เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555

สัปปุริสธรรม


สัปปุริสธรรม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ส่วนหนึ่งของ
ศาสนาพุทธ

สัปปุริสธรรม หรือ สัปปุริสธรรม 7 หมายถึง ธรรมของสัตบุรุษ ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ คุณสมบัติของคนดี ธรรมของผู้ดี สัปปุริสธรรม มีบรรยายไว้หลายลักษณะ เช่น
1 สัปปุริสธรรม 7
2 ธัมมัญญู รู้จักเหตุ
3 อัตถัญญู รู้จักอรรถ
4 อัตตัญญู รู้จักตน
5 มัตตัญญู รู้จักประมาณ
6 กาลัญญู รู้จักกาล
7 ปริสัญญู รู้จักบริษัท
8 ปุคคลปโรปรัญญู รู้จักเลือกคบคน
9 ผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 และ สัปปุริสธรรม 8

สัปปุริสธรรม 7 ประกอบด้วย
ธัมมัญญุตา เป็นผู้รู้จักเหตุ
อัตถัญญุตา เป็นผู้รู้จักผล
อัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักตน
มัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักประมาณ
กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักกาล
ปริสัญญุตา เป็นผู้รู้จักบริษัท
ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา เป็นผู้รู้จักบุคคล
สัปปุริสธรรม 7 นี้ มีบรรยายอยู่ในสังคีติสูตรในพระไตรปิฎก สังคีติสูตรนี้เป็นพระสูตรที่รวบรวมธรรมะมากมาย เป็นการบรรยายแจกธรรมเป็นหมวดๆ โดยพระสารีบุตร อาจนับได้ว่า สังคีติสูตรเป็นต้นแบบของการสังคายนาพุทธศาสนาในยุคแรกๆ
ภิกษุผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 ข้อนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยสังฆคุณเป็นผู้ควรแก่ของคำนับ คือ เป็นผู้ควรรับของที่เขานำมาถวาย
นอกจากนี้ ยังมีธรรมะอีกหมวดหนึ่งซึ่งคล้ายกัน คือได้มีการบรรยายถึง พระเจ้าจักรพรรดิว่าทรงประกอบด้วยองค์ 5 ประการ ย่อมทรงยังจักรให้เป็นไปโดยธรรม จักรนั้นย่อมเป็นจักรอันมนุษย์ผู้เป็นข้าศึกใดๆ จะต้านทานมิได้ และแม้พระพุทธเจ้าก็ทรงประกอบด้วยธรรม 5 ประการเหล่านี้ ย่อมทรงยังธรรมจักรชั้นเยี่ยมให้เป็นไปโดยธรรม ธรรมจักรนั้นย่อมเป็นจักรอันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จะคัดค้านไม่ได้ ธรรม 5 ประการนี้ได้แก่
ธัมมัญญุตา เป็นผู้รู้จักเหตุ
อัตถัญญุตา เป็นผู้รู้จักผล
มัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักประมาณ
กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักกาล
ปริสัญญุตา เป็นผู้รู้จักบริษัท
[แก้]ธัมมัญญู รู้จักเหตุ

ธัมมัญญุตา เป็นผู้รู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่า หลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้ๆ จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการอันนั้นๆ เป็นต้น

ก็ภิกษุเป็นธัมมัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะอัพภูตธรรม เวทัลละ...

ธัมมัญญูสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 23
[แก้]อัตถัญญู รู้จักอรรถ

อัตถัญญุตา ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ เป็นผู้รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้างดังนี้เป็นต้น

ก็ภิกษุเป็นอัตถัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักเนื้อความแห่งภาษิตนั้นๆ ว่า นี้เป็นเนื้อความแห่งภาษิตนี้ๆ...

ธัมมัญญูสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 23
[แก้]อัตตัญญู รู้จักตน

อัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักตนคือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป

ก็ภิกษุเป็นอัตตัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักตนว่า เราเป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ...

ธัมมัญญูสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 23
[แก้]มัตตัญญู รู้จักประมาณ

มัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์รู้จักประมาณ ในการลงทัณฑอาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น

ก็ภิกษุเป็นมัตตัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร...

ธัมมัญญูสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 23
[แก้]กาลัญญู รู้จักกาล

กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักกาลคือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น

ก็ภิกษุเป็นกาลัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลเรียน นี้เป็นกาลสอบถาม นี้เป็นกาลประกอบความเพียร นี้เป็นกาลหลีกออกเร้น...

ธัมมัญญูสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 23
[แก้]ปริสัญญู รู้จักบริษัท

ปริสัญญุตา เป็นผู้รู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น

ก็ภิกษุเป็นปริสัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักบริษัทว่า นี้บริษัทกษัตริย์ นี้บริษัทคฤหบดี นี้บริษัทสมณะ ในบริษัทนั้น เราพึงเข้าไปหาอย่างนี้ พึงยืนอย่างนี้ พึงทำอย่างนี้ พึงนั่งอย่างนี้ พึงนิ่งอย่างนี้...

ธัมมัญญูสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 23
[แก้]ปุคคลปโรปรัญญู รู้จักเลือกคบคน

ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา เป็นผู้รู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น

ก็ภิกษุเป็นปุคคลปโรปรัญญูอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้รู้จักบุคคลโดยส่วน ๒ คือ บุคคล ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งต้องการเห็นพระอริยะ
พวกหนึ่งไม่ต้องการเห็นพระอริยะ
บุคคลที่ไม่ต้องการเห็นพระอริยะ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะพึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ

บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งต้องการจะฟังสัทธรรม
พวกหนึ่งไม่ต้องการฟังสัทธรรม
บุคคลที่ไม่ต้องการฟังสัทธรรม พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ

บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งตั้งใจฟังธรรม
พวกหนึ่งไม่ตั้งใจฟังธรรม
บุคคลที่ไม่ตั้งใจฟังธรรม พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ

บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งฟังแล้วทรงจำธรรมไว้
พวกหนึ่งฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้
บุคคลที่ฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ

บุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้
พวกหนึ่งไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรม ที่ทรงจำไว้
บุคคลที่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ

บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งรู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
พวกหนึ่งหารู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่
บุคคลที่หารู้อรรถรู้ธรรมปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พึงได้รับความสรรเสริญ ด้วยเหตุนั้นๆ

บุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
พวกหนึ่งปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
บุคคลที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ

ธัมมัญญูสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 23
[แก้]ผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 และ สัปปุริสธรรม 8

ในเสขปฏิปทาสูตรซึ่งบรรยายโดยพระอานนท์ ได้กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ไว้ 7 ประการคือ
เป็นผู้มีศรัทธา คือเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม.
เป็นผู้มีหิริ คือ ละอายกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรมอันลามก.
เป็นผู้มีโอตตัปปะ คือ สะดุ้งกลัวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อการถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรมอันลามก.
เป็นพหูสูต ทรงธรรมที่ได้สดับแล้ว สั่งสมธรรมที่ได้สดับแล้ว ธรรมเหล่าใดงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมทั้งหลายเห็นปานนั้น อันท่านได้สดับมามาก ทรงจำไว้ได้ สั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยความเห็น.
เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย.
เป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติและปัญญาเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ระลึกได้ตามระลึกได้ แม้ซึ่งกิจการที่ทำไว้แล้วนาน แม้ซึ่งถ้อยคำที่พูดไว้แล้วนาน.
เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญา อันเห็นความเกิดและความดับ อันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
คุณสมบัติของผู้ที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 ประการ นี้ เรียกว่า สัทธัมมสมันนาคโต บางทีก็เรียก สัปปุริสธรรม 7 และในจูฬปุณณมสูตร ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสบรรยาย ความแตกต่างระหว่าง สัตบุรุษและอสัตบุรุษ ทรงแสดงถึง สักษณะของผู้ประกอบด้วย ธรรมของสัตบุรุษ 8 ประการ (ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม เรียกธรรมของสัตบุรุษ 8 ประการ นี้ว่า สัปปุริสธรรม 8) ได้แก่
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ คือ เป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสุตะมาก มีความเพียรปรารภแล้ว มีสติตั้งมั่น มีปัญญา (คือ สัทธัมมสมันนาคโต ดังกล่าวไปแล้ว นั่นเอง)
เป็นผู้ภักดีต่อสัตบุรุษ คือ มีสมณพราหมณ์ชนิดที่มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสุตะมากมีความเพียรปรารภแล้ว มีสติตั้งมั่น มีปัญญา เป็นมิตร เป็นสหาย
เป็นผู้มีความคิดอย่างสัตบุรุษ คือ ย่อมไม่คิดเบียดเบียนตนเอง ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย
เป็นผู้มีความรู้อย่างสัตบุรุษ คือ ย่อมไม่รู้เพื่อเบียดเบียนตนเอง ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย
เป็นผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ คือ เป็นผู้งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากคำพูดส่อเสียด งดเว้นจากคำหยาบ งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ
เป็นผู้มีการงานอย่างสัตบุรุษ คือ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจากอทินนาทาน งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร
เป็นผู้มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ คือ เป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว มีผล ยัญที่บูชาแล้ว มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่ว มีอยู่โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้า ให้แจ่มแจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกมีอยู่
ย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษ คือ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ทำความอ่อนน้อมให้ทาน ให้ทานอย่างบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความเห็นว่ามีผล จึงให้ทาน
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น

สัปปุริสธรรม ๗
สัปปุริสธรรม ๗ (บรรยายโดยพระอานนท์)
[แก้]ดูเพิ่ม

สัตบุรุษ
สัปปุริสทาน
[แก้]อ้างอิง

สังคีติสูตร
ทสุตตรสูตร
จักกสูตร
สขปฏิปทาสูตร
จูฬปุณณมสูตร
ธัมมัญญูสูตร (บรรยายความหมายของ สัปปุริสธรรม ๗ แต่ละข้อ)
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์".
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม".

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น