เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

กลอนมงคล 38 ประการ


กลอนมงคล 38 ประการ

มงคลที่ 1 ไม่คบคนพาล

อย่าคบมิตร ที่พาล สันดานชั่ว
จะพาตัว เน่าดิบ จนฉิบหาย
แม้ความคิด ชั่วช้า อย่ากล้ำกราย
เป็นมิตรร้าย ภายใน ทุกข์ใจครัน


มงคลที่ 2 การคบบัณฑิต

ควรคบหา บัณฑิต เป็นมิตรไว้
จะช่วยให้ พ้นทุกข์ สบสุขสันต์
ความคิดดี เลิศล้ำ ยิ่งสำคัญ
ควรคบกัน อย่าเขว ทุกเวลา


มงคลที่ 3 การบูชาบุคคลที่ควรบูชา

ควรบูชา ไตรรัตน์ ขัตติเยศร์
ผู้วิเศษ ก่อเกื้อ เหนือเกศา
ครูอาจารย์ เจดีย์ ที่สักการ์
ด้วยบุปผา ปฏิบัติ สวัสดิ์การ


มงคลที่ 4 การอยู่ในถิ่นอันสมควร

เป็นเมืองกรุง ทุ่งนา หรือป่าใหญ่
ทางมา-ไป ครบครัน ธัญญาหาร
มีคนดี ที่ศึกษา พยาบาล
ปลอดภัยพาล ควรอยู่กิน ถิ่นนั้นแล


มงคลที่ 5 เคยทำบุญมาก่อน

กุศลบุญ คุณล้ำ เคยทำไว้
จะส่งให้ สวยเด่น เช่นดวงแข
ทั้งทรัพย์ยศ ไมตรี มีเย็นแด
เพราะกระแส บุญเลิศ ประเสริฐนัก


มงคลที่ 6 การตั้งตนชอบ

ต้องตั้งตน กายใจ ในทางถูก
เร่งฝังปลูก ตนไว้ ให้ถูกหลัก
เมื่อตัวตน ยังมี เป็นที่รัก
ควรพิทักษ์ ให้งาม ตามเวลา


มงคลที่ 7 ความเป็นพหูสูต

การสนใจ ใฝ่คว้า หาความรู้
ให้เป็นผู้ แก่เรียน เพียรศึกษา
มีศีลดี สติมั่น เกิดปัญญา
ย่อมนำพา ตัวรอด เป็นยอดดี


มงคลที่ 8 การรอบรู้ในศิลปะ

ศิลปะ ต่างอย่าง ทางอาชีพ
ควรเร่งรีบ เรียนรู้ ชูศักดิ์ศรี
มีบางคน จนอับ กลับมั่งมี
ฉลาดดี มีศิลป์ หากินพอ


มงคลที่ 9 มีวินัยที่ดี

อันวินัย นำระเบียบ สู่เรียบร้อย
คนใหญ่น้อย เปรมปรีดิ์ ดีนักหนา
วินัยสร้าง กระจ่างข้อ ก่อศรัทธา
เพราะรักษา กติกา พาร่วมมือ

ไม่พูดเท็จ พูดสอดเสียด และพูดมาก
ละความยาก สร้างวิบาก ฝากยึดถือ
คนหมู่มาก มักถางถาก ปากข่าวลือ
ต้องสัตย์ซื่อ ถือวินัย ใช้ร่วมกัน


มงคลที่ 10 กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิตี

เปล่งวจี สัจจะ นวลละม่อม
กล่าวเลลี้ยกล่อม ไพเราะ กาลเหมาะสม
เจือประโยชน์ เมตตา ค่านิยม
รื่นอารมณ์ ผู้ฟัง ดังเสียงทอง


มงคลที่ 11 การบำรุงบิดามารดา

คนที่หา ได้ยาก มากไฉน
เพราะว่าใน โลกนี้ มีเพียงสอง
คือพ่อแม่ เกิดเกล้า เหล่าลูกต้อง
ตอบสนอง พระคุณ ได้บุญแรง


มงคลที่ 12 การสงเคราะห์บุตร

เป็นมารดา บิดา ทำหน้าที่
ให้บุตรมี พำนัก เป็นหลักแหล่ง
ส่งเสริมบุตร ธิดาตน กุศลแรง
ย่อมส่องแสง เพิ่มพูน ตระกูลวงศ์


มงคลที่ 13 การสงเคราะห์ภรรยา

มีคู่ครอง ต้องไม่ทำ ให้ช้ำจิต
จะพาผิด ไปข้าง ทงผุยผง
ต้องสงเคราะห์ แก่กัน ให้มั่นคง
รักยืนยง ด้วยกัน ถึงวันตาย


มงคลที่ 14 ทำงานไม่คั่งค้าง

จะทำงาน การใด ตั้งใจมั่น
อย่าผัดวัน ทำเล่น เช้า เย็น สาย
ไม่ทิ้งคา อากูล มากมูลมาย
เร่งคลี่คลาย ให้เสร็จ สำเร็จการ


มงคลที่ 15 การให้ทาน

ควรบำเพ็ญ ซึ่งทาน คือการให้
ท่านว่าไว้ สวยงาม สามสถาน
หนึ่งให้ของ สองธรรมะ ขนะมาร
อภัยทาน ที่สาม งามเหลือเกิน


มงคลที่ 16 การประพฤติธรรม

การประพฤติ ตามธรรม คำพระสอน
ไม่เดือดร้อน ถอนทุกข์ ยามฉุกเฉิน
คนรักธรรม ธรรมรักษ์คน ผลเจริญ
นั่ง,ยืน,เดิน นอน,สุข ทุกข์ไม่มี


มงคลที่ 17 การสงเคราะห์ญาติ

เมื่อยามญาติ อัตคัด เกินขัดข้อง
ควรหาช่อง สงเคราะห์ ไม่เลาะหนี
เขาซาบซึ้ง ถึงคุณ อบอุ่นดี
หากถึงที เราจน ญาติสนใจ


มงคลที่ 18 ทำงานไม่มีโทษ

งานรับจ้าง ล้างชาม ก็ตามเถิด
หากไม่เกิด โทษทัณฑ์ นั่นสดใส
เมื่อได้ช่อง ต้องจำ กระทำไป
ได้กำไร ทุกทาง ไม่ว่างงาน


มงคลที่ 19 ละเว้นจากบาป

กรรมชั่วช้า ลามก ต้องยกเว้น
หากขืนเล่น ด้วยกัน ถูกมันผลาญ
งดเว้นบาป กำราบให้ ไกลสันดาน
ในดวงมาลย์ ไม่ร้อน และอ่อนเพลีย


มงคลที่ 20 สำรวมจากการดื่มน้ำเมา

ของมึนเมา ทุกชนิด พิษคล้ายเหล้า
ใครเสพเข้า น่าตำหนิ สติเสีย
เกิดโรคร้าย แรงร้อน กายอ่อนเพลีย
ใครงดเสีย เป็นสุข ไปทุกวัน


มงคลที่ 21 ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย

ไม่ประมาท คือมี สติพร้อม
คอยหน่วงน้อม ธรรมคุณ ไม่ผลุนผลัน
ธรรมอันใด ไม่ดี หลีกหนีพลัน
ธรรมดีนั้น ยึดแน่น ไม่แคลนคลอน


มงคลที่ 22 มีความเคารพ

ความเคารพ นับถือ คือเสน่ห์
ไม่โลเล เหมือนลิง วิ่งหลอกหลอน
ทั้งต่อหน้า ลับหลัง พึงสังวร
ย่อมงามงอน สวยสง่า ราคาแพง


มงคลที่ 23 มีความถ่อมตน

ไม่พองลม ก้มหัว เจียมตัวด้วย
มรรยาทสวย นิ่มนวล สิ้นส่วนแข็ง
เหมือนงูพิษ ถอดเขี้ยว หมดเรี่ยวแรง
ยามแถลง นอบน้อม พร้อมใจกาย


มงคลที่ 24 มีความสันโดษ

ความสันโดษ พอใจ ในสิ่งของ
เช่นเงินทอง ของตน แม้ล้นหลาย
เมื่อมีน้อย จ่ายน้อย ค่อยสบาย
ความจนหาย เลยลับ กลับมั่งมี


มงคลที่ 25 มีความกตัญญู

กตัญญู รู้บุญ คุณพ่อแม่
คนเฒ่าแก่ แลอาจารย์ ท่านทรงศีล
จอมมุนินทร์ ปิ่นเกล้า เจ้าธานี
หาวิธี แทนคุณ สมดุลกัน


มงคลที่ 26 การฟังธรรมตามกาล

การฟังธรรม ตามกาล ผ่านมาถึง
ควรคำนึง นิ่งนั่ง ฟังขยัน
ย่อมจะเกิด ปัญญา สารพัน
ตั้งใจมั่น ฟังดี นี่สมควร


มงคลที่ 27 มีความอดทน

ความอดทน ตรากตรำ ยามลำบาก
เจ็บไข้มาก ทนได้ ไม่โหยหวน
ถูกเขาด่า ให้ฟัง นั่งหน้านวล
ยิ้มเสสรวล ด้วยขันติ งามวิไล


มงคลที่ 28 เป็นผู้ว่าง่าย

ควรเป็นคน สอนง่าย ไม่ตายด้าน
ก่อรำคาญ ค่ำเช้า ไม่เข้าไหน
ไม่ซัดโทษ ของตน ให้คนใด
เมื่อมีใคร สอนพร่ำ ให้นำมา


มงคลที่ 29 การได้เห็นสมณะ

การพบเห็น สมณะ ผู้สงบ
แล้วนอบนบ ถามไถ่ ไตรสิกขา
หมั่นฝึกหัด ทุกวัน ด้วยปัญญา
ย่อมชักพา จิตตรง มงคลมี


มงคลที่ 30 การสนทนาธรรมตามกาล

ยามหดหู่ ฟุ้งซ่าน กาลสงสัย
เป็นสมัย ไต่ถาม ตามเหตุผล
เพื่อบรรเทา คลี่คลาย หายกังวล
ควรจะสน- ทนาธรรม ตามที่ควร


มงคลที่ 31 การบำเพ็ญตบะ

พึงบำเพ็ญ ตบะ ละกิเลส
อันเป็นเหตุ หักห้าม กามฉันท์
มุ่งทำลาย ถ่ายบาป สาบสูญพันธุ์
เข้าสู่ขั้น สุโข ฌาณโกลีย์


มงคลที่ 32 การประพฤติพรหมจรรย์

เร่งประพฤติ พรหมจรรย์ อันประเสริฐ์
เพื่อให้เกิด สุขล้วน โดยถ้วนถี่
ตั้งแต่ทาน ถึงสิกขา บรรดามี
สมบูรณ์ดี พรหมจรรย์ ย่อมมั่นคล


มงคลที่ 33 การเห็นอริยสัจ

การรู้เห็น ความจริง สิ่งเที่ยงแท้
ไม่ผันแปร สี่ชนิด ไม่ผิดหลง
ตัดตัณหา มูลราก พรากทุกข์ลง
เป็นการส่ง ข้ามฟาก จากสาคร


มงคลที่ 34 การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

ทำให้แจ้ง นิพพาน ผลาญสังโยชน์
ตรวจตราโทษ ธาตุ ขันธ์ หมั่นฝึกถอน
เอาอรหัต มรรคญาณ เผาราญรอน
ดับทุกข์ร้อน นิพพาน สำราญนัก


มงคลที่ 35 การมีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม

ท่านผู้ใด ใจดำรง อยู่คงที่
ในเมื่อมี โลกธรรม ครอบงำหนัก
เช่น ลาภ ยศ สุข เศร้า เข้าง้างชัก
มิอาจยัก ท่าน ให้หวั่นใจ


มงคลที่ 36 การมีจิตไม่โศกเศร้า

คราวพลักพราก จากญาติ ขาดชีวิต
ถูกพิชิต จองจำ ทำโทษใหญ่
มีสติ คุมจิต เป็นนิตย์ไป
ไม่เสียใจ โศกเศร้า เฝ้าประคอง


มงคลที่ 37 มีจิตปราศจากกิเลส

หมดราคะ โทสะ โมหะแล้ว
จิตผ่องแผ้ว เลิศดี ไม่มีสอง
ย่อมมีค่า สูงจริง ยิ่งเงินทอง
เหมือนสูริย์ส่อง ท้องฟ้า สง่างาม


มงคลที่ 38 มีจิตเกษม

จิตเกษม เปรมปรีดิ์ ดีตลอด
เป็นจิตปลอด จากโอฆ ในโลกสาม
เครื่องผูกมัด สลัดหมด แสนงดงาม
เข้าถึงความ สุขสันต์ นิรันดร

ทำสังคมไทยให้เป็นมิตรกับความดี



บทความ > พุทธศาสนา > ทำสังคมไทยให้เป็นมิตรกับความดี


ทำสังคมไทยให้เป็นมิตรกับความดี
พระไพศาล วิสาโล
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเรื่อง
"สร้างเมืองไทยให้น่าอยู่ใน ๙๙๙ วัน"
(สนพ.ขอคิดด้วยคน ของดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง)
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
คนไทยในอดีตได้ชื่อว่ามีมาตรฐานทางศีลธรรมค่อนข้างสูง เป็นที่ประทับใจของชาวต่างชาติมาก ดังสังฆราชปาลเลกัวซ์ได้พูดถึงชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ ๓ ว่า “ชาวประชาชาตินี้มีที่น่าสังเกตตรงอัธยาศัยอันอ่อนโยนและมีมนุษยธรรม ในพระนครซึ่งมีพลเมืองค่อนข้างคับคั่ง ไม่ค่อยปรากฏว่ามีการทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรง ส่วนฆาตกรรมนั้นเห็นกันว่าเป็นกรณีพิเศษมากทีเดียว บางทีตลอดทั้งปีไม่มีการฆ่ากันตายเลย....ไม่เพียงแต่ต่อมนุษย์ด้วยกันเท่านั้นที่คนไทยมีมนุษยธรรม ยังเผื่อแผ่ไปถึงสัตว์เดียรัจฉานอีกด้วย”

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อคาร์ล ซิมเมอร์แมน มาสำรวจสภาพเศรษฐกิจไทย เขาอดไม่ได้ที่จะชื่นชมว่า “พลเมืองของประเทศสยามมีนิสัยใจคอดี และไม่มีความโลภในการสะสมโภคทรัพย์ไว้เป็นมาตรฐานแห่งการครองชีวิต การละทิ้งเด็ก การขายเด็ก การสมรสในวัยเยาว์ และความประพฤติชั่วร้ายต่าง ๆ ซึ่งอนารยชนชอบประพฤติกัน ไม่ปรากฏในหมู่คนไทยเลย”

คำบรรยายดังกล่าวเกือบจะเรียกได้ว่าตรงข้ามกับสภาพในปัจจุบัน ทุกวันนี้ประเทศไทยมีอาชญากรรมในอัตราที่สูงมาก มีคนถูกฆ่าตายวันละเกือบ ๒๐ คนหรือตายเกือบทุกชั่วโมง มีผู้หญิงถูกกระทำชำเราไม่ต่ำกว่า ๑๔ คนต่อวัน ในขณะที่เด็กถูกละเมิดทางเพศทุก ๒ ชั่วโมง

ความรุนแรงยังระบาดไปยังครอบครัวและโรงเรียน ขณะที่ตามท้องถนนมีเด็กถูกทิ้งปีละกว่า ๖,๐๐๐ คน ไม่นับการทำแท้งปีละ ๓ แสนราย

ในด้านการลักขโมยก็เป็นที่รู้กันดีว่ากำลังแพร่ระบาดไปทั่ว เมื่อ ๓ ปีที่แล้วบริษัทประกันภัยระดับโลกแห่งหนึ่ง(AVIVA)ได้ทำการสำรวจความเห็นของนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษจำนวน ๖๐,๐๐๐ คนเกี่ยวกับอันตรายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ปรากฏว่าเมืองไทยติดอันดับหนึ่งในเรื่องการลักขโมย และติดอันดับสองในด้านการชิงทรัพย์โดยใช้ความรุนแรง

ในด้านการคดโกงหรือคอร์รัปชั่น ประเทศไทยก็เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก เพราะแพร่หลายไปทุกวงการและทุกระดับ เมื่อต้นปีนี้บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจ (เพิร์ค) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของนักธุรกิจต่างชาติ พบว่าประเทศไทยมีคอร์รัปชั่นมากที่สุดเป็นอันดับ ๒ ในเอเชีย รองจากฟิลิปปินส์

ทั้งหมดนี้ชี้ว่าศีลธรรมของคนไทยตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย สาเหตุมิใช่เป็นเพราะเราสอนศีลธรรมกันน้อยลง หรือเป็นเพราะคนไทยเหินห่างจากวัด ไม่ฟังเทศน์วันพระ หรือรู้จักวันวาเลนไทน์มากกว่าวันมาฆบูชา (คนญี่ปุ่นเข้าวัดน้อยกว่าคนไทยมากแถมไม่รู้จักศีล ๕ แต่มีการละเมิดศีล ๕ น้อยกว่าคนไทยมาก)

การเรียกร้องให้เพิ่มชั่วโมงศีลธรรมในโรงเรียนให้มากขึ้น รวมทั้งเรียกร้องให้พ่อแม่พาลูกหลานเข้าวัดมากขึ้น และนิมนต์พระมาเทศน์ตามหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งในสภาให้มากขึ้น ล้วนมีพื้นฐานมาจากการมองปัญหาจริยธรรมในระดับบุคคลทั้งสิ้น คือมองว่าจริยธรรมเสื่อมเพราะผู้คนไม่รักดีหรือเพราะไม่รู้ผิดรู้ชอบ แต่สิ่งขาดหายไปก็คือการมองปัญหาจริยธรรมในระดับสังคม คือตระหนักว่าปัจจัยทางสังคมเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้จริยธรรมของผู้คนเสื่อมโทรมลง การมองข้ามปัจจัยดังกล่าวทำให้การแก้ปัญหาจริยธรรมมักหนีไม่พ้นการ “สอน” หรือ “เทศน์” หรือ “รณรงค์”

คนไทยมีศีลธรรมตกต่ำไม่ใช่เพียงเพราะว่าไม่รู้จับบาปบุญคุณโทษ หรือไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะสังคมไทยทุกวันนี้เป็นปฏิปักษ์กับความดี กล่าวคือไม่ส่งเสริมคนดี (แต่นิยมคนมีเงินหรือมีชื่อเสียงมากกว่า) กระตุ้นและบีบคั้นให้ผู้คนเห็นแก่ตัว เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุให้หลงใหลในอบายมุข หวังลาภลอยคอยโชคและนิยมทางลัด(ซึ่งรวมถึงการคอร์รัปชั่น) และที่สำคัญคือบั่นทอนสถาบันทางศีลธรรมจนอ่อนแรง ทำให้ไม่สามารถเสริมสร้างศีลธรรมให้แก่ผู้คนได้ดังแต่ก่อน

ปัจจัยทางสังคมที่เป็นสาเหตุแห่งความเสื่อมทางจริยธรรมในปัจจุบัน ได้แก่

๑.การครอบงำของวัตถุนิยมและอำนาจนิยม

การขยายตัวของระบบทุนนิยมอย่างแทบไม่มีขีดจำกัด ได้ทำให้เงินเข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้คนจนกลายเป็นเป้าหมายของชีวิต ความร่ำรวยกลายเป็นความปรารถนาสูงสุดของผู้คน ใช่แต่เท่านั้นเงินยังกลายเป็นตัววัดคุณค่าของทุกสิ่ง กลายเป็นสื่อกลางความสัมพันธ์ในทุกมิติ กล่าวคือความรักของพ่อแม่หรือของคู่รักต้องแสดงออกด้วยการให้เงินหรือวัตถุ ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนอาจารย์กับนักศึกษา หมอกับคนไข้ ก็ต้องอาศัยเงินเป็นตัวเชื่อม หาใช่น้ำใจดังแต่ก่อนไม่ นอกจากนั้นการยกย่องเงินเป็นใหญ่ยังทำให้เกิดธุรกิจด้านอบายมุขมากมาย รวมทั้งสื่อมวลชนที่ส่งเสริมค่านิยมผิด ๆ ที่สวนทางกับศีลธรรม

สังคมไทยยังเป็นสังคมที่นิยมใช้อำนาจในการแก้ปัญหา รัฐบาลและระบบราชการเป็นแบบอย่างของการใช้อำนาจมากกว่าคุณธรรมหรือความรู้ ทำให้เกิดวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมในทุกระดับและทุกสถาบัน รวมทั้งครอบครัว โรงเรียนและวัด ยิ่งใช้อำนาจมากเท่าไร จริยธรรมก็ถูกละเลยมากเท่านั้น จนเกิดค่านิยมแสวงหาอำนาจโดยไม่สนใจว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่

๒.ความล้มเหลวของสถาบันทางศีลธรรม

สถาบันทางศีลธรรมอันได้แก่ครอบครัว ชุมชน วัด และโรงเรียน เคยมีบทบาทอย่างมากในการกล่อมเกลาสำนึกทางศีลธรรมแก่ผู้คน สถาบันดังกล่าวจะอยู่ได้ต้องอาศัยสายสัมพันธ์ระหว่างบุคคลโดยมีความรัก ความเสียสละ ความเคารพเป็นตัวเชื่อม แต่เมื่อเงินเข้ามามีบทบาทต่อผู้คนอย่างมาก สัมพันธภาพที่เคยแน่นแฟ้นก็แปรเปลี่ยนไป

การทำมาหากินตามวิถีเศรษฐกิจอย่างใหม่โดยเฉพาะในเมือง ทำให้พ่อแม่ห่างเหินจากลูก ผลก็คือครอบครัวลดบทบาทในการให้การศึกษาแก่เด็ก ปล่อยให้โรงเรียนและสื่อมวลชนเข้ามามีบทบาทแทน ความอ่อนแอของสถาบันครอบครัวเห็นได้จากสถิติการหย่าร้าง ปัจจุบันในประเทศไทย๑ ใน ๔ ของพ่อแม่แยกทางกัน ทำให้เด็กถูกทอดทิ้งหรือขาดความอบอุ่นมากขึ้น

ส่วนชุมชนก็ลดบทบาทที่แต่เดิมเคยเป็นตัวควบคุมและเสริมสร้างจริยธรรมของผู้คน เนื่องจากเศรษฐกิจและวิถีชีวิตแบบใหม่ทำให้ผู้คนอยู่กันแบบตัวใครตัวมันมากขึ้น ประกอบกับผู้คนหันไปพึ่งหน่วยงานของรัฐมากขึ้น เช่น โรงเรียน โรงพยาบาลทำให้ความจำเป็นที่จะต้องพึ่งชุมชนดังแต่ก่อนลดน้อยลง ในทำนองเดียวกัน

ความเหินห่างระหว่างฆราวาสกับพระ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วัดมีบทบาทน้อยลง แต่ก็ยังไม่ทำให้วัดอ่อนแอมากเท่ากับอิทธิพลของเงิน ซึ่งทำให้พระสงฆ์ย่อหย่อนในวัตรปฏิบัติและไม่สามารถเป็นแบบอย่างในทางศีลธรรมได้ ในขณะที่วัดกลายเป็นแห่งไสยพาณิชย์และตลาดค้าบุญไป

๓.การเมืองที่ไม่โปร่งใส

ระบบการเมืองที่มีช่องโหว่สามารถก่อให้เกิดปัญหาจริยธรรมหลายประการ เช่น การเมืองที่ไม่โปร่งใสเปิดโอกาสให้มีการคอรัปชั่น หรือเปิดช่องให้ผู้มีอิทธิพลใช้เงินสร้างฐานอำนาจจนเข้ามาเป็นรัฐบาลได้ ย่อมทำให้มีการใช้อำนาจมืดเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การให้สัมปทานแก่พวกพ้อง การอนุมัติโครงการที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนหรือค่าคอมมิชชั่น แก่ตน ไปจนกระทั่งการลอบสังหารคนที่ขัดผลประโยชน์ของตน ขณะเดียวกันระบบการเมืองที่รวบอำนาจเข้าส่วนกลางหรือระบบเผด็จการก็ทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลทั้งจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านหรือจากสังคมเป็นไปได้ยาก การใช้อำนาจในทางฉ้อฉลเพื่อประโยชน์ส่วนตัวทั้งโดยผู้มีอำนาจและพวกพ้องบริวารจึงเกิดขึ้นได้ง่าย กลายเป็นค่านิยมที่ผู้คนเลียนแบบกันทั่วทั้งประเทศ

๔.ระเบียบสังคมที่ให้รางวัล ส่งเสริม หรือบีบคั้นให้คนเห็นแก่ตัว

นอกจากระบบเศรษฐกิจที่ทำให้คนเห็นแก่ตัวแล้ว ยังมีระบบต่างๆ ในสังคมที่ทำให้ผู้คนแก่งแย่งกันมากขึ้นเช่น ระบบจราจรที่ไม่เคร่งครัดกฎเกณฑ์ ระบบราชการที่ไม่เอื้อให้คนทำดี แต่เปิดช่องให้มีการทุจริตอย่างง่ายดาย หรือระบบยุติธรรม ซึ่งไม่โปร่งใสและอยู่ใต้อำนาจเงิน ทำให้คนมีเงินไม่สนใจที่จะทำตามกฎหมายเพราะเชื่อว่าสามารถใช้เงิน “อุด” ได้ ระบบที่บกพร่องเหล่านี้ (ซึ่งรวมไปถึงระบบความสัมพันธ์ในสังคม) ไม่เพียงแต่จะบีบคั้นให้คนเห็นแก่ตัวเท่านั้น หากยังให้ “รางวัล”แก่คนที่ทำเช่นนั้นด้วย เช่น คนที่ไร้น้ำใจ ไม่หยุดให้แก่คนข้ามทางม้าลาย สามารถไปถึงที่หมายก่อนใครๆ คนที่แซงคิว สามารถได้ตั๋วรถหรือตั๋วหนังก่อนใครๆ คนที่ทุจริต ซื้อตำแหน่ง สามารถเลื่อนชั้นก่อนใครๆ ใครที่ซื้อของหนีภาษีได้ก็เป็นที่ยกย่องว่าเก่ง คนที่ขายยาบ้าค้าผู้หญิง นอกจากจะไม่ถูกตำรวจจับเพราะมีเส้นสายหรือให้สินบนเจ้าหน้าที่แล้ว ยังร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว ระบบเหล่านี้มีแต่ทำให้คนเห็นแก่ตัวและเอาเปรียบกันมากขึ้น

ทำสังคมไทยให้เป็นมิตรกับความดี

การเสริมสร้างศีลธรรมในสังคมไทย นอกจากการเทศนาและเผยแผ่ธรรมแล้ว จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างปัจจัยทางสังคม(และเศรษฐกิจการเมือง)ให้เกื้อกูลต่อศีลธรรมมากขึ้น กล่าวคือส่งเสริมคนดี กระตุ้นให้ผู้คนอยากทำความดี หรือดึงพลังฝ่ายบวกของผู้คนออกมา เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยมีมาตรการต่าง ๆ ดังนี้

๑. เสริมสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัว

ควรมีมาตรการสนับสนุนให้พ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้พ่อแม่มีความสามารถในการฝึกฝนกล่อมเกลาลูก ให้รู้จักคิด ใฝ่รู้ และมีจิตสำนึกที่ดีงามความเข้มแข็งของครอบครัวด้วย นอกจากนั้นควรสนับสนุนให้มีการจัดตั้งเครือข่ายครอบครัวเพื่อช่วยเหลือกัน ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ และแม้แต่การช่วยดูแลลูกให้แก่กันและกันในบางโอกาส เครือข่ายดังกล่าวอาจเกิดขึ้นตามละแวกบ้านหรือพื้นที่ใกล้เคียงกัน หรือเกิดขึ้นในหมู่พ่อแม่ที่มีความคิดเห็นคล้ายกัน พื้นที่สาธารณะหรือกิจกรรมสำหรับการเรียนรู้ของครอบครัว เช่น พิพิธภัณฑ์เด็ก ช่องรายการโทรทัศน์สำหรับครอบครัว ควรมีให้มากขึ้น

๒.ฟื้นฟูชุมชนให้เข้มแข็ง

แม้ชุมชนจะอ่อนแอลงไปมากแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ชนบท แต่ก็ยังมีศักยภาพที่จะฟื้นฟูส่งเสริมศีลธรรมของผู้คนภายในชุมชนได้ มีหลายชุมชนที่เมื่อมีการหันหน้ามาร่วมมือกัน ปรากฏว่าสามารถลดปัญหาภายในชุมชนลงไปได้มาก เช่น อบายมุข ไม่ว่าการพนันหรือการกินเหล้าลดลง วัยรุ่นลดการมั่วสุม และทะเลาะกันน้อยลง ครอบครัวประพฤติดีต่อกันมากขึ้น ใช้ความรุนแรงน้อยลง นอกจากนั้นสภาพความเป็นอยู่ในชุมชนก็ดีขึ้น เนื่องจากมีการร่วมมือดูแลรักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรสาธารณะ มีการพัฒนาชุมชนร่วมกัน

แน่นอนว่าชุมชนเหล่านี้มาร่วมมือกันได้ มิใช่เพราะมีพระหรือข้าราชการมาเทศน์มาสอนให้สามัคคีกัน แต่เกิดจากการมีส่วนร่วมในกระบวนการกลุ่ม ซึ่งมีหลายลักษณะ เช่น การทำโครงการสัจจะสะสมทรัพย์ การทำแผนแม่บทชุมชน การอนุรักษ์ป่าชุมชน การได้ทำงานร่วมกันและเห็นผลสำเร็จที่มิอาจทำได้ด้วยตัวคนเดียว ทำให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของการร่วมมือกัน และเกิดความไว้วางใจกันมากขึ้น กระบวนการกลุ่มบางครั้งก็มาในลักษณะของการจัดเวทีชุมชน โดยมีแกนนำชาวบ้านเป็นผู้ดำเนินการ ทำให้มีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกัน

๓.ฟื้นฟูบทบาทของวัดและคณะสงฆ์

ปัจจุบันระบบต่าง ๆ ของคณะสงฆ์ ไม่เอื้อให้เกิดพระภิกษุสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ระบบการปกครองของคณะสงฆ์ นอกจากจะล้มเหลวในการส่งเสริมพระดีแล้ว ยังทำให้พระสงฆ์พากันสนใจลาภยศสรรเสริญกันมากขึ้น การรวมศูนย์อำนาจคณะสงฆ์ มาอยู่ในมือของมหาเถรสมาคม นอกจากจะทำให้การปกครองเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดการวิ่งเต้น ระบบเส้นสาย และการแบ่งพรรคแบ่งพวก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะเดียวกันระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ ก็ไม่สามารถทำให้พระภิกษุสงฆ์มีความรู้ทั้งทางธรรมและทางโลกดีพอ ที่จะสื่อธรรมให้ผู้คนเกิดความซาบซึ้งแจ่มชัดจนเห็นภัยของบริโภคนิยมหรืออำนาจนิยม และหันมาดำเนินชีวิตตามวิถีพุทธ ยิ่งการศึกษาเพื่อฝึกฝนตนให้มีความสุขภายในพึงพอใจกับชีวิตที่เรียบง่าย และสามารถแก้ทุกข์ให้แก่ตนเองได้ อีกทั้งมีเมตตากรุณาปรารถนาที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลมนุษย์ผู้ทุกข์ยาก อย่างรู้เท่าทันสังคมสมัยใหม่ด้วยแล้ว แทบจะไม่มีเอาเลย ผลก็คือคณะสงฆ์ปัจจุบันไร้ซึ่งพลังทางปัญญา ศีลธรรม และศาสนธรรม

การจะส่งเสริมให้คณะสงฆ์เปี่ยมด้วยพลังทางปัญญา ศีลธรรม และศาสนธรรม นั้นจะต้องมีการปฏิรูปการปกครองและการศึกษาของคณะสงฆ์อย่างจริงจัง อย่างน้อยก็ควรมีการกระจายอำนาจเพื่อให้การปกครองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้อำนาจน้อยลง แต่ใช้ปัญญาและคุณธรรมมากขึ้น เพื่อส่งเสริมพระดีอย่างจริงจัง มีการศึกษาทางธรรมและทางโลกอย่างสมสมัย ชนิดที่ช่วยให้พระสงฆ์รู้จักคิด มิใช่ถนัดท่องจำ สามารถสื่อและประยุกต์ธรรมได้อย่างมีพลัง ทั้งโดยการประพฤติเป็นแบบอย่าง การสอน และการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่ว่าโดยผ่านการฟัง การคิด หรือการปฏิบัติ

นอกจากนั้นควรมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชนให้แน่นแฟ้นขึ้น เพื่อพลังทางศีลธรรมของวัดจะสามารถถ่ายทอดไปยังชุมชน และส่งอิทธิพลต่อผู้คนได้มากขึ้น ความสัมพันธ์ดังกล่าวสามารถฟื้นฟูขึ้นได้ด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของวัดมากขึ้น ตามคติแต่โบราณที่ถือว่าวัดเป็นของชุมชน เช่น มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการศึกษาและสนับสนุนวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์สามเณร รวมทั้งร่วมในการปฏิบัติธรรมที่วัดจัดขึ้น ในอีกด้านหนึ่งพระสงฆ์ก็เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการของชุมชนมากขึ้น เช่น ร่วมแก้ปัญหาอบายมุข ปัญหาวัยรุ่น การอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ส่งเสริมการออมทรัพย์เพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน

๔.ปฏิรูปการศึกษา

โรงเรียนในปัจจุบันไม่เพียงประสบความล้มเหลวในการปลูกฝังสำนึกทางศีลธรรมเท่านั้น แม้แต่การเสริมสร้างความรู้แก่นักเรียนก็ยังล้มเหลว เห็นได้จากผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าร้อยละ ๙๐ ของนักเรียนสอบได้ไม่ถึง ๕๐ คะแนนหรือครึ่งหนึ่งของแทบทุกวิชา สำหรับนักเรียนชั้นที่ต่ำลงมาก็มีปัญหาไม่ต่างจากกัน แม้แต่การอ่านออกเขียนได้ก็เป็นปัญหา

ปัญหาของโรงเรียนจึงไม่ได้อยู่เพียงแค่สอนวิชาศีลธรรมหรือพุทธศาสนาน้อยเกินไป แต่อยู่ที่กระบวนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง บรรยากาศภายในโรงเรียนนั้นกล่าวได้ว่าไม่ส่งเสริมให้เกิดการใฝ่รู้เลย ดังเห็นได้ว่านักเรียนร้อยละ ๕๗ เคยยอมรับว่าตนหนีเรียน นอกจากนั้นยังพบว่าคนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือน้อยมาก คือเฉลี่ยวันละ ๓ นาที(นับรวมผู้ที่ไม่อ่านหนังสือด้วย)

ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่การส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศและกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งหากทำได้ดี ก็จะส่งเสริมสติปัญญาและศีลธรรมไปได้ควบคู่กัน เพราะสำนึกและพฤติกรรมทางศีลธรรมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการเรียนวิชาศีลธรรมเท่านั้น ที่สำคัญกว่านั้นก็คือเกิดจากการมีวิธีคิดที่ถูกต้อง มีเหตุผล และมีแบบอย่างที่ดี ปัจจัยเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสำคัญต่อการเรียนรู้ในทางวิชาการด้วยเช่นกัน แต่วิธีคิดที่ถูกต้องและมีเหตุผลนั้นจะเกิดขึ้นได้ครูต้องส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และความใฝ่รู้ โดยครูเป็นแบบอย่างไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนจึงมีความสำคัญมาก ทั้งนี้จะต้องทำควบคู่กับการปฏิรูปการผลิตครูเพื่อให้สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะกับนักเรียน นั่นหมายความว่าครูต้องรู้จักคิด ใจกว้าง ใช้อำนาจกับเด็กน้อยลง และพร้อมจะเรียนรู้ไปกับนักเรียน ที่สำคัญคือมีเวลาให้แก่เด็กมากขึ้น การปฏิรูปดังกล่าวจะทำให้การสร้างเสริมศีลธรรมและสติปัญญาของเด็กเป็นไปอย่างสอดคล้องกัน โดยไม่เกิดปัญหาว่าการเพิ่มวิชาศีลธรรมจะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้วิชาอื่น ๆ ของเด็กแต่อย่างใด

นอกจากนั้นควรส่งเสริมให้โรงเรียนที่มีกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะข้างต้นมาเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และกระบวนการ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง โดยโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับศีลธรรมของนักเรียน อาทิ โรงเรียนวิถีพุทธ ควรเข้าไปมีส่วนร่วมในเครือข่ายดังกล่าวด้วย

๕.เสริมสร้างองค์กรประชาสังคม

องค์กรประชาสังคม คือ องค์กรที่ประชาชนอาสาสมัครมาร่วมกันทำสาธารณประโยชน์ หรือการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน กิจกรรมที่ทำอาจเป็นการส่งเสริมสุขภาพ อนุรักษ์วัฒนธรรม ดูแลสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมกีฬา พัฒนาการศึกษา หรือ ช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก เช่น เด็กกำพร้า คนยากจน ผู้ติดเชื้อเอดส์ หญิงที่ถูกทำร้าย เป็นต้น องค์กรดังกล่าวสามารถเป็นชุมชนทางศีลธรรมได้ เพราะนอกจากจะร่วมกันทำสิ่งดีมีประโยชน์แล้ว ยังส่งเสริมซึ่งกันและกันให้มีความเสียสละ เห็นแก่ส่วนรวม อันเป็นการทวนกระแสสังคมที่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัว นอกจากนั้นความเป็นมิตรที่เกิดขึ้นระหว่างกัน ยังสามารถช่วยกำกับสนับสนุนให้แต่ละคนมีพฤติกรรมที่ดีงาม งดเว้นสิ่งที่เป็นโทษ มีการแนะนำตักเตือนกันในสิ่งที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งช่วยเหลือกันในยามที่ชีวิตประสบปัญหา

องค์กรประชาสังคม มีหลายลักษณะ อาจเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีสมาชิกไม่ถึงสิบคน ไปจนถึงองค์กรประเภทเครือข่ายขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกนับพันนับหมื่น อาจเป็นองค์กรที่ผู้คนมาร่วมกิจกรรมกันเป็นครั้งคราว หรือทำงานอย่างเป็นกิจจะลักษณะจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรประเภทนี้ยังสามารถพัฒนาจนเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงครอบครัว ชุมชน วัด โรงเรียน รวมทั้งสื่อมวลชน ให้กลายเป็นขบวนการหรือชุมชนทางศีลธรรมขนาดใหญ่ที่สามารถมีอิทธิพลต่อสังคมบริโภคนิยมและอำนาจนิยมได้

๖.ปฏิรูปสื่อเพื่อมวลชน

ปัจจุบันมีธุรกิจจำนวนมากได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเพื่อใช้สื่อเป็นเครื่องมือกระตุ้นการบริโภค อาทิ ธุรกิจเหล้า บุหรี่ การควบคุมมิให้ธุรกิจเหล่านี้ใช้สื่ออย่างเสรี เช่น งดโฆษณา หรือจำกัดเวลาโฆษณาทางโทรทัศน์ ปรากฏว่าสามารถลดพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและศีลธรรมได้ไม่น้อย จึงควรที่จะมีการขยายมาตรการดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงธุรกิจอื่น ๆ ที่ก่อผลเสียต่อศีลธรรมของสังคมส่วนรวม โดยมีองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทำหน้าที่เฝ้าระวังเนื้อหาในสื่อที่เป็นอันตรายต่อศีลธรรม ไม่ว่าทางโทรทัศน์ วิทยุ เว็บไซต์ หรือโทรศัพท์มือถือ

ในอีกด้านหนึ่งควรมีการพัฒนาสื่อที่ส่งเสริมศีลธรรม ที่สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ เช่น การจัดตั้งสถานีโทรทัศน์หรือช่องรายการสำหรับครอบครัว ที่ทุกครอบครัวสามารถเข้าถึงได้ง่าย (ปัจจุบันมีรายการสาระสำหรับนักเรียน หรือ E-TV ซึ่งเผยแพร่เฉพาะโรงเรียนทั่วประเทศเท่านั้น) ทั้งนี้โดยอาจอาศัยงบประมาณจากสัดส่วนรายได้หรือค่าสัมปทานที่ได้จากสถานีโทรทัศน์กระแสหลักทั้งหลาย) มาตรการดังกล่าวจะได้ผลต้องมีการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อ โดยมีการตั้งศูนย์อบรมผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตสื่อในทุกกระบวนการ และเปิดโอกาสให้คนจากชุมชนได้เข้ามามีส่วนเรียนรู้ เพื่อนำไปผลิตสื่อให้กับท้องถิ่นของตน นั่นหมายความว่าจะต้องมีการส่งเสริมวิทยุหรือโทรทัศน์ชุมชนอย่างจริงจัง ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยอาจอาศัยงบประมาณจากองค์กรท้องถิ่น

ที่มองข้ามไม่ได้อีกประการหนึ่ง คือการทำให้สถานีวิทยุโทรทัศน์กระแสหลักในปัจจุบันมีเนื้อหาที่ส่งเสริมศีลธรรมและสติปัญญามากขึ้น มิใช่มุ่งแต่ความบันเทิงและส่งเสริมบริโภคนิยมเป็นหลัก ดังนั้นจึงควรผลักดันให้ คณะกรรมการกิจการสื่อสารมวลชนแห่งชาติ (กสช.) มีมาตรการส่งเสริมเนื้อหาดังกล่าวอย่างจริงจัง เช่น มีการกำหนดสัดส่วนเนื้อหาดังกล่าวอย่างชัดเจน ทั้งนี้โดยถือว่าคลื่นวิทยุโทรทัศน์เป็นสมบัติของชาติ จึงจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

๗.ลดอิทธิพลของบริโภคนิยมและอำนาจนิยม

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าอำนาจเงินในปัจจุบันมีอิทธิพลอย่างมากต่อสื่อ สถาบันศาสนา ครอบครัว สถาบันการศึกษา ในทางส่งเสริมบริโภคนิยมและวัตถุนิยม แต่ที่กำลังเป็นปัญหาเพิ่มเข้ามาอย่างน่าเป็นห่วงคืออิทธิพลในทางการเมือง ทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องธุรกิจ ที่เต็มไปด้วยการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว และการทุจริตคอรัปชั่น จนการเมืองกลายเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมมากขึ้นทุกที และกลายเป็นแบบอย่างในทางเลวร้ายต่อผู้คนในสังคม

เราจำเป็นต้องทัดทานการขยายตัวของทุนนิยมและอำนาจเงิน ด้วยการคัดค้านนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างไร้ขีดจำกัด โดยเฉพาะการเปิดเสรีทางการค้า การลงทุน และการเงินที่คำนึงแต่ผลประโยชน์ที่เป็นเม็ดเงิน แต่ส่งผลเสียต่อชีวิตความเป็นอยู่และศีลธรรมของผู้คนทั่วทั้งสังคม

ควรมีการควบคุมป้องกันมิให้อำนาจเงินเข้าไปมีอิทธิพลในการเมืองมากเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้นักการเมืองกระทำการทุจริตหรือ “ถูกซื้อ”ด้วยเงินได้ง่ายแล้ว ยังจะทำให้ฝ่ายการเมืองเป็นเครื่องมือของระบบทุนนิยม เช่น ผลักดันกฎหมายและนโยบายที่กระตุ้นบริโภคนิยมและบั่นทอนสังคมและศีลธรรมของผู้คนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการเมืองอย่างต่อเนื่อง เช่น ทำให้ระบบการเมืองมีความโปร่งใสมากขึ้น ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ง่าย รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการถอดถอนนักการเมืองที่(มีพฤติกรรมอันควรเชื่อได้ว่า)คอร์รัปชั่น ให้สะดวกและมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมว่าปัญหาพื้นฐานคืออิทธิพลของทุนนิยมที่แพร่ซึมเข้าไปในระบบและสถาบันต่าง ๆ ของสังคม จนทำให้ความโลภหรือความเห็นแก่ตัวกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบและสถาบันทางการศึกษา สื่อมวลชน เศรษฐกิจ ทำให้เกิดโลกทัศน์ ค่านิยม วิถีชีวิต และความสัมพันธ์ที่ถือเอาเงินหรือวัตถุเป็นเป้าหมายชีวิต ใฝ่เสพใฝ่บริโภค และมุ่งแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวให้มากที่สุด การจะลดทอนอิทธิพลของทุนนิยมและบริโภคนิยม จึงนอกจากจะต้องคัดค้านทัดทานนโยบายทางการศึกษา สื่อมวลชน เศรษฐกิจ การพัฒนาที่ส่งเสริมวัตถุนิยมและบริโภคนิยมแล้ว ยังจำเป็นต้องสร้างทางเลือกในเชิงระบบหรือสถาบันขึ้นมาด้วย ที่ส่งเสริมโลกทัศน์ ค่านิยม วิถีชีวิต และความสัมพันธ์ในทางเอื้อเฟื้อเกื้อกูล เห็นคุณค่าของชีวิต และตระหนักถึงความสุขที่ไม่อิงวัตถุ ใฝ่ทำใฝ่สร้างสรรค์ ทั้งเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน โดยนอกจากจะทำขึ้นมาเป็นตัวอย่างแล้ว ยังมีการผลักดันให้เกิดนโยบายหรือกลไก (เช่น กฎหมาย องค์กรอิสระ สถาบัน) ที่ส่งเสริมระบบหรือสถาบันทางเลือกดังกล่าวให้เข้มแข็งและแพร่หลายได้ เช่น นโยบายและกลไกที่ส่งเสริมการศึกษาทางเลือกแบบต่าง ๆ อาทิ โฮมสคูล เครือข่ายการศึกษานอกระบบ จิตปัญญาศึกษา หรือนโยบายและกลไกที่ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง เงินตราชุมชน หรือนโยบายและกลไกที่ส่งเสริมสื่อมวลชนสำหรับครอบครัวและองค์กรประชาสังคม เป็นต้น

สำหรับอำนาจนิยมนั้น ควรลดทอนมิให้ขยายตัวด้วยการส่งเสริมให้รัฐกระจายอำนาจออกจากส่วนกลางให้มากขึ้น มิใช่สู่องค์กรปกครองท้องถิ่นเท่านั้น ที่สำคัญคือกระจายอำนาจให้องค์กรชุมชนมีบทบาทในการจัดการดูแลกิจการที่มีผลกระทบต่อชุมชนโดยตรง เช่น มีอำนาจในการจัดการป่าชุมชน แม่น้ำลำคลองในท้องถิ่น เป็นต้น

ขณะเดียวกันการใช้อำนาจของรัฐจะต้องได้รับการกำกับตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างจริงจัง การกำกับตรวจสอบและถ่วงดุลนั้น นอกจากจะทำโดยผ่านสถาบันนิติบัญญัติและตุลาการ ตลอดจนองค์กรอิสระที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้มีบทบาทด้วย ทั้งโดยตรงและโดยผ่านสถาบันนิติบัญญัติ ตุลาการและองค์กรอิสระ มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้รัฐคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมโดยใช้ความรู้และคุณธรรมเป็นหลัก มีความละเอียดรอบคอบในการดำเนินงาน แทนที่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจดังแต่ก่อน

สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันคือการปฏิรูประบบราชการ เพื่อลดอำนาจนิยมภายในระบบให้น้อยลง และเป็นระบบที่อาศัยความรู้และคุณธรรมมากขึ้น โดยมีการปรึกษาหารือและส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากข้าราชการในทุกระดับให้มากขึ้น เปิดโอกาสให้มีการสื่อสารจากล่างขึ้นบน แทนที่จะเป็นการสั่งการจากบนลงล่างอย่างเดียว ในทำนองเดียวกัน เมื่อออกไปสัมพันธ์กับประชาชน ควรมีการร่วมมือและปรึกษาหารือกับประชาชนมากขึ้น มิใช่สั่งการให้ประชาชนทำตามในทุกเรื่องเพราะถือว่าข้าราชการเป็นใหญ่เหนือประชาชน การลดอำนาจนิยมดังกล่าวจะต้องทำในหน่วยราชการทุกระดับ รวมทั้งในระดับโรงเรียน

กล่าวในภาพรวมแล้ว นอกจากการลดอิทธิพลของอำนาจเงินและอำนาจนิยมในเชิงระบบแล้ว จำเป็นจะต้องมีระบบหรือโครงสร้างที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ลดการเอารัดเอาเปรียบกัน และก่อให้เกิดสุขภาวะอย่างเป็นองค์รวม ทั้งในทางกาย ความสัมพันธ์ จิต และ ปัญญา โครงสร้างอันสันติดังกล่าว ย่อมเป็นโครงสร้างที่ส่งเสริมศีลธรรมในตัวเอง โครงสร้างดังกล่าว ประกอบด้วย

ระบบเศรษฐกิจ ที่ส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้อย่างยุติธรรม ไม่ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่มมากขึ้น มีสวัสดิการช่วยเหลือคนยากจน รวมทั้งปกป้องผู้ยากไร้จากการเอาเปรียบของผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ผู้คนมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะหรือของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน มีปัจจัยในการผลิตและดำรงชีพขั้นพื้นฐาน สามารถเลือกหรือรักษาวิถีการดำรงชีพที่ตนปรารถนาได้ เป็นต้น

ระบบการเมือง ที่ไม่ผูกขาดอำนาจไว้ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่กระจายอำนาจให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจตั้งแต่ระดับชุมชนไปถึงระดับชาติ รวมถึงการดูแลจัดการทรัพยากรท้องถิ่น มีกลไกที่สามารถป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้หลักประกันทางสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีกลไกการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี เป็นต้น

ระบบการศึกษา ที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และฝึกฝนตนในทุกมิติ ไม่หลงติดอยู่กับระบบบริโภคนิยมหรือถูกครอบงำด้วยลัทธินิยมใด ๆ อย่างไร้วิจารณญาณ ผู้คนสามารถพัฒนาและใช้ศักยภาพทั้ง ๔ มิติ (คือ กาย ความสัมพันธ์ จิต และปัญญา)ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น นอกจากสามารถแก้ปัญหาของตนได้แล้ว ยังสามารถช่วยเหลือส่วนรวมด้วยวิถีทางที่สันติ เป็นระบบที่เปิดกว้างและมีความหลากหลาย ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งยังมีเสรีภาพในการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตหรือสภาพแวดล้อมของตน

ระบบสื่อมวลชน ที่ส่งเสริมให้เกิดการบริโภคที่ถูกต้องและมีทัศนคติที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาสุขภาวะทั้ง ๔ มิติ ไม่ถูกครอบงำด้วยอำนาจทุนหรือกลุ่มผลประโยชน์ใด ๆ ประชาชนสามารถเข้าถึงหรือเป็นเจ้าของได้ เป็นสื่อกลางที่ส่งเสริมให้ผู้คนเกิดความเข้าใจกัน ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งเคารพในความแตกต่างทางความคิดและอัตลักษณ์

ส่งท้าย

มักพูดกันว่าประชาชนจะมีคุณธรรม บ้านเมืองจะเจริญได้ก็ต่อเมื่อได้ผู้นำที่มีคุณธรรม ดังนั้นเราจึงมักได้ยินเสียงร่ำร้องเรียกหาคนดีมาเป็นผู้นำประเทศ โดยเชื่อว่าถ้าได้ผู้นำที่เป็นคนดีแล้ว บ้านเมืองก็จะดีไปเอง ความคิดเช่นนี้นอกจากจะมองว่าความดีเป็นเรื่องของตัวบุคคลล้วน ๆ แล้ว ยังมองว่าปัจจัยทางสังคมตลอดจนระบบเศรษฐกิจการเมืองการศึกษา เป็นกลาง อยู่ที่ว่าใครจะใช้ในทางดีหรือร้าย แต่ในความเป็นจริงศีลธรรมของตัวบุคคลย่อมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อย อีกทั้งปัจจัยทางสังคมก็มิได้มีความเป็นกลางทางศีลธรรม บ้างก็เป็นปฏิปักษ์กับความดี บ้างก็เป็นมิตรกับความดี ผู้นำแม้จะเป็นคนดีเพียงใด หากอยู่ภายใต้ระบบการเมืองที่ไม่โปร่งใสหรือรวมศูนย์เบ็ดเสร็จ ก็อาจกลายเป็นผู้นำที่ลุแก่อำนาจ หากไม่ทุจริตเองก็ต้องยอมให้คนอื่นทุจริต หาไม่ตัวเองก็ต้องหลุดจากอำนาจในเวลาไม่นาน ใช่แต่เท่านั้นแม้ยังรักษาความดีไว้ได้แต่ก็ยากที่จะผลักดันให้ประชาชนมีศีลธรรมมากขึ้น เพราะระบบหรือกลไกต่าง ๆ คอยขัดขวาง

ด้วยเหตุนี้ในการเสริมสร้างทางศีลธรรมของผู้คนจึงต้องให้ความสำคัญกับอิทธิพลของสังคมแวดล้อมด้วย หากเห็นว่าสังคมเป็นปฏิปักษ์กับความดี ก็จำต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสังคมให้กลับมาเป็นมิตรกับความดี เราไม่ควรฝากความหวังไว้กับผู้นำที่เป็นคนดี การโยนความรับผิดชอบให้แก่คนอื่นย่อมมิใช่วิสัยของคนดี คนดีจะต้องกล้าแบกรับภาระด้วยตนเอง โดยไม่กลัวว่าจะเปลืองตัว ใช่หรือไม่ว่าเป็นเพราะคนดีในเมืองไทยคิดถึงแต่ตัวเองมากเกินไป สังคมไทยจึงตกต่ำทางศีลธรรมจนถึงขนาดนี้

วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

เกร็ดประวัติพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล


เกร็ดประวัติพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
หลวงปู่เสาร์แก้สัญญาวิปลาสให้หลวงปู่มั่น
หลวงปู่เสาร์เคยปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
หลวงปู่เสาร์เป็นคนพูดน้อย
หลวงปู่เสาร์สอนทำอะไรให้เป็นเวลา
ปฏิปทาของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล
ไปหน้าสอง -->
(คัดจากหนังสือฐานยตฺเถรวตฺถุ)

เกร็ดประวัติพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
ท่านเกิดที่บ้านข่าโคม ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง (ปัจจุบันอำเภอเขื่องใน) จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๐๒ ท่านเป็นพระคณาจารย์ใหญ่ของพระกรรมฐานทั้งหมด
ท่านอุปสมบทที่วัดใต้ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดใต้ และได้ญัตติเป็นพระธรรมยุตที่วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) มีพระครูทา โชติปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจารย์ ภายหลังมาอยู่วัดเลียบ และเปิดสำนักปฏิบัติธรรมขึ้น ณ วัดเลียบ ลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงของท่านคือพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
ท่านได้มรณภาพในอิริยาบถขณะกราบครั้งที่ ๓ ในอุโบสถวัดอำมาตยาราม อำเภอวรรณไวทยากรณ์ นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๔ ตรงกับ วันจันทร์ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรง เชิญศพมา ณ วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ทำพิธีเผาในเดือนเมษายน ๒๔๘๖ สิริอายุ ๘๒ ปี ๓ เดือน ๑ วัน
นิสัยท่านอาจารย์เสาร์ นิสัยชอบก่อสร้าง ชอบปลูกพริกหมากไม้ ลักษณะจิตเยือกเย็น มีพรหมวิหารทำจิตดุจแผ่นดิน มีเมตตาเป็นสาธารณะ เป็นคนพูดน้อย ยกจิตขึ้นสู่องค์เมตตาสุกใสรุ่งเรือง เป็นคนเอื้อเฟื้อในพระวินัย ทำความเพียรเป็นกลางไม่ยิ่งหย่อน พิจารณาถึงขั้นภูมิละเอียดมาก ท่านบอกให้เราภาวนาเปลี่ยนอารมณ์แก้อาพาธได้
อยู่ข้างนอกวุ่นวาย เข้าไปหาท่านจิตสงบดี เป็นอัศจรรย์ปาฏิหาริย์หลายอย่าง จิตของท่านชอบสันโดษ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง หมากไม่กินบุหรี่ไม่สูบ ท่านแดดัง (พระครูทา โชติปาโล) เป็นอุปัชฌายะ เดินจงกรมภาวนาเสมอไม่ละกาล น้ำใจดี ไม่เคยโกรธขึ้นให้พระเณรอุบาสกอุบาสิกา มักจะวางสังฆทานอุทิศในสงฆ์สันนิบาต แก้วิปัสสนูฯแก่สานุศิษย์ได้ อำนาจวางจริตเฉยๆ เรื่อยๆ ชอบดูตำราเรื่องพระพุทธเจ้า รูปร่างใหญ่ สันทัด เป็นมหานิกาย ๑๐ พรรษา จึงมาญัตติเป็นธรรมยุตฯ รักเด็ก เป็นคนภูมิใหญ่กว้างขวาง ยินดีทั้งปริยัติปฏิบัติ ลักษณะเป็นคนโบราณพร้อมทั้งกาย วาจา ใจ เป็นโบราณทั้งสิ้น ไม่เห่อตามลาภยศสรรเสริญ อาหารชอบเห็ด ผลไม้ต่างๆ ชอบน้ำผึ้ง
• ฉันเห็ดเบื่อ
หลวงปู่เสาร์นี่ เห็ดมันเกิดขึ้นตามวัด บอกเณรไปเก็บ เณรเก็บเห็นอันนี่ไปหมดไฟให้กิน เณรก็ไปเก็บได้ประมาณเต็มถ้วยก๋วยเตี๋ยวหนึ่ง เอามาห่อหมกเสร็จแล้วก็ไปถวายหลวงปู่ หลวงปู่ก็ฉันจดหมด ทีนี้ไอ้เราพวกเณรนี่ก็ทำห่อหมก เณร ๕-๖ องค์ตักแจกกันคนละช้อนๆ ๆ ฉันอาหารยังไม่ทันอิ่มเลย สลบเหมือดทั้ง ๖ องค์ ทีนี่ อุ๊ย! เณรเป็นอะไรๆ ถามมันดูซิว่ามันเป็นอะไร เณรก็กินเห็ดเบื่อ รู้ว่าเห็ดเบื่อทำไมถึงไปกินล่ะ ท่านอาจารย์พากิน ข้าไม่ได้กินเห็ดเบื่อ ถ้าข้ากินเห็ดเบื่อข้าก็เมาตายสิ หลวงปู่เสาร์ฉันเป็นชามนั่งยิ้มเฉย แต่เณรฉันคนละช้อนฉันข้าวยังไม่อิ่มเลยสลบเหมือดไปเลย อันนี้จิตของเรานี่มันปรุงแต่งได้ จะให้มันแพ้หรือมันชนะมันก็ทำได้ TOP.
หลวงปู่เสาร์แก้สัญญาวิปลาสให้หลวงปู่มั่น
• แก้สัญญาวิปลาสจนสำเร็จเป็นอัศจรรย์
ท่านอาจารย์เสาร์ มีเมตตาแก่สัตว์เป็นมหากรุณาอย่างยิ่ง วางเป็นกลาง เยือกเย็นที่สุด เมตตาของท่านสดใส เห็นปาฏิหาริย์ของท่านสมัยขุนบำรุงบริจาคที่ดิน และไม้ทำสำนักแม่ขาวสาริกา วัดสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร
แก้สัญญาวิปลาสท่านอาจารย์มั่นกับท่านเจ้าคุณหนูวัดสระปทุมในสมัยนั้น จนสำเร็จเป็นอัศจรรย์ เรียกว่าเป็นพ่อพระกรรมฐานภาคอีสาน นี้ท่านอาจารย์เสาร์เล่าให้ฟัง สมัยที่เรา (หลวงปู่หลุย) อยู่กับท่านเดินธุดงค์ไปด้วย ท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจก กับปรารถนาเป็นสาวกสำเร็จอรหันต์ในศาสนาสมณโคดมพุทธเจ้าของเรา ท่านอาจารย์มั่นเคารพท่านอาจารย์เสาร์มากที่สุด เพราะเป็นเณรของท่านมาแต่ก่อน ท่านมักเรียกท่านอาจารย์มั่นเป็นสรรพนามว่า "เจ้าๆ ข้อยๆ" TOP.
(คัดมาจากหนังสือประวัติหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร)
• นั่งสมาธิตัวลอยขึ้น… ลืมตาขึ้นดูตกลงมาก้นกระแทกกับพื้นอย่างแรง
ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า นิสัยของท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นไปอย่างเรียบๆ และเยือกเย็นน่าเลื่อมใสมาก ที่มีแปลกอยู่บ้างก็เวลาท่านเข้าที่นั่งสมาธิตัวของท่านชอบลอยขึ้นเสมอ บางครั้งตัวท่านลอยขึ้นไปจนผิดสังเกต เวลาท่านนั่งสมาธิอยู่ ท่านเองเกิดความแปลกใจในขณะนั้นว่า "ตัวเราถ้าจะลอยขึ้นจากพื้นแน่ๆ" เลยลืมตาขึ้นดูตัวเอง ขณะนั้นจิตท่านถอนออกจากสมาธิพอดี เพราะพะวักพะวงกับเรื่องตัวลอย ท่านเลยตกลงมาก้นกระแทกกับพื้นอย่างแรง ต้องเจ็บเอวอยู่หลายวัน ความจริงตัวท่านลอยขึ้นจากพื้นจริงๆ สูงประมาณ ๑ เมตร ขณะที่ท่านลืมตาดูตัวเองนั้น จิตท่านถอนออกจากสมาธิ จึงไม่มีสติพอยับยั้งไว้บ้าง จึงทำให้ท่านตกลงสู่พื้นอย่างแรง เช่นเดียวกับสิ่งต่างๆ ตกลงจากที่สูง ในคราวต่อไปเวลาท่านนั่งสมาธิ พอรู้สึกว่าตัวท่านลอยขึ้นจากพื้น ท่านพยายามทำสติให้อยู่ในองค์ของสมาธิแล้วค่อยๆ ลืมตาขึ้นดูตัวเอง ก็ประจักษ์ว่าตัวท่านลอยขึ้นจริงๆ แต่ไม่ได้ตกลงสู่พื้นเหมือนคราวแรก เพราะท่านมิได้ปราศจากสติ และคอยประคองใจให้อยู่ในองค์สมาธิ ท่านจึงรู้เรื่องของท่านได้ดี ท่านเป็นคนละเอียดถี่ถ้วนอยู่มาก แม้จะเห็นด้วยตาแล้วท่านยังไม่แน่ใจ ต้องเอาวัตถุชิ้นเล็กๆ ขึ้นไปเหน็บไว้บนหญ้าหลังกุฏิ แล้วกลับมาทำสมาธิอีก พอจิตสงบ และตัวเริ่มลอยขึ้นไปอีก ท่านพยายามประคองจิตให้มั่นอยู่ในสมาธิ เพื่อตัวจะได้ลอยขึ้นไปจนถึงวัตถุเครื่องหมายที่ท่านนำขึ้นไปเหน็บไว้ แล้วค่อยๆ เอื้อมมือจับด้วยความมีสติ แล้วนำวัตถุนั้นลงมาโดยทางสมาธิภาวนา คือพอหยิบได้วัตถุนั้นแล้วก็ค่อยๆ ถอนจิตออกจากสมาธิ เพื่อกายจะได้ค่อยๆ ลงมาถึงพื้นอย่างปลอดภัย แต่ไม่ถึงกับให้จิตถอนจากสมาธิจริงๆ เมื่อได้ทดลองจนเป็นที่แน่ใจแล้ว ท่านจึงเชื่อตัวเองว่า ตัวท่านลอยขึ้นได้จริงในเวลาเข้าสมาธิในบางครั้ง แต่มิได้ลอยขึ้นเสมอไป นี้เป็นจริตนิสัยแห่งจิตของท่านพระอาจารย์เสาร์ รู้สึกผิดกับนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นอยู่มากในปฏิปทาทางใจ
จิตของท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นไปอย่างเรียบๆ สงบเย็นโดยสม่ำเสมอ นับแต่ขั้นเริ่มแรกจนถึงสุดท้ายปลายแดนแห่งปฏิปทาของท่าน ไม่ค่อยล่อแหลมต่ออันตราย และไม่ค่อยมีอุบายต่างๆ และความรู้แปลกๆ เหมือนจิตท่านพระอาจารย์มั่น
(คัดมาจากหนังคือ ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต)
หลวงปู่เสาร์เคยปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
• เวลาเร่งความเพียรใจรู้สึกประหวัดๆ ถึงความปรารถนาเดิม
ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า ท่านพระอาจารย์เสาร์เดิมท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เวลาออกบำเพ็ญพอเร่งความเพียรเข้ามากๆ ใจรู้สึกประหวัดๆ ถึงความปรารถนาเดิม เพื่อความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแสดงออกเป็นเชิงอาลัยเสียดาย ยังไม่อยากไปนิพพาน ท่านเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อความเพียรเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ ท่านเลยอธิษฐานของดจากความปรารถนานั้น และขอประมวลมาเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาตินี้ ไม่ขอเกิดมารับความทุกข์ทรมานในภพชาติต่างๆ อีกต่อไป พอท่านปล่อยวางความปรารถนาเดิมแล้ว การบำเพ็ญเพียรรู้สึกสะดวกและเห็นผลไปโดยลำดับ ไม่มีอารมณ์เครื่องเกาะเกี่ยวเหมือนแต่ก่อน สุดท้ายท่านก็บรรลุถึงแดนแห่งความเกษมดังใจหมาย แต่การแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ท่านไม่ค่อยมีความรู้แตกฉานกว้างขวางนัก ทั้งนี้อาจจะเป็นไปตามภูมินิสัยเดิมของท่านที่มุ่งเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งตรัสรู้เองชอบ แต่ไม่สนใจสั่งสอนใครก็ได้ อีกประการหนึ่ง ที่ท่านกลับความปรารถนาได้สำเร็จตามใจนั้น คงอยู่ในขั้นพอแก้ไขได้ ซึ่งยังไม่สมบูรณ์เต็มภูมิแท้ TOP.
หลวงปู่เสาร์เป็นคนพูดน้อย
• เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ
เวลาท่านพระอาจารย์มั่นออกเที่ยวธุดงคกรรมฐานทางภาคอีสาน ตามจังหวัดต่างๆ ในระยะต้นวัย ท่านมักจะไปกับท่านพระอาจารย์เสาร์เสมอ แม้ความรู้ทางภายในจะมีแตกต่างกันบ้างตามนิสัย แต่ก็ชอบไปด้วยกัน สำหรับท่านพระอาจารย์เสาร์ ท่านเป็นคนไม่ชอบพูด ไม่ชอบเทศน์ ไม่ชอบมีความรู้แปลกๆ ต่างๆ กวนใจเหมือนท่านอาจารย์มั่น เวลาจำเป็นต้องเทศน์ท่านก็เทศน์เพียงประโยคหนึ่งหรือสองเท่านั้น แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปเสีย ประโยคธรรมที่ท่านเทศน์ซึ่งพอจับใจความได้ว่า "ให้พากันละบาปและบำเพ็ญบุญ อย่าให้เสียชีวิตลมหายใจไปเปล่าที่ได้มีวาสนามาเกิดเป็นมนุษย์" และ "เราเกิดเป็นมนุษย์มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ มนุษย์ของเราจะต่ำลงกว่าสัตว์ และจะเลวกว่าสัตว์อีกมาก เวลาตกนรกจะตกหลุมที่ร้อนกว่าสัตว์มากมาย อย่าพากันทำ" แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปกุฏิโดยไม่สนใจกับใครต่อไปอีก ปกตินิสัยของท่านเป็นคนไม่ชอบพูด พูดน้อยที่สุด ทั้งวันไม่พูดอะไรกับใครเกิน ๒-๓ ประโยค เวลานั่งก็ทนทานนั่งอยู่ได้เป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมง เดินก็ทำนองเดียวกัน แต่ลักษณะท่าทางของท่านมีความสง่าผ่าเผยน่าเคารพเลื่อมใสมาก มองเห็นท่านแล้วเย็นตาเย็นใจไปหลายวัน ประชาชน และพระเณรเคารพเลื่อมใสท่านมาก ท่านมีลูกศิษย์มากมายเหมือนท่านอาจารย์มั่น TOP.
หลวงปู่เสาร์สอนทำอะไรให้เป็นเวลา
• ให้ทำวัตร นอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓
ท่านอาจารย์หลวงปู่เสาร์นี้ท่านเป็นสาวกแบบชนิดที่ว่าเป็นพระประเสริฐ ท่านสอนธรรมนี้ท่านไม่พูดมาก ท่านชี้บอกว่าให้ทำอย่างนั้น อย่างนี้ แต่การปฏิบัติของท่านนี้ ท่านเอาการปฏิบัติแทนการสอนด้วยปาก ผู้ที่ไปอยู่ในสำนักท่าน ก่อนอื่นท่านจะสอนให้ทำวัตร นอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓ นี้ข้อแรกต้องทำให้ได้ก่อน บ้างทีก็ลองเรียนถามท่าน หลวงปู่ทำไมสอนอย่างนี้ การนอนเป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา ฉันเป็นเวลา อาบน้ำเข้าห้องน้ำเป็นเวลา มันเป็นอุบายสร้างพลังจิต แล้วทำให้เรามีความจริงใจ ทีนี้นักปฏิบัติทั้งหลายไม่ได้ทำอย่างนี้ แม้แต่นักสะกดจิต เขาก็ยังยึดหลักอันนี้ มันมีอยู่คำหนึ่งที่หลวงพ่อ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) ไม่เคยลืมหลักปฏิบัติที่เวลาไปปฏิบัติท่าน ท่านจะพูดขึ้นลอยๆ ว่า "เวลานี้จิตข้ามันไม่สงบ มันมีแต่ความคิด" ก็ถามว่า "จิตมันฟุ้งซ่านหรือไงอาจารย์" "ถ้าให้มันหยุดนิ่งมันก็ไม่ก้าวหน้า" กว่าจะเข้าใจความหมายของท่านก็ใช้เวลาหลายปี ท่านหมายความว่า เวลาปฏิบัติถ้าจิตมันหยุดนิ่งก็ปล่อยให้มันหยุดนิ่งไป อย่าไปรบกวนมัน ถ้าเวลามันจะคิดก็ให้มันคิดไป เราเอาสติตัวเดียวเป็นตัวตั้งตัวตี TOP.
ปฏิปทาของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล
• ท่านสนใจเรื่องการปฏิบัติสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน โดยถ่ายเดียว
หลวงปู่เสาร์ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่น ออกเดินธุดงคกรรมฐาน ปักกลดอยู่ในป่า ในดง ในถ้ำ ในเขา องค์แรกของอีสานคือหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล นัยว่าท่านออกบวชในพระศาสนา ท่านสนใจเรื่องการปฏิบัติสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน โดยถ่ายเดียว ซึ่งสหธรรมิกคู่หูของท่านก็คือ พระปัญญาพิศาลเถร (หนู) เป็นคนเกิดในเมืองอุบลฯ ท่านออกเดินธุดงค์ร่วมกัน หลวงปู่เสาร์ตามปกติท่านเป็นพระที่เทศน์ไม่เป็น แต่ปฏิบัติให้ลูกศิษย์ดูเป็นตัวอย่าง
• เดินจงกรมแข่งหลวงปู่เสาร์
สมัยที่หลวงพ่อ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) เป็นเณรอยู่ใกล้ๆ ท่าน ถ้าวันไหนเราคิดว่าจะเดินจงกรมแข่งกับท่านอาจารย์ใหญ่ วันนั้นท่านจะเดินจงกรมไม่หยุด จนกว่าเราหยุดนั่นแหละท่านจึงจะหยุด ท่านจะไม่ยอมให้เราชนะท่าน เวลาท่านสอน สอนสมาธิ ถ้ามีใครถามว่า ส่วนใหญ่คนอีสานก็ถามแบบภาษาอีสาน "อยากปฏิบัติสมาธิเฮ็ดจั๋งได๋ญ่าท่าน" "พุทโธสิ" "ภาวนาพุทโธแล้วมันจะได้อีหยังขึ้นมา" "อย่าถาม" "พุทโธแปลว่าจั๋งได๋" "ถามไปหาสิแตกอีหยัง ยั้งว่าให้ภาวนา พุทโธ ข้าเจ้าให้พูดแค่นี้" แล้วก็ไม่มีคำอธิบาย ถ้าหากว่าใครเชื่อตามคำแนะนำของท่าน ไปตั้งใจภาวนาพุทโธ จริงๆ ไม่เฉพาะแต่เวลาเราจะมานั่งอย่างเดียว ยืน เดิน นั่น นอน รับประทาน ดื่ม ทำ ใจนึกพุทโธไว้ให้ตลอดเวลา ไม่ต้องเลือกว่าเวลานี้จะภาวนาพุทโธ เวลานี้เราจะไม่ภาวนาพุทโธ ท่านสอนให้ภาวนาทุกลมหายใจ TOP.

วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2553

nui707เสี้ยวหนึ่งของเหตุการณ์ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓


nui707เสี้ยวหนึ่งของเหตุการณ์ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓
โพสต์เมื่อ 14.04.2010 13:40 | จำนวนผู้เยี่ยมชม : 323 | 9 คอมเมนต์
กลุ่ม :
๑๐ เมษายน ๒๕๕๓
จังหวะเวลาที่จะประกอยภาระกิจไม่อำนวยเหมือนตอนแรกๆ ทำให้ต้องคอยอยู่ที่บ้านจนกระทั่งสถานการณ์เลวร้ายมาก
ไฉนเลยจะนั่งคอยอยู่เฉยๆ ใช้เสลาว่างที่มี่อยู่เข้าร่วมลดความรุนแรงรักษาชีวิตไทยไว้เลยดีกว่า ไม่ออมแรงแล้ว

ออกจากบ้าน ตำรวจปิดกั้นลอยฟ้า เจารจาขอขึ้น พี่ตำรวจบอกพี่จะเสี่ยงเสื้อแดงก็ตามใจครับ

รถถึงแยกซ้ายไปสะพานพระราม ๘ กลุ่มเสื้อแดงประมาณ ๔๐ คน ตั้งด่านอยู่ที่ลอยฟ้าขาออก
ท่าทางไม่ดี มันเอาเราแน่ เลยให้ลูกน้องขับรถช้าๆแล้วจอด ใจดีสู้เสือ เดินเข้าไปหากลุ่มเสื้อแดง
"น้องๆ มีคนเจ็บไหม"
"ไม่มีพี่" แล้งปืนข้ามที่กั้นถนนมาพร้อมไม้ประมาณ ๕ คน
"พี่เป็นใครมาจากไหน"
"พวกเดียวกันน้อง ระวังนะทหารจะมาทางนี้ ย้ายมากั้นฝั่งนี้ดีกว่า"

พูดจบพวกเสื้อแดงก็โกลาหล โวยวายสั่งย้ายรถกันใหญ่
พวกเราเลยขับมาทางสะพานพระราม ๘
พอลงสะพานมา เจอกลุ่มเสื้อแดง ชาวบ้าน ล้อมตีรถจี๊ปอยู่
ชลอรถแล้วลงไปดู ชาวบ้านบอกขอให้ช่วยลากออกไปได้ไหม
แดงเมา จะเผาท่าเดียว ถือขวดน้ำมันไปมา จะจุดไฟ อย่างเดียว
น้องทหาร(นอกเครื่องแบบ) ก็ขอให้ช่วยลาก
พวกนั้นลือ้ของทำลายกระจาย จะเอาวิทยุสื่อสารออกไปอีก ผมเลยต้องไปแย่งมาแล้วเอาไปไว้ในรถ
กลับมาเอาสายอากาศแบตตอรี่ไปเก็บอีก
หาเชือก กันไม่ได้ ตัดสินใจ เรียก มอไซค์แดงไปตะเวนตามร้านซ่อมรถแถวสี่แยกวิสุทธกษัตริย์
ไม่มีใครสนใจ ช่วยกันซักคน
ท้ายสุด "พี่ ขับไป บก.ทบ."
ขอเชือก และสลิงจากหน่วยรักษาการที่ประตูหลัง ได้มาทั้ง ๒ อย่าง
ภาระกิจลากรถก็เริ่มขึ้น ทหารประมาณ ๕๐ นาย
แตกกระจายโผล่มาจากซอยไปวัดบวร แล้วเดินไปแยกบางขุนพรหม
ใจผมไม่ดีแล้ว

รีบหาคนมาช่วยนั่งท้ายรถและดันรถจี๊ปจนสลิงขาด ขณะที่กำลังแกะออก สายก็บาดได้เลือดนิ้วชี้ซ้ายเลย
รถ ๖ ล้อ ส่งน้ำแข็งเสื้อแดงผ่านมา ก็สกัดและขอความช่วยเหลือ ไอ้น้อง ๓ คนนั้นมันก็ดีนะครับ
"แล้วพี่ดูให้ผมปลอดภัยไปส่งน้ำแข็งได้ด้วยนะ"
ผมเลยนำรถไปจิ๊ปจะไปส่งฝั่ง บก.ทบ. พวกเสื้อแดงจะให้ซากรถจอดขว้างประตู
ผมสั่งให้คนขับขยับรถเดินหน้า เสื้อแดงขู่ให้หยุด ผมขู่ให้ไป
คนขับก็ลากเดินหน้าพ้นประตูไปได้

ขืนจอดขวางประตู แล้วทหารจะเข้าออกอย่างไร

จากนั้นก็เอาวิทยุและอุปกรณ์ไปส่งให้ ผบ.หน่วยปากประตู
แล้วก็นึกแต่เต็นท์พยาบาล เพราะกลัวแผลมาก ขยะสกปรกทั้งนั้น
คัดเลือดออกตลอดเวลา เลยให้น้องขับไปสะพานมัฆวาน
ขอพลาสเตอร์เสื้อแดง แล้วมาที่รถ

วิทยุว่อนทหารโดนล้อม ทหารบาดเจ็บโดนลากลงมาตี
ทำไวหละครับ
เดินทางไปทันที ลงสะพานบางลำภูแล้วเลี้ยวซ้ายไปทางวัดบวร เจอด่านเสื้อแดงเลือดร้อนเพียบ
ให้น้องจอดห่างประมาณ ๑๐๐ หลา แล้วเดินไปหา
"น้องมีคนเจ็บไหม"
"ไม่มีครับ ไปหมดแล้ว มีแต่ทหาร ปล่อยให้มันตายไปเลย มันฆ่าพวกเรา"

มีคนเดินมากระซิบว่า "หมอครับ ทหารเจ็บหนักหลายคน"
รถพยาบาสลจอดอยู่ ๒ คัน ผมเดินไปหา
คนขับบอกไม่ไหว ไม่เสี่ยง แล้วก็กลับรถขับออกไปทางแยกบางลำภู


ผมใจดีสู้เสื้อแดงที่พร้อมจะทำร้าย หรือ ฆ่าใครก็ได้ที่ไม่ไว้ใจหรือขวางหน้าได้
"พี่การ์ด เดี๋ยวผมขอนำรถพยาบาลเข้าไปรับคนเจ็บหน่อยนะ อย่าทำอันตรายรถกับคนเจ็บนะ"
เสียงเป็นสิบตะโกนมาพร้อมๆกัน
"ทหารหรือเปล่า"

"มีทหารด้วย พวกเราด้วย ติดอยู่ข้างไหน ขอไปช่วยพวกเราก่อนนะครับ"
"ใจเย็นๆนะ อย่าทำร้ายใคร อีก ๒ วันเราชนะแล้ว"
"อดทนว่าเราเป็นแดงแท้ ไม่ใช่แดงเทียม ไม่ได้สร้างสถานการณ์"

"ไม่เอา ทหารไม่ให้ไป"
"ขอผมไปดูก่อนนะ"

จากนั้นก็เดินไปด่าน หน้าสุดบริเวณเลยหน้าโบสถ์ไปหน่อย

"ผมขออนุยาตหัวหน้าการ์ด จะเอารถพยาบาลไปรับคยเจ็บ"

อีกแล้ว

"ทหารหรือเปล่า ถ้าทหารไม่ให้ไป ไม่ให้ออก ให้ทันตายไปเลย"

"มีทหารด้วย พวกเราด้วย ผมมีหน้าที่ช่วยชีวิตขอกันนะ เดี๋ยวพวกเราตายด้วย"

จากนั้นก็เดินหน้าไปหาถนนที่เชิงสะพานวันชาติ

อะไรทราบไหมครับ?

เสียงปืนเอ็ม ๑๖ นับสิบกระบอกยิงขึ้นฟ้าชุดใหญ่

"มึงออกไป ไม่ต้องเข้ามา มึงออกไป"

ผมตะโกนสวนว่ามารับคนเจ็บจะเอารถพยาบาลมารับ

สิ่งที่ตอบกลับมาคืน เสียงปืนอีก ๑ ชุด

ผมก็เดนหน้าต่อไปอีก พร้อมกับใช้มือ ๒ ข้างจับชายเสื้อคลุมชูว่าไม่มีอะไร

มีนักข่าวตามคน ๑ คน

"หมอ นะหมอ จะยิงทำไม มารับคนเจ็บ"

โล่งอกไปที มีคนอธิบายให้ เลยเดินเร็วปรือ ไม่กลัวปืนเล็งอีก

ทันใดนั้น

เสียงปืนอีกชุดใหญ่ดังแสบแก้วหูมาก เพราะผมใกล้ทหารไปไม่เกิน ๕๐ หลา
พอเสียงปืนดับ

"ให้มาคนเดียว คนข้างหลังไม่ให้มา"

ผมนึกในใจ คนข้างหลังที่ไหนวะ
ที่ไหนได้ นักข่าวเดินย่องแอบหลังตัวผมมาตลอด
เอาร่างผมบังปืนมาตลอด เลยก้มไปบอกน้องคอยข้างนอกก่อนนะ

"ผบ.หน่วย อยู่ไหน ขอคุยหน่อย มารับคนเจ็บ"

ชาวบ้านใกล้ๆมากระวิบว่า "หมอค่ะ มีที่บ้านด้านหลังอีกคน กำลังให้เปลี่ยนเสื้อผ้าอยู่"

แล้วนายทหาร ๓ นายก็เดินมาหาผม และเลยผมไป พร้อมกับบอกว่า
"คนเจ็บอยู่ไหน"

"ผมมารับทหารที่บาดเจ็บนะ จะนำออกไปเอง"

๓ นายหันมาหาผม
"มันไม่ให้ออกหรอก มันสกัดตีตายหมด"
"ผมรับผิดชอบเอง ผมเสี่ยงชีวิตมาช่วยแล้วไม่เชื่อใจกันหรือ"

เราเดินไปหน้ากองทหาร
"เตรียมคนเจ็บให้พร้อม เดี๋ยวผมจะเอารถพยาบาลเข้ามารับ"

ณ วินาทีนั้น เหล่าทหารที่หมดเรี่ยวแรง กรุชุ่มกระชวยขึ้นทันที
สีหน้าดีใจ บางคนยิ้ม พร้อมกับใครไม่ทราบพูดว่า
"รอดตายแล้วพวกเรา ไม่โดนล้อมแล้ว"

จากนั้นผมเดินออกมา พร้อมโทรศัพท์ให้น้องเรียกรถพยาบาลให้เข้ามา
"ไม่มาพี่ หนีกันหมดเลย หนูพยายามแล้ว"

ผมเดินไปหาด่านหน้า บอกเดี๋ยวพี่เอารถพยาบาลมานะ
แล้วไปด่านใหญ่หัวมุมวัดอีกด่าน
"ทหารไม่ให้ไป ไม่ให้ออก"
"มีทั้งทหารและประชาชน น้อง พี่ขอนะ คนเจ็บอย่าทำร้ายกัน หายดีแล้วจะตีกันต่อพี่ไม่ว่า"
"ออกมาต้องขอค้นรถทุกคัน"
"ได้น้อง พี่เปิดให้ดูหมด"

พูดไป เดินไป ตบหลัง คนที่ท่าทางเป็นแกนนำ สามสี่คน
"น้อง พี่ฝากดูแลรักษาความปลอดภัยด้วยนะ อย่าให้ใครทำร้ายคนเจ็บนะ เดี๋ยวเสียชื่อเราหมด"

เดินไปที่รถ ขับไปที่แยกบางลำภู ดักรถพยาบาลที่ผ่านมา
หนีไป ๒ คัน ไม่ยอมเข้าทางนี้ เหมือนรู้กันว่ามีตีคนเจ็บ

อึดใจเดียวมี ๑ คัน หากจำไม่ผิด วชิรพยาบาล
ผมโบกให้หยุด
"ไปรับทหารกับผมที่ ผมเครียร์ทางให้แล้ว"

"อาจารย์หรือเปล่าครับ ที่เรียกรถมา"
"ใช่ผมเองครับ"
ผมเอาเท้าซ้ายเหยียบยืนบันไดขึ้นรถ
มือสองขวาจับที่จับด้านในรถ
"น้อง ขับไปเลย ขออยู้ข้างนอกให้เสื้อแดงเห็นว่าใคร"

ขับผ่านด่านแดง ๒ ด่าน ไปหน้ากองทหาร แล้ววกกลับไปช่วยทหารนอกแนวก่อน

จากนั้นผมเดินไปบ้านชาวบ้านที่มีทหารติดอยู่นอกแนว ใกล้เสื้อแดงที่เจอครังแรก
ชาวบ้านบอกว่าเปลี่ยนเสื้อผ้า พาไปสบทมด้านหลังแล้ว"

เลยนำรถพยาบาลไปที่กองทหาร
"ใครไม่เจ็บมาก ยังไม่ต้องไป ให้ทุกคนที่จะไปถอดเครื่องแบบให้หมด ฝากของเพื่อนไว้"

"น้อง พี่ขออีก ๘ คัน" ผมบอกคนขับรถพยาบาล
และโทรบอกลูกน้องที่แยกให้ต้อนรถพยาบาลมาให้หมดมากๆ

เพราะภาพที่เห็นในซอยหลังแนวทหาร ประมาณ ๑๐ นาย ประคองกันมาแบบแย่ๆเลย

รถพยาบาลเริ่มทยอยมา ผมสั่งให้ถอดเสื้อให้หมด คนที่ขึ้นไปแล้วก็ให้ถอดเสื้อด้วย

ผบ.ม.พัน ๓ อาการหนักมาก ใช้ไม้ไฝ่ด้ามกลางหว่างขา ๒ ข้าง
โดนเอ็ม ๗๙ ที่ข้าง ๒ ข้าง ไม่แน่ว่าจะต้องตัดขาไหม ที่ศรีษะอีก ๒ แผลด้านขมับซ้าย

ถอดกางเกงไม่ได้ ขึ้นรถตู้พยาบาลแล้ว ทำไงหละ

โชคดีทีมีกู้ภัยปิคอัพมาด้วย เลยให้ย้ายรถ มาขึ้นปิคอัพ แล้วเอาผ้าคลุมแทน ทส.ไปแอบเบาะหลังหน้า
มาจับขบวนกันก่อนไปพร้อมๆกัน

ต้อนรถพบาบาลกู้ชีพก็ลำบากใช่ย่อยในสถานการณ์นั้น
รถตู้นำหน้า ผมไปรถปิคอัพกับ ผบ.พัน คันที่ ๒ ตามมาคือรถตู้พยาบาลหมด

ถึงด่านใหญ่หัวมุมนวัด เสื้อแดงสกัดค้นรถจริงๆด้วย
อาวุธครบมือ พอรถหยุดผมกระโดดลงไปที่รถตู้คันหน้า เปิดประตูข้างให้เสื้อแดงดู
เห็นไหมคนเจ็บทั้งนั้น ไม่มีทหาร คนเจ็บหมด

เสื้อแดงเจอภาพคนใส่กางเกงใน บาดแผลเต็มตัวลดหย่อนกันไป ๓ คน
"ปล่อยนะ
"เฮ้ยน้อง ช่วยดูแลให้รถออกไปที่"
ผมตบไหล่ คนที่ท่าทางเป็นผู้มีบารมีที่ด่าน พูดพลาง ปิดประตูข้าง แล้วตบแรงๆ รีบไป รพ.ด่วน
แล้วกลับมากระโดดขึ้นกระบะท้ายคันที่ ๒ คันสำคัญ ผบ.พัน ที่อาการหนักกว่าเพื่อน
"ขับตามไปเลยด่วน"
เสื้อแดงมาขวงหน้ารถอีก

"น้องคนเจ็บเหมือกัน" พูดไป ตบรถไปดังๆหลายที รีบไปเร็งว อาการหนักมากต้องรับไป"

รถปิคอัพนะ อาสัยความเร็ว คนขับรู้กัน ทส.นั่งหลังคนขับ
ก็ทะยานออกมาจากด่าน ได้สัก ๕๐ หลา ผมตบท้ายให้รถหยุด ผมลงไปช่วยคันหลังๆอีก
แล้ว ทส.ก็ลงมานั่งหลังไปกับนาย

ผมเดินไปอำนวยการให้รถทุกคันผ่านด่านเสื้อแดงได้หมดในเวลาไม่น่าเกิน ๑ นาที
รีบๆไล่ๆรถให้ออกไปอย่าหยุด

พวกเสื้อแดงก็(คิดว่า) เกรงใจผม ฟังที่บอกไม่ตอแย่อะไรอีกแล้ว

พอรถพยาบาลไปหมด ผมก็เดินไปตบหลังหลายคน บอกขอบคุณมากครับที่ร่วมด้วยช่วยกัน

ระหว่างที่ชุลมุนในการเอาคนเจ็บขึ้นรถนั้น
น้องโทรสัพท์มาหาหน ผมบอกไว้ที่หลัง ขอเอาคนเจ็บก่อน

เมื่อเสร็จภาระกิจนำคนเจ็บและรถพยาบาลฝ่าด่านแดงมาได้

"เมื่อกี่โทรหาพี่มีอะไรหรือ"
"มีวิทยุสกัดจับรถตู้ที่เข้าไปยิงทหารยองเสื้อแดงขับผ่านหน้าพวกเราไป ทั้งเข้าและออก"
"เราพยายามบอกพี่"
"เห็นอะไรบ้าง"
"คนยิงใส่ชุดดำคลุมหน้าดำ ปืนยาวสีดำเปิดหน้าต่างประตูข้าง"
"จบทะเบียนได้ไหม"
"ได้พี่ ชฉ ๓๑๐๗ มันเอาสติ๊กเกอร์แปะทับทะเบียนหลัง แต่ทะเบียนหน้าไม่ได้ปิด"
"เห็นมันขับเข้าไปแปลก เลยช่วยกันดู สักพัก วิทยุแจ้งสะกัดจับ มันขับออกมา เลยพยายามจดทะเบียนและโทรศัพทืบอกพี่"

ผมให้น้องขับไป โทรแจ้ง ๑๕๕๕ ไป
อย่าด่าผู้ว่า กทม.จริง เหตุด่วนบ้าบออะไรใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ กด นั่น กด นี่
กว่าจะได้คุยกับคนเป็นๆ ร่วม ๒- ๓ นาที
แถมพูดมากอีก เจอด่าไปชุดใหญ่
ผมยังแวะบ้านท่าพระอาทิตย์ บอกน้องนักข่าวที่นั่งที่ทางเดินให้ช่วยกระจายข่าวด้วย แต่เงียบ
๑๖๔๔ ก็เงียบไปอีก
แจ้งรามา ก็ไม่สนใจอีก
พยายามบอกใครๆว่าทะเบียนนี้ตรวจสอบด้วย

แต่ก็ไม่นำพา

โชคดีที่มีคนโทรมาวันนี้ หลังจากที่ผมโพสไปที่เว็บเมเนเจอร์ (มติชน-ไม่มีใครโทรมา)

จากนั้นผมกลับไปที่ เชิงสะพานวันชาติอีก เพราะได้รับแจ้งว่ามีทหารติดอนู่ในรถหน้าสตรีวิทยา
ได้น้องผู้กล้า เมดิก เข็นเปลตามมาด้วย ๒ คน
แล้วเราก็โดนหลอกให้ไปดูคัยข้างในใกล้วงเวียน ไปดูมันสมองที่กองอยู่
เสียดายนที่ไม่ได้เก็บ เพราะไม่มีถุงพิเศษ อุปกรณ์เฉพาะ และผมไม่มีถุงมือ
ท้ายที่สุด ทหารโดนจับเดินไปที่อนุเสาวรีย์ แต่ไม่บาดเจ็บ

คราวนี้ขอให้น้อง เมดิกไปช่วย น้องไม่ไปแล้ว เราอยู่ในกลุ่มคนกระหายเลือด
ผมเลยต้อง
ไปบล็อกถัดไป

nui707

Subscribe RSS
๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ ต่อ
โพสต์เมื่อ 15.04.2010 10:45 | จำนวนผู้เยี่ยมชม : 153 | 2 คอมเมนต์
กลุ่ม :
เราเจอเสื้อแดงแนวหน้าตั้งท่าปาไม้ใส่
ผนตระโกนไปดังว่า "มารับพวกเราที่เจ็บอีกมีไหม"
เสียงตะโกนมีแต่ว่ามีทหารบาดเจ็บหลบตามซอยให้ไปดู
แต่เราโดนหน่วยพยาบาลเสื้อแดงสกัดและถามผมว่า
"หมอจบมาจากไหน"
"มหอดลครับ" ผมตอบไปพลางเดินเลี่ยงตรงเข้าไป
"เชื่อผมเถอะครับ ไม่มีใครคนเจ็บแล้ว"
"แล้วมีทหารบาดเจ็บ หรือถูกจับไหม"
"ไม่มีแล้วครับ เชื่อผมเถอะครับ"
แต่มีเสื้อแดงหาลคนเข้ามาหาผมและบอกว่า ยังมีทหารบาดเจ็บอีกหลายคน
มีติดอยู่ในรถสายพานด้วย ผมเลยเดินตรงเข้าไป พร้อมลาก น้อง เมดิก ๒ คนตามมาด้วย
พวกเสื้อแดงล้อมรถบังมิดไปหมด
รถฮัมวีคันแรกกว่าจะแหวกเข้าไปได้แทบแย่ ไม่พบอะไร แต่มีเสื้อแดงเอากระสอบขาวสารใส่เข้าไปในรถด้านฝั่งสตรีวิทย์ ลักษณะกระสอบเหมือนใส่ลูกโป่ง เพราะเสื้อแดงพยายามเอามือกดลง มันก็เด็งขึ้นมา
เมื่อแนในว่าไม่มีใครผมก็เดินหน้า เลยกองสมอง ไปที่รถสายพาน ขณะที่กำลังจะปีนขึ้นไป เสื้อแดงบนรถกำลังจะเอาไม้ตีผม ๒ คน แต่เสื้อแดงข้างล่างตะโกนสวนไปว่า "อย่าตี ๆ หมอ มาดูคนเจ็บว่ามีไหม"
จังหวะเดียวกับที่ผมยังขึ้นไม่ได้ ไม้หน้าสามก็ผ่านหัวไปห่างๆ แล้วผมก็ปีนขึ้นไปดู เห็นคนชุลมุนกันอยู่ข้างในแต่ไม่มีทหารเลย จากนั้นผมให้น้องเมดิกคอยตรงนี้ แล้วผมก็ไปดูคันที่ ๒ และ ๓ ต่อไปถึงปากถนนตรงวงเวียน แต่ยังไงก็ไม่ไปต่อบริเวณวงเวียน
เพราะมีแต่คนกระหายเลือดทั้งนั้น ปลุกปั่นกันน่าดูจะฆ่ากันอย่างเดียว และสายตามเป็นร้อยคู่จ้องมองมาที่ผมที่แต่งตัวแปลกแยกกว่าเพื่อน และที่สำคัญใส่รองเท้าหนังแก้ว ผมสั้นๆ เรียกว่ามองกันหัวจรดเท้า
บริเวณอนุเสวรีย์ชุลมุนมาก ไม่มีแกนนำ หรือ หัวหน้าที่เป็นตัวเป็นตน ผมเลยตัดสินใจเดินกลับ
ปรากฏว่ามีการ์ดเสื้อแดงบอกว่าจับทหารได้ พาออกมา เดินถือผ้าขาวชูมือสวนทางไป ผมบอกน้องเมดิก เราตามไปช่วยกันไหม ทุกคนส่ายหน้ากับสถานการณ์เช่นนั้น ผมเลยได้แต่มองคนกลุ่มใหญ่เดินล้อมชุดทหารไป
ระหว่างมองทำให้มีสติขึ้นมาบ้างว่าเรามุทะลุจะช่วยคนท่าเดียวไปหรือเปล่า เพราะผมสังเกตทหารคนนั้นตัวสูงผมยาวดกดำเกินกว่าจะเป็นทหาร และการ์ดคุมอย่างดี ๒-๓ ชั้น ไม่ให้ใครทำร้ายได้เลย ทำให้ผมนึกถึงตอนที่ผมปีนขึ้นไปดูบนรถทั้ง ๓ คัน และไม่เห็นใครในชุดทหารเลย จากที่เดินไปมาก็ประมาณ ๑๐-๑๒ นาทีได้ เพราะคนมาก
แล้วทหารคนนั้นมาจากไหน?
ทำให้ผมนึกถึงกระสอบข้าวสารที่คนเสื้อแดงโยนยัดไปให้เพื่อในรถ สภาพการ์ดล้อมปิดมิดชิดแบบบังอะไรบางอย่าง ไม่ใช่การโจรกรรม หรือ ทุบทำลายแบบความคลุ้มคลั่งของม็อบ ผมเลยบอกน้องเมดิกว่า เรากลับเถอะ สงสัยจะมีการจัดฉากเพิ่มขึ้น และเราอาจเป็นเป้าให้เสื้อแดงเอาไปแห่ต่อจากศพอื่นๆก็ได้
เราก็ออกมาพอถึงสี่แยกเชิงสะพานวันชาติ ผมก็เจอสมุนทักษิณเจ้าเก่า บอกว่าเจรจาเรียบร้อยให้ทหารถอนตัวได้แล้ว อย่าตีกัน
ผมไม่อยากบอกเลยว่าไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ คนในกลุ่มเสื้อแดง ในชุดเสื้อแดง คือหน้าเดิมๆ ที่ผมเห็นเป็นร้อยรอบ ช่วงพันธมิตรชุมนุมโดยเฉพาะคืนวันที่ ๗ ตุลาคม ๕๑ แต่ใส่ชุดสีน้ำเงินมีโล่ห์กำบัง มีปืนสารพัดที่ประเคนใส่การ์ดเสื้อเหลือง
พวกคุณอาจแถลงว่าแทรกตัวปะปนไปเพื่อหาข่าว หรือ อะไรก็แล้วแต่
แต่พฤติกรรมเหมือนพวหคุณที่พญาไท ครั้งที่ผมวิทยุไปขอรถยกมาลากรถเมล์ที่อนุเสวรีย์ชัยสมรภูมิแล้วไม่มา ตอบว่าจะมาแล้วไม่มา ผมเลยต้องไปหาพวกเขาที่ห้องวิทยุเลย เขาบอกให้ออกไปก่อน เดี๋ยวตามไป ผมออกมายืนคอยนั่งคอยในรถหน้าปากประตู ตรงที่รถยกจอดอยู่ สรว.ก็บอกว่าเดี๋ยวตามไป ขอตามลูกน้องก่อน
แต่ภาพที่ผมเห็นคือ พวกท่านขึ้นแฟลตไปแล้วกลับลงมาใส่เสื้อแดงแยกย้ายกันไปโดย แมงกะไซค์ ส่วนมาวิ่งไปทางแยกศรีอยุธยา ผมได้แต่ด่าในใจ
หรือ หากท่านฟังข่าวจากสีกากี จะแถลงว่าเราประกบตัวแกนนำอยู่ หากออกมาจากผู้ชุมนุมเมื่อไหร เราจะจับทันที
ผมเห็นทุกเช้า แกนนำเข้าๆออก พวกท่านกลับอำนวยความสะดวกซะอีก
หรืออย่างคุณนายแดงที่เข้าไปเซ็๋นชื่อแจกเมื่อวานนี้ กลับออกมาในเครื่องแบบ ยังอำนวยความสดวกให้ออกมาอีก
แล้วใครจะไปจับแกนนำหละ ในเมื่อ.........
มาต่อเหตุการณ์คืนวันที่ ๑๐ กันนะครับ
ผมไม่ทราบจริงๆว่าเสธ.เปายังไม่ออกจากพื้นที่ เพราะเสธ.โดนไปก่อนหน้านี้ช่วงเย็นนานมาก ผมเข้าใจว่ามีหน่วยเดียวที่ติดอยู่สะพานวันชาติ ขณะที่รถตู้เสื้อดำวนมาเข้ายิงไปที่ถนนตะนาวจากด้านหลัง ผมยังเข้าใจว่าเป็นการยิงเพื่อสร้างสถานการณ์ มิเช่นนั้น ผมคงหาทางไปช่วยทหารหน่วยนั้นแล้วต่อจาก ม.พัน ๓ รอ.
มั่วแต่พยายามประสานงานสกัดแจะแจ้งหมายเลขทะเบียนรถตู้สีขาวอย่างเดียว
จากนั้นประมาณเกือบเที่ยงคืน ผมนำน้องๆไปถนนพระสเมรุสะพานผ่านฟ้าลีลาศ วิทยุดังมีรถพยาบาลมารับคนโดนยิงกลางเสื้อแดง ผมกับน้องเลยออกมารับเมดิกเพื่อไปลานเจษฎาบดินทร์ พบชายวัยกลางคนโดนสะเก็ดเอ็ม ๗๙ ที่โคนขาและน่องขวา ๒ แห่ง ที่เต็นพยาบาลพวกเสื้อแดง
ถามว่าใครเป็นหมอ หรือ พยาบาลบ้าง ปรากฏว่าไม่มีเลย ใส่ชุด ติดปลอกแขน นั่งจ่ายยากันเพียบ ผมเลยเขาไปตรวจร่างกายสตรีคนหนึ่งที่บอกว่าโดนกระสุนยางบริเวณใต้ราวนม
พอตรวจดูปรากฏว่าไม่มีร่องรอยอะไรเลย แม้นแมวข่วน เนื้อขาวๆแบบนั้น โดนอะไรก็ต้องมีรายบ้าง พอบอกให้ชี้จุดที่เจ็บแน่ๆ ก็ชี้วนไปหมด มาลงที่ลิ้นปี่ ผมเลยบอกสามีเขาไปว่า เหนื่อยจุกเสียดมากกว่า ให้คลายเสื้อผ้า กางเกงออก สักพักอาการก็ดีขึ้น แต่เขาก็ยืนยันจะไปโรงพยาบาล เจ็บโดนยิง พอเมดิก คันที่ ๒ มาก็เลยไม่ค้านอะไร ตามความสมัครใจของเขา แล้สิ่งที่ทำให้ผมหมดแรงคือข่าวที่ว่า
เสธ.เปา พ.อ.ร่มเกล้า ยุวธรรม โดนลอบยิงหลังโดนเอ็ม ๗๙ เสียชีวิต พล.ต.วลิต ขาหักหลายท่อน เลยกลับออกมาดูว่าทหารหาญทุกหน่วยถอนกำลังออกไปหมดแล้ว แน่ใจว่าไม่มีใครต้องการความช่วยเหลือแล้ว กอร์ปกับโทรศัพท์ประสานงาน...ไม่ได้ ก็เลยกลับที่พักประมาณ ๐๑๓๐ น. เพื่อ....ต่อไป
ไปบล็อกก่อนหน้า

nitipatth.blogspot.com: พระพรหมคุณาภรณ์แนะวิธีแก้ปัญหาบ้านเมือง

nitipatth.blogspot.com: พระพรหมคุณาภรณ์แนะวิธีแก้ปัญหาบ้านเมือง

พระพรหมคุณาภรณ์แนะวิธีแก้ปัญหาบ้านเมือง

023l.jpg">

Subject: Fwd: พระพรหมคุณาภรณ์แนะวิธีแก้ปัญหาบ้านเมือง

เจริญพร โยมวัดญาณฯ ทุกท่าน

สำหรับผู้ที่มีความห่วงใยปัญหาบ้านเมือง
พระใหม่ได้ถามปัญหานี้กับพระเดชพระคุณหลวงพ่อ
ท่านตอบพระใหม่แล้ว ตั้งชื่อเรื่องว่า
สังคมไทยถึงเวลาตั้งต้นใหม่หรือยัง
เมื่อวันที่ ๑๖ มี.ค. ๕๓ ความยาว ๓๕ นาที
เลยแบ่งเป็น ๒ ไฟล์

พรุ้งนี้ จะเอาเข้าเวปของวัด
ช่วยกันฟัง ช่วยกันเผยแพร่ด้วย
ถ้าหากเห็นว่าเป็นประโยชน์

ขอส่งความปรารถนาดี มาถึงโยมทุกท่าน
ขอคุณพระรัตนตรัยคุ้มครองรักษาทุกท่าน
ให้เจริญในธรรม ชนะความทุกข์ทั้งปวง
ช่วยกันรักษาตน รักษาสังคม และประเทศชาติ
ให้ดำรงมั่นคงยืนนานตลอดไป

ขอเจริญพร



เอกสารแนบ 2 ฉบับ — ดาวน์โหลดเอกสารแนบทั้งหมด (ซิปสำหรับ ภาษาไทย)
530316 5.1 สัมคมไทย ถึงเวลาตั้งต้นใหม่หรือยัง(16).MP3
4846 กิโลไบต์ เล่น ดาวน์โหลด
530316 5.2 สัมคมไทย ถึงเวลาตั้งต้นใหม่หรือยัง(18).MP3
5434 กิโลไบต์ เล่น ดาวน์โหล

แบบที่ ๓ เจริญพร้อมกับการกำหนดลมหายใจเข้าออก


แบบที่ ๓ เจริญพร้อมกับการกำหนดลมหายใจเข้าออก

การเจริญวิปัสสนาแบบที่ ๓ นี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้เองในอานาปนสติสูตร
คัมภีร์มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสน์ ซึ่งกล่าวถึง อานาปนสติ ๑๖ ขั้น
โดยเฉพาะใน ๔ ขั้นสุดท้ายเป็นธัมมานุปัสสนาซึ่งเป็นวิปัสสนาล้วน
ในอานาปนสติ ๑๖ ขั้นนั้น ๔ ขั้นแรก หรือจตุกกะแรกเป็นสมถะล้วน
๔ ขั้นที่ ๒ และ ๔ ขั้นที่ ๓ เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา
ส่วน ๔ขั้นที่ ๔ หรือจตุกกะที่ ๔ ตั้งแต่ขั้นที่ ๑๓ ถึงขั้นที่ ๑๖ เป็นวิปัสสนาล้วน

ขั้นที่ ๑๓ อนิจจานุปัสสี

ตามเห็นความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจเข้าหายใจออก
หายใจเข้าก็ไม่เที่ยง หายใจออกก็ไม่เที่ยง อะไรไม่เที่ยง
ก็ชีวิตร่างกายเรานี้ไม่เที่ยง ทั้งรูปทั้งนามไม่เที่ยง
หายใจเข้าไม่เที่ยง หายใจออกไม่เที่ยง
เพียงแต่เห็นความไม่เที่ยงอย่างเดียว ถ้าเข้าใจพระไตรลักษณ์ได้ตลอด
ก็สามารถเข้าถึงสภาวธรรมขั้นวิปัสสนานี้ได้ชัด เพราะพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า

“ยทนิจจํ ........สิ่งใดไม่เที่ยง
ตํ ทุกขัง .........สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ยํ ทุกฺขํ .........สิ่งใดเป็นทุกข์
ตํ อนฺตตา .......สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน”

ขั้นที่ ๑๔ วิราคานุปัสสี

ตามเห็นความจางคลาย หายใจเข้า หายใจออก
จางคลาย หรือคลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงให้จางคลายเสีย

ราคะ แปลว่า “ความติด” วิราคะ แปลว่า “ความไม่ติด”
ให้คลายจากความติด ความยึดมั่นถือมั่นให้คลายเสีย
หายใจเข้าก็ภาวนาว่าจางคลาย หายใจออกก็ภาวนาว่าจางคลาย

จางคลายศัพท์นี้เอาไปใช้ในเวลาปวดด้วยก็ได้ เมื่อรุ้สึกปวดมากๆ แม้ในขณะที่นั่งภาวนา
“จางคลาย...จางคลาย” ก็จะกายเหมือนกัน หรือถ้าเรามีโรคภัยไข้เจ็บหนัก
ก็ให้ภาวนาโดยส่งจิตที่มีพลังไปว่า “จางคลาย...จางคลาย” ก็จะหายได้

ขั้นที่ ๑๕ นิโรธานุปัสสี

ตามเห็นความดับ ขณะหายใจเข้าและขณะหายใจออก คือ
ดับโลภ โกรธหลง หายใจเข้าก็ดับ หายใจออกก็ดับ การเห็นความดับนี้
ในหลักการปฏิบัตินั้นจะต้องเห็นความเกิดด้วย คือ เห็นความเกิดดับของนามรูป
เพราะเมื่อเห็นความเกิดดับของนามรูปก็เป็นเหตุให้เกิดความเบื่อหน่าย
ในการครองสังขาร คือการเวียนว่ายตายเกิด ชื่อว่ามีชีวิตประเสริฐ
ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับนางภิกษุณีรูปหนึ่งว่า

“โย จ วสิสตํ ชีเว อปสฺสํ อุทยพฺพยํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อุทยพฺพยํ”

แปลว่า

ผู้ใดไม่เห็นการเกิดดับของนามรูป
แม้จะมีชีวิตอยู่ถึง ๑๐๐ ปี
ก็สู้ผู้ที่เห็นความเกิดดับของนามรูป
ซึ่งมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวไม่ได้

ฉะนั้นการภาวนาในข้อนี้ ถ้าส่งจิตไปที่ท้อง ที่มีอาการพองขึ้นเมื่อหายใจเข้า
และยุบลงเมื่อหายใจออก ก็จะได้ผลดีเพิ่มขึ้น คือ
เมื่อหายใจเข้าก็ภาวนาว่า “เกิด” หายใจอออกก็ภาวนาว่า “ดับ”
หรือถ้าผู้ใดมีลมหายใจยาวมากขึ้น ก็จะใส่คำว่า “อยู่”
มาต่อข้างท้ายว่า “เกิดอยู่” เมื่อหายใจเข้า และ “ดับอยู่”
เมื่อหายใจออก ก็จะชัดมากขึ้น เพราะคำว่า “อยู่” เป็นปัจจุบันธรรม

อะไรเกิด อะไรดับ ก็นามรูปมันเกิด มันดับอยู่ตลอดเวลาในร่างกายของเรา
คือ รูป ดับ ๑ ครั้ง จิต จะดับ ๑๗ ครั้ง หรือ ๑๗ ขณะจิต
เราจะรู้ หรือไม่รู้มันก็เกิดดับของมันอยู่อย่างนั้น
เช่น เซลส์ เลือด เซลส์กระดูก เซลส์เนื้อ ตายไปตลอดเวลา
ถ้าหากว่าเซลส์เราไม่ตาย เราก็ไม่ต้องทานอาหารเข้าไปอีก เพราะยังสมบรูณ์อยู่
แต่ที่เราต้องทานอาหารก็เพราะว่าเซลส์มันตาย เราจึงต้องซ่อมเซลส์

เพราะฉะนั้น ในร่างกายของเรานี้จึงมีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา
เราจึงต้องตามเห็นการเกิดดับของนามรูปให้มาก
เพราะคนที่ไม่เห็นการเกิดดับของนามรูป
แม้จะมีชีวิตอยู่นานก็สู้คนที่มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
แต่เห็นการเกิดดับของนามรูปไม่ได้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสรรเสริญไว้

ดังนั้น สิ่งใดที่มีการเกิดดับ แสดงว่าสิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
และเมื่อสิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็เป็นอนัตตา
แล้วควรหรือที่เราจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่านี้เป็นของเรา
เราเป็นโน่นเป็นนี้ เป็นตัวเป็นตนของเรา
จึงให้ภาวนาว่า “เกิด” เมื่อหายใจเข้า และภาวนาว่า “ดับ” เมื่อหายใจออก
การภาวนาอย่างนี้เอง

ขั้นที่ ๑๖ ปฏินิสัคคานุปัสสี

ตามเห็นความสละคืน คือความปล่อยวาง หายใจเข้า หายใจออก
ปล่อยวางอะไร อะไรก็ได้ที่มันวุ่นวาย เป็นตัวทุกข์
วางให้หมด ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น แม้ไม่วางขณะนี้ ในที่สุดก็ต้องวางอยู่แล้ว
หายใจเข้าก็ภาวนา ว่าปล่อยวาง หายใจออกก็ภาวนาว่าปล่อยวาง

เพราะฉะนั้น ในเวลาปฏิบัติต้องการจะให้ ผู้ปฏิบัติได้ใช้ ๔ คำ คือ
ไม่เที่ยง, จางคลาย, ดับหาย, ปล่อยวาง,

เอาคำใดคำหนึ่ง คือ หายใจเข้า “ไม่เที่ยง” หายใจออก “ไม่เที่ยง”
หรือหายใจเข้า “จางคลาย” หายใจออก “จางคลาย”
หรือหายใจเข้า “ดับหาย” หายใจออก “ดับหาย”
หรือหายใจเข้า “ปล่อยวาง” หายใจออก “ปล่อยวาง”
ส่วนคำว่า “ดับหาย” ใครจะเปลี่ยนไปภาวนาว่า “ดับสนิท” ก็ได้

แต่ในหลักปฏิบัติที่สูงขึ้นให้ใช้คำว่า “เกิดอยู่” “ดับอยู่” แทนตลอดไป
เพราะเป็นบทภาวนาที่นิยมปฏิบัติกันมากอย่างหนึ่ง
ทั้งได้ความหมายในการเจริญวิปัสสนาชัดมาก

ในการภาวนาหลักวิปัสสนาพร้อมกับการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก
ทั้ง ๔ คำที่กล่าวมาข้างต้นนี้
ถ้าภาวนาคำใดได้ผลดี เหมาะกับจริตนิสัยของตน
ก็ให้เอาคำนั้นเพียงคำเดียว แล้วจิตจะคลายลงไปเอง
ให้พิจารณาอย่างนั้นโดยส่งจิตไปที่ท้องก็ได้ ที่อกก็ได้ หรือที่จมูกก็ได้
แล้วจิตจะเกิดความสงบ รู้แจ้งเห็นจริงขึ้นในที่สุด

วิธีการเจริญวิปัสสนา ๓ แบบนี้ หากผู้ใดเจริญเป็นทำได้ถูกต้อง
จิตจะเข้าสู่ความสงบ และคลายจากความยึดมั่นถือมั่นได้อย่างแน่นอน
ฉะนั้น ขอให้ผู้ปฏิบัติพึงเจริญวิปัสสนาตามที่กล่าวมาแล้ว โดยใช้แบบใดแบบหนึ่ง
หรือทั้ง ๓ แบบ ตามความเหมาะสมของตน
จิตก็จะเข้าสู่ความสงบ เข้าสู่การปล่อยวางได้ในที่สุด
เป็นการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องตามหลักพระศาสนา

ผู้ใดได้เจริญเป็นประจำ แม้จะไม่ถึงซึ่งความสิ้นทุกข์
แต่ความสุขความสงบ และความเจริญรุ่งเรืองจะมีขึ้นทั้งในปัจจุบันชาติ
และในสัมปรายภพอย่างแน่นอน
ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา

ในปัจจุบัน โลกได้เจริญในด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการไปมากเพียงไร
ก็ยิ่งสนับสนุนพุทธรรมมากขึ้นเพียงนั้น

เนื้อหาสาระทุกตอนในบทความนี้
หากผู้ใดอ่านจนจบโดยอ่านอย่างพิจารณาให้ถ่องแท้และนำไปปฏิบัติด้วยตนเอง
หรือนำไปแนะนำผู้อื่นได้ ก็เชื่อมั่นว่าจะได้รับผลแห่งการปฏิบัติอย่างคุ้มค่าแน่นอน
และชีวิตจะสงบสุขขึ้น เพราะเข้าสู่หลักการแบบบูรณาการ (Integration)
ในหลักธรรมของพระบรมศาสดาของเรา

เพราะพระธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
พระธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้
การได้รับความสุข ความเจริญรุ่งเองนั้น คือ
คุณค่าหรือผลานิสงส์แห่งการประพฤติธรรม




(ที่มา : เอกสารประกอบการสอบเข้าศึกษาต่อ หลักสูตรศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา : “วิชาทฤษฎีและการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน”. บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหามงกุฎราชวิทยาลัย, หน้า ๙๔-๑๐๔.)

วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

เมื่อ"ใจ อึ๊งภากรณ์" ถูก"น็อค"คาเวที"ออกซ์ฟอร์ด" โดย นงนุช สิงหเดชะ




Karnt Srisuwan
เมื่อ"ใจ อึ๊งภากรณ์" ถูก"น็อค"คาเวที"ออกซ์ฟอร์ด"

โดย นงนุช สิงหเดชะ

อาจ จะช้าไปหน่อย แต่ก็ควรกล่าวถึง กรณีนายใจ อึ๊งภากรณ์ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งหลบหนีคดีไปยังอังกฤษ ได้ไปโผล่ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในโอกาสที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและศิษย์เก่าออกซ์ฟอร์ด ไปกล่าวปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ตามคำเชิญของเจ้าภาพ ซึ่งเป้าหมายของนายใจก็คงหวังจะใช้เวทีนี้โจมตีประเทศไทยเรื่องกฎหมายหมิ่น พระบรมเดชานุภาพ และคงหวังฉีกหน้านายอภิสิทธิ์

หลังกล่าวปาฐกถาเสร็จ เป็นช่วงเปิดให้ถาม (การกล่าวปาฐกถาและการถาม-ตอบ ใช้ภาษาอังกฤษ) ปรากฏว่านายใจ ซึ่งใส่เสื้อแดงแปร๊ดพร้อมตีนตบอีก 1 อัน มานั่งฟังอยู่ด้วย ก็ได้ถามเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

นายอภิสิทธิ์ตอบว่า "ก่อนอื่นคุณต้องเคลียร์ข้อมูลให้ถูกต้องเสียก่อนว่า การดำเนินคดีกับผู้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่ได้เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้เท่านั้น แต่หลายคดีก็ถูกดำเนินการโดยรัฐบาลก่อนคือรัฐบาลทักษิณ เช่นกรณีของนายจักรภพ เพ็ญแข การดำเนินคดีก็เกิดขึ้นในยุครัฐบาลพรรคพลังประชาชน ตอนที่คุณทักษิณอยู่ในอำนาจผมก็ถูกเขาฟ้องด้วยคดีหมิ่นประมาทเช่นกัน ถ้าคุณต้องการเป็นประชาธิปไตยคุณต้องเคารพกฎหมาย กรณีของคุณที่ถูกดำเนินคดีนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะคุณวิจารณ์การรัฐประหาร แต่คุณถูกดำเนินคดีเพราะข้อกล่าวหาแบบเฉพาะเจาะจงที่คุณกล่าวหาสถาบัน กษัตริย์ ดังนั้น คุณต้องเคลียร์ข้อมูลตรงนี้ให้ถูกต้อง อย่าพยายามก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"

คำ ตอบของนายอภิสิทธิ์มีต่อไปว่า "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่จำเป็นว่าจะแสดงถึงความไม่มีประชาธิปไตยเสมอไป เพราะในประเทศยุโรปบางแห่งที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ก็มีกฎหมายลักษณะนี้เช่นกัน ถ้าคุณกล่าวหาคนอื่นในลักษณะเดียวกันนี้คุณก็ต้องถูกฟ้อง ผมเองก็ถูกนักการเมืองหลายคนในรัฐบาลที่แล้วฟ้องร้องเมื่อไปวิจารณ์เขา กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ลักษณะ เดียวกับที่กฎหมายหมิ่นประมาท (libel law) มีไว้เพื่อปกป้องบุคคลธรรมดา ความแตกต่างก็คือว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่เป็นกลาง อยู่เหนือการฝักใฝ่ทางการเมือง (above partisan) เป็นสถาบันที่คนไทยเคารพรักเทิดทูนและเป็นเสาหลักแห่งความมั่นคงของประเทศ"

อภิสิทธิ์ อธิบายต่อไปว่า "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่ได้ต้องการให้สถาบันกษัตริย์เป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องประชาชนด้วยตนเอง ดังนั้น เมื่อมีการหมิ่นประมาทเกิดขึ้น การดำเนินคดีจะต้องทำผ่านตำรวจ มีหลายคนที่ถูกดำเนินคดีลักษณะนี้แต่หลายคนเขาอยู่ต่อสู้คดีไม่ได้หนีหายไป ไหน ผมเองเมื่อถูกใครฟ้องก็ไม่หนีไปไหน (เมื่อพูดถึงตอนนี้นายใจได้ตะโกนสวนขึ้นมาว่า ผมก็ไม่ได้หนี นายอภิสิทธิ์ก็ตอบว่า ผมก็ไม่ได้พูดว่าคุณหนี ทำให้ผู้ฟังปรบมือเสียงดังพร้อมกับหัวเราะ เนื่องจากคงขำนายใจที่อ้างว่าไม่ได้หนีแล้วทำไมมานั่งอยู่ที่นี่)
24 นาทีที่แล้ว

Karnt Srisuwan
นายก รัฐมนตรีเคลียร์ข้อข้องใจของนายใจต่อไปว่า "คุณไม่ควรมีสิทธิพิเศษเหนือคนอื่น คุณต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทยและต่อสู้ภายใต้กฎหมายไทยเช่นเดียวกับคนไทยคน อื่นๆ ผมเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ดูแลเรื่องการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุ ภาพอย่างจริงจัง เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ถูกใช้ไปในทางมิชอบและมีความยุติธรรม ผมกำลังหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าหนทางใดจะดีที่สุดในการบังคับใช้ กฎหมายนี้"

นายอภิสิทธิ์ตบท้ายว่า "สิ่งที่ผมจะพูดก็คือว่า กรุณาเลิกดึงสถาบันกษัตริย์ลงมาอยู่ในความขัดแย้งทางการเมือง ควรรักษาสถาบันนี้ที่คนไทยเคารพเทิดทูนให้อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง หากคุณมีปัญหากับผมให้มาถกเถียงกับผมโดยตรง แต่โปรดอย่าดึงสถาบันลงมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง" เมื่อกล่าวจบผู้ฟังในห้องประชุมปรบมือเสียงดังอย่างยาวนานให้กับนาย อภิสิทธิ์ และมีเสียงผู้ชายคนหนึ่งตะโกนอย่างถูกใจว่า yes

หากจะสรุปผลการชกครั้งนี้ คงต้องบอกว่า คนอายุ 54 ปี (แต่ใจเด็ก) อย่างนายใจ แพ้ (น็อค) เหตุผลของคนอายุย่าง 45 ปีอย่างนายอภิสิทธิ์
23 นาทีที่แล้ว

Karnt Srisuwan
กลับ มาที่ประเทศไทยกันบ้าง นักวิชาการหัวเสรีสุดขั้วบางคน ใช้ตรรกะแบบแปลกๆ เอาสีข้างเข้าถู อ้างว่าความจงรักภักดีที่พสกนิกรมีต่อสถาบันกษัตริย์นั้นเกิดจากพระมหา กรุณาธิคุณ ความศรัทธาและจงรักภักดีไม่สามารถใช้กฎหมายมาบังคับข่มขู่ พยายามอ้างว่าการพยายามทำลายสถาบันกษัตริย์ไม่มีอยู่จริงเป็นแค่เรื่องแต่ง ขึ้นมาให้ดูน่ากลัวเหมือนแต่งเรื่องผีขึ้นมาหลอกเด็ก พยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงแถลงการณ์สยามแดงของนายใจ

ถูกต้องที่ว่า ความจงรักภักดีและศรัทธา ไม่สามารถใช้กฎหมายมาบังคับข่มขู่ ถูกต้องที่ว่าใครจะจงรักภักดีและศรัทธาต่อบุคคลใด สถาบันใดเป็นเรื่องที่บังคับไม่ได้ แต่สิ่งที่นักวิชาการคนนี้แกล้งไม่กล่าวถึงก็คือว่าการหมิ่นประมาทกับการ จงรักภักดีเป็นคนละเรื่อง ความจงรักภักดีเป็นความรู้สึกภายใน ไม่มีกฎหมายใดจะบังคับขืนใจได้อยู่แล้ว แต่หากมีการกระทำหมิ่นประมาทใส่ร้ายก็ต้องถูกลงโทษ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงไม่ใช่กฎหมายที่บังคับให้จงรักภักดี

นัก วิชาการสีแดงบางคนยังตั้งหน้าตั้งตาจะให้เลิกกฎหมายปกป้องสถาบัน กษัตริย์ โดยที่ไม่ยอมนึกบ้างว่าคนธรรมดายังมีกฎหมายหมิ่นประมาทคุ้มครอง แล้วทำไมสถาบันกษัตริย์จึงจะมีกฎหมายคุ้มครองในเรื่องเดียวกันนี้ไม่ได้ คุณทักษิณเองก็ฟ้องหมิ่นประมาทใครพร่ำเพรื่อไปหมด สมัยเป็นนายกรัฐมนตรีก็ถือว่าเป็นนายกฯที่ฟ้องสื่อมากที่สุด เรียกค่าเสียหายทีไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ไม่เห็นนักวิชาการคนนี้ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทบ้าง

การ ออกมาเดือดเนื้อร้อนใจเรื่อง กม.หมิ่นพระบรมเดชานุภาพเฉพาะช่วงนี้ของนักวิชาการกลุ่มนี้ มองอย่างไรก็ไม่พ้นการปกป้องกลุ่มคนเสื้อแดง ที่มีการจาบจ้วงสถาบันทั้งในเชิงสัญลักษณ์และแบบเปิดเผย

ถ้าหากนัก วิชาการเหล่านี้ที่อ้างว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการกลั่นแกล้งทางการเมือง ถามว่ากฎหมายอื่นไม่มีช่องโหว่ให้เป็นเครื่องมือของนักการเมืองเช่นนั้นหรือ อย่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่สมัยหนึ่งรัฐบาลยุคทักษิณ มีการส่งเจ้าหน้าที่ ปปง.ไปตรวจสอบบัญชีและฐานะทางการเงินของบุคคลที่อยู่ตรงข้ามฝ่ายรัฐบาลอย่าง กว้างขวาง ไม่เว้นแม้แต่นักข่าว ทำไมนักวิชาการกลุ่มนี้ไม่เห็นรณรงค์ให้เลิกกฎหมาย ปปง.

ส่วนข้อแนะ นำของนักวิชาการบางคนที่ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้แจ้งความ ดำเนินคดีเองนั้น ก็พึงตระหนักว่าสมควรหรือไม่ ที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์เป็นโจทก์ฟ้องร้องประชาชน ด้วยตัวเอง จะเป็นการทำให้สถาบันมัวหมองเพราะดึงเอาสถาบันลงมาเป็นคู่ความกับประชาชนโดย ตรงหรือไม่ การตรากฎหมายที่ผ่านมา หลายฝ่ายคงคิดประเด็นนี้ดีแล้วจึงไม่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ สถาบันกษัตริย์เป็นผู้ฟ้องร้องโดยตรง
23 นาทีที่แล้ว

“ชีวิตนี้สำคัญนัก”


“ชีวิตนี้สำคัญนัก”

“คุณค่าของชีวิตที่เราอาจลืมโดยไม่รู้ตัว”

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

“ชีวิตนี้น้อยนัก แต่ชีวิตนี้สำคัญนัก
เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ
เป็นทางแยก
จะไปสูงไปต่ำ จะไปดีไปร้าย
เลือกได้ในชีวิตนี้เท่านั้น
พึงสำนึกข้อนี้ให้จงดีแล้วจงเลือกเถิด
เลือกให้ดีเถิด”

.ชีวิตนี้แม้น้อยนัก


“.....ชีวิตนี้แม้น้อยนัก แต่ก็เป็นความสำคัญนัก สำคัญยิ่งกว่าชีวิตในอดีตและชีวิตในอนาคตที่ว่าชีวิตนี้สำคัญ ก็เพราะในชีวิตนี้เราสามารถหนีกรรมไม่ดีที่ทำไว้ในอดีตได้ และสามารถเตรียมสร้างชีวิตในอนาคตให้ดีเลิศเพียงใดก็ได้ หรือตกต่ำเพียงใดก็ได้ ชีวิตในอดีตล่วงเลยแล้ว ทำอะไรอีกไม่ได้ต่อไปแล้ว ชีวิตในอนาคตก็ยังไม่ถึง ยังทำอะไรไม่ได้ เช่นนี้จึงกล่าวได้ว่า ชีวิตนี้สำคัญนัก พึงใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์ ให้สมกับความสำคัญของชีวิตนี้...”

พระนิพนธ์ชิ้นนี้ชี้ไปที่สาระของพระพุทธศาสนา อันว่าด้วยชีวิตของเราเอง หากเราตั้งใจอ่านและนำคำสอนของพระองค์มาประพฤติปฏิบัติ จะช่วยให้เราเข้าถึงความมหัศจรรย์ของชีวิตที่ไปพ้นมลพิษในทางโลกๆ อย่างเป็นความสุขอันสงบ โดยที่จะไปถึงความสว่างในทางโลกอุดรได้อีกด้วย
คำนิยมโดย ส.ศิวรักษ์

ชีวิตนี้สำคัญนัก



ชีวิตนี้สำคัญนัก
“คุณค่าของชีวิต
ที่เราอาจลืมโดยไม่รู้ตัว”

“ชีวิตนี้น้อยนัก แต่ชีวิตนี้สำคัญนัก
เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ
เป็นทางแยก
จะไปสูงไปต่ำ จะไปดีไปร้าย
เลือกได้ในชีวิตนี้เท่านั้น
พึงสำนึกข้อนี้ให้จงดีแล้วจงเลือกเถิด
เลือกให้ดีเถิด”




สิริมงคลของชีวิต
“ความดีของคนดี
คือสิริมงคลในที่ทุกสถาน”

“อันความดีและความชั่วนี้
มีลักษณะพร้อมทั้งผลต่างกัน
เมื่อเป็นความดีจริง
ถึงใครจะพยายามเปลี่ยนแปลงให้เป็นความชั่ว
ก็ไม่อาจทำได้
คงเป็นความดีอยู่นั่นเอง
แม้ความชั่วก็เหมือนกัน เมื่อเป็นความชั่วจริง
ก็คงเป็นความชั่วอยู่นั่นเอง
ไม่มีใครสามารถจะกลับกลายให้เป็นความดีไปได้”

สุจริตธรรม เหตุแห่งความสุขที่แท้จริง


สุจริตธรรม เหตุแห่งความสุขที่แท้จริง
สุจริตธรรมให้เกิดผลอย่างไร ทุจริตธรรมให้เกิดผลอย่างไร คิดให้รอบคอบสักหน่อยก็จักให้เห็นได้ในปัจจุบันนี้เอง ผู้ประพฤติสุจริตธรรมย่อมเป็นคนไม่มีภัย ไม่มีเวร มีกาย วาจา ใจปลอดโปร่ง นี้เป็นความสุขที่เห็นกันอยู่แล้ว ส่วนผู้ประพฤติทุจริตธรรม ตรงกันข้าม มีกาย วาจา ใจหมกมุ่นวุ่นวาย แม้จักมีทรัพย์ ยศ ชื่อเสียงสักเท่าใด ก็ไม่ช่วยให้ปลอดโปร่งได้ ต้องเปลืองทรัพย์ เปลืองสุข ระวังทรัพย์ ระวังรอบด้าน นี้เป็นความทุกข์ที่เห็นกันอยู่แล้ว ส่วนในอนาคตเล่าจักเป็นอย่างไร อาศัยพุทธภาษิตที่แสดงว่า กลฺยาณการี กลฺยาณํ ผู้ทำดีย่อมได้ดี ปาปการี จ ปาปกํ ผู้ทำชั่วย่อมได้ชั่ว จึงลงสันนิษฐานได้ว่า สุจริตธรรมอำนวยผลที่ดีคือความสุข ทุจริตอธรรมอำนวยผลที่ชั่วคือความทุกข์แม้ในอนาคตแน่แท้ อนึ่ง ในที่นี้รวมผลแห่งสุจริตธรรมทั้งสิ้น แสดงรวมยอดอย่างเดียวว่าความสุข เพราะเหตุนี้ สิ่งใดเป็นอุปกรณ์แห่งความสุขหรือเรียกว่าสุขสมบัติ เช่น ความบริบูรณ์ทรัพย์ ผิวพรรณงาม อายุยืน ยศ ชื่อเสียง สิ่งนั้นทั้งหมดเป็นผลแห่งสุจริตธรรม
จักแสดงวิธีปฏิบัติสุจริตธรรมสักคู่หนึ่งโดยย่อไว้เผื่อผู้ต้องการต่อไป คือ ไม่พยาบาทกับเมตตา เมื่ออารมณ์ร้ายอย่างเบา คือความหงุดหงิด ไม่พอใจ แรงขึ้นเป็นความฉุนเฉียวร้ายกาจ แรงขึ้นอีกเป็นพยาบาท เหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ควรทำความรู้จักตัวและพิจารณาโดยนัยว่า นี้เท่ากับทำโทษตน เผาตนโดยตรง มิใช่ทำโทษหรือแผดเผาผู้อื่นเลยคราวที่ตนผิด ใจยังเคยให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธแค้น เหตุไฉนเมื่อผู้อื่นทำผิด ใจจึงมาลงโทษแผดเผาตนเล่า ผู้อื่นที่ตนโกรธนั้นเขามิได้ทุกข์ร้อนไปกับเราด้วยเลย อนึ่ง ควรตั้งกติกาข้อบังคับ สำหรับตนว่า เมื่อเกิดอารมณ์ร้าย มีโกรธเป็นต้นขึ้น จักไม่พูด จักไม่แสดงกิริยาของคนโกรธหรือตั้งกติกาประการอื่นซึ่งอาจจักรักษาอารมณ์ร้ายเหล่านั้นไว้ข้างใน มิให้ออกมาเต้นอยู่ข้างนอกและพยายามดับเสียด้วยอารมณ์เย็นชนิดใดชนิดหนึ่ง ด้วยการพิจารณาให้แยบคาย มิให้ลุกกระพือสุมอกอยู่ได้
เมตตา มิตร ไมตรี สามคำนี้เป็นคำหนึ่งอันเดียวกัน เมตตา คือ ความรักใคร่ปรารถนาจะให้เป็นสุข มิตร คือ ผู้มีเมตตา ปรารถนาสุขประโยชน์ต่อกัน ไมตรี คือ ความมีเมตตาปรารถนาดีต่อกัน ผู้ปรารถนาจะปลูกเมตตาให้งอกงามอยู่ในจิต พึงปลูกด้วยการคิดแผ่ ในเบื้องต้นแผ่ไปโดยเจาะจงก่อน ในบุคคลที่ชอบ มีมารดา บิดา ญาติมิตร เป็นต้น โดยนัยว่าผู้นั้นๆ จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ มีสุขสวัสดิ์รักษาตนเถิด เมื่อจิตได้รับการฝึกหัดคุ้นเคยกับเมตตาเข้าแล้ว ก็แผ่ขยายให้กว้างออกไปโดยลำดับดังนี้ ในคนที่เฉยๆ ไม่ชอบไม่ชัง ในคนที่ไม่ชอบน้อย ในคนที่ไม่ชอบมาก ในมนุษย์และดิรัจฉานไม่มีประมาณ
เมตตาจิต เมื่อคิดแผ่กว้างออกไปเพียงใด มิตรและไมตรีก็มีความกว้างออกไปเพียงนั้นเมตตาไมตรีจิตมิใช่อำนวยความสุขให้เฉพาะบุคคล ย่อมให้ความสุขแก่ชนส่วนรวมตั้งแต่สองขึ้นไปด้วย คือหมู่ชนที่มีไมตรีจิตต่อกัน ย่อมหมดความระแวง ไม่ต้องจ่ายทรัพย์ จ่ายสุขในการระวังหรือเตรียมรุกรับ มีโอกาสประกอบการงานอันเป็นประโยชน์แก่ตนเองและหมู่เต็มที่ มีความเจริญรุ่งเรืองและความสงบสุขโดยส่วนเดียว
เพราะเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ผู้ทรงมีพระเมตตาไมตรี มีมิตรภาพในสรรพสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นการณ์ไกล จึงได้ทรงประทานศาสนธรรมไว้หนึ่งฉันทคาถา แปลความว่า บุคคลพึงประพฤติธรรมให้เป็นสุจริต ไม่พึงประพฤติธรรมให้เป็นทุจริต ผู้มีปกติประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และในโลกอื่นดังนี้
ในข้อว่า พึงประพฤติธรรมให้เป็นสุจริต ไม่พึงประพฤติธรรมให้เป็นทุจริต ในฉันทคาถานั้น คำว่า ธรรม น่าจักหมายเอาการงานทั้งปวงที่ทำทางกาย วาจา และใจ คือการทำ การพูด การคิด ที่เป็นไปอยู่ตามปกตินี้เอง ทรงสอนให้ทำ พูด และคิด ให้เป็นสุจริต มิให้เป็นทุจริต ส่วนในข้อว่า ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขนั้น คำว่า ธรรม หมายความว่าความดี ดังคำว่า มีธรรมอยู่ในใจ ดังที่เข้าใจกันอยู่ทั่วไป ผู้ประพฤติกาย วาจาให้เป็นสุจริตไม่ประพฤติให้เป็นทุจริต ทั้งประพฤติธรรม คือมีธรรมอยู่ในใจ ย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และโลกอื่น คือในโลกอนาคต อันจักค่อยเลื่อนมาเป็นโลกปัจจุบันแก่ทุกๆ คนในเวลาไม่ช้า
ความสุขย่อมเกิดจากเหตุภายใน คือสุจริตธรรม ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้นผู้ปรารถนาสุข เมื่อจับตัวเหตุการณ์แห่งความสุขและความทุกข์ได้ฉะนี้แล้ว ควรเว้นทุจริตธรรมอันเป็นเหตุของความทุกข์ ควรประพฤติสุจริตธรรมอันเป็นเหตุของความสุข ถ้าประพฤติดังนี้ ชื่อว่าได้ก่อเหตุการณ์ของความสุขสมบัติทั้งปวงไว้แล้ว นี้เป็นความชอบยิ่งของตนเอง ถ้ากลับประพฤติทุจริตธรรม เว้นสุจริตธรรมเสีย ย่อมชื่อว่าได้ก่อเหตุการณ์แห่งความทุกข์พิบัติทั้งปวงไว้แล้ว นี้เป็นความผิดของตนเอง
อนึ่ง ถ้ามีปัญหาในชีวิตปัจจุบันของผู้ประพฤติสุจริตธรรมหรือทุจริตธรรมเกิดขึ้นพึงทราบว่า ในคราวที่สุจริตธรรมที่ได้ทำไว้แล้วกำลังให้ผลอยู่ ผู้ประพฤติทุจริตธรรมย่อมพรั่งพร้อมด้วยสุขสมบัติและความสดชื่น ร่าเริง อาจสำคัญทุจริตธรรมดุจน้ำหวาน และอาจเย้ยหยันผู้ประพฤติสุจริตธรรมได้ แต่ในกาลที่ทุจริตธรรมของตนให้ผล ก็จักต้องประจวบทุกข์พิบัติซบเซาเศร้าหมอง ดุจต้นไม้ในฤดูแล้ง
อนึ่ง ในคราวที่ทุจริตอธรรมที่ได้ทำไว้แล้วกำลังให้ผลอยู่ ผู้ประพฤติสุจริตธรรมก็ยังต้องประสบทุกข์พิบัติซบเซาอันเฉาอยู่ก่อน แต่ในกาลที่สุจริตธรรมของตนให้ผล ย่อมเกิดสุขสมบัติอย่างน่าพิศวงดุจต้นไม้ในฤดูฝน แม้สุจริตธรรมจักยังไม่ให้ผลโดยนัยที่กล่าวนี้ กาย วาจา และใจของตนก็ย่อมปลอดโปร่ง เป็นสุขสงบ เป็นผลที่มีประจำทุกทิวาราตรีกาล

เงื่อนไขของความสุข


เงื่อนไขของความสุข
สิ่งภายนอก โดยมากถ้าเป็นส่วนที่ดี มีเงินทอง ยศ ชื่อเสียง เป็นต้น ก็เป็นที่ปรารถนาตรงกันของคนเป็นอันมาก จึงต้องมีการแสวงหาแข่งขันกันโดยทางใดทางหนึ่ง เมื่อได้มาก็ให้เกิดความสุขเพราะสมปรารถนาบ้าง เพราะนำไปเลี้ยงชีพตนและผู้อื่นให้อิ่มหนำสำราญบ้างสิ่งภายนอกย่อมอุดหนุนความสุขฉะนี้ แต่สิ่งภายนอกเป็นของไม่ยั่งยืน แปรเปลี่ยนไปอยู่เสมอ ความสุขที่เกี่ยวเกาะติดอยู่ก็ต้องแปรเปลี่ยนไปตาม ความทุกข์จึงปรากฏขึ้นติดๆ กันไปทีเดียว ความสุขเช่นนี้เป็นความสุขที่ลอยไปลอยมา หรือเรียกว่าเป็นความสุขลูกโป่ง และในความแสวงหา ถ้าไม่ได้ หรือได้สิ่งที่ไม่ชอบ ก็ให้เกิดความทุกข์ เพราะไม่สมปรารถนา อนึ่ง ถ้าได้สิ่งนั้นๆ มาด้วยการกระทำที่ไม่ดี การกระทำนั้นก็จักเป็นเครื่องตัดทอนตนเองอีกส่วนหนึ่ง ข้อความที่กล่าวมานี้แสดงว่าสิ่งภายนอกอุดหนุนความสุขสำราญให้บ้าง แต่จัดเป็นเหตุของความสุขหรือ? ถ้าเป็นเหตุของความสุข ผู้ที่มีสิ่งภายนอกบริบูรณ์จักต้องเป็นสุขทุกคน แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น ผู้ที่บริบูรณ์ด้วยสิ่งภายนอกแต่เป็นทุกข์มีถมไป เพราะเหตุนี้ สิ่งภายนอกจึงมิใช่เป็นตัวหตุของความสุข เป็นเพียงเครื่องแวดล้อมอุดหนุนความสุขดังกล่าวแล้วเท่านั้น บัดนี้ยังเหลืออยู่อีกความเห็นหนึ่ง ซึ่งว่าสุขทุกข์เกิดจากเหตุภายใน
อันสิ่งภายนอก มีเงินทอง ยศ ชื่อเสียง เป็นต้น อันเป็นอุปกรณ์แก่ความสุข เมื่อคิดดูให้ซึ้งลงไป จักเห็นว่าเกิดจากการกระทำของตนเอง ถ้าตนเองอยู่เฉยๆ ไม่ทำการงานอันเป็นเหตุที่เพิ่มพูนสิ่งภายนอกเหล่านั้น สิ่งภายนอกนั้นก็จะไม่เกิดขึ้น ที่มีอยู่แล้วก็ต้องแปรเปลี่ยนไป ถ้าไม่มีใหม่มาชดเชยก็จักต้องหมดไปในที่สุด เพราะเหตุฉะนี้จึงกล่าวได้ว่าสิ่งภายนอกที่เป็นอุปกรณ์แก่ความสุขนั้น ก็เกิดขึ้นเพราะการกระทำของตนเอง
ในทางธรรม การประกอบอาชีพ มีกสิกรรม พาณิชยกรรม เป็นต้น ไปตามธรรมดาไม่เรียกเป็นการงานที่ดีหรือชั่ว แม้ชาวโลกก็ไม่เรียกผู้ประกอบการอาชีพไปตามธรรมดาว่าเป็นคนดีหรือเป็นคนเลว แต่หากว่ามีการทำอย่างอื่นพิเศษออกไป ถ้าต้องด้วยเนติอันงามก็เรียกกันว่าดี ถ้าไม่ต้องด้วยเนติอันงามก็เรียกกันว่าเลว ไม่ดี เพราะเหตุฉะนั้น ผู้ปรารถนาสุขเบื้องต้นจึงสมควรหมั่นประกอบการงานหาเลี้ยงชีพตามทางของตน โดยไม่ตัดรอนกันไม่เฉื่อยชา เกียจคร้าน และแก้ไขในการงานของตนให้ดีขึ้น ก็จักไม่ต้องประสบความแร้นแค้นขัดข้อง ถ้าไม่มหั่นประกอบการงาน เกียจคร้าน เฉื่อยชา และไม่คิดแก้ไขการงานของตนให้ดีขึ้น ปล่อยไปตามเรื่อง ก็อาจจักต้องประสบความยากจนข้นแค้น ต้องอกแห้งเป็นทุกข์และนั่นเป็นความผิดใหญ่ต่อประโยชน์ปัจจุบันของตนเอง
การทำอย่างหนึ่งทางธรรมเรียกว่าดี เป็นวิถีทางของคนฉลาด และทางโลกยกย่องนับถือว่าดี การทำอย่างนี้เรียกว่าสุจริต แปลว่า ประพฤติดี ประพฤติดีทางกาย เรียกว่ากายสุจริต ประพฤติทางวาจา เรียกว่าวจีสุจริต ประพฤติดีทางใจ เรียกว่ามโนสุจริต กายสุจริต จำแนกเป็น 3 คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในทางกามประเวณี วจีสุจริต จำแนกเป็น 4 คือ ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล มโนสุจริตจำแนกเป็น 3 คือ ไม่เพ็งเล็งทรัพย์สมบัติของผู้อื่นด้วยโลภเจตนา คิดจะเอามาเป็นของของตน ไม่พยาบาทปองร้าย ไม่เห็นผิดจากคลองธรรม มีความเห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น รวม 10 ประการ
ส่วนการกระทำที่ตรงกันข้าม เรียกว่าทุจริต แปลว่า ประพฤติชั่ว ประพฤติชั่วทางกาย เรียกว่า กายทุจริต ประพฤติชั่วทางวาจา เรียกว่า วจีทุจริต ประพฤติชั่วทางใจเรียกว่า มโนทุจริต ทุจริต 3 นี้มีจำแนกตรงกันข้ามกับสุจริต
คำว่า ประพฤติ มักจะพูดมุ่งหมายถึงการกระทำทางกายและวาจา คำว่า ทำ ก็มักพูด หมายถึงการทำทางกาย การทำทางวาจาเรียกว่าพูด การทำทางใจเรียกว่าคิด ส่วนทางธรรมการทำ พูด คิด เรียกเป็นอย่างเดียวกันว่า ทำ หรือประพฤติ และมีคำว่า กาย วาจา ใจ กำกับ เพื่อให้รู้ว่าทำหรือประพฤติทางไหน
ทุจริต ทางธรรมเรียกว่าไม่ดี เป็นวิถีทางของผู้ไม่ฉลาด ทางโลกก็เหยียดหยามว่าเลวไม่ดี โดยนัยนี้จึงเห็นว่า ทั้งทางโลกทั้งทางธรรมนับถือสิทธิของผู้อื่น หรือเรียกว่านับถือขอบเขตแห่งความสงบสุขของผู้อื่น เพราะสุจริตและทุจริตที่จำแนกไว้อย่างละ 10 ประการนั้น โดยความก็คือไม่ประพฤติละเมิดสิทธิ หรือไม่เบียดเบียนความสงบสุขของผู้อื่น และการประพฤติละเมิดสิทธิและความสงบสุขของผู้อื่นนั้นเอง แต่ทางโลกนับถือสิทธิของบุคคลและสัตว์เดียรัจฉานบางจำพวก ไม่นับถือบางจำพวก โดยอาศัยกฎหมายเป็นหลัก ส่วนทางธรรมนับถือทั่วไป ไม่มีแบ่งแยกยกเว้น เพราะทางธรรมละเอียดประณีต
อนึ่ง ทุจริต อยู่เฉยๆ ประพฤติไม่ได้ ต้องประพฤติด้วยความขวนขวายพยายามจนผิดแผกแปลกไปจากปกติ จึงจัดเป็นทุจริตได้ ส่วนสุจริตประพฤติได้โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงประพฤติไปตามปกติของตนนั่นแล ไมต้องตกแต่งเปลี่ยนแปลงก็เป็นสุจริตได้ เพราะเหตุนี้เมื่อว่าทางความประพฤติ สุจริตจึงประพฤติได้ง่ายกว่า
เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไรทุจริตจึงเกิดขึ้นได้ ข้อนี้เป็นเพราะยังขาดธรรมะในใจเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้ง ความประพฤติจึงเป็นไปตามใจของตนเอง ผู้รักษาศีลหรือประพฤติสุจริตหรือแม้ประพฤติกฎหมายของบ้านเมือง ถ้าไม่มีธรรมะอยู่ในใจบ้างแล้ว ก็มักจะรักษาหรือประพฤติทำนองทนายว่าความ เพราะการกระทำบางอย่างไม่ผิดศีลตามสิกขาบท ไม่ผิดสุจริตตามหัวข้อ แต่ผิดธรรมะมีอยู่ และจะประพฤติหรือรักษาให้ตลอดไปมิได้ เพราะเหตุนี้จึงสมควรมีธรรมะในใจสำหรับประพฤติคู่กันไปกับสุจริต
ธรรมะมีมาก แต่ในที่นี้จักเลือกแสดงแต่ที่สมควรประพฤติปฏิบัติคู่กันไปกับสุจริตโดยนัยหนึ่งคือ มีความละอายใจในการเบียดเบียน มีความเอ็นดูขวนขวายอนุเคราะห์สัตว์ทั้งปวงด้วยประโยชน์ คู่กับการไม่ฆ่าสัตว์ มีความโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เฉลี่ยความสุขของตนแก่คนที่ควรเฉลี่ยให้ด้วยการบริจาคให้ คู่กับการไม่ลักทรัพย์ มีสันโดษยินดีเฉพาะสามีหรือภริยาของตน ไม่คิดนอกใจ สำหรับผู้ที่ยังไม่มีครอบครัว ก็มีเคารพในธรรมเนียมประเพณีที่ดี ไม่คิดละเมิด คู่กับการไม่ประพฤติผิดในทางกามประเวณี อนึ่ง มีปากตรงกับใจ ไม่ลดเลี้ยวลับลมคมใน คู่กับไม่พูดปด พูดชักให้เกิดสามัคคี สมานสามัคคีด้วยในใจสมานคู่กับไม่พูดส่อเสียด พูดกันดีๆ อ่อนหวาน ตามสมควรแก่ภาษานิยม มิใช่กด มิใช่ยกยอด้วยอัธยาศัยอ่อนโยนนิ่มนวล ไม่กระด้าง คู่กับไม่พูดคำหยาบ พูดมีหลักฐานที่อ้างอิง มีกำหนด มีประโยชน์ มีจบอย่างสูง เรียกว่ามีวาจาสิทธิ์ ด้วยความตกลงใจทันท่วงที มั่นคง ไม่โงนเงน โลเล คู่กับไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล อนึ่ง มีใจสันโดษยินดีในสมบัติของตนตามได้ ตามกำลัง ตามสมควร และมีใจยินดีด้วย หรือวางใจเฉยๆ ด้วยความรู้เท่าในเมื่อผู้อื่นได้รับสมบัติหรือในเมื่อเห็นสมบัติของผู้อื่น คู่กับไม่เพ่งเล็งทรัพย์สมบัติของผู้อื่นด้วยโลภเจตนาคิดจะเอามาเป็นของตน มีเมตตาไมตรีจิตในสัตว์ทั้งปวง คู่กับไม่พยาบาทปองร้าย ทำความเห็นให้ตรงเพื่อให้ถูกให้ชอบยิ่งขึ้น คู่กับความเห็นชอบ
ธรรมตามที่แสดงมานี้มีอยู่ในบุคคลใด บุคคลนั้นชื่อว่า ธรรมจารี ผู้ประพฤติธรรมหมายถึงความประพฤติเรียกว่า ธรรมจริยา ส่วนที่ตรงกันข้ามกับที่แสดงมานี้เรียกว่า อธรรม คู่กับ ทุจริต สุจริตกับธรรมที่คู่กันเรียกอย่างสั้นในที่นี้ว่า สุจริตธรรม นอกนี้เรียกว่าทุจริตธรรม

ความสุขอยู่ที่ไหน


ความสุขอยู่ที่ไหน
อันความสุขย่อมเป็นที่ปรารถนาของคนทุกๆคน และทุกๆ คนย่อมเคยประสบความสุขมาแล้ว ความสุขเป็นอย่างไรจึงเป็นที่รู้จักกันอยู่ ในเวลาที่กายและจิตใจอิ่มเอิบสมบูรณ์สบายก็กล่าวกันว่าเป็นสุข ความสุขจึงเกิดขึ้นที่กายและจิตใจนี่เอง สำหรับกายนั้น เพียงให้เครื่องอุปโภคบริโภคพอให้เป็นไปได้ก็นับว่าสบาย แม้กายสบายดังกล่าวมานี้ ถ้าจิตไม่สบาย กายก็พลอยซูบซีดเศร้าหมองด้วย ส่วนกายเมื่อไม่สบายด้วยความเจ็บป่วย หรือด้วยความคับแค้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าจิตยังร่าเริงสบายอยู่ ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์เป็นร้อนเท่าใดนัก และความไม่สบายของกายก็อาจบรรเทาไปได้เพราะเหตุนี้ ความสุขจิตสุขใจนั่นแลเป็นสำคัญ
อันความสุขทางจิตใจนี้ คิดๆดูก็น่าเห็นว่าหาได้ไม่ยากอีก เพราะความสุขอยู่ที่จิตใจของตนเอง จักต้องการให้จิตเป็นสุขเมื่อใดก็น่าจะได้ ใครๆ เมื่อคิดดูก็จักต้องยอมรับว่าน่าคิดเห็นอย่างนั้น แต่ก็ต้องยอมจนอีกว่าสามัญชนทำไม่ได้เสมอไป เพราะยังต้องการเครื่องอุปกรณ์แห่งความสุข หรือเรียกว่าเครื่องแวดล้อมอุดหนุนความสุข มีเงินทอง เครื่องอุปโภคบริโภค เป็นต้น ถ้าเครื่องอุปกรณ์แห่งความสุขขาดไปหรือมีไม่เพียงพอ ก็ทำให้เป็นสุขมิได้ นี้เรียกว่ายังต้องปล่อยใจให้เป็นไปตามเหตุการณ์อยู่ ข้อนี้เป็นความจริง เพราะเหตุฉะนี้ ในที่นี้จึงประสงค์ความสุขที่มีเครื่องแวดล้อมหรือที่เรียกว่าสุขสมบัติ อันเป็นความสุขขั้นสามัญชนทั่วไป
คิดดูเผินๆ ความสุขนี้น่าจักหาได้ไม่ยาก เพราะในโลกนี้มีเครื่องอุปกรณ์แห่งความสุขแวดล้อมอยู่โดยมาก หากสังเกตดูชีวิตของคนโดยมากที่กำลังดำเนินไปอยู่ จักรู้สึกว่าตรงกันข้ามกับที่คิดคาด ทั้งนี้มิใช่เพราะเครื่องแวดล้อมอุดหนุนความสุขในโลกนี้มีน้อยจนไม่เพียงพอ แต่เป็นเพราะผู้ขาดแคลนความสุขสมบัติ ไม่ทำเหตุอันเป็นศรีแห่งสุขสมบัติ จึงไม่ได้สุขสมบัติเป็นกรรมสิทธิ์ ส่วนผู้ที่ทำเหตุแห่งสุขสมบัติ ย่อมได้สุขสมบัติมาเป็นธรรมสิทธิ์ เพราะเหตุนี้ผู้ปรารถนาสุขจึงสมควรจับเหตุให้ได้ก่อนว่าอะไรเป็นเหตุของความสุข และอะไรเป็นเหตุของความทุกข์
บางคนอาจมองเห็นว่าเหตุของความสุขความทุกข์อยู่ภายนอก คือสุขเกิดจากสิ่งภายนอก มีเงินทอง ยศ ชื่อเสียง บ้านที่สวยงาม เป็นต้น ส่วนความทุกข์ก็เกิดจากสิ่งภายนอกนั้นเหมือนกัน บางคนอาจเห็นว่าความสุขความทุกข์เกิดจากเหตุภายใน จักพิจารณาความเห็นทั้งสองนี้ต่อไป

พึ่งผิดที่ ชีวิตย่อมมีภัย


พึ่งผิดที่ ชีวิตย่อมมีภัย
ภัยของชีวิตโดยตรงคือกิเลส กล่าวอย่างสามัญคือ โลภะ ความอยากได้ โทสะ ความขัดเคือง โมหะ ความหลง เรียกกันสั้นๆ ว่า โลภ โกรธ หลง สำหรับภูมิคฤหัสถ์หมายถึงที่เป็นมูลให้ประพฤติชั่ว เรียกว่า กิเลสภัย1 อกุศลทุจริต บาปกรรม เรียกว่า ทุจริตภัย1 ทางดำเนินที่ชั่วประกอบด้วยทุกข์เดือดร้อน เรียกว่า ทุคติภัย1 ทั้งสามนี้เป็นเหตุผลเนื่องกัน คือกิเลสเป็นเหตุให้ประกอบทุจริต ทุจริตก็ส่งไปสู่ทุคติ
ภัยเหล่านี้บุคคลนั่นเองก่อขึ้นแก่ตน คือก่อกิเลสขึ้นก่อน แล้วก่อกรรมก่อทุกข์เดือดร้อน ทั้งนี้เพราะระลึกแล่นไปผิด จะกล่าวว่าถึงสรณะผิดก็ได้ คือถึงกิเลสเป็นสรณะ ได้แก่ ระลึกแล่นไปถึงสิ่งที่เป็นเครื่องก่อโลภ โกรธ หลง เช่น แก้วแหวนเงินทอง ลาภยศ ที่ไม่ควรได้ควรถึงแก่ตน จะกล่าวว่าถึงลาภยศเช่นนั้นเป็นสรณะก็ได้ ด้วยจำแนกออกเป็นสิ่งๆ และระลึกแล่นไปถึงบุคคลผู้มีโลภโกรธธหลงว่าผู้นั้นเป็นอย่างนั้น ผู้นี้เป็นอย่างนี้ และถือเอาเป็นตัวอย่าง ถึงกรรมที่เป็นทุจริตเป็นสรณะ คือ ระลึกแล่นไปเพื่อฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เพื่อลักขโมยฉ้อโกง เพื่อประพฤติผิดในทางกาม เพื่อพูดเท็จ เพื่อดื่มน้ำเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท หรือระลึกแล่นไปในทางอบายมุขต่างๆ เมื่อจิตระลึกแล่นไปเช่นนี้ ก็เป็นผู้เข้านั่งใกล้กิเลสทุจริตนั้นๆ ด้วยจิตก่อน แล้วก็เข้านั่งใกล้ด้วยกาย ด้วยประพฤติทุจริตนั้นๆ ทางกาย วาจา ใจ ทางดำเนินของตนจึงเป็นทุคติตั้งแต่เข้านั่งใกล้กิเลสทุจริตในปัจจุบันนี้ทีเดียว
คนเป็นผู้ก่อภัยขึ้นแก่ตนด้วยตนเองเพราะถึงสรณะที่ผิดฉะนี้ และเพราะมีกิเลสกำบังปัญญาอยู่ จึงไม่รู้ว่าเป็นภัย ส่วนผู้ที่ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่ระลึกแล่นไปของจิต ตลอดถึงนำกายเข้านั่งใกล้เป็นอุบาสกอุบาสิกาของพระพุทธเจ้าย่อมเป็นผู้ไม่ก่อภัยเหล่านี้ เพราะพระรัตนตรัยเป็นที่ระลึกที่ไม่ก่อภัยทุกอย่าง จึงเป็นผู้ละภัยได้
อนึ่ง ผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ เข้านั่งใกล้พระรัตนตรัยย่อมเป็นผู้ใคร่ปรารถนาธรรม ที่เรียกว่าธรรมกามบุคคล จึงเป็นผู้พอใจขวนขวายและตั้งใจสดับฟังธรรม จึงได้ปัญญารู้ธรรมยิ่งขึ้นโดยลำดับ ความรู้ธรรมนั้น กล่าวโดยตรงก็คือ รู้สัจจะ สภาพที่จริง กล่าวอย่างสามัญ ได้แก่ รู้ว่าอะไรดี มีคุณประโยชน์ เป็นบุญเป็นกุศล เป็นทางเจริญ อะไรชั่วเป็นโทษ ไร้ประโยชน์ เป็นบาป เป็นอกุศล เป็นทางเสื่อมเสีย อะไรเป็นวิธีที่จะหลีกทางเสื่อมเสียนั้นๆ ดำเนินไปสู่ทางเจริญกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ รู้อริยสัจ แปลว่า ของจริงของพระอริยะ คือรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หลักอริยสัจนี้อาจน้อมมาใช้เพื่อแก้ทุกข์ในโลกได้ทั่วไป และเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่นสอนแก่ผู้ที่ยังเกลือกกลั้วอยู่ด้วยทุกข์ และมีความปรารถนาเพื่อจะเปลื้องทุกข์ออกจากตน เพราะหลักอริยสัจเป็นหลักของเหตุผล ผลต่างๆ นั้นย่อมเกิดแต่เหตุ เมื่อจะเปลี่ยนแปลงผล ก็ต้องเปลี่ยนแปลงเหตุหรือแก้เหตุ
ผู้กล่าวว่าไม่ต้องการผลอย่างนี้ๆ แต่ยังประกอบเหตุเพื่อให้เกิดผลอย่างนั้นอยู่ ไม่สามารถจะพ้นจากผลอย่างนั้นได้ เช่น กล่าวว่าไม่ต้องการความเสื่อมทรัพย์ แต่ก็ดำเนินไปในอบายมุข มีเป็นนักเลงการพนัน เป็นต้น ก็ต้องประสบความเสื่อมทรัพย์อยู่นั่นเอง กล่าวว่าไม่ต้องการความวิวาทบาดหมางในระหว่าง แต่ยังประพฤติก่อเหตุวิวาทอยู่ ก็คงต้องวิวาทกันอยู่นั่นเอง กล่าวว่า ไม่ต้องการทุคติ แต่ยังประพฤติทุจริตอยู่ ก็คงต้องประสบทุคติอยู่นั่นเอง กล่าวว่าไม่อยากแก่ เจ็บ ตาย แต่ยังยึดถือแก่ เจ็บ ตาย เป็นของเราอยู่ ก็ต้องประสบทุกข์เหล่านี้อยู่นั่นเอง ทุกข์ในข้อหลังนี้ พระบรมศาสดาทรงยกแสดงเป็นทุกขสัจจ์ ในที่ทรงแสดงอริยสัจทั่วไป และทรงยกตัณหาคือความดิ้นรนกระเสือกกระสนของใจ เพื่อได้สิ่งที่ชอบ เพื่อเป็นนั่นเป็นนี่ เพื่อไม่เป็นนั่นเป็นนี่ ว่าเป็นเหตุเกิดทุกข์ ยกทางมีองค์แปดมีความเห็นชอบ เป็นต้น ว่าเป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ความเห็นชอบนั้นก็คือ เห็นเหตุผลทั้งสองฝ่าย ตามหลักอริยสัจนี้นั้นเอง
กล่าวโดยย่อ เมื่อจะละทุกข์ก็ต้องรู้จักทุกข์และปล่อยทุกข์เสีย ด้วยปัญญาที่เข้าถึงสัจจะคือความจริง เมื่อละทุกข์ได้ ก็ย่อมประสบความสงบสุขโดยลำดับ

จุดหมายของชีวิต


จุดหมายของชีวิต
ชีวิตอันอุดม เป็นจุดหมายที่พระพุทธเจ้าสอนให้ทุกคนปฏิบัติให้ถึง ถ้าจะตั้งปัญหาว่าอะไรคือชีวิตอันอุดม ก็น่าจะต้องพิจารณากัน คำว่า อุดม แปลว่า สูงสุด ชีวิตอันอุดมคือชีวิตที่สูงสุด ผลที่ปรารถนาจะได้อย่างสูงสุดในชีวิตใช่ไหมเป็นชีวิตอันอุดม ถ้าถือเอาความปรารถนาเป็นเกณฑ์ดังนี้ ก็ตอบได้ว่าไม่ใช่เกณฑ์จัดระดับชีวิตของพระพุทธเจ้าแน่นอน เพราะแต่ละคนย่อมมีความปรารถนาต่างๆ กัน ทั้งเพิ่มความปรารถนาขึ้นได้เสมอ จนถึงมีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า “แม่น้ำเสมอด้วยตัณหา(ความอยาก) ไม่มี” เช่น บางคนอยากเรียนให้สำเร็จปริญญาขั้นนั้นขั้นนี้ บางคนอยากเป็นเศรษฐี บางคนอยากเป็นเจ้าเมือง อยากเป็นอธิบดี อยากเป็นผู้แทนราษฎร อยากเป็นรัฐมนตรี อยากเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นต้น แต่คนที่มีความอยากดังนี้ จะประสบความสำเร็จดังที่อยากได้สักกี่คน ตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้ย่อมมีจำนวนจำกัด จะเป็นด้วยกันทุกคนหาได้ไม่ บางทีคนที่ไม่ได้คิดปรารถนาว่าจะเป็นก็ได้เป็นบางคนคิดอยากและขวนขวายต่างๆ มากมายก็ไม่ได้เป็น ต้องไปเป็นอย่างที่ไม่อยากก็มีอยู่มาก
ฉะนั้น ผลที่ได้ด้วยความอยากอันเป็นตัณหา จึงมิใช่เป็นเกณฑ์จัดว่าเป็นชีวิตอันอุดมเช่นว่าเมื่อได้เป็นอย่างนั้นๆ แล้วก็เป็นอันได้ถึงขีดชีวิตอันอุดม ในทางโลกอาจจะเข้าใจกันเช่นนั้น เช่น ที่พูดว่ากำลังรุ่งเรือง หมายถึงอยู่ในตำแหน่งสูง มีทรัพย์ มีบริวารมาก ก็ว่าชีวิตขึ้นถึงขีดสูงแต่ละคนย่อมมีขีดสูงสุดต่างกัน ขีดสูงสุดผู้ใดก็เป็นชีวิตอันอุดมของผู้นั้น แต่ความขึ้นถึงขีดสูงสุดของชีวิตแบบนี้ ตามสายตาของท่านผู้รู้ย่อมว่าเป็นเหมือนอย่างความขึ้นของพลุ หรือความขึ้นของปรอทคนเป็นไข้ คือเป็นของชั่วคราว บางทีในขณะที่ชะตาชีวิตขึ้นสูงนั้น กลับมีชีวิตไม่เป็นสุข ต้องเป็นทุกข์มากเสียอีก บางคนอาจจะไม่ต้องการตำแหน่งอะไรสูงนัก แต่อยากเรียนให้รู้มากๆ ให้สำเร็จชั้นสูงๆ สิ่งอื่นๆ ไม่สำคัญ แต่ความมีวิชาสูง (ทางโลก) จะหมายความว่ามีชีวิตสูงขึ้นด้วยหรือไม่
อันวิชาย่อมเป็นปัจจัยอุดมหนุนชีวิตขึ้นอย่างหนึ่ง แต่จะต้องมีปัจจัยอื่นร่วมสนับสนุนอีกหลายอย่าง ดังจะเห็นตัวอย่างคนที่เรียนมามีวิชาสูงๆ แต่รักษาตัวไม่รอด หรือรักษาตัวให้ดีตามสมควรไม่ได้ ทั้งไม่ได้รับความนับถือจากคนทั้งหลายก็มีอยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าตรัสรู้ จึงได้ทรงวางเกณฑ์ของชีวิตไว้ว่า ชีวิตมี 3 อย่างก่อน คือ ทุชีวิต ชีวิตชั่วร้าย หมายถึงคนที่ใช้ชีวิตทำกรรมชั่วร้ายต่างๆ โมฆชีวิต ชีวิตเปล่า หมายถึงคนที่ปล่อยให้ชีวิตล่วงไปเปล่าปราศจากประโยชน์ และสุชีวิต ชีวิตดี หมายถึงคนที่ใช้ชีวิตประกอบกรรมที่ดีที่ชอบต่างๆ และชีวิตดีนี้นี่เอง เมื่อมีมากๆ ขึ้นจะกลายเป็นชีวิตอุดมในที่สุด
ชีวิตอันอุดมคือชีวิตอันสูงสุด ในแง่ของพระพุทธศาสนาคือชีวิตที่ดี อันเรียกว่าสุชีวิต หมายถึงความดีที่อาศัยชีวิตทำขึ้น ชีวิตของผู้ที่ทำดีจึงเรียกว่าชีวิตดี เมื่อทำดีมาก ชีวิตก็สูงขึ้นมาก ทำดีที่สุด ชีวิตก็สูงสุด
ที่เรียกว่าชีวิตอุดมนั้น องค์ประกอบของสิ่งที่เรียกว่าความดีในชีวิตมี 4 ประการ คือ กรรม วิชา ศีล และธรรม อธิบายสั้นๆ กรรม คือการงานที่ทำ หมายถึงการงานที่เป็นประโยชน์ต่างๆ วิชา คือความรู้ในศิลปวิทยา ศีล คือความประพฤติที่ดี ธรรม คือคุณสมบัติที่ดีในจิตใจ ชีวิตที่ดีจะต้องมีองค์คุณทั้งสี่ประการนี้ ชีวิตจะสูงขึ้นเพียงไร ก็สุดแต่องค์คุณทั้งสี่นี้จะสูงขึ้นเท่าไร
นึกดูถึงบุคคลในโลกที่คนเป็นอันมากรู้จัก เรียกว่าคนมีชื่อเสียง ลองตรวจดูว่าอะไรทำให้เขาเป็นคนสำคัญขึ้น ก็จะเห็นได้ว่า ข้อแรกก็คือกรรม การงานที่เขาได้ทำให้ปรากฏเป็นการงานที่สำคัญในทางดีก็ได้ ในทางเสียทางร้ายก็ได้ ในทางดี เช่น คนที่ได้ทำอะไรเป็นสิ่งเกื้อกูลมาก ในทางชั่ว เช่น คนที่ทำอะไรเลวร้ายเป็นข้อฉกรรจ์ เหล่านี้เกี่ยวแก่กรรมทั้งนั้น
ไม่ต้องคิดออกไปให้ไกลตัว คิดเข้ามาที่ตนเอง ก็จะเห็นว่าการงานของตนเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิต คนเราทุกคนจะเป็นอะไรขึ้นมาก็เพราะการงานของตน เช่น จะเป็นชาวนาก็เพราะทำนา กสิกรรมเป็นการงานของตน ของผู้ที่เป็นชาวนา จะเป็นพ่อค้าก็เพราะทำพาณิชยการ คือการค้า จะเป็นหมอก็เพราะประกอบเวชกรรม จะเป็นนักเรียนนักศึกษาก็เพราะทำการเรียนการศึกษา จะเป็นโจรก็เพราะทำโจรกรรม ดังนี้เป็นต้น
กรรมทั้งปวงนี้ ไม่ว่าดีหรือชั่วย่อมเกิดจากการทำ อยู่เฉยๆ จะเป็นกรรมอะไรขึ้นมาหาได้ไม่ จะเป็นกรรมชั่วก็เพราะทำ อยู่เฉยๆ กรรมชั่วไม่เกิดขึ้นมาเองได้ แต่ทำกรรมชั่วอาจรู้สึกว่าทำได้ง่าย เพราะมักมีความอยากจะทำ มีแรงกระตุ้นให้ทำ ในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “กรรมชั่วคนชั่วทำง่าย แต่คนดีทำยาก”
ฉะนั้น ใครที่รู้สึกตนว่าทำชั่วได้ง่าย ก็ต้องเข้าใจว่าตนเองยังเป็นคนชั่วอยู่ในเรื่องนั้น ถ้าตนเองเป็นดีขึ้นแล้ว จะทำชั่วในเรื่องนั้นได้ยากหรือทำไม่ได้เอาทีเดียว ชีวิตชั่วย่อมเกิดจากการทำชั่วนี่แหละ”
ส่วนกรรมดีก็เหมือนกัน อยู่เฉยๆ จะเกิดเป็นกรรมดีขึ้นมาเองหาได้ไม่ แต่อาจรู้สึกว่าทำกรรมดียาก จะต้องใช้ความตั้งใจ ความเพียรมาก แม้ในเรื่องของกรรมดี พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า “กรรมดีคนดีทำง่าย แต่คนทำชั่วทำยาก”
ฉะนั้นใครที่ทำดียากในข้อใด ก็พึงทราบว่าตนเองยังไม่ดีพอ ต้องส่งเสริมตนเองให้ดีขึ้นอีกด้วยความพากเพียรทำกรรมดีนี่แหละ ถ้าเกียจคร้านไม่ทำกรรมดีอะไร ถึงจะไม่ทำกรรมชั่ว ชีวิตก็เป็นโมฆชีวิต คือชีวิตเปล่าประโยชน์ ค่าของชีวิตจึงมีได้ด้วยกรรมดี ทำกรรมดีมาก ค่าของชีวิตก็สูงมาก
ชีวิตของทุกคนเกี่ยวข้องกับกรรม ทั้งที่เป็นกรรมเก่า ทั้งที่เป็นกรรมใหม่ จะกล่าวว่าชีวิตเป็นผลของกรรมก็ได้
คำว่า กรรมเก่า กรรมใหม่ นี้อธิบายได้หลายระยะ เช่น ระยะไกล กรรมที่ทำแล้วในอดีตชาติเรียกว่ากรรมเก่า กรรมที่ทำแล้วในปัจจุบันชาติเรียกว่ากรรมใหม่ อธิบายอย่างนี้อาจจะไกลมากไป จนคนที่ไม่เชื่ออดีตชาติเกิดความคลางแคลง ไม่เชื่อ จึงเปลี่ยนมาอธิบายระยะใกล้ว่าในปัจจุบันชาตินี้แหละ กรรมที่ทำไปแล้วตั้งแต่เกิดมาเป็นกรรมเก่า ส่วนกรรมที่เพิ่งทำเสร็จลงไปใหม่ๆ เป็นกรรมใหม่ แม้กรรมที่กำลังทำหรือที่จะทำก็เป็นกรรมใหม่
ความมีชีวิตดีหรือชั่วย่อมขึ้นอยู่แก่กรรมที่ทำแล้วนี้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ความขึ้นหรือลงแห่งชีวิตย่อมแล้วแต่กรรม แต่ก็อาจจะกล่าวว่าย่อมแล้วแต่บุคคลด้วย เพราะบุคคลเป็นผู้ทำกรรม เป็นเจ้าของกรรม สามารถที่จะละอกุศลกรรมด้วยกุศลกรรมได้ คือสร้างกุศลกรรมขึ้นอยู่เสมอ เมื่อกุศลกรรมมีกำลังแรงกว่า อกุศลกรรมจะตามไม่ทัน หรือจะเป็นอโหสิกรรมไป
แต่ในการสร้างกุศลกรรมนั้น ย่อมขึ้นอยู่แก่จิตใจเป็นประการสำคัญ คือจะต้องมีจิตใจประกอบด้วยสัมมาทิฐิ คือความเห็นชอบ ตั้งต้นแต่เห็นว่าอะไรเป็นบาปอกุศล อะไรเป็นบุญกุศลตลอดถึงเห็นในเหตุผลแห่งทุกข์และความดับทุกข์ตามเป็นจริง ความเห็นชอบดังนี้จะมีขึ้นก็ต้องอาศัยวิชาที่แปลว่าความรู้
อันคำที่หมายถึงความรู้มีอยู่หลายคำ เช่น วิชา ปัญญา ญาณ เฉพาะคำว่า วิชา หมายถึงคามรู้ดังกล่าวก็ได้ หมายถึงวิชาที่เรียนรู้ ดังที่พูดกันว่าเรียนวิชานั้นวิชานี้ก็ได้ ในที่นี้หมายถึงรวมๆ กันไป จะเป็นความรู้โดยตรงก็ได้ จะเป็นความรู้ที่เรียนดังที่เรียกว่าเรียนวิชาก็ได้ เมื่อหมายถึงตัวความรู้โดยตรงก็เป็นอย่างเดียวกับปัญญา
วิชาเป็นองค์ประกอบสำคัญแห่งชีวิตอีกข้อหนึ่ง และเมื่อพิจารณาดูแล้ว จะเห็นว่ากรรมทุกๆอย่างย่อมต้องอาศัยวิชา ถ้าขาดวิชาเสีย จะทำกรรมอะไรหาได้ไม่ คือจะต้องมีวิชาความรู้จึงจะทำอะไรได้ ทุกคนจึงต้องเรียนวิชาสำหรับใช้ในการประกอบกรรมตามที่ประสงค์ เช่น ผู้ที่ประสงค์จะประกอบกสิกรรมก็ต้องเรียนวิชาทางกสิกรรม จะประกอบอาชีพทางตุลาการหรือทนายความ ก็ต้องเรียนวิชากฎหมาย ดังนี้เป็นต้น นี้เป็นวิชาความรู้ทั่วไป
วิชาอีกอย่างหนึ่งคื่อวิชาที่จะทำให้เป็นสัมมาทิฐิดังกล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละอกุศลกรรมด้วยกุศลกรรม และที่จะเป็นเหตุให้ละความทุกข์ที่เกิดขึ้นทางใจได้ วิชาละอกุศลธรรมและวิชาละความทุกข์ใจนี้ เป็นวิชาสำคัญที่จะต้องเรียนให้รู้ และเป็นวิชาของพระพุทธเจ้าโดยตรง ถึงจะรู้วิชาอื่นท่วมท้น แต่ขาดวิชาหลังนี้ ก็จะรักษาตัวรอดได้โดยยาก