เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

หัวใจเศรษฐี


หัวใจเศรษฐี

ครั้งหนึ่ง ชายผู้หนึ่งชื่อ ทีฆชานุ ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ธรรมดา ดำเนินชีวิตของผู้ครองเรือน มีภรรยาและบุตรธิดา ขอพระผู้มีพระภาคได้ทรงสอนหลักธรรมบางอย่างที่จะช่วยให้พวกข้าพระองค์ได้มีความสุข ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ”

พระพุทธเจ้าได้ตรัสบอกทีฆชานุว่า มีธรรมอยู่ 4 ประการ ที่จะเอื้ออำนวยให้มนุษย์มีความสุขในโลกนี้ คือ

1.เป็นคนมีทักษะ มีประสิทธิผล เอาจริงเอาจัง ขยันขันแข็งในอาชีพใด ๆ ที่ตนประกอบอยู่ และเข้าใจงานในอาชีพนั้น ๆ เป็นอย่างดี (อุฏฐานสัมปทา)
2.รักษาทรัพย์สินเงินทองที่ตนหามาได้ในทางสุจริต และด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของตนเอง (อารักขสัมปทา) (ข้อนี้มุ่งป้องกันทรัพย์สินจากโจร ผู้ร้าย ฯลฯ แนวความคิดเหล่านี้จะต้องพิจารณาถึงภูมิหลังของยุคนั้นประกอบด้วย)
3.มีเพื่อนดี (กัลยาณมิตตตา) คือ มิตรที่ซื่อสัตย์ มีการศึกษา มีคุณธรรม มีใจกว้างและมีปัญญา ซึ่งเป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือให้ดำเนินตามทางที่ถูก ห่างจากทางชั่ว
4.ใช้จ่ายทรัพย์อย่างมีเหตุผล ให้ได้สัดส่วนกับรายได้ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป กล่าวคือ ไม่สั่งสมทรัพย์ด้วยความตระหนี่ หรือไม่เป็นคนใจกว้างเกินขอบเขต กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือดำรงชีวิตอย่างพอเหมาะพอควร (สมชีวิตา)

พระพุทธศาสนากับโลกปัจจุบัน


พระพุทธศาสนากับโลกปัจจุบัน

มีบางคนเชื่อว่า พระพุทธศาสนาเป็นระบบที่ประเสริฐสูงส่งเกินกว่าที่สามัญชนทั้งบุรุษและสตรีจะสามารถปฏิบัติตามได้ ในชีวิตแบบโลกีย์ธรรมดาของเราท่าน และเข้าใจว่าถ้าใครปรารถนาจะเป็นชาวพุทธจริง ๆ ก็จะต้องปลีกตนออกจากสังคมโลก ไปอยู่ในวัดวาอาราม หรือสถานที่ที่สงบเงียบ

ข้อนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างน่าเสียดาย ทั้งนี้เนื่องจากขาดความเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั่นเอง ที่คนเหล่านั้นรีบสรุปแบบผิด ๆ เช่นนั้น ก็เพราะผลจากการที่ตนฟังหรืออ่านอย่างลวก ๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาบางตอนที่ผู้เขียนบางคนผู้ที่ไม่เข้าใจพระพุทธศาสนาในทุกแง่ทุกมุมเขียนไว้ แต่ให้ทัศนะไว้เพียงบางตอนและมีอคติต่อเรื่องนั้น ๆ คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้เจาะจงไว้เพื่อภิกษุสงฆ์ในวัดเท่านั้น แต่เพื่อสามัญชนชายหญิงที่มีเหย้า มีเรือนอีกด้วย อริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งเป็นแนวทางดำเนินชีวิตของชาวพุทธ เหมาะสมกับทุกคนโดยไม่แตกต่างกันเลย


ธรรมะกับคนทุกฐานะ

คนส่วนใหญ่ในโลก คงไม่สามารถบวชเป็นพระสงฆ์ได้ หรือแม้จะปลีกตัวออกไปอยู่ในถ้ำหรือในป่ากันหมดก็ไม่ได้พระพุทธศาสนาที่สูงส่งบริสุทธิ์ผุดผ่อง คงจะไร้ประโยชน์สำหรับมวลมนุษยชาติเป็นแน่ถ้าพวกเขาไม่สามารถนำมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันในโลกปัจจุบันได้ แต่ถ้าท่านเข้าใจแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องแล้ว (และมิใช่รู้ตามตัวบทเท่านั้น) แน่นอนที่สุด ท่านย่อมสามารถนำมาปฏิบัติตามได้ ในขณะที่ท่านดำรงตนเองอยู่แบบฆราวาสวิสัยนี่เอง

อาจมีบางคนพบว่า มันง่ายและสะดวกกว่ามากที่จะปฏิบัติพุทธธรรม ถ้าเขาดำรงชีวิตอยู่ในสถานที่ห่างไกล ตัดขาดจากการสังคมกับคนอื่น ๆ ส่วนคนอีกบางพวกอาจเห็นว่า การปลีกตนออกไปเช่นนั้นทำให้ชีวิตห่อเหี่ยว มีความกดดัน ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และก็โดยวิธีนั้น จึงไม่เป็นไปเพื่อการพัฒนาชีวิตทั้งทางด้านจิตใจและด้านพุทธิปัญญา

การสละโลกอย่างแท้จริงนั้น ไม่ได้หมายความว่าหนีออกไปจากโลกโดยทางร่างกาย พระสารีบุตร อัครสาวกของพระพุทธเจ้ากล่าวว่า คนคนหนึ่ง อาจจะเข้าไปอยู่ในป่าอุทิศตนบำเพ็ญธรรมอย่างฤาษีชีไพร แต่จิตใจอาจจะไม่บริสุทธิ์ เต็มไปด้วยกิเลสาสวะ ส่วนอีกคนหนึ่งอาจจะอยู่ในหมู่หรือในเมือง โดยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบวินัยแบบนักพรตนั้นเลย แต่จิตใจของเขาอาจจะบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสได้ ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่าในบุคคลสองจำพวกนี้คนที่ดำรงชีวิตอยู่อย่างบริสุทธิ์ในหมู่บ้านหรือในเมืองย่อมประเสริฐสูงส่งกว่าผู้ที่เข้าไปอยู๋ในป่า (แต่ใจมีกิเลส)เป็นไหน ๆ

ความเชื่อทั่วไปที่ว่า การที่จะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ได้นั้น จะต้องปลีกชีวิตออกไปเลยนั้นเป็นความเชื่อที่ผิด นับเป็นความเชื่อที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติธรรม โดยขาดดุลยพินิจที่แท้จริงอย่างยิ่ง มีหลักฐานอยู่มากมายในวรรณคดีทางพุทธศาสนาที่บอกว่า บุรุษและสตรีที่มีชีวิตอยู่แบบครองเรือนธรรมดาสามัญ ก็ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างมีผลสำเร็จ และยังรู้แจ้งแทงตลอดถึงขั้นพระนิพพานได้ ครั้งหนึ่ง วัจฉโคตรปริพพาชก (ที่เราพบในบทว่าด้วยอนัตตา) เคยทูลถามพระพุทธเจ้าตรง ๆ ว่ามีไหม ? อุบาสกอุบาสิกาที่อยู่ครองเรือน ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์อย่างมีผล และบรรลุสภาวะทางจิตขั้นสูงส่ง พระพุทธองค์ทรงเน้นอย่างชัดเจนยิ่งว่า “ มิใช่มีเพียงคนสองคน เพียงร้อยสองร้อย หรือห้าร้อย แต่มีอุบาสกอุบาสิกามากมายกว่านั้นมาก ที่อยู่อย่างฆราวาสวิสัย ปฏิบัติตามธรรมะของพระองค์อย่างมีผล และบรรลุถึงสภาวะทางจิตชั้นสูงส่งมาแล้ว ”

น่าอนุโมทนายิ่งสำหรับท่านที่ไปดำรงชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวในที่สงบห่างไกลจากเสียงอึกทึกและสิ่งรบกวนใด ๆ แต่มันน่าสรรเสริญเพิ่มศรัทธาปสาทะมากกว่ายิ่งนัก ถ้าปฏิบัติธรรมโดยอยู่ในท่ามกลางเพื่อนมนุษย์ ให้ความช่วยเหลือและบริการรับใช้ต่อเพื่อน ๆ เหล่านั้นด้วย ในบางกรณีมันอาจเกิดประโยชน์ยิ่งสำหรับคนเราที่จะปลีกตนออกไปปฏิบัติธรรมเป็นครั้งคราวเพื่อปรับปรุงจิตและนิสัยด้วยการฝึกศีล สมาธิ และปัญญาขั้นต้น เพื่อให้กล้าแข็งพอที่จะออกมาช่วยเหลือผู้อื่นในภายหลัง แต่ถ้าใครปลีกตนไปอยู่ที่สงัดตลอดชีวิตมุ่งเฉพาะความสุขส่วนตน ทางรอดส่วนตนฝ่ายเดียว โดยมิได้คำนึงถึงเพื่อนมนุษย์เลย แน่นอน นี้ไม่ใช่การบำเพ็ญตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีความเมตตา ความกรุณา การใช้ความช่วยเหลือคนอื่นเป็นพื้นฐาน

บัดนี้อาจจะมีใครถามว่า “ ถ้าบุคคลสามารถปฏิบัติตามพระพุทธศาสนาขณะที่มีชีวิตอยู่อย่างฆราวาสวิสัย ทำไม่พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติให้มีพระสงฆ์ด้วยเล่า ?”

พระสงฆ์เอื้อโอกาสให้เหล่าชนผู้เต็มใจที่จะอุทิศชีวิตตน ไม่เพียงเพื่อการพัฒนาจิตและพุทธิปัญญาของตนเองเท่านั้น แต่เพื่อรับใช้คนอื่น ๆ ด้วย อุบาสาสามัญที่ครองเรือนอยู่นั้น ย่อมไม่สามารถอุทิศชีวิตทั้งชาติเพื่อรับใช้ผู้อื่นได้ ส่วนพระสงฆ์ไม่มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ไม่มีพันธะในทางโลกีย์วิสัยอื่นใด จึงอยู่ในฐานะที่จะอุทิศทั้งหมด “ เพื่อประโยชน์ของชนหมู่มาก เพื่อความสุขของชนหมู่มาก ” ดังที่พระองค์ทรงตรัสแนะนำไว้ ข้อนี้แสดงให้เห็นถึงว่าตลอดระยะเวลาอันยาวนานในประวัติศาสตร์ วัดทางพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นเพียงศูนย์กลางทางด้านจิตใจเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและทางวัฒนธรรมด้วย

กัลยาณมิตตตา


กัลยาณมิตตตา

ความมีกัลยาณมิตร คือ มีผู้แนะนำสั่งสอน ที่ปรึกษา เพื่อนที่คบหาและบุคคลผู้แวดล้อมที่ดี , ความรู้จักเลือกเสวนาบุคคล หรือเข้าร่วมหมู่กับท่านผู้ทรงคุณทรงปัญญามีความสามารถ ซึ่งจะช่วยแวดล้อมสนับสนุน ชักจูง ชี้ช่องทาง เป็นแบบอย่าง ตลอดจนเป็นเครื่องอุดหนุนเกื้อกูลแก่กัน ให้ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี ในการศึกษาอบรม การครองชีวิต การประกอบกิจการ และธรรมปฏิบัติ , สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี ข้อนี้เป็นองค์ประกอบภายนอก

" ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความมีกัลยาณมิตรก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น "

" ความมีกัลยาณมิตร เท่ากับพรหมจรรย์ (การครองชีวิตประเสริฐ) ทั้งหมดทีเดียว เพราะว่า ผู้มีกัลยาณมิตรพึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มากซึ่งอารย อัฎางคิกมรรค "

" อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร เหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็พ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสเป็นธรรมดาก็พ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส "

" เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายนอกอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะเหมือนความมีกัลยาณมิตร , ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น "

"ความมีกัลยาณมิตร ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ , เพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม " ฯลฯ


กัลยาณมิตรธรรม 7 องค์คุณของกัลยาณมิตร , คุณสมบัติของมิตรดีหรือมิตรแท้

คุณสมบัติของมิตรดีหรือมิตรแท้ คือ ท่านที่คบหรือเข้าหาแล้วจะเป็นเหตุให้เกิดความดีงามและความเจริญ ในที่นี้มุ่งเอามิตรประเภทครูหรือพี่เลี้ยงเป็นสำคัญ

น่ารัก ในฐานเป็นที่สบายใจและสนิทสนม ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษาไต่ถาม (ปิโย )
น่าเคารพ ในฐานะ ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งได้ และปลอดภัย (คร)
น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่อง ในฐานทรงคุณคือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง ทั้งเป็นผู้ฝึกอบรมและปรับปรุงตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่าง ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ ( ภาวนีโย)
รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี ( วตฺตา จ)
อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษา ชักถาม คำเสนอ และวิพากษ์วิจารณ์ อดทนฟังได้ไม่เบื่อไม่ฉุนเฉียว ( วจนกฺขโม)
แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจและให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ่งยิ่งขึ้นไป
ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย (โน จฏฺฐาเน นิโยชเย)


มิตรปฏริรูปก์ หรือ มิตรเทียม 4 คนเทียมมิตร , คนที่พึงทราบว่าเป็นศัตรูผู้มาในร่างของมิตร

คนปอกลอก คนขนเอาของเพื่อนไปถ่ายเดียว อัญญทัตถุหร มีลักษณะ 4 คือ
1.1 คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
1.2 ยอมเสียน้อย โดยหวังจะเอาให้มาก
1.3 ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน
1.4 คบเพื่อน เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์

คนดีแต่พูด วจีบรม มีลักษณะ 4 คือ
2.1 ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย
2.2 ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย
2.3 สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้
2.4 เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง

คนหัวประจบ อนุปปิยภาณี มีลักษณะ 4 คือ
3.1 จะทำชั่วก็เออออ
3.2 จะทำดีก็เออออ
3.3 ต่อหน้าสรรเสริญ
3.4 ลับหลังนินทา

คนชวนฉิบหาย อปายสหาย มีลักษณะ 4 คือ
4.1 คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา
4.2 คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน
4.3 คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น
4.4 คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน

สิ่งที่ทำให้มีโชคดี ( มงคล 38 )


สิ่งที่ทำให้มีโชคดี ( มงคล 38 )

สิ่งที่ทำให้มีโชคดี ธรรมอันนำมาซี่งความสุขความเจริญ เรียกเต็มว่า อุดมมงคล คือ มงคลอันสูงสุด

คาถาที่ 1

ไม่คบคนพาล
คบบัณฑิต
บูชาคนที่ควรบูชา
คาถาที่ 2

อยู่ในปฏิรูปเทศ , อยู่ในถิ่นมีสิ่งแวดล้อมดี
ได้ทำความดีให้พร้อมไว้ก่อน , ทำความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น
ตั้งตนไว้ชอบ (การตั้งมั่นอยู่ในความดี ไม่ยอมให้ตนตกอยู่ในอำนาจของความชั่ว)
คาถาที่ 3

เล่าเรียนศึกษามาก , ทรงความรู้กว้างขวาง,ใส่ใจสดับตรับฟังค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ
มีศิลปวิทยา , ชำนาญในวิชาชีพของตน
มีวินัยที่ได้ศึกษาดีแล้ว, มีระเบียบวินัยดี, ได้ฝึกอบรมตนไว้ดี
วาจาสุภาษิต , รู้จักใช้วาจาพูดให้เป็นผลดี
คาถาที่ 4
บำรุงมารดาบิดา
สงเคราะห์บุตร
สงเคราะห์คู่ครอง
การงานไม่อากูล (จัดการงานดี)
คาถาที่ 5

รู้จักให้ , เผื่อแผ่แบ่งปัน , บริจาคสงเคราะห์และบำเพ็ญประโยชน์
ประพฤติธรรม , ดำรงอยู่ในศีลธรรม
สงเคราะห์ญาติ
การงานที่ไม่มีโทษ , กิจกรรมที่ดีงาม เป็นประโยชน์ ซึ่งไม่เป็นทางเสียหาย
เว้นจากความชั่ว
เว้นจากการดื่มน้ำเมา
ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
คาถาที่ 7
ความเคารพ , การแสดงออกที่แสดงถึงความเป็นผู้รู้จักคุณค่าของบุคคล สิ่งของสถานที่ หรือกิจกรรมนั้นๆ และรู้จักให้ความสำคัญและความใส่ใจเอื้อเฟื้อโดยเหมาะสม
ความสุภาพอ่อนน้อม , ถ่อมตน
ความสันโดษ (รู้จักพอ), ความเอิบอิ่มพึงพอใจในผลสำเร็จที่ได้สร้างขึ้น หรือในปัจจัยลาภที่แสวงหามาได้ ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตนเองโดยทางชอบธรรม
มีความกตัญูญู
ฟังธรรมตามกาล , หาโอกาสแสวงความรู้เกี่ยวกับหลักความจริง ความดีงาม และเรื่องที่เป็นประโยชน์
คาถาที่ 8
มีความอดทน
เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย , พูดกันง่าย ฟังเหตุผล
พบเห็นสมณะ (ผู้สงบ), เยี่ยมเยือนเข้าหาท่านผู้สงบกิเลส
สนทนาธรรมตามกาล , หาโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกัน เกี่ยวกับหลักความจริงความดีงามและเรื่องที่เป็นประโยชน์
คาถาที่ 9
มีความเพียรเผากิเลส , รู้จักบังคับควบคุมตน ไม่ปรนเปรอตามใจอยาก
ประพฤติพรหมจรรย์ (การประพฤติอันประเสริฐ) , ดำเนินตามอริยมรรค , การรู้จักควบคุมตนในทางเพศ หรือถือเมถุนวิรัติตามควร
เห็นอริยสัจจ์ , เข้าใจความจริงของชีวิต
ทำพระนิพพานให้แจ้ง , บรรลุนิพพาน
คาถาที่ 10
ถูกโลกธรรม จิตไม่หวั่นไหว (มีความรู้เท่าทันสภาพความเป็นจริง หรือธรรมดาของโลก ไม่รู้สึกยินดี ยินร้ายในสิ่งที่มากระทบ ซี่งมีสาเหตุจาก โลกธรรม 8)
จิตไร้เศร้า
จิตปราศจากธุลี (ปราศจากกิเลส ได้แก่ ราคะ (โลภะ) โทสะ และโมหะ ที่ทำให้จิตมัวหมอง เปรียบเหมือนฝุ่นที่เกาะ ณ ที่สิ่งใด ย่อมทำให้สิ่งนั้นๆ มัวหมอง
จิตเกษม (ภาวะของจิตที่สุขสบาย ปลอดโปร่ง เพราะห่างไกลจากกิเลส และอาสวะ เป็นจิตที่รู้สึกอิ่มเอมใจ)
แต่ละคาถามีบทสรุปว่า “ เอตมมงคลมุตตมํ ” นี้เป็นมงคลอันอุดม

มีคาถาสรุปท้ายมงคลทั้ง 38 นี้ว่า

" เอตาทิสานิ กตฺวาน สพฺพตฺถมปราชิตา

สพฺพตฺถ โสตฺถึ คจฺฉนฺติ ตนฺเตสํ มงคลมุตฺตมนติ "

แปลว่า “ เทวะ มนุษย์ทั้งหลายกระทำมงคลเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ปราชัยในที่ทุกสถาน ย่อมถึงความสวัสดิ์ในที่ทั้งปวง นี้คือ อุดมมงคลของเทวะ มนุษย์เหล่านั้น ”

พุทธศาสนาแปลว่าอะไร


พุทธศาสนาแปลว่าอะไร

พุทธศาสนา แปลว่า ศาสนาของผู้รู้
พุทธศาสนา จึงเป็นศาสนาที่อาศัยสติปัญญา หรือ อาศัยวิชาความรู้ที่ถูกต้องเพื่อทำลายความทุกข์ และต้นเหตุของความทุกข์เหล่านั้น
การทำพิธีรีตอง เพื่อบูชาบวงสรวง อ้อนวอนบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ไม่ใช่พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่รับเข้ามาไว้ในศาสนาของพระองค์เลย เพราะเป็นสิ่งที่น่าขบขัน น่าหัวเราะ และถือเอาเป็นที่พึ่งอันแท้จริงไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธการกระทำเช่นนั้นโดยสิ้นเชิง
มีคำกล่าวในพระพุทธศาสนา "ความรู้ ความฉลาด และความสามารถ ที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์นั่นแหละ เป็นตัวฤกษ์ที่ดี อยู่ในตัวมันเองแล้ว ดวงดาวในท้องฟ้าจะทำอะไรได้ ประโยชน์ที่ควรจะได้ก็ผ่านพ้นคนโง่ๆ ที่มัวนั่งคำนวณดวงดาวในท้องฟ้าไปเสียสิ้น" ดังนี้ และว่า "ถ้าน้ำศักดิ์สิทธ์ในแม่น้ำคงคา ฯลฯ จะทำให้คนหมดบาปหมดทุกข์ได้แล้ว พวกเต่า ปู ปลา หรือหอยที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็จะหมดบาปหมดทุกข์ไปด้วยน้ำนั้นเหมือนกัน" หรือ "ถ้าหากว่าคนจะพ้นทุกข์ได้ด้วยการบวงสรวง บูชาอ้อนวอนเอาๆ แล้ว ในโลกนี้ก็จะไม่มีใครมีความทุกข์เลย เพราะว่า ใครๆต่างก็บูชาอ้อนวอนเป็น"

โดยเหตุที่ ยังมีคนที่มีความทุกข์ทั้งที่ได้กราบไหว้บูชาหรือทำพิธีรีตองต่างๆอยู่ จึงถือว่าไม่เป็นหนทางที่จะเอาตัวรอดได้ ฉะนั้น เราจะต้องพิจารณาโดยละเอียดลอให้รู้ ให้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร แล้วปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆให้ถูกต้อง

พุทธศาสนาไม่ประสงค์คาดคะเน หรือทำอย่างที่เรียกว่าเผื่อจะเป็นอย่างนั้น เผื่อจะเป็นอย่างนี้ เราจะทำไปตรงๆตามที่มองเห็นด้วยปัญญาของตัวเอง โดยไม่ต้องเชื่อคนอื่นๆ แม้จะมีคนอื่นๆมาบอกให้ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเชื่อเขาทันที เราจะต้องฟังและพิจารณาจนเห็นจริงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แล้วจึงจะเชื่อ และพยายามทำให้ปรากฏผลด้วยตนเอง

ศาสนาเหมือนกับของหลายเหลี่ยม ดูเหมือนหนึ่งมันก็เป็นไปอย่างหนึ่ง ดูอีกเหลี่ยมหนึ่งมันก็เป็นไปอีกอย่างหนึ่ง แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นจะถือหลักการคิดในแนวไหนก็จะเห็นศาสนาเดียวกันในลักษณะที่แตกต่างกันได้ แม้พุทธศาสนาก็ตกอยู่ในลักษณะเช่นนี้
คนเราย่อมเชื่อความคิดเห็นของตัวเอง เพราะฉะนั้น ความจริง หรือสัจจะสำหรับคนหนึ่งๆนั้น มันอยู่ตรงที่ว่าเขาเข้าใจ และมองเห็นเท่าไรเท่านั้นเเอง สิ่งที่เรียกว่า "ความจริง" ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนเราเข้าถึงปัญหาหนึ่งๆ ได้ตื้นลึกกว่ากัน หรือ ด้วยลักษณะที่ต่างกัน และด้วยสติปัญญาที่ต่างกัน สิ่งใดที่อยู่เหนือสติปัญญาความรู้ความเข้าใจของตน หรือตนยังไม่เข้าใจ คนนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นความจริงของเขา ไม่เป็นความแท้ความจริงของเขาเลย
ความจริงของคนหนึ่งๆนั้น จะเดินคืบหน้าได้เสมอ ตามสติปัญญา ความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นทุกๆวัน จนกว่าจะถึงความจริงขั้นสุดท้าย คนเรามีการศึกษามาต่างกัน และมีหลักพิจารณาสำหรับจะเชื่อต่างๆกัน ฉะนั้น ถ้าจะ เอาสติปัญญาที่ต่างกันมาดูพุทธศาสนา ก็จะเกิดความคิดเห็นต่างกันไป ทั้งนี้เพราะว่าพุทธศาสนาก็มีอะไรๆครบทุกอย่างที่จะให้คนดู
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว พุทธศาสนาคือวิธีปฏิบัติ เพื่อเอาตัวรอดจากความทุกข์ โดยการทำให้รู้ความจริงว่า อะไรเป็นอะไร ตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงทำได้ก่อน และได้ทรงสอนไว้ แต่คัมภีร์ทางศาสนานั้นย่อมมีอะไรๆ เพิ่มขึ้นได้ ทุกโอกาศที่คนชั้นหลังเขาจะเพิ่มเติมลงไป พระไตรปิฏกของเราก็ตกอยู่ในฐานะอย่างเดียวกัน คนชั้นหลังๆเพิ่มเติมข้อความเข้าไปตามที่เห็นว่าจำเป็นสำหรับยุคนั้นๆ เพื่อจะช่วยให้คนมีศรัทธามากขึ้นๆ หรือกลัวบาป รักบุญมากขึ้น ซึ่งอาจจะมากเกินขอบเขตจนกระทั่งเกิดการเมาบุญกันใหญ่
เราควรยึดกายวาจาบริสุทธิ์ให้เป็นที่ตั้งของจิตบริสุทธิ์ เพื่อให้เกิดปัญญารู้ว่าอะไรถูก แล้วประพฤติปฏิบัติไปตามนั้น อย่าได้ถือว่าถ้าเขาว่าเป็นพุทธศาสนาแล้ว ก็เป็นพุทธศาสนา เนื้องอกนั้นได้งอกมาแล้วนับตั้งแต่วันหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน และยังงอกเรื่อยๆมา กระจายไปทุกทิศทุกทางจนกระทั่งบัดนี้ เลยมีเนื้องอกก้อนโตๆอย่างมากมาย (พุทธศาสนาเนื้องอก เช่นพิธีรีตองต่างๆที่เพิ่งเกิดขึ้นและเกียวเนื่องกับพระพุทธศาสนาเพียงเล็กๆน้อยๆ ก็พลอยถูกนับเข้าเป็นพุทธศาสนาไปด้วยอย่างน่าสมเพช เช่น การจัดสำรับคาวหวาน ผลหมากรากไม้ เพื่อเซ่นวิญญาณของพระพุทธเจ้าอย่างที่เรียกว่าถวายข้าวพระ เป็นต้น มันเป็นสิ่งที่มีไม่ได้ตามหลักของพุทธศาสนา แต่พุทธบริษัทบางพวกเข้าใจว่านี่เป็นพุทธศาสนา และได้สอนกันถือกัน อย่างเคร่งครัด การบวชนาคก็เกิดมีพิธีทำขวัญนาค เชื้อเชิญแขกมาเลี้ยงดูกันอย่างเมามายเอิกเกริก ทำพิธีทั้งที่วัดและที่บ้าน บวชไม่กี่วันก็สึกออกมา แล้วกลายเป็นคนเกลียดวัดยิ่งไปกว่าเดิมก็มี นี่ขอให้คิดดูเถิดว่า สิ่งไม่เคยมีในครั้งพุทธกาลก็ได้มีขึ้น เราหลงเรียกการทำขวัญนาค และการทำพิธีต่างๆตลอดถึงการฉลองอะไรๆเหล่านั้น ว่าเป็นพุทธศาสนาแล้วก็นิยมทำกันอย่างยิ่ง จนหมดเปลืองทรัพย์ของตนหรือของคนอื่นเท่าไรก็ไม่ว่า พุทธศาสนาใหม่ๆอย่างนี้เกิดมีมากมายแทบจะทั่วไปทุกแห่ง ธรรมะหรือของจริงที่เคยมีมาแต่ก่อนนั้น ถูกหุ้มห่อโดยพิธีรีตองจนมิด เกิดมุ่งหมายผิดเป็นอย่างอื่นไป
พวกเราเองจะไปอ้างเอา "พุทธศาสนาเนื้องอก" มาถือว่าเป็นพุทธศาสนาไม่ได้ หรือ คนในศาสนาอื่นจะมาชี้ก้อนเนื้องอกเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่อย่างน่าบัดสีอย่างน่าละอายว่าเป็นพุทธศาสนา ก็ไม่ถูกเหมือนกัน คือไม่เป็นการยุติธรรมเพราะสิ่งนี้ไม่ใช้พุทธศาสนา แต่เป็น "เนื้องอก" พวกเราที่จะช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนาเพื่อให้เป็นที่พึ่งแก่คนทั้งหลาย หรือเพื่อประโยชน์แก่ตัวเราเองก็ตาม จะต้องรู้จักฉวยให้ถูกตัวแท้ของพุทธศาสนา ไม่ไปถูกชิ้นเนื้อร้ายเนื้องอกดังที่กล่าวมาแล้ว
แม้พุทธศาสนาตัวแท้ก็ยังมีหลายแง่หลายมุม ที่จะทำให้เกิดการจับฉวยเอาไม่ถูกความหมายที่แท้ของพระพุทธศาสนาก็ได้

ถ้ามองด้วนสายตานักศิลธรรม ก็จะเห็นว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งศิลธรรม (Moral) เพราะมีกล่าวถึงบุญบาป ความซื่อตรง ดีชั่ว ความกตัญญุกตเวที ความสามัคคี ความเป็นเป็นคนที่เปิดเผยตัวเอง และอะไรต่างๆ อีกมากมาย ล้วนแต่มีอยู่ในพระไตรปิฏกทั้งนั้น แม้ชาวต่างประเทศก็มองดูในส่วนนี้อยู่มากหรือว่าชอบพุทธศาสนาเพราะเหตุนี้ก็มีอยู่มาก

พุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่ง สูงขึ้นไปเป็นสัจธรรม (Truth) คือ กล่าวถึงความจริงที่ลึกซึ้งเร้นลับนอกเหนือไปกว่าที่คนธรรมดาสามัญจะเห็นได้ ส่วนนี้ได้แก่ความรู้เรื่องความว่างเปล่าของสรรพสิ่งทั้งปวง (สุญญตา) เรื่องความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ความเป็นทุกข์ (ทุกขัง) ความไม่ใช้ตัวตน (อนัตตา) หรือเรื่องการเปิดเผยว่าทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับสนิทของทุกข์เป็นอย่างไร และวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างไร ในฐานะเป็นความจริงอันเด็ดขาดที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ (อริยสัจจ์) ซึ่งทุกคนควรจะต้องรู้ นี้เรียกว่าพุทธศาสนาในฐานะเป็นสัจธรรม

พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา (Religion) คือส่วนที่เป็นตัวระเบียบปฎิบัติ ซึ่งได้แก่ ศิล สมาธิ ปัญญา กระทั่งผลที่เกิดขึ้นคือความหลุดพ้น และปัญญาที่รู้เห็นความหลุดพ้น ว่าเมื่อใครปฎิบัติแล้วจะหลุดพ้นไปจากทุกข์ได้จริง นี้เรียกว่า พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา

เรายังมี พุทธศาสนาในเหลี่ยมที่เป็นจิตวิทยา (Psychology) เช่น คัมภีร์พระไตรปิฏกภาคสุดท้าย กล่าวบรรยายถึงลักษณะจิตไว้กว้างขวางอย่างน่าอัศจรรย์ที่สุด เป็นที่งงงันและสนใจแก่นักศึกษาทางจิตแม้แห่งยุคปัจจุบัน เป็นความรู้ทางจิตวิทยาที่จะอวดได้ว่าแยบคาย หรือลึกลับกว่าความรู้ทางจิตวิทยาของโลกปัจจุบันไปเสียอีก

พุทธศาสนายังมีเหลี่ยมความรู้ซึ่งจัดได้ว่าเป็นปรัชญา (Philosophy) คือสิ่งที่ทดลองไม่ได้ ยังต้องอาศัยการคำนึงคำนวณไปตามหลักแห่งการใช้เหตุผลแห่งการคำนึงคำนวณระบอบหนึ่ง แต่ถ้าเห็นแจ้งประจักษ์ได้ด้วยตา หรือด้วยการพิสูจน์ ทดลองตามทางวัตถุ หรือแม้เห็นชัดด้วย "ตาใน" คือญาณจักษุก็ตาม เรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ (Science) ได้ ความรู้อันลึกซึ้ง เช่นเรื่องสุญญตาย่อมเป็นปรัชญาสำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรมไปพลางก่อน แต่จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ทันทีสำหรับผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว เช่น พระอรหันต์ เพราะท่านได้เห็นได้ประจักษ์ แล้วด้วยจิตใจของท่านเองไม่ต้องคำนึงคำนวณตามเหตุผล

หลักพระพุทธศาสนาบางประเภท ก็เป็นวิทยาศาสตร์ (Science) โดยส่วนเดียว เพราะพิสูจน์ได้ชัดแจ้งด้วยความรู้สึกภายในใจของผู้มีสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอริยสัจจ์เป็นต้น ถ้าผู้ใดมีสติปัญญาสนใจศึกษา ค้นคว้าแล้วจะมีเหตุผลแสดงอยู่ในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มืดมัวเป็นปรัชญาเหมือนอย่างบางเรื่อง

"ถ้าหากว่าจะมีศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ซึ่งเข้ากันได้ดีกับแนวคิด หรือหลักการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ (The Modern Scientific mind) แล้วศาสนานั้นก็คือ พระพุทธศาสนา นั่นเอง"
"ศาสนาในอนาคตจะต้องเป็นศาสนาแห่งสากล ซึ่งล่วงพ้นจากความเชื่อในเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า หรือสิ่งศักดิ์ทั้งหลาย โดยมีหลักการที่จะต้องตั้งอยู่บนรากฐานของความศรัทธาที่เกิดจากความสะสมประสบการร์ในทุกๆด้าน ทั้งในด้านธรรมชาติ และด้านจิตวิญญาณอย่างมีเหตุผล พุทธศาสนาเป็นคำตอบสำหรับหลักการนี้"

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) (นักฟิสิกซ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20) (ค.ศ. 1879-1955)


"ผมตกตะลึง และรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่พบว่า งานวิจัยของผมกลับกลายมาวางอยู่บนพื้นฐานทางความคิดที่ดูจะไม่เป็นวิทยาศาสตร์เอาเสียเลย เมื่อมันถูกนำไปเชื่อมสัมพันธ์กับพุทธรรรมคำสอนในศาสนาพุทธ"

จอฟฟรีย์ ชิว (Geoffrey Chew) (นักฟิสิกซ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 21)

"มนุษย์ได้ฝึกฝนความเฉลียวฉลาดรอบรู้ของตนเพื่อเอาชนะธรรมชาติภายนอกด้วยวิทยาศาสตร์ และประยุกต์วิทยา (Science and Technology) บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ควรแสวงหาแสงสว่าง หรือสติปัญญาที่สูงลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นอีก พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่จะช่วยให้มนุษย์ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายดังกล่าวนี้ได้

ฟรานซิส สตอรี่ (Francis Story) (นักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ)


สำหรับบุคคลผู้บูชาวัฒนธรรม ก็จะพบว่ามีคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาหลายข้อที่ตรงกับหลักวัฒนธรรมสากล และมีคำสอนอีกมากที่เป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธโดยฌฉพาะ ซึ่งดีกว่าสูงกว่าวัฒนธรรมสากลอย่างมากมาย

แม้พุทธศาสนาส่วนที่เป็นตรรกวิทยา (Logic) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่โยกโคลงที่สุด ก็มีมากด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะในพวกพระอภิธรรมบางคัมภีร์ เช่นคัมภีร์กถาวัตถุเป็นต้นฯ

แต่อย่างไรก็ตามอยากจะขอยืนยันว่า พุทธศาสนาเหลี่ยมซึ่งชาวพุทธจะต้องสนใจที่สุด นั้นคือ เหลี่ยมที่เป็นศาสนา ซึ่งหมายถึงวิธีปฏิบัติโดยรวบรัด เพื่อให้รู้ความจริงว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไร จนถอนความยึดถือหลงใหลต่างๆออกมาเสียจากสิ่งทั้งปวงได้ การกระทำเช่นนี้เรียกว่า เราเข้าถึงตัวพระพุทธศาสนา ในฐานะเป็นพุทธศาสนา มีผลดียิ่งกว่าไปกว่าที่จะถือเป็นเพียงศิลธรรมขั้นพื้นฐาน และสัจธรรมอันเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งอย่างเดียวโดยไม่ปฏิบัติอะไร และเป็นผลดีกว่าที่จะถือเป็นปรัชญา ที่มีไว้คิดไว้นึกไว้เถียงกันอย่างสนุกๆ แล้วไม่ละกิเลสอะไรได้ หรือดีกว่าที่จะถือเป็นเพียงวัฒนธรรมสำหรับการประพฤติที่ดีงามน่าเลื่อมใสในด้านสังคมแต่อย่างเดียว

อย่างน้อยที่สุด เราทั้งหลายควรถือ พุทธศาสนาในฐานะเป็นศิลปะ (Art) ซึ่งในที่นี้หมายถึงศิลปะแห่งการครองชีวิต คือเป็นการกระทำที่แยบคายสุขุม ในการที่จะมีชีวิตอยู่เป็นมนุษย์ให้น่าดูชมน่าเลื่อมใส น่าบูชาเป็นที่จับอกจับใจแก่คนทั้งหลาย จนคนอื่นพอใจทำตามเราด้วยความสมัครใจไม่ต้องแค่นเข็นกัน เราจะมี ความงดงามในเบื้องต้น ด้วยศิลบริสุทธิ์ มีความงดงามในท่ามกลาง ด้วยการมีจิตใจสงบเย็น เหมาะสมที่จะทำงานในด้านจิต มี ความงดงามในเบื้องปลาย ด้วยความสมบูรณ์แห่งปัญญา คือรู้แจ้งสิ่งทั้งปวงว่าอะไรเป็นอะไร จนไม่มีความทุกข์ เกิดขึ้นเพราะสิ่งทั้งปวงนั้น

เมื่อใครมีชีวิตอยู่ด้วยความงาม 3 ประการ เช่นนี้แล้ว ถือว่าเป็นผู้มีศิลปะแห่งการดำรงชีวิตอย่างสูงสุด ชาวตะวันตกหันมาสนใจพุทธศาสนา ในฐานะเป็นศิลปะแห่งชีวิตโดยนัยนี้เป็นอันมาก และกล่าวขวัญกันมากกว่าแง่อื่นๆ

การที่เราเข้าถึงตัวแท้ของพระพุทธศาสนา จนถึงกับนำมาใช้เป็นแบบแห่งการครองชีวิตนั้น มันทำให้เกิด ความบันเทิงรื่นเริงตามทางธรรมะ ไม่เหงาหงอยไม่น่าเบื่อหน่าย หรือหวาดกลัวดังที่เกรงกันอยู่ว่า ถ้าละกิเลสเสียแล้วชีวิตนี้จะแห้งแล้งไม่มีรสชาติอะไรเลย หรือถ้าปราศจากตัณหาต่างๆ โดยสิ้นเชิงแล้วคนเราจะทำอะไรไม่ได้ หรือไม่คิดทำอะไรอย่างนี้เป็นต้น แต่โดยที่แท้จริงแล้ว ผู้ดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง ตามศิลปะแห่งการครองชีวิตของพระพุทธเจ้านั้น คือผู้มีชัยชนะอยู่เหนือสิ่งทั้งปวงที่เข้ามาแวดล้อมตน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บุคคลสิ่งของ หรืออะไรก็ตาม ย่อมจะเข้ามาในฐานะผู้แพ้ ไม่อาจจะทำให้เกิดความมืดมัว สกปรก เร่าร้อนให้แก่ผู้นั้นได้ อากัปกิริยาที่เป็นฝ่ายชนะอารมณ์ทั้งปวงนี้ ย่อมเป็นที่บันเทิงเริงรื่นอย่างแท้จริง และนี่คือข้อที่ควรถือเป็นศิลปะในพุทธศาสนา

ธรรมะในพระพุทธศาสนา จะให้ความเพลิดเพลินแก่จิตใจที่ต้องการธรรมะ นับได้ว่าเป็นอาหารจำเป็นอย่างหนึ่งเหมือนกัน คนที่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสยังต้องการอาหารทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แสวงหากันไปตามวิสัยปุถูชนนั้นก็ถูกแล้ว แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งอยู่ลึก และไม่ต้องการอาหารอย่างนั้น สิ่งนี้คือวิญญาณซึ่งเป็นอิสระหรือบริสุทธิ์ ต้องการความบันเทิงเริงรื่น คืออาหารทางธรรมะ นับตั้งแต่ความยินดีปรีดาที่รู้สึกว่าตนได้ทำอะไรอย่างถูกต้อง เป็นที่พอใจของผู้รู้ทั้งหลาย มีความสงบระงับในใจชนิดดที่กิเลสมารบกวนไม่ได้ มีความเห็นแจ่มแจ้งรู้เท่าทันสิ่งทั่งปวงว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ทะเยอทะยานในสิ่งใด มีอาการเหมือนกับนั่งลงได้ ไม่ต้องวิ่งงไปวิ่งมาเหมือนคนทั้งหลาย ชนิดที่ท่านให้คำเปรียบไว้ว่า "กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ"


"กลางคืนอัดควัน" นั่น หมายถึงการนอนไม่หลับกระสับกระส่ายมือก่ายหน้าผาก คิดจะแสวงหาอย่างนั้นอย่างนี้คิดจะกระทำเพื่อให้ได้เงิน ได้ลาภหรือสิ่งต่างๆที่ตนปราถนา อันเป็นควันกลุ้มอยู่ในใจ เพราะมันยังมือค่ำ ลุกไปไหนไม่สะดวก ต้องทนอดนอนอัดควันอยู่ ครั้นถึงวันรุ่งขึ้น ก็ออกวิ่งไปตามความต้องการของ "ควัน" ที่อัดไว้เมื่อคืน นี่เรียกว่า "กลางวันเป็นไฟ" เป็นอาการของจิตใจที่ไม่ได้รับความสงบ ไม่ได้รับอาหารทางธรรมเป็นความกระหาย ไปตามอำนาจของกิเลส และตัณหา "กลางคืนอัดควัน" ร้อนรุ่มอยู่แล้วตลอดคืน "กลางวันยังเป็นไฟ" คือทั้งร้อนทั้งไหม้อะไรไปในตัวเสร็จตลอดทั้งวันแล้วจะหาความสงบเยือกเย็นอย่างไรได้ ถ้าคนเราต้อง "กลางวันอัดควัน กลางวันเป็นไฟ" ไปจนตลอดชีวิต ถึงตายแล้ว จะเป็นอย่างไรบ้าง ขอให้ลองคิดดู เขาเกิดมาทนทุกข์ทรมานจนตลอดชีวิต คือนับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเน่าเข้าโลกไปทีเดียว โดยไม่มีสติปัญญาที่จะระงับดับไฟ ดับควันนั้นเสียเลย บุคคลชนิดนี้จะต้องอาศัยสติปัญญาของบุคคลประเภทพระพุทธเจ้า สำหรับช่วยแก้ไขให้เบาบางลงตามส่วน เมื่อเขาได้เข้าใจสิ่งทั้งหลายทั้งปวงถูกต้องตามความเป็นจริงมากขึ้นเท่าไรควันหรือไฟก็จะลดน้อยลงเท่านั้น

ทั้งหมดนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนานั้นมีลักษณะหลายเหลี่ยมหลายมุม เหมือนกับภูเขาลูกเดียวมองจากทิศต่างๆกัน ก็เห็นรูปต่างๆกัน ได้ประโยขน์ต่างๆกัน แล้วแต่ใครจะมองอย่างไร แม้พระพุทธศาสนา จะมีมูลมาจากความกลัว ก็ไม่ใช้ความกลัวที่โง่เขลา ของคนป่าเถื่อน จนถึงกับนั่งไหว้รูปเคารพหรือไหว้สิ่งที่มีปรากฏแปลกๆ แต่เป็นความกลัวชนิดที่สูงด้วยสติปัญญา คือกลัวว่าจะไม่ได้รอดพ้นไปจากการบีบคั้นของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือความทุกข์ทั้งหลายที่เรามองเห็นๆ กันอยู่

พุทธศาสนาตัวแท้ ไม่ใช่หนังสือ ไม่ใช่คัมภีร์ ไม่ใช่เสียงบอก เล่าตามพระไตรปิฎก หรือตัวพิธีรีตองต่างๆ ซึ่งไม่ใช้ตัวแท้ของพระพุทธศาสนา ตัวแท้ต้องเป็น ตัวการปฎิบัติด้วยกายวาจาใจ ชนิดที่จะทำลายกิเลสให้ร่อยหรอ หรือหมดสิ้นไปในที่สุด ไม่จำเป็นต้องเนื่องด้วยหนังสือ ด้วยตำรา ไม่ต้องอาศัยพิธีรีตอง หรือสิ่งภายนอก เช่นผีสางเทวดา แต่ต้องเนื่องด้วยกาย วาจา ใจ โดยตรง คือจะต้องบากบั่นกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป จนเกิดความรู้แจ่มแจ้ง สามารถทำอะไรให้ถูกต้องได้ด้วยตนเอง ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนอวสาน นี่แหละคือตัวแท้ของพระพุทธศาสนา ในส่วนที่เราจะต้องเข้าถึงให้จงได้ อย่าได้ไปหลงยึดเอาเนื้องอกที่หุ้มห่อพระพุทธศาสนามาถือว่าเป็นตัวพระพุทธศาสนากันเลย

พุทธศาสนิก แปลว่า ผู้ปฏิบัติตามศาสนาของผู้รู้ ที่ว่ารู้นั้น หมายถึงรู้อะไร? ก็คือรู้สิ่งทั้งปวงที่เป็นจริงนั่นเอง จึงกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาก็คือ ศาสนาที่ทำให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เป็นศาสนาเกี่ยวกับความรู้จริง เราจึงต้องปฏิบัติจรเรารู้ได้เอง เมื่อรู้ถึงที่สุด แล้วไม่ต้องกลัว กิเลสตัณหาต่างๆ จะถูกความรู้นั้นทำลายให้สิ้นไป ความไม่รู้ (อวิชชา) ก็จะดับไปทันที ในเมื่อความรู้ได้เกิดขึ้นมาก ฉะนั้นข้อปฏิบัติต่างๆจึงมีไว้เพื่อให้วิชชาเกิด


สรุปความว่า พุทธศาสนา คือวิชาและระเบียบปฏิบัติเพื่อให้รู้ว่า อะไรเป็นอะไร เมื่อเรารู้ว่า อะไรเป็นอะไรถูกต้องจริงๆแล้วไม่ต้องมีใครมาสอนเรา หรือมาแนะนำเรา เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆถูกต้องได้ด้วยตนเอง แล้วกิเลสก็จะหมดไปเอก เราเป็นอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่งขึ้นมาทันที หรือที่ชอบเรียกกันว่า มรรคผลนิพพาน นี้ได้ด้วยตนเอง เพระาการที่เรามีความรู้อะไรเป็นอะไรโดยถูกต้องถึงที่สุดอย่างแท้จริงเท่านั้น


รัตนตรัย หมายถึง สิ่งลำค่า 3 ประการ หลักที่เคารพบูชาสูงสุดของพุทธศานิกชน 3 อย่าง

พระพุทธเจ้า หมายถึง พระผู้ตรัสรู้เองและสอนผู้อื่นให้รู้ตาม
พระธรรม หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหลักความประพฤติ
พระสงฆ์ หมายถึง หมู่สาวกผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

พุทธธรรมนำทาง สร้างวินัย พัฒนาจิต







พุทธธรรมนำทาง สร้างวินัย พัฒนาจิต

หลักการและเหตุผล
เนื่องจากสภาพสังคมปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จนกระทั่งทำให้วิถีชีวิตของชาวไทยต้องเปลี่ยนตามไปอย่างฉุกละหุก มีบุคคลแค่บางกลุ่มจำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่สามารถปรับตัวตามไปได้ดี แต่ส่วนใหญ่แล้ว สามารถปรับตัวได้อย่างผิวเผิน ทำให้เกิดความเจ็บป่วย หรือความผิดปกติทั้งทางร่างกายและจิตใจมาก


ทั้งที่เทคโนโลยี่ใหม่ๆมากมายควรจะเป็นส่วนรองรับความต้องการของสังคมและสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น กลับกลายไปว่าเทคโนโลยี่ใหม่ๆได้มาพร้อมกับการทำลายวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม
รวมถึงการทำลายสุขภาพกาย สุขภาพจิตของคนในชาติลงอย่างสิ้นเชิง พราะวินัย หรือวิถีชีวิตของพลเมืองที่เคยมีถูกเปลี่ยนแปลงไปทั่ว
จากการยึดมั่นในความดี ประนีประนอมและมีเหตุผล กลายเป็นการแสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่ใส่ใจสภาพร่างกายและจิตใจของตนและผู้อื่น ยิ่งรวมไปถึงการขาดความใส่ใจถึงความสูญเสียความมั่นคงของสังคม อันมีผลถึงประเทศชาติส่วนรวมโดยตรงในที่สุด

จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการปรับปรุงสังคมอย่างรีบด่วน ด้วยพุทธธรรมอันเป็นสมบัติที่เก่าแก่และมีค่ายิ่งของชาวไทยและมวลมนุษย์ชาติ หากแต่ได้ถูกปล่อยปละละเลยทอดทิ้ง ด้วยความหลงผิด จนกระทั่งความสัมพันธ์ของพุทธธรรมได้ห่างเหินไปจากสังคม อันเป็นเหตุให้มีผลคือ ผู้คนป่วยกายป่วยใจเป็นจำนวนมากในสังคมที่พิกลพิการนี้
พุทธธรรม ความหมาย

ธรรม หมายถีง สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจจธรรม, ความจริง;
เหตุ, ต้นเหตุ;
สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด;
คุณธรรม,ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ;
หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่;
ความชอบ, ความยุติธรรม;
พระธรรม, ท่านพุทธทาสภิกขุ ให้คำนิยามไว้ในหนังสือของท่านว่า ธรรม มีความหมายที่ยิ่งใหญ่ ไม่สามารถหาคำพูดที่เป็นภาษาของมนุษย์มานิยามได้ แต่ขอนิยามให้เข้าใจพอสังเขปไว้ด้วยความว่า
“หน้าที่ เพราะไม่มีสิ่งใดในสากลโลกที่ไม่มีหน้าที่”

หลักธรรมในพุทธศาสนา
คือ หลักความเป็นไปของโลก พระพุทธศาสนาเน้นความจริงที่เกิดขึ้นกับโลก การเกิด ดับ ไม่มุ่งเน้นความสบาย
พระพุทธศาสนาสอนให้มุ่งเน้นในส่วนที่โลกกำลังดำเนินอยู่ เกี่ยวพัน เกี่ยวข้องกับระบบทั้งมวล
เราอยู่ในจักรวาล ก็ย่อมดำเนินตามระบบของจักรวาล เราอยู่ในโลกก็ย่อมดำเนินตามระบบของโลก ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ธรรมชาติก็คือระบบ ทุกอย่างพัวพันกับระบบ
พระพุทธเจ้าสอนให้รู้จักระบบ และอยู่บนระบบได้อย่างเป็นสุข รู้ทันระบบ ดำเนินอยู่ในระบบได้อย่างเป็นสุข ไม่ระแวงกับระบบ แต่สามารถอยู่ในขณะที่ระบบกำลังกลั่นแกล้งเราได้
อยู่กับธรรมชาติ ได้อย่างเป็นสุข รู้ทางพ้นจากทุกข์ หรือพ้นจากระบบได้ในทางที่ถูกต้อง เหมาะสม นี่คือ หลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่แท้จริง
ในพระไตรปิฎกของพุทธศาสนาจะพบคำว่า ธรรมและวินัย ควบกันไปเช่นพระพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า [1]
อานนท์ ! ธรรมวินัยใดอันเราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลายโดยกาลล่วงไปแห่งเรา
****คำว่า ธรรม พระเดชพระคุณพระธรรมโกศาจารย์ หลวงพ่อพุทธทาส อินทปัญโญ กล่าวว่า คือ[2]
1. ธรรมชาติ
2. กฎของธรรมชาติ
3. หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ
4. การได้รับผลตามกฎของธรรมชาติ
****คำว่า ธรรม พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต) กล่าวไว้ว่า คือ
“สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ สภาวะธรรม, สัจธรรม, ความจริง, เหดุ, ต้นเหตุ, สิ่ง, ปรากฏการณ์


พุทธธรรม หรือ พระธรรม หมายถึง ธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงค้นพบและนำออกเผยแผ่ หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับความจริงตามธรรมชาติของทุกข์และวิธีการดับทุกข์ พุทธธรรม ของพระพุทธเจ้านั้น แต่เริ่มสืบทอดกันด้วยวิธีท่องจำแบบปากต่อปาก สมัยต่อมาจึงได้มีการบันทึกไว้เป็นตัวอักษร คัมภีร์ที่บันทึกพุทธธรรมนั้น เรียกว่า พระไตรปิฎก และมีคำอธิบายจัดไว้เป็นหมวดคัมภีร์ เรียกชื่อต่างๆ อาทิ อรรถกถา, ฎีกา, อนุฎีกา เป็นต้น
ธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้น คำว่า ค้นพบ ย่อมหมายถึง ธรรม เป็นสิ่งที่มีอยู่เดิม มีมาก่อน ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมพระพุทธองค์ แต่เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้ อาจพอกล่าวได้ว่า การเรียนรู้ ธรรม ก็คือการรับรู้ธรรมดาโลก เรียนรู้สิ่งที่เป็นปกติที่มีบ่อเกิดที่มาว่ามาอย่างไร และไปอย่างไร

พัฒนาจิต


วิธีเจริญจิตภาวนา
จากหนังสือ อตุโล ไม่มีใดเทียม
บันทึกโดย พระโพธินันทะมุนี (สมศักดิ์ ปฺณฑิโต)
รวบรวมและเรียบเรียงโดย รศ. ดร.ปฐม นิคมานนท์
ขวา ค้นศัพท์
ผู้เขียน(Webmaster)ขอกราบอาราธนาคำสอนเรื่อง "วิธีเจริญจิตภาวนา" ของพระอริยเจ้า หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่บันทึกไว้ในหนังสือ อตุโล ไม่มีใดเทียม (หน้า๔๑๕) มาบันทึกไว้ ณ.ที่นี้ โดยครบถ้วนตามต้นฉบับเดิม [แต่มีการเพิ่มเติมขยายความคำอธิบายของผู้เขียนโดยใช้อักษรสีนํ้าเงิน] และ เน้นข้อความของท่านที่เห็นความสำคัญโดยสีม่วง นอกนั้นผู้เขียนได้คงไว้ตามต้นฉบับเดิมอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ [สำหรับท่านที่ต้องการอ่านข้อความของท่านหลวงปู่ล้วนๆโดยไม่มีคำอธิบายของ Webmaster สอดแทรก Linkได้ที่นี่]
นักปฏิบัติที่มีความเข้าใจใน ปฏิจจสมุปบาท หรือ ขันธ์๕ โดยเฉพาะผู้ที่เห็น จิต(จิตสังขารหรืออาการของจิต เช่น ความคิด, ราคะ, โทสะ, โมหะ จิตปรุงแต่ง จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ ฯลฯ - หาอ่านรายละเอียดได้ในบทสติปัฏฐาน๔ หรือเห็น เวทนา) ในขณะใดๆบ้างแล้ว(จิตตานุปัสสนาและเวทนานุปัสสนา) เช่น เห็นจิตหรือเวทนาขณะที่เกิดขึ้นบ้าง หรือขณะเสื่อม(แปรปรวน)บ้าง หรือขณะดับไปอย่างไม่มีแก่นแกนบ้าง ก็จะเข้าใจได้ง่าย และขอให้โยนิโสมนสิการในความเป็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ) หรือปรมัตถสัจจะที่เมื่อธรรมารมณ์หรือความคิดที่กระทบกับจิตแล้ว ย่อมเกิดผลขึ้นเป็นธรรมดา ประดุจเดียวกับการที่สิ่งต่างๆกระทบกับกาย (โผฏฐัพพะ-กายผัสสะกับสิ่งต่างๆ) ก็จะยังประโยชน์แก่นักปฏิบัติอย่างสูง
พนมพร



วิธีเจริญจิตภาวนา ตามแนวการสอนของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
๑. เริ่มต้นอิริยาบถที่สบาย ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ตามสะดวก [ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบการปฏิบัติสมถสมาธิ ทำในขณะจิตตื่นปกติในวิถีชีวิตประจำวันได้ ในช่วงว่างๆ ใจสงบ สบาย แค่ไม่ซัดส่ายส่งออกไปปรุงแต่งในเรื่องต่างๆนาๆ หรือถ้าต้องการใช้สมาธิก็ใช้ระดับขณิกสมาธิก็พอเพียงแล้ว การใช้สมาธิที่ลึกละเอียดมักจะทำให้เกิดภวังค์และนิมิต เลื่อนไหลไปท่องเที่ยวอยู่ในจิตภายในอันเป็นปฏิปักษ์กับการเจริญวิปัสสนานี้]
ทำความรู้ตัวเต็มที่ และ รู้อยู่กับที่ โดยไม่ต้องรู้อะไร คือ รู้ตัว อย่างเดียว
[มีสติแค่รู้อยู่อย่างสบายๆ แต่ก็ไม่คิด,ไม่คิดนึกปรุงแต่งใดๆทั้งสิ้น ใหม่ๆก็ยากหน่อยเป็นธรรมดา เพราะธรรมชาติของจิตปุถุชนโดยทั่วไป ย่อมมักจะส่งส่ายออกไปคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆ หรือปรุงแต่งตามสิ่งที่มาผัสสะผ่านทางอายตนะภายใน อันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ]
รักษาจิตเช่นนี้ไว้เรื่อยๆ ให้ "รู้อยู่เฉยๆ" ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะ อย่าบังคับ อย่าพยายาม อย่าปล่อยล่องลอยตามยถากรรม



[คือ อย่าปล่อยให้เลื่อนไหลไปตามความคิดนึกปรุงแต่ง หรือการเลื่อนไหลไปตามกำลังอำนาจสมาธิที่ลึกเกินไป เช่น ภาพนิมิต หรือนามนิมิตเช่นความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆ ที่ผุดขึ้นขณะอยู่ในสมาธิที่ลึกเกินไป และระวังอาการจิตที่เรียกว่าจิตส่งใน]
เมื่อรักษาได้สักครู่ จิตจะคิดแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ [แส่ไปตามความคิด,คิดนึกปรุงแต่งต่างๆ หรือการสอดแส่ไปใน อารมณ์ อันหมายถึงในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จากภายนอกต่างๆที่มากระทบได้] โดยไม่มีทางรู้ทันก่อนเป็นธรรมดา [จึงหมายถึงต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ถูกต้องไม่ต้องกังวล และจะเกิดอย่างนี้เป็นประจำเสมอๆ แต่อย่าท้อแท้เพราะเป็นเช่นนี้เป็นธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง]สำหรับผู้ฝึกใหม่ ต่อเมื่อจิตแล่นไป คิดไปในอารมณ์นั้นๆ จนอิ่มแล้ว ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง [ทำดังนี้ให้เชี่ยวชาญชำนาญยิ่ง] เมื่อรู้สึกตัวแล้วให้พิจารณาเปรียบเทียบภาวะของตนเอง ระหว่างที่มีความรู้อยู่กับที่[มีสติ] และระหว่างที่จิตคิดไปในอารมณ์ [จิตที่สอดแส่ไปคิด,คิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆ หรือปรุงไปใน รูป เสียง ฯ.ที่กระทบ] ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นอุบายสอนจิตให้จดจำ [คือสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่าง จิตมีความรู้ตัวอยู่กับที่คือมีสติ กับ จิตขณะปรุงแต่งย่อมเกิดการผัสสะจึงย่อมเกิดเวทนาต่างๆเป็นสุขเป็นทุกข์ขึ้นเป็นธรรมดา จึงย่อมเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน อันจะยังให้เกิดปัญญาหรือญาณอันสำคัญยิ่ง จากการได้เห็นได้หยั่งรู้ได้ด้วยตัวตนเอง-ปัจจัตตัง]
จากนั้น ค่อยๆ รักษาจิตให้อยู่ในสภาวะรู้อยู่กับที่ต่อไป [มีสติ รักษาสติอย่าให้เลื่อนไหลไปสู่สมาธิหรือฌานที่ลึกละเอียดประณีต เพราะ ณ ขณะนี้เป็นการฝึกสติให้เห็นจิต อย่างต่อเนื่อง มิใช่การมุ่งเน้นทำสมถสมาธิ แต่เป็นการมุ่งเน้นวิปัสสนา] ครั้นพลั้งเผลอรักษาไม่ดีพอ

จิตก็จะแล่นไปเสวยอารมณ์ข้างนอกอีก [เป็นธรรมดาโดยธรรมชาติของจิต อีกเช่นเดิม เพราะย่อมเกิดขึ้นบ่อยๆทีเดียวเป็นธรรมดา จึงไม่ต้องท้อแท้หรือหงุดหงิดเมื่อเกิดขึ้น แต่เมื่อจิตปรุงแต่ง]จนอิ่มแล้ว ก็จะกลับรู้ตัว รู้ตัวแล้วก็พิจารณา และรักษาจิตต่อไป [ขณะที่จิตอิ่มตัว แล้วกลับมารู้ตัวหรือมีสตินั้น ต้องอุเบกขา คือไม่เอนเอียงไปแทรกแซงด้วยถ้อยคิดกริยาจิตใดๆในเรื่องนั้นอีกด้วย]
ด้วยอุบายอย่างนี้ ไม่นานนัก ก็จะสามารถควบคุมจิตได้ และบรรลุสมาธิ [เป็นสัมมาสมาธิ เพื่อการวิปัสสนา ที่ไม่ได้มุ่งหวังในความสงบสุขสบายแต่อย่างใด] ในที่สุด และจะเป็นผู้ฉลาดใน "พฤติแห่งจิต" [กริยา อาการ และการกระทำของจิต] โดยไม่ต้องไปปรึกษาหารือใคร [อันจะสั่งสมจนเกิดเป็น สังขาร อันมิได้เกิดแต่อวิชชา แต่เป็น สังขารที่เกิดแต่วิชชาที่จะนำพาให้พ้นทุกข์อย่างถาวรต่อไป]
ข้อห้าม ในเวลาจิตฟุ้งเต็มที่ อย่าทำ เพราะไม่มีประโยชน์ และยังทำให้บั่นทอนพลังความเพียร ไม่มีกำลังใจในการเจริญจิตครั้งต่อๆ ไป [เพราะการปฏิบัติขณะจิตฟุ้งด้วยกำลังแรงกล้า ก็จะไม่บังเกิดผลเพราะใจที่ซัดส่ายและเพราะขาดความชำนาญ หรือขาดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในขั้นต้น ดังนั้นเมื่อไม่เห็นผลได้ด้วยตนเองก็ย่อมเกิดความท้อแท้ หรือวิจิกิจฉาว่าไม่ถูกต้อง อันย่อมบั่นทอนความเชื่อความเข้าใจไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้ไม่มีกำลังใจในการปฏิบัติครั้งต่อๆไป]
[ผู้ที่เห็นจิต - จิตสังขาร - สังขารขันธ์อันคือความคิดความนึก และเวทนา ได้แล้วและค่อนข้างสมํ่าเสมอจากความเข้าใจปฏิจจสมุปบาทหรือขันธ์๕ อาจข้ามไปที่ข้อ ๒ เลย]




ในกรณีที่ไม่สามารถทำเช่นนี้ [เนื่องจากไม่เคยปฏิบัติในแนววิปัสสนาให้เห็นจิต หรือความคิดความนึก หรือเพราะยังไม่มีสัมมาสมาธิอย่างถูกต้อง] ให้ลองนึกคำว่า "พุทโธ" หรือคำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุเย้ายวน หรือเป็นเหตุขัดเคืองใจ นึกไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตดูว่า คำที่นึกนั้น ชัดที่สุดที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นแหละคือฐานแห่งจิต
พึงสังเกตว่า ฐานนี้ไม่อยู่คงที่ตลอดกาล บางวันอยู่ที่หนึ่ง บางวันอยู่อีกที่หนึ่ง [เป็นอุบายวิธีเพื่อหาที่ให้จิตรวมเป็นหนึ่ง เป็นสัมมาสมาธินั่นเอง]
ฐานแห่งจิตที่คำนึงพุทโธปรากฏชัดที่สุดนี้ ย่อมไม่อยู่ภายนอกกายแน่นอน ต้องอยู่ภายในกายแน่ แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นว่าฐานนี้จะว่าอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกายก็ไม่ถูก ดังนั้น จะว่าอยู่ภายนอกก็ไม่ใช่ จะว่าอยู่ภายในก็ไม่เชิง เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าได้กำหนดถูกฐานแห่งจิตแล้ว
เมื่อกำหนดถูก และพุทโธปรากฏในมโนนึก(ความคิดนึก)ชัดเจนดี ก็ให้กำหนดนึกไปเรื่อย อย่าให้ขาดสายได้
ถ้าขาดสายเมื่อใด จิตก็จะแล่นสู่อารมณ์ทันที
เมื่อเสวยอารมณ์อิ่มแล้ว จึงจะรู้สึกตัวเองก็ค่อยๆ นึกพุทโธต่อไป ด้วยอุบายวิธีในทำนองเดียวกับที่กล่าวไว้เบื้องต้น ในที่สุดก็จะค่อยๆ ควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เอง
ข้อควรจำ ในการกำหนดจิตนั้น ต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ ในอันที่จะเจริญจิตให้อยู่ในสภาวะที่ต้องการ เจตจำนงนี้ คือ ตัว "ศีล" [ข้อกำหนด ข้อบังคับ ตั้งเจตนาเพื่อให้มีความตั้งใจอันแน่วแน่]


การบริกรรม "พุทโธ" เปล่าๆ โดยไร้เจตจำนงไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย กลับเป็นเครื่องบั่นทอนความเพียร ทำลายกำลังใจในการเจริญจิตในคราวต่อๆ ไป
แต่ถ้าเจตจำนงมั่นคง การเจริญจิตจะปรากฏผลทุกครั้งไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน
ดังนั้น ในการนึก พุทโธ การเพ่งเล็งสอดส่อง ถึงความชัดเจน และความไม่ขาดสายของพุทโธ จะต้องเป็นไปด้วยความไม่ลดละ
เจตจำนงที่มีอยู่อย่างไม่ลดละนี้ หลวงปู่เคย เปรียบไว้ว่า มีลักษณาการประหนึ่งบุรุษหนึ่งจดจ้องสายตาอยู่ที่คมดาบที่ข้าศึกเงื้อขึ้นสุดแขนพร้อมที่จะฟันลงมา บุรุษผู้นั้นจดจ้องคอยทีอยู่ว่า ถ้าคมดาบนั้นฟาดฟันลงมา ตนจะหลบหนีประการใดจึงจะพ้นอันตราย [แต่ก็ต้องนุ่มนวล ไม่ตึงเครียดจนเกิดอาการต่างๆ]
เจตจำนงต้องแน่วแน่เห็นปานนี้ จึงจะยังสมาธิให้บังเกิดได้ ไม่เช่นนั้นอย่าทำให้เสียเวลา และบั่นทอนความศรัทธาตนเองเลย
เมื่อจิตค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบทีละน้อย ๆ อาการที่จิตแล่นไปสู่อารมณ์ [เช่น การคิดนึกปรุงแต่ง,รูป,เสียง ฯ.] ภายนอก ก็ค่อย ๆ ลดความรุนแรงลง ถึงไปก็ไปประเดี๋ยวประด๋าว ก็รู้สึกตัวได้เร็วถึงตอนนี้คำบริกรรมพุทโธ ก็จะขาดไปเอง เพราะคำบริกรรมนั้นเป็นอารมณ์หยาบ เมื่อจิตล่วงพ้นอารมณ์หยาบ และคำบริกรรมขาดไปแล้ว ไม่ต้องย้อนถอยมาบริกรรมอีก เพียงรักษาจิตไว้ในฐานที่กำหนดเดิมไปเรื่อยๆ และสังเกตดูความรู้สึกและ "พฤติแห่งจิต" ที่ฐานนั้น ๆ



[คำบริกรรม พุทโธ ก็คือ จิตสังขารหรือสังขาร(สิ่งปรุงแต่ง)อันเกิดแต่จิต หรือความคิดอย่างหนึ่ง ดังนั้นการบริกรรมภาวนาอย่างมีสติ ไม่เลื่อนไหลไปคิดปรุงหรือเลื่อนไหลลงภวังค์ จึงเท่ากับเป็นการฝึกจิตหรือสติโดยตรง ให้เห็นจิต หรือจิตตสังขาร หรืออาการของจิตบางประการ-เจตสิก]
บริกรรมเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง สังเกตดูว่า ใครเป็นผู้บริกรรมพุทโธ

๒. ดูจิตเมื่ออารมณ์สงบแล้ว ให้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมเช่นนั้น เมื่อมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ให้ละอารมณ์นั้นทิ้งไป มาดูที่จิตต่อไปอีก ไม่ต้องกังวลใจ พยายามประคับประคองรักษาให้จิตอยู่ในฐานที่ตั้งเสมอๆ สติคอยกำหนดควบคุมอยู่อย่างเงียบๆ (รู้อยู่) ไม่ต้องวิจารณ์กิริยาจิตใดๆ ที่เกิดขึ้น เพียงกำหนดรู้ แล้วละไปเท่านั้น เป็นไปเช่นนี้เรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจกิริยาหรือพฤติแห่งจิตได้เอง(จิตปรุงกิเลส หรือ กิเลสปรุงจิต)


[จิตปรุงกิเลส คืออาการที่จิตส่งออกไปคิดนึกปรุงแต่งจนเกิดกิเลสขึ้น , ส่วนกิเลสปรุงจิต เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายนอก กระทบผัสสะกับ อายตนะภายใน แล้วเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสขึ้น หรือถ้าพิจารณาจากปฏิจจสมุปบาท จิตปรุงกิเลส ก็คือองค์ธรรมสังขารอันเกิดแต่อวิชชา ส่วนกิเลสปรุงจิต ก็คืออาการที่เกิดขึ้นจากสฬายตนะ กระทบผัสสะกับ อายตนะภายนอกนั่นเอง ดูรูปประกอบในการพิจารณา ]
ทำความเข้าใจในอารมณ์ความนึกคิด สังเกตอารมณ์ ทั้งสาม คือ ราคะ โทสะ โมหะ
[อารมณ์ในที่นี้ คือ ราคะ โทสะ โมหะ อันเป็น จิตสังขารประเภทอาการของจิต(เจตสิก) หรือสังขารขันธ์นั่นเอง และควรรวมเวทนาหรือความรู้สึกรับรู้ที่เกิดขึ้นไว้ด้วย เช่น สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา มีอามิส หรือไม่มีอามิสเป็นต้น เพราะสังขารบางอย่างนั้นสามารถเห็นเวทนาได้ชัดและรวดเร็วกว่าความคิดปรุงแต่ง เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ได้เพราะทั้ง๒ที่เห็นได้นี้ต่างล้วนถูกต้องดีงาม]





๓. อย่าส่งจิตออกนอก กำหนดรู้อยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น อย่าให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก [ความคิดนึกที่ส่งออกไปปรุงแต่งอารมณ์อันมี รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ จากภายนอกกาย] เมื่อจิตเผลอคิดไปก็ให้ตั้งสติระลึกถึงฐานกำหนดเดิม รักษาสัมปชัญญะให้สมบูรณ์อยู่เสมอ (รูปนิมิตให้ยกไว้ ส่วนนามนิมิตทั้งหลาย อย่าได้ใส่ใจกับมัน) [เพราะในบางครั้งอาจเกิดรูปนิมิตหรือภาพผุดขึ้นในใจบ้างเป็นธรรมดา แต่ถ้าเป็นนามนิมิตอันคือคำบริกรรมหรือความคิดความนึกที่เกิดขึ้นที่ผุดขึ้นก็อย่าใส่ใจ ให้ละกลับไปอยู่ที่สติหรือฐานกำหนดเดิม]
ระวัง จิตไม่ให้คิดเรื่องภายนอก [ออกไปความคิดนึกปรุงแต่ง] สังเกตการหวั่นไหวของจิตตามอารมณ์ที่รับมาทางอายตนะ ๖

วัตถุประสงค์ ส่งเสริมความแข็งแรงทางสุขภาพกายและสุขภาพจิตควบคู่กันไป ของชุมชน อันเป็นการรักษาและบำรุงทรัพยการทางมนุษย์ของชาติ เพื่อความเข้มแข็งของสังคม และเป็นการลดภาระ ค่าใช้จ่ายอันมหาศาลของรัฐในการเยียวยาผู้ป่วย

****จำนวนบุคลากรการแพทย์และพยาบาลทางสาธารณสุขยังมีอัตราที่ขาดอยู่เป็นสัดส่วนจำนวนมาก ไม่เพียงพอต่ออัตราการเพิ่มของจำนวนประชากร

กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนทุกครอบครัวทั้งประเทศ


ขั้นตอนและวิธีการ
เริ่มต้นจากการรับการอบรม และนำไปปฏิบัติทดลองใช้พัฒนาตนของบุคคลากรองค์กรในส่วนชุมชนเข้มแข็ง บวรสอ.เป็นแห่งแรกเพื่อกระจาย ขยายองค์ความรู้ ไปสู่ทุกครอบครัวในประเทศ โดยมีองค์กรสาธารณสุขตำบลหรือโรงพยาบาลตำบลเป็นผู้ประสานงานและช่วยเหลือ
*****บวรสอ. ประกอบด้วย

1.อาสาสมัครหมู่บ้าน
2.อาสาสมัครวัด
3.อาสาสมัครโรงเรียน
4.อาสาสมัครสาธารณสุข
5.อาสาสมัครองค์การบริหารส่วนตำบล อ.บ.ต.



พุทธธรรมนำทางสร้างชีวิต.......

"พุทธธรรมนำทางสร้างชีวิต" ไม่พลาดผิดเป็นทางที่สร้างสรรค์

"พุทธธรรมนำทาง"สว่างพลัน ออกเดินกันทันทีไม่รีรอ.....

"พุทธธรรมนำชีวิต"คิด-พูด-ทำ ช่วยน้อมนำเหมือนดวงแก้วเพริศแพร้วหนอ

"พระไตรรัตน์นำหน้า"ก็ว่าพอ จากนั้นก็เร่งปฏิบัติพัฒนา

คือ"พัฒนาทางจิต"ชีวิตตน ให้เกิดผลสมหวังเป็นฝั่งฝา

"เกิดเป็นคนต้องเร่งรัดพัฒนา" หากเกิดมาใช้กรรมไม่ทำอะไร

ก็เหมือน"เสียชาติเกิด"กำเนิดมา ควรตายเสียดีกว่าแล้วเกิดใหม่

"เดินถอยหลังลงคลอง"ไม่ต้องใจ เป็นคนไทยมีปัญญาน่านิยม

"คิด-พูด-ทำแต่กรรมดีชั่วชีวิต" กรรมลิขิตจักอำนวยให้สวยสม

อยากได้ดีมีปัญญาใบหน้าคม รูปสวยสมเป็นเศรษฐีมีเงินทอง

หวังมรรค-ผล-นิพพานใช่งานยาก ฝ่าหนามขวากต้องอดทนอย่าหม่นหมอง

"ใช่โรยด้วยกุหลาบ"ทาทาบทอง ทางนี้ต้องมั่นคง"ลงมือทำ-!!"

-ด้วยตนเอง"เท่านั้นประกันผล ตนของตนทำแล้วสมว่าคมขำ

"กัลยาณมิตร"ควรมีไว้ชี้นำ "พุทธธรรมนี้คือเพื่อน"ไม่เชือนแช

จะตามส่งพี่น้องตามต้องการ ถึงนิพพานให้เห็นงามตามกระแส

พากันไป"ไม่ต้องเกิด"ประเสริฐแล อีกพ่อแม่ไม่ต้องถามตามเรามาฯ