือคำว่า "ปี" ในภาษาไทย) อาศัยอยู่บนภูเขาออกอาละวาด จับมนุษย์ วัว และควายเป็นอาหาร ผู้คนจึงพยายามหาวิธีกำจัดเจ้าปิศาจจึงพบว่า เจ้าปิศาจตนนี้กลัว ไฟ เสียงปัง และกลัวสีแดง พวกมนุษย์จึงพากันจุดประทัดหรือติดโคมไฟหน้าบ้าน เพื่อขับไล่ให้ปิศาจออกไป และถึงแม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีใครเชื่อเรื่องปิศาจกันแล้วก็ตาม ตำนานและเรื่องเล่าเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ ชาวจีนยังคงแขวนโคมสีแดงไว้หน้าบ้าน นั่งดูโทรทัศน์กับครอบครัวเพื่อต้อนรับวันใหม่พร้อมกัน

โดยปกติแล้วชาวจีนจะไม่จุดพลุหรือดอกไม้ไฟกันตอนกลางคืน เพราะจะเป็นการรบกวนผู้อื่น แต่จะจุดประทัดกันในช่วงกลางวันแทน เพราะไม่ถือเป็นการรบกวนผู้อื่นมากนัก

อาหารในวันตรุษจีน

ทางตอนเหนือของประเทศจีนนั้น นิยมจัดติ่มซำเป็นอาหารขึ้นโต๊ะสำหรับมื้อเย็น เพราะชาวจีนเชื่อว่าการกินติ่มซำในวันสิ้นปีนั้นจะนำพาโชคดีมาให้ อาหารที่มีชื่อว่า "หยวนเบา (yuan bao)" เป็นอาหารที่มีลักษณะคล้ายเรือสีทอง และมีรูปทรงเดียวกับเงินที่ใช้กันแต่โบราณ ซึ่งการทำอาหารชนิดนี้อาจดัดแปลงโดยการยัดใส่ด้วยผัก เนื้อสัตว์ ปลาและกุ้ง หรือบางครอบครัวอาจดัดแปลงโดยการใส่ถั่วเพื่มลงไปเป็นใส้ หรือใส่เหรียญลงไปสัก 1 เหรียญในใส้เพื่อคอยดูว่าใครจะได้เป็นผู้โชคดีที่สุดของปี

ส่วนทางตอนใต้ของประเทศจีนนั้น ผู้คนชอบทานข้าวกันมากกว่าข้าวสาลี หลายครอบครัวจะทานเค้กที่ทำจากข้าวเหนียวเป็นอาหารส่งท้ายปี ขนมเค้กที่ว่านั้น ชาวจีนเรียกกันว่า "เหนียน เกาว(ดีวัน ดีคืน)" ซึ่งเป็นดั่งสัญลักษณ์ของปีที่รุ่งเรือง นอกจากนั้น ต้นกระเทียม และปลา ยังเป็นอาหารที่ขาดไม่ได้เช่นกัน

การห่อเงินด้วยสีแดง

ช่วงเทศกาลตรุษจีนถือเป็นวันที่โปรดปรานของเด็ก ๆ ทุกคน เพราะว่าเป็นวันที่จะได้รับอั่งเปาสีแดงจากคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่าและจากญาติคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักร้อยหรือหลักพันก็ได้ อาจให้โดยกับมือหรือวางไว้ให้ข้างหมอนตอนเด็ก ๆ หลับก็ได้

ห้ามตัดผม

คนจีนหลาย ๆ คนที่เชื่อเรื่องโชคลาภมักจะไม่ตัดผมกันในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพราะเชื่อว่าจะทำให้พี่ชายแม่เสียชีวิตลงได้ ดั่งเรื่องเล่าที่ว่า ช่างตัดผมคนหนึ่งอยากหาของขวัญให้คุณลุงของเขา แต่เพราะยากจนไม่มีเงินซื้อของขวัญอันแสนมีค่ามาให้ได้ เขาจึงตัดผมให้ลุงเป็นของขวัญแทน หลังจากที่ ลุงของเขาเสียชีวิตลง หลานชายของเขาร้องไห้เพราะคิดถึงทุกปี จนเป็นตำนานความเหมือนกันในความหมายของคำว่า "คิดถึงลุงของเขา (si jiu)" และคำว่า "การตายของลุง" ซึ่งในภาษาจีน สองคำนี้อ่านออกเสียงอย่างเดียวกัน

เหล่านี้คือเรื่องเล่าขาน ตำนานแห่งวันตรุษจีน ส่วนโชคดีจะอยู่หรือไปนั้น อยู่ที่การกระทำของเราในวันนี้และพรุ่งนี้เช่นกัน ส่วนธรรมเนียมปฏิบัติและคุณค่าของวัฒนธรรมนั้นคงคุณค่าไว้เพื่อดำรงไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากันต่อไป

วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555

สัปปุริสธรรม


สัปปุริสธรรม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ส่วนหนึ่งของ
ศาสนาพุทธ

สัปปุริสธรรม หรือ สัปปุริสธรรม 7 หมายถึง ธรรมของสัตบุรุษ ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ คุณสมบัติของคนดี ธรรมของผู้ดี สัปปุริสธรรม มีบรรยายไว้หลายลักษณะ เช่น
1 สัปปุริสธรรม 7
2 ธัมมัญญู รู้จักเหตุ
3 อัตถัญญู รู้จักอรรถ
4 อัตตัญญู รู้จักตน
5 มัตตัญญู รู้จักประมาณ
6 กาลัญญู รู้จักกาล
7 ปริสัญญู รู้จักบริษัท
8 ปุคคลปโรปรัญญู รู้จักเลือกคบคน
9 ผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 และ สัปปุริสธรรม 8

สัปปุริสธรรม 7 ประกอบด้วย
ธัมมัญญุตา เป็นผู้รู้จักเหตุ
อัตถัญญุตา เป็นผู้รู้จักผล
อัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักตน
มัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักประมาณ
กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักกาล
ปริสัญญุตา เป็นผู้รู้จักบริษัท
ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา เป็นผู้รู้จักบุคคล
สัปปุริสธรรม 7 นี้ มีบรรยายอยู่ในสังคีติสูตรในพระไตรปิฎก สังคีติสูตรนี้เป็นพระสูตรที่รวบรวมธรรมะมากมาย เป็นการบรรยายแจกธรรมเป็นหมวดๆ โดยพระสารีบุตร อาจนับได้ว่า สังคีติสูตรเป็นต้นแบบของการสังคายนาพุทธศาสนาในยุคแรกๆ
ภิกษุผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 ข้อนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยสังฆคุณเป็นผู้ควรแก่ของคำนับ คือ เป็นผู้ควรรับของที่เขานำมาถวาย
นอกจากนี้ ยังมีธรรมะอีกหมวดหนึ่งซึ่งคล้ายกัน คือได้มีการบรรยายถึง พระเจ้าจักรพรรดิว่าทรงประกอบด้วยองค์ 5 ประการ ย่อมทรงยังจักรให้เป็นไปโดยธรรม จักรนั้นย่อมเป็นจักรอันมนุษย์ผู้เป็นข้าศึกใดๆ จะต้านทานมิได้ และแม้พระพุทธเจ้าก็ทรงประกอบด้วยธรรม 5 ประการเหล่านี้ ย่อมทรงยังธรรมจักรชั้นเยี่ยมให้เป็นไปโดยธรรม ธรรมจักรนั้นย่อมเป็นจักรอันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จะคัดค้านไม่ได้ ธรรม 5 ประการนี้ได้แก่
ธัมมัญญุตา เป็นผู้รู้จักเหตุ
อัตถัญญุตา เป็นผู้รู้จักผล
มัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักประมาณ
กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักกาล
ปริสัญญุตา เป็นผู้รู้จักบริษัท
[แก้]ธัมมัญญู รู้จักเหตุ

ธัมมัญญุตา เป็นผู้รู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่า หลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้ๆ จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการอันนั้นๆ เป็นต้น

ก็ภิกษุเป็นธัมมัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะอัพภูตธรรม เวทัลละ...

ธัมมัญญูสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 23
[แก้]อัตถัญญู รู้จักอรรถ

อัตถัญญุตา ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ เป็นผู้รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้างดังนี้เป็นต้น

ก็ภิกษุเป็นอัตถัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักเนื้อความแห่งภาษิตนั้นๆ ว่า นี้เป็นเนื้อความแห่งภาษิตนี้ๆ...

ธัมมัญญูสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 23
[แก้]อัตตัญญู รู้จักตน

อัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักตนคือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป

ก็ภิกษุเป็นอัตตัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักตนว่า เราเป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ...

ธัมมัญญูสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 23
[แก้]มัตตัญญู รู้จักประมาณ

มัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์รู้จักประมาณ ในการลงทัณฑอาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น

ก็ภิกษุเป็นมัตตัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร...

ธัมมัญญูสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 23
[แก้]กาลัญญู รู้จักกาล

กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักกาลคือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น

ก็ภิกษุเป็นกาลัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลเรียน นี้เป็นกาลสอบถาม นี้เป็นกาลประกอบความเพียร นี้เป็นกาลหลีกออกเร้น...

ธัมมัญญูสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 23
[แก้]ปริสัญญู รู้จักบริษัท

ปริสัญญุตา เป็นผู้รู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น

ก็ภิกษุเป็นปริสัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักบริษัทว่า นี้บริษัทกษัตริย์ นี้บริษัทคฤหบดี นี้บริษัทสมณะ ในบริษัทนั้น เราพึงเข้าไปหาอย่างนี้ พึงยืนอย่างนี้ พึงทำอย่างนี้ พึงนั่งอย่างนี้ พึงนิ่งอย่างนี้...

ธัมมัญญูสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 23
[แก้]ปุคคลปโรปรัญญู รู้จักเลือกคบคน

ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา เป็นผู้รู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น

ก็ภิกษุเป็นปุคคลปโรปรัญญูอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้รู้จักบุคคลโดยส่วน ๒ คือ บุคคล ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งต้องการเห็นพระอริยะ
พวกหนึ่งไม่ต้องการเห็นพระอริยะ
บุคคลที่ไม่ต้องการเห็นพระอริยะ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะพึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ

บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งต้องการจะฟังสัทธรรม
พวกหนึ่งไม่ต้องการฟังสัทธรรม
บุคคลที่ไม่ต้องการฟังสัทธรรม พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ

บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งตั้งใจฟังธรรม
พวกหนึ่งไม่ตั้งใจฟังธรรม
บุคคลที่ไม่ตั้งใจฟังธรรม พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ

บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งฟังแล้วทรงจำธรรมไว้
พวกหนึ่งฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้
บุคคลที่ฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ

บุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้
พวกหนึ่งไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรม ที่ทรงจำไว้
บุคคลที่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ

บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งรู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
พวกหนึ่งหารู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่
บุคคลที่หารู้อรรถรู้ธรรมปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พึงได้รับความสรรเสริญ ด้วยเหตุนั้นๆ

บุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
พวกหนึ่งปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
บุคคลที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ

ธัมมัญญูสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 23
[แก้]ผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 และ สัปปุริสธรรม 8

ในเสขปฏิปทาสูตรซึ่งบรรยายโดยพระอานนท์ ได้กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ไว้ 7 ประการคือ
เป็นผู้มีศรัทธา คือเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม.
เป็นผู้มีหิริ คือ ละอายกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรมอันลามก.
เป็นผู้มีโอตตัปปะ คือ สะดุ้งกลัวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อการถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรมอันลามก.
เป็นพหูสูต ทรงธรรมที่ได้สดับแล้ว สั่งสมธรรมที่ได้สดับแล้ว ธรรมเหล่าใดงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมทั้งหลายเห็นปานนั้น อันท่านได้สดับมามาก ทรงจำไว้ได้ สั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยความเห็น.
เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย.
เป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติและปัญญาเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ระลึกได้ตามระลึกได้ แม้ซึ่งกิจการที่ทำไว้แล้วนาน แม้ซึ่งถ้อยคำที่พูดไว้แล้วนาน.
เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญา อันเห็นความเกิดและความดับ อันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
คุณสมบัติของผู้ที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 ประการ นี้ เรียกว่า สัทธัมมสมันนาคโต บางทีก็เรียก สัปปุริสธรรม 7 และในจูฬปุณณมสูตร ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสบรรยาย ความแตกต่างระหว่าง สัตบุรุษและอสัตบุรุษ ทรงแสดงถึง สักษณะของผู้ประกอบด้วย ธรรมของสัตบุรุษ 8 ประการ (ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม เรียกธรรมของสัตบุรุษ 8 ประการ นี้ว่า สัปปุริสธรรม 8) ได้แก่
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ คือ เป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสุตะมาก มีความเพียรปรารภแล้ว มีสติตั้งมั่น มีปัญญา (คือ สัทธัมมสมันนาคโต ดังกล่าวไปแล้ว นั่นเอง)
เป็นผู้ภักดีต่อสัตบุรุษ คือ มีสมณพราหมณ์ชนิดที่มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสุตะมากมีความเพียรปรารภแล้ว มีสติตั้งมั่น มีปัญญา เป็นมิตร เป็นสหาย
เป็นผู้มีความคิดอย่างสัตบุรุษ คือ ย่อมไม่คิดเบียดเบียนตนเอง ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย
เป็นผู้มีความรู้อย่างสัตบุรุษ คือ ย่อมไม่รู้เพื่อเบียดเบียนตนเอง ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย
เป็นผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ คือ เป็นผู้งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากคำพูดส่อเสียด งดเว้นจากคำหยาบ งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ
เป็นผู้มีการงานอย่างสัตบุรุษ คือ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจากอทินนาทาน งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร
เป็นผู้มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ คือ เป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว มีผล ยัญที่บูชาแล้ว มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่ว มีอยู่โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้า ให้แจ่มแจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกมีอยู่
ย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษ คือ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ทำความอ่อนน้อมให้ทาน ให้ทานอย่างบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความเห็นว่ามีผล จึงให้ทาน
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น

สัปปุริสธรรม ๗
สัปปุริสธรรม ๗ (บรรยายโดยพระอานนท์)
[แก้]ดูเพิ่ม

สัตบุรุษ
สัปปุริสทาน
[แก้]อ้างอิง

สังคีติสูตร
ทสุตตรสูตร
จักกสูตร
สขปฏิปทาสูตร
จูฬปุณณมสูตร
ธัมมัญญูสูตร (บรรยายความหมายของ สัปปุริสธรรม ๗ แต่ละข้อ)
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์".
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม".